เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 09:06



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 09:06
หลายวันมานี้ เข้าไปในยูทูป  ลองพิมพ์ชื่อหาเพลงเก่าเพลงหนึ่งที่หามานานแล้ว โดยไม่หวังอะไรมาก  
พบด้วยความประหลาดใจว่า เพลงที่เคยนึกว่าหายาก ไม่รู้จะหาฟังที่ไหนนั้น มีผู้ใจดีนำขึ้นยูทูปให้มีโอกาสฟังทั่วกัน    จากเพลงหนึ่งก็พลอยเจออีกเพลงหนึ่ง ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ หลายสิบเพลง
ได้ยินเสียงของนักร้องเก่าๆ ที่เคยได้ยินเมื่อตอนเด็กๆ    และไม่รู้จะหาฟังที่ไหนอีกเพราะท่านเหล่านั้นล่วงลับไปแล้ว
ได้ยินเสียงดนตรีที่เป็นดนตรีแท้ๆ ไม่ใช่มาจากดนตรีไฟฟ้า
ได้ยินเสียงร้องที่ชัดเจนแบบไทย  ไม่ปนการออกเสียงแบบฝรั่ง  
ได้ยินเนื้อร้องที่งดงามด้วยวรรณศิลป์   เรียกได้เต็มปากว่าเป็นบทกวี  สอดประสานกับทำนองอย่างไร้ที่ติ  

จึงขอนำเพลงของท่านเหล่านั้นมาให้ฟังอีกครั้ง  บางท่านอาจเคยได้ยินตอนเด็กๆเหมือนดิฉัน  บางท่านอาจเคยได้ยินคุณพ่อคุณแม่ หรือญาติผู้ใหญ่อื่นๆร้องให้ฟัง ในฐานะเพลงโปรดของท่าน
ในฤดูฝนที่บางทีเราก็นั่งจับเจ่าอยู่ข้างหน้าต่าง มองออกไปเห็นแต่ฟ้าสีเทาครึ้ม สายฝนโปรย  ฟังเพลงเก่าๆ เย็นหู  ได้บรรยากาศร่มเย็นแห่งอดีตคืนกลับมาอีกครั้ง

ป.ล. ถ้าท่านประสงค์จะร่วมวง   ดิฉันขอจำกัดวงไว้ว่า เป็นเพลงของนักร้องที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้นนะคะ เพื่อจำกัดวงของกระทู้ไม่ให้กว้างจนเกินไป    
ต่อไปอาจมีกระทู้เพลงในอดีตของนักร้องในอดีตที่ยังอยู่ในปัจจุบันอีกก็ได้ค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 09:20
ขอประเดิมด้วยเพลง กลิ่นเกล้า  ผลงานของครูไพบูลย์ บุตรขันธ์ ผู้แต่งเพลงมนต์รักลูกทุ่ง
เคยได้ยินเพลงนี้ตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่รู้ว่าเพลงอะไร   จำเนื้อร้องบางตอนได้ว่าไพเราะมาก   ลองพิมพ์เนื้อท่อนนั้นลงในกูเกิ้ลก็พบว่าเป็นเพลง กลิ่นเกล้า   แต่ไม่รู้จะไปฟังที่ไหน
จนมาพบในยูทูป
เพลงนี้บันทึกลงแผ่นเมื่อพ.ศ. 2497 

หวิวไผ่ลู่ลม  ยืนชมขอบคันนา  ไกลสุดตา ฟ้าแดงเรื่อ
หอมกลิ่นปรางกรุ่นเจือ  แซมกลิ่นเนื้อน้องนาง ไม่จางสดใส...
เห็นหนึ่งน้องนาง  เอวบางรูปลอยลม  ชวนให้ชมชิดเชยใกล้
ผิวผ่องงามประไพ ดูอ่อนไหวพริ้งเพรา สาวชาวนาเอย
ผมสลวยสวยขำดำเป็นเงา  พี่ขอให้นามตัวเจ้า แม่โพสพทรามเชย
อย่าหานางน้องใดไหนเอ่ย  เทียบเลยแข่งขัน เคียงคู่น่าอายอดสูรวงทองเทวี
หอมกลิ่นเกล้านาง  เจือจางกลิ่นลั่นทม  ลอยกรุ่นลมหวนใจพี่
ถึงอยู่นานกี่ปี  มีแม่ศรีแนบกาย  ขอตายบ้านนา

มีผู้โพสต์ในยูทูปว่า
"ณ กระท่อมริมทุ่งบางกะปิ ชายวัยกลางคนผู้หนื่งยืนอยู่ริม­ระเบียง ตามองไปเบื้องหน้า
ฤดูนั้นเป็นฤดูหนาว ท่ีข้าวในทุ่งกำลังเหลืองอร่ามส­ุดลูกตา
สายตาของชายผู้นั้นจับจ้องอยู่ท­่ีชาวนากลุ่มหนื่งท่ีกำลังเกี่ย­วข้าวกันอยู่ขะมักเขม้น ไม่ไกลนัก
ในกลุ่มชาวนานั้น มีพี่น้องสองสาว กำลังอยู่ในวัยสาวเต็มท่ี กำลังช่วยพ่อแม่เกี่ยวข้าวอย่าง­ขยันขันแข็ง
ชายกลางคนผู้นั้น จับจ้องสองสาวคู่นั้นด้วยจิตวิญ­ญาณของกวีผสมกับอัจฉริยทางดนตรี
และแล้วท่วงทำนองและเนื้อเพลงก็­เกิดชึ้น " หอมกลิ่นเกล้านาง......."

http://www.youtube.com/watch?v=ukDY8vBdadc


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 09:32
ขอนำประวัติคุณนริศ อารีย์ มาให้อ่านกันค่ะ
นริศ อารีย์ (31 ธันวาคม พ.ศ. 2473 - 30 กันยายน พ.ศ. 2554) เป็นนักร้องเพลงลูกกรุงรุ่นใหญ่ ที่ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสามขุนพลเพลงลูกกรุง ร่วมกับ สุเทพ วงศ์กำแหง และชรินทร์ นันทนาคร

นริศ อารีย์ เป็นน้องชายแท้ๆของ วรนุช อารีย์ นักร้องนำวงสุนทราภรณ์  เรียนจบจากโรงเรียนบพิตรพิมุข   ไม่เคยคิดจะเป็นนักร้องมาก่อน  หากแต่มีน้ำเสียงไพเราะ  จึงลองเข้าประกวดร้องเพลงที่วิทยาลัยบพิตรพิมุข ได้รางวัลชนะเลิศ   ความใฝ่ฝันของนริศคือเป็นทหารอากาศ  แต่พลาดในการสอบเข้า  จึงหันไปสู่วงการนักร้อง  ร้องประกวดตามเวทีต่างๆ จนมาแสดงละครวิทยุและร้องเพลงกับคณะละครพันตรีศิลปะ และร้องเพลงสลับฉากที่ศาลาเฉลิมไทย และศาลาเฉลิมกรุง รุ่นเดียวกับสุเทพ วงศ์กำแหง และชรินทร์ นันทนาคร

เพลงของนริศ อารีย์ ที่มีชื่อเสียง คือเพลง "ชั่วนิจนิรันดร" (พยงค์ มุกดา) "คอย" และ "สักวันหนึ่ง" (ป. ชื่นประโยชน์) "ผู้ครองรัก" และ "ผู้แพ้" (รัก รักษ์พงษ์ หรือ สมณะโพธิรักษ์) "เปียจ๋า" และ "ม่วยจ๋า" (สุรพล โทณะวณิก) "กลิ่นเกล้า" และ "แม้พี่นี้จะขี้เมา" (ไพบูลย์ บุตรขัน)

นริศ อารีย์ ป่วยเป็นอัมพาตในบั้นปลายชีวิต   ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

ภาพ จากซ้ายไปขวา นริศ อารีย์ สุเทพ วงศ์กำแหง  ปรีชา บุณยเกียรติ และชรินทร์ นันทนาคร


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 10:24
เพลงที่ 2 ที่นำมาลงในกระทู้ ที่นริศขับร้องเช่นกัน  คือ "เหมือนไม่เคย"  เนื้อร้องได้รับแรงบันดาลใจจากกาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร  ในตอนปลายอยุธยา  ที่ขึ้นต้นว่า
เรื่อยเรื่อยมารอนรอน    ทิพากรจะตกต่ำ 
สนธยาจะใกล้ค่ำ        คำนึงหน้าเจ้าตราตรู 
เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง    นกบินเฉียงไปทั้งหมู่  
ตัวเดียวมาพลัดคู่      เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย 

ผู้แต่งเนื้อร้องเพลงนี้คือ ชาลี อินทรวิจิตร (ศิลปินแห่งชาติ  ปี 2536) ส่วนทำนองแต่งโดย   ประสิทธิ์ พยอมยงค์ (ศิลปินแห่งชาติ  ปี 2532)

http://www.youtube.com/watch?v=Nei0oDbBOzo&feature=related



เรื่อย เรื่อย มาเรียงเรียง
นกบินเฉียงไปทั้งหมู่
ตัวเดียวมาไร้คู่
เหมือนพี่อยู่เพียงเอกา

ร่ำร่ำ ใจรอนรอน
อกสะท้อน อ่อนใจข้า
ดวงใจ ไยหนีหน้า
โถแก้วตา มาหมางเมิน

รู้ไหม ใครช้ำเท่า
เหมือนพี่เศร้า เจ้าห่างเหิน
เคยแนบแอบอกเพลิน
กลับหมางเมิน เหมือนไม่เคย

แจ้วแจ้ว จำนรรจา
ยกดินฟ้ามาอ้างเอ่ย
แรมรา มาละเลย
เหมือนไม่เคยเลยหรือไร


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 10:29
เพลง ชั่วนิจนิรันดร มีนักร้องนำมาร้องกันหลายคนด้วยกัน  ส่วนใหญ่เรามักได้ยินเพลงนี้จากเสียงของสุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร  หรือนักร้องหลังจากนั้นก็คือเบิร์ด ธงไชย
แต่คนแรกที่ร้องเพลงนี้คือนริศ อารีย์  บันทึกลงแผ่นเมื่อพ.ศ. 2492  คำร้องและทำนองโดยพยงค์ มุกดา ศิลปินแห่งชาติ

http://www.youtube.com/watch?v=u2mxbJM83p8&feature=related

ฉันรักเธอรักเทียบเสมอกับดวงชีวิต
รักเธอชั่วนิจนิรันดร
แม้เธอห่างไกลใจก็หวงห่วงนิวรณ์
ถึงแม้ม้วยมรณ์ไม่ถอนรักที่มี

รักฉันมั่นเหมือนดังตะวันมั่นรักฟากฟ้า
รักดังหมู่ปลารักวารี
เหมือนดังกับแหวนแสนจะรักแก้วมณี
เหมือนขุนคีรีสวาทพื้นดินเดียวกัน

มากมายราวกับห้วงมหรรณพ
มิรู้จบดังกับมีทำนบกั้น
แต่มั่นคงเหมือนดั่งสิงขรซ้อนแผ่นดินนั้น
ทั้งความซื่อสัตย์มัดใจคงมั่น ดั่งตะวันซื่อต่อฟ้า

ฉันรักเธอแท้จริงเสมอไม่ลวงให้หลง
รักฉันมั่นคงดังวาจา
เห็นใจเถิดหนอขอมอบไว้ให้สัญญา
ฉันจะบูชา ชั่วนิจนิรันดร

ชั่วนิจนิรันดร..ชั่วนิจนิรันดร


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 10:37
เพลง ผู้แพ้  นริศ อารีย์ก็ขับร้องเป็นคนแรกเช่นกันค่ะ
แต่งทั้งทำนองและเนื้อร้องโดยนักจัดรายการวิทยุ แห่งช่อง 4 วังบางขุนพรหมเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว  ชื่อรัก รักพงษ์    ปัจจุบันรู้จักกันในนามสมณะโพธิรักษ์ แห่งสันติอโศก

http://www.youtube.com/watch?v=GQtH923AYa0&feature=related

ผู้แพ้
 
คำร้อง/ทำนอง รัก รักพงษ์
ต้นฉบับขับร้อง นริศ อารีย์
 
ระกำดวงใจกระไรหนอบาป แสร้งสาปวนเวียนเจียนจน
ช้ำป่นฤทัยร้าวในอกเรา เบียนเบียดจนสุดบรรเทา
ทุกสิ่งไซร้ดูซมเซา กระเซ็นมลายพ่ายไป

ฉันทนทานใจกระไรเหลือข่ม ยิ่งตรมระทมทวี
ลี้หลบชะตาระอาอกใจ อยู่ก็อยู่อย่างผู้ปราชัย
ช้ำสุดช้ำในทรวงใน ทรงกายทรงใจอยู่เอย

แพ้จนรักสิ้นสลาย ทำลายเราป่น สุดทนเปรียบเปรย
แพ้ไปทุกสิ่งอกเอ๋ย  ไม่เหลืออันใดเลย ชะตาเอ๋ยช่างเลวทราม

แพ้เกมชีวีสิ้นดีทุกอย่าง แต่ก็ภูมิใจไม่จาง ที่จิตของเรามิเลวพ่ายตาม
ยังยิ่งยงเป็นใจดวงงาม  แพ้ก็แพ้ชะตาทราม   ดวงใจทรงความมั่นคง 


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ก.ค. 12, 10:59
           ชอบเพลง ชั่วนิจนิรันดร กับ สักวันหนึ่งของคุณนริศ ครับ

            ขอนำเสนอนักร้องชายวงสุนทราภรณ์ผู้ล่วงลับไปแล้วท่านนี้ ที่มักจะถูกจัดให้ร้องเพลงสนุกสนาน
เป็นส่วนใหญ่และจับคู่ร้องเพลงคู่กับคุณศรีสุดา
            แต่ถึงเวลาร้องเพลงช้าๆ ซึ้งๆ  ท่านก็สามารถถ่ายทอดได้ไพเราะซาบซึ้งเช่นเพลง บ้านของเรา

            เพลงที่เลือกมาชวนฟังจากเสียงของคุณเลิศ ประสมทรัพย์คือ โลกยังรักเรา ครับ
ชอบที่สุดตรงทำนองเสนาะฟังครั้งเดียวก็ติดหูโดยง่าย

              เกิดเป็นคนอยู่ในสังคมเราท่าน
อย่ามัวคร้าน คิดอ่านหางานชีวัน
สู้ชีวิตนี้ไปด้วยกัน
เหวี่ยงมันหมุนไปกับวัน ประชันกับสังคมกว้าง
              สุขเถอะเรา สุขกันทั้งปีดีกว่า
อย่ามองฟ้าฝันด้วยน้ำตาพร่าพราง
แบบชีวิตนั้นมันบอบบาง
อย่ายอมซบซมโศกคราง หลีกทางให้พ้นความเศร้า

              เฮ้ เฮ้ ฮ้า ฮ้า เฮฮาหัวเราะ... โห่เห่ฮ้าไฮ้
ยิ้ม ๆ แย้ม ๆ ยียวนยั่วใจ อะไรนั่นเล่า
ก็โลกน่ะสิ ดนตรีซี้เซ้า
หญิงชายฉายคู่คลอเคล้า เริงสุขเล้าโลมชีวัน
              ช่างปะไรที่ใครเขาชังพังอก
โลกยังรกรักเกลื่อนเหมือนดาวพราวพรรณ
โชคจะร้ายหรือดีช่างมัน
โลกยังรักเราเท่ากัน นี่เพียงเท่านั้นเราหวัง

         http://www.youtube.com/watch?v=QDZSDB7Gooc


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ก.ค. 12, 11:01
            ข้อมูลจากเว็บบ้านคนรักสุนทราภรณ์บอกว่า เพลงนี้ทำนองโดย ครูเอื้อ
และคำร้อง โดยครูศรีสวัสดิ์ และ
               เพลงนี้แต่งขึ้นเพราะอุปสรรคในความรักของหม่อมหลวงปราลีกับคุณเลิศ

            เคยพบคุณเลิศกับม.ล.ปราลีในตอนบั้นปลายชีวิตของคุณเลิศเมื่อท่านป่วย
อาจารย์หมอ(อาวุโส)ที่สนิทกับท่านกล่าวอย่างติดตลกประมาณว่า ตอนนี้คงร้องเพลงต่อตี
กับศรีสุดาไม่ไหวแล้ว


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ก.ค. 12, 11:16
ประวัติตัดตอนจากหนังสือ  "ครูเพลง" (ฉบับพิเศษ) ของ ถวัลย์ สุรภาพประดิษฐ์

          เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2466  ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่างานวัดไหน
มีการประกวด เลิศต้องไปประกวดที่นั่น และได้รับรางวัลที่หนึ่งทุกครั้ง

          เลิศเข้าทำงานที่กรมโฆษณาการ กับครูเอื้อ สุนทรสนาน ครูเอื้อให้หัดเป่าทรัมเป็ต และตีกลอง
จนสามารถอ่านโน้ตเพลงและแต่งเพลงได้

           ในปี พ.ศ. 2497 เลิศได้อาสาสมัครไปรบยังสมรภูมิเกาหลี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2497
ในสังกัด ผ.ส. 21 ร.พัน 1 (อิสระ) หน่วยบำรุงความสุข (ดนตรี)
          จากการอยู่ประเทศเกาหลีเป็นเวลาปีกว่า เลิศชอบเพลงอารีดังของเกาหลีมาก หัดร้องจนได้
ภาษาของเขาและใส่เนื้อร้องภาษาไทยในเวลาต่อมา

จากยูทูบมีเพลงไพเราะจากเกาหลีจากเสียงคุณเลิศที่เคยฟังคุ้นหูสมัยเด็กๆ เพลงนี้ครับ

ริมฝั่งน้ำแพงม้า

            http://www.youtube.com/watch?v=mhQCXSDzhF0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 11:25
ขอต้อนรับคุณ SILA ที่มาร่วมวง ด้วยเพลงที่คุณเลิศ ประสมทรัพย์ แต่งให้ม.ล.ปราลี มาลากุล คู่ชีวิตของท่านค่ะ
เพลงนี้ดัดแปลงจากทำนองไทยเดิม  ต้อยตลิ่ง

http://www.youtube.com/watch?v=IMph5Jwvj8c


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 11:28
เพลงตามคำขอค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=r5Au6eJYSbU

เนื้อร้องและทำนอง แต่งโดย ป. ชื่นประโยชน์

 สักวันหนึ่งเธอ  คงคิดถึงฉัน        แหละแล้ววันนั้น  เธอต้อง ร้องไห้
เธอลืมฉันลง จะจริงหรือใจ           รอดูกันไป เถิดหนา
สักวันหนึ่งเธอ   คงรู้ว่าฉัน           มั่นรักเพียงไหน   จริงใจยิ่งกว่า
คราใดรู้ตัว อกเธอร้าวรัวเจียนบ้า    ยิ่งกว่าตัวฉัน 
เกิดมาชาตินี้ มีรักไม่จริง             ขอสาป ทิ้งไป ไม่ปองผูกพัน
ไม่รักอีกเลย ใจเดียวเท่านั้น         ฉันไม่เหลือ เผื่อใคร
สักวันหนึ่งเธอ  ที่ทำแก่ฉัน          แหละแล้ววันนั้น    เธอต้องหมองไหม้
เธอลืมน้ำคำ  เจ็บจำช้ำใจ           คงได้ กับเธอ สักวัน


นริศ อารีย์ บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2498 โดยบริษัทดีคูเปอร์ จอห์นสัน
ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2509 โดยบริษัทกมลสุโกศล
และครั้งที่ 3 โดย ห้างแผ่นเสียงเมโทรและเทป
เพลง "สักวันหนึ่ง" เป็นเพลงหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้ นริศ อารีย์


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ก.ค. 12, 11:34
          หลังจากอยู่เกาหลีและญี่ปุ่นประมาณ 1 ปี 6 เดือน เลิศก็กลับเมืองไทย
และได้นำเพลงมาใส่เนื้อไทย บันทึกแผ่นเสียงด้วยวงดนตรีสุนทราภรณ์ เลิศได้เข้าทำงาน
ที่กรมประชาสัมพันธ์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2498 ครูเอื้อเห็นว่าเลิศเหมาะที่จะเป็นนักร้องมากกว่า
เป็นนักดนตรี จึงให้ร้องเพลง และอยู่วงสุนทราภรณ์มาตลอด

            เลิศเป็นนักร้องชายที่มีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักกันในแนวเพลงตลก มีนักร้องคู่กับ
ศรีสุดา รัชตะวรรณ เป็นสัญลักษณ์ของวงสุนทราภรณ์ เพลงที่ผู้ฟังนิยมชมชอบก็คือเพลงจังหวะเร็ว
ซึ่งแทรกความตลกไว้ในเพลง เช่น เพลงในจังหวะตะลุง และ เพลงสนุกสนาน ได้แก่เพลง "จุดไต้ตำตอ"
และ "สาวบ้านแต้" ที่ร้องคู่กับศรีสุดา รัชตะวรรณ

              โดยส่วนตัวชอบเพลงคู่กับคุณศรีสุดา เพลงนี้ที่สุด ครับ ตรงที่เนื้อร้องแบบภาษากวี
มีความโรแมนติกมากและมีท่อนที่ทั้งสองร้องประสานเสียงคู่กันด้วย

ดีใจมากที่มีคลิปบันทึกการร้องสดออกอากาศทางโทรทัศน์ด้วย

     http://www.youtube.com/watch?v=hGRej_aBmtk
     
                             พนาโศก 

คำร้อง ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ            ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน       
 
ช)..ย่ำค่ำยามพลบซบฟ้า โพ้นพนาโศกสั่ง
นกกาคล้อยคลาคืนรัง ข้ายังสัญจร
..ย่ำค่ำยามพลบโพล้เพล้ ขวัญชวนเซเร่ร่อน
ร้างรานิจจาอาวรณ์ จะนอนไหนเล่า
..ไม้หมองคลองครึ้ม โศกซึมทึมทึมงึมเงา
ไหว้วอนขอนอนซอนเศร้า ให้ลมเคล้าอกโรยร้าวราน
..ย่ำค่ำยามพลบลบไร้ ผีพรายไพรเพ่นพ่าน
เสียงเพลงพลบยังกังวาน กล่อมปราณฝันเปลี่ยว

ญ)..ค่ำคืนเดือนคล้อยเคล้าฟ้า โพ้นพนาป่าเปลี่ยว
ร้างราขวัญมาดายเดียว โศกเซียวเสียวทรวง
..ค่ำคืนยืนฝันขวัญหาย เห็นดาวรายลู่ร่วง
ฟ้าพรายเสียดายดาวดวง ถูกทวงแสงเศร้า
..สงสารขวัญเพ้อ ละเมอเรียกเธอเบาเบา
เรียกมานิทราทูนเกล้า เฝ้าโลมเล้ากอดเกลาเคล้ากัน
..ค่ำคืนเดือนคล้อยลับฟ้า ขวัญชีวาหวาดหวั่น
นกไพรพิไรรำพัน ว่ามันเหมือนข้า

พร้อม)..ค่ำคืนเดือนคล้อยเคล้าฟ้า โพ้นพนาป่าเปลี่ยว
ร้างราขวัญมาดายเดียว โศกเซียวเสียวทรวง
..ค่ำคืนยืนฝันขวัญหาย เห็นดาวรายลู่ร่วง
ฟ้าพรายเสียดายดาวดวง ถูกทวงแสงเศร้า
..สงสารขวัญเพ้อ ละเมอเรียกเธอเบาเบา
เรียกมานิทราทูนเกล้า เฝ้าโลมเล้ากอดเกลาเคล้ากัน
..ค่ำคืนเดือนคล้อยลับฟ้า ขวัญชีวาหวาดหวั่น
นกไพรพิไรรำพัน ว่ามันเหมือนข้า 


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 12:09
ชอบเพลงของนริศ อารีย์เพลงนี้    เป็นเพลงหาฟังยาก  ทำนองและเนื้อร้องเป็นภาษารุ่นเก่าที่ไพเราะมากค่ะ
ผลงานของอุทิตต์ ทินกร ณ อยุธยา และประสิทธิ์ พยอมยงค์

http://www.youtube.com/watch?v=qwmwfj5J3o4

ดึกดื่นคืนนี้มีแสงจันทร์  เฉิดฉันพราวพราย
ชื่นไม่วาย  แดนฟ้าไกล แขไขกระจ่าง
เบื้องบนสวรรค์นั้นแพรวพรรณด้วยจันทร์ลอยคว้าง
แสงเดือนสว่างพร่างนภา

โอ้ดวงจันทร์นั้นลอยอยู่ไกล  เรามองได้แต่ตา
หากปรารถนาเดือนแค่ไหน  เราก็ได้แต่มอง
สุดเอื้อมมือสอย ได้แต่คอย ลอยมาให้ประคอง
แม้ได้สมปอง ไม่ร้างรา

แต่เดือนดวงนี้  ดูยิ่งไกล ไกลจนสุดนัยน์ตา
หากจะคอยหาเดือนแค่ไหน  คงจะไม่มาเยือน
อกเศร้าเราเอ๋ย  กระไรเลยเคยเป็นห่วงดวงเดือน
แล้วกลับร้างเลือนไม่เห็นใจ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 12:38
ใครที่แฟนพันธุ์แท้ของม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์  คงจำเพลง "พี่เกลียดวสันต์" ของท่านได้     คุณนริศ อารีย์มีเพลง "พี่รักวสันต์"
เพลงทั้งสองเพลงนี้บรรยายถึงอารมณ์รักในฤดูฝนเหมือนกัน    และนำทำนองมาจากเพลงไทยเดิม   "ลาวสวยรวย"  เหมือนกันอีก
แต่ผู้ประพันธ์เนื้อเพลงตีความไปคนละทาง  ออกมาสละสลวยไม่แพ้กัน

http://www.youtube.com/watch?v=H2zJI_bG8cU&feature=related

พี่รักวสันต์
คำร้อง - ทำนอง :  สง่า  อารัมภีร ศิลปินแห่งชาติ

พี่รักวสันต์   ใจพี่ฝันคะนึงถึงเจ้า
ป่านนี้น้องคงหมองเศร้า  ขวัญเจ้าอยู่เดียวดาย
หยาดฝนเย็น  เหมือนเป็นน้ำสังข์เสี่ยงทาย
ให้เราสองรักร่วมตาย  เมื่อวสันต์กรายเคยได้คลอเคล้า

ยิ่งคิดคะนึงหวน  เสียงลมครวญดังเสียงชวนของเจ้า
พี่กอดกระซิบรำพึงแผ่วเบาๆ
ฟ้าคะนองสองเรายังพร่ำพลอดกัน

(ซ้ำ) ขอให้พี่รักจริง  ยอดหญิงเพ้อรำพัน
สองเรารักมั่น  วสันต์กรายคือวิมาน   
เราร่วมวิญญาณ ดวงใจ และดวงมาน
สาบานรักกันจนวันตาย


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 13:07
"ลาวสวยรวย" ถูกนำมาใช้เป็นทำนองเพลงไทยสากลอีกครั้ง ขับร้องโดยนริศ อารีย์เช่นกันใน เพลง ผกาฟ้า  เป็นเพลงคู่กับคุณลัดดา ศรีวรนันท์   
ถึงแก่กรรมไปแล้วทั้งสองท่าน
เพลงนี้ ผู้แต่งเนื้อร้องคือคุณศักดิ์เกษม หุตาคม หรือ "อิงอร" นักประพันธ์สำนวนปากกาจุ่มน้ำผึ้ง เจ้าของเรื่อง ดรรชนีนาง
ทำนอง คุณสุรพล แสงเอก

http://www.youtube.com/watch?v=cUXybyLrI1w&feature=related

ช .  ชื่นกลิ่นเกสร  ภมรเคล้าเร้ารึงจิต 
สวรรค์นิมิต  เหมือนสร้างสรรค์
สวยสคราญ  แย้มบานช่อประชัน
ต้อนรับสัมพันธ์  ยิ่งนิรันดร์ไมตรี

ช่อเจ้าเอ๋ย  ช่อเจ้าผกาฟ้า
ชาวใต้หมายมา  มอบดวงชีวี
ขอโฉมเฉลา  ยอดเยาวนารี
รับรองไมตรีของพี่ชาวใต้  อย่าให้รัญจวน

ญ .  รื่นคำหวาน  รู้ประสานไมตรีจิต
แสนประดิษฐ์   คิดล่อใจ
สัญญา  อนิจจาน้ำจิตชาวใต้
มั่นหมายผกาฟ้า   ดั่งว่าอาวรณ์

ช .  ขวัญเจ้าเอ๋ย  ขวัญเจ้าผกาฟ้า
ชาวใต้หมายมา  มอบดวงชีวี

ญ .  ขวัญเอ๋ยอกข้า
ช .  ขวัญเอ๋ยจุ่งมา
ญ .  ข้าระแวงไมตรี
ช .  อย่าระแวงปรานี 
ขอมอบดวงฤดี   ไว้จนชีพพี่มอดม้วยมลายลง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 13:31
เพลงของนริศ อารีย์ ที่เอามาให้ฟังกันมักเป็นเพลงหวานๆ เศร้าๆ  แต่เพลงทำนองและเนื้อสนุกสนานที่ลือลั่นไปทั้งเมืองใน 55 ปีก่อนก็มีเหมือนกัน     เพลงแรกชื่อ เปียจ๋า  บันทึกแผ่นเสียงเมื่อปีพศ. 2500    ผู้แต่งเนื้อร้องและทำนองคือ สุรพล โทณะวณิก ปัจจุบันก็เป็นศิลปินแห่งชาติอีกท่านหนึ่ง

http://www.youtube.com/watch?v=wC_WYiu6FbE

เปียจ๋าเปีย เปียคนดี
เปียสวยออกอย่างนี้น่าชื่นชม
ผมเปียไกวต้านลม
เปียทั้งคู่ดูงามสมใครได้ชมคงชื่นใจ

เปียจ๋าเปียเปียคนงอน
ดูสิชอบมองค้อนอยู่ร่ำไป
ยิ้มหน่อยจะได้ไหม
ลองยิ้มให้พี่ได้เห็นคงจะเป็นบุญตา

เปียจ๋าเปีย อย่าเอาแต่ดื้ออยู่เลยเปียจ๋า
ไหนลองยิ้มให้หวานสักครา
ยิ้มเพียงหน่อยเดียวเปียจ๋า
ยิ้มเถอะนะเปียของพี่

เปียจ๋าเปียเปียคนงาม
ลองนึกตอบคำถามให้พี่ที
ถามว่าในโลกนี้ใครหนอดื้อ ดื้อสิ้นดี เปียจ๋า

คุณสุรพล โทณวณิกเล่าว่า ท่านแต่งขึ้นในปี พ.ศ.2499 ในช่วงถูกเกณฑ์ทหาร และหนีทหาร เลยถูกขังอยู่ในคุกทหาร
 
“...ตอนที่ติดคุกอยู่นั้นแลเห็นลุกสาวผู้หมวด ซึ่งบ้านอยู่หลังคุก อายุประมาณสามสี่ขวบน่ารักมาก ไว้ผมเปีย  ผมเลยได้ความคิด แต่งในห้องขังนั่นแหละหนึ่งท่อน กันลืม พอออกจากห้องขัง ผมก็หนีทหาร นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียงให้ นริศ อารีย์เพื่อนรักเจ้าบทบาทของผมเป็นผู้ร้อง บันทึกเสร็จ ผมก็กลับไปมอบตัวเข้าห้องขังใหม่ไม่ให้เสียประเพณีคนหนีทหาร.."


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 13:38
หลังความสำเร็จของ "เปียจ๋า "ถึงพ.ศ. 2502   คุณสุรพลก็แต่งเพลงทั้งเนื้อร้องและทำนอง ชื่อ "ม่วยจ๋า " ให้นริศ อารีย์ร้องอีกหนึ่งเพลง  เป็นเพลงฮิททั่วบ้านทั่วเมืองไม่แพ้เพลงแรก
เพลงนี้ใช้จังหวะชะชะช่า ซึ่งเป็นจังหวะเต้นรำที่หนุ่มสาวยุคกึ่งพุทธกาลนิยมกันอยู่ในตอนนั้น

http://www.youtube.com/watch?v=vFXimfYxGf8

ม่วยจ๋าอย่านึกรังเกียจเลยหนา ว่าพี่นี้เป็นคนไทย
ชาติจีน ไม่ใช่อื่นไกล  เรารักกันไว้จะได้เป็นทองแผ่นเดียวกัน
ม่วยจ๋าจงรู้ใจพี่เถิดหนาว่าพี่รักดังชีวัน
ตั้งแต่ได้พบหน้ากัน  ความรักม่วยนั้นมันตื้นตันอารมณ์

ม่วยงามเหมือนดอกโบตั๋น ผิวพรรณม่วยนั้นเกินชม
อย่างอนให้พี่ต้องตรม พี่ชมน้องม่วยด้วยใจ
ม่วยจ๋า  เตี่ยคงไม่ว่าหรอกหนา
ที่ม่วยรักชายเป็นไทย เตี่ยเองก็นั่นปะไร
อาม้าใช่ใคร เป็นคนไทยเหมือนกัน

สังเกตว่า คำเรียกสาวรุ่นในสมัยโน้น ออกเสียงว่า ม่วย ไม่ใช่ หมวย อย่างเดี๋ยวนี้
พ่อกับแม่  เรียกว่าเตี่ยกับอาม้า  ไม่ใช่ป๊ากับมาม้า 


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 ก.ค. 12, 14:31
        ชอบเพลงช้าๆ หวานๆ เศร้าๆ ของคุณนริศ ครับ จึงไม่ปลื้มสองเพลงหลังนี้
ที่ออกแนวเพลงเร็วคึกคักสนุกสนาน ฟังแล้วรู้สึกประมาณผิดหวังในตัวคนที่แอบชื่นชม ครับ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 14:40
^
รีบเอาเพลงข้างล่างของคุณนริศ มาปลอบใจคุณ SILA เป็นการด่วน   :(
เป็นเพลงหาฟังยากอีกเพลงหนึ่ง  หวานและเศร้า
เสียดายไม่มีข้อมูลว่าใครแต่งเนื้อร้อง-ทำนองนะคะ
เข้าใจว่าทำนองเอามาจากเพลงไทยเดิม  แต่นึกไม่ออกว่าเพลงอะไร

http://www.youtube.com/watch?v=OG_M90Fi_ns&feature=bf_next&list=SP870B5D6E04BC8707&shuffle=879318

เมื่อเธอจากไป โอ้หัวใจจะขาดลอยร่วง
ใจพี่เฝ้าคอยหวงพุ่มพวง เมื่อไรจะมา
ค่ำคืนมีดาวแสงวับวาวพร่างพราวนภา
พี่เคยเปรียบดาราว่าแพ้นัยนาน้องนาง
 พี่เคยชมเดือน ว่าเดือนที่งามสะพรั่ง
แม้เดือนจะงามกระจ่าง พักตร์น้องนางยังงามข่มเดือนผ่อง

โอ้เจ้าลำดวน เจ้าหอมอวลหอมเกินจำปาทอง
เจ้าก็ยังเป็นรองกลิ่นแก้มบัวทองน้องนาง
ลมโชยรวยริน โอ้ประทินกลิ่นหอมสะพรั่ง
หอมเอยหอมดังกลิ่นปราง หอมน้องนางอวลดั่งกลิ่นธูปฟ้า
พี่เฝ้าคอยเธอ เฝ้าละเมอพร่ำเพ้อทุกเวลา
แต่น้องคลาดตา ไม่กลับมาให้พี่เชยชม


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 14:46
ขอย้อนกลับไปหาคุณเลิศ ประสมทรัพย์ที่คุณ SILA เล่าไว้     ฟังเสียงคุณเลิศแล้วพลอยสนุกสนานอารมณ์ดีไปด้วย   โดยเฉพาะเพลงนี้ค่ะ  ใครร้องก็ไม่เหมือน
ชอบเนื้อเพลงสุนทราภรณ์ฝีมือครูแก้ว อัจฉริยกุลมากที่สุดในบรรดาครูเพลงค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=PWNMdFN_0q4

ข้างขึ้นเดือนหงาย เราขี่ควายชมจันทร์ เพลิดเพลินใจฉัน โคมสวรรค์พราวพราย
ไขว่ห้างนั่งเฉย เออระเหยลอยชาย เป่าขลุ่ยเพลงหนัง บนหลังควาย ชื่นพระพายโชยมา
แม้ว่าต้องการเพื่อนคุย ฉันมีเจ้าทุยสนทนา พูดจาตอบถามตามประสา ลัดเลี้ยวคันนาตามชอบใจ
สุขใจจริงหนอ เราไม่ง้อใครๆ เจอะหน้าคนรักก็รับไป เป่าขลุ่ยสอดคล้องเราร้องไป
ขี่ควายชมฟ้าเพลินตาเพลินใจ จันทร์แจ่มใสเต็มดวง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 15:23
เพลงคู่นำชื่อเสียงมาให้คุณเลิศ กับคุณศรีสุดา รัชตะวรรณ   เสียงของทั้งสองคนเข้ากันดีมาก  เสียงคุณศรีสุดาเปรี้ยวปรี๊ด เสียงคุณเลิศก็ขี้เล่นอารมณ์ดี   ยังหาคู่เพลงที่ร้องแบบนี้อีกไม่ได้เลย
เพลงนี้ เรียกได้ว่าเป็นเพลงลายเซ็นของคุณเลิศ-ศรีสุดา

http://www.youtube.com/watch?v=nKxsy1ImbYg&feature=related



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 15:29
ในสมัยที่คุณเลิศเป็นนักร้องนำองสุนทราภรณ์ ช่วงหลังสงครามโลกมาถึงกึ่งพุทธกาล    วงการบันเทิงมีจังหวะเพลงลีลาศเกิดใหม่เรียกว่า ตะลุง(หรือตลุง)เทมโป้   จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าคนคิดจังหวะคือครูล้วน ควันธรรม     ในเมื่องานลีลาศมีจัดกันบ่อยๆ  สุนทราภรณ์จึงแต่งเพลงจังหวะตะลุง ให้นักลีลาศเท้าไฟได้ซ้อมเท้ากันหลายเพลง
เพลงนี้นำมาจากวรรณคดีในรัชกาลที่ 3   เรื่องพระมะเหลเถไถ  ของคุณสุวรรณ   คุณเลิศร้องเพลงนี้ด้วยสำเนียงชาวใต้หน่อยๆ เพื่อให้รับกับจังหวะตะลุง

http://www.youtube.com/watch?v=J1vk2GLrBSw&feature=related

ปัจจุบันหาฟังยากแล้ว  เพราะจังหวะตะลุงถูกลืมเลือนไปจากนักลีลาศรุ่นหลังๆ  


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 26 ก.ค. 12, 15:49
สมัยที่ผมเรียนหนังสืออยู่สามย่านใช้วงสุนทราภรณ์ทุกงาน
ช่วงนั้นไม่มีวงดนตรีอื่น ที่จะมาเทียบเคียงได้
มีครั้งหนึ่งจัดที่สมาคมศิษย์เก่าอยู่เยื้อง รร.เตรียมอุดม ใช้วงสุนทราภรณ์
จะเป็นงานฉลองปริญญาหรือไรนี่แหละ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 16:03
คุณ visitna  คงทันเห็นงานฉลองปริญญาที่บัณฑิตหญิงแต่งชุดราตรียาวสีขาวล้วน  บัณฑิตชายสวมสูท(แต่ไม่ใช่สีขาว)  เสียดายที่หารูปมาลงให้ดูไม่ได้  ไม่เจอในกูเกิ้ล
งานฉลองปริญญาสมัยนั้นจัดที่ศาลาพระเกี้ยว     ในเมื่อฉลองกันด้วยเพลงลีลาศ   ก็ไม่มีวงไหนเหมาะเท่าบิ๊กแบนด์อย่างสุนทราภรณ์ค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 16:50
ส่งคุณเลิศคืนกลับให้คุณ SILA  เผื่อคุณ SIlA จะมีเพลงมาให้ฟังกันอีกค่ะ

เมื่อฟังเพลงของนักร้องสุนทราภรณ์ท่านหนึ่ง ก็ทำให้คิดถึงอีกหลายท่าน ในรุ่นเดียวกัน  บัดนี้ขึ้นไปร้องบนสวรรค์กันหมดแล้ว  
หนึ่งในจำนวนนั้นที่ร้องเพลงไว้แทบนับไม่ถ้วนล้วนแต่ไพเราะ   คือคุณวินัย จุลละบุษปะ คู่ชีวิตของคุณศรีสุดา
คุณวินัยร้องเพลงจังหวะช้า  ถ้าเป็นจังหวะเร็วอย่างมากก็แทงโก้ คือยังจัดอยู่ในบอลรูมอยู่ดี     หลายเพลงเป็นเพลงที่ดัดแปลงจากไทยเดิม   มาเรียบเรียงใหม่เป็นเพลงไทยสากล   ที่เรามาเรียกว่าเพลงลูกกรุงในระยะหลัง
สุนทราภรณ์เป็นจุดกึ่งกลางที่บรรจบกันระหว่างเพลงไทยเดิมและเพลงสากล     ทำให้ฟังเพลงไทยเดิมได้ง่ายขึ้น แม้ว่านักอนุรักษ์ในสมัยครูเอื้อจะไม่ค่อยพอใจก็ตาม    แต่กาลเวลาก็ทำให้เห็นว่า  การปรับเพลงไทยเดิมมาเป็นไทยสากลเป็นทางหนึ่งที่อนุรักษ์เพลงเอาไว้ไม่ให้สูญหายไปจากความทรงจำของสังคม

เพลงแรกที่ขอรำลึกถึงคุณวินัย จุลละบุษปะ คือเพลงที่หาฟังยากตามเคย  มนต์เทวี จากทำนองเพลงไทยเดิม   "ขับไม้บัณเฑาะว์ 2 ชั้น"

http://www.youtube.com/watch?v=GkieSsuROcs

มนต์เทวี
คำร้อง :  แก้ว  อัจฉริยะกุล
ทำนอง :   เอื้อ  สุนทรสนาน

โอ้งามช่างงาม  แม่งามดังเทวี
รูปทรงโสภี   เตือนฤดีมิวางวาย
แม้นเดือนสกาว  เย้ยดาวที่เรียงราย
แต่เดือนยังเอียงอาย  เพียงพักตร์เจ้าเร้าใจใฝ่ฝัน

ชวนมองเพลิน  เห็นเธอเดินนาดกรายเฉิดฉัน
เมื่อสบตาทรามวัย  หัวใจไหวหวั่น
สุดจะพรั่นละเมอมอง

ทรวดทรงช่างงาม  แม่งามดังยูงทอง
เลื่อมลายเรืองรอง   ลอยฟ้าล่อง ฉันปองผูกพัน

ฉันมองอยู่นาน ชื่นบานดังวารี
ลูบโลมทั่วกายี  เย็นฤดีมิลืมเลือน
แม้นบุญช่วยพา  แก้วตาอย่าแชเชือน
พี่ปองเจ้าครองเรือน  ความรักเตือนเคล้าเคลียสุขสันต์

เป็นบุญพา แม้นได้มาชื่นชมเคียงกัน
สุดจะปลื้มเปรมปรีดิ์ เพราะมีใจมั่น
มอบชีวันจนวันตาย

แม้นบุญสมจริง  รักยิ่งไม่คลาคลาย
จวบจนฟ้าทลาย ปองรักใคร่ขวัญใจยั่งยืน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 16:51
ขับไม้บัณเฑาะว์เป็นเพลงโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา   นำมาดัดแปลงเป็นเพลงได้หลายแบบด้วยกัน  ทั้งเพลงปลุกใจและเพลงสถาบัน
เลยขอแถมให้ฟรีในค.ห.นี้ค่ะ

เพลง ตื่นเถิดไทย

http://www.youtube.com/watch?v=9xanguXmM44

เพลง อโยธยาคู่ฟ้า

http://www.youtube.com/watch?v=2TMaqOWnJRs


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 17:20
หลังจากบันทึกเสียงในพ.ศ. 2496  เพลงนี้ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ทำให้ชื่อเสียงคุณวินัยติดหูคนฟัง   ต่อมาเพลงนี้มีนักร้องนำมาร้องอีกหลายคน หลายรุ่นด้วยกัน  จนถึงทุกวันนี้

http://www.youtube.com/watch?v=ZFTX2VGtpzg

เพลงนี้แม้ว่าเนื้อร้องแต่งโดยครูแก้ว อัจฉริยากุล  แต่ทำนองไม่ได้แต่งโดยครูเอื้อ สุนทรสนานอย่างที่แฟนเพลงสุนทราภรณ์จำนวนมากเข้าใจผิดกัน    ผู้แต่งทำนองคือครูเวส สุนทรจามร

พรหมลิขิต

พรหมลิขิตบันดาลชักพา
ดลให้มาพบกันทันใด
ก่อนนี้อยู่กันแสนไกล
พรหมลิขิตดลจิตใจ
ฉันจึงได้มาใกล้กับเธอ

เออชะรอยคงเป็นเนื้อคู่
ควรอุ้มชูเลี้ยงดูบำเรอ
แต่ครั้งแรกเมื่อพบเธอ
ใจนึกเชื่อเมื่อแรกเจอ
ฉันและเธอคือคู่สร้างมา

เนื้อคู่ ถึงอยู่แสนไกลคงไม่คลาดคลา
มุ่งหวัง สมดังอุรา ไม่ว่าใคร ใคร

หากมิใช่คู่ครองแท้จริง
จะแอบอิงรักยิ่งปานใด
ยากนักที่จะสมใจ
คงพบเหตุอาเภทภัย
พลัดกันไปทำให้คลาดคลา

เราสองคนต้องเป็นเนื้อคู่
จึงชื่นชูรักใคร่บูชา
นี่เพราะว่าบุญหนุนพา
พรหมลิขิตขีดเส้นมา
ชี้ชะตาให้มาร่วมกัน

คนบางคนต้องเป็นเนื้อคู่
เพียงแต่ดูรู้ชื่อโดยพลัน
ก็รู้สึกนึกรักกันจนฝันใฝ่ใจผูกพัน
แม้ไม่ทันจะเห็นรูปกาย

ฉันเชื่อ เพราะเมื่อพบเธอ ฉันเพ้อมากมาย
เฝ้าหลง พะวงไม่วาย ไม่หน่ายกมล

พรหมลิขิตบันดาลทุกอย่าง
เป็นผู้วางหนทางปวงชน
ได้ลิขิตชีวิตคน
นำเนื้อคู่มาเปรอปรน
ทั้งยังดลเธอให้กับฉัน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 12, 19:57
ค้นประวัติของคุณวินัย จุลละบุษปะ มาได้ดังนี้
เป็นบุตรของขุนประมาณธนกิจ ( ถม จุลละบุษปะ ) และ นางน้อม เกิดที่บ้านข้างวัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2465 ในรัชกาลที่ 6  บิดารับราชการเป็นคลังจังหวัดซึ่งต้องโยกย้ายไปตามจังหวัดต่างๆ  ทำให้วินัยต้องย้ายโรงเรียนตามพ่อ    ในที่สุดก็กลับมาเรียนที่โรงเรียนวัดราชบพิธ กระทั่งสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม 6  เมื่อจบการศึกษาแล้วญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งรู้จักกับทางกรมโฆษณาการ (หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) เห็นว่าวินัยชอบร้องเพลง  จึงช่วยฝากงานให้ที่กรมโฆษณาการ
ระหว่างยังไม่สอบบรรจุวิชาข้าราชการพลเรือน วินัยได้ไปฝึกหัดร้องเพลงกับครูเวส สุนทรจามร ซึ่งเป็นรองหัวหน้าวงดนตรีกรมโฆษณาการ รองจากครูเอื้อ สุนทรสนาน ที่บ้านข้างถนนตะนาวจนเข้าที่ ครูเวส ได้สอนหลักการร้องให้แก่วินัยพร้อมกับศิษย์อีกคน คือ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี จนได้บรรจุเป็นนักร้องกรมโฆษณาการเมื่อ พ.ศ.2488 ขณะวินัยอายุได้ 23 ปี
หลังจากวินัยสอบบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ก็อยู่ที่กรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์นานถึง 38 ปี   ดำรงตำแหน่งหัวหน้าวงแทนครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งเกษียณอายุ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2515   ส่วนวินัยเองเกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2526

วินัยอัดเพลงลงแผ่นเสียงเพลงแรกคือเพลง เรารักกัน บันทึกเสียงโดยห้างกมล สุโกศล ส่วนเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้อย่างมากคือ เย็นลมว่าว  พรหมลิขิต และเพลงในชุดจุฬาตรีคูณ  ขับร้องไว้ทั้งหมด 219 เพลง
ชีวิตส่วนตัว  วินัยสมรสกับศรีสุดา รัชตะวรรณ ตั้งแต่ พ.ศ.2499 แต่ไม่ได้ร้องเพลงคู่กัน  นักร้องหญิงที่ร้องเพลงคู่กับวินัยคือชวลี ช่วงวิทย์

วินัย จุลละบุษปะ ถึงแก่กรรมในวันที่ 14 กันยายน 2542    พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2542

วินัยเป็นนักร้องที่ร้องเพลงด้วยน้ำเสียงนุ่ม และเปล่งเสียงได้ชัดเจนถูกต้องทุกถ้อยคำ ทั้งอักขระและเสียงโน้ตดนตรี  เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว  เพลง เย็นลมว่าว ที่นำชื่อเสียงมาให้ได้รับคำชมเชยว่า ฟังแล้วเหมือนนั่งรับลม อยู่ท่ามกลางอากาศปลอดโปร่งในหน้าลมว่าว

http://www.youtube.com/watch?v=s05E2hl4rh0&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 27 ก.ค. 12, 05:31
ชอบเพลงเย็นลมว่าว ลีลาออกแนวแจ๊ซ คล้ายของ Glenn Miller


 http://www.youtube.com/watch?v=PpbP9KBaHcs&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 12, 08:23
คุณ visitna โพสต์คลิปผิดหรือเปล่าคะ    คุณมัณฑนา โมรากุลยังมีชีวิตอยู่ค่ะ    เธอได้เป็นศิลปินแห่งชาติปี 2552
ถ้าชอบเพลงแจ๊สของสุนทราภรณ์ ก็มีหลายเพลง โดยมากเป็นสุนทราภรณ์ในยุคต้น เพลงแจ๊สกำลังเป็นที่นิยม   เช่นคนึงครวญ  เมื่อไรจะให้พบ   ไม่อยากจากเธอ

http://www.youtube.com/watch?v=2GFiVhuQK3s

ไม่อยากจากเธอ

คำร้อง แก้ว อัฉริยะกุล
ทำนอง หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์    
   
ไม่อยากจากเธอ อยากอยู่ด้วยเสมอ
หวานล้ำน้ำคำเธอ เธอเสนอให้ชื่นใจ

สุขเอยสุขใจ สุขกว่าคนอื่นใด
น้ำรักชักนำใจ ยังสดใสไม่แรมรา

หวานล้ำน้ำคำ ที่เธอชักนำมา
หวานรักชักพา พูดจาสัญญาตรงกัน

อกเราแนบกัน ปล่อยให้ใจใฝ่ฝัน
เคลิ้มรักภิรมย์กัน ดังสวรรค์สวาทเตือน

ไม่อยากจากเธอ อยากอยู่ด้วยเสมอ
หลงใหลน้ำใจเธอ เธอเสนอไม่บิดเบือน

ไม่ลืมไม่เลือน สุขไม่มีใครเหมือน
ร้อยรักชักนำเตือน ก็ไม่เหมือนกับเธอเลย

รักเร้าเย้ายวน นิ่มนวลชิดชวนเชย
รักไหนใดเอย ไม่เคยชิดเชยนำพา

เด่นเดือนดารา ก็ยังมีจากฟ้า
รักนี้มิคลายคลา ปรารถนาไม่จากเธอ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 12, 08:45
  ความพิเศษของนักแต่งเพลงรุ่นเก่า คือสามารถถอดบทกวีจากวรรณคดีออกมาเป็นเนื้อเพลงได้งามกลมกลืนกับดนตรี จนเกิดเป็นวรรณศิลป์ขึ้นในตัวอีกแขนงหนึ่ง     สุนทรภรณ์ที่ครูเพลงที่แต่งเนื้อเพลงได้เป็นเอกอยู่หลายท่านด้วยกัน  แต่ถ้าถอดจากวรรณคดีมาเป็นเพลง  ไม่มีใครเทียบเท่าครูแก้ว
  ตัวอย่างข้างล่างนี้คือเพลงที่นำเนื้อมาจากตำนานศรีปราชญ์ เรียบเรียงโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา   ครูเอื้อแต่งร่วมกับครูแก้ว มี 3 เพลงด้วยกัน 

เพลงแรกที่จะนำลง คือ พรานล่อเนื้อ  ขับร้องโดยวินัย จุลละบุษปะ

โคลงบทเดิมคือ
เจ้าอย่าย้ายคิ้วให้          เรียมเหงา
ดูดุจนายพรานเขา         ล่อเนื้อ
จะยิงก็ยิงเอา              อกพี่ ราแม่
เจ็บไป่ปานเจ้าเงื้อ         เงือดแล้วราถอย

คลิปนี้เป็นเพลงจากต้นฉบับ  บันทึกเสียงเมื่อพ.ศ. 2492

http://www.youtube.com/watch?v=FpTW15pGa98
พรานล่อเนื้อ

คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน     
   
เจ้ายักคิ้วให้พี่
เจ้ายิ้มในทีเหมือนเจ้าจะมีรักอารมณ์
ยั่วเรียมให้เหงามิใช่เจ้าชื่นชม
อกเรียมก็ตรมตรมเพราะคมตาเจ้า

เรียมพะวักพะวง
เรียมคิดทะนงแล้วเรียมก็คงหลงตายเปล่า
ดังพรานล่อเนื้อเงื้อแล้วเล็งเพ่งเอา
ยั่วใจให้เมาเมาแล้วยิงนั่นแล

**น้าวศรเล็งเพ่งเอาทุกสิ่ง
หากเจ้าหมายยิงก็ยิงซิแม่
ยิงอกเรียมสักแผล
เงื้อแล้วแม่อย่าแปรอย่าเปลี่ยนใจ

เรียมเจ็บช้ำอุรา
เจ้าเงื้อเจ้าง่าแล้วเจ้าก็ล่าถอยทันใด
เจ็บปวดหนักหนาเงื้อแล้วราเลิกไป
เจ็บยิ่งสิ่งใดไยมิยิงพี่เอย



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 12, 08:50
เพลงที่สอง   นวลปรางนางหมอง  จากตำนานศรีปราชญ์เช่นกัน

อันใดย้ำแก้มแม่       หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย       ลอบกล้ำ
ผิว(ะ)ชนแต่จักกราย       ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ       ชอกเนื้อเรียมสงวน

http://www.youtube.com/watch?v=q4N7P3LdsQo

นวลปรางนางหมอง

คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน     
   
นวลปรางนางดูช้ำ ใครทำให้หมอง
รัญจวนในนวลน้อง ฉันมองเศร้าใจ
ปรางนางเคยนวล ยวนเย้าฤดี
เสื่อมสิ้นราศีเศร้าไป
พี่มองแก้มนางหมางดวงใจ หมองใดไฉนเล่า
เสียดายปรางทองต้องตรม
ใครลอบชมแล้วฤาเจ้า
โถใครคงชมข่มเอา
เหลือจะเศร้าร้าวรัญจวน

เหลือบจะไต่ฤาริ้นไรแกล้งทำ
หรือพรายย้ำคนลอบทำกล้ำกวน
โถทำเสียจนสิ้นนวล
เรียมสู้สงวน ช้ำนวลตรมใจ
นวลปรางนางหมอง
พี่หวังปองต้องหมองไหม้
ปรางทองหมองลงไป
พี่พลอยหม่นหมองดวงใจ
พี่สุดแสนจะมองได้

โอ้ใจ จะขาด แล้ว เอย...


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 12, 08:58
เพลงที่สามอาจมีคนรู้จักกันน้อยกว่าสองเพลงแรก   เพราะไม่ค่อยจะนำออกมาบรรเลงกันนัก คือเพลง ยูงกระสันเมฆ  ขับร้องโดยคุณวินัยเช่นกัน    มีประวัติว่าเนื้อร้องท่อนหนึ่ง ถูกมองว่าน่าหวาดเสียวเอาการ เพลงเลยถูกเซนเซอร์ห้ามออกอากาศในสมัยหนึ่ง
เพลงนี้ครูแก้วแต่งจากโคลงในตำนานศรีปราชญ์    ถึงตอนที่ศรีปราชญ์ต่อปากต่อคำกับพระสนมของสมเด็จพระนารายณ์  นางว่าศรีปราชญ์ไม่เจียมตัว

หะหายกระต่ายเต้น         ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน             ต่ำต้อย
นกยูงหากกระสัน           ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย           ต่ำต้อยเดียรัจฉาน

จึงกลายมาเป็นเพลง ยูงกระสันเมฆ

http://www.youtube.com/watch?v=lF4ARKM-n60

ยูงกระสันเมฆ

คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน     
   
นกยูงกระสันหมายมั่นเมฆฝนมา
แหงนมองจ้องฟ้าทุกวัน
เพราะรักจะชมสมเสก หมายรักถึงเมฆเทียวนั่น
เจ้าใฝ่กระสันผิดชั้นกันไกล
นกยูงศักดิ์น้อยหมายคอยเมฆฝนปอง
นกยูงก็หมองดวงใจ
รักสูงจูงใจให้ตรม เหินฟ้าไปชมไม่ได้
แหงนมองหมองใจให้ผูกพัน

* ใฝ่สูงเกินเจียม
ดังหัวใจแห่งเรียมใฝ่ฝัน
ใฝ่ฝืนตื้นตัน
เรียมกระสันมากไป
นกยูงกระสันหมายมั่นผสมพันธุ์
เหมือนเรียมกระสันขวัญใจ
รักสูงดังยูงรักเมฆ รักแล้วสมเสกไม่ได้
ระทมฤทัยจริงเจ้าเอย


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ก.ค. 12, 11:29
         นำเสนอเพลง ยากยิ่งสิ่งเดียว เสียงร้อง ทำนองโดยครูเอื้อ และคำร้องจากครูแก้ว เช่นกัน ครับ

          จะเรียนจะร่ำจะทำอะไรไม่ลำบาก
ยอดยากอยู่อย่างเดียวเกี้ยวผู้หญิง
คำครูสุนทรภู่กล่าวพาดพิง
ฉันไม่ท้วงติงเพราะว่าสมจริงยิ่งสิ่งใด
ยิ่งตรองยิ่งเห็นเป็นเรื่องหนักใจให้อาวรณ์

          แม่กงแม่กนจวบจนกบเกยเคยเรียนร่ำ
บากบั่นหมั่นท่องจำตามคำสอน
เรียนกันถึงโคลงดั้นกาพย์ฉันท์กลอน
ทุกบททุกตอนฉันไม่ร้าวรอนไม่อับจน
แต่เรียนเรื่องรักหนักในกมลจนปัญญา

            หากใครจะว่าปัญญาไม่มีก็ทนได้
โง่เง่ายิ่งกว่าใครใคร่ศึกษา
จำยอมสารภาพกราบสักครา
ขอบอกฉันมาฉันอ่อนระอาน่าเจ็บใจ
บอกมาสักคำจะทำอย่างไรให้กังวล

             บางคนไม่รักแสดงว่ารักล่อลวงได้
แกล้งยั่วอยู่ร่ำไปให้ฉงน
บางคนรักแน่แน่แต่ทำพิกล
ร้อยเล่ห์ร้อยกลเพราะโง่เหลือทนจนอดชม
อัดอั้นอุราปัญญาไม่คมโง่งมงาย

ที่เคยฟังมาเพลงจบที่ท่อนสอง ...หนักในกมลจนปัญญา ตามในคลิปครับ
 
      http://www.youtube.com/watch?v=Qg7GXBxxrCk

(วันนี้คอมพ์มีปัญหา ไม่ได้ยินเสียงเพลงในคลิป ครับ)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ก.ค. 12, 11:38
เว็บบ้านคนรักสุนทราภรณ์ว่า ครูแก้วประพันธ์เพลงนี้โดยนำ "คำครูสุนทรภู่กล่าวพาดพิง"

จาก           นิราศวัดเจ้าฟ้า ที่ว่า

        ถึงเกาะเรียนเรียนรักก็หนักอก      แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย
เมื่อเรียนกนจนจบถึงกบเกย                ไม่ยากเลยเรียนได้ดังใจจง

ส่วนอีกหนึ่งความเห็นว่ามาจาก

               "พระอภัยมณี" ตอนที่ 45 "นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร" ที่ว่า

"จะเรียนร่ำทำอะไรไม่ลำบาก
มันยอดยากอย่างเดียวเกี้ยวผู้หญิง
ถึงยามดึกนึกนอนแนบหมอนอิง
เรไรหริ่งเรื่อยริมหิมวา"


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 12, 20:42
ครูแก้วน่าจะนำมาจากวรรณคดีทั้ง 2 เรื่องมาผสมผสานถ้อยคำเข้าด้วยกัน ค่ะ  ท่านเชื่อมต่อได้เนียนมาก  กลายเป็นบทเพลงเดียวกันที่ไม่สะดุดเลย

ขอต่อเรื่องเพลงคุณวินัยอีกหน่อยค่ะ
เสียงของคุณวินัยขึ้นลงทั้งสูงและต่ำได้แจ่มชัดทุกคำ  ไม่หลงไม่เพี้ยน และไม่ลดเสียงโน้ตลงต่ำ  เพลงช้าหรือเร็วก็ร้องจังหวะได้ไม่พลาดทั้งสองแบบ     เหมาะจะร้องเพลงไทยเดิม     จึงมีอยู่หลายเพลงที่ครูเอื้อดัดแปลงทำนองจากเพลงไทยเดิมมาเป็นไทยสากลให้คุณวินัยขับร้อง    
ในที่นี้ขอยกมาสัก 3 เพลง

เพลงแรก ทะเลบ้า  จากเพลงไทยเดิม ทะเลบ้า สองชั้น

http://www.youtube.com/watch?v=EmWCpo_iRmQ&feature=related

ทะเลบ้า

คำร้อง แก้ว อัฉริยะกุล
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน     
   
นั่งคนเดียวพลัดคู่เพ้ออยู่ริมทะเล
มองทะเลว้าเหว่ทวี
แต่ได้ยินเสียงซ่านึกว่าดวงฤดี
มองก็มีนทีอันกว้างใหญ่

ไม่มีใครอยู่อีกเลยคู่เชยก็ไม่มา
แล้วอะไรครืนซ่ามองหาอยู่ไหน
ฟังแล้วยังก้องไป
พาดวงใจเวียนวน

อ้อทะเลซัดซ่าร้องบ้าไปคนเดียว
เออทะเลมิเปลี่ยวใจจน
ทุ่มตัวเองฟาดฝั่งคลุ้มคลั่งในกมล
คงจะมีทุกข์ทนและหมองไหม้

ฟาดตัวเองอยู่ทำไมกลุ้มอะไรหนักหนา
หรือทะเลเป็นบ้าผวาหวาดไหว
ฟังแล้วยังกลุ้มใจพาอาลัยอาวรณ์

เสียงยังดังมา
ทั้งวันเวลาทะเลบ้าแน่นอน
รักคงราญรอน
มิเป็นอันนอนเสียงดังไม่หย่อนสักวัน

แม้รักเราอับปาง
จะจืดจางร้างราฉันก็คงเป็นบ้าผวาเช่นนั้น
คงวิกลเช่นกัน
คงจะรำพันจนตาย


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 12, 20:51
เพลงที่สอง    สุดสงวน  ดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม  ชื่อ สุดสงวน 2 ชั้น

http://www.youtube.com/watch?v=DN9T66zP7Zc&feature=related
คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน     
   

โอ้เจ้าสุดสงวน น้องรัญจวนใจพี่
รักจักปองแสนสุดปองขวัญชีวี รักเจ้าแต่พี่สุดชม

รักนวลสงวนต้องกลัวน้องจักตรม
พี่หักอารมณ์พี่ต้องสงวนนวลชม หักความรักข่มดวงใจ

เพราะพี่รักจริงเจ้า
กลัวน้องจะเศร้าเจ้าอย่าอาลัย
พี่สงวนนวลเจ้า เจ้าเห็นใจ
สงวนใจไว้ให้พี่นะแก้วตา สงวนตัวจนกว่าพี่มาชม



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 12, 20:56
เพลงที่สาม  คำหอม  ดัดแปลงจาก ลาวคำหอม บันทึกเสียงเมื่อพ.ศ. 2492

http://www.youtube.com/watch?v=bsmA0ynEaBg&feature=related

คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง เวส สุนทรจามร     
   

ลมโบกหวนกลิ่นหอม
หอมชวนเด็ดดอม คำหอมเจ้าเอย
กลิ่นนี้พี่เคย เคยได้แนบเขนย อกเอ๋ยหวนคำนึง
เพียงแต่กลิ่นล่องลม ชื่นชมซาบซึ้ง
ชวนให้คิดติดตรึง ใจประหวัดคะนึงถึง ถึงสาวเจ้า
ชวนให้ใจพี่เหงา จำว่ากลิ่นเจ้า เศร้าอยู่ในใจ

เนื้อเจ้าอวลกลิ่นประทินเดียวกัน
ขวัญเคยแนบขวัญ รักกันชิดใกล้
หอมเอยเคยชื่นใจ
หอมใดไม่ซึ้งถึงอารมณ์

ขวัญพุ่มปทุมมา
กลีบบัวยั่วตาพลิ้วพากระเพื่อมลม
ผ่องศรีที่พี่ชม สีนวลชวนชื่นอารมณ์
ดุจดังสีแพรเจ้าห่ม ปิดถันกันลมซ้ำชมให้เศร้าใจ

เจ้าเอยเจ้าคำหอมเจ้าเนื้อหอมหอมชวนใคร่
ต้องจิตเตือนใจยิ่งคิดไปชวนให้ตระกอง
โอ้มือพี่เคยโลมเล้า สาวเจ้าเคยเอามือป้อง
แต่ไม่พ้นมือพี่ต้อง หวงยิ่งกว่าทองแต่น้องยังให้ชื่นใจ

ยอดชู้คู่เชย
ขวัญเอยอย่าเลยจากไป
โอ้คำหอมเอยเคยชิดใกล้
อีกนานเท่าใดขวัญใจจะกลับมา

ยอดชู้คู่ชม
ภิรมย์ชมชื่นอุรา
เพื่อนชายร้อยคนมากล้นค่า
ไม่ชื่นอุราเหมือนเจ้าเพื่อนชม

ท่อนสุดท้าย ครูแก้วนำมาจากนิราศพระแท่นดงรังของนายมี ศิษย์สุนทรภู่  ที่ว่า
ถึงมีเพื่อนก็เหมือนพี่ไม่มีเพื่อน
เพราะไม่เหมือนนุชนาฏที่มาดหมาย
มีเพื่อนเล่นก็ไม่เหมือนกับเพื่อนตาย
มีเพื่อนชายก็ไม่เหมือนกับเพื่อนชม


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 ก.ค. 12, 09:39
ขอแจมเพลงที่ ๔ ครับ

            http://www.youtube.com/watch?v=IaGhv3aF9rY

                    มนต์สวาท 

คำร้อง เอิบ ประไพเพลงผสม            ทำนอง เวส สุนทรจามร       
 
ฉันเป็นไฉน ประหลาดใจหวั่นไหววิญญา
มีแต่กลุ้มอุรา ใจพะว้าพะวัง
หรือเป็นโรคใจ เกิดขิ้นภายในแน่แท้จริงจัง
ราวกับอกจะพัง คลุ้มคลั่งครวญ

ใครทำเสน่ห์ ใช้เล่ห์ลวงฉันรัญจวน
แกล้งทำยั่วยวน เนื้อนวลรูปหล่อมาล่อใจฉัน
โฉมยงนงราม แม่รูปงามหยาดฟ้าลาวัณย์
งามคู่เคียงเพียงจันทร์ หมายมั่นปอง

หญิงงามแดนไหน ประเทศไทยทั่วแคว้นแดนทอง
งามก็ยังเป็นรอง เพียงที่สองแม่งาม
คิ้วดังคันศร โก่งงามงอนดังศรพระราม
ตาแม่กลมคมงาม หลงพล่ามชม

อันมนต์สวาท สามารถคาถาอาคม
ผูกใจใคร่ชม อารมณ์ลอยเลื่อนเสมือนความฝัน
ฤทธิ์มนต์ดลใจ เข้าจับฤทัยคลั่งไคล้รำพัน
ตรึงหทัยใจฉันทุกวันคืน 

จากเพลงไทยเดิม ลาวครวญ ครับ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 12, 20:50
^
เป็นเพลงที่ดัดแปลงจากลาวครวญได้ไพเราะทั้งทำนอง   และใส่เนื้อร้องได้วิจิตรบรรจง   ฟังแล้วนึกถึงอารมณ์ของพระลอที่กำลังหลงใหลพระเพื่อนพระแพง  หรือไม่ก็พระอภัยหลงรูปนางละเวง
ครูเอิบ ประไพเพลงผสม ถ้าจำไม่ผิดเป็นนักดนตรีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6

ดาวเสียงดวงต่อไปที่ลับฟ้าไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อพ.ศ. 2550 คือคุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา    ใครชอบเพลงลูกกรุงคงจำเสียงนุ่มและเศร้าของท่านได้  คุณทนงศักดิ์ร้องเพลงได้จับใจทั้งเพลงไทยสากล และเพลงที่ดัดแปลงจากไทยเดิม

ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา เกิดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2478  เป็นบุตรครูยอแสง ภักดีเทวา ครูโขนของกรมศิลปากร  มารดาคือสุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต หรือ 'ป้าทอง' นักแสดงอาวุโส    จบการบัญชีจากโรงเรียนกรุงเทพการบัญชี เมื่อปี พ.ศ.2499      เข้าสู่วงการดนตรีตั้งแต่ปี 2500   โดยอยู่กับครูสมาน กาญจนผลิน  ร้องเพลงของครูมาแต่แรกเริ่ม
ในยุคของทนงศักดิ์   โทรทัศน์เริ่มเป็นสื่อบันเทิงที่สำคัญ แม้ว่ามีเพียง 2 ช่องคือช่อง 4 บางขุนพรหม กับช่อง 7 กองทัพบก ก็มีประชาชนติดตามดูทั่วบ้านทั่วเมือง    รายการเพลงลูกกรุงเป็นที่นิยมกันมาก  สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นโต้โผ ในรายการเพลง " สุเทพโชว์ " ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักร้องชายชื่อดัง 7 คน ใช้ชื่อวงว่า " สุเทพคอรัส " ร้องเพลงในแบบประสานเสียง ถือว่าเป็นบอยแบนด์ไทยยุคแรกๆ  ทนงศักดิ์เป็นตัวยืนในรายการนี้

ต่อมา เขามารวมตัวกับ มีศักดิ์ นาครัตน์, ศักรินทร์ บุญฤทธิ์  กลายเป็นวง " สามศักดิ์ " บวกกับนักร้องสาวคนเดียวในวงคืออรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา  มีชื่อเสียงเกรียวกราว  ทนงศักดิ์ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำถึง 3 ครั้ง   จากเพลง แมวเหมียว, ใกล้เข้ามาแล้ว และไร้อารมณ์
จากนั้นทนงศักดิ์ก็ร้องเพลงอัดแผ่นบ้าง เล่นละครทีวี และภาพยนตร์บ้าง เป็นที่รู้จักกันดีในวงการบันเทิง  จนกระทั่งอายุ 66 ปีก็ล้มป่วยด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก     จนถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2550   อายุ 72 ปี  


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 12, 20:56
หาเพลงแผ่นเสียงทองคำของทนงศักดิ์ทั้ง 3 เพลงจากยูทูป  แต่ไม่พบ    จึงได้แต่นำเพลงอื่นที่คุณทนงศักดิ์ร้องได้ไพเราะไม่น้อยกว่ากันมาให้ฟังแทนค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=qfC0ifYRPiU&feature=related

เดือนต่ำดาวตก
อิงอร (ศักดิ์เกษม หุตาคม) แต่ง
ดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม  พม่าแปลง 2 ชั้น


...เดือนต่ำดาวตกวิหคร้อง
เหมือนเสียงน้องครวญคร่ำร่ำเฉลย
สารภีโชยกลิ่นเรณูเชย
เหมือนพี่เคยจูบเกศแก้วกานดา
...หอมระรวยชวยชื่นระรื่นจิต
ถวิลคิดครั้งเมื่อขนิษฐา
สละศักดิ์ฐานันดรดวงดอกฟ้า
ต้องหนีหน้าวงศ์ญาติมาด้วยกัน
...ณ เวิ้งอ่าวชายฝั่งนทีนี้
น้องช่วยพี่สร้างห้องหอสวรรค์
กระท่อมน้อยคอยเตือนเงื่อนผูกพัน
ระลึกวันฝันสวาท อนาถรัก.


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 12, 21:04
น้ำตาแสงไต้  จากละครเวทีเรื่อง พันท้ายนรสิงห์

http://www.youtube.com/watch?v=vedc6GCGYCk&feature=related

คำร้อง: มารุต - เนรมิตร
ทำนอง: สง่า อารัมภีร

    นวลเจ้าพี่เอย คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ
    ถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย

        น้ำตาอาบแก้ม เพียงแซมด้วยเพชรไสว
        แวววับจับหัวใจ เคล้าแสงไต้ งามจับตา

    นวลแสงเพชร เกล็ดแก้วอันล้ำค่า
    ยามเมื่อแสงไฟส่องมา แวววาวชวนชื่นชม

        น้ำตาแสงไต้ ดื่มใจพี่ร้าวระบม
        ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์ จำใจข่มใจไปจากนวล



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 12, 21:10
ดึกเอยดึกแล้ว

http://www.youtube.com/watch?v=k79witZ_pD8

คำร้อง - ทำนอง :  สาโรจน์  เสมทรัพย์
ครูสาโรจน์แต่งให้ทนงศักดิ์ร้อง อัดเสียงเป็นคนแรกเมื่อพ.ศ. 2519


ดึกเอยดึกแล้ว น้องเอยน้องแก้วหลับแล้วหรือยัง
ถ้าหากเจ้ายัง ผินฟังเสียงเพลงพี่ก่อน
น้องเอยเจ้าอยู่คนเดียว น้องเอยเจ้าอยู่คนเดียว
เจ้าอยู่คนเดียวภายในห้องนอน
ก่อนหลับตาลง น้องจงอย่าลืมลงกลอน
สวดมนต์ขอพรเทพเทวา
ปกป้องคุ้มครองน้องแก้วให้คลาดแคล้วโพยภัย

ป่านเอยป่านนี้ น้องเอยน้องพี่อยู่ดีหรือไร
เมื่อยามหลับไหลน้องนอนฝันถึงใครเล่า
โถเจ้านอนอยู่คนเดียว โถเจ้านอนอยู่คนเดียว
นอนอยู่คนเดียวอย่านอนซบเซา
หลับเถิดคนดี แล้วค่อยตอบพี่รุ่งเช้า
เจ้าหลับฝันเห็นพี่บ้างไหม
ส่งความคิดถึงมาให้ในภาพฝันหรือเปล่า

 


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ก.ค. 12, 09:23
          ทันดูคณะสามศักดิ์กับหนึ่งอรสา อิศรางกูรฯ ร้องเพลงออกรายการทางทีวี ครับ
ตอนนี้จากสามคงเหลือเพียงหนึ่งศักดิ์ คือคุณมีศักดิ์

            คุณทนงศักดิ์เสียงทุ้ม นุ่ม เบา (จนบางครั้งฟังไม่ถนัดชัดเจน)

          นามสกุลภักดีเทวา จำได้ว่า หมายถึงภักดี(พระยาอนิรุธ)เทวา 

หนึ่งในเพลงเอกจากคุณทนงศักดิ์ที่ชอบ ครับ

                   หอรัก หอร้าง

ข้อมูลว่า คำร้อง ทำนองโดย ป. วรานนท์

        http://www.youtube.com/watch?v=5D78sk3zz70

         
         เรือนหอหลังนี้พี่สร้างรอเจ้า แต่ต้องอับเฉา
เฝ้าแต่รอหม่นหมองฤดี เฝ้าแต่รอรักน้องมาร่วมชีวี
ฝันหวานคอยที่ สุขขีวันวิวาห์

        เรือนน้อยคอยรักคอยเธอเคียงคู่ ได้แต่แลดู
ขาดยอดชู้คู่ขวัญชีวา  สิ้นสลายรักคลายสัญญา
น้อยหรือแก้วตา เปลื่ยนวาจาลืมน้ำใจ

         ดึกดื่นตื่นตาอกผวาครวญ เห็นห้องให้หวลครวญคร่ำอาลัย
สายลมโชยกระซิบร่ำไห้
ห้องหอเรือนใจ ไร้เทวีเดียวครอง

          เรือนหอหลังนี้เห็นทีจะร้าง สวาทขาดจาง
เปลี่ยวอ้างว้างไม่สมปอง สร้างเรือนหอไว้รอปรางทอง
เหลือเพียงหอห้อง กับเจ้าของเรือนรักทลาย


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 09:39
คุณทนงศักดิ์เป็นนักร้องเสียงนุ่มและเศร้า จนได้รับฉายาว่า นักร้องเสียงระทม   คงจะเป็นเพราะเหตุนี้เพลงที่ครูเพลงแต่งให้ร้อง จึงออกมาเป็นเพลงอกหักเสียเป็นส่วนใหญ่

เพลง ยามชัง เป็นอีกเพลงหนึ่งที่นำชื่อเสียงมาให้    คู่กับเพลง ยามรัก ของม.ร.ว.ถนัดศรี  สวัสดิวัฒน์

http://www.youtube.com/watch?v=vMUXVhrqOVU

เนื้อร้อง  ชาลี อินทรวิจิตร
ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน
                                 
ยามชัง พี่ยิ่งช้ำ ทุกยามเช้า
ไม่เห็นเจ้าเหงาจิต คิดจนเกือบสาย
วานอย่าชัง ให้พี่ช้ำถึงยามบ่าย
อย่าให้ชายหมายคอย จนคล้อยเย็น

ค่ำแล้วแสงเดือนงามอร่ามสรวง
ดาวลอยดวง ดูกลับทรามเมื่อยามเห็น
ฟังเพลงรัก เหมือนเพลงลา น้ำตากระเซ็น
ไม่วายเว้น สวาทหวาม  ยามน้องชัง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 10:18
เพลงนี้ไม่ใช่เพลงอกหัก  แต่ก็ยังระทมรับกับน้ำเสียงของคุณทนงศักดิ์อยู่ดี 
ทำนองและเนื้อร้องเศร้ากินใจมากค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=D7FklbIl8fM&feature=related

คำร้อง/ทำนอง จงรัก จันทร์คณา
ต้นฉบับ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา ขับร้อง

ยอดรัก จงมองที่ขอบฟ้า
โอบๆโค้งลงมา นั้นคืออ้อมกอดจากฉัน
ฮัม..... ยามเมื่อเราไกลกัน
เธอฉันดังอยู่เคลียไคล้

..ยอดรัก สายลมแผ่วละมุน
นั่นคือสายลมอุ่น ฉันพรมมาจูบลูบไล้
ฮัม..... เธอรู้บ้างหรือไม่
รักใครไม่เท่าเทียมฉัน

..คืนวัน จะผันแปรเปลี่ยนไป
แต่ใจฉันไม่อาจเปลี่ยนเวียนผัน
ซื่อตรง จงรักจนนิรันดร์
หากลืมฉัน ฉันคงต้องกลั้นใจตาย

..ยอดรัก การจากทั้งผูกพัน
ย่อมจะคิดถึงกัน เร่งวันคืนกลับเคียงกาย
ฮัม..... ครองรักกันไม่หน่าย
วันตายนั่นแหละวันลืม


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 10:21
ขอปิดท้ายด้วยคลิปประวัติและผลงานของทนงศักดิ์ ภักดีเทวา

http://www.youtube.com/watch?v=z5PZLQ08lS8&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 14:22
ดาวเสียงคนต่อไปที่ขอระลึกถึง   เสียดายที่จากไปก่อนวัยอันควร คือเจ้าของเสียงเยือกเย็นแบบเดียวกับมัณฑนา โมรากุล และรวงทอง ทองลั่นธม   ชื่อบุษยา รังสี
เธอมีชื่อจริงว่า มานี ทัพพะรังสี เป็นบุตรสาวพระยานราทรพิรัญรัฐ (เยื้อน ทัพพะรังสี) และเสงี่ยม ทัพพะรังสี เกิดเมื่อ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2483 ที่จังหวัดสงขลา เรียนจบอนุปริญญาทางพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมัยเรียนเคยเป็นนักร้องประจำวงพณิชยการพระนคร   ร้องให้วงดนตรีโรงเรียนนายเรือ ณ สถานีวิทยุ อ.ส.ในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ต่อมาได้เป็นนักร้องวงสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บุษยาได้เข้าวงดนตรีสุนทราภรณ์เมื่อต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2502 ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 1  ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ตั้งชื่อให้เธอว่า "ทัดดาว บุษยา" ตามชื่อนางเอกนิยายเรื่องดังของครูชอุ่ม   แต่ ครูเอื้อ สุนทรสนานเปลี่ยนเป็น "บุษยา" เมื่อเข้ามาอยู่ในวงดนตรีสุนทราภรณ์แล้ว ต่อมาเธอได้ออกทีวีครั้งแรก ชื่อ "บุษยา รังสี" ได้เป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นมา

บุษยา รังสีรับราชการในกรมบัญชีกลางอยู่ระยะหนึ่งควบคู่ไปกับการร้องเพลง ก่อนลาออกมารับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์ จนเมื่อครูเอื้อ สุนทรสนานเกษียณอายุราชการ จึงได้ออกมาร้องเพลงไทยสากลอยู่ระยะหนึ่ง เพลงที่เป็นที่รู้จัก กันดีได้แก่ ฝั่งหัวใจ ต่อมาได้ติดตามสามี (พลเรือเอกชูชาติ เกษเสถียร) ไปประจำอยู่ต่างประเทศระยะหนึ่ง เมื่อกลับมาเมืองไทยได้ขับร้องเพลงให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์และวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ในงานการกุศลต่าง ๆ เป็นครั้งคราว
เพลงแรกที่ทำชื่อเสียงและได้บันทึกแผ่นเสียง ของบุษยา รังสี คือเพลง "น้ำตาดาว" ส่วนเพลงอื่นๆ ที่สร้างชื่อเสียง ได้แก่ โดมในดวงใจ กระซิบสวาท สั่งไทร ลาภูพิงค์ พุทธศาสน์คู่ไทย ฝากหมอน แนวหลัง โดมร่มใจ แดนนภา ถึงพี่ จำจากโดม พอกันที ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนเดิม ลาแล้วแดนขจี อาลัยร่มพฤกษ์ ลาดงตาล และเพลงลาของสถาบันต่างๆ ทำให้ได้ฉายาว่า'ราชินีเพลงสถาบัน'

บุษยา รังสีถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ด้วยอาการนอนหลับไปแล้วไม่ตื่น  หลังจากป่วยด้วยโรคเนื้องอกในสมองมานานหลายปี


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 14:28
เปิดตัวบุษยาในกระทู้ ด้วยเพลงนี้

http://www.youtube.com/watch?v=T62R2xXilx0

คำร้อง ธาตรี
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน     
บันทึกแผ่นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2504

เหม่อดูหมู่ดาวที่พราวพร่างฟ้า
หยาดสายน้ำตาหยดมาเหมือนว่าช้ำใจ
โอ้ฟ้าลืมเลือนห่วงเดือนเหนือเจ้าหรือไร
เจ้าพราวผ่องใสไม่เคยชื่นชม

หยาดเอยหยาดชลหล่นมาชุ่มชื้น
หยาดน้ำค้างคืนฝากรอยขมขื่นระทม
เจ้าช้ำอุราดุจทรวงของข้าระบม
เขาเคยชิดชมแล้วมาห่างเหิน

โอ้น้ำตาดาว
ไหลพราวโลมหล้าให้เพลิน
หยาดน้ำค้างชวนเชิญ
หริ่งหรีดเพลินกรีดร้องรำพัน

เยือกเย็นทั่วกันด้วยชลหยาดฟ้า

อกเอยอกเราเมื่อคราวชอกช้ำ
สุดแสนระกำหลั่งความช้ำด้วยน้ำตา
แต่น้ำตาเราโอ้ใครไหนเล่าเหลียวมา
ซับรอยน้ำตาของข้าดุจดาว


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 15:08
เพลงสถาบันที่บุษยาขับร้อง  เพลงแรก โดมในดวงใจ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://www.youtube.com/watch?v=9L84TEUW3kk

คำร้อง ทวีปวร  (ทวีป วรดิลก ศิลปินแห่งชาติ)
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน   

ฟากฟ้าครามงามประกายเฉิดฉายโดม
รับแสงโสมส่องหล้ารุ่งราศรี
เหนือลำน้ำเจ้าพระยาพาชีวี
เริงฤดีคลื่นกล่อมยิ่งน้อมใจ

ทิวสนมวลล้วนสล้างเป็นทางแถว
ลมกระซิบเสียงแผ่วกิ่งก้านไหว
คำรำพันนั้นว่าโดมในดวงใจ
ยืนยงไปตราบสิ้นสุดดินฟ้า

โดมดำรงคงไว้ในดวงจิต
ชั่วชิวิตรักจะมั่นสุดหรรษา
มอบดวงใจให้แก่กันนิรันดร์มา
โดมคู่ฟ้ารักจะอยู่คู่ดวงใจ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 15:17
เพลงลาสถาบันอีกเพลงหนึ่งที่โด่งดัง คือ ลาภูพิงค์   ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

http://www.youtube.com/watch?v=dYonYsUlFG0

คำร้อง "ธาตรี" - สมศักดิ์  เทพานนท์
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน   

โอ้เคยภิรมย์สุขสมจินต์
แผ่นฟ้าแผ่นดินเชียงใหม่
ขวัญข้าคือดอยสุเทพเด่นไกล
ภูพิงค์นั่นไงชีวิตแห่งเรา

ไม่ลืมร้างราสามัคคี
ที่สวนดอกนี้ไงเล่า
สายธารห้วยแก้วเย็นใสดั่งเงา
เหมือนใจพวกเราใสเย็นดั่งธาร

ทองกวาวเหมือนความฝัน
ร่วงพลันเตือนถึงวันคืนผ่าน
อยู่กันมานาน
รวมมิตรสราญสราญสดใส

แต่วันนี้ไปไม่เหลือเลย
ลาแล้วที่เคยเชยใกล้
ขอลาโอ้ลาที่รักแห่งใจ
ถึงกายห่างไปฝังใจไม่เลือน

คุณ Benjamin8404 เล่าที่มาของเพลงไว้ในยูทูปว่า 
เพลงนี้มีประวัติครับ มีแพทย์เชียงใหม่รุ่นหนึ่งสองท่­านอยากมีเพลงซึ้งๆในงานฉลองปริญ­ญาจึงช่วยกันเขียนกลอนแปด "ลาแล้วภูพิงค์" ให้นักศึกษาแพทย์รุ่นน้องถือมาก­รุงเทพ (ตอนนั้นคณะแพทย์เชียงใหม่สังกั­ดมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์) นำไปขอร้องครูเอื้อซึ่งท่านก็เต­็มใจและเรียกข้าราชการในกรมประช­าฯชื่อคุณวิชัย (ครูธาตรี) มาดูแล้วก็ถามว่า หากจะเรียบเรียงคำร้องจากกลอนนั­้นต้องการให้มีจุดเด่นอะไรไว้บ้­าง ก็บอกว่า "ภูพิงค์"เพราะเป็นตำหนักที่พระ­เจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า­ฯเสด็จไปประทับพร้อมพระบรมวงศาน­ุวงศ์ ประเด็นที่สอง  คำว่า "ที่สวนดอกนี้ไงเล่า สายธารห้วยแก้วเย็นใส... เหมือนใจพวกเราใสเย็นดั่งธาร...­" เพราะเป็นคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบ­าลสวนดอก และสายธารที่เย็นใสนั้นเปรียบเส­มือนจิตใจของแพทย์
ไม่กี่วันต่อมาคนที่อยู่ทางกรุง­เทพก็ได้รับคำนัดหมายจากครูเอื้­อให้เอาเทปเปล่าสองม้วนไปที่ห้อ­งส่งเล็ก นักศึกษาแพทย์รุ่นสี่สามคนกับเพ­ื่อนก็ไปโดยไม่ทราบว่าเพลงนี้เป­็นอย่างไร ส่งเทปสองม้วนให้เจ้าหน้าที่แล้­วนั่งในห้องส่ง ห้านาทีต่อมาครูเอื้อเดินออกมาถ­ามเจ้าหน้าที่ห้องเทปว่าพร้อมหร­ือยัง
พอดนตรีเริ่มท่อน Intro ทุกคนเงียบกริบ ครูเอื้อร้องเองในจังหวะสโลว์สอ­งรอบแล้วดนตรีเปลี่ยนเป็นจังหวะ­แทงโก้ ครูเอื้อก็ร้องอีกสองครั้­ง ต่อเนื่องแบบ medley ทั้งหมด ทุกคนยิ้มอย่างยินดีเป็นที่สุดเ­พราะว่าเพลง "ลาภูพิงค์" จับใจจริงๆ วิ่งเอาเทปต้นฉบับไปส่งที่ดอนเม­ือง (บดท) ไปถึงเพื่อคืนวันงานฉลลองปริญญา­ของคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลสวนด­อกรุ่นหนึ่งได้พอดี   เป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่บรมคร­ูอย่างครูเอื้อและครูธาตรีได้มอ­บให้ ขอกราบขอบพระคุณจากหัวใจของแพทย­์ทุกรุ่น


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 12, 21:07
เพลง ปีศาจวสันต์ เป็นเพลงที่แฟนเพลงสุนทราภรณ์รู้จักดีเพลงหนึ่ง   ท่วงทำนองของครูเอื้อเศร้าและเยือกเย็นเหมือนลมฝน  เหมาะกับเสียงของบุษยา รังสี   บันทึกเสียงเมื่อพ.ศ. 2512  จากนั้นมีนักร้องอีกหลายคนนำมาร้องใหม่
เนื้อร้องที่แต่งโดยคุณศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ เป็นเนื้อที่ร้องยากมาก  ถ้าเป็นคนออกเสียงอักขระ ร ล และควบกล้ำไม่คล่องแล้ว ไม่ควรร้องเพลงนี้  ลิ้นจะพันกัน ตกม้าตายได้ง่ายๆ   
คุณศรีสวัสดิ์มักจะสร้างเนื้อร้องเจ็บปวดรวดร้าว กดดันและหม่นเศร้า ใช้คำยาก    ไม่ว่าจะเป็นปีศาจวสันต์ ลาทีปากน้ำ และพนาโศก

http://www.youtube.com/watch?v=DJAC1fiNhMI

คำร้อง ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน
เราจากกันวันนั้นยังจำ
จากกันวันฝนพรมพรำพรางม่านกรรม คล้ำครึ้มคลุมเวร
ลมครางฝนครวญ ไพรสั่นซวน รวนระเนน
ความกดดันขั้นเดนเหมือนจะเค้น ฆ่าตาย

เราจากกันวันนั้นนานมา
แต่เมื่อวสันต์ลีลาฤาสร่างซาฝนฟ้าฟูมฟาย
ฤดู ฤดี มันไม่มีวันคืนวาย
มันสาปใจ สาปกาย คล้ายมนต์ร้าย พรายผี

ผีวสันต์มันหลอกมันหลอน
ปีศาจวสันต์วันก่อน ยังสังวรณ์เวรนี้
ฟัง โถฟัง ฟังฝนตกซี เหมือนนรกตกตี
ย้ำขยี้ใจตรม

ไป จากไปไปแล้วไปเลย
อย่ามาชวนชิดชวนเชย ปีศาจเอยร้างเลยอารมณ์
ลมมาฝนมาจงอย่ามาพาระทม
เพียงโศกทรามเศร้าซม ฉันจะล้มตายแล้ว...


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ก.ค. 12, 09:30
            ชอบน้ำตาดาว มากครับ
            นอกจากลาภูพิงค์ โดมในดวงใจ คุณบุษยายังร้องเพลงสถาบันอื่นๆ ที่ไพเราะอีก
ที่ชอบมากก็คือ ลาก่อนสามพราน แดนนภา ครับ

            และ  อีกเพลงที่ชอบเป็นพิเศษ คือ ชีวิตวอลซ์ ครับ

คำร้อง ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ        ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน      
 
        http://www.youtube.com/watch?v=qF1rri6AocU

แกว่งไกวไหวโอน โยนยอดฝัน
อ๋อรำฟ้อนอัน มันกรีดกราย
ดูไม้อ่อนผ่อนเพลา ผลอยพลิ้วเบาสบาย
อยากเป็นคล้ายพฤกษ์พริ้งพรายร่ายรำ

โฉบไปฉายมาพาคู่ฝัน
โอ๋โลมทิพย์อันมันกระทำ
ดูนกว่อนร่อนร่าถานภาดื่มด่ำ
ท่าจะขำแม้เราทำอย่างมัน

หล่าลาลาล้า หล่าลาลันลา
ชีวิตเหมือนไม้ไหวเอนเล่นลม
สุขสมเสียว ซึ้งครัน
หล่าลาลาล้า หล่าลาลันลา
กับเงา เราวอลซ์กัน
พลางฝันบรรเจิดใจ

โฉบไปฉายมาพาคู่ฝัน
โอ๋โลมทิพย์อันมันกระทำ
ดูนกว่อนร่อนร่าถานภาดื่มด่ำ
ท่าจะขำแม้เราทำอย่างมัน

หล่าลาลาล้า หล่าลาลันลา
ชีวิตเหมือนไม้ ไหวเอนเล่นลม
สุขสมเสียว ซึ้งครัน
หล่าลาลาล้า หล่าลาลันลา
กับเงา เราวอลซ์กัน
พลางฝันบรรเจิดใจ

ชีวิตเหมือนนก
ยกโยนร่างลอย
เหาะผลอย ผลอยพลิ้วไกล

หล่าลาล้า หล่าลาลันลา
กับเงา เราวอลซ์ไป
แดนไหน ไพรรื่นรมย์


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 09:45
นำมาให้ฟังทั้งสองเพลงค่ะ    ลาก่อนสามพราน กับ แดนนภา

http://www.youtube.com/watch?v=geLPkjgmDM8

ลาก่อนสามพราน  เพลงลาของโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน
คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน

จากจรจำลารักเคยอยู่มานาน
ถิ่นเคยสราญสามพรานแห่งนี้
จำใจจำร้างจางเปรมปรีดิ์
เพลงดนตรีนี้แทนฤดีสัมพันธ์
สิ้นคืนชื่นชมภิรมย์ก็สิ้นไป
หมดสิ้นสุขใจหายไปดั่งฝัน
เพลงเดียวที่แม้แทนใจกัน
คอยจำนรรจ์ถึงความรักมั่นไม่คลาย

* ดวงใจทุกดวงยังห่วงใย
หวงห่วงฤทัยไม่วาย
อันนามสามพรานผูกพันฝากใจกาย
รับสิ่งมุ่งหมายสุดท้ายแน่นอน
สิ่งที่สุขใจเสียดายต้องจากไป
สุดจะหักใจฤทัยทอดถอน
ราตรีสุดท้ายใจรอนรอน
จำใจจรขอลาไปก่อนเจ้าเอย

ลาก่อนสามพราน ลาก่อนสามพราน
ลาก่อนสามพรานที่รักเอย


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 09:51
แดนนภา  เป็นเพลงที่แต่งให้โรงเรียนนายเรืออากาศ  เป็นอีกเพลงหนึ่งที่เนื้อร้องและทำนองไพเราะกลมกลืนกันมากๆ  คนแต่งเนื้อร้องเป็นทหารอากาศที่น่าจะรู้จักการแต่งกลอนเป็นอย่างดี  เพราะสัมผัสระหว่างวรรคออกมาเป็นแบบกลอนสุภาพทั้งหมด

http://www.youtube.com/watch?v=fz5wouB07Vc

คำร้อง นนอ. ประมุข แสงอร่าม
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน     
   

ดอน แดนดินถิ่นวิมาน
ดอน งามตระการปานเมืองพรหม
ดอน แดนนภาน่าสุขสม
ดอน ไม่ระทมต่อลมฟ้า

ถึงกายจะห่างต่างแดนแสนไกล
ลืมไม่ได้แดนดินถิ่นเวหา
เรืออากาศ มีดอนเป็นมารดา
มอบชีวาสุกใสให้รุ่งเรือง

* มองทิวสนแลละลิ่วปลิวไสว
ชัยพฤกษ์สลัดใบชูช่อเหลือง
งามจับตาศรีสง่าดอนเมือง
ชื่อลือเลื่องเรืออากาศพิลาศไกล

ท้องนภาฟ้ากว้างทางชีวี
ลูกดอนมีภาระมั่นอันผ่องใส
คือปกป้องคุ้มครองอธิปไตย
น่านฟ้าไทยจะมิให้ใครย่ำยี


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 10:19
  เมื่อพ.ศ. 2508  ครูเอื้อบันทึกเพลงหนึ่ง ซึ่งแต่งเนื้อร้องโดยคุณพร พิรุณ โดยไม่ได้วางแผนล่วงหน้ามาก่อน  เป็นเพราะในวันบันทึกเสียง นักร้องที่ร้องเพลงนี้ร้องได้ไม่ถูกใจ ประกอบกับเวลาเช่าห้องบันทึกเสียงใกล้จะหมด ท่านจึงร้องเองกับเครื่องดนตรีเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น  ชื่อเพลง ขอให้เหมือนเดิม 
  แต่เมื่อเพลงนี้ออกสู่วิทยุ   ก็กลายเป็นเพลงฮิทอันดับหนึ่ง นำชื่อเสียงมาให้ครูเอื้ออีกครั้งหนึ่งในวัยเกษียณ  เป็นเพลงที่เปิดฟังกันทั่วบ้านทั่วเมือง

http://www.youtube.com/watch?v=9CEgarTyBHA

เพลงนี้เป็นที่มาของเพลงอีกเพลงหนึ่งของบุษยา รังสี ในปีต่อมา คือ 2509    เป็นเพลงตอบเพลง "ขอให้เหมือนเดิม "
คือเพลง ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนเดิม

http://www.youtube.com/watch?v=N7PdqgVZlMY

คำร้อง  รังษีรัตน์
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน   
เธอหวนทวนกลับมาไฉน
น้ำใจชายหลายใจเช่นเธอ
ซ่อนหน้ามาเสนอ
โถนี่เธอแสร้งเพ้อมาเจอทำไม

คำพ้อขอให้เหมือนเดิมนั้น
รักกัน เธอเหมือนวันเก่าไหม
เที่ยวเร่ ถ่ายเทใจ
ผันเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปแล้วไยกลับคืน

ดั่งคำเปรยเขาเอ่ยกัน
เพียงสามวันใจผันอื่น
โอ้ใจชายหรือหมายคืน
หวนมาชื่นรักชั่วคืนใช่ไหม

วันนี้มิใช่คืนวันนั้น
ไม่เหมือนกันนั่นเพราะเธอใช่ใคร
หมดเยื่อเชื่อทำไม
ถึงอย่างไรอย่างไรก็ไม่เหมือนเดิม   


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ก.ค. 12, 10:33
          ยังจำได้ว่า ตอนที่เพลงขอให้เหมือนเดิม โด่งดังแล้วก็มีเพลงถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนเดิม
ร้องโต้ตามมา
            รายการเพลงสุนทราภรณ์ทางทีวี ได้มีการนำเสนอสองเพลงนี้เรียงตามกันแล้วยังพ่วง
เพลงที่สามตามง้ออีกด้วย

                     ถึงอย่างไรก็รัก จากเสียงของคุณวินัย

         http://www.youtube.com/watch?v=h0n3g5Qs3NE

 
..ถึงอย่างไรก็ยังคิดถึงเสมอ
ถึงอย่างไรก็ยังรักเธอมั่นคง
ห่างเพียงไหนรักปักใจเคลิ้มลุ่มหลง
เพ้อพะวงแต่รักรักรักทุกลมหายใจ

..ถึงอย่างไรไม่เคยคิดคลายถ่ายถอน
ถึงอย่างไรก็ยังขอวอนเรื่อยไป
หากจะเคืองหรือมีเบื้องหลังแค่ไหน
รักยังเต็มดวงใจจริงๆนะยอดชีวัน

..เป็นทาสความงามตามรักเธอ
เป็นทาสบำเรอความรักมั่น
ยอมคุกเข่าโดยมิหวั่น
เพียงยึดมั่นรำพันรักเธอ

..ถึงอย่างไรปักใจคล้ายเงาเบื้องหลัง
ถึงอย่างไรจิตใจฉันยังใคร่เจอ
สุดชีวิตแล้วจิตยังคิดเสนอ
รักเธอดังรอยสักสักสักลึกปักกับใจ
 
จำไม่ได้และไม่ปรากฏข้อมูล ครับ ว่าเป็นเพลงที่มีอยู่เดิมหรือว่าแต่งขึ้นมาใหม่ในภายหลังจากสองเพลงนั้น


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 11:25
หาข้อมูลเพลง ถึงอย่างไรก็รัก ไม่เจอเหมือนกันค่ะ
คุณเทพกร บวรศิลป์ สมาชิกประจำของเว็บคนรักสุนทราภรณ์  เป็นสมาชิกเรือนไทย  ถ้าเห็นกระทู้นี้อาจจะเข้ามาให้ข้อมูลก็ได้

เพลง ไม่รักไม่รู้  เป็นเพลงคู่ของบุษยา รังสี กับยรรยงค์ เสลานนท์   เพลงนี้เป็นเพลงประกอบในภาพยนต์เรื่อง อกธรณี ออกฉายในพ.ศ. 2511
บทประพันธ์ของ ธม ธาตรี(เชิด ทรงศรี)   ดารานำคือสมบัติ เมทะนี   พิศมัย วิไลศักดิ์ และโสภา สถาพร ในเรื่อง  เป็นเพลงที่สมบัติกับโสภาร้องคู่กัน แต่บุษยาให้เสียงแทนโสภา

http://www.youtube.com/watch?v=QTOmJjaH4c0
คำร้อง    'ธาตรี' (วิชัย โกกิลกนิษฐ)
ทำนอง   เอื้อ สุนทรสนาน 

ช) โอ้ใจพี่นี้จะขาด ใจพี่นี้จะขาดแล้วนงนาฏเอย
วอน วอนด้วยรักทรามเชย โถช่างเฉยเมยไม่เคยปรานี
โปรดมาเถอะรักกันก่อน มาเถอะรักกันก่อนขอวอนไหว้ที
รอ รอแก่แล้วไม่ดี สาวอยู่ทั้งทีต้องมีรักใคร่
มารักกันน้องเอย ชื่นเชยหวานใดเลยเทียมได้
อิ่มอารมณ์สมความเริงใจ สุขใดใดไม่เหมือนได้รักโลมกาย
เธอดังดอกไม้แรกบานไยไม่คิดต้องการวิมานเพริศพราย
บาน บานผ่านแล้วย่อมวาย แสนเศร้าเสียดายเมื่อตายไร้ค่า
ญ) โอ รักเป็นฉันใด หวั่นใจเพราะไม่เคยดังว่า
ช) หวั่นไปไยไร้มวลมายา เชื่อวาจาไม่รักไม่รู้เลยเธอ
จูบเดียวก็รู้กระจ่าง มองโลกนี้สว่างสำอางเลิศเลอ
ญ) โอ โอแทบเคลิ้มละเมอ
พ) รักนี่นะเออเลิศเลอสมจริง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 11:27
* มองทิวสนแลละลิ่วปลิวไสว
ชัยพฤกษ์สลัดใบชูช่อเหลือง
งามจับตาศรีสง่าดอนเมือง
ชื่อลือเลื่องเรืออากาศพิลาศไกล

เดี๋ยวนี้ท่านรอยอินกำหนดให้ต้นไม้ที่สลัดใบชูช่อเหลืองชื่อ "ราชพฤกษ์" เสียแล้ว

ราชพฤกษ์ [ราดชะพฺรึก] น. ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia fistula L. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีเหลือง ฝักสีดํา เกลี้ยง ใช้ทํายาได้, คูน หรือ ลมแล้ง ก็เรียก.
 
ส่วนชื่อ "ชัยพฤกษ์" กลายเป็นออกดอกสีชมพู

ชัยพฤกษ์ ๑  [ไชยะพฺรึก] น. ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia javanica L. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีชมพูเข้ม เมื่อออกดอกไม่ทิ้งใบ ฝักเกลี้ยงใช้ทํายาได้.

สับสนจริง ๆ หนอ (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/06/K4467537/K4467537.html)

 ;D


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 11:44
นนอ.ประมุข ผู้แต่งเนื้อร้องเพลงนี้เป็นทหารอากาศ   ท่านย่อมจะรู้จักชัยพฤกษ์ดี เพราะเป็นพันธุ์ไม้ประจำโรงเรียนนายเรืออากาศ

http://9idea.tarad.com/product.detail_883100_th_4452948

ต่อมารอยอินจัดระเบียบ  ชัยพฤกษ์เลยเป็นสีชมพูอย่างเป็นทางการไปแล้ว  ตามที่คุณรปภ.ภาษา เพ็ญชมพู ว่ามา


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 11:52
เพลงอีกเพลงที่บุษยาร้องคู่  คือ เมื่อฝนโปรย ร้องคู่กับสุนทราภรณ์(ครูเอื้อ สุนทรสนาน)  เป็นการบันทึกเสียงครั้งที่สอง  ครั้งแรกครูเอื้อร้องคู่กับชวลี ช่วงวิทย์
เคยฟังเมดเล่ย์  เพลงเมื่อฝนโปรย ประสานเสียงกับเพลง กรุงเทพราตรี   ออกมากลมกลืนกันได้น่าอัศจรรย์ใจ   เสียดายหาไม่เจอในยูทูบค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=rmdZmqyIUXk&feature=related

คำร้อง     แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง    เอื้อ สุนทรสนาน   

หญิง) เมื่อฝนโปรยมาเราบังชายคา
แผ่นดินแผ่นฟ้าชุ่มฉ่ำ
ชาย) แผ่นดินฉ่ำน้ำดูนอง
หญิง) แผ่นดินฉ่ำน้ำดูนอง
ชาย) เหมือนใจฉ่ำรักเธอเคยรอง
หญิง) รักนองท่วมล้นจนเกินปอง
ชาย) หัวใจก็นองเจิ่งล้น
เมฆฝนอมฝนนานเกินจะทน จึงคายเป็นฝนไหลบ่า
หญิง) บ่าจากฟากฟ้าเมืองบน
ชาย) บ่าจากฟากฟ้าเมืองบน
หญิง) เหมือนรักอมกลั้นตันกมล
ชาย) คับใจเต็มกลั้นมันเกินทน
หญิง) รักหลั่งกว่าฝนล้นหลั่ง
พร้อม) มองฟ้าคร่ำดำหมอง
ชาย) หมองใจเมื่อไร้เธอครอง อกเราก็หมองชิงชัง
หญิง) แม้เราจากกันโศกศัลย์สุดสั่ง
น้ำตาจะพาไหลหลั่งดั่งฝนพราวพรู
ชาย) อย่าเอาคำน้ำตามาเปรียบเรา
หญิง) เปรียบอย่างนั้นใจมันแสนเศร้า
ชาย) เศร้าจริงเจียวพธู
พร้อม) ฝนเอย ตกต้องตามฤดู
ตกแต่รักเราพราวอยู่ ตกจนไม่รู้เวลา

ชาย) เมื่อร้อนเต็มทนไอดินลอยวน  แต่พอได้ฝนก็ฉ่ำ
หญิง) แผ่นดินดูดน้ำซึมมา
ชาย) แผ่นดินดูดน้ำซึมมา
หญิง) เหมือนใจดูดรักเรานำพา
ชาย) รักเราดูดรักเต็มอุรา
หญิง) น้ำใจก็พาเศร้าหาย
ต้นไม้จวนตายพิรุณโปรยปราย
เหี่ยวแห้งก็หายคลายแห้ง
ชาย) กิ่งใบแห้งแล้งพลันคลาย
หญิง) กิ่งใบแห้งแล้งพลันคลาย
ชาย) เหมือนใจที่แห้งจวนจะตาย
หญิง) รักโปรยมาหล่อพอสบาย
พร้อม) ความโศกที่ร้ายหายขุ่น
หญิง) เย็นหนาวสั่นปานใด
ชาย) หนาวเย็นเถิบชิดดวงใจ
เบียดให้ใกล้เนื้อนวลละมุน
หญิง) ไอตัวอบตัว อุ่นเนื้ออบอุ่น
ชาย) ขวัญใจกลิ่นไอหอมกรุ่น  อุ่นเหมือนผิงไฟ
หญิง) อุ่นอบกายหัวใจก็อุ่นพลอย
ชาย) อุ่นด้วยกายโดนปลายนิ้วก้อย
หญิง) พล่อยจนเกินไป
พร้อม) ฝนมาอย่าเพิ่งซาหายไป
ตกมาทั้งวันก็ได้จะได้แนบเนื้อนานนาน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ก.ค. 12, 12:11
เพลงนี้กระมัง ครับ

           เพลงแห่งความหลัง ร้องนำโดย คุณวินัย

        http://www.youtube.com/watch?v=YdfZdY5gi3k


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 12:20
เยี่ยมมากค่ะ  คุณ SILA
เป็นเมดเล่ย์ กรุงเทพราตรี บึงน้ำรัก เมื่อฝนโปรย เจ้าพระยา และเพลงแห่งความหลัง   นำเพลงสี่แรกเฉพาะบางท่อนมารวมไว้เป็นเพลงเดียวกัน  วินัย จุลละบุษปะ ร้องนำ ชื่อ เพลงแห่งความหลัง
ถือเป็นการเรียบเรียงที่สุดยอดของสุนทราภรณ์


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 17:24
เราพูดกันถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปของสุนทราภรณ์มาหลายคนแล้ว  ขอเปลี่ยนทิศทางเป็นดาวเสียงแนวอื่นบ้าง
นานมาแล้ว  ได้ยินเพลงเนื้อร้องแปลกหูเพลงหนึ่งเป็นครั้งแรก  ฟังเสียงร้อง เนื้อร้องและท่วงทำนอง ประกอบเสียงกีต้าร์ก็ติดใจทันที   เป็นครั้งแรกที่ได้ยินเพลงป๊อบร้องด้วยภาษาไทยที่แทรกภาษาล้านนา   เรียกกันว่าโฟล์คซองคำเมือง
เพลงนั้นคือ อุ๊ยคำ    
(คุณเพ็ญชมพูอย่าเพิ่งตรวจภาษา  เพลงนี้สะกดบนแผ่นว่า อุ้ยคำ แต่คนร้องออกเสียงเป็น อุ๊ยคำ)  เป็นเพลง ballad  คือเพลงที่เล่าเรื่องราวต้นจนจบในเนื้อร้อง

ศิลปินผู้ร้อง มีเสียงนุ่มนวลน่าฟังมาก   ออกสำเนียงถิ่นเหนือได้ไพเราะติดหู
จึงจำชื่อจรัล มโนเพ็ชร ได้นับแต่นั้น

http://www.youtube.com/watch?v=3ES1yF8Ujk4

.อุ๊ยคำ อุ๊ยคำ อุ๊ยคำ
อุ๊ยคำคนแก่ ท่าทางใจดี
ลูกผัวบ่มี อยู่ตัวคนเดียว
มะแลงแดดอ่อน อุ๊ยคำกำเคียว
เกี่ยวผักบุ้ง ใส่บุงกลางหนอง
ตาก่ฝ้า ก่ฟาง หลังก่งุ้ม ก่ก่อง
อยู่กลางหนอง จนมืด จนค่ำ
แล้วแกก็แบ่ง (แล้วแกก็แบ่ง)
ผักบุ้งเป็นก๋ำ (ผักบุ้งเป็นก๋ำ)
ส่งขาประจำ เลี้ยงตัว สืบมา
อุ๊ยคำเกยบอก เล่าความเป๋นมา
ลูกผัวก่อนหน้า นั้นอยู่ตวยกั๋น
แล้วมาวันหนึ่ง (แล้วมาวันหนึ่ง)
ผัวแกก่พลัน (ผัวแกก่พลัน)
มาต๋ายละกั๋น เหลือเพียงลูกสาว
แต่แล้วแฮม บ่เมิน มีเรื่องอื้อฉาว
ลูกสาวหนีโต๋ย ปอจาย
อุ๊ยคำเลยอยู่คนเดียวเปลี่ยวดาย
ตุ๊กใจ๋ ตุ๊กก๋าย ปี้น้อง บ่มี

อุ๊ยคำ อุ๊ยคำ อุ๊ยคำ
อุ๊ยคำคนแก่ ท่าทางใจ๋ดี
ลูกผัวบ่มี เป็นดี้เอ็นดูล้ำ
แลงนี้แดดอ่อน บ่หันอุ๊ยคำ
เกยมาประจำ อุ๊ยคำ ไปไหน
หมู่ผักบุ้ง ยอดซมเซาซบ บ่ไหว
เป็นจะใดไปแล้วอุ๊ยคำ
ฟ้ามืดมัวหม่น เมฆฝนครื้มดำ
เสียงพระอ่านธรรม ขออุ๊ยคำไปดี
อุ๊ยคำ อุ๊ยคำ อุ๊ยคำ

เพลงนี้เข้าใจว่าคุณจรัลแต่งเนื้อร้อง  ส่วนทำนองมาจากเพลง   - MAN COMES INTO EGYPT  ของ Hellerman and Minkoff, ร้องโดย PETER PAUL & MARY

http://www.youtube.com/watch?v=MEwkDWKJ994


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 12, 22:39
ประวัติของจรัล มโนเพ็ชร์ในวิกิพีเดีย (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A5_%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B9%87%E0%B8%8A%E0%B8%A3)

ในบรรดาเพลงทั้งหมดของคุณจรัล  เพลงนี้เป็นเพลงโปรด

http://www.youtube.com/watch?v=jREOmC-txhg&feature=related

เนื้อร้อง -ทำนอง  จรัล มโนเพ็ชร

อย่ากลับคืนคำเมื่อเธอย้ำสัญญา
อย่าเปลี่ยนวาจาเมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป
ให้เธอหมายมั่นคง แล้วอย่าหลงไปเชื่อใคร
เดินทางไป... อย่าหวั่นใครกางกั้น ..

มีดวงตะวันส่องเป็นแสงสีทอง
กระจ่างครรลองให้ใฝ่ปองและสร้างสรรค์
เมื่อดอกไม้แย้มบาน ให้คนหาญสู้ไม่หวั่น
คือรางวัลแด่ความฝันอันยิ่งใหญ่... ให้เธอ

บนทางเดินที่มีขวากหนาม
ถ้าเธอคร้ามถอยไปฉันคงเก้อ
ฉันยังพร้อมช่วยเธอเสมอ
เพียงตัวเธอไม่หนีไปเสียก่อน

จะปลอบดวงใจให้เธอหายร้าวราน
จะเป็นสะพานให้เธอเดินไปแน่นอน
จะเป็นสายน้ำเย็น ดับกระหายยามโหยอ่อน
คอยอวยพรให้เธอสมดังหวังได้... นิรันดร์..


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 09:33
เพลงอีกเพลงหนึ่งที่โด่งดังไม่แพ้ อุ๊ยคำ  คือเพลง มิดะ  เนื้อเพลงพูดถึงลานสาวกอด หรือประเพณีของชาวอาข่า ที่มี "มิดะ" ซึ่งเป็นคำเรียกแม่ม่ายผู้ทำหน้าที่สอนเพศศึกษาให้หนุ่มๆ     
คนฟังก็เข้าใจกันตามเนื้อเพลงว่านี่คือประเพณีหนึ่งของชาวอาข่า   อาข่าก็เลยดังขึ้นมาด้วยเพลงนี้  จนชาวอาข่าอดรนทนไม่ได้ ต้องออกมาประกาศว่าไม่ใช่เรื่องจริง  อาข่าไม่เคยมีประเพณีดังกล่าว    มิดะ ไม่มีตัวตน มีแต่คำว่า หมีดะ ซึ่งหมายถึงหญิงสาวโสด

http://www.youtube.com/watch?v=GoE0H1uWuZs


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 09:38
แถลงการณ์ มายาคติ คลายปมมิดะและลานสาวกอด

กราบเรียน ท่านผู้อาวุโสอาข่าทุกท่าน นักวิชาการ นักเขียน เจ้าของลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อมวลชนทุกแขนง

อาข่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ ในภาคพื้นเอเชียคือ มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และทางเหนือของประเทศไทย คนไทยรู้จักชาว "อาข่า" มาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะ "มิดะ" และ "ลานสาวกอด"
คำว่า "มิดะ" เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2492 ในหนังสือภาษาไทยเรื่อง "30 ชาติในเชียงราย" โดยผู้เขียนชื่อบุญช่วย ศรีสวัสดิ์  และหลังจากนั้นปีพ.ศ.2496 ได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อ "ชาวเขาในประเทศไทย"  ต่อมามีหนังสือมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้น เช่น หนังสือ "เรื่องลับน่ารู้ของอีก้อ" ที่เขียนโดย ปิยพงศ์

แต่สิ่งที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้จักคำว่า "มิดะ" นั้นมาจากศิลปินเพลงชาวเหนือ จรัล  มโนเพชร ได้แต่งเพลงชื่อว่า "มิดะ" ที่กล่าวถึง "มิดะ" หญิงสาวผู้เป็นครูสอนเพศศึกษาให้แก่ชายหนุ่มชาวอาข่าที่กำลังเข้าสู่วัยออกเรือน อีกทั้งยังกล่าวถึง "ลานสาวกอด" อีกด้วย จากชื่อ "ลานสาวกอด" นี้ ทำให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจว่า ลานสาวกอดเป็นสถานที่พลอดรัก เป็นสถานที่ที่สามารถกอดสาวได้ตามใจชอบ

 ด้วยความเข้าใจใน "มิดะ" และ ไลานสาวกอด" ที่ได้ถ่ายทอด ตอกย้ำ ซ้ำ ทวน ตามสื่อต่างๆ ทั้งบทเพลง หนังสือ ภาพยนตร์ การ์ตูน จึงทำให้เกิดวาทะกรรม "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" ขึ้น ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในเชิงลบ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อผู้หญิงอาข่ารวมถึงผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย ทำให้ชาวอาข่าออกมาแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างอัตลักษณ์ "ความเป็นอาข่า" ในแบบที่เขาไม่ได้เป็นผู้สร้าง

 ชาวอาข่าได้กล่าวถึงคำว่า "มิดะ" หรือ "หมี่ดะ" ว่า เป็นคำเรียก หญิงสาวธรรมดาของอาข่าที่ยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้เป็นชื่อตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น ส่วน "ลานสาวกอด" นั้นไม่มีอยู่จริง มีเพียงแต่ "ลานวัฒนธรรม" หรือ "แต ห่อง" เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในทางพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนในหมู่บ้าน เป็นแหล่งถ่ายทอดบูรณาการความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เป็นแหล่งแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างความสมัครสามัคคีแก่ผู้คนในหมู่บ้าน ดังนั้นเรื่องราวด้านเพศสัมพันธ์ของชาวอาข่า โดยเฉพาะที่ว่าด้วย "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" นั้น จึงเป็นเพียงจินตนาการของผู้เขียนสารคดีและบทเพลงเท่านั้น

 "มิดะ" ที่เป็นแม่ครูชำนาญโลกีย์สอนลีลารักแก่ชายหนุ่มนั้นจึงไม่เคยมีอยู่จริงในสังคมอาข่า มีแต่ "หมี่ดะ" ที่เป็นหญิงบริสุทธิ์ผู้เตรียมพร้อมต่อหน้าที่เมียและแม่ของตน  "กะลาล่าเซอ" ที่ไม่ใช่ "ลานสาวกอด" และ "ลานสาวกอด" ที่ไม่ได้มีไว้กอดสาว แต่คือ "แดข่อง" ลานประเพณีที่ชายหญิงมาร่วมกันร้องเพลงเต้นรำขับกล่อมหมู่บ้านและผู้คนให้ซึมซับวิถีแห่งวัฒนธรรมอาข่า  โลกทางวัฒนธรรมทางเพศของชาวอาข่าที่แท้จริงนั้นจึงมีความละเมียดละไมและกลิ่นอายความงดงามในฐานะมนุษย์ธรรมดาๆ กลุ่มหนึ่งอยู่อย่างเต็มเปี่ยม มิใช่สังคมอิสระทางเพศดังที่หลายๆคนเข้าใจ

 ดังนั้นจากนี้เป็นต้นไป หากสื่อใดๆ มีความประสงค์ที่จะเผยแพร่เรื่องราวของ มิดะและลานสาวกอดก็ให้ถือการแถลงข่าวนี้เป็นหลัก และหากสำนักพิมพ์ใดๆ มีความประสงค์จะตีพิมพ์ก็ขอให้เอาแถลงการณ์นี้แนบท้ายก็จะดียิ่ง

 ขอขอบพระคุณ ณ โอกาสนี้ สวัสดีครับ

 อาจู จูเปาะ
 ประธานชมรมอาข่าในประเทศไทย

 http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20110131/374707/%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%B0-%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C---%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8D%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%94.html


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 31 ก.ค. 12, 09:46
            นอกจากร้องและแต่งเพลงไพเราะแล้ว คุณจรัลยังมีความสามารถทางการแสดงที่โดดเด่น
ทั้งบนเวที ในละครเพลงสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ บนจอเงินในเรื่องด้วยเกล้า และจอแก้วในเรื่องขมิ้นกับปูน

คลิปบางตอนจาก ด้วยเกล้า เล่าเรื่องราวชีวิตชาวนา ความแห้งแล้งและฝนหลวง

           http://www.youtube.com/watch?v=xso1SZNpriQ&feature=relmfu


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 31 ก.ค. 12, 09:47
            ชอบเพลงรางวัลแด่คนช่างฝันมากเช่นกัน ครับ เป็นเพลงเอกของคุณจรัล
ที่มีนักร้องนำมาร้องต่อกันไปนับสิบคน

              เวอร์ชั่นนี้ไพเราะหรูหราบรรเลงด้วยวงไหมไทย  ในอัลบั้มลำนำแห่งขุนเขา ครับ

      http://www.youtube.com/watch?v=3jFmKLaA_Qk


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 31 ก.ค. 12, 09:48
และ   อีกหนึ่งเพลงจากอัลบั้มเดียวกัน  ครับ

               ล่องแม่ปิง

     ...ดอกบัวตองนั้นบานอยู่บนยอดดอย
ดอกเอื้องสามปอย บ่เกยเบ่งบานบนลานพื้นดิน
ไม้ใหญ่ไพรสูง นกยูงมาอยู่กิน
เสียงซึงสะล้อ..จ๊อยซอเสียงพิณ
คู่กับแดนดินของเวียงเจียงใหม่
สาวเจ้าควรภูมิใจ บ่ลืมว่าเฮาลูกแม่ระมิงค์

...* คนงามงามต้องงามคู่ความเด่นดี
ต้องฮักศักดิ์ศรีของกุลสตรีแม่ญ่าแม่ญิง
เยือกเย็นสดใส..เหมือนน้ำแม่ปิง
มั่นคงจริงใจ ฮักใครฮักจริง
สาวเอยสาวเวียงพิงค์ สาวเครือฟ้าเคยซมซาน
อีกแม่สาวบัวบาน..นั่นคือนิทานสอนใจ

         http://www.youtube.com/watch?v=Oeoar-6uS10


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 10:15
http://www.youtube.com/watch?v=O0BSt5MlZ4A
เพลง    ของกิ๋นคนเมือง
ศิลปิน    จรัล มโนเพชร

        ช.ของกิ๋นบ้านเฮา.
        เลือกเอาเต๊อะนาย.
        ญ.เป๋นของพื้นเมือง.
        เป๋นเรื่อง สบาย.
        (ช+ญ) ล้วน ซะป๊ะ มากมี
        ฟังฮื้อดีเน้อ.
        ฟั่งใค้ อยากจนเผลอ
        มาบลืนน้ำลาย
        ช.แก๋งแคจิ้นงัว
        ญ.ใส้อั่วจิ้นหมู
        ช.แก๋งหน่อไม้ซาง
        ญ.ขั่วบ่าถั่วปู
        (ช+ญ)น้ำพริกแมงดา
        กับน้ำพริกอ่อง.
        คั่วผักกุ่มดอง
        หนังปองน้ำปู๋
        ช.แก๋งผักเซี้ยงดา
        ญ.ใส่ป๋าแห้งตวย เน้อเจ๊า
        ช.แก๋งบอนแก๋งตูน
        ญ.กับแก๋งหยวกกล้วย
        (ช+ญ) ต๋ำบ่าหนุนยำเตา
        ซ้าบ่าเขือผ่อย
        แก๋งเห็ด แก๋งหอย
        ก้อยป๋าดุ๊กอุย
        ช.แก๋งบ่าค้อนก้อม
        ญ.แก๋งอ่อมเครื่องใน
        ช.แก๋งผักเฮือดลอ
        ญ.อ๋อยำหน่อไม้
        (ช+ญ)น้ำเมี้ยงน้ำตับ
        กับแก๋งฮังเล
        น้ำพริกอีเก๋ เฮ้ยำจิ้นไก่
        ช.ลาบงัวตั๋วลาย
        ญ.ลาบควายตั๋วดำ
        ช.ลาบไก่ยกมา
        ญ.ลาบป๋าสร้อย ก็ลำกา
        ช.กิ๋นอะหยังระวังพ่อง
        ญ.ลุต๊องจะว่าบ่าบอก
        ช.ส่วนบ้านผม กิ๊กก๊อก
        ญ.ยอกแก๋งโฮะ ตึงวัน
        ช.ของกิ๋นบ้านเฮา.
        เลือกเอาเต๊อะนาย.
        ญ.เป๋นของพื้นเมือง.
        เป๋นเรื่อง สบาย.
        ช+ญ) ล้วน ซะป๊ะ มากมี
        ฟังฮื้อดีเน้อ.
        ฟั่งใค้ อยากจนเผลอ
        มาบลืนน้ำลาย


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 12, 15:28
เพลงสำหรับคนไกลบ้าน เป็นอีกเพลงหนึ่งที่จรัลแต่งและร้องได้อารมณ์โหยหาถึงถิ่นเดิม 
ชาวเรือนไทยคนไหนอยู่ไกลบ้าน น่าจะชอบฟัง

http://www.youtube.com/watch?v=S4upucnM4G4

มองดูดวงดาวก็คงเป็นดาวดวงเดียวกัน
มองดูดวงจันทร์ก็เหมือนกับจันทร์ที่บ้านเรา
ยามนี้ฉันเหงา คิดถึงบ้าน
มองดูท้องฟ้าก็ยังเป็นฟ้าพื้นเดียวกัน
มองดูดวงตะวันก็ยังส่องแสงไปบ้านฉัน
ยามฟ้ามืดครึ้ม คิดถึงบ้าน

* อยู่ในเมืองกรุงก็คงวุ่นวายและวกวน

มีแต่ผู้คนก็เหมือนกับคนไม่รู้จักกัน
ชีวิตผกผัน คิดถึงบ้าน
มองไปทางใดก็มีแต่ตึกสูงสวยงาม
แต่ใจคนไม่งามเหมือนกับคนที่บ้านเรา
ยามนี้ฉันเหงา คิดถึงบ้าน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 01 ส.ค. 12, 17:49
       ฟังคุณจรัลร้องเพลงของตัวเองแต่งแล้ว เชิญฟังคุณจรัล cover เพลงเก่า - คืนหนึ่ง

คลิปเพลงนี้จากละครโทรทัศน์เรื่อง เมื่อดอกรักบาน

         http://www.youtube.com/watch?v=P-4o7NKLGcA  


ทำนองโดยครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร์ คำร้องโดย เสด็จองค์ชายใหญ่และครูแจ๋ว

แต่เดิมเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง จำปูน ครับ    


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 12, 19:54
ขอย้อนถอยหลังไปจากยุคคุณจรัล  ถึงในรัชกาลที่ 6   ดช.สมยศ ทัศนพันธ์ ถือกำเนิดมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2458 
ประวัติในวิกิพีเดียบอกว่าเป็นบุตรของ ร.อ.เจริญ ทัศนพันธ์ ร.น. เกิดที่ย่านบ้านหม้อ ถนนเจริญกรุง ที่ร้านเจริญกิจมาลาของผู้เป็นบิดา มารดาเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก จึงอยู่กับบิดาและแม่เลี้ยง เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดสุทัศน์และโรงเรียนวัดราชบพิธและศึกษาต่อด้านวิจิตรศิลป์ ที่โรงเรียนเพาะช่าง

สมยศ ทัศนพันธ์ ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก เคยรวมกลุ่มกับเพื่อนเล่นดนตรี และประกวดร้องเพลงตามงานวัดได้รางวัลมากมาย สมัยเรียนเพาะช่าง เกิดขัดแย้งกับแม่เลี้ยงซึ่งไม่พอใจที่สมยศซ้อมร้องเพลงหนวกหูทุกวัน จึงหนีออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อน และเลิกเรียนหนังสือ
ต่อมาได้ข่าวว่ากองทัพเรือไทยรับสมัครนักร้องและนักแต่งเพลงประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ จึงเข้าไปสมัครแข่ง โดยร้องเพลง "บางปู" ของครูล้วน ควันธรรม ได้ที่หนึ่งและบรรจุเข้ารับราชการ รุ่นเดียวกับสุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ เสน่ห์ โกมารชุน สมศักดิ์ เทพานนท์ และปิติ เปลี่ยนสายสืบ

สมยศ ทัศนพันธ์ เป็นผู้แต่งทำนองเพลงให้กับกองดุริยางค์ทหารเรือ โดยมีครูสกนธ์ มิตรานนท์เป็นผู้แต่งคำร้อง เช่น "ลมทะเล" "วอลท์ซนาวี" "หน้าที่ทหารเรือ" และเพลงดัง เช่น "เซียมซีเสี่ยงรัก" "รอยแผลเก่า" "น้ำตาผู้ชาย" "ดาวร่วง" "รักครั้งแรก" "ขวัญอ่อน" "เกร็ดแก้ว" และเป็นผู้สนับสนุนให้ครูพยงค์ มุกดาเข้ามาอยู่ในกองดุริยางค์ทหารเรือ

สมยศ ทัศนพันธ์รับราชการอยู่เป็นเวลา 16 ปีจนกระทั่งมียศเป็นเรือตรี จึงลาออกจากราชการและตั้งวงดนตรีเดินสายทั่วประเทศ เป็นนักร้องคนแรกที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในสาขาเพลงลูกทุ่ง ในปี พ.ศ. 2508 จากเพลง "ช่อทิพย์รวงทอง" ผลงานประพันธ์ของพยงค์ มุกดา บันทึกเสียงเมื่อ พ.ศ. 2498

สมยศ ทัศนพันธ์ เสียชีวิตด้วยวัย 67 ปี ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2529 ด้วยโรคหัวใจ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 12, 19:58
http://www.youtube.com/watch?v=HC7A2dAw4Dw

ช่อทิพย์รวงทอง
คำร้อง ทำนอง ครู พยงค์ มุกดา  ศิลปินแห่งชาติ

รุ่งแล้วอรุณอุ่นไอแสงส่อง ทั่วท้องคันนา
อร่ามงามตาช่อทิพย์รวงทอง
ชูช่อเหลืองประเทืองงามผ่อง
ดั่งหนึ่งน้องพธูนารี โพสพเทวีเฉิดฉันท์

รุ่งทิพย์รวงทองพี่มองเหมือนเช่นได้เห็นอนงค์
ยืนอวดเอวองค์อ่อนช้อยลาวัณย์
งามดุจฟ้าเทวามาปั้น  ดังสวรรค์ประทานนางมา เมื่อฟ้าสีทองอุทัย
รวงทองชูต้นเหมือนคนใจเดียว  รอฤดูเก็บเกี่ยว
แหงนคอรอเคียวเกี่ยวไป
สาวเอยแม่มัวเฉยเมยคอยใคร
ให้พี่เก็บเกี่ยวเจ้าไป สู่ยุ้งฉางในหทัยรักพี่

ช่อทิพย์รวงทองพี่น้องน้องยิ่งกว่าหญิงใดๆ
จะเก็บเกี่ยวไปเป็นขวัญชีวี
เป็นช่อทิพย์ในดวงใจพี่
รวงทองนี้ปรานีให้เคียว เกี่ยวน้องไว้ครองคู่เอย

เพลงนี้ชรินทร์ นันทนาครนำมาร้องอีกครั้งก็ประสบความสำเร็จมาก   ดิฉันจึงอยากถามคุณ SILA ว่าเพลงลูกทุ่งในสมัยนั้น เขานับกันที่การเปล่งเสียงออกเหน่อๆ แบบลูกทุ่งเท่านั้นหรือเปล่า  เพราะจะว่าไปทำนอง ตลอดจนเนื้อร้อง ก็ไม่ต่างจากเพลงลูกกรุง   
เคยได้ยินนักร้องรุ่นใหญ่อย่างวงจันทร์ ไพโรจน์มาร้องเพลงลูกกรุง  ชรินทร์ ไปร้องเพลงลูกทุ่งอย่างเพลงนี้ ก็ร้องตามแนวของตนเองได้เนียนสนิทดี  ไม่ต้องเปลี่ยนลีลา


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 12, 20:34
เพลงอมตะข้ามกาลเวลาอีกเพลงหนึ่งของสมยศ ทัศนพันธ์   เป็นเพลงฝีมือครูไพบูลย์ บุตรขัน ที่มีนักร้องนำไปร้องกันหลายคน ทั้งก่อนและหลังจากสมยศถึงแก่กรรมแล้ว ทั้งนักร้องลูกทุ่งและนักร้องลูกกรุง
เช่นทูล ทองใจ,สุเทพ วงศ์กำแหง, กุ้ง กิตติคุณ เชียรสงค์  เทห์ อุเทน พรหมมินทร์ สุนทรี เวชานนท์ นิตยา บุญสูงเนิน และสายัณห์ สัญญาและก๊อต จักรพันธ์ อาบครบุรี

http://www.youtube.com/watch?v=xDbl0iz19Ac

คำร้อง/ทำนอง ไพบูลย์ บุตรขัน

ป่าเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บาน ลมฝนบนฟ้าผ่านฟ้ามองดั่งม่านน้ำตา
น้ำฝนหล่นจากฟากฟ้า ขังแก่งเหมือนแอ่งน้ำตาไหลตกจากผาแว่วฟัง

ป่าเหนือเมื่อไปได้พบมา เมืองเหนือเมื่อน้ำบ่าเลาะธารซ่านซ่าเคล้าดัง
น้ำไหลไปหลากมากครั้ง สายชลหมุนวนเหมือนดังไหลหลั่งเป็นวังน้ำวน

ริมฝั่งวังน้ำค่ำลงคงมีแสงจันทร์คืนหนึ่งคืนนั้นพบกันน้องเอยสองคน
เมืองเหนืออนงค์นั้นคงมีมนต์เป่าหัวใจเสียจนก่นให้ใฝ่ฝัน

แอ่วสาวเจ้าวอนอ้อนน้ำคำ จนสูรย์ลอยคล้อยต่ำสายัณห์เย็นย่ำทุกวัน
แล้วไฉนจะให้ลืมนั้น แม้นใครได้ไปเที่ยวพลันหลงมั่นในเมืองเหนือเอย...

(ดนตรี......)
แอ่วสาวเจ้าวอนอ้อนน้ำคำ จนสูรย์ลอยคล้อยต่ำสายัณห์เย็นย่ำทุกวัน
แล้วไฉนจะให้ลืมนั้น แม้นใครได้ไปเที่ยวพลันหลงมั่นในเมืองเหนือเอย...


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ส.ค. 12, 10:19
คหสต. ครับ  

              สมัยก่อนที่ยังไม่มีแยกลูกกรุง ลูกทุ่ง แต่ก็พอจะมีการแยก"แนว" แล้วว่า แนวนี้เป็นเพลง
ชนบทพื้นบ้าน ฟังง่ายๆ ร้องโดยนักร้องกลุ่มหนึ่ง กับอีกแนวที่เป็นเพลงคนเมือง เนื้อเพลงประดิษฐ์คำ  
ทำนองนุ่มนวล ร้องโดยนักร้องอีกกลุ่ม
              แต่ยังคงมีพื้นที่เหลื่อมกันอยู่บ้าง บางเพลงของแนวหลังก็ประพันธ์โดยนักแต่งเพลงแนวหน้า
เช่น เพลง มนต์รักอสูร ของครูไพบูลย์ บุตรขัน  และ ฉันเป็นของเธอ ของครูพยงค์ มุกดา

               กล่าวกันว่า คำว่าเพลงลูกกรุง ลูกทุ่งแยกกันชัดเจน เมื่อเกิดรายการ ลูกทุ่งกรุงไทยทางช่องสี่
บางขุนพรหม เพลงลูกทุ่งขณะนั้นมีเอกลักษณ์แบบฉบับฟังรู้จาก คำร้องใช้ภาษาง่ายๆ ตรงไปตรงมา
เนื้อหาเป็นเรื่องราวชีวิตชนบท ชาวบ้าน การร้องมีเอื้อนชัดเจน จังหวะคึกคัก เปรียบได้ว่าฟังแล้วคนฟัง
เกิด"มโน"ได้ว่าเพลงลูกทุ่ง เห็นภาพคนร้องเป็นชาวชนบทแต่งชุดชาวบ้าน ในขณะที่เพลงลูกกรุงคนร้อง
อยู่เมือง สวมสูทผูกไท    

ชอบเพลงนี้ของคุณสมยศมากครับ -  เซียมซีเสี่ยงรัก

       http://www.youtube.com/watch?v=9qayuAXYSWU


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ส.ค. 12, 10:22
เวอร์ชั่นนี้เป็นเสียงของลูกสาวคุณสมยศ - คุณกรองทอง ทัศนพันธ์ ซึ่งก็เป็นนักร้องมีชื่อ
แต่ร้องเพลงสากล

           http://www.youtube.com/watch?v=Ud1G_O3oh5A


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ส.ค. 12, 10:39
        เคยอ่านบทสัมภาษณ์คุณสมยศในนิตยสาร ลลนา

          จำได้ว่า ก่อนจบการสัมภาษณ์คุณสมยศย้ำเรื่องที่ว่าท่านเป็นคนแต่งเพลง วอลซ์นาวี

          เลือกเพลงเกี่ยวกับทะเลที่ชอบมากเพลงนี้ ครับ - ลมทะเล

            http://www.youtube.com/watch?v=3JgxAYksD6o


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 12, 16:44
เพลง ลมทะเล  มี 2 เพลงชื่อเหมือนกัน ต่างกันที่ทำนอง-เนื้อร้อง     อีกเพลงหนึ่ง เป็นเพลงของสุนทราภรณ์
ทำนอง ครูเอื้อ สุนทรสนาน   เนื้อร้อง ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ
ดัดแปลงทำนองจากเพลงไทยเดิม มอญโยนดาบ

http://www.youtube.com/watch?v=D5RFzCPR9QU


 คลื่นลมทะเลเห่ระโหย กล่อมขวัญอันร้างโรย
อ่อนโอย โอยอาลัย เฮเห่เฮ เฮ้เหเฮเห่
มันเห่มันไกวกล่อมไป โลมใจที่ร้องไห้
อาลัยอุราร้าง นอนเสียดวงใจ
เพลินเอ๋ยเพลินไปในฝันพราวพร่าง
นิทราเถิดหนา ใจอย่าเมินหมาง
ฝืนอารมณ์พราง ลืมเพื่อนเลือนร้างห่างลาไกล
เอ้า เฮเห่เฮ้เห่ ลมทะเลเห่ไกวไป
อกเอ๋ย อกใจ หลับตาหลับใจไม่ลงหรือเล่า
มนต์แห่งความหลังยังร่าน พัดเห่หายคลายเบา
รัก เรียกร้องเรา ร้างเศร้าทึ้งเอา ทวงเอา
จิตสลาย วายปราณ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 12, 16:46
วอลซ์นาวี

http://www.youtube.com/watch?v=R-Z1a0dpx7M&playnext=1&list=PL36F382B8ADE563AD&feature=results_main


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 12, 17:40
ขอรำลึกถึงนักร้องลูกทุ่งเสียงทองอีกท่านหนึ่ง  ที่จากไปเมื่อพ.ศ. 2538   ทูล ทองใจ

ทูล ทองใจ เป็นชาวสมุทรสงคราม เกิดเมื่อ 1 มีนาคม พ.ศ. 2472  ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก  เข้าประกวดครั้งแรกเมื่ออายุได้ 14 ปี มีเพลงประจำคือ “ค่ำแล้วในฤดูหนาว” ของครูล้วน  ควันธรรม  และเพลง “หยาดฟ้ามาดิน”  ของครูสมยศ  ทัศนพันธ์  ประกวดที่ไหนจะนำ 2 เพลงนี้ขึ้นประกวดเสมอ และจะชนะเลิศทุกครั้งไป  หลังจากจบมัธยมปีที่ 3  เข้ารับราชการเป็นทหาร สังกัด  ขส.ทบ. ได้เป็นนักร้องประจำวง “ลูกมาตุลี” ซึ่งเป็นวงดนตรีชื่อดังของกรมการขนส่งทหารบกในสมัยนั้น และได้รับยศทางทหารเป็นสิบตรี
ทูลเข้าสู่วงการเพลงในปี พ.ศ.2499 ร้องเพลงแรกชื่อ “ทุยหน้าทื่อ” แต่เพลงที่โด่งดังที่สุดของเขาคือเพลง “โปรดเถิดดวงใจ”  เขาตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง  เมื่อปี พ.ศ.2511 เมื่อเลิกวงเพราะสุขภาพไม่ดีก็ไปร้องประจำในห้องอาหาร   จนถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก จนเลือดคั่งในสมอง  ในขณะที่มีอายุเพียง  67  ปี 

ทูล ทองใจ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง รักใครไม่เท่าน้อง (พ.ศ. 2509) นางรอง(พ.ศ. 2514) ผลงานของครูพยงค์ มุกดา และ อยากบอกรักแต่ไม่กล้า (พ.ศ. 2522) ผลงานของ มงคล อมาตยกุล

ได้รับรางวัลพระราชทานจาการกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย จากเพลง "น้ำตาเทียน" ของครูไพบูลย์ บุตรขัน และเพลง "โปรดเถิดดวงใจ" ของครูเบญจมินทร์ ในปี พ.ศ. 2532


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 12, 17:46
http://www.youtube.com/watch?v=Mo9Xy3NMSNU

เนื้อร้อง-ทำนอง เบญจมินทร์

โปรดเถิดดวงใจโปรดได้ฟังเพลง นี้ก่อน
อย่าด่วนหลับนอนอย่าด่วนทอดถอน ฤทัย
จำเสียงของพี่ ได้หรือเปล่า
จำเพลงรักเก่า เราได้ไหม
เคยฝากฝังไว้แนบในกลางใจนาง
...ดึกดื่นคืนนั้นเคยร่วมผูกพัน แน่นหนัก
เคยฝากความรักว่าด้วยใจภักดิ์ ไม่จาง
เสียงน้องออเซาะ ขอรักมั่น
รำพึงเสียงสั่นเมื่อใกล้สาง
ไม่อยากจากนาง ห่างรัก ที่เริ่มลอง
แต่พออีกไม่นานนัก ความรักที่เคยหวานซึ้ง
เปลี่ยนจากหนึ่งกลับกลายเป็นสอง
ลืมรักลืมรส ลืมไปหมดที่เคยทดลอง
อ้อมแขนที่เคยประคอง
น้องอยู่ในอ้อมแขนใคร
...ดึกดื่นคืนนี้พี่คงเฝ้าคอย เหมือนก่อน
มิได้หลับนอนเฝ้าแต่ทอดถอน ฤทัย
พี่หลงบรรเลงเพลงรักเก่า
ตัวเธอนั้นเล่าอยู่แห่งไหน
ดูช่างโหดร้าย ให้เราเฝ้าคร่ำครวญ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 05 ส.ค. 12, 10:31
            ^ เพลงแรกที่นึกถึงเมื่อเอ่ยชื่อ ทูล ทองใจ

            นักร้องชายที่ได้รับการยกย่องว่ามีเสียงสูงไพเราะ หาใครเทียบได้ยาก

            นอกจากเพลงมนต์เมืองเหนือจากต้นฉบับครูสมยศแล้ว ยังมีอีกหนึ่งเพลงดัง
ที่มีเนื้อเพลงเกี่ยวกับภาคเหนือจากเสียงของท่านนั่นคือ

                   นิราศเวียงพิงค์

ทำนอง มงคล อมาตยกุล คำร้อง ร้อยแก้ว รักไทย

           http://www.youtube.com/watch?v=iBv0FzIPfw4

          โอ้เวียงพิงค์ดังเวียงสวรรค์ สวยกว่าถ้อยคำเสกสรรที่พรรณนาเปรียบเปรย
แดนไหนอื่นหมื่นแสนบ่แม้นได้เลย เฮานี้สุดหาถ้อยเอ่ย เปรียบเปรยงามนั้นได้นา
หากใครแม้นเที่ยวไปได้เห็นสักครา เขาคงจะจำติดตา ตรึงอุรามิเคยเสื่อมคลาย
           โอ้เวียงพิงค์คือปิงสุดงาม สวยอยู่บ่เคยเสื่อมทราม ช่างงามซึ้งใจบ่วาย
น้ำใสเด่นมองเห็นจนพื้นหาดทราย ปลาน้อยแตกฝูงกระจาย อยู่ในธาราน่าชม
ข่างพาฝันงามนั้นขวนฉันชื่นชม ฉันพลอยคลายความโศกตรม นั่งชมน้ำปิงสุขใจ
            เบื่อลำน้ำเฮาไปแอ่วดอย ผาเงอบชวนเพลินใช่น้อย แอ่วดอยแสนเพลินกระไร
มีน้ำตกและนกบินร้องก้องไพร ยินเสียงมันแล้วสุขใจ สุขใดบ่มีเปรียบปาน
            โอ้เวียงพิงค์ แม้นฉันจากไปแสนนาน แต่ความหมุนเวียนแห่งกาล บ่ได้ทำให้ข้าเลือน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 09:26
เพลงแผ่นเสียงทองคำพระราชทานของทูล ทองใจ

http://www.youtube.com/watch?v=-GjG1K1nygg&feature=related

เนื้อร้อง/ทำนอง  พยงค์ มุกดา ศิลปินแห่งชาติ

นางรองเจิ่งรินไหลน้องท้องนา หลั่งอุทกตกมาตามเนินผางามสะพรั่ง หว่างธารไหลหลั่ง สาวน้อยร้อยชั่งงามเหมือนดังเงือกน้ำ
นางลงสระสรงลงในสายชล แหวกกระแสว่ายวน ระเริงสายชลเย็นฉ่ำ จดใจฝังจำพี่หลงครวญคร่ำ เอ่ยน้ำคำพร่ำรักฝากใจ
น้ำตานางรองอาจเป็นสองรองเขาอื่น แต่เจ้างามชื่นจะไม่เป็นสองรองใคร เจ้าชื่อนางรองแต่น้องจะรู้บ้างไหม นางเอกประจำใจ พี่มั่นหมายไว้แต่น้องนางเดียว
นางรอง พี่ปองน้องเป็นขวัญตา เจ้าเป็นข้าวคู่นา พี่จึงขอมาเก็บเกี่ยว มอบใจรักเหนี่ยวเสมือนคมเคียว เกี่ยวหัวใจเจ้าไว้ครอบครอง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 09:34
เพลงแผ่นเสียงทองคำพระราชทานอีกเพลงหนึ่ง ค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=6lOwtvScyEU

คำร้อง/ทำนอง พยงค์ มุกดา ศิลปินแห่งชาติ

      ถึงมีใครอื่นหมื่นแสนมาแทนเคียงข้าง          หรือจะเท่ามีนางหนึ่งน้องคนเดียว 
      ร้อยเพื่อนชายหลายเพื่อนชมภิรมย์ข้องเกี่ยว   ฟ้าก็เหมือนมืดเปลี่ยวซีดเซียวไปทั่วเวหา
      ถึงมีดาวอยู่คู่ฟ้านภาพราวเพริด                 หรือจะแจ่มบรรเจิดเท่าแสงจันทรา 
      เหมือนหนึ่งนางน้องอยู่กลางหัวใจรักข้า        ดังหนึ่งในฟ้ามีจันทร์จ้าแจ่มนวล
      เมฆสลัวเลือนราง                                เหมือนรักเจ้าจางจากใจรัญจวน 
      เสียงลมดั่งเสียงฤทัยพี่ครวญ                   น้ำค้างพร่างนวลเหมือนน้ำตาพี่ที่ตกใน
      ถึงมีใครอยู่โลมเล้าคอยเอาใจพี่                หรือจะเท่าเทวีคู่ขวัญดวงใจ 
      รักเฝ้ารุมสุมอุราระทมตรมไหม้                  เจ้าจากไปไหน  มาดูใจพี่หน่่อยเถิดเอย

     ได้ข้อสังเกตอีกอย่างว่าเพลงสมัยก่อน แต่งเนื้อร้องกันยาวมาก    เรียกว่าเขียนกันเหนื่อยทีเดียวกว่าจะจบเพลง   ไม่สั้นเหมือนสมัยนี้


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 19:19
นานหลายปีมาแล้ว เคยดู MV ที่เอามาฉายช่วงบ่าย     เห็นคุณสมมาตร ไพรหิรัญ เดินๆยืนๆ แสดงบทอยู่ในเรื่อง  เพลงใน MV เป็นเพลงรุ่นเก่านำมาร้องด้วยเสียงนุ่มนวลคล้ายชรินทร์ นันทนาคร    และมีชื่อ หยาด นภาลัยขึ้นมาให้เห็น
ตอนนั้นนึกว่าคุณสมมาตรเป็นคนร้อง ใช้ชื่อว่าหยาด นภาลัย    จากนั้นอีกหลายปีจึงได้รู้ว่าเจ้าของเสียงเป็นนักร้องที่ไม่ปรากฏหน้าค่าตาบนเวทีเพลง    แต่มีเพลงของเขาเยอะมาก

เพลงแรกที่นำชื่อเสียงมาให้หยาด นภาลัย คือเพลงนี้

http://www.youtube.com/watch?v=uRd1w7HMeiI


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 19:29
ประวัติที่ได้มาจากอินทรเนตร มีสั้นๆ ว่า
หยาด นภาลัย มีชื่อจริงว่า หยาดฟ้า กาลวิบูลย์ เกิดที่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี  เมื่อจบชั้น มศ.3 ทางบ้านไม่อนุญาตให้เรียนต่อในกรุงเทพฯ  จึงตัดสินใจหนีเข้ากรุงเทพฯ คนเดียว มาเป็นเด็กแบกกลองให้วงดนตรี จุฬารัตน์ และมีโอกาสขึ้นร้องคั่นเวลา โดยมีครูเพลงเช่น ครูไพบูลย์ บุตรขัน ครูมงคล อมาตยกุล พร ภิรมย์ และ นคร ถนอมทรัพย์ เป็นคนแนะนำ
เมื่อวงจุฬารัตน์ยุบวง หยาดมีประสบการณ์การแต่งเพลงลูกทุ่ง จึงออกอัลบั้มชุดแรก แบบทำเอง ขายเอง แต่ไม่ดัง จนในชุด ลำน้ำพอง เมื่อปี พ.ศ. 2521 จึงเริ่มโด่งดัง

เขาเคยใช้ชื่อหลายชื่อ เช่น ประสพชัย กาลวิบูลย์, นรินทร์ พันธนาคร (เพราะเสียงคล้ายกับ ชรินทร์ นันทนาคร), นรินทร์ นภาลัย และในที่สุด ก็ใช้ หยาด นภาลัย ที่ครูนคร ถนอมทรัพย์ ตั้งให้

สมรสกับ พัชรีรัตน์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายปุณณรัตน์ กาลวิบูลย์ และ น.ส.ชมพูนุช กาลวิบูลย์

http://www.youtube.com/watch?v=lBKeJSbbR1g&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 12, 19:34
http://www.youtube.com/watch?v=tQuKW2G28JM&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 12, 09:33
    สาเหตุที่หยาดไม่ยอมปรากฏตัวออกโทรทัศน์ให้แฟนเพลงเห็นหน้า  มีทั้งข่าวว่า เป็นเพราะรูปร่างหน้าตาของหยาด ไม่เข้ากับสมัยนิยมที่ต้องการนักร้องหน้าตาดี      แต่หยาดเคยบันทึกไว้ช่วงก่อนที่จะล้มป่วยว่า บริษัทต้นสังกัดได้ทำอัลบั้ม อมตะเงินล้าน ออกมา ทำให้มีงานเข้ามามากมาย   แต่ทางบริษัทไม่จ่ายค่าตัวกับค่าร้องให้ เขาจึงหมดกำลังใจ และตัดสินใจหนีกลับไปอยู่อุดรฯ บ้านเกิด จนทางบริษัทไม่สามารถตามตัวเจอ
ช่วงนั้นพอดีต้องถ่ายมิวสิกวิดีโอ บริษัทจึงให้สมมาตร ไพรหิรัญ มาเป็นพระเอกมิวสิก จนทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าสมมาตรคือหยาด นภาลัย

http://manager-online.myfri3nd.com/blog/2010/02/07/entry-2     

http://www.youtube.com/watch?v=e4JoNIdnmrQ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 12, 09:45
น้ำเสียงของหยาดเมื่อร้องเพลงลูกกรุง เหมือนเสียงของชรินทร์ นันทนาครมาก

http://www.youtube.com/watch?v=QX_m6wGJ6nE


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 07 ส.ค. 12, 09:49
           คุณหยาด นภาลัย จัดเป็นนักร้องประเภทที่ขายเสียงอย่างแท้จริง เพราะไม่มีใครได้เห็นหน้า
เห็นแต่คุณสมมาตรที่รับบทพระเอกในมิวสิควิดีโอ

             คุณหยาดร้องเพลงมีผลงานหลายอัลบั้ม แต่บั้นปลายชีวิตทุกข์ยากลำบาก เขาว่าโดนบริษัทเพลง
โกงเงิน จนต้องออกจากวงการ 

             ประวัติเพิ่มเติม ครับ

          หยาด นภาลัย เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 18 คนของ นายเสมา กับ นางอ่อนจันทร์
หนีเข้ากรุงเทพฯ ได้พบกับ นคร ถนอมทรัพย์ แล้วได้พาเข้ามาอยู่กับ วงดนตรี จุฬารัตน์ ของครูมงคล
อมาตยกุล ในช่วงท้ายก่อนที่วงจุฬารัตน์จะเลิกราไป หยาดได้ทำหน้าที่เด็กแบกกลองบางครั้งก็ได้ร้องเพลง
เป็นครั้งคราว
       
          ด้วยเสียงและลีลาการร้องที่นุ่มฟังสบาย ทำให้ หยาด กลายเป็นที่เอ็นดูของผู้ใหญ่โดยเฉพาะ
ครูไพบูลย์ บุตรขัน ครูมงคล อมาตยกุล พร ภิรมย์ และ นคร ถนอมทรัพย์ หยาดจึงได้รับการแนะนำ
การแต่งเพลง โดยให้เหตุผลว่า
      "ฝึกแต่งเพลงไว้อย่าเป็นนักร้องอย่างเดียวชีวิตจะได้ไม่ตกอับมาก เพราะการเป็นนักร้องไม่แน่นอน"
       
       ขณะนั้น หยาด ลงทุนทำเพลงเองโดยใช้ชื่อว่า ประสพชัย กาลวิบูลย์ ชื่อชุด วันพระไม่มีหนเดียว
เป็นเพลงแต่งเองแต่ไม่ดัง ก่อนที่จะมีนายตำรวจยศพ.ต.อ. ลงทุนทำเพลงให้ โดยหยาดเปลี่ยนชื่อว่า
นรินทร์ พันธนาคร โดยมีเพลง ลำน้ำพอง กับ สาวน้ำพองสะอื้น อยู่ในชุดด้วย
   
       ครูนครได้นำเพลงไปให้ สมโภชน์ ปัจฉิมมานนท์ เจ้าของรายการ 120 นาทีมัลติเพล็กซ์ และ
นำแผ่นเสียงชุดดังกล่าวไปให้แก่ห้างแผ่นเสียงทองคำ เป็นผู้ขาย โดยครูนครเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า หยาด นภาลัย
โดยนำคำหน้าชื่อจริงมาตั้ง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 07 ส.ค. 12, 09:51
           เมื่อหยาดเริ่มมีชื่อเสียงเข้าจึงออกไปเผชิญชีวิตด้วยตัวเอง โดยเข้าสังกัดค่ายเพลง
หลายค่าย แต่ก็มีปัญหาในการทำงานมาตลอด
       
            ส่วนที่มาของการไม่ยอมปรากฏใบหน้าออกโทรทัศน์นั้น หยาดเคยบันทึกไว้ช่วงก่อน
ที่จะล้มป่วยว่า บริษัทต้นสังกัดได้ทำอัลบั้ม อมตะเงินล้าน ออกมา ทำให้มีงานเข้ามามากมาย
แต่ทางบริษัทไม่จ่ายค่าตัวกับค่าร้องให้ เขาจึงหมดกำลังใจและตัดสินใจหนีกลับไปอยู่อุดรฯ บ้านเกิด
จนทางบริษัทไม่สามารถตามตัวเจอ ช่วงนั้นพอดีต้องถ่ายมิวสิกวิดีโอ บริษัทจึงให้สมมาตร ไพรหิรัญ
มาเป็นพระเอกมิวสิก
       
           ก่อนที่จะเสียชีวิตหยาด นภาลัย พักอยู่กับครอบครัวที่บ้านย่านซอยสวนผัก 32
โดยมีนาง พัชรีรัตน์ กาลวิบูลย์ อายุ 44 ปี ภรรยาเป็นผู้ดูแลมาตลอด 13 ปีที่ล้มป่วย หยาดมีทายาท
2 คน คนโตอายุ 16 ปีต้องออกจากการเรียนมาทำงานโรงกลึงนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว
ส่วนลูกสาวคนเล็กกำลังเรียน
(ข้อมูลประวัติคมชัดลึก)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 07 ส.ค. 12, 17:39
คงไม่ใช่เรื่องราวของดาวที่อับแสง ขอแทรกกระทู้

แต่เป็นเรืองเก่าที่ผมเคยลงในกระทู้รถยนต์จอมพล ป.
ตอนนั้นคุยกับอาจารย์ เทาชมพูว่า พนมเทียนเคยได้รถเป็นค่าเขียนนิยาย
เมื่อวานว่างๆไปอ่านหนังสือของคุณภราดร ศักดา เจอเรื่องนี้พอดี
เอามาเรียนอาจารย์ว่า     ที่เคยเล่าไว้นั้น    มาจากข้อเขียนคุณภราดร
ตามภาพ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 12, 19:00
นับว่านายห้างเวช ใจถึงไม่ใช่เล่น   รถแพคการ์ดโก้มากในยุคพ.ศ. 2500    ใครหนอหาว่านักประพันธ์เป็นอาชีพไส้แห้งได้ลงคอ
ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ค่ะ ขอบคุณคุณ visitna ที่หาที่มาจนเจอ   


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 12, 19:24
ขอส่งท้ายหยาด นภาลัยอีก ๒ เพลงค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=AzKXysawiFw&feature=related

http://www.youtube.com/watch?v=1plc-0j-Bls&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 12, 22:15
ลำดับต่อไปเป็นดาวเสียงที่เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ดัง  แต่พอเสียชีวิตยิ่งดังหนักเข้าไปอีก     

http://www.youtube.com/watch?v=GvESuQYzo_E


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 12, 22:16
http://www.youtube.com/watch?v=5Lp9qM4FWy4&feature=related

ชอบเพลงนี้ เมื่อเต๋า สมชาย เข็มกลัดนำมาร้องในละครโทรทัศน์เรื่อง น้ำใสใจจริง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Madpinkie ที่ 08 ส.ค. 12, 23:42
 8) ชอบมากค่ะ ช่วงก่อนนี้มีเก้บไว้เต็มโทรศัพท์เลย


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 12, 08:36
รอคุณ SILA มาเล่าประวัติของสุรพล สมบัติเจริญ ค่ะ
ตอนนี้ขอรำลึกถึงด้วยเพลงดังอีกเพลงหนึ่งของคุณสุรพล

http://www.youtube.com/watch?v=9jK8r_ucTRA


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ส.ค. 12, 09:44
          แม้ไม่ใช่แนวเพลงโปรด แต่ตอนเป็นเด็กก็ได้ยินเพลงดังๆ ของครูสุรพล สมบัติเจริญ
ราชาเพลงลูกทุ่งระดับตำนานหลายเพลง จนพอจะร้องตามได้
            ครูสุรพลเป็นข่าวดังครั้งใหญ่ตอนที่เสียชีวิตถูกคนร้ายยิง จำได้ว่านสพ.ยุคนั้น
ลงข่าวหน้าหนึ่งติดต่อกันนานหลายสัปดาห์(หรือเป็นเดือน)

          ประวัติบอกว่าครูเกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ 24 กันยายน พ.ศ.2473 มีชื่อเดิมว่า
"ลำดวน สมบัติเจริญ" เป็นบุตรชายคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้องท้องเดียวกัน 6 คน
            เข้าศึกษาที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายแต่เรียนอยู่ได้ปีเดียวก็ลาออกเพราะไม่ชอบ
เลยไปเป็นครูแต่ก็ลาออกอีกเพราะอยากจะเป็นนักร้อง  เมื่ออายุเข้าเกณฑ์ก็สมัครเป็นทหารเกณฑ์สังกัด
กองทัพเรือ แล้วไปสมัครเป็นลูกจ้างรายวันที่หมวดคลังสนามบิน แผนกช่างโยธาทหารอากาศ กองทัพอากาศ
ดอนเมือง และเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่าสุรพล สมบัติเจริญ

             เริ่มชีวิตเป็นนักร้องเมื่อสมัครเป็นนักมวยค่ายเลือดชาวฟ้าของเรืออากาศตรีปราโมทย์ วรรณพงษ์
และได้ร้องเพลงในงานสังสรรค์ จึงได้รับการสนับสนุนให้ไปอยู่เป็นนักร้องที่กองดุริยางค์ทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ
ในปี พ.ศ.2497 ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวกันกับสุเทพ วงศ์กำแหง และครูนคร ถนอมทัรพย์(กุงกาดิน)
           ครูแต่งเพลงและร้องเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงเพลงไทยสากล - หรีดรัก อันโด่งดัง (บันทึกเสียงโดย
สุเทพ วงศ์กำแหง) สุดท้ายเบนหางเสือไปในทำนองเพลงลูกทุ่ง รวมราว 400 เพลง จนตั้งวงของตัวเองได้
สำเร็จตอนที่เป็นจ่าอากาศเอก

          ครู "สุรพล สมบัติเจริญ" ยังได้สร้างผลงานให้แก่ลูกศิษย์อีกหลายคน โดยเฉพาะผ่องศรี วรนุช
มีผลงานคู่กันหลายปีโดยเฉพาะการร้องเพลงแก้ โต้ตอบกันระหว่างนักร้องหญิงกับชาย ได้รับความนิยม
จากแฟนเพลงสูงสุดตลอดมาจนได้รับสมญานามว่า ราชินีเพลงลูกทุ่ง และราชาเพลงลูกทุ่ง คู่กัน

          เพลงที่มีความหมายมากสำหรับชีวิตของครูสุรพล สมบัติเจริญ คือเพลง "สิบหกปีแห่งความหลัง"
บันทึกแผ่นเสียงในปี พ.ศ.2511 เป็นเพลงสุดท้ายที่แต่งเอาไว้ ก่อนที่จะจบชีวิตเพราะถูกคนร้ายยิง
เมื่อ วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2511 ที่หน้าเวทีการแสดง วัดหนองปลาไหล จังหวัดนครปฐม รวมอายุได้
เพียง 38 ปีเท่านั้น

ย่นย่อจาก http://www.chumchonradio.net/wizContent.asp?wizConID=84

หรีดรัก เพลงโปรด เคยหัดร้องตอนเด็กๆ ครับ

     http://www.youtube.com/watch?v=_odosEoDXu0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ส.ค. 12, 09:50
       ในบรรดาเพลงแก้ที่โด่งดังและสร้างชื่อให้แก่ครูสุรพล และผ่องศรี นั้น เห็นจะไม่มีเพลงไหน
โด่งดังและได้รับความนิยมจากแฟนเพลงเท่ากับเพลงไหนว่าไม่ลืม ที่ครูสุรพล สมบัติเจริญ แต่ง
แก้เพลงลืมไม่ลง ของครูสำเนียง ม่วงทอง ที่บันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก ในราวปี พ.ศ.2501
ที่ตนเองเคยขับร้องไว้
          เพลงไหนว่าไม่ลืมนี้ก็เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับผ่องศรี วรนุช ผู้ขับร้องเป็นอันมาก
บันทึกเสียงเมื่อพ.ศ. 2502  ทั้งสองคนกลายมาเป็นนักร้องขวัญใจเพลงแก้ คู่ชายหญิง คู่แรก และ
ได้สมญานามนักร้องผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
         
         http://www.youtube.com/watch?v=bPhalkhH-AA

          เพลงลืมไม่ลงนี้เมื่อออกเผยแพร่ในช่วงแรก กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ครั้นพอ
ครูสุรพล แต่งเพลงแก้ใหม่ คือเพลงไหนว่าไม่ลืมให้ผ่องศรี วรนุช ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงจนเพลง
ไหนว่าไม่ลืม ฮิตติดลมบนได้รับความนิยมจากแฟนเพลงทั่วประเทศ เพลงลืมไม่ลง ก็กลับมามีชื่อเสียง
และได้รับความนิยมใหม่อีกหนคู่กันทั้งสองเพลง

          http://www.youtube.com/watch?v=rvmPVpQjgaY


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 12, 10:23
ข่าวตายของสุรพลเป็นข่าวดัง   ช็อคแฟนเพลงทั่วประเทศ  รวมทั้งประชาชนที่ไม่ใช่แฟนเพลงก็พลอยช็อคไปด้วย  เพราะเป็นการสังหารอย่างอุกอาจ  ไม่มีใครคาดคิด   ปกตินักร้องหรือศิลปินสาขาอื่นไม่ใช่อาชีพที่เป็นเป้าหมายของมือปืน     หนังสือพิมพ์ก็เลยเล่นข่าวอยู่นานเป็นเดือน  ทำให้ชื่อของสุรพล เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

ในปีเดียวกันกับที่เสียชีวิต    เรื่องราวของสุรพล ถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์  ชื่อสิบหกปีแห่งความหลัง จากชื่อเพลงนี้


http://www.youtube.com/watch?v=qP9n0pRvz-I


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 12, 20:13
ขอส่งท้ายด้วยเพลง "มอง "เป็นเพลงยอดนิยมอีกเพลงหนึ่งของครูสุรพล

http://www.youtube.com/watch?v=hUgS0cgOS5M


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 12, 19:43
ดาวเสียงดวงต่อไปนี้อาจเป็นคนที่คุณ SILA ชอบเพลงของเขาบ้างอย่างน้อยก็สักเพลงสองเพลง    ส่วนดิฉันชอบหลายเพลงที่เขาแต่ง    เขาเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ที่มีผลงานไพเราะและแพร่หลาย   ยืนยงยาวนานกว่าอายุของเขา   
น่าเสียดาย เต๋อ เรวัติ พุทธินันทน์จากไปเร็วก่อนเวลาอันควรมากนัก    ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 48 เท่านั้นเอง  เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของวงการเพลงไทย

เพลงของเรวัติ หลายเพลง ให้แง่คิด และปลุกปลอบให้กำลังใจ  อย่างเพลงนี้ค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=E0p4YbNy6i4&feature=related

คงจะมีสักวัน คงเป็นวันที่ชื่นใจ คงจะมีสักวัน คงเป็นวันที่ยิ่งใหญ่
อยู่บนทางที่เธอเคยหวั่น แต่เป็นวันที่คอยเธออยู่ ไม่ไกล
ขอจงอดทน หนทางที่เดินไป เหนื่อยเพียงไหน
ไม่กลัวสิ่งใด ก้าวไปให้มั่นคง
คงจะมีสักวัน คงเป็นวันที่ชื่นใจ คงจะมีสักวัน คงเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ อยู่บนทางที่เธอเคยหวั่น
แต่เป็นวันที่คอยเธออยู่ไม่ไกล
คงจะมีสักวัน คงเป็นวันที่ชื่นใจ คงจะมีสักวันคงเป็นวันที่ยิ่งใหญ่
อยู่บนทางที่เธอเคยหวั่น แต่เป็นวันที่คอยเธออยู่ไม่ไกล
หากใจท้อ ขอจงอดทน หนทางที่เดินไป
เหนื่อยเพียงไหน ไม่กลัวสิ่งใด ก้าวไปให้มั่นคง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 12, 19:57
http://www.youtube.com/watch?v=RD-uPEAtU34&feature=relmfu



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 11 ส.ค. 12, 11:10
        คุณเรวัติทั้งแต่งแล้วร้องเองและให้คนอื่นร้อง รวมทั้งเป็นโพรดิวเซอร์ให้นักร้องคนอื่น
มีผลงานเพลงมากมายในยุคนั้น แต่ บางผลงานฟังแล้วรู้สึกได้ว่าคลับคล้ายเคยฟังเพลงฝรั่งแบบนี้มาก่อน
เพลงในช่วงแรกๆ นั้นมี “รูปแบบ” ที่เรียกได้ว่าก็อป (หรือได้บันดาลใจจาก)เพลงฝรั่งซึ่งเจ้าตัวเองก็ยอมรับ

         นอกจากเป็นนักร้อง โปรดิวเซอร์แล้ว คุณเรวัติยังเป็นนักแสดงด้วย
ในหนังเรื่อง น้ำพุ รับบท น้าแพ็ท ครับ

            http://www.youtube.com/watch?v=PM54WOSSPeM


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 12, 19:03
ชอบเพลงที่คุณเต๋อแต่งให้เบิร์ด ธงไชยร้อง  โดยเฉพาะเพลงนี้ 
ใครที่เคยเริ่มต้นชีวิตคู่ หรือกำลังเริ่ม คงจำความรู้สึกนี้ได้

http://www.youtube.com/watch?v=_MG17QqeUIA

 ถึงวันที่เราใฝ่และฝัน
ถึงวันที่เราจะเดินด้วยกัน
มองที่ตา เราต่างก็รู้ใจกัน
จะฝ่าฟัน สู่วันของเรา
ทุกข์ภัยที่เจอจะหนักดั่งภูเขา
สองเราไม่เคยมีใจไหวหวั่น
เราสองคนจะสุขจะทุกข์เคียงกัน
มีฉันก็ต้องมีเธอ
พร้อมจะอดทน เราพร้อมใจเดินตากฝน
พร้อมผจญ เดินฝ่าลมพายุร้าย
แม้วันที่เราจะเหนื่อยเพียงไหน
สองมือก็จูงกันไปไม่หวั่น
ใจสองเรา ไปสู่จุดหมายเดียวกัน
มีฉัน ก็ต้องมีเธอ

พร้อมจะอดทน
เราพร้อมใจเดินตากฝน
พร้อมผจญ เดินฝ่าลมพายุร้าย

ทุกข์ภัยที่เจอจะหนักดั่งภูเขา
สองเราไม่เคยมีใจ ไหวหวั่น
เราสองคน จะสุขจะทุกข์เคียงกัน
ฝ่าฟัน สู่วันของเรา

แม้วันที่เราจะเหนื่อยเพียงไหน
สองมือก็จูงกันไปไม่หวั่น
ใจสองใจ ไปสู่จุดหมายเดียวกัน
มีฉันก็ต้องมีเธอ
แม้วันที่เราจะเหนื่อยเพียงไหน
สองมือก็จูงกันไป ไม่หวั่น
ถึงวันที่เราใฝ่และฝัน
ถึงวันที่เราจะเดินด้วยกัน  ตลอดไป


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 12, 09:17
นักร้องที่อายุสั้นอีกคนหนึ่งคือบุบผา สายชล นักร้องลูกทุ่ง   เธออายุ 43 เท่านั้นเมื่อเสียชีวิตเพราะเส้นโลหิตในสมองแตก จากโรคความดันโลหิตสูง เมื่อพ.ศ. 2533
เพลงโด่งดังที่สุดของบุบผาน่าจะเป็น ยมบาลเจ้าขา ที่ไพบูลย์ บุตรขันแต่งให้เธอร้อง     เพื่อปรับทุกข์เรื่องการที่คนดีตายเร็ว คนชั่วตายช้า
สมัยนั้น คำว่า ยมบาล ออกเสียงว่า ยม-พะ-บาน     เดี๋ยวนี้ออกเสียงว่ายังไงต้องถามยามภาษาอย่างคุณเพ็ญชมพู   royin ไม่ได้ออกเสียงไว้ให้รู้ค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=4D5ccpl0i4A 


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 14 ส.ค. 12, 10:21
         อีกหนึ่งเพลงเอกของคุณบุปผา สายชล ในภาพยนตร์ไทยระดับตำนาน มนต์รักลูกทุ่ง ครับ

รูปหล่อถมไป

           http://www.youtube.com/watch?v=g9IK5Lfpcus

          คุณบุปผาหน้าตาสะสวย คู่ชีวิตคือคุณศรีไพร ใจพระจึงจัดให้ได้เป็นนางเอกหนังด้วย


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 12, 10:40
คุณ SILA  นึกถึงใครออกอีกบ้างไหมคะ     ขอเชิญล่วงหน้าไปก่อน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ส.ค. 12, 10:55
สมัยนั้น คำว่า ยมบาล ออกเสียงว่า ยม-พะ-บาน     เดี๋ยวนี้ออกเสียงว่ายังไงต้องถามยามภาษาอย่างคุณเพ็ญชมพู   royin ไม่ได้ออกเสียงไว้ให้รู้ค่ะ

คำว่า ยมบาล  ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ เขียนไว้ในหนังสือ ภาษาไทยไขขาน  (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1140) ว่า

"คำว่า “ยมบาล” (ยม-มะ-บาน) ทั้ง ๆ ที่ไม่มีตัว พ อยู่ด้วยเลย ยังมีผู้ออกเสียงเป็น “ยม-พะ-บาน” อยู่บ่อย ๆ อย่างเพลง “ยมบาลเจ้าขา” ในสมัยหนึ่ง ก็มีผู้ร้องเป็น “ยมพะบาลเจ้าขา” แล้วก็เลยเขียนเป็น “ยมพบาล” ไปด้วย ทั้งนี้เพราะถ้าออกเสียงตามตัวว่า “ยม-มะ-บาน” ฟังแล้วไม่เพราะเท่า “ยม-พะ-บาน

คำที่มักอ่านผิดและเขียนผิดกันอยู่เสมอ โดยออกเสียงเติมเข้ามา แล้วก็เขียนคำเพิ่มเข้ามาอย่างนี้ ทางนิรุกติศาสตร์ เรียกว่า “อุจจารณวิลาส” (อุด-จา-ระ-นะ-วิ-ลาด) ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Euphony”

อุจจารณวิลาส มี ๖ พยางค์ต้องออกเสียงให้ครบ

ถ้าออกเสียงเพียง ๓ พยางค์จะเป็นเรื่อง

 ;D


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 ส.ค. 12, 10:23
          ค่าน้ำนม เพลงเก่าคุ้นหูที่ถูกนำมาเปิดมาร้องทุกปีในวันที่ ๑๒ สิงหาคม

คุณศุภาศิริ สุพรรณเภสัช เขียนเล่าเรื่องเพลงนี้ในมติชนฉบับวันอาทิตย์ 12 สิงหาคม ปีนี้ ตัดตอนได้ความว่า

           คนสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิด "วันแม่แห่งชาติ" ขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่ท่านผู้หญิง(ละเอียด พิบูลสงคราม)
ท่านผู้ชาย(จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ที่ไหน แต่เป็นนักแต่งเพลงชั้นครู
              ครูไพบูลย์ บุตรขัน คนที่แต่งเพลง "ค่าน้ำนม" นั่นยังไงล่ะ
     
           ครูไพบูลย์แต่ง "ค่าน้ำนม" ขึ้นร่วมหนึ่งปีก่อนที่รัฐบาลจะจัดให้มีวันแม่แห่งชาติ
ว่ากันว่า "ค่าน้ำนม" ของครูฮิตเหลือเกิน จับใจแฟนเพลงสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่ารากหญ้าหรือศักดินา
ล้วนซาบซึ้งกับ "ค่าน้ำนม" ไม่น้อยหน้ากัน
           แผ่นเสียง "ค่าน้ำนม" ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนต้องขึ้นราคาเพราะปั๊มแผ่นไม่ทัน สถานีวิทยุ
และโรงภาพยนตร์ หรือร้านค้า เปิดเพลง "ค่าน้ำนม" กันไม่รู้เบื่อ ด้วยแฟนเพลงเรียกร้อง
           สมัยนั้นแผ่นเสียงยังทำจากครั่งสีดำ (ซึ่งฝรั่งเรียกสั้นๆ ว่าแว็กซ์แทนที่จะเรียกเชลแล็ก) ทั้งหนาและหนัก
เพราะมีขนาดกว้าง 10 นิ้ว คือประมาณจานข้าว แผ่นครั่งนี้จะหมุนด้วยสปีด 78 คือ 78 รอบต่อนาที
บรรจุหน้าละเพลง แผ่นหนึ่งจึงมีแค่สองเพลง
           นอกจากจะหนาและหนักแล้ว แผ่นครั่งยังเก็บยากด้วย ร้อนไปก็งอ ตกก็แตกง่าย กระแทกนิดก็บิ่น
เครื่องเล่นแผ่นเสียงมีเข็มที่ครูดไปตามร่องบนแผ่น เล่นมากๆ ร่องจะสึก เกิดอาการตกร่อง

          ความนิยมของประชาชนมีมากจนมีข้าราชการหัวใสเสนอให้ท่านผู้ใหญ่ของบ้านเมืองพิจารณาจัดงาน
"วันแม่แห่งชาติ" ขึ้นในวันที่ 15 เมษายน 2493


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 ส.ค. 12, 10:28
          ท่านผู้ใหญ่เหล่านั้นคงนึกไม่ถึงว่า วันข้างหน้า ท่านจะต้องเป็นไม้เบื่อไม้เมากับครูไพบูลย์ บุตรขัน
เพราะครูจะแต่งเพลงบรรยายชีวิตและความทุกข์ยากของชนชั้นแรงงาน จนท่านผู้ใหญ่ระคายหู เรียกเพลงของครู
ว่าเป็นเพลงคอมมิวนิสต์

           สมัยที่ครูเริ่มเป็นที่รู้จัก เพลงไทยสากลยังไม่ได้แบ่งประเภทเป็นลูกทุ่ง-ลูกกรุง แต่สมัยนี้จะจัดเพลง
ส่วนใหญ่ของครูไพบูลย์ไปอยู่ในประเภทลูกทุ่ง อย่างเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย น้ำค้างเดือนหก ชายสามโบสถ์
ยมบาลเจ้าขา หรือ โลกนี้คือละคร

           ชีวิตของครูไพบูลย์มีขึ้นอย่างสูงสุด แต่งเพลงอะไรก็ฮิตไปหมด เหมือนไร่นาที่อุดมสมบูรณ์แล้วพลัน
ก็เกิดภัยแล้งปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ครูแต่งเพลงอะไรออกมาก็ไม่เป็นที่นิยม นักร้อง บริษัทแผ่นเสียง วงดนตรีที่เคย
เก็บดอกผลจากสมองอันอุดมสมบูรณ์ด้วยคำร้องและทำนองของครูก็เริ่มถอยห่าง ตีจากไป
           เป็นช่วงที่ครู "ดวงตก" อย่างที่สุด

           นอกจากนี้ครูไพบูลย์ยังมีโรคเรื้อนเป็นโรคร้ายประจำตัว ในสมัยที่การแพทย์ยังไม่เจริญ การเงินก็ขัดสน
ทำให้โรคมีแต่รุนแรงขึ้น
           เล่ากันว่า ส่วนใหญ่ครูเก็บตัวอยู่ในบ้าน ไม่พยายามออกไปให้ใครพบเห็น คนรู้จักส่วนใหญ่ก็ตีตัวออกห่าง
มีแม่คนเดียวเท่านั้นที่อยู่ดูแลใกล้ชิดตราบจนวันสุดท้ายของชีวิตแม่
           แม่ที่ "มีบุญคุณอันใหญ่หลวง" ของครูไพบูลย์ เป็นแม่แสนประเสริฐ จนไม่น่าแปลกใจที่ครูจะประพันธ์เพลง
ยกย่องแม่ได้กินใจนักฟังทุกรุ่น ทุกวัย

             จากวันนั้นถึงวันนี้ "ค่าน้ำนม" เป็นเพลงยอดนิยมของคนไทยมากว่า 60 ปีแล้ว นานกว่าที่เมืองไทย
มี "วันแม่แห่งชาติ" มาเสียอีก

         http://www.youtube.com/watch?v=1xQ7D0mF9No&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 ส.ค. 12, 10:30
            เพลงค่าน้ำนมนี้ ในหนังสืออนุสรณ์ พระราชทานเพลงศพ นายชาญ เย็นแข เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2531
ระบุไว้ว่า
      
               เพลงแรกที่บันทึกเสียงเพลงชื่อค่าน้ำนม ผู้ประพันธ์เนื้อ ทำนอง ไพบูลย์ บุตรขัน พ.ศ.2492
บริษัทนำไทยจำกัด แผ่นเสียงตราสุนัขสลากเขียว ขนาด 10" วงดนตรี สง่า อารัมภีร์      

ประวัติของท่านจาก http://www.oknation.net/blog/kritwat/2009/08/11/entry-2
กล่าวว่า

                 ชาญ  เย็นแข เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิดเกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2469
มีความรักในการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก สมัยสงครามโลก พ.ศ.2486-2488 ชาญ ได้แอบหนีไปสมัคร
ประกวดร้องเพลงทุกวัดที่มีงาน
          ได้รับการสนับสนุนจาก สมพงษ์  พงษ์มิตร(นักแสดงตลกอาวุโส ผู้ล่วงลับไปแล้ว)ให้เข้าเป็นนักร้องประจำ
คณะละครศิวารมย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 โดยมี สง่า  อารัมภีร์ เป็นผู้ควบคุมวงดนตรี  และมีโอกาสบันทึกแผ่นเสียง
เป็นครั้งแรกในชีวิตด้วยเพลง ค่าน้ำนม ผลงานเพลงของครูไพบูลย์  บุตรขัน
          จริงๆแล้ว ตอนนั้น บุญช่วย หิรัญสุนทร ซึ่งจะต้องเป็นผู้ร้องเพลงนี้ไม่มา ครูสง่า จึงให้ ชาญ เย็นแข ร้อง
และบันทึกเสียงแทน
          ชาญ  เย็นแข  ได้จากโลกดนตรีและเสียงเพลงไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2531 ด้วยโรคหัวใจ รวมอายุ
ได้ 62 ปี


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 12, 10:47
         ท่านผู้ใหญ่เหล่านั้นคงนึกไม่ถึงว่า วันข้างหน้า ท่านจะต้องเป็นไม้เบื่อไม้เมากับครูไพบูลย์ บุตรขัน
เพราะครูจะแต่งเพลงบรรยายชีวิตและความทุกข์ยากของชนชั้นแรงงาน จนท่านผู้ใหญ่ระคายหู เรียกเพลงของครู
ว่าเป็นเพลงคอมมิวนิสต์

           สมัยที่ครูเริ่มเป็นที่รู้จัก เพลงไทยสากลยังไม่ได้แบ่งประเภทเป็นลูกทุ่ง-ลูกกรุง แต่สมัยนี้จะจัดเพลงส่วนใหญ่
ของครูไพบูลย์ไปอยู่ในประเภทลูกทุ่ง อย่างเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย น้ำค้างเดือนหก ชายสามโบสถ์ ยมบาลเจ้าขา
หรือ โลกนี้คือละคร

เพลงคอมมิวนิสต์เพลงนั้น คือ "กลิ่นโคลนสาบควาย"

http://www.youtube.com/watch?v=4t7f6zpgseA

เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย แต่งขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๖  ลาวัณย์ โชตามระ เขียนเล่าเอาไว้ใน "ไพบูลย์ บุตรขัน" นักแต่งเพลง "ประวัติการณ์" ว่า...
      
"...นับว่าเป็นประวัติการณ์ทีเดียวที่เพลงไทยถูกทางการสั่งห้ามออกอากาศโดยอ้างว่าเนื้อเพลงมีข้อความที่ไม่เหมาะสม แสดงถึงความเหลื่อมล้ำแห่งชีวิตของชนชั้น เพลงที่ว่านี้คือเพลงกลิ่นโคลนสาบควายของไพบูลย์ บุตรขัน...
      
และนี่ก็เป็นประวัติการณ์อีกเหมือนกันที่ว่า พอถึงวันแม่ซึ่งทางการยุคหนึ่งกำหนดให้ถือเอา วันที่ ๑๕ เมษายน ตลอดวันวิทยุก็จะกระจายเสียง แต่เพลงที่เขาแต่งขึ้นอีกนั่นแหละ นั่นคือเพลงชุด "แม่" อันได้แก่ เพลงค่าน้ำนม ที่มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า "แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง..."

 ;D


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 ส.ค. 12, 10:53
อีกหนึ่งเพลงเอกของคุณชาญ เย็นแข ที่ขึ้นหิ้งระดับตำนานเป็นหมุดหมายของประวัติเพลงไทยคือ

         เพลง กลิ่นโคลนสาบควาย

ชาญ เย็นแข ขับร้องต้นฉบับ เมื่อปีพศ. 2496

        เพลงนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงที่เป็นรากฐานของเพลงลูกทุ่งในยุคสมัยที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยก
ว่าเป็นเพลงลูกกรุงหรือลูกทุ่งอย่างชัดเจน  
        ครูไพบูลย์แต่งขึ้นในปี พ.ศ.2496 ชาญ เย็นแขเป็นผู้ร้องเป็นคนแรกและดังระเบิดในวงการเพลงยุคนั้น
ยิ่งถูกห้ามเปิดก็ยิ่งมีคนอยากฟัง ในหนังสืออนุสรณ์ พระราชทานเพลงศพ นายชาญ เย็นแข เมื่อ 29 พฤศจิกายน
2531 ระบุไว้ว่า
      
         เพลงที่บันทึกเสียงแล้วขายดีที่สุด เพลงชื่อกลิ่นโคลนสาบควาย พ.ศ.2496 ผู้ประพันธ์คือ ไพบูลย์ บุตรขัน
บริษัท ดีคูเปอร์ แอนด์ยอนสตัน อัดแผ่นเสียงจำนวน 6,000 แผ่น ขายหมดตลาดใน 15 วัน ทำให้บริษัทจ่ายรางวัล
พิเศษผู้ร้องและผู้ประพันธ์คนละ 5,000 บาท ต่างหาก"

             ชาญ เย็นแข เองก็ได้เขียนเล่าเอาไว้ เมื่อมิถุนายน พ.ศ.2527 ว่า

         แผ่นเสียงเพลงกลิ่นโคลนสาบควายเป็นแผ่นที่ขายดีที่สุดในยุคนั้น สมัยก่อน เพลงไหนดังทางโรงหนัง
เกือบทุกโรงจะต้องซื้อไปเปิด โรงละ 2- 3 แผ่นถึงขนาดทางร้านต้องขึ้นราคา จาก 17 บาทมาเป็น 30 - 40 บาท
เพราะมันขายดีมาก บริษัทเรียกตัวผมไปรับรางวัล ครูไพบูลย์ ได้ 5,000 บาท ผมได้ 3,000 บาท
                ครูไพบูลย์ แต่งเพลงนี้กินใจมากเพลงในแนวชีวิตละเอียดอ่อน ต้องครูไพบูลย์แต่ง
ผมรับรองว่า ในกรุงรัตนโกสินทร์หาใครแต่งได้เท่าครูไพบูลย์ไม่มีอีกแล้ว ทุกวันนี้ผมร้องเพลงตามห้องอาหาร
ยังมีคนขอให้ร้องทุกคืน..."

บทความจาก คีตาพญาไท (เว็บผู้จัดการ online)

        http://www.youtube.com/watch?v=SIY_GNonMDk


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 12, 11:21
สองจิตสองใจไม่รู้จะต่อไปทางคุณชาญ เย็นแข หรือครูไพบูลย์ บุตรขัน ดี   แต่ในเมื่อกระทู้ชื่อดาวเสียงก็ตกลงใจว่าจะต่อทางคุณชาญดีกว่า   แต่ถ้าคุณ SILA และคุณเพ็ญชมพูจะนำผลงานครูไพบูลย์มาลงก็ไม่ขัดข้องนะคะ    เพลงของท่านยากจะหาใครเปรียบได้ทั้งทำนองและเนื้อร้อง  ถือเป็นตำนานเพลงไทยสากล

ชาญ เย็นแข มีพลังเสียงห้าวใหญ่กังวาน   ฟังมาดแมนเต็มตัว    ใครชอบเสียงแบบนี้ในปัจจุบัน  ถ้าอยากฟังเห็นจะต้องไปหาเพลงของแอ๊ด คาราบาว        ส่วนนักร้องชายในค่ายเพลงต่างๆ เสียงใสไปในทางนกคีรีบูนกันหมดแล้ว
น้ำเสียงชาญแม้ห้าวใหญ่  ไม่นุ่มอย่างเสียงของทนงศักดิ์ แต่เขาก็ร้องเพลงเศร้าระทมได้ไพเราะเช่นกัน    อย่างเพลงนี้ค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=bx7XryN1Pzk&feature=related




กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 12, 11:33
http://www.youtube.com/watch?v=ywCdlPCHLS4&feature=related

เพลงนี้ดัดแปลงทำนองจากเพลงไทยเดิม สุดสงวน 
คำร้องประพันธ์โดย พร ภิรมย์ และ ประสพโชค เย็นแข
เนื้อเพลงใช้สัญลักษณ์แมลงกับดอกไม้ตามแบบวรรณคดีไทย  แต่แปลงเป็นเนื้อหารักสามเส้า ระหว่างดอกบัว  ผึ้งและสายลม  ด้วยชั้นเชิงทางภาษาซับซ้อน และงดงาม   เป็นเนื้อเพลงรุ่นเก่าที่ควรเก็บไว้ศึกษาพัฒนาการของเนื้อเพลง

หอมเอยดอกบัวยั่วอารมณ์   พลิ้วตามสายลม ชื่นชมยามเจ้าขึ้นเคล้าลมเล่น
พลิ้วก้านใบไสวดอกพราวแลขาวเด่น  โน้มเอนชูช่อเบิกบาน
พระพายอวลกลิ่นเกสรสุคนธ์  ล้อลมเวียนวน กลีบอุบลตระการ
กลิ่นเจ้าเร้ารื่น ชื่นบาน   สายลมพลิ้วจูบเจ้า คล้ายจะเอาเจ้าขึ้นวิมาน
เป่ามนต์ดลใจให้ร้าวราน  ทะยานลืมสระจะละก้านใบ หมายไปเริงรื่นกับลม

ภมรร่อนมาเมื่อคราหอม หมายชมดมดอม ผึ้งหมายจะตอมยั่วย้อมอารมณ์
เสียงหวี่หวู่ดังรู้เล่ห์กลมนต์รักข่ม    หวังชมเพียงกลิ่นอุบล
ภมรครวญคร่ำคงช้ำชอกใจ  ร้องครวญหวนไห้  บัวไม่ปล่อยตน
ต้องมนต์ไหวก้านกับลม    แสนสุดตรมใจผึ้ง  ต้องช้ำวิโยคโศกตรึงใจตรม   
ถูกลมรังแกเจ้าแพ้ลม   ระทมดวงจิตเป็นพิษเจ็บกาย เสียดายเพียงช่อดอกบัว


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 12, 13:11
http://www.youtube.com/watch?v=2JfPeoM8f4g

อีกเพลงหนึ่งที่ครูไพบูลย์ บุตรขันแต่งเนื้อร้องและทำนอง   ชาญ เย็นแขขับร้อง

ดวงใจอาดูรสูญความรักในฤทัย
โอ้ชีวิตระบมตรมในนั้นใครไหนเล่าดังเราตรอมตรม
สาปแล้วความรักเอย  ชมเชยแต่ความระทม
ผ่านความช้ำข่ม  เหยียบจมใต้พระธรณี

อาวรณ์ซมซาน  ร้าวรานฤดีคิดไป
โลกจึงเหมือนตารางดวงใจ  แม้ใครพบผ่านมารแห่งชีวี
ต่อนี้ไปไกลกัน  ดั่งจันทร์และดวงสุรีย์
จากกันเหมือนพี่จากน้องที่นองน้ำตา

ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ ไร้สุขเกิดกรรม
โอ้จริงเหมือนคำพระศาสดา
อธิษฐานวาจา เกิดชาติใดหนาอย่ารักใคร
ตารางดวงใจ อย่าได้มาพาน

ดวงใจอาดูร  สูญความรักไปแล้วเอย
ผ่านไปเหมือนดังลมรำเพย ชิดเชยแล้วจากดังกรรมบันดาล
ฝากฝันลอยตามลม  ระทมอยู่ในดวงมาลย์
ชั่วชีวิตผ่านแต่ช้ำระกำดวงใจ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 11:23
ถ้าใครชอบเพลงเพื่อชีวิต  คงจะเคยได้ยินชื่อคำรณ สัมบุญณานนท์   เขาเป็นนักร้องยุคเดียวกับชาญ เย็นแข  ถือกันว่าคำรณเป็น "บิดาของวงการลูกทุ่งไทย" และเป็นนักร้องลูกทุ่งสมัยต้นๆ ของวงการ
คำรณอยู่ในยุครัฐบาลจอมพลป.  เพลงหลายเพลงที่คำรณร้องมีเนื้อหาแสบเผ็ดทางการเมืองและสังคม     เสียดแทงใจคนฟัง  อย่างเพลงนี้

http://www.youtube.com/watch?v=F4vpqspjPc0&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 11:31
ขึ้นชื่อว่าลักษณะการเมืองไทย ไม่ค่อยจะล้าสมัยอยู่แล้ว  เพลงนี้แต่งประมาณ พ.ศ. 2495  คือ60 ปีมาแล้ว  แต่ก็ยังฟังได้อยู่
ได้ยินมาว่าเป็นเพลงต้องห้ามในสมัยนั้น

http://www.youtube.com/watch?v=rcvNdOB4MoE&feature=related

ผู้แต่ง  สุเทพ โชคสกุล

เสียงโฆษณาของนักการเมือง
ยกเอาแต่เรื่องที่ดีงามมาพูดจา
มีหนังมาฉายให้ชาวไร่ชาวนา
ได้ดูได้ชมกันทั่วหน้าระรื่นตื่นตากันทั่วไป
จะสร้างคุณโน่นจะทำคุณนี่ ที่ยังขาดแคลน
ทั่วทุกถิ่นทุกแดนฟัง ดูก็แสนจะชื่นใจ
ถนนหนทางลำคลอง จะสร้างให้มากมาย
เลิกเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย จะซื้อรถให้มาไถนา
ดีอกดีใจ แต่นี้ต่อไปคงสุขอารมณ์
ชาวนาพากันชื่นชมนิยมดังเขาพูดมา
พอเป็นผู้แทนนั่งแท่นอยู่ในสภา
ตั้งหลายปีที่ผ่านมาจะไถนายังต้องใช้ควาย
ถนนหนทางที่ว่าจะสร้างก็ยังไม่มี
มันกินอิฐทรายกันป่นปี้ ถนนจะมีกันได้ยังไง
เขาเป็นผู้แทนกันยังไม่ทันเท่าไร
ทรัพย์สินเงินทองมีมากมาย
มันน่าแปลกใจเมื่อคิดขึ้นมา
ปากบอกรักชาติผมฟังอนาถใจจริง
เห็นแต่เขาจะช่วงจะชิงตำแหน่งใหญ่ยิ่งกันในสภา
วิ่งเต้นหาเสียงกินเลี้ยงกันใหญ่ตามเหลาตามบาร์
บางคราวยกพวกเข้าเข่นฆ่า 
มันเหลือระอาผู้แทนเมืองไทย
ผมขอวิงวอนราษฎรทั่วทั้งแผ่นดิน
คุณพวกชอบโกงชอบกิน คุณพวกกังฉินอย่าเลือกเข้าไป
เลือกแต่คนดียังมีอยู่อีกมากมาย
แล้วพี่น้องจะสุขใจ จะพาชาติไทยเรารุ่งเรือง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 15:54
เพลงลูกทุ่งแบบสนุกๆที่คำรณร้องก็มีเหมือนกัน อย่างเพลงนี้
มีเสียงโห่ตามแบบเพลงคันทรีของอเมริกาด้วย

http://www.youtube.com/watch?v=yhXkrYGPOUI&feature=related

สวรรค์ชาวนา
คำร้อง - ทำนอง :  ไพบูลย์ บุตรขัน
ขับร้อง :  คำรณ  สัมบุญณานนท์

รุ่งแสงสุริยา  เสียงไก่ขันมา ก้องกังวาน
กาเหว่าครวญเสียงหวาน  แว่วกังวานป่าดงพงไพร
ชีวิตบ้านท้องนา เช้าตื่นขึ้นมา ไล่ควายไป
ในบ่าแบกคันไถ จุดเหล็กไฟ สูบยาใบตอง

ไถนาไปพลางร้องเพลง  ไม่หวั่นเกรงแดดจะร้อนส่อง
ตกเพลวัดโบสถ์ตีกลอง  หยุดไถนาพลัน

ค่ำแล้วกลับบ้านมา  หาข้าวหาปลา แบ่งกินกัน
นี่แหละคือสวรรค์  ที่พวกฉันอยู่กันจำเจ
..โห่....



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 12, 16:01
น้อยครั้งที่จะมีนักแต่งเพลงหยิบเอาชีวิตครูมาเป็นเนื้อหา  ใครเป็นครู คงชอบเพลงนี้

http://www.youtube.com/watch?v=0zWD-ZrhcSc&feature=related

เมื่อหวนคำนึงถึงชีวิตครู โธ่เอ๋ยใครๆ ไม่รู้คงคิดว่าครูนี้แสนสบาย
แต่แท้ที่จริง งานครูใหญ่ยิ่งสร้างชาติไทย
โครงการณ์นั้นแสนโตใหญ่ที่ใครๆ มองไม่เห็น
เดี๋ยวนี้ครูไทยเราต้องใส่ใจสอนเช้าจนเย็น
แม้จะพบกับความยากเข็ญ ก็ยังไม่เว้นนึกถึงเด็กไทย
สอนเด็กๆ โอ้เด็กๆ ช่างกวนใจ 
แต่ว่าครูนั้นทนได้ ใครจะอดใจได้เหมือนอย่างครู
อีกทั้งวิชาอุตสาห์ใฝ่หามาให้เรียนรู้
เพื่อให้พ่อหนูแม่หนูได้มีความรู้เพื่อสร้างตน

คุณธรรมความดี ครูนี้ช่วยกันฝึกฝน
บุญคุณของครูเลิศล้น สุดจะคิดค้นมาพรรณา
กลางวันไปสอน กลางคืนก่อนนอนค้นหาวิชา
บันทึกการสอนล่วงหน้า ความรู้หามาเพื่อเด็กไทย
เกียรติของครู ช่างสวยหรูเลิศงามวิไล
แต่ที่โธ่เอ๋ยใครๆ เขาเปรียบครูไว้เหมือนเรือจ้าง
รับขนส่งมุ่งตรงจนถึงฝั่ง
เด็กที่เราเคยสอนเคยสั่ง พอส่งถึงฝั่งครูยังปลื้มใจ
ใครเขาจะว่าเราเป็นเรือจ้างก็ช่างปะไร
แต่ชีวิตอุทิศให้ ขอเป็นครูไปตลอดกาล


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 17 ส.ค. 12, 14:14
           ช่วงหนึ่งเคยหาอ่านเรื่องเกี่ยวกับประวัติเพลงไทย ครับ

            เพลง(เพื่อ)ชีวิตซึ่งเป็นที่นิยมของนิสิตนักศึกษาหัวก้าวหน้าคนเดือนตุลา 2516-19 นั้นมีกำเนิด
ก่อนหน้านั้นมานานโดย แสงนภา บุญราศรี ราชาเพลงชีวิตผู้ถูกลืม แต่งเพลงไทยสากลสะท้อนชีวิต
ชนชั้นล่างเป็นครั้งแรกช่วงทศวรรษ 2480 เรียกกันว่า “เพลงชีวิต” เพลงเอกของเขานำเสนอรายละเอียด
ชีวิตคนปาดตาล,คนลากรถขยะ,คนจรหมอนหมิ่น,ลูกศิษย์วัด,นักหนังสือพิมพ์,กุลีท่าเรือ,ทหารกองหนุน ฯลฯ

            นักแต่งเพลงรุ่นราวคราวเดียวกับแสงนภาอีกท่านคือ เสน่ห์  โกมารชุน ผู้โด่งดังจากหนังเรื่อง
แม่นาคพระโขนง ก่อนหน้านั้นเขาเคยแต่งเพลงชีวิตตามหลังแสงนภามาติดๆ จนในที่สุดต้องยุติบทบาทนี้ลง
เมื่อเพลง สามล้อ,ผู้แทนควาย กลายเป็นเพลงต้องห้าม เขาถูกเชิญตัวเข้าพบอธิบดีกรมตำรวจ  อัศวินเผ่า  
ศรียานนท์ จนต้องเลือกที่จะเลิกแต่งเพลงเสียดสีเพื่อที่จะได้มีชีวิตอยู่ต่อไป

            ช่วงต้นทศวรรษ 2495 เมื่อเสน่ห์ต้องหยุดงานเพลงชีวิต และแสงนภา บุญราศรี ลดบทบาท
นักร้องนักแต่งเพลงเป็นช่วงที่ดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการเพลงชีวิตคนใหม่ คือ คำรณ  สัมบุณณานนท์เปล่งรัศมี
ขึ้นมาแทนที่
             คำรณเป็นนักร้องในตำนาน เป็นหนึ่งในผู้ปักหมุดหมายในหน้าประวัติศาสตร์เพลงไทย

             เมื่ออายุ 18 ปี เขาได้ร้องเพลงประกอบละครวิทยุในเรื่อง สาวชาวไร่ เพลงชื่อว่า โอ้เจ้าสาวบ้านไร่
ของครูเหม เวชกร ในเวลาต่อมาเพลงนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงแรกที่มีลีลาของเพลงลูกทุ่ง
             นอกจากนี้เขายังร้องเพลง ชมหมู่ไม้ แต่งโดยครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นเพลงที่มีการร้องแบบโห่(yodel)
เพลงแรกของไทย

       http://www.youtube.com/watch?v=JU0H3rk8dtU

            เพลงชีวิตของคำรณโด่งดังเป็นที่นิยมจนได้รับการยกย่องให้ผลงานเพลงร้องของคำรณเป็นต้นแบบ
เพลงชีวิต ชีวิตของคนโดยเฉพาะคนชนชั้นล่าง และเพลงสะท้อนการเมือง เช่น   หาเช้ากินค่ำ,กรรมกรรถราง,
ตาสีกำสรวล,ชาวนากำสรวล,น้ำตาชาวนา,มนต์การเมือง,ชีวิตนักโทษการเมือง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 12, 16:34
ไปค้นรายชื่อเพลงจากที่คุณ SILA เล่าไว้   ได้เพลงนี้มา  สะท้อนภาพทหารตัวเล็กๆที่ได้รับผลกระทบจากกบฏแมนฮัตตัน โดยไม่มีผู้ใหญ่เหลียวแล

http://www.youtube.com/watch?v=bY3MUbCkpu0

    เบื้องหลังเพลงของคำรณ สัมบุณณานนท์  ไปเจอจากอินทรเนตร เลยลอกเอามาให้อ่านกันค่ะ

    คำรณเข้ามาเป็นนักร้องในยุคที่หนังคาวบอยกำลังเฟื่องฟู เขามักจะแต่งชุดชาวนา คาวบอยเมืองไทย เที่ยวร้องเพลงสลับฉากตามโรงละคร บางวันเขาก็บอกว่า เขาคือแฮงค์ วิลเลี่ยม เมืองไทย และนี่เองเป็นที่มาของเพลงโห่ แบบแฮงค์ วิลเลี่ยมที่ต่อมาภายหลัง เป็นที่มาของการร้องโห่ แบบ เพชร พนมรุ้ง
  
   ในระยะนั้นคือ ก่อน พศ.2500 สองขุนพลเพลงผู้ยิ่งใหญ่ในเวลานั้น คือ เสน่ห์ โกมารชุน และ คำรณ สัมบุณณานนท์ ทั้งสองคนเคยร่วมกัน ทำเพลง สามล้อแค้น จนกระทั่งดังไปถึงโรงพัก นี่เองที่ทุกคนกล่าวขวัญถึงเขา ว่าเป็นนักร้องอันตราย
  
   เสน่ห์ โกมารชุน เป็นคนพูดจาจริงจังโผงผาง ส่วนคำรณ เป็นคนที่กล้าร้องเพลง ที่บอกถึงเรื่องราวการเมือง และ เสียดสีอำนาจรัฐ ในยุคนั้น เพราะเขาถือว่าชีวิตนี้ เขาไม่มีอะไรสูญเสียต่อไป คุกก็เข้ามาแล้ว เป็นกบฏก็เป็นมาแล้ว เพลงหนักๆ ที่คำรณ เข็นออกมา ท้าทายอำนาจเผด็จการทหารช่วงนั้น เป็นเรื่องกล้าหาญอย่างที่ไม่มีนักร้องคนใดเทียบติดได้ อย่างเพลง ใครค้านท่านฆ่า หรือ อสูรกินเมือง กล่าวถึงการสังหารโหดทางการเมือง โดยกล่าว ชื่อนาม สกุล ของนักการเมืองในเนื้อร้องออกมาอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เดี๋ยวนี้เพลงเหล่านี่ผมหาเนื้อเพลงไม่ได้แล้วครับ จำได้กระท่อนกระแท่นมาก หากมีเวลาจะค้นหามาให้ดูกันครับ
                                                  
   คำรณ เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2463 เป็นชาววัดเกาะ กทม. แต่มีหลายคนบอกว่าเขาเป็น คนสุพรรณ โดยวิเคราะห์ เอาจากสำเนียงภาษาของ เขานั่นเอง
   ครูไพบูลย์ บุตรขันธ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลัง งานเพลงของคำรณ เป็นกำลังสำคัญ ในการถ่าย ทอดเรื่องราว ทางการเมืองของ คำรณ ... นอกจากครูไพบูลย์ บุตรขันธ์ แล้วคนที่ แต่งเพลงป้อน ให้กับ คำรณ คนสำคัญก็คือ เสน่ห์ โกมารชุน ยังเป็นคนให้ความคิดทางการเมือง และ เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ของ คำรณด้วย ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมี ป.ชื่นประโยชน์ สุรพล พรภักดี เป็นต้น             
   มิใช่มีเพียงเพลงสะท้อน ภาพทางการเมืองเท่านั้น คำรณยังมีเพลงสะท้อนภาพชนชั้นล่าง ในสังคม ทั่วไปอย่างเพลง ชีวิตครู คนขายยา คนเพนจร พ่อค้าหาบเร่ ชีวิตคนเครื่องไฟ ฯลฯ และแน่นอน ใน จำนวนนั้นเพลงที่กล่าวถึง ชาวนาชนชั้นล่าง ของประเทศ มาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเพลงตาสี กำสรวล หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ชาวนากำสรวล ยอมดับคาดินเป็นต้น
            
     คอนเซ็ปอย่างนี้ได้กลายมาเป็นคอนเส็ปในเพลงเพื่อชีวิตทุกวันนี้ แม้วงทัพหน้าอย่างคาราวาน จะไม่มี อิทธิพล ของ คำรณ แต่สำหรับ วงดนตรี ยุคหลัง หลายวงต่างพยายามศึกษา ความเป็นไปของยุค เสน่ห์ - คำรณ อยู่ไม่ขาดสาย อย่างโฮป คาราบาว คันไถ เป็นต้น  
   นอกจากเขาจะเป็นนักร้องเพลงการเมืองแล้ว คำรณ ยังเป็นพระเอก หนังหลายเรื่อง อย่างเช่น ชายสามโบสถ์ รอยไถ เลือดทรยศ หญิงสามผัว เกวียนหัก ฯลฯ
  
   สมยศ ทัศนพันธ์ ขุนพลเพลงลูกทุ่งผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้กล่าว ถึงความเป็นไปอย่างโดดเด่นของคำรณ ไว้ทำนองว่าเขาเป็นคนมีความเป็นศิลปินสูง จึงอยู่ในวงดนตรีดุริยางค์ทหารเรือร่วมกับตนได้ไม่นาน    ลูกคอแบบชนบทของคำรณ คือเสน่ห์ อย่างหนึ่ง ที่ ทำให้ประชาชน นิยมชมชอบเขามาก
  
   คำรณเสียชีวิต เมื่อ 30 กันยายน 2512 ด้วยโรคปอด (เพราะเขาเล่นทั้งกัญชา ยาฝิ่น และบุหรี่ใบจาก)รวมอายุได้ 48 ปี เท่านั้นเอง
   http://muslimchiangmai.net/index.php?topic=941.0;wap2

  


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 12, 11:20
ขอต่อด้วยดาวเสียงฝ่ายหญิงอีกท่านหนึ่ง เจ้าของเสียงเย็น และเศร้าซึ้ง    ผู้จากไปเมื่อพ.ศ. 2550   เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง)พ.ศ. 2534

ปี พ.ศ. 2490 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คุณเพ็ญศรีขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลง "สายฝน" ซึ่งเพิ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ก่อนหน้านั้นไม่นาน โดยเป็นการร้องสดในรายการบรรเลงดนตรีรายการหนึ่ง หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2491 จึงได้ขับร้องเพลงนี้บันทึกแผ่นเสียง

http://www.youtube.com/watch?v=z9aoKQ0AWps


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 12, 11:48
เพลงนี้ มักเป็นที่รู้จักกันในโรงเรียนยุคก่อน     เวลามีงานแสดงบนเวที  หนูน้อยอายุ ๗-๘ ขวบหรือน้อยกว่านั้นมักจะต้องแต่งชุดบัลเล่ต์สีขาวมาเต้นกันเป็นหมู่เป็นเหล่า

http://www.youtube.com/watch?v=VhVbPavnpW0

คำร้อง: แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนอง: เวส สุนทรจามร

หงส์เหมราขเอย สง่าผ่าเผยงามสคราญ ณ แดนหิมพานต์ หวงตัวรักวงศ์วาน หิมพานต์สถานสำราญมา
หงษ์ร่อนผกเผิน บินดั้นเมฆเหินเกินปักษา กางปีกกวักลมท่วงทีสมสง่า เหินลมล่องฟ้านภาลัย
หงส์ทรงศักดิ์เรือง ยามเจ้าย่างเยื้องงามกระไร สวยงามวิไล สวยเกินนกใดๆ เยื้องไปแห่งไหนสวยสอางค์
หงส์ลงเล่นธาร สรงสระสนานธารสุรางค์ ลงสระอโนดาษชำระร่าง ไซร้ขนปีกหางสรรพางค์กาย
ทรงหงส์อ่อนงอน ปกปีกซ้อนเชยฉอ้อนช้อนโอบกาย เคล้าคู่กันผันเรียงราย พร้อมกันว่ายแหวกธาร
ว่ายน้ำฉ่ำกาย ต่างผันผายพากันว่ายฟ้าเบิกบาน เหินสู่แดนแสนสราญ ถึงหิมพานต์อันสุขใจ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ส.ค. 12, 13:14
เพลงนี้ได้ยินและชอบร้องมาตั้งแต่เด็ก

http://www.youtube.com/watch?v=2OcURNJ87Ug&feature=bf_prev&list=SP1174377DDE18F45A

ที่มาของเพลงวิหคเหินลม (http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9500000035381) โดย คีตา พญาไท

พ.ศ. ๒๔๙๔ ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ได้แต่งเพลงวิหคเหินลม ร่วมกันกับครูสมาน กาญจนะผลิน แล้วมอบให้เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นผู้ขับร้อง ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับเพ็ญศรี พุ่มชูศรี มากอีกเพลงหนึ่ง นอกเหนือไปจากเพลงความรักเจ้าขา เพลงรักประดับชีวิน ฯลฯ
        
เพลงวิหคเหินลม
คำร้อง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์/ทำนอง สมาน กาญจนะผลิน

แสนสุขสม นั่งชมวิหค
อยากเป็นนก เหลือเกิน
      
นกหนอนกเจ้าหกเจ้าเหิน
ทั้งวันนกเจ้าคงเพลิน เหินลอยละลิ่วล่องลม
      
แม้นเป็นนักได้ ดังใจจินตนา
ฉันคงเริงร่า ลอยลม
      
ขอเพียงเชยชม ดังใจจินตนา
ให้สุดขอบฟ้า สุขาวดี
      
ฉิมพลี วิมานเมืองฟ้า
ค่ำคืน จะทนฝืนบิน
      
เหินไป ทั่วถิ่นที่มันมีดารา
เพราะอยากจะรู้ เป็นนักเป็นหนา
      
ดารา พริบตาอยู่ไย
ยั่วเย้า กระเซ้าหรือไร
      
หรือดาว ยั่วใคร เหตุใดดาวจึงซน

(บันทึกแผ่นเสียงโดยเพ็ญศรี พุ่มชูศรี พ.ศ.  ๒๔๙๔)
      
เป็นเพลงที่บรรเลงในแนวสังคีตประยุกต์ เป็นเพลงแรกของครูสมาน กาญจนะผลิน ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗
      
สุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการบริหารของ นิตยสารสกุลไทย ผู้ล่วงลับไปแล้ว บอกว่า
      
"...เพลงของพี่โจ๊วที่ฉันประทับใจมากเพลงหนึ่ง คือ เพลงวิหคเหินลม เพราะตรงใจที่เนื้อร้องและท่วงทำนอง บ่งบอกความหมายถึงชีวิตอิสรเสรีของนก เสียงเพลงของพี่โจ๊ว เป็นเสียงที่ให้อารมณ์ และมโนภาพที่งดงาม มองเห็นนกครั้งใด ก็เหมือนได้ยินเสียงเพลงของพี่โจ๊วกังวานอยู่ในใจทุกครั้ง ..."
      
ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เขียนเล่าถึงเพลงวิหคเหินลม ไว้ในหนังสือ ๑๐๐ ปี เกษม พินิจดุลอัฎว่า
      
"...เพลงนี้เดิมทีเดียว เนื้อร้องไม่ได้เป็นอย่างนี้ ที่แต่งไว้ครั้งแรกเป็นเพลงผู้หญิงร้องกระแนะกระแหนผู้ชายว่าเจ้าชู้ ชอบหลอกลวง เชื่อไม่ได้ ไว้ใจอะไรไม่ได้ อะไรทำนองนั้น
      
แต่เวลาไปอัดแผ่นเสียงซ้อมเท่าไหร่ๆ ก็ฟังดูไม่ดีสักที พอดีผู้แต่งไปอยู่ที่ห้องอัดเสียงด้วย ท่านเจ้าของห้องอัดเสียงฟิลิปส์ซึ่งเป็นผู้อัดเสียงเพลงนี้เป็นครั้งแรกได้เดินมาบอกว่า เพลงนี้เป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ฟังดูไม่ดีสักที ลองเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่ได้ไหม เผื่อจะดีขึ้น
      
เลยตอบไปว่า ลองดูก็ได้ แต่ต้องขอเวลาหน่อย ระหว่างนี้ อัดเพลงอื่นไปก่อนก็แล้วกัน
      
ขอกระดาษเขียนหนังสือมา ๒ แผ่น ออกมานั่งหน้าห้องอัดเสียง ลักษณะเป็นห้องเล็ก ๆ มีหน้าต่างรอ บๆ สั่งโอเลี้ยงมาแล้ว ๑ แก้ว นั่งคิดไปคิดมาว่า จะเขียนอย่างไรดี พล็อตเดิมใช้ไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนเรื่องใหม่หมด
      
มองไปนอกหน้าต่าง เห็นนกหลายตัวเหมือนกัน บินไปบินมาอย่างสนุกสนาน (ห้าสิบกว่าปีก่อน แถบถนนสาทร ยังมีนกบินอยู่) เลยได้ความคิดขึ้นมาว่า เป็นนกดีกว่า
      
ออกมาเป็น "วิหคเหินลม" ใช้เวลาประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมง
      
พอแต่งเสร็จ โอเลี้ยงหมดแก้วพอดี ต่อมาเลยได้ฉายาจาก ส. อาสนจินดา (นักประพันธ์ชื่อดังในสมัยนั้น) ว่า "นักแต่งเพลงโอเลี้ยงแก้วเดียว"
      
เพลงนี้สุวัฒน์ วรดิลก นักประพันธ์ใหญ่ของไทย บอกเอาไว้ในหนังสือ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมาน กาญจนะผลิน ในคอลัมน์ "ผู้รู้วันตาย" ไว้ว่า
      
"..."น้าหมาน" ซึ่งพัฒนาตัวเองอยู่เป็นอาจินต์ได้นำเอาดนตรีสากลบรรเลงผสมกับดนตรีไทย (วงปี่พาทย์) ขอให้ผู้เขียนตั้งชื่อ การแสดงดนตรีประเภทนี้
      
เราหารือกันที่บ้าน สง่า อารัมภีร ผู้เขียนได้เสนอชื่อ "สังคีตประยุกต์"
      
เพลงแรกคือ "วิหคเหินลม" เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ขับร้อง น้าหมาน สร้างทำนองมาจากเพลงไทย "ลาวลอดค่าย"(บ้างก็ว่า ลาวดอย)
      
สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ แต่งเนื้อร้อง (ผู้เขียน คิดว่าเป็นเนื้อเพลงไทยสากลที่ดีที่สุดอีกเพลงหนึ่งของวงการเพลงเมืองไทย) เพลงวิหคเหินลม กลายมาเป็นเพลงอมตะจนทุกวันนี้..."

 ;D


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ส.ค. 12, 13:21
นึกเอ๋ยนึกถึง
เพลงเพลงหนึ่งซึ่งกล่าวขานนานหนักหนา
ชื่อว่าเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา
มาเรามานั่งฟังอย่างตั้งใจ

พร่างพรายแสงดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทองผ่องเรืองรุ่งในหทัย
เหมือนธงชัยส่งนำจากห้วงทุกข์ทน

พายุฟ้าครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยามแผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย

ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้ผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน (เอย)


http://www.youtube.com/watch?v=mJCpjsOq4_s

คำร้องและทำนอง โดย จิตร  ภูมิศักดิ์


        ถ้าจำไม่ผิดคุณเพ็ญศรีเคยร้องเพลงนี้สดๆ บนเวทีที่ธรรมศาสตร์ ต่อมาจึงได้ร้องบันทึกเสียง
ลงในอัลบั้ม สายทิพย์ 
            รู้สึกดีใจ และชื่นชมผู้ที่คัดเลือกเพลงเพื่อชีวิตที่แสนไพเราะนี้มาให้ท่านบันทึกฝากเสียงเพลงไว้
เป็นการจับคู่ทางเพลงที่สวยงาม


 ;D


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 12, 19:24
http://www.youtube.com/watch?v=jj4pdifM2NQ

ศกุนตลา เป็นอีกเพลงหนึ่งที่คุณเพ็ญศรีร้องได้ไพเราะไม่มีใครเหมือน    กลายมาเป็นเพลงประจำตัวของเธอในช่วงเวลาหนึ่ง   ที่มาของเพลงนี้คือคุณสุวัฒน์ วรดิลก หรือ "รพีพร" คู่ชีวิตของเธอตั้งไนท์คลับชื่อ "ศกุนตลา"ขึ้น ในพ.ศ. 2511 จึงได้ขอให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนอง เพลงศกุนตลา และให้ คุณทวีปวร (ทวีป วรดิลก) แต่งคำร้อง เพื่อนำไปใช้ในการโปรโมทไนท์คลับ "ศกุนตลา"

คุณทวีป วรดิลก ศิลปินแห่งชาติ แต่งเนื้อร้องด้วยฉันทลักษณ์กลอน 6-7   ท่านเขียนเล่าเบื้องหลังการแต่งเพลงนี้ไว้ในบทความ  "จาก 'โดมในดวงใจ' ถึง 'ศกุนตลา'" ว่า

"หลังจาก 'มนต์รักนวลจันทร์' กับ 'นิมิตสวรรค์' แล้ว ผมก็ไม่ได้แต่งเพลงอีกเลย จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 2508 เกิดมีศกุนตลาไนท์คลับขึ้น และผมก็ได้รับหน้าที่แต่งเนื้อเพลง ศกุนตลา ซึ่งร้องโดยเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ซึ่งก็ไม่มีปัญหาที่ว่า คุณเอื้อก็รับภาระแต่งทำนองอีก

เพลงนี้ก็เช่นเดียวกับ 'โดมในดวงใจ' คือผมแต่งคำประพันธ์ก่อน แล้วคุณเอื้อก็แต่งทำนองทีหลัง โดยผมตั้งใจมานานแล้ว ที่จะชมโฉมผู้หญิงด้วยสำนวนกวีที่แหวกแนวออกไปอย่างเช่น 'น้ำค้างค้างกลีบกุหลาบอ่อน คือเนตรบังอรหยาดหวาน โอษฐ์อิ่มพริ้มรัตต์ (รัตต์=สีแดง-เทพกร) ชัชวาล เพลิงบุณย์อรุณกาลผ่านทรวง ... ศกุนตลา นางฟ้าแมกฟ้าจากสรวง คลื่นสมุทรสุดฤทัยไหวปวง คือทรวงนางสะท้อนถอนใจ..."

วรรคต่อมาที่ว่า 'ยอดมณีศรีศิลป์ปิ่นสรรค์...' หลังจากที่คุณเอื้อแต่งทำนองเสร็จแล้ว และเพ็ญศรีกำลังซ้อมร้องอยู่ จึงได้ทราบว่า คุณเอื้อเข้าใจผิด คือเข้าใจว่าเนื้อร้องเป็น 'ยอดมณีศรีศิลปินสรรค์' จึงได้แต่งทำนองไปตามถ้อยคำดังนี้ ผมฟังเพ็ญศรีร้องก็รู้สึกแต่เพราะดี สมควรจะร้องไปเช่นนี้ แต่เมื่อคุณเอื้อทราบเข้าก็ไม่ยอม เปลี่ยนตัวโน้ตให้เข้ากับคำเดิมของผมทันที แล้วที่สำคัญยิ่งกว่านี้ก็คือ ดูจะเพราะยิ่งกว่าเดิมเสียอีก!

เท่าที่ผมฟังเพ็ญศรีเล่า คุณเอื้อสนใจในคำประพันธ์ของผมมาก เมื่อจะต่อให้เพ็ญศรี หลังจากแต่งทำนองเสร็จแล้ว ก็ได้อธิบายว่า ทำนองที่แต่งมีความมุ่งหมายเช่นไร โดยคุณเอื้อมุ่งที่จะให้ลีลาของดนตรีปูความรู้สึกให้กับผู้ฟังทีละน้อยเป็นลำดับไป ตราบจนผู้ฟังรู้สึกได้ถึงความงามที่เด่นเป็นพิเศษอย่างที่ผมได้ตั้งใจไว้ในตอนเขียน จากที่เพ็ญศรีเล่า คำอธิบายของคุณเอื้อตามที่ผมได้ฟังนั้น คุณเอื้อไม่ใช่นักแต่งเพลงธรรมดา ๆ เลย หากแต่เป็นคีตกวีที่แท้จริง ที่ 'เข้าถึง' จินตนาการของกวี และยังสามารถถ่ายทอดกวีวัจนะออกมาเป็นภาษาดนตรีที่ละเอียดอ่อนละเมียดละไมในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็เป็นความปรารถนาของกวีโดยแท้จริง"


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 12, 19:29
ศกุนตลา

คำร้อง ทวีปวร        ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน     
   
ศกุนตลา
นางฟ้าแมกฟ้าหรือไฉน
เดินดินนางเดียวเปลี่ยวใจ
นางไม้แมกไม้มิได้ปาน

น้ำค้างค้างกลีบกุหลาบอ่อน
คือเนตรบังอรหยาดหวาน
โอษฐ์อิ่มพริ้มรัตต์ชัชวาล
เพลิงบุณย์อรุณกาลผ่านทรวง

ศกุนตลา
นางฟ้าแมกฟ้าจากสรวง
คลื่นสมุทรสุดฤทัยไหวปวง
คือทรวงนางสะท้อนถอนใจ

* ยอดมณีศรีศิลป์ปิ่นสรรค์
หล่อหลอมจอมขวัญผ่องใส
คือแก้วแพร้วพร่างกระจ่างใจ
อาบไออมฤตนิจนิรันดร์

สำนวนกวีของคุณทวีปวรไพเราะมาก    มีลีลาเปรียบเทียบความงามของนางในวรรณคดีเป็นแบบฉบับของตัวเอง  ไม่ซ้ำกับขนบที่เขียนกันมาก่อนหน้านี้    เช่นเทียบดวงตาว่าหวานเหมือนหยาดน้ำค้างบนกลีบกุหลาบอ่อน  อ่านแล้วศกุนตลาคงเป็นหญิงสาวดวงตาใสแจ๋ว  สวยหวานไร้เดียงสา
แต่มีวรรคหนึ่ง แปลไม่ออกจนบัดนี้  เคยถามศิลปินแห่งชาติสาขากวีนิพนธ์อีกท่านหนึ่งท่านก็แปลไม่ออกเหมือนกัน คือ "เพลิงบุณย์อรุณกาลผ่านทรวง"  ใครพอจะนึกได้บ้างกรุณาแปลไว้ในกระทู้นี้จะเป็นพระคุณยิ่ง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 12, 20:38
   ขอรำลึกถึงคุณเพ็ญศรีด้วยเพลงที่ร้องยากสุดๆเพลงหนึ่ง  ชื่อ "มนต์รักนวลจันทร์" เป็นเพลงคู่ของเธอกับคุณสุเทพ วงศ์กำแหง   เพลงนี้ นอกจากนักร้องชายหญิงเป็นศิลปินแห่งชาติทั้งคู่แล้ว  คนแต่งเนื้อร้องซึ่งมี 2 แต่งตอนต้นกับตอนปลายกันคนละท่อน ก็เป็นศิลปินแห่งชาติด้วยกันทั้งสองคน คือคุณสง่า อารัมภีร และคุณทวีป วรดิลก
   เพลงนี้ต้องร้องเสียงสูงมาก เกือบจะเป็นเสียงโซปราโน    มีหลายตอนด้วยกัน   ถ้าเสียงขึ้นไม่ถึงจะล่มเสียตั้งแต่กลางเพลง  ไปไม่รอดจนตลอดเพลง   
, " มนต์รักนวลจันทร์ " เป็นเพลงเอกของละครเวทีชื่อเดียวกันกับเพลง แสดงในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นละครที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงก่อนการฉายภาพยนตร์รอบแรกที่เรียกกันว่ารอบปฐมทัศน์ เป็นฝีมือการเขียนบทและกำกับการแสดงของพี่ชายของ ทวีปวร คือ รพีพร หรือ สุวัฒน์ วรดิลก

   http://www.youtube.com/watch?v=CXB8czcg2f4&feature=related



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 12, 20:39
มนต์รักนวลจันทร์

คำร้อง ทวีปวร-สง่า อารัมภีร์            ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน     
   
ช.เดือนเด่นลอยคว้างกลางสรวง
ทอแสงช่วงนวลอะคร้าวพราวพราย
เมื่อมองเดือนใจเราสะเทือนไม่วาย
สงสัยว่าเดือนอายแก่นางฟ้าลาวัณย์
ลมที่เคยพลิ้วโชยมา
ดูเหมือนว่าตะลึงจนหลงงงงัน
เพลินชมนางที่แสนสะอาง พร่างพรรณ
โอ้ลมและดวงจันทร์หมายมั่นนางดั่งเรา
จงโปรดมองดูข้านี้ ในทรวงนี่มีแต่รักนงเยาว์
อาบอิ่มใจแม้เห็นนวลนางเพียงเงา
ก็คลายทุกข์คลายเศร้า หายร้อนรุ่มอุรา
นวลนางเอยไยไม่เอ่ยคำ
ร้องขับลำนำเป็นมนต์รักตรึงตรา
จงเอ็นดูยวนยิ้มเผยวาจา
ให้ฟ้าและดินถวิลท่ามกลางนวลจันทร์

ญ. แผ่นฟ้าพราวพรรณแจ่มใจ ตระหนกกระไรแม้มีใครจะมาสัมพันธ์
ถิ่นนี้เคยอยู่นิรันดร์ สงบสบสรรไร้คนข้องเกี่ยวเรานี้
กลิ่นซึ้งสุคนธ์อบอวล แต่ใจยังครวญหวนแต่ในสิ่งเลอศรี
หาใดในแหล่งปฐพี ฤาเทียบภาระเรามิซึ้งสุดใจ
คนธรรม์จะครวญเพลงทิพย์วิมาน
นภางค์ตระการวิภา เพราะจันทร์แจ่มเลอไฉไล
สุดแดน แม้องค์เทพอวยรักใด
จากชั้นทิพย์ประทานสถานฟ่องฟ้า
จิตนี้ธำรงยั่งยืนหากหน่ายกลับคืนเป็นบาปอยู่ตรึงตรา
รักเราที่มุ่งศรัทธาให้ทั่วโลกา สุขซึ้งสุดดังใจ
ช. นาง..นภาพรรณผ่องอำไพ
สิ่งซึ่งวิไลนั้นเลิศเลอเพราะด้วยใดกัน
ญ. นั้นฤาสิ่งอันผจงห่อฟ้าอำพัน
สิ่งอันสรรให้จิตใจใหลหลงนามว่าเมฆา
ช. นาง..สายลมบรรเจิดชีวา
แจ่มใจนี้นานั้นเลิศเลอเพราะด้วยอันใด
ญ. ดอกไม้สุคนธ์มนต์รักชื่นใจ
ช. เหตุใดหนอนางว่ารัก
ญ. เมื่อจันทร์ซบพักตร์เมฆมา
ช. เหตุใดหนอจึงจันทราแมกมนต์
ญ. สุดซึ้งเสาวคนธ์
ช. ดุจมนต์ดลใจ
(พร้อม) แจ่มจันทร์ขวัญใจ..สองเรา


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 ส.ค. 12, 10:32
อ้างถึง
"เพลิงบุณย์อรุณกาลผ่านทรวง"  ใครพอจะนึกได้บ้างกรุณาแปลไว้ในกระทู้นี้

        อาจารย์เคยถามถึงความหมายของวรรคนี้ในกระทู้เก่าก่อนหลายปีแล้ว

         ขอตีความหมายว่า ผลบุญที่แรงดังไฟ สว่างดุจแสงยามเช้าตรู่ส่งผลผ่านทรวงของศกุนตลา
ทำให้มีผลเป็นดังในท่อนต่อมาว่า

           คลื่นสมุทรสุดฤทัยไหวปวง
คือทรวงนางสะท้อนถอนใจ    ;D

         คิดอีกทีหรือ "อรุณกาล" อาจจะหมายถึงเมื่อกาลก่อน > ผลบุญที่แรงดังไฟจากเมื่อกาลก่อน

ภาพศกุนตลา ฝีมือครูเหม เวชกร


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 12, 11:00

         ขอตีความหมายว่า ผลบุญที่แรงดังไฟ สว่างดุจแสงยามเช้าตรู่ส่งผลผ่านทรวงของศกุนตลา
ทำให้มีผลเป็นดังในท่อนต่อมาว่า
           คลื่นสมุทรสุดฤทัยไหวปวง
           คือทรวงนางสะท้อนถอนใจ    ;D
   
          ถ้าหากว่าเวลาศกุนตลาถอนใจ จะเหมือนคลื่นไล่กันเป็นระลอก   รูปร่างนางคงเหมือนนางเอกหนังอินเดียสมัยโน้น   ตรงข้ามกับสาวผอมแห้งปลิวลมสมัยนี้นะคะ 
          คุณ SILA ว่างั้นไหม


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 12, 11:24
คนต่อไปคือนักร้องสาวสวยในอดีต ที่มีฝืมือทั้งการแสดงและมีน้ำเสียงหวานใสโดดเด่นไม่แพ้ใคร   เธอชื่อนงลักษณ์ โรจนพรรณ   ใครที่ทันดูทีวีช่อง 4 บางขุนพรหมคงจำได้ว่า นงลักษณ์เป็นผู้ประกาศรายการคนหนึ่งของสถานี   หน้าหวาน ตากลมโต   ร้องเพลงเพราะ    มาเล่นละครโทรทัศน์ก็ทำได้ดีไม่แพ้ใคร

ผมแอบเอาเพลง 'กุหลาบร่วง' ของ คุณ นงลักษณ์ โรจนพรรณ  ที่คุณ SILA โพสต์ไว้ไปแปะลงกลุ่มใน fb ครับ
ตกค่ำ พี่สาวคนหนึ่งซึ่งผมเคารพผ่านมาเห็นเข้า  เลยเขียน comment ไว้ให้เสียยาว...

อ่านแล้วขอเดาใจคุณ SILA   และสมาชิกเรือนอีกหลายท่านกันเล่นๆ   ว่าน่าจะชอบ comment ชิ้นนี้  ผมเลยขออนุญาต edit มาฝากกันอ่านครับผม

         คุณ นงลักษณ์ โรจนพรรณ เปนศิลปินสังกัดช่อง 4 บางขุนพรหม ในสมัยที่คุณจำนงค์ รังสิกุลเปนผู้อำนวยการสถานี

         คำว่า "ศิลปิน" เปนคำที่เหมาะสมที่สุดที่ใช้เรียกคนที่ทำงานที่สถานีนี้ เพราะ คุณ อารีย์ นักดนตรี, คุณ นันทวัน เมฆใหญ่, คุณ ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, คุณ ศิริพร วงศ์สวัสดิ์, คุณ กนกวรรณ ด่านอุดม, คุณ สุพรรณี ปิยะศิรานนท์ ฯลฯ รวมทั้งฝ่ายชาย เช่น คุณกำธร สุวรรณปิยะศิริ, คุณสมจินต์ ธรรมทัต, คุณสะอาด เปี่ยมพงสานต์, คุณรอง เค้ามูลคดี ฯลฯ และอีกหลายท่านที่ต้องขออภัยที่มิได้เอ่ยนาม ล้วนถูกฝึกหัดให้มีความสามารถสมคำว่า "ศิลปิน" จริงๆ

         คือ มีความสามารถร้องเพลงไทยเดิม-ไทยสากลได้, เล่นดนตรีไทย-ดนตรีสากลได้, สามารถรำไทยและนาฏศิลป์สากลได้, ร้อง-เล่นวัฒนธรรมพ้ืนเมืองของไทยได้, สามารถเล่นละคอนได้, เปนผู้ประกาศข่าวได้, พากษ์ภาพยนต์ได้, โฆษณาสินค้าสดๆได้, และสามารถทำงานเบื้องหลัง เช่น กำกับเวทีได้

         บางท่านเปนผู้บุกเบิกศาสตร์บางอย่างเปนท่านแรกในประเทศไทย (การแต่งหน้าเพื่อการแสดง-ถ้าไม่นับสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ซึ่งได้แสดงพระปรีชาในละคอนดึกดำบรรพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 คุณสะอาด เปี่ยมพงสานต์เปนท่านแรกที่ไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นและนำมาทำงานในวงการกับทั้งยังเผยแผ่ให้อีกหลายคนจนแพร่หลาย) เปนต้น
 
         สำหรับ คุณ นงลักษณ์ โรจนพรรณ เปนเหมือนท่านทั้งหลายที่ได้กล่าวมาข้างต้น ที่โดดเด่นมากน่าจะเปนการขับร้องจนสามารถได้รับเลือกให้บันทึกเสียง และการแสดงละคอน เธอเปนคนกล้าจึงได้เลือกรับบทเปน "อีเกียว" จากวรรณกรรมเรื่อง "เรือมนุษย์" บทประพันธ์รางวัล ส.ป.อ. ของ กฤษณา อโศกสิน (อีเกียวเปนลูกคนใช้ในบ้านของข้าราชการที่มีครอบครัวอบอุ่น ด้วยเล่ห์สิเนหาอีเกียวทำให้คุณผู้ชายซึ่งเปนคนดีมาตลอดชีวิต ต้องพ่ายแพ้และได้หล่อนมาเปนเมียน้อยและนำมาของความพินาศของครอบครัวในที่สุด)

         การเล่นละคอนในเวลานั้นจะเปนการเล่นสด จะมีการซ้อมและสร้างความบกพร่องให้น้อยที่สุด ตอนยั่วคุุณผู้ชาย คุณนงลักษณ์จะใส่เส้อคอกระเช้า (ไม่ใส่เสื้อชั้นใน) สวมซิ่นครึ่งแข้ง เธอถลกซิ่นขึ้นจนเห็นขาอ่อนเพื่อเทน้ำล้างเท้า เหลือบตาดูอาการของคุณผู้ชาย แล้วคลานเข่าเข้าไปส่งของให้กับมือ ตอนคลานเข่าจะเห็นหน้าอกกระเพื่อมแกว่งไกว ตอนนั่งพับเพียบแล้วช้อนตาขึ้นสบกับคุณผู้ชาย เห็นเนินอกชัดเจน ฉากนี้เธอทำได้คะแนนเต็มร้อย จนวันรุ่งขึ้นมีการกล่าวขานกันอย่างอึงคะนึงในหน้าหนังสือพิมพ์
 
         คุณนงลักษณ์ใช้ศิลปะของการแสดงอย่างเต็มที่และในความคิดของดิฉันแล้ว นี่คือศาสตร์ชั้นสูงซึ่งทำให้ฉากที่หวือหวาประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องทำให้มากมายแต่อย่างใด
 
         คุณนงลักษณ์ แต่งงานกับ คุณ สุรพล โทณวนิก ศิลปินแห่งชาติเพราะเธอหลงใหลในความงามของบทเพลงที่ คุณ สุรพล แต่ง แต่่คุณสุรพลเองมิได้มีที่ว่างใดๆในหัวใจเหลืออยู่ ด้วยเธอมอบความรักทั้งหมดให้กับ คุณ สวลี ผกาพันธ์ นักร้องที่เปนที่ชื่นชอบที่สุด แม้ว่าเธอจะแต่งงานและมีครอบครัวที่สมบูรณ์มานานแล้ว เมื่อเปนดังนี้ชีวิตสมรสจึงดำเนินไประยะหนึ่ง แล้วก็สิ้นสุดลง
 
         หลังจากการล่มสลายของบริษัทไทยโทรทัศน์แล้วกลายเปน อ.ส.ม.ท. ชื่อ นงลักษณ์ โรจนพรรณ ก็เลือนหายไปจากโลกมายา จนเมื่อปีพ.ศ. 2553 มีกรอบข่าวเล็กๆในหน้าหนังสือพิมพ์ ถึงงานสวดพระอภิธรรมและฌาปนกิจศพของเธอ...
 
         แล้วกุหลาบที่สวยและหอมอีกดอกหนึ่งก็โรยร่วงจากไป



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 12, 11:36
http://www.youtube.com/watch?v=yiOzUacAXY4

เพลงกุหลาบร่วง เป็นผลงานประพันธ์คำร้องและทำนองของ พรานบูรพ์ ประกอบละครเรื่อง "บุปผชาตินคร" ของคณะจันทโรภาส จัดแสดงที่วิกบ้านดอน อำเภอบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ. 2476 ต่อมาเรื่องบุปผชาตินคร เปลี่ยนชื่อเป็น "แม่ศรีเวียง" จัดแสดงที่โรงพัฒนากร เมื่อ พ.ศ. 2478 จึงตัดเพลงกุหลาบร่วงออกมาร้องสลับฉาก ขับร้องโดย ชะอวบ ฟองกระแสสินธุ์

เพลงนี้มีการบันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2478 ขับร้องโดย ประทุม ประทีปะเสน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2525 นงลักษณ์ โรจนพรรณ ซึ่งเคยเป็นดาราละครทีวีของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ช่อง 4 บางขุนพรหม นำมาขับร้องบันทึกเสียงใหม่ เพลงนี้จึงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง

    สายลมหวนทวนไปใจของเราหายวาบ กลีบกุหลาบเจ้าเอ๋ยนะ
ก่อนเคยมีกลิ่นหอมยั่วย้อมอารมณ์ สายลมเชยเคยได้ดม
ชื่นอารมณ์เพียงชั่วคืน   คิดไปใจหายกุหลาบกลายไปเป็นของเขาอื่น
ปลูกเอาไว้หวังใจว่าจะได้ชื่น สู้เร่งวันเร่งคืน ยังมิได้ชื่นสิกลับต้องช้ำ
     สายลมหวนทวนมาพาหัวใจให้จำ เมื่อกุหลาบแตกช่อนะ
กอเป็นกอระกำสุดจะช้ำวิญญา สายลมเชยรำเพยพาเอากลิ่นมาให้เราดม
เดี๋ยวนี้สิหนอยังสู้แตกกอเอาไว้ให้ชื่นชม สุดเสียดายเขาเด็ดดอกเอาไปดม
อกเราต้องระทม  เพียงต้องสายลมยังเรรวน
     สายลมหวนทวนเสียงแม้เพียงเราครวญ    กลีบกุหลาบที่เหลือนะ
เชื่อใจว่าจะหวนทวนสายลมพา    สายลมเชยเคยได้มากลิ่นเอามาให้ชื่นใจ
คิดไปแสนห่วงกุหลาบร่วงช่อแห้งติดใบ    เถอะจะสู้รดน้ำพรวนดินไว้
ช่อที่แห้งติดใบช่อนี้เอาไว้ให้ชื่นบาน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 12, 11:44
เพลง ฟ้ารักดิน  นงลักษณ์ใช้นามแฝงว่า น้ำผึ้ง  ร้องคู่กับม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

http://www.youtube.com/watch?v=dYFUdat2NTU


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 ส.ค. 12, 11:56
อ้างถึง
รูปร่างนางคงเหมือนนางเอกหนังอินเดียสมัยโน้น

          "ทวีปวร"คงวาดภาพเธอให้สมบูรณ์แบบนั้นเพราะเธอเป็นนางเอกจากแดนภารตะ

อ้างถึง
แสดงละคอน เธอเปนคนกล้าจึงได้เลือกรับบทเปน "อีเกียว"
          การเล่นละคอนในเวลานั้นจะเปนการเล่นสด

          คุณนงลักษณ์แสดงเรือมนุษย์เวอร์ชั่นภาพยนตร์ ส่วนละครทีวีนั้น ดูเหมือนจะเป็น
คุณรัชนี จันทรังษี(ล่วงลับไปแล้ว)ที่รับบทเกียว ครับ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 12, 15:14
น้ำค้างค้างกลีบกุหลาบอ่อน
คือเนตรบังอรหยาดหวาน
โอษฐ์อิ่มพริ้มรัตต์ชัชวาล
เพลิงบุณย์อรุณกาลผ่านทรวง

ศกุนตลา
นางฟ้าแมกฟ้าจากสรวง
คลื่นสมุทรสุดฤทัยไหวปวง
คือทรวงนางสะท้อนถอนใจ
หาอยู่นานกว่าจะได้นางเอกคนนี้มา   ถามคุณ SILA  ว่าพอจะตรงกับคำบรรยายข้างบนนี้บ้างไหมคะ
เธอชื่อ Hema Malini  ดาราสาวเจ้าของสมญา นางในฝัน (Dream Girl) ของอินเดีย ในยุคที่คุณทวีปวรแต่งเพลงนี้     
ชื่อเธอสามารถเรียกเป็นไทยๆ ว่า เห-มา มาลินี    คำว่า เห-มา ไทยใช้ว่า เหม  แปลว่าทอง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 12, 19:15
มาฟังเพลงของคุณนงลักษณ์อีกเพลงค่ะ   "เคลิ้ม" จากทำนอง Tennessee Waltz
 
http://www.youtube.com/watch?v=5qYlm2hhIrk&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 19 ส.ค. 12, 20:13
สมัยผมยังเรียนอยู่ชั้นประถม  เทศบาลเมืองที่บ้านมีเสียงตามสาย
ตอนเช้าๆวันเสาร์อาทิตย์ จะเปิดเพลงเสียงตามสาย
ตาคนเปิดจะเปิดแต่เพลง พิทยา ตลอดหลายปี แกคงชอบเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะ  เพลงโถมดแดง จูบ และ ฯลฯ  ที่อยู่ในแผ่นเสียงนั้น
เรานอนฟังตอนที่ตื่นนอนใหม่ พลอยซาบซึ้งติดในใจมาตลอด
http://saisampan.net/index.php?topic=56550.0 (http://saisampan.net/index.php?topic=56550.0)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 12, 20:56
ดิฉันแทบจะจำอะไรเกี่ยวกับพิทยา  บุณยรัตพันธุ์ไม่ได้เลย    จำได้รางๆว่าเธอเคยเป็นนักร้องเก่าของสุนทราภรณ์  จากนั้นไปร้องที่ไหนก็จำไม่ได้แล้ว
ต้องรอคุณ SILA มาตอบเห็นจะดีกว่าค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 12, 21:04
ไปหาเพลงที่คุณ visitna เอ่ยถึงไว้  ได้เพลง โถ มดแดง มาจากยูทูบ     สำนวนมดแดงอย่างในเพลง มาจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี  ตอน ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา


โอ้อนาถวาสนาพี่หาไม่                    จึงมิได้ชิดเชื้อแม่เนื้อหอม.
เหมือนมดแดงแฝงพวงมะม่วงงอม        เที่ยวไต่ตอมเต็มอยู่มิรู้รส

เคยเอ่ยถึงกับสาวน้อยในบ้าน    แต่เธอไม่รู้จักสำนวนนี้ว่าแปลว่าอะไร    เด็กยุคโตมากับศูนย์การค้า อาจไม่มีเวลาสังเกตธรรมชาติว่ามดแดงไต่ตอมอยู่เต็มต้นมะม่วง แต่ไม่ได้กินมะม่วง

http://www.youtube.com/watch?v=DxZYxeyFraU


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 20 ส.ค. 12, 05:39
อีกเพลงของคุณพิทยาที่ได้ความหมาย แม้เสียงจะหนักไปนิด

http://www.youtube.com/watch?v=KQSttzUIEng


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 ส.ค. 12, 10:18
อ้างถึง
เธอชื่อ Hema Malini  ดาราสาวเจ้าของสมญา นางในฝัน (Dream Girl) ของอินเดีย
ในยุคที่คุณทวีปวรแต่งเพลงนี้ ชื่อเธอสามารถเรียกเป็นไทยๆ ว่า เห-มา มาลินี    คำว่า เห-มา ไทย
ใช้ว่า เหม  แปลว่าทอง

         สมัยนั้น(นานนับสิบๆ ปี) เฮม่า โด่งดังในไทยจากหนังอินเดียเรื่อง โชเลย์ นางเอกอีกคน
ที่มีชื่อคุ้นหูชาวไทยคือ มุมตัส ที่บางคนเรียกว่ามุมตึก

          ส่วนรุ่นก่อนนั้น ที่จำได้ดีสองคนคือ มีนา กุมารี และ วิชัย ยันติมาลา(วิชยันติมาลา)
คนหลังนี้เต้นระบำได้งดงามมากเคยดูหนังของเธอเรื่อง อมราปาลี ครับ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 ส.ค. 12, 10:23
           ขอย้อนกลับไปนำเสนอเพลงโปรดจากคุณนงลักษณ์หนึ่งเพลง ครับ
 
            เพลงนี้เคยฟังตอนเป็นเด็ก ฟังแล้วก็ติดหูด้วยทำนองลีลาและคุณนงลักษณ์ร้องไว้
ไพเราะมาก เป็นเพลงที่หาฟังยากมากแต่ในที่สุดยูทูบก็มีคลิปเสียงเพลงนี้ให้ฟัง

สันทราย

        http://www.youtube.com/watch?v=Tb-wsnEMo5A

คุณนงลักษณ์มีความสามารถสูงร้องได้ทั้งเพลงไทยสากลยุคเก่าและไทยเดิม


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 ส.ค. 12, 10:25
             คุณพิทยาเจ้าของเสียงแหบเสน่ห์ ร้องเพลง จูบ ได้อารมณ์รัญจวนยากจะหาใครร้องได้เช่นนี้

     http://www.youtube.com/watch?v=4B_0J1O-Aww


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 ส.ค. 12, 10:27
          อีกเพลงที่คุณพิทยาร้องได้ยอดเยี่ยมยากหาใครเทียบคือ คะนึงหา โดยเฉพาะตอน
โอ้เธอไปไหน ไปไหน ใยไม่กลับคืนมา

             http://www.youtube.com/watch?v=QL_hTDbgOjU
         


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 ส.ค. 12, 10:34
         จำได้ตอนเป็นเด็กได้ดูคุณพิทยาร้องเพลงคู่ทางทีวี เป็นอีกเพลงหนึ่งที่โด่งดัง
ของคุณพิทยาร้องคู่กับคุณชายถนัดศรี นั่นคือ เพลง รัก

           http://www.youtube.com/watch?v=G5rstfqflXo

เพลงนี้มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า แสงจันทร์นวลผ่อง เหมือนกับเพลงคู่ของสุนทราภรณ์ - ดำเนินทราย

อ่านเรื่องราวของคุณพิทยา ได้ที่นี่ ครับ

          http://www.chumchonradio.net/wizContent.asp?wizConID=831&txtmMenu_ID=7


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 12, 13:24
จากลิ้งค์ที่คุณ SILA ทำให้ค่ะ
"พิทยา บุณยรัตพันธ์ " เกิดวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่จังหวัด ธนบุรี เข้าเรียนตั้งแต่ชั้นประถมจนจบมัธยมบริบูรณ์ ที่โรงเรียน สตรีวัดระฆัง เริ่มงานแสดงละครโรงเรียนเมื่ออยู่ชั้น ม. ๒ เพราะเธอมีเรือนร่างและใบหน้าที่ชวนมอง
 
                ต่อมาทุกครั้งที่มีงานโรงเรียนเธอจะถูกคัดเลือกให้ร่วมแสดงด้วยทุกครั้ง ส่วนงานรำไทยนั้นเธอได้รับการฝึกฝนจากครูของกรมศิลปากรที่มีนามว่า พนิดา สุนทรสนาน ส่วนงานที่ทำให้เธอได้รับความภาคภูมิใจมากที่สุดคือได้รับบทนางเอกละครเรื่อง “Mid Summer Night Dream" ที่คุรุสภา ซึ่งตอนนั้นยังตั้งอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ โดย พระองค์เปรม บุรฉัตร เป็นผู้ควบคุมการซ้อม ทำให้เธอถูกคาดว่าจะเป็นดาวเด่นในการแสดงละครทั้งจากครูบาอาจารย์ และเพื่อนฝูง  แต่เธอกลับหันไปเรียนภาษาอังกฤษ โดยให้เหตุผลว่า ” ดีกว่าอยู่ว่างว่าง ”
 
                 ต่อมาครู พนิดา สุนทรสนาน ได้แนะนำให้เธอไปสมัครสอบที่กรมโฆษณาการ(กรมประชาสัมพันธ์) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งมีผู้ที่สอบด้วยกันครั้งนั้นคือ ศรีสุดา รัชตะวรรณ และ สุรางค์ เชยเกษ มีบางข้อมูลแจ้งว่า เพลงที่เธอร้องเป็นเพลงแรกคือ เพลง “ ใจสาว ” คำร้องโดย สุรัฐ พุกกะเวส ทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน ครูเอื้อตั้งใจแต่งให้ แต่ท่านลาออกไปเสียก่อน
 
                คุณพิทยา บุณยรัตพันธ์ ก็จึงไม่ได้บันทึกแผ่นเสียง เพลงใจสาว  ตอนหลังมาร้องออกอากาศในรายการ 30 ปีสุนทราภรณ์ ออกอากาศที่ช่อง ๔ บางขุนพรหม และมีผู้บันทึกเทปไว้ได้  ซึ่งท่านได้ร้องผิดเนื้อไปนิดหนึ่งตรงที่ว่า"ความรักเหลือที่จะหักเมื่อถึงคราว....." ท่านร้องว่า "ความรักถึงคราวจะหักเมื่อถึงคราว..." แต่ไม่ทันอัดแผ่นก็ลาออกไปเสียก่อน ต่อมาคนที่ได้อัดแผ่นคือคุณชวลี ช่วงวิทย์ และอรุณี  กาจนโกศล
 
                การที่เธอได้ลาออกจากกรมโฆษณาการ เพื่อประกอบกิจการสวนตัวนี่นเอง (เพลงแรกที่ขับร้องบันทึกเสียง คือเพลง “ สาวสะอื้น ” คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ) หลังจากนั้นเธอก็ได้มาร่วมขับร้องอยู่กับวงดนตรีประสานมิตรของ พันตำรวจเอก พุฒ บูรณสมภพ(อายุของวงอยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๙-๒๕๐๐) ประมาณ ๒ ปีเศษ 
 
                ในยุคนั้นเชอิ๊ฟไนต์คลับ มีเพียงนักร้องไทย ๒ ท่านที่ได้ร้องเพลงในคลับแห่งนี้คือ เพ็ญแข กัลยจารึก และ พิทยา บุญยรัตพันธุ์ เท่านั้น อาจจะเป็นเพราะเธอได้รับการฝึกฝนภาษาอังกฤษมาอย่างดี และเธอตักตวงประสบการณ์จากไนต์คลับต่างๆจนมาถึงยุคกินรีนาวา ภัตตาคารและไนต์คลับกลางน้ำที่ สวนลุมพินี
 
               ต่อมาเธอได้หันมาทำธุรกิจไนต์คลับด้วยตัวเองที่ สีดาไนต์คลับ ซึ่งได้เปิดบริการเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖
 
                 พิทยา บุณยรัตพันธ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่บ้านพัก ด้วยโรคชราในวัย ๗๗ ปี มีกำหนดสวดพระอภิธรรมที่วัดหัวลำโพง ศาลา ๕ และณาปนกิจวันที่ ๑๙ เมษายนนี้


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 12, 13:31
http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=GxzDZwn-IMo

เคยฟังเพลงนี้จากเสียงของศรีไสล สุชาติวุฒิ  และต่อมาคือวงแกรนด์เอกซ์    เพิ่งรู้ว่าคนร้องคนแรกคือคุณพิทยานี่เอง
เป็นเพลงที่ครูชาลีเขียนเนื้อได้เซกซี่มากเพลงหนึ่ง    โดยเฉพาะวรรคที่ว่า "เลือดสาวของฉันนั้นเบาเหมือนฟองสบู่   ไม่ต้องถูไม่ต้องขยี้ก็พอมีฟอง" เป็นคำเปรียบที่โดดเด่นเฉพาะตัวมาก    ไม่เคยเห็นสำนวนนี้จากที่อื่น   อ่านแล้วตีความให้คิดได้ไม่ยากว่าผู้หญิงคนนี้ทอดสะพานเชิญชวนอย่างมีศิลปะขนาดไหน

ถ้าฉันจะรัก
คำร้อง : ชาลี อินทรวิจิตร - ทำนอง : สมาน กาญจนผลิน

ถ้าฉันจะรัก รักใครฝังใจรักมั่น
ขอให้ฉันโชคดีที่ได้รักเธอ
เพราะเธออยู่ในสายตาของฉันเสมอ
หากเธอรักฉัน ฉันจะรักเธอเสนอสนอง

เลือดสาวของฉันนั้นเบาเหมือนฟองสบู่
ไม่ต้องถูไม่ต้องขยี้ก็พอมีฟอง
คนรักกันชอบกัน ดวงตามันฟ้อง
ความรักเรียกร้องปรารถนามารักกัน

แถมพิเศษด้วยคลิปเสียงของคุณศรีไสล สุชาติวุฒิ ในเพลงเดียวกันค่ะ   ไพเราะกันไปคนละอารมณ์

http://www.youtube.com/watch?v=-ReJU7FIu2U



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 12, 16:35
ดาวเสียงดวงต่อไป แม้ว่าไม่ใช่นักร้องอย่างคนอื่นๆในกระทู้นี้ แต่ก็เป็นที่รู้จักด้วย " เสียง" ของท่านจริงๆ   
ชาวเรือนไทยคงจำได้จากภาพยนตร์จีนชุดเปาบุ้นจิ้น ทางช่อง 3   เมื่อพ.ศ. 2538    คนดูติดกันงอมแงม   
พลังเสียงอันทรงอำนาจของท่านเปายามตะโกน "หวังเฉา หม่าฮั่น จางหลง เจ้าหู่"  กับ  " เครื่องประหารหัวสุนัข!"   เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความประทับใจนอกเหนือจากคุณธรรมของท่านเปา

ผู้อยู่เบื้องหลังเสียงของท่านเปา ก็คือ  คุณกำธร สุวรรณปิยะศิริ   ท่านดับแสงไปอย่างน่าเสียดายในวัย 75 ปี   เมื่อพ.ศ. 2553 นี้เอง

http://www.youtube.com/watch?v=4pV-SqfG-Ko&feature=relmfu

รูปคุณกำธรสมัยเป็นพระเอกละครโทรทัศน์ช่อง 3  วังบางขุนพรหม   และต่อมา เมื่อเป็นนักพากย์


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 12, 17:16
คุณกำธรเข้าสู่วงการโทรทัศน์ประมาณพ.ศ. 2504  เมื่อยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์     ละครเรื่องแรกคือ "มาร์โคโปโล" ของกาญจนาคพันธุ์(ขุนวิจิตรมาตรา)   ในเรื่องนี้คุณกำธรร้องเพลงแรก  รำพึงรัก  ผลงานของครูเอื้อ สุนทรสนาน กับขุนวิจิตรมาตรา

http://www.youtube.com/watch?v=aJu8C_i1Uj4

รำพึงรัก
คำร้อง ขุนวิจิตรมาตรา       ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน     
   
หากนภาฟ้าอร่ามผุดผ่องงาม แขแอร่ม
นอนกลางทรายดินแซม.. ฮัม... นำสุขดล
เหมือนโฉมตรูอยู่เคียงตน
ถึงยากจนใจก็แจ่มใสเปรมปรีดิ์

หากนภาฟ้ากระจ่าง กลับเลือนรางแสงริบหรี่
เพียงดังดวงชีวี.. ฮัม... หรี่ขาดรอน
ขวัญตาเอย  ก่อนเคยนอน
ลับลาจร เหลือจะหักรักรำพึง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 12, 17:21
คุณกำธรมาโด่งดังทะลุฟ้าในบทเสมา  พระเอกเรื่อง ขุนศึก ซึ่งเป็นละครโทรทัศน์เรื่องยาวของช่อง 4 บางขุนพรหม  คู่กับนางเอกละครโทรทัศน์ที่ดังที่สุดในยุคนั้น คุณอารีย์ นักดนตรี   
เพลงเอกในเรื่อง คือ ฟ้ารักดิน

http://www.youtube.com/watch?v=tBSGMAuIYqs


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ส.ค. 12, 14:36
           ทันได้ดูและฟังคุณกำธร ทางไทยทีวีช่องสี่ บางขุนพรหม

          ผลงานละครที่โดดเด่นจะเป็นละครของคณะนาฏศิลป์สัมพันธ์ที่คุณกำธรผูกขาดเป็นพระเอกอยู่หลายปี
เปลี่ยนนางเอกหลายคน
          สมัยนั้นละครออกอากาศเป็นรายการสุดท้ายเดือนละครั้ง กว่าละครจะจบก็ใช้เป็นเดือน ๆ เรื่องยาวๆ
อย่างขุนศึกจึงกินเวลาแรมปี
          คุณกำธรแสดงละครย้อนยุคจากบทประพันธ์ของไม้ เมืองเดิม, หลวงวิจิตรวาทการ, รพีพร นอกจาก
เรื่องขุนศึกแล้ว อีกเรื่องสำคัญก็คือ แผลเก่า คุณกำธรรับบทขวัญคู่กับเรียมที่รับบทโดยคุณนันทวัน เมฆใหญ่
ซึ่งหลังจากแสดงละครเรื่องนี้จบก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ แต่ยังคงติดต่อกับคุณกำธรจนกลับมา
เมืองไทยและได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลสุวรรณปิยะศิริ

            หนึ่งในเพลงไพเราะจากแผลเก่า ผลงานของครูพรานบูรพ์ ครับ

สั่งเรียม

         http://www.youtube.com/watch?v=70ZrXnrzUyA&feature=related     

           คุณกำธรพากย์หนังทีวีตั้งแต่สมัยไทยทีวีก่อนที่จะมาโด่งดังสุดๆ กับเปาบุ้นจิ้นทางช่องสาม

ภาพคุณกำธรและคุณอารีย์ นักดนตรี


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 12, 12:13
ใช่ค่ะ    ขุนศึกดูเหมือนจะยาวข้าม 2 ปีกว่าจะจบ   เป็นละครคืนวันเสาร์  เล่นกันรอบดึก เป็นรายการสุดท้าย   คนดูก็ยอมอดนอนดูกันทั้งบ้านทั้งเมือง
คุณนันทวันเป็นนางเอกอีกคนที่สวยหวาน แต่งชุดไทยได้ขึ้นมาก   ชีวิตคู่ของคุณกำธรและคุณนันทวันเป็นแบบอย่างที่ควรชื่นชม  ในความซื่อตรงและมั่นคงที่มีต่อกันมาจนตลอดชีวิต

http://www.youtube.com/watch?v=sncmaRl1XQo&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 12, 12:21
คีตาลัย

ก่อนตาวันเยี่ยมฟ้าเบิกตาโลก
พลันลมโบกน้ำฟ้าย้อยละห้อยหา
"เปาบุ้นจิ้น" สิ้นเสียงสั่งระฆังลา
บอก "ขุนศึก" - "ไอ้เสมา" ลาไปพลัน
เลยโลมเรียมเลียบละเมาะแมกหมู่ไม้
พร้อง "น้ำตาแสงไต้" จับใจมหันต์
หลากร้องเพลงพร้องคล้องคู่ขวัญ "นันทวัน"
คือสวรรค์สรรเป็น "ดาวประดับใจ"
โอ้ห้วงฟ้าเคยพร่างพราวดาวประดับ
พร้อมกับมาลาลับดับแสงใส
แต่ลำนำคำกวีคีตาลัย
จักร้อยร่ำด่ำหทัยในนิรันดร์


ด้วยรักและอาลัยยิ่งแด่ กำธร สุวรรณปิยะศิริ
ประพันธ์โดย ราตรี ประดับดาว
จากนสพ.แนวหน้า ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๗ มีนาคม ๒๕๓๓

http://www.youtube.com/watch?v=v-_SsVyro_g&feature=r
elated


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 12, 13:11
พระเอกที่มีรูปเรียงกันเป็นตับข้างล่างนี้ ล้วนแต่เคยรับบทเดียวกันมาทั้งสิ้น คือบท "ชายกลาง" แห่งบ้านทรายทอง  จากภาพยนตร์บ้าง  จากละครโทรทัศน์บ้าง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 12, 13:30
แต่คงมีน้อยคนรู้จัก ชายกลาง คนแรก  คือเจ้าของเสียงในคลิปเพลงชุดนี้
http://www.youtube.com/watch?v=LdsmCbiyLvc&playnext=1&list=PL96B1217643E8754E&feature=results_main

คุณฉลอง สิมะเสถียร เป็นพระเอกละครเวทีมาก่อนจะเข้าสู่วงการโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม    ด้วยรูปร่างหน้าตาสง่างามและน้ำเสียงน่าฟัง ร้องเพลงเสียงนุ่มนวล จึงไปเข้าตาคณะละคร "ศิวารมณ์" และต่อมา คือ"อัศวินการละคร" ที่มีเจ้าของและผู้กำกับคนสำคัญ พระองค์เจ้าวรวงศ์เธฮพระองค์เจ้าภานุพันธ์ ยุคล
คุณฉลองเป็นที่เลื่องลือจากบทชายกลางในละครเรื่อง ” บ้านทรายทอง ” ของ ก. สุรางคนางค์ จนอัศวินการละครยุบไปเป็นอัศวินภาพยนตร์ ก็ได้รับการชักชวนจาก คุณจำนง รังสิกุล โดยผ่านทางคุณสะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ให้มาร่วมงานในฝ่ายจัดรายการของบริษัทไทยโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 12, 13:45
คุณฉลองมักได้รับบทพระเอกหนุ่มใหญ่มาดโก้  สวมสูทอยู่เป็นประจำ บางทีก็สูบไปป์    ไม่ได้เล่นบทพระเอกนักเลง บทบู๊หรือบทตลก
หนึ่งในบทดังของคุณฉลองคือบทพระเอกเรื่อง ค่าของคน  ของโรสลาเรน(ทมยันตี) เรื่องเดียวกับที่ป้อง ณวัฒน์ เป็นพระเอก  มีคุณอรัญญา นามวงศ์เป็นนางเอก
คุณฉลองร้องเพลงชื่อ ค่าของคน เป็นเพลงประกอบละครเรื่องนี้ด้วยค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=N-D4yj_6Xi0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 09:41
เมื่อรำลึกถึงคุณฉลอง  ก็ต้องรำลึกถึงคู่ชีวิตของท่านด้วย  เธอคือคุณกัณฑรีย์ นาคประภา (ต่อมาใช้ชื่อว่ากัณฑรีย์ น. สิมะเสถียร)  ดาราเจ้าบทบาทอีกคนหนึ่งของวงการโทรทัศน์ช่อง 4 วังบางขุนพรหม        คุณกัณฑรีย์ทั้งๆอยู่ในวัยเดียวกับสามี แต่มักจะได้รับบทบาทสูงอายุกว่าตัวเองมาก     เป็นบทพี่  บทแม่   บทป้า    บทที่เธอตีบทแตกมักเป็นตัวร้ายแบบผู้ดีแปดสาแหรก   ไม่เอะอะกรี๊ดกร๊าด  แต่ดูเชิดและเย่อหยิ่ง  คนดูทั้งๆเกลียดก็ติดกันทั้งเมือง   
เธอเคยรับบทหญิงเล็กในบ้านทรายทองเมื่อครั้งเป็นละครเวทีในพ.ศ. 2494   

จำคุณกัณฑรีย์ได้เป็นครั้งสุดท้ายจากละครเรื่อง วนิดา ที่หมิวเล่นเป็นนางเอกคู่กับศรัณยู วงศ์กระจ่าง   เธอเล่นเป็นคุณนายน้อมแม่ผัวตัวร้าย   จากนั้นคุณกัณฑรีย์เล่นเรื่องอะไรอีกหรือไม่   จำไม่ได้ค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 09:47
คุณสะอาด  เปี่ยมพงษ์สานต์ ดาราอาวุโสอีกท่านหนึ่งของช่อง 4  เขียนรำลึกถึงคุณฉลอง สิมะเสถียรไว้ในคอลัมน์: ​"โปกฮา...ดารารุ่น​เดอะ: พระ​เอก​ในดวง​ใจฉลอง สิมะ​เสถียร"  ในหนังสือพิมพ์​ไทย​โพสต์ -- อาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม 2553


วันก่อนนี้ ผม​ไปงานพระราชทาน​เพลิงศพ พลตรีสมคิด พลพงษ์ ​เพื่อนรุ่น​เดียวกัน สมัยที่ผม​เรียนอยู่ที่ รร.มัธยมชาย อำ​เภอหาด​ใหญ่ ปัจจุบัน​เป็นมหาวิทยาลัยหาด​ใหญ่​ไป​แล้ว ตอนจะ​เดิน​ไปขึ้นรถกลับบ้าน ผมต้องผ่าน​เมรุอีก​เมรุหนึ่ง ​ซึ่งมีกำหนด​การที่จะ​ทำ​การฌาปนกิจ​ใน​เวลาถัดมา ขณะที่กำลัง​เดินจะผ่านศาลาที่บรรดาญาติๆ ​เขากำลัง​เตรียมงานกันอยู่ ​ก็มี​โอกาส​ได้พบปะกับ​ผู้จัดละครคนดัง​ในยุคหนึ่งของช่อง ๔ บางขุนพรหม ​และ ช่อง ๓-๙ อ.ส.ม.ท. คือ หนู กัญชลิกา สิมะ​เสถียร ลูกสาวคน​เดียวของพี่ฉลอง ​และพี่กัณฑรีย์ (นาคประภา) สิมะ​เสถียร ถาม​ไถ่ว่า ขณะนี้​ทำอะ​ไรอยู่หลังจากที่​ได้​เลิกรา​ใน​การ​เป็น​ผู้จัดละคร​ไป​แล้ว..​ได้รับคำตอบอย่างที่​ไม่อยากจะ​ได้ยิน​เลยจากปาก​เธอว่า
"​ไม่​ได้​ทำอะ​ไรค่ะอา กำลังคิดจะขายบ้าน ​ไปหาซื้อคอน​โดอยู่"

ผม​จึงนึก​เสียดาย​ความ​เจนจัด​ใน​การจัดละครของ​เธอ​ในอดีต ที่​เคย​ได้รับ​การถ่ายทอดสืบมาจากคุณพ่อ​และคุณ​แม่ของ​เธอ​เป็นอย่างยิ่ง

จริงๆ ​แล้วผมรู้จัก​เด็กคนนี้มาตั้ง​แต่ยัง​ไม่ผูกคอซองจน​เรียนจบมหาวิทยาลัย ​ความที่คุณพ่อ​และคุณ​แม่​เธอมีลูกสาว​เพียงคน​เดียว ​จึง​เอาชื่อของลูกสาวมาตั้ง​เป็นชื่อคณะละครกัญชลิกา ป้อนงานละคร​ให้กับช่อง ๔ ​เป็นสถานี​แรก จวบจน​เธอ​เติบ​โตจบ​การศึกษา​แล้ว ​จึง​ได้​ทำหน้าที่​เป็น​ผู้จัดอย่าง​เต็มตัว

​เมื่อคุณพ่อของ​เธอ​ถึง​แก่กรรมลง ​และต่อมาคุณ​แม่​ก็มาพลอย​ถึง​แก่กรรมลง​ไปอีกคน ​เธอ​ก็​เริ่มห่างหาย​ไปจากวง​การนักจัดละครทีวี​ไป​ในที่สุด อย่างน่า​เสียดาย

ผมสนิทกับครอบครัวนี้สมัยที่ผมอาศัยอยู่กับบ้านพ่อตา​แม่ยาย ที่ซอยมหาพฤฒาราม สี่พระยาสมัยนั้น พี่ฉลอง​และพี่กัณฑรีย์อยู่​ในซอย​เดียวกัน ​แต่ลึก​เข้า​ไปอีกหน่อย​ถึงสุดซอย

ผม​ไป​เชิญ​และขอ​ให้มา​เล่นละคร​เรื่อง ฉันรักนุสรา จากบทประพันธ์​โทรทัศน์ของ "สุขหฤทัย" (พี่​เทพ สุทธิพงศ์) ​โดยมีคุณอารีย์ นักดนตรี ​แสดง​เป็นนุสรา (นาง​เอก)  พี่ฉลอง ​แสดง​เป็น ทายาท (พระ​เอก) ละครชุดนี้ดัง​เอามากๆ ทางช่อง ๔ สมัยนั้น ​และนั่นคือสา​เหตุหนึ่งที่ผมถือ​โอกาสชักชวน​ให้พี่ฉลองมา​เข้า​ทำงาน​เป็นพนักงานประจำฝ่ายจัดราย​การฝ่าย​โทรทัศน์ ​เช่น​เดียวกันกับผมต่อมาจนกระทั่งพี่​เขา​เสียชีวิตลงก่อน​เกษียณ​เพียง​เล็กน้อย

ต้องขอ​เล่าย้อน​ไปสัก​เล็กน้อย​ถึงที่มา คือก่อนที่จะ​ได้​ไปดึง​เอาพี่​เขามาร่วม​ทำงานด้วยกันที่ทีวีช่อง ๔ สมัยก่อนที่ผมจะ​ได้​ไป​เรียนที่ญี่ปุ่นนั้น ผม​เป็น​แฟนละครตัวยงคนหนึ่งที​เดียว ​และอาจ​เป็น​เพราะนิสัยชอบละคร​เป็นชีวิตจิต​ใจนี้กระมัง ​จึง​ทำ​ให้ผมฝังตัว​เอง​ให้ต้องมา​เวียนว่ายอยู่​ใน​แวดวงอาชีพนี้จน​ถึงปัจจุบัน

พี่ฉลองของผม​ในยุคละคร​เวที​เห็นจะต้องขอยก​ให้​เป็นพระ​เอกที่รูปหล่อที่สุด​ไม่ว่าจะ​เป็น​ใคร​ก็ตาม ตั้ง​แต่ พี่พร้อม พันคำ, พี่สุรสิทธิ์ สัตยาวงศ์ พี่ ส. ส.อาสนจินดา, พี่ควร สมควร กระจ่างศาสตร์, พี่วสันต์ สุนทรปักษิณ, พี่สมชาย ตันกำ​เนิด ฯลฯ พี่ฉลองของผมกินขาด สวย​ทั้งรูปร่าง หน้าตา สุ้ม​เสียง ​ในยุคของอัศวิน​การละคร พี่​เขา​แสดง​เรื่องนันทา​เทวี ​เป็นพระ​เอกตอนหนุ่ม รับช่วงจากพระ​เอกตอน​เด็ก (รุ่น) ที่​แสดง​โดยปรีชา บุญย​เกียรติ ​ซึ่งละคร​เรื่องนี้​เริ่ม​ความ​แปลก​ใหม่ด้วยวิธี​การอัน​แสนชาญฉลาดอย่างสุดๆ ด้วย​การนำ​เพลงนันทา​เทวี อัน​เป็น​เพลง​เอก​ใน​เรื่อง ที่​เริ่มร้องช่วงต้นที่​แสดง​โดยปรีชา บุญย​เกียรติ (พระ​เอก​ในวัย​เด็ก) ​และ​ใช้วิธีซ้อน​เวลากันสดๆ บน​เวที ​เพียง​แค่.. ​ให้ตัวละคร​เดินร้องผ่านพุ่ม​ไม้บน​เวที.. ​เป็น​การ​เปลี่ยนตัวพระ​เอก​เป็นฉลอง สิมะ​เสถียร ตอนหนุ่ม (​ในฉาก​เดียวกัน) ​ซึ่งสมัยนั้นนับ​ได้ว่า​เป็น​ความก้าวหน้าที่พัฒนา​ไปอีกรูป​แบบหนึ่งของวง​การละคร​เวที​เมือง​ไทย ที่จะ​ทำ​ไม่​ได้อย่างสมบูรณ์​เลย หาก​ผู้​แสดง​ไม่มีต้นทุนที่คล้ายๆกัน​เกือบทุกๆ ด้านอย่างคู่นี้

ที่​ทำ​ให้คนดูฮือฮากันมาก​ในยุคนั้น ​เพราะปรีชา บุญย​เกียรติ​เอง ​ก็​เป็น​เด็กวัยรุ่นที่มีรูปร่างดี​เท่าๆ กับพี่ฉลอง ​แถม​เสียงยังดีด้วยกัน​ทั้งคู่ คือ ​เป็นนักร้อง ที่สามารถ​เปล่ง​เสียงออกมาจากช่องท้อง ผ่านลำคอ​ได้อย่างนุ่มนวล​และ​เพราะพริ้ง ยุคหลังๆ ต่อมา ผมยัง​ไม่​เห็นจะมี​ใครร้อง​ได้​เหมือน จะมี​ก็กำธร สุวรรณปิยะศิริอีกคน ที่​ทำท่าว่าจะร้อง​ในรูป​แบบ​เดียวกัน ​แต่บัง​เอิญ​เพื่อนผมคนนี้​ไม่​ได้ติด​ใจที่จะคิด​เอาดีทางนี้อย่างจริงจัง ​ผู้หญิง​ก็คง​เหลือ​ให้​เห็น ​ให้​ได้ฟัง​เสียง​เหลืออยู่​เพียงคน​เดียว​เท่านั้น คือ คุณสวลี ผกาพันธุ์

พี่ฉลองปกติ​เป็นคนอารมณ์ดี ​เวลานั่งพิมพ์งาน (คำประกาศ) ที่​ผู้ประกาศของสถานีจะต้องนำ​ไป​ใช้​ในประจำคืน ​เวลา​เปิด​และปิดสถานี ​ซึ่ง​เป็นงานของหัวหน้า​แผนก​ผู้ประกาศที่พี่ฉลองดำรงตำ​แหน่งอยู่ พวก​เราจะ​ได้ยิน​เสียงฮัม​เพลง​เพราะๆ ที่พวก​เราชอบ​ได้ฟังกัน​เสมอๆ

ตั้ง​แต่ร่วมงาน​ในฝ่ายจัดราย​การด้วยกันมา ​เชื่อผม​ไหมครับว่า ​ไม่ว่าจะ​เป็นวันฝนตก ฟ้าร้อง ​หรือตัว​เองจะ​เป็น​ไข้ ถ้า​ไม่​ถึงกับจะลุก​ไม่ขึ้น​แล้ว พี่ฉลอง​ไม่​เคยขาด พี่​เขา​ไม่​เคยลางาน ​หรือฝากงาน​ให้​เพื่อนต้อง​ทำ​แทน​เลยสักวัน​เดียว ที่พูดอย่างนี้ผมกล้ายืนยัน​ได้ ​เพราะ​เรา​ทำงานอยู่​ในห้อง​เดียวกันมาตลอด

นอกจาก​ความขยัน​แล้ว พี่​เขายัง​เป็นคนมัธยัสถ์ บทละครที่​ใช้​ในคณะกัญชลิกาพี่​เขา​ก็​ทำบท​เอง พิมพ์บท​เอง ​ไม่ต้องจ้าง​ใคร จน​โดนพวก​เราล้อ​เอาว่า นี่ถ้าละคร​เล่น​ได้สองคนคง​ไม่ต้อง​ไปจ้าง​ใคร.. สงสัยจัง..

​แต่​เรื่องจ้างนัก​แสดงดังๆ ​ให้มา​แสดง​แล้วละ​ก็.. ​ทั้งพี่ฉลอง ​และพี่กัณฑรีย์​ไม่​เคยน้อยหน้า​ใคร มีดาราดังหลายคนที่​เคยมา​แสดงประจำ ​และ​เกิดจากคณะกัญชลิกา​ก็มีหลายคน ​และ​แน่ละ ​ใน​เมื่อหัวหน้าคณะ​เอง​ก็​เป็นดาราดังระดับ​แนวหน้า ที่มี​แฟนละครทีวีอยู่ทั่วทุกมุม​เมือง ดาราคู่ขวัญที่นำ​แสดง​ก็​ไม่พ้น​เจ้าของคณะนั่น​แหละครับ ที่ต้องมีบทร่วม​แสดงอยู่ด้วย​เสมอๆ

​ความ​เกรียง​ไกรของมาดพระ​เอก​เสียงทองตลอดกาล ​และ​เพราะ​ความสุขุมละ​เอียดอ่อน​ใน​การสรรหา​เรื่องที่จะนำมา​แสดง​ให้​เข้ากับคา​แรค​เตอร์ของตัว​เอง พี่ฉลอง​จึง​เป็นพระ​เอก​ได้จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ด้วย​ความอาลัยอาวรณ์ของ​เพื่อนฝูง ​และบรรดา​แฟนๆ ละครจอ​แก้ว​ทั้งประ​เทศ

ตลอดชีวิต​การ​ทำงานของลูก​ผู้ชายที่ชื่อฉลอง สิมะ​เสถียร คนนี้ ​จึงมี​แต่​ความงดงาม ที่​เพื่อนๆ ​ในทีวีช่อง ๔ ​ได้ยึดถือ​เอา​เป็น​แบบอย่าง ​แม้ตัวผม​เอง​ก็​ใช้​ความพยายามอยู่อย่างมากที่จะ​เป็นคนดี อย่างคนที่​เคย​เป็นพระ​เอก​ใจดวง​ใจของผม ​แม้จะ​ได้​ไม่​ถึงครึ่งหนึ่งของพี่​เขา ผม​ก็ยัง​ไม่​เคย ที่จะ​เลิกพยายามครับ...​แม้ปัจจุบัน !


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 09:48
http://www.youtube.com/watch?v=2_sazP5evcg


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 23 ส.ค. 12, 10:08
มาติดตาม อ่านครับ
ส่วนความรู้ของผมคงไม่มีเพราะเป็นคนไม่ดูละคร


แต่ชอบอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต อย่างที่เรียกว่า biography
จะเป็น auto หรือ  other ก็ได้
อย่างหนัง--ชอบดู  drama ดูแล้วซาบซึ้ง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 ส.ค. 12, 10:22
           ทันดูคุณฉลองรับบทชายกลางที่ช่องสี่ บางขุนพรหม คุณอรัญญาเป็นพจมาน
ส่วนนางเอกตัวจริงของคุณฉลอง คือคุณกัณฑรีย์ นาคประภารับบทหญิงเล็ก

             อีกบทบาทหนึ่งของคุณฉลองที่ประทับใจคือเรื่องนันทาเทวี เสียดายจำรายละเอียด
เนื้อเรื่องไม่ได้ ประมาณนันทาเทวี(รับบทโดยคุณกรรณิกา ธรรมเกษรและคุณอารีย์ นักดนตรี)
ต้องจำใจจากพระเอกไปเป็นมเหสีของราชาต่างเมือง จึงปลดปิ่นทองมอบให้ไว้แทนตัว ตอนนี้
มีเพลงปิ่นทองที่ไพเราะมาก

เวอร์ชั่นเสียงคุณอรวีประกอบภาพคอนเสิร์ท ตำนานเพลงรักบางขุนพรหม

        http://www.youtube.com/watch?v=KEg_ldcE4Ok&feature=related

               ฉากประทับใจคือตอนท้ายที่คุณฉลองในสภาพตกต่ำทรุดโทรมมาแอบมองดูหญิงผู้เป็นที่รัก -
นันทาเทวี

            คุณฉลองเสียงนุ่มร้องเพลงเก่าๆ ไพเราะไว้หลายเพลง และเพลงที่น่าจะเป็นเพลงสุดท้าย
ที่ร้องไว้คือเพลงแต่งใหม่ใช้ประกอบละครเรื่อง ละอองดาว    

ส่วนเพลงนี้ชอบเป็นพิเศษ ครับ - กระแจะจันทร์ ผลงานของครูพรานบูรพ์ เสียงร้องคุณฉลองและคุณอารีย์

         http://www.youtube.com/watch?v=mu6P-3qUeMU

              คิดถึงพี่ไว้วันละนิดละนิดละหน่อย ทวีรักไว้วันละน้อยละน้อยค่อยซึ้ง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 10:25
ถ้าชอบ drama เชิญคุณ visitna เข้าไปอ่านกระทู้นี้ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4255.0

ถ้าคุณ SILA  พอหาเวลามาเล่ากันได้  คงมี drama ดีๆ มาเล่าให้ฟังกันอีกค่ะ

ส่วน biography หรือชีวประวัติ อ่านได้ในกระทู้ต่างๆที่คุณ wandee นำมาให้อ่านเป็นประจำ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 10:49
เจอเพลง ปิ่นรัก(ปิ่นทอง)จากละคร นันทาเทวี   คุณฉลองขับร้อง  จึงนำมาลงในกระทู้นี้ให้ฟังกันค่ะ
เรื่องนี้คุณอารีย์เล่นเป็นนันทาเทวี  แต่งชุดไทยร้องเพลงนี้ในเวอร์ชั่นฝ่ายหญิง  เพราะมาก

http://www.youtube.com/watch?v=71WFI9lok3Q


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 ส.ค. 12, 12:11
^  คลับคล้ายคลับคลาว่า ในละครตอนท้ายที่พระเอก(คุณฉลอง)มาแอบดูนันทาเทวี
คุณฉลองน้ำตาร่วงพรูร้องเพลงนี้ ปิ่นรัก ซึ่งมีเนื้อต่างแต่ทำนองเดียวกับเพลงปิ่นทอง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 12, 13:13
คุณ SILA จำแม่นกว่าดิฉัน   ดิฉันจำได้แต่ตอนต้นที่เจ้าหญิงนางเอกจะต้องไปอภิเษกกับพระราชาเมืองอื่น ก็เลยปลดปิ่นทองไว้เป็นที่ระลึกให้พระเอก    แล้วก็จำไม่ได้อีก

คุณฉลองร้องเพลงอีกเพลงหนึ่งคู่กับ "พจมาน"  คุณสวลี ผกาพันธุ์   เป็นเพลงหาฟังยาก เจอในยูทูบ ก็เลยนำมาลงให้ฟังกันค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=OPRDpTqIagQ

เพลง "อุทยานกุหลาบ"   

คำร้อง : สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์
ทำนอง : สง่า อารัมภีร

(ช) โอ้ละเน้อ หอมกลิ่นกุหลาบอบอวล รื่นรัญจวน เย้ายวนชวนให้ คอยฝันใฝ่ใคร่เด็ดดม
เฝ้ามองหมายแนบแอบอิง สุดโน้มกิ่งเชยชม  แสนหวั่น หนามคม
ได้เพียงวอนสายลม ช่วยพา หอบกลิ่นหอมมา ชะโลมอุราชั่ววัน
(ญ) โอ้ละเน้อ ไฉนเฝ้าแต่เพียงรำพัน หากใฝ่ฝันไม้พันธุ์งามวิไล ควรหรือไม่เด็ดมาถือ ขลาดกลัวแม้เพียงขวากหนาม
พันธุ์ไม้งามหลุดมือ ไม่เอื้อมแย่งยื้อ พอไม้งามหลุดมือ ขื่นขม ได้แต่ระทม ตรอมตรมอุรา
(ญ) โอ้ละเน้อ ไฉนเฝ้าแต่เพียงรำพัน หากใฝ่ฝันไม้พันธุ์งามวิไล ควรหรือไม่เด็ดมาถือ
(ช) ขลาดกลัวแม้เพียงขวากหนาม พันธุ์ไม้งามหลุดมือ
(ญ) ไม่เอื้อมแย่งยื้อ พอไม้งามหลุดมือขื่นขม ได้แต่ระทม ตรอมตรมอุรา


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ส.ค. 12, 10:29
           ยังอยู่ช่องสี่ บางขุนพรหมรำลึกถึงดาวเสียงคนนี้ที่ไม่ได้เป็นนักร้อง แต่เป็นนักพากย์ ครับ

            คุณสมจินต์ ธรรมทัต เจ้าของเสียงพากย์หนังทีวีคู่กับคุณสะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ และต่อมาโด่งดัง
กับการพากย์หนังสารคดี โดยเฉพาะเรื่องสัตว์โลกผู้น่ารัก ที่วิกี้บอกว่า

            ในปีพุทธศักราช 2518 วันชัย อรรถเวทย์วรวุฒิ เพื่อนสนิทของ สมจินต์ ธรรมทัต ได้ซื้อภาพยนตร์
สารคดีชีวิตสัตว์จากต่างประเทศเรื่อง Animals Are Beautiful People เข้ามาซึ่งไม่เป็นที่นิยมของตลาด
ในประเทศไทยเพราะถูกบังคับให้ซื้อพ่วงมากับภาพยนตร์อื่นๆ
            วันชัย อรรถเวทย์วรวุฒิ ได้ขอให้ สมจินต์ ธรรมทัต เป็นผู้บรรยายสารคดีเรื่องนี้ เมื่อทำการอัดเสียงเสร็จ
ทั้งสองก็สรุปร่วมกันว่าเมื่อนำออกฉายจะต้องเจ๊งแน่นอน สมจินต์ ธรรมทัต จึงได้ขอลองบรรยายสารคดีเรื่องนี้ใหม่
อีกครั้งโดยไม่อ่านตามบทแปลทั้งหมด แต่ได้ใส่ลีลาการพากษ์แบบภาพยนตร์การ์ตูนเข้าไป ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้
ชื่อในภาษาไทยว่า "สัตว์โลกผู้น่ารัก"
           เืมื่อนำออกฉายปรากฏว่าพลิกความคาดหมาย เนื่องจากได้รับความนิยมสูงสุดต้องยืดเวลาฉายและเพิ่ม
โรง ส่งผลให้ สมจินต์ ธรรมทัต มีชื่อเสียงทางการบรรยายสารคดีที่เกี่ยวกับสัตว์ และได้ทำการบรรยายภาพยนตร์
ประเภทนี้อีกเป็นจำนวนมาก

คลิปโฆษณาห้าห่วง นำแสดงโดยนิเชาแห่งเทวดาท่าจะบ๊องส์ และให้เสียงโดยคุณสมจินต์

         http://www.youtube.com/watch?v=jMZm11VWVTk&feature=relat


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ส.ค. 12, 10:32
         สำหรับผลงานด้านการแสดงนั้น คุณสมจินต์ผูกขาดดาวร้ายละครช่องสี่ รับบททั้ง
หมู่ขันในขุนศึก และไขลูในผู้ชนะสิบทิศ แต่ตัวจริงนอกจอเป็นดาวร้ายผู้น่ารัก
           คุณสมจินต์ยังเป็นที่จดจำของเด็กประถมจากรูปประกอบในหนังสือแบบเรียน ก ไก่  
หน้าพยัญชนะ ฅ คนขึงขัง

ภาพจาก thaigramophone.com


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ส.ค. 12, 10:36
วิกี้ไทยให้รายละเอียดประวัติคุณสมจินต์ยาวจุใจ ครับ

               เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ที่จังหวัดธนบุรี จบการศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป
ธนบุรีและพานิชยการพระนคร ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงโดยเริ่มจากสมัครเข้าทำงานในบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด
เมื่อยุคก่อตั้ง และได้เป็นลูกน้องของ จำนง รังสิกุล มีหน้าที่อัดเสียงของผู้สมัครเข้าเป็นผู้ประกาศของบริษัทหรือ
ช่องสี่บางขุนพรหม ต่อมาได้เข้าเป็นพนักงานของบริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด โดยทำงานในฝ่ายจัดรายการ
แผนกแผนผังการออกากาศ โดยเป็นลูกน้องของ อาจินต์ ปัญจพรรค์

    http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C_%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%95


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 12, 10:45
จำได้ว่าภาพยนตร์ชุดของญี่ปุ่นที่นำมาฉายทางช่อง 4 ในยุคหนึ่ง  คนดูติดกันเกรียวกราวไม่ใช่เพราะเรื่องสนุก  แต่เป็นเพราะพากย์สนุก  จากคู่พากย์ที่ฝีปากฝีมือรับส่งกันไร้เทียมทาน  คือคุณสะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ และคุณสมจินต์ ธรรมทัต


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 12, 11:12
สิ่งที่ตรงกันข้ามในอาชีพของคุณสมจินต์คือ  ยามแสดงที่ต้องเห็นหน้าค่าตา  คุณสมจินต์รับบทผู้ร้ายยืนพื้นไม่ว่าเรื่องไหนเรื่องนั้น  แต่เวลาพากย์  คุณสมจินต์พากย์เสียงพระเอกได้ไม่ขัดเขิน ด้วยน้ำเสียงทุ้มอบอุ่นเป็นมิตร   

ด้วยหน้าตาที่ขึงขัง ปั้นให้เหี้ยมเกรียมได้ไม่ยาก  คุณสมจินต์จึงได้รับบทพะโป้ในหนัง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ปี พ.ศ. 2523  ชาลี อินทรวิจิตรเป็นผู้กำกับ   วิฑูรย์ กรุณา รับบท ส่างหม่อง  และธิติมา สังขพิทักษ์ รับบทเป็น ยุพดี


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 12, 15:03
ไปหาเสียงของคุณสมจินต์ ในยูทูบ     พบในคลิปข้างล่างนี้   คุณสมจินต์พากย์เสียงบรรยายตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่อง ด้วยน้ำเสียงนุ่ม เรียบร้อย ชัดถัอยชัดคำ


http://www.youtube.com/watch?v=WsbbKh2CkXs

หมายเหตุ  คุณสมจินต์ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2547  อายุ 74 ปี ค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ส.ค. 12, 15:51
ดาวเสียงดวงต่อไปที่จะเอ่ยถึง เพิ่งดับแสงไปเมื่อพ.ศ. 2550 ด้วยวัยเพียง 50 ปี     ถ้าอุบัติเหตุทางรถยนต์ไม่พรากเขาไปเสียก่อน  เขาก็สามารถจะขับกล่อมแฟนเพลงต่อไปได้อีกหลายสิบปี เหมือนชรินทร์ นันทนาคร และสุเทพ วงศ์กำแหง     น่าเสียดายมาก
น้ำเสียงของกุ้ง กิตติคุณ เชียรสงค์ นุ่มและลึก   มีกังวาน  ทำให้เขาร้องเพลงออกมาได้ไพเราะในหลายแบบ ทั้งเพลงคันทรีของอเมริกัน   เพลงลูกกรุงรุ่นเก่าที่นำมาร้องใหม่   เพลงลูกทุ่ง เพลงป๊อบ...   

http://www.youtube.com/watch?v=hpwL3Nqfw8I

In the Spring of Forty-seven,
So the story, it is told,
Old John Sutter went to the mill site
Found a piece of shining gold.

Well, he took it to the city
Where the word, spread like wild fire
And old John Sutter soon came to wish he'd
Left that stone in the river bed.

For they came like herds of locusts
Every woman, child and man
In their lumbering Conestogas
They left their tracks upon the land.

(Chorus)
Some would fail and some would prosper
Some would die and some would kill
Some would thank the Lord for their deliverance
And some would curse John Sutter's Mill.



Well, they came from New York City,
And they came from Alabam'
With their dreams of finding fortunes
In this wild unsettled land.

Well, some fell prey to hostile arrows
As they tried to cross the plains.
And some were lost in the Rocky Mountains
With their hands froze to the reins.
Oh...

(Chorus)

Well, some pushed on to California
And others stopped to take their rest.
And by the Spring of Eighteen-sixty
They had opened up the west.

And then the railroad came behind them
And the land was plowed and tamed,
When Old John Sutter went to meet his maker,
With not one penny to his name.
Oh...

(Chorus)

And some would curse John Sutter's Mill
Some men's thirsts are never filled.


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ส.ค. 12, 16:04
http://www.youtube.com/watch?v=3CwnZtofUOY&feature=related

จากน้อง
คำร้อง/ทำนอง สาโรจน์ เสมทรัพย์

จากน้องไปไกล อยู่แห่งไหน          ดวงใจพี่นี้เป็นห่วง พี่ยังรักพี่ยังหวง    พี่ยังห่วง หวงเธอเหมือนดังดวงใจ   
ขอบฟ้ากั้นกาง        ใช่กีดขวางแนวทางแห่งรักเราได้    สุดขอบฟ้า กว้างเพียงไหน ยังคงได้หวนคืนรับขวัญแก้วตา
หมั่นนึกถึงพี่      หมั่นสร้างความดีไว้รอคอยพี่กลับมา    กอดน้องแนบหมอนนิทรา   สุขเถิดหนาแก้วตาจงอย่าโศกศัลย์
เก็บน้ำตาไว้       อย่าให้ไหลพาใจพี่คิดไหวหวั่น    ยิ่งได้รู้ เจ้าโศกศัลย์  พี่ยิ่งหวั่นหวิวทรวงแทบจะขาดใจ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 12, 19:52
กุ้ง กิตติคุณ ร้องเพลงลูกทุ่งของทูล ทองใจ  "โปรดเถิดดวงใจ"

http://www.youtube.com/watch?v=DwMQMqczrSc


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ส.ค. 12, 09:35
          ภาพและเสียงของกุ้ง กิตติคุณ คือนักร้องเพลงคันทรีและเพลงเก่านำมาร้องใหม่

       ลองไปหาข้อมูลดู กล่อมขวัญ เป็นเพลงใหม่แต่งให้ร้องจนมีชื่อเสียง

        http://www.youtube.com/watch?v=3x_y0Oe_UZE


        ก่อนที่จะโด่งดังอย่างมากจากเพลงเก่า - เดือนต่ำดาวตก ในอัลบั้มชุดต่อมา ค่ายเพลงจึงวางแนว
ให้ออกอัลบั้มรวมเพลงเก่าต่อเนื่องตามมาหลายชุด


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 12, 13:30
เดือนต่ำดาวตก

http://www.youtube.com/watch?v=JqjfQlJgZhE&feature=related

เดือนต่ำดาวตกอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง  ร้องคู่กับพุ่มพวง ดวงจันทร์     เพลงนี้มาจากละครเวทีเรื่อง ดรรชนีนาง

http://www.youtube.com/watch?v=XmGUuRbar-c&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 ส.ค. 12, 14:01
          รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงด้วยวัย ๕๐ ปีเศษอีกหนึ่งดวง ครับ
          เป็นนักร้องหญิงยุคดาวรุ่งสุนทราภรณ์ที่ครูเอื้อมอบหมายให้ร้องเพลงเร็วในแนว
ของคุณศรีสุดา - คุณบรรจงจิตต์ พัฒนาสันต์

ภาพจากเว็บบ้านคนรักสุนทราภรณ์


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 ส.ค. 12, 14:05
          คุณบรรจงจิตต์ครองคู่กับครูดำ-พูลสุข สุริยพงษ์รังษี หัวหน้าวงสุนทราภรณ์ปัจจุบัน
เธอเสียชีวิตด้วยโรคหนังแข็งในปี ๒๕๔๗

เพลงที่คุณบรรจงจิตต์บันทึกเสียงเป็นเพลงแรก - ยามหทัยต้องมนต์

         http://www.youtube.com/watch?v=nNp2Wh9A9Ws&list=PL9B23F4AC6955D0F6&index=2&feature=plpp_video

        โรคหนังแข็ง  scleroderma เกิดจากความผิดปกติในร่างกายผู้ป่วยมีการสร้างสายใยคอลลาเจน
เพิ่มมากขึ้นในเนื้อเยื่อ ทั้งในหนังแท้และผนังหลอดเลือด ทำให้มีการหนาตัว แข็งตึง โรคนี้มีทั้งชนิด
มีความผิดปกติจำกัดที่ผิวหนังและชนิดที่เกิดพังผืดในอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วย(systemic sclerosis)
ทำให้อาการของโรคปรากฏในหลายระบบ ได้แก่ อาการผิวหนังแข็งตึง ปลายนิ้วเขียวคล้ำเวลาสัมผัส
ความเย็น ลำไส้ดูดซึมสารอาหารไม่ดี และอาการหอบเหนื่อยจากพังผืดในปอด  


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 28 ส.ค. 12, 14:08
คุณบรรจงจิตต์ร้องเพลง เชิญ ร่วมกับนักร้องรุ่นเดียวกัน (คุณพรศุลี และ สุพรรณิกา)
ในรายการทีวี - ชีวิตกับเพลง

         http://www.youtube.com/watch?v=MJ4TFZN1O8E


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 12, 14:19
ร่วมรำลึกถึงคุณบรรจงจิตต์ด้วยอีกคนค่ะ
เธออยู่ในกลุ่ม "ดาวรุ่งพรุ่งนี้" ของสุนทราภรณ์   เป็นนักร้องที่เสียงแหลมใส สูง  ร้องเพลงเร็วได้ท่วงทำนองร่าเริง   แบบเดียวกับคุณศรีสุดา รัชตวรรณ    มักจะได้รับมอบหมายให้ร้องเพลงของคุณศรีสุดาอยู่บ่อยๆในรายการชีวิตกับเพลง และในคอนเสิร์ทสุนทราภรณ์

http://www.youtube.com/watch?v=5sTX_wVWkpM
เพลงนี้ร้องประมาณ พ.ศ. 2529


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 12, 18:18
เพลง พายเรือพลอดรัก  คุณบรรจงจิตต์ร้องคู่กับนักร้องชายของสุนทราภรณ์ คุณรัชตพันธุ์ พงศบุตร     ดัดแปลงจากทำนองเพลงไทยเดิม  เขมรพายเรือ

http://www.youtube.com/watch?v=AVvj0OYxXVg&feature=fvsr


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 12, 18:33
คุณบรรจงจิตต์สามารถเพลงเสียงสูงที่ทำนองช้าได้ไพเราะพอๆกับเพลงเร็ว  อย่างเพลง ร่มเกล้า ที่ร้องกับคุณยรรยงค์ เสลานนท์ ค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=klr2PmFP6Xw


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 12, 14:59
ขอต่อมาถึงดาวเสียงรุ่งโรจน์อีกดวงหนึ่งที่ลับแสงไปด้วยวัยเพียง ๓๑ ปี      ข่าวเสียชีวิตของเธอเป็นข่าวใหญ่นานนับเดือนในหนังสือพิมพ์
ปีนี้ก็ครบรอบ ๒๐ ปีที่ ราชินีลูกทุ่ง   พุ่งพวง ดวงจันทร์จากไป   เธอป่วยเป็นโรค "ภูมิแพ้ตัวเอง"  สมัยนั้น เกือบจะไม่มีใครเคยได้ยินชื่อโรคนี้มาก่อน     ไม่รู้ว่ามันคือโรคอะไร  ถึงเดี๋ยวนี้ก็เถิด  คงมีน้อยคนจะเข้าใจ
ต้องฝากคุณ SILA ช่วยอธิบายค่ะ

ขอประเดิมด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์ "ส้มตำ" ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=IuyZafTuLU4


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 12, 15:02
http://www.youtube.com/watch?v=K6ZhoB1nZA0&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ส.ค. 12, 09:58
           ชื่นชมนักร้องลูกทุ่งสาวในตำนานผู้นำพาเพลงลูกทุ่งเข้าสู่ความนิยมในเมืองกรุง
ด้วยคุณภาพความสามารถทั้งๆ ที่เธอเรียนไม่จบชั้นประถม อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้
ต้องอาศัยการท่องจำเนื้อเพลง

สาวนาสั่งแฟน

           http://www.youtube.com/watch?v=eZXSuOerTfE       

           คุณพุ่มพวง ป่วยด้วยโรค SLE (Systemic Lupus Erythromatosus)ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียว
กับโรคที่คุณบรรจงจิตต์ป่วย (Systemic Sclerosis)
           ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มีความผิดปกติที่การสร้างภูมิต่อต้าน(antibody) ต่อร่างกายตนเอง บางที
จึงเรียกว่าโรคแพ้ภูมิตัวเอง (ซึ่งมาจากคำว่า Autoimmune Disease) ครับ
             ผลจากการสร้างภูมิต่อต้านตัวเองทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเนื่องจากภาวะการอักเสบ
(ที่ไม่ใช่การติดเชื้อ)ของระบบต่างๆ มากมาย เช่น ผื่น ข้ออักเสบ ไตเสื่อม ลมชักจากความผิดปกติของ
หลอดเลือดในสมอง ซีด หอบเหนื่อย และมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ   
             คุณพุ่มพวงป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคนี้เป็นข่าวดังอยู่พักหนึ่ง ต่อมาจึงมีบางคนเรียกโรคนี้ว่า โรคพุ่มพวง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 12, 20:18
ขอส่งท้ายพุ่มพวง ดวงจันทร์ด้วยเพลง "โลกของผึ้ง" ค่ะ

http://www.youtube.com/watch?feature=endscreen&NR=1&v=62HIXWmi_Vk



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 12, 22:45
เมื่อนึกถึงคุณบรรจงจิตต์ พัฒนาสันต์ ดาวรุ่งพรุ่งนี้ของสุนทราภรณ์ที่จากไปเร็วกว่าที่ควร    ก็ทำให้นึกถึงดาวรุ่งพรุ่งนี้อีกคนหนึ่งที่จากไปเร็วเช่นกัน    เธอชื่อจิตราภรณ์ บุญญขันธ์
รู้ประวัติน้อยมากค่ะ      ทราบแต่ว่าเคยเข้ามาอยู่ในวงสุนทราภรณ์ประมาณพ.ศ. 2517   บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกชื่อผไทสวรรค์  ต่อมาสมรสกับธานินทร์ อินทรเทพ      เธอเสียชีวิตด้วยมะเร็งเมื่อพ.ศ. 2544

คุณจิตราภรณ์ร้องเสียงเสียงใส สูงและหวาน   จึงสามารถร้องเพลงของนักร้องรุ่นเก่าที่เสียงสูงมากๆได้อย่างมัณฑนา โมรากุลและชวลี  ช่วงวิทย์
อย่างเพลง ไซซี ที่คุณชวลีเคยร้องประกอบละคร ไซซี  ให้ช่อง 4 บางขุนพรหม ประมาณพ.ศ. 2504-6

http://www.youtube.com/watch?v=3BmQVNYOFOc


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 31 ส.ค. 12, 09:27
          คุณจิตราภรณ์เป็นนักร้องดาวรุ่งที่โดดเด่น มีผลงานเพลงติดหูอยู่หลายเพลง
หนึ่งเพลงที่ยังพอได้ยินอยู่ทุกปีตอนปลายเดือนธันวาคมคือเพลงนี้ ครับ

ใกล้ปีใหม่

         http://www.youtube.com/watch?v=06bTYhKtfyQ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 31 ส.ค. 12, 09:32
           เพลงดังของเธอตอนอยู่วงสุนทราภรณ์ ครับ

รอยรักรอยร้าว (คุณมัณฑนาบันทึกเสียงเป็นคนแรก)

         http://www.youtube.com/watch?v=D2CL1PGNOBw



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 31 ส.ค. 12, 09:40
           คุณจิตราภรณ์ออกอัลบั้มเพลงคู่กับคุณธานินทร์ร้องเพลงเก่าของสุนทราภรณ์

ชื่นใจยามยาก (แรกบันทึกเสียงโดยคุณวินัยและคุณวรนุช)

        http://www.youtube.com/watch?v=asep_TAUvKM



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 12, 09:53
คุณจิตราภรณ์อยู่กับวงสุนทราภรณ์ช่วงสั้นๆ   อาจจะ 2-3 ปีอย่างมาก      จึงพบว่าในพ.ศ. 2520 เธอร้องเพลงอัดแผ่นของที่อื่น ไม่ใช่เพลงสุนทรภรณ์ อย่างเพลง เก้าล้านหยดน้ำตา ที่แปลเนื้อจากเพลง 9,999,999 tears   เนื้อร้องโดยคุณ จงรัก จันทร์คณา

http://www.youtube.com/watch?v=pnvyDmUWV5M


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 12, 10:00
เพิ่งรู้ว่าคุณจิตราภรณ์ร้องเพลงลูกทุ่งด้วย   ชื่อเพลง หนวดที่รัก   แต่ร้องด้วยเสียงแบบลูกกรุง   ในเน็ตบอกว่าสุนารี ราชสีมาร้องเพลงนี้ด้วย แต่หาไม่เจอในยูทูบ


http://www.youtube.com/watch?v=i_IhLlXCaGA


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 12, 10:05
คุรณจิตราภรณ์กลับมาร้องให้วงสุนทราภรณ์ในโอกาสพิเศษเป็นครั้งคราว   อย่างเมื่อตอนสุนทราภรณ์ครบรอบ ๕๐ ปี  เธอก็มาร้องเพลงร่วมกับนักร้องอื่นๆ ที่เคยอยู่ในวงนี้

ข้างล่างนี้คือเพลง ไฟรักในทรวง   ที่เธอร้องกับศรวณี  โพธิเทศ  รุ่งฤดี  แพ่งผ่องใส และ สุพรรณิกา ฉายาพรรณ

http://www.youtube.com/watch?v=hPp3R9vyCGE


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 12, 10:03
เมื่อเล่าถึงดาวรุ่งพรุ่งนี้ของสุนทราภรณ์ ก็ทำให้นึกย้อนไปถึงนักร้องรุ่นใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่นเดียวกับคุณวินัย  จุลละบุษปะ  คุณศรีสุดา รัชตวรรณ คุณเลิศ ประสมทรัพย์     ชุดนี้มีอีก 2 ท่านที่ดับแสงไปแล้วเช่นกัน  คือคุณชวลี ช่วงวิทย์ และคุณสมศักดิ์ เทพานนท์
คุณชวลี เป็นเจ้าของฉายา "สาริกาน้อยเสียงใส"   เสียงเธอสูง หวานและแหลม  เหมาะกับสไตล์เพลงของสุนทราภรณ์  นอกจากร้องเดี่ยวแล้ว เธอยังร้องเพลงคู่กับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน และ วินัย จุลละบุษปะ ซึ่งร้องเสียงสูงด้วยกันทั้งคู่   ที่สำคัญคือน้ำเสียงสูงใสกังวานหวานทำให้ชวลี ช่วงวิทย์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์เป็นจำนวนมาก นับว่ามากที่สุดในบรรดานักร้องวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และวงดนตรีสุนทราภรณ์ก็ว่าได้ เช่น คำหวาน ยิ้มสู้ ยามเย็น ยามค่ำ สายลม  และ อาทิตย์อับแสง


http://www.youtube.com/watch?v=ZXfy0N4JhjI



เพลงพระราชนิพนธ์ สายลม หรือ I Think of You เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๕ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๐
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานของ สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐

.....ท่ามกลางฟากฟ้ามัวหม่น
ลิ่วลมหลั่งฝนโปรยทั่ว
เยือกเย็นชีพเฉาเมามัว
จิตใจไหวหวาดกลัวหวั่นฟ้าคำรามลั่น

โรจน์เรืองแปลบแสงฟ้าผ่า
ล่องลอยลิ่วมาเสียงสนั่น
โอ้ลมหนอลมพัดคืนวัน
โบกโบยเพียงไหนกันพัดจนไม่รู้วันสงบเอย

ต้องลมเหล่าไม้เอนลิ่ว
ลู่ใบลุ่ยพลิ้วปลิวว่อน
จิตใจอ่อนท้ออาทร
ด้วยลมพัดโบกวอนล่องหนวนเวียนไป

อย่าเป็นอย่างสายลมเล่า
เปลี่ยนแปลงซึมเซาเหลิงรักใหม่
โอ้ลมหนอลมพัดเลยไป
โลกเคยรู้ฉันใดแล้วคงสุขสมใจยิ่งเอย

(จาก  Pawee Pruksaset  ยูทูบ)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 12, 10:12
เพลงพระราชนิพนธ์ ยามเย็น

http://www.youtube.com/watch?v=aXodHB_KoYA


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 12, 12:43
คุณชวลีมักจะร้องเพลงคู่กับครูเอื้อ สุนทรสนาน และคุณวินัย จุลละบุษปะ  เพราะเสียงสูงระดับเดียวกัน ประสานสอดคล้องกันได้ดี
แต่ก็มีบางเพลงที่ร้องคู่กับคุณสมศักดิ์ เทพานนท์   เช่นเพลง กุหลาบงาม 
เพลงนี้คุณสมศักดิ์แต่งเนื้อร้อง และร้องเองด้วย
ทำนองจากเพลงไทยเดิม  ขึ้นพลับพลา

http://www.youtube.com/watch?v=wfADOSPVz4U



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 12, 12:59
เพลง หนึ่งในดวงใจ ที่คุณชวลีขับร้องตอบ เพลง "หนึ่งในดวงใจ"  ของฝ่ายชาย
เป็นเพลงมีเบื้องหลังมาจากคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  ผ่านมาทางคนสนิท  ขอให้สุนทราภรณ์แต่งเพลงรับขวัญท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์  หลังจากมีเรื่องงอนกัน     ท่านผู้หญิงเดินทางรักษาสุขภาพที่ยุโรป   จอมพลสฤษดิ์จึงเตรียมเพลงนี้ให้สุนทราภรณ์แต่งและบรรเลงต้อนรับ เมื่อท่านผู้หญิงกลับมาถึงประเทศไทย   ผู้แต่งเนื้อร้องคือคุณชอุ่ม ปัญจพรรค์

http://www.youtube.com/watch?v=S8ljP0Vpsms

เพลงหนึ่งใจที่ฝ่ายชายร้อง  เป็นเสียงของครูเอื้อค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=y6U3mo5T1QM


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.ย. 12, 09:09
           เพลงของคุณชวลีที่ชอบมากๆ ครับ

ขอให้ได้ดังใจนึก  คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์  ทำนอง ธนิต ผลประเสริฐ 

        http://www.youtube.com/watch?v=_hosaOBPneQ 


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.ย. 12, 09:21
และเพลงนี้ ที่คุณชวลีร้องคู่กับคุณวินัยครับ

             นกสีชมพู  คำร้อง ธาตรี ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน

เพลงนี้มี 4 จังหวะ คือ สโลว์ แทงโก้ รุมบ้า แซมบ้า

          http://www.youtube.com/watch?v=4dJV83G150o

      คุณชวลีมีลูกสาว(โชติมา ช่วงวิทย์) เป็นนักร้องเช่นกัน ได้ออกอัลบั้มร้องเพลงคู่ประสานเสียง
เพลงทำนองจีนใส่เนื้อไทยใช้ชื่อ(คู่ดูโอ)ว่า ดอกไม้ป่า ผลงานฮิทสมัยนั้น(30 ปีมาแล้ว !) คือเพลง
ทุยใจดำ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 12, 11:00
ชอบทั้งสองเพลงค่ะ

คุณสมศักดิ์ เทพานนท์ เป็นทั้งนักร้อง นักดนตรี และนักแต่งเพลงที่มีผลงานเด่นๆหลายเพลง
ถ้าจะเอ่ยถึงผลงาน ก็นำมาลงได้อีกหลายค.ห. ละค่ะ

ขอประเดิมด้วยเพลงที่คุณสมศักดิ์แต่งทั้งเนื้อร้อง-ทำนอง   และขับร้องเอง

http://www.youtube.com/watch?v=xZlViyZqRGs


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 12, 11:46
แฟนเพลงสุนทราภรณ์ย่อมจะรู้จักเพลง บัวกลางบึง ที่คุณมัณฑนา โมรากุลขับร้อง   ฝีมือแต่งเนื้อร้องของครูแก้ว อัจฉริยะกุลถือว่าสุดยอดในโวหารเปรียบเทียบ    ที่เอ่ยถึงความอาภัพของหญิงที่สูงศักดิ์เกินกว่าชายเอื้อมถึง  เลยต้องขึ้นคานอยู่เปลี่ยวเดียวดายไปตลอดชีวิต

http://www.youtube.com/watch?v=xDAMRZvQuGk&feature=related

แต่บางคนอาจไม่ทราบว่าเพลงบัวกลางบึง มีเวอร์ชั่นฝ่ายชายร้องตอบเพลงแรก     ครูแก้ว อัจฉริยะกุล แต่งเนื้อท่อนแรกไว้ว่า
 "จะเปรียบเหมือนแม้นนารีโฉมศรีอยู่ห่างชาย       แม้ชายกล้ำกลายไม่ถึง"
แล้วก็ทิ้งไว้แค่นั้น    คุณสมศักดิ์จึงมาแต่งต่อจนจบเพลง  แล้วขับร้องเพลงนี้เอง

http://www.youtube.com/watch?v=HNSfLfXhcFI


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.ย. 12, 17:24
           รักเธอเสมอ เป็นเพลงเอกของคุณสมศักดิ์ ที่ทั้งร้องและแต่งทำนอง (คำร้องโดยอิงอร)
ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำประจำปี พ.ศ. 2509 สาขาเพลงยอดเยี่ยม และเนื้อร้องรองชนะเลิศ

ยูทูบมีคลิปคุณสมศักดิ์ร้องคู่คุณรวงทองด้วย ครับ

        http://www.youtube.com/watch?v=hXsDXrV8pEQ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 12, 17:12
  เพลงยอดนิยมตลอดกาลเพลงหนึ่งของสุนทรภรณ์ คือเพลงสนุกๆ "จุดไต้ตำตอ"  ที่จัดคอนเสิร์ตทีไร มักจะต้องมีเพลงนี้รวมด้วยตามคำขอของผู้จัด     เพลงนี้ไม่ใช่เพลงคู่หรือเพลงหมู่ แต่หายากกว่านั้นคือร้องกัน 3 คน  มีเนื้อเรื่อง ต้น กลางและจบ โดยมีตัวเอกคือคุณเลิศ ประสมทรัพย์ และคุณศรีสุดา รัชตวรรณ    ส่วนคุณสมศักดิ์โผล่มาเป็นพระเอกในตอนท้าย
   เพลงนี้คุณสมศักดิ์ เป็นคนแต่งเนื้อร้อง  ทำนองดัดแปลงจากเพลงไทย  ลาวล่องน่าน  ที่นำมาเรียบเรียงทำนองใหม่เป็นเพลงลีลาศจังหวะฟ็อกสทร็อต ได้ลงตัว

http://www.youtube.com/watch?v=ydoa0go1fqw


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 12, 09:30
ยังไม่เห็นคุณ SILA เข้ามาเล่าถึงดาวเสียงดวงอื่นๆ  จึงขอเริ่มไปก่อนนะคะ   
ตอนเด็กๆเคยได้ยินเพลงไพเราะเพลงหนึ่งชื่อ แดนมธุรส   เพราะจนจำเนื้อบางส่วนได้แม้ไม่รู้ว่าใครร้อง  ต่อมาอ่านบทความของคุณจักรพันธุ์ โปษยะกฤต  เอ่ยถึงเพลงนี้ว่าประทับใจเช่นกัน     หลายปีต่อมาจึงเจอเพลงนี้ในยูทูบ  คนร้องคือลัดดา ศรีวรนันท์ (2479-2528)

คุณลัดดาเป็นดาวเสียงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงไม่นาน   เรื่อยมาจนกึ่งพุทธกาล  เป็นนักร้องที่มีน้ำเสียงแหลมใส มีพลัง สไตล์คล้ายเสียงของมัณฑนา โมรากุล    แต่ว่ามีน้ำเสียงเป็นตัวของตัวเองไม่ซ้ำใคร     
เธอเป็นนักร้องชนะประกวดมาตั้งแต่เรียนอยู่ร.ร.ศึกษานารี     จนเข้าสู่วงการ  ลาจากไปมีครอบครัวเมื่อประมาณพ.ศ. 2500 แล้วกลับเข้าวงการใหม่เมื่ออายุมากขึ้น แต่เสียงยังไพเราะมีพลังอยู่   มาอัดเสียงลงแผ่นคู่กับคุณนริศ อารีย์  แต่ยังไม่ทันไรเธอก็เสียชีวืตกะทันหันด้วยโรคเรื้อรังที่เป็นมานาน   
โชคดีที่ยุคสื่อสารไร้พรมแดน  เรามียูทูบบันทึกเสียงเธอเอาไว้ให้ได้ยินกันอีกครั้ง

แดนมธุรส   เนื้อร้อง-ทำนอง สมยศ ทัศนพันธ์

http://www.youtube.com/watch?v=1bM4zfV8_pc



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 12, 09:36
เพลงนี้ยังหาที่มาไม่ได้ว่ามาจากละครเวทีหรืออะไร  แต่เป็นอีกเพลงที่คุณลัดดาร้องได้ไพเราะมาก

http://www.youtube.com/watch?v=DGlKx_cD7SA&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 12, 09:40
เพลง  ผกาฟ้า คุณลัดดาร้องคู่กับคุณนริศ อารีย์  มีประวัติบอกไว้สั้นว่า
เนื้อร้อง อิงอร ( ศักดิ์เกษม หุตาคม )   ทำนอง : สุรพล แสงเอก
ทำนอง จากเพลงไทยเดิม ลาวสวยรวย  เป็นเพลงประกอบละครเรื่อง ช้องนาง บันทึกเสียงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙

ลาวสวยรวย ถูกนำมาดัดแปลงเป็นเพลงไทยสากลอีก 2 เพลงอย่างน้อย คือพี่รักวสันต์ (ขับร้องโดยนริศ อารีย์)  และพี่่เกลียดวสันต์(ขับร้องโดยม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์)

http://www.youtube.com/watch?v=cUXybyLrI1w&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 06 ก.ย. 12, 09:56
         คุณลัดดาเป็นนักร้องที่ได้ยินชื่อมากกว่าจะได้ฟังเพลงครับ เพราะหาฟังยากมาก
ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่หาฟังได้ง่ายเพียงปลายนิ้วพิมพ์แล้วคลิก

เพลง มัสยาหลงเหยื่อ เป็นหนึ่งในเพลงไพเราะติดหู ครูไพบูลย์แต่งออกมาในแนวเพลงบลูส์

          http://www.youtube.com/watch?v=g8PFm6bg1dI


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 12, 14:28
ขอส่งท้ายด้วยเพลง ทะเลร่ำไห้ เป็นเพลงที่คุณลัดดาร้องได้อารมณ์เศร้าสร้อยจับใจมาก   ทำนองฝีมือครูไพบูลย์ บุตรขันธ์ ก็ยังเลิศไม่แพ้เพลงอื่นๆของท่านค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=vxEx6ur6X-I&feature=related


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 12, 14:35
นึกอยู่นานว่าจะหาดาวแสงดวงไหนมาเสนออีก  เกือบจะต้องจบกระทู้แล้ว  พอดีนึกถึงนักร้องชายคนหนึ่งขึ้นมาได้
เมื่อ 30 กว่าปีก่อน เขาเป็นนักร้องชายรูปหล่อ เสียงนุ่ม  มีชื่อเสียงโด่งดังเอาการ    ชื่อสามารถ บริบูรณ์เวช
เสียดายว่ามาจากไปตั้งแต่อายุยังไม่มาก    เลยไม่ค่อยมีใครในยุคนี้รู้จักอีกแล้ว     
โชคดีที่มียูทูบให้รำลึกถึงเสียงของเขาได้อีกครั้ง   ถ้าจะหาแต่เทปเสียงคงไม่รู้จะไปหาที่ไหนค่ะ

เพลงแรก  เพลงพระราชนิพนธ์ มหาจุฬาลงกรณ์ อัญเชิญมาร้องโดยคุณสามารถ

http://www.youtube.com/watch?v=-5andNE0hnQ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 12, 14:37
เรือชีวิต    คลิปนี้มีรูปคุณสามารถในวัยหนุ่ม คงเข้าวงการได้ไม่นาน 

http://www.youtube.com/watch?v=aR7tfr7Qj-M


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 12, 10:02
ขอส่งท้ายด้วยเพลง นางรอง ของคุณสามารถ บริบูรณ์เวช  เป็นเพลงลูกทุ่งที่นำมาร้องแบบลูกกรุงค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=YsHgu7HrROc

นึกไม่ออกว่ามีดาวแสงดวงไหนอีก  คงต้องจบกระทู้แค่นี้ค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Matoom ที่ 11 ก.ย. 12, 11:03
ยังไม่อยากให้จบเลยครับ อาจารย์เทาชมพู ผมขอเวลาไปทำการบ้าน
แล้วจะมาร่วมชื่นชมและรักษาไว้ซึ่งผลงานอมตะของท่านเหล่านี้ต่อไปอีก

เชิญมิตรรักนักเพลงที่สนใจมาช่วยกันด้วยครับ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 12, 11:28
รอการบ้านจากคุณมะตูมค่ะ     คุณ SILA คงยินดีที่จะได้ทัพเสริมมาช่วยโพสเพลงอีกคนหนึ่ง  เพราะดิฉันนึกไม่ออกแล้ว

ตอนนี้ ขอตั้งกระทู้ที่ 2   รำลึกถึงดาวเสียงต่างชาติต่างภาษาที่ดับแสงไปแล้ว
จะได้แยกประเภทไปเลย สำหรับคนอ่านเรือนไทยที่สนใจเพลงฝรั่ง จีน เกาหลี ฯลฯ ได้เลือกคลิกเข้ากระทู้ใหม่

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5361.new#new


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Matoom ที่ 11 ก.ย. 12, 11:57
ขอร่วมรำลึกถึง ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย ครับ เพลงที่คุ้นหูของท่านมาแต่เล็ก คือ "รักพี่จงหนีพ่อ"
โด่งดังจนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองสมัยนั้นเป็นห่วงว่าจะทำลายประเพณีดีงาม
ทำให้ต้องมีเพลง "ขันหมากมาแล้ว" ออกมาแก้ แล้วยิ่งดังไปใหญ่
เมื่อผ่องศรี วรนุช ร้องเพลงตอบ "มาแล้วหรือพี่"

ประวัติของท่านนำมาจาก เว็บ รวมพลคนรักเพลงเก่า
http://saisampan.net/index.php?topic=8615.0

ดังนี้ครับ

ยงยุทธ  เชี่ยวชาญชัย

ชื่อจริง      จิ๋งค้วง  แซ่เซียว (อดุลย์สีหวัฒน์)
วันเกิด      วันอังคารที่  30  กรกฎาคม  พ.ศ.2478
ภูมิลำเนา   อำเภอบ้านหมี่  จังหวัดลพบุรี
เสียชีวิต   วันที่  28  มิถุนายน  พ.ศ.2535

อายุได้  18  ปี  ได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ  มาเป็นลูกจ้างเด็กขายของอยู่แถวตลาดพลู  เรื่องร้องเพลงเขาชอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว  ตอนเรียนหนังสือเวลามีงานของโรงเรียน  เขาจะต้องได้ขึ้นร้องเพลงอยู่เสมอ  และยังได้เป็นคนร้องเพลงชาตินำนักเรียนของโรงเรียนในตอนเช้าด้วย  พอโตเป็นหนุ่มชอบไปประกวดร้องเพลงตามงานวัดอยู่เสมอ  โดยที่พ่อ – แม่ในตอนนั้นท่านห้าม  โดยพ่อแม่บอกว่าเราเป็นลูกคนจีน  อย่าเต้นกินรำกินเลย  ให้ค้าขายดีกว่า 

เส้นทางของการเป็นนักร้องนั้น  เมื่อเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์ (ทหารอากาศ)  ได้มารู้จักกับสุรพล  สมบัติเจริญ  แต่ตัวของยงยุทธเองยังไม่ได้เอาจริงเอาจังในการเป็นนักร้องอาชีพมากนัก  พอออกจากการเป็นทหารได้ไปเป็นนักพากย์หนังกลางแปลงให้กับบริษัทยาหอม  5  เจดีย์  โดยทำอยู่ได้ปีกว่า  และได้มาเจอกับสุรพลอีกหน  สุรพลเลยชวนมาเป็นนักร้องประจำวง  ซึ่งเวลานั้นสุรพลได้คิดที่จะตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเอง  และเมื่อตกลงใจเรียบร้อยแล้ว  ต่อมาสุรพลก็ได้แต่งเพลงให้ยงยุทธร้อง  เพลงแรกคือเพลง “สัจจะของชาวนา” ออกมาเมื่อ พ.ศ.2502  ซึ่งพอเพลงนี้ออกมาก็โด่งดัง  และประสพความสำเร็จเป็นอย่างมาก 

ทุกเพลงที่ยงยุทธ  เชี่ยวชาญชัย ทยอยร้องอัดแผ่นเสียงออกมา  ส่วนมากจะเป็นการแต่งของสุรพลแทบทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นเพลง  โมรา, สาวรถเก๋ง, รักพี่จงหนีพ่อ, โป้ยเซียนเสี่ยงทาย, ฝนสั่งฟ้า  ยงยุทธได้ร้องเพลงดี ๆ ของสุรพลที่แต่งให้ร้องมีอย่างมากมาย  สมัยก่อนนักร้องลูกทุ่งและวงดนตรีมีน้อย  ช่วงนั้นเป็นปีทองของวงสุรพลอย่างแท้จริง 

พอปี พ.ศ.2512  ยงยุทธได้หันหลังอำลาต่อวงการเพลงลูกทุ่ง  เลิกร้องเพลงแล้วก็ไม่ได้หางานทำอะไร  ทำตัวเป็นนักเสี่ยงโชค  พออายุได้  57  ปี  ได้ป่วยเป็นโรคหืดหอบ  และถุงลมโป่งพอง  จึงได้รับการรักษาตัวมาโดยตลอด  และได้มาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่  28  มิถุนายน  พ.ศ.2535


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Matoom ที่ 11 ก.ย. 12, 11:58

รักพี่จงหนีพ่อ

http://www.youtube.com/watch?v=Y8YBQL9-zjo

ขันหมากมาแล้ว

http://www.youtube.com/watch?v=TcUhuyhHP5Q



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Matoom ที่ 11 ก.ย. 12, 12:01

มาแล้วหรือพี่

http://www.youtube.com/watch?v=WJRsZaeS4dM&feature=relmfu

เพลงที่่ทำให้เป็นที่รู้จัก "สัจจะของชาวนา"

http://www.youtube.com/watch?v=0G4rjnJVKm8


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 11 ก.ย. 12, 12:24
          เคยดูคุณสามารถร้องเพลงในรายการโทรทัศน์หลายครั้งในยุคสมัยนักร้องชาย
ที่โด่งดังยังเป็นคุณสุเทพกับคุณชรินทร์ ที่ยืนอยู่แถวหน้าหัวแถว แล้วมีคุณธานินทร์ขยับขึ้นมา
ยืนเคียงถัดๆ ไป
            ส่วนนักร้องชายคนอื่นๆ เช่น คุณนิทัศน์ ละอองศรี, สุวัจชัย สุทธิมา หรือที่มาทีหลัง
อย่างคุณสามารถนั้นยืนอยู่แถวหลังถูกแถวหน้าบดบัง
            คุณสามารถหน้าตาดี (มีผลงานแสดงหนังด้วย) เสียงเพราะ แต่น่าใจหายที่สุดท้าย
เลือกจบปัญหาชีวิตด้วยการจบชีวิตตัวเองลงในวัยยังหนุ่ม

ภาพจาก saisampan.net
 


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Matoom ที่ 11 ก.ย. 12, 22:05
อ่านเรื่องคุณสามารถ บริบูรณ์เวช แล้วใจหาย ศิลปินมีอารมณ์อ่อนไหวมากเป็นพิเศษ
แต่ได้ยินว่ามีสวรรค์ชั้นเฉพาะให้ศิลปินใช่ไหมครับ?
เช่นนี้แล้ว พวกท่านที่เรากำลังกล่าวถึงคงเสวยทิพยสุขอยู่ ณ ที่แห่งนั้น

สรวงสวรรค์ชั้นกวีรุจีรัตน์
ผ่องประภัศร์พลอยหาวพราวเวหา
พริ้งไพเราะเสนาะกรรณวัณณนา
สมสมญาแห่งสวรรค์ชั้นกวี ฯ
...
สวรรค์ชั้นกวี
พระนิพนธ์ - น.ม.ส.


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ก.ย. 12, 22:27
เพลง "เรือชีวิต" ที่คุณสามารถร้อง ใช้ทำนองเพลง เหอรื่อจวินไจ้ไหล เพลงเดียวกับที่คุณ SILA เคยลงไว้ในกระทู้ "พลังรักสองแผ่นดิน" น่ะครับ

ผมเคยคิดเหมือนกันว่าน่าจะมีเพลงไทยที่เอาทำนองเพลงนี้มาใช้ เพิ่งจะได้เจอนี่แหละครับ

 :)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 12, 22:33
ก็เพิ่งรู้จากคุณม้านี่ละค่ะ ว่าเป็นเพลงทำนองเดียวกัน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Matoom ที่ 11 ก.ย. 12, 22:34
กรณีเพลงของคุณยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย  "รักพี่ให้หนีพ่อ"
ผมเคยอ่านและจำว่าช่วงที่เพลงนี้ดังมากๆ  จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงกับเรียกตัวผู้ขับร้องเข้าพบ
จะคุยกันอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ไม่นานให้หลัง เพลง "ขันหมากมาแล้ว" ก็ติดตามออกมา
จากที่บอกว่า "หากรักพี่ จงหนีพ่อ พี่จะรอน้องอยู่ที่หน้าต่าง"
กลายเป็น "เรื่องพาหนี พี่ไม่เอาแล้วน้อง พี่มาตรองคิดดู มันอดสูแก่ใจ
....พี่เป็นชายชาตรี ควรหรือจะขยี้ประเพณีของไทย"
เพิ่งมาทราบเบื้องหลังก็ตอนนั้นเอง

ผมได้ดูคอนเสิร์ต "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย"
เห็นคุณยงยุทธ ออกมาร้องเพลงขันหมากมาแล้ว
พอร้องถึงท่อน "พี่เป็นชายชาตรี..." ท่านเอียงข้างนิดๆ แล้วแอ่นอก
วางท่านิดเดียวแค่นี้ล่ะครับ สัมผัสวูบถึงความเป็นศิลปินเลย


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Matoom ที่ 11 ก.ย. 12, 23:20
ขอย้อนกลับไปถึงเพลงของคุณบุษยา รังสี หนึ่งเพลงครับ ผมเป็นอีกคนที่ประทับใจมากกับเสียงของคุณบุษยา มีเพลงที่อยากนำมาฝากไว้ด้วยคือ กล่อมวนา ผู้แต่งคำร้องคือ ครูแก้ว อัฉริยะกุล ทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ร้องไว้ก่อนคุณบุษบา รังสี  คือ คุณชวลีย์ ช่วงวิทย์

แต่คุณ Benjamin8404 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในยูทูปว่า...คุณมัณฑนา โมรากุลเคยร้องสดออกทางวิทยุกรมโฆษณาการจนปี 2494 ก่อนลาออกได้ขับร้องบันทึกลงในแม่พิมพ์ แต่เจ้ากรรมแม่พิมพ์ตกและแตกเป็นรอยจนซ่อมไม่ได้ ต่อมาครูเอื้อจึงให้คุณชวลีย์ร้องบันทึกลงแผ่นเพราะคุณมัณฑนาติดภาระครอบครัว ในงาน 80 ปีคุณมัณฑนา บุตรสาวคุณมัณฑนาคนเล็กเล่าว่าได้พยายามนำไปให้ช่างซ่อมและถ่ายเสียงลงซีดีแต่ไม่สำเร็จ คุณมัณฑนาก็เล่าว่าเป็นเพลงที่รักมากเพลงหนึ่งและก็เสียดายมากที่แม่พิมพ์เสียหาย

ฟังเพลงนี้ซาบซึ้งมากขึ้นครับ หลังจากได้หลงป่าแล้ว
ท่านว่าถ้าพลัดไปลำพังในที่เปลี่ยว จงตั้งสติให้ดีๆ อย่าปล่อยให้ซัดส่ายไปกับความกลัว
ขอให้นำอารักขกรรมฐานมาใช้ คือ พุทธานุสสติ  แผ่เมตตา และ มรณานุสติ

http://www.youtube.com/watch?v=EEchja9qPgo

ฉันต้องหลงอ้างว้างกลางป่า
สุดเหลียวแลหาผู้อื่น
ป่าเปลี่ยวเช่นนี้ไม่ชื่น
ดึกดื่นค่ำคืนทอดถอน

เหงาสุดเหงาต้องทรุดลงนั่ง
ต้องพักหยุดยั้งพลางก่อน
เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแรงอ่อน
อกสั่นรอนรอนถอนใจ

หวาดกลัว
อกเต้นระรัวแว่วไป
เสียงดังมาไกลไกล
ดุจดังผีพรายเรียกฉัน

ขอภูตผีนางไม้ในป่า
โปรดคุ้มรักษาให้มั่น
ยิ่งดึกยิ่งหนาวจนสั่น
หวาดหวั่นไม่รู้ทาง

โถค่ำนี้นอนไหนกันเล่า
ยิ่งคิดยิ่งเหงาไม่สร่าง
ยิ่งดึกยิ่งนึกต่างต่าง
หยุดหว่างกลางทางอยู่นาน

หนุนท่อนไม้แทนหมอนนอนป่า
อาศัยเขตฟ้าแทนบ้าน
กิ่งโศกแทนมุ้งและม่าน
อุตส่าห์กัดฟันแข็งใจ

ไหว้วอน
ลูกมาขอนอนกลางไพร
เช้าขึ้นลูกจะไป
โปรดจงคุ้มภัยเถิดหนา

เสียงหริ่งร้องแซ่ซ้องสนั่น
ส่งเสียงกระชั้นลั่นป่า
เปรียบหนึ่งเพลงซึ้งวิญญาณ์
กล่อมป่าคราฉันนอน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 12, 17:03
คุณมัณฑนา คุณชวลี  คุณเพ็ญศรี มีเสียงร้องในแนวทางเดียวกันคือสูง ใส เยือกเย็น  เหมาะกับร้องเพลงท่วงทำนองช้า โอดครวญ ให้อารมณ์ดื่มด่ำ     คุณบุษยาตามมาทีหลังแต่แนวทางก็เป็นแบบเดียวกัน
แต่ว่าแต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตนเอง    ไม่ได้ซ้ำแบบกันเป็นพิมพ์เดียว   ดิฉันรู้สึกว่าเสียงคุณมัณฑนานั้นวิเวกวังเวงเพราะพริ้งก็จริง แต่เสียงเธอบอกอารมณ์เข้มแข็งกว่าเสียงของคุณชวลี ที่สูงใสเยือกเย็น  ไไม่มีโศกเจือปน  ส่วนคุณเพ็ญศรีเสียงเยือกเย็นและเศร้าไม่ว่าร้องเพลงอะไร
อย่างเพลงสนต้องลมของคุณมัณฑนา ฟังแล้วสัมผัสลมหนาวที่ผ่านกิ่งสนเลยทีเดียว  เหมือนฝนหยาดสุดท้ายที่คุณบุษยา ก็ให้อารมณ์หนาวเย็นเศร้าไปกับสายฝนพรำ



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 12, 11:18
นึกได้อีกท่านหนึ่งเลยย้อนกลับมาเข้ากระทู้อีกครั้งค่ะ   
      พร ภิรมย์  หรือชื่อจริงว่าบุญสม  มีสมวงษ์      เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2471  เป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เรียนที่โรงเรียนบพิตรพิมุขจนจบมัธยมปีที่ 3 มีเพื่อนเรียนร่วมรุ่นเช่น  อารี มุกสิกพุก นินารถ ช่ำชองยุทธ ท้วม ทระนง  นริส อารีย์   หลังจากนั้นก็ฝึกเล่นลิเก   และงิ้ว  จนมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะพระเอกลิเกของคณะครูเฉลียว โดยใช้ชื่อว่า บุญสม อยุธยา
      พร ภิรมย์ยังเชี่ยวชาญการร้องและเล่นดนตรีไทย ทำขวัญนาค พากย์หนัง  มีชื่อเสียงโด่งดังจน ′′ครูมงคล อมาตยกุล′′ ชักชวนมาอยู่ ′′วงดนตรีจุฬารัตน์′′ 
      ร้องเพลงอยู่กับวงดนตรีจุฬารัตน์หลายปี มีผลงานบันทึกเสียงประมาณ 200 เพลง เพลงที่ร้องส่วนใหญ่เป็นผู้แต่งเอง ในแนวนิทานชาดกแฝงธรรมะ ด้วยเทคนิคการแหล่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เพลงแรกที่ได้รับความนิยมคือเพลง ′′บัวตูมบัวบาน′′ อันลือลั่นไปทั่วประเทศ  ตามมาด้วย ′′ดาวลูกไก่′′, ′′ดาวจระเข้′′, ′′วังแม่ลูกอ่อน′′, ′′กลับเถิดลูกไทย′′
      นอกจากประพันธ์เพลง ร้องเองแล้ว  ก็ยังได้ประพันธ์ให้นักร้องอื่น ๆ อีกมากมาย มีผลงานเพลงรวมเกือบพันเพลง เคยแสดงภาพยนตร์เรื่อง “เสน่ห์บางกอก เป็นพระเอกคู่กับ ภาวนา ชนะจิต และเรื่อง เงิน เงิน เงิน ฯลฯ
      ผลงานที่ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ
         พ.ศ.2509 เพลง บัวตูม บัวบาน และ เพลงดาวลูกไก่
         พ.ศ.2514 เพลง กลับเถิดลูกไทย
      ผลงานที่ได้รับในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยครั้งที่ 1
         12 ก.ย. พ.ศ.2532 เพลง บัวตูม บัวบาน
         7 ก.ค. พ.ศ.2534 เพลง ดาวลูกไก่
         18 ต.ค. พ.ศ.2537 เพลง เห่ฉิมพลี ได้รับรางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่นส่งเสริมวัฒนธรรม
       
         จากนั้น ได้รับรางวัลการเชิดชูปูชนียบุคคลเกียรติยศ ทางด้านผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2553 
         ได้รางวัลพระคเณศ กรมศิลปากร จากผลงานรางวัลเพลง ดาวลูกไก่ เนื่องในโครงการเพชรในเพลง วันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2553

          ในที่สุด พร ภิรมย์ก็บวชเป็นพระตั้งแต่ พ.ศ.2524 ได้รับฉายาว่า “ปุญญวํโส หลังจากที่ได้ทำผลงานชิ้นสุดท้าย คือ วรรณกรรมสมเด็จพระนเรศวร” เสร็จก็ได้บวชเพื่ออุทิศเป็นส่วนกุศลถวายโดยบวชที่วัด สมณโกศธาราม และจำพรรษาอยู่ที่วัดรัตนะชัย (วัดจีน) ต.หอรัตนชัย อ.เมือง จ.อยุธยา จนมรณภาพในผ้าเหลืองเมื่อพ.ศ. 2553


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 12, 11:19
http://www.youtube.com/watch?v=6PQD3_prbMw


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 12, 11:20
http://www.youtube.com/watch?v=9cefqqyj3ZQ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 12, 16:17
เห่ฉิมพลี

http://www.youtube.com/watch?v=f9-7vt8oQ0Y


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 12, 19:52
ขอแยกซอยไปเพลงเก่าแก่อีกเพลงหนึ่งครับ ชอบมาก

ผมไม่ทราบชื่อเพลง แต่ เนื้อร้องในบรรทัดแรกๆ ว่า

ยามเมื่อฝนสั่งฟ้า แล้วลมหนาวพรายพัดมาเยื่ยมเยือน
(ดำน้ำ้แล้วไปโผล่ว่า)
รัก... (ดำน้ำ)...รื่นอุรา

ท่านผู้ใด พอจะทราบชื่อเพลงและเนื้อร้องใหมครับ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 12, 20:22
เพลงนี้หรือเปล่าคะ

http://www.youtube.com/watch?v=u1djEoWWVm0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 12, 20:40
ใช่เลยครับ ขอบพระคุณมากๆ จริงๆครับ

เคยฟังคุณพ่อฮัมตั้งแต่เด็ก คงสักประมาณ 50 ปีมาแล้ว

จำใด้ว่าเิดิมเป็นผู้ชายร้อง  ยังพอจะหาเสียงนั้นได้หรือไม่ครับ



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 12, 22:53
เพลงนี้ผู้แต่งเนื้อร้อง/ทำนองคือคุณจงรัก จันทร์คณา บุตรของคุณ "พรานบูรพ์"   ท่านอาจจะร้องเองกระมัง
จนใจ หาเพลงที่ผู้ชายร้องไม่ได้เลยค่ะ   
คุณ SILA หรือคุณมะตูม พอจะหาได้ไหมคะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ต.ค. 12, 19:23
ศักดิ์ที่สามดับแสงไปแล้ว

สิ้น'มีศักดิ์ นาครัตน์' จบตำนาน ๓ ศักดิ์เมืองไทย (http://news.voicetv.co.th/entertainment/53656.html)

http://www.youtube.com/watch?v=hS-P1Qdurm8


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ต.ค. 12, 19:34
ขอรำลึกถึงคุณมีศักดิ์ ด้วยเพลง แดดออก

http://www.youtube.com/watch?v=uSrBKhWvphk

ทำนองจากเพลง Banana Boat Song ของ Henry Belafonte

http://www.youtube.com/watch?v=PMigXnXMhQ4


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 ต.ค. 12, 12:21
           ตอนยังเด็กเคยดูรายการทีวีที่มีคุณมีศักดิ์และคณะสามศักดิ์ร้องเพลงเป็นครั้งคราว
เมื่อโตขึ้นจึงรู้สึกคุ้นเคยคุณมีศักดิ์มากขึ้นจากรายการเพลงมิวสิคสแควร์ ทางช่องสามที่มี
คุณมีศักดิ์ร่วมร้องในรายการเป็นประจำ
           
           อีกหนึ่งเพลงจากเสียงคุณมีศักดิ์ที่ตอนเด็กๆ เคยฟังแล้วยังจำได้ดี ครับ

                              หนูกับราชสีห์

           http://www.youtube.com/watch?v=TT4eB3x8NaY

ทำนองจากเพลง Tom Dooley ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำพูดอินโทรว่า Throughout history
ที่ฟังเผินๆ ได้เป็น ราชสีห์

           http://www.youtube.com/watch?v=sZYjc57V55U


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ต.ค. 12, 22:34
คุณมีศักดิ์ แต่งเพลงไตเติ้ลละครช่อง 3 ด้วยนะคะ    ทำนองหวานเศร้าโหยละห้อยทีเดียว  คนละมู้ดกับแดดออก และหนูกับราชสีห์

http://www.youtube.com/watch?v=Sgyf1a2tBrY

ละคร "แก้วราหู" ออกอากาศเมื่อพ.ศ. 2529


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: thapana ที่ 25 เม.ย. 13, 23:43
ดาวเสียงที่เพิ่งลับจากพวกเราไป เมื่อ 28 มีนาคม 2556 ชื่อ...ยรรยงค์ เสลานนท์ ครับ

ยรรยงค์ เสลานนท์ เป็นคนกรุงเทพมหานครตั้งแต่กำเนิด ยรรยง เสลานนท์ เป็นบุตรชายของแม่ศิริ คุ้มอยู่ นักร้องนักแสดงละครวิทยุชื่อดัง จึงมีโอกาสติดตามมารดาไปตามสถานีวิทยุ และชอบร้องเพลงคลอตามแผ่นเสียง หลังจบ

การศึกษาจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2501 ยรรยง เสลานนท์ ไปสมัครเข้าสอบรับข้าราชการ แผนกบันเทิง กรมประชาสัมพันธ์ เหตุที่ผู้สอบจะต้องมีผู้รับรองการเข้าสอบ ยรรยง เสลานนท์ นึกไม่ออกว่าจะให้ใครรับรอง รู้จักเพียงชื่อครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงตัดสินใจไปพบวินัย จุลละบุษปะ เพื่อให้พาไปพบครูเอื้อ
ขณะนั้นครูเอื้อ สุนทรสนาน กำลังยืนคุยอยู่กับวินัย จุลละบุษปะ ณ ตรงนั้น จึงได้แสดงตน ยรรยง เสลานนท์ ไม่พูดพร่ำทำเพลงยื่นกระดาษให้ครูเอื้อ เซ็นชื่อรับรอง หลังไถ่ถามจนรู้ความครูเพลงยินดีเซ็นรับรองให้ ผลการสอบคัดเลือกรับเพียง 3 คน ยรรยง เสลานนท์ ไม่ผ่านบรรจุ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เห็นมีแววอยู่บ้าง จึงรับเข้าไว้ในโครงการดาวรุ่งพรุ่งนี้ รุ่นเดียวกับศรวณี โพธิเทศ และรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส
ยรรยง เสลานนท์ ฝึกฝนร้องเพลง ก่อนได้ติดตามวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ไปออกรายการโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม โดยนำเพลงลาวดวงเดือน ร้องออกทีวี กระทั่งปี พ.ศ. 2503 หลังจากยรรยง เสลานนท์ สอบบรรจุรับราชการ ประจำแผนกดนตรีสากล กรมประชาสัมพันธ์ ครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงมอบเพลงฝากน้ำใจ ให้ร้องอัดแผ่นเสียงเป็นเพลงแรก ก่อนจะมีผลงานเพลงทยอยออกมา อาทิ ทรัพย์ทรวง, กรรมรัก, เงา, ไม่รัก-ไม่รู้, คอยลม, ร้อนนี้พี่ยังหนาว, คมตา, ใบไม้ร่วง, พลิ้วลมวอน, ฉันรักเธอ, ราตรีประดับดาว, ยอดปรารถนา, เกาะลอย, คิดถึง, ยากยิ่งสิ่งเดียว, ชีวิตกับสังคม, ฉันไม่งาม และนิมิตสวรรค์ โดยมีเพลงคู่ทาษ เป็นเพลงสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงเพลงกลิ่นราตรี ของมัณฑนา โมรากุล ที่ยรรยง เสลานนท์ นำมาร้องอัดแผ่นใหม่
เมื่อบริษัท เมโทรแผ่นเสียง ได้รับพระบรมราชานุญาตบันทึกแผ่นเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด โดยมีวงสุนทราภรณ์ บรรเลง ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้มอบหมายให้ยรรยงค์ เสลานนท์ ขับร้องบันทึกแผ่นเสียง ซึ่งแผ่นชุดนี้ มีเพลงความฝันอันสูงสุด เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพียงเพลงเดียว นอกเหนือจากนั้นเป็นเพลงปลุกใจของวงสุนทราภรณ์
ปี พ.ศ. 2512 ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้ตั้งโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี จึงชวนยรรยง เสลานนท์ ไปร่วมฝึกสอนขับร้องอยู่ที่โรงเรียน โดยยรรยง เสลานนท์ ก็ยังได้รับความไว้ใจจากครูเพลงให้อัดแผ่นร้องเพลงประจำของมหาวิทยาลัยรามคำ แหง คือ เพลงรามแห่งความหลัง และดาวราม รวมถึงเพลงประจำจังหวัดปราจีนบุรี เพลงรอเธอที่ปราจีน และถิ่นเราเขาใหญ่ ร่วมถึงอัดแผ่นเพลงคืนสู่เหย้า คู่กับบรรจงจิตต์ พัฒนาสันต์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นลูกศิษย์เรียนร้องเพลงกับยรรยง เสลานนท์ ต่อมาเพลงคืนสู่เหย้า กลายเป็นเพลงเอกประจำงานคืนสู่เหย้าของทุกสถาบัน
ทั้งนี้ ก่อนที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน จะสิ้นบุญ ได้สั่งเสียไว้ว่าเพลงที่ครูเอื้อเคยร้องอัดไว้ทั้งหมดต่อไปให้ยรรยงเป็นผู้ ร้องต่อ และแม้ว่ายรรยง เสลานนท์ จะเป็นครูสอนร้องเพลงที่โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี แต่ก็ยังมีผลงานเพลงออกมาคือ อัลบั้มกล่อมรัก ที่ร่วมงานกับบริษัท โรต้า และยังรับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์จนเกษียณอายุ เมื่อปี 2544 รวมเวลา 40 ปี
http://www.youtube.com/watch?v=06zBE1PsPz0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: thapana ที่ 25 เม.ย. 13, 23:46
อีกเพลงหนึ่งที่คนชอบเรียกเพลง "ข้าวเบา" ครับ จริงๆ เพลงนี้ชื่อคอยลมนะครับ แฮะๆ

http://www.youtube.com/watch?v=pexELGof3-A

พลิ้วลมพัดรวงข้าวเอนลู่ไป
ข้าวซิรวงไสวสมใจชาวนาสิ้นห่วง
ชื่นอุราเห็นข้าวกล้าออกรวง
แต่ข้าช้ำใจข้าห่วงหวงรักเจ้าข้ามเกินบาง

สาวเอยโถน้ำใจเจ้าช่างดำ
แกล้งรักข้าให้ช้ำรักแล้วมาทำเหินห่าง
กลับไปรักหลงเจ้าหนุ่มต่างบาง
ข้าอดสูใจไม่สร่างเพราะเจ้ามาห่าง แรมรา

ข้าวเบาหน้านี้รวงดีเพราะมีลมโบก
ได้ลมฉ่ำฝนจนโชกแต่ใจข้าโศกหนักหนา
เจ้าสิ้นใจรักข้ายังภักดีเรื่อยมา
นี่หรือน้ำใจเจ้ากล้าทิ้งข้าไปได้ลงคอ

สาวเอยโถน้ำใจเจ้าช่างดำ
แกล้งรักข้าให้ช้ำรักพรากเจ้าเป็นคนก่อ
เจ้าลืมหรือโถข้าซื่อตรงรอ
กลับเถิดหนอใจข้าโศกเหมือนคอยลมโบก ข้าวเบา


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 13, 09:37
น่าตีมือตัวเอง  ว่าทำไมลืมไปสนิทว่าควรรำลึกถึงคุณยรรยงค์ เสลานนท์ในกระทู้นี้   ทั้งๆก็รู้ข่าวว่าท่านถึงแก่กรรมแล้ว   
ต้องขอบคุณคุณ Thapana ที่มารำลึกถึงท่านให้ดิฉันมีโอกาสโพสต์คลิปให้ชาวเรือนไทยได้ฟังเสียงท่านอีกครั้ง

คอยลม
http://www.youtube.com/watch?v=lAB_4-aoUp4


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 13, 09:39
เพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด  น้ำเสียงคุณยรรยงค์นุ่มนวลมาก

http://www.youtube.com/watch?v=uZ4z0j7Mz-M


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 13, 09:40
เพลง คู่ทาษ ที่นำชื่อเสียงมาให้คุณยรรยงค์

http://www.youtube.com/watch?v=QpRXhfLgvc8


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 13, 09:42
เพลงดังอีกเพลงหนึ่ง ที่เป็นเพลงคู่ของคุณยรรยงค์และคุณบุษยา รังสี

http://www.youtube.com/watch?v=eMtoU7iCJCA


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 เม.ย. 13, 10:57
ทราบข่าวการจากไปของคุณยรรยงค์จากกระทู้นี้ครับ

ร่วมอาลัยด้วยเพลงที่ชอบมากๆ เพลงนี้เป็นเพลงเก่า

        http://www.youtube.com/watch?v=hlg9LsabJvA

ที่คุณยรรยงค์บันทึกเสียงใหม่
เพลงไพเราะทั้งคำร้องและทำนอง

        http://www.youtube.com/watch?v=8xZagqMZXPY


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 13, 11:08
ในบรรดาเพลงที่คุณยรรยงค์ร้อง ชอบเพลงนี้มากที่สุด

http://www.youtube.com/watch?v=GQDlk294hys


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 13, 13:10
เพลง ใบไม้ร่วง เป็นอีกเพลงหนึ่งที่หาฟังยาก  ฝีมือบรมครูทั้งทำนองและเนื้อร้อง   เอื้อ  สุนทรสนาน และศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ

http://www.youtube.com/watch?v=jcB6KwCZ3zY

ครูศรีสวัสดิ์เป็นคนหนึ่งที่ชอบเล่นเสียง ร ล และควบกล้ำ ร ล ในวรรคเดียวกันหรือวรรคต่อเนื่องกัน    ทำให้เพลงของท่านร้องยากมากสำหรับนักร้องที่ไม่แม่นเสียงเหล่านี้   ไม่ว่าจะเป็น ลาทีปากน้ำ ปีศาจวสันต์ หรือเพลงนี้     
ถ้าร้องไม่ระวัง ลิ้นพันกันตกม้าตายกันได้ง่ายๆ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: thapana ที่ 26 เม.ย. 13, 18:48
ดาวเสียงอีกดวงหนึ่งที่เป็นทั้งนักพากย์ และนักร้อง จากเีราไปนานแล้วละครับ ผมลืมไปเอง เธอชื่อป้าจุ๊ จุรี โอศิริ ครับ

จุรี โอศิริ หรือในชื่อเล่นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ป้าจุ๊” เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิง โดยเป็นนักร้องหน้าม่านสลับละครของคณะผกาวลี และคณะศิวารมย์ ต่อมาแสดงเป็นนางเอกในละครเพลงเรื่อง “นเรศวรมหาราช” และได้เข้าไปเป็นนักร้องประจำวงดุริยางค์ทหารบก วงสุนทราภรณ์ เป็นผู้ประกาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย พากย์ภาพยนตร์ ตลอดจนแสดงละครเวที และโทรทัศน์ แสดงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของละครโทรทัศน์นั้นท่านยังคงแสดงอยู่อย่างสม่ำเสมอ นักพากย์ มาตราบจนทุกวันนี้

เมื่อปี พ.ศ. 2541 ท่านได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักพากย์และนักแสดง) ประจำปีพุทธศักราช 2541

ท่านยังได้รับรางวัลเกียรติยศจากทั้งการพากย์ และการแสดงภาพยนตร์หลายรางวัล ได้แก่
รางวัลสำเภาทอง ในฐานะผู้พากย์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง โบตั๋น
รางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะผู้พากย์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง นกน้อย เมื่อปี พ.ศ. 2507
รางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะผู้แสดงประกอบยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง วัยตกกระ เมื่อปี พ.ศ. 2522
รางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะผู้พากย์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ไร้เสน่หา เมื่อปี พ.ศ. 2522
รางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะผู้พากย์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง เทพธิดาโรงแรม เมื่อปี พ.ศ. 2525
รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะดาราสมทบยอดเยี่ยม จากละครโทรทัศน์เรื่อง สายโลหิต ประจำปี 2529
รางวัลวิก 07 ทองคำ ในฐานะดาราผู้ชนะใจกรรมการ ประจำปี พ.ศ. 2533
รางวัลวิก 07 ในฐานะดาราผู้ชนะใจผู้ร่วมงาน ประจำปี พ.ศ. 2534
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักพากย์และนักแสดง) ประจำปีพุทธศักราช 2541

ป้า จุ๊ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ มิได้ขาด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงละครการกุศล การขับร้องเพลงในคอนเสิร์ตการกุศล และอื่นๆ ทั้งยังเป็นศิลปินอาวุโสที่ให้ความเมตตาชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่ดารารุ่น หลัง ท่านจึงเป็นที่เคารพรักใคร่ของบรรดาศิลปินรุ่นน้องและรุ่นลูกหลานทั้งหลาย ที่สำคัญก็คือท่านเป็นดาราผู้มีภาพพจน์ดีงามเป็นที่ชื่นชมของแฟนๆ ภาพยนตร์ และละครทั่วประเทศทุกเพศทุกวัยมาเป็นเวลายาวนาน คุณสมบัติที่ดีเด่นของท่านอีกประการหนึ่งคือ การที่ท่านเป็นผู้ที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง นับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักแสดงอื่นๆ และประชาชนทั่วไปอีกด้วย

และป้าจุ๊ จุรี โอศิริ ผู้เป็นที่รักของคนวงการบันเทิงไทย ก็ได้เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักในจังหวัดเชียงรายเมื่อวานนี้ ด้วยโรคชราในวัย 83 ปี โดยลูกหลานใกล้ชิดกล่าวว่า ป้าจุ๊ได้ร้องเพลงให้ลูกหลานฟังก่อนจากไปอย่างสงบด้วย

http://www.youtube.com/watch?v=yfKCeLuTLWA

เพลงละครชีวิต เพลงที่สร้างชื่อให้ป้าจุ๊ในฐานะนักร้องครับ

http://www.youtube.com/watch?v=GXmBHSQdqbQ

เพลงเริงสุข เพลงหาฟังยากของป้าจุ๊ครับ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 13, 20:26
นึกถึงป้าจุ๊ทีไร ก็นึกถึงแต่บทบาทในละครที่สวมวิญญาณตัวละครได้หลากหลายยากจะหาใครเทียบ 
ความที่เห็นกันบ่อยในจอแก้ว  ทำให้ลืมไปว่านอกจากบทบาท  เสียงของป้าจุ๊ก็ให้ความบันเทิงแก่ประชาชนมานานหลายสิบปี
ขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่าในบรรดานิยายหลายสิบเรื่องที่นำไปทำละครโทรทัศน์    ดาราที่มารับบทบาทในเรื่องบ่อยที่สุดคือป้าจุ๊

http://www.youtube.com/watch?v=olX-J_lm_F4


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 13, 20:31
คลิปตอนนี้ นำออกฉายวนเวียนไปมาในศาลาที่ตั้งศพป้าจุ๊  ในงานสวดพระอภิธรรม   เป็นคลิปตอนที่ดิฉันชอบมากที่สุด     รักป้าจุ๊มากที่สุดกับบทบาทของคุณยายบุหงา ในเรื่อง "เส้นไหมสีเงิน"  ผู้กำกับการแสดงเรื่องนี้คือคุณชนะ คราประยูร  กำกับได้จับใจมาก

https://www.youtube.com/watch?v=CviehDf8-h8

ขออภัย ไม่สามารถนำออกจาก youtube มาให้ดูได้ค่ะ    ต้องเข้าไปดูตามลิ้งค์เอง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 13, 20:35
เพลง รอรัก
จากเสียงของป้าจุ๊  จุรี โอศิริ

https://www.youtube.com/watch?NR=1&v=NKpYZ5dMFD4&feature=endscreen


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 เม.ย. 13, 10:04
          ว่าจะ ๆ รำลึกถึง ป้าจุ๊ แต่โอกาสเวลาไม่อำนวย อีกท่านหนึ่งคือครูล้วน ควันธรรม
ฝากคุณ thapana ช่วยรำลึกด้วย ครับ

            รู้จักป้าจุ๊ตั้งแต่เด็กในฐานะนักพากย์ฝีปากเอก เคยได้เห็นป้าจุ๊พากย์สดรอบปฐมทัศน์
ที่ศาลาเฉลิมกรุงด้วย

ขอบคุณภาพจากเน็ท ครับ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 เม.ย. 13, 10:06
            หนึ่งในผลงานพากย์โดดเด่นได้รับรางวัลคือเรื่อง ไร้เสน่หา ที่ป้าจุ๊ให้เสียง
คุณพิศมัย จำได้ว่าป้าบอกว่าพากย์เรื่องนี้เหนื่อยมาก

            เมื่อป้าจุ๊มาแสดงหนังแสดงละครป้าจุ๊ก็ฝากผลงานประทับใจหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น
สายโลหิต ที่ป้าจุ๊แสดงได้อย่างทรงพลังมาก เรียกว่าป้านอนมารับรางวัลได้เลย

          http://www.youtube.com/watch?v=KbMx4McV8do


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 เม.ย. 13, 10:08
          หรือในเรื่อง ละครคน ป้าจุ๊ ก็รับบทเจ้าแม่ทีวีที่สง่างามน่าเกรงขาม มีเอกลักษณ์
เครื่องแต่งกายของป้าในเรื่องเป็นผ้าพาดไหล่ซ้ายติดเข็มกลัด

         http://www.youtube.com/watch?v=fKTjoqXhnlc&playnext=1&list=PLAPyVPHwT9l72ESIf5tofID6NWsfqMylr


          นอกจากนี้ก็ยังมี รัตนาวดี ธรณีนี่นี้ใครครอง ฯ
และ      เรื่องสุดท้ายที่ประทับใจการแสดงของป้ามากๆ ก็คือ เส้นไหมสีเงิน ที่อาจารย์ได้กล่าวไว้แล้ว


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: thapana ที่ 27 เม.ย. 13, 22:23
ถามถึงครูล้วน ควันธรรมแล้ว ประวัติท่านหาได้ยากเอาการครับ ผมเลยขอเอามาจากบ้านคนรักสุนทราภรณ์ซะเลย แฮะๆ (พอดียังมีภารกิจการงานที่โรงเรียนอีกครับ เจียดเวลาหาความสุขสักนิด ชีวิตจะสดใส เลยแอบโพสต์ตอนกลางคืนนี่แหละครับ  :D)

อาจารย์ล้วน ควันธรรม เป็นบุตรคนโตของนายลายและนางเฟื่อง ควันธรรม เกิดที่ธนบุรี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2455 มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันและต่างมารดา รวมทั้งสิ้น 7 คน

การศึกษา ประถมต้นที่โรงเรียนวัดสะพานสูง ประถมปลายที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ชั้นมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล

ชีวิตครอบครัว ได้ทำการสมรสกับ คุณนันทา พันธุ์พฤกษ์ บุตรีขุนจำรูญภักดี และนางตุ๊กตา พันธุ์พฤกษ์ เมื่อ พ.ศ.2499 มีบุตรธิดา รวมทั้งสิ้น 6 คน

ประวัติการทำงาน
- รับราชการกรมฝิ่น (กรมสรรพสามิต)
- รับราชการกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์)
- กองดุริยางค์ทหารอากาศ
- และ ทำงานส่วนตัว สอนหนังสือ และประพันธ์เพลง จัดรายการวิทยุ-ทีวี ตลอดมาจนกระทั่งถึงแก่กรรม

อาจารย์ล้วน ควันธรรม เป็นบุตรคนโต คุณพ่อรับราชการอยู่กรมฝิ่นในสมัยนั้น เมื่อคุณแม่ถึงแก่กรรม เมื่ออาจารย์ล้วนอายุได้ 11 ปี เนื่องจากมีนิสัยเป็นคนอยู่ไม่สุข ชอบคิดค้นคว้า วัยรุ่นเป็นนักมวยด้วยความจำเป็น เพราะถูกรังแก มีพลอากาศเอกบุญชู จันทรุเบกษา เป็นเพื่อนคู่หู ผลัดกันเป็นพี่เลี้ยงสมัยชกมวย ถ้าชนะได้รางวัลมาก็จะนำเงินมาซื้อของเลี้ยงเด็กๆ แล้วจึงหันมาร้องเพลง ถ้าร้องเพลงได้เงินมาก็จะนำมาเลี้ยงเพื่อนฝูงและเด็กๆ ชีวิตรักก็ธรรมดาๆ ประสาคนหนุ่มสมัยโน้น ด้วยความน้อยใจในผู้หญิง จึงเอาความนั้นมาผูกเป็นเพลง แต่มิใช่ดังข่าวที่เขาร่ำลือกันว่า รักกับคุณจุรี อุทัยกร ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้ามขาวกับดำเลยทีเดียว รับราชการมาก็หลายที่ ร้องเพลงประกวดได้รางวัลหลายแห่ง เป็นคนปากร้ายแต่ใจดี โอบอ้อมอารี รักพวกพ้อง เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นเรื่องใหญ่ ใครๆ ชอบล้อว่าขวาจัด อยู่กับเด็กๆ ตลอดมา รับเลี้ยงเด็กยากจน เด็กกำพร้าขาดผู้ปกครอง ด้วยความใจดีนี่แหละ ทำให้คุณล้วนและครอบครัวลำบาก ยากจน เพราะถ้าใครมาขอให้ช่วยเรื่องใดคุณล้วนจะช่วยทันทีหลายต่อหลายราย เพราะความใจดีนี่แหละ จึงเป็นเรื่องที่ต้องทุกข์ใจมาตลอดและมีโรคหัวใจติดตัว

อาจารย์ล้วน ควันธรรม มีชีวิตอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ แม้นว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ท่านก็ยังคงดิ้นรนต่อสู้อยู่เสมอ บทเพลงและเสียงเสน่ห์ก้องกังวานทั่วประเทศ แต่หากเบื้องหลังชีวิตของท่าน น่าเห็นอกเห็นใจยิ่งนัก ใครๆ ก็ชอบเสียงของท่าน ครั้งหนึ่งเราเคยได้ยินเสียงของท่าน ดินแดนแห่งดอกบัวงาม … พอย่างเข้าเขตหน้าหนาว ลมหนาวก็โชยพัดกระหน่ำ … แหวนที่เคยประดับนิ้วก้อย … และบางซื่อมันไม่ซื่อเหมือนบาง ฉันคิดถึงนางแล้วต้องร้องไห้ …

สนใจวิชาดนตรีตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียน เริ่มด้วยหีบเพลงปากซึ่งบรรเลงได้ดีมากสมัยที่คณะละคร "จันทโรภาส" ของ "พรานบูรพ์" กำลังรุ่งโรจน์ชอบติดตามไปหัดร้องเพลงข้างๆ หลืบ เมื่อภาพยนตร์พูดเสียงในฟิล์มเรื่องแรกเข้าฉายเมืองไทย - ริโอริต้า - มีคนนิยมร้องเพลงฝรั่งกันมาก จึงได้ซื้อแผ่นเสียงของนักร้องมีชื่อมาฝึกฝน เช่น คิด เพาเวล , จอน โบลท์ และ ลอเรนซ์ ทิเบต ระยะต่อมาท่านนิยมเสียงเทนเน่อร์ ของ เนลสัน เอดดี้ ฝึกจากเพลง Rose Mary จนกระทั่ง ล้วน ควันธรรม ได้ฉายาว่า " เนลสัน เอดดี้ " เมืองไทย และต่อมาได้ศึกษาการเรียนโน้ตสากลจาก " ครูสริ ยงยุทธ " เพลงแรกที่แต่งชื่อเพลง " วิมานในฝัน " เมื่อ พ.ศ. 2477 ตั้งแต่นั้นเรื่อยมาเป็นเวลา 32 ปี ท่านได้แต่งเพลงทั้งคำร้องและทำนองประมาณ 300 เพลง สำหรับเพลงที่ท่านแต่งคำร้องเข้ากับทำนองเพลงสากลประมาณ 30-40 เพลง

เมื่อราว พ.ศ.2482 กรมโฆษณาการได้รับสมัครนักร้อง ท่านได้ยื่นใบสมัครด้วยคนหนึ่งปรากฏว่า " สอบได้ " นักร้องยุคแรกนั้นคือ รุจี อุทัยกร , มัณฑนา โมรากุล และ ล้วน ควันธรรม คนริเริ่มตั้งวงดนตรีกรมโฆษณาการ คือ หลวงสุขุม นัยประดิษฐ์ สมัยคุณวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดี ก่อนเข้าทำงานกรมโฆษณาการได้รู้จักกับ ร.ท.ประสิทธิ์ ยังปรีดา ร.น. และ ร.ท.เขียน ธีมากร ซึ่งแนะนำให้ท่านเข้าไปร้องเพลงที่วิทยุศาลาแดง หรือ 7 พี.เจ.

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่กี่ปี ท่านก็ได้ตัดสินใจลาออกจากราชการนักร้อง นักแต่งเพลงโดยจัดวงดนตรีให้ชื่อว่า CHAMBER MUSIC ใช้นักดนตรี 4 คน แสดงครั้งแรกที่ศาลาเฉลิมกรุง และตระเวนเล่นดนตรีที่วิกชั้น 1 อื่นๆ อีกประมาณ 4 ปี สมัยนั้นมีคู่แข่งสำคัญคือ "วงดุริยะโยธิน"

ระหว่างที่ทำงานอยู่กรมโฆษณาการ ได้แต่งละครวิทยุ 30-40 เรื่อง เพลงที่เด่นในยุคนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายเพลง เช่น แหวนประดับก้อย , คำปฏิญาณ , เสียงกระซิบสั่ง , ค่ำแล้วในฤดูหนาว , ผีเสื้อกับดอกไม้ , เพลินเพลงเช้า , ระกำดวงจิต และ ใจเป็นห่วง ฯลฯ

นอกจากเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรจะลืมท่าน คือ ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดจังหวะเพลง " ตะลุงเทมโป้ " โดยใช้ลีลาการเชิดหนังตะลุงของชาวใต้ให้เข้ากับจังหวะเพลงสากล ปรากฏว่า " ตะลุงเทมโป้ " ครื้นเครงดี และสร้างเพลงมาร์ช " ปฐพีไทย " จากคำปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฟังแล้วขนลุกขนพองด้วยเพลงเลือดแห่งความรักชาติ

ชื่อเสียงของ " ล้วน ควันธรรม " ยังไม่ตาย … บทเพลง ท่วงทำนอง และเสียงอันเป็นเสน่ห์ของท่าน ยังคงเป็น "อมตะ" และนิรันดร มัจจุราชไม่เว้นใครทั้งนั้น 27 มกราคม 2522 ท่านจึงจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ...

http://www.youtube.com/watch?v=mXPmPzUwk3w

แหวนที่เคยประดับนิ้วก้อย... เพราะมากครับเพลงนี้

http://www.youtube.com/watch?v=JcI-JtixGBs

ผีเสื้อกับดอกไม้ อีกเพลงที่เป็นเหมือนลายเซ็นของครูล้วนครับ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: thapana ที่ 27 เม.ย. 13, 22:34
อีกท่านหนึ่งที่เป็นดาวเสียงเพลงไทยเดิมที่หาตัวจับได้ยากครับ...ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ครับ

ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต อนันตกุล  ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) พุทธศักราช  ๒๕๓๖ เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๗๑ เป็นผู้ที่เติบโตมาจากเชื้อสายของนักร้องและนักดนตรีไทย โดยแสดงดนตรีไทยได้รอบวงเมื่ออายุ ๘ ขวบ  ชนะการประกวดขับร้องเพลงไทยและเป็นนักร้องประจำวงดุริยประณีต ผลงานครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต อนันตกุล เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาและแพร่หลายเป็นที่นิยมทั่วไป ได้รับเชิญให้เป็นผู้สอนขับร้องเพลงไทยและดนตรีไทยกับครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา ในโรงเรียน สถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นครูสอนขับร้องและดนตรีไทยให้แก่สถาบันการศึกษา การบริการและเผยแพร่ความรู้การจัดรายการเพลงไทย เป็นผู้ริเริ่มจัดทำภาพโทรทัศน์ละครดึกดำบรรพ์ เพื่อเป็นต้นแบบของละครดึกดำบรรพ์ต่อไป

นับได้ว่า ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต อนันตกุล เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ทางด้านดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง  และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการดนตรีไทย ทั้งเป็นผู้ที่มีจิตใจเมตตาปราณีต่อทุกคนที่มาขอความช่วยเหลือ เผยแพร่ความรู้เป็นที่ยกย่องนับถือในวงการดนตรีไทย ทั้งยังทำคุณประโยชน์ให้กับวงการเพลงไทยอย่างมาก เป็นสมบัติสืบทอดไปยังชนรุ่นหลังสืบไป จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) พุทธศักราช ๒๕๓๖

http://www.youtube.com/watch?v=vEPDx44pD0M

หุ่นกระบอก จากเรื่องพระอภัยมณีครับ

"พระโหยหวนควรญเพลงวังเวงจิต   ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง   อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามค่ำร่ำฆ้องจะร้องไห้   ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย    น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำอยู่วังเวง"


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 13, 15:28
ขอรำลึกถึงเพลงของคุณครูล้วน อีกหลายเพลง  เช่น ค่ำแล้วในฤดูหนาว   ได้บรรยากาศครั้งกรุงเทพยังมีฤดูหนาว  ใครจะเชื่อว่า  ครั้งหนึ่งกรุงเทพเคยหนาวขนาดชาวกรุงต้องสวมเสื้อกันหนาว เดินกันริมถนนตัวสั่นงันงกทีเดียว

http://www.youtube.com/watch?v=XZJyAROmU2Y


เพลงบางปู (สะพานสุขใจ)

http://www.youtube.com/watch?v=XQ215YNg0KE


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 13, 15:37
รำลึกถึงครูสุดจิตต์  ด้วยเพลง

นกขมิ้น

http://www.youtube.com/watch?v=Bn6A4ieKZa4

เขมรเอวบาง

http://www.youtube.com/watch?v=MN5g5kLs_GE


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 13, 09:58
      ดาวเสียงดวงนี้  เป็นศิลปินเพลงพื้นบ้าน ลำตัด    ชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ  จนได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) ประจำปี 2531
     ครูหวังเต๊ะ มีชื่อจริงคือ หวังดี นิมา เกิดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2468 ที่จังหวัดปทุมธานี เป็นชาวมุสลิม เป็นศิลปินเพลงพื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญเพลงลำตัดเป็นพิเศษ ได้ตั้งคณะลำตัดชื่อ “คณะหวังเต๊ะ” รับงานแสดงมานานกว่า 40 ปี จนชื่อ หวังเต๊ะ กลายเป็นสัญลักษณ์ของลำตัด เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์และสืบทอดการแสดงพื้นบ้านได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
     ท่านมีความสามารถมีปฏิภาณไหวพริบ มีคารมคมคาย สามารถด้นกลอนสดและแต่งคำร้องได้อย่างยอดเยี่ยมโดยจะเน้นในด้านสุนทรียภาพ ความไพเราะงดงามทางภาษา ท่านใช้ความสามารถและศิลปะการแสดงประกอบสัมมาชีพอย่างซื่อสัตย์มาโดยตลอด ท่านมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ ถ่ายทอด เผยแพร่ศิลปะการแสดงลำตัดแก่อนุชนรุ่นหลัง เพื่อเป็นการสืบสานมรดกไทยไว้เป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบไป

    ในบั้นปลายชีวิต ครูหวังเต๊ะป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จนกระทั่งถึงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ก็ถึงแก่กรรม สิริอายุได้ 87 ปี

    http://www.youtube.com/watch?v=Q4Gk7oRC6Dk


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ค. 13, 10:00
 :D

http://www.youtube.com/watch?v=l_5J3lDEtmU


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 13, 11:08
ย้ายไปกระทู้นี้แล้วค่ะ

รำลึกถึงดาวเสียงต่างชาติต่างภาษาที่ดับแสงไปแล้ว (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5361.new#new)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 08 พ.ค. 13, 14:53
ชอบเพลงเก่าๆมากค่ะ มีความงดงามทางภาษาอย่างที่เพลงปัจจุบันหาฟังไม่ไ้ด้อีกแล้ว


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 13, 20:42
รำลึกถึงพัชรา แวงวรรณ ผู้จากไปก่อนวัยอันควร

พัชรา แวงวรรณ (พ.ศ. 2507-2555) เคยเป็นนักร้องนำของวง "โอเวชั่น" (Ovation) วงนี้เคยมีผลงานในช่วง พ.ศ. 2525 - 2532 กับสังกัดนิธิทัศน์ โปรโมชั่น
เพลงชื่อ "กล้ำกลืน"  เธอแต่งเอง

http://www.youtube.com/watch?v=Zaf-lHFtHb4


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 13, 20:50
เมื่ออำลาวงการเพลง พัชราเดินทางไปพำนักอยู่ในคาลิฟอร์เนีย  สหรัฐอเมริกา   ยึดอาชีพร้องเพลงตามร้านอาหาร และเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ เป็นเวลา 10 กว่าปี  จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ที่เมืองริเวอร์ไซด์ ลอสแอนเจลิส  เจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ สรุปผลว่าเป็นการฆ่าตัวตาย

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเธอทางประเทศไทยด้วยค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=x0kIzZ0aaQk



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 13, 20:52
จากอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของพัชรา แวงวรรณ  ทุยใจดำ

http://www.youtube.com/watch?v=BWaGkzKTTfA


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 13, 20:56
เพลงจากอัลบั้มชุดสุดท้ายของพัชรา   เพลง "ขอให้โชคดี" เธอแต่งเนื้อร้องเอง

http://www.youtube.com/watch?v=pz4LMkMAyeo


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ภูริทัต ที่ 09 มิ.ย. 13, 22:39
ขอเข้าหีองนี้มาฟังเพลงจากดาวเสียงที่ล่วงลับไปแล้ว
พาลให้นึกถึง นักประพันธ์เพลงอีกท่านหนึ่ง ที่ล่วงลับไปเมื่อหลายปี
จากการถูกฆาตกรรม  เพลงหลายเพลงของท่านยังเป็นที่รู้จักจวบจนปัจจุบัน
เนื้อเพลงของท่านจะมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร สำนวนสละสลวย
ปนเสียดสีในตัวได้อย่างแยบยล  มีการเปรียบเทียบ หักมุมเหมือนได้อ่านหนังสือที่สนุกๆเล่มหนึ่ง
น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงท่านเท่าไร คดีก็ถูกลืมเลือนไป หาตัวฆาตกรไม่ได้
ผมรักและซื่นชม ผลงานของท่านจวบจนวันนี้


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 13, 22:49
จำได้แต่ว่าเพลงของครูทวีพงศ์  นักร้องประจำคือธานินทร์ อินทรเทพ   นอกจากนั้นก็มีจิตติมา  เจือใจ
เพลงของท่านก็ยังมีนักร้องนำมาร้องใหม่ จนปัจจุบัน  อย่างเพลงนี้

http://www.youtube.com/watch?v=iTobk8clE4s

http://www.youtube.com/watch?v=SThYXzNejYY


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ภูริทัต ที่ 09 มิ.ย. 13, 23:59
เพลงนี้ดังมากในสมัยนั้น ฟังแล้วเศร้าปนสุข
ส่วนเพลงของ คุณ จิตติมา เจือใจ ก็เพราะอยู่หลายเพลง
แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม อย่างเพลง ตั้งแต่วันเธอจากฉันไป
เป็นเพลงที่ร้องได้อย่างถึงอารมณ์ แต่หาฟังยากอยู่สักหน่อย
ลองหาในยูทูปก็ยังไม่เจอ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 13, 11:01
http://www.youtube.com/watch?v=dSe5wDTzxyM
เพลงนี้ครูสุรพงศ์แต่งเนื้อร้องค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: MANANYA ที่ 14 มิ.ย. 13, 11:43
ขอบพระคุณท่านอาจารย์ เทาชมพู ครับ ทืี่ได้กรุณาแนะนำวิธีการโพสต์ภาพให้ผม

ส่วนนักร้องที่ชื่อ นันทา ขอแก้นามสกุลเป็น ปีตะนีละผลิน ผมไม่แน่ใจว่าท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ครับ

เพลงที่ได้ฟังนี้ ก็เคยได้ฟังมาตั้งแต่ผมยังรุ่น.. จำได้ว่าท่านนคร มงคลายน

ได้แต่งเพลงแปลงของเพลงนี้ ไว้ว่า " ขันจมบ่อ " ครับ ...นี่เป็นอีกเพลงหนึี่่ง

ของคุณ นันทา ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=p55lV53j5RQ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มิ.ย. 13, 11:55
พยายามหาประวัติคุณนันทาจากกูเกิ้ลก็หาไม่ได้  พบแต่คลิปเพลง "เพียงเห็นหน้า" ที่ในยูทูบบอกว่าร้องเมื่อพ.ศ. 2479  แต่ฟังสไตล์คุณนันทาแล้ว น่าจะร้องรุ่นเดียวกับคุณลัดดา ศรีวรนันท์   คือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  น่าจะเป็น 2497 มากกว่า
นักร้องที่เริ่มร้องยุคประมาณและหลังสงครามโลกล่วงลับไปกันเกือบหมดแล้วค่ะ  เหลืออยู่น้อยมากเช่นม.ร.ว.ถนัดศรี และ คุณสุเทพ

http://www.youtube.com/watch?v=DICxof5JjHg 


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มิ.ย. 13, 11:58
รอคุณ SILA มาเฉลยว่าคุณนันทายังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า
ระหว่างนี้ฟังอีกเพลงของเธอ    รู้จักแต่เวอร์ชั่นที่คุณลินจง บุนนากรินทร์ร้อง

http://www.youtube.com/watch?NR=1&v=4uXT1WuWM70&feature=endscreen


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 13, 14:30
ระหว่างหาคลิปเพลงในยูทูบ     ไปเจอคลิปเพลง "ผู้ใหญ่ลี" เวอร์ชั่นของ "สามศักดิ์"เข้าโดยบังเอิญ    เป็นเพลงดังมากในยุค 1960s    จนลังเลว่าจะนำลงในกระทู้ไหนดี ระหว่าง  บางกอกยุค 60 กับกระทู้นี้  แล้วตัดสินใจนำลงกระทู้นี้
นักร้องที่ร้องเพลงเหล่านี้ต่างล่วงลับดับแสงไปแล้ว   เหลือแต่คุณอรสา อิศรางกูรฯ นักร้องหญิงคนเดียวของวงนี้ อยู่เพียงคนเดียว

หนึ่งในนักร้องชายในคลิปนี้ ชื่อคุณอดุลย์ กรีน  (คนที่สองจากขวา)  เคยเป็นนักร้องวัยรุ่นในยุค 1960s ต้นๆ    คุณอดุลย์เป็นลูกครึ่งฝรั่ง   ร้องเพลงฝรั่งอย่างเพลง Running Bear ได้ไพเราะมาก    ต่อมาก็หันไปเอาดีทางเล่นหนังไทย  และร้องเพลงสนุกๆอีกหลายเพลง
คุณอดุลย์ กรีน ล่วงลับดับแสงไปตั้งแต่เมื่อใด  ไม่อาจในค้นกูเกิ้ลได้พบ     ทราบเพียงว่าบั้นปลายไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ จนถึงแก่กรรม

http://www.youtube.com/watch?v=6-Fz_9bqnEk&list=PLDF1F415CEAE2B29C


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 13, 14:37
เพลง หุ่นไล่กา   ของคุณอดุลย์ กรีน

http://www.youtube.com/watch?v=l-zCFELg0i4

จากทำนองเพลง Kaw-liga   ของราชาลูกทุ่งชาวอเมริกัน Hank Williams

http://www.youtube.com/watch?v=zcb-qxX7S88


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 13, 14:46
เพลงนี้หาในยูทูบไม่ได้  ไปเจอในเว็บนี้ค่ะ ต้องเข้าไปฟังกันเอาเอง
ไก่ย่าง ของอดุลย์ กรีน ทำนองจากเพลงไทยเดิม ลาวจ้อย หรือที่นักฟังเพลงไทยรู้จักกันในนาม สร้อยแสงแดง

http://saisampan.net/index.php?topic=31288.0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 13, 15:54
พอเอ่ยถึงวง สามศักดิ์ ทำให้นึกได้ว่ายังไม่ได้ระลึกถึงคนสำคัญอีกคนหนึ่งของวงนี้  คือ "ศักดิ์" แรก   สักรินทร์ ปุญญฤทธิ์
ดิฉันค้นประวัติไม่เจอ  จำได้แต่เพียงว่าเป็น เอลวิสเมืองไทย ตั้งแต่ปลาย 1950s หรือต้น 1960s  ในยุคที่วัยรุ่นไทยคลั่งไคล้เอลวิส เพรสลีย์
จำได้อีกอย่างว่าคุณสักรินทร์เรียนคณะถาปัด   จุฬาฯ    เป็นแฟนคุณอรสา อิศรางกูรฯ ต่อมาก็สมรสกัน 

ไปค้นในยูทูบ  พบว่ามีเพลงคุณสักรินทร์รวมอยู่ด้วย   

http://www.youtube.com/watch?v=9sH2jWT7icQ

ทำนองจาก Hound Dog ของเอลวิส เพรสลีย์

http://www.youtube.com/watch?v=lzQ8GDBA8Is

เห็นท่าเต้นของเอลวิส นึกถึงหนัง Forrest Gump ที่เอาท่านี้ไปล้อ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 13, 15:57
อีกเพลงหนึ่งของเอลวิส เมืองไทย  สมัยนั้นการแปลงเพลงจากฝรั่งเป็นไทยคงเป็นที่นิยมของวัยรุ่นเมืองหลวง    อย่างน้อยก็ร้องง่ายกว่า

http://www.youtube.com/watch?v=GxhpNEjU0_4

จากเพลง I'm All Shook Up

http://www.youtube.com/watch?v=WEAN5Mjgjr0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: MANANYA ที่ 16 มิ.ย. 13, 18:37
่ขอบพระคุณอาจารย์ เทาชมพู ที่จะลองตรวจสอบการมีชีิวิตอยู่หรือไม่ ของคุณนันทา ปีตะนีละผลิน
พร้อมทั้ง นำเสนอเพลงเพิ่มเติมด้วยนะครับ ...ผมเห็นคลิปเพลงของท่านนักร้องวงสามศักดิ์ ซึ่งได้จาก
พวกเราไปทุกท่านแล้ว ก็น่าใจหายครับ ... ทำให้รำลึกอดีตของท่านได้อีกยาวนานเลย.. ผมขอร่วมเสนอ
นักร้องรุ่นหลังที่ได้จากพวกเราไปเช่นกันครับ คุณกุ้ง กิติคุณ

http://www.youtube.com/watch?v=bhOCAOYfqZI


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: MANANYA ที่ 18 มิ.ย. 13, 15:59
นักร้องท่านหนึ่ง(ท่านเป็นเพื่อนสนิทกับผม) ที่ได้เสียชีวิตในขณะใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา
มีเพลงของท่านที่ฮิตตามสถานีวิทยุมายุคหนึ่งครับ ท่านคือ สรรชัย โกรานนท์


http://www.youtube.com/watch?v=6qge26QkVjU


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มิ.ย. 13, 17:20
เคยเป็นเพลงที่ชอบมาก   แต่ไม่ยักรู้อะไรเกี่ยวกับนักร้องท่านนี้เลย     
ขอบคุณคุณ MANANYA ที่นำมาทบทวนความหลังให้ฟังค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 13, 12:16
รายล่าสุดที่เป็นข่าววันนี้  ก้าน แก้วสุพรรณ นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง  เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ ในวัย 74 ปี

  ก้าน แก้วสุพรรณ มีชื่อจริงว่า"มงคล หอมระรื่น" เป็นชาว อ.สามชุก จ. สุพรรณบุรี   ในวัย 10 กว่าขวบ ก้าน แก้วสุพรรณบวชเป็นสามเณร และศึกษาพระธรรมจนจบนักธรรมตรีเมื่ออายุ 17 จากนั้นก็ถูกส่งมาสอบนักธรรมโทที่กรุงเทพ อยู่ที่วัดปรินายก  จากนั้นเมื่อสึกออกมา ก็หางานทำจนได้เป็นนักมวย ตระเวนชกตามงานวัดต่างๆ  ในยุคนั้น ในงานวัดมีเวทีประกวดร้องเพลงด้วย  ก็ลองไปสมัครประกวดดู จนได้รางวัลมาครองได้หลายครั้ง และเมื่อเห็นว่าการร้องเพลงดีกว่าการชกมวยที่ไม่ต้องเหนื่อยและเจ็บตัว ก้าน แก้วสุพรรณ ก็จึงตระเวนร้องเพลงประกวดไปเรื่อย จนหันมาเอาดีทางนี้ ด้วยการสมัครเป็นนักเรียนในโรงเรียนสอนดนตรีและขับร้องของ ครู ป. ชื่นประโยชน์    เมื่อครูมีงานแสดงก็มักถูกเรียกตัวไปร่วมในวงด้วย

ก้าน แก้วสุพรรณ หัดสีไวโอลิน และแซ็กโซโฟน แต่ครูเห็นว่าเขาน่าจะเอาดีได้ทางกลอง จึงให้ฝึกกลอง แต่ครูก็สอนโน้ตดนตรีและการร้องให้ ในที่สุด ก็แต่งเพลงให้เพลงหนึ่งชื่อ “ คนชาวนา “ พร้อมกับพาไปบันทึกเสียง เปลี่ยนชื่อเป็นก้าน แก้วสุพรรณ เพลงแรกที่ทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคือเพลง “ หลงกรุง ” ตามมาด้วยเพลง "แก่งคอย"

ก้าน แก้วสุพรรณตั้งวงดนตรี “ ประกายดาว “ รวบรวมเอานักร้องดังในยุคนั้นมาอยู่ในวงมากมาย ทั้ง สุรพล สมบัติเจริญ , ผ่องศรี วรนุช , ทูล ทองใจ , และคำรณ สัมบุณนานนท์ วงของเขาจึงมีงานเข้ามาไม่ขาดสาย จนรับไม่ไหว เขาจึงส่งเสริมให้ สุรพล สมบัติเจริญ แยกไปตั้งวงเพื่อแบ่งงานไปบ้าง

ต่อมาวง “ ประกายดาว “ เปลี่ยนชื่อมาเป็นวง “ ก้าน แก้วสุพรรณ “ และทั้งวงของเขาและของสุรพล ก็ยังคงมีงานเข้ามามากมาย
หลังจากที่สุรพล สมบัติเจริญ เพื่อนรักเสียชีวิต เมื่อ 16 ส.ค.2511 ก้าน แก้วสุพรรณเศร้าใจมากจึงยุบลง และเลิกราจากวงการลูกทุ่งไปทำกิจการด้านร้านอาหาร จัดสรรที่ดิน และปลูกบ้านจัดสรร  
เขาปั้นนักร้องลูกทุ่งประดับวงการด้วยหลายคน เช่น เพชร พนมรุ้ง กลอย มิ่งขวัญ ขวัญ เอื้อเฟื้อ และ ชุติกาญจน์ แก้วสุพรรณ  บุตรสาวของเขาเอง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 13, 12:17
เพลงดังของก้าน แก้วสุพรรณ

http://www.youtube.com/watch?v=_vIcHV08jB0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 13, 12:18
อีกเพลงหนึ่ง

http://www.youtube.com/watch?v=L781o61cbpU


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 13, 12:22
เพลงดังอีกเพลงหนึ่งของเขา รอยไถแปร

http://www.youtube.com/watch?v=H8gjZbnnwFI&list=PLBDFE461B58BFBDAE


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 13, 12:25
ก้าน  แก้วสุพรรณขึ้นเวทีเป็นนักร้องรับเชิญ  เมื่อวัยสูงขึ้นแล้ว

http://www.youtube.com/watch?v=KYSamlV8gyU


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 14, 20:06
ดางเสียงดวงล่าสุดที่เพิ่งได้ข่าว คือคุณอดิเรก จันทร์เรือง นักร้องที่ร่วมยุคกับคุณสุเทพ วงศ์กำแหง คุณธานินทร์ อินทรเทพ คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวาฯลฯ จากไปเสียแล้วเมื่อเดือนมิย. ปี 2556

อดิเรก จันทร์เรือง เริ่มคลุกคลีงานแสดงตั้งแต่อายุ 10 ขวบ อยู่ในคณะละครผกาวลีของเครือญาติ ซึ่งมีโต้โผคือศิลปินแห่งชาติ ครูประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง กับคู่ชีวิต ครูลัดดา สารตายน นอกจากร่วมเล่นละครกับผกาวลี  คุณอดิเรกยังข้ามไปแสดงละครเรื่องกู้ราชบัลลังก์กับคณะศิวารมย์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ และนเรศวรกับคณะอัศวินการละคร รวมถึงคณะเทพศิลป์ในบางโอกาส

เมื่ออดิศักดิ์ เศวตนันทน์ กับสวลี ผกาพันธุ์ได้ตั้งคณะละครชื่นชุมนุมศิลปินขึ้นมา อดิเรก จันทร์เรือง ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในนักร้อง เช่นเดียวกับ ชรินทร์ นันทนาคร, สุเทพ วงศ์กำแหง, นริศ อารีย์ และพูลศรี เจริญพงษ์ เพียงแต่อดิเรกมักนำเพลงสากลของแฟรงค์ ซิเนตร้า, ดีน มาร์ติน และแอนดี้ วิลเลียมส์ มาขับร้อง

กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อคณะชื่นชุมนุมศิลปินเป็นคณะแรกที่ได้จัดรายการเพลงทางทีวี ในสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม ครูสมาน กาญจนผลิน ผู้ควบคุมวงดนตรี ได้แต่งเพลง "ผมเอง" ให้อดิเรกร้องบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรก ต่อด้วยเพลง "สวรรค์บนทราย" อดิเรกมามีชื่อเสียงกับเพลงไทยเมื่อนำเพลง "ไก่ฟ้า" ของชาญ เย็นแข มาร้องใหม่ ต่อเนื่องด้วยการอัดแผ่นเพลง "ชุมทางชีวิต" (คำร้อง-อดิเรก ทำนอง-นริส ทรัพยประภา) และเพลง "ทะเลน้ำตา" ของ ป.ชื่นประโยชน์

คุณอดิเรกเริ่มร้องเพลงประจำที่นาทัวร์ริสและโรงแรมโอเรียนเต็ล มีโอกาสไปหาสุเทพ วงศ์กำแหง ที่ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา จึงร่วมก่อตั้งคณะสุเทพคอรัส ภายหลังจึงได้ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา มาร่วมคณะ เมื่อสุเทพมีภารกิจต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น คณะสุเทพคอรัสจำเป็นหยุดพักชั่วคราว

ระหว่างนั้นครูลัดดา สารตายน (ศิลปบรรเลง) มีโครงการนำศิลปะนาฏศิลป์ไทยไปแสดงที่ยุโรปและอเมริกา อดิเรกซึ่งมีความฝันอยากเห็นความศิวิไลซ์ของโลกตะวันตก ก็ติดตามไปแสดงที่อังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, สวีเดน ชาวคณะผกาวลีกว่า ๒o คนได้รับเกียรติแสดงต่อหน้าพระพักตร์พระราชินีเดนมาร์ก ก่อนจะข้ามฝั่งไปแสดงอีก ๒๖ รัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อสิ้นสุดการแสดงที่มหานครนิวยอร์ก อดิเรกตัดสินใจไม่กลับเมืองไทยพร้อมคณะ และเริ่มชีวิตโรบินฮู้ด  ตระเวนร้องเพลงตามสถานบันเทิง อดิเรกพกพาความมุ่งมั่นไปพบวิลเลียมส์ มอริส เอเยนซีคัดเลือกศิลปินออกรายการทูไนท์โชว์ที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี จนมีโอกาสให้จอห์นนี คาร์สัน พิธีกรทูไนท์โชว์สัมภาษณ์ชีวิตและเรื่องราวการแสดงข้ามประเทศของคณะผกาวลี

อดิเรก จันทร์เรือง กลับเมืองไทยมาร้องเพลงโชว์ตัวที่โรงแรมคาร์ลตัน และแสดงหนังเรื่องพระเพลิงแดงปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังกลับไปนิวยอร์กไม่นาน ก็ย้ายที่พำนักไปอยู่ที่รัฐมิชิแกน เริ่มต้นจากตระเวนร้องเพลง ก่อนเข้าเป็นพนักงานโรงงานผลิตรถยนต์เจนเนอรัลมอเตอร์ส ต่อมาได้ลงทุนธุรกิจร้านอาหารไทยแบงกอกบิสโทรที่เมืองทรอย ก่อนจะขยายสาขามาเปิดบางกอกบิสโทรคาเฟ่ที่เมืองสเตอริง ฮายด์ และได้รับรางวัลร้านอาหารไทยคุณภาพ จากการสำรวจของกระทรวงพาณิชย์ในทวีปยุโรปและอเมริกา

อดิเรกหรือเอ็ดดี้ มิชิแกน ถือกรีนการ์ดสัญชาติอเมริกันและใช้ชีวิตอยู่กับภรรยา ลาวัณย์ ลูกชาย ดิเรก จันทร์เรือง และลูกสาวเมธาณี จันทร์เรือง อยู่ที่รัฐมิชิแกน ซึ่งขยายธุรกิจร้านอาหารไทยครอบคลุมไปถึงชิคาโกและตามเมืองใหญ่ เนื่องจากอาหารไทยมีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจที่ดี

เมื่อเกษียณตัวเองหลังจากอุบัติเหตุหกล้มระหว่างกวาดหิมะที่บ้าน คุณอดิเรกกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยตามลำพัง  โดยยังยึดอาชีพร้องเพลงอีกครั้งหนึ่ง

คุณอดิเรกถึงแก่กรรมในวันที่ 23 ตุลาคม 2556    ด้วยโรคไตวายซึ่งเป็นผลมาจากเบาหวานเรื้อรัง    อายุ 79 ปี



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 14, 20:09
สวรรค์บนทราย
http://www.youtube.com/watch?v=K2mKbI2NBxQ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 มี.ค. 14, 09:52
          เคยดูและฟังคุณอดิเรก จันทร์เรือง ร้องเพลงออกรายการทางทีวี ครับ และ ยังจำได้
ว่าคุณอดิเรกได้แต่งงานกับนักแสดงสาวเจ้าของลักยิ้มพิมพ์ใจแห่งช่องสี่ บางขุนพรหม นั่นคือ
คุณฉันทนา ธาราจันทร์ ที่ต่อมาได้ผันตัวมาอยู่เบื้องหลังเป็นนักพากย์ ผู้ให้เสียงโดราเอมอน
และการ์ตูนเรื่องอื่นๆ

คุณฉันทนาขวามือ ทางซ้ายคือคุณศันสนีย์ ผู้ให้เสียงโนบิตะ
(ภาพจากพันทิปโดย Gloomy Eeyore)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 เม.ย. 14, 20:49
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=2745.0;attach=42883;image)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 12 เม.ย. 14, 20:57
บังเอิญเจอในเว็บแห่งหนึ่ง เพลงดรรชนีไฉไลที่ทุกคนรู้จัก เวอร์ชั่นแรกสุด ผู้ขับร้องคือคุณอดิเรก จันทร์เรือง กับคุณสวลี ผกาพันธ์
เวอร์ชั่นที่แพร่หลาย คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้องกับคุณนภา หวังในธรรม

ท่านผู้ใดมี ช่วยแปะให้สมาชิกได้ฟังก็จะเป็นพระคุณครับ :D
หรือจะหลังไมค์มาขอลิงค์ที่ผมก็ได้ จะบอกวิธีเล็ดลอดเข้าไปให้ครับ เพราะต้องเป็นสมาชิกถึงไปดูได้ อิอิ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 14, 17:32
ยังไม่เคยฟังดรรชนีไฉไล เสียงร้องของคุณอดิเรกค่ะ   ยังหาไม่เจอในยูทูปด้วย


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: thapana ที่ 30 เม.ย. 15, 22:30
ล่าสุดครับ เมื่อเย็นนี้เอง คุณลินจง บุนนากรินทร์ นักร้องแผ่นเสียงทองคำพระราชทานครับ

๓๐ เมษายน ๒๕๕๘ ครับ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ค. 15, 14:36
http://www.youtube.com/watch?v=AuFmJQmEyt4#ws (http://www.youtube.com/watch?v=AuFmJQmEyt4#ws)

วงการเพลงสูญเสีย 'ลินจง บุนนากรินทร์' นักร้องเสียงคีรีบูน เจ้าของบทเพลงอมตะ "รักปักใจ" และ "ชีวิตฉันขาดเธอไม่ได้" ในวัย ๗๑ ปี หลังเกิดอาการเลือดซึมออกจากมะเร็งที่ตับอ­่อนและมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=2745.0;attach=42883;image)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ค. 15, 14:47
รักปักใจ คำร้องโดยสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ทำนองโดยสมาน กาญจนะผลิน ดัดแปลงทำนองไทยเดิมสำเนียงจีน เพลง “จีนไจ๋ยอ” บันทึกเสียงครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ขับร้องโดย นันทา ปิตะนีละผลิน  เพลงนี้ดังสุดด้วยเสียงขับร้องของคุณลินจงจนได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔

ข้อมูลจาก คุณวรพร (http://saisampan.net/index.php?topic=55885.0)

http://www.youtube.com/watch?v=AOHshKU6ioI#ws (http://www.youtube.com/watch?v=AOHshKU6ioI#ws)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 01 พ.ค. 15, 15:40
ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของคุณลินจงด้วยครับ
เพลงคู่ส่วนใหญ่ท่านจะร้องคู่กับคุณชรินทร์... ชรินทร์-ลินจง

กระทู้นี้นิ่งไป ๑ ปีเต็มๆทีเดียว


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 พ.ค. 15, 19:25
ขอฟังเพลงนี้ 3 จบ เพื่อระลึกถึงคุณลินจง บุนนากรินทร์ "จันทร์เอ๋ย" หนึ่งในเพลงโปรดที่สุดตลอดกาลของผม

http://www.youtube.com/watch?v=9JLWgSjD2Ko# (http://www.youtube.com/watch?v=9JLWgSjD2Ko#)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 15, 07:54
ทุกครั้งที่กระทู้นี้เปิดขึ้นมาในหน้าแรกอีก  ก็ได้แต่ใจหาย เพราะรู้ว่าศิลปินที่ขับกล่อมให้พวกเราเป็นสุขด้วยเสียงเพลง
ได้จากไปอีกคนหนึ่งแล้ว
ขอให้วิญญาณคุณลินจงไปสู่สุคติค่ะ

กาลเวลา - จากกันอย่าลา - ลินจง บุนนากรินทร์ (http://www.youtube.com/watch?v=DQAaQ9cbiiM#ws)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 15, 08:08
ฟังเพลงจีน เถียนมีมี่จากคุณลินจงแล้วใจหายอีกครั้ง     เธอยิ้มอย่างเป็นสุขเมื่อร้องเพลงนี้  เหมือนได้กำลังใจจากเพลงที่เธอรักอีกครั้ง

จูบฉันแล้วจงตายเสีย - เที่ยนมีมี่ - อารีซัน - ลินจง บุนนากรินทร์ (http://www.youtube.com/watch?v=U2lNlblEp3A#ws)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 พ.ค. 15, 10:10
           ป้าหลินเคยเล่าว่า เป็นกำพร้าแต่เล็กเมื่อพ่อกลับไปเมืองจีนแล้วไม่กลับมาอีกเลย
ในวัยเด็กป้าได้เล่าเรียนร.ร. สองภาษาคือไทย จีน ทำให้ได้ใช้วิชาร้องเพลงจีนมาแต่เด็ก             
            ตอนดูรายการทีวีเห็นป้านั่งรถเข็นร้องเพลงได้เหมือนปกติในรายการดนตรีในสวน
ยังนึกว่าป้าป่วยด้วยโรคทางกระดูก เมื่อตามข่าวรู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นโรคร้าย(มาก) ก็อดจะ
ใจหายไม่ได้ เพราะเคยคุ้นได้เห็น ได้ยินเสียงป้ามาแต่เด็กๆ

ตอนแรกป้าหลินใช้ชื่อนามสกุลว่า บุนนาก ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นบุนนากรินทร์ในเวลาต่อมา
ภาพจาก thaigramophone.com


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 พ.ค. 15, 10:11
          หนึ่งในเพลงฮิทของป้า ซึ่งเป็นเพลงคู่ คือเพลง มนต์รักดอกคำใต้ ผลงานการประพันธ์
โดยคู่คีตกวี สง่า ชาลี เว็บสมาพันธ์เรดิโอ กล่าวว่า


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 พ.ค. 15, 10:13
        นอกจากเพลงมนต์รักดอกคำใต้ ซึ่งใช้ประกอบหนังเรื่องแมวไทย เพลงดังของป้าเพลงอื่นๆ
จากหนังยังมีอีก เช่น จากกันอย่าลา จากเรื่อง เมขลา จูบฉันแล้วจงตายเสีย จาก กระเบนธง และ
เพลงโปรดคุณอาชา จันทร์เอ๋ย ก็จำได้ว่าเป็นเพลงในละครทีวี เรื่อง รถรางสายปรารถนา

      มนต์รักดอกคำใต้ ชรินทร์ ลินจง ชุด คู่รัก คู่ชื่น 2 (http://www.youtube.com/watch?v=eu2zEHDexco#ws)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 พ.ค. 15, 22:48
ข้อมูลใน wiki บอกว่าจัทร์เอ๋ยเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องปิดทองหลังพระ ปี 2482 ซึ่งถ้าข้อมูลถูกต้องแสดงว่าคุณลินจงไม่ใช่ผู้ร้องเพลงนี้เป็นท่านแรกครับ

ผมรู้จักเพลงนี้จากละครเรื่อง ซอยปรารถนา ๒๕๐๐ (เป็นละครสักสิบกว่าปีที่แล้ว ไม่ได้ฉายปี ๒๕๐๐ นะครับ) เข้าใจว่าเป็นคุณลินจงร้องครับ แต่ไม่ทราบว่าร้องเพื่อประกอบละครเรื่องนี้โดยเฉพาะ หรือว่าบันทึกเสียงไว้ก่อนหน้านั้นนานแล้วนะครับ

ต้องชมเชยคุณสินนภา สารสาส ผู้ทำเพลงประกอบละครเรื่องนี้ เลือกเอาเพลงจันทร์เอ๋ยมาใช้ร่วมกับ Symphony No.9 "From the New World" ของ Antonin Dvorak ได้อย่างเหมาะเจาะมากครับ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 15, 07:37
จันทร์เอ๋ย ไม่ใช่คุณลินจงร้องเป็นคนแรกแน่นอนค่ะ   ดิฉันจำเพลงนี้ได้ตั้งแต่เด็ก   เคยคิดว่าเป็นเพลงประกอบละครเวทีมาก่อน   ท่วงทำนองเป็นเพลงยุคก่อนสงครามโลก


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 พ.ค. 15, 10:25
          ละครหลังข่าวช่องเจ็ดสีเรื่องเดียวกัน ครับ
          แต่จำชื่อ เป็นรถรางฯ ด้วยความคุ้นเคยจากบทละครดั้งเดิม(ต่อมาเป็นหนัง) เรื่อง
A Streetcar Named Desire ของ Tennessee Williams ที่อ.มัทนีแห่งมธ.แรกนำ
มาทำเป็นละครเวทีเมื่อหลายสิบปีก่อน และใช้ชื่อว่า รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา จากนั้นจึงมี
การจัดแสดงที่อื่นๆ เป็นครั้งคราว

          เพลงนี้เคยรวบรวมอยู่ในอัลบั้ม พวงร้อย ที่ได้รับคำนิยมในปี 2508 เสียงร้องโดย
คุณวิสุตา สาณะเสน ภรรยาของอ.อวบ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักดนตรี(ไวโอลิน) แบ็คอัพด้วย 

              https://www.youtube.com/watch?v=ODw-vpdNRI4 (https://www.youtube.com/watch?v=ODw-vpdNRI4)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 พ.ค. 15, 10:31
http://www.youtube.com/watch?v=ODw-vpdNRI4#ws (http://www.youtube.com/watch?v=ODw-vpdNRI4#ws)

เพลงนี้ประพันธ์คำร้องโดยพระยาโกมารกุลมนตรี ทำนองโดยท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ (สนิทวงศ์) ศิลปินแห่งชาติ ๒๕๒๙ สาขาเพลงไทยสากล ในฐานะนักดนตรีเอกและนักประพันธ์เพลงหญิงคนแรกของไทย เพลงนี้ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง " ปิดทองหลังพระ " ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ฉบับนี้ขับร้องโดย คุณวิสุตา สาณะเสน ดนตรีโดย คณะดนตรีอาจารย์ปิยะพันธ์และเพื่อน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 20 มิ.ย. 15, 10:23
http://www.youtube.com/watch?v=LuEOJ5CKNkI (http://www.youtube.com/watch?v=LuEOJ5CKNkI)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 15, 14:30
ไม่กี่วันมานี้  เพื่อนส่งคลิปวิดีโอมาให้ทางไลน์ เพื่อจะถามชื่อเพลงและหาเพลงเต็มๆ  ก็เลยไปค้นให้ทางยูทูป  จึงพบชื่อบุญช่วย หิรัญสุนทร  นักร้องเพลงไทยสากลรุ่นเก่า ว่าเป็นผู้ร้องเพลงนี้   
ไปหาประวัติคุณบุญช่วย พบว่าดับแสงไปตั้งแต่พ.ศ. 2438  จึงขอนำมารวมไว้ในกระทู้นี้ค่ะ

บุญช่วย หิรัญสุนทร เป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 บิดารับราชการตำรวจ ชีวิตวัยเด็กต้องติดตามบิดาไปราชการในจังหวัดต่างๆหลายครั้ง และได้กลับมากรุงเทพฯ
เริ่มเข้าสู่วงการศิลปินเพราะมีเพื่อนนักแสดงประจำละครร้องคณะ”แม่เลื่อน” ซึ่งเป็นละครที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น เพื่อนผู้นั้นได้ฝากบุญช่วยเข้าอยู่กับคณะแม่เลื่อนในตำแหน่งลูกหาบ และได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดต่างๆ อีกครั้งในวัยรุ่นกับคณะแม่เลื่อน จนกระทั่งเลิกละครหญิงและสลายตัว
เกิดละครยุคใหม่ คือละครชายหญิงแท้ บุญช่วยจึงสมัครเข้าไปอยู่กับคณะ”ศิวารมณ์” โดยเริ่มจากเป็นเด็กยกฉากละคร และเปลี่ยนมาหัดตีกลองจนได้ตำแหน่งใหม่เป็นนักดนตรี
ได้มีโอกาสรู้จักกับ สง่า อารัมภีร์ ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงคณะศิวารมณ์ขึงฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ครูสง่าเห็นแววว่านอกจากจะเป็นนักดนตรีแล้ว บุญช่วยยังมีเสียงกังวาน เสียงที่จะเป็นนักร้องที่ดีได้ จึงสนับสนุนให้ขึ้นร้องเพลงสลับหน้าม่านเวลาละครเปลี่ยนฉากเลยได้เป็นนักร้องอย่างเต็มตัวอีกตำแหน่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากแฟนละคร

ต่อมาเขาได้เริ่มแต่งเพลงเอง และแต่งให้เพื่อนนักร้องอื่นๆ ร้องจนได้รับความนิยมมาตลอดทั้งในด้านเวทีและแผ่นเสียง นอกจากจะร้องประจำคณะศิวรมณ์แล้ว บุญช่วยยังได้เคยร่วมร้องกับคณะเทพศิลปะ-คณะพันตรีศิลปะของพันตรีโปรย อังสุกรานต์ และวงดนตรีดุริยโยธิน ของกองดุริยางค์ทหารบกอีกด้วย
จนกระทั่งถึงวันเกียรติยศ เมื่อกรมโฆษณาจัดการประกวดนักร้องแห่งประเทศไทยครั้งแรกขึ้น ในปี พ.ศ. 2492 คณะพันตรีศิลปะส่งเขาเข้าประกวด เขาได้รับรางวัลชนะเลิศได้ตำแหน่งนักร้องแห่งประเทศไทย

ในช่วงปี 2492-2494 บุญช่วยได้ร้องเพลงบันทึกลงแผ่นเสียงไว้จำนวนมาก เช่น น้ำตาแสงใต้, นางแก้วในดวงใจ, รักข้ามขอบฟ้า, อ้อมอกแม่

ปี 2495 ได้เดินทางไปกล่อมขวัญทหารไทยในราชการสงคราม ที่ประเทศเกาหลี ได้รับเหรียญทหารผ่านศึกไว้เป็นเกียรติประวัติ

กลับจากราชการสงคาม ได้เดินทางไปพากย์ภาพยนตร์ตามจังหวัดต่างๆ อยู่ระยะหนึ่ง ควบคู่กับการร้องเพลงทั้งในไนท์คลับ ภัตตาคาร และงานต่างๆอย่างต่อเนื่อง

ต้นปีพ.ศ. 2535 เข้าร้องเพลงประจำที่ ครัวรสสุคนธ์ คฤหาสน์เพลงเก่าของโรงแรมแปซิฟิค พลาซ่า และเสียชีวิตลงด้วยหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลันบนเวทีคฤหาสน์เพลงเก่า เมื่อเวลา21.40น. ในคืนวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2538

 (http://www.youtube.com/watch?v=61Ln7kpfeVE[/url)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 15, 14:34
เกียรติศักดิ์ทหารเสือ   เนื้อร้องจากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 (http://www.youtube.com/watch?v=_kHJglsTjM4&list=PLl7FL9hv9pvOa77UIzhWGtUBraGfN8zwq&index=33[/url)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 15, 14:43
เพลง กล่อมนิทรา ที่บุญช่วยร้อง  น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ทำนองเดียวกันกับ  สั่งฟ้าฝากดิน ที่ชรินทร์ นันทนาครขับร้อง


 (http://www.youtube.com/watch?v=AJeFyNj4hVY&list=PLl7FL9hv9pvOa77UIzhWGtUBraGfN8zwq&index=7[/url)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 15, 14:45
เพลงปลุกใจ สดุดีบรรพไทย  มีประวัติบอกไว้สั้นๆว่า
คำร้อง : แก้ว อัจฉริยกุล , ทำนอง : เอื้อ สุนทรสนาน , ขับร้อง : ทัศนัย ชะอุ่มงาม , บุญช่วย หิรัญสุนทร ,
เป็น ๑ ใน ๔ เพลงที่ใช้เป็นเพลงบังคับในการประกวดนักร้­องแห่งประเทศไทย เพลงนี้แต่งเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๙๒
ปีนั้นประเทศไทยมีประชากร ๑๘ ล้านคน

 (http://www.youtube.com/watch?v=2vkHDW8juDM&index=2&list=PLl7FL9hv9pvOa77UIzhWGtUBraGfN8zwq[/url)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 16, 16:59
อาจจะช้าไปหน่อยนะคะ ที่จะรำลึกถึงดาวเสียงคนนี้   แต่มาช้ายังดีกว่าไม่มา

ในวงการบันเทิง รู้จักสีหนุ่ม เชิญยิ้มในฐานะตลกดัง  หนึ่งผู้ก่อตั้งตลกเชิญยิ้ม      ชื่อเสียงเขาโด่งดังด้านเล่นตลก  จนเกือบจะทำให้กลบพรสวรรค์อีกด้านหนึ่งของเขา คือนักร้องที่ร้องเพลงลูกทุ่ม และเพลงไทยเดิมได้ไพเราะหาตัวจับยาก

ครั้งแรกที่ได้ฟังวิดีโอคุณสีหนุ่ม ร้อง ลาวดวงเดือน   อัศจรรย์ใจจนนึกว่าพากย์เสียง  แต่มาดูอีกที   ก็ไม่น่าจะพากย์   น่าจะเป็นเสียงแท้
เป็นเสียงที่สูง หวาน เอื้อนเสียง ลงลูกคอ ได้ชัดเจนตามลำดับคีย์เสียงไม่มีผิดเพี้ยนเลย   น่าเสียดายมากที่คุณสีหนุ่มร้องเพลงไทยเดิมไว้เพียงสองสามเพลง

http://www.youtube.com/watch?v=Y1OJNEkovMI


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 16, 17:01
สีหนุ่ม เชิญยิ้ม  ร้อง "ยอยศพระลอ"

http://www.youtube.com/watch?v=GHtj7rooROs


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 16, 17:04
สีหนุ่ม เชิญยิ้ม กับ "เพชรร่วงกลางสลัม"
มีโน้ต เชิญยิ้มรำประกอบด้วย   มาดราวกับดาราร.ร.นาฏศิลป์เก่า    มีคนบอกว่าโน้ตเคยฝึกลิเกมาก่อน

http://www.youtube.com/watch?v=aD8iUt2XEdY


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 16, 17:10
เพลงนี้ส่งให้สีหนุ่มโด่งดังในวงการเพลงลูกทุ่งค่ะ

 (http://www.youtube.com/watch?v=HA6ojIKfVHU[/url)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 16, 17:14
ส่งท้ายค่ะ

 (http://www.youtube.com/watch?v=seVfGDYwPUg[/url)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 ม.ค. 16, 11:50
ดาวดับ(ลับฟ้าเมืองไทย) ด้วยอายุขัย 69 อีกหนึ่งดวง

             แม่ต้อย หรือ ป้าต้อย ของคนรุ่นหลัง, เพิ่งเห็นผลงานทางทีวีในละครเรื่อง สะใภ้จ้าว ดูสุขภาพ
ดีอยู่, จากไปด้วยภาวะการหายใจล้มเหลวจากปอดติดเชื้อ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 ม.ค. 16, 11:53
          เหมือนกับนักแสดงหญิงหลายคนของช่องสี่ บางขุนพรหม ป้าต้อยก็เริ่มต้นจากการเป็นศิษย์
นาฏศิลป์สัมพันธ์ เรียนรำไทยจนได้ออกแสดงทางจอแก้วแล้วมีผลงานต่อตามมาตั้งแต่ยังเป็นด.ญ.
ป้าทั้งร้องเพลงและเล่นละครเป็นนางเอกหลายเรื่อง           
          จากช่องสี่ป้าต้อยย้ายมาเป็นนักพากย์ที่ช่องสาม แล้วออกมาเป็นนักพาย์อิสระที่ได้ให้เสียงซีรี่ส์
โด่งดัง นั่นคือ โอชิน ทางช่อง 5 สนามเป้า

นานมากกกแล้วแต่ยังคงจำเพลงนี้ได้
http://www.youtube.com/watch?v=BSIKaFvI3JU (http://www.youtube.com/watch?v=BSIKaFvI3JU)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ม.ค. 16, 12:55
ขอให้คุณป้าต้อยเดินทางไปสู่สุคติเทอญ (http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley17.png)

ภาพป้าต้อยหน้าปกหนังสือไทยโทรทัศน์ ฉบับที่ ๑๔๐ กันยายน ๒๕๐๘


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 16, 18:16
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเธอด้วยค่ะ     

 (http://www.youtube.com/watch?v=5HWe2zDE3SY[/url)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 16, 20:05
     http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9590000119026

     วันที่ 28 พ.ย. 2559 เมื่อเวลา 15.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานที่ห้องขาว ด้านหลังของโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ นางสาวนภัสวรรณ จันทร์คณา บุตรสาวของ นาย จงรักษ์ จันทร์คณา นักแต่งเพลงและครูเพลงไทยสากล วัย 78 ปี ที่เสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อเวลา 00.26 น. ที่ผ่านมา โดยบุตรสาวได้เดินทางมาขอรับศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ ศาลา 10 วัดธาตุทอง กทม.
       
       นางสาวนภัสวรรณ เปิดใจทั้งน้ำตาว่า คุณพ่อจากไปด้วยอาการป่วย โรคเบาหวาน ความดัน ไข้ และติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยอาการแรกพบ คือ จุกแน่นหน้าอกและหายใจไม่ออก ตนเองจึงรีบพามาหาหมอ จนกระทั่งคุณหมอแจ้งว่า คุณพ่ออาการหนักและต้องเข้าห้องไอ.ซี.ยู. จนกระทั่งเวลา 00.26 น. ได้สิ้นลมหายใจในที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา คุณพ่อไม่เคยบอกกล่าวเรื่องโรคที่เป็นให้กับตนเองรับรู้เลย และมักจะเป็นผู้นำครอบครัวที่ดี เป็นพ่อตัวอย่างของบุตรมาเสมอ การจากไปของคุณพ่อถึงแม้จะเป็นความสูญเสียที่เรียกกลับคืนไม่ได้ ตนเองก็ยังรู้สึกภูมิใจที่พ่อสู้ชีวิตและสร้างสรรค์ผลงานเพลงไทยสากลมากกว่า 5,000 เพลง
       

       สำหรับ ครูจงรักษ์ จันทร์คณา เป็นทายาทของครูเพลงรุ่นพ่อ ครูพรานบูรพ์ คือ จงรัก จันทร์คณา ที่เป็น ลูกไม้ที่หล่นอยู่ใต้ต้น ถือเป็นครูเพลงชื่อดังท่านหนึ่งที่สร้างผลงานเพลงชื่อดังในอดีต อาทิเช่น เพลงกฎแห่งกรรม เพลงเก้าล้านหยดน้ำตา เพลงจงรัก เพลงคนพิการรัก เพลงคืนทรมาน เพลงฆ่าฉันเสียซิ เพลงฐานันดรรัก เพลงดาวไม่ลืมดิน เพลงได้โปรดเถิดที่รัก เพลงเตรียมการณ์รัก เพลงเตือนการณ์รัก เพลงทุกข์รัก เพลงเทพเจ้าแห่งความระทม เพลงทำไมถึงทำกับฉันได้ เพลงพายุอารมณ์ เพลงเพื่อความรัก เพลงนานเกินรอ เพลงนานเท่าไหร่ก็จะรอ
       
       เพลงนายระทม เพลงนิยามความรัก เพลงมีฉันไม่มีเธอ เพลงไม่รักไม่ว่า เพลงไม่รักแล้วหลอก เพลงยิ่งกว่าการฆ่า เพลงรักซ้อนรัก เพลงรักอาภัพ เพลงระทมเพราะเธอ เพลงเรียมครอง เพลงเล่ห์ลิ้น เพลงโลกลวง เพลงวันคอย เพลงวิวาห์กับความระทม เพลงศักดินากับยาจก เพลงหัวใจกระดาษ เพลงหัวใจร้อยรัก เพลงหนึ่งหญิงสองชาย เพลงเหมือนคนละฟากฟ้า (ดู มนัส ปิติสาส์น) เพลงอยู่ไหนที่รัก ฯลฯ
       
       เพลงที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน นอกจาก เพลงเหมือนคนละฟากฟ้า แล้ว ก็ได้แก่ เพลงไม่รักไม่ว่า
       
       ซึ่งผลงานเพลงของ ครูจงรักษ์ จันทร์คณา ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากผู้ฟัง ถ่ายทอดความไพเราะที่เป็นอมตะไว้ โดยศิลปินนักร้องหลายคน เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง สวลี ผกาพันธุ์ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา ธานินทร์ อินทรเทพ ชรัมภ์ เทพชัย ดาวใจ ไพจิตร รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล อุมาพร บัวพึ่ง ฯลฯ ไว้หลายเพลงด้วยกัน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 16, 20:08
รู้จักครูจงรักจากเพลงนี้  มีนักร้องดังนำไปร้องลงแผ่นกันมากมายหลายคน
สมัยหนึ่งที่งานแต่งงาน พิธีกรต้องเชิญเจ้าบ่าว(หรือเจ้าสาว)ขึ้นร้องเพลง     เพลง"จงรัก" ก็คือเพลงฮิทในโอกาสนี้

https://www.youtube.com/watch?v=G3Hd3rREsbo


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 16, 20:09
ครูจงรัก ร้องเพลงนี้เอง

https://www.youtube.com/watch?v=79yvkuEDM_M


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 16, 20:11
https://www.youtube.com/watch?v=-9YrApZd8r8


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 พ.ย. 16, 15:08
อ้างถึง
สำหรับ ครูจงรักษ์ จันทร์คณา เป็นทายาทของครูเพลงรุ่นพ่อ ครูพรานบูรพ์ คือ จงรัก จันทร์คณา
ที่เป็น ลูกไม้ที่หล่นอยู่ใต้ต้น

คนเขียนข่าวคงมึนๆ,ควรจะเป็นว่า         

           ครูจงรัก จันทร์คณา เป็นทายาทของครูเพลงรุ่นพ่อ คือ ครูพรานบูรพ์(จวงจันทร์ จันทร์คณา).
ครูจงรัก จันทร์คณา เป็นลูกไม้ที่หล่นใต้ต้น.

"จงรัก จันทร์คณา" ลูกไม้ที่หล่นอยู่ใต้ต้นของครูพรานบูรพ์ (1)

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9510000095480

           เพลงจงรัก นี้น่าจะจัดได้ว่าเป็นเพลงหยุดโลก ใครที่ได้ยินหรือฟังในครั้งแรกเป็นต้องหยุด
กิจกรรมที่ทำอยู่เพื่อตั้งใจฟังต่อไปจนจบเพลง
 


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ย. 16, 17:25
เพลง ฐานันดรรัก เป็นเพลงที่เล่านิยายรักโศกผ่านเนื้อเพลงได้ตั้งแต่ต้นจนจบในเพลงเดียว

จากเสียงของนักร้องเสียงระทม  ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา
https://www.youtube.com/watch?v=w6uTavW7jiw


อีกคนที่ร้องได้เพราะมาก คือชรัมภ์ เทพชัย
https://www.youtube.com/watch?v=q9FpB5b8svs


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 17, 13:12
วันที่ 7 กรกฎาคม 2560  ร็อกเกอร์สาว แหวน ฐิติมา สุตสุนทร ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคมะเร็ง   ในวัย 54 ปี ที่โรงพยาบาลศิริราช หลังต้องต่อสู้กับโรคร้ายมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งกระดูก มะเร็งลำไส้ ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของคนในครอบครัว เพื่อนๆ ในวงการบันเทิง และแฟนคลับ





กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 17, 13:14
https://www.youtube.com/watch?v=lwuJy7ftajM


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 17, 13:14
https://www.youtube.com/watch?v=GkrbfnQ3tVg


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 17, 13:18
https://www.youtube.com/watch?v=7GfeiN-CWww


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 10 ก.ค. 17, 15:10
            เห็นเธอตั้งแต่เป็นนางเอกเล่นละครอยู่ไม่กี่เรื่องก่อนที่จะมาเป็นนักร้องดัง, มีเพลงฮิทติดหู
หลายเพลง

ฟ้า...ฟ้ายังต้องมีฝน    เกิดเป็นคนย่อมมีเสียน้ำตา


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: naga ที่ 10 ก.ค. 17, 18:13
ขออนุญาตเข้ามาเป็นนักเรียนหลังห้องสักคนครับ อาจารย์ทุกท่าน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 17, 18:27
ขอต้อนรับคุณนาคาค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 17, 07:19
ภาพชีวิตวัยเยาว์เจ้าสดชื่น
เริงระรื่นมีสง่าเลิศราศี
รุจเรืองรุ่งฟุ้งเฟื่องเปรื่องเปรมปรีดิ์
ถึงยามนี้ร่วมรำลึกนึกถึงเธอ


ภาพในความทรงจำ "แหวน ฐิติมา" ดรัมเมเยอร์สตรีวิทย์ กับ "ตั้ว ศรัณยู" ดรัมเมเยอร์สวนกุหลาบ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 17, 09:41
โรงเรียนเก่าคุณหมอเพ็ญละซีคะ
ขวามือนะ  ไม่ใช่ซ้ายมือ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 17, 11:28
ทางขวามือใครกันหนาอาจารย์หญ่าย
ทางขวาชายรูปงามนาม "ตั้ว" หรือ
ทางขวาของคุณเทาเจ้าเรือนฤๅ
แน่แท้คือน่ารักจังทั้งสองโรง


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley16.png)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 17, 12:32
ถามมาก เดี๋ยวลงรูปตัวจริงซะเลย   
แฟนๆเรือนไทยยิ่งอยากเห็นอยู่


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 17 ก.ค. 17, 14:35
ผมชอบเพลงที่พี่แหวนร้องเพลงหนึ่งชื่อ

เชิ๊ตแขนยาวไทสีเทา

แต่งเนื้อโดย เรวัติ พุทธินันท์ ดนตรีโดย จาตุรนต์ เอ็มซ์บุตร

เป็นส่วนผสมที่ลงตัวไปทุกอย่าง ทั้งเนื้อเพลงที่ ง่ายๆ แต่เล่าเรื่องราวได้ครบถ้วนเห็นภาพ ทำนองก็ง่ายๆแต่สละสลวย คนร้องก็ร้องด้วยเสียงที่จริงใจ ใสๆไม่แกล้งดัด พอผสมออกมาผมว่ากลายเป็นงานที่ดีมากๆชิ้นหนึ่ง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 17, 17:57
เพิ่งได้ข่าวจากเฟซบุ๊คของเฉลิมกรุงทีวี แจ้งข่าวเสียชีวิตของครูนิทัศน์ ละอองศรี ศิลปินอาวุโส  ผู้เป็นทั้งนักร้องและนักแต่งเพลง
ถึงแก่กรรม เช้าวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2560 เวลา 02.55 น. ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยอาการปอดติดเชื้อในประแสเลือด

พิธีรดน้ำศพ จัดที่วัดโสมนัสวิหารราชวรวิหาร ศาลา 10 วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2560 เวลา 17.00 น.

ครูนิทัศน์มีผลงานเพลงที่สร้างชื่อเสียงหลายบทเพลง เช่น
- ไม่รักพี่แล้วจะรักใคร
- จุ๊หมาน้อยขึ้นดอย
- พรุ่งนี้ไม่มีอะไรแน่
- ราคาความคิดถึง
- ดวงใจ
- คิดถึงพนม
- วังบัวบาน
- ลาแล้วป่าซาง
- ใครจะรักเธอเท่าฉัน
- เดือนหงายที่ป่าซาง
ฯลฯ

ครูนิทัศน์เป็นหนึ่งในนักร้องวงสุเทพคอรัสรุ่นแรก ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกทั้งหมด 7 คน ได้แก่ นิทัศน์ ละอองศรี, สุเทพ วงศ์กำแหง, สุวัจชัย สุทธิมา, ธานินทร์ อินทรเทพ, อดิเรก จันทร์เรือง, ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา และอดุลย์ กรีน โดยแผ่นเสียงชุดนี้มีทั้งหมด 12 เพลง ซึ่งล้วนแต่ได้รับความนิยมอย่างสูง คือ ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ, ธารสวาท, ดวงใจ, ป่าลั่น, รักคนที่เขารักเราดีกว่า, ผมน้อยใจ, คอยเธอ, รักคุณเข้าแล้ว, กรุงเทพฯ, คุณจะงอนมากไปแล้ว, เท่านี้ก็ตรม และหัวใจขายขาด

นอกจากนี้ครูนิทัศน์ยังได้มีผลงานจัดรายการ “เพลงจิตราทัศน์” ร่วมกับคุณจิตรา ละอองศรี ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเฉลิมกรุงทีวี ทุกวันเสาร์ เวลา 9.00-10.00 น.


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 17, 17:59
https://www.youtube.com/watch?v=SfEahHeTEPk


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 17, 18:08
สุเทพคอรัส  คุณนิทัศน์ ซ้ายสุด

https://www.youtube.com/watch?v=zPIPsE_7Q_c


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 09:43
อาลัย สวลี ผกาพันธ์ุ

ย่ิงกว่านกการเวกที่กล่อมฟ้า
เสียงกังวานหวานกว่าเสียงสวรรค์
นามนั้นหรือคือสวลี ผกาพันธ์ุ
น้ำตาพลันร่วงรินยินข่าวลา
ฟังเพลงพี่แต่เยาว์วัยใสเสียงแก้ว
“รักเธอเสมอ”ฟังแล้วใจซ่านซ่า
“คนใจดำ””ใครหนอ”ใครขอมา
“ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า”จับหัวใจ
“บ้านทรายทอง”โอ้ พจมาน กลับบ้านแล้ว
“หลงเงา”ฟังย่ิงหวานแว่วน้ำตาไหล
“จำเลยรัก”จำเลยฟ้ามาลาไกล
“ปล่อยฉันไป””บ้านของเรา”เศร้าอาวรณ์
นี่กระมังที่”ฟ้ามิอาจกั้น”
“ดวงใจ”ฝันยังคะนึงถึงวันก่อน
“ถ้าวันนี้ยังมีเขาอยู่”แสนร้าวรอน
“นานเกินรอ”ใครหนอวอนกรีดน้ำตา
แสนเสียดายกรวิกคืนสวรรค์
ยังเสียงแจ้วจำนรรจ์ไว้กล่อมหล้า
ขอบพระคุณฝากเสียงไว้อาลัยลา
เสียงและชื่อยังยืนกล้าสถาวร

ชมัยภร แสงกระจ่าง
๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑
ขณะอยู่เมืองฮอกไกโด


https://youtu.be/zTHxbHH1iN0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 10:28
นับไปจากวันนี้ไม่มีแล้ว
เมื่อสิ้นเสียงก่องแก้ว กังวานหวาน
สวลีลาลับชั่วกัปป์กาล
ทิ้งตำนานเสียงสวรรค์บันดาลใจ
คืนนี้จะเห็นประกายพรายโชติช่วง
สวลีบรรเจิดสรวงดาวดวงใหม่
ประดับห้วงสรวงสวรรค์นิรันดร์ไป
ประดับใจคนไทยนั้นนิรันดร์กาล

https://www.youtube.com/watch?v=CEQLdOJAO2o

เพิ่งส่งไลน์ให้พี่เชอรี่เมื่อ 2 วันก่อนนี้เอง
เธอคงทำบุญไว้มาก  จึงจากไปอย่างไม่เจ็บปวด ไม่ทรมาน  ไม่เรื้อรัง   ไปอย่างสงบในอึดใจเดียว

http://www.komchadluek.net/news/ent/324112


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 11:37
เพลงแรกของสวลี ผกาพันธ์  ร้องคู่กับวลิต สนธิรัตน์

https://www.youtube.com/watch?v=zlwuFMeM1oc

เมื่ออายุได้ 17 ปี ขณะสวลีกำลังทำงานที่บริษัทสหไทยวัฒนา ครูมยุรี จันทร์เรือง ครูสอนวิชาขับร้องที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม ได้ชวนไปดูการฝึกซ้อมละครของคณะผกาวลี ซึ่งเป็นของญาติ ทำให้มีโอกาสรู้จักกับ ครูลัดดา สารตายน (ศิลปะบรรเลง) ผู้ฝึกซ้อมและกำกับการแสดง ซึ่งครูลัดดาให้ลองทดสอบเสียงโดยให้ร้องเพลงพระราชนิพนธ์สายฝน ปรากฏว่าเป็นที่พอใจ จึงชวนมาร้องเพลงสลับฉากละครในตอนเย็นหลังเลิกงาน เพลงแรกในชีวิตมีชื่อว่าเพลง หวานรื่น ผลงานของครูประสิทธิ์ ศิลปะบรรเลง โดยร้องคู่กับ วลิต สนธิรัตน์ หลังจากนั้นครูลัดดาได้ตั้งชื่อให้ใช้ในการแสดงว่า สวลี แปลว่า "น้ำผึ้ง" ส่วนนามสกุล ผกาพันธุ์ นั้น สด กูรมะโรหิต เป็นผู้ตั้งให้ในเวลาต่อมา โดยมีความหมายว่า "เผ่าพันธุ์ของดอกไม้" ซึ่งนำมาจากชื่อจริงของเธอคือ "เชอร์รี่" จากนั้นได้มีโอกาสร้องเพลงสลับฉากเพิ่มขึ้นกับเริ่มแสดงเป็นตัวประกอบ มีบทพูดเล็ก ๆ น้อย ๆ และร้องเพลงในเรื่อง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 11:42
สวลี คือพจมานคนแรกของ "บ้านทรายทอง" แสดงคู่กับฉลอง สิมะเสถียร


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 11:44
บ้านทรายทอง มีเพลงเอก ๒ เพลงคือ หากรู้สักนิด และ บ้านทรายทอง
สวลีขับร้องสองเพลงนี้ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในสมัยบ้านทรายทองยุคแรก

https://www.youtube.com/watch?v=EAn7KXRxC0A


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 11:45
https://www.youtube.com/watch?v=_70LKdk6V1U


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 11:51
คอนเสิร์ต - 55 ปี สวลี ผกาพันธุ์ ราชินีโลกมายา
ภาพขาวดำในตอนต้น มาจากละครเวทีเรื่อง "ความพยาบาท"  แสดงโดยส.อาสนจินดา วลิต สนธิรัตน์ และสวลี ผกาพันธ์

https://www.youtube.com/watch?v=wgXzjmTPi-0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 12:08
รวบรวมเพลงที่หาฟังยากของสวลี มาลงให้ฟังกันค่ะ
แว่วเสียงจำปูน  ร้องคู่กับฉลอง สิมะเสถียร

https://www.youtube.com/watch?v=AWxGCatNrFc


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 12:10
https://www.youtube.com/watch?v=9Px0wmqh81o


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 12:13
https://www.youtube.com/watch?v=SI7LinLnF40


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 12:21
เพลงนี้แปลกจากเพลงคู่อื่นๆ  ที่เป็นหญิง-ชาย  แต่เพลงนี้ ยอดนักร้องหญิง เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และสวลี ผกาพันธ์ มาร้องด้วยกัน

https://www.youtube.com/watch?v=KekXZS69jPQ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 02 พ.ค. 18, 13:49
คุณแม่ชอบร้องเพลงคุณสวลี ผกาพันธ์มากเลยค่ะ :'( :'(


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 พ.ค. 18, 15:12
เคยแสดงความเห็นเรื่องสองเพลงเอกในละคร บ้านทรายทอง เมื่อนานโขแล้วในเรือนไทย ความว่า

              เพลง หากรู้สักนิด นิพนธ์ของเสด็จพระองค์ชายใหญ่ มีมาแต่ดั้งเดิมครั้งเป็นละครเวทีที่ศาลาเฉลิมไทย
จัดโดยอัศวินการละครของพระองค์ท่าน
              ส่วนเพลง บ้านทรายทอง คุณชาลีแต่งภายหลังเมื่อมาเป็นละครทีวี น่าจะเป็นครั้งที่คุณอรัญญารับบทพจมาน
คู่กับคุณฉลอง ทางช่องสี่ บางขุนพรหม โดยมีคุณกัณฑรีย์ ภรรยาคุณฉลองรับบทหญิงเล็ก....
              ทั้งสองเพลงนี้คุณสวลีร้อง ทั้งเมื่อเธอเป็นพจมานบนเวทีละคร และร้องประกอบละครทางช่องสี่
 
บทสัมภาษณ์เรื่องเพลงหากรู้สักนิด คุณสวลีเล่าว่า

               "เพลงหากรู้สักนิดนี่ ผู้แต่งทำนองคือ ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ เนื้อร้อง เสด็จพระองค์ชายใหญ่
(พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล) ทรงนำข้อความในหน้าสุดท้ายที่ว่า...

                หากฉันรู้สักนิดว่าเธอรักฉัน หากเธอจักบอกฉัน ให้รู้สักนิด เพียงแต่กระซิบเบา ๆ ว่า 'สุดที่รัก'
ฉันก็มิอาจพรากไปจากเธอได้ จิตใจของเราทั้งสองก็จะไม่สลายชอกช้ำขมขื่นไปนานครัน หากฉันรู้สักนิด...
ว่าเธอรักฉัน...มาแต่งเป็นเนื้อเพลง"


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 พ.ค. 18, 15:15
วันนี้เมื่อ พจมานลาลับกลับบ้านทรายทอง แล้ว จึงได้มีโอกาสรื้อฟื้นอีกครั้ง จาก "ครูเพลงไทย"
ตอน ครู สมาน กาญจนะผลิน
 
ครูชาลี อินทรวิจิตร ให้สัมภาษณ์ว่า

                 ....เฉลิมกรุง เฉลิมไทย ก็จะฉายหนัง ละคร(เวที)ต้องปิดฉาก ผมก็ไปเล่นละครทีวี เป็น ท่านต้อม ในเรื่อง
บ้านทรายทอง สวลี เล่นบทเป็น พจมาน สว่างวงศ์ ถักผมเปีย ตอนนั้นสาวสด อายุประมาณ 22 ปี ผมอายุ 24 - 25 เห็นจะได้
ฉลอง สิมะเสถียร เป็น ชายกลาง ฉลอง เป็นสามีของ กัณฑรีย์ นาคประภา
                  กัณฑรีย์ บอกผมว่า พรุ่งนี้ละครจะออกอากาศแล้ว ยังไม่มีเพลงไตเติล ให้ช่วยแต่ง
                  ผมถามว่าแต่งแล้วจะเอาทำนองที่ไหน เขาก็ชี้ไปยังคนๆ หนึ่งที่นั่งหันหลังให้ ผมก็ว่า คนนี้หรือที่ให้ไปแต่งด้วย
เขาเป็นใคร มาจากไหน กัณฑรีย์ ตอบว่า ชื่อ สมาน กาญจนะผลิน ให้ผมเขียนเนื้อเพลงมาท่อนหนึ่งก่อน แล้วเอาไปให้เขา
ใส่ทำนอง ผมเขียน 15 นาที เพราะรู้เรื่องบ้านทรายทอง ละเอียด พวกเรื่องน้ำเน่าคลาสสิก ผมรู้ดีทีเดียว

      “นี่คือ สถานแห่งบ้านทรายทอง ที่ฉันปองมาสู่   
       ฉันยังไม่รู้ เขาจะต้อนรับขับสู้เพียงไหน
       อาจมียิ้มอาบฉาบบนใบหน้าว่ามีน้ำใจ
       แต่สิ่งซ่อนไว้ ในดวงจิตคือความริษยา”

                    สักพัก ฉลอง เข้ามาหา ผมบอกว่า เสร็จครึ่งเดียว อีกครึ่งไว้พรุ่งนี้ ผมต้องซ้อมละครก่อน....ในวันพรุ่งนี้
ละครออกอากาศตอนกลางคืน เช้าผมจะแต่งอีกท่อน เที่ยงให้ สวลี มาร้องอัดเสียง
                    คุณสมาน ก็ตกลง แต่ขอฟังเนื้อเพลงพร้อมทำนอง ให้ผมร้องเพื่อเป็นต้นแบบให้ สวลี
                    กลางคืน ผมนั่งเขียนจนจบ
      
      “เขตรั้วไพศาล แห่งบ้านทรายทอง คือแขนของพระเจ้า ขอจงเอื้อมมือ และโอบกอดเรา
ผู้ผ่านเข้ามาเพียงเดียวดาย อาจตายเพราะโง่ โอ้อนิจจา โปรดอย่าอิจฉา สมาชิกใหม่ ของบ้านทรายทอง”

                    ผมเอาไปให้คุณสมาน พอเขาเห็นเนื้อร้อง ก็มองหน้าว่าเนื้อเพลงดีมาก ผมเกิดความรู้สึกว่า คนนี้ จะต้องแต่งเพลง
ด้วยกันตลอดไป...”


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ค. 18, 20:24
เพลง หากรู้สักนิด  มาจากฉากหนึ่งในนวนิยายที่พจมานเล่นเปียโน  เป็นเพลงฝรั่งที่ ก.สุรางคนางค์อธิบายเนื้อภาษาไทยกำกับไว้ด้วย
พยายามหามานานแล้วว่ามาจากเพลงอะไรของฝรั่ง  จนบัดนี้ยังหาไม่เจอค่ะ  น่าจะขึ้นต้นว่า  If I only knew....


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 04 พ.ค. 18, 12:20
จาก manager.co.th วันนี้


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 18, 12:45
สิ้นอีกหนึ่งตำนานวงการเพลงไทย "นพดฬ ชาวไร่เงิน" เจ้าของเพลง "ลาทีปากน้ำ"

ความเศร้าจากการสูญเสียนักร้องลูกกรุงระดับตำนาน "สวลี ผกาพันธุ์" ยังไม่ทันจาก ล่าสุดวงการเพลงบ้านเราต้องพบกับข่าวเศร้าอีกครั้งหลังมีรายงานว่านักร้องลูกทุ่งชื่อดังวัย 83 ปีอย่าง "นพดฬ ชาวไร่เงิน" เจ้าของเพลงดัง "ลาทีปากน้ำ" ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อช่วงคืนที่ผ่านมาหลังป่วยเป็นอัมพฤกษ์มานานหลายปี

"ณพดฬ ชาวไร่เงิน" มีชื่อเล่นว่า "หมู" เป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2478

ด้วยความที่อยากจะเป็นนักร้องเป็นอย่างมาก หลังจบจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษดิ์เจ้าตัวจึงได้สมัครเข้าร่วมวงดนตรี "ฉัตรฟ้า" ของพลร่มป่าหวาย ก่อนที่พ.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจะเห็น"แวว" จึงแนะนำให้ไปเป็นศิษย์กับครูเอื้อ สุนทรสนาน
จากนั้นเจ้าตัวจึงได้มีโอกาสบันทึกเสียงเพลงแรกคือ "ลาทีปากน้ำ" แต่งโดยครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ซึ่งเดิมทีเพลงนี้ครูเอื้อตั้งใจจะให้ "ยรรยงค์ เสลานนท์" นักร้องดาวรุ่งอีกคนของกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ขับร้อง แต่เนื่องจากครูเอื้อเห็นว่ายรรยงค์ยังเข้าใจในความหมายของเนื้อเพลงได้ไม่ดีนัก จึงให้นพดฬมาเป็นผู้ขับร้องแทน

ผลปรากฏว่าเพลง "ลาทีปากน้ำ" ที่ขับร้องโดยนพดฬได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและทำให้เจ้าตัวแจ้งเกิดทันทีก่อนจะมีผลงานตามออกมาอีกมากมาย โดยที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ สาวอัมพวา, เข็ดแล้วลพบุรี, ปากลัด, คลองมอญ, นิทราสวาท, อกเอยมันแค้น, กังวลรัก, ช้ำรักจากลพบุรี ฯลฯ

https://mgronline.com/entertainment/detail/9610000043982


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 18, 12:48
https://www.youtube.com/watch?v=_gDBAorShAU


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 18, 12:48
https://www.youtube.com/watch?v=CZuilDK8RPU


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ค. 18, 12:50
https://www.youtube.com/watch?v=hC4_weUbkG8&index=12&list=RDCZuilDK8RPU


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 19, 12:35
ข่าวเศร้าวันนี้คือ ศิลปินอาวุโสอีกท่านหนึ่งจากไปแล้ว 
คุณสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ นักแสดงอาวุโส ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โทรทัศน์-ภาพยนตร์) ประจำปี พ.ศ. 2557 เสียชีวิตเมื่อเวลา 08.04 น. วันที่ 6 ม.ค. 2562 เนื่องจากหัวใจล้มเหลว หลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลวชิระ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 สิริรวมอายุ 86 ปี


คุณสะอาด  เกิดวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ชื่อเล่น เล็ก เป็นนักแสดง นักพากย์ ผู้เขียนบทโทรทัศน์ และผู้กำกับการแสดงชาวไทย จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิฮง กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในสาขาวิชาการภาพยนตร์  และวิชาโทรทัศน์จาก N.H.K. TV เมื่อ พ.ศ. 2498

ก้าวสู่วงการโทรทัศน์ขณะมีอายุ 23 ปี ด้วยการชักชวนของ จำนง รังสิกุล คุณสะอาดเข้าเป็นพนักงานรุ่นบุกเบิกด้านการจัดรายการ ในปีแรกทำการของไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม พร้อมกับปรากฏตัวบทพระเอกในละครทีวีเรื่องแรก ดึกเสียแล้ว ของอุษณา เพลิงธรรม ซึ่งมี เย็นจิตร สัมมาพันธ์ (ผู้ประกาศคนแรกในวันเปิดสถานี) เป็นนางเอก และ เทิ่ง สติเฟื่อง ร่วมแสดงครั้งแรกด้วยเช่นเดียวกัน

คุณสะอาดเป็นนักแสดงนำในละครใหญ่หลายเรื่อง รวมทั้งพระเอกละครที่สร้างจากอุปรากรที่มีชื่อเสียงของโลก ไอด้า คู่กับนักแสดงรับเชิญ อ.ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย) แห่งคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ในช่วง พ.ศ. 2503-2504 ต่อมา เดินทางไปญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อศึกษาเพิ่มเติมด้านโทรทัศน์สีที่ K.R.T. เมืองโอซากา พ.ศ. 2510

คุณสะอาดเป็นหนึ่งในดารานักแสดงที่อยู่ในอาชีพนี้ยาวนานถึงหกทศวรรษเศษ   เล่นได้เกือบจะทุกบท ทั้งบทพระเอก ผู้ร้าย  และบทตลก 
 ฝีมืออีกด้านของท่านคือ เป็นนักพากย์หลักของช่อง 4 ที่ช่วยสร้างอรรถรสสนุกสนานแก่ผู้ชมชาวไทยหน้าจอแก้วคู่กับ ดาเรศร์ ศาตะจันทร์ในซีรีส์หลายเรื่อง เช่น มนุษย์ค้างคาว, ขวัญใจสายลับ, กลอยใจจอมเปิ่น เป็นต้น ร่วมด้วยนักพากย์ในทีม ได้แก่ สมจินต์ ธรรมทัต, อนุวัตร สุวรรณสโรช เป็นต้น

ฝีปากการพากย์ของคุณสะอาดถือว่าไร้เทียมทาน  คู่กับอีกคนที่ไปสวรรค์นานแล้วก่อนหน้า คือคุณสมจินต์ ธรรมทัต    ดิฉันยังจำได้ว่า หนังทีวีต่อให้เนื้อเรื่องไม่สนุกขนาดไหน  คุณสอาดทำให้มันสนุกขึ้นได้ด้วยฝีมือพากย์ ที่มีลูกเล่นลูกฮาแพรวพราย  แต่ว่าไม่เลอะเทอะออกนอกเรื่อง  นับเป็นความสามารถที่หาได้ยากยิ่งในหมู่ศิลปิน
ด้วยคุณสมบัติด้านนี้  จึงขอยกชีวิตคุณสอาดมาอาลัยไว้ในกระทู้นี้ ในฐานะ "ดาวเสียง" ท่านหนึ่ง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 19, 13:01
ย้อนหลังไปเรียนรู้รายละเอียดในชีวิตคุณสอาดได้ ในกระทู้นี้ค่ะ

https://pantip.com/topic/32234081


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ม.ค. 19, 13:24
ขอแสดงความเสียใจในความเศร้า
ที่เพิ่งเข้าสู่ครอบครัวเปี่ยมพงศ์สานต์
ขอคุณอาสะอาดสุขสราญ
ในสถานสุคติพิมานแมน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 19, 13:33
ศิลปินนักแสดงชายแห่งวิกบางขุนพรหม ช่อง 4  ยุคเดียวกับคุณสอาด ล่วงหน้าไปสวรรค์กันหมดแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นคุณกำธร สุวรรรปิยะศิริ  คุณสมจินต์ ธรรมทัต คุณอนุวัตร สุวรรณสโรช   
ก่อนหน้านี้ นานมากก็คือคุณฉลอง สิมะเสถียร และคุณประกอบ ชัยพิพัฒน์

ป.ล. คุณสอาดอายุ 86 นะคะ   ไม่เข้าใจว่าทำไมหนังสือพิมพ์บางฉบับถึงนับเป็น 88



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 19, 15:39
บทคุณสอาดเล่นเป็นนายฟ้าฟื้น มหาเศรษฐีลืมวัย ที่หลงรักนางเอกในเรื่อง "เรือนมยุรา" จนลักพาตัวไปกักขังไว้
เป็นบทที่เล่นได้ไร้เทียมทาน ทั้งบทประกบกับแหม่ม คัทลียา และบทปะทะกับเมียหลวงที่รับบทโดยโฉมฉาย ฉัตรวิไล

https://www.youtube.com/watch?v=CHfB4J_Pwxs&list=PLEC30427C3B9D34D2&index=86


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ม.ค. 19, 17:41
ภาพข้างล่างนี้คือดารานักแสดงและผู้บริหารของช่อง 4 บางขุนพรหม ยุคบุกเบิก
ภาพล้อมกรอบสีแดงคือท่านที่ล่วงลับไปแล้ว    ใช้ความทรงจำ  ซึ่งอาจจะผิดพลาดได้
ส่วนท่านที่เหลือ  เท่าที่รู้ก็คือคุณอารีย์ นักดนตรีและคุณดาเรศร์ ศาตะจันทร์ ยังมีชีวิตอยู่  ท่านอื่นๆไม่ทราบค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ม.ค. 19, 15:36
๑. นวลละออ ทองเนื้อดี ผู้ประกาศและนักแสดงรุ่นแรก, ๒. ฉลอง สิมะเสถียร พระเอกตลอดกาลของละครเวที ละครทีวี และนักร้องประจำสถานี, ๓. ท้วม ทรงนง (ชูชีพ ช่ำชองยุทธ) ดาวจี้เส้น, ๔. เทิ่ง สติเฟื่อง (บรรยง เสนาลักษณ์) ผู้รวยความฝันจากวันแรกที่ทำงานจนวาระสุดท้ายของชีวิต, ๕. นงลักษณ์ โรจนพรรณ นักร้องและนักแสดงดาวเด่น

๖. สัมพันธ์ พันธุ์มณี หัวหน้าคณะละครนาฏศิลป์สัมพันธ์ และครูนาฏศิลป์ของคนช่อง ๔, ๗. สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ พระเอก ผู้จัดและนักพากย์ฝีปากเอก, ๘. ชรินทร์ นันทนาคร นักร้องที่มาร่วมงานกับสถานี, ๙. กำธร สุวรรณปิยะศิริ - อารีย์ นักดนตรี - สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์, ๑๐. พิชัย วาศนาส่ง ผู้บุกเบิก หัวหน้าฝ่ายศิลปกรรมและผู้กำกับภาพ

๑๑. สมจิตร สิทธิไชย ผู้ช่วยหัวหน้าจำนง รังสิกุล ทั้งด้านรายการวิทยุและโทรทัศน์, ๑๒. พจนีย์ โปร่งมณี นางเอกเรื่อง “เลือดสุพรรณ” ของกรมศิลปากรผู้มาบุกเบิกงานกับช่อง ๔ ตั้งแต่ปีแรก, ๑๓. อรวรรณ โปร่งมณี นักแสดง, ๑๔. กำธร สุวรรณปิยะศิริ นักแสดง – นักร้อง – ผู้กำกับรายการและนักพากย์, ๑๕. ผดุง พงษ์พานิช นายช่างเทคนิครุ่นแรก

๑๖. ผู้ประกาศและพิธีกรในรอบ ๑๐ ปีแรก (แถวนั่ง) นวลอะออ ทองเนื้อดี - ศุภมิตร ศาตะจันทร์ (แถวยืน) ดาเรศ ศาตะจันทร์ - อาพันธ์ชมิตร สุวรรณากร - อารีย์ นักดนตรี, ๑๗. สุพรรณี ปิยะสิระนนท์ เจ้าของเพลง “นัดพบ” นักแสดงและผู้ประกาศ, ๑๘. สว่างจิตร กาญจนเสถียร ผู้ประกาศและนักแสดง, ๑๙. ศิริพันธุ์ ปาละกวงศ์ ณ อยุธยา เจ้าของเสียงซอสามสายที่โด่งดัง, ๒๐. ดาเรศและอารีย์ ช่วยกันขายโทรทัศน์ทางจอแก้ว

ข้อมูลจาก https://mgronline.com/entertainment/detail/9540000108826


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 19, 10:28
ขอบคุณค่ะ
หมายเลขไหนยังอยู่บ้าง คุณเพ็ญชมพูทราบไหมคะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ม.ค. 19, 07:45
ท่านที่อยู่นอกกรอบสีแดงน่าจะยังมีชีวิตอยู่  ;D

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5245.0;attach=69939;image)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ม.ค. 19, 13:27
ผลงานหนึ่งของคุณอาสะอาดคือการร้องเพลง

"คนหนอคน" เป็นเพลงหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง "เจ้าลอย"


https://youtu.be/vTbwC3-xeNs


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 19, 13:37
หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี  สวัสดิวัตน์ ศิลปินแห่งชาติ  ถึงแก่กรรม หลังป่วยด้วยโรคมะเร็ง ในวัย 92 ปี


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 19, 13:40
เปิดประวัติ! ‘หม่อมถนัดศรี’ คุณชายยอดนักชิม เจ้าตำรับ ‘เชลล์ชวนชิม’

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นโอรสคนโตใน หม่อมเจ้าเฉลิมศรี สวัสดิวัตน์ กับ หม่อมเจริญ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ท่านเกิดในวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2469 (ปีขาล) ที่วังเพชรบูรณ์ (ปัจจุบันคือศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์) และเติบโตอยู่ภายในวังสระปทุม
.ร.ว.ถนัดศรี มีพี่สาวและน้องชาย คือ เภสัชกรหญิง หม่อมราชวงศ์สนองศรี สวัสดิวัตน์ และ หม่อมราชวงศ์เพิ่มศรี สวัสดิวัตน์ ท.ช. ,ท.ม. ทั้งนี้ ม.ร.ว.ถนัดศรี เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนราชินี พ.ศ. 2481 และโรงเรียนเทพศิรินทร์ พ.ศ. 2485 จากนั้นจึงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมกับเริ่มเข้าวงการบันเทิง เป็นนักแสดงและร้องเพลงหารายได้ ต่อมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

เมื่ออยู่ที่ประเทศอังกฤษ ท่านได้จัดรายการวิทยุ บีบีซี ภาคภาษาไทย ที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาเมื่อกลับมายังประเทศไทย ได้เป็นนักร้องให้กับวงสุนทราภรณ์ และร่วมงานกับโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ด้านละครและขับเสภา ร้องเพลงไทย เคยรับบทเด่น เป็น "ตั๋งโต๊ะ" ในงิ้วไทย "สามก๊ก" บทพระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งมี อารีย์ นักดนตรี และเทิ่ง สติเฟื่อง ร่วมแสดง พ.ศ. 2499รวมถึงแสดงนำใน "สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน" ซึ่งเป็นละครโทรทัศน์เรื่องแรกของไทย พ.ศ. 2499 ในปีเดียวกัน ดาราร่วมแสดงภาพยนตร์ไทย "วนาลี" พ.ศ. 2502 และ "นางแมวผี" พ.ศ. 2503 นักแสดงรับเชิญ ร่วมกับ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร, อิงอร ฯลฯ ในรายการ "สัมนานักสืบ" ดำเนินรายการโดย พ.อ.ถาวร ช่วยประสิทธิ์ ทางทีวีกองทัพบก ช่อง 7 ขาวดำ (ททบ.ช่อง 5 ปัจจุบัน) พ.ศ. 2508

 ปรากฏตัวพิเศษฉากเพลง "ยามรัก" ในภาพยนตร์ไทยซาวด์ออนฟิล์ม เรื่อง "กลัวเมีย" ของ ศรีกรุงภาพยนตร์ (ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง) พ.ศ. 2514 กำกับการแสดงโดยขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นำแสดงโดยสมบัติ เมทะนี และอรัญญา นามวงศ์

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินรายการวิทยุ "ครอบจักรวาล" ช่วงทศวรรษ 2520-2530  เขียนบทความประจำคอลัมน์ "ถนัดศรีชวนชิม" ให้กับหนังสือพิมพ์มติชนรายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รวมถึงผลิตและจัดรายการโทรทัศน์ร่วมกับบุตรชาย หม่อมหลวงศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ (คุณหมึกแดง) พ.ศ. 2551

ม.ร.ว.ถนัดศรี สมรสครั้งที่ 1 กับหม่อมหลวงประอร มาลากุล มีบุตร 2 คน คือ หม่อมหลวงศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ หรือ คุณหมึกแดง และ พลตรี หม่อมหลวงเพิ่มวุทธ์ สวัสดิวัตน์ หรือ คุณจิ๋ว และสมรสครั้งที่ 2 กับนางโรจนา สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม สวนรัตน์) มีบุตร 1 คน คือ หม่อมหลวงภาสันต์ สวัสดิวัตน์ หรือ คุณอิงค์

ท่านมีผลงานหลายอย่าง นอกจากบทบาทของนักร้อง นักแสดง นักจัดรายการ อีกภาพจำที่คนส่วนใหญ่รู้จัก คือ “นักชิม” และการสถาปนาแบรนด์ “เชลล์ชวนชิม” อันโด่งดังทั่วประเทศ และบุกเบิกรายการทำอาหารในประเทศไทย เช่น " พ่อบ้านเข้าครัว" ,"พ่อลูกเข้าครัว"

ด้วยเลือดศิลปินการขับร้องเพลงไทยเดิมจาก คุณอา หลวงกล่อมโกศล (เศวตะทัต) และ หม่อมเจริญ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (เศวตะทัต) หม่อมมารดา พรสวรรค์จากสายเลือด จึงทำให้ท่านเป็นนักร้องสุนทราภรณ์รุ่นแรก และออกแผ่นเสียง และอัลบัม โด่งดังอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีเพลงโด่งดังระดับตำนานมากมาย เช่น สีชัง ยามรัก หวงรัก วนาสวาท จนได้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) พ.ศ. 2551

ขอให้ท่านไปสู่สุคติ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 19, 13:43
https://www.youtube.com/watch?v=kIsB9uwwu9w


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 19, 13:46
https://www.youtube.com/watch?v=L4j9f3poq7c


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 19, 13:47
https://www.youtube.com/watch?v=0EczCzkqQ9s


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ส.ค. 19, 14:44
คุ้นเคยคุณชายผ่านทางจอแก้วมาตั้งแต่เล็ก
อดใจหายไม่ได้เมื่อได้ทราบข่าว

https://www.youtube.com/watch?v=5s2tU2J6abE


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 19, 14:47
https://thestandard.co/shell-chuan-chim/

ย้อนรอย ‘เชลล์ชวนชิม’ อิทธิพลความอร่อยของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 27 ส.ค. 19, 15:11
ผมขอร่วมอำลาและอาลัย คุณชายท่าน ด้วยคลิปรายการ "ครอบจักวาล"

ที่ผมต้องคอยติดตามชม ท่านและท่านพลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์
ทุกเช้าวันอาทิตย์ ทาง ททบ. 5 เป็นประจำ เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วครับ

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ครอบจักรวาล ททบ. 5 ชีวิตไทยในอดีต (https://www.youtube.com/watch?v=G1P-t3s9mLU)

ขอขอบคุณ : คุณ OAD AND HIS BAND และ Youtube Channel


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 27 ส.ค. 19, 15:20
ด้วยรักและอาลัย ชีวิตคุณชายโลดโผนมีสีสัน  ฟังท่านเล่าเรื่องเก่า ๆ ทุกเรื่องคือความทรงจำที่งดงาม ดีที่สุดคือคลังความรู้เสียดายที่ถูกปิดไปอีกหนึ่งแหล่ง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 27 ส.ค. 19, 16:57
คลิปนี้ คุณชายท่าน ดูยังหนุ่มกว่าคลิปแรกมากครับ

ครอบจักรวาล :  ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ / อ.บรู๊ซ แกสตัน / อ.บุญยัง เกตุคง (https://www.youtube.com/watch?v=ePJUFtdWOkU)

 


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ส.ค. 19, 16:59
ขอแสดงความเสียใจในความเศร้า
ที่เพิ่งเข้าสู่แฟนคลับกับลูกหลาน
ขอคุณชายถนัดศรีสุขสราญ
ในสถานสุคติพิมานแมน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ส.ค. 19, 21:11
ศิลปินครอบจักรวาล

https://youtu.be/D1Ydg7sHYlY


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 28 ส.ค. 19, 08:01
.
หวงรัก - ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

หวงรัก - ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ (https://www.youtube.com/watch?v=6CLbwuMijf4)

ลาวเจ้าสู - เดี่ยวไวโอลิน ♪.♫

ลาวเจ้าสู - เดี่ยวไวโอลิน ♪.♫ (https://www.youtube.com/watch?v=-HroQn0GhUU)



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 19, 08:16
 :'( :'( :'(


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 19, 08:39
ปิดตำนานอาลัย..คุณชายนักชิม “หม่อมถนัดศรี” ศิลปินแห่งชาติ “ผมใช้ชีวิตแบบง่ายที่สุด”
เผยแพร่: 27 ส.ค. 2562 19:43   ปรับปรุง: 27 ส.ค. 2562 20:09   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เปิดเส้นทางชีวิตของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ศิลปินแห่งชาติ บุคคลในตำนานผู้มีคุณูปการแห่งสยามประเทศที่มีความสามารถหลากหลาย ทั้งนักแสดง นักจัดรายการ นักเขียน นักร้อง นักดนตรี นักชิมอาหาร ปิดฉากชีวิตลงอย่างสงบหลังจากป่วยด้วยมะเร็งระยะสุดท้ายในวัย 92 ปี

เปิดประวัติ “คุณชายนักชิม”
"ผมเป็นคนใช้ชีวิตแบบง่ายที่สุด ไม่มีอะไรสำคัญเลย กินง่าย อยู่ง่าย อยู่กับเพื่อนฝูง ลูกหลาน จัดรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ครอบจักรวาล เขียนแนะนำร้านอาหารเชลล์ชวนชิม ร้องเพลง มีชีวิตอยู่ก็ทำงานเพื่อการกุศล”

ประโยคข้างต้นบอกเล่าถึงตัวตนของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ บุคคลที่สยามประเทศต้องจารึก ท่านเป็น "ตำนานนักรีวิวอาหาร" เจ้าของคอลัมน์ "เชลล์ชวนชิม" สัญลักษณ์ชามลายผักกาด ทางหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ที่อยู่มายาวนานถึงครึ่งศตวรรษ โดยใช้นามปากกาว่า “ถนัดศอ”

ผลงานได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในนิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2504 และต่อมา ตีพิมพ์ในฟ้าเมืองไทย จนสุดท้าย ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ โดยเปลี่ยนชื่อคอลัมน์เป็น "ถนัดศรีชวนชิม"

คอลัมน์ เชลล์ชวนชิม ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารสยามรัฐเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ ยังมีการมอบสัญลักษณ์ "อาหารอร่อย" ให้แก่บรรดาร้านอาหารที่ท่านได้เดินทางไปชิม และยังเป็นผู้บุกเบิกรายการทำอาหารในประเทศไทย เช่น รายการ "ครอบจักรวาล" ซึ่งออกอากาศต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปี และรายการวิทยุ "ครอบจักรวาล" ออกอากาศวันจันทร์-เสาร์ ต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปีเช่นกัน
โดยสัญลักษณ์ความอร่อยที่ท่านได้มอบให้ตามร้านอาหารต่างๆ ถือเป็นโลโก้การันตีถึงความอร่อยจานเด็ด จนทำให้มีผู้คนทั่วฟ้าเมืองไทยแห่ไปลิ้มชิมรสชาติกันตรึมแน่นร้าน

ท่านเป็นผู้มี “ลิ้นดี” รับรสชาติได้ครบถ้วน ทั้งยังครอบคลุมไปถึงการทำอาหารด้วย โดยซึมซับมาจาก หม่อมย่าละมุน สวัสดิวัตน์ ซึ่งเป็นผู้ว่าการห้องเครื่องในวังสระปทุม และหม่อมเจริญ ผู้เป็นมารดา ซึ่งเป็นผู้ช่วยของหม่อมราชวงศ์เสงี่ยม สนิทวงศ์ ผู้ปรุงพระกระยาหารถวาย สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

อ่านต่อในผู้จัดการออนไลน์ค่ะ
https://mgronline.com/live/detail/9620000082264


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 19, 13:01
https://www.youtube.com/watch?v=gUqFJ1T-BGo


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 20, 10:09
ดาวฤกษ์ดวงใหญ่ที่สุดดวงหนึ่งในวงการเพลงลูกกรุง ลาลับฟ้าไปอีกดวงหนึ่งแล้ว


วงการเพลงสุดเศร้า! สิ้น ศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหง เสียชีวิตในวัย 86 ปี

วันที่ 27 ก.พ. ร.ต.อ.สถาพร โสตถิยิ้ม รองสารวัตร(สอบสวน) สน.คลองตัน ได้รับแจ้งเหตุมีผู้เสียชีวิตภายในบ้านพักซอยปรีดีย์พนมยงค์ 42 แยก 7 ถนนสุขุมวิท 71 แขวงคลองตันเหนือ กรุงเทพ หลังรับแจ้งจึงรุดไปตรวจสอบพร้อมแพทย์ นิติเวชโรงพยาบาลจุฬาฯ และอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู
ที่เกิดเหตุพบผู้เสียชีวิต คือ เรืออากาศตรี สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ปีพุทธศักราช 2533 นอนเสียชีวิตอยู่ภายในบ้านพัก ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุ เบื้องต้นคาดว่าเสียชีวิตด้วยโรคชรา ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ นั้น จะรายงานให้ทราบต่อไป
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_3652575


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 20, 10:10
ขอเชิญท่านสมาชิกที่เป็นแฟนเพลงของคุณสุเทพ ร่วมรำลึกถึงท่าน ด้วยการโพสเพลงของคุณสุเทพที่ท่านชอบ ค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=-QxzfJ86ozU


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 20, 10:13
https://www.youtube.com/watch?v=YAdrFcw1oUQ

เพลงนี้น่าจะมาจากภาพยนตร์ไทยเรื่อง คำอธิษฐานของดวงดาว
ทำนองจากเพลง Take My Love จากภาพยนตร์เรื่อง The Glass Slippers


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ก.พ. 20, 10:21
ขอแสดงความเสียใจในความเศร้า
ที่เพิ่งเข้าสู่ครอบครัวและลูกหลาน
ขอคุณอาสุเทพสุขสราญ
ในสถานสุคติพิมานแมน


https://youtu.be/6wpwd-X5G5Y


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ก.พ. 20, 10:42
แวะมาแปะคลิปก่อน

คุณสุเทพ เคยเป็นพระเอกหนังไทย เรื่อง สวรรค์มืด (2501) มีเพลงเอก - จนจริงไม่จนรัก แต่
ส่วนตัวแล้วชอบเพลงนี้ที่สุด - พิศภาพดวงใจ

          https://www.youtube.com/watch?v=g8RbGwCxZMA&list=PLB_Ue8Fi3RdVlpS6EZShw_kjK9Nk8CXRp&index=4



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 20, 11:09
https://www.youtube.com/watch?v=672I8MvxMbM


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 27 ก.พ. 20, 12:15
.
ครวญ : สุเทพ วงศ์กำแหง (https://www.youtube.com/watch?v=RwgHdTo2-HI)
.


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 27 ก.พ. 20, 13:46
ขอร่วมไว้อาลัยคุณลุงสุเทพด้วยครับ
ผมได้ฟัง จากคุณแม่อีกที ก็เลยได้ซึมซับผลงานท่านมาตั้งแต่เด็ก

พอดีที่ทำงาน Block Youtube เลยขออนุญาต เสนอบทเพลงยุคท่ผมชอบเปิดฟังบ่อยๆ
ช่วงนั้น จะมีดนตรีน้อยชิ้น เน้นพวกไวโอลิน เปียนโน และหีบเพลง ได้อารมณ์ไปอีกแบบครับ

ยอดพธูจอมใจ
พล่าใจ
เสียงสะอื้นจากสายลม
หัวหินสิ้นมนต์รัก
อยากรักคนที่พลาดรัก
บัวสวรรค์
ดอกแก้ว
พิไรรำพัน
ฯลฯ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ก.พ. 20, 15:19
           ในปี 2506 คุณสุเทพ ออกอัลบั้มชุด สุเทพคอรัส รวบรวมนักร้องชายรุ่นน้องร่วมร้องเพลงประสานเสียง
หนึ่งในเพลงเด่นจากอัลบั้มนี้ คือ คอยเธอ
           จากทำนอง และ เนื้อร้องเพลง Greenfields อันโด่งดังของวง The Brothers Four ผ่านการถ่ายทอด
อย่างงดงามพร้อมเก็บความเดิมไว้โดย เนรัญขลา

https://www.youtube.com/watch?v=laA6rE9VY70


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 20, 17:14
เพลงที่คุณ unicorn ชอบ เนื้อร้องไพเราะมากค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=Zwp4xsvGUzE


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 20, 17:16
https://www.youtube.com/watch?v=WLxs1yWXWfI


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 20, 17:18
https://www.youtube.com/watch?v=xNnsPaqdGKI


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.พ. 20, 19:01
รำลึกถึงพระเอกหนังไทย "สุเทพ วงศ์กำแหง"  ;D

คุณสุเทพ เคยเป็นพระเอกหนังไทย เรื่อง สวรรค์มืด (2501)

https://youtu.be/dzvxVsdJIns


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 20, 19:41
คุณสุเทพ ปรากฏตัวอยู่ในภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องด้วยกัน

https://www.youtube.com/watch?v=7Jv0FAEiy8U


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 20, 19:43
https://www.youtube.com/watch?v=lGwbjoc1zxw


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 20, 19:47
คุณสวลี ผกาพันธ์  กับคุณสุเทพร้องคู่กันเสมอ   

https://www.youtube.com/watch?v=i1kNU1hZhjU

ป่านนี้ คุณสวลี  และสามศักดิ์ที่ล่วงหน้าไปก่อน คงได้พบคุณสุเทพแล้ว   อาจจะมีคอนเสิร์ตต้อนรับอยู่บนโน้นก็เป็นได้ค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 20, 16:43
คุณสุเทพไม่ใช่นักร้องวงสุนทราภรณ์  แต่ก็ได้ขับร้องเพลงของสุนทราภรณ์ไว้หลายเพลง
อย่างเพลงนี้  ร้องคู่กับคุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับไปหลายปีแล้ว

เฟซบุ๊คของคุณ "พร่างเพชรในเกร็ดเพลง เล่าถึงเบื้องหลังของเพลงนี้ไว้เมื่อ 12 เมษายน 2017 ·
ว่า

 ไเพลง "มนต์รักนวลจันทร์" ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง คู่กับ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี คำร้อง ทวีปวร-สง่า อารัมภีร ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน เป็นเพลงในละคร แสดงเมื่อปี 2496
เป็นเพลงที่น่าฟังแต่ไม่น่าร้อง เพราะมีระดับเสียงสูงมาก ถึงขนาดวงสุนทราภรณ์ต้องเชิญคุณสุเทพมาร้องเพลงนี้ เพราะนักร้องชายในวงเสียงไม่ถึง
เพลงนี้มีที่มาจากเรื่องรามเกียรติ์ ท้าวกกขนากเป็นยักษ์ดุร้าย ถูกพระรามใช้ศรทำด้วยต้นกกยิงร่างติดแน่นอยู่กับแผ่นหิน พระรามสาปให้ยักษ์ทนทุกข์อยู่เช่นนั้นตลอดไป นางประจันเป็นลูกสาวท้าวกกขนากอยากช่วยพ่อ จึงทอผ้าจีวรด้วยใยบัวเพื่อถวายพระศรีอาริย์ กุศลนี้จะช่วยลบล้างคำสาปได้ เหล่าเทวดาเกรงยักษ์ร้ายจะกลับมาอีก จึงส่งเทพบุตรองค์หนึ่งลงมาทำลายพิธีทอผ้าของนางประจัน โดยทำให้นางหลงรัก จิตเป็นกิเลส ทอผ้าไม่สำเร็จ
ฉากของเพลง"มนต์รักนวลจันทร์" เริ่มจากตอนเทพบุตรปรากฏกายขณะที่นางกำลังทอผ้าอยู่ ค่อยๆซักถามนางทีละเรื่อง จน"สุดซึ้งเสาวคนธ์ ดุจมนต์ดลใจ แจ่มจันทร์ขวัญใจ สองเรา"
เพลง"มนต์รักนวลจันทร์"ภาคสมบูรณ์จะมีบทสนทนาก่อนร้องเพลง หาดูได้ในการแสดงสด ขอบคุณ ข้อมูลจาก Blaggang.com และเสียงเพลงจาก ThaiEsan4

https://www.youtube.com/watch?v=eysaWoAJYdo


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 20, 16:51
เพลงนี้ ทำนองจาก Gypsy Moon  เนื้อร้องโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ในความเห็นส่วนตัว  ไม่มีใครร้องเพลงนี้ได้ใสและชัดเท่าคุณสุเทพ

https://www.youtube.com/watch?v=wfMY2bmLpCw


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 20, 16:53
แถม Gypsy Moon  ให้ฟังค่ะ
เพลงนี้ ทำนองดัดแปลงมาจากเพลงคลาสสิค ชื่อ Zigeunerweisen หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า  Gypsy Air, Op.20 แต่งขึ้นตั้งแต่ค.ศ.1878 โดย  Pablo de Sarasate

https://www.youtube.com/watch?v=nakKwL0o6lM


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 20, 17:45
เพลง แต่ปางก่อน     ขับร้องโดยศิลปินแห่งชาติทั้งสองท่าน คุณสุเทพและคุณสวลี
เพลงนี้เนื้อร้องและทำนองแต่งโดยศิลปินแห่งชาติ  คุณวิรัช อยู่ถาวร  เป็นเพลงไตเติ้ลของละครโทรทัศน์ชื่อเดียวกัน "แต่ปางก่อน"

https://www.youtube.com/watch?v=NZztiNp_uIs


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 มี.ค. 20, 20:40
รงค์ วงษ์สวรรค์ กับ สุเทพ วงศ์กำแหง ที่น้ำพุร้อนในญี่ปุ่น


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 มี.ค. 20, 20:45
จากหนังสือ คอนเสิร์ต "ลืมไม่ลง" ๔๐ ปี สุเทพ วงศ์กำแหง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 20, 15:15
ชื่อของประพนธ์ สุนทราจามร อาจไม่เป็นที่คุ้นหูของคอเพลงปัจจุบัน  รวมทั้งผู้อ่านเรือนไทยอีกมาก  เพราะท่านเริ่มร้องเพลงย้อนหลังไปตั้งแต่ พ.ศ. 2495  
แต่ถ้าบอกว่าเป็นผู้ขับร้องเพลง "บุพเพสันนิวาส" คนแรก คงไม่มีใครไม่รู้จักเพลงนี้

ประพนธ์ สุนทรจามร มีชื่อจริงว่า นาวาอากาศเอก ประพนธ์ โตจำเริญ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2471 เป็นศิษย์ครูเวส สุนทรจามร มีผลงานเพลงมากมาย เช่น เสียงสวาท (คู่ พิทยา บุณยรัตพันธุ์) หาดผาแดง ผู้ที่พระเจ้าสาป บุพเพสันนิวาส

ชีวิตการทำงานของประพนธ์ เริ่มต้นที่ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงกลาโหมและกระทรวงพาณิชย์ หลังจากนั้นได้ทำงานอยู่บริษัท นครหลวงประกันชีวิต ในช่วงนี้ ครูเวส สุนทรจามร ได้เห็นความสามารถด้านร้องเพลง จึงได้ชักชวนมาร่วมวงดนตรีศิษย์จามร ซึ่งครู ธนิต ผลประเสริฐตั้งขึ้น

ประพนธ์เล่าว่า เมื่อครั้งที่มาพบครูเวส สุนทรจามร ครูเวสได้ถามว่าร้องเพลงอะไรได้บ้าง ประพนธ์ก็ได้นำชื่อเพลงที่ร้องได้มาให้ครูเวสดู พอดีกับวินัย จุลละบุษปะ ผ่านเข้ามา แล้วพูดว่า "เพลงของผมทั้งนั้นเลยนี่ครู" ครูเวสเลยให้ร้อง เมื่อเป็นที่ถูกใจแล้ว จึงได้ประพันธ์เพลงให้ร้อง

สำหรับเพลงบุพเพสันนิวาสที่สร้างชื่อเสียงให้กับประพนธ์อย่างมากมายนั้น เป็นผลงานที่ครูสุรัฐ พุกกะเวส แต่งร่วมกับครู เวส สุนทรจามร แต่งไว้แต่ยังไม่มีคนร้อง ประพนธ์จึงได้เข้ามาร้อง เมื่อ พ.ศ. 2495 หลังจากนั้น ประพนธ์ก็มีผลงานเพลงออกมาเรื่อย ๆ เช่น หาดผาแดง ดวงใจของพี่ เสียงสวาท กระต่ายกับดวงจันทร์ (คู่ พิทยา บุณยรัตพันธุ์)

ปี พ.ศ. 2497 ประพนธ์ สุนทรจามร ได้ลาออกจากบริษัท นครหลวงประกันชีวิต เพื่อเข้ารับราชการทหาร สังกัดกรมสารบัญทหารอากาศ โดยมิได้ร่วมขับร้องเพลงอยู่ในวงดนตรีสุนทราภรณ์เลย ดังนั้น ประพนธ์จึงไม่ใช่นักร้องของสุนทราภรณ์ ในระยะนี้ประพนธ์ได้ร้องเพลงอยู่กับคณะจารุกนก และคณะศิษย์จามรอยู่เนือง ๆ

พ.ศ. 2512 ประพนธ์ได้ร้องเพลงหาดผาแดงของ "พรพิรุณ" ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังอีกครั้ง และรับร้องเพลงอยู่ตามไนต์คลับและภัตตาคารอยู่บ้าง ภายหลังจึงได้รับร้องเพลงกับวงธนิตสรณ์ ของครูธนิต ผลประเสริฐ วงดนตรีไตรทิพย์ ของ บุญเลื่อน ไตรพิพัฒน์ และวงดนตรีเอื้อสัมพันธ์ ของ ปรีชา เกียรติประวัติ

ประพนธ์ สุนทรจามร ได้เกษียณอายุราชการจากกองทัพอากาศแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2531 แต่รับร้องเพลงอยู่เสมอ ในนามวงดนตรี คีตกานต์ โดยพักอาศัยอยู่ที่ย่านบึงกุ่ม

พ.ศ. 2563 ประพนธ์ โตจำเริญ (สุนทรจามร) ได้ประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2563  อายุ 92 ปี


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 20, 15:18
https://www.youtube.com/watch?v=pary3RiRdsk


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 20, 15:19
https://www.youtube.com/watch?v=iD9XXRexafc


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 20, 15:29
ประพนธ์ร้องเพลงนี้เมื่อปี 2548   
คุณสมบัติของนักร้องลูกกรุงรุ่นเก่า คือเสียงสูง  ร้องเพลงไทยเดิมแปลงได้ไพเราะ

https://www.youtube.com/watch?v=t-hV-CjwL-w


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 20, 16:12
ครูเพลงศิลปินแห่งชาติอีกท่านหนึ่ง ได้ขึ้นไปแต่งเพลงต่อบนสวรรค์แล้ว
ครูสุคนธ์ กุสุมภ์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2561 เป็นที่รู้จักกันดีในนาม “พรพิรุณ” ในวัย 84 ปี จากไปในวันนี้ (วันพุธที่ 23 กันยายน 2563)
ท่านมีผลงานประพันธ์คำร้องให้เพลงสำคัญ เช่น เพลง “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2529, เพลง "กาญจนาภิเษก" ในวาระครองราชย์ 50 ปี เมื่อ พ.ศ. 2538, เพลง "72 พรรษานวรัชจักรีมหาราชา" เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2541, เพลง “ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่ง” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ เมื่อ พ.ศ. 2547

สุคนธ์ พรพิรุณ เกิดที่จังหวัดราชบุรี เดิมชื่อ สุคนธ์ กุสุมภ์ จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ และศึกษาต่อที่วิทยาลัยพยาบาลราชวิถี และเข้าเป็นสมาชิกในวงสุนทราภรณ์ ทำหน้าที่ขับร้อง เริ่มแต่งเนื้อเพลงให้กับครูเอื้อ สุนทรสนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 โดยใช้ชื่อ "พรพิรุณ" ซึ่งตั้งให้โดย สมาน กาญจนะผลิน ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลงขอปันรัก ขับร้องโดยเสกสรรค์ กุสุมภ์ ผู้เป็นน้องชาย ในปี พ.ศ. 2508 ได้รับปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อ พ.ศ. 2543

ครูพรพิรุณ เป็นนักแต่งเพลงผู้มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อวงการเพลงท่านเป็นเจ้าของผลงานเพลงอมตะของวงดนตรีสุนทราภรณ์ อาทิ ขอให้เหมือนเดิม กว่าจะรักกันได้ ใจชายใจหญิง ฝนหยาดสุดท้าย ฉันยังคอย ฯลฯ ตลอดจนเพลงลูกกรุงอื่น ๆ อีกมากมาย


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 20, 16:15
https://www.youtube.com/watch?v=OZzmoOFAVqs


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 20, 16:19
https://www.youtube.com/watch?v=A-GpvLqSJLA


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 20, 18:34
https://www.youtube.com/watch?v=rc2v0ouMNoY


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ก.ย. 20, 19:24
คำประกาศเกียรติคุณ "พรพิรุณ" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) พุทธศักราช ๒๕๖๑


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 ก.ย. 20, 10:40
        นอกจากหม่อมหลวงพวงร้อย อภัยวงศ์ แล้ว นักแต่งเพลงหญิงที่โดดเด่นอีกท่านก็คือ ครูพรพิรุณ
ที่ได้ฝากผลงานเพลงจำไว้หลายเพลง

ฟัง "เพลงชีวิต" ของครูได้ที่  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/966

“ก่อนจากกัน คืนนั้นสองเรา...” เพลงชีวิตของ “พรพิรุณ" ศิลปินแห่งชาติผู้ได้นามจากสนามม้านางเลิ้ง


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 09:24
ตัวอย่าง เพลงสถาบันการศึกษา ต่างๆ  ที่พร พิรุณแต่ง

https://www.youtube.com/watch?v=iQuuN8l6wqA


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 09:26
https://www.youtube.com/watch?v=p_Rflpt4tqo


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 09:28
https://www.youtube.com/watch?v=fIu-l8vCsJA


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 21, 15:28
ครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2536  เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคชราเมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา สิริอายุรวม 98 ปี
ครูชาลี เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ที่จังหวัดสมุทรสาคร จบการศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ และโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟรุ่นแรก แผนกการเดินรถ มีผลงานประพันธ์คำร้องเพลงเกือบ 1,000 เพลง เช่น สดุดีมหาราชา, แสนแสบ, ท่าฉลอม, สาวนครชัยศรี, ทุ่งรวงทอง, มนต์รักดอกคำใต้, แม่กลอง, เรือนแพ, จำเลยรัก


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 21, 15:31
ขอรำลึกถึงท่านด้วยการโพสผลงานเพลง  ขอเชิญสมาชิกเรือนร่วมรำลึกด้วยการโพสเพลง หรือผลงานอื่นๆของท่านด้วยค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=L3fmLj0GsqQ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 21, 15:32
https://www.youtube.com/watch?v=1Mt2Zu7j2Ro


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 21, 15:34
https://www.youtube.com/watch?v=Kg1cnuggTsw


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 พ.ค. 21, 15:35
กราบลาครูชาลี  อินทรวิจิตร

 ๑.
 “รพีพร” ยืนรอที่ฟากสวรรค์
 พี่ “เทพ” ตามไปรำพันไม่นานนี่
 สามสหายพบกันในวันนี้
 คงยินดีโอบอ้อมรักล้อมกัน
 ยังจำได้เรื่องเล่าเมื่อคราวก่อน
 พี่อู๊ดหมดเคราะห์ถอนจากคุกนั่น
 ที่เทพกับครูชาลีนี่แย่งกัน
 ขับรถไปรอรับพลันที่หน้าคุก
 โอ้ ความรักความผูกพันอันงามงด
 พี่ทั้งสามมีครบรสทุกข์และสุข
 นักเขียน-นักร้อง-นักแต่งเพลงบรรเลงรุก
 ชีวิตทุกก้าวย่างสว่างใจ
 ครูอยู่ยืนกว่าใครในทั้งสาม
 แต่รักยังงดงามไม่ไปไหน
 วันนี้ได้พบกัน สวรรค์ครรไล
 เราส่งครู ยิ้มให้ด้วยยินดี
 อ้อมกอดบนฟากสวรรค์ย่อมสันต์สว่าง
 บุญที่สร้างคือคีตศิลป์ทุกถิ่นที่
 ประโลมไทยทั่วพื้นผืนปฐพี
 ครูชาลี  วิจิตรจริงยิ่งกว่าใคร
 
 ๒.
 “สดุดีมหาราชา” ทั้งหล้าร้อง
 “น้ำตาแสงไต้”ส่องโศกสมัย
 “อาลัยรัก”นักประพันธ์สะท้านใจ
 “ท่าฉลอม”ยิ่งใหญ่ ไม่มีลืม
 “น้ำเซาะทราย””บ้านทรายทอง”และ “ป่าลั่น”
 ยังสนั่น “ทุ่งรวงทอง”ร้องแล้วปลื้ม
 “มนต์รักดอกคำใต้”จำไม่ลืม
 ยังด่ำดื่ม “เรือนแพ” “จำเลยรัก”
 “แสนแสบ”“บ้านเรา” และ“ไกลบ้าน”
 ทุกเพลงคือตำนานแจ้งประจักษ์
 “แม่กลอง” “สาวนครชัยศรี” ยินดีนัก
 “สวรรค์มืด” หนัก“หยาดเพชร”เร้าให้เราฟัง
 “ไม่อยากให้โลกนี้มีความรัก”
 ร้อยสลัก“น้ำตานกขมิ้น”หลั่ง
 แม้รู้ว่าครูไปสบายจัง
 แต่ก็ยังอาลัยไม่รู้ลา
 “เท่านี้ก็ตรม”เพียงพอแล้วหนอครู
 ขอครูสู่สวรรค์สุดหรรษา
 พบพี่อู๊ดพี่เทพเสพสวรรยา
 ส่งเพลงฟ้าบรรเลงฟ้ามากล่อมเรา

      ชมัยภร แสงกระจ่าง
      ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 21, 15:40
https://www.youtube.com/watch?v=JBHyB0_wmtE


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 21, 15:49
https://www.youtube.com/watch?v=ZPVC-1v_YMg


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ค. 21, 15:50
https://www.youtube.com/watch?v=0de8_4lGkY8


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 พ.ค. 21, 16:04
 ;D


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 พ.ค. 21, 16:06
...


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 พ.ค. 21, 18:35
ขอแสดงความเสียใจในความเศร้า
ที่เพิ่งเข้าสู่ครอบครัวและลูกหลาน
ขอคุณครูชาลีสุขสราญ
ในสถานสุคติพิมานแมน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 06 พ.ค. 21, 05:52
ส่งคำถามครับ

ดาวรุ่งสุนทราภรณ์ (ยุค Golden age) รุ่นสุดท้ายมีนักร้องหญิงคนหนึ่ง  ชื่อแปลกคือ  มีแต่ชื่อไม่มีนามสกุล   คือ โสมอุษา

มีใครทราบประวัติบ้างครับว่า ชื่อเต็ม ๆ ของเธอคืออะไร  เท่าที่เสาะหามา  ในที่สุดเธอเคยมีอาชีพพยาบาล  ไปอยู่ต่างประเทศและเสียชีวิตไปนานแล้ว

เพลงโปรดตลอดกาลของผม

https://www.youtube.com/watch?v=5dakbyeyUZA

https://www.youtube.com/watch?v=4UQg-XbmvsA

หลังจากออกจากวง ฯ  เธอเป็นนักร้องอิสระพักหนึ่ง  เพลงนี้หูผมบอกว่า เพราะมาก

https://www.youtube.com/watch?v=6gH30CX3J78

เดี๋ยวนี้ไม่มีใครผลิตเพลงแบบนี้อีกแล้ว  โชคดีจังที่เกิดมาทัน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 21, 08:05
หาประวัติได้น้อยมาก   รู้แต่ว่าเธอชื่อโสมอุษา สรัคคานนท์  เคยเป็นพยาบาลอยู่ร.พ. ราชวิถี   เข้ามาเป็นนักร้องดาวรุ่งของสุนทราภรณ์ ในช่วงที่รวงทอง ทองลั่นธม ลาออกจากวงไป  
ครูเอื้อต้องการนักร้องใหม่ที่น้ำเสียงสไตล์รวงทอง   จึงตั้งโครงการดาวรุ่งขึ้น  มีนักร้องใหม่เข้ามาหลายคน เช่นคุณโสมอุษา และคุณช่อชบา ชลายลนาวิน
ได้ข่าวว่าเธอถึงแก่กรรมแล้วค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ค. 21, 11:52
 The People

ชาลี อินทรวิจิตร: ที่มาของเพลงจำเลยรัก “เพลงนี้จะดังที่สุด ถ้าไม่ดัง ผมเลิกแต่งเพลงเลย”
.
วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2536 จากไปอย่างสงบ
.
ประมาณปี 2503 ชาลี อินทรวิจิตร กำลังเป็นหนุ่มวัยฉกรรจ์อายุ 37 ปี เขาเติบโตและมีชื่อเสียงในฐานะนักแต่งเพลงประจำวงดนตรีชั้นนำในยุคสมัยนั้น นั่นคือ “วงดนตรีประสานมิตร” ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ พ.ต.อ.พุฒ บูรณะสมภพ และ พิบูล ทองธัช วงดนตรีวงนี้ เป็นที่รวมของนักแต่งเพลงฝีมือดีหลายคน โดย ชาลี ได้พบและร่วมงานกับ สมาน กาญจนะผลิน ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงที่เขามีโอกาสร่วมงานกันมากที่สุด บทเพลงที่รังสรรค์ขึ้นโดยบุคคลทั้งสอง ล้วนได้รับความนิยมและได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก
.
วันหนึ่งของปีนั้น ระหว่างชาลีนั่งเล่นรัมมี่กับทีมงานอย่างสบายอารมณ์ รอคิวว่างอยู่หน้าห้องสตูดิโอแห่งหนึ่ง เพื่อเตรียมอัดเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “จำเลยรัก” (ต่อมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในปี 2506) ชาลี อินทรวิจิตร ได้กระซิบบอก สมาน กาญจนะผลิน ด้วยอหังการของคนหนุ่ม ว่า
.
“เพลงนี้จะดังที่สุด ถ้าไม่ดัง ผมเลิกแต่งเพลงเลย!”
.
ตามคำบอกเล่าของ ชาลี ในหนังสือ “บันเทิง บางที กับ ชาลี อินทรวิจิตร” เจ้าตัวเล่าว่า วิธีการแต่งเพลงของเขา กับ สมาน ไม่ค่อยจะเหมือนใคร ปกติแล้ว สมานจะถนัดในการนำเนื้อเพลงไปใส่ทำนอง ไม่ใช่เอาทำนองไปใส่เนื้อ เพลง “จำเลยรัก” ที่จะอัดเสียงกันในวันนั้น ก็เริ่มต้นแบบนั้นเช่นกัน
.
เมื่อสมานมาตามเนื้อ ระหว่างรอคิวห้องอัดว่าง ชาลี เริ่มต้นเขียนท่อนแรกว่า
.
“เจ็บแค้นเคืองโกรธ โทษฉันใย ฉันทำอะไร ให้เธอเคืองขุ่น ปรักปรำ ฉันเป็นจำเลยของคุณ นี่หรือพ่อนักบุญ แท้จริงคุณคือคนป่า”
.
ผ่านไป 20 นาที สมานกลับมาพร้อมแอคคอเดียน แล้วบรรเลงทำนองท่อนแรกให้ฟัง ชาลี ถึงกับขนลุกซู่ด้วยความไพเราะ อีกครึ่งชั่วโมงต่อมา เนื้อเพลงท่อนที่สองก็เสร็จเรียบร้อย
.
“ไม่ขอคุกเข่า เฝ้าง้องอน แม้ใจขาดรอน ขอตายดีกว่า ไม่ขอร้องใครให้กรุณา ไม่ขอเศร้าโศกา หรือบีบน้ำตา อ้อนวอนใคร ๆ”
.
มาถึงตรงนี้ ชาลี มีไอเดียใหม่ขึ้นมา เพราะเป็นท่อนที่สาม หรือเป็นท่อนแยกของเพลงพอดี (ตามฟอร์มเพลง AABA) ชาลีจึงบอกให้สมาน ลองใส่ทำนองมาก่อนบ้าง แล้วเขาจะใส่เนื้อตามทีหลัง เมื่อสมานแต่งทำนองท่อนแยกกลับมา ชาลีไม่ชอบ บอกว่าไม่เพราะ เพราะทำนองคล้ายสองท่อนแรก ด้านสมานก็เถียงว่า เพลงเป็นบันไดเสียงไมเนอร์ (minor) ท่อนแยกก็ควรจะเป็นไมเนอร์
.
ชาลีเถียงกลับว่า “เปลี่ยนเป็นเมเจอร์ (major) ไม่ได้เชียวหรือ ผิดกฎหมาย ถูกตัวหัวคั่วแห้งหรือเปล่า”
สมานบอก “มันต้องทำสะพานทั้งเข้าทั้งออก ไม่งั้น คนร้องจะล่ม”
.
เขาหมายถึงการปรับจากไมเนอร์เป็นเมเจอร์จะต้องมีชั้นเชิง มีการเชื่อมแนวทำนองให้สละสลวย เปรียบได้กับ “สะพาน” ไม่งั้นจะกลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับนักร้อง
.
“ถ้างั้น น้าหมาน ไปสร้างสะพานเพชร สะพานทอง สะพานไม้ได้เลย ผมต้องการท่อนแยกเป็นเมเจอร์”  ชาลี สำทับแกมสั่ง
.
ครึ่งชั่วโมงต่อมา ทำนองท่อนแยกที่พลิ้วหวานจากคอร์ดเมเจอร์ก็กังวานขึ้น คราวนี้ ชาลี เขียนท่อนแยกด้วยความประทับใจสุด ๆ ด้วยเนื้อหาที่สะท้อนถึงความสง่างาม ทรนง และความมีศักดิ์ศรี สอดรับกับภาคดนตรีดียิ่งนัก
.
“เชิญคุณลงทัณฑ์ บัญชา จนสมอุรา จนสาแก่ใจ ไม่มีวันที่ฉันจะร้องไห้ ร่ำไร เพราะฉันมิใช่ หญิงเจ้าน้ำตา”
ถึงตอนนี้ล่ะ ที่ชาลีกระซิบกับสมาน กลางวงรัมมี่ว่า
“เพลงนี้จะดังที่สุด ถ้าไม่ดัง ผมเลิกแต่งเพลงเลย”
.
สมานได้ที ถือโอกาสถามต่อ “แล้วท่อนสุดท้าย เมื่อไหร่จะเสร็จล่ะ”
.
ชาลีเล่าว่า แกหลิ่วตาให้สมานอย่างกระหยิ่มใจแทนคำตอบ เพราะตอนนั้น ชาลีกำลังคั่วไพ่สเปโตอยู่ ใครทิ้งสเปโต แกน็อกมืด แต่แล้วเกมนั้นก็พลิกผัน ชาลีกลับถูกลบมืด เพราะมือเหนือเขา “กัก” สเปโตไว้ ด้วยความฉับไวตามประสากวี เนื้อเพลงท่อนสุดท้ายก็วาบขึ้นในสมองทันที
.
“กักขังฉันเถิด กักขังไป ขังตัว อย่าขังหัวใจดีกว่า อย่าขัง หัวใจให้ทรมา ให้ฉันเศร้าโศกา เหมือนว่าฉันเป็นเช่นดังจำเลย”
.
‘ชาลี’ ชื่อตัวละคร สู่ชีวิตจริง
.
สง่า อินทรวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2466 ที่ท่าฉลอม สมุทรสาคร เป็นพี่คนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คน เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนพร้อมวิทยามูล ข้างเวทีมวยราชดำเนิน แล้วไปต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จึงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ รุ่น 1
มีบันทึกไว้ว่า ด้วยเหตุที่บ้านอยู่ท่าฉลอม ทำให้เด็กชายสง่าต้องมีน้ำอดน้ำทนในการเดินทาง เพราะต้องขึ้นรถไฟจากมหาชัยมาวงเวียนใหญ่ ก่อนจะต่อรถสาธารณะเข้าสู่พระนครชั้นใน
.
ด้วยความรักในการแสดงและเสียงเพลง สมัยเป็นวัยรุ่น สง่า ใฝ่ฝันจะเป็นนักร้อง เขามีความชื่นชอบ สถาพร มุกดาประกร นักร้องประจำวงดนตรีทรัพย์สินของ ครูนารถ ถาวรบุตร เป็นพิเศษ โดยแอบไปดูประจำที่โรงหนังโอเดียน จากนั้นขึ้นเวทีประกวดร้องเพลง ประจำจังหวัดสมุทรสาคร จนได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยหนึ่งในคณะกรรมการที่ตัดสินวันนั้น คือ ครูล้วน ควันธรรม ที่ต่อมาเขาขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ สง่าจึงได้ไปอาศัยบ้านครูแถวโบสถ์พราหมณ์ มีโอกาสรู้จักลูกศิษย์คนอื่น ๆ ของครูล้วน เช่น สุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ ซึ่งชักนำให้เขาก้าวเข้าสู่วงการแสดงในเวลาต่อมา
.
ปี 2492 สง่า เปลี่ยนชื่อ เป็น ชาลี อินทรวิจิตร อันเป็นผลสืบเนื่องจากการแสดงในละครเรื่อง “เคหาสน์สีแดง” ของคณะละครศิวารมณ์ ละครเรื่องนี้ มี สุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ และ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เป็นนักแสดงนำ ผู้แต่งเพลงประกอบคือ สง่า อารัมภีร และ สุนทรียา ณ เวียงกาญยน์ โดย สง่า อินทรวิจิตร รับบทเป็น “นักเรียนนายเรือชาลี” ด้วยเหตุนี้ ท่านหญิงดวงดาว (หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร) เจ้าของบทประพันธ์ จึงได้ประทานชื่อนี้ ชาลี ให้ใช้ตลอดไป
เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่นนี้ สง่า อารัมภีร บันทึกไว้ว่า
.
“ชาลี แต่เดิม ชื่อ สง่า อินทรวิจิตร เมื่อเขามาแสดงเรื่องเคหาสน์สีแดงของท่านดวงดาว ท่านทรงพอใจมาก เรียกชาลีไปหาที่ร้านหยกฟ้า หน้าศาลาเฉลิมนคร บอกว่า เธอแสดงเป็นนาวาโทชาลี สมบทบาทในนวนิยายเหลือเกิน ฉันขอมอบชื่อ ชาลี ให้แทนชื่อ สง่า จะได้ไม่พ้องกับหัวหน้าวงดนตรี ซึ่งเป็นนักแต่งเพลง...”
.
จาก ‘นักร้อง’ เป็น ‘นักแต่งเพลง’
.
จากคณะละครศิวารมณ์ ชาลี ย้ายไปอยู่กับคณะละครเทพศิลป์ เขาผ่านงานเล่นละคร และทำหน้าที่เป็นนักร้องสลับหน้าม่านละคร ทั้งนี้ คีตา พญาไท ผู้สันทัดเพลงลูกกรุง วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ ชาลี อินทรวิจิตร หันมาแต่งเพลงมากกว่าที่จะเป็นนักแสดง หรือนักร้อง น่าจะมาจากเหตุผลสำคัญ คือการเกิดขึ้นของนักร้องรุ่นใหม่ 2 คนนั่นเอง
.
“ครูไสล ไกรเลิศ นำเด็กหนุ่มมาสู่วงการเพลงสองคน ถ้าจะเปรียบกับสมัยนี้ ก็วัยจ๊าบ สดและซิงจริง
ๆ คนหนึ่งเสียงร้องนุ่มนวล หวานซึ้ง ไพเราะเหมือนลมกระซิบคลื่น สุเทพ วงศ์กำแหง อีกคนหนึ่ง... กังวาน เสียงแจ่มชัด จัดจ้าน พลิ้วโหยสูงสุดต่ำสุดได้โดยไม่ต้องอาศัยลูกคอช่วย เขาคือ ชรินทร์ งามเมือง (เปลี่ยนนามสกุลเป็น นันทนาคร ในเวลาต่อมา) ผมฟังเสียงเขาร้อง แม้กายจะสงบนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว แต่หัวใจฉันเดินทางไปสุดปลายฟ้า ผมสัญญากับวัน เวลาและฤดูกาล กับดวงดาวกระพริบ ในท้องฟ้าใสของคืนแรม ผมจะเลิกร้องเพลง หันมาแต่งเพลง”
.
ชาลี อินทรวิจิตร และ สมาน กาญจนะผลิน แต่งเพลง “สวรรค์มืด” เพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน จากบทประพันธ์ของ รพีพร เพื่อให้ สุเทพ วงศ์กำแหง ร้อง ตามด้วยบทเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอีกมากมาย อาทิ “เท่านี้ก็ตรม” , “รักอย่างรู้คลาย” , “บ้านเรา” , “ครวญ” ส่วน ชรินทร์ นันทนาคร ก็ไม่ยิ่งหย่อนกัน ชาลี มีเพลงอย่าง “อาลัยรัก” , “ไกลบ้าน” , “เรือนแพ” , “ท่าฉลอม” , “แสนแสบ” และ ฯลฯ
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลง “อาลัยรัก” นับเป็นเพลงที่สะท้อนถึงความเป็น ชาลี อินทรวิจิตร ในด้านนักอ่านที่พร้อมจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้มีพื้นฐานจากการเป็นนักอักษรศาสตร์มาก่อนหน้าก็ตาม โดยที่มาของเพลงนี้ มาจากนวนิยาย “สงครามชีวิต” ของศรีบูรพา ที่เพื่อนรักนักประพันธ์และนักต่อสู้ทางการเมือง สุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) ส่งมาให้อ่าน โดยชาลี สร้างสรรค์บทเพลงนี้จากถ้อยความไม่กี่บรรทัดในบทสุดท้ายของนวนิยายเรื่องนี้
.
“แม้มีปีก โผบิน ได้เหมือนนก อกจะต้องธนู เจ็บปวดนัก ฉันจะบิน มาตาย ตรงหน้าตัก ให้ยอดรักเช็ดเลือดและน้ำตา”
.
ครั้งหนึ่ง ชาลี อินทรวิจิตร เคยแสดงทัศนะต่อความเป็นไปของวงการเพลงอย่างแหลมคมว่า
.
“ทุกอย่างเป็นของง่ายหมด ใครที่แม้ขาดความรู้ทางดนตรีก็โอ้อวดว่าข้าแต่งทำนองเองได้ โดยไม่รู้จักโน้ตแม้แต่ตัวเดียว อนิจจา กลกบเกิดในสระจ้อย ผลที่ออกมาน่ะหรือ ก็ร้อยเนื้อทำนองเดียวอยู่นานปีดีดักแล้ว ถึงวันนี้ ฉันกำลังถูกเจ๊กลากไป ญี่ปุ่นลากมา หาความเป็นสัญลักษณ์ของตัวเองไม่พบ แล้วอย่างนี้ จะไม่ให้ฉันอาทรได้อย่างไร”
.
กลางดึกวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์) ประจำปี 2536 จากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา วัย 98 ปี โดยฝากผลงานประพันธ์คำร้องเกือบ 1,000 เพลง, ผลงานการแสดง และผลงานกำกับภาพยนตร์/อำนวยการสร้างภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก

https://www.facebook.com/thepeoplecoofficial


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 06 พ.ค. 21, 12:20
              ได้ยินชื่อครูชาลี ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก เพราะพ่อรู้จักทั้งครูและคู่ชีวิต(นักแสดงมากฝีมือ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ)
พ่อจะเรียก หง่า ตามชื่อเดิมของครู - สง่า ซึ่งข้อมูลระบุว่า ท่านดวงดาวผู้ประพันธ์เรื่อง เคหาสน์สีแดง ประทานชื่อชาลีให้
ตามชื่อตัวละครที่ครูรับบท เพื่อจะได้ไม่ซ้ำกับครู สง่า อารัมภีร
              ครูมีพี่น้อง ซึ่งคงไม่ประสงค์จะเป็นที่ถูกถามถึงว่าเป็นอะไรกับคนดังจึงได้แปลงนามสกุลไปหน่อยเพื่อจะไม่ซ้ำกัน
(ไม่แน่ใจว่าเป็น ให้ออกเสียงว่า อิน ทอน แทน อิน ทะ ระ หรือ แปลง ทร เป็น พร)
              ครูเป็นนักร้อง และ นักแสดงด้วย เคยดูครูจากละครช่อง ๔ บางขุนพรหม

ครู ในละครเรื่อง ลูกทาส


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 06 พ.ค. 21, 12:27
              บทกลอนของคุณชมัยพร กล่าวถึงเพลงที่ครูแต่ง รวมถึง น้ำตาแสงไต้ - ไม่ได้เป็นผลงานของครู เนื้อร้องเป็นของ
ครู มารุต เนรมิตร(สองผกก.) และ ครูสง่าอารัมภีร ซึ่งให้ทำนองด้วย จากบทความ  เพลงผีบอก ที่มาของเพลง ”น้ำตาแสงไต้”

เว็บ https://www.tnews.co.th/religion/301366/เพลงผีบอก!-ครูสง่าเผย-น้ำตาแสงใต้-แต่งเพลงจบเพราะมีผีมาเล่นดนตรีให้ฟัง-ที่มาขนหัวลุกของบทเพลงอมตะหวานปนเศร้า!
 
              ขอข้ามเพลง เมื่อเธอจากฉันไป ที่ครูแต่งรำลึกถึงคู่ชีวิต(ศ ศ)ที่จากไปโดยใช้ทำนองเพลง Aubrey ของวง Bread
มาเป็นเพลงไพเราะประทับใจเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่ค่อยได้ฟังหรือได้ยินใครกล่าวถึง คือ เพลง ไทรรัก ประกอบละคร แผลเก่า
ครูให้คำร้อง ทำนองโดยครูสมาน กาญจนผลิน เสียงร้องของคุณเพลินพรรณ เกียรตินิยม

https://www.youtube.com/watch?v=f39HpbRq0fk


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 06 พ.ค. 21, 14:36
หาประวัติได้น้อยมาก   รู้แต่ว่าเธอชื่อโสมอุษา สรัคคานนท์  เคยเป็นพยาบาลอยู่ร.พ. ราชวิถี   เข้ามาเป็นนักร้องดาวรุ่งของสุนทราภรณ์ ในช่วงที่รวงทอง ทองลั่นธม ลาออกจากวงไป   
ครูเอื้อต้องการนักร้องใหม่ที่น้ำเสียงสไตล์รวงทอง   จึงตั้งโครงการดาวรุ่งขึ้น  มีนักร้องใหม่เข้ามาหลายคน เช่นคุณโสมอุษา และคุณช่อชบา ชลายลนาวิน
ได้ข่าวว่าเธอถึงแก่กรรมแล้วค่ะ

ขอบคุณมาก ๆ ครับ  เพียงพอแล้ว


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 06 พ.ค. 21, 15:17
บอกความในใจว่า ...

ชอบ วรนุช อารีย์ มาก ๆ  ถึงขนาดควาญหาเบอร์โทรศัพท์แล้วโทร. ไปหาเพื่ออยากพบ  ป้านุชน่ารัก  คุยสนุก  ตอนฟังผมพล่าม  แกหัวเราะเอิ๊กอ๊าก  เลี้ยงข้าวด้วย

https://www.youtube.com/watch?v=_XYjmfgIqxc

https://www.youtube.com/watch?v=arQA9XzFoXg


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 06 พ.ค. 21, 15:20
             
              ขอข้ามเพลง เมื่อเธอจากฉันไป ที่ครูแต่งรำลึกถึงคู่ชีวิต(ศ ศ)ที่จากไปโดยใช้ทำนองเพลง Aubrey ของวง Bread
มาเป็นเพลงไพเราะประทับใจเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่ค่อยได้ฟังหรือได้ยินใครกล่าวถึง คือ เพลง ไทรรัก ประกอบละคร แผลเก่า
ครูให้คำร้อง ทำนองโดยครูสมาน กาญจนผลิน เสียงร้องของคุณเพลินพรรณ เกียรตินิยม


ยกมือ ครับ...

ชอบสุดขีด

รวมถึงเพลงนี้

https://www.youtube.com/watch?v=35l3fUl1xhQ

แล้วก็เพลงนี้

https://www.youtube.com/watch?v=7FY6L0NnoB4

แล้ว... ขอคิดก่อน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 21, 09:47
https://www.youtube.com/watch?v=mT7Si_C0ryA


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 07 พ.ค. 21, 11:55
            ครูชาลีมีผลงานคำร้องกับวงสุนทราภรณ์หนึ่งเพลง คือ จันทร์จูบฟ้า ครูเอื้อใส่ทำนอง บรรเลง
ในแนวสังคีตสัมพันธ์ เสียงร้องโดยคุณวินัย และ ชวลีย์
            เป็นอีกหนึ่งเพลงของครูชาลีที่ แตกต่าง ไปจากเพลงส่วนมากของครู

https://www.youtube.com/watch?v=FGdreJ3fvhg


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 07 พ.ค. 21, 20:52
ขอไว้อาลัยท่านปรมาจารย์นักแต่งเพลงไทย ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล

"หยั่งทะเลพอคะเนดูได้ แต่ความรักเกินครวญใคร่ ลึกเท่าไหร่ไม่รู้หยั่งถึง"

วรรคทองเช่นนี้หาไม่ได้อีกแล้ว


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ค. 21, 10:03
มาช่วยเพิ่มวรรคทองค่ะ
"ความรักก็คือบุปผา  ผลิดอกที่ตา แล้วมาบานเบ่งที่ใจ"


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 พ.ค. 21, 08:59
คอนเสิร์ต “ที่นี่มีเพลง...ที่นี่มีรัก” วันอาทิตย์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

https://youtu.be/AYGuJvA4f3o


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ค. 21, 11:43
ฝีไม่ลายมือคุณชาลี ในบทนายแพทย์ผู้อำนวยการก็ไม่เบาเหมือนกัน   แม้เป็นบทเรียบๆแต่ก็ดึงบุคลิกภูมฺิฐาน ใจดี  น่านับถือออกมาให้เห็นได้ชัด
ในหนังระดับตำนาน " นวลฉวี"

https://www.youtube.com/watch?v=5QOcvhMScKQ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 21, 10:16
วันที่15 ตุลาคม พ.ศ. 2564  เมื่อเวลา 21.26 น. เฟซบุ๊ก ‘พรศักดิ์ ส่องแสง Pornsak Songsang’ รายงานว่า พรศักดิ์ ส่องแสง หรือ บุญเสาร์ ประจันตะเสน นักร้องเพลงลูกทุ่งและหมอลำ ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เป็นนักร้องเพลงหมอลำคนแรกๆ ที่ออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ตในต่างประเทศ   เจ้าของฉายา ‘ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร’
พรศักดิ์ได้เสียชีวิตเมื่อเวลา 20.40 น.  เนื่องจากหัวใจวายเฉียบพลัน



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 21, 10:19
ชื่อ พรศักดิ์ ส่องแสง ตั้งให้โดยครูเพลง รักษ์ วัฒนยา หรือ ครูคำหอม พ่อฮ้างน้อย ผู้สนับสนุนให้ตั้งวงดนตรี พรศักดิ์ ส่องแสง มีผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่องประมาณ 40 ชุด มีชื่อเสียงโด่งดังสูงสุดประมาณปี พ.ศ. 2529-2530 จากเพลง ‘เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ’ ออกตระเวนแสดงทั่วประเทศ และออกไปแสดงถึงในต่างประเทศ
 เคยมีการจัดคอนเสิร์ตประชันกันระหว่าง พรศักดิ์ ส่องแสง กับ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ด้วยดนตรีสองแนวต่างสไตล์มาแล้ว โดยใช้คอนเสิร์ตชื่อว่า ‘คอนเสิร์ตสองคนสองคม’ แสดงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 ที่สนามกีฬาเวโลโดรม หัวหมาก



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ต.ค. 21, 10:21
เข้าไปดูวิดีโอได้ตามลิ้งค์นี้ค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=Lk90XwaMYv0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ต.ค. 21, 10:23
นับเป็นการสูญเสียอย่างต่อเนื่องของวงการดนตรีไทย ที่ต้องสูญเสียศิลปินระดับประเทศในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน :'(

อาลัย ‘พรศักดิ์ ส่องแสง’ เสียชีวิตในวัย ๖๑ ปี

พรศักดิ์ ส่องแสง หรือ นายบุญเสาร์ ประจันตะเสน เจ้าของฉายา ‘ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร’ เสียชีวิตเมื่อเวลา ๒๐.๔๐ น. วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๔

พรศักดิ์ เกิดวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ เส้นทางสายลูกทุ่งเริ่มจากการตั้งวงดนตรีชื่อแชมป์อีสาน โดยมีเทปชุดแรกในปี ๒๕๒๔ ชื่ออัลบั้ม ‘เสือสำนึกบาป’ เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง และหมอลำคนแรก ๆ ที่ออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ตในต่างประเทศ  มีผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่องประมาณ ๔๐ ชุด  เพลงสร้างชื่อ ช่วง พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๐ คือ เพลงเต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ ที่มีเนื้อร้องติดปากว่า “ไม่อยาก จะคิดสงสาร ไม่อยาก จะคิดสงสาร เมื่อเห็นสาวจันทร์ นั่ง ซึม มีแฟนแล้วเขาก็ลืม เขายืมร่างกายสาวจันทร์เชยชม หมดสิ้นความสาวแล้วเขาก็ไปลอยลม สาวจันทร์คร่ำครวญโศกตรม เขาเบื่อเขาชม หนีไปไม่ลา...”

พรศักดิ์ เป็นเจ้าของรางวัลการันตีฝีมือมากมาย อาทิ รางวัลพระราชทานลูกทุ่งกึ่งศตวรรษ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งรางวัลมาลัยทองนักร้องยอดนิยม ใน พ.ศ. ๒๕๔๘


‘อ๊อด คีรีบูน’ ศิลปินชื่อดังยุค ๘๐ เสียชีวิตจากอาการป่วยมะเร็งสมองในวัย ๕๗ ปี

อ๊อด คีรีบูน หรือ รณชัย ถมยาปริวัฒน์ เสียชีวิต เวลา ๒๒.๑๕ น. วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๔
 
อ๊อด เป็นสมาชิกวงคีรีบูน วงดนตรีชื่อดังช่วงยุค ๘๐ เป็นเพลงเเนวสตริงคอมโบ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ มีบทเพลงที่มีชื่อเสียง คือ รอวันฉันรักเธอ มีผลงานในนามวง ๖ ชุด โดยในช่วงที่อยู่กับวงคีรีบูน อ๊อดได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่มนักร้องชายหญิง ที่ร้องเพลงคู่แนวลูกกรุง ในชุดรวมดาว พบดาวเเละนพเก้า เเละมีอัลบั้มเดี่ยวออกมาอีกนับสิบชุดภายหลังการยุบวง และเคยมีผลงานแสดงภาพยนตร์โดยเป็นพระเอกเพียงเรื่องเดียว คือ ความรักของคุณฉุย ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ อ๊อด คีรีบูนยังเป็นเจ้าของโรงเรียนสอนดนตรีเพื่อการเรียนรู้ คีรีบูน จีเนียส มิวสิก อีกด้วย


‘บรูซ แกสตัน’ ผู้ก่อตั้งวงฟองน้ำ เสียชีวิตในวัย ๗๔ ปี

บรูซ แกสตัน วงฟองน้ำเสียชีวิตเมื่อเวลา ๘.๐๐ น. ของวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๔ ด้วยโรคมะเร็งตับ

บรูซ แกสตัน มาใช้ชีวิตที่ประเทศไทย ตั้งแต่อายุ ๒๒ ปี และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ก่อตั้งวงดนตรีฟองน้ำ ร่วมกับครูบุญยงค์ เกตุคง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ซึ่งเป็นการนำดนตรีไทยเดิม ผสมกับดนตรีแบบตะวันตก

บรูซ แกสตัน ยังได้รับการยกย่องจาก สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม รับรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาคีตศิลป์ ประจำ พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้

จาก เวิร์คพอยท์ทูเดย์ (https://www.facebook.com/153951094974177/posts/1738300246539246/)


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ต.ค. 21, 10:30
อาลัย พรศักดิ์ ส่องแสง /อ๊อด คีรีบูน/และครูบรู๊ซ แก๊สตัน

 ฉันยืนมองฟากฟ้าเมฆาฉ่ำ
 เมฆลอยต่ำพร้อมกลั่นร่วงเป็นดวงฝน
 ใบไม้ใบที่หนึ่งหมุนลอยวน
 ก่อนซบนิ่งโคนต้นไม่บอกลา
 เธอชื่อว่าพรศักดิ์ ส่องแสง
 แขนซ้ายสักมังกรแสดงปรากฏกล้า
 เป็นหมอลำโกอินเตอร์เสมอมา
 หกสิบปีในโลกหล้าลาบัดดล
 ยังไม่ทันขยับเท้าจะก้าวจาก
 อีกหนึ่งใบหล่นพรากลงจากต้น
 อ๊อด คีรีบูน-ห้าสิบแปด คีตาชน
 แปลบกมลเสียดายวัยเต็มงาน
 พูดอาลัยไม่ขาดคำซ้ำอีกข่าว
 แสนปวดร้าวจำต้องปลงในสงสาร
 ครูบรู๊ซ แก๊สตัน ลาลับดับตำนาน
 ฝรั่งผู้มีจิตวิญญาณความเป็นไทย
 ใบไม้ร่วงสามใบในวันหมอง
 น้ำตานองแสนวิโยคโศกสมัย
 นึกจะปลิดปลิวลงตรงที่ใด
 ไม่เคยบอกว่าใบไหนไปก่อนกัน
 ขอใบไม้แห่งพุทธะสะอาดพิสุทธิ์
 จงก้าวรุดโชติช่วงสู่สรวงสวรรค์
 ลอยขึ้นฟ้าคีตาบุญอุ่นอิ่มธรรม์
 บรรเลงรมย์สมเทวัญชั้นฟ้าเทอญ

 ชมัยภร แสงกระจ่าง
 ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๔


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 21, 10:31
https://www.youtube.com/watch?v=PPLnasmdrKc


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ย. 21, 10:19
"บ้านเกิดเมืองนอน" กลับมาลือลั่นอีกครั้ง ในทำนองเพลงแบบต่างๆ     ขอย้อนกลับไปถึงเพลงดั้งเดิม ในยุค 2482   
นักร้องล้วนล่วงลับดับแสงไปแล้วทุกท่าน ทั้งคุณชวลีย์ ช่วงวิทย์  คุณวรนุช อารีย์ และคุณศรีสุดา รัชตะวรรณ

https://www.youtube.com/watch?v=BQ9Q0g7e-hg


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 22, 08:25
สุดเศร้า.."ศรเพชร ศรสุพรรณ" เสียชีวิตแล้วในวัย 73 ปี สิ้นอีกตำนานวงการลูกทุ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางครอบครัวได้นำตัว ศรเพชร ส่งเข้าห้อง ICU หลังหมดสติ มีอาการชัก และหยุดหายใจ ซึ่งในครั้งนั้นลูกชายเล่าอาการของพ่อว่า คุณพ่อศรเพชรมีอาการเพลีย จึงมาให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาล ต่อมากลับบ้านได้ ช่วงดึกเริ่มมีอาการหายใจไม่ออก และหมดสติ บนที่นอน โดยมีอาการชักร่วมด้วย โดยระหว่างการนำส่งโรงพยาบาล ในช่วง 5 นาที คุณพ่อศรเพชรได้หยุดหายใจไปแล้ว เมื่อมาถึงโรงพยาบาล หมอได้ปั๊มหัวใจขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากนั้นก็ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลต่อเนื่อง และมีการใช้ท่อช่วยหายใจ

กระทั่งล่าสุด ช่วงดึกของวันที่ 8 ม.ค. 2565 ศรเพชร ศรสุพรรณ ได้เสียชีวิตลงแล้วที่รพ.ศิริราช สิริอายุ 73 ปี
https://www.sanook.com/news/8500158/
สำหรับ ศรเพชร ศรสุพรรณ มีชื่อจริงว่า บุญทัน คล้ายละมั่ง เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งชาวไทย จากจังหวัดสุพรรณบุรี มีชื่อเสียงจากเพลง "ข้าวไม่มีขาย" ซึ่งได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ เมื่อปี พ.ศ. 2518


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 22, 08:26
https://www.youtube.com/watch?v=kYpGziXK4HA


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 22, 08:02
https://www.youtube.com/watch?v=K09FnwIKJ8k


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 22, 17:40
ดาวดวงใหญ่ในวงการลูกทุ่งลาลับไปอีกดวง  ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ  จากไปด้วยวัย 79 ปี

12 มกราคม 2565 เพจเฟซบุ๊ก ไวพจน์ เพชรสุพรรณ โพสต์ข้อความแจ้งข่าวการเสียชีวิตของพ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ ว่า "คุณพ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ จากไปอย่างสงบที่ รพ. เวลาโดยประมาณ 1524 น. คุณพ่อเริ่มปุ่วยเข้า รพ. ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ท่านอดทนและสู้มาก ตอนนี้จากพวกเราไปแล้ว แต่จะยังคงอยู่ในใจพวกเราตลอดไป"

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า พ่อไวพจน์ เข้ารักษาตัว และเสียชีวิต ที่ รพ.ตากสิน ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต สิริอายุ 79 ปี

ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เกิดเมื่อ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485 ที่ หมู่ 2 ตำบลมะขามล้ม (ปัจจุบันเป็น ตำบลวังน้ำเย็น) อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เริ่มหัดร้องเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านของ จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่อายุ 2 ขวบโดยได้ฝึกหัดและหัดตามมารดา ซึ่งเป็นแม่เพลงอีแซว จนสามารถร้องเพลงอีแซว และเพลงแหล่ได้

เมื่ออายุ 14 ปี เจ้าตัวได้หัดร้องลิเกกับคณะลิเกประทีป แสงกระจ่าง เมื่ออายุ 16 ปีได้เข้าประกวดร้องเพลงครั้งแรกที่วัดท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เพลงที่ร้องเป็นเพลงแหล่ของ "พร ภิรมย์" ชื่อเพลง “จันทโครพ” ปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1

ในช่วงนั้น ไวพจน์สนใจขับร้องเพลงลูกทุ่งมาก เพราะเป็นช่วงที่มีนักร้องลูกทุ่งมีชื่อเสียงเกิดขึ้นมากมาย เช่น ชัยชนะ บุญนะโชติ, ไพรวัลย์ ลูกเพชร , ชาย เมืองสิงห์

ครั้งหนึ่งชัยชนะ บุญนะโชติ ได้นำวงดนตรีมาเล่นที่ตลาดสวนแตงและมีการรับสมัครประกวดร้องเพลง ไวพจน์จึงสมัครประกวดร้องเพลงด้วย ก่อนที่ "ชัยชนะ บุญนะโชติ" ขะชักชวนให้เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "ไวพจน์ เพชรสุพรรณ" พร้อมนำไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูสำเนียง ม่วงทอง นักแต่งเพลงซึ่งเป็นชาว จ.สุพรรณบุรี เจ้าของวงดนตรี “รวมดาวกระจาย”

ไวพจน์ จึงได้เข้ามาร่วมวงในฐานะนักร้องนำ ครูสำเนียงได้แต่งเพลงให้ร้อง และประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ เพลง "ให้พี่บวชเสียก่อน" และยังได้ขับร้องเพลงของนักแต่งเพลงผู้อื่น คือ จิ๋ว พิจิตร เช่น เพลง ”แบ่งสมบัติ” และ “21 มิถุนา ขอลาบวช” เป็นต้น

ไวพจน์ ถือได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถรอบตัว เพราะนอกจากจะร้องเพลงลูกทุ่งได้ยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีความสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้เกือบทุกชนิดทั้งเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เล่นได้หมดและเล่นได้ดีขนาดโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวีได้ โดยเฉพาะการแหล่ ทุกคนในวงการล้วนยกย่องให้ไวพจน์เป็น " ราชาเพลงแหล่ " เพราะมีเพลงแหล่บันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดในประเทศไทย


^


ในจำนวนนักร้องลูกทุ่งอาวุโส ไวพจน์ มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดถึงประมาณ 2,000 เพลง และยังคงผลิตผลงานออกมาเพิ่มเติมในระดับที่ถี่กว่าคนอื่น ทั้งเพลงที่ครูเพลงแต่งให้และแต่งเองร้องเอง โดยศิษย์เอกที่โด่งดังของไวพจน์มี ขวัญจิต ศรีประจันต์ , เพชร โพธาราม (เพลง ต.ช.ด.ขอร้อง) และ พุ่มพวง ดวงจันทร์ (เพลงแก้วรอพี่ , นักร้องบ้านนอก)

ไม่เพียงเท่านั้นเจ้าตัวยังได้การรับการยกย่องว่าเป็นหมอทำขวัญอันดับหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งนอกจากผลงานเพลงแล้ว ไวพจน์ยังมีผลงานแสดงภาพยนตร์อีกสิบกว่าเรื่อง อาทิ ไทยน้อย (ปี 2512), ฝนเหนือ (ปี 2513), อยากดัง (ปี 2513), มนต์เพลงลูกทุ่ง (ปี 2522) ฯลฯ (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

https://mgronline.com/entertainment/detail/9650000003621


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 22, 17:41
https://www.youtube.com/watch?v=5u4HnSYwyTs


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 22, 17:42
https://www.youtube.com/watch?v=YHOJXzYx6Vs


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 22, 17:44
https://www.youtube.com/watch?v=Rdrs-SSTCZ8


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 22, 17:45
https://www.youtube.com/watch?v=B_mQyGE9lY8


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ม.ค. 22, 19:27
ดาวดวงใหญ่ในวงการลูกทุ่งลาลับไปอีกดวง  ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ  จากไปด้วยวัย 79 ปี

ขอแสดงความเสียใจในความเศร้า
ที่เพิ่งเข้าสู่ครอบครัวและลูกหลาน
ขอคุณอาไวพจน์สุขสราญ
ในสถานสุคติพิมานแมน


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ม.ค. 22, 08:41
เพชรร่วงไปเป็นดาว

แด่ ศรเพชร ศรสุพรรณ/ไวพจน์ เพชรสุพรรณ และอาวัฒน์ (วัฒนา เพ็ชร์สุวรรณ) การ์ตูนขายหัวเราะ
 
ขึ้นปีใหม่ร่วงแล้ว         สามดวง
ดั่งเมล็ดหลุดจากพวง    หล่นต้น
น้ำตาปาดหยาดรวง      ราวคลื่น
ไวพจน์ ศรเพชร พ้น      พ่วงพร้อมอาวัฒนา

ไปเป็นดาวฟากฟ้า        คีตการ
ไปร่ำเพลงขับขาน         เพราะพร้อง
อาวัฒน์วาดการ์ตูนชาญ  เชิงเชี่ยว
เทพย่อมสั่งฟ้าก้อง        กระหึ่มครื้นคระไลสวรรค์


 ชมัยภร แสงกระจ่าง
 ๑๒ มกราคม ๒๕๖๕


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 22, 10:24
ดาวเสียงดวงใหญ่ของวงการเพลงไทย ลาลับฟ้าไปอีกดวงหนึ่งแล้ว  หลังจากมีข่าวป่วยมาระยะหนึ่ง

เศรษฐา ศิระฉายา ผู้จากไป  เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 เป็นชาว จ.พระนครศรีอยุธยา จบการศึกษามัธยมปลายจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ   จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ หลักสูตรโครงการพิเศษ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง   ระดับปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ สาขาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต MBA มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

เศรษฐาเข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่อายุประมาณ 16 ปี ด้วยการขนเครื่องดนตรีในวงดนตรีตามคำชักชวนของน้าชาย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ อดีตพระเอกภาพยนตร์ชื่อดังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ต่อมา ต้อย เศรษฐา ได้ฝึกหัดทักษะด้านดนตรีแบบครูพักลักจำ จนกระทั่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นนักร้องตามสถานบันเทิงต่างๆ   จนกระทั่งได้รวมตัวกับเพื่อนๆ นักดนตรี ตั้งวงดนตรี Holiday J-3 ร่วมกับ วินัย พันธุรักษ์, พิชัย ทองเนียม, อนุสรณ์ พัฒนกุล และ สุเมธ อินทรสูต
ต่อมา วงเปลี่ยนชื่อเป็น Joint Reaction และเปลี่ยนอีกครั้งในชื่อ ดิอิมพอสซิเบิ้ล (The Impossibles) ซึ่งเป็นชื่อการ์ตูนชื่อดังของอเมริกาในสมัยนั้น  โดยเศรษฐา รับบทบาทเป็นนักร้องนำ
ปี พ.ศ. 2512 ดิอิมพอสซิเบิ้ลสามารถคว้าถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศการประกวดวงสตริงคอมโบ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์    ส่งผลให้วงดนตรีเริ่มเป็นที่นิยมและเป็นจุดเปลี่ยนให้ ต้อย เศรษฐา ได้เข้ามาเล่นภาพยนตร์เป็นครั้งแรก เมื่อเขาและเพื่อนๆ ได้รับการทาบทามจาก เปี๊ยก โปสเตอร์ ให้มาร่วมบรรเลงเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง โทน (2513)
ดิอิมพอสซิเบิ้ลยังคงชนะเลิศการประกวดวงสตริงคอมโบอีก 2 ครั้งติดต่อกัน หลังจากนั้นและได้บรรเลงเพลงประกอบภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง อาทิ ดวง ในปี 2514, สวนสน ในปี 2514, ระเริงชล ในปี 2515, ตัดเหลี่ยมเพชร ในปี 2518 ฯลฯ จนกลายเป็นวงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
ปี พ.ศ. 2518 หลังกลับมาจากการไปทัวร์ที่ต่างประเทศ ต้อย เศรษฐา ก็ได้รับการชักชวนจาก จุรี โอศิริ ให้มาแสดงภาพยนตร์อย่างจริงจังครั้งแรกคือเรื่อง ฝ้ายแกมแพร ในปี 2518 แต่ก็ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมมาครองจากผลงานเรื่องนี้ด้วย
ปี พ.ศ. 2519 ดิอิมพอสซิเบิ้ลประกาศยุบวงอย่างเป็นทางการ ต้อย เศรษฐา จึงก้าวเข้าสู่การแสดงอย่างเต็มตัว มีบทบาทโดดเด่นทั้งการเป็นพิธีกรและนักแสดง โดยเฉพาะภาพจำความเป็นพิธีกรของ ต้อย เศรษฐา คือการเป็นพิธีกรในตำนานอย่าง "มาตามนัด" คู่กับตุ๊ก ญาณี

เศรษฐานับเป็นดารายอดฝีมือคนหนึ่งซึ่งสามารถรับบทบาทได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นบทดี บทร้าย บทตลก ส่งผลให้มีผลงานออกมามากมายจวบจนปัจจุบัน
ผลงานที่โดดเด่นที่สุดอีกเรื่องของ ต้อย เศรษฐา นั้นคือเรื่องชื่นรัก ในปี 2522 ซึ่งได้รับบทพระเอกประกบคู่กับ อรัญญา นามวงศ์ นางเอกชื่อดังในยุคนั้น และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ให้ทั้งคู่กลายเป็นคู่ชีวิตกันในเวลาต่อมา ทั้งคู่มีบุตรสาวคือ พุทธธิดา ศิระฉายา

ปี พ.ศ. 2554 เศรษฐา ศิระฉายา ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)
ช่วงประมาณกลางปี 2562 ครอบครัวศิระฉายาได้รับข่าวร้าย เมื่อ ต้อย เศรษฐา ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งปอด แต่เนื่องจากมีกำลังใจดีจากครอบครัวและคนรอบข้าง ทำให้อาการป่วยนักแสดงอาวุโสดีขึ้นตามลำดับ  ต่อมาติดเชื้อโควิด-19  แต่ก็หายจากอาการป่วยโควิด   
เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา อาต้อย ต้องกลับไปทำคีโมอีกครั้งหลังจากหยุดพักไป 3 เดือน เนื่องจากมะเร็งกระจายไปที่อื่นด้วย จึงต้องกลับมาให้คีโมใหม่ แล้วกลับมาพักที่บ้าน สุดท้ายเศรษฐา ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 

ขอแสดงความเสียใจด้วยค่ะ


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 22, 10:26
https://www.youtube.com/watch?v=9REDluFEctE


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 22, 10:28
https://www.youtube.com/watch?v=gjnoxbZa8g8


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 22, 10:29
https://www.youtube.com/watch?v=G7ze0OXYTJM


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 22, 10:34
อีกท่านหนึ่ง เป็นดาวเสียงเหมือนกันแม้ไม่ใช่เสียงเพลง  ก็ใช้เสียงในการพากย์ และเป็นพิธีกรมาโดยตลอด
คุณธรรมรัตน์ นาคสุริยะ" อดีตพิธีกร - นักพากย์ชื่อดัง ติดเชื้อโควิด-19 เชื้อลงปอด เสียชีวิตในวัย 87 ปี


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 22, 10:36
https://www.youtube.com/watch?v=uceRwg5uar4


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 22, 10:37
https://www.youtube.com/watch?v=Mi_41OydW5o


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ก.พ. 22, 12:11
ดาวเสียงดวงใหญ่ของวงการเพลงไทย ลาลับฟ้าไปอีกดวงหนึ่งแล้ว  หลังจากมีข่าวป่วยมาระยะหนึ่ง

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา อาต้อย ต้องกลับไปทำคีโมอีกครั้งหลังจากหยุดพักไป ๓ เดือน เนื่องจากมะเร็งกระจายไปที่อื่นด้วย จึงต้องกลับมาให้คีโมใหม่ แล้วกลับมาพักที่บ้าน สุดท้ายเศรษฐา ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

คารวาลัย พี่ต้อย เศรษฐา ศิระฉายา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดง)

 ในโลกนักแสดง
 เขาเก่ง แกร่ง เล่นได้ในทุกบท
 เป็นพระเอกก็พระเอกได้งามงด
 เป็นผู้ร้ายก็หมดจดเป็นผู้ร้าย
 เป็นพิธีกรก็แคล่วคล่อง
 เป็นนักร้องก็เสียงดีใจหาย
 เป็นคนของประชาชนไปจนตาย
 งามทุกก้าว เฉิดฉายนักแสดง

 ในโลกแห่งความเป็นจริง
 เขาก็ยิ่งเก่ง กล้าและแข็งแกร่ง
 สู้ด้วยรัก สู้ยิบตา ไม่ล้าแรง
 ไม่ยื้อแย้งแต่ล้อมไว้ด้วยใยรัก
 โดยตัวตนของเขา คือสุดยอด
 อัธยาศัยไมตรีตลอดทุกคนประจักษ์
 จิตอาสา จิตฉลาด องอาจนัก
 เป็นพี่ต้อยที่คนรักกันทั้งเมือง
 
 ในโลกสวรรค์
 ย่อมแพรวพรรณเรืองรุ้งฟุ้งเฟื่อง
 เสวยบุญคุณงามที่รามเรือง
 ฝากราวเรื่องแสนอาลัยให้จำจาร
 ชื่อ "เศรษฐา ศิระฉายา"
 จะยั่งยืนคู่ฟ้าดาราขาน
 เป็นหนึ่งในความจำเป็นตำนาน
 เกิดในกาล อยู่ในกาลนิรันดร


ชมัยภร แสงกระจ่าง
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ก.พ. 22, 12:35
อีกท่านหนึ่ง เป็นดาวเสียงเหมือนกันแม้ไม่ใช่เสียงเพลง  ก็ใช้เสียงในการพากย์ และเป็นพิธีกรมาโดยตลอด
คุณธรรมรัตน์ นาคสุริยะ" อดีตพิธีกร - นักพากย์ชื่อดัง ติดเชื้อโควิด-19 เชื้อลงปอด เสียชีวิตในวัย 87 ปี

อาลัยรัก"พี่ธรรมรัตน์"

เรียน"เพาะช่าง"รุ่นครู"สุเทพ วงศ์กำแหง"
เป็น"นักแสดง" เป็น"นักพากย์" ชื่อกระฉ่อน
เป็น"นักการเมือง" เป็น"นักร้อง" เป็น"พิธีกร"
ในยุคก่อนจากช่อง ๔ ทีวีขาวดำ

ประตูดวง นาทีทอง ๒๐ คำถาม
คือ"พี่ธรรม"ธรรมรัตน์ผู้คมขำ
ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ เจ้าประจำ
ผ่านลำนำช่อง ๗ สีที่ยาวนาน

อาลัยรักพี่จากไปวัย ๘๗
สำเนียงทุ้มเสียงดั่งเพชรที่ลือลั่น
"ซ่าส์ หมาว้อ"ก็"เพาะช่าง"ขอรำพัน
เสาร์ ๑๙ กุมภาพันธ์วันนี้เอย


ด้วยความอาลัยรักจาก
"อนุศักดิ์ จังกาจิตต์"(ซ่าส์ หมาว้อ)
"เพาะช่าง"รุ่น ๕๙ (พ.ศ. ๒๕๒๔) มิเคยลืม"พี่ธรรม"


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 22, 08:10
ขอรำลึกถึงสรพงศ์ ชาตรี ในกระทู้นี้ด้วยค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=-Nnyv1zkJrk


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 22, 10:10
ปิดตำนาน รังษิยา บรรณกร นักร้องลูกกรุงเจ้าของเพลง รักต้องห้าม เสียชีวิตแล้ว

ปิดตำนาน รังษิยา บรรณกร นักร้องลูกกรุงเสียงหวาน เจ้าของเพลง รักต้องห้าม เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งตับ ในวัย 79 ปี
เป็นอีกหนึ่งข่าวการสูญเสียของวงการบันเทิง เมื่อล่าสุด (25 เมษายน 2565) เฟซบุ๊ก ดาราภาพยนตร์ รายงานว่า รังษิยา บรรณกร นักร้องลูกกรุงเสียงหวาน เจ้าของเพลง รักต้องห้าม เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ ด้วยโรคมะเร็งตับ ในวัย 79 ปี

โดยพิธีสวดอภิธรรม รังษิยา บรรณกร จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน 2565 ณ วัดเสมียนนารี มีพิธีฌาปนกิจ ในวันเสาร์ที่ 30 เมษายน ณ เมรุวัดเสมียนนารี  

สำหรับประวัติ รังษิยา บรรณกร มีชื่อจริงว่า อุไร พิสิษฐบรรณกร ชื่อเล่น หญิง เกิดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2487 ที่ประตูน้ำ จบการศึกษาจบจากโรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร เคยประกวดได้ตำแหน่งขวัญใจกองทัพอากาศ

 รังษิยา บรรณกร เข้าวงการด้วยความบังเอิญ จากการมารับประทานอาหารกลางวันที่ไนต์คลับโดเรมี แล้วเพื่อน ๆ เชียร์ให้ขึ้นไปร้องเพลงโชว์บนเวที และได้รับคำชื่นชมจากผู้ฟังเป็นอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินเพลงคนดังแห่งยุค ซึ่งตอนนั้นเป็นหัวเรือใหญ่ที่โดเรมี จึงชักชวนให้เธอมาทำงานเป็นนักร้องประจำ จนกระทั่งได้บันทึกเสียงเพลง "รักต้องห้าม" ในปี 2513 ซึ่งกลายเป็นเพลงดังในยุคนั้น และยังคงเป็นบทเพลงอมตะมาจนทุกวันนี้

 ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ"ประสาน มีเฟื่องศาสตร์" เจ้าของนามปากกา"กระแช่" ผอ.หนังสือพิมพ์ดาวสยาม






กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: nathanielnong ที่ 27 เม.ย. 22, 10:13
ปิดตำนาน รังษิยา บรรณกร นักร้องลูกกรุงเจ้าของเพลง รักต้องห้าม เสียชีวิตแล้ว

ปิดตำนาน รังษิยา บรรณกร นักร้องลูกกรุงเสียงหวาน เจ้าของเพลง รักต้องห้าม เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งตับ ในวัย 79 ปี
เป็นอีกหนึ่งข่าวการสูญเสียของวงการบันเทิง เมื่อล่าสุด (25 เมษายน 2565) เฟซบุ๊ก ดาราภาพยนตร์ รายงานว่า รังษิยา บรรณกร นักร้องลูกกรุงเสียงหวาน เจ้าของเพลง รักต้องห้าม เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ ด้วยโรคมะเร็งตับ ในวัย 79 ปี

โดยพิธีสวดอภิธรรม รังษิยา บรรณกร จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน 2565 ณ วัดเสมียนนารี มีพิธีฌาปนกิจ ในวันเสาร์ที่ 30 เมษายน ณ เมรุวัดเสมียนนารี  สำหรับประวัติ รังษิยา บรรณกร มีชื่อจริงว่า อุไร พิสิษฐบรรณกร ชื่อเล่น หญิง เกิดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2487 ที่ประตูน้ำ จบการศึกษาจบจากโรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร เคยประกวดได้ตำแหน่งขวัญใจกองทัพอากาศ

 รังษิยา บรรณกร เข้าวงการด้วยความบังเอิญ จากการมารับประทานอาหารกลางวันที่ไนต์คลับโดเรมี แล้วเพื่อน ๆ เชียร์ให้ขึ้นไปร้องเพลงโชว์บนเวที และได้รับคำชื่นชมจากผู้ฟังเป็นอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินเพลงคนดังแห่งยุค ซึ่งตอนนั้นเป็นหัวเรือใหญ่ที่โดเรมี จึงชักชวนให้เธอมาทำงานเป็นนักร้องประจำ จนกระทั่งได้บันทึกเสียงเพลง "รักต้องห้าม" ในปี 2513 ซึ่งกลายเป็นเพลงดังในยุคนั้น และยังคงเป็นบทเพลงอมตะมาจนทุกวันนี้





ใบไม้ร่วงไปทีละใบ ๆ ๆ

https://youtu.be/C4bGkunICRI


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 22, 10:15
https://www.youtube.com/watch?v=ex09WCTnTjc


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 22, 13:32
https://www.youtube.com/watch?v=keec7eoi7C0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ค. 22, 11:37
https://www.youtube.com/watch?v=TraEeJKLUmg


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 22, 09:17
ดาวร่วงลับฟ้าไปอีกดวง  สุริยา ชินพันธ์ ในวัย 69 ปี ด้วยโควิด 19
เชื่อว่าท่านผู้อ่านเรือนไทยอยู่ในวัยที่จำชื่อสุริยาได้   เขามีบทบาททั้งในภาพยนต์  โทรทัศน์ และเพลงลูกทุ่ง
เป็นที่รู้จักในฐานะพระเอกละครจักรๆวงศ์ๆ มากที่สุดในบรรดาบทบาททั้งหมด


สุริยา ชินพันธุ์ มีชื่อจริงคือ ธนยศ ชินพันธุ์ (ชื่อเดิม: ประมูล ชินพันธุ์   มีชื่อเล่นว่า "ตุ้ย" หรือ "เอ" เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี  จบการศึกษาระดับ มศ.3 จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล
จากนั้น เข้ากรุงเทพฯเพื่อฝึกการเป็นนักแสดง พร้อมกับ นัยนา ชีวานันท์ ที่วังละโว้ ของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ท่านมุ้ย) โดยทำการฝึกพร้อมกับ สรพงษ์ ชาตรี โดยครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางเข้ากรุงเทพฯเป็นครั้งแรกในชีวิตของสุริยาด้วย

เมื่อเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้อยู่ในสังกัดของช่อง 4 บางขุนพรหม โดยระยะแรกใช้ชื่อจริงเลยว่า "ประมูล ชินพันธุ์" ได้ร้องเพลงลูกทุ่งกรุงไทย เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงบ้างแล้ว จึงได้ลองเล่นละครโทรทัศน์เรื่องแรก คือ "เลือดทาแผ่นดิน" พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น "สุริยา ชินพันธุ์" จากการตั้งชื่อให้ของ สุวัฒน์ วรดิลก พร้อมกับฝึกฝนการแสดงไปด้วย เช่นการฝึกกระบี่กระบองในละครแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ กับ กำธร สุวรรณปิยะศิริ

มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกจากเรื่อง "สวนสน" จากการชักชวนของ ชาลี อินทรวิจิตร โดยประกบคู่กับ ช้องมาศ ภุมรา ซึ่งเป็นนางเอก ทำให้มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก จากนั้นก็มีผลงานออกมาเรื่อย ๆ ตามมาทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่น "ผยอง", "ลูกเจ้าพระยา", "มือปืนนมสด", "นักเลงสามสลึง" และที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ "มนต์รักแม่น้ำมูล" ในปี พ.ศ. 2521 ซึ่งเจ้าตัวได้ร้องเพลงประกอบเรื่องไว้ด้วย โดยแสดงประกบคู่กับ กรุง ศรีวิไล ซึ่งเป็นพระเอกอีกคนด้วย

หลังจากนั้น สุริยา ชินพันธุ์ ก็ได้มีผลงานทางละครโทรทัศน์แนวจักร ๆ วงศ์ ๆ อีกหลายเรื่องทาง ช่อง 7 เช่น "สิงหไกรภพ" (คู่กับ ดวงพร เอกศาสตร์), "ไชยเชษฐ์" (คู่กับ ผุสรัตน์ ดารา) กับช่อง 3 เช่น "ชะนีน้อย" (คู่กับ ผุสรัตน์ ดารา) ฯลฯ โดยเป็นทั้งผู้จัด, ผู้กำกับฯ และแสดงเอง และได้รับรางวัลเมขลาจากเรื่อง "โอรสหมาป่า"

ในส่วนของผลงานเพลง สุริยา ชินพันธุ์ ยังเป็นเจ้าของเสียงต้นฉบับในเพลง "รักเก่าที่บ้านเกิด" เป็นคนแรกอีกด้วย ซึ่งเพลงนี้ต่อมาได้มีนักร้องในรุ่นหลังหลายคนนำกลับมาร้องใหม่ และต่อมาได้ก่อตั้งวงดนตรีลูกทุ่งขึ้นมาด้วย ประสบความสำเร็จอยู่ได้ 3 ปีก่อนจะยุบวงลงในที่สุด พร้อมกับปัญหาสุขภาพที่เข้ามา ทำให้วางมือจากวงการแสดง
จนกระทั่งป่วยและเสียชีวิตเมื่ออายุ 69 ปี


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 22, 09:18
https://www.youtube.com/watch?v=nASd4eOugN0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 22, 09:19
https://www.youtube.com/watch?v=_UN59-I0Gxw


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 22, 09:20
https://www.youtube.com/watch?v=aGou_qGHTxI


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 23, 10:46
ดาวเสียงของไทยอีกดวงหนึ่งเพิ่งลาลับฟ้า   

พนม นพพร นักร้องลูกทุ่งเจ้าของเพลง ลาสาวแม่กลอง และอดีตนายกสมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทย จากไปในวัน 13 กรกฎาคม  2566

พนม นพพร มีชื่อจริง ชาตรี ชินวุฒิ วัย 77 ปี เกิด อ.พานทอง จ.ชลบุรี ในครอบครัวที่มีฐานะ ครอบครัวมีที่นาไว้ให้เช่า และมีร้านกาแฟ
เขาจบการศึกษาชั้นมัธยม 6 โรงเรียนพัฒนศิลป์ ที่ จ.ชลบุรี และไม่ได้เรียนต่อ เพราะว่าอยากเป็นนักร้องลูกทุ่ง แม้ว่าพ่อแม่อยากให้รับราชการ

ตระเวนประกวดตามเวทีประกวดมาบ้าง แต่ปรากฏว่า ไม่เคยชนะ ต่อมา วงดนตรีเทียนชัย สมยาประเสริฐ มาเปิดการแสดงจ.ชลบุรี เข้าประกวดร้องเพลงด้วย พนมเป็นผู้ที่ชนะ จึงมาอยู่ที่บ้านของเทียนชัย สมยาประเสิรฐ เพื่อฝึกร้องเพลง และร่วมวงดนตรี ซึ่งที่นี่เขาได้บันทึกเสียงเพลงแรกใช้ชื่อว่า พนาวัลย์ ลูกเมืองชล
พนม นพพร มีเพลงดังคือ ลาสาวแม่กลอง และอยู่กับวงจุฬารัตน์มานานหลายปี จนความนิยมที่มีต่อวงค่อยๆลด ครูมงคล อมาตยกุล จึงยุบวง
ชินกร ไกรลาศ เข้าสู่วงการภาพยนตร์ไปก่อนแล้ว ชวน พนม นพพร ไปเป็นตัวประกอบประเภทวิ่งผ่านหน้าฉาก ซึ่งร่วมแสดงอยู่หลายเรื่องจนได้พอมีบทบาทบ้างในภาพยนตร์

ขณะเดียวกัน เมื่อภาพยนตร์ดัง เพลงที่เขาร้องประกอบภาพยนตร์ก็ดังตามไปด้วย จนในที่สุดเขาก็ตัดสินใจตั้งวงดนตรีพนม นพพร ออกเดินสายแสดงดนตรีร่วมกับงานด้าน การแสดงไปด้วย วงพนม นพพร เดินสายอยู่ 5 – 6 ปี ก็ยุบวง

พนม นพพร เรียนรู้การแสดง การเขียนบท การตัดต่อ ก็ลองสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกดูบ้าง  จับกัง  ที่มี สรพงษ์ ชาตรี นำแสดง ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ได้ทั้งเงินและกล่อง สมความตั้งใจ

จากนั้นพนม นพพร หลังประสบความสำเร็จในแวดวงภาพยนตร์ หันมาจับธุรกิจโทรทัศน์โดยการเปิดบริษัท นพพร โปรโมชั่น เพื่อซื้อรายการโทรทัศน์เพื่อนำมาให้เช่าเวลาเปิดเพลงของค่ายต่างๆ และเรื่องนี้ก็เป็นสาเหตุให้เขาต้องเปิดค่ายเพลง เอ ไอเดีย และ นพพร ซิลเวอร์โกลด์ ตามมา

นพพร ซิลเวอร์โกลด์ มีนักร้องอยู่ในสังกัดกว่า 20 คน เช่น อัศวิน สีทอง , สาลี่ ขนิษฐา , แมงปอ ชลธิชา , อร อรดี และอื่นๆ นอกจากนี้ยังได้ผลิตละครโทรทัศน์ โดยมีผลงานออกอากาศทาง ช่อง 7

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/entertainment/1078298


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 23, 10:48
https://www.youtube.com/watch?v=4sT7iZmrv8s


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 23, 10:49
https://www.youtube.com/watch?v=Tqu02u0WuF0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 23, 10:51
https://www.youtube.com/watch?v=CIfczbrlFcA


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 23, 10:16
https://www.youtube.com/watch?v=o0fx61unyJ0


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 23, 10:15
 :(


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 23, 10:16
เพชร โอสถานุเคราะห์ อดีตนักร้องชื่อดัง และอดีตผู้บริหารบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อคืนวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน
โดยญาติพี่น้องเตรียมนำร่างของ เพชร โอสถานุเคราะห์ ไปบำเพ็ญกุศลที่ศาลโอสถานุเคราะห์ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ และจะมีการแถลงข่าวช่วงบ่ายวันนี้

เพชร โอสถานุเคราะห์ เป็นอดีตนักร้องที่โด่งดังมีผลงานที่เป็นที่รู้จักในเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) นอกจากนี้เพชรยังเคยเป็นรองประธานกรรมการบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

สำหรับ ประวัติ เพชร โอสถานุเคราะห์ เกิดเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2503 เป็นบุตรชายของนายสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และนางปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์
เพชรเกิดที่กรุงเทพฯ เพชรเริ่มเรียนที่โรงเรียนสมประสงค์จนถึง ป.3 จากนั้นก็ย้ายไปเรียนต่อที่ โรงเรียนพิพัฒนาถึงชั้นม.4 (มศ 3 ในอดีต) ย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่ Teaneck High School ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังจากจบแล้วก็กลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรีทางด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดที่ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นอิลลินอยส์ และกลับมาทำงานโฆษณา ก่อนออกผลงานเพลง แล้วหันไปทำงานนิตยสารสำหรับผู้หญิง จากนั้นก็ขยายไปทำงานด้านรายการโทรทัศน์ คือ รายการผู้หญิงวันนี้ และมีงานแต่งเพลงเคยแต่งเพลง หมื่นฟาเรนไฮต์ ให้วงไมโคร
สำหรับงานเพลง เพชรมีผลงานอัลบั้มแรกชุด ธรรมดา…มันเป็นเรื่องธรรมดา มีเพลงดังอย่าง ‘เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)’ ในปี 2530 และกลับเข้าวงการเพลงอีกครั้งหลังจากหายหน้าไปร่วม 20 ปีเพื่อทำงานเพลงอีกครั้ง ในปี 2550 ได้ออกผลงานอัลบั้มที่ 2 Let’s Talk About Love ที่ได้ผู้กำกับมิวสิกวิดีโออย่าง เป็นเอก รัตนเรือง, วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง, อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล มาร่วมทำ โดยมิวสิกวิดีโอแต่ละชิ้นมีงบประมาณราว 20,000 ถึง 1 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2551 ได้นำผลงานชุดแรกไปรีมาสเตอร์ที่ประเทศอังกฤษ และนำกลับมาวางจำหน่ายใหม่

https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_7814266


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 23, 10:18
https://www.youtube.com/watch?v=lsPpHd0OzgE


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 23, 14:30
https://www.youtube.com/watch?v=5y6exAcVKMY


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 23, 14:32
https://www.youtube.com/watch?v=O-18TZLpVdw


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 23, 14:33
https://www.youtube.com/watch?v=Be7IwsyjKJI


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 23, 14:34
https://www.youtube.com/watch?v=beybnRFLfxg


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 24, 09:09
ต้องขอแสดงความเสียใจกับ ครอบครัวของ "อังศณา ช้างเศวต" หรือ อังศนา ศรีพัฑฒางกุระ อดีตนักร้องชื่อดังยุคปลายทศวรรษ 80 ได้จากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
อังศณา เริ่มอาชีพเป็นพยาบาล ต่อมาเข้าประกวดคอนเสิร์ตคอนเทสต์ จัดโดย JSL  ได้รางวัลชนะเลิศ
มีผลงานเพลงกับค่ายคีตาหลายเพลง 
 เป็นเจ้าของเพลงที่ประกอบละครเรื่อง "คู่กรรม"

https://www.youtube.com/watch?v=UkQMeS2Aa-k



กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 24, 09:10
https://www.youtube.com/watch?v=AvJ4kmQA1_I


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 24, 09:11
https://www.youtube.com/watch?v=KJVh9oqHehA&list=RDEMYt1P1Rw0zCC4jzHCcouJjQ&index=2


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 24, 09:13
https://www.youtube.com/watch?v=D3NJTpUdFgI&list=PLQw93KApV9Bw89xfuqAscOTvFtNYUxhtY&index=3


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 24, 11:39
ใครเป็นแฟนเพลงประจำของสุนทราภรณ์ เคยดูคอนเสิร์ตสุนทราภรณ์ตั้งแต่ 30 ปีมาแล้ว คงจำนักร้องชายชื่อคุณรัชตพันธ์ พงศบุตรได้ 
รัชตพันธ์เริ่มเส้นทางการเป็นนักร้องจากการสมัครเข้าเป็นนักเรียนของโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี ในปี พ.ศ.2520 เริ่มจากการหัดเรียนกีตาร์ แต่ได้รับคำแนะนำจากครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงเบนเข็มมาเรียนร้องเพลง
เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่แฟนเพลงจากการขับร้องเพลงสนุก ๆ ในสไตล์ของ เลิศ ประสมทรัพย์ 
รัชตพันธ์ พงศบุตร เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สิริรวมอายุ 70 ปี ขอให้ดวงวิญญาณของท่านไปสู่สุขคติในสัมปรายภพด้วยเทอญ

https://www.youtube.com/watch?v=_3v4xLKRtdg


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 24, 11:41
รัชตพันธ์ ร้องเพลงคู่กับบรรจงจิต พัฒนาสันต์ เข้าคู่กันได้ดี

https://www.youtube.com/watch?v=83A-c5jpGfo


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 24, 12:46
 เพลงส่วนมากของรัชตพันธ์เป็นเพลงท่วงทำนองสนุกสนาน  สไตล์ของคุณเลิศ ประสมทรัพย์

https://www.youtube.com/watch?v=b-maZKgp3Cg


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 24, 12:48
แต่เพลงช้า หวานๆเศร้าๆ  รัชตพันธ์ก็ร้องได้ไพเราะเช่นกัน
https://www.youtube.com/watch?v=YvgutHbF6-Q&list=PLfUvZgHICNSewaRm0Aa-M85hgY3JM4XI5&index=5


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 24, 17:52
    ใครเคยฟังวง Silver Sand  เมื่อ 50 กว่าปีก่อน คงจำคุณศิริมา สุนทรรังษี (หนอย Silversand) ได้ เธอเสียชีวิตที่โรงพยาบาลธนบุรี ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต  เมื่อเวลา 16:59 น. วันพฤหัสที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567  อายุ 79 ปี   

https://www.youtube.com/watch?v=nFoXBhlK2Ws


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 24, 17:53
https://www.youtube.com/watch?v=hmQfl6S8dhY


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 24, 18:44
ประวัติของคุณศิริมา รวบรวมโดยคุณ อานนท์ เหมภมร
ศิริมา สุนทรรังษี เกิดเมื่อวันพุธที่ 10 ตุลาคม 2488 (ค.ศ. 1945) ที่กรุงเทพฯ สนใจการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ๆ จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วน
วันนึงประมาณปี 2504 พี่ศิริมาอายุยังไม่เต็ม 16 ปี ได้เข้าประกวดแข่งขันขับร้องเพลงกับวงดนตรีของโรงงานสุราบางยี่ขัน โดยรอบแรกเลือกเพลง Stupid Cupid เพลงของ Connie Francis ผลออกมาคือผ่านรอบแรก พอถึงรอบชิงพี่ศิริมา ตัดสินใจเลือกเพลงของ Connie Francis นักร้องคนโปรดและเป็นแนวถนัดของตัวเองอีกครั้ง ครั้งนี้เลือกเพลง Lipstick on Your Collar เพลงฮิตในปี 1959 ผลปรากฎว่าพี่ศิริมาชนะได้เข้าทำงานเป็นพนักงานของบริษัทโรงงานสุราบางยี่ขันในตำแหน่งนักร้อง
ความรักในด้านการร้องยังดำเนินต่อไปจนทำให้พี่ศิริมาในวัย 17 ปี มาสมัครเป็นนักร้องกับวง I.S. Combo ของคุณเล็ก วงศ์สว่าง เจ้าของหนังสือเพลง I.S. Song Hits คุณเล็ก รับเข้ามาเป็นนักร้องในวงด้วยความสามารถและแนวการร้องเพลงที่เข้ากับยุคสมัยนั้น
เพื่อนสมาชิกบางท่านอาจไม่ทราบว่าวง I.S. Combo ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็นวง Silver Sand วงสตริงคอมโบในตำนานวงหนึ่งของประเทศไทย ที่มีนักร้องดนตรีอย่าง อาจารย์วิรัช อยู่ถาวร, คุณจีรศักดิ์ ปิ่นสุวรรณ, คุณถาวร อุณหกะ, พี่ต๋อย วิชัย ปุญญยันต์ และพี่ศิริมา สุนทรรังษี เป็นต้น
อายุ 20 ปี ในยุคไนท์คลับเฟื่องฟู ได้เริ่มร้องเพลงที่นาทูริสต์ไนท์คลับเป็นแห่งแรก และต่อมาอีกหลาย ๆ ที่ จนมาร้องที่โลลิต้าไนท์คลับ ซึ่งในขณะนั้นเจ้าของคือคุณสุรพล พรทวีวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายจำหน่ายของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ผมจำได้ว่าตอนเป็นเด็กเคยได้ยินชื่อศิริมา สุนทรรังษี กับวงซิลเวอร์แซนด์ ในเพลง "หุ่นไล่กา" ที่ใช้ทำนองเพลง Kaw Liga ของ Hank Williams เพลงฮิตในปี 1953 มาใส่เนื้อไทย ส่วนเพลงไทยแท้ ๆ ของพี่ศิริมา ผมเคยได้ยินแค่เพลงเดียวคือ "ยอมรับ" แต่พี่ศิริมา บอกผมว่าได้อัดแผ่นเสียงลองเพลย์สังกัดโลลิต้า ไนท์คลับกับนักร้องดังในยุคนั้น 1 ชุด และยังมีซิงเกิ้ลอีกหลายเพลงเช่น ลองดู, เชิญเลย, ทุกสิ่งเพื่อเธอ, รักดีกว่า, ก. เอ๋ย ก. ไก่, ลืมไม่ลง, ฟ้าฟื้น เป็นต้น
มีเรื่องหนึ่งที่มีคนสงสัยคือเรื่องชื่อและนามสกุล เพราะมีการสะกดผิดเพี้ยนกันไป พี่ศิริมา บอกผมว่า ชื่อจริง ๆ ตามบัตรประชาชน คือ "ศิริมา สุนทรรังษี" ผิดจากนี้คือเขียนกันเองโดยไม่ได้ถามพี่เค้า
และอีกเรื่องที่ผมเชื่อว่าไม่ค่อยมีคนรู้คือชื่อเล่น คนส่วนใหญ่จะเรียกพี่หนอย หรือเด็ก ๆ อาจเรียกป้าหนอย แต่พี่ศิริมามีชื่อเล่นจริง ๆ ว่า "หนอย(แน่)" ผมว่าชื่อนี้น่ารักดี ไม่ซ้ำกับใครแน่นอน เพื่อนสมาชิกเคยดูลำตัดคงจำช่วงลูกคู่ร้องรับได้นะครับที่ร้องว่า "เอ่ชา เอ๊ช้า ชา ชา ฉ่า ช้า หน่อยแน่" ผมว่ามาจากตรงนี้แหละครับ

https://www.youtube.com/watch?v=h-6U6P4Ncpc


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 24, 18:45
https://www.youtube.com/watch?v=o1vU02foozU


กระทู้: รำลึกถึงดาวเสียงที่ดับแสงไปแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 24, 18:50
เพลงไทยหวานๆ คุณศิริมาก็ร้องได้ไพเราะไม่แพ้กัน

https://www.youtube.com/watch?v=Ib9SBkBfY2E