เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 03, 13:50



กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 03, 13:50
 นานมาแล้ว  เคยอ่านนิยายเรื่องหนึ่ง พระเอกเป็นหม่อมเจ้า  
เพิ่งปรากฎองค์ในสังคมไทย   ในเรื่องผู้เขียนบอกว่่า
ไม่มีใครรู้ว่ามาจากราชสกุลไหน  
มีแต่ข่าวเล่าลือว่าเป็นโอรสของเจ้านายพระองค์หนึ่ง
แต่พระองค์ไหนก็ไม่มีใครกล้ายืนยัน  แต่เมื่อหม่อมเจ้าองค์นี้ร่ำรวยมาก  
คนก็เลยนับถือตามๆกันไป ทั้งที่ไม่รู้ว่าราชสกุลไหน

เรื่องนี้อาจารย์ผู้สอนวรรณคดี บอกว่า...ไม่จริง  เป็นไปไม่ได้  ผิดข้อเท็จจริง  
ถ้าท่านชายองค์นี้มีตัวจริง    ต่อท้ายพระนามต้้องมีนามสกุล    
พอเห็นนามสกุลปุ๊บ ก็สามารถรู้ได้ปั๊บว่ามาจากราชสกุลไหน    
แล้วจะเช็คได้ว่าเป็นโอรสเจ้านายองค์ใด จริงหรือไม่ หรือว่าปลอมแปลงมา
จะมีหม่อมเจ้าโผล่ขึ้นมาโดยไม่รู้ที่มาที่ไป  สืบกันไม่ถูกจนกระทั่งจบเรื่อง  เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ในสังคมไทย

ราชสกุลมีจำนวนไม่มากนักก็จริง  แต่ราชสกุลบางสาย
มีลูกหลานสืบเชื้อสายมาก ก็พอจะเจอคนที่ใช้ราชสกุลนี้ให้คุ้นหูได้  
แต่บางราชสกุลก็มีลูกหลานน้อย นานๆเจอที  ต้องถามกันถึงรู้
ดิฉันรวบรวมไว้ได้หลายชื่อ    เลยขอมาเล่าสู่กันฟังนะคะ

คนแรกที่จะเล่า  เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือน ไปทัวร์อยุธยามา   ไกด์กิติมศักดิ์ชื่อคุณจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา   ฟังนามสกุลแล้วไม่คุ้นหู
แต่เดาว่าคงเป็นราชสกุลต้นๆรัตนโกสินทร์  ลูกหลานชั้นหลังถึงเป็นนายและนางสาวกันแล้ว

ถามก็ได้ความว่าเป็นราชสกุลที่สืบมาจากรัชกาลที่ 2
ย้อนไปทบทวน จึงรู้ว่าเกี่ยวกับเรื่องที่เคยเล่าไว้ในบทความ "แค้นของกวี" ค่ะ เป็นเรื่องหนึ่งหญิงกับสามชาย
 http://vcharkarn.com/reurnthai/poet.php
ส่วนความเป็นมาของราชสกุล พนมวัน คือสืบสายจากพระองค์เจ้าพนมวัน เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  กับเจ้าจอมมารดาศิลา

เจ้าจอมมารดาศิลา  มาจากราชินิกุล ณ บางช้าง  
เป็นญาติทางฝ่ายสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1
ถือเป็นเจ้าจอมมารดารุ่นใหญ่  เป็นหม่อมห้ามมาตั้งแต่ก่อนสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์  
ยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร    

เจ้าจอมมารดาศิลาคงมีบุญวาสนาในวังหลวงไม่น้อย เพราะมีพระราชโอรสและธิดาถึง 5 พระองค์

พระองค์ที่ 1 เป็นหญิง ทรงพระนามสั้นๆว่า พระองค์เจ้าหญิงวงศ์  ประสูติเมื่อ พ.ศ 2334 ทรงมีพระชนม์มาถึงรัชกาลที่ 4

พระองค์ที่ 2  พระองค์เจ้าชายพนมวัน   กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์  ประสูติ พ.ศ. 2337ทรงกำกับกรมพระนครบาลมาตั้งแต่รัชกาลที่ื2 ในรัชกาลที่ 3 ว่ากรมพระคชบาล (คือกรมช้าง) สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4
เป็นต้นราชสกุล พนมวัน ณ อยุธยา

พระองค์ที่ 3   พระองค์เจ้าชายกุญชร กรมพระพิทักษเทเวศร์  ประสูติ พ.ศ. 2341 ในรัชกาลที่ 3 ว่ากรมม้า  รัชกาลที่ 4 ว่ากรมพระคชบาลอีกกรม

ราชสกุลนี้ คุ้นหูสำหรับนักอักษรศาสตร์  เพราะเป็นสกุลของนักประพันธ์สตรีผู้โด่่งดังในสมัยรัชกาลที่ 7  "ดอกไม้สด" ม.ล. บุปผา กุญชร( นิมมานเหมินท์)  และน้องสาวของเธอคือศาสตราจารย์ ม.ล.บุญเหลือ (เทพยสุวรรณ) ก็เป็นปรามาจารย์ท่านหนึ่งทางวรรณคดีวิจารณ์ของไทย
บิดาของท่านทั้งสองคือเจ้าพระยาเทเวศร์(ม.ร.ว. หลาน กุญชร)
ถ้าใครผ่านไปทางหอสมุดแห่งชาติ จะเห็นวัดเทวราชกุญชร  นั่นแหละค่ะ วัดของราชสกุลนี้  ลูกหลานเชื้อสายกุญชร ณ อยุธยา ไปทำบุญกันเป็นประจำ

พระองค์ที่ 4   พระองค์เจ้าชายทินกร  กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์  ประสูติ พ.ศ. 2344  เป็นกวีสำคัญคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4
เคยต่อสักรวากับคุณพุ่ม หรือบุษบาท่าเรือจ้าง กวีหญิงคนดัง

สมัยคุณนกข.เรียนอยู่ในสีหปราสาท  คงได้เรียนกับอาจารย์พนม ทินกร ณ อยุธยา  
ที่ยกขึ้นมาเพราะเป็น เชื้อสายราชสกุลทินกร คนเดียวที่ดิฉันนึกออก ทำให้รู้ว่าราชสกุลนี้ยังมีเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบัน

พระองค์ที่ 5 พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล ประสูติ พ.ศ. 2347  มีพระชนม์ยืนยาวมาถึงรัชกาลที่ 5


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 03, 14:21
 ที่บ้านมีหนังสือเล่มโปรดอยู่ 2 เล่มคือชีวิตในวัง เล่ม 1 และ 2
ผู้แต่งคือม.ล. เนื่อง นิลรัตน
คุณยายเนื่องเพิ่งฉลองอายุ 90 ปีนี้เอง     ร่างกายยังดี เดินเหินได้  สติปัญญาแจ่มใสแม่นยำ  คุยกันรู้เรื่องทุกอย่างไม่หลงลืม  ท่านเขียนเรื่องชีวิตนอกวังลงเป็นประจำในนิตยสารพลอยแกมเพชร
หนังสือคุณยายขายดีติดอันดับเบสเซลเลอร์
มีตำราอาหารชาววังหลายอย่าง
หาอ่านได้ที่นี่
 http://www.thaifolk.com/doc/royalmenu.htm
แต่ถ้าจะได้รับรสชาติคำบอกเล่าของคุณยายซึ่งสนุกมาก  ขอให้ไปหาหนังสือมาอ่านดีกว่า  

ดิฉันเคยไปคุยกับคุณยายถึงเรื่องเก่าๆ  เก็บเกร็ดเล็กๆน้อยๆของชีวิตชาววังมาประดับสมอง
ปัจจุบันหาคนที่รู้เรื่องเหล่านี้ได้ยากเย็นเต็มที  99% ล่วงลับไปหมดแล้ว
คุณยายเป็นนางข้าหลวงในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ  เติบโตมาในวังสวนสุนันทา ซึ่งเป็นที่ประทับของพระวิมาดาหลังรัชกาลที่ 5 แล้ว

คุณยายจำเหตุการณ์ในวังสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7ได้ดีมาก   เล่าถึงเจ้าจอมม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์  และเจ้าจอมท่านอื่นๆที่เคยเห็นชัดเจน แม่นยำเหมือนเพิ่งผ่านมาเมื่อวันวานนี้เอง
ท่านย่าของคุณยาย(เป็นท่านอาของคุณพ่อของคุณยาย  ไม่ใช่แม่ของพ่อ) คือหม่อมเจ้าหญิงสบาย นิลรัตน  เป็น"นายห้องเครื่อง" หรือหมายถึงผู้ควบคุมห้องครัวในวัง    ทรงรับคุณยายไปเลี้ยงตั้งแต่อายุ 1 ขวบ จนโตเป็นสาว  
หลังพระวิมาดาฯสิ้นพระชนม์    มาถึงเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 สมเด็จหญิงน้อยหรือสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล เสด็จไปประทับที่ชวา คุณยายเนื่องถึงออกมาอยู่ข้างนอก เพราะข้าหลวงก็กระจัดกระจายกันไป  
ปัจจุบันวังสวนสุนันทาคือสถาบันราชภัฎสวนสุนันทา

เคยถามคุณยายว่า นิลรัตน มาจากเจ้านายในรัชกาลไหน  ท่านบอกว่ารัชกาลที่ 2
ถ้านับอายุกับราชสกุลพนมวัน  ราชสกุลนิลรัตน เกิดทีหลังมาก
พระองค์เจ้าชายนิลรัตน กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ประสูติ พ.ศ. 2354  ในเจ้าจอมมารดาเพิ่ม   เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกครองราชย์แล้ว
ทรงว่าการกรมแสงปืนต้นในรัชกาลที่ 4  กรมแสงหอกดาบ และกำกับช่างเงินโรงกระษาปน์ทำเหรียญเงิน   สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4

ราชสกุล นิลรัตน ณ อยุธยา  สะกดโดยไม่มีตัวการันต์ ค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 29 ธ.ค. 03, 11:54
 เผอิญผมไม่ได้เป็นศิษย์โดยตรงของอาจารย์พนม ทินกร ณ อยุธยา ครับ แต่จำท่านได้ ถ้าจำไม่ผิดท่านสอนอยู่ทางภาควิชาการปกครอง หรือจะภาครัฐประศาสนศาสตร์ก็ไม่แน่ใจ แต่ท่านไม่ได้สอนในภาควิชาที่ผมเรียนครับ

เจ้าชายลึกลับในนิยายนั้น ผมจำท่านชายวสวัต ("เงา") ได้ แต่ลืมนามสกุลในนิยายไปแล้ว อีกท่านหนึ่งคือ เจ้าสิงหทัย นรกานต์ ("สาบนรสิงห์") ว่าเป็นเจ้าฟ้าเมืองไหนก็ไม่รู้นอกเมืองไทย เจ้าทั้งสององค์นี้ตามนิยายว่าในที่สุดเป็นเจ้าปลอม คือไม่ได้อยู่ในราชสกุลไหนๆ ของเมืองมนุษย์ทั้งสิ้น องค์หนึ่งคือพญายมปลอมมา อีกองค์เป็นนรสิงหาสูรแปลงมาเหมือนกัน นามสกุล (สมมติ) ว่า นรกานต์ นั้น ผมว่าที่จริงน่าจะเป็นนามสกุลของท่านชายวสวัตมากกว่าเจ้าสิงหทัย เพราะถอดแล้วได้ความหมายว่า "ที่สุดขอบนรก (นรก + อันต)" ถ้าพระยายมอยากจะมีนามสกุลกับเขาบ้าง จะใช้นามสกุลนี้ก็เหมาะดี แต่ถ้าจะถอดอีกทางหนึ่ง แปลว่า "อันเป็นที่รักของคน" ก็คงจะได้เหมือนกัน (นร + กานต์)

แต่ผมว่า นิยายไทยที่ว่าก็อาจพอเป็นไปได้จริงบ้างเหมือนกันครับในสังคมไทย ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้เลยตามที่อาจารย์วรรณคดีท่านฟันธง เพราะผมได้สังเกตว่าสังคมไทยเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบหลักฐานก่อนจะปลงใจเชื่อ คือ จริงอยู่ที่ท่านอาจารย์ว่าถ้าจะตรวจสอบหลักฐานก็มีทางตรวจสอบได้ ง่ายนิดเดียว สำคัญอยู่ตรงที่ว่าคนในสังคมไทย เมื่อเจอหม่อมเจ้าอะไรเข้าคนหนึ่ง ยิ่งรวยด้วยแล้ว ก็มักจะเชื่อไว้ก่อน หนทางที่จะตรวจสอบน่ะมีอยู่จริง แต่คนในสังคมจะลุกขึ้นใช้หนทางนั้นหรือไม่ ไม่แน่ ถ้าเจ้านั้นเป็นเจ้าปลอมก็คงลอยนวลอยู่ได้นานพอใช้ กว่าเรื่องจะแดง

เมื่อไม่นานมานี้ก็เคยมีกรณีคนที่ใช้ราชสกุลบางราชสกุลเป็นนามสกุลของตนเองอยู่ได้ตั้งเป็นนาน ก่อนจะมีการโวยวายให้เขาเลิกใช้ ไม่ใช่หรือครับ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 29 ธ.ค. 03, 12:08
 ราชสกุลที่สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่หนึ่งก็น่าสนใจน่าแจกแจงออกมาให้รู้จักกันนะครับคุณเทาชมพู

คลับคล้ายคลับคลาว่ามีสกุลเจ้าตั้ง ที่มีที่มาจากยุคสร้างกรุงเช่นกัน ดูเหมือนจะเป็นหัวหน้าชุมชนใหญ่ชาวจีนแถวเมืองชล  ที่ช่วยราชการอย่างเข้มแข็งจนบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น เป็นที่เมตตาเอ็นดูของเสด็จกรมพระราชวังบวรฯจนกราบบังคมทูลยืนยันขอพระราชทานให้ขึ้นเป็นเจ้าและทรงกรม  ขอคุณครูเทาชมพู นำมาบอกเล่าด้วยก็จะเป็นพระคุณ

นามสกุล ณ ป้อมเพชร นี่เป็นเจ้าด้วยหรือเปล่านะครับ  เคยผ่านตาประวัติที่มา  แต่ลืมไปเสียแล้ว


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 03, 17:39
 ตอบคุณถาวภักดิ์ก่อนค่ะ
หัวหน้าชุมชนเมืองชลที่คุณถามถึง   ดิฉันเคยเล่าไว้ในกระทู้ "เจ้านายที่มิได้อยู่ในราชวงศ์จักรี"
 http://www.vcharkarn.com/snippets/vcafe/show_message.php?Pid=14184
ขอลอกส่วนนี้มาให้อ่านกันอีกครั้งค่ะ

กรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระนามเดิมว่า เรือง  เป็นสามัญชนชาวเมืองชลบุรี
แต่ได้ผูกมิตรเป็นพี่น้องร่วมสาบานกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท เมื่อครั้งเป็นนายสุดจินดามหาดเล็กสมัยปลายอยุธยา
ถือว่ามีอุปการคุณต่อกันเวลาบ้านเมืองเป็นจลาจลถึงเสียกรุง
ในรัชกาลที่ 1 จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นเจ้านายตามพระราชประสงค์ของกรมพระราชวังบวรฯ
เชื้อสายได้รับพระราชทานนามสกุลว่าสุนทรกุล ณ ชลบุรี

นามสกุล ณ ป้อมเพชร์  ไม่ใช่ราชสกุล  เป็นนามสกุลพระราชทานให้พระสมุทรบุรานุรักษ์(ขำ) ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการสมัยรัชกาลที่ 6
สกุลนี้เดิมตั้งบ้านเรือน  อยู่ ณ ป้อมเพ็ชร์ กรุงเก่า และมีชื่อเสียงขึ้นมาที่กรุงเก่า

เรื่องราชสกุลที่สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ 1   มีหลายสกุลด้วยกันค่ะ
จะเล่าถึงราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา พอเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน
รอสักวันสองวันนะคะ

ตอบคุณนกข.
ก็อย่างที่ว่าละค่ะ    อาจารย์ท่านหมายความว่าถ้าตรวจสอบก็ง่ายนิดเดียว  เว้นแต่ว่าจะสนใจตรวจสอบกันหรือเปล่าเท่านั้น
ถ้าเจ้าปลอมองค์นั้น ปลอมมาหลอกเฉพาะนางร้ายหรือพระรอง แค่ตัวละครสามสี่คนที่ไม่ค่อยจะได้ออกนอกแวดวงบ้านตัวเอง อาจจะหลอกไปได้ถึงตอนจบของเรื่อง
แต่ถ้าโผล่มาในสังคมไทยเป็นที่เอิกเกริก  ลงข่าวสังคมบ่อยๆ  คงต้องมีคนโวยขึ้นในเร็ววันแน่  ถ้านามสกุลท่านไม่ใช่ราชสกุลจริงๆ
หรือต่อให้ใช้ราชสกุลจริงๆ ระดับหม่อมเจ้าสืบง่ายค่ะ    ระดับนายและนางสาวต่างหากสืบยากมาก  ไม่รู้ว่าคุณพ่ออยู่สายไหน  หรือรู้ตัวคุณพ่อก็อาจไม่รู้ว่าเมียไหนอีก

ส่วนคนที่ใช้นามสกุลซ้ำกับราชสกุล    ตอนนี้ยอมถอนเปลี่ยนนามสกุลใหม่ไปแล้ว
จะว่าปลอมแปลงหรืออ้างก็ไม่ใช่     เพราะเจ้าตัวก็ประกาศว่าไม่ได้เกี่ยวกับราชสกุล
เป็นเรื่องของการจดทะเบียนนามสกุล ที่คุณพ่อของเธอไปขอจดกับทางอำเภอ  อำเภอก็ยอมให้จด   ทั้งที่มันซ้ำกับราชสกุล  ด้วยความไม่รู้หรือไม่ตรวจสอบ อาจจะเป็นเพราะสมัยนั้นการสื่อสารยังมีพรมแดนขวางกั้นอยู่มาก
ก็ใช้กันในครอบครัวนี้เรื่อยมาหลายปี จนกระทั่งชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคม  สมาชิกราชสกุลเกิดสงสัยว่าสายไหน สอบถามไปก็ได้คำตอบว่าแค่นามสกุลซ้ำ
นามสกุลชาวบ้านอาจซ้ำกันได้  แต่ราชสกุล มีข้อห้ามไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ว่าชาวบ้านตั้งซ้ำไม่ได้
ทางฝ่ายราชสกุลก็ขอให้เปลี่ยน  ขอเรื่อยมาหลายปี   ทางฝ่ายนี้ก็ไม่เปลี่ยนสักที  จนกระทั่งฝ่ายขอเปลี่ยนตัดสินใจขอผ่านโนติสของทนายความแทนจะขอกันเองอย่างเมื่อก่อน  
ก็เลยยอมเปลี่ยน แป๊บเดียวเสร็จ  ใช้นามสกุลตั้งใหม่ที่ไม่ซ้ำกับใครเรียบร้อย  จบเรื่องไปแล้วค่ะ

พูดถึงการใช้นามสกุลซ้ำ  ดิฉันก็เจอหลายครั้ง  เคยมีนิสิตปริญญาโทคนหนึ่งใช้นามสกุลสิงหรา  ถามเธอว่าทำไมไม่มี ณ อยุธยาต่อท้าย  เธอบอกว่าไม่ได้เกี่ยวกับราชสกุล  เธอเป็นคนต่างจังหวัด ก็ใช้นามสกุลนี้มาตั้งแต่เกิด

นามสกุล นิลรัตน์ ก็มีอยู่หลายคนที่ไม่ใช่ นิลรัตน ณ อยุธยา

หรือจารุณี สุขสวัสดิ์  ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับราชสกุลศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา(หรือบางท่านสะกดว่า สุขสวัสดิ์) เธอใช้นามสกุลพ่อเลี้ยง   ส่วนคุณพ่อเลี้ยงเป็นราชสกุลหรือเปล่า หรือแค่ซ้ำ ก็ยังสืบความไม่ได้  
ถ้าเขาเป็นสุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา  จารุณีเป็นลูกเลี้ยงหรือบุตรบุญธรรม  ใช้ ณ อยุธยาไม่ได้อยู่แล้ว

แต่ทั้งหมดนี้เป็นการใช้อย่างเปิดเผย  ไม่มีการปลอมแปลงค่ะ   ไม่เข้ากรณีท่านชายวสวัต


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 30 ธ.ค. 03, 06:28
 อาจารย์เทาชมพูครับ
ขอบคุณอีกครั้งสำหรับกระทู้นี้ และทำให้มีการเท้าความไปยัง
เรื่อง   แค้นของกวี   ที่ผมยังไม่เคยอ่านพอได้อ่านแล้วรู้สึกชอบครับ แต่อยากจะขออนุญาติเติมบทแห่งความแค้นของกวีเข้าไปอีกบทหนึ่ง  บทนี้จับใจผมเหลือเกิน
เสียเจ้า

๑.เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า ซบหน้าติดดินกินทรายฯ

๒.จะเจ็บจำไปถึงปรโลก ฤารอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย อย่าหมายว่าจะให้หัวใจฯ

๓.ถ้าเจ้าอุบัติบนสวรรค์ ข้าขอลงโลกันตร์หม่นไหม้
สูเป็นไฟเราเป็นไม้ ให้ทำลายสิ้นถึงวิญญาณฯ

๔.แม้แต่ธุลีมิอาลัย ลืมเจ้าไซร้ชั่วกัลปาวสาน
ถ้าชาติไหนเกิดไปพบพาน จะทรมานควักทิ้งทั้งแก้วตาฯ

๕.ตายไปอยู่ใต้รอยเท้า ให้เจ้าเหยียบเล่นเหมือนเส้นหญ้า
เพื่อจดจำพิษช้ำนานา ไปชั่วฟ้าชั่วดินสิ้นเอยฯ

อังคาร กัลยาณพงศ์


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 03, 08:46
 สวัสดีค่ะคุณ paganini
สำนวนแค้นของอังคารในบทนี้ ทางวรรณคดีเรียกว่า อธิพจน์(อติพจน์) หรือ Hyperbole  คือกล่าวให้เกินจริง เพื่อเน้นความเข้มข้นรุนแรงของอารมณ์
ผลงานของอังคาร มักเป็นแบบนี้อยู่ในหลายบท    นึกถึงอีกบทที่กวีประชดผู้หญิง
ชาติหน้าถ้ามีจริง...........น้องหญิงน่าวางขาย
เป็นสินค้ากลางดินกลางทราย.........เรียงรายข้างถนนหนทาง
จะโล้สำเภาทอง............มาซื้อน้องไปแนบข้าง
สามวันเจ้าจืดจาง...........วางขายใหม่ใส่พานทอง


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 30 ธ.ค. 03, 10:46
 กลับมาเรื่องราชสกุลและสกุลสามัญที่ฟังคล้ายๆ ราชสกุลนะครับ

มีท่านที่เอ่ยถึง ณป้อมเพ็ชร แล้ว ทำให้ผมนึกถึง ณ ลำเลียง อีกนามสกุลหนึ่ง

นอกจากนั้น มี ณ เมืองลุง (ไม่ใช่ญาติผม) แต่เป็นนามปากกา ไม่ใช่นามสกุล มี ณประมวญมารค เป็นนามปากกาเหมือนกัน


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 03, 11:22
ดิฉันเคยหา" ณ ลำเลียง" ในทะเบียฬนามสกุลพระราชทานสมัยรัชกาลที่ 6 ไม่พบค่ะ
นามสกุลที่ขึ้นต้นด้วย ณ มักต่อท้ายด้วยชื่อเมือง  ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองนั้นๆ  
ณ สงขลา  ณ มหาสารคาม  ณ กาฬสินธุ์ ณ ภูเก็ต  ณ ถลาง  ณ นคร  อ้อ ณ พัทลุง ด้วย
พวกนี้เป็นสามัญชนเชื้อสายขุนนาง  
ถ้าทางเหนือ ณ เชียงใหม่ เป็นเจ้านาย สืบเชื้อสายจากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มี ณ ลำปางอีกสกุลหนึ่งด้วยค่ะ
หมายเหตุ ในทะเบียนนามสกุล  พิมพ์ติดกัน เช่นณสงขลา   แต่ตอนหลังดิฉันเห็นเว้นช่องระหว่างคำ


ขอส่งการบ้านเรื่องราชสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยา

ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา   เป็นราชสกุลในราชวงศ์จักรีที่ผิดแผกไปจากราชสกุลอื่นๆโดยมาก ตรงที่นับเนื่องเป็นสายราชสกุลจากทางฝ่ายแม่  ไม่ใช่ทางฝ่ายพ่อ
ความเป็นมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระพี่นางอยู่ 2 พระองค์  เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว ก็โปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่เป็นสมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี  และสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อยเป็นสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์

สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ มีพระนามเดิมว่า แก้ว   ในสมัยที่เป็นกุลสตรีสามัญชนตอนปลายอยุธยา  ได้สมรสกับเจ้าขรัวเงิน ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ 4 ของมหาเศรษฐีเชื้อจีน  กล่าวกันว่าบรรพบุรุษเป็นขุนนางใหญ่ของจีนราชวงศ์ไต้เหม็ง( ราชวงศ์หมิง)
เมื่อแมนจูเข้าครองประเทศ    ท่านไม่ประสงค์จะอ่อนน้อมเป็นฝ่ายแมนจู ก็อพยพลี้ภัยการเมืองมาตั้งถิ่นฐานที่อยุธยา มีลูกหลานอยู่ที่นี่

เจ้าขรัวเงินและท่านแก้ว มีบุตรธิดาด้วยกัน 6 คน   ถึงแก่กรรมไปคนหนึ่งเมื่อเยาว์วัย เหลือ 5 คน
ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าทั้ง 5 พระองค์
คือ
1)สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงเทพหริรักษ์ ต้นราชสกุล เทพหัสดิน ณ อยุธยา
2)เจ้าฟ้าหญิงกรมขุนอนัฆนารี
3)เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2
4)สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ต้นราชสกุล มนตรีกุล ณ อยุธยา
5) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ต้นราชสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยา
ทุกพระองค์ในนี้ ภายหลังมีคำนำหน้าว่า  สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ    แตกต่างไปจากพระราชโอรสธิดาในพระมหากษัตริย์ซึ่งมีคำนำว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ    หรือถ้าเป็นพระราชโอรสธิดาในกรมพระราชวงศ์บวรฯ ก็ใช้คำว่า พระราชวรวงศ์เธอ

เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ มีหม่อมชายา คือเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปีผู้เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าตากสิน    อันประสูติจากกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ หรือเจ้าฟ้าฉิมใหญ่ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ขอเล่าซ้ำไว้อีกครั้งเพราะเคยเล่ามาแล้วว่า หลังจากเปลี่ยนแผ่นดินจากธนบุรีมาเป็นรัตนโกสินทร์แล้ว  บรรดาพระราชโอรสธิดาของพระเจ้าตาก ก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อมา  เว้นแต่ 2 พระองค์ที่ขอตายตามพระราชบิดา
 ที่เหลือก็ยังอยู่เป็นปกติมาตลอดรัชกาลที่ 1 ไม่มีใครถูกลงโทษตลอดรัชกาล    
พระราชโอรสหลายองค์เข้ารับราชการเป็นขุนนาง   ส่วนพระราชธิดาก็เป็นหม่อมห้ามของเจ้านายในราชวงศ์จักรี  
แต่ว่าทุกองค์ (เว้นแต่เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตซึ่งเป็นหลานตาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า) ไม่ได้ดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้า แต่กลายเป็นสามัญชน
เจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปีนั้นไม่แน่ว่ายังดำรงพระยศอยู่หรือเปล่า  แต่พระโอรสธิดาที่ประสูติออกมาเป็นหม่อมเจ้า ไม่ใช่พระองค์เจ้า


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 30 ธ.ค. 03, 13:57
 ในนามปากกานักประพันธ์ที่ตั้งให้คล้าย ณ ต่างๆ ผมตกไปท่านหนึ่งครับ คือ ณ เมืองใต้

"ว. ณ เมืองลุง" เป็นนักแปลเรื่องจีนกำลังภายใน

"พ. ณ ประมวญมารค" และ "ว. ณ ประมวญมารค" เป็นนามปากกา 2 นาม พระองค์จริงเป็นเจ้าพี่เจ้าน้องกัน เป็นสมาชิกในราชสกุล (จริงๆ) ทั้งคู่ คือพระโอรสและพระธิดาในเสด็จในกรม น.ม.ส.

ท่านหญิง ว. ณ ประมวญมารค ต่อมาก็คือพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ดูเหมือนจะเคยทรงอธิบายไว้ว่า น.ม.ส. เคยทรงออกหนังสือพิมพ์ สำนักงาน นสพ. ของท่านตั้งอยู่ที่ถนนประมวญ ดังนั้น พ. และ ว. ณ ประมวญมารค ก็คือ "พ./ ว. แห่งถนนประมวญ" เท่านั้นเอง มารค หรือ มรรค หรือ มรคา แปลว่าทาง หรือถนน (ผมทราบว่าคำนี้ในภาษาฮินดียังแปลว่าถนนอยู่จนเดี๋ยวนี้ ถนนหนทางในกรุงนิวเดลีมีหลายสายที่มีชื่อลงท้ายด้วย Marg รวมทั้ง Nyana Marg ที่ตั้งสถานทูตไทย) แต่ท่านหญิงวิภาวดีฯ เคยทรงเล่าว่า เคยมีคนอ่านตัวหลังเป็น Mark ในภาษาฝรั่ง เลยอ่านนามปากกาท่านว่า "วอ นอ ประมวนม้าร์ค"...

พอๆ กับพระลอดิลกราช (ลอ-ดิลก-ราช) ซึ่งเคยมีคนอ่านว่า "ลอ ดิล กร๊าซ" มาแล้ว

"นายตำรา ณ เมืองใต้" เป็นนามแฝงของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร นักวิชาการภาษาไทยรุ่นครู ซึ่งตัวจริงของท่านก็เป็นเชื้อสายเมืองใต้จริงๆ เพราะ ณ นคร ที่เป็นนามสกุลจริงของท่านอาจารย์เปลื้องนั้น ส่อว่าท่านสืบเชื้อสายมาแต่เจ้าพระยานคร (ศรีธรรมราช)

ขอเชิญคุณเทาชมพูเล่าต่อครับ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 03, 14:02
 กรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงมีพระโอรสธิดาจากหลายหม่อมด้วยกัน รวมแล้ว 31 องค์  
พระองค์ใหญ่คือหม่อมเจ้าชะอุ่ม ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯเฉลิมพระยศขึ้นเป็นกรมหมื่นเทวานุรักษ์
หม่อมเจ้าชะอุ่ม กรมหมื่นเทวานุรักษ์ มีบุตรชายหญิงจำนวนมาก  เป็นชาย 25 และหญิง 18  หนึ่งในจำนวนนี้ ชื่อม.ร.ว. กระต่าย  
เติบโตขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นคนหนุ่มที่เฉลียวฉลาด ตั้งใจฝึกฝนเล่าเรียนภาษาอังกฤษจากฝรั่งในสยาม  จนมีความรู้เข้าใจได้ดี   ท่านจึงได้่เป็นล่ามติดตามคณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีที่อังกฤษ  เมื่อพ.ศ. 2400  บันทึกการเดินทางไว้ใน "นิราศลอนดอน" กลับมาตีพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง   ม.ร.ว. กระต่ายได้รับพระราชทานยศเป็นหม่อมราโชทัย  (เทียบเท่าพระยาพานทอง)ได้ดำรงตำแหน่งถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศเป็นคนแรก  น่าเสียดายว่าท่านอายุไม่ยืนยาวนัก  ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ 4นั้นเอง


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 30 ธ.ค. 03, 14:16
 ชูมือถามคุณครูครับ  แล้ว ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา ละครับ สืบทอดมาจากสมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ 1 ด้วยใช่ไหมครับ

เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา จำติดหัวมา ไม่ทราบว่าถูกหรือเปล่า ว่าสมาชิกของตระกูลในยุครัชกาลที่ 5-6 ออกจะ low profile มาก จบเกือบหลุดทำเนียบ  ทำนองว่าเจ้าตัวไม่ได้แสดงตนว่าสืบเชื้อสายเป็นพระญาติพระวงศ์  แต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อสกุลพร้อมคำว่า ณ อยุธยา ให้เอง


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 03, 14:52
 คุณถาวศักดิ์  เรื่องราชสกุล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา อ่านได้ที่บทความนี้ค่ะ
 http://vcharkarn.com/reurnthai/wat_rakang.php

ส่วนเรื่องราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา ทราบเพียงว่าพระราชทานให้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น) ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ
ท่านผู้นี้ต่อมาคือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ดำริก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 http://www.chula.ac.th/history/dist/dhammasak_th.html

เกร็ดที่คุณถาวภักดิ์เล่ามา ไม่เคยได้ยินค่ะ  อาจเป็นได้ว่าในตอนนั้น ตกทอดมาหลายชั่วคนแล้ว  ท่านเป็นแค่นาย  ไม่ได้เป็นหม่อมราชวงศ์หรือหม่อมหลวง  ก็เลยไม่ค่อยมีบุคคลภายนอกทราบ

แต่อย่างไรก็ตาม  พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแน่นอน  เพราะเวลาทำเรื่องขอพระราชทานนามสกุล ผู้ขอก็ต้องทำหนังสือกราบบังคมทูล  เล่าถึงบรรพบุรุษตัวเองว่าเป็นใครมาจากไหนทำงานการอะไร   ไม่ใช่ขอเฉยๆ ไม่เล่าความเป็นมาเอาเสียเลย
พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ท่านก็ทำเรื่องกราบบังคมทูล บอกกล่าวเล่าถี่ถ้วนดี เหมือนผู้ขอรายอื่นๆ ว่าท่านสืบสายมาจากพระยาราชภักดี(ช้าง) บุตรหม่อมเจ้าฉิมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงเทพหริรักษ์
พระเจ้าอยู่หัว ถึงโปรดพระราชทานนามสกุลให้ ว่าเทพหัสดิน ณ อยุธยา
เทพ--->เทพหริรักษ์  หัสดิน---> ช้าง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้รับการแต่งตั้งจากคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารให้เป็นหนึ่งในผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรก จำนวน ๗๐ คน
 http://www.wahdah.com/history/2475.html

เกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับท่านที่จำได้อีกก็คือ ท่านแต่งเพลงกราวกีฬา ที่ขึ้นต้นว่า กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน
กับเพลง คิดถึง จากทำนองเพลง Gypsy Moon ที่ขึ้นต้นว่า...จันทร์กระจ่างฟ้า นภาประดับด้วยดาว  โลกสวยราว เนรมิตประมวลเมืองแมน...


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 03, 15:05
 เพลงชาติ โดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
เมื่อประเทศสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ได้มีสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนไทยเกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือ “เพลงชาติ” ซึ่งคณะราษฏร์ได้ มอบให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ประพันธ์ มีเนื้อร้องดังต่อไปนี้

“สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย
เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ
ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า”

เนื้อร้องข้างต้นนี้ใช้ทำนองเพลงมหาชัย (ไทยเขษม ปีที่ ๙ เล่ม ๓ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๗๕)

เมื่อมีธงไตรรงค์และเพลงชาติครบแล้ว กระทรวงกลาโหมจึงได้เสนอให้มีการชักและประดับธงชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ การประชาสัมพันธ์ในสมัยนั้นจึงนิยมทำรูปพานรัฐธรรมนูญมีธงชาติไขว้ แม้แต่เหรียญที่ระลึกในงานขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๘ ก็ทำเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ และมีธงชาติไขว้เช่นเดียวกัน

เพลงชาติดังกล่าว พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นผู้ให้ทำนอง


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 03, 15:08
 ขอโทษ   มือไวคลิกเร็วไปหน่อย มาจากเว็บนี้ค่ะ
 http://www.culture.go.th/oncc/knowledge/thaiflag/03.htm  


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 03, 15:14
 http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=2227&stissueid=2539&stcolcatid=2&stauthorid=13
สกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา มีคนดังอยู่สองคนคือ พลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ที่เคยเป็นนักโทษการเมือง พ.ศ.๒๔๗๕-๒๔๗๖ และ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เจ้าของเพลงกราวกีฬา ทั้งสองท่านเป็นพี่น้องกันใช่ไหม-

           ราชตระกูล หมายถึงตระกูลอันสืบสายลงมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งโดยตรงและจากสมเด็จพระเชษฐภคินี พระอนุชา และพระขนิษฐา ผู้เป็นพระโอรสธิดาในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกด้วยกัน สำหรับสายพระพี่พระน้องดังกล่าว บางทีก็เรียกว่า ราชตระกูลสายพระปฐมวงศ์ คือมิได้สืบสายโดยตรงลงมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ

           ส่วนราชสกุลนั้นดูเหมือนจะใช้กันตั้งแต่เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในสมัยรัชกาลที่ ๖ หมายถึงนามสกุลอันสืบสายลงมาจากเจ้าฟ้าและหรือพระองค์เจ้าในพระบรมราชวงศ์จักรี

           แต่คำว่าราชสกุลนี้ หากพูดถึงเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า เคยได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า ‘ท่านเป็นราชสกุล’ ทว่าหากพูดถึง หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ก็มักว่า ‘เธอเป็นราชนิกุล’ ( ‘เธอ’ คือสรรพนามบุรุษที่ ๓ มิใช่บุรุษที่ ๒)

           ส่วนสมาชิกในราชตระกูลที่ต่ำลงมาจากหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ไม่เรียกว่าราชนิกุล เป็นแต่สมาชิกในราชตระกูล ใช้นามสกุลอันเป็นราชสกุลโดยมีคำว่า ‘ณ อยุธยา’ ต่อท้าย

           เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นชั้นอา พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นชั้นหลาน ทว่าอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ เกิด พ.ศ.๒๔๑๙ พระยาเทพหัสดิน เกิด พ.ศ.๒๔๒๑

           ราชสกุล เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นสายพระปฐมวงศ์ สืบลงมาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์น้อยแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ

           สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ มีพระโอรสธิดาเป็นหม่อมเจ้า ตามพระเกียรติยศ โอรสธิดาของเจ้าฟ้า ที่ประสูติแต่มารดาสามัญชน

           สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ มีหม่อมห้ามผู้นับว่าเป็นหม่อมเอก ชื่อว่า หม่อมผ่อง หม่อมผ่องผู้นี้เป็นธิดาของท่านเจ้าขรัวทอง (หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯรับสั่งเรียกว่า ‘เจ้าข้าวทอง’) ท่านเจ้าขรัวทอง เป็นพี่ยาของท่านเจ้าขรัวเงิน พระชนกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ หม่อมผ่อง จึงเป็นลูกผู้พี่ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ

           หม่อมผ่องมีพระธิดา พระนาม ‘หม่อมเจ้าฉิม’ แสดงว่าเป็นธิดาคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ

           หม่อมเจ้าฉิมเสกสมรสแล้ว ตามที่ทราบกันโดยเปิดเผยนั้นว่า หม่อมเจ้าฉิมทรงมีโอรสท่านหนึ่ง เรียกกันว่า ‘คุณช้าง’ ในทางราชการเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ จดว่า ‘หม่อมราชวงศ์ช้าง’ และจดชื่อบุตรธิดาของหม่อมราชวงศ์ช้างเป็น ‘หม่อมหลวง’ ทุกคน

           ทว่าในครั้งกระโน้นมีผู้สันนิษฐานว่าหม่อมราชวงศ์ช้างนี้ คงจะเป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ นั่นเอง เกิดแต่หม่อมชาวนครราชสีมา ชื่อแปลก หากแต่อาจมีความจำเป็นบางประการ หรืออาจจะทรงพระชราแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ จึงประทานคุณช้างให้เป็นพระโอรสบุญธรรมในหม่อมเจ้าฉิม

           ที่พากันสันนิษฐานดังนี้ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ผู้ทรงเป็นหลานลุงของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ ทรงยกย่องคุณช้างมากยิ่งกว่า ผู้เป็นเพียงหม่อมราชวงศ์ท่านอื่นๆ เมื่อเริ่มเข้ารับราชการ ก็มิต้องขึ้นจากชั้นเล็ก โปรดฯให้เป็นพระยาราชภักดีเลยทีเดียว และเมื่อพระราชโอรสธิดาโสกันต์ ก็โปรดฯให้เสด็จไปลาพระยาราชภักดีทุกพระองค์

           เมื่อหม่อมราชวงศ์ช้างรับราชการ จึงมีบุตรหลานรับราชการมีบรรดาศักดิ์กันต่อๆ มา ผิดจากพระโอรสองค์อื่นในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ ซึ่งแม้เป็นหม่อมเจ้าเมื่อมิได้เข้ารับราชการตลอดถึงลูกหลาน จึงไม่ปรากฏชื่อเสียงเด่นแต่ประการใด มาเด่นในทางราชการก็แต่ลูกหลานของพระยาราชภักดี (ม.ร.ว.ช้าง)

           ถึงรัชกาลที่ ๖ มีพระราชบัญญัตินามสกุลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงโปรดฯ พระราชทานนามสกุลที่สืบสายลงมาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ว่า ‘เทพหัสดิน’ โดยเอาพระนามกรมข้างหน้าของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ กับ ‘หัสดิน’ ที่แปลว่า ‘ช้าง’ รวมเข้าด้วยกัน เป็นการแปลกกว่าราชสกุลอื่น ซึ่งมักจะมาจากพระนามจริงหรือพระนามกรมแต่อย่างเดียว

           พระยาราชภักดี (ม.ร.ว.ช้าง) มีบุตรธิดามากตามความนิยมของสมัยนั้น บุตรชายคนใหญ่ เกิดแต่เอกภรรยาชื่อ หม่อมหลวงเจียม ธิดาอีกคนชื่อ หม่อมหลวงถนอม เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕

           หม่อมหลวงเจียม เป็นเจ้ากรมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่ยังทรงกรมเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว โปรดฯให้เป็นพระยาไชยสุรินทร์ (ม.ล.เจียม) เจ้ากรมพระคลังข้างที่

           พระยาไชยสุรินทร์ (ม.ล.เจียม) มีบุตรธิดามาก รวมถึง ๓๒ คน

           ที่เกิดแต่เอกภรรยา ชื่อ นายพุด และ ธิดาถวายตัวเป็นเจ้าจอมพระสนมในรัชกาลที่ ๕ สามท่านคือ เจ้าจอมกลีบ เจ้าจอมลิ้นจี่ และ เจ้าจอมฟักเหลือง

           ส่วนนายพุดนั้น รับราชการเป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาก ได้เป็นที่หลวงฤทธิ์นายเวร

           หลวงฤทธิ์นายเวร (พุด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้นี้ เป็นบิดาของ พลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

           ส่วนเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นน้องชายต่างมารดาของหลวงฤทธิ์นายเวร (พุด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นคนที่ ๑๘ ในจำนวนพี่น้อง ๓๒ คน


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 02 ม.ค. 04, 12:09
 ท่านรองศาสตราจารย์พนม ทินกร ณ อยุธยา เป็นอาจารย์ดิฉันที่ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ค่ะ ท่านเคยกรุณาชวนลูกศิษย์ไปรับประทานอาหารที่บ้านท่านแถวคลองสาน จำได้ว่าพวกเราตื่นตาตื่นใจกับพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ รุปภาพ และข้าวของเครื่องใช้ (เรียกว่าโบราณวัตถุได้หรือไม่คะ คุณเทาชมพู?)

เรียนถามคุณเทาชมพูด้วยค่ะว่า "มหาสกะวัน" เป็นราชสกุลด้วยหรือไม่คะ (คลัลคล้ายคลับคลาว่าเป็นน่ะค่ะ แต่ไม่ค่อยคุ้นหูนัก)


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 02 ม.ค. 04, 12:12
 ขออภัยค่ะ โพสท์ไปแล้วเพิ่งเห็นว่าพิมพ์ตกไป
และข้าวของเครื่องใช้ .....ของบรรพบุรุษของท่านมาก ท่านได้กรุณานำชมและเล่าประวัติของแต่ละชิ้นให้ฟังด้วยค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 04, 08:01
 สวัสดีค่ะคุณ B  หายหน้าไปจากเรือนไทยนานเชียว
มหาสกะวัน  ไม่พบในรายชื่อของทะเบียฬนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ 6 ค่ะ  ไม่น่าจะเป็นราชสกุลหรือนามสกุลพระราชทานนะคะ
ถ้าเป็นนามสกุลพระราชทานจริง  ก็เป็นได้ว่าอาจพระราชทานในรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีอยู่จำนวนน้อยมาก  แต่ไม่คิดว่าเป็นราชสกุลค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 04, 09:20
 เพิ่งไปอ่านพบราชสกุลที่หาได้ยากเย็นเข้าอีกราชสกุลหนึ่ง  คือ เพ็ญพัฒน์ ณ อยุธยา
ต้นราชสกุลเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5 ที่มีผู้รู้จักพระองค์น้อยมาก  แต่พระนิพนธ์กลับเป็นที่แพร่หลายรู้กันทั่วบ้านทั่วเมือง   โดย 99% อาจไม่รู้ว่าเป็นผลงานของใคร
เจ้านายพระองค์นี้คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม   พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ  ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง(เพ็ง เพญกุล)

กรมหมื่นพิไชยฯเสด็จไปศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์  ณ ประเทศอังกฤษ   กลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ

พรสวรรค์ของเจ้านายพระองค์นี้ คือทางด้านดนตรีไทย    ทรงแต่งเพลงไทยเดิมได้ไพเราะจับใจยิ่งนัก    เพลงเอกที่นิพนธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนอง ชื่อ"ลาวดำเนินเกวียน" ซึ่งขึ้นต้นว่า
โอละหนอ ดวงเดือนเอย  พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง...

ความไพเราะจับจิตจับใจของเพลงนี้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว   ไม่นานคนก็จำได้ติดปากถึงเนื้อร้อง    แต่ไม่มีใครค่อยจำได้ถึงชื่อเดิม  และคนบางส่วนก็เห็นว่าชื่อเดิมไม่ไพเราะ   จึงพาเรียกกันว่า "ลาวดวงเดือน"

มีเกร็ดเล่ากันมา ว่า เพลงนี้นิพนธ์ขึ้นเพื่อเจ้าหญิงเชียงใหม่พระองค์หนึ่ง ที่ทรงมีพระทัยเสน่หา พบกันเมื่อคราวเสด็จขึ้นไปราชการทางเหนือ   แต่ไม่อาจเสกสมรสกันได้ ก็ได้แต่นิพนธ์เพลงเป็นที่ระลึก

กรมหมื่นพิไชยฯ  มีพระธิดาองค์เดียวจากชายาคือหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิลัย (ราชสกุลกฤดากร) และพระโอรสอีกองค์จากหม่อมเทียม พระนามว่าหม่อมเจ้าเผ่าเพ็ญพัฒน์
น่าเสียดายว่ากรมหมื่นพิไชยฯพระพลานามัยไม่สมบูรณ์  แค่พระชนม์ได้ 28 ก็สิ้นพระชนม์ด้วยโรคปอดซึ่งเป็นเรื้อรังมาหลายปี
ผู้สืบราชสกุลเพ็ญพัฒน์ ณ อยุธยา มีอยู่น้อยมาก เท่าที่รู้มีไม่ถึง 5 คนในปัจจุบัน
(ข้อมูลบางส่วนจาก คอลัมน์ข้างหลังพระบัญชร ของนายเปี่ยม ในนิตยสารพลอยแกมเพชร  และหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง)


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: มาดาณัส ที่ 10 ม.ค. 04, 11:28
 ราชสกุลสายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ รัชกาลที่ 3  มี 13 มหาสาขา ปรากฎว่ามีอยู่ 3 มหาสาขาที่ไม่ค่อยได้ยินชื่อเลย คือ โกเมน ปิยากร และลำยอง ถ้าใครรู้จักได้โปรดขอรายละเอียดด้วย


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 04, 17:58
 พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้ง 3 พระองค์  หรือเรียกกันภายหลังว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น 3     พบหลักฐานเพียงว่า

1)   พระองค์เจ้าโกเมน   เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 11 ที่ประสูติก่อนบรมราชาภิเษก   ในเจ้าจอมมารดาเฟือง          ประสูติ ณวันพฤหัสบดี  เดือน 6  แรม 11 ค่ำ ปีกุน  พ.ศ. 2358
ในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นกรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์  ไม่พบว่าทรงว่าการกรมใด
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4  เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 3 แรม 2 ค่ำ ปีระกา พ.ศ. 2404  พระชันษา 46 ปี  
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อราชสกุลให้หม่อมหลวงวงษ์  ดูลำดีบแล้วเป็นเหลนทวด ผู้สืบเชื้อสาย ว่า โกเมน ณ อยุธยา

2) พระองค์เจ้าเปียก   เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 27 ที่ประสูติ ก่อนบรมราชาภิเษก  ในเจ้าจอมมารดาเหม็น    ประสูติ ณ วันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีเถาะ  พ.ศ. 2362
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4  ณ วันจันทร์ เดือน 4 ขึ้น 4 ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. 2398 พระชันษา 37 ปี
ยังไม่พบหลักฐานว่าได้ทรงกรม   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อราชสกุลนี้ให้หม่อมราชวงศ์โก๋   ดูลำดับแล้วเป็นหลานปู่ของท่าน ว่า ราชสกุล   ปิยากร(Piyakara ) ณ อยุธยา  

3) พระองค์เจ้าลำยอง  เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 39  ในเจ้าจอมมารดาวัน ประสูติเมื่อบรมราชาภิเษกแล้ว    
ประสูติเมื่อ วันเสาร์  เดือนยี่ ขึ้น 13 ค่ำ ปีวอก พ.ศ. 2367  สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4   ไม่ทราบปี  และ ไม่ทราบหลักฐานว่าได้ทรงกรม    ไม่มีบันทึกว่า ราชสกุลนี้ได้รับพระราชทานชื่อว่าลำยอง ณ อยุธยา ตั้งแต่เมื่อไร เพราะไม่มีปรากฏในทะเบียฬนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ 6

คุณจะหารายชื่อนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ 6 ทั้งราชสกุลและสกุลสามัญชนได้ที่เว็บนี้
 http://www.amed.go.th/palace/sur_order.htm  


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: caeruleus ที่ 22 ก.พ. 04, 05:16
 แล้วนามสกุล บวรรัตนารักษ์ กับ ทิพยมงคล นี่
รับพระราชทานมาจากรัชกาลอะไรไม่ทราบคะ

คือนามสกุลไม่ได้สืบทอดมาจากเจ้านายพระองค์ได
ทราบแต่ว่าเป็นนามและนามสกุลพระราชทานเท่านั้นค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 04, 08:35
 ไม่เคยได้ยินนามสกุลทั้งสอง     เป็นนามสกุลพระราชทานหรือไม่   ถ้าเป็น พระราชทานในสมัยใด ไม่ทราบค่ะ
ในรัชกาลที่ 7 มีนามสกุลพระราชทานอีก แต่ไม่มาก  ส่วนใหญ่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6
ในรัชกาลปัจจุบัน นามสกุลพระราชทานมีบ้าง เท่าที่รู้คือพระราชทานให้ศิลปิน เช่น นันทนาคร และมุกดาพันธ์

นามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ 6 ตรวจสอบได้ที่นี่
 http://www.amed.go.th/palace/sur_order.htm  


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: ตุ๊ดตู่ ที่ 08 พ.ย. 04, 14:13
 อยากทราบประวัติของราชสกุล กัลยาณวงศ์ ค่ะ และในปัจจุบันมีผู้ใช้ราชสกุลนี้มากน้อยแค่ไหนค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ย. 04, 17:53
 ราชสกุล กัลยาณวงศ์ สืบเชื้อสายมาจากพระราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า(ชาย) กัลยาณประวัติ   กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ทรงเป็นพระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ  ซึ่งเป็นวังหน้าพระองค์สุดท้ายของสยามในรัชกาลที่ 5
กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ประสูติเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2414   ในรัชกาลที่ 5  ทรงกรมในรัชกาลที่ 6 และสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2470
ขอลำดับให้ฟัง ว่ากรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ  ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้เป็นสมเด็จพระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเฉลิมพระยศให้สูงกว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าในรัชกาลก่อนๆ  เทียบได้กับพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สอง
ส่วนปัจจุบันนี้มีลูกหลานของท่านอยู่มากน้อยแค่ไหน   ไม่ทราบเหมือนกัน   ไม่แน่ใจว่ามีใครรวบรวมจำนวนสมาชิกในสายราชสกุลวังหน้าไว้  ถ้า search ชื่อสกุลนี้ ในเว็บไหนที่ลงรายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์  อาจจะพอหาตัวได้บ้าง  


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: ไอยริณ ที่ 31 ธ.ค. 04, 13:23
 มาหาความรู้ใส่ตัวค่ะ ขอบคุณคุณเทาชมพูค่ะ

คุณ B คะ ศิษย์สำนักเดียวกันเลยค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 28 ม.ค. 05, 17:58
 ไม่ค่อยได้แวะมา เพิ่งเห็นที่คณไอยริณโพสท์
สวัสดีศิษย์ร่วมสำนักค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: fon ที่ 07 มี.ค. 05, 19:47
 เรียนถามคุณเทาชมพู
พอดีมีญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเสียชีวิตไปนานมากแล้วก่อนดิฉันเกิดอีกท่านมีนามสกุลว่า  ศรีสังข์ ณ.อยุทธยา คุณเทาชมพูพอจะทราบบ้างใหมค่ะว่าสืบเชื้อสายมาจากใหน และนามสกุลที่ได้รับพระราชทานมาจากสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นหาข้อมูลได้จากที่ใด
ขอบคุณค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 05, 08:57
ศรีสังข์ ณ.อยุทธยา  ไม่มี  มีแต่ สีสังข์ ณ อยุธยา
สืบเชื้อสายมาจาก พระราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสีสังข์  พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  ในรัชกาลที่ 2 ค่ะ
นามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ 6( ไม่ใช่ที่ 5) ลองใช้ www.google.co.th
ค้นดูที่คำว่า นามสกุลพระราชทาน


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: fon ที่ 08 มี.ค. 05, 11:12
 -ตามคำตอบที่คุณเทาชมพูตอบมาก็แสดงว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นไม่มีการพระราชทานนามสกุลใช่ใหมค่ะ
-ขอบคุณนะคะตอบคำถามให้หลายกระทู้แล้ว    


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 05, 14:46
 สมัยรัชกาลที่ 5  คนไทยยังไม่มีนามสกุล
การพระราชทานนามสกุล เกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: หญิงมิน ที่ 08 มิ.ย. 05, 22:29
 แล้วสายสกุล จุฑาธุช ในร.5  ละค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ที่ 08 มิ.ย. 05, 22:39
 สายราชสกุล ทินกร เห็นช่วงหลังๆ มีชื่อทางด้านปรุงยาไทยนี่ครับ โดยเฉพาะยาหอม เพื่อนผมที่รู้จักกัน ก็เห็นเรียนด้านแพทย์แผนไทย
ส่วนสายราชสกุล พนมวัน เท่าที่รู้จัก มีเพื่อนคุณพ่อคนหนึ่งอยู่ในสายราชสกุลนี้ เห็นคุณพ่อบอกว่า คุณพ่อของเพื่อนท่านคนนี้ เป็นหม่อมหลวง เคยดูแลเรื่องการวาดจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (คงในช่วงปฏิสังขรณ์ใหญ่ในรัชกาลปัจจุบัน)


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 มิ.ย. 05, 23:10
 ในฐานะหนึ่งในผู้รวบรวมทะเบียนนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖ (ท่านที่เริ่มรวบรวมคือ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง ถนัด  นาวานุเคระห์  เมื่อ น.ร.ม.ถนัดถึงแก่กรรม  น.ร.ม.บัว  ศจิเสวี ได้รวบรวมต่อ  แต่ด้วยวัยวุฒิที่เลยเกษียณแล้วทั้งสองท่านประกอบกับการจัดสืบค้นด้วยสองมือและสองตาของผู้สูงวัยโดยไม่มีเครื่องจักรและผู้อื่นเข้าช่วย  ต่อมาเมื่อ น.ร.ม.บัว ป่วยไปอีกท่าน  จึงตกเป็นภาระของเด็กรุ่นหลังที่ต้องรับภาระต่อจากท่าน  ดีว่ามีเครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยจึงสำเร็จเป็นรูปเล่มหนากว่าหกร้อยหน้า  ใช้เวลารวบรวมอยู่ ๕ ปี ได้นามสกุลพระราชทานรัชกาลที่ ๖ มา ๖,๔๗๐ นามสกุล กับนามสกุลพระราชทานรัชกาลที่ ๖ อีกกว่า ๓๐ นามสกุล  รออีกสักพักจะมีการปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมนามสกุลพระราชทานที่ ๘ และ รัชกาลปัจจุบัน)  
ขอยืนยันว่า นามสกุล มหาสกะวัน มิใช่นามสกึลพระราชทานของรัชกาลที่ ๖ และ ๗ ครับ  และ บวรรัตนารักษ์ กับ ทิพยมงคล ก็มิใช่นามสกุลพระราชทานแน่นอน  แต่ถ้าจะให้สันนิษฐานน่าจะมีที่มาจาก ราชทินนาม  ซึ่งเมื่อมีการเลิกใช้บรรดาศักดิ์แล้ว  มักจะขอราชทินนามนี้มาเป็นนามสกุลแทนสกุลเดิม เช่น หลวงหาญสงคราม (ฟ้อน  สุวรรณไศละ)  ต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลจากสุวรรณไศละ มาเป็น หาญสงครามเป็นต้น
สำหรับราชสกุล เทพหัสดิน นั้น  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชบันทึกไว้ใน "สมุดทะเบียฬนามสกุล" ว่า "พระยาไพศาลศิลปสาตร (สนั่น)  ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ  สืบสกุลจากพระยาราชภักดี (ช้าง) ผู้เป็นบุตรหม่อมเจ้าฉิมในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  ซึ่งพระองค์ท่านไม่รับ  แต่ญาติพี่น้องเฃารับกันหมด"
นอกจาก พลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งได้เคยเป็นแม่ทัพใหญ่ไปราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรป (สงครามโลกครั้งที่ ๑) แล้ว  ท่านยังมีน้องชายอีกท่านหนึ่ง คือ นายพลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ อ่านชื่อแล้วก็สะท้านเลยนะครับ  นอกจากนั้นน้องชายเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีที่ได้ฝากชื่อไว้ในวงการศึกษาไทยยังมี พระยาอนุกิจวิทูร  และพระยาวิทยาปรีชามาตย์  (ต้องขอประทานโทษที่จำนามเดิมท่านไม่ได้) อีกด้วย


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 05, 07:47
 ยินดีที่มาเจอคนรู้จักของคุณลุงถนัด และคุณบัว ในเว็บนี้

ดิฉันเป็นหลานสาวของคุณถนัด นาวานุเคราะห์ ค่ะ  
ส่วนคุณบัว ก็รู้จักกันสมัยท่านทำงานที่หอวชิราวุธานุสรณ์

ดิฉันมีหนังสือทะเบียฬนามสกุล  กำลังรอเล่มปรับปรุงแก้ไข
เสร็จเมื่อไรช่วยบอกด้วยนะคะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 มิ.ย. 05, 22:43
 ยินดีด้วยครับที่มาพบคุ้นเคย  
ถ้าเป็นหลานคุณถนัดและรู้จักคุณบัว  ก็คงจะรู้จักผมเหมือนกัน  เพราะผมก็เป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธรุ่นเด็กที่ได้เคยสนองพระเดชพระคุณในหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิฯ ร.๖ มเป็นเวลาถึง ๙ ปี  ก่อนที่จะกราบถวายบังคมลาเพราะเหตุผลบางประการ  ผมคุ้นเคยและสนิทสนมรวมทั้งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้สืบทอดภารกิจต่อจากท่านผู้อาวุโสเหล่านั้นมาครับ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 05, 14:24
 ราชสกุลบางราชสกุล ไม่มีหม่อมเจ้าชายสืบต่อ    ก็หมดผู้ใช้ไปแล้วในปัจจุบัน
ที่ค้นพบอยู่ราชสกุลหนึ่ง คือสุธารส ณ อยุธยา
สืบมาจากพระองค์เจ้าสุธารส   พระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
ทรงมีพระธิดาองค์เดียว คือหม่อมเจ้าหญิงเว็น

นอกจากนี้ ราชสกุล ยุคนธรานนท์  ณ อยุธยา สืบจากพระองค์เจ้ายุคุนธร ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เช่นกัน
อาจจะไม่มีผู้สืบสกุลแล้ว เพราะพระองค์เจ้ายุคุนธร มีพระธิดา ๔ องค์
พระโอรส ๒  สิ้นชีพิตักษัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์หนึ่งองค์  อีกองค์หนึ่งคือหม่อมเจ้าเทพไทย ก็สิ้นชีพิตักษัยเมื่อพระชนม์แค่ ๒๑

และอีกราชสกุลหนึ่งที่น่าจะหมดผู้สืบสกุลแล้ว คือพรหเมศ ณ อยุธยา  สืบจากพระองค์เจ้าพรหเมศ  พระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 21 มิ.ย. 05, 19:21
 ขออนุญาตเรียนถามครูเทาชมพูเรื่องราชสกุล "งอนรถ" ครับ
เคยได้ยินว่าหม่อมในสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ คือ  หม่อมราชวงศ์หญิง โต งอนรถ แต่ผมก็ทราบแค่นั้นอ่ะครับ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 05, 07:00
พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้างอนรถ    เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีโอรสองค์เดียวคือหม่อมเจ้าชายแดง ซึ่งสิ้นชีพิตักษัยในรัชกาลที่ 6 ค่ะ
หม่อมราชวงศ์หญิงโต   เป็นธิดาของหม่อมเจ้าชายแดง
ราชสกุลงอนรถ ยังมีผู้สืบสกุลมาจนถึงปัจจุบัน  เท่าที่นึกออกคือ ม.ล. จุลลา งอนรถ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 05, 07:10
 สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ ม.ร.ว.โต งอนรถ ธิดาหม่อมเจ้าแดง งอนรถ มีพระโอรสธิดาประสูติด้วย ๖ พระองค์
คือ
ม.จ.สาม
ม.จ.ประโลมจิตร ( ไชยันต์)
ม.จ.ดวงจิตร
ม.จ.ยาใจ
ม.จ.เพลารถ
ม.จ.กรณิกา

ม.จ.ยาใจ จิตรพงศ์  ทรงเคยเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: durham ที่ 21 ส.ค. 05, 19:17
 ผมเป็นสมาชิกใหม่ ได้อ่านบทความแล้วประทับใจมากครับ ขอชื่นชมคุณเทาชมพูอย่างยิ่งครับ
ผมสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ในหลายๆ แขนงครับ
เรียนถามคุณเทาชมพูเกี่ยวกับ ตระกูล " ศักดิเดช ภานุพันธุ" ไม่แน่ใจว่าเขียนถูกหรือไม่    ทราบจากบางบทความว่า พ่อของคุณปอ ศีกัญญา เป็น ม.ร.ว  สงสัยว่าทำไม คุณปอ ไม่ได้ ม.ล.
และสกุลนี้มีที่มาอย่างไรครับ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 05, 20:21
 เชิญอ่านเกี่ยวกับ ราชสกุล ศักดิเดชน์ ภานณุพันธ์  ได้ที่กระทู้ เจ้าชายนักบิน ค่ะ
ส่วนคุณศีกัญญา ไม่แน่ใจว่าเธออยากให้คนภายนอกรู้เรื่องส่วนตัวในครอบครัวของเธอหรือเปล่า


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: หม่อมจุมพฏเพ็ชรกล้า ที่ 22 ส.ค. 05, 19:46
 ผมพอจะรู้เรื่องที่มาของชื่อ หม่อมเจ้าเพลารถ อยู่บ้าง ส่วนใหญ่พระโอรสในกระยานริศฯจะมพระนามว่าใจ ส่วนพระธิดาจะมีพระนามว่าจิตร แต่หม่อมเจ้าเพลารถนั้นตอนแรกต้องการให้สืบเชื้อสาย งอนรถ ไปเป็นบุตรบุญธรรม แต่ปรากฏว่าหม่อมราชวงศ์คนนั้นมีโอรสแล้ว จึงไม่ได้รับเป้นบุตรบุญธรรม แต่กระพระยานริศฯก็ตั้งพระนามว่า เพลารถ หม่อมเจ้าเพลารถเป็นบิดาของหม่อมราชวงศ์จักรรถ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 02 ก.ย. 05, 19:07
 มีใครคุ้นชื่อราชสกุล โศภางค์ ณ อยุธยาและศรีธวัช ณ อยุธยาหรือไม่ปัจจุบันยังมีทายาทหรือไม่ครับ แต่เท่าที่ผมทราบก็พอรู้ได้ว่า
1. โศภางค์ ณ อยุธยา ใช้กับผู้สืบสกุลมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ (ผมไม่แน่ใจว่าว่านอกจากในหนังสือนิทานโบราณคดีแล้ว จะมีการกล่าวพระประวัติของพระองค์อีกหรือเปล่า )
2. ศรีธวัช ณ อยุธยา ใช้กับผู้สืบสกุลมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสิทธสังกาศ
ทั้งสองพระองค์เป็นพระโอรสในรัชกาลที่ ๔ ครับ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 05, 19:25
 มีลูกหลานสืบมาถึงปัจจุบัน ทั้งสองราชสกุลค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 11 ก.ย. 05, 09:53
 ขอบพระคุณ อ.เทาชมพูมากครับ
ขอแก้ไขครับ กรมขุนสิทธสังกาศ แก้เป็นกรมขุนสิริธัชสังกาศ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: หม่อมจุมพฏเพ็ชรกล้า ที่ 11 ก.ย. 05, 18:14
 ราชสกุล ทัพพะกุล มีผู้สืบสายรึเปล่าครับ เพราะอ่านมาเห็นมีแต่หม่อมเจ้าหญิง


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 13 ก.ย. 05, 23:24
 ใครอยากทราบประวัติพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ที่ถือว่าละเอียดลออที่สุด (เพราะยังไม่ค่อยมีผู้เรียบเรียงมากขนาดนี้) ดูได้ที่นิทานโบราณคดี พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องตั้งโรงพยาบาลครับ
ป.ล. อยากทราบพระประวัติหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ สุประดิษฐครับ (ตอบที่กระทู้ราชสกุลก็ได้) เพราะทราบแต่เพียงว่าพระองค์ทรงใช้ทรัพย์สินส่วนพระองค์ซื้อหนังสือหอหลวงหลายฉบับเมื่อคราวหนังสือหอหลวงที่วังกรมหลวงบดินทรฯ กระจัดกระจายครับ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 05, 15:21
 ราชสกุล ทัพพะกุล  มีลูกหลานสืบเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบันนี้  หลายคนด้วยกัน
เป็นชั้นนายและนางสาว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ หม่อมหลวงพูน  กรมบัญชาการมหาดเล็ก  สำหรับผู้สืบสายสกุลลงมาจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๓ พระองค์เจ้าทับ กรมหมื่นจิตร์ภักดี

แต่ท่านปู่ของหม่อมหลวงพูน ซึ่งต้องเป็นหม่อมเจ้าโอรสในกรมหมื่นจิตร์ภักดี  มีพระนามว่าอะไร ไม่ทราบเหมือนกัน  
อาจจะเป็นได้ว่า หนังสือ"พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี " พิมพ์พระนามตกหล่นไป หรือพิมพ์ผิดว่าเป็นหม่อมเจ้าหญิง ก็เป็นได้


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 14 ก.ย. 05, 15:34
เท่าที่ผมทราบ มีอาจารย์ชายเป็นหัวหน้าหมวดวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ชื่ออาจารย์สถาพร ทัพพะกุล ณ อยุธยา ครับ
และท่านมีลูกชายอยู่ 1 คนด้วย


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: อานุภาพ ที่ 15 ก.ย. 05, 16:14
 ในที่สุดผมก็พบทางสว่างเสียที  ดีใจจริงๆที่ เปิดเนตไปมาแล้วมาเจอคุณเทาชมพู  จะได้เป็นที่พึ่งคลายข้อสงสัยของผมเสียทีครับ

ผมอยากทราบว่า คุณอานันท์ทวีป  ชบางกูร  เธอมีสิทธิ์ใช้ ณ อยุธยาหรือเปล่าครับ  ผมพอทราบว่า การสืบราชสกุลของไทยจะต้องมาจากผู้ชายเท่านั้น เช่นเดียวกับการใช้ ณ อยุธยา  รบกวนพี่เทาชมพู ตอบให้หายสงสัยนะครับ  

เพราะเคยถามใครก็ไม่มีใครตอบได้  อีกอย่างถ้าเขาไม่มีสิทธิ์ใช้ ทำไมไม่มีใครทักท้วง หรือตักเตือนเธอ กลับปล่อยให้มีการใช้ผิดๆแบบนี้  ผมเคยถามคนอื่นเขาก็บอกว่า เรื่องของชาวบ้านอ่ะครับ  แต่ผมอยากให้มีความถูกต้อง  ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ย. 05, 17:19
 ขอตอบแบบนี้ดีกว่าค่ะ
นายหรือนางสาวที่มีสิทธิ์ใช้ราชสกุลเป็นนามสกุลของตน     โดยที่บิดาไม่ใช่ผู้สืบสายจากราชสกุลนั้น  
ต้องใช้ราชสกุล โดยไม่มี ณ อยุธยา  ต่อท้าย


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: อิศรศักดิ์ ที่ 03 พ.ย. 05, 17:00
 อยากทราบประวัติของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ และลูกหลานที่สืบสายราชสกุลอิศรศักดิ์ ค่ะ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 03 พ.ย. 05, 18:26
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Pid=26748

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เลาะวัง (คุณจุลลดา ภักดีฯ) หรือ
 http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=3305&stissueid=2608&stcolcatid=2&stauthorid=13

เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสพระองค์เดียว ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพที่ประสูติ
แต่พระอัครชายา พระองค์เจ้าดาราวดี (พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๑).. ถนนเจ้าฟ้า.. ตั้งชื่อเป็นพระเกียรติยศ
เพราะเป็นที่ตั้งวังของพระองค์ (ตรงกรมข่าวทหารบกปัจจุบัน)


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: อิศรศักดิ์ ที่ 11 พ.ย. 05, 18:04
 ขอบคุณ คุณ Nuchan มากค่ะ สำหรับข้อมูลของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ แต่อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้ เช่น ชายา คือใคร และมีโอรส ธิดา กี่องค์ พอจะแนะนำได้ไหมคะว่าจะไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่ไหน


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: หม่อมจุมพฏเพ็ชรกล้า ที่ 11 พ.ย. 05, 23:41
 เจ้าฟ้าอิศราพงศ์มีโอรสธิดา๒๖พระองค์ดังนี้
มจหญิงตะเภา
มจหญิงจ้อย
มจหญิงแดง
มจหญิงจริต
มจกบ
มจหญิงอึ่ง
มจหญิงดำ
มจหญิงปุก
มจหญิงนกกระจาบ
มจหญิงเล็ก
มจทั่ง
มจถึก
มจเขม
มจพุก
มจหอบ
มจตุ้ย
มจเปียก
มจหญิงปนปรุง
มจโศภณ
มจหญิงกาษร
มจราเชนทร์
มจบันลังก์
มจต่อม
มจหญิงเลื่อน
มจหญิงเจียน
มจหญิงแฉ่ง


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: ทามะ ที่ 25 ส.ค. 06, 20:18
 ขอขอบคุณท่านอาจารย์เทาชมพูและท่านวีมีมากที่ให้ความรู้ผมมากๆคับทำให้ผมได้รับความรู้ความเข้าใจขึ้นอีกมากๆคับ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: mamarine ที่ 22 ต.ค. 06, 01:21
 ตอบความเห็นที่ 34
นามสกุล "ทิพยมงคล" เป็นราชทินนามค่ะ  สืบเชื้อสายมาจากข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช  ตำแหน่งอาลักษณ์  เชื้อสายจีน  ปัจจุบันนี้เชื้อสายทิพยมงคลไม่ค่อยแพร่ขยายไปนอกจังหวัดนครศรีธรรมราช  สุราษฎร์ธานี  และตรังสักเท่าไหร่  

ต้นตระกูลคือ  ท่าขุนทิพย์ฯ
แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่นับถือที่สุดคือท่านขุนประจักษ์รันตกิจบุตรคนหัวปีของท่านขุนทิพย์

จาก  ทิพยมงคลสายตรง


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: su ที่ 29 มิ.ย. 07, 10:37
ตอบคุณกระทู้58 ประวัติขุนทิพย์ไกลาศ (ต้นนามสกุล ทิพยมงคล  )
   ประวัติขุนทิพย์ชื่อเติมคือขุนทิพย์ไกรลาศเป็นอาลักษณ์(นายอำเภอ)เมืองนครศรีธรรมราชแต่งงานกับคุณทวดหนูพันธ์ซึ่งเป็นหม้ายมีลูกติด 1 คนคือคุณทวดขุ้ม( เป็นมารดาของคุณอังคาร  กัลยาณพงษ์ กวีซีไรท์ )  ขุนทิพย์ไกรลาศมีบุตรทั้งสิ้น 5คน คือ1.คุณทวดอบ ( มีบุตรสาวชื่อคุณช้อยต่อมาแต่งงานกับขุนบวร  บวรรัตนรักษ์ ) 2.คุณทวดโต 
3.คุณทวดไข่นุ้ย 4.คุณทวดขุนประจักษ์รัตนกิจ (ซึ่งมีชื่อเสียงในเมืองนครศรีธรรมราช) 5.คุณทวดแอบ
   **คุณทวดขุนประจักษ์แต่งงานครั้งแรกมีบุตร 2 คน คือ 1 คุณยายส้อง ( ต่อมาใช้นามสกุลปักปิ่นเพชร) 2.คุณตาสุ้น
คุณทวดขุนประจักษ์แต่งงานครั้งที่ 2 มีบุตร 2 คน คือคุณตาสุพจน์ และคุณตาสนิท ( แต่งงานกับบุตรสาวของขุนบวร  บวรรัตนรักษ์)
  **ดังนั้นท้งนามสกุล ทิพยมงคล และ นามสกุล บวรรัตนรักษ์ รวมทั้งนามสกุล กัลยาณพงษ์ จึงเกี่ยวโยงกันจะทราบเฉพาะลูกหลานในเมืองนครไม่มากนัก  หลานทวดขุนทิพย์ไกรลาศเล่าให้ฟังค่ะ

                                                                เหลนขุนทิพย์ไกรลาศ


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 01 ก.ค. 07, 01:03
   ราชสกุลในรัชกาลที่ ๓
๑.ศิริวงศ์
๒.โกเมน
๓.คเนจร
๔.งอนรถ
๕.ลดาวัลย์
๖.ชุมสาย
๗.ปิยากร
๘.อุไรพงศ์
๙.อรรณพ
๑๐.ลำยอง
๑๑.สุบรรณ
๑๒.สิงหรา
๑๓.ชมพูนุท

ลำดับราชสกุลวงศ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  ดูได้จากลิงค์นี้ครับ............. :)
http://img162.imageshack.us/img162/1965/15wu1.jpg


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: caeruleus ที่ 27 ก.ค. 07, 05:47
ขอบคุณคุณ SU มากๆเลยค่ะที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับทั้งทางบวรรัตนารักษ์และทิพยมงคลให้

คุณแม่ดิฉันเองก็ไม่ค่อยเล่าเรื่องราวเก่าๆให้ฟัง อาจเป็นเพราะกลัวดิฉันจะเบื่อ พอโตขึ้นมา่ก็อยู่ห่างกันมาก เลยไม่
เจอกันมากไปอีก

คุณยายของดิฉันคือคุณยายสงบค่ะ ท่านถึงแก่กรรมประมาณ 15ปีที่แล้ว  คุณแม่เป็นลูกคนเล็ก


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: su ที่ 15 ส.ค. 07, 15:57
ตอบคุณcaeruleus

            ดีใจค่ะที่หลานคุณยายสงบ -คุณตาสนิท ได้อ่านเจอประวัติ ทิพยมงคล ของตนเองซึ่งน้องๆรุ่นหลังจะไม่ทราบแล้วพี่ยังทันได้พบคุณยายสงบสมัยพี่ยังเด็ก แต่เท่าที่รู้จักลูกของคุณยายสงบก็จะมีแต่น้าเล็ก (คุณวิจักษ์  ทิพยมงคล )คุยกับพี่ได้ที่ SU_BUASORN@YAHOO.CA


กระทู้: ราชสกุลบางราชสกุล (ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกัน)
เริ่มกระทู้โดย: caeruleus ที่ 23 ส.ค. 07, 03:30
ลุงเล็กเป็นลูกคนที่3 ของคุณตากับคุณยายค่ะ ถึงแก่กรรมเมื่อปลายปีที่แล้ว
มีลูกสาว 2 คน คือน้องอร-อรนุช กับน้องหยก-ศิริพร

ดิฉันเองค่อนข้างจะสนิทกับอร เพราะโตมาด้วยกัน อรอายุอ่อนกว่าน้องสาวคนเล็กไม่ถึงปี แม่ๆป้าๆก็เลยส่งให้เรียนประถมที่เดียวกันให้หมด

หยกนี่ห่างจากพี่ๆมาก เกิดไม่กี่ปีดิฉันก็มาอังกฤษ เลยพบกันไม่บ่อย

พิมพ์ไปพิมพ์มา เลยหัวข้อกระทู้มาตั้งไกล แถมยังแปลงห้องเรือนไทยก็จะกลายเป็นห้องรวมญาติไปเสียแล้ว ไว้เดี๋ยวเมล์ไปหานะคะ เกรงใจคุณเทาชมพู :-[