เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 07:54



กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 07:54
ทางทิศใต้ของมัณฑะเลย์ประมาณห้าสิบกิโลเมตร ไม่ไกลจากสนามบินนานาชาตินัก มีเมืองเล็กๆชื่อเจ่าว์เซ ซึ่งในปี ๒๕๓๗ เนินสูงใหญ่ที่ปกคลุมด้วยวัชพืชของเจดีย์องค์หนึ่งที่ดูไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ใดๆได้ทลายลงบางส่วนหลังฝนตกหนัก เผยให้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ที่อยู่ใต้นั้น


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 07:55
เจ้าอาวาสได้ขอแรงชาวบ้านให้ระดมพลมาเก็บกวาดซากอิฐออก จึงพบว่ามันคือทรากโบราณสถานที่เก่าแก่มากที่ถูกหมกอยู่ หลังจากหนึ่งปีที่พยายามขุดคุ้ย ท่านก็ได้พบช่องทางที่จะเข้าไปได้ทางด้านทิศเหนือ เมื่อเข้าไปแล้วก็ได้พบส่วนพระพักตร์ของพระพุทธรูปสมัยพุกามขนาดใหญ่องค์หนึ่ง จึงรีบแจ้งให้ทางการของรัฐบาลเมียนมาร์ทราบ


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 07:57
กรมโบราณคดีได้ออกคำสั่งให้หยุดไว้เพื่อรอการสำรวจเบื้องต้นและของบประมาณ ขั้นนี้ใช้เวลายาวนานมากจนกระทั่งปี ๒๕๕๑ กระทรวงวัฒนธรรมของพม่าจึงอนุมัติให้ขุดค้นโบราณสถานแห่งนั้นต่อได้ ภายใต้การกำกับดูแลของอู วินหม่อง (Win Mg ) สถาปนิกและนักโบราณคดีที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากผลงานทั้งในและนอกพม่า เช่นที่ลำปาง อาจารย์วินหม่องท่านนี้เองที่เคยมาช่วยถอดแบบก่อสร้างวิหารวัดศรีชุมขึ้นใหม่ให้เหมือนเดิม หลังเกิดไฟไหม้เสียหายทั้งหมดในปี ๒๕๓๕ และกรมศิลปากรได้ร้องขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลพม่า

อู วินหม่องพบศิลาจารึกที่สามารถสรุปได้ว่า กองอิฐที่พังทลายลงนั้นเป็นสถูปเจดีย์ที่สร้างเมื่อราวเจ็ดร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยพระเจ้าอุศนะ (King Uzana 1325-1340) แห่งราชวงศ์พินยา (Pinya) ผู้ปกครองราชอาณาจักรพุกามช่วงปลายๆ พระองค์ทรงเจตนาที่จะสร้างพระสถูปองค์ใหญ่ขึ้นครอบฐานพระสถูปองค์เดิมที่สร้างก่อนหน้านั้นร่วมสามร้อยปี โดยพระเจ้าอโนรธา (King Anawrahta 1044- 1078) ปฐมกษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์พุกาม


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 08:03
ภาพสรุปจากการบูรณะและปฏิสังขรณ์พระสถูปเจดีย์ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่เรียกว่า ชเว กู จี ( Shwe-Gu-Gyi แปลตรงๆว่า Great Golden Cave หรือ ถ้ำทองใหญ่ ซึ่งส่วนฐานก่อด้วยอิฐตัน มองจากภายนอกเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ภายในที่เรียกว่าถ้ำคือส่วนกลวงเป็นอุโมงค์หลังคาโค้งสูง ตรงกลางที่อุโมงค์ตัดกันเป็นกากบาทเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ประธาน เจาะช่องเล็กๆเป็นระยะให้แสงเข้ามาในอุโมงค์เพื่อใช้เป็นที่สำหรับปฏิบัติธรรม) ผนังอุโมงค์ในส่วนที่แข็งแรงจะเจาะช่องเพื่อประดิษฐ์ พระพุทธรูปองค์ย่อมๆส่วนบนของฐานพระสถูปอันมั่นคงนี้เป็นที่ตั้งของพระเจดีย์



กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 08:07
พระเจ้าอโนรธาถือเป็นมหาราชที่ทรงฝักไฝ่ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทรงสร้างสถูปเจดีย์ที่เรียกว่า ชเว กู จี ใหญ่น้อยแบบนี้ถึง ๑๑ แห่งทั่วราชอาณาจักรพุกามอันกว้างใหญ่ไพศาลของพระองค์ ส่วนองค์นี้สร้างขึ้นที่ตาม๊อก อันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่ส่งผลผลิตไปเลี้ยงประชากรของพุกามเมืองหลวง จึงได้ชื่อว่าตาม๊อก ชเว กูจี (Ta Mok Shwe-Gu-Gyi)

ก่อนหน้านั้นพื้นที่อาณาบริเวณซึ่งอุดมสมบูรณ์นี้อยู่ในอาณาจักรศรีเกษตร ของพวกพยู (Pyu) จึงพบร่องรอยว่าตาม๊อก ชเว กูจีมีฐานที่สร้างไม่พร้อมกัน กษัตริย์พุกามเองก็สร้างพระสถูปไปบนสถาปัตยกรรมเดิม แล้วต่อเติมองค์ประกอบอันวิจิตรพิศดารขึ้นภายหลัง ก่อนที่จะถูกสถูปเจดีย์องค์มหึมาสร้างครอบทับอีกทีหนึ่ง

จึงถือได้ว่าเป็นกรณีย์แรกที่ได้ปรากฏพบเห็นวิธีการดังกล่าวในพม่า งานอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งที่จะสงวนรักษาพยานหลักฐานต่างๆของสถาปัตยกรรมต่างยุคสมัยไว้เพื่อการศึกษาในอนาคต


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 08:10
ภาพบนขวา แสดงให้เห็นความวิเศษของโบราณสถานแห่งนี้ ซึ่งอยู่ที่ปรัชญาการก่อสร้าง
การที่พระเจ้าอุศนะ ไม่ว่าพระองค์ทรงมีความคิดอย่างไรในการที่ทรงโปรดให้สร้างพระสถูปของพระองค์มาครอบทับชเวกูจีของพระเจ้าอโนรธาไว้เพื่อไม่ให้ใครเห็นอีกต่อไป แต่แทนที่จะรื้อทำลายลง กลับทรงให้รักษาสถาปัตยกรรมเดิมของไว้ ไม่ทราบจะเป็นเพราะว่าเป็นชาวพุทธด้วยกัน หรือเพราะเสียดายวิจิตรศิลป์ของสถาปัตยกรรมนี้

วิธีการของนายช่างสมัยโน้นก็สุดยอด สถาปัตยกรรมนี้ถูกสร้างขึ้นโดยให้มีช่องว่างระหว่างผนังใหม่กับผนังของสถาปัตยกรรมเดิม ซึ่งบางจุดช่องว่างนั้นก็กว้างเพียงฝ่ามือเดียว ระหว่างก่อสร้างก็ใช้ดินเหนียวที่บดจนเป็นผงเหมือนแป้ง ค่อยๆเติมลงไปแทนที่อากาศในช่องว่าง ดังนั้น แม้กาลเวลาจะผ่านไปร่วมพันปี เมื่อสถาปัตยกรรมชั้นนอกนั้นพังทะลายลง ทีมงานของอู วินหม่องได้ค่อยๆเคาะเปลือกอิฐทิ้ง แล้วปัดฝุ่นดินออก ก่อนที่จะเอาน้ำฉีดชำระคราบสกปรกอีกครั้ง ความงดงามของลายปูนปั้นสมัยพุกามยุคทองก็ผุดขึ้นขาวผ่อง คมกริบ ตาม๊อก ชเว กู จี กลายเป็นสถูปเจดีย์ที่ลายปูนปั้นยังคงอยู่สมบูรณ์ที่สุด โดดเด่นกว่าสถูปเจดีย์นับพันๆองค์ที่ศูนย์กลางราชอาณาพุกามเสียอีก


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 08:22
ผมมีโอกาสไปชมตาม๊อก ชเว กู จีเพราะคุณวิจิตร ชินาลัย ผู้อำนวยการโครงการอนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร เมืองอมรปุระ ของสมาคมสถาปนิกสยาม ซึ่งสนิทชิดเชื้อกับอู วินหม่อง ผู้ซึ่งเป็นนักโบราณคดีผู้ควบคุมการออกแบบและก่อสร้างโครงการนั้นทางฝ่ายพม่าเป็นผู้พาไป

อู วินหม่องเคยพาคุณวิจิตรและคณะสถาปนิกจากเมืองไทยไปชมงานอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ตาม๊อก ชเว กู จี ตั้งแต่ระยะเริ่มดำเนินโครงการเมื่อห้าปีที่แล้ว บัดนี้ตาม๊อก ชเว กู จีแล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่อนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรยังไม่คืบเท่าที่ควร เพราะเหตุอะไรผมก็ได้เล่าไปแล้ว ไม่อยากกล่าวซ้ำซากให้ขุ่นเคืองหัวใจ


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 08:35
สำนวนของพี่วิจิตรครับ ขออนุญาตนำลงทั้งท่อน

" โบราณสถานแห่งนี้ไม่มีที่ใดในโลกจะเหมือนครับ เป็นการสร้างพระสถูปเจดีย์สามยุค สามสมัย สร้างทับซ้อนกัน โดยไม่ทำให้คุณค่าสถาปัตยกรรมยุคก่อนหน้า เสียหาย เป็นความชาญฉลาดของสถาปนิกนักอนุรักษ์นิยมในสมัยโบราณที่ให้เกียรติแก่กันและกัน โดยเฉพาะพระสถูปยุคใหม่สุดที่อยู่ผิวนอกสุด เป็นสมัยพุกามยุคปลายคาบเกี่ยวกับสมัยอังวะ สร้างหลังสุดเมื่อสี่ห้าร้อยปี ที่ผ่านมานั้น ได้สร้างครอบเจดีย์พุกามยุคต้นอายุร่วมพันปีองค์อยู่ข้างในตรงกลาง ที่สร้างก่อนหน้า สร้างซ้อนกันแต่ไม่แตะต้องกัน โดยเอาฝุ่นดินหนา ๔๐ ซม.บ้าง ๘๐ซม.บ้าง พอกใว้ระหว่างผิวนอกของเจดีย์องค์ใน เพื่ออนุรักษ์ปูนปั้นลวดลายยุคต้นอันวิเศษยี่งสมัยพุกามใว้ใด้เกือบ๑๐๐% แล้วจึงสร้างองค์ใหม่อยู่ด้านนอก.

เมื่ออาจารย์วินหม่อง เปิดผิวหน้าดินเก่าออกจนหมดแล้ว จึงเอาแปลงผิวอ่อนๆ ปัดฝุ่นดินที่เป็นกันชนหนาๆนั้นออกแล้ว จึงใด้พบกับปูนปั้นลวดลายวิเศษยี่ง เก่าแก่ถึงพุกามยุคต้นเต็มพื้นที่ด้านข้างทั้งหมดของฐานพระสถูป ซึ่งขาวสะอาด สด ใหม่ ลายเฉียบคม ดู เสมือนเพิ่งปั้นเสร็จเมื่อวานนี้ยังไงยั่งงั้นเลย

ใครเห็นต้องตื่นตะลึงโดยเฉพาะช่างฝีมือหรือสถาปนิก เห็นแล้วต้องพนมมือแสดงความเคารพโดยพลัน จึงเดินดูนั่งดูกันใด้ทั้งวัน ไม่ต้องถ่อสังขารไปดูปูนปั้นที่ พุกามหรือที่ใดๆกันอีกต่อไป

เป็นพระสถูปเจดีย์ยุคต้นเก่าแก่ที่สุดในพม่า พระสถูปองค์กลางซึ่งอยู่ใต้สุด ยี่งโบราณเข้าไปใหญ่ เก่าแก่ถึง ๑๒๐๐ -๑๕๐๐ปี ในสมัยพยู หรือ ศรีเกษตรของพม่า ซึ้งเก่ากว่าสมัยทวารวดีของเมืองเราสัก ๒๕๐- ๓๐๐ปีเห็นจะได้

สรุปแล้วต้องไปดูด้วยตาตนเองให้ใด้ ให้เป็นของขวัญแก่ดวงตา และเป็นของขวัญให้แก่จิตวิญญานตนเองสักที "


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 08:38
ระหว่างการก่อสร้างโครงการ ซึ่งมีทั้งส่วนที่บูรณะและปฏิสังขรณ์

สถาปนิกจะเว้นรอยต่อของสถาปัตยกรรมต่างยุคไว้อย่างชัดเจน โดยการเลือกใช้วัสดุและวิธีการที่ผู้ชมจะสามารถแยกแยะได้ชัดแจ้ง


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 15 ส.ค. 18, 09:03
ผมมีโอกาสไปชมตาม๊อก ชเว กู จีเพราะคุณวิจิตร ชินาลัย ผู้อำนวยการโครงการอนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร เมืองอมรปุระ ของสมาคมสถาปนิกสยาม ซึ่งสนิทชิดเชื้อกับอู วินหม่อง ผู้ซึ่งเป็นนักโบราณคดีผู้ควบคุมการออกแบบและก่อสร้างโครงการนั้นทางฝ่ายพม่าเป็นผู้พาไป


หายหน้าหายตาไปซะนาน แวะมาดูกระทู้ดีๆ

นี่ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่กว่าจะไปชมสถูปในพม่าอีก อย่าลืมชวนผมติดสอยห้อยตามไปซักคนนะครับ ของแบบนี้ไปเองก็ไปไม่ได้ ต้องขอเป็นชาวเกาะเอาดื้อๆ แบบนี้แหละ


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 09:05
ระยะแรก ได้ทำหลังคาชั่วคราวไว้เพื่อปกป้องโบราณสถานเก่าแก่นี้จากการกัดกร่อนของธรรมชาติ ส่วนฐานของอาคารอันเป็นองค์ประกอบอื่นหลังจากขุดค้นขึ้นมาแล้ว ได้ทำกำแพงกันน้ำและทางเดินคอนกรีต เพื่อไม่ให้คนเข้าไปเหยียบย่ำเขตอนุรักษ์ได้


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 09:07
อ้างถึง
หายหน้าหายตาไปซะนาน แวะมาดูกระทู้ดีๆ

นี่ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่กว่าจะไปชมสถูปในพม่าอีก อย่าลืมชวนผมติดสอยห้อยตามไปซักคนนะครับ ของแบบนี้ไปเองก็ไปไม่ได้ ต้องขอเป็นชาวเกาะเอาดื้อๆ แบบนี้แหละ

ผมไม่สะดวกครับคุณวิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์ เพราะผมเป็นสลัด ไม่ใช่โจรสลัด แต่เป็นสลัดชาวเกาะ

ดูภาพไปเพลินๆก่อนแล้วกัน นี่เป็นช่วงที่เปิดให้คนเข้าชมแต่แรก ทรากโบราณสถานที่อยู่ใต้ตินนั้น ทีมงานได้พบโบราณวัตถุที่มีค่าส่วนหนึ่งและนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 09:18
ภาพบนซ้ายและขวานั้นถ่ายคนละทิศ
ส่วนภาพล่าง พระพุทธรูปองค์ใหญ่นั้นสร้างขึ้นมาใหม่บนร่องรอยหลักฐานเดิม ลักษณะปฏิมากรรมเป็นศิลปะร่วมสมัยในยุคเดียวกับวิหาร


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 09:21
เมื่อหลังคาที่ทำไว้ชั่วคราวหมดอายุ และผู้อนุมัติงบประมาณเห็นคุณค่าของโบราณสถานที่เผยโฉม อาจารย์วินหม่องจึงได้หลังคาที่ถาวรมาคลุมพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 09:26
ตาม๊อก ชเว กู จีอยู่ภายใต้หลังคาเหล็กที่มีโครงสร้างเรียบง่ายตรงไปตรงมา เพื่อทำหน้าที่ปกป้องแดดและฝน ไม่ใช่สถาปัตยกรรมที่จะชิงเด่นความสำคัญของโบราณสถาน เราเดินผ่านทางเดินที่ทำเป็นสะพานลอยคอนกรีตข้ามส่วนฐานของโบราณสถานบริวารขององค์พระสถูปเจดีย์ ตรงเข้าสู่ศูนย์กลางอันศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่แห่งนั้น


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 18, 09:34
ตาม็อก ชเว กูจี เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ

https://youtu.be/kdGSe6FGxAs


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 09:45
ที่ผมปั่นกระทู้เต็มที่เมื่อเช้าก่อนพักไปทานอาหาร ก็เพราะกลัวคุณหมอเพ็ญจะปาดด้วยคลิ๊ปนี้แหละ ความจริงผมเตรียมไว้แล้วเหมือนกันที่จะนำมาลงเมื่อถึงเวลาอันควร
แต่เอาเถอะไหนๆก็ไหนๆ ไม่เป็นไร ภาพและเรื่องที่ผมจะนำเสนอต่อไปจะลงรายละเดียดที่ไม่ได้หล่าวถึงในคลิ๊ป ใครทียังสนใจอยู่ก็เชิญอยู่ต่อครับ ใครจะออกไปเมือหนังเลิกก็ตามอัธยาศัย

เราเดินชมรอบนอกของพระสถูปก่อนจะหยุดสนทนากันถึงพระพุทธรูปองค์นี้  ผมตั้งข้อสังเกตุว่าส่วนพระนลาฏ(หน้าผาก)ยื่นออกมาผิดธรรมดา ซึ่งพี่วิจิตรตอบว่า ถ้านั่งอยู่กับพื้นที่ควรจะนั่งต่อหน้าองค์พระ ผมก็จะเห็นอีกอย่างหนึ่ง

ื่คุณๆต้องอดใจรอสักหน่อย เดี๋ยวถึงตรงนั้นแล้วผมจะนำภาพมาให้ดูอีกทีพร้อมคำอธิบาย


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 09:53
หลังจากนั้นแล้วเราก็เดินเข้าไป "ถ้ำทองใหญ่" ช่วงนี้ถ้าดูในคลิ๊ปจะชัดเจนกว่า

ภายในพระสถูป ซึ่งมีลักษณะของอุโมงค์มากกว่าถ้ำ เมื่อเข้าไปแล้วจะพบพระประธานที่จุดศูนย์กลาง พุทธศาสนิกชนชาวพม่าพากันมานั่งสวดมนต์ภาวนาโดยไม่สนใจนักท่องเที่ยว หรือใครจะไปใครจะมา

ผนังของอุโมค์ที่เชื่อมต่อกันนั้น มีพระพุทธรูปโบราณของแท้ประดิษฐานอยู่ทุกทิศ ชาวพม่าจะมาสักการะบูชาไม่ขาดสาย


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 09:54
พระพุทธรูปเหล่านี้เป็นหินสลัก อายุร่วมพันปีทั้งนั้น ที่ถ่ายมาให้ชมนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เห็นลักษณะของซุ้มแล้ว นึกถึงพิมพ์พระสมเด็จมาก


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 09:57
ฝาผนังบางแห่งที่ความชื้นเข้าไปถึงเต็มที่ ยังมีจิตรกรรมฝาผนังหลงเหลืออยู่


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:01
โดยเฉพาะส่วนหลังคาโค้ง(vault)ของอุโมงค์ ภาพจะยังคมชัดด้วยสีสันเดิมๆ


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:02
^


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:07
องค์สุดท้ายก่อนออกจากถ้ำ เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ประจำวันอังคารวันเกิดของผม

ชาวพม่านิยมเอามือลูบที่องค์ท่านเพื่อขอพรอะไรสักอย่าง จนเป็นคราบดำ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ องค์ท่านแม้จะเป็นหิน แต่ก็สกปรกและสึกกร่อนได้


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:16
เมื่อออกจากฐานพระสถูปมาแล้ว จึงได้พบองค์ที่น่าทึ่งที่สุด ซึ่งนับเป็น High Light ของที่นี่

พระพุทธรูปองค์นี้ อาจารย์วินหม่องเล่าว่า เมื่อได้พบนั้นส่วนพระนาภี(ท้อง)แตกอยู่ก่อนจึงรู้ว่ากลวง เมื่อส่องไฟเข้าไปข้างในได้เห็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง จึงค่อยๆตัดหินออก พบว่าพระพุทธรูปนั้นเป็นพุทธศิลป์แบบพุกาม ซึ่งมีลักษณะกลวงเช่นกัน จึงเปิดช่องออกดู เห็นพระเศียรพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งองค์นี้เป็นพุทธศิลป์คุปตะ หรือที่พบในพม่าเรียกว่าแบบพยู

กล่าวคือ นอกจากกษัตริย์ทั้งสองพระองค์จะสร้างพระสถูปเจดีย์ครอบทับองค์ที่กษัตริย์พระองค์ก่อนสร้างไว้แล้วนั้น  กระทั่งพระพุทธรูป ก็ยังอุตส่าห์สร้างของพระองค์เองครอบของพระองค์อื่นเสียด้วย


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:19
ผนังภายนอกส่วนฐานของพระสถูป จะเห็นลวดลายปูนปั้นอันเป็นศิลปะของพุกาม ที่ตาม๊อก ชเว กู จีนี่งามเลิศประเสริฐศรี เพราะแป้งดินได้ห่อหุ้มรักษาสภาพไว้แม้เวลาจะผ่านไปหลายศตวรรษก็ตาม


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:20
^


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:21
กล่าวกันว่า ถ้าอยากจะชมศิลปะปูนปั้นแบบพุกามแล้ว ไม่ต้องไปที่ทุ่งเจดีย์ที่เมืองพุกาม เพราะแม้จะมีเจดีย์นับพันๆองค์ แต่ไม่มีที่ใดจะสมบูรณ์พร้อมเท่าที่ตาม๊อก ชเวซูจี


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:21
จากสื่อของพม่าในเน็ตครับ


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:29
อาจารย์วินหม่องจะทิ้งร่องรอยที่จะแยกแยะสถาปัตยกรรมต่างยุคสมัยให้ชัดเจน ด้วยการใช้วัสดุเปลือยให้เห็นเนื้อแท้บ้าง การเรียงอิฐที่แตกต่างบ้าง ทำให้รู้ชัดเจนว่าอะไรเป็นของโบราณ อะไรเป็นของสร้างทีหลัง และอะไรเป็นของที่นำมาซ่อมแซม บูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยปัจจุบัน


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:33
เมื่อขึ้นบันไดเหล็กไว้ไปดูส่วนบน อันเป็นฐานชั้นที่สองของพระสถูปรองรับองค์พระเจดีย์ จะเห็นช่องว่างที่ถูกเว้นไว้ตั้งแต่สมัยโบราณเพื่อบรรจุผงดินลงไปแทนที่อากาศดังกล่าวไปแล้ว และโปรดสังเกตุเทคนิกของการก่ออิฐ ที่จงใจจะบอกให้ทราบว่าเป็นการก่อส้างในสมัยไหน


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:36
ฐานพระสถูปอันเป็นที่ตั้งพระเจดีย์


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:43
จากนั้น เราจึงได้ลงจากพระสถูปไปสู่ส่วนต่ำของโบราณสถานที่เป็นพระวิหาร

ขณะเมื่ออยู่ที่พื้นทางเดินด้านบน ทำให้แลเห็นพระพุทธรูปที่ส่วนพระนลาฏ(หน้าผาก)ยื่นออกมาผิดธรรมดา ซึ่งคนโบราณสมัยกระโน้นจะไม่มีมุมมองนี้ให้เห็น พวกเขาจะเห็นพระพักตร์เฉพาะยามที่ตนนั่งกับพื้นอยู่ตรงหน้าท่าน
เมื่อเราทำอย่างเดียวกันและแหงนหน้าขึ้นดู จะเห็นพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่งดงามแปลกตา นี่เป็นความฉลาดเลิศล้ำของช่างที่รู้จักมุมมองที่สอบเข้า ฝรั่งเรียกว่า perspective ถ้าไม่แก้ จะเป็นพระพุทธรูปที่ส่วนองค์ใหญ่ ส่วนพระเศียรเล็กและหลิม  มองไม่งาม จึงแก้ไขจุดเสียนี้โดยเพิ่มสัดส่วนใหม่ พระพุทธรูปจะงามขึ้นอย่างประหลาด


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:45
ก่อนจะออก เราได้แวะเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ของวัด ซึ่งนำโบราณวัตถุที่นำขึ้นมาจากใต้ดิน ในกรุบ้างนอกกรุบ้าง มารวบรวมไว้ให้ศึกษา


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 10:57
พระพุทธรูปองค์มุมบนขวานั่น คือ Masterpiece ของตาม๊อก ชเวกูจี แกะสลักจากหินอ่อนพม่าในยุคพุกาม สูงประมาณหนึ่งศอก มีภาพพระพุทธประวัติล้อมรอบอยู่ในซุ้ม พี่วิจิตรบอกว่าช่างพม่าในปัจจุบันใช้เวลาไม่นานในการลอกแบบไปสลักขึ้นใหม่ วางขายอยู่ตามร้านขายศิลปวัตถุชั้นดีที่อยู่ในบริเวณตลาดขายของที่ระลึกของวัดพระมหามุนี ที่มัณฑเลย์

เมื่อเราไปที่นั่น พี่วิจิตรได้พาทัวร์ตลาดที่ว่า เห็นงานเลียนแบบดังกล่าววางไว้หลายร้าน ที่ร้านที่ดีที่สุดนั้น พระพุทธรูปองค์กลางก็มีหลายแบบ อย่างเช่นที่สวมเทริดแบบพระกรุฝางที่พบในภาคเหนือของไทยเป็นต้น บางองค์นั้น ตามสายตาผมเห็นว่างามกว่าต้นฉบับ(องค์ซ้ายสุด)ก็มี


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 11:04
ก่อนกลับออกมาจากตาม๊อก ชเวกูจี  คุณวิจิตรชี้ให้ดูบ้านพักในอดีตของอาจารย์วินหม่องผู้สมถะ ท่านและภรรยาได้มาพักอยู่ที่บ้านพักชั่วคราวนี้หลายปี ตลอดระยะเวลาการทำงานในโครงการนี้
 
เย็นวันนั้นเอง เมื่อทราบว่าท่านมิได้ออกไปทำงานต่างจังหวัด เราจึงได้แวะเมืองสะกายเพื่อไปเยี่ยมเยียนท่านที่บ้านพักในปัจจุบัน เพื่อแสดงความเคารพ ชายผู้ยิ่งยงนี้ไม่ค่อยสนใจความเป็นอยู่ บ้านเป็นเพียงที่กินอยู่หลับนอน คงมีชีวิตอยู่เพื่องานโดยแท้


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 18, 13:40
ขอบพระคุณคุณนวรัตนสำหรับเรื่องราวโบราณสถานที่น่าสนใจของพม่า และขออภัยเรื่องคลิปประกอบเรื่อง

การสร้างซ้อนกันลักษณะดังกล่าว ในเมืองไทยพบได้ที่พระปฐมเจดีย์ นครปฐม แต่เจดีย์ข้างในคงไม่สมบูรณ์เหมือนของพม่า

ภาพของคุณกัมม์  จาก พันทิป (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/09/K7002773/K7002773.html#23)


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 18, 15:35

หายหน้าหายตาไปซะนาน แวะมาดูกระทู้ดีๆ

นี่ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่กว่าจะไปชมสถูปในพม่าอีก อย่าลืมชวนผมติดสอยห้อยตามไปซักคนนะครับ ของแบบนี้ไปเองก็ไปไม่ได้ ต้องขอเป็นชาวเกาะเอาดื้อๆ แบบนี้แหละ

นึกว่ากลับแคว้นปางฟ้าไปแล้ว  จะไม่กลับมาซะอีก
ขอท่านทางนี้  สงสัยวีซ่าผ่านยากค่ะ   ถ้าจะไปง่าย   มาทางเรือนไทยดีกว่า เดี๋ยวจะบอกทางเลาะตะเข็บชายแดนให้  ไม่ต้องไปเกาะค่ะ
 
ไม่มีความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมพม่า และไม่ได้สนใจมาก่อนค่ะ     สนใจลาวกับเขมรมากกว่าเพราะรู้สึกว่าใกล้ตัวกว่า
แต่ก็ทึ่งเมื่อเห็นสถูปเจดีย์ที่ถ่ายรูปมาให้ชมกัน
พร้อมกับสงสัยในวัฒนธรรมการครอบเจดีย์เก่าโดยสร้างเจดีย์ใหม่ปิดบังไว้สนิท  ทั้งๆของเก่าก็ยังงดงามสมบูรณ์ ไม่ได้ชำรุดผุกร่อน เสียจนต้องสร้างอะไรบังไว้ไม่ให้ของเก่าพังทลายลงไป
ถ้าเจดีย์องค์นี้ไม่ถูกพลิกฟื้นขึ้นมาได้   สิ่งก่อสร้างข้างในคงสูญหายไปจากการรับรู้ตลอดกาล
ยังมีอีกกี่สิบเจดีย์ที่เป็นแบบนี้  ??? ??? ???


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 17:15
พระปฐมเดีย์ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่พอจะเทียบเคียงกับของพม่าได้ เพียงแต่อายุขององค์พระปฐมเจดีย์ที่เห็นในปัจจุบัน  สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เท่านั้นเอง 
ในเมืองไทยยังมีที่ทำในลักษณะนี้อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเล็กเหลือเกิน  แต่ก็น่าที่จะกล่าวถึง  คือ พระธาตุดอยตุง  ตามประวัติกล่าวว่าแต่เดิมมีองค์เดียว  อีกองค์หนึ่งนั้น พระเจ้ามังรายมหาราชได้สร้างเพิ่ม  จึงทำให้พระธาตุดอยตุงมีสององค์

ครั้นปี พ.ศ.๒๔๗๐  พระธาตุดอยตุงทรุดโทรมมาก ครูบาศรีวิชัยกับประชาชนชาวเมืองเชียงรายได้บูรณะองค์พระธาตุขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กสององค์บนฐานแปดเหลี่ยม ตามศิลปะแบบล้านนา

และด้วยเหตุผลทางการเมือง  ในปีพ.ศ. ๒๕๑๖ กระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างพระธาตุองค์ใหม่ครอบพระเจดีย์เดิมไว้ สถาปนิกประกิต (จิตร) บัวบุศย์ ได้ออกแบบด้วยการใช้วิธีหล่อคอนกรีตมาเป็นเปลือก  แล้วประกอบครอบเจดีย์คู่ทั้งสององค์
 
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙  กรมศิลปากรได้รื้อเปลือกคอนกรีตดังกล่าวออก ตามการร้องขอของคนท้องถิ่น จากนั้นทำการบูรณะพระสถูปเจดีย์สมัยครูบาศรีวิชัยให้คืนกลับมา ตามรูปแบบเดิมที่ปรากฏหลักฐานในภาพถ่าย ส่วนครอบพระสถูปที่ถอดออกมาไปตั้งไว้ที่วัดพระธาตุน้อยดอยตุง ซึ่งอยู่ด้านล่างก่อนขึ้นดอยพระธาตุ


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 18, 17:31
ความจริงภายในพระปฐมเจดีย์องค์ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเจดีย์มาแล้วถึง ๓ รุ่น รุ่นที่ ๑ และ ๒ ทลายไปแล้ว คงเหลือแต่เจดีย์รุ่นที่ ๓ ซึ่งคงอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์เท่าไร

หากนับอายุเจดีย์ตั้งแต่รุ่นที่ ๑ และ ๒ ก็คงพอ ๆ กับ ตาม็อก  ชเว กูจี เหมือนกัน

http://service.christian.ac.th/ncc/Conservart/Conservart/Papathomjadee/Papathomjade_Make.html


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 18:04
ครับ คงเหลือแต่ทรากกองอิฐที่คูณค่าทางศิลปะถูกทำลายไปหมดแล้ว

ไม่มีความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมพม่า และไม่ได้สนใจมาก่อนค่ะ     สนใจลาวกับเขมรมากกว่าเพราะรู้สึกว่าใกล้ตัวกว่า
แต่ก็ทึ่งเมื่อเห็นสถูปเจดีย์ที่ถ่ายรูปมาให้ชมกัน
พร้อมกับสงสัยในวัฒนธรรมการครอบเจดีย์เก่าโดยสร้างเจดีย์ใหม่ปิดบังไว้สนิท  ทั้งๆของเก่าก็ยังงดงามสมบูรณ์ ไม่ได้ชำรุดผุกร่อน เสียจนต้องสร้างอะไรบังไว้ไม่ให้ของเก่าพังทลายลงไป
ถ้าเจดีย์องค์นี้ไม่ถูกพลิกฟื้นขึ้นมาได้   สิ่งก่อสร้างข้างในคงสูญหายไปจากการรับรู้ตลอดกาล
ยังมีอีกกี่สิบเจดีย์ที่เป็นแบบนี้  ??? ??? ???

ผมเชื่อว่าในพม่านั้นยังมีอีกมากที่ใช้วิธีการสร้างพระสถูปขึ้นมาใหม่เพื่อครอบทรากของเดิม เมื่อพระสถูปพังลงหลังเกิดแผ่นดินไหว แทนการขนอิฐไปทิ้ง  พม่ามีภัยธรรมชาตินี้รุนแรงกว่าเมืองไทยเยอะ ผมดูในรูปถ่ายในหนังสือพม่าเห็นกองอิฐที่มีพืชปกคลุมแล้วมีเจดีย์ของใหม่เล็กๆไปสร้างขึ้นบนยอดอีกหลายแห่ง  เดาว่ารัฐบาลพม่าไม่มีปัญญาที่จะทำอะไร นอกจากทิ้งไว้ก่อนรอเวลาในอนาคต  

ไม่ต้องดูตัวอย่างที่ไหน  คราวนี้เองเมื่อพี่วิจิตรพาผมไปวัดเยตะพัน (วัดมะเดื่อ) ทางใต้ของเมืองอังวะ ซึ่งตามหลักฐานในคำบอกเล่าของชาวพม่าว่าพระมหาสมณะเจ้าอุทุมพรทรงผนวชประทับอยู่ที่วัดนี้เป็นเวลากว่า ๑๖ ปี ก่อนที่จะทรงย้ายตามพระราชบัญชาไปประทับที่วัดโยเดีย  เมื่อกษัตริย์พม่าทรงสร้างอมรปุระเมืองหลวงใหม่

ขณะรอพระนำกุญแจมาเปิดวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไม้มะเดื่อที่กล่าวกันว่าพระองค์ทรงสร้างไว้   ผมเบื่อนั่งรอนานจึงขอตัวออกไปเดินดูเนินมหึมาด้านหลังของวัด เพราะเห็นว่ามีโบราณสถานถูกหมกอยู่  เมื่อเดินประทักษิณาวัตรพลางก็ถ่ายรูปมาด้วย ดังภาพที่เห็นนี้

มันไม่ใช่อะไรเล็กๆเลย พี่วิจิตรบอกว่าเดิมเป็นพระสถูปใหญ่อายุสมัยก่อนหน้าที่พระเจ้าอุทุมพรเสด็จมานานมาก  แสดงว่าในอดีตเป็นวัดสำคัญจึงเชิญพระองค์ท่านมาประทับ  แต่ทว่าพระสถูปนี้พังมาหลายปีแล้วจากเหตุแผ่นดินไหว  และยังไม่มีใครสนใจจะทำอะไรต่อไป  
อาจจะเป็นเพราะสถูปส่วนใหญ่ที่พังก็เหลือเฉพาะกองอิฐ  ไม่พบโบราณสถานเลอค่าอย่างที่ตาม๊อก ชเวซูจี คนพม่าจึงรู้สึกเฉยๆกับการที่พระสถูปโบราณจะพังลงตามกาล


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 18:16
ผมไม่ได้ตั้งใจจะอวดภาพที่ผมขอให้พี่วิจิตรยืนถ่ายกับเณรวัยซน แต่เผอิญว่าในฉากหลังมีพระพุทธรูปสร้างใหม่พร้อมๆกับศาลา เพื่อจะบอกว่า เศษอิฐจากเนินที่พังลงมานั้น ท่านเจ้าอาวาสใช้ศรัทธาชาวบ้านทะยอยขนมากอง แล้วค่อยๆก่อเป็นองค์พระขึ้นใหม่ตามนั้น


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 18, 18:32
อ้างถึง
ผมเชื่อว่าในพม่านั้นยังมีอีกมากที่ใช้วิธีการสร้างพระสถูปขึ้นมาใหม่เพื่อครอบทรากของเดิม เมื่อพระสถูปพังลงหลังเกิดแผ่นดินไหว แทนการขนอิฐไปทิ้ง  พม่ามีภัยธรรมชาตินี้รุนแรงกว่าเมืองไทยเยอะ ผมดูในรูปถ่ายในหนังสือพม่าเห็นกองอิฐที่มีพืชปกคลุมแล้วมีเจดีย์ของใหม่เล็กๆไปสร้างขึ้นบนยอดอีกหลายแห่ง  เดาว่ารัฐบาลพม่าไม่มีปัญญาที่จะทำอะไร นอกจากทิ้งไว้ก่อนรอเวลาในอนาคต  

ผมสแกนภาพที่กล่าวไว้ รวบรวมมาให้ดูพอสังเขป

พม่าเป็นประเทศที่รุ่มรวยในโบราณสถานมาก นอกจากเขมรแล้ว ในภูมิภาคนี้คงไม่มีประเทศไหนเทียบเทียมได้


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ส.ค. 18, 10:06
พื้นที่อาณาบริเวณซึ่งอุดมสมบูรณ์นี้อยู่ในอาณาจักรศรีเกษตร ของพวกพยู (Pyu) จึงพบร่องรอยว่าตาม๊อก ชเว กูจีมีฐานที่สร้างไม่พร้อมกัน กษัตริย์พุกามเองก็สร้างพระสถูปไปบนสถาปัตยกรรมเดิม แล้วต่อเติมองค์ประกอบอันวิจิตรพิศดารขึ้นภายหลัง ก่อนที่จะถูกสถูปเจดีย์องค์มหึมาสร้างครอบทับอีกทีหนึ่ง

แผนผังแสดงตำแหน่งและอายุสิ่งก่อสร้างในตาม็อก ชเว กูจี

จาก บทความวิชาการเรื่อง Ta Mok Shwe-gu-gyi Temple : Local Art in Upper Myanmar 11th-17th Centuries AD โดย Elizabeth Moore, Win Maung (Tampawaddy) and Htwe Htwe Win

http://eprints.soas.ac.uk/14639/1/Connecting_Empires_12.pdf


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 ส.ค. 18, 12:53

นึกว่ากลับแคว้นปางฟ้าไปแล้ว  จะไม่กลับมาซะอีก
ขอท่านทางนี้  สงสัยวีซ่าผ่านยากค่ะ   ถ้าจะไปง่าย   มาทางเรือนไทยดีกว่า เดี๋ยวจะบอกทางเลาะตะเข็บชายแดนให้  ไม่ต้องไปเกาะค่ะ
 

จากปางฟ้ามาไทยได้ 3 ปี ชีวิตในไทยบั่นทอนจิตวิญญาณและกำลังใจได้อย่างรวดเร็วดีมากครับ ความอยากร้อยากเห็นหดหาย เวลาอ่านหนังสือหนังหาไม่มี เดี๋ยวรออีก 7 ปี ใช้หนี้ใช้สินรัฐบาลไทยหมดแล้ว คงได้ขยับขยายไปหาอย่างอื่นทำ


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 16 ส.ค. 18, 14:54
ขอบคุณท่านนวรัต เป็นอย่างยิ่ง กับบทความ ตามอ็ก ชเว กูจี
ระยะเวลาที่ห่างกันหลายร้อยปี  ลายปูนปั้น ภาพเขียนและสีตลอดจนพระพุทธรูป ทำไมของเราจึงคล้ายของเขามากครับ


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ส.ค. 18, 16:48
ครับลักษณะพุทธศิลป์เป็นอินเดีย สมัยคุปตะเหมือนๆกัน ศิลปะแบบเชียงแสนทางภาคเหนือของไทยจะดูคล้ายของพม่ามาก โดยเฉพาะทางรัฐฉานที่เรียกตนเองว่าชาวไต หรือชาวไท


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ส.ค. 18, 08:35
ผนังภายนอกส่วนฐานของพระสถูป จะเห็นลวดลายปูนปั้นอันเป็นศิลปะของพุกาม

รูปสัตว์ในวงกลมประดับผนัง รูปแบบคล้าย ๆ กับที่ปราสาทตาพรหมของเขมร

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3296.0;attach=9794;image) (http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3296.0;attach=9796;image)


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ส.ค. 18, 08:47
เป็นรูปเทวดา สัตว์คู่ คนขี่ช้าง ขี่เสือ ขี่สิงห์ ขี่นก และในวงกลมแถวกลางขวาสุดเป็นคนขี่นกหัสดีลิงค์ สัตว์หิมพานต์ ซึ่งได้รับมาจากอินเดีย


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ส.ค. 18, 11:51
มกร สัตว์หิมพานต์อีกตัวหนึ่ง

ภาพจาก เฟซบุ๊กของคุณปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ (https://m.facebook.com/permalink.php?story_fbid=748628895240134&id=427605757342451#_=_)


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 18, 11:59
ดีใจที่เห็นเพ็นโนซอรัส เพื่อนเก่าอีกครั้งค่ะ


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ส.ค. 18, 12:17
น้องเพ็นโนฝากบอกมาว่าดีใจที่คุณเทาชมพูคิดถึงเช่นกัน  ;D


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ส.ค. 18, 12:22
จาก เฟซบุ๊กของคุณปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ (https://m.facebook.com/permalink.php?story_fbid=748628895240134&id=427605757342451#_=_)


กระทู้: ตาม๊อก ชเว กูจี มหัศจรรย์พันปี สถูปพม่าที่ถูกเผยความวิจิตรพิศดารอีกครั้ง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ย. 18, 07:58
การค้นพบโบราณสถานในพม่า โดย คุณปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์

http://bestthaihistorybypatipat.blogspot.com/2016/08/blog-post_53.html