เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 11, 09:00



กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 11, 09:00

รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์
(ว.วินิจฉัยกุล)
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2547

   หมายเหตุ   รับเชิญจากมูลนิธิ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปบรรยาย ณ บ้านซอยสวนพลู ในวันพุธที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔  กล่าวถึง ความเป็นนักประพันธ์จากผลงานวรรณกรรมของ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  เนื่องในงานเฉลิมฉลอง ครบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล    ในวาระที่ท่านได้รับการประกาศยกย่องจาก UNESCO (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔


    ผลงานเรื่องแรกของพลตรีม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชที่ดิฉันได้อ่านเมื่ออายุประมาณ ๑๐ ขวบ  คือรวมเรื่องสั้น เพื่อนนอน ฉบับแรก  ยังไม่มีฉบับสมบูรณ์ในตอนนั้น   ที่ได้อ่านเพราะคุณพ่อคุณแม่ดิฉันเป็นแฟนหนังสืออย่างเหนียวแน่นของพลตรีม.ร.ว.คึกฤทธิ์ด้วยกันทั้งคู่   ตู้หนังสือในบ้านจึงเปิดกว้างสำหรับลูก  พ่อแม่อ่านอะไร ลูกก็ได้อ่านอย่างนั้น   ดิฉันได้อ่านงานของท่านตั้งแต่ยังไม่รู้ประสีประสา   อ่านเรื่อง กบกายสิทธิ์ ในเพื่อนนอนก็เข้าใจว่าเป็นเทพนิยาย   อ่านเรื่องแผ่นดินมหัศจรรย์ และเกาะร้างทางรัก ก็นึกว่าเป็นนิทาน  อ่านเรื่องมอม ก็นึกว่าเรื่องจริง  ร้องไห้เป็นห่วงมอมเป็นวรรคเป็นเวร   อยากจะเอาข้าวไปให้มอมกินในตอนจบของเรื่อง เพราะนายตกงาน ไม่มีสตางค์ซื้อข้าวให้   สรุปว่าตัวหนังสือของท่านก็มีเสน่ห์ จับใจได้แม้แต่กับเด็กอายุ ๑๐ ขวบ     ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ยื่นหนังสือให้อ่าน  ถ้าเห็นชื่อ คึกฤทธิ์ ปราโมชอยู่บนปก   ดิฉันอ่านหมด ไม่เคยเกี่ยงงอนเลย 
   จากนั้นไม่นานนักก็ได้อ่าน “สี่แผ่นดิน” ในห้องสมุดโรงเรียน  ประทับใจในแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ ราวกับว่าหนังสือเล่มนี้คือหนังสือวิเศษ เป็นประตูเปิดเข้าไปสู่มิติในอดีตที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน  แต่สัมผัสได้ทุกย่างก้าวตั้งแต่ประตูวัง  แล้วติดตามแม่พลอยเข้าไปถึงตำหนักจนแม่พลอยทูลลาเสด็จออกมาสมรสกับคุณเปรม


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 11, 09:01
       พรสวรรค์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ยากจะหานักประพันธ์อื่นเปรียบได้ คือท่านสามารถพาคนอ่านเดินเข้าไปอยู่ในนวนิยายของท่านเหมือนมีโลกนั้นอยู่ในความเป็นจริง     ท่านสามารถปลุกเสกตัวละครขึ้นมาจากตัวอักษร   ให้หายใจ มีชีวิตและเลือดเนื้อได้อย่างคนจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงคำบรรยายในหน้ากระดาษ  จึงไม่แปลกที่คนอ่านต่างก็รู้สึกคุ้นเคยกับแม่พลอยผู้งามพร้อมทั้งกายและใจ    ช้อยสาวชาววังผู้ฉลาดเฉลียวเจ้าคารม    เสด็จเจ้านายผู้ทรงทั้งพระเดชและพระคุณ   คุณเปรมผู้ดำรงชีวิตแบบหนุ่มลูกผู้ดีชายไทยสมัยรัชกาลที่ ๕  และลูกๆทั้งสี่คน    แต่ตัวละครของพลตรีม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะชนชั้นสูงในสังคม    ชาวบ้านอย่างไอ้ลอย พระเสม  โนรี ทองโปรย เจ้าผลพระเอกและคนอื่นๆที่โดยสารเรือมาพบจุดจบพร้อมกันในเรื่อง “หลายชีวิต” ก็สะท้อนชีวิตชาวบ้านภาคกลางให้เห็นได้แจ่มแจ้ง  ราวกับพวกเขาเป็นเพื่อนฝูงคนรู้จักมาแต่เก่าก่อน   

        พรสวรรค์อีกประการหนึ่งทางด้านวรรณกรรมของพลตรีม.ร.ว. คึกฤทธิ์ คือความสามารถด้านภาษา ในระดับที่เรียกว่า เป็น “นายของภาษา” ท่านสามารถหยิบยกคำในภาษาไทยมาใช้ให้เห็นเอกลักษณ์ของสังคมที่ท่านบรรยายถึง ได้อย่างถึงแก่น   เมื่อพูดถึงข้อนี้ก็ต้องบอกว่า มีใครอื่นที่ไหนสามารถดึงภาษาชาววังสมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นมาให้คนอ่านเห็นวัฒนธรรมทางภาษาอย่างแจ่มแจ้ง  แค่ประโยคสั้นๆว่า “เสด็จให้มาทูลเสด็จว่าจะเสด็จหรือไม่เสด็จ     ถ้าเสด็จจะเสด็จ  เสด็จจะเสด็จด้วย”


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 28 เม.ย. 11, 09:49
แค่ประโยคสั้นๆว่า “เสด็จให้มาทูลเสด็จว่าจะเสด็จหรือไม่เสด็จ     ถ้าเสด็จจะเสด็จ  เสด็จจะเสด็จด้วย”

เห็นด้วยครับ วรรณกรรมของหม่อมคึกฤทธิ์ที่ผมอ่านเรื่องแรกเห็นจะเป็น "ไผ่แดง" ออกไปทางการเมืองสักหน่อย อายุราว ๑๒-๑๓ ก็อ่านเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ตามด้วยเจ้ามอม ซึ่งบรรจุในวิชาภาษาไทย และตามด้วย ซูสีไทเฮา, สี่แผ่นดิน, โครงกระดูกในตู้ และพม่าเสียเมือง

สำหรับประโยคคลาสสิกในเรื่องสี่แผ่นดิน “เสด็จให้มาทูลเสด็จว่าจะเสด็จหรือไม่เสด็จ     ถ้าเสด็จจะเสด็จ  เสด็จจะเสด็จด้วย” นั้นเคยประสบเจอด้วยกันหลายครั้ง

๑. อ่านเจอในสี่แผ่นดิน
๒. เป็นข้อสอบเอ็นทราส์เลยครับ จำได้แม่น ถามว่าในประโยคนี้ มีคำว่า"เสด็จ" ที่แปลว่า "ไป" กี่คำ  ::)
๓. ในภาพยนต์จอแก้ว
๔. ในกระทู้เรือนไทย   ;D


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 28 เม.ย. 11, 10:03
เรื่องแรกที่ผมอ่านคือ ฮวนนั้ง ตั้งแต่อยู่ชั้นประถม ต่อด้วย หลายชีวิต
มาอ่าน สี่แผ่นดิน ตอนอยู่มัธยม มาจนตอนนี้อายุ ๕๐ ปี ผมจำไม่ได้ว่าอ่านสี่แผ่นดินจบไปกี่รอบ
แต่ทุกครั้งที่อ่านจะเกิดอารมณ์ร่วม น้ำตาไหลเมื่อตอนล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ สวรรคต น้ำตาไหลเมื่อการเมืองเข้ามาเล่นงานครอบครัวแม่พลอย


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 28 เม.ย. 11, 11:34
ท่านเป็น ปราชญ์ จริงๆ เลยค่ะ  ;D
รอบรู้รอบด้านมากเลย ที่สำคัญท่านมีอารมณ์ขันค่ะ...

เคยได้อ่านผลงานของท่าน หลายเรื่องค่ะ อ่านตั้งแต่เด็กรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง..แต่ก็ชอบอ่าน
(เป็นคนไม่ชอบอ่านเรื่องการเมืองค่ะ)
-เพื่อนนอน
-มอม
-หลายชีวิต
-น้ำพริก
-สรรพสัตว์
-สัพเพเหระ
-ฝรั่งศักดินา
-โครงกระดูกในตู้
-ไผ่แดง
-กาเหว่าที่บ้านเพลง
-สี่แผนดิน
-คนรักหมา
-เรื่องขำขัน
-.........ฯลฯ

เรื่องสุดท้ายที่อ่าน พม่าเสียเมือง ค่ะ

มารอฟัง อ.เทาชมพู เล่าเรื่อง ต่อค่ะ .... ;D


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 11, 12:06
(ต่อ)
         คำพูดแค่นี้แสดงถึงเอกลักษณ์ภาษาชาววังได้โดยไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาวกว่านี้  นอกจากนี้ ยังเป็นสำนวนเฉพาะตัวของคนไทยจริงๆ     จะแปลเป็นภาษาอื่นก็แปลไม่ได้กระชับรัดกุมและได้รสเท่านี้    เพราะจะต้องพ่วงด้วยคำอธิบายตามมาอีกยืดยาว
   
         ความเป็นนายของภาษาเห็นได้อีกหลายอย่าง   เช่น คารมในการเขียน     พลตรีม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นผู้มีอารมณ์ขันอันคมคาย     ไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก  เรื่องตึงเครียดทางการเมืองอย่างใดก็ตาม  ท่านสื่อออกมาด้วยอารมณ์ขัน  ด้วยโวหารหยิกแกมหยอก ทีเล่นทีจริง  ยั่วเย้าอย่างสุภาพโดยไม่หยาบคายหรือล่วงละเมิดในเชิงดูถูกดูแคลนผู้ที่ท่านเอ่ยถึง      บทความของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ที่ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อคอลัมน์เป็นอะไรก็ตาม  จึงมีผู้ติดตามอ่านทุกมุมเมือง    ยิ่งถ้าสถานการณ์ทางการเมืองเข้มข้น หรือเกิดปัญหายุ่งยากอย่างใดก็ตาม   คนอ่านก็จะติดตามอ่านด้วยใจระทึกว่า เรื่องนี้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีความเห็นอย่างไร ในทำนองไหน    มีนับครั้งไม่ถ้วนที่ท่านเป็นผู้ชี้ขาดปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่กำลังร้อนระอุคุกรุ่นอยู่ในช่วงนั้น     ผลก็คือ ความร้อนที่ทำท่าว่าจะลุกเป็นไฟขึ้นมา ก็สงบลงเหลือเพียงควันกรุ่นๆ ก่อนจะดับหายไปในเวลาไม่นานนัก


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 11, 17:20
        ความเป็นนายของภาษาประการสุดท้ายที่จะกล่าวถึงก็คือ  ท่านเป็นผู้เขียนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย  อ่านเข้าใจชัดเจน  ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่ชำนาญภาษาโดยแท้จริง  เพราะการเขียนเรื่องยากให้อ่านง่ายนั้น ทำได้ยากกว่าเขียนเรื่องง่ายให้อ่านยาก      เนื่องจากคนที่ไม่ชำนาญทางภาษา  จะทำได้เพียงเขียนให้ตัวเองเข้าใจอยู่ฝ่ายเดียว    ไม่สามารถดูออกว่าสิ่งที่เขาสื่อสารนั้นคนอ่านเข้าใจได้หรือไม่         
       ดังนั้นเมื่อพวกนี้เขียนเรื่องง่าย คนอ่านก็เข้าใจยาก  ยิ่งถ้าเขียนเรื่องยาก คนอ่านก็จะยิ่งเข้าใจยากหนักเข้าไปอีก  ผิดกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่สามารถสื่อเรื่องยากๆเช่นเรื่องประวัติศาสตร์และสังคมของต่างประเทศ   ไม่ว่า ถกเขมร   พม่าเสียเมือง  ฝรั่งศักดินา  ยิว หรือฉากญี่ปุ่น ได้ออกมาเป็นเรื่องสนุกด้วยภาษาที่อ่านง่ายชัดเจน โดยยังคงสาระไว้ครบถ้วย    เพราะท่านชำนาญภาษาพอจะดูออกว่าควรสื่อสารด้วยถ้อยคำอย่างใด  จึงจะสื่อความหมายที่ต้องการให้ผู้คนที่หลากหลายทั้งเพศ วัย และพื้นฐานการศึกษาได้เข้าใจกันทั่วหน้า
       วิธีของท่านคือเขียนด้วยภาษาที่ง่ายและชัดเจน   แต่ก็ไม่ใช่ง่ายอย่างภาษาของเด็ก   แต่มีความลึกอยู่ในความคิดและจินตนาการที่แฝงมาในภาษา   อย่างตอนหนึ่งจากเรื่อง ถกเขมร   ท่านพูดถึงนครวัด ว่า

        "...คิดดูแล้วก็เห็นว่าเกินกำลังดันทางศิลปะ เกินศรัทธา และเกินความฝันของมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างอันใหญ่หลวงนี้ขึ้นมา ได้ด้วยกำลังแขนกำลังขาและด้วยเครื่องมือเพียงง่ายๆตามแบบโบราณภายในเวลา เพียง 30 ปีเท่านั้น สิ่งเดียวที่ก่อกำเนิดและเร่งรัดการก่อสร้างนี้ไปจนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง ขึ้นมาได้ ก็คือ อำนาจ อำนาจที่เห็นแก่ตัว จะเคลิ้มฝันเห็นตัวเองเป็นเทวราชผู้ครองโลก อำนาจที่กดขี่บังคับและทารุณแก่มนุษย์อื่นๆ โดยมิได้เห็นราคาและมิได้เห็นว่าเป็นมนุษย์ด้วยกัน ถ้าหากว่าเหงื่อและน้ำตาตลอดจนชีวิตของมนุษย์ที่ถูกเกณฑ์เอามาสร้างนครวัด นี้ สามารถจะตักตวงเอาไว้ได้ เหงื่อ น้ำตา และชีวิตนั้น ก็คงจะท่วมท้นคูที่ล้อมรอบนครวัดนั้นอยู่ เสียงลมที่พัดเข้ามาทางช่องทวารศิลาและแล่นไปตามระเบียงมืด ดังเหมือนเสียงสะท้อนของเสียงโหยหวนด้วยความเจ็บปวดเมื่อพันปีมาแล้ว และเสียงค้างคาวกระพือปีกและเสียงค้างคาวร้อง ฟังดูเหมือนเสียงคนกระซิบกระซาบ  ปรับทุกข์กันด้วยความเหนื่อยอ่อนและเมื่อยล้า..."


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 เม.ย. 11, 20:32
       ดิฉันเคยถามตัวเองว่า เสน่ห์ของวรรณกรรมของพลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นอกจากเนื้อเรื่อง ภาษา และตัวละครแล้ว ในข้อเขียนต่างๆ ซึ่งไม่มีการสร้างสรรค์เรื่องราวตัวละคร  ยังมีคุณสมบัติอย่างใดอีก ที่ทำให้เป็นที่ติดอกติดใจของคนอ่านไม่น้อยกว่ากัน    ในที่สุดก็ได้คำตอบว่า   เป็นวิธีเขียนโดยใช้ตรรกะ ซึ่งมีอยู่อย่างสม่ำเสมอในคอลัมน์หรือสารคดีของท่าน
        พลตรีม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ไม่กล่าวถึงสิ่งใดลอยๆ  โดยปราศจากเหตุผลที่มารองรับ     เรื่องของท่านตั้งแต่วิธีทำน้ำพริกไปจนเรื่องประวัติศาสตร์ยุโรป  ล้วนแล้วแต่มีคำอธิบายที่มาที่ไปรองรับความคิดเห็นของท่านทั้งสิ้น      โดยมากก็เป็นเกร็ดความรู้ต่างๆทั้งของไทยและตะวันตก ที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ หรือรู้แต่มองข้ามไป   
       เมื่อท่านนำมาอธิบายร้อยเรียงเข้าด้วยกัน  ก็ทำให้ความคิดเห็นของท่านมีน้ำหนักควรแก่การเชื่อถือ      ถ้าหากว่าจะมีคนหักล้าง ก็ต้องไปหักล้างที่เกร็ดความรู้นั้น   ไม่ใช่แย้งความคิดเห็นของท่านขึ้นมาเฉยๆ    ในเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เท่าท่าน  หรืออาจรู้มากพอกัน แต่เขียนแบบท่านไม่เป็น ก็หักล้างไม่สำเร็จ   จึงทำให้ข้อเขียนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์โดดเด่นเป็นที่น่าเชื่อถือมาโดยตลอด
     
        ขอยกตัวอย่าง เกร็ดเล็กๆ ที่ท่านเปรียบเทียบดนตรีไทยเดิมกับดนตรีคลาสสิคของฝรั่ง สักเรื่องหนึ่ง
        แต่ดนตรีฝรั่งกับไทยมีแปลกกัน อย่างหน้ามือเป็นหลังมือในหลักการ เพราะดนตรีฝรั่งนั้นเป็นเครื่องปลุกให้ตื่น แต่ดนตรีไทยนั้นมีวัตถุประสงค์จะทำให้หลับ ฉะนั้นในดนตรีไทยจึงมีการเล่นตอนใดตอนหนึ่งซ้ำอยู่ในระดับเดียวกันเสมอ และใช้จังหวะเท่ากันหมด เกิดภวังค์หลับได้เป็นอย่างดี
         ในพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดินไทย ตามกฎมณเทียรบาลนั้นจะเห็นได้ว่า “เบิกเสภาดนตรี” เข้ามาเป็นสิ่งสุดท้ายของวัน คือตอนที่จะเข้าที่พระบรรทม เพราะดนตรีเป็นเครื่องทำให้หลับดังกล่าวแล้ว พระอภัยมณีผู้เป่าปี่ได้เป็นยอดเยี่ยมตามความคิดเห็นของคนไทยนั้น ก็เพราะว่าเป่าทีไร ผู้ได้ฟังเป็นต้องหลับ
        ถ้านักดนตรีฝรั่งคนใดมาเป่าปี่ให้เราฟังแล้วเราหลับไป แกเป็นโกรธขนาดไม่ดูผีกันเป็นแน่


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 09:26
        นอกจากเขียนนวนิยาย สารคดี บทความ บทละคร  แล้ว พลตรีม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังเป็นกวีอีกด้วย    บทกวีของท่านแม้ว่ามีจำนวนน้อย   ออกมาในรูปของสักวาบ้าง กลอนตอบโต้กับคนอ่านบ้าง    แต่ก็เป็นบทกวีที่จับใจ   ดังบทที่ท่านพูดถึงตัวเองไว้ว่า

เมื่อโลกนี้ไม่มีคนชื่อคึกฤทธิ์                 มันจะผิดแปลกไปที่ไหนนั่น
ทิวาวารยังจะแจ้งแสงตะวัน               ยามราตรีมีพระจันทร์กระจ่างตา
ไก่ยังจะขานขับรับอุทัย                     ฝนจะพร่ำ ร่ำไปในพรรษา
คลื่นยังกระทบฝั่งไม่สร่างซา                   สกุณา ยังร้องระงมไพรฯ
ลมจะพัดชายเขาเหมือนเก่าก่อน                  เข้าหน้าร้อนไม้จะออกดอกไสว
ถึงหน้าหนาวหนุ่มสาวจะเร้าใจ                  ให้ฝันใฝ่ในสวาสดิ์ไม่คลาดคลา
ประเวณีจะคงอยู่คู่ฟ้าดิน                     ไม่สุดสิ้นในความเสน่หา
คนที่รักคึกฤทธิ์อย่าคิดระอา                           เพียงนึกถึงก็จะมาอยู่ข้างกาย
คอยเข้าปลอบประโลมในยามทุกข์                        เมื่อมีสุขก็จะร่วมอารมณ์หมาย
เมื่อรักแล้วไหนจะขาดสวาสดิ์วาย                        ถึงตัวตายใจยังชิดมวลมิตรเอย."


   นี่ก็คือวิธีเขียนตามแบบของท่าน     เมื่อรู้ว่าวันหนึ่ง วันเวลาของท่านในชีวิตย่อมจะสิ้นสุดลงตามวิถีของปุถุชน     ท่านก็ยังหาตรรกะมารองรับได้ ว่าเหตุใดผู้ที่รักท่านจึงไม่ควรเสียใจ     หากแต่ควรปล่อยวางและยอมรับการเกิดแก่เจ็บตายว่าเป็นของธรรมดามนุษย์   และทิ้งท้ายด้วยคำปลอบประโลมที่อ่อนหวานฉันมิตร   เพื่อมิให้เศร้าโศกจนเกินไป


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 09:28
          หากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สามารถล่วงรู้ได้ด้วยญาณวิถีอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าบัดนี้ ผู้ที่รักท่านได้มาชุมนุมกันอีกครั้ง เพื่อเป็นการคารวะและฉลองเกียรติยศของท่านในวาระที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ท่านเป็นบุคคลดีเด่นของโลก  ตามที่ท่านสมควรได้รับเป็นอย่างยิ่ง    ท่านก็คงจะยินดีในมุทิตาจิตที่ได้รับ
   ดิฉันขอส่งท้ายด้วยกลอน ที่ตอบกลอนของท่านข้างบนนี้    จากใจของผู้อ่านคนหนึ่งที่อ่านงานของท่านมายาวนานหลายสิบปี ด้วยความคารวะและชื่นชมในอัจฉริยภาพของท่านอย่างไม่เสื่อมคลาย

          เมื่อโลกนี้ไม่มีคนชื่อคึกฤทธิ์               มันก็ผิดแปลกไปไม่เหมือนก่อน
          แม้ตะวันร้อนแรงแสงไม่รอน              พระจันทรกระจ่างตายามราตรี
          แต่หลายอย่างต่างไปไม่แลเห็น      ขาดนักปราชญ์ดีเด่นเป็นศักดิ์ศรี
          ขาดเสาหลักประชาธิปไตยหาไม่มี      หนึ่งร้อยปีจะมีถึงเพียงหนึ่งคน
          ยามใดที่บ้านเมืองมีเรื่องร้อน      ประชากรทั่วถ้วนล้วนสับสน
          ท่านช่วยชี้หนทางหว่างสกล      ให้ดั้นด้นไปรอดจนปลอดภัย   
          คมปากกาคึกฤทธิ์คิดคำลึก         ปลุกสำนึกชอบผิดคิดกันได้
          ด้วยคารมคมคำล้ำกว่าใคร         ปัญหาใหญ่เท่าใดกลายเป็นเบา
          สิ้นท่าน สิ้นศิลปะโขนธรรมศาสตร์            สิ้นมโหรีปี่พาทย์แต่ก่อนเก่า
          มาล่วงลับดับสลายไม่เห็นเงา      วงวรรณกรรมเงียบเหงาให้เศร้าใจ
          จวบจนครบร้อยปีชาตกาล         ทิวาวารก็สว่างขึ้นครั้งใหม่
          นามคึกฤทธิ์เลื่องลือระบือไกล       เกียรติคุณสว่างไสวในโลกา
          ทุกทิศาคนมากมายจึงรายล้อม      มาชุมนุมแห่ห้อมอยู่หนักหนา
          วางมาลัยร้อยรักอักษรา           ตรงแทบเท้าบูชาท่านอาจารย์
          ดังอาจารย์คึกฤทธิ์ยังชิดใกล้      รับน้ำใจพร้อมพรักสมัครสมาน
           รับเกียติยศเลื่องลือระบือนาน      รับวันทาสาธุการวันนี้เอย



กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 11, 10:08
       เอกสารที่เตรียมไว้ขึ้นเวที จบแค่นี้   เพราะวันนั้นมีแขกรับเชิญ ๕ คน  อีก ๔ ท่านคือศ.กิตติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ    รศ.สุนีย์ สินธุเดชะ หรืออาจารย์แม่ ที่พวกเรารู้จักกันในนามนี้   คุณอัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ  และคุณทองแถม นาถจำนง  แบ่งเวลาพูดกันคนละ ๒๐-๓๐ นาที
       ในกระทู้นี้มีเวลาพูดถึงงานวรรณกรรมของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้อีกยาว   ก็จะค่อยๆเล่าไป เท่าที่คิดออก

       สิ่งที่ชอบอย่างหนึ่งเมื่ออ่านวรรณกรรมของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ก็คือ  มองเห็นตัวละครเอกของท่าน แต่มองไม่เห็นตัวผู้เขียน    เพราะท่านสามารถกลืนตัวเองเข้าเป็นตัวละครเอก   จนคนอ่านไม่เห็นร่องรอยให้จับได้      เขียนถีงแม่พลอยท่านก็เป็นแม่พลอย   เขียนถึงสมภารกร่าง ท่านก็เป็นสมภารกร่าง   เขียนถึงเจ้าลอยท่านก็เป็นเจ้าลอย   เขียนถึงพระเสมก็กลายเป็นพระเสม   
       ความสามารถข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญ     เพราะไม่ใช่ว่านักเขียนทุกคนจะสามารถ "ละลาย" ตัวเองเข้าไปเป็นตัวละครได้      ส่วนใหญ่  เวลาเขียน  ก็ยังเห็นตัวนักเขียนโดดขึ้นมาจากในเรื่องอยู่ดี      โดยเฉพาะนักเขียนที่ยังไม่ชำนาญ   ไม่ว่าเขียนอะไรจะเอาตัวตนของตัวเองลงใส่ในงานเขียน  ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว       กี่เรื่องๆก็ทำอยู่อย่างนั้น     จนกระทั่งคนอ่านจับได้ว่า พระเอกหรือไม่ก็นางเอก  นี่แหละตัวตนผู้เขียนตามที่วาดภาพตัวเองเอาไว้ชัดๆ


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 11, 09:54
กล่าวไว้ตอนต้นแล้วว่า ความสามารถของม.ร.ว.คึกฤทธิ์อยู่ที่เขียนเรื่องยากให้อ่านง่าย   แต่ในความอ่านง่ายนั้นมีสาระแฝงอยู่  ไม่ใช่ว่าง่ายจนกลายเป็นหนังสือหัดอ่านสำหรับเด็กเล็ก      นอกจากนี้ ในความง่าย มีความเพลิดเพลินด้วยความรุ่มรวยอารมณ์ขัน
ตัวอย่างที่ยกมาในกระทู้นี้ คือเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์   
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเมื่อปี พ.ศ. 2488 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 14 พรรษา สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 พระชนมายุ 86 พรรษา

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์คุ้นเคยกับสมเด็จฯดีเพราะทรงเป็นพระอุปัชฌาย์     

ปกติแล้ว  เมื่อนักเขียนคนไหนเขียนถึงพระสงฆ์  ร้อยทั้งร้อยจะเล่าถึงธรรมะที่พระสงฆ์รูปนั้นเผยแพร่      ยิ่งถ้าเป็นพระมีสมณศักดิ์สูงๆ หรือมีชื่อเสียงแพร่หลาย ก็มักจะเอ่ยอย่างนอบน้อมเคารพยำเกรง    น้ำเสียงก็ระมัดระวังเอางานเอาการ   เหมือนเตือนตัวเองว่ากำลังเขียนถึงเรื่องหนักสมอง    ส่วนใหญ่คนอ่านก็อ่านด้วยความรู้สึกอย่างเดียวกัน   จึงมักจะปรากฏผลว่า อ่านไม่จบ หรืออ่านไม่เท่าไรก็ลืม  เพราะแห้งแล้งเหลือเกิน

ส่วนม.ร.ว. คึกฤทธิ์เขียนถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ด้วยน้ำเสียงตรงกันข้าม    เล่าสนุก   มีชีวิตชีวา     อ่านแล้ว สาระก็ได้ และเห็นภาพสมเด็จฯ ด้วยความเคารพเลื่อมใส   แต่มิได้ยำเกรงจนรู้สึกห่างเหินจากท่าน เหมือนเรากับท่านอยู่กันคนละโลก


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 11, 14:59
เรื่องของสมเด็จฯ เป็นเกร็ดย่อยๆหลายตอนด้วยกัน   ขอเก็บความมาเล่า ๑ ตอน ก่อน

สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  มีนามเดิมว่า ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์    ราชสกุลนี้   ชาวเรือนไทยคงจำได้ว่า สืบเนื้อสายมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประสูติตั้งแต่พระบรมชนกนาถยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎในรัชกาลที่ ๒
ตอนหนุ่มๆ  ในรัชกาลที่ ๕  ม.ร.ว. ชื่น บวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ     สอบได้เปรียญเป็นมหาชื่น   ในตอนนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรฯ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเข้มงวดกับพระมหาชื่นมาก     พระมหาชื่นทำผิดอะไรเล็กน้อย หรือสมเด็จพระสังฆราชไม่พอพระทัยขึ้นมาเมื่อไร ก็ทรงกริ้วกราดเอาแรงๆ
พระมหาชื่นเบื่อขึ้นมา  ก็เลยกราบทูลว่าจะลาสึก   สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงฟังแล้วก็นิ่ง   ไม่ได้ทรงอนุญาตหรือว่าคัดค้าน

เย็นวันหนึ่งก่อนถึงฤกษ์สึก   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จมาทรงเยี่ยมสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ที่วัดบวรนิเวศ     พระมหาชื่นไม่ได้ไปเข้าเฝ้า   คงอยู่ที่กุฏิของท่าน

(ยังมีต่อ)


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 11, 16:24
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จลงจากตำหนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ แทนที่จะเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง  ก็กลับตรงมาที่กุฏิของพระมหาชื่น      พระมหาชื่นเห็นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จมายืนอยู่หน้ากุฏิ ก็ตกใจแทบสิ้นสติ    เพราะไม่เคยเสด็จมาก่อน   
จะทูลเชิญให้เสด็จเข้ามาก็ตกประหม่าจนพูดไม่ถูก    ได้แต่นั่งรับเสด็จอยู่ในกุฏิ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รับสั่งว่า  "ได้ยินว่าคุณจะสึกหรือ?"
พระมหาชื่นก็ถวายพระพร  รับว่าเป็นความจริง
มีพระกระแสรับสั่งต่อไปว่า
"ฉันก็ไม่ว่าอะไรหรอก    แต่อยากจะบอกให้รู้ว่า คนอย่างคุณนั้น บวชเป็นพระแล้วหายาก    ถ้าสึกออกมาเป็นฆราวาสก็หาง่าย"

สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ก็เล่าให้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฟังต่อว่า
" กันก็เลยไม่สึก     ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน   ท่านต้องรู้ดีกว่าเรา ว่าอะไรหายาก อะไรหาง่าย"
" แล้วยังไง" ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทูลถาม
" กันอยากเป็นคนหายากว่ะ" สมเด็จทรงตอบ
" แล้วผ้านุ่งกับเสื้อราชปะแตนล่ะ"
" กันเลยให้พระยาสงครามน้องชายเขาไป"


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 11, 21:59
ขอแยกซอยหน่อยนะคะ

พลตรีพระยาเสนาสงคราม ( ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์  มีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทย  ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475    สนใจหาอ่านได้ในกระทู้  ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์)
คำว่า "กัน" เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๑  เหมือนคำว่า "ฉัน"  ผู้ชายสมัยก่อนใช้คำนี้เรียกตัวเอง เวลาพูดอย่างเป็นกันเองกับคนเสมอกัน หรือว่าต่ำกว่าเล็กน้อย  ไม่ได้สูงต่ำห่างไกลอย่างนายกับบ่าว

เรื่องสมเด็จฯทรงเปลี่ยนพระทัยไม่สึก ทั้งๆเตรียมผ้าม่วงเสื้อราชปะแตนไว้แล้ว   เราคงดูกันออกว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเห็นแววปราดเปรื่องของพระมหาชื่น เหนือกว่าพระหนุ่มรูปอื่นๆในวัด     เพราะพระมหาชื่นนั้นประวัติท่านงดงามหาตัวเปรียบยาก   เมื่อครั้งยังเป็นสามเณร อายุ 18 ปี  เข้าสอบไล่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2433 ก็ได้เปรียญ 5 ประโยค เลยทีเดียว  ต่อมาอีก 2 ปี  คือ พ.ศ. 2435  อายุแค่ 20  ก็สอบได้เปรียญ 7 ประโยค  อายุ 22 ปีก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสุคุณคณาภรณ์   
อย่างนี้ต้องถือว่าเป็นช้างเผือกของวัดบวรนิเวศ      สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงเข้มงวด ก็มิใช่อะไรอื่น  ก็เหมือนครูที่กวดขันลูกศิษย์หัวกะทิ  เพราะดูออกว่าจะมีอนาคตไกล     เมื่อพระมหาชื่นเกิดจะสึกขึ้นมากลางคัน   สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็คงเสียดายอยู่มาก      ถึงได้ทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ   จึงได้เสด็จมาทรงทัดทานไว้
เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงขอให้อยู่ในเพศบรรพชิตต่อไป   พระมหาชื่นก็ตัดสินใจตามพระกระแสรับสั่ง      จนภายหลังได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช     แสดงว่าทั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระวิสัยทัศน์ยาวไกล และถูกต้องแม่นยำอีกด้วย


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 11, 10:35
อีกตอนหนึ่งที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เล่าถึงสมเด็จฯ

“ผมเองเคยมีประสบการณ์แปลกในเรื่องนี้
ครั้งหนึ่งได้รับข่าวว่า อุปัชฌาย์ของผมคือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ กำลังจะสิ้นพระชนม์อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผมก็รีบวางการงานทั้งหมดและรับไปที่นั่น
จะไปดูใจอาจารย์ ว่ายังงั้นเถิด
พอไปถึงก็เห็นท่านนอนเงียบหลับตาสนิท ชีพจรก็ไม่มี หมอบอกว่าท่านหายไปสิบแปดชั่วโมงแล้ว แต่ที่ยังรู้ว่าท่านยังไม่สิ้นพระชนม์ ก็เพราะท่านยังอ่อนและยังอุ่นอยู่บ้าง

ตอนนั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท และได้ทรงพระมหากรุณาเสด็จฯมาเยี่ยมพระอาการ และประทับอยู่ข้างนอกห้องประชวรแล้ว
หมอเอาเข็มฉีดยามาจิ้มที่แขนสมเด็จ ฯ แล้วทูลถามที่ข้างพระกรรณท่านด้วยเสียงธรรมดาว่า

“สมเด็จ พ่ะย่ะค่ะ ทรงรู้สึกเจ็บบ้างไหม”

หมอทำอยู่อย่างนั้นสองสามครั้ง ท่านก็นอนเฉย ผมจึงบอกว่าหมอว่า ถึงตอนนี้เข้าขั้นปรมัตถ์แล้ว อย่ามัวไปใช้มารยาทหรือราชาศัพท์กับท่านอยู่เลย ต่อกันไม่ถึงหรอก
ผมเอาเอง ถ้าไม่ฟื้นก็หมดทางกันละ
ว่าแล้วผมก็จับแขนท่านแรง ๆ แล้วตะโกนที่หูของท่านกึกก้องไปทั้งโรงพยาบาลว่า

“สมเด็จ ! สมเด็จ ! หายไปไหนนั่นน่ะ กลับมาก่อนเหอะ !ในหลวงเสด็จมาประทับอยู่นอกห้องแล้ว !”

ท่านก็ลืมตาขึ้นมาเห็นหน้าผม ท่านก็รับสั่งว่า
“เอ็งเสือกมาทำไมอีกล่ะ”
เพราะท่านทรงเมตตาผมมาก

ผมลงกราบรับพรท่าน แล้วท่านก็ลุกขึ้นนั่ง บอกพระที่อยู่ในห้องว่าอยากกินหมากสักคำ พระก็หัวเราะบอกว่าหายแล้ว และหาหมากมาถวาย
พอท่านทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ท่านก็ห่มผ้าเรียบร้อยและนั่งอยู่บนเตียง
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้ามา ท่านก็ถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัวด้วยเรื่องต่าง ๆ เป็นปกติ

อีกสองสามเดือนต่อมา ผมไปเฝ้าท่าน ทูลถามว่าวันนั้นท่านหายไปไหนมาตั้งสิบแปดชั่วโมง ชีพจรก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ท่านตอบว่า
“ตัวเป็นกับตัวตายมันเป็นเส้นสองเส้น มีขนาดเท่านิ้วก้อย เวลายังมีทุกข์อยู่มันก็อยู่ห่างกัน แต่ถ้าพอมันทับกันได้เป็นเส้นเดียวกันก็สิ้นทุกข์”

ผมบอกว่า เออ ! สมเด็จทำเหมือนกับเล็งกล้องถ่ายรูปไลก้า แล้วยังไง

ท่านตอบว่า “ของข้ามันกำลังจะทับกันเป็นเส้นเดียวดีอยู่แล้ว พอดีเอ็งมาร้องเอะอะ สิ้นสมาธิ เส้นมันก็เลยแตกจากกัน ข้าก็เลยเดือดร้อนมาจนถึงเดี๋ยวนี้

ผมก็ทูลว่า ไม่รู้นี่ว่าสมเด็จฯ กำลังจะหาโฟคัส สงสัยก็ตะโกนถามดู

ต่อมาอีกสองปี ผมได้ข่าวว่าท่านกำลังจะสิ้นพระชนม์อีก รับไปเฝ้า เห็นหมอเขาต่อสายไว้เต็มองค์ ดูไปเหมือนถังประปา ไม่ใช่สมเด็จอุปัชฌาย์ของผมเสียแล้ว
และผมก็รู้ว่าท่านตั้งโฟคัสของท่านให้เส้นทับกันเรียบร้อยแล้ว
ผมก็ไม่ตะโกนเรียกท่านอีก
เพราะถังประปาที่หมอต่อท่อไว้นั้น ถึงจะตะโกนเรียกก็คงไม่ขานรับ”


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 11, 10:48
ผู้ปฏิบัติธรรม ที่เคยฝึกเรื่องฌาน หรือสมาธิ  คงจะพอเข้าใจว่าสมเด็จฯ ท่านทรงหมายถึงอะไร เกี่ยวกับเส้นเป็นและเส้นตาย     เราทุกคนที่ยังอ่านข้อความนี้ได้อยู่  ล้วนแต่มีเส้นสองเส้นในระยะห่างกันอยู่ทั้งนััน   จึงยังมีทุกข์อยู่ด้วยกันทุกคน   มากบ้างน้อยบ้าง
สมเด็จฯทรงเปรียบเทียบง่ายๆ   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็เล่าด้วยภาษาง่ายๆ เป็นกันเองระหว่างสมเด็จฯกับท่าน     อ่านแล้วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากเย็นเกินเข้าใจ      จะไปยากอีกครั้งก็ตรงที่ยังปฏิบัติไม่ได้ เท่านั้นเอง

ที่ยกตัวอย่างมานี้ เพื่อจะอธิบายถึงความเป็นนักประพันธ์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ว่าท่านมีลีลาการเขียนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้อย่างไร    เรื่องของสมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงวชิราญาณวงศ์ ถ้าจะเล่าใหม่ให้ยากขึ้น ก็เล่าได้
ดูตัวอย่าง

"สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  มีนามเดิมว่า ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์    ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประสูติตั้งแต่พระบรมชนกนาถยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎในรัชกาลที่ ๒
สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่ทรงพระเยาว์  ณ วัดบวรนิเวศ   สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นเจ้าอาวาส  และเป็นพระอาจารย์
สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงสอบครั้งแรกได้เปรียญ ๕ ตั้งแต่ยังทรงเป็นสามเณร  ต่อมาทรงได้เปรียญ ๗ เป็นพระมหาชื่น  เมื่อพระชันษา ๒๐ ปี    เนื่องจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเป็นเจ้าอาวาสที่เข้มงวดกวดขัน   พระมหาชื่นจึงคิดลาสิกขามาเป็นฆราวาส  จึงกราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ก่อนจะถึงฤกษ์สึก   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จมาทรงเยี่ยมสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ที่วัดบวรนิเวศ    เมื่อทรงทราบก็มีพระกระแสรับสั่งทัดทานพระมหาชื่น ด้วยทรงเห็นว่าเป็นผู้รู้บาลีหาตัวจับยาก    พระมหาชื่นจึงเปลี่ยนความตั้งใจ ขออยู่ในเพศบรรพชิตต่อไปตลอดพระชนมายุ"

ก็เนื้อความเดียวกัน   แต่รสของภาษาผิดกันลิบลับ   อย่างหลังนี้เขียนถูกต้องตามข้อมูล  แต่ไม่ใช่ภาษาของนักประพันธ์
 


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 11, 09:00
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบาตรสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 11, 11:16
นอกจากเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ แล้ว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ยังเขียนบทละครไว้จำนวนหนึ่งด้วย     บางเรื่องเขียนเพื่อนำออกแสดงทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม    ในช่วงทศวรรษ 2500
อย่างเช่นละครโทรทัศน์เรื่อง ลูกคุณหลวง ในพ.ศ. 2503    เรื่องนี้คุณบอย ถกลเกียรตินำมาทำเป็นละครเวทีซ้ำเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

เนื้อเรื่อง ลูกคุณหลวง   มีส่วนคล้ายละคร(และหนัง) เรื่อง Mamma Mia  ที่ชาวเรือนไทยบางคนอย่างคุณ SILA คงเคยดูมาแล้ว  แต่ไม่ได้ดัดแปลงมาแน่นอน เพราะลูกคุณหลวง เขียนขึ้นก่อน MM เกือบสามทศวรรษ

เรื่องเปิดฉากขึ้นที่บ้านของผกามาศ   สาวใหญ่อดีตนางเอกละครรำและละครร้องชื่อดัง เมื่อประเทศไทยมีโทรทัศน์เธอก็หันมาเป็นนางเอกจอแก้ว    เธอมีลูก 3 คน คือ  พิชัย  อัปษร และลูกชายคนเล็กชื่อ ศรีธรณ์ โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว   ลูกทั้งสามรู้แต่ว่าพ่อเป็นคุณหลวง ผู้เป็นผู้ดีเก่าและถึงแก่กรรมไปตั้งแต่ลูกๆยังเล็ก    เห็นแต่รูปซึ่งติดอยู่ในห้องรับแขก

วันหนึ่ง  พิชัย และอัปษร แจ้งข่าวแบบสายฟ้าแลบแก่ผกามาศว่า ทั้งคู่จะแต่งงานกับลูกสาวลูกชายของคุณนายพูนทรัพย์ เจ้าของโรงงานน้ำปลาผู้ร่ำรวย ทำให้ผกามาศกลุ้มใจมาก   เพราะเธอมีความลับสุดยอดที่เก็บซ่อนไว้ไม่เคยให้ใครรู้มาก่อน นอกจากหมอพรเพื่อนเก่าแก่    ว่าความจริงคุณหลวงในรูปนั้นเป็นใครก็ไม่รู้     ผกามาศไปเจอรูปเข้าที่ร้านขายของเก่าเวิ้งนาครเขษม  เห็นลักษณะภูมิฐานเหมาะจะอุปโลกน์เป็นพ่อของลูกทั้งสามคน   ก็เลยซื้อมาด้วยราคาสิบสลึง  แขวนประดับห้องรับแขก   แล้วบอกว่าเป็นพ่อ

ที่สำคัญที่สุดคือ  ลูกสามคนเกิดจากสามพ่อ!!!


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 11, 14:31
        ผกามาศเปิดเผยความจริงให้ลูกๆทุกคนฟังว่า พ่อของแต่ละคนเป็นใคร มาจากไหน    ทุกคนต้องการแต่งงานกับเธอ แต่เธอเลือกที่จะไม่แต่งและหนีพวกเขาไป จนไปพบอีกคน  เป็นแบบนี้ซ้ำกันทุกครั้ง      เธอส่งจดหมายไปเชิญพ่อของลูกๆ ทั้งสามมาที่บ้านพร้อมกัน เพื่อที่จะเลือกใครคนใดคนหนึ่งมาแต่งงานด้วย ให้เป็นหลักเป็นฐาน  เพราะลูกๆที่แต่งงานจะได้มีพ่อตัวจริงเสียที
 
        เมื่อพ่อทั้งสามมาตามจดหมายเชิญ  ก็พบว่าทุกคนยังรักผกามาศไม่เสื่อมคลาย และดีใจที่พบว่าตัวเองมีลูก   ต่างคนต่างเต็มใจจะแต่งงานกับเธอ  ลูกๆก็พากันเชียร์พ่อของตัว   ลงคะแนนโหวตกันก็ไม่สำเร็จ  เพราะกลายเป็นว่าแต่ละคนได้คะแนนจากลูกตัวเองคนละ 1 เสียง เท่ากัน   ผกามาศก็ปวดหัว  จนต้องตัดสินใจเลือกเอง เมื่อคุณนายพูนทรัพย์มาถึง    คือเลือกคุณหลวงในรูปเป็นสามี  ส่วนสามีตัวจริงทั้งสามก็กลายเป็นเพื่อนคุณหลวง   
       ผกามาศโล่งอกที่ทุกอย่างจบลงด้วยดี  และก็โล่งอกเมื่อรู้ความลับจากคุณนายพูนทรัพย์ว่า  ลูก 2 คนของคุณนายก็หาใช่ลูกของเถ้าแก่เจ้าของโรงน้ำปลาไม่   แต่เป็นลูกใครก็ไม่รู้แบบเดียวกับผกามาศ    ในที่สุดเธอก็สรุปว่า...ขอให้ทุกคนคิดว่าเป็นลูกคุณหลวงเหมือนกันก็แล้วกัน
      จบ

      เรื่องนี้โดยตัวของมันน่าจะเป็นเรื่องเครียด   เพราะพูดถึงปัญหาสังคมหนักๆทั้งนั้น   ไม่ว่าปัญหาลูกไม่มีพ่อ   ปัญหาหญิงหลายสามี   ปัญหาแม่ที่เลี้ยงลูกตามลำพัง( single mom)    แต่วิธีเขียนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำให้เรื่องหนักเหล่านี้กลายเป็นเรื่องเบาได้หมด     


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ค. 11, 14:06
หลักการเขียนเรื่องตลก ข้อหนึ่งก็คือความไม่คาดคิด หรือพลิกผันในเหตุการณ์      คนเขียนปูพื้นเรื่องเหมือนจะเป็นอย่างหนึ่ง แต่แล้วก็กลับเป็นอีกอย่างหนึ่งที่คนอ่านไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน    แต่ความไม่คาดคิดนั้น จะต้องเป็นไปได้      ความขำก็เกิดขึ้นตรงนี้
"ลูกคุณหลวง" มีความพลิกผันแบบนี้แทรกอยู่ทั่วไปในเรื่อง  จากเรื่องเล็กๆ  แล้วไปถึงเหตุการณ์ใหญ่ในตอนจบ   เป็นการปูพื้นให้เรื่องเดินไปในแนวเดียวกัน    ความสนุกของคนอ่านก็จะถูกจูงไปตามรอยนี้    ไม่สับสน

เมื่อผกามาศเล่าให้ลูกๆฟังว่า พวกเขาเกิดจากพ่อสามคน     ลูกๆเริ่มงุนงง   ฟังแม่เล่าอดีต คลี่คลายปมให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น   คนอ่านก็พลอยลุ้นไปด้วยกับลูกทั้งสามคน       ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ใช้ลูกเล่น "ความไม่คาดคิด" แทรกเข้าไปเป็นระยะ

อัปษร          คุณแม่คะ  ถึงตาหนูหรือยัง
ผกา            หนูพูดยังกะเล่นหมากเก็บ   เอาละ อยากรู้แม่จะเล่าให้ฟัง    ตอนหนูอัปษรเกิด แม่เป็นนักร้อง   เลยได้รู้จักคุ้นเคยกับคุณเอื้อ....
(หมายเหตุ   คุณเอื้อ ในที่นี้หมายถึงครูเอื้อ สุนทรสนาน  นายวงดนตรีสุนทราภรณ์ซึ่งโด่งดังมากในยุค 2500)
อัปษร  (ตบมือดีใจ)  คุณเอื้อ! ..... หนูเคราะห์ดีจัง ได้เป็นลูกคุณเอื้อ
ผกา           ไฮ้! อัปษร เอาอะไรมาพูด     หนูไม่ใช่ลูกคุณเอื้อสักหน่อย( อัปษรแสดงท่าผิดหวัง)  คุณเอื้อแกแนะนำให้แม่รู้จักกับพ่อหนูต่างหาก
อัปษร          โธ่! หนูหลงดีใจเกือบตาย
********************


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ค. 11, 14:09
อีกตอนหนึ่ง   เมื่อผกาเล่ามาถึงพ่อของศรีธรณ์

ผกา            ตอนศรีธรณ์จะเกิด  แม่ขึ้นไปเที่ยวเชียงใหม่หน้าหนาว     แม่ได้รู้จักใครต่อใครหลายคนที่เชียงใหม่    บังเอิญแม่ไปพักโรงแรมเดียวกับหม่อมคึกฤทธิ์...
ศรีธรณ์        (สะดุ้งโหยง ร้องเสียงหลง)   หม่อมคึกฤทธิ์   งั้นผมก็เป็นหม่อมหลวงซีคุณแม่!
               (หมายเหตุ   ถ้าเป็นละคร  เหตุการณ์ตอนนี้จะต้องเว้นจังหวะชั่วอึดใจหนึ่ง   ก่อนผกาจะตอบ)
ผกา            ศรีธรณ์ละก็ชอบตีตนไปก่อนไข้เสมอ    แม่รู้จักหม่อมแกเฉยๆเท่านั้น

(ถึงตรงนี้ ก็จะเป็นช่วงที่คนดูฮากัน)




กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ค. 11, 21:21
ฝีมือนักประพันธ์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์  อีกแบบหนึ่ง คือการปรุงรสของนิยายหรือเรื่องสั้นจากของฝรั่งมาเป็นไทย เหมือนเอาซุปมาทำเป็นต้มยำได้ ไม่ปร่าไม่เฝื่อนเลย
ต้องขออธิบายพื้นหลัง ว่า ในสมัยม.ร.ว.คึกฤทธิ์เริ่มเขียนหนังสือ คือสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงใหม่ๆ จนถึงหลังปี 2500     รสนิยมของวรรณกรรมบันเทิงในยุคนั้น ตรงข้ามกับปัจจุบัน      เรื่องแปลจากฝรั่งไม่เป็นที่นิยมของคนอ่านเท่ากับเรื่องไทย   
คนไทยชอบอ่านเรื่องรสชาติไทยๆ  แม้จะเป็นไทยที่กลิ่นอายเป็นฝรั่ง  เช่นพระเอกสวมหน้ากากดำ แต่งเสื้อกางเกงดำล้วน ออกปฏิบัติการอย่างเร้นลับยามค่ำคืน     ในยุคที่ชายไทยยังสวมเชิ้ตขาวนุ่งกางเกงสีขาวหรือกากีกันทั้งเมือง  ไปไหนก็นั่งสามล้อ   คนอ่านก็ยังอยากอ่าน ตราบใดที่ชื่อพระเอกเป็นไทยและฉากก็ยังเป็นประเทศไทยอยู่  แม้เนื้อเรื่องไม่ใช่ไทยเลยก็ตาม

ยุคนั้นยังไม่มีคำว่าลิขสิทธิ์   นักเขียนสามารถดัดแปลงเรื่องจากต่างประเทศได้โดยไม่ต้องบอกที่มา  คือจะบอกก็ได้ ไม่บอกก็ได้   บอกไปก็ดี      ไม่บอกก็ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องเสียหาย
หลายเรื่องที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เขียน จึงมีที่มาจากเรื่องต่างประเทศ     แต่ว่าไม่ได้เป็นการคัดลอก หรือแปลงนิดๆหน่อยๆ ประเภทเปลี่ยนชื่อตัวละครเป็นไทยเท่านั้นพอ

อย่างเช่นเรื่องสั้นชื่อ ฆาตกรรมจากก้นครัว  ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด "เพื่อนนอน"   ท่านนำมาจากเรื่องสั้นอเมริกันชื่อ Recipe for Murder   


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 11, 08:46
    พยายามไปหาในกูเกิ้ลว่า Recipe for Murder เป็นเรื่องสั้นของใคร แต่ก็ยังไม่เจอ   พิมพ์รวมในชุดเรื่องสั้นของ Alfred Hitchcock

    ฝีมือการประพันธ์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อยู่ที่ดัดแปลงเรื่องจากคดีสาวใหญ่ชาวฝรั่งเศส ถูกผู้กำกับตำรวจสอบสวนคดีต้องสงสัยว่าฆ่าสามีเศรษฐีไปถึง 2 คน   เธอก็รับสารภาพว่า เธอเป็นลูกสาวของอดีตศิษย์หัวกะทิของพ่อครัวเอกของโลก   พ่อถ่ายทอดวิชาปรุงอาหารให้หมด     จึงนำมาปรนเปรอสามีจนตายไปทั้งสองคน     
    เมื่อนำมาเป็นเรื่องไทย  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ดัดแปลงมาดามสาวใหญ่เป็นคุณนายองุ่น เศรษฐินีวัย 40 ที่ยังพริ้งเพราทั้งรูปร่างหน้าตา    นั่งอยู่ในเรือนไทยหลังโอ่โถงในชนบท    เคยเป็นนางข้าหลวงในวัง ประจำอยู่ในห้องเครื่อง จนปรุงอาหารชาววังได้ไม่มีใครเทียบ   เมื่อแต่งงาน พบว่าสามีเป็นคนเลวทั้งคู่  เธอก็ทนไม่ได้ ต้องกำจัดเสีย

   สำนวนข้างล่าง เป็นฝีมือท่านล้วนๆในการบรรยายกับข้าวชาววัง  ชวนให้น้ำลายไหลอย่างยิ่ง

   " เช้าขึ้นมาก็ใช้อาหารเบาแต่มีประโยชน์ ไข่ลวกแต่พอดีบ้าง ไข่ดาวทอดให้เต็มจานน่ารับประทาน ไม่สุกไม่ดิบเกินไป บางทีก็ไข่เจียวแบบฝรั่ง ใส่ไส้เซี่ยงจี๊บ้าง เห็ดบ้าง ไก่บ้าง แล้วก็ต้องมีนมสด มีขนมปังกาแฟพร้อม ถ้าเห็นจะเบื่อ ดิฉันก็พลิกแพลงไปเป็นไข่ไก่ผิงไฟแบบไทยๆ ทานกับข้าวตุ๋นร้อนๆเอากำลัง    มื้อกลางวันดิฉันก็ใส่สำรับเข้าไปเต็มเพียบ ใช้อาหารน้อยชนิด แต่ทำให้ชวนกิน บางวันก็กับข้าวฝรั่ง ใช้เนื้อสันบ้าง ลิ้นวัวบ้างถ้าหาได้ ดิฉันก็ให้รับหอยนางรมสดๆ บางวันก็ยักย้ายไปเป็นพวกขนมจีน ขนมจีนบ้านนอกหรือเจ้าคะจะมาสู้ขนมจีนในวัง..................แต่ของดิฉันไม่อย่างนั้น น้ำพริกของดิฉันต้องคั่วถั่วทองให้หอมแล้วโขลก ใส่มันกุ้ง  ใส่ปูทะเล ขนมจีนแป้งสดหัวเล็กๆ  เหมือดหั่นเป็นฝอย   ขยำน้ำมะนาวให้ขาวสะอาด รับกับทอดมันกุ้งฝอย ทอดให้กรอบ ผักทุกชนิดทอดกรอบ    มีทั้งไข่ต้มไข่ดาวทอดกรอบเช่นเดียวกัน ถ้าถึงหน้าร้อนดิฉันก็ตั้งข้าวแช่ กะปิทอดเม็ดเล็กๆน่ารับประทาน หอมสอดไส้ พริกทอดโรยไข่เป็นฝอยอย่างมือชาววังเท่านั้นจะทำได้     ผักก็มีมะม่วงดิบ แตงกวา กระชาย ต้นหอมจักเป็นรูปต่างๆ น้ำข้าวก็แช่น้ำแข็งใส่ดอกกระดังงา มะลิอบควันเทียนเสียก่อน ก่อนจะรับก็โรยพิมเสนเล็กน้อย     ยามบ่ายก็มีของว่าง ไส้กรอก ปลาแนมบ้าง ขนมแป้งสิบบ้าง บางทีก็หมูแนมแข็ง อาหารค่ำก็มีสำรับเต็มที่พร้อมทั้งของเคียง หมี่กรอบของดิฉันหาที่ติมิได้ แกงก็มีแกงปลาไหล ปูเค็มตัวเล็กๆคลุกหัวกะทิใส่มะดัน บางทีก็แกงมัสมั่นไก่ทั้งตัวใส่มันฝรั่ง ยำทวาย หั่นผักกองเป็นกองๆให้น่าดู ก่อนจะรับจึงให้ราดน้ำ เครื่องจิ้มก็ต้องดูให้ถูกต้อง ถ้าเป็นผักต้มกะทิก็ตำน้ำพริกให้เหลวสักน้อย ถ้าเป็นผักดิบก็ตำให้ข้น ถ้าเป็นปลาร้าหลนก็ใส่กะลามะพร้าวขัดมัน ถ้าถึงฤดูก็น้ำพริกปูนา เอากระดองปูตัวเล็กๆประดับ จิ้มสายบัวผักกระสัง............
   

ขอหมายเหตุว่า   เพื่อนนอนชุดที่พิมพ์ใหม่  ปรู๊ฟผิดหลายแห่งน่าเสียดายมาก  แสดงว่าผู้พิสูจน์อักษรไม่รู้จักอาหารโบราณ  แกงบวนก็กลายเป็นแกงบวด    ไข่เจียวไส้เห็ดก็เป็นไข่เจียวไส้เป็ด   ต้นหอมจักเป็นรูปต่างๆ ก็กลายเป็นต้นหอมจัดเป็นรูปต่างๆ


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 11, 16:25
ถ้าเอ่ยถึงเรื่องสั้นของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จะมองข้ามเรื่อง "มอม" ไปไม่ได้   เชื่อว่าเรื่องนี้ผู้อ่านคนไหนไม่รู้จักคงไม่มี เพราะเป็นเรื่องสั้นในตำราเรียนชั้นมัธยมด้วย

เรื่องนี้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนไว้ในคำนำว่า  เมื่อเขียน ท่านทำใจเป็นหมา  เขียนด้วยความรู้สึกของหมา   ขณะเขียนก็เสียน้ำตาไปไม่รู้เท่าไร     ผลก็คือคนอ่านเสียน้ำตาไปเหมือนกัน  เมื่อติดตามความรู้สึกนึกคิดของหมา   ทั้งความสุข ความรัก ความไร้เดียงสา ความทุกข์และท้ายสุดคือความหวัง     จนบางคนอาจรู้สึกว่า เมื่อมอมหัวใจสลายเพราะสูญเสียนายหญิงและลูกไปจากภัยสงครามโลก  คนอ่านก็เหมือนหัวใจสลายตามไปด้วย     เมื่อมอมได้นายกลับมาอีกครั้ง   หัวใจคนอ่านจำนวนมากที่เคยยุบแฟบลงไป ก็พองฟูขึ้นมาอีก

ความสามารถที่ทำให้คนอ่านจะเป็นจะตายตามเรื่องไปด้วยได้เช่นนี้    เรียกว่าฝีมือการประพันธ์   ทำได้มากเท่าใดก็เป็นยอดฝีมือมากเท่านั้น

-ความรักของหมา  (ซึ่งหมาเท่านั้นจะรักได้แบบนี้)
พอมอมจำความได้มันก็รู้ว่ามีคนมุด เข้าใต้ถุนบ้านนั้นบ่อยๆ อีกคนหนึ่ง มันรู้สึกว่ามีคนนั้นมาอุ้มชูลูบคลำมันเล่นเสมอ มอมมันคันเขี้ยวซึ่งกำลังจะขึ้น มันก็กัดมือนั้นเล่นบ้าง เลียเล่นบ้าง บางที่เจ้าของมือนั้นก็ยกตัวมันขึ้นใกล้ๆ ติดกับหน้า มอมมักกระดิกหางดีใจจนตัวสั่น เลียหน้า เลียปาก คนๆ นั้นก็ไม่ว่า ปล่อยตามใจมัน มอมมันจำกลิ่นไว้ได้ กำหนดสัญญาไว้ว่าคนๆนั้นเป็นนายของมัน แล้วมันก็รัก

ประโยคอมตะในเรื่อง ที่บรรยายความรักของมอมไว้สั้นๆ แต่ความหมายกว้างใหญ่ไพศาล

มอมมันโตวันโตคืนจนกลายเป็นหนุ่มใหญ่ แม่หายไปจากโลกของมัน ซึ่งเดี่ยวนี้เหลือแต่นาย มอมไม่ได้รักนายเท่าชีวิต แต่นายเป็นชีวิตของมอม


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 11, 16:32
ประโยคท้ายที่พิมพ์ตัวแดงไว้นั้น   ทางภาษาเรียกว่า ภาพพจน์ หรือภาษาภาพ ( Figures of Speech  หรือ Figurative language)
มอมไม่ได้รักนายเท่าชีวิต  = Simile  หรืออุปมา   คือการเปรียบเทียบว่าอะไรเหมือนอะไร หรืออะไรเท่ากับ

อะไร  เป็นการเปรียบเทียบที่ดึงออกมาเฉพาะส่วน    อย่าง ขาวเหมือนหิมะ    คือเทียบความขาวอย่างเดียว ไม่ได้เทียบลักษณะอย่าง

อื่นเช่นความเย็นหรือเป็นเกล็ด
แต่นายเป็นชีวิตของมอม    = metaphor หรืออุปลักษณ์  คือเทียบทั้งหมด ไม่ใช่แค่เฉพาะส่วน     
ถ้าเทียบขนาดแล้ว  อุปลักษณ์ก็ใหญ่กว่าอุปมา     

ถ้ามอมรักนายเท่าชีวิต   มอมก็ยังมีชีวิตของตัวเองที่รักเท่าๆกับรักนาย   ถึงนายตายไปมอมก็ยังอยู่ได้ แม้เศร้าโศกเสียใจ  แต่ถ้าพูดว่า

นายเป็นชีวิตของมอม     แปลว่าถ้าไม่มีนาย ชีวิตมอมก็ไม่เหลืออะไรเลย
มีนักประพันธ์น้อยคนนักที่จะจำแนกการเปรียบเทียบทั้งสองอย่างให้เห็นชัดได้  แค่เขียนสองประโยคเท่านั้น


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 11, 18:31
ตอนเด็กๆอ่านเรื่องมอม ก็เข้าใจเรื่องตามที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียน  ว่าเป็นยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒  วันหนึ่งนายก็หายไปจากบ้าน นานๆถึงส่งข่าวมาสักที   ดังที่ท่านบรรยายไว้ว่า

มอมมันรู้แต่ว่านายจากบ้านไปนานแต่สักวันหนึ่งนายจะกลับ ระหว่างนี้มันก็ได้แต่จะคอยนาย มันหารู้ไม่ว่านายถูกระดมไปเป็นทหาร ไปอยู่ไกลไม่มีกำหนดกลับ และนายผู้หญิงซึ่งไม่มีรายได้อะไรเลยก็ได้แต่ขายของเก่าไปทีละชิ้น  และต้องครองชีพไปอย่างอดมื้อกินมื้อ บางวันนายผู้หญิงต้องยอมอดเพื่อให้ลูกได้กิน หรือมิฉะนั้นก็ต้องกิน แต่น้อยเพื่อให้มอมซึ่งผัวฝากไว้ได้กินอิ่มๆ

     พอเป็นผู้ใหญ่ ก็เกิดคำถามขึ้นว่า
     ๑)เหตุใดนายผู้ซึ่งเป็นพลเรือน มีฐานะพอสมควร เพราะมีบ้านของตัวเอง มีภรรยาและลูกเล็กๆ ๑ คน  เช้าไปทำงาน  เย็นๆก็กลับบ้าน  แสดงว่าอายุต้องไม่ใช่เด็กหนุ่มวัยเกณฑ์ทหาร   และทำงานทำการอยู่แล้ว  เหตุใดกองทัพจึงระดมคนแบบนี้ไปกองทัพ   ทหารประจำมีไม่พอหรือ   แล้วเด็กหนุ่มที่อยู่ในวัยเกณฑ์ทหารไม่มีอีกหรือ   ถึงต้องมาเอาคนที่ทำงานแล้วมีครอบครัวแล้วไปประจำกองทัพ   มิหน้ำซ้ำ ต้องไปเป็นทหารอยู่ไกลลิบ    ห่างจากบ้านชนิดวันหยุดก็ไม่ได้กลับมา  หายหน้าไปเป็นปีๆอีกด้วย
     ๒)ในเมื่อในสงครามโลกครั้งที่ ๒   ไทยได้ยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมกัน   บ้านเมืองจึงไม่มีสงครามไทย-ญี่ปุ่น   ส่วนพันธมิตรฝรั่งนั้นก็ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิด      ไม่มีการรบแบบยกทัพเข้าประจัญบานกัน       ถ้าอย่างนั้นนายไปประจำการอยู่ที่ไหนนานเป็นปีๆ    ถ้าไปเชียงตุง (ซึ่งเป็นที่เดียวที่ดิฉันนึกออกตอนนี้ ว่าไกลบ้านจนกลับมาเยี่ยมไม่ได้) ก็น่าจะเป็นทหารอาชีพมากกว่าพลเรือนถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร
    ๓)เป็นทหารแบบนาย ไม่มีเบี้ยเลี้ยง  หรือเงินเดือนที่จะส่งให้ลูกเมียทางบ้านมารับไปหรือ    นายผู้หญิงถึงต้องอดมื้อกินมื้อ ไม่มีรายได้อื่น   เงินเดือนของนายไปอยู่ที่ไหน    ในเมื่อนายก็มารับเงินเดือนต้นสังกัดไม่ได้อยู่ดี
    ๔)คนไทยมีญาติพี่น้องกันมากมาย เพราะไทยชอบนับญาติ  จึงมีทั้งคำว่า ญาติสนิท และญาติห่างๆ    แสดงว่าญาติเยอะจนต้องจัดกลุ่ม      นายผู้หญิงอยู่ในเมืองหลวงแท้ๆ ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวหลังเขา   เหตุใดจึงหาญาติไม่ได้เลยสักคน    แม้แต่ญาติของสามีก็ไม่เห็นมี       ครอบครัวนี้อยู่กันผิดลักษณะคนไทยโดยทั่วไปมาก
    ๕)ความจริง ถ้านายผู้หญิงจะพึ่งตัวเอง ก็สามารถค้าขายเล็กๆน้อยๆ หรือรับจ้างทำงานอะไรก็ได้    แต่ก็ดูเหมือนเธอจะทำอะไรไม่เป็นเอาเลย นอกจากขายของไปทีละอย่างสองอย่างจนหมดบ้าน     ผิดลักษณะหญิงไทยร่วมสมัยอยู่มาก   เพราะผู้หญิงไทยจำนวนมากแม้ว่าเป็นม่าย บางคนมีลูกเล็กๆหลายคน    ก็ขวนขวายหาเลี้ยงตัวเองและลูกจนได้
    เอา ๕ ข้อก่อน  ข้อ ๖ จะตามมาทีหลัง


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 28 พ.ค. 11, 16:29
ขอแทรกโฆษณาหน่อยครับ



กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 11, 22:02
ชีวิตแสนสุขของมอมมาถึงจุดจบ เพราะสงครามพรากนายไปห่างไกลยังไม่พอ   ระเบิดยังปลิดชีวิตนายผู้หญิงและหนูลูกเล็กๆของนายไปด้วย   หัวใจของมอมสลายลงในตอนนั้น   เช่นเดียวกับหัวใจคนอ่านจำนวนมากที่อ่านมาถึงตอนนี้   แค่บรรยายผ่านเสียงหอนของมอมเพียง ๒ ประโยคเท่านั้น    นับเป็นฝีมือของผู้ประพันธ์ที่ยากจะหาใครเทียบได้

"เสียงหอนของมันทำชาวบ้านแถบนั้นวังเวงใจ  เพราะมันเป็นเสียงคร่ำครวญของหมาพันธุ์ทางตัวหนึ่งที่หัวใจแตกสลายลง"  

มอมซัดเซพเนจรไปจนได้มาอยู่กับนายใหม่ เป็นเด็กหญิงใจเมตตาลูกสาวเศรษฐี     มอมอยู่สบายกายแต่ใจก็ไม่เคยลืมนายเก่าจนแล้วจนรอด   จนวันหนึ่งมอมก็เจอนายอีกครั้ง ในสภาพชายตกอับ ที่ต้องกลายเป็นโจรเพราะหมดทางหากิน
นายเล่าให้มอมฟังว่า

"เขาส่งข้าไปไกล ข้าไม่ได้ข่าวคราวจากใครเลย พอกลับมาบ้านเขาก็บอกว่าบ้านไฟไหม้หมด ลูกเมียถูกระเบิดตาย งานการที่ข้าเคยทำคนอื่นเขาก็เอาตำแหน่งไปหมดแล้ว ไม่มีใครเขาจะมาคอย ข้าหมดหนทางจริงๆ มอมเอ๋ย แต่เอ็งอย่านึกว่าข้าลักขโมย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก พอดีพบเอ็ง เอ็งก็ทำให้ข้าต้องอาย ทำไม่ลง"

มาถึงข้อ ๖
เกิดคำถามว่านายไปเป็นทหาร   แม้ปลดประจำการแล้วก็ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีเงินตอบแทน  ไม่มีผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนฝูงที่ไปรบร่วมกัน  พอจะพึ่งพาได้เลยหรือ   สังคมไทยตอนหลังสงครามโลกจบลงใหม่ๆ แม้ว่ายากจนและลำบากขาดแคลน   แต่สภาพสังคมก็ยังใกล้ชิดกว่าสมัยนี้   อย่างน้อยก็มีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงพอเกื้อหนุนกันได้
นายของมอม ทั้งนายชายนายหญิงดูช่างพร้อมใจกันไร้ญาติขาดมิตรและเพื่อนฝูงกันจริงๆ

อย่างไรก็ตาม  ถึงมีข้อกังขาเหล่านี้ ก็ยังเป็นประเด็นเล็กน้อย   ไม่ได้ใหญ่จนบดบังประเด็นใหญ่ของเรื่อง  คือความจงรักภักดีของหมาตัวหนึ่งไปได้

มอมติดตามนายไปในคืนนั้น อย่างไม่เสียเวลาลังเลแม้แต่น้อย  เพราะมอมอยู่กับเจ้าของกี่คนก็ตาม แต่มอมมีชีวิตเดียว    ชีวิตของมอมเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตของนายคนแรก   สมกับที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์บรรยายไว้แต่ต้นว่า  มอมมิได้รักนายเท่าชีวิต แต่นายคือชีวิตของมอม
นายยอมแพ้จิตใจที่มั่นคงแน่วแน่ ซื่อสัตย์และจริงใจของหมาตัวหนึ่งอย่างราบคาบ     หัวใจคนอ่านก็ละลายลงไปให้มอมเช่นกัน


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 02 มิ.ย. 11, 19:57
ผมชอบประโยคหนึ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เขียนไว้ในหนังสือ เรื่องของคนรักหมา ว่า

"สุนัขมันเขียนประวัติศาสตร์ด้วยฉี่ของมัน"



กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 11, 20:16
มีอีก ๒ ตอนในหนังสือเล่มเดียวกัน ที่คุณลุงไก่อาจจะชอบ

"ความรักหมานั้น พอได้ยินวาจาของกันก็เข้าใจกันรู้กันได้ และความรักหมานั้นเป็นสากลโดยแท้ ไม่ขีดขั้นด้วยชนชั้นหรือลัทธิ"

"ผมเองที่เขียนเรื่องหมามาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ก็ด้วยคติเดียวกับนายเปสสะ บุตรนายควาญช้างที่ทูลพระพุทธเจ้าว่า "อัต.ตานo เหตo ภน.เต ยทิทo ปสโว" สัตว์เดรัจฉานประเภทสัตว์เลี้ยงนั้น ตรงไปตรงมาเข้าใจง่ายกว่ามนุษย์ การศึกษาของที่เข้าใจง่ายย่อมสะดวกกว่าศึกษาของที่เข้าใจยาก แต่ของที่เข้าใจง่ายเช่นจิตใจของหมานั้นเอง บางครั้งบางคราวก็เป็นเสมือนหน้าต่างที่เปิดไว้ เป็นช่องทางที่เราจะชะโงกเข้าไปดูจิตใจของมนุษย์ ได้เป็นครั้งคราว ถึงจะเห็นไม่ได้ตลอดละเอียดถี่ถ้วนก็ยังดีกว่าไม่เห็นเลย"

ส่วนที่พิมพ์ด้วยตัวแดง  เดาว่าบาลีที่ถูกต้องคือ อตฺตานํ  เหตํ ภนฺเต ยทิทํ  ปสโว


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 11, 20:19
มีเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ให้หมาเป็นตัวนำในเรื่อง แต่เป็นเรื่องเสียดสีการเมืองอย่างเจ็บแสบ   มาอ่านในยุคนี้ก็ยังไม่ล้าสมัย
เรื่องนี้ชื่อ "หมาตำรวจ"

เมื่อเช้าวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ มีศพชายหนึ่งนอนอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดพิบูลบุรี ชายคนนั้นมิใช่คนแปลกหน้ามาจากไหนเป็นคนที่อยู่อำเภอเมือง จังหวัดพิบูลบุรี มาแต่อ้อนแต่ออก ใครๆ ก็รู้จักใครที่แลดูศพนั้นปราดเดียวก็ต้องรู้ว่า ชายคนนั้นตายเพราะอดอาหารเพราะศพนั้นมีแต่หนังหุ้มกระดูก ท้องป่อง ตานั้นลืมและลึกกลวง เหล่านี้เป็นอาการของผู้ที่อดข้าวตาย

แต่เพราะเหตุที่จังหวัดพิบูลบุรีตั้งอยู่ในประเทศไทยอันเป็นเมืองที่มีชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีข้าวเหลือกินเหลือใช้ทุกปี ไม่มีใครอดตาย ใครอดตายก็ขัดคำสั่งรัฐบาล จึงไม่มีใครยอมรับว่าชายคนนั้นอดข้าวตาย เหตุที่ชายคนนั้นถึงแก่ความตาย จึงเป็นเหตุลึกลับ ร้อนถึงต้องส่งหมาตำรวจมาจากกรุงเทพฯเพราะตำรวจภูธรจังหวัดพิบูลบุรีไม่สามารถสืบหาสาเหตุได้

เมื่อนายสิบตำรวจหนุ่มๆ คนหนึ่ง จูงหมาตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุนั้น ปรากฏว่ามีคนมายืนดูศพนั้นอยู่แน่น นายอำเภอเมืองจังหวัดพิบูลบุรีเป็นคนหนึ่งที่มาอยู่ในที่นั้น พอหมาตำรวจมาถึงก็มีเสียงฮือขึ้นในกลุ่มคนด้วยความสนใจเพราะใครก็เคยได้ยินว่า...หมาตำรวจนั้น แน่นัก ลงได้ดมกลิ่นคนร้ายแล้วก็จะต้องสูดกลิ่นไปจนถึงตัว จับคนร้ายได้ทุกทีไป ไม่มีพลาด

พอหมาตำรวจแลเห็นศพนอนอยู่ ก็เห่าขึ้นด้วยความตื่นเต้นแล้วก็ดึงสายจูง ลากเอานายสิบตำรวจหนุ่มคนนั้นแหวกคนเข้าไปถึงศพ พอถึงศพแล้ว หมาตำรวจก็ดมศพนั้นจนทั่ว แล้วก็หอนขึ้นทีหนึ่ง

ครั้นแล้ว หมาตำรวจจึงสูดกลิ่นที่พื้นดิน และออกเดินสูดกลิ่นเรื่อยไปตามบรรดาคนที่มายืนอยู่ หมาเดินผ่านคนไปหลายคน และตาทุกคู่ก็จ้องจับอยู่ที่หมาตำรวจด้วยความสนใจ

พอหมาตำรวจมาถึงตรงหน้าพ่อค้าคนหนึ่ง ชื่อ นายฮวด หมาตำรวจก็ดมกลิ่นเข้าไปถึงเท้านายฮวด แล้วก็เห่าทีหนึ่ง และลงนั่งแลบลิ้นหอบแฮ่กๆ แหงนหน้าขึ้นจ้องมองนายฮวด พลางกระดิกหางอย่างดีใจ

นายฮวดหน้าซีดเผือด กลืนน้ำลายอย่างพะอืดพะอม ตัวเนื้อเริ่มสั่นขาอ่อน ทรุดตัวลงนั่ง แล้วพูดกับนายสิบตำรวจหนุ่มนั้นว่า


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 11, 20:21
“ผมขอสารภาพ ผมเองเป็นผู้ร้ายฆ่าคนๆ นี้ให้ตาย ผมเป็นพ่อค้าตั้งร้านขายของชำอยู่ในตลาด คนๆ นี้เป็นลูกค้าผมมาเก่าแก่ เคยซื้อข้าวสารน้ำปลา น้ำตาล พริก กะปิ หอม กระเทียม จากร้านของผมมาตั้งแต่ผมตั้งร้านช่วยอุดหนุนซื้อของผม จนผมมั่งมีตั้งตัวได้

แต่ผมสังเกตว่าในระยะปีสองปีนี้ คนๆ นี้ซื้อของน้อยลงไปทุกทีจนในที่สุดเมื่อเร็วๆ นี้เอง เขาแต่งตัวขะมุกขะมอม เสื้อผ้าขาดวิ่น เข้ามาในร้านของผม แล้วขอซื้อเชื่อข้าวสารผมไปกิน ถ้าคนๆ นี้มีฐานะดีเหมือนเมื่อก่อนผมก็คงไม่ขัดข้อง แต่เพราะผมได้เห็นว่าเขาจนลงกว่าแต่ก่อนมาก และเมื่อวันเขามาขอซื้อเชื่อข้าวสาร เขากลายเป็นคนสิ้นคิด ผมจึงไม่ยอมให้เขาซื้อเชื่อข้าวสารไปกิน และไล่เขาออกจากร้านไป...

ผมเองครับเป็นคนใจร้ายฆ่าเพื่อนมนุษย์... ผมเองที่เป็นคนอกตัญญู ไม่รู้คุณคน ทำร้ายผู้มีคุณแก่ผมจนถึงตาย... ผมขอสารภาพรับความผิดของผม...”

พอนายฮวดพูดจบ หมาตำรวจก็เลียหน้านายฮวดทีหนึ่ง แล้วก็ออกเดินสูดกลิ่นต่อไปในหมู่คน   ในที่สุด หมาตำรวจก็มาหยุดนั่งกระดิกหาง จ้องหน้าคหบดีคนหนึ่งชื่อ นายเกิด แล้วก็เห่าขึ้นสองที

นายเกิดหน้าสลด คอตกลงในทันใด ยื่นมือทั้งสองไปที่นายสิบตำรวจหนุ่มผู้จูงหมาตำรวจ แล้วกล่าวว่า

“ผมเองเป็นผู้ผิด ผมนี่แหละครับเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตาย คนๆ นี้ตายเพราะน้ำมือของผมแท้ๆ   คนตายนี้แต่ก่อนเป็นผู้มีหลักฐานดีมีเรือกสวนไร่นา เป็นผู้ขยันขันแข็ง ทำประโยชน์ให้เกิดแก่ชุมชนอยู่เป็นนิจ      ต่อมาผมเองเป็นผู้ริเริ่มเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ ผมก็ไปชักชวนคนๆ นี้ให้แทงสลากกินรวบกับผม ตอนแรกเขาแทงทีละน้อย แต่เขาก็เสียทุกครั้งไป สมัยเมื่อสลากกินแบ่งรัฐบาลยังออกแต่น้อยครั้ง เดือนละหนสองหนเขาก็แทง แต่น้อยครั้งไม่สู้กระไรนัก แต่พอสลากกินแบ่งรัฐบาลออกเดือนละเจ็ดครั้ง เขาก็ติดเป็นนิสัย เลิกไม่ได้ และจำนวนที่แทงก็มากขึ้น ยิ่งเสียมากเขาก็ยิ่งแทงมาขึ้นไปอีก
ชีวิตของเขาทั้งหมดมารวมอยู่สลากกินรวบ เลิกทำมาหากินเมื่อยิ่งแทงก็ยิ่งเสีย เขาก็ตั้งหน้าคิดแต่จะแทงให้ถูก วันหนึ่งๆ เขาก็ได้แต่ไปเที่ยวหาอาจารย์ใบ้หวย เขานอนฝันถึงอะไร รุ่งขึ้นเขาก็เอาฝันนั้นมาคิดออกเป็นเลขสามตัว แล้วก็มาแทงกินรวบ เงินทองที่เขาเก็บไว้ได้ก็หมดสิ้นไป เรือกสวนไร่นาเขาก็เอาจำนำหรือขายมาแทงกินรวบจนหมด แม้แต่เครื่องใช้ในบ้าน จนในที่สุดตัวบ้านที่เขาอาศัยอยู่เอง เขาก็ขายเอามาแทงกินรวบ เขาหมดตัว ไม่มีอะไรเหลือ เงินทองทรัพย์สินของเขาทั้งหมดตกมาเป็นของผมผู้เป็น เจ้ามือสลากกินรวบ... ผมเป็นผู้สูบชีวิตของเขาเอามาเป็นของผม เขาจึงถึงแก่ความตาย...
ผมเองเป็นผู้ร้ายฆ่าคน ตำรวจจงจับผมไปเถิด..ผมขอสารภาพ”


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 11, 20:24
พอนายเกิดพูดจบ หมาตำรวจกระดิกหางดีใจยิ่งขึ้นลุกขึ้นยืนสองขาหลัง เอาสองขาหน้าพาดที่ไหล่นายเกิดแล้วก็เลียหน้านายเกิดหลายที

เสร็จแล้วหมาตำรวจก็ผละจากนายเกิด ออกเดินสูดกลิ่นต่อไปรอบๆ จนมาถึงตรงหน้านายอำเภอเมือง หมาตำรวจก็หยุดลง นั่งมองหน้านายอำเภอเมือง  แล้วกระดิกหางดีใจจนฝุ่นตลบและเห่าขึ้นสามครั้ง

นายอำเภอเมืองควักผ้าเช็ดหน้าออกมาซับเหงื่อที่หน้าผาก กลืนน้ำลายสองที แล้วพูดขึ้นว่า

“ผมเองคือตัวการในฆาตกรรมรายนี้..."
" ผมเป็นนายอำเภอเมืองเข้ามารับหน้าที่นี้ด้วยความสมัครใจ   ไม่มีใครบังคับ เมื่อผมเข้ามารับหน้าที่นายอำเภอ ผมก็รู้หน้าที่นั้นดีว่า หมายถึงการระงับทุกข์บำรุงสุขของราษฎร  ผมมีหน้าที่ส่งเสริมช่วยเหลือราษฎรทุกคน ให้ทำมาหากินเป็นหลักฐานด้วยความสุขและความสะดวกทุกประการ ผมมีหน้าที่แนะนำและดูแลให้ราษฎรปฏิบัติงานที่ชอบ อันจักเป็นประโยชน์มากที่สุดแก่ราษฎรเอง หากราษฎรมีกินมีใช้ อิ่มหมีพีมัน ผมก็นับว่าได้ทำหน้าที่ของผมลุล่วงไปด้วยดี ทั้งหมดนี้ผมรู้แต่...”

นายอำเภอเอาผ้าเช็ดหน้าขึ้นซับเหงื่ออีกครั้งหนึ่ง   แล้วก็พูดต่อไปว่า

“แต่ผมไม่ได้ทำหน้าที่ของผมเลย ผมละทิ้งราษฎรผู้ซึ่งเป็นภาระและหน้าที่ของผมโดยตรง ไปทำงานอื่นเสียหมด ถึงตัวผมจะอยู่ที่อำเภอเมืองพิบูลบุรีนี้ แต่ผมก็เท่ากับนั่งทำงานอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยที่กรุงเทพฯ   เพราะผมทำงานเพื่อตาแก่สองสามคนที่นั่งทำงานอยู่ที่นั่น และตาแก่พวกนั้นไม่เคยมาที่จังหวัดพิบูลบุรีนี้เลย

ผมเพียงแต่ทำตามคำสั่งตาแก่ที่กระทรวง    มิได้เหลียวแลราษฎรเพราะนึกเสียว่าตาแก่พวกนั้นต่างหากที่แกเลื่อนตำแหน่งขึ้นเงินเดือนให้ผมได้ทางกรุงเทพฯ สั่งให้ผมทำอะไรผมก็ทำตาม มิได้เหลียวแลว่า สิ่งที่ผมทำนั้นจะกระทบกระเทือนถึงราษฎรอย่างไรบ้าง


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 11, 20:25
นอกจากนั้นทางกรุงเทพฯ ฝากงานอะไรให้ผมทำเป็นต้นว่างานเกษตร งานชลประทาน งานกรมการข้าว งานสถิติ งานวัฒนธรรม ตลอดจนขายหนังสือพิมพ์ให้รัฐบาล ผมก็เที่ยวรับเอางานนั้นมาหมด ทั้งที่รู้ว่าผมไม่สามารถทำได้ทั่วถึง ผมมัวทำราชการเสียจนลืมราษฎร

คนตายคนนี้ผมเพิ่งทราบว่าเขาอยู่ที่อำเภอนี้มาตั้งแต่เกิดจนตาย   แต่ผมก็เพิ่งเห็นหน้าเขาวันนี้เอง    เมื่อเขาเป็นศพไปแล้ว ถ้าหากผมเคยเห็นหน้าเขามาก่อนก็แปลว่า ผมรู้จักกับราษฎรอำเภอนี้ และถ้าเป็นดังนั้น เขาก็คงไม่ตาย แต่ผมไม่รู้จักเขาเลย เขาจึงต้องมานอนตายเพราะอดอาหาร

ครับ...ผมยอมรับสารภาพ...ผมเองเป็นตัวการฆ่าคนๆ นี้ให้ตายอย่างจงใจเจตนา เพราะผมละเลยหน้าที่ของผมทั้งที่รู้หน้าที่อยู่แล้ว”

พอนายอำเภอเมืองพูดจบ หมาตำรวจก็ออกเดินสูดกลิ่น ออกจากกลุ่มคนที่มาชุมนุมกันอยู่ และดึงนายสิบตำรวจผู้ถือสายจูง ลากถูลู่ถูกังตรงไปยังโรงพักตำรวจภูธร จังหวัดพิบูลบุรี

พอถึงที่นั่น หมาก็เดินตรงไปยังที่กองกำกับการตำรวจ ดมกลิ่นไปถึงผู้กำกับการตำรวจผู้ซึ่งนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะ แล้วหมาตำรวจก็นั่งลงจ้องหน้าผู้กำกับฯ กระดิกหางเร็วและแรง เคาะกระดานดังโปกๆ ด้วยความดีใจ แล้วก็เห่าขึ้นสี่ครั้ง

ผู้กำกับฯ ฟุบหน้าลงกับโต๊ะสักครู่หนึ่ง แล้วจึงลุกขึ้นยืนเอามือปัดงานที่วางอยู่บนโต๊ะร่วงลงกับพื้น พลางกล่าวกับนายสิบตำรวจสุนัขผู้ยืนระวังตรงอยู่ต่อหน้านั้นว่า...


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 11, 20:26
“ถูกของหมามันแล้ว! อั๊วเองคือผู้ร้ายฆ่าคนตายที่ศพนอนอยู่ศาลากลาง

อั๊วไม่มีสิทธิที่จะนั่งโต๊ะนี้ทำงานในห้องนี้อีกต่อไป อั๊วจะเขียนใบลาออกวันนี้ และที่ที่อั๊วควรจะอยู่คือกรงขังผู้ต้องหาบนโรงพัก

อั๊วเป็นผู้กำกับฯ มีหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้ายและรักษาความสงบของราษฎรจังหวัดนี้ โดยตรง แต่อั๊วมันเที่ยวจับแต่ของที่มีรางวัลงามๆ เสียหมดเป็นต้นว่า ฝิ่นเถื่อนเหล้าเถื่อน และของหนีภาษี จับทีไรอั๊วก็ได้เงินเข้ากระเป๋าบานไป เพราะพวกค้าของเถื่อนนั้นมันค้าแข่งกับรัฐบาล ใครจับได้จึงให้รางวัลอย่างงาม

ส่วนพวกโจรผู้ร้ายที่จะปล้นอาชีพ ปล้นทรัพย์ ปล้นชีวิตจิตใจราษฎรอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนนั้น ถึงจะจับได้ก็ไม่มีใครตกรางวัลให้ ตรงกันข้ามถ้าหากอั๊วไม่จับเสียอีก อั๊วกลับได้สตางค์ใช้ฟรีๆ จนเดี๋ยวนี้อั๊วมีรถเก๋งขี่ มีตึกสี่ชั้นปลูกอยู่ในตลาด ลูกเมียอั๊วก็ทองแดงทั้งตัวไปเพราะอั๊วเห็นแก่เงินทองทรัพย์สิน อั๊วจึงไม่จับผู้ร้ายที่ควรจะจับ จับแต่ผู้ร้ายที่ทำให้อั๊วร่ำรวยขึ้น หรือมิฉะนั้นก็ควงปืนดวลกับผู้ร้ายที่มันจะทำให้อั๊วได้มีชื่อเสียง มีรูปลงหนังสือพิมพ์   เผื่อว่ายังไงอั๊วจะได้มีแหวนอัศวินใส่กับเขาบ้าง

ผลของการกระทำทั้งหมดนี้ทำให้ราษฎรถูกปล้นอยู่ทุกนาที ทั้งกลางวันกลางคืน ใครทนไม่ไหวก็ตายไปก่อน

อั๊วเองเป็นคนร้าย อั๊วยอมรับสารภาพ หมาตำรวจมันชี้คนร้ายถูกของมันแล้ว”

พอผู้กำกับฯ พูดจบ หมาตำรวจก็ออกดมกลิ่นจากห้องผู้กำกับฯ  และดึงนายสิบตำรวจสุนัขตรงแน่วไปที่ศาลากลาง ผู้กำกับฯก็ออกวิ่งตามมาด้วยตอนนั้นเป็นเวลาเย็นใกล้ค่ำ ศาลากลางปิดเสียแล้ว หมาตำรวจก็บ่ายหน้าดมกลิ่นไปยังจวนผู้ว่าราชการฯ พอถึงจวน หมาตำรวจก็วิ่งขึ้นไปชั้นบน และเข้าไปในห้องนั่งเล่นของผู้ว่าราชการจังหวัดพิบูลบุรี เห็นผู้ว่าราชการนั่งอยู่   หมาตำรวจก็เข้าไปนั่งจ้องหน้ากระดิกหางดีใจอย่างมากมาย แล้วก็เห่าขึ้นห้าครั้ง

ผู้ว่าราชการฯ ตกตะลึงจ้องหน้าหมาอยู่นาน ครั้นแล้วก็ยกมือขึ้นปิดหน้า ร้องไห้สะอึกสะอื้น พูดว่า


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 11, 20:27
“จับผมไปโรงพักเถิดท่านผู้กำกับฯ ผมเองเป็นคนร้าย ผมเองเป็นคนฆ่าคนตายที่หน้าศาลากลางในจังหวัดของผม ผมเป็นผู้รับผิดชอบในทรัพย์สินและความเป็นอยู่ของราษฎรทั้งจังหวัด แต่ผมกลับไม่ถือว่าความรับผิดชอบนั้นเป็นของสำคัญ เอาตัวเองซึ่งเป็นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดไปรับผิดชอบต่อนักการเมืองขี้ปะติ๋วสองสามคน

ผมปกครองจังหวัดนี้โดยไม่คำนึงถึงทุกข์สุข หรือความอดอยากของราษฎร คำนึงถึงแต่ว่า...ทำอย่างไรจะทำให้พรรคนักการเมืองที่เป็นนายผมเลือกตั้งได้ทุกครั้งไป

เวลาส่วนใหญ่ของผมต้องใช้ไปในการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯกับพิบูลบุรี เพื่อไปรับคำสั่งจากนักการเมืองบ่อยๆ และสิ่งที่ผมตั้งใจทำก็คือทำนุบำรุงสมาคมหญิงที่เมียผมเป็นนายก เพราะสมาคมนั้นเป็นสะพานที่จะให้เมียผมเข้าถึงเมียนักการเมืองที่มีอำนาจเพื่อหาดีให้ตัวผมต่อไป...

จะพูดกันไปทำไม มีผมเป็นเจ้าเมือง แล้วมีคนอดข้าวมานอนตายอยู่หน้าศาลากลาง ใครจะเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตายได้นอกจากผม ขอเวลาผมเขียนใบลาออกสักเล็กน้อยเถิดท่านผู้กำกับฯ และขอให้ผมได้สั่งลูกสั่งเมียหน่อย แล้วผมจะไปมอบตัวให้แก่ท่านผู้กำกับฯ ที่โรงพัก ไม่หนีไปไหน”

ผู้ว่าราชการฯพูดจบแล้ว ก็ซบหน้าร้องไห้สะอึกสะอื้นต่อไป ผู้กำกับฯก็พาหมาตำรวจและนายสิบตำรวจสุนัขกลับมาโรงพัก แล้วหาที่ให้นอนค้างเพราะดึกแล้ว  จะส่งกลับมากรุงเทพฯก็ไม่ทัน

ผู้กำกับนอนไม่หลับทั้งคืน พอเช้าตรู่ก็รีบไปโรงพักเห็นนายสิบตำรวจหนุ่มนั่งร้องไห้อยู่ ผู้กำกับก็ตรงเข้าไปถามว่า

“หมู่เป็นอะไรไป โดนหมากัดเข้าอีกคนรึ!”


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 11, 20:30
นายสิบลุกขึ้นยืนชิดเท้า แล้วตอบว่า

“เปล่า...เปล่าครับ...แต่หมา...หมาผมหลุดหนีไปเมื่อตอนดึกนี้ครับผมวิทยุถามรถกองปราบเขาดู เขาว่าเห็นมันวิ่งเข้ากรุงเทพฯ ตอนเช้ามืดตามกลิ่นเข้าไปครับ”

“ตายหะ...!” ผู้กำกับออกอุทาน “ป่านนี้มันมิดมกลิ่นเข้าไปถึงทำเนียบแล้วหรือวะ!”

“ก็นั่นนะซิครับ!” นายสิบตำรวจพูดแล้วก็ร้องไห้น้ำตาไหลอีกพรูใหญ่

ผู้กำกับยกมือขึ้นเกาหัว และมองดูนายสิบตำรวจอย่างงงๆ แล้วถามว่า “ร้องไห้ทำไมนะหมู่ กลัวท่านสารภาพแล้วลาออกรึ?”

“เปล่า... เปล่าครับ” นายสิบตำรวจตอบระหว่างเสียงสะอื้น“หมาตัวนี้ผมเลี้ยงมาตั้งแต่มันเป็นลูกหมาครับ มันเป็นหมาตำรวจที่ดีที่สุด

แต่...แต่หมาตำรวจนั้น ถ้าลงดมกลิ่นไปจนถึงตัวผู้ร้ายแล้ว ปรากฏว่าผิดตัว มันก็จะหมดความเชื่อถือตัวของมันเอง ใช้ดมไม่ได้อีกต่อไป...”

“เอ...แล้วยังไง อั๊วไม่เข้าใจเลยว่ะ?” ผู้กำกับพูดขึ้น

“ผมกลัวมันจะเข้าไปในทำเนียบครับ!”

“ก็นั่นน่ะซี อั๊วถึงได้ถามว่าลื้อกลัวท่านลาออกรึ!”

“เปล่าครับ” นายสิบตำรวจตอบ

“ถึงยังไงท่านก็ไม่ลาออก และไม่ยอมสารภาพรับผิด แล้วหมาผมมันก็จะเสียหมาไปเลย ผมเสียดายหมาครับ”

                                                     *******************
หมายเหตุ  เรื่องนี้รวมอยู่ในหนังสือชุดรวมเรื่องสั้น "เพื่อนนอน" เมื่อกว่า 50 ปีก่อน   แต่เนื้อหาของมัน อ่านในพ.ศ. 2554  ก็ยังสนุกและแสบๆคันๆอยู่ดี 


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 11, 12:50
นอกจากเรื่องสั้น  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เขียนถึงสารคดีไว้หลายเล่ม    โดยทั่วๆไป สารคดีมักเป็นเรื่องที่อ่านเอาสาระ  ไม่ได้เอาสนุก  ถือกันว่าเป็นเรื่องเคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง    ยิ่งเป็นเรื่องหัวข้อหนักๆ อย่างประวัติศาสตร์ หรือศาสนา ด้วยแล้ว   ยังไม่ทันเปิดอ่าน หลายคนก็เตรียมตัวง่วงได้เลย
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นนักเขียนน้อยคน ที่สามารถทำให้สารคดีกลายเป็นเรื่องชวนสนุก กระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวาไม่น่าเบื่อ      แม้เป็นเรื่องที่เกิดมาหลายพันปีแล้วอย่างเรื่องศาสนาในอินเดีย   ท่านก็เขียนได้สนุก   เรื่องที่ตายไปแล้วร่วมสองร้อยปีอย่างเรื่องการสิ้นสุดของราชวงศ์พม่า ท่านก็เขียนได้มีชีวิตชีวา ราวกับบุคคลในประวัติศาสตร์นั้นจะฟื้นขึ้นมา แล้วหายใจให้เห็นอยู่ตรงหน้า  ถ่ายทอดอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง  ออกมาให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของพวกเขา
งานของม.ร.ว. คึกฤทธิ์มีลักษณะเฉพาะตัวอย่างหนึ่ง คือเวลาเขียน ท่านมีน้ำเสียงให้รู้ว่าไม่ได้บังคับให้เชื่อ    คำเหล่านี้ไม่ได้บอกไว้ตรงๆ  แต่แฝงไว้ในข้อสันนิษฐานบ้าง   ในความเห็นส่วนตัวบ้าง     เหมือนส่งสารให้รู้ว่า...ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร  อ่านเป็นความรู้  แล้วไปคิดต่อเอาเองก็แล้วกัน
ข้อนี้ เป็นฝีมือที่อ่านแล้วเหมือนเขียนได้ง่ายๆ  แต่เอาเข้าจริง  ยากที่จะเลียนแบบ     เพราะนักเขียนหลายคนที่ีรู้ว่าตัวเองกำลังเขียนเรื่องจริง เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงในอดีต  เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนจริงๆ  มักจะน้ำเสียงขึงขังโดยไม่รู้ตัว   เหมือนกำชับอยู่ในทีว่า  นี่..กำลังพูดเรื่องจริงนะ  ไม่เชื่อไม่ได้นะ   ถ้าไม่เชื่อแปลว่าโง่  เข้าไม่ถึงเรื่อง     คนไทยที่ส่วนใหญ่ไม่ชอบถูกบังคับก็เลยไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย  แต่ปิดหนังสือไม่อ่านอีกต่อไป

ตอนนี้กำลังอ่านหนังสือของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ๒ เรื่องพร้อมกันคือ พม่าเสียเมือง กับ ธรรมแห่งอริยะ    เรื่องหลังนี้เป็นเรื่องศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาล อ่านสนุกด้วยฝีมือการประพันธ์ของท่าน   แต่ยาวและย่อยออกมาได้ยาก     เลยคิดว่าจะเอาเรื่องแรกมาเล่าให้ฟังก่อนดีกว่า คือพม่าเสียเมือง  เป็นเรื่องของพระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของพม่า พระนามว่าพระเจ้าสีป่อ   เคยอ่านที่คนอื่นเขียนไว้ เรียกว่าพระเจ้าธีบอ


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 11, 16:08
ขอนำพระรูปพระเจ้าสีป่อ หรือพระเจ้าธีบอ มาประเดิมไว้ก่อนค่ะ


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 07 มิ.ย. 11, 16:14
ส่งภาพมาร่วมยั่วน้ำลายคนอ่าน อีกภาพค่ะ.... ;D
พระเจ้าสีป่อกับพระนางศุภยลัต


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 11, 16:20
ตามมาด้วยพระรูปพระเจ้าสีป่อ กับพระมเหสีทั้ง 2 พระองค์ คือพระนางศุภยลัต หรือศุภยาลัต   ผู้เป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการสิ้นราชวงศ์    (ประทับตรงกลาง) ส่วนซ้ายสุดคือพระนางศุภยาคยี

ถ้าสังเกตจะเห็นว่าพระราชอาสน์สร้างขึ้น ไม่ยาวมากนัก   มีเนื้อที่พอดีสำหรับผู้นั่ง  2 คน มีที่พอวางเท้าขณะนั่งพับเพียบได้สบายๆ  หันเท้าออกไปคนละข้าง   เพื่อจะไม่เอาเท้ามายันสะโพกอีกฝ่าย  แต่ถ้า ๓ คนก็เบียดกันแน่นพระราชอาสน์     คนกลางต้องนั่งพับขาราบจึงจะมีเนื้อที่พอนั่งได้ หรือไม่ก็นั่งพับเพียบหักแข้งขาให้ไปอยู่ข้างหลัง
อีกอย่างคือ ถ้านั่งกัน  3 องค์  ก็สมควรที่พระเจ้าสีป่อจะนั่งกลาง และมีพระมเหสีอยู่คนละข้าง  ถ่ายรูปออกมาจึงจะสมดุลย์ ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินนั่งริมขวา  และพระมเหสีองค์หนึ่งกลับมานั่งอยู่ตรงกลาง  มีพระเจ้าแผ่นดินนั่งขนาบข้าง เช่นเดียวกับพระมเหสีทางซ้ายสุด  ดูประดักประเดิดชอบกล

แค่เห็นก็รู้แล้วว่ามีเบื้องหลัง ;D


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 11, 17:55
ก่อนจะเข้าเรื่องพม่าเสียเมือง เพื่อให้เห็นฝีมือการประพันธ์ของม.ร.ว. คึกฤทธิ์    ขอปูพื้นพงศาวดารพม่านำทางก่อนสักเล็กน้อย

ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า มีชื่อว่าราชวงศ์อลองพญา หรือราชวงศ์คองบอง    ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ทรงพระนามว่าพระเจ้าอลองพญา  ชื่อนี้น่าจะเคยผ่านหูคนที่เรียนประวัติศาสตร์ไทย  เพราะพระองค์เป็นทัพพม่าทัพแรก ที่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาในสมัยปลายอยุธยา   หลังจากอยุธยาว่างเว้นจากศึกพม่ามานานนับร้อยปี     
พระเจ้าอลองพญาตีเมืองไม่สำเร็จ กลับถูกปืนจากฝ่ายไทย จนสิ้นพระชนม์ระหว่างถอยทัพกลับนั่นเอง      แต่มังระพระราชโอรสก็สานต่อสงครามที่พระบิดาทำค้างไว้   ด้วยการส่งทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง   คราวนี้สำเร็จ  กรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อพ.ศ. 2310 หลังจากพม่าล้อมอยู่ 3 ปี

ราชวงศ์อลองพญาครองราชย์สืบต่อกันมาถึงพระเจ้าปดุง  กษัตริย์องค์สุดท้ายที่ทำสงครามกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 1   คือศึก 9 ทัพ  ใครอยู่กาญจนบุรีคงจำสมรภูมิรบที่ลาดหญ้าได้   ส่วนทางใต้ก็เกิดวีรกรรมของวีรสตรีเมืองถลาง  ท้าวเทพกระษัตรีกับท้าวศรีสุนทร   หลังจากพระเจ้าปดุงตีสยามไม่สำเร็จ     ทางฝ่ายพม่าก็ไม่ได้ทำศึกกับไทยอีก  เพราะมีข้าศึกที่ใหญ่กว่าเข้ามาให้พะวักพะวนกว่า ได้แก่อังกฤษเจ้าอาณานิคม ซึ่งกุมอำนาจเหนืออินเดียไว้ได้แล้ว

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เริ่มเรื่องที่พระเจ้าแผ่นดินพม่า พระองค์รองสุดท้าย ได้แก่พระเจ้ามินดง   มาถึงยุคนี้ พม่าทำสงครามแพ้อังกฤษไป 2 ครั้งแล้ว  อาณาจักรส่วนหนึ่งถูกเฉือนไปอยู่ใต้อำนาจของอังกฤษ   แต่พระเจ้ามินดงก็ยังถือพระองค์ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ผู้มีอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักรอยู่ดี   


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 11, 20:00
เรื่องพม่าเสียเมือง  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เขียนขึ้นจากบันทึกและเอกสารของฝรั่ง   ท่านไม่ได้บอกว่าเป็นหนังสือของใคร    ดังนั้นมุมมองพม่าในเรื่องนี้จึงเป็นการมองจากสายตาฝรั่งอังกฤษ  และถ่ายทอดมาด้วยฝีมือคนไทยคือตัวท่านอีกทีหนึ่ง

ท่านเริ่มเข้าสู่เรื่องหลังจากปูพื้นมาพักหนึ่งแล้ว    ก็จะขอคัดสำนวนโวหารของท่านผู้เขียนมาให้เห็นว่า นี่ละคือฝีมือนักประพันธ์  ไม่ใช่นักเล่าเรื่องพงศาวดาร

เหตุการณ์ตอนนี้เกิดขึ้นเมื่อพ.ศง 2395    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถว้ลย์ราชสมบัติ ณ กรุงเทพพระมหานครได้หนึ่งปี
วัดสุทัศน์สร้างเสร็จแล้ว     พระปรางค์วัดอรุณสร้างเสร็จแล้ว   ภูเขาทองซึ่งตั้งใจจะสร้างให้เป็นพระเจดีย์ใหญ่พังลงมาในขณะที่กำลังสร้าง    สุนทรภู่กำลังเขียนเรื่องพระอภัยมณี   คนในสกุลบุนนาคเป็นเสนาบดีกันชุกชุม    อังกฤษกับไทยมีทางพระราชไมตรีต่อกันเป็นอันดี   ทูตอังกฤษเป็นการะฝัด  ซีจัมปลุ๊ค และหันแตรบารนีเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นไปแล้วตั้งแต่แผ่นดินก่อนๆ



กระทู้นี้เขียนถึงความเป็นนักประพันธ์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ไม่ได้เขียนถึงพงศาวดารพม่า  จึงจะขอแทรกเป็นระยะ ให้เห็นว่าลีลาของท่านเป็นอย่างไรแบบไหน     ข้างบนที่พิมพ์ด้วยตัวสีน้ำเงินก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่เราจะเห็นว่า ท่านเขียนอย่างนักประพันธ์ ไม่ใช่นักวิชาการ 
ข้อนี้ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพม่าเสียเมือง  ให้รสชาติที่คนอ่านติดอกติดใจ    ถ้าใครอยากเขียนหนังสือให้คนติดใจก็พัฒนาฝีมือการประพันธ์ของตัวเองให้ได้บ้าง 


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 11, 11:59
พระเจ้ามินดุง ( Mindon)  ขึ้นครองราชย์ด้วยวิธีรัฐประหารพระเจ้าพะคันหมิ่น (Pagan) ผู้เป็นพระเชษฐา    เจ้าชายมินดงกับพระอนุชาอีกองค์หนึ่ง ร่วมมือกันล่มบัลลังก์ได้สำเร็จ      หนังสือพม่าเสียเมืองมิได้มีน้ำเสียงสงสารพระเจ้าพะคันหมิ่น   เพราะพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่โหดร้าย สั่งฆ่าคนไปมากมายเพื่อริบทรัพย์มาเข้าท้องพระคลัง     
เมื่อพระเจ้ามินดุงยึดอำนาจมาได้  ก็มิได้ประหารพระเชษฐา แต่เชิญเสด็จไปไว้ในวังแห่งหนึ่ง  เปิดโอกาสให้เสด็จออกว่าราชการกับข้าราชบริพารเก่าๆแก่ๆ ไปตามเรื่อง เพื่อแก้เหงา   แต่ไม่ได้มีโอกาสมาเกี่ยวข้องกับราชการงานเมืองอีก

ในรัชกาลพระเจ้ามินดุง  พม่าทำสงครามกับอังกฤษไปแล้ว 2 ครั้ง  อาณาเขตทางใต้ถูกเฉือนไปอยู่ในความครอบครองของอังกฤษ  แต่พระเจ้ามินดุงก็ปกครองดินแดนที่เหลืออย่างไม่รู้ไม่ชี้ว่า ถูกลิดรอนอำนาจจากเจ้าอาณานิคมไปครึ่งหนึ่งแล้ว   ยังคงถือว่าพม่ามีอำนาจและเกียรติศักดิ์เหมือนเมื่อหลายร้อยปีก่อน อย่างไรก็อย่างนั้น  ขนบธรรมเนียมประเพณีและความคิดอ่านต่างๆก็ยังยึดถือตามแบบโบราณ ไม่เปลี่ยนแปลง

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็ชี้ประเด็นนี้  ด้วยสำนวนโวหารคมคายอย่างนักประพันธ์ว่า

ใครจะตาบอดมืดมิดเท่ากับคนที่ไม่อยากรู้นั้น  เห็นจะไม่มีอีกแล้ว



กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มิ.ย. 11, 22:16
พระกรณียกิจสำคัญของพระเจ้ามินดุงเรื่องหนึ่งคือสร้างราชธานีใหม่    พม่าตอนนั้นมีเมืองหลวงชื่ออมรปุระ  โดยตัวของเมืองหลวงเองไม่ได้มีปัญหาร้ายแรงถึงขั้นต้องย้ายเมือง  แต่เป็นเพราะว่าอังกฤษได้ยึดพม่าตอนใต้ไป  รวมทั้งเมืองย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ และเป็นที่ตั้งของเจดีย์ชเวดากอง ปูชนียสถานสำคัญของพม่า     
เมื่ออังกฤษได้ครอบครองดินแดนส่วนนี้ ก็ปกครองให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว    จนแม้แต่ชาวพม่าเหนือที่อยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองแท้ๆ ก็นิยมอพยพกันไปทำมาหากินในพม่าใต้   พระเจ้ามินดุงจึงเกิดขัตติยะมานะว่าจะต้องสร้างเมืองหลวงใหม่ ให้รุ่งเรืองไม่น้อยหน้าอาณาเขตที่อังกฤษยึดไป
นี่คือสาเหตุที่ทรงสร้างราชธานีใหม่ คือเมืองมัณฑเล  ฝรั่งเรียกว่า Mandalay

ประเพณีการสร้างเมืองของพม่า มีสีสันเข้มข้นมาก เพราะประเพณีโบราณของพม่าต้องเอาชีวิตคนมาเซ่นสังเวยเมือง    เหมือนตำนานในละครทีวีเรื่องเจ้ากรรมนายเวรของไทย      แต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีวิธีเล่าที่ทำให้คนอ่านไม่สยดสยองจนเกินควร  คือท่านก็เล่าด้วยน้ำเสียงเรียบๆ  ไม่ใส่สีใส่ไข่เข้าไปมากนัก    เล่าเพียงแค่ ๑-๒ หน้าพอให้รู้เรื่องกัน   แล้วก็จบกันไป
ที่เป็นลีลาเฉพาะตัวของนักประพันธ์อย่างท่าน คือเล่าเรื่องพระราชวังพม่า ท่านก็ผสมด้วยความรู้เกี่ยวกับพระราชวังไทย  เทียบกันให้เข้าใจง่ายขึ้น
(ยังมีต่อ)


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 11, 15:31
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ยกพระบรมมหาราชวังของไทยเป็นตัวเทียบ ให้เข้าใจและเห็นภาพพระราชวังพม่าง่ายขึ้น  เพราะในสมัยที่ท่านเขียน"พม่าเสียเมือง"   คนไทยไม่ได้เดินทางไปเที่ยวพม่าได้ง่ายดายเหมือนสมัยนี้      คำบรรยายของท่านก็นับว่าชัดเจน พอจะวาดภาพตามไปได้
ท่านบอกว่าพระราชวังพม่า แบ่งเป็นฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เหมือนพระบรมมหาราชวังของไทย   มีกำแพงชั้นนอก และกำแพงชั้นใน  ระหว่างกำแพงชั้นนอกกับชั้นในก็มีสนาม ศาลาลูกขุน  โรงช้าง โรงแสง และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ      ส่วนท้องพระโรงก็อยู่ในพระที่นั่ง  มียอดปราสาทแบบพม่าซ้อนขึ้นไปเจ็ดชั้น
ปราสาทท้องพระโรง ต่อเนื่องกับพระราชมณเฑียรชั้นใน เช่นเดียวกับพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย   ต่อเนื่องเข้าไปถึงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

ความช่างสังเกตและความรอบรู้ ในการยกสิ่งเกี่ยวข้องมาเทียบเคียงให้เห็น"ภาพ"ขึ้นมา นอกเหนือจากเห็น "เรื่อง" เช่นนี้ เป็นคุณสมบัติของนักประพันธ์


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 21 มิ.ย. 11, 15:45
     อยากให้ อ. เทาชมพู พูดถึง "ห้วงมหรรณพ" จังเลย  ตั้งแด่ผมเริ่มอ่านหนังสือเป็นจนถึงบัดนี้  ยังไม่เคยเห็นใครนำเรื่องพุทธศาสนา-วิทยาศาสตร์-การเมือง
มาผสมผสานจนชวนอ่านแทบวางไม่ลงอย่างท่านมาก่อนเลย


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 11, 15:47
จากนั้นม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าต่อว่า พม่ามีเขตพระราชฐานชั้นในซึ่งมีแต่ผู้หญิงล้วนๆ  เป็นนางในทั้งสิ้น ตั้งแต่ระดับพระมเหสีลงมาถึงข้าราชบริพารหญิง   ข้อนี้ก็เหมือนกับฝ่ายในของไทยเราอีก
เมื่อเล่าบรรยายถึงวังพม่าแล้ว  ท่านก็เชื่อมส่วนบรรยายฝ่ายในของวัง ต่อเนื่องเข้ากับเรื่องพระมเหสี และบรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามของพระเจ้าแผ่นดินพม่า โดยไม่มีการสะดุดกันเลยว่าเป็นคนละเรื่อง   คนอ่านไม่รู้สึกงงว่า เมื่อครู่เพิ่งบรรยายวังมาหยกๆ ทำไมกลายเป็นเรื่องพระมเหสีเอกมเหสีรองไปได้ตั้งแต่ตอนไหน    
การ "เชื่อม" เรื่องไม่ให้เห็นตะเข็บรอยต่อนี้ก็เป็นฝีมือของนักประพันธ์เช่นกัน    เพราะคนที่เชื่อมเรื่องไม่เป็น  อาจไปผิดพลาดเชื่อมเรื่องพระมเหสีเข้าเมื่อบรรยายกำแพงวัง   แม้เป็นเรื่องบรรยายวังพม่าเหมือนกัน  แต่ถ้าไม่รู้จะเชื่อมตรงไหนให้เนียนแล้ว  ก็จะเห็นตะเข็บรอยต่อขวางขึ้นมา สะดุดความรู้สึกของคนอ่านได้ง่ายๆ

จากนั้นม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็มุ่งเข้าสู่ตัวนำฝ่ายหญิงในเรื่องนี้   คือหลังจากบรรยายบทบาทของพระมเหสีเอกมเหสีรองต่างๆว่าเป็นใครมาจากไหนแล้ว  ท่านก็ "ดึง" ตัวเอกขึ้นมาให้เห็นว่า คนนี้ละจะมีบทบาทสำคัญต่อไป  คือผู้ดำรงตำแหน่งพระอรรคมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน  เรียกว่า "นันมะดอ"    ตำแหน่งอันมีชื่อว่า "ตะบินแดง" นี้  สงวนไว้สำหรับพระราชธิดาอันประสูติจากพระมเหสี   ไม่ใช่จากเจ้าจอม      เป็นตำแหน่งตั้งไว้ล่วงหน้าเลย โดยไม่ต้องคำนึงว่าพระราชโอรสองค์ไหน จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลต่อไป     ไม่ต้องคำนึงด้วยว่าอายุอานามจะใกล้กัน หรือห่างกันแค่ไหน    
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าตามราชประเพณีของพม่า  พระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสีย่อมจะเป็นพี่น้องพ่อเดียวกันเสมอไป   ต่างกันก็แต่แม่เท่านั้น  
ส่วนมเหสีรองลงไป เรียกตามตำแหน่งว่า พระนางอเลนันดอ

พระเจ้ามินดุงทรงมีทั้ง "พระนางนันมะดอ" มเหสีเอก และ พระนางอเลนันดอ" มเหสีรอง    แต่คนที่มีอำนาจอยู่ในมือ จนดูเหมือนจะเหนือกว่าพระเจ้าแผ่นดินเสียด้วยซ้ำคือพระนางอเลนันดอ


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มิ.ย. 11, 15:51
     อยากให้ อ. เทาชมพู พูดถึง "ห้วงมหรรณพ" จังเลย  ตั้งแด่ผมเริ่มอ่านหนังสือเป็นจนถึงบัดนี้  ยังไม่เคยเห็นใครนำเรื่องพุทธศาสนา-วิทยาศาสตร์-การเมือง
มาผสมผสานจนชวนอ่านแทบวางไม่ลงอย่างท่านมาก่อนเลย

ห้วงมหรรณพเป็นหนังสืออ่านยากมาก สำหรับคนเรียนมาทางสายศิลปะ   เคยอ่านตอนเด็ก จำได้ว่าไม่รู้เรื่องเอาเลย   มาอ่านอีกทีตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้วก็เข้าใจครึ่งๆกลางๆ   เรียนจบหลายปีแล้วกลับไปอ่านอีก ก็พอจะเข้าใจขึ้นบ้าง   แต่ไม่รับรองว่าเข้าใจหมด

กระทู้นี้ไม่ได้ตั้งใจจะเล่าเรื่องหนังสือ จะเล่าถึงฝีมือท่าน    เห็นจะต้องขอให้คุณช่วยเล่าเรื่องแทน   เพราะอ่านจากข้างบน แสดงว่าคุณน่าเข้าใจเนื้อหาดีกว่าดิฉัน
พร้อมเมื่อไรก็เชิญโพสต์ความเห็นได้เลยค่ะ


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 21 มิ.ย. 11, 18:10
ผมไม่มีความสามารถเรียบเรียงถ้อยคำให้ราบรื่นน่าอ่านได้อย่าง อ. เทาชมพู ครับ  ผมเห็นว่า อาจารย์หม่อม ท่านมีความสามารถพิเศษในการที่
เขียนเรื่องยากๆ ให้กลายเป็นเรื่องน่าอ่านได้อย่างน่าทึ่งดังที่อาจารย์ได้กล่าวไว้  โดยเฉพาะเรื่อง "ห้วงมหรรณพ" นี่  ถ้าไม่ใช่อัจฉริยะบุคคลอย่าง
อาจารย์หม่อม  ผมก็มองไม่เห็นใครอีกเลยที่จะมีความสามารถระดับนี้  ผมจึงอยากให้อาจารย์ใช้ความสามารถเฉพาะตัว  นำมาเขียนวิจารณ์ให้พวก
เราได้อ่านกัน  แต่ผมยอมรับว่าไม่มีความสามารถถึงระดับนั้นครับ  นอกจากจะลอกเอาจากหนังสือแล้วนำมาลงทื่อๆ อย่างนั้นเอง


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 22 มิ.ย. 11, 20:40
ผมขอเรียนถาม อ. เทาชมพูหน่อยครับ  ผมเคยมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ "พิเคราะห์คึกฤทธิ์" แต่ค้นบนหิ้งเท่าไหร่ก็ไม่เจอ  หนังสือเล่มนี้จะวิจารณ์ผลงาน
ของคุณชายในเรื่อง สี่แผ่นดิน  และมีบทสัมภาษณ์คุณชายด้วย  ผมสงสัยว่าในหนังสือเล่มนี้มี อ. เทาชมพู เป็นส่วนร่วมด้วยใช่ไหมครับ  มันนานมาก
เกือบยี่สิบปีแล้วผมก็เลือนๆ ไป  มีนักวิจารณ์หลายคนล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลชั้นแนวหน้าในแวดวงวรรณกรรม  และผมสงสัยว่ามีอาจารย์เป็นหนึ่งในนั้น
ถูกต้องไหมครับ  ถ้ามีผมจะลองรื้อลังหนังสือดูเพื่อนำมาอ่านอีกครั้ง  ถ้าไม่มีผมจะได้เลิกล้มความคิดครับ


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 11, 20:41
ต่อเรื่องพม่าเสียเมือง

จะว่าไปเรื่องประวัติศาสตร์หรือพงศวดารไม่ว่าประเทศไหน เป็นเรื่องซับซ้อน  เพราะเต็มไปด้วยรายละเอียดในเหตุการณ์เล็กเหตุการณ์น้อยต่างๆ ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน     ถ้าหากว่าไม่จัดลำดับให้ดีว่าอะไรควรกล่าวถึง อะไรควรข้ามไป  คนเขียนที่ไม่ชำนาญก็อาจจะหลงอยู่ในวังวนของข้อมูลมากมายเหล่านั้น   ทำให้เรื่องกลายเป็นเรื่องอ่านยาก
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ แก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการเปิดตัวเอกให้รู้จักแล้ว  ท่านก็โยงเรื่องเข้าสู่จุดหมาย ไม่อ้อมค้อมวกวนไปทางอื่น    เมื่อแนะนำนางพญาทั้งสององค์ให้คนอ่านรู้จักแล้ว  ก็ตรงเข้าสู่ประเด็นเลย  ปูเรื่องให้เห็นว่าพม่าเสียเมือง มีเหตุสำคัญจากภายนอกคืออังกฤษก็จริง  แต่เหตุภายในก็คือผู้หญิงสำคัญในราชสำนัก ผู้มีความทะยานอยากจะได้อำนาจ    
ผู้หญิงคนแรกคือพระนางอเลนันดอ  พระมเหสีรองผู้มีความทะเยอทะยานสูง   และถ่ายทอดนิสัยนี้ไปให้ลูกสาว คือเจ้าหญิงศุภยลัต    ในเมื่อพระเจ้ามินดุงผู้เป็นพระสวามี ไม่แข็งแกร่งพอจะจัดการให้พระมเหสีรองอยู่ในที่ในทางได้    บัลลังก์ก็เริ่มคลอนแคลนนับแต่ปลายรัชสมัย   จนเกิดกบฏขึ้นในพระราชอาณาจักร ครั้งแรก นำโดยพระราชโอรสสองพระองค์ของพระเจ้ามินดุงเอง    และครั้งที่สองเป็นเจ้าชายพระโอรสของพระมหาอุปราช     เคราะห์ดีที่กบฏพ่ายแพ้ไปทั้ง ๒ ครั้ง

บ้านเมืองคลอนแคลนหนักเข้า  พระเจ้ามินดุงก็หันเข้าใฝ่พระทัยทางธรรมะ  บำเพ็ญพระราชกุศลเป็นประจำ   กับทรงค้าขายส่วนพระองค์  ไม่ใคร่จะสนพระทัยราชการงานเมืองเท่าใดนัก    อำนาจก็ยิ่งตกอยู่ในมือพระนางอเลนันดอมากเข้า  จนคบคิดกับกินหวุ่นหมิ่นกี่ อัครมหาเสนาบดีพม่า ผลักดันเจ้าฟ้าชายสีป่อ ซึ่งเป็นพระราชโอรสอันประสูติแต่เจ้าฟ้าหญิงชาวไทยใหญ่เมืองสีป่อ   ให้อยู่ในลำดับจะขึ้นครองอำนาจเมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้ามินดุง

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เล่าต่อว่า  ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของพระเจ้ามินดุงคือ มิได้ทรงตั้งพระราชโอรสซึ่งมีจำนวนมากมาย ให้องค์ใดองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท   จะเป็นเพราะไม่มีพระประสงค์จะให้องค์นั้นถูกอิจฉาริษยาจากองค์อื่นๆ หรืออะไรก็ตามแต่     แต่ก็ปล่อยให้ตำแหน่งรัชทายาทยังว่างอยู่    เป็นเหตุให้พระนางอเลนันดอยื่นมือเข้ามาจัดการเสียเอง  เพราะเจ้าฟ้าสีป่อเป็นที่เสน่หาของเจ้าหญิงศุภยลัต  อยู่ในตำแหน่งเขยพระนางอเลนันดออยู่แล้ว

เมื่อใกล้สวรรคต  พระเจ้ามินดุงก็ยังพะวงอยู่กับเรื่องทางธรรมมากกว่าทางโลก    นอกจากมิได้ตั้งใครเป็นรัชทายาทเสียให้ชัดเจนหมดเรื่องหมดราวไป    ก็ยังห่วงแต่เรื่องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ถึงกับทรงสั่งเสียบรรดาพระเจ้าลูกเธอที่มาเยี่ยมว่าอย่าได้ฆ่าโคเป็นอันขาด เพราะถือว่าเป็นบาปหนัก     ข้อนี้น่าจะเป็นอิทธิพลความคิดมาจากอินเดีย

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ตบท้ายแบบนักประพันธ์  ว่า

"พระเจ้ามินดุงก็ถือว่าโคฆาฏนั้นเป็นบาปหนัก    แม้ใกล้สวรรคตก็ทรงกังวลอยู่กับเรื่องนี้   มิได้ทรงกังวลว่าพระเจ้าลูกเธอจะฆ่ากันเองเมื่อสวรรคตแล้วแม้แต่น้อย"


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มิ.ย. 11, 20:44
ผมขอเรียนถาม อ. เทาชมพูหน่อยครับ  ผมเคยมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ "พิเคราะห์คึกฤทธิ์" แต่ค้นบนหิ้งเท่าไหร่ก็ไม่เจอ  หนังสือเล่มนี้จะวิจารณ์ผลงาน
ของคุณชายในเรื่อง สี่แผ่นดิน  และมีบทสัมภาษณ์คุณชายด้วย  ผมสงสัยว่าในหนังสือเล่มนี้มี อ. เทาชมพู เป็นส่วนร่วมด้วยใช่ไหมครับ  มันนานมาก
เกือบยี่สิบปีแล้วผมก็เลือนๆ ไป  มีนักวิจารณ์หลายคนล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลชั้นแนวหน้าในแวดวงวรรณกรรม  และผมสงสัยว่ามีอาจารย์เป็นหนึ่งในนั้น
ถูกต้องไหมครับ  ถ้ามีผมจะลองรื้อลังหนังสือดูเพื่อนำมาอ่านอีกครั้ง  ถ้าไม่มีผมจะได้เลิกล้มความคิดครับ
หนังสือเล่มนั้นชื่อ "พิเคราะห์คึกฤทธิ์ พินิจสี่แผ่นดิน"  มีบทความของดิฉันอยู่ในนั้น ๒ เรื่องคือแม่พลอยเป็นญาติทางไหนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กับเรื่อง สี่แผ่นดินในสามวัย   ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ท่านกรุณาเขียนตอบบทความของดิฉันลงในคอลัมน์ซอยสวนพลูด้วย    เมื่อสนพ.รวมเล่ม  ดิฉันก็เอาบทความของท่านที่ตัดเก็บไว้ ส่งไปให้บก.  เขาก็เลยรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ได้ความที่สมบูรณ์

เข้าใจว่าไม่มีพิมพ์ใหม่  คงเป็นหนังสือหายากแล้วในปัจจุบันค่ะ


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 มิ.ย. 11, 19:21
ฝีมือนักประพันธ์ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างไว้เป็นเกร็ดในหนังสือเล่าพงศาวดารพม่าเล่มนี้อีกตอนก็คือ ท่านเขียนตามแบบสำนวนหนังสือราชาธิราชของเจ้าพระยาพระคลัง(หน)กึ่งสำนวนผู้ชนะสิบทิศ
ฝีมือเรียบเรียงเรื่องร้อยแก้วของเจ้าพระยาพระคลัง เป็นที่รู้กันว่ายอดเยี่ยมขนาดไหน     ว.ณ เมืองลุงเคยสารภาพว่าอ่านสามก๊กแล้ว ไม่กล้าเลียนสำนวนเจ้าพระยาพระคลัง จึงมาแปลเรื่องจีนกำลังภายในตามแนวภาษาของตนเอง   ส่วนผู้ชนะสิบทิศของยาขอบ เดินตามรอยเจ้าพระยาพระคลังอีกที  แต่ว่าลีลาผสมน้ำผึ้งนั้นเป็นโวหารเฉพาะตัวของยาขอบเอง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างบทสนทนาระหว่างพระนางอเลนันดอ กับกินหวุ่นหมิ่นกี้อัครมหาเสนาบดีออกมา เป็นบทยืดยาวสละสลวย อ่านสนุกจนลืมไปว่ากำลังอ่านพม่าเสียเมือง  นึกว่าอ่านราชาธิราชและผู้ชนะสิบทิศอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง
ขอยกมาสักตอนหนึ่ง  ยาวมากกว่านี้คงต้องขอให้ไปอ่านพม่าเสียเมืองเอง

" ทุกวันนี้เราก็ได้แต่มีความวิตกมิได้เป็นอันกินอันนอน    มาตรว่าเรานี้เกิดมาเป็นชายชาติทหาร ก็จะมิพึงปรับทุกข์แก่ผู้ใดให้เปลืองปาก   เมื่อเห็นราชการกรุงมัณฑะเลนี้เริ่มจะรวนเรไป ก็จะคิดการแก้ไขเอาด้วยกำลังตน     เอาชีวิตเป็นเดิมพัน  ทำราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าช้างเผือกไปตามสติปัญญา     คิดแต่จะรักษาพระมหาเศวตฉัตรแห่งกรุงรัตนะอังวะเอาไว้ให้ได้     แต่ทุกวันนี้ก็จนใจอยู่เพราะเกิดมาเป็นสตรี   ถึงแม้ว่าพระเจ้าช้างเผือกจะได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเราให้มียศศักดิ์อันสูง      แต่เราก็เปรียบเหมือนลดาวัลย์อันประดับด้วยแก้วมณี   จะแข็งแรงเหมือนไม้แก่นนั้นก็หามิได้..."

คนเขียนหนังสือส่วนใหญ่เปลี่ยนสำนวนตัวเองไม่เป็น   เลียนแบบสำนวนคนอื่นก็ไม่เป็น เป็นแต่ลอก    มีแต่นักประพันธ์ที่เชี่ยวชาญด้านโวหารเท่านั้นจะสามารถปรับหรือเลียนสำนวนของวรรณคดีชั้นเยี่ยมได้      นี่คือฝีมืออีกด้านหนึ่งของม.ร.ว. คึกฤทธิ์
โดยเฉพาะสำนวนว่า "เราก็เปรียบเหมือนลดาวัลย์อันประดับด้วยแก้วมณี   จะแข็งแรงเหมือนไม้แก่นนั้นก็หามิได้" เป็นภาษาภาพ (figure of speech) ที่งดงามหาคนเขียนเช่นนี้ได้ยาก   ให้ภาพของพระนางอเลนันดอได้สวยงามและสูงค่าสมเป็นนางพญาของราชอาณาจักร


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มิ.ย. 11, 16:24
คุณสมบัติอย่างหนึ่งของนักประพันธ์ คือต้องรู้จักเขียนเรื่องน่าเบื่อให้สนุกน่าอ่าน   เขียนเรื่องหนักและเคร่งเครียดให้ออกมามีสีสันเป็นดราม่า โดยยังคงเนื้อหาเดิมเอาไว้ได้   ไม่ใช่มีสีสันแบบออกนอกเรื่องไปไกล      และเขียนเรื่องซับซ้อนให้อ่านเข้าใจง่าย

พม่าเสียเมือง มีเหตุการณ์ที่หนักและเคร่งเครียดอยู่เป็นระยะตลอดเรื่อง    ถ้าอ่านแบบพงศาวดารที่แจกแจงรายละเอียดตรงไปตรงมาแล้ว อาจจะรู้สึกหนักเหมือนหายใจไม่ออก     เช่นการชิงอำนาจในตอนปลายรัชกาลเมื่อพระเจ้ามินดุงประชวรหนักใกล้สวรรคต   พระนางอเลนันดอกับอัครมหาเสนาบดีก็รัฐประหารเงียบ    จัดการจับตัวพระราชโอรสองค์สำคัญๆไว้รอการประหารให้หมด   กินแถวไปถึงบรรดาพระมเหสีรองๆและเจ้าจอมหม่อมห้าม ไม่เว้นแม้แต่เจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่แก่เฒ่าลงไปถึงทารกแบเบาะ    องค์ไหนชะตายังไม่ขาดก็หนีรอดออกจากอาณาจักรไปได้   องค์ไหนหนีไม่ทันเพราะนึกไม่ถึงก็ถูกจับมาราวกับนักโทษประหาร 
 
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าเหตุการณ์ตอนนี้ อย่างมีสีสันมาก   สีสันที่ว่าคืออารมณ์ในของตัวละครในเรื่อง    ท่านบรรยายภาพพระเจ้ามินดุงประชวรหนัก   ทรงวาดภาพว่าพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์จะเสด็จออกจากเมืองไปโดยปลอดภัย ตามที่มีพระราชโองการไว้ว่าให้ไปกินเมืองที่นั่นที่นี่     หารู้ไม่ว่าทุกพระองค์ถูกจำจองใส่ตรุไว้     แต่คนอ่านรู้  เมื่อรู้จากผู้ประพันธ์ก็ได้แต่สะเทือนใจ ว่าพระเจ้ามินดุงมีพระราชอำนาจเสียเปล่า   แม้จะช่วยลูกอย่างพ่อชาวบ้านสักคนเขาทำกัน  ก็ยังทำไม่ได้   แรงสะเทือนใจของคนอ่านมีมากเท่าใด ก็วัดฝีมือนักประพันธ์ได้มากเท่านั้น

ถ้าอ่านเหตุการณ์ตอนนี้แล้ว คนอ่านไม่ว่าหน้าไหนก็พากันเปิดข้ามไปไม่อยากอ่าน เพราะสะอิดสะเอียนเกินกว่าจะอ่านได้    ก็คือนักประพันธ์สอบตก

บางครั้ง  นักประพันธ์ก็ไม่มีสิทธิ์จะหลีกเลี่ยงเนื้อหาเรื่องหยาบช้าทารุณ   เรื่องน่าสะอิดสะเอียนขยะแขยง  หรือเรื่องทุเรศทุรัง   แล้วเขียนแต่เรื่องสวยงามเรียบร้อย ธรรมะธัมโม    ถ้าจำเป็นต้องเขียนก็ต้องเขียน  อย่างการเขียนพงศาวดารเรื่องนี้
ฝีมือของนักประพันธ์แต่ละคนวัดได้จากทำให้เนื้อเรื่องอันไม่น่าเสพนั้น  ถูกขัดเกลาจนคนอ่านสามารถเสพได้โดยไม่รู้สึกว่าจิตใจตัวเองตกต่ำลง จากการอ่านเรื่องเหล่านี้   แต่ทำให้จิตใจได้ยกระดับขึ้น   อย่างน้อยอ่านพม่าเสียเมืองตอนนี้แล้ว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็เขียนในทางทำให้คนอ่านได้ปลงต่อความเป็นอนิจจังคือเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์   ไม่ว่าเป็นคนระดับพระเจ้ามินดุงหรือพระราชโอรสพระราชธิดา ก็ไม่ได้ทุกข์น้อยไปกว่าชาวบ้านร้านถิ่นธรรมดา


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มิ.ย. 11, 00:08
กระทู้นี้กำลังจะตกขอบ  ผมขออนุญาตดึงกลับขึ้นมาใหม่  เพราะผมไม่อยากให้กระทู้นี้หายไป  อยากให้ อ. เทาชมพู เขียนเพิ่มเติมอีก
เรื่องราวของคุณชายมีให้เขียนถึงมากมาย  แต่บุคคลที่จะเขียนถึงผลงานของท่านให้น่าอ่านอย่างอาจารย์หาค่อนข้างยากครับ

และบทความของอาจารย์ใน "พิเคราะห์คึกฤทธิ์ พินิจสี่แผ่นดิน" มีอยู่สามชิ้นครับ มิใช่สองชิ้นดังอาจารย์บอก  นอกจากสองชิ้นที่อาจารย์
กล่าวถึงแล้ว  ยังมีอีกชิ้นหนึ่งชื่อว่า "ชีวิตคืออะไร ใน สี่แผ่นดิน" อีกด้วย  น่าอ่านทั้งหมดเลยครับ



กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 11, 10:15
ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับนักประพันธ์ ว่าเขียนเรื่องเครียดยังไงให้สนุก   (สนุกในที่นี้ตรงกับคำว่า fun)เพราะประชาชนแต่ละชาตินั้นมีนิยามของความสนุกไม่เหมือนกัน      ยิ่งคนไทยด้วยแล้ว   สนุกแบบไทยเป็นคนละอย่างกับฝรั่ง    คนไทยเราไปดูหนังดูละครก็สนุก อย่างนี้ฝรั่งพอเข้าใจเพราะเขาก็สนุกกับดูหนังดูละครเหมือนกัน     แต่คนไทยเราสนุกกับอะไรอีกหลายอย่างที่ฝรั่งนึกไม่ออกว่าสนุกยังไง   เช่น ศรีธนนไชยผ่าท้องน้องเอาไส้ออกมาล้าง เพราะแม่สั่งให้อาบน้ำน้องให้สะอาดหมดจดทั้งตัว  เราก็ว่าเรื่องศรีธนนไชยสนุก  สามีกะล่อนนอกใจเมีย   หลอกล่อไม่ให้เมียจับได้ ก็สนุก    เมียหลวงเมียน้อยมาเจอกันก็ยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่    
สนุกทั้งหมดนี้ ฝรั่งไม่เห็นว่าเป็นเรื่อง fun ไปได้  เขาเห็นเป็นปัญหาของสังคม ที่ควรถูกแก้ไข

สังเกตว่า ในเรื่องหนักสมอง แต่เดิมมาคนไทยใช้วิธีปนตลกแทรกเข้าไปในเรื่อง   อย่างเรื่องชิงรักหักสวาทระหว่างขุนช้างขุนแผน  โดยเนื้อหาตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเบาสมอง  เป็นเรื่องเข้มข้นทีเดียว เพราะเป็นการชิงชัยระหว่างผู้ชายสองคนที่มีดีคนละด้าน เสียคนละด้านคนหนึ่งรวย ซื่อสัตย์กับผู้หญิง แต่รูปชั่ว  อีกคนรูปหล่อแต่ไม่รวยและเจ้าชู้  
กวีท่านบรรเทาความเคร่งเครียดในเรื่องชิงรักหักสวาท  ด้วยการกำหนดบทบาทขุนช้างให้เป็นตัวตลก  มากกว่าจะเป็นผู้ร้าย    ขอให้นึกดูว่าถ้าขุนช้างเป็นคนเอาจริง มีฝีมือรบและคาถาอาคมไล่เลี่ยกับขุนแผน    เวลาสู้รบชิงนางวันทองก็ทำแบบนักเลงลูกทุ่ง   น้ำหนักของเรื่องจะเปลี่ยนเป็นหนักหนาเอาทีเดียว    และคงจะสนุกน้อยลง  เพราะคนไทยไม่ชอบอะไรที่เครียดต่อเนื่องอย่างยืดยาวนัก


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 07 ก.ค. 11, 15:46
อาจารย์ลาวัณย์ โชตามระ เล่าเรื่องของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ไว้ในหนังสือ "เล่าเรื่องของไทย" (พ.ศ. ๒๕๐๙) ตอนหนึ่งว่า

... เมื่อเกือบสามสิบปีมาแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เขาเคยได้รับเชิญจากประธานแผนกชุมนุมปาฐกถาและโต้คารมของสโมสรจุฬาลงกรณมหาวืทยาลัยให้ไปโต้วาทีกับอาจารย์เสนาะ ตันบุญยืน จะเป็นในหัวข้อชื่ออะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว สมัยั้นหอประชุมของมหาวิทยาลัยไม่มี ก็ใช้ห้องประชุมชั้นบนตึกอักษรศาสตร์นั่นแหละเป็นสถานที่โต้วาที วันนั้นอาจารย์เสนาะขึ้นมา "โหมโรง" ด้วยคำว่า "คึกคัก-มีฤทธิ์-มีเดช" อันหมายถึงชื่อของเขา เมื่อถึงคราวที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็กล่าวว่า "ข้าพเจ้าเคยได้ยินนามอัน เสนาะ ของท่านมานานแล้ว ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกตื้น ตัน เป็นอย่างยิ่ง แต่ก็รู้สึกว่ามี บุญ เหลือเกินที่ได้มา ยืน พูดกับท่านในวันนี้"

...

เมื่อคราวไปปราศรัยหาเสียงให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ที่ท้องสนามหลวง มีคนกล่าวว่า ม.ร.ว. เสนีย์ นั้นเป็นเสมือนมือขวาของพรรค และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เป็นมือซ้าย เมื่อคราวเขาขึ้นปราศรัย เขาก็กล่าวว่า มือขวานั้นสำหรับตักข้าวปลาอาหารใส่ปากก็ถูกแล้ว ส่วนเขานั้นเป็นมือซ้าย ก็ต้องทำหน้าที่เช็ดล้างไปตามเรื่อง  ผู้ฟังรอบสนามได้ยินแล้วก็ปรบมือเกรียวฮาครืน

...



กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 08 ก.ค. 11, 10:33
กับคอลัมน์สุดฮิตหน้าในของหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน



กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 11, 17:16
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีพรสวรรค์ในการหยิบเล็กผสมน้อยกับสิ่งรอบตัว มาเขียนได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด     ไม่ใช่การเขียนเรื่อยเปื่อย แต่ข้อเขียนทุกชิ้นมีสาระ และคุณค่าประเทืองทั้งปัญญาและอารมณ์ให้คนอ่าน
ความเป็นนักประพันธ์อยู่ที่ว่า ท่านใช้ภาษาได้ทุกลีลา  เขียนเฮฮาในเรื่องที่ควรจะเครียดก็ได้ เพื่อบรรเทารสชาติที่ขมเกินไปให้จางลง    เขียนให้เศร้าก็ได้  เขียนเหน็บแนมแกมประชดโดยไม่ต้องโจมตี แต่ได้แผลไม่เบาก็ได้  เขียนคัดค้านลบล้างความงมงายโดยไม่เป็นการก้าวร้าวล่วงละเมิดก็ทำได้เช่นกัน

พวกเราหลายคนคงรู้ว่าหัวข้อที่วิพากษ์วิจารณ์กันยากที่สุดมี 2 เรื่อง คือเรื่องการเมืองกับศาสนา   เรื่องการเมืองนั้นในสมัยม.ร.วคึกฤทธิ์เป็นนักหนังสือพิมพ์หนุ่มไฟแรง อยู่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งจอมพลป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี   ใครๆก็รู้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็นเรื่องทำได้ยาก  แม้ว่าท่านนายกฯใจดีเปิดโอกาสให้มีไฮปาร์คที่สนามหลวง  แต่นักไฮปาร์คปากกล้าคารมคมก็เคราะห์ร้ายถูกตำรวจจับตา หรืออุ้มลงจากเวทีกันไปแล้วหลายคน
แต่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์อยู่รอดปลอดภัย เมื่อเขียนหนังสือชื่อ โจโฉ นายกตลอดกาล     จะจับให้มั่นคั้นให้ตายว่าท่านว่าใครก็ไม่ได้ เพราะท่านพูดถึงโจโฉ  ไม่ได้พูดถึงนายกฯประเทศอื่น     อ่านก็สนุก และได้รสชาติเจ็บๆคันๆแถมกลับไปด้วย

ส่วนเรื่องที่สองคือศาสนา  ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันมานักต่อนัก โดยเฉพาะในหมู่ผู้นับถือศาสนาพุทธด้วยกัน   วาทะที่ยกมาอ้างกันบ่อยที่สุดคือ "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่"   แทนที่จะเป็นการเสนอหรือค้านกันด้วยปัญญา
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนบทความเกี่ยวกับศาสนาไว้มาก รวมเป็นเล่มได้หลายเล่ม   ในที่นี้จะยกมาแค่เรื่องสั้นๆที่ทำให้เห็นฝีมือการประพันธ์ของท่าน


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 11, 17:28
ในพ.ศ. 2508  มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาบุคคลสำคัญทางศาสนาหลายท่าน  สามคนในจำนวนนี้คืออธิบดีกรมการศาสนา  นายกพุทธสมาคม และอธิบดีศาล  ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน เห็นกับตาว่ามีภิกษุชรารูปหนึ่งรับการตักบาตรจากเทวดาได้
เหตุการณ์ก็คือ ภิกษุรูปนั้นนำบาตรเปล่ามายื่นให้อธิบดีกรมการศาสนาดู  เพื่อให้เห็นชัดๆว่าไม่มีอะไรอยู่ในบาตร  จากนั้นท่านก็เดินไปหยุดอยู่กลางแจ้ง ที่นอกชานกุฏิ ห่างจากอธิบดีไม่ถึง 10 เมตร    หันหน้าไปแต่ละทิศ เปิดฝาบาตรเหมือนรับบาตรจากคนใส่   พักใหญ่ก็เรียกท่านอธิบดีเข้าไป  พบว่าบาตรเปล่าเมื่อครู่หนักอึ้ง มีข้าวสุกร้อนๆอยู่เต็มบาตร   ก้นบาตรยังมีประคำทอง เป็นทองแท้อยู่ ๒ เม็ด
ทั้งหมดนี้ มีคำอธิบายว่าผู้ใส่บาตรมาคือเทวดา   ข้าวสุกในนั้นเป็นข้าวมันปู   หุงร้อนๆ   และทองเมื่อเอาไปให้ช่างทองดูก็บอกว่าเป็นทองบริสุทธิ์  ไม่ใช่ทองเก๊
นอกจากนี้พระภิกษุรูปเดียวกัน ยังให้อธิบดีกรมศาสนาไปตักน้ำมาใส่บาตรให้เต็ม แล้วหยิบเงินเหรียญสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งท่านอธิบดีจับดูแล้วว่าเป็นเหรียญเงินจริงๆ  ใส่ลงไป  จากนั้นพระท่านก็หยิบเหรียญขึ้นมา กลายเป็นเหรียญอ่อน บี้ไปบี้มาได้   ท่านก็บี้จนกลายเป็นแผ่นเงิน พร้อมกับภาวนาคาถาไปด้วย
แผ่นเงินแบบเดียวกันไปปรากฏอยู่ก้นบาตรซึ่งบรรจุแต่น้ำใส    พระภิกษุหยิบขึ้นมาเอาคีมคีบใส่ลงในเตา แล้วคีบขึ้นมาใส่บาตรตามเดิม แผ่นเงินก็กลายเป็นทองสุกปลั่ง  ท่านก็พับครึ่งส่งให้อธิบดีกรมศาสนาครึ่งหนึ่งและนายกพุทธสมาคมครึ่งหนึ่ง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าถึงข่าวนี้ไว้ในบทความของท่าน    ขอเวลาสักพักจะกลับมาต่อตอนจบว่าท่านเห็นอย่างไร
ข่าวนี้ท่านอธิบดีให้สัมภาษณ์เอง และบอกว่าเป็นการพิสูจน์ถึงสัจธรรมของพุทธศาสนา


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 17:36
อ่านมาถึงตรงนี้  ใจคนอ่านทั่วไปก็คงจะแยกเป็น 2 ทางคือ "เชื่อ"หรือ"ไม่เชื่อ"  ถ้าให้เขียนลงไป   ใครเชื่อก็คงบอกว่าเชื่อ ก็อ่านแล้วก็มีหลักฐานน่าเชื่อนี่นา       ใครไม่เชื่อก็ตอบออกมาว่าไม่เชื่อ  เท่านั้นเอง

แต่นักประพันธ์ระดับม.ร.ว.คึกฤทธิ์แล้ว ไม่ได้ตอบง่ายขนาดว่า เชื่อหรือไม่เชื่อ        แต่ท่านให้คำตอบในรูปของคำถามย้อนกลับว่า สิ่งมหัศจรรย์ที่พระภิกษุชราผู้นี้แสดงให้เห็น  มันทำให้เกิดอะไรดีขึ้นมาบ้าง    ท่านอธิบดีกรมการศาสนาบอกว่ามันพิสูจน์หลักธรรมของพุทธศาสนา   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ถามต่อไปว่า  การที่พระรับบาตรจากเทวดาได้ พิสูจน์ถึงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตามหลักของพุทธศาสนาอย่างไร     ตัวท่านเองนั้นนึกไม่ถึง   รวมทั้งพระสงฆ์เสกเงินเสกทองออกมาให้เห็น  พิสูจน์ถึงทางพ้นทุกข์อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาได้อย่างไรแบบไหนกันแน่

เจอคำถามย้อนเข้าไปแบบนี้  อย่าว่าแต่ท่านอธิบดีอาจจะรู้สึกอึ้ง  ชาวพุทธทั้งหลายก็คงต้องย้อนกลับมาถามตัวเองเหมือนกัน  

เมื่อถามคำถามแรกให้อึ้งแล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ยิงต่อด้วยคำถามสองว่า เอาละ เป็นอันเห็นจากเหตุการณ์นี้ว่าเทวดามีจริง มาใส่บาตรพระได้จริง   แต่ก็น่าเสียดายว่าท่านอธิบดีไม่ได้ซักต่อว่า ทำอย่างไรจะให้เทวดามาใส่บาตรให้พระสงฆ์อื่นๆได้บ้าง    เพราะทุกวันนี้พระสงฆ์ที่ขาดแคลนข้าวปลาอาหารในประเทศก็มีอยู่ไม่น้อย      ถ้าพระรู้วิธีบิณฑบาตจากเทวดา   ถึงชาวบ้านไม่ใส่บาตรท่าน  ท่านก็พอจะหาจากเทวดาได้บ้างถ้ารู้วิธี

ส่วนข้อสังเกตของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ต่อไปคือ เทวดาใส่บาตรให้พระรูปนี้ ใส่แต่ข้าวมันปู  แต่ไม่ยักมีกับข้าวใส่มาด้วย    จะให้ฉันเปล่าๆเพราะข้าวมันปูมันๆเค็มๆดีหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ     และยังแถมประคำทองมาให้อีก ๒ เม็ดในบาตร  อาจเป็นได้ว่าเทวดาไม่กินกับข้าว เลยไม่ใส่กับข้าว  แต่ให้ประคำทองมา เพื่อจะให้พระท่านมอบไวยาวัจกรไปซื้อกับข้าวมาให้กระมัง


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 17:37
ส่วนเรื่องเสกเหรียญเงินให้อ่อนกลายเป็นแผ่นทอง   ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็บอกว่างงๆ  เพราะตอนบวช  พระเรียนรับศีลว่าไม่จับเงินจับทองกัน    เรียนกันท่าไหนจึงกลายเป็นพระจับเงินบี้ไปบี้ ให้มาเป็นทองได้       วิธีนี้โบราณเรียกว่าเล่นแร่แปรธาตุ มีทั้งฝรั่งทั้งไทย พยายามจะเปลี่ยนโลหะอื่นเป็นทองกันมานักต่อนักแล้ว  เป็นเวลาหลายพันปี  ไม่เคยมีใครทำสำเร็จ     ท่านก็เพิ่งเห็นสำเร็จคราวนี้เอง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ลงท้ายว่า
" ต่อไปก็เห็นจะร่ำรวยกันละ   ถ้าหลวงพ่อท่านไม่ถูกคนรบกวนจนกระทั่งเจ็บไข้หรือมรณภาพไปเสียก่อน     แต่ผมเชื่อแน่ว่าข่าวอธิบดีกรมการศาสนาคราวนี้ออกมาแล้วละก็    อีกหน่อยเถอะ  เมืองพิจิตรเห็นจะมีคนไปทุกวัน    วันละหลายๆแสนคน   แล้วก็วัดวาอารามของหลวงพ่อก็เห็นจะลำบากละครับคราวนี้     หลวงพ่อท่านก็อายุตั้ง ๑๑๖ ปีแล้ว   จะทนอุบาสกอุบาสิกาที่อยากจะไปได้ทองจากท่านไหวหรือไม่ไหวผมก็ไม่กล้าเดา   ดูๆไปก็สงสารหลวงพ่อ"

อ่านคารมของม.ร.ว. คึกฤทธิ์  เราคงเดาตอนจบของเรื่องนี้ได้     และคงตีความออกว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์เชื่อหรือไม่เชื่อ เรื่องนี้
มาเฉลยตอนจบคราวหน้า


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 18:07
ผมจำได้ลาง ๆ ว่า เรือนไทยที่บ้านซอยสวนพลู ซื้อมาจากอยุธยา นำมาก่อสร้างใหม่ เจ้าของเดิมเป็นยายแก่ ๆ เสียชีวิตแล้ว วิญญาณยังคงผูกติดกันมา ท่านมารู้ความได้จากสามล้อถีบ มาให้การว่า มียายแก่จ้างมาลงที่เรือนไทยนี้ ...ฟังแล้วขนลุกพิกล  :-X


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 12 ก.ค. 11, 18:53
ผมจำได้ลาง ๆ ว่า เรือนไทยที่บ้านซอยสวนพลู ซื้อมาจากอยุธยา นำมาก่อสร้างใหม่ เจ้าของเดิมเป็นยายแก่ ๆ เสียชีวิตแล้ว วิญญาณยังคงผูกติดกันมา ท่านมารู้ความได้จากสามล้อถีบ มาให้การว่า มียายแก่จ้างมาลงที่เรือนไทยนี้ ...ฟังแล้วขนลุกพิกล  :-X

ซื้อมาจาก ตรงหลังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ตะหาก ใกล้ๆ คลองหลอดวัดเทพธิดาราม-วัดบุรณศิริ มีเสาตกน้ำมันติดมาหนึ่งต้น

อาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านไปคุยกับวิญญาณที่สิงอยู่ในเสาตกน้ำมัน แล้วปิดทองที่เสาให้ด้วย จากนั้นมาก็ไม่เคยพบกันอีก

แต่ตอนที่ทหารพรานจากปักธงชัย ลูกพ่อจิ๋ว บุกถล่มบ้านสวนพลู ยายแกไม่ออกมาช่วยเลย ตอนนั้นคงจะไปเกิดใหม่แล้ว


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 20:43
คุณลุงไก่จำแม่นค่ะ

คุณยาย(ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เรียกว่าคุณย่า)คงจะเป็นเจ้าของบ้านเก่า    เจ้าของบ้านใหม่ท่านรู้จักเพราะมีคนถีบสามล้อมาทวงเงินเอากับท่าน ว่ามาส่งผู้โดยสารที่บ้านซอยสวนพลูนี้ เดินเข้าไปในบ้านแล้วไม่กลับมาจ่ายเงิน    ม.ร.ว. คึกฤทธิ์สันนิษฐานว่าเมื่อมีชีวิตอยู่  คุณป้าคงจะชอบนั่งสามล้อไปเที่ยวไหนๆเป็นความบันเทิงใจส่วนตัว
ท่านเล่าด้วยว่าครั้งหนึ่ง ตอนดึกมาเข้าห้องน้ำ มองออกไปผ่านบานเกล็ดชั้นล่างของหน้าต่าง เห็นขาใครคนหนึ่งนุ่งโจงกระเบนเดินเล่นอยู่บนนอกชานกลางแสงจันทร์   แต่ท่านไม่ได้ชะโงกออกไปดูหน้าตา     คงเป็นเพราะใจไม่ถึงพอ

วันที่ทหารบุกบ้านทุบข้าวของท่านแตกหักเสียหาย รวมทั้งเตียงโบราณสมัยรัชกาลที่ ๒   บานประตู(ไม่ใช่เสา) ตกน้ำมันให้เห็นอีกครั้ง  หลังจากเคยตกน้ำมันให้เห็นเมื่อย้ายมาใหม่ๆ  
ส่วนคุณยายที่ไม่ออกมาช่วย   คุณลุงไก่จะให้คุณยายสวมเกราะถือดาบออกมารบกับทหารทั้งกลุ่มหรือไรคะ


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 11, 11:01
มาเล่าเรื่องคุณย่าเจ้าของบ้าน แถมอีกนิดหน่อย

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เคยให้สัมภาษณ์ว่า

" พอมาถึงมาปลูกบ้านเสร็จ    แกก็ไปนั่งสามล้อเที่ยว  ตอนนั้นก็ยังไม่ได้กั้นรั้ว    ผมก็อยู่ในบ้านตรงนี้    พอสักสี่ห้าทุ่มสามล้อก็มาเคาะประตูเรียก   ผมออกไปถามดูว่ามันเรื่องอะไร    สามล้อบอกว่ามีผู้หญิงผู้ใหญ่ๆ แล้วตัดผมสั้นนั่งสามล้อเข้ามา ให้มาส่งที่นี่   แล้วหายขึ้นมาบนเรือนหลังนี้   บ้านของที่บ้านนี้ใช่ไหม   ก็ตอบว่าใช่   สามล้อบอกว่าแกไม่ได้ให้สตางค์    ผมก็ให้ไป   ตอนนั้นราคาดูเหมือน 1.50 บาท บ้าง 2.00 บาทบ้าง   ขึ้นมาจากสาทรบ้าง  ปากตรอกบ้าง   ผมก็ให้สตางค์ทุกครั้ง สองหนสามหน   จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ท่านเลิกสามล้อถีบ ถึงได้หมดเรื่องไป
ต่อมาเพื่อนเขามาเที่ยวที่บ้านนี้    พอเห็นเข้าก็จำได้  บอกว่าบ้านหลังนี้ซื้อมาจากเสาชิงช้าใช่ไหม...ผมก็ตอบว่าใช่...เขาก็บอกว่าโอ้โฮ   ซื้อทำไมผีดุจะตาย    อ้าวทำไมคุณรู้ว่าผีดุ  ผมถาม  เขาบอกว่าตอนที่อยู่เสาชิงช้า    สามล้อไม่กล้าจอดที่หน้าบ้านนี้   ลือกันไปตลอดถนนเสาชิงช้าถึงแถวป้อมมหากาฬ  ว่ามีผู้หญิงชอบนั่งรถสามล้อ   พอมาขึ้นบ้านนี้แล้วหายไปเลย"

คุณย่านอกจากชอบนั่งรถสามล้อเที่ยวแล้ว  ยังมีนิสัยไม่ชอบหมาอีกด้วย   


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 11, 12:26
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์อยู่กับคุณย่ามานานๆ ก็คงคุ้นเคยกันดี   ไม่ได้กลัวกันอีก  กลายเป็นว่าคุณย่าจะเป็นฝ่ายเกรงใจ ไม่กล้าทำอะไรเจ้าของบ้านคนใหม่เสียด้วยซ้ำ
ท่านเล่าว่า

" หมามันนั่งอยู่หน้าประตูแล้วร้องเอ๋งๆ เหมือนถูกคนตีกลางดึก      ได้ความว่า(คุณย่า)ไม่ชอบหมา   ประตูบ้านก็ปิด    หมามานอนอยู่ใต้ชายคาหน้าประตู    เสร็จแล้วหมาก็ร้องเอ๋งๆๆ  หมาตัวนั้นชื่อไอ้เสือดำ     ผมก็ไม่รู้เรื่องอะไร เปิดประตูห้องนอนอีก  หลังออกมาดู   พอเห็นหมาอยู่หน้าประตูเหมือนกำลังถูกตี แต่ก็ไม่เห็นผู้คน  ก็ยืนร้องอยู่อย่างนั้น    ผมก็เดินเข้าไป ไล่หมาออกมาแล้วด่าหมาว่า..พุทโธ่  ก็รู้ว่าเขาไม่ชอบแล้วมึงมานอนทำไมตรงนี้   ว่าแล้วก็หันไปพ้อว่า นี่ก็ไม่รู้อะไร  ลุกขึ้นตีหมูตีหมากลางดึกกลางดื่น     หนวกหูผู้คนเขาจะหลับจะนอน   
ดุทั้งผีทั้งหมาแล้วก็กลับเข้าไปนอน"

อ่านจากข้อเขียนของท่าน  เดาว่าคุณย่าคงอาศัยอยู่ที่บานประตูตกน้ำมันบานนั้นละค่ะ


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 11, 12:35
กลับมาเรื่องพระรับบาตรเทวดากับเสกเงินเป็นทอง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านก็ไม่เชื่อนั่นแหละ  แต่ความเป็นนักประพันธ์ทำให้ท่านไม่ตอบสั้นๆ ว่า ไม่เชื่อ  ซึ่งจะนำไปสู่การถกเถียงทะเลาะกันอีกนาน เพราะฝ่ายเชื่อก็จะยึดมั่นกับสิ่งที่เชื่อ   ฝ่ายไม่เชื่อก็ยึดมั่นกับสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ  ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นถือมั่นกับเรื่องเฉพาะหน้า ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพุทธศาสนา   หรือถ้าเกี่ยวก็เป็นกระพี้ ไม่ใช่แก่น
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ใช้โวหารอธิบาย ที่ทำให้คนอ่านได้สติขึ้นมาว่า เออ ถ้ามันจริงแล้วคนดูได้อะไร    เกี่ยวกับการดับทุกข์ตรงไหน   เมื่อได้สติขึ้นมาแล้ว ท่านก็จะชี้แจงต่อไปให้เกิดความสงสัยในพิรุธต่างๆต่อมาได้    เรียกว่าสามารถปลดความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนอ่านลงไปได้อีกเปลาะหนึ่ง
ส่วนคำตอบว่า เรื่องนี้จริงหรือไม่จริงนั้น   คำตอบคือไม่จริง  ต่อมาท่านอธิบดีกรมการศาสนาก็ออกมายอมรับว่า เรื่องนี้ไม่จริง   

ดิฉันยังจำเรื่องนี้ได้เพราะเป็นข่าวใหญ่ลงหนังสือพิมพ์ติดต่อกันนานหลายวัน     ต่อมา ท่านอธิบดีออกโทรทัศน์แถลงเรื่องนี้ด้วย เมื่อความจริงถูกแฉออกมาว่าเป็นการเล่นกลเท่านั้นเอง   


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 14 ก.ค. 11, 12:57
เพิ่งพบเรื่องที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวถึงประตูบานนี้ ท่านเล่าว่า

ในระหว่างนั้น วันหนึ่งผมเกิดร้อนใจอย่างไรไม่ทราบ ก็ได้ขับรถไปถึงที่บ้านนั้นอีกแล้วก็ขึ้นไปดู ปรากฎว่าบานประตูใหญ่สองบานซึ่งเคยติดอยู่เมื่อผมไปตรวจครั้งแรกนั้น บัดนี้ได้หายไปแล้ว ผมก็โวยหาว่าเทศบาลเบี้ยว ทางเทศบาลก็ตกใจบอกว่าหายไปได้อย่างไรไม่รู้ไม่เห็นเลย จึงสอบสวนกันภายในเทศบาลก่อน ก็ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่กองช่างของเทศบาลได้มาถอดประตูคู่นั้นไป ด้วยความประสงค์ว่าจะเอาไปทำม้านั่งสาธารณะ ทางเทศบาลก็ไปเรียกคืนมามอบให้ผม ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นเจ้าของแล้ว

สำหรับบานประตูคู่นี้ ผมได้หารถบรรทุกไปขนเอามาจากเทศบาลในวันนั้นและเอามามาแช่ไว้ในบ่อน้ำที่บ้านผม เพื่อล้างให้สะอาด บานประตูคู่นั้นทำด้วยไม้สักทองหนาประมาณหนึ่งนิ้วหรือนิ้วครึ่ง มีดาลอยู่ตรงกลางสลักสวยงามมาก ผมเอาบานประตูคู่นั้นแช่ไว้ในบ่อหลายวัน ระหว่างนั้นก็จัดการไปรื้อบ้านนั้นมายังที่ผมที่ซอยพระพินิจ และไปหาช่างบ้านนอกจากตำบลลาดชะโด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นคนที่คุ้นเคยกับผมมาตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นเวลาร่วมสองร้อยปีมาแล้ว
...
เมื่อเอาบานประตูใส่เข้าไปและยังมุงหลังคาไม่เสร็จนั้น บานประตูก็ยังขาวสะอาด เป็นไม้สักทองรู้สึกว่ามีค่ามาก

อ้างถึง - "ตำนานเรือนไทยในซอยสวนพลู" จากคอลัมน์ซอยสวนพลู วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๔ รวมพิมพ์ในหนังสือสยามรัฐฉบับพิเศษ "คึกฤทธิ์กับความเป็นไทย" ครบรอบ ๘๒ ปี คึกฤทธิ์ ปราโมท
 
(ยังมีต่อ -)

หมายเหตุ - ผมกล่าวไว้ในความเห็นก่อนว่าบ้านหลังนี้อยู่หลังตึก กทม. ติดคลองหลอดวัดราชนัดดา "ผิดครับ" ในบทความนี้บอกว่า บ้านหลังนี้อยู่ใกล้ๆ โบสถ์พราหมณ์ครับ ขออภัย


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 14 ก.ค. 11, 13:04
กลับมาเรื่องพระรับบาตรเทวดากับเสกเงินเป็นทอง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านก็ไม่เชื่อนั่นแหละ  แต่ความเป็นนักประพันธ์ทำให้ท่านไม่ตอบสั้นๆ ว่า ไม่เชื่อ  ซึ่งจะนำไปสู่การถกเถียงทะเลาะกันอีกนาน เพราะฝ่ายเชื่อก็จะยึดมั่นกับสิ่งที่เชื่อ   ฝ่ายไม่เชื่อก็ยึดมั่นกับสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ  ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นถือมั่นกับเรื่องเฉพาะหน้า ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพุทธศาสนา   หรือถ้าเกี่ยวก็เป็นกระพี้ ไม่ใช่แก่น
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ใช้โวหารอธิบาย ที่ทำให้คนอ่านได้สติขึ้นมาว่า เออ ถ้ามันจริงแล้วคนดูได้อะไร    เกี่ยวกับการดับทุกข์ตรงไหน   เมื่อได้สติขึ้นมาแล้ว ท่านก็จะชี้แจงต่อไปให้เกิดความสงสัยในพิรุธต่างๆต่อมาได้    เรียกว่าสามารถปลดความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนอ่านลงไปได้อีกเปลาะหนึ่ง
ส่วนคำตอบว่า เรื่องนี้จริงหรือไม่จริงนั้น   คำตอบคือไม่จริง  ต่อมาท่านอธิบดีกรมการศาสนาก็ออกมายอมรับว่า เรื่องนี้ไม่จริง   

ดิฉันยังจำเรื่องนี้ได้เพราะเป็นข่าวใหญ่ลงหนังสือพิมพ์ติดต่อกันนานหลายวัน     ต่อมา ท่านอธิบดีออกโทรทัศน์แถลงเรื่องนี้ด้วย เมื่อความจริงถูกแฉออกมาว่าเป็นการเล่นกลเท่านั้นเอง   


เรื่องของพระรับบาตจากเทวดา ขออ้างบทความเรื่องเล่าของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ลูกศิษย์ของหลงพ่อปานอีกครั้งครับ
จากเรื่อง ประวัติหลวงพ่อปาน (พระครูวิหารกิจจานุการ) วัดบางนมโค

http://www.luangporruesi.com/77.html

และ


http://www.luangporruesi.com/78.html



กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 15 ก.ค. 11, 08:46
ต่อจากความเห็นที่ ๗๐

แต่พอมุงหลังคาเสร็จได้สักสองวัน ผมก็ไปดูบ้านของผมอีกในตอนเช้า ปรากฎว่ามีใครเอาน้ำมันเครื่องมาราดที่ประตูเป็นดวงใหญ่ๆ สองดวง ผมก็โมโหฉุนเฉียวอยู่คนเดียว เพราะเสียแรงทำความสะอาดบานประตูทั้งสองนี้อย่างระมัดระวัง แล้วอยู่ๆ ก็มีใครเอาน้ำมันเครื่องมาราดของผมเล่นเฉยๆ จะมีเจตนาอย่างไรก็ไม่ทราบ ผมก็นึกในใจว่า "ใครเอาน้ำมันมาราดประตูของกู?" แล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อไปอีก นอกจากถอดบานประตูทั้งสองนั้นลงบ่ออีก ล้างอีก กัดด้วยโซดาไฟอีก ผึ่งจนแห้งดี แล้วก็เอาขึ้นใส่เข้ากรอบตามเดิม

อยู่มาอีกสามสี่วัน ก็มีใครเอาน้ำมันเครื่องมาราดที่บานประตูผมอีก ผมก็เอาลงล้างอีกแล้วเอาขึ้นใส่ที่อีก ต่อมาอีกสองสามวันก็มีใครเอาน้ำมันเครื่องมาราดที่บานประตูผมอีก

ผมก็ชักจะสงสัยว่าใครหนอจะจงเกลียดจงชังเอาน้ำมันเครื่องของสกปรกมาราดประตูซึ่งทำความสะอาดแล้วด้วยความจงใจเจตนา ซึ่งอาจจะเป็นเจตนาร้ายอย่างไรผมไม่ทราบ ผมก็เลยขี้กียจทำอะไรต่อไป ทิ้งบานประตูนั้นไว้โดยที่ไม่ไปล้างและไม่ขัดเอาน้ำมันออกแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ต่อมาผมได้ไปสังเกตดูใกล้ชิด แลเห็นว่าน้ำมันนั้นไม่ใช่น้ำมันที่มีคนเอามาราดมารดหรือมาาจากภายนอก แต่เป็นน้ำมันที่ซึมออกมาจากบานประตูนั้นเอง เมื่อผมเห็นอย่างนั้นผมก็ขนลุก ยกมือไหว้ประตูเอาเฉยๆ โดยไม่ได้เจตนา คล้ายๆ กับว่าเป็นความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเจตนา

และเมื่อไม่รู้จะทำอะไรอีก ตกบ่ายผมก็ไปหาทองใบหลายแผ่นมาปิดเข้าไปที่บานประตูตรงที่เปื้อนน้ำมันนั้น ทองที่ปิดเข้าไปก็ปิดแนบแน่น ดูเหมือนจะซึมเข้าไปในเนื้อไม้เลย ถึงบัดนี้ทองที่ปิดหนแรกนั้นก็ยังอยู่

....


"อยู่มาอีกสามสี่วัน ก็มีใครเอาน้ำมันเครื่องมาราดที่บานประตูผมอีก ผมก็เอาลงล้างอีกแล้วเอาขึ้นใส่ที่อีก ต่อมาอีกสองสามวันก็มีใครเอาน้ำมันเครื่องมาราดที่บานประตูผมอีก"

สังเกตประโยคนี้ ท่านอาจารย์ฯ ใช้คำว่า "อีก" ถึง ๖ ครั้ง






กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 11, 09:39
คุณลุงไก่ไม่มาต่อเรื่องนี้  จึงขอเล่าต่อเอง

บานประตูปิดทองตกน้ำมันอีกครั้ง หลังเกิดเหตุการณ์ตำรวจบุกบ้านม.ร.ว.คึกฤทธิ์  เข้าไปทุบข้าวของเสียหาย  ทำร้ายสัตว์เลี้ยงของท่านและเอาปืนยิงห้อง    จากนั้นเจ้าของบ้านก็พบว่าบานประตูตกน้ำมัน  มีน้ำมันไหลจั้กๆ  ออกมาเยิ้มจนทองที่ปิดไว้ละลายหมด   ตกน้ำมันทั้งแผ่น
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ท่านบอกว่า...คงตกอกตกใจหรือโกรธมาก
ท่านก็เอาดอกไม้ธูปเทียนไปจุด  บอกกล่าวว่าไม่มีอะไรแล้ว  ขอให้สบายใจได้  ท่านเอาน้ำอบไทยไปประพรม  ประแป้ง แขวนพวงมาลัย  ผูกผ้าสีชมพู  คงจะทำนองรับขวัญ
วันรุ่งขึ้น น้ำมันก็แห้งหมด
****************************
ความเป็นนักประพันธ์อีกประการหนึ่งของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ คือท่านสามารถทำอะไรได้หลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน  ซึ่งคนทั่วไปทำไม่ได้  เช่นสามารถเขียนต้นฉบับได้   ทั้งๆตอนนั้นมีคนมานั่งห้อมล้อมอยู่เต็มโต๊ะ 
เช้าๆลงมานั่งอ่านหนังสือพิมพ์  กินกาแฟ  สักพักก็เขียนหนังสือไปด้วย    แม้เมื่ออายุมาก ก็ยังไม่เว้นการทำงาน   ท่านเขียนหนังสือทุกวัน   แม้ในช่วงป่วย เดินไม่ได้  หายใจไม่ออก ก็ยังเขียนหนังสืออยู่
จนเข้าไอซียู จึงเลิกเขียน เพราะมือจับปากกาไม่ได้   แต่ก็ยังไม่หยุดทำงาน  ยังพูดให้อัดเทป ออกมาเป็นบทความได้

ม.ล. รองฤทธิ์ ปราโมช บุตรชายของท่านให้สัมภาษณ์ว่า

" ความสามารถในการเขียนบทความบนโต๊ะ   ที่คนห้อมล้อมมากมาย  แต่ท่านกลับทำได้ ด้วยสติ ด้วยสมาธิ  และความเป็นผู้มีปัญญาเลิศ   คือสิ่งที่ไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้   และเป็นความสามารถที่พิเศษเอามากๆ  ด้วยใจที่รักในงานเขียนของท่าน   ก็ไม่ผิดแปลกอะไร ที่ท่านจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์    เขียนไม่ได้ก็อัดเทปเอา   น้อยคนนักที่จะคิดหรือทำแบบท่าน"


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 19 ก.ค. 11, 10:01
ขอ "แปะ" เรื่องนี้ไว้ก่อนครับ คือว่าไปติดใจกับคำว่า "ครูแจ้งถนนอาจารย์" เลยต้องไปค้นดูว่า "ถนนอาจารย์" นี่มีแถววัดรฆัง-วังหลังด้วยหรือ
"หม่อมเป็ดสวรรค์" ทำให้ลุงไก่งงหลายระลอก ต้องมาหาเป็ดพะโล้กับเป็ดย่างไฟแดงเจ้าอร่อยที่พระประแดง ถนนเจริญนคร (สายใน) ด้านซ้ายมือ หน้าอู่ซ่อมรถ ก่อนถึงวัดไพชยนต์ฯ
เดินในซอยวังหลังทะลุวัดระฆังนี้ตั้งแต่ยังไม่ถึงสิบขวบ พบแต่ "ตรอกศาลาต้นจันทร์" ข้ามเรือท่า "คุณโกย" ไปท่ามหาราช แค่ ๒๐ สตางค์ ท่าเรือ "สุภัทรา" เก็บ หนึ่งสลึง
แต่ก็ยังโชคดีที่ได้เห็นโรงหล่อพระในซอยวัดระฆังนี้ (ปัจจุบันจะยังมีอยู่อีกหรือไม่?) ต้องเดินเข้าตรอกเล็กๆ แยกจากซอยไปทางคลองวัดระฆัง ด้านที่ติดกับกรมอู่ทหารเรือ อยู่หลังตลาดบ้านขมิ้น
กับได้เคยดูหนังที่โรงหนังบ้านขมิ้น ทีนั่งไม่ได้เป็นเบาะนุ่มสบายติดแอร์เหมือนโรงหนังสมัยนี้หรอกครับ
เป็นไม้กระดานหน้ากว้างสักแปดนิ้ว หนาสักนิ้วหนึ่ง วางพาดไปตลอดความกว้างของโรงหนัง ค่าตั๋วก็แถวหน้าหนึ่งบาท แถวกลางสามบาท แถวหลังก็ห้าบาท


เดินข้ามถนนอรุณอัมรินทร์เข้าไปทางถนนตัดใหม่ข้างโรงพยาบาลธนบุรีตัดกับซอยบ้านช่างหล่อเดิม ไปหามะตูมเชื่อมอร่อยๆ ที่ตรอกมะตูมได้นะครับ

เมื่อสักห้าสิบปีก่อน ในซอยวัดระฆัง มีช่างทำซอคนหนึ่งชื่อ ลุงผึ่ง มีฝีมือดีมากในการทำซอ ทั้งซออู้ ซอด้วง ลูกค้าขาประจำก็มาจากทางท่าช้างวังหน้าบ้าง ท่าช้างวังหลวงบ้าง


หาหนังสืออยู่เล่มหนึ่งไม่พบ เรื่องย่อว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ รู้สึกรำคาญที่ช่างเรียงพิมพ์หญิงในโรงพิมพ์สยามรัฐท้องไม่มีพ่อบ่อยๆ ไม่รู้จะจัดการอย่างไร
วันหนึ่งท่านก็ "ปิ๊ง" กับการแก้ปัญหาเรื่องนี้  ท่านจึงจัดการเขียนป้ายติดไว้ซะเลยว่า "ห้ามเฮ็ดช่างเรียง" ปรากฎว่าวิธีนี้ได้ผลชะงัดจริงๆ




กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 11, 11:54
คำถามหนึ่งที่ได้รับอยู่บ่อยๆ คือ ทำยังไงถึงจะเขียนหนังสือได้   คำตอบที่ให้ไปก็คือ ลงมือเขียน แล้วจะรู้เอง  อย่ามัวแต่ถาม  แล้วจดๆจ้องๆ อยู่นั่นเอง
แต่โดยส่วนตัวแล้ว เชื่อว่าคนที่เป็นนักประพันธ์ มี 2 ประเภท คือคนที่เกิดมาเป็น หรือ born to be   กับคนที่เรียนรู้เพื่อจะเป็น หรือ learn to be  

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ท่านทำบุญอันใดมาก็สุดจะรู้ได้  แต่ว่าท่ามกลางความสามารถอย่างอื่นอันเหลือคณานับ   ท่านเกิดมาเป็นนักประพันธ์   ถ้าหากว่าท่านเกิดก่อนหน้านี้สัก 200 ปี เมื่องานเขียนสร้างสรรค์ทั้งหลายของไทยยังเขียนกันด้วยร้อยกรอง  ท่านก็คงได้เป็นกวีเอกผู้หนึ่ง
ม.ร.ว. บุญรับ (ปราโมช)พินิจชนคดี พี่สาวของท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่า

" เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนมาแต่เล็ก    เวลานอนไม่มีใครกล่อม ก็จะกล่อมตัวเองจนหลับ  เช่น "เจ้าช่ออัญชัน  ฉันรักทุกวัน  รู้ตัวบ้างไหม  เจ้าช่ออบเชย อย่ามารับฉันเลย  ฉันเป็นขงจง(คนจน)"  เพราะยังพูดไม่ชัด    บางวันก็ร้องว่า " นกน้อยเอย คาบฝอยมาทำรัง   ตัวผู้เขาทิ้งเสีย  ตัวเมียก็ไม่อีนัง   วิ่งกระเซอะกระซัง กลับมารังเก่าเอย-เก่าเอย"
 

น่าอัศจรรย์เมื่อคิดว่า เด็กน้อยที่ยังพูดไม่ชัด  อายุคงจะไม่เกิน 5-6  ขวบ  อยู่ในวัยที่มีแม่หรือพี่เลี้ยงกล่อมให้นอน  สามารถคิดคำร้อยกรองคล้องจองด้วยตัวเอง  ได้เนื้อถ้อยกระทงความ   สัมผัสเสียงสระได้ถูกต้องตามหลักฉันทลักษณ์เสียด้วย   เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองในวัยก่อนวัยเรียน  
แม้แต่คนเรียนหนังสือมาหลายๆปี ก็ยังแต่งไม่ได้ถูกต้อง ก็มีอยู่มากมาย  เด็กอย่างม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เห็นจะมีหนึ่งในล้าน
นึกถึงตำนานศรีปราชญ์ ที่ว่าศรีปราชญ์แต่งโคลงต่อจากโคลงของสมเด็จพระนารายณ์ได้  ถ้าศรีปราชญ์มีตัวจริงก็คงจะไอคิวใกล้เคียงกับคุณชาย


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ค. 11, 17:08
หลายๆคนคงจะจำบทบรรยายท้ายนิยายเรื่องนี้ได้

“ ทุกคนมีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง และกรรมนั้นก็พามาถึงอวสานอันเดียวกัน แต่กรรมนั้นคือกรรมใดเล่า ที่พาเอาความตายมาถึงคนเป็นอันมากในเวลาเดียวกัน
สิ่งที่เราผู้มิใช่พรหมพอจะมองเห็นได้นั้นก็มีแต่อย่างเดียว คือมรณะซึ่งทุกคนกลัวเกรงนั้น ในบางกรณีก็เป็นการลงโทษอย่างแรงของกรรมอันชั่ว บางครั้งก็เป็นผลสนองตอบแทนกรรมอันดีบริสุทธิ์ บางคราวก็เป็นกุญแจไขปัญหา และบางโอกาสก็เป็นยาสมานแผล ในเมื่อยาอย่างอื่นไม่สามารถรักษาให้หายได้”

หลายชีวิต เป็นนิยายเล่าถึงชีวิตของตัวละครเอกๆในเรื่อง แต่ละชีวิตไม่เกี่ยวกัน  แต่ทุกคนมาเชื่อมโยงกันด้วยสิ่งเดียวคือโดยสารเรือลำเดียวกัน และเรือล่มลงเพราะพายุฝน  ทำให้ตัวละครเหล่านี้เสียชีวิตทั้งหมด
อะไรทำให้คนซึ่งแตกต่างกันทั้งเพศ วัย ฐานะ ประสบการณ์ ต้องมาพบจุดจบเดียวกัน  นี่คือคำถามต้นเรื่อง

ในตอนแรกก่อนจะเขียนเรื่องนี้  นักเขียนกลุ่มสยามรัฐตกลงกันว่าจะเขียนกันคนละตอน  ชีวิตตัวละครของใครก็ของคนนั้น  แต่พอม.ร.ว.คึกฤทธิ์เริ่มต้นเขียนถึงชีวิต "ไอ้ลอย" ตัวละครเอกในตอนแรกจบลง    ทุกคนที่เคยตกลงกันก็เลิกสัตยาบัน ไม่มีใครยอมเขียนอีก   ท่านจึงต้องเขียนไปคนเดียวจนจบเรื่อง

"ไอ้ลอย" เป็นการเปิดตัวละครที่แรงที่สุด เท่าที่นักประพันธ์คนหนึ่งจะสร้างได้    ถ้ามองในแง่การสร้างตัวละครแบบตะวันตก  ไอ้ลอยเป็นตัวละครที่เขาเรียกว่า flat  หรือแบน หรือด้านเดียว    เพราะมันมีนิสัยเดียวคือใจทมิฬหินชาติเท่าที่มนุษย์จะเป็นได้   ตัวละครแบบนี้จะว่าสร้างง่ายก็ง่าย เพราะมีด้านเดียวคือด้านเลว   ไม่ต้องไปพะวงว่าจะต้องสร้างด้านดีมาเพิ่มให้ซับซ้อน     แต่จะว่าสร้างยากก็ยาก  เพราะความด้านเดียวนั้นทำให้ยากที่จะสมจริง
นักประพันธ์เอกที่เลือกเขียนตัวละครด้านเดียว จึงเท่ากับพิสูจน์ฝีมือตัวเองอย่างแท้จริง    เปรียบเหมือนวาดรูปบนกระดาษแบนๆแผ่นเดียวยังไงให้ดูลึกสามมิติได้



กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ค. 11, 09:34
เมื่อ " ไอ้ลอย" เป็นทารกแรกเกิด  ก็ถูกจับใส่หม้อลอยน้ำมาตามบุญตามกรรม  บังเอิญมีหญิงชราใจดีพบเข้า ก็เก็บเอาไปเลี้ยง ตั้งชื่อให้ตามที่มาว่า "ไอ้ลอย"
ไอ้ลอยเป็นเด็กหน้าตาน่ารัก  ช่างพูด  เฉลียวฉลาด เป็นที่รักของแม่บุญธรรมและหลานชายของแม่ซึ่งอยู่ในฐานะพี่ชายบุญธรรมของไอ้ลอย    โตขึ้นมาเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดี  ช่างประจบเอาใจผู้ใหญ่  อายุครบเกณฑ์ ไอ้ลอยก็ไปเป็นทหารเกณฑ์  ฝึกได้ดีโดยเฉพาะเรื่องอาวุธจนครูฝึกออกปากชม     จะว่าไปถ้าเทียบกับเด็กหนุ่มอื่นๆในละแวกเดียวกัน ไอ้ลอยก็ดูไม่ได้แปลกแยกจากคนอื่นๆนัก   
ฝีมือทางการประพันธ์ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  คือ สร้างไอ้ลอยให้เป็นฆาตกรโดยจิตวิญญาณ    ด้วยวิธีเล่าเรื่องผ่านพฤติกรรมและความคิดของเจ้าลอย    เมื่ออ่าน เราจะพบน้ำเสียงการเล่านั้นเฉยเมย ไม่สะทกสะท้าน   เหมือนความรู้สึกของเจ้าลอยที่ฆ่าคนไปทีละคน ทีละคน โดยไม่สะดุ้งสะเทือน   ไม่มีความหวาดหวั่นสะเทือนใจ    อย่างวิญญูชนพึงรู้สึกกับการกระทำชั่ว
ไอ้ลอยมองโลกอย่างไร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็สามารถสะท้อนผ่านน้ำเสียงการเล่าได้อย่างนั้น


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ค. 11, 09:36
ไอ้ลอยฆ่าผู้หญิงที่เป็นเมียคนแรกของมัน   คือแม่ม่ายสาวใหญ่ชื่อเจ๊ทองคำ ผู้เมตตามันด้วยใจบริสุทธิ์แต่แรก แต่แล้วก็ตกเป็นเหยื่อราคะด้วยความอ่อนแอของเธอเอง      ไอ้ลอยฆ่าด้วยการไปหาซื้อยาขับเลือดมาให้เจ๊กิน เพราะเจ๊ไม่อาจท้องไม่มีพ่อได้    เธอก็กินเสียจนตกเลือดเสียชีวิต
คืนที่เธอตาย   ไอ้ลอยก็ข่มขืนนางสวน ลูกสาวเจ๊ผู้ที่มันหมายปองมานาน   จนนางสวนผูกคอตายในตอนเช้า   เจ๊ก็ตายอยู่ในห้อง   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าถึงความเหี้ยมโหดของไอ้ลอย ว่ามันมายืนรวมกลุ่มกับหนุ่มๆด้วยกัน  เป็นไทยมุงหน้าห้องแถวของผู้หญิงสองคนนี้  โดยไม่รู้สึกรู้สมอะไร

จากนั้นไอ้ลอยก็ฆ่าแม่บุญธรรมและพี่ชาย ด้วยการเป็นสายให้โจรเข้าปล้นบ้าน แล้วลงมือยิงทิ้งคนทั้งสองเอง     เพื่อครอบครองบ้านช่องไร่นาสาโทแต่คนเดียว 
ไอ้ลอยไปเป็นสมุนโจร ก็ลอบยิงหัวหน้าโจรเพื่อจะขึ้นเป็นใหญ่เสียเอง  ปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ทุกรายไป 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทำให้เห็นชัดเจนว่าไอ้ลอยเกิดมาเพื่อฆ่า  และฆ่าโดยไม่สะทกสะท้าน ราวกับคนเป็นผักปลา     มันทำเหมือนชดเชยที่มีคนตั้งใจจะฆ่ามันเสียแต่แรกเกิด ด้วยการลอยน้ำมันไป

ท้ายสุด  สายน้ำที่ให้โอกาสมันรอดชีวิตตั้งแต่เกิด ก็กลับมาเอาชีวิตมันกลับไป   เพราะฟ้าดินให้โอกาสไอ้ลอยมาหนหนึ่งแล้วเมื่อมันเป็นทารก แล้วมันทำอย่างไรกับโอกาสที่ได้รับ   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ชี้ตรงนี้ให้เห็นในตอนท้ายเรื่อง
เป็นบทขมวดตอนจบอย่างมีศิลปะของนักประพันธ์    จบลงอย่างสมบูรณ์ไม่มีสิ่งใดค้างคาใจ


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ค. 11, 09:42
การสร้างตัวละครที่ถือว่ามีศิลปะ คือต้องทำให้คนอ่านรู้จักตัวละครนั้นเหมือนมีลมหายใจ มีชีวิต มีเลือดเนื้อเป็นของตัวเอง   ไม่ใช่เห็นแต่ตัวหนังสือบรรยายถึงคนนั้น
และที่สำคัญคือ คนอ่านจะต้องไม่รู้สึกว่าผู้ประพันธ์กำลังเล่าถึงตัวเอง แต่สวมหน้ากากว่าเป็นตัวละคร   นักเขียนหัดใหม่หลายคนพลาดตรงนี้ คือเอาตัวเองเป็นตัวละครให้คนอ่านจับได้

ถ้าจะมองอย่างหาเรื่องว่า ตัวจริงของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็คงเป็นไอ้ลอยละกระมัง  ถึงเขียนได้สมจริงสมจังนัก   ก็ต้องดูการสร้างตัวละครต่อไป คือพระเสม   ผู้ซึ่งเดินขึ้นจนถึงเส้นทางพระอรหันต์
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็เข้าถึงจิตวิญญาณของตัวละครพระเสมได้ไม่น้อยไปกว่าเข้าถึงไอ้ลอย     ถ้าจะหาว่าท่านเป็นไอ้ลอย ก็ต้องหาความให้ครบถ้วนว่าท่านเป็นพระเสมด้วย ถึงจะสมบูรณ์

หมายเหตุ  โดยส่วนตัวคิดว่า พระเสม มีอะไรบางอย่างคล้ายๆกับพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิตอยู่บ้าง    จนอาจเป็นแรงบันดาลใจของผู้ประพันธ์ก็เป็นได้


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 11, 08:56
ขอกลับมาพูดถึง"ไอ้ลอย" อีกสักนิดค่ะ
ในเมื่อไอ้ลอยเป็นตัวละครแบบ flat มีด้านเดียวคือด้านชั่วร้ายเลวทราม จนอาจเรียกได้ว่าเป็นโรคจิตประเภท Psychopathy   คือไม่มีสามัญสำนึกอย่างมนุษย์ทั่วไป   ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จึงแต่งเติมรายละเอียดลงไปให้เห็น  เพื่อเพิ่มความสมจริง     
ที่เห็นชัดคือท่านสร้างให้ไอ้ลอยเป็นหนุ่มรูปงาม  ช่างพูดช่างเล่นหัว เป็นมิตรกับชาวบ้าน     ข้อนี้เป็นความฉลาดของผู้เขียน   ที่สร้างความมีเสน่ห์ให้ไอ้ลอยเป็นหน้ากากอำพรางความเลวร้าย     ถ้าหากว่าไอ้ลอยเป็นผู้ชายขี้ริ้ว  หน้าตาโหด ไม่น่าไว้ใจสมกับนิสัย   ไอ้ลอยก็คงจะทำความเลวไม่ได้ง่ายถึงขนาดนี้  เพราะคนอื่นจะระแวงแต่แรก 
อย่างที่สองคือท่านสร้างให้ไอ้ลอยเป็นคนฉลาด   ข้อนี้ก็สำคัญ และสมเหตุผล    ถ้าหากว่าไอ้ลอยเป็นคนเลวแต่โง่  คงถูกจับได้เสียตั้งแต่ประกอบอาชญากรรมครั้งแรก     แต่นี่ไอ้ลอยก็ฉลาดพอจะอำพรางความเป็นมหาโจรไว้แนบเนียน   มันไปปล้นในถิ่นอื่นเพื่อไม่ให้เพื่อนบ้านระแคะระคาย  โดยอ้างว่าไปค้าขายต่างถิ่น  กลับมาบ้านทีไรมีเงินทองกลับมาเพิ่มขึ้น   ชาวบ้านก็นึกว่าไปค้าขายมีกำไร  เป็นเรื่องธรรมดาของพ่อค้า
นอกจากนี้  ไอ้ลอยวางตัวดี ไม่เคยก่อเรื่องวิวาททะเลาะเบาะแว้งกับใคร      ชาวบ้านที่ไหนจะเฉลียวใจสงสัยว่าชายนิสัยดี มีฐานะพอสมควร คือมีเรือกสวนไร่นาของตัวเอง  มีกินมีใช้ไม่เดือดร้อนมาแต่เกิด   ที่จริงคือมหาโจรที่ปล้นสะดมเป็นที่น่าหวาดกลัวในอีกหลายจังหวัด

รายละเอียดที่ใส่เข้าไปอย่างสมเหตุผล  คือน้ำหนักที่ทำให้ไอ้ลอยมีชีวิตจิตใจเป็นตัวตนเด่นชัด จนบรรดาเพื่อนร่วมงานของท่านเมื่ออ่านชีวิตของไอ้ลอยจบแล้ว  ก็ไม่มีใครอยากจะเขียนชีวิตอื่นๆด้วยตัวเองอีก   ยกหลายชีวิตใส่พานให้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ด้วยความเต็มใจ


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 11, 14:44
     ตัวละครต่างๆในหลายชีวิต แม้ว่ามีที่แตกต่างกัน แต่ที่ไปเหมือนกันคือทุกคนมาจบชีวิตในอุบัติเหตุเรือล่ม      วิธีเขียนแบบนี้นับว่ายากเย็น    เพราะจะต้องกำหนดให้ตัวละครที่แตกต่างกันทั้งเพศ วัย ฐานะ  เหตุการณ์ในชีวิต มาพบจุดจบสำคัญ    จบแบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าจบแบบลอยๆ  แบบออกจากบ้านไปจ่ายตลาด   แล้วเผอิญเรือล่มก็เลยตายไปง่ายๆ   แต่เป็นจุดจบที่มีความหมายอย่างยิ่งกับตัวละครทุกตัว
     เมื่ออ่านแล้ว อย่างหนึ่งที่เห็นก็คือมัจจุราชได้หยิบยื่นความตายให้ตัวละครทุกตัวอย่างมีเหตุผลทั้งสิ้น      สำหรับเจ้าลอย ความตายเป็นการลงโทษที่สมควร เมื่อกฎหมายบ้านเมืองเอื้อมไม่ถึงมัน     สำหรับพระเสม  ความตายได้ปลดเปลื้องโรคร้าย ให้พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้ล่วงพ้นจากกรรมในชาตินี้  ไปสู่ปลายทางแห่งการหลุดพ้น  ดีกว่าท่านจะต้องเจ็บป่วยทรมานทรกรรมไปอีกหลายปีโดยเปล่าประโยชน์   
     สำหรับตัวละครบางตัว  ความตายก็เป็นทางออก เมื่อการมีชีวิตมาถึงทางตันแล้ว  อย่างละม่อมหญิงสาวผู้กระทำมาตุฆาต ด้วยความคับแค้นในใจมายาวนาน    แต่เมื่อแม่ตายไป  ชีวิตละม่อมก็ว่างเปล่า  ไม่มีความหวัง ไม่มีอนาคต และไม่มีทางไป      เช่นเดียวกับทองโปรย  หญิงสาวผู้เหนื่อยหน่ายกับอยากได้อะไรก็ได้อย่างง่ายดาย    จนไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ในเมื่อไม่มีการดิ้นรน  ไม่ต้องมานะพยายาม  ไม่มีเป้าหมาย  ผิดกับมนุษย์อื่นทั้งหลาย     ความตายจึงเป็นสิ่งที่ทองโปรยตอบรับด้วยความพอใจ   

     ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์สร้างชีวิตที่ตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์   เจ้าลอยตรงข้ามกับพระเสม   ละม่อมตรงข้ามกับทองโปรย   ท่านชายเล็กผู้วิ่งหนีพระเกียรติของความเป็นเจ้า ตรงข้ามกับจั่นผู้ไขว่คว้าหาเกียรติยศเหนือชาวบ้านธรรมดา  แต่ทั้งท่านชายและจั่นก็ผิดหวังทั้งคู่


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 11, 21:00
ฝีมือของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ แสดงออกในงานเขียนประเภทสารคดีอีกด้วย    ความที่งานเขียนประเภทนี้ มุ่งสาระเป็นหลักโดยตัวของมันเอง   คนเขียนจำนวนมากจึงไม่ทันได้นึกว่า ในสาระ ก็สามารถจะใส่ความบันเทิงลงไปได้ด้วย     
ในเมื่อมองข้ามข้อนี้ไปเป็นส่วนมาก  สารคดีที่มีเนื้อหาดีๆหลายเรื่องจึงกลายเป็นเรื่องแห้งแล้งน่าเบื่อ      คนอ่านน้อยคนนักที่จะเสพกันได้เพลิดเพลิน  โดยไม่ง่วงหลับไปเสียก่อน    สารคดีจึงกลายเป็นยาหม้อใหญ่ไปโดยปริยาย 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก้าวข้ามเส้นแห่งความน่าเบื่อนี้ไปได้  โดยทำให้สารคดีไม่ว่ายาวหรือสั้น เป็นเรื่องสนุกสนานชวนอ่านได้ด้วยคารมโวหารอันคมคาย และแฝงอารมณ์ขัน       คอลัมน์ในสยามรัฐที่ท่านเขียนเป็นประจำทุกวันเป็นพยานยืนยันได้ว่า คนอ่านติดกันทั่วทุกมุมเมือง เป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี      ความจริงคอลัมน์ดีๆในหนังสือพิมพ์ก็มีอยู่ในหลายฉบับ   สารคดีของผู้ทรงภูมิรู้ก็มีให้อ่านกันมาก    แต่ก็ไม่มีผลงานเรื่องไหนเป็นที่นิยมเท่าของท่าน   

นอกจากอารมณ์ขัน   คุณค่าที่สำคัญของสารคดีของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ คือการแฝงข้อคิดคำคมเอาไว้สม่ำเสมอ    บางครั้งเนื้อหาของสารคดีอาจล้าสมัยลงไป เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี   สังคมเปลี่ยน  การเมืองเปลี่ยน  ปัญหาหรือประเด็นร้อนในสมัยหนึ่งก็จบสิ้นลง  กลายเป็นเรื่องใหม่    ดังนั้นสารคดีอาจกลายเป็นเรื่องไม่มีใครอ่านอีก         แต่ว่าคำคมและข้อคิดในหนังสือเล่มนั้น ถ้าเขียนดีๆ ก็จะไม่ล้าสมัย ยังเป็นข้อเตือนใจได้เสมอ

งานสารคดีของม.ร.ว. คึกฤทธิ์มีข้อคิดคำคมแบบนี้แฝงอยู่สม่ำเสมอในทุกเล่ม  ทำให้งานของท่านถูกหยิบขึ้นมาอ่านได้โดยไม่รู้สึกว่าตกสมัย


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 11, 21:24
ตัวอย่างคำคม

-  ของเก่านั้นมันเก็บได้   หากรักษาให้ดีๆ   อย่าให้ผุพังหรือแตกหัก   จะเก็บไว้นานเท่าไรก็ได้   แต่วัฒนธรรมนั้นมันเก็บกันไม่ได้   เพราะมันเอาใส่ตู้ไว้ไม่ได้   ต้องเอาไว้ในตัวคน     เมื่อชีวิตมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ    วัฒนธรรมไทยสมัยก่อนและวัฒนธรรมไทยสมัยนี้จึงแตกต่างกันมาก

-  ความจริงในวัดนั้นก็มีจิตใจไม่ว่างอยู่มากเหมือนกัน     แต่วัดก็ยังดีกว่าที่อื่น    เพราะมีวินัยของพระพุทธเจ้าบังคับไว้   ไม่ให้คนที่จิตใจยังไม่ว่างทำอันตรายแก่คนที่จิตว่างแล้ว

- สิ่งที่เกิดมาคู่กับคนแล้วไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลสมัย  ก็คือกิเลส ตัณหา   คนเกิดมาเมื่อไร   สองสิ่งนี้เกิดมากำกับคนไปตลอด   ไม่ว่าจะเป็นในสมัยไหน


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 11, 22:44
นักประพันธ์มีหลายระดับด้วยกัน   แต่ถ้าเป็นนักประพันธ์ฝีมือดีแล้ว เขาจะไม่ตามกระแส     คือไม่เขียนอะไรตามๆคนอื่นไปในยุคนั้นหรือประเด็นนั้น     เพราะเท่ากับขาดเอกลักษณ์ (หรืออัตลักษณ์?)เฉพาะตัว  เมื่อขาดข้อนี้เสียแล้ว จะแหวกขึ้นให้เหนือคนอื่น ก็ยากเย็น
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านก็ไม่เขียนอะไรตามกระแส   แต่เขียนแบบเป็นตัวของตัวเอง    เห็นตัวอย่างได้จากสามก๊ก ที่ท่านหยิบโจโฉขึ้นมาเป็นพระเอก   แทนที่จะเป็นผู้ร้ายอย่างที่รู้สึกกันในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) หรือในสามก๊กฉบับวณิพกที่ยาขอบเก็บความมาจาก Romance of the Three Kingdoms ของบริวิทเทเลอร์
ด้วยเหตุนี้  เราจึงมี สามก๊กฉบับโจโฉ นายกตลอดกาล ขึ้นมาให้อ่าน ศึกษากัน  ถกเถียงกัน ประเทืองปัญญาว่าโจโฉเป็นผู้ร้าย หรือพระเอกที่หลอกว้านจงผู้เรียบเรียงสามก๊ก มีอคติด้วย กันแน่


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 28 ก.ย. 11, 17:58
เพิ่งได้อ่านกระทู้นี้เต็ม ๆ หลังจากเก็บไว้อยู่นาน
เพราะบังเอิญได้หนังสือ "เพื่อนนอน" ฉบับดอกหญ้ามาตอนนั้นพอดี
เลยคิดว่าจะอ่านให้จบเสียก่อน แล้วก็เพิ่งอ่านจบไม่กี่วันนี้เองค่ะ

ชอบบทประพันธ์ของท่านมากเลยค่ะ  ยิ่งอ่านเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง ยังเหมือนเขียนอยู่เมื่อวานนี้ การเมืองบ้านเรา กี่ปีก็ไม่มีเปลี่ยนแปลงเลย
ขอบคุณ อ.เทาชมพู ที่ได้ช่วยประมวลงานทั้งหมดให้ได้อ่านกัน ท่านเองก็เยี่ยมมาก สรุปความ ประมวลผล ได้ชัดเจนครบถ้วน
อยากจะกด like ให้ทุกตอนที่อ่านเลยค่ะ  ;D  ;D


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 11, 13:07
เกือบลืมกระทู้นี้ไปแล้ว เพราะตกหน้าไปนาน  คุณ POJA ไปดึงขึ้นมาอีกครั้ง    ดิฉันก็เลยขอต่อกระทู้อีกครั้ง
เรื่อง "โจโฉ นายกตลอดกาล" ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนไว้ตอนท้ายเรื่องว่า
   "ผู้เล่าเรื่องนี้ได้เล่าถึงชีวิตคนคนหนึ่ง ซึ่งถูกประณามว่าเป็นคนใจร้ายอำมหิตมาเป็นเวลาพันกว่าปี ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า คนที่ถูกกล่าวหาว่าร้ายนั้น  อาจพิจารณาให้เห็นเป็นคนดีด้วยเหตุผลก็ได้
    โจโฉนั้นเป็นคนธรรมดาสามัญ ย่อมประกอบไปด้วยความโกรธ โลภ หลงและความปรารถนาต่าง ๆ กิเลสต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทำให้โจโฉปฏิบัติการผิดพลาดไปเป็นครั้งคราว แต่ความผิดพลาดก็ไม่มากหรือน้อยไปกว่าคนอื่น ๆ เหตุที่ความผิดของโจโฉมีผู้ถือมาเป็นเรื่องใหญ่ ก็เพราะโจโฉอยู่ในตำแหน่งใหญ่ เจตนาดีของโจโฉที่มีต่อบ้านเมืองนั้น ถูกบดบังไปด้วยข้อครหาของฝ่ายปรปักษ์
เจตนาของโจโฉนั้นมีอยู่อย่างเดียว คือจะรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่นมิให้แตกแยก ฉะนั้น การกระทำของโจโฉจึงต้องขัดกับประโยชน์ของคนที่ได้ประโยชน์จากการแตกแยก ปรปักษ์ของโจโฉย่อมจะมีมากเป็นธรรมดา
     ชีวิตของโจโฉ เป็นตัวอย่างอันดีของความรับผิดชอบในการกระทำ และเป็นตัวอย่างอันดีของการกระทำตรงไปตรงมา เมื่อโจโฉคิดกำจัดรัฐบาลที่ทุจริตลงไปได้ โจโฉก็เข้ารับภาระแห่งการบริหารด้วยตนเอง มิได้บ่ายเบี่ยงภาระนั้นให้แก่คนอื่นด้วยการถ่อมตัวที่ไร้สาระ เมื่อโจโฉมีนโยบายที่รวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่น โจโฉก็มุ่งหน้าดำเนินนโยบายนั้นอย่างไม่ท้อถอย มิให้ความสุขหรือทุกข์หรือเหตุใดเข้ามาเป็นอุปสรรคกีดขวางได้ โจโฉถือว่าตนอยู่ในฐานะทำราชการให้แร่พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นหลักไปตลอดชีวิต ถวายการยกย่องและสักการะตามควรแก่ฐานะตลอดมา แม้ว่าพฤติการณ์และพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าเหี้ยนเต้บางกรณี น่าจะทำให้โจโฉเปลี่ยนความคิดได้ โจโฉก็ไม่ยอมเปลี่ยน ถ้าจะว่าโจโฉมีความผิด ความเมตตากรุณาอันฝังแน่นอยู่ในหัวใจนั้นเองพอจะเรียกได้ว่าเป็นความผิด ที่โจโฉไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์แห่งชีวิตของตนได้ ก็เพราะโจโฉให้โอกาสแก่ศัตรูบ่อยครั้งด้วยในสงสาร
      โจโฉเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้และผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของราษฎร ได้ถึงแก่ความตายลงขณะที่อยู่ในตำแหน่งโดยสมบูรณ์ จึงควรเรียกได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีตลอดกาลโดยแท้"

      นักประพันธ์ระดับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ย่อมรู้ว่าการเขียนสวนกระแส อาจทำให้เกิดการคัดค้านในหมู่คนอ่านที่เคยชินกับแนวคิดดั้งเดิมได้   แต่ถึงกระนั้น  การร้อยเรียงถ้อยคำและการแสดงเหตุและผลที่แจ่มชัด มีที่มาที่ไป และมีน้ำหนัก  ก็จะทำให้เสียงคัดค้านนั้นเงียบหายไป  และเกิดการยอมรับนับถือในความคิดของนักประพันธ์ แม้ว่าแตกต่างกับความคิดของตนเอง


กระทู้: ความเป็นนักประพันธ์ของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 29 ก.ย. 11, 21:34
ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือของมรว.คึกฤทธิ์ ตอนสมัยอยู่ประถมปีที่สี่ จำได้ว่าตัวเองร้องไห้ตอนวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร้องไห้ตอนตาอ๊อดตายแล้วแม่พลอยต้องอยู่โดยปราศจากคนที่เข้าใจ

ข้าพเจ้าคิดย้อนไปท่านช่างเก่งจริงๆ กระทั่งเด็กประถมสี่ท่านยังทำให้ร้องไห้ได้

ต่อมาเข้าธรรมศาสตร์อุตส่าห์เข้าไปเป็นโขนธรรมศาสตร์ เพราะได้รับแรงบรรดาลใจจากท่าน

ถือว่าเป็นบรมครูของทุกๆคน และทุกๆแขนงจริงๆ

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าขอพูดเรื่อง "ซูซีไทเฮา" ของท่านบ้าง เพราะเกี่ยวข้องกับการเรียนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอ่านแล้วพอเดาได้ว่าท่านคงอ่านข้อมูลจากฝรั่ง แต่ข้าพเจ้านึกชมจริงๆ ท่านบรรยายสภาพรั่ววังของจีนประหนึ่งท่านเคยเข้าไปใช้ชีวิตในวังของจีนมาแล้วถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอย่างงดงาม ข้าพเจ้าไม่ได้หมายความว่าท่านพูดจีนได้แล้วแปลเก่ง แต่ท่านถ่ายทอดเรื่องได้อย่างจับใจ ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิด (เพราะหนังสือไม่ได้อยู่ใกล้ๆตัว) ท่านเรียกสมเด็จพระจักรพรรดิ์ว่า "พระหมื่นปี" ข้าพเจ้าอ่านตรงนี้นึกชม เพราะว่าภาษาจีนใช้ว่า "หว่านโซว่เย่" (万岁爷: wan sui ye) ไม่ทราบว่าท่านอ่านมาจากภาษาฝรั่งหรือไร แต่ที่แน่ๆ แปลได้เพราะและตรงตัวมาก เพราะแปลตามความหมายคือ "พระบิดาหมื่นปี" หรือ "พระหมื่นปี"


อันนี้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยเล่าสู่กันฟัง