เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 13, 11:50



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 13, 11:50
    ถนนสายกว้างแบบตะวันตก กว้างพอที่รถม้าจะวิ่งได้สบาย ตัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 4  คือถนนเจริญกรุง  ตามมาด้วยบำรุงเมือง และเฟื่องนคร    แต่ถึงกระนั้นภูมิประเทศส่วนใหญ่ของกรุงเทพในต้นรัชกาลที่ 5  ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสมัยต้นรัตนโกสินทร์มากนัก       
    ตามหนังสือประวัติของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์(ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา)  เล่าไว้ว่า กรุงเทพในต้นรัชกาลที่ 5  คือป่าเตี้ยปนละเมาะดีๆนี่เอง  มีทุ่งหญ้าแทรกเป็นบางตอน   มีชาวเมืองปลูกบ้านอยู่กันเป็นหย่อมๆ   ที่ไหนเป็นที่ลุ่มก็เป็นป่าโสนมืดทึบ    หน้าน้ำ น้ำขังแค่บั้นเอว  เช่นแถวบางลำพู  คอกวัว  ไปจนกระทั่งวัดศิริ    ทุ่งพระเมรุ หรือท้องสนามหลวง เป็นป่าหญ้ารก    หน้าน้ำ น้ำเซาะเข้าขังเจิ่ง ชาวบ้านมาจับกบตกปลากินกัน   หน้าแล้งจึงแห้งพอจะตั้งพระเมรุเจ้านายได้    แม้ที่ว่าการกลาโหมและยุติธรรมซึ่งอยู่หน้าพระราชวัง ก็เป็นแค่โรงหลังคาจาก  พื้นทุบเรียบกวาดเตียน
    ถนนในสมัยนั้นคือช่องป่าที่ถากถางใหม่   ฟันต้นไม้ใหญ่ลงพอให้หายเกะกะ    เส้นทางเป็นทางราบเกิดจากคนเดินเหยียบย่ำพอเป็นช่องทาง  กว้างพอตะแคงหลีกกันได้   นอกนั้นก็รุงรังไปด้วยหญ้า พงแขม  ผักโขม  เดินห่างกันไม่ถึงเส้นก็แทบมองไม่เห็นกันแล้ว 


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 ก.ค. 13, 20:23
ภาพบริเวณป้อมมหากาฬ ก่อนมีการตัดถนนราชดำเนินกลาง


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 13, 20:23
ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ตัวเมืองอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพระบรมมหาราชวัง และเรื่อยมาถึงวังหน้าที่ตรงกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในปัจจุบัน   วังเจ้านายใหญ่น้อยก็อยู่รายรอบออกมาอีกที    
เนื้อที่ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนิน  เป็นที่ตั้งของวังเจ้านายหลายองค์ เรียกว่า วังสะพานเสี้ยว  ในกระทู้เก่าของเรือนไทย   คุณเจ้าสัวบ่อนไก่ให้คำอธิบายไว้ตามนี้

กลุ่มวังต่อไปเรียกว่ากลุ่ม วังสะพานเสี้ยว ครับ ก่อนอื่นอยากบอกว่ากลุ่มวังนี้น่าเอน็ดอนาถพอดูเพราะว่าสร้างคร่อมถนนราชดำเนินกลาง ที่สำคัญกลุ่มวังนี้ใหญ่โตไม่ใช่เล่นนะครับ ขออธิบายว่ากลุ่มวังสะพานเสี้ยวน่าจะกินเนื้อที่ระหว่างกรมสรรพากรยาวเรื่อยไปทางถนนจักรพงษ์ผ่านเชิงสะพานผ่านภิภพและเลยไปจนถึงโรงแรมรัตนโกสินทร์จนกระทั่งถึงวัดบุณณสิริ ย่านคลองหลอดแหน่ะครับ พูดง่ายๆ ว่าคร่อมถนนทั้งวังเลยครับ มองเห็นภาพง่ายดีนะผมว่า วังกลุ่มนี้

วังสะพานเสี้ยว วัง 1 วังที่ประทับของพระองค์เจ้าภุมรินทร ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ อยู่ไม่นานก้อสิ้นพระชนม์ไป พระองค์เจ้านุช ในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เสด็จมาประทับต่อจนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5 ต่อมาว่ากันว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เมื่อครั้งเป็นในกรมหมื่นบวรฯ เสด็จมาประทับช่วงต่อ วังนี้ถูกแปลงสภาพไปพอตัวและสิ้นสภาพวังไปแล้ว ปัจจุบันคือที่ทำการกรมสรรพากรและกรมธนารักษ์
( ต้นราชสกุล ภุมรินทรฯ และ ต้นราชสกุล อนุชะศักดิ์ฯ ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ มีพระทายาทหลายสาขา )

 วังสะพานเสี้ยว วัง 2 อยู่ถนนจักรพงษ์ ไม่ทราบจุดแน่นอน เป็นที่ประทับของ พระองค์เจ้าใย ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ วังนี้หาที่ไม่ได้ครับทราบแต่ว่าอยู่ถนนจักรพงษ์แน่ ผมไปดูมาตอนนี้ข้างหลังซ้ายขวาเป็นสลัมกับตึกแถว  วังหายไปตั้งแต่บรรพกาลไหนไม่มีใครรู้
( ต้นราชสกุล รังสิเสนาฯ )

วังสะพานเสี้ยว วัง 3 วังนี้ค่อนข้างจะจีรังกว่าวังญาติๆ ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเป็นวังทีป่ระทับของ กรมหมื่นอมเรศรัศมี ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เมื่อเสด็จในกรมอมเรศฯ วายพระชนม์ มีพระทายาทประทับต่อยืนยาวมาจนถึงปลายรัชกาลที่ 5 จึงได้รื้อสร้างถนนรีชดำเนินกลาง วังนี้อยู่เชิงสะพานผ่านพิภพครับ
( ไม่มีพระทายาทสืบราชสกุล   ส่วนพระทายาทที่ระบุหมายถึงเจ้าพี่เจ้าน้องที่เป็นพระญาติวงศ์สนิทแต่ไม่ปรากฎพระนามแน่ชัดว่าเป็นท่านผู้ใด )
วังสะพานเสี้ยว วัง 4 ของพระองค์เจ้าทับทิม พระราชโอรส ร.1 ทรงย้าบมาจากวังหลักเมือง วัง 6 ตอนนี้ท่านย้ายมาอยู่วังนี้ครับ อยู่มาจนสิ้นพระชนม์ล่วงไป พระองค์เจ้าสีสังข์ ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ท่านเสด็จมาประทับต่อจนสิ้นพระชนม์ วังนี้อยู่คร่อมถนนราชดำเนินเลยครับ ถูกร้อสร้างถนนในรัชกาลที่ 5
( พระองค์เจ้าสีสังข์ เป็นต้นราชสกุล สีสังข์ฯ )

วังสะพานเสี้ยว วัง 5 ครับ วังนี้อยู่ถัดมาจากวังที่ 4 มาทางวัดบูรณศิริ แถวคลองหลอด แต่เดิมเป็นเรือนของพระยาพิชัยบุรินทรา เสนาบดีกรมเมืองวังหน้า  กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ พระราชทานแก่ พระเจ้าลุกยาเธอ พระองค์เจ้าอินทรวงศ์ แต่พระเคราะห์ร้ายอยู่ไม่นานก้อสิ้นพระชนม์ลง  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงพระราชทานแก่ พระเจ้าลุกยาเธอ กรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์ จนสิ้นพระชนม์ลงไปอีกพระองค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทะเจ้าหลวง จึงพระราชทานแก่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม คาดว่าวังนี้น่าจะเหลือร่องรอยอยู่บ้างเล็กน้อยนะครับ แต่ผมไปมาแล้วไม่พบอารัยเลยนอกจากตึกแถวโกโรโกโส สำหรับวังนี้นับว่าเหลือรอดมาเพียงหนึ่งเดียวจากทั้ง 5 วังญาติๆ ส่วนวังนี้จะเป็นวังสนามชันของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมหรือไม่ ยังไม่ทราบครับ แต่ผมจะพยายามสืบหาข้อมูลต่อไป เร็วๆ นี้จะนำมาให้พิจารณากันครับ
(  พระองค์อินทวงศ์ ไม่มีพระทายาท ส่วนกรมหมื่นพิศาลฯ เป็นต้นราชสกุล วรรัตน์ฯ และ กรมหลวงประจักษ์ศิลฯ เป็นต้นราชสกุล ทองใหญ่ฯ )


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 13, 20:34
 ถนนราชดำเนินในตอนวางแผนตัดถนนในรัชกาลที่ 5 มิได้มีเส้นทางอย่างที่เห็นในปัจจุบัน   แรกเริ่มเมื่อทำแผนที่สร้างทาง ได้วางกันว่าจะตัดตั้งแต่ถนนพระสุเมรุ  ข้ามคลองบางลำพูที่ตำบลบ้านพานถม   ตรงไปยังป้อมหักกำลังดัสกร  ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบถนนเบญจมาศ

คุณหนุ่มสยามพอจะมีแผนที่แสดงเส้นทางนี้ไหมคะ

แต่เมื่อนำขึ้นถวายให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตร   ทรงเห็นว่าถ้าตัดถนนตามเส้นทางไปบ้านพานถม  จะไม่ได้ถนนเป็นแนวตรงตลอดถนนเบญจมาศ      จึงโปรดเกล้าฯให้ตัดถนนใหม่ขึ้นถนนหนึ่งชื่อว่า "ถนนยุรยาตร"  ผ่านไปทางตำบลบ้านพานถม     จากนั้นทรงย้ายตำบลที่จะตัดถนนเสียใหม่  คือกำหนดตัดตั้งแต่ถนนพฤฒิบาศ ผ่านตำบลบ้านหล่อ  ไปตำบลป้อมหักกำลังดัสกร   ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบที่ถนนเบญจมาศ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 05 ก.ค. 13, 22:10
ข้ามตอนไปหน่อย ภาพนี้ตัดถนนแล้ว
แต่ยังไม่มีสะพานมหาดไทยอุทิศ
แสดงว่า  น่าจะถ่ายก่อนสมัย ร6
(ที่จริงแล้วถ่ายในปี พศ 2441 สมัย ร5)


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 13, 22:40
ขอบคุณมากค่ะคุณ visitna
พยายามจะเทียบว่าอะไรในภาพนี้ตรงกับอะไรในปัจจุบัน    แต่ยังดูไม่ออกอยู่หลายจุด
ใครจะช่วยอธิบายได้บ้างคะ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 05 ก.ค. 13, 23:01
รอท่านผู้สันทัดกรณีจริงๆ ผมพอรู้คร่าวๆ
อีกภาพน่าจะถ่ายคราวเดียวกัน



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 06 ก.ค. 13, 06:41
(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_001_zpsc0dd9d1d.png) (http://s117.photobucket.com/user/LordSri/media/Selection_001_zpsc0dd9d1d.png.html)

ขออนุญาตเดาครับ

๑. ปัจจุบันเป็นหอศิลป ของธนาคารกรุงเทพ

๒. ปัจจุบันยังคงสภาพเป็นตึกแบบนี้อยู่ ภายในชุมชนป้อมมหากาฬ

๓. ปัจจุบันตรงนี้เป็นโรงแรมขนาดเล็กครับ

๔. ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ สถานีตำรวจนางเลิ้ง และอีกส่วนน่าจะอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง ครับ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 13, 08:19
^
ผิดนิดหน่อยครับ

เอ้า..ลองเดาใหม่


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 13, 08:30
ที่ดูไว้เองตอนแรก  ผิดไปคนละถนนเลยค่ะ
เพิ่งดูออกว่านี่ทางไปราชดำเนินนอกนี่นา


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ค. 13, 08:35
วิวล่าสุดที่ผมถ่ายมาเอง เป็นอย่างนี้ครับ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 06 ก.ค. 13, 09:04
เบอร์ 2 ตามที่อาจารย์เทาชมพูเขียนไว้คือ ท่าเรือของพระยาญาณประกาศ


ท่านกาญจนาคพันธุ์เล่าว่า
ที่กำแพงเมืองใกล้ๆ กับป้อมมหากาฬ มีประตูช่องกุฏิ(เขียนอย่างนี้หรือ กุด ไม่แน่ใจ)
เข้าประตูช่องกุฏิไปเป็นโรงยี่เกพระยาเพ็ชรปาณี เป็นโรงใหญ่...
ได้ยินว่าเมื่อแรกตั้งโรงยี่เกนั้น ตัวยี่เกเป็นผู้หญิงทั้งสิ้น
และเขาว่าเป็นเมียพระยาเพ็ชรก็มาก

ตามภาพ 2489 อาคารท่าเรือพระยาญาณประกาศ ยังมีอยู่
ประตูช่องกุดและโรงยี่เก   น่าจะอยู่ใกล้กับอาคารท่าเรือนี้




กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 06 ก.ค. 13, 09:17
อีกภาพหนึ่งของถนนราชดำเนินคือ
มุมมองจากถนนพระสุเมรุ มองไปทางถนนมหาไชย
ตอนที่ถ่ายภาพนี้ไม่แน่ใจว่าตัดถนนราชดำเนินแล้วหรือไม่?
เคยมีภาพชัดกว่านี้แต่หายไป เหลือภาพนี้ไม่ค่อยชัด



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ก.ค. 13, 09:33
ถนนราชดำเนินในตอนวางแผนตัดถนนในรัชกาลที่ 5 มิได้มีเส้นทางอย่างที่เห็นในปัจจุบัน   แรกเริ่มเมื่อทำแผนที่สร้างทาง ได้วางกันว่าจะตัดตั้งแต่ถนนพระสุเมรุ  ข้ามคลองบางลำพูที่ตำบลบ้านพานถม   ตรงไปยังป้อมหักกำลังดัสกร  ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบถนนเบญจมาศ

คุณหนุ่มสยามพอจะมีแผนที่แสดงเส้นทางนี้ไหมคะ

แต่เมื่อนำขึ้นถวายให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตร   ทรงเห็นว่าถ้าตัดถนนตามเส้นทางไปบ้านพานถม  จะไม่ได้ถนนเป็นแนวตรงตลอดถนนเบญจมาศ      จึงโปรดเกล้าฯให้ตัดถนนใหม่ขึ้นถนนหนึ่งชื่อว่า "ถนนยุรยาตร"  ผ่านไปทางตำบลบ้านพานถม     จากนั้นทรงย้ายตำบลที่จะตัดถนนเสียใหม่  คือกำหนดตัดตั้งแต่ถนนพฤฒิบาศ ผ่านตำบลบ้านหล่อ  ไปตำบลป้อมหักกำลังดัสกร   ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบที่ถนนเบญจมาศ

ขีดร่างแนวถนนให้ชมครับว่า ถนนราชดำเนินที่จะเริ่มกรุยทาง เวนคืนที่ดินเป็นแนว (ประขาว-ดำ)  ขนานกับวัดนามบัญญัติ (วัดมกุฏกษัตริย์) ภายหลังยกเลิกเส้นทางนี้เนื่องจากทรงเห็นว่าถนนหักมุม ไม่เป็นแนวตรงต่อถนนเบญจมาศนอก


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 06 ก.ค. 13, 09:45
อีกภาพ แนวกำแพงพระนครยังอยู่ครบสมบุรณ์



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 13, 20:41
รูปในค.ห. 8  ยังพอมองเห็นเค้าเดิม  ดูออกว่าอะไรเป็นอะไร  แต่พอมาถึงค.ห. 10  มองไม่เห็นของเดิมแล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณหนุ่มสยาม  ขอไปได้มาทันใจ   นึกแล้วว่าต้องมีแผนที่ให้ดูอย่างละเอียด 
เส้นทางเก่าที่คุณหนุ่ม siamese เขียนมาให้ดู มันเป็นเส้นทางหัก  ไม่สวย   จึงทรงมีพระราชดำริตัดถนนเสียใหม่    คือตัดผ่านเข้าไปในสวนซึ่งมีคนอยู่น้อย และเป็นที่หลวง ไม่ลำบากต้องเวนคืน   เหตุผลอีกอย่างคือเป็นถนนที่ตรงแนวพระที่นั่งสวนดุสิตซึ่งกำลังสร้างอยู่     ทรงวางแปลนให้เป็นถนนสายกว้างใหญ่  ปลูกต้นไม้เป็นแนวให้เงาร่มรื่น และดูเป็นสง่า

ทรงกำหนดขนาดใหม่ อย่างละเอียดลออ ตามนี้

" กำหนดเขตที่ดิน กว้างเฉพาะถนนสายกลางกับท่อน้ำด้วย ๘ วา  ที่ปลูกต้นไม้กับทางคนเดิน ๒ ข้างถนนสายกลาง ข้างละ ๕ วา   ถนนรถสายนอก ๒ ข้าง กับท่อน้ำด้วย ข้างละ ๔ วา    ทางคนเดินสายนอกอีก ๒ ข้างๆ ละ ๑ วา ๒ ศอก    รวมเป็นที่เฉพาะ ๑ เส้น ๙ วา   กับที่ดินริมถนนอีกกว้างข้างละ ๑๗ วา ๒ ศอก   รวมทั้งสิ้นเป็นที่ว่าง ๓ เส้น ๔ วา"


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 13, 21:00
     เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงตัดถนนเจริญกรุง  ชาวบ้านก็รู้สึกว่ากว้างมากแทบจะเดินข้ามไม่ไหวอยู่แล้ว   แต่ถนนราชดำเนินในรัชกาลที่ 5  ยิ่งกว้างหนักเข้าไปอีก    เป็นถนนแบบใหม่ล้ำสมัย  ไม่เคยมีมาก่อนในสยาม     เพราะแบ่งเป็นถึง 5 ช่องทาง  ช่องกลางที่กว้างที่สุดใช้เป็นทางสำหรับรถม้าและรถยนต์    ทางเล็กๆขนาบสองข้างลาดซีเมนต์ใช้เป็นทางคนเดิน   ถัดไปเป็นทางเส้นนอกขนาดย่อมๆสำหรับรถลาก    ริมถนนปลูกต้นไม้ร่มรื่นสวยงาม 
    กล่าวกันว่าทรงได้แบบอย่างมาจากถนนชองเซลีเซ่ของปารีส      กลายมาเป็นถนนสายใหญ่สุดและสวยงามที่สุดของกรุงเทพ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ค. 13, 09:48
เรื่องแนวคิดที่จะตัดถนนราชดำเนินและที่มาแห่งคำว่า "ราชดำเนิน" อ้างถึงพระราชหัตถเลขา ถึงกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งยังดำรงเสนาบดีกระทรวงนครบาล วันที่ ๒๒ กันยายน ร.ศ. ๑๑๘ ดังนี้

"...มาลเบอเรอ (Marlborough) ก็อยู่หน้าเบิคกิงฮัม (Buckingham Palace) ถนนก็เช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันเหตุขัดขวางจากประชาชน และให้ประชาชนมีที่ดินถูกเวนคืน เพื่อตัดถนนได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน แต่จะทดลองตัดถนนโดยวิธีชดใช้ค่าที่ดินให้กับราษฎร....เพื่อเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินวังสวนดุสิตด้วย.....โดยทรงพระราชทานนามถนนราชดำเนิน ตามอย่าง Queen's Walk ใน Green Park"

ที่มา วิทยานิพนธ์เรื่องการสร้างถนนราชดำเนิน


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 10:06
ขอขยายความจากคุณ siamese ค่ะ

อ้างถึง
โดยทรงพระราชทานนามถนนราชดำเนิน ตามอย่าง Queen's Walk ใน Green Park

ควีนส์วอล์ค เป็นทางเดินทางฝั่งใต้ของแม่น้ำเทมส์   รถเข้าไม่ได้ค่ะ  เดินเท้าอย่างเดียว     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มิได้เอาแบบของควีนส์วอล์คมาใช้เป็นแบบของถนนราชดำเนิน แต่เอา "ชื่อ" มาเป็นแนวทางตั้งชื่อถนนสายใหม่   ควีนส์วอล์คก็คือ "ราชินีดำเนิน"

ส่วนถนนราชดำเนินนอก ได้แบบอย่างการก่อสร้างจาก “ถนนชองป์เอลิเซ่” ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส

รูปข้างล่าง
ซ้ายคือ queen's walk  ขวาคือถนนชองป์เอลิเซ่


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ค. 13, 19:12
ภาพนี้เก่ามาก ๆ เนื่องจากยังคงเห็นประตูเมืองขวางถนนราชดำเนินอยู่


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 07 ก.ค. 13, 19:33
ประตูนี้กลายเป็นผิวถนนราชดำเนินกลาง  ตรงไปสะพานผ่านฟ้าฯ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 07 ก.ค. 13, 20:37
ตอนถนนราชดำเนินกลางเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ตึกสามชั้น (?) ใหม่ๆ ข้างทางตลอดถนน เรียกเป็นตัวเลข เช่น อาคาร ๘ ฯลฯ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๘ มีอาคารหลังหนึ่ง อยู่ทางฝั่งใต้ของราชดำเนินกลาง ยุบทั้งหลัง ดูเหมือนจะเพิ่งสร้างเสร็จหรือระหว่างสร้าง ตรงนั้นเลยมีแต่ซากอาคารค้างอยู่หลายปี จำไม่ได้ว่าอาคารเบอร์เท่าไหร่  หลังสงครามโลกที่สองใหม่ๆพ่อแม่ยังอยู่โคราช แต่ส่งผมกลับมากรุงเทพฯก่อนตอนจะเปิดปีการศึกษา พอดีอาว์มีบ้านอยู่แถวถนนจักร์พงษ์ ไม่ไกลเซ็นต์คาเบรียล ผมเลยมาพักอยู่กับอาว์สองสามเดือน ช่วงนั้นทหารอังกฤษ ออสเตรเลีย ซิค กูระข่า ที่โดนญี่ปุ่นจับได้แล้วขังไว้ที่ ม.ธรรมศาสตร์ระว่างสงคราม ยังรอกลับบ้านเกิด พวกนี้ดูท่าทีจะมีเงินเหลือใช้ เพราะรัฐบาลคงจ่ายเบี้ยเลี้ยงที่ค้างระหว่างเป็นเชลยให้  สามีอาว์ผมเป็นพ่อค้าทันสมัยหัวไว เห็นโอกาสว่าพวกเชลยกับทหารฝรั่งที่อยู่เมืองไทยตอนนั้นไม่มีรองเท้าพลเรือนมีแต่รองเท้าราชการจ่าย ถึงเข้าตามร้านก็หารองเท้าที่ใหญ่พอเท้าฝรั่งไม่ได้ หาร้านขายเสื้อเชิตร์ขนาดใหญ่ๆไม่ได้ เลยเปิดร้าน ชูไทย ขายรองเท้า ขายเสื้อ ที่ถนนราชดำเนินกลาง คิดว่าเป็นอาคาร ๘  เสาร์อาทิตย์ผมไปช่วยที่ร้านเพราะพนักงานขายพูดอังกฤษไม่ค่อยได้ สำหรับเด็กอายุ ๑๑ ขวบก็สนุกดี ได้ซ้อมภาษา ได้พบคนหลายๆชาติ พวกที่เป็นเชลยมาดูท่าทีก็แข็งแรงดี ชวนให้คิดว่าคนไทยไม่ได้ทำทารุณกรรมกับเชลย

พ่อเล่าให้ฟังว่าระหว่างสงครามโลก เครื่องบินทะเล PBY ของอเมริกันที่มาโปรยทุ่นระเบิดในอ่าวไทย ถูกยิงตกที่เกาะช้าง เกาะกูด หรือเกาะกง จำไม่ได้ ทั้งฝ่ายไทยกับฝ่ายญี่ปุ่นตกลงกันไม่ได้ว่านักบินกับนักบินผู้ช่วยเป็นเชลยของใครแน่ เลยต้องตั้งกรรมการสอบสวน พ่อผมเป็นตัวแทนกรมช่างอากาศ ได้ความว่าที่เกาะนั้นมีเรือรบญี่ปุนกับเรือรบไทยจอดอยู่ ทั้งสองลำใช้ปืนยิงเครื่องบินทะเลที่กำลังจะหว่านทุ่นระเบิด เครื่องบินตก รอดมาเฉพาะนักบินกับนักบินผู้ช่วย นักบินให้การต่อคณะกรรมการว่า ระหว่างเตรียมจะหว่านทุ่นเครื่องโดนยิงจากเรือรบสองลำที่ทอดสมออยู่ใกล้เกาะ กระสุนชุดแรกมาจากเรือที่ดับไฟมืด โดนเครื่องบินแต่เครื่องไม่เสียการทรงตัว ชุดที่สองมาจากเรือที่ไม่ได้ดับไฟสนิท กับรุ้ว่าขนาดกระสุนเล็กกว่าชุดแรกทำให้เครื่องบินบังคับลำบาก เริ่มหัวทิ่ม นักบินให้ทหารในเครื่องไปท้ายเครื่องเพื่อพยายามเปลี่ยนดุลย์ แต่ไม่สำเร็จ รอดมาแค่นักบินกับนักบินผู้ช่วย สรุปว่าตกเพราะกระสุนชุดที่สองซึ่งขนาดลำกล้องเล็กกว่าจากเรือที่ไฟดับไม่สนิท  เรือไทยใช้ปืนขนาดลำกล้องเล็กกว่าญี่ปุ่น กับ ไม่ได้ดับไฟมืดสนิท ตกลงกรรมการลงความเห็นว่าเป็นเชลยของไทย  พ่อผมบอกว่านักบินฝรั่งกับผู้ช่วยนักบินดีใจจนออกหน้าออกตาที่จะไม่ต้องเป็นเชลยญี่ปุ่น

พูดถึงเชลย ที่บ้านเคยมีดาบทหารญี่ปุ่นอยู่สองเล่ม ผมถามพ่อว่าได้มาจากไหน พ่อบอกว่าตอนสงครามโลกเลิก นายทหารญี่ปุ่นจะต้องยอมสละดาบหรืออาวุธเพื่อแสดงความจำนน มีนายพันเอกญี่ปุ่นสองคนบอกพ่อว่า การยอมจำนนกับคนเอเซียนยศเท่าๆกันจะดีกว่ายอมจำนนกับฝรั่ง แล้วมอบดาบให้พ่อ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ค. 13, 20:55
สนุกดีครับ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 21:17
อ่านเพลินมากค่ะ   นึกอะไรได้เชิญร่วมวงอีกนะคะ

มีถนนสายเก่าอยู่สายหนึ่งชื่อถนนเบญจมาศ สมัยนั้นสะกดว่าเบญมาศ  มีความยาวตั้งแต่สะพานมัฆวานรังสรรค์ถึงถนนพระลาน  เมื่อมีการตัดถนนสายใหม่  ถนนเบญมาศก็ถูกกลืนหายไปกลายเป็นถนนราชดำเนินนอก  ซึ่งทอดยาวตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงถนนศรีอยุธยา

ถนนราชดำเนินที่ตัดใหม่มี 3 ช่วง   คือถนนราชดำเนินนอกที่เหมือนชองป์เอลิเซ่ดังที่กล่าวแล้ว   ต่อมาคือถนนราชดำเนินกลาง เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถึงสะพานผ่านพิภพลีลา   ยาว 1,200 เมตร    เชื่อมระหว่างราชดำเนินนอกและราชดำเนินใน   ซึ่งเริ่มจากหน้าพระลานถึงสะพานผ่านพิภพลีลา  ยาว 525 เมตร

การสร้างถนนราชดำเนิน เริ่มตัดตั้งแต่ถนนสายเก่าอีกสายหนึ่งชื่อถนนพฤฒิบาศ    ขอแยกออกซอยไปหน่อยค่ะ ถึงคำว่าพฤฒิบาศ คำนี้หมายพราหมณ์พวกหนึ่ง มีหน้าที่ทําพิธีเกี่ยวกับช้างและ ปัดเสนียดจัญไร   เข้ามาในสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา เห็นได้จากประวัติสกุลบุณยรัตพันธุ์ที่บอกว่าต้นสกุลเป็นพราหมณ์พฤฒิบาศมาจากอินเดียตั้งแต่อยุธยาตอนกลาง        แต่ถนนพฤฒิบาศที่ว่าทำไมถึงชื่อนี้  คุณส.พลายน้อยบอกว่าน่าจะมาจากชื่อประตูเมืองที่เคยอยู่ริมถนนสายนี้ ชื่อประตูพฤฒิบาศ  เป็นประตูให้ช้างเข้าออก   พราหมณ์พฤฒิบาศก็คงเข้าออกประตูนี้ไปทำพิธีกรรมเกี่ยวกับช้าง ประตูจึงตั้งชื่อตามนี้  ต่อมาก็เป็นชื่อถนนที่ผ่านประตู


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 07 ก.ค. 13, 22:01
ภาพนี้เก่ามาก ๆ เนื่องจากยังคงเห็นประตูเมืองขวางถนนราชดำเนินอยู่
ประตูพฤฒิบาศใช่ประตูนี้หรือเปล่าครับ?


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 22:29
คำถามแบบนี้ ขอมอบสัมปทานให้คุณหนุ่มสยามเจ้าของรูปค่ะ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ก.ค. 13, 07:40
คำถามแบบนี้ ขอมอบสัมปทานให้คุณหนุ่มสยามเจ้าของรูปค่ะ

"ประตูพฤฒิบาศ"

ประกาศก่อสร้างถนนอุณากรรณ เมื่อ ๑ มกราคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๗ เรื่องตัดถนนอุณากรรณ ความยาว ๗๒๐ เมตร

" ให้ตัดถนนขึ้นใหม่ ตรงช่องถนนเข้าสารผ่านสวนตึกดิน ไปออกตรงช่องประตูพฤฒิบาศให้เปนทางใหญ่ ..."

แต่ยังหาแผนที่ถนนอุณากรรณไปออกประตูยังไม่พบ  :o



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 08 ก.ค. 13, 16:09
บทความนี้ข้ามไปถึงตอนที่ สร้างตึกริมถนนเสร็จแล้วในสมัย จอมพล ป.

ถนนราชดำเนิน ในความทรงจำ ของ ครูใหญ่ นภายน
คัดลอกจาก วารสารเมืองโบราณ (ผมก๊อปมาจากไทยดีวีดี อีกที)

ปี พ.ศ.๒๔๗๗ - ๒๔๗๙ ตอนนั้นยังเป็นเด็ก ผมชอบหนีโรงเรียนไปเที่ยวแถบถนนราชดำเนินมาก
ทั้งๆ ที่บ้านอยู่ถึงถนนสี่พระยาตอนวัดแก้วแจ่มฟ้าล่าง เพราะไปติดใจมะขามที่ปลูกไว้ตามริมสอง
ฟากถนน แถมยังมีม้านั่งเหล็กลวดลายงามมาก ตั้งไว้เป็นระยะๆ ตามช่องของต้นมะขาม เวลาไปไหนๆ
มาเหนื่อยๆ ก็มานั่งพักที่นี่ อากาศดีเหลือหลาย อีกทั้งถนนด้านนอกก็ปลูกต้นมะฮอกกานีเรียงราย
ทำให้ร่มรื่นร่มเย็นเวลาเดินทาง

ท่านที่เคารพ...ท่านคงจะสงสัยว่าทำไมบ้านผมอยู่ถึงถนนสี่พระยา ดันผ่ามาเที่ยวไกลถึงเพียงนี้



โอ๊ย…สมัยนั้นไม่ต้องเป็นห่วงพวกเด็กๆ อย่างผมดอกฮะ เพราะว่าการไปมาสมัยนั้นมันสะดวกมาก
แหม…ก็ในกรุงเทพฯ ของเรามีรถรางแล่นไปแล่นมาตั้งหลายสาย ก็เลือกเอาซิฮะว่าสายไหนมัน
ใกล้กับที่เราจะไป

อย่างเช่นรถรางสายหัวลำโพง - บางลำพู ต้นทางอยู่ที่เชิงสะพานหัวลำโพงริมคลองมหานาค
ไปถึงสะพานยศเส (กษัตริย์ศึก) เลี้ยวซ้ายไปตามถนนบำรุงเมือง ผ่านโรงเลี้ยงเด็ก ผ่านสี่แยก
สะพานดำ (การประปา) ผ่านไปประตูผีหน้าโรงพักสำราญราษฎร์ เราลงตรงนี้เดินผ่านวัดเทพธิดา
วัดราชนัดดา ก็ถึงป้อมมหากาฬพอดี หรือว่าขี้เกียจเดินก็รอรถรางสายรอบเมืองที่ผ่านประตูผี
ไปป้อมมหากาฬ ข้ามถนนราชดำเนินเราก็ลง

หรืออีกสายหนึ่งซึ่งเป็นสายเอกคือถนนตก - หลักเมือง ที่เป็นรถรางสายแรกของเมืองไทยตั้ง
แต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นที่หัวถนนสี่พระยาตรงหน้าโรงน้ำแข็งนายเลิด ผ่านตลาดน้อย วัดสามจีน
(วัดไตรมิตร) สามแยก (ซากั๊กโล่) ผ่านโรงหนังพัฒนากร สมาคมกว๋องสิ่ว วัดเล่งเน่ยยี่ สี่แยก
ห้อยเทียนเหลา พอถึงสี่แยก เอส.เอ.บี. ก็ลงต่อรถรางสายบางลำพู - สี่เสาเทเวศร์ ผ่านสี่แยก
สะพานดำ ภูเขาทอง ดงกล้วย เลี้ยวขวาไปทางนางเลิ้ง ขึ้นสะพานเทวกรรมฯ เลี้ยวซ้ายหน้า
สนามม้านางเลิ้ง ผ่านตึกเจ้าพระยารามราฆพ (ทำเนียบรัฐบาล) ไปถึงสวนมิสสกวันก็ลง

เห็นมั้ยฮะ การเดินทางสะดวกสบายเป็นที่สุด

นี่แหละการท่องเที่ยวของเด็กๆ สมัยนั้น

อ้อ…เรื่องค่ารถหรือฮะ ไม่ต้องเป็นห่วง เรามีวิธีการขึ้นรถรางโดยไม่เสียสตางค์ วิธีการง่ายๆ เรา
จะขึ้นคันไหนก็ได้ แต่ต้องคอยมองดู นายตรวจเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะมาขอตรวจตั๋ว เมื่อนายตรวจ
มาเราก็รีบลงซะ แล้วรอขึ้นคันใหม่ต่อไป และก็ปฏิบัติการเหมือนอย่างเดิมนี้จนถึงจุดหมาย

สมัยก่อนเวลาจะไปเที่ยวงานภูเขาทอง เราก็รีบไปก่อนเพื่อจะได้ไปเก็บมะขามแถวๆ ถนนราชดำเนิน
กินให้ฉ่ำปากซะก่อน แล้วจึงย้อนไปเที่ยวงานภูเขาทอง เมื่อถึงงานก็รีบขึ้นไปบนภูเขาทองทันที
เล่นปาสายรุ้งบ้าง เก็บสายรุ้งบ้าง เหนื่อยก็ลงมาซื้อของกิน แต่ต้องคอยดูเวลาให้ดี เพราะถ้า
รถรางเลิกก็ต้องเดินกลับบ้าน

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๐ - ๒๔๘๓ ชาวบ้านในเขตราชดำเนินที่เคยอยู่กันมาอย่างร่มเย็นทั้งสองฝั่ง
ก็ต้องรื้อถอน บ้านเรือนไปหาที่อยู่ใหม่กัน แม้แต่ถนนราชดำเนินดั้งเดิมก็ถูกทุบทิ้ง เพราะว่ารัฐบาลสมัย
ฯพณฯ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ต้องการใช้ที่เหล่านั้นตัดทำถนนใหม่ให้ใหญ่โต
เพื่อต้อนรับแขกชาวต่างประเทศ ทั้งสองฟากถนนที่รื้อบ้านเรือนไปก็ให้สร้างเป็นตึกแบบทันสมัย
โดยมีคุณหมิว อภัยวงศ์เป็นสถาปนิก

ถนนใหม่สายนี้ เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ มีแต่คนนินทาว่ากล่าวต่างๆ นานา ว่าสร้างขึ้นมาเพื่อให้ช้างม้า
วัวควายที่ไหนมาเดินกัน ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรสักนิด เสียเงินเสียทองไปเปล่าๆ บ้างก็ว่าสร้างขึ้น
มาเพื่อสะสมบารมี ถือดีว่ามีอำนาจ

โถ...คุณปู่กะคุณย่า คุณตากะคุณยาย ขอรับ ถ้าท่านมีชีวิตยืนยาวมาถึงจนปัจจุบันนี้ ถนนที่ท่านว่า
มันใหญ่โตเหลือขนาดนั้น เดี๋ยวนี้รถมันยังติดกันเป็นแพสุดที่จะแก้ไข เห็นรถมันจอดเต็มถนนไปหมด
ไม่รู้ว่าจะกระดิกไปทางไหนแล้วล่ะจ้ะ

ปี พ.ศ.๒๔๘๓ เมื่อถนนราชดำเนินสร้างเสร็จ ตึกทั้งสองฟากถนนก็สร้างเสร็จ แม้แต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ที่สร้างขึ้นตรงสี่แยกถนนดินสอก็เสร็จเรียบร้อย แล้ว จึงเปลี่ยนไปเรียกสี่แยกนั้นว่าสี่แยกอนุสาวรีย์
ประชาธิปไตย พอถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๓ รัฐบาลก็จัดฉลองงานวันชาติขึ้น มีการเดินสวนสนาม
ทั้งทหารบก ทหารเรือ และยุวชนทหาร โดยมี ฯพณฯ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรียืน
เป็นประธานรับความเคารพอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่าง สง่างามสมศักดิ์ศรี









กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 08 ก.ค. 13, 16:11
ต่อไป

ครั้นพอถึงวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๓ ก็มีการเดินขบวนเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
คืนมาจากฝรั่งเศส บรรดานิสิตและนักเรียนเตรียมอุดมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับบรรดา
นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมกับบรรดาพ่อค้าประชาชน
ก็พากันมาเดินที่ถนนราชดำเนินซึ่งเพิ่งจะสร้างขึ้นมาใหม่ๆ นี่แหละครับ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะกำลังเร่งมือก่อสร้างเพื่อให้เสร็จทันกำหนด พฤษภาคม ๒๔๘๓

ต่อจากนั้นก็เกิดสงครามกรณีพิพาทขึ้นระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส โดยที่ฝรั่งเศส
เป็นผู้ริเริ่มขึ้นก่อน ด้วยการนำเอาเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๒๘
พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นครั้งแรก

ทีนี้ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องราวการสร้างตึกใหม่เรียงเป็นแถวทั้งสองฝั่ง ถนนราชดำเนินที่
ดูแล้วสวยงามสมศักดิ์ศรี เป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทยสมัยนั้น สิ่งนี้แหละที่ชักชวนให้
บริษัท ห้าง ร้านค้า รีบมาเช่าดำเนินกิจการกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

ตรงหัวมุมตึกแถวล็อกแรกขวามือด้านผ่านฟ้า เป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย
สมัยนั้น มีชื่อว่าห้างไทยนิยม แต่ละวันมีผู้มาอุดหนุนกันอย่างเนืองแน่น ห้างนี้ตั้งอยู่นานแล้วก็เลิก
กิจการไป ดูเหมือนสมัยหนึ่งที่ชั้นล่างสุดเคยเป็นโรฟิโนไนท์คลับ ซึ่งมีครูสมาน กาญจนผะลิน
เป็นหัวหน้าวงดนตรี

ถัดขึ้นไปหน่อยก็จะเป็นโรงแรมสุริยานนท์ เป็นโรงแรมแห่งที่สองของถนนสายนี้ ชื่อของโรงแรม
ฯพณฯ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้ตั้งให้เพื่อเป็นสิริมงคล ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อให้
เป็นฝรั่งว่า “โรงแรมมาเจสติก” เพื่อหวังต้อนรับแขกฝรั่ง ในระยะหนึ่งดูเหมือนจะเปิดเป็นไนท์
คลับที่ด้านข้าง ชื่อว่า “คิงส์เฮฟเว่น”

เดินขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงสี่แยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณรอบนอกสมัยนั้นยังไม่มีอะไร ต่อมา
ภายหลัง เจ้าไชยณรงค์ ณ เชียงใหม่ ท่านก็มาสร้างห้องอาหารและบาร์ ติดอยู่กับกำแพงโรงเรียน
สตรีวิทยา ชื่อร้านอะไรก็ลืมเสียแล้ว สมัยนั้นบางคนสั่งเหล้าเบียร์พร้อมกับแกล้ม สั่งให้บ๋อยยก
ไปดื่มกินกันบนลานอนุสาวรีย์นั่นล่ะ (ถ้าเป็นสมัยนี้ถูกจับแน่นอน) ต่อมาอีกระยะหนึ่งตรงถนนดินสอ
หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ก็มีไนท์คลับเปิดขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งชื่อว่าอเล็กซานดร้าไนท์คลับ

เอาล่ะ...ทีนี้ก็เดินเรื่อยๆ ขึ้นไปจนถึงสี่แยกคอกวัว ตอนนั้นยังไม่มีสถานที่สำคัญที่นำมากล่าว ขอ
เดินผ่านไปจนสิ้นสุดตึกแถวแนวราชดำเนินที่บริเวณกองสลากฯ (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล)
ตอนนั้นกองสลากฯ ยังไม่ได้สร้าง ที่ดินตรงนั้นจึงว่างเปล่า ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เลิกแล้ว
เซียวก๊ก (บัณฑูร องควิศิษฐ์) ได้มาสร้าง “บาร์คาเธ่ย์” ขึ้น โดยมีครูมงคล อมาตยกุล (เจ้าของเพลง
เย้ยฟ้าท้าดิน) เป็นผู้ควบคุมวง มีคุณเชาว์ แคล่วคล่อง ร่วมด้วย นักร้องก็มีคุณเฉลา ประสพศาสตร์

ต่อมาบาร์คาเธ่ย์ก็เลิกกิจการไป ที่ตรงนั้นกระทรวงการคลังจึงให้กองสลากฯ มาสร้างตึกทำการออกสลาก
ระยะแรกๆ ก่อนออกสลากจะมีวงดนตรีดุริยะโยธินมาบรรเลงให้ประชาชนฟังแล้วจึงออกสลาก ทำอยู่
อย่างนี้จนกระทั่ง ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประธานกองสลากฯ สั่งให้ตั้งวงดนตรีขึ้นมาเพื่อใช้
ในกิจการนี้ ชื่อว่าวงดนตรีวายุบุตร ควบคุมวงโดยเชาว์ แคล่วคล่อง พร้อมนักดนตรีที่มาจากกองดุริยางค์
ทหารบก นักร้องในระยะนั้นคือ จินตนา สุขสถิตย์ ชาลี อินทรวิจิตร วรพจน์ เอี่ยมบริสุทธิ์ ฯลฯ

ตึกกองสลากฯ เก่าถูกเผาไปเมื่อครั้งวันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖

อ้อ…ขอย้อนไปที่ตึกแถวห้องสุดท้าย ต่อมาก็เป็นร้านเทพรส มีชื่อเสียงมาก เวลาเย็นทำเก๋เอารั้วมากั้น
ปิดทางเดินตรงฟุตบาท เอาโต๊ะมาตั้งสำหรับผู้ที่จะมาดื่มน้ำชากาแฟชมวิว แบบอย่างโรงแรมรัตนโกสินทร์
(ขอโทษ…ถ้าเป็นสมัยนี้คงได้นั่งกินฝุ่นเคล้าควันรถยนต์กันมั่งล่ะฮะ) ต่อมาตรงแถวๆ นี้ก็มีห้องอาหาร
โลลิต้าและโลลิต้าไนท์คลับเกิดขึ้น


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 08 ก.ค. 13, 16:15
ต่อไป

เรื่อยๆ มาเรียงๆ จนสิ้นสุดที่กรมโฆษณาการ หรือห้างแบดแมนเก่า เป็นสถานีวิทยุที่ใหญ่ที่
สุดในสมัยนั้น อธิบดีท่านแรกของกรมนี้คือพันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ผู้ริเริ่มวงดนตรีแจ๊สของ
กรมโฆษณาการขึ้นมา ด้วยความร่วมมือของคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ท่านผู้นี้อีกแหละครับ
ที่นายควง อภัยวงศ์ ตั้งสโลแกนล้อท่านว่า “เหล็กวิลาศหรือจะสู้ตะปูควง” สมัยเมื่อครั้งลง
สมัครเลือกผู้แทนฯ กรุงเทพฯ

ท่านที่รัก...ผมขอแถมอีกนิดนะฮะ คือเรื่องผีแหม่มเมียนายห้างแบดแมน เขาลือกันว่าดุจน
ต้องให้คุณหลวงสุวิชาญแพทย์มานำเอาวิญญาณไปถ่วงน้ำ เรื่องจึงเงียบไป แต่แล้วเมื่อ
สร้างกรมใหม่ แหม่มแกก็มาปรากฏให้เห็นอีก แสดงว่าแกผูกพันกับกรมมากเหลือเกิน

สมัยก่อนกรมโฆษณาการด้านข้างฝั่งตรงข้ามกรมสรรพากร มีสะพานเหล็กโค้งสำหรับรถราง
สายวิทยุ - บางกระบือ วิ่งไปทางบางลำพู ที่ตรงนั้นเขาเรียกว่า “สะพานเสี้ยว” และตรง
เลี้ยวลงไปทางกรมสรรพากรนี่หละ สมัยก่อนนั้นเป็นห้องแถวสีเขียว เปิดร้านขายสุรา
ยาดองและอาหารกับแกล้มเหล้า พวกนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักวิทยุ มาอุดหนุน
กันอย่างคับคั่ง (แบบกินก่อนผ่อนทีหลัง) เจ้าของเป็นหญิงชื่อเจ๊แวว ใจดีมาก แกไม่
ค่อยจะทวงหนี้เท่าไรนัก จนคนกินเกรงใจ ถ้ามีเงินรีบให้ทันที ร้านนี้แหละที่ทำให้เกิด
ชื่อเพลง ยังจำได้ไหม ที่คุณรวงทอง ทองลั่นธม ขับร้องจนมีชื่อเสียงโด่งดัง

ท่านที่รัก...ผมแนะนำถนนราชดำเนินฝั่งขวาไปแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเวลาจนเกินไป ผมขอ
นำท่านข้ามฟากไปฝั่งซ้ายบ้าง ขอเริ่มต้นจากโรงแรมรัตนโกสินทร์ก่อนเลยนะฮะ

อันว่าโรงแรมรัตนโกสินทร์นี้ไซร้ เป็นโรงแรมทันสมัยที่สุดแห่งกรุงสยามในสมัยนั้น มีชาว
ต่างประเทศมาพักแรมกันอย่างมากมาย บริเวณรอบๆ โรงแรมเป็นระเบียงโปร่งใสไม่มี
อะไรมาบัง ที่ระเบียงนั้นเขาตั้งโต๊ะไว้เป็นชุดๆ เพื่อให้ผู้ที่มาพักได้ใช้เป็นที่นั่งดื่มน้ำชา
กาแฟอาหารเช้า และตอนเย็นก็เพิ่มเครื่องดื่มชนิดเป็นเหล้าเบียร์มาบริการ พร้อมกับนั่ง
ชมวิวไปด้วย เนื่องด้วยอากาศเย็นสบายตามธรรมชาติ

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ชื่อไทยที่โก้หรูมองดูขัดตาก็เลยเปลี่ยนเป็นชื่อฝรั่งคือ “โรงแรมรอแยล”
ระเบียงเก่าที่เคยนั่งโปร่งใสก็เอากระจกหนามาใส่ไว้รอบด้านทั้งหมด แขกเลยหมด
โอกาสที่จะมานั่งชมวิวเหมือนอย่างสมัยโน้น แถมสถานที่ทางด้านข้างโรงแรมก็เปิดเป็น
ห้องอาหารชื่อว่าสีดา พอตกกลางคืนก็เป็นสีดาไนท์คลับ นักร้องที่นี่ดูเหมือนจะมี
คุณพิทยา บุณยรัตพันธุ์ เจ้าของเพลง จูบกับรอ และคุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส เจ้าของเพลง
กังหันสวาท

เลยโรงแรมรัตนโกสินทร์ไปนิดเดียวก็เป็นธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นมา
เป็นธนาคารแห่งแรกคู่กับถนนสายนี้ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ปัจจุบันนี้ก็ยัง
ตั้งอยู่เพื่อบริการลูกค้า ภายหลังต่อมาอีกหลายสิบปีก็เกิดมีเซซิบองไนท์คลับมาตั้งอยู่
ข้างๆธนาคาร

ย้อนลงไปอีกนิดก็ถึงสี่แยกคอกวัว ตอนนั้นยังไม่มีอนุสาวรีย์ ๑๔ ตุลา ตึกตรงนั้นปรากฏ
ว่าพอสร้างแล้วพัง และพอพังแล้วก็สร้าง นั่นแหละมีตึกใหญ่เป็นห้างสรรพสินค้าของทาง
ราชการ มีชื่อย่อว่า อ.จ.ส. ต่อมาชั้นบนของตึกนี้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ดำเนิน
งานโดยคุณจำนง รังสิกุล และคุณสมจิตร สิทธิไชย สมัยนั้นภาคบ่ายมีทายปัญหาและ
การบรรเลงดนตรีของคณะสุนทราภรณ์ ทุกเสาร์ – อาทิตย์

ตึกนี้มาถูกเผาเมื่อคราว ๑๔ ตุลาคม ๑๖ ราบเรียบไปตามระเบียบอีกแห่งหนึ่ง

ทีนี้จากคอกวัวก็มาถึงสี่แยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สมัยก่อนยังไม่มีอะไรที่จะกล่าวถึง
นอกจากมีบ้านหลังหนึ่งลือกันว่า “ผีดุ” วันดีคืนดีผีออกมาเดินเล่น ผู้คนเลยพากันเฮโลไป
นั่งคอยจับผี

หลังจากนั้นอีกนานแสนนาน ก็มีมูแลงรูจไนท์คลับกับห้องอาหาร ดำเนินงานโดยคุณดารารัตน์
เกียรติเกิดสุข เจ้าของเพลง จับปูดำขยำปูนา ดูเหมือนคุณปทุมวดี โสภาพรรณ ก็ร้องเพลงอยู่ที่นี่

ถัดไปริมถนนดินสอก็มีการสร้างโรงภาพยนตร์ เขาเล่ากันว่าตอนก่อสร้างตอกเสาเข็มนั้นมัน
กระเทือนคนป่วยที่อยู่ตึกใกล้ เคียงจนถึงแก่กรรม โรงหนังนี้ทีแรกชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว ดูเหมือน
ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมูนไลท์ ท้ายที่สุดใช้ชื่อว่าพาราไดส์ จนเลิกกิจการไป

ข้ามจากโรงหนังนี้ไปตรงหัวมุมก็จะเป็นร้านศรแดง เมื่อตอนเปิดใหม่ๆ คนเข้าใจกันว่าเป็นร้าน
ของนักมวยเอกในสมัยนั้นที่มีนามว่า อุสมาน ศรแดง แต่ไม่ใช่ - กลับเป็นของคุณอุทัย ชุณหจันทร์

ถอยร่นลงไปจนถึงหัวมุมตรงวัดเทพธิดาราม ตอนนั้นโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยยังไม่ได้สร้าง
ศาลาเฉลิมไทยมาสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปลายปี พ.ศ.๒๔๙๑ ได้ฤกษ์เปิดโรงแสดงละครเวทีเป็น
ปฐมฤกษ์ ด้วยละครเรื่องราชันย์ผู้พิชิต เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๖ ก่อนที่จะทุบและ
รื้อโรงทิ้งได้แสดงละครเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” เป็นเรื่องสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ –
๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ พอแสดงละครเสร็จก็ทุบทิ้งทันที

นี่แหละศาลาเฉลิมไทยที่รัก

ถนนราชดำเนินกลางและอาคารสองฝั่งถนน เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ จะเห็นว่าแทบไม่มีรถยนต์หรือผู้
คนให้เห็นเลย รถยนต์ที่แล่นตามกันเป็นแถวนี้ เข้าใจว่าเป็นกระบวนแห่ในงานพระศพพระบรมวงศานุวงศ์

ในราวปี พ.ศ.๒๔๘๓ ทางราชการสั่งปิดถนนราชดำเนินทั้งสาย ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าไปจนถึง
สะพานผ่านพิภพ เพื่อจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ที่จำได้แม่นก็เพราะว่าในตอนกลางคืน ห้างไทยนิยม
ผ่านฟ้าจัดให้มีลีลาศ มีดนตรีสองวงร่วมบรรเลง คือวงดนตรีดุริยะโยธิน ควบคุมวงโดยครูจำปา เล้มสำราญ
ส่วนอีกวงหนึ่งนั้นคือวงดนตรีกรมโฆษณาการ วงที่สอง - ผมเล่นอยู่วงนี้แหละครับ ส่วนวงที่หนึ่งนั้น
บรรเลงอยู่ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ควบคุมวงโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน ทั้งสองวง

พอตอนดึกนางสาวไทยก็มาปรากฏตัว คือคุณสว่างจิตต์ คฤหานนท์ ส่วนรองนางสาวไทยมีสี่คนคือ
คุณสมจิตต์ ลิ้มไพบูลย์ คุณอารีย์ ปิ่นแสง คุณสอาด ลิ่มสวัสดิ์ คุณประชัน ศิวเสน นางสาวไทยชุด
นี้เรียกกันว่า “นางสาวไทยในไฟสงครามอินโดจีน” เพราะเริ่มประกวดเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓
ก็เริ่มมีการปะทะกันตามแนวพรมแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส บวกกับเค้าลางสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เริ่มปรากฏ

ในการประกวดนางสาวไทยครั้งนี้ มีอดีตนักร้องนักแสดงละครวิทยุเข้าประกวดถึงสองคนคือ
คุณสุปานี พุกสมบุญ อดีตนักร้องของวงดนตรีกรมโฆษณาการรุ่นแรก ตอนนั้นทำหน้าที่เป็น
แคชเชียร์อยู่ที่ร้านผลิตผลไทย หน้าศาลาเฉลิมกรุง และคุณพรพรรณ วรรณมาศ อดีตนักร้อง
และนักแสดงละครวิทยุคณะจารุกนก และนางเอกภาพยนตร์ (เรื่อง รอยไถหรือ ชายสามโบสถ์
จำไม่ได้จริงๆ) แต่ที่แน่ๆ เธอเป็นคุณแม่ของดาราภาพยนตร์และละครทีวี คือไพโรจน์ สังวริบุตรนี่ล่ะ

ปี พ.ศ.๒๔๘๕ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ถนนราชดำเนินจึงกลาย
เป็นคลองไป สามารถพายเรือไปมาหาสู่กันได้สบายมาก พอน้ำลด ถนนราชดำเนินก็ซบเซาไป
ถนัดตา ห้างโรงร้านค้าก็เริ่มทยอยกันหนีไปหาแหล่งที่ทำมาหากินใหม่

จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๘ – ๒๔๙๕ เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงแล้ว ถนนราชดำเนินก็กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมา
มีทั้งบาร์ มีทั้งไนท์คลับ มีทั้งห้องอาหารหรูๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย

แหม…เกือบลืมสิ่งสำคัญในละแวกราชดำเนินไปเรื่องหนึ่ง สมควรที่จะนำมาบอกเล่าให้อนุชนรุ่นหลังๆ
ได้ทราบไว้บ้าง เช่นในสมัยหนึ่งการขายอ้อยควั่น ของขบเคี้ยวธรรมดาๆ แต่อุตส่าห์มีคนเอาไป
แต่งเพลงโฆษณาให้ด้วยใจปฏิพัทธ์

เรื่องก็มีอยู่ว่า สมัยหนึ่งตรงเชิงสะพานผ่านฟ้าทางที่จะไปนางเลิ้ง มีห้องแถวสองชั้นทาสีเขียวอยู่
ตรงหัวมุมถนน (ปัจจุบันที่ตั้งกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน) มีสาวสวยนางหนึ่งมาตั้งร้าน
ขายอ้อยควั่น อบควันเทียนและโรยกลีบกุหลาบอยู่ที่นั่น พอตกค่ำก็จะมีพวกหนุ่มๆ วัยรุ่นสมัยนั้น
ที่นุ่งกางเกงแพรมีผ้าเช็ดหน้าเหน็บไว้ที่เอว มองดูโก้พิลึก บ้างก็เดิน บ้างก็นั่งสามล้อ บ้างก็ขี่จักรยาน
บ้างก็ขับรถยนต์ มานั่งกินอ้อยควั่นจานละ ๕ บาท (จานขนาดเท่าจานรองถ้วยกาแฟ) อย่างอร่อย
สนุกสนาน

ท่านครับ…สมัยนั้นอ้อยถ้าซื้อกินธรรมดา เขาขายกันสองท่อน ๑ สตางค์ ถ้าซื้อ ๕ สตางค์ ต้องเอา
ไปนั่งควั่นใส่กะละมังกินทั้งบ้าน แต่นี่เขากินเพราะความสวยของแม่ค้า ซึ่งรูปร่างเอวเล็กเอวบาง
ผิวค่อนข้างขาว เธอมีชื่อว่าแม่กลอย อยู่ผ่านฟ้า คนเลยพากันเรียกว่า “แม่กลอยผ่านฟ้า” (ยังมีอีก
คนหนึ่งสวยไม่ใช่เล่น ขายสินค้าชนิดเดียวกัน ตั้งร้านขายอยู่ที่เก้าชั้น เธอชื่อว่าแม่โสภา คนก็เลย
พากันเรียกว่า “แม่โสภาเก้าชั้น” อีกคนหนึ่งสวยเหมือนกัน คนนี้ขายอยู่ท่าพระจันทร์ มีชื่อว่า
แม่ละม้าย คนก็เลยเรียกกันว่า “แม่ละม้ายท่าพระจันทร์”)

ที่จะเกิดเพลงโฆษณาอ้อยควั่นนั้นก็เพราะว่าสมัยนั้นมีการประกวดร้องเพลงตาม งานวัดกันมาก
คนที่ไม่มีเพลงจะร้องก็คิดแต่งขึ้นมาเอง คิดไปคิดมาก็นึกถึงแม่ค้าขายอ้อย ก็เลยเอาทำนอง
เพลงของ “พรานบูรพ์” นี่แหละไปใส่เนื้อร้องใหม่ แล้วเอาไปร้องประกวดตามงานวัด เนื้อเดิม
เพลงของ “พรานบูรพ์” มีดังนี้

แหงนมองฟ้าพบดาว...........ดาดอยู่ขาวสะพรั่ง
เหลียวมองหาความหลัง.......ตื่นหวังจะเห็น แต่ไม่เว้นคำนึง
คล้ายกับเมื่อวันวาน............รักยังหวานซาบซึ้ง
จำสนิทติดตรึง..................ประหนึ่งสลักรักไว้ ว่าหัวใจไม่จาง

คนที่นำมาเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่โดยใช้ชื่อแม่ค้าอ้อย เนื้อร้องมีดังต่อไปนี้
แหงนมองฟ้าพบฝน............ร่วงหล่นลงมาปรอยๆ
เห็นแม่ค้าขายอ้อย.............นึกถึงแม่กลอยผ่านฟ้า แม่โสภาเก้าชั้น
เหลียวมองไปคล้ายๆ...........แม่ละม้ายท่าพระจันทร์

จำได้เท่านี้แหละครับ โถ…มันนานเหลือเกิน
เป็นอันว่าการท่องเที่ยวถนนราชดำเนินของผมก็เป็นอันจบลงเพียงแค่นี้ สวัสดีคร้าบ...



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ก.ค. 13, 16:23
ภาพถ่ายต้นถนนราชดำเนินกลาง เลยสะพานผ่านภิภพลีลา บริเวณกองสลากในปัจจุบัน ในอดีต(ตามภาพ) เห็นเรือนหลังงาม เล็กน่ารัก ไม่ทราบเป็นของท่านใด


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 13, 20:08
^
บ้านขนาดนี้ไม่น่าจะเรียกว่าเล็กนะคะคุณ siamese  ใหญ่เอาการเชียวละ  น่าจะบ้านระดับพระยาพานทอง


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 13, 21:32
   จากภูมิประเทศที่เป็นป่าเป็นสวนมีแต่ต้นไม้ทึบ   ถนนแบบตะวันตกสายกว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็เกิดขึ้นอย่างสง่างาม   ถนนราชดำเนินนอก และสะพานมัฆวานรังสรรค์ซึ่งเป็นสะพานแบบตะวันตก  สร้างด้วยศิลาและเครื่องเหล็กกะไหล่ทอง ถือกำเนิดเป็นทางการเมื่อพ.ศ. 2446    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินผ่านเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2446


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 13, 21:34
สะพานมัฆวานรังสรรค์ ของเดิมสมัยรัชกาลที่ 5 ระบุว่าสร้างด้วยศิลา  (ไม่ใช่คอนกรีต) ส่วนที่เป็นเหล็ก ก็หุ้มด้วยทอง เรียกว่าเหล็กกะไหล่ทอง


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 13, 21:38
 :D


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 09 ก.ค. 13, 07:37
ถ่ายในปี คศ 1920 (พศ 2463)

ถนนตอนนี้ยังมีต้นไม้ปลูกสองแถวอย่างที่ลุงใหญ่เล่าไว้
คือแถวในเป็นมะฮอกกานี แถวนอก เป็นต้นมะขาม  ?



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 09 ก.ค. 13, 08:18
พศ 2489-2490 ยังไม่มีอาคารกองฉลาก



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 09 ก.ค. 13, 08:39
อีกภาพที่ต่อจากด้านบน   นักบินถ่ายสองช๊อตติดต่อกัน


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 13, 11:30

ถนนตอนนี้ยังมีต้นไม้ปลูกสองแถวอย่างที่ลุงใหญ่เล่าไว้
คือแถวในเป็นมะฮอกกานี แถวนอก เป็นต้นมะขาม  ?

ขอเล่าถึงต้นมะฮอกกานี  ตำนานอีกเรื่องบนถนนราชดำเนินกลาง
ก่อนพ.ศ. 2483  สองข้างถนนราชดำเนินกลาง ปลูกต้นมะฮอกกานีจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงนำพันธุ์มาจากต่างประเทศในคราวเสด็จประพาสยุโรป และนำไปปลูกครั้งแรกเมื่อ รศ.129 ที่ถนนราชดำเนิน    ถนนดำรงรักษ์  ถนนราชดำริ  และถนนบริพัตร  จังหวัดเพชรบุรี 
ถนนราชดำเนิน - ทรงให้ปลูกทั้งสองฝั่ง คือ ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ค. 13, 12:12

ถนนตอนนี้ยังมีต้นไม้ปลูกสองแถวอย่างที่ลุงใหญ่เล่าไว้
คือแถวในเป็นมะฮอกกานี แถวนอก เป็นต้นมะขาม  ?

ขอเล่าถึงต้นมะฮอกกานี  ตำนานอีกเรื่องบนถนนราชดำเนินกลาง
ก่อนพ.ศ. 2483  สองข้างถนนราชดำเนินกลาง ปลูกต้นมะฮอกกานีจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงนำพันธุ์มาจากต่างประเทศในคราวเสด็จประพาสยุโรป และนำไปปลูกครั้งแรกเมื่อ รศ.129 ที่ถนนราชดำเนิน    ถนนดำรงรักษ์  ถนนราชดำริ  และถนนบริพัตร  จังหวัดเพชรบุรี 
ถนนราชดำเนิน - ทรงให้ปลูกทั้งสองฝั่ง คือ ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก



ถ้าจะดูลักษณะของถนนราชดำเนินที่ถ่ายภาพไว้เยอะ ๆ ก็เห็นจะเป็นในคราวตั้งแต่ซุ้มรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จนิวัติพระนคร กลับจากยุโรป ครั้งที่ ๒

ในคราวนั้นมีการตั้งแต่ซุ้มรับเสด็จตลอดถนนราชดำเนินนอก กลาง และใน อย่างอลังการ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 13, 12:44
มะฮอกกานีในอดีต


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 09 ก.ค. 13, 16:35
สะพานมัฆวานรังสรรค์ไม่รู้ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากของเดิมไปมากน้อยแค่ไหนนะคะ ถ้ารักษาดีๆเป็นสถานที่ให้ถ่ายรูปสวยๆได้เหมือนสะพานอเล็กซานเดอร์ที่ปารีสเลย

เรื่องแม่ค้าขายอ้อยควั่น นึกถึงเรื่องขมิ้นกับปูน ตอนแม่ปริก จำปา ปีบ จะเปิดร้านอาหารท่านเจ้าคุณบิดาค่อนขอดว่า "เห็นพวกแกขายของแล้วพาลให้นึกถึงนังพวกแม่ค้าขายอ้อยควั่น" ทีแรกคิดว่าคล้ายแม่ค้าส้มตำยกหาบที่หัวลำโพง......ไม่รู้เหมือนกันไหมคะ

ต้นมะฮอกกานีปัจจุบันยังอยู่ไหมคะ??


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 13, 16:56
คุณนางมารน้อยเคยเห็นอ้อยควั่นไหมคะ
หารูปสวยกว่านี้ไม่ได้  จริงๆแล้วในสมัยก่อน อ้อยควั่นถูกเกลามากกว่านี้ ให้กลมรี แล้วเสียบไม้เป็นพวงเหมือนลางสาด


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ค. 13, 17:08
เรื่องแม่ค้าขายอ้อยควั่น นึกถึงเรื่องขมิ้นกับปูน ตอนแม่ปริก จำปา ปีบ จะเปิดร้านอาหารท่านเจ้าคุณบิดาค่อนขอดว่า "เห็นพวกแกขายของแล้วพาลให้นึกถึงนังพวกแม่ค้าขายอ้อยควั่น" ทีแรกคิดว่าคล้ายแม่ค้าส้มตำยกหาบที่หัวลำโพง......ไม่รู้เหมือนกันไหมคะ
ไม่เหมือนค่ะ    แม่ค้าขายอ้อยควั่นเขาก็ขายอ้อยควั่นจริงๆ   ตรงไปตรงมา       คนขายมักเป็นสาวๆหน้าตาจิ้มลิ้มในตลาดต่างจังหวัด  เป็นเหตุให้หนุ่มๆไปรุมล้อมซื้ออ้อยควั่นกันมาก   
มีตำนานว่า หนุ่มๆที่ออกต่างจังหวัดในสมัยสัก 50-60 ปีก่อน มีพวกข้าราชหนุ่มๆทั้งพลเรือนและทหาร     กำลังเป็นหนุ่มแต่ไม่มีโอกาสเจอสาวเมืองหลวง เพราะต้องถูกส่งไปหัวเมืองเสียก่อน     แม่ค้าอ้อยควั่นหน้าตาดีๆจึงกลายเป็นคุณนายกันหลายราย
เมื่อสามีย้ายกลับเมืองหลวง คุณนายก็กลับมาอยู่ในวงไฮโซ     เป็นเหตุให้เจ้าคุณในขมิ้นกับปูนค่อนเอาได้ เมื่อลูกสาวจะริอ่านค้าขาย ซึ่งถือเป็นอาชีพด้อยกว่าขุนน้ำขุนนาง


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 09 ก.ค. 13, 18:37
มะฮ๊อกกานีอาจจะปลูกแต่ในแนวถนนราชดำเนินกลาง

ตอนที่เป็นถนนราชดำเนินนอก ปลูกต้นมะขามทั้งหมด
รูปนํ้าท่วมในปี 2485 เหมือนต้นมะขาม ไม่ใช่ต้นมะฮ๊อกกานี

รูปสีปี  2502 เป็นต้นมะขามชัด



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ค. 13, 20:11
มะฮ๊อกกานีอาจจะปลูกแต่ในแนวถนนราชดำเนินกลาง

ตอนที่เป็นถนนราชดำเนินนอก ปลูกต้นมะขามทั้งหมด
รูปนํ้าท่วมในปี 2485 เหมือนต้นมะขาม ไม่ใช่ต้นมะฮ๊อกกานี

รูปสีปี  2502 เป็นต้นมะขามชัด



เรื่องการปลูกต้นไม้ในบริเวณถนนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่บริเวณลานพระรูปทรงม้า เรื่อยมาจนถึงสะพานผ่านฟ้า ผมไปหยิบแผนที่สำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ พบกว่า "ถนนเบญจมาศนอก" ต่อมาพระราชทานชื่อเป็น "ถนนราชดำเนินนอก" ปลูก "ไม้มะขาม" ทั้งสองแถวครับ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ค. 13, 20:16
ส่วนบริเวณหัวมุมถนนราชดำเนินกลาง ตรงสะพานผ่านฟ้า ตรงที่ขีดเส้นใต้ "ต้นมะขาม"



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ค. 13, 07:36
หนังสือ ๑๐๐ ปีขุนวิจิตรมาตรา กล่าวเรื่องต้นไม้ที่ถนนราชดำเนินว่า

บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ถนนสายกลางปลูกต้นมะฮอกกานี้ไว้อย่างครึ้ม ใบหนาร่มมาก ส่วนข้างทางปลูกต้นพู่ระหง เป็นแนวรั้วตั้งแต่ห้างแบตแมน จนถึงแยกคอกวัว

ส่วนถนนราชดำเนินนอก เห็นจะปลูกต้นมะฮอกกานีหรือต้นมะขามเหมือนอย่างปัจจุบันนี้เห็นจะจำไม่ถนัด


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ค. 13, 09:08
ภาพถนนราชดำเนินกลาง ในการพระเมรุเจ้าจอมมารดาเปี่ยม กระบวนแห่พระศพอัญเชิญมาตามถนนราชดำเนินกลาง เห็นต้นมะขามในแนวกลาง และต้นหูกวาง แถวข้าง


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 13, 21:27
ภาพนี้น่าจะถ่ายในยุคก่อน 2500s เพราะยังมีสามล้ออยู่   ต้นไม้ริมถนนราชดำเนินคือต้นมะขามใช่หรือไม่คะ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 13, 21:31
ต้นไม้ไม่ค่อยสูงเลย   ยังปลูกไม่นาน?


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 11 ก.ค. 13, 10:55
ต้นไม้รุ่นเก่าถูกตัดตอนสร้างตึกปี 2483
ต้องมาเริ่มปลูกกันใหม่ ไม่รู้ว่าเป็นต้นอะไร


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 11 ก.ค. 13, 11:07
รูปที่ 51 นี้  กลับด้านหรือไม่คะ ดูจากตำแหน่งอาคารรถเบนซ์ และทิศทางการเดินรถ

ต้นไม่ริมถนนราชดำเนินกลาง คือ ต้นมะฮอกกานี ยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ค่ะ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 11 ก.ค. 13, 12:01

ดูจากการเดินรถ กลับด้านแน่




กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 13, 12:39
รัชกาลที่ ๕   ทรงเรียกต้นมะฮอกกานี ว่า "มหอกคินี"     การปลูกตามพระราชดำริเมื่อสร้างถนนราชดำเนินกลางเป็นการปลูกชั่วคราว   เพราะทรงเห็นว่า ยังอีกนานกว่าจะสร้างตึกริมถนนราชดำเนินกลาง    ถ้าปลูกต้นมหอกคินีข้างละแถวอย่างปลูกต้นหูกวางที่ถนนราชดำเนินนอกเสียก่อน     เพราะถ้าปลูกตึกเมื่อใด ก็ได้ตัดต้นมหอกคินี เอาไม้ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้   ไม่ทิ้งเนื้อที่ไว้เปล่าๆ

ในสมัยจอมพลป. มีการปลูกตึกขึ้นสองข้างทางถนนราชดำเนินกลาง  เข้าใจว่ามะฮอกกานีก็เลยสิ้นชีพไปหมดในคราวนั้น  กลายเป็นมะขามแทน


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 13, 12:49
ราชดำเนินนอก เมื่อน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2485


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 11 ก.ค. 13, 13:55
ไม่เหมือนค่ะ    แม่ค้าขายอ้อยควั่นเขาก็ขายอ้อยควั่นจริงๆ   ตรงไปตรงมา       คนขายมักเป็นสาวๆหน้าตาจิ้มลิ้มในตลาดต่างจังหวัด  เป็นเหตุให้หนุ่มๆไปรุมล้อมซื้ออ้อยควั่นกันมาก   
มีตำนานว่า หนุ่มๆที่ออกต่างจังหวัดในสมัยสัก 50-60 ปีก่อน มีพวกข้าราชหนุ่มๆทั้งพลเรือนและทหาร     กำลังเป็นหนุ่มแต่ไม่มีโอกาสเจอสาวเมืองหลวง เพราะต้องถูกส่งไปหัวเมืองเสียก่อน     แม่ค้าอ้อยควั่นหน้าตาดีๆจึงกลายเป็นคุณนายกันหลายราย
เมื่อสามีย้ายกลับเมืองหลวง คุณนายก็กลับมาอยู่ในวงไฮโซ     เป็นเหตุให้เจ้าคุณในขมิ้นกับปูนค่อนเอาได้ เมื่อลูกสาวจะริอ่านค้าขาย ซึ่งถือเป็นอาชีพด้อยกว่าขุนน้ำขุนนาง

เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่าแม่ค้าอ้อยควั่นมีประวัติที่มาที่ไปอย่างนี้ ขอบคุณอาจารย์เทาชมพูค่ะ อ้อยควั่นแบบในภาพเคยเห็นเหมือนกันค่ะ ทำเป็นพวงน่ารักเชียว


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 13, 14:23
ประกาศขายที่ดินริมถนนราชดำเนินกลาง โดยระบุว่า ต้นทุนที่รัฐดำเนินการคือ วาละ ๔๕ บาท และขอทำกำไร ๕ บาท เป็นราคาขายวาลา ๕๐ บาท ครับ

ที่มา ราชกิจจาฯ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 13, 14:34
ห้างแบดแมนริมถนนราชดำเนิน  ต่อมารื้อลงกลายเป็นกรมประชาสัมพันธ์  แล้วก็ถูกเผา  จึงไม่เหลือตึกในบริเวณนี้อีก


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 11 ก.ค. 13, 17:59
ราคาที่ดินริมถนนราชดำเนินไร่ละ 20000 บาท

แต่เคยอ่าน ดร วิชิตวงศ์ ณป้อมเพชร
เขียนไว้ว่าคุณตาซื้อที่แถวบางกระบือไร่ละสี่สิบบาท

ภาพพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 24 มิย 2484
มีการเดินสวนสนามอย่างที่ครูใหญ่ นภายนเล่าไว้


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 11 ก.ค. 13, 18:05
ภาพต้นไม้ที่เห็นแค่กิ่งน่าจะเป็นมะฮ๊อกกานี ปี 2515



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 11 ก.ค. 13, 20:38
ขอแก้วันทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ตามที่ท่านส.พลายน้อยเขียนไว้ในหนังสือ เล่าเรื่องบางกอก
ท่านเขียนว่าเปิดเมื่อ 24 มิย 2483 ไม่ใช่ 2484 ตามรูปที่โพสต์ไว้


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 13, 22:39
อาคารสองฟากถนนราชดำเนินกลาง เกิดหลังจากตัดถนนเกือบ 40 ปี  เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2480   รัฐบาลเวนคืนที่ดินทั้งสองฝั่งถนนข้างละ 40 เมตร   เพื่อสร้างอาคารรวม15 หลัง ริมสองข้างทางของถนนราชดำเนินกลาง  โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบของถนนใหม่ ให้เป็นแบบมีเกาะกลางเช่นปัจจุบัน  
ตัวอาคารออกแบบโดยสถาปนิก มล.ปุ่ม มาลากุล และ คุณหมิว อภัยวงศ์ ซึ่งใช้แนวความคิดในการออกแบบอาคารแบบฝรั่งเศส จาก Champ Elysees  

งานก่อสร้างอาคารบนถนนราชดำเนินกลาง ใช้เวลาระหว่างปี พ.ศ. 2480 ถึง 2491  ใช้งบประมาณก่อสร้าง 10 ล้านบาท ผู้รับเหมาก่อสร้างคือบริษัท สง่าวรรณดิศ จำกัด และ บริษัทคริสเตียนีแอนด์นีลเส็น จำกัด    


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 11 ก.ค. 13, 22:56
เรื่องราวเกี่ยวกับถนนราชดำเนิน ท่าน ส พลายน้อย เขียนไว้ค่อนข้างละเอียด

มีอีกท่านหนึ่งที่เขียนบันทึกเรื่องราวของถนนราชดำเนินไว้ (คุณหนุ่มเล่าไว้บ้างแล้ว ตอนต้น กระทู้)
คือ กาญจนาคพันธุ์ หรือ ขุนวิจิตรมาตรา ท่านเกิดเมือ ปี  2440  
เรื่องราวที่ท่านเล่าน่าจะอยู่ในราวประมาณ ช่วงก่อนปี 2450 (ยังไม่ได้สร้างพระที่อนันตสมาคม  2451)

"ขอตั้งต้นที่ถนนราชดำเนินกลางและนอก......
ถนนสองสายนี้ทำเหมือนกัน คือเป็นถนนใหญ่มาก แบ่งเป็นห้าทาง
ทางริมสองข้างเป็นถนนเล็ก ถัดเข้ามาเป็นบาทวิถี  ตรงกลางเป็นถนนใหญ่
ตอนที่เป็นราชดำเนินกลาง ที่เป็นบาทวิถีปลูกต้นมะฮอกกานีตลอด
ถนนราชดำเนินนอกจำไม่ได้ว่าปลูกต้นมะฮอกกานีหรือต้นมะขาม อย่างปัจจุบัน

แต่เป็นถนนที่งามที่สุดในสมัยโน้น
เสียแต่ว่าตอนที่ข้าพเจ้ายังเด็ก
เป็นถนนเปลี่ยว  คือ ไม่ค่อยพบคนหรือรถ(รถเจ๊กรถม้า)

บ้านเรือนริมถนนก็ไม่มี

ที่ถนนราชดำเนินกลางตั้งแต่สะพานผ่านพิภพฯ ทางขวามือ
ริมถนนสุดเป็นรั้วต้นพู่ระหงตลอด  มีซอยเล็กๆทีเป็นสะพานไม้เข้าไป สองหรือสามซอย
บ้านเรือนอยู่ในซอยนั้น แต่มองข้างนอกไม่ค่อยเห็น เพราะต้นไม้บังหมด

ซอยแรกชื่อ ตรอกสาเก พวกผู้หญิงโสเภณีอยู่ในซอยนี้มาก
และว่าเป็นวังหลวงประจักษ์ด้วย  แต่ข้าพเจ้าไม่รู้ไม่เห็นว่าอยู่ตรงไหน
ซอยนี้ทะลุถึงคลองหลอด  ที่มีวัดบูรณศิริอยู่ต้นคลองหลอด

ราชดำเนิน   ตอนนี้  เป็นรั้วต้นพู่ระหงไปจนถึงถนนตะนาว ที่เป็นสี่แยกคอกวัว
ข้ามถนนตะนาวไปก็เป็นรั้วต้นพู่ระหงจนจดถนนดินสอที่เป็นสี่แยก(ยังไม่มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย)
ราชดำเนินตอนนี้เหมือนตอนแรกคือมีซอยสองสามซอย

ราวกึงกลางไปทางสี่แยกมีโรงเรียนสตรี  ชื่อ โรงเรียนสตรีวิทยา
เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในสมัยโน้น....
โรงเรียนนี้มีอาจารย์ใหญ่ชื่อ ทิม มีครูสาวสวยๆ และนักเรียนสวยๆมาก(ท่านขุนฯจำตอนนี้แม่นมาก...ผมเขียนเอง)
.....
ใกล้กับโรงเรียนสตรีวิทยามีซอยหนึ่งที่เป็นบ้านของพระยาภักดีถูธร(นามสกุลภักดีกุล)
เป็นพระพี่เลียงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
คราวที่เสด็จไปศึกษาที่ประเทศรัสเซีย
กลับมาเป็นเจ้ากรมแผนที่ทหารบก

ข้ามฟากถนนดินสอไป
ริมถนนราชดำเนินเป็นรั้วพู่ระหงอีกต่อไปจนเกือบถึงที่เป็นโรงหนังเฉลิมไทย
เป็นห้องแถวไม้จากถนนราชดำเนินเป็นแนวโค้งไปตามถนนมหาไชย
ดูเหมือนจะยาวไปจดคลองหลอดวัดเทพธิดาราม

ห้องแถวไม้นี้ทำแปลก ที่ด้านหน้าของห้องยกพื้นจากพื้นดินสูงขึ้นไปราวศอกหนึ่ง
เป็นชานโค้งไปตามรูปห้องตลอด(ไม่มีบันได)  กว้างสองศอก
ติดกับชานจึงเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียว
ชานนั้นเป็นเหมือนหน้าห้องยาวไปตลอด
แต่คนเดินถนนที่ไม่ใช่เจ้าของห้องขึ้นไปเดินได้ตลอดห้อง
ตรงโค้งสองหรือสามห้องเป็นร้านโรงพิมพ์ เรียกว่าโรงพิมพ์มหาไชย......

ข้ามถนนมหาไชยก็เป็นสะพานผ่านฟ้าฯ
ซึ่งเชิงสะพานสองข้างเป็นกำแพงเมือง  ทางขวาเป็นป้อมมหากาฬ
..สุดถนนราชดำเนินกลาง





กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 11 ก.ค. 13, 23:40
ต่อ

ส่วนทางซ้ายของถนนราชดำเนินกลาง  ตั้งแต่สะพานผ่านพิภพฯ
ข้างๆเป็นตึกสองชั้น(?ท่านจำผิดไหม?) เดิมจะเป็นอะไรไม่ทราบ
แล้วห้างแบดแมนที่สะพานช้างโรงสีได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกสองชั้นนี้
ติดกับตึกสองชั้นเป็นที่วัง(ใครก็ลืม)

จากนี้เป็นรั้วพู่ระหงไปตลอดจนจดถนนตะนาว(สี่แยกคอกวัว)
ข้ามถนนตะนาวไปก็เป็นรั้วพู่ระหงจนจดถนนดินสอ(ที่เป็นสี่แยกอนุสาวรีย์ฯ)
ถนนราชดำเนินตอนนี้มีซอยสองสามซอย   แต่ไม่ค่อยมีบ้านเรือน
ตอนที่ใกล้มาทางถนนดินสอเป็นที่ว่างเวิ้งว้าง     มีบ้านคนสักสองสามหลัง

ข้าพเจ้าเคยเข้าไปบ้านหลังหนึ่งสองสามครั้ง
ดูคล้ายกับปลูกอยู่ในลานขี้เลื่อย  เพราะเห็นเป็นที่ไว้ขี่เลื่อย
และมีกองกุมฝอยเรียราดเต็มไปทั่ว

และที่ว่าตรงนี้ พศ ไหนจำไม่ได้
ได้กลายมาเป็นโรงเรียนสตรีวิทยา  ซึ่งย้ายมาจากฝั่งตรงข้ามเดิมมาที่นี่ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ข้ามฟากถนนดินสอไปก็เป็นรัวพู่ระหงอีกจนจดถนนมหาไชย สะพานผ่านฟ้าฯ

ถนนราชดำเนินกลางนี้ในสมัยข้าพเจ้าเป็นเด็ก
ถ้ายืนที่สะพานผ่านพิภพ ลีลา มองตรงไปถึงสะพานผ่านฟ้าฯ
จะเห็นแต่ต้นมะฮอกกานีเป็นแถว และ ริมถนนเป็นรั้วพู่ระหงไปตลอด
หลังรั้วพู่ระหงเห็นแต่ต้นไม้ไม่เห็นบ้านเรือนผู้คนเลย   
ออกเป็นถนนที่เปลี่ยวอยู่มากๆ บางวันนานๆจะเห็นเห็นรถเจ๊กเดินอยู่ทางริมถนนสักคัน
หรือรถม้าที่เดินอยู่กลางถนนสักคัน
แต่บางวันจะเห็นม้า(ผู้เขียนหมายถึงม้านั่ง)ที่อยู่โคนต้นมะฮอกกานีเดินมาหาพวกเดียวกันบ่อย


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถนนราชดำเนินกลางเปลี่ยนรูปโฉมหมด
สองฟากกลายเป็นอาคารใหญ่โต...
ที่เป็นห้าทางของเดิมเปลี่ยนเป็นถนนใหญ่ถนนเดียว
ต้นมะฮอกกานีตัดทิ้งหมด
กลางถนนใหญ่ทำเป็นที่เรียกว่าเกาะกลาง ปูกระเบื้องลายสี
รู้สึกว่าคนตื่นเต้นไปดูกันมาก คือ คิดว่าปูเต็มถนน

ทำเสร็จแล้วให้เป็นตึกเช่า  อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็สร้างไล่เลี่ยกับอาคารเหล่านี้
..... ค่าเช่าเดือนละ 50 บาท .....

สาระสำคัญมีแค่นี้



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 13, 12:05
อ้างถึง
ซอยแรกชื่อ ตรอกสาเก พวกผู้หญิงโสเภณีอยู่ในซอยนี้มาก
และว่าเป็นวังหลวงประจักษ์ด้วย  แต่ข้าพเจ้าไม่รู้ไม่เห็นว่าอยู่ตรงไหน
ซอยนี้ทะลุถึงคลองหลอด  ที่มีวัดบูรณศิริอยู่ต้นคลองหลอด

วิกี้ ให้คำตอบมาค่ะ
วังตรอกสาเก เป็นวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่บริเวณตรอกสาเกหรือหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ ปัจจุบัน มีคุณน้อยและทายาทเป็นผู้ดูแล

ในปัจจุบันสิ่งก่อสร้างในอดีตที่เหลืออยู่ คือ

    ตำหนักใหญ่ สร้างด้วยไม้สภาพทรุดโทรมตามอายุการใช้งาน
    ตำหนักเล็กของหม่อมเจ้าไศลทอง ทองใหญ่ (ภาพด้านล่าง)



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 13, 12:06
อ้างถึง
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถนนราชดำเนินกลางเปลี่ยนรูปโฉมหมด
สองฟากกลายเป็นอาคารใหญ่โต...
ที่เป็นห้าทางของเดิมเปลี่ยนเป็นถนนใหญ่ถนนเดียว
ต้นมะฮอกกานีตัดทิ้งหมด
กลางถนนใหญ่ทำเป็นที่เรียกว่าเกาะกลาง ปูกระเบื้องลายสี
รู้สึกว่าคนตื่นเต้นไปดูกันมาก คือ คิดว่าปูเต็มถนน

ทำเสร็จแล้วให้เป็นตึกเช่า  อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็สร้างไล่เลี่ยกับอาคารเหล่านี้
..... ค่าเช่าเดือนละ 50 บาท ....
.


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 12 ก.ค. 13, 12:20
อาจารย์ครับขอโทษครับ พิมพ์ต่อไม่ไหวเพราะยาวมาก
ท่านกาญจนาคพันธุ์เล่าต่อไปอีกเรื่องการค้าขาย
การเช่าห้องในอาคารเหล่านี้ ราคาห้องละ 50 บาทต่อเดือน
ผมจบแบบง่ายไปหน่อย

ภาพกรมหลวงประจักษ์ฯกับหลวงสาทรราชายุกต์ ผู้ขุดคลองสาทร


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 13, 12:25
ย่อเอาก็ได้ค่ะ คุณ visitna


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 12 ก.ค. 13, 12:36
ภาพ ปี 2406 แสดงคลองโอ่งอ่าง บางลำพู มหานาค
เห็นป้อมมหากาฬ ป้อมมหาปราบ และ ประตูพฤฒิบาศ

ทำไมไม่ถ่ายเข้าในเมืองบ้าง


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 12 ก.ค. 13, 20:21
ป้อมหักกำลังดัสกรอยู่ที่ไหน?

ตามข้างล่าง หาภาพยากมาก



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 12 ก.ค. 13, 20:22
ถนนเบญจมาศ



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 13, 20:26
ไปค้นเรื่องป้อมหักกำลังดัษกรมาให้คุณ Visitna ค่ะ    พบใน ทำเนียบนามภาค ๑ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมือ พ.ศ. ๒๔๕๗
ระบุว่า
ป้อม "หักกำลังดัษกร" อยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษม ข้างเหนือ
รื้อถอนหลายปีก่อน พ.ศ. 2457


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 13, 20:36
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ขยายพระนครออกไปอีกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษมโอบล้อมกรุงซึ่งลักษณะเป็นเกาะ เป็นคลองรอบกรุงชั้นนอก คลองรอบกรุงในสมัยรัชกาลที่ ๑ จึงเป็นคลองรอบกรุงชั้นใน แผ่นดินนี้ ขุดคลองแต่ไม่ได้สร้างกำแพงเมืองเลียบคลอง โปรดฯ ให้สร้างแค่ป้อม ๗ ป้อม เรียงรายตามริมคลอง ที่จริงป้อมสร้างเวลานั้นมี ๘ ป้อม แต่อีกป้อมหนึ่ง ข้ามไปอยู่ฟากธนบุรี ตรงปากคลองสาน ซึ่งบัดนี้ยังคงอยู่อีกป้อมเดียวใน ๘ ป้อม คือ ป้อมป้องปัจจามิตร ส่วนอีก ๗ ป้อม ทางฟากตะวันออก รื้อหมดแล้ว

ชื่อป้อมทั้ง ๘ คล้องจองกันน่าจำ คือ ป้องปัจจามิตร ปิดปัจจานึก ฮึกเหี้ยมหาญ ผลาญไพรีราบ ปราบศัตรูพ่าย ทำลายแรงปรปักษ์ หักกำลังดัสกร มหานครรักษา

สำหรับป้อมปราบศัตรูพ่ายนั้นเหลือแต่ชื่อ ซึ่งกร่อนลงเหลือแต่ ‘ป้อมปราบ’

ส่วนป้อมหักกำลังดัสกรอยู่แถว ๆ สะพานมัฆวานรังสรรค์


จากบทความเรื่อง เปรียบกรุงเทพฯ ว่าเป็นเวนิซตะวันออกโดย  จุลลดา ภักดีภูมินทร์ นิตยสารสกุลไทย

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 13, 20:51
จากหนังสือ ทำเนียบนามภาค ๑ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗

รายชื่อป้อมชั้นนอกรอบคลองผดุงกรุงเกษมแลฝั่งตวันตก

๑. ป้อม "ป้องปัจจามิตร" อยู่ฝั่งตะวันตกริมปากคลองสาน
๒. ป้อม "ปิดปัจจนึก" อยู่ฝั่งตวันออก ริมปากคลองผดุงกรุงเกษมข้างใต้
๓. ป้อม "ผลาญศัตรูราบ" อยู่ใต้วัดเทพศิรินทราวาส หรือริมวัดพลับพลาไชย
๔. ป้อม "ปราบศัตรูพ่าย" อยู่ใต้ตลาดนางเลิ้ง ตรงหมู่บ้านญวนข้าม แต่บัดนี้ได้รื้อเสียแล้ว
๕. ป้อม "ทำลายแรงปรปักษ์" อยู่เหนือวัดโสมนัสวิหาร แต่บัดนี้ได้รื้อเสียแล้ว
๖. ป้อม "หักกำลังดัษกร" อยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษม ข้างเหนือ รื้อแล้ว
๗. ป้อม "วิไชยประสิทธิ์" อยู่ฝั่งตวันตก ปากคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง)

หน้าตาคงคล้ายๆแบบนี้  ?


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ค. 13, 08:25
ป้อมหักกำลังดัสกรอยู่ที่ไหน?

ตามข้างล่าง หาภาพยากมาก



ป้อมหักกำลังดัสกร ตั้งอยู่ระหว่างวัดมกุฏกษัตริย์ กับ วัดโสมนัสวิหาร ลักษณะเหมือนป้อมทำลายแรงปรปักษ์ ซึ่งทำเป็นวงเดือนไม่เต็มวง หันหน้ามุมป้อมออกหาคลอง


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ค. 13, 08:35
ภาพความงามของถนนราชดำเนินกลาง ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ไม่ทำให้บ้านเมืองร้อนเพราะแดดเผา


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 13 ก.ค. 13, 09:03
แผนที่ที่คุณหนุ่มเอามาให้ดู
คล้ายแผนที่  ที่เคยเห็นในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยด้านสังคม
ของอาจารย์ชัย เรืองศิลป์  ท่านว่าได้มาจากหนังสือ วารสารผังเมือง
เขาแจกกับหนังสือ เดือนกรกฏาคม 2509 (สมบัติเดิมของ มล ปิ่นมาลากุล)

ในหนังสืออาจารย์ชัย  มีให้ดูแต่เล็กมาก   ดูไม่ชัด  อ่านไม่ออก


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ค. 13, 11:19
แผนที่ที่คุณหนุ่มเอามาให้ดู
คล้ายแผนที่  ที่เคยเห็นในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยด้านสังคม
ของอาจารย์ชัย เรืองศิลป์  ท่านว่าได้มาจากหนังสือ วารสารผังเมือง
เขาแจกกับหนังสือ เดือนกรกฏาคม 2509 (สมบัติเดิมของ มล ปิ่นมาลากุล)

ในหนังสืออาจารย์ชัย  มีให้ดูแต่เล็กมาก   ดูไม่ชัด  อ่านไม่ออก

แผนที่นี้เรียกว่า แผนที่นายวอน นายสอน  เป็นแผนที่เขียนปรับปรุงจากแผนที่ พ.ศ. ๒๔๓๐ ซึ่งเป็นการเขียนแผนที่โดยน้องพระวิภาคภูวดลจัดสำรวจกรุงสยามและทำแผนที่กรุงเทพขึ้นเป็นครั้งแรก และเวลาผ่านมากว่า ๙ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๙ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้สำรวจสถานที่และถนนในกรุงเทพใหม่ โดยอ้างอิงแผนที่กรุงเทพเดิมมาดัดแปลง โดยผู้เขียนแผนที่คือ นายวอน และนายสอน ครับ

แผนที่นี้มีผู้ไปใช้นำไปทำภาพประกอบ ภาพกราฟฟิคและอธิบายมากมายครับ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 13 ก.ค. 13, 11:26
ของอาจารย์ชัยก็พิมพ์ปี 2439  แต่ไม่มีตราเจ้าของ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 13 ก.ค. 13, 12:14
แผ่นนี้


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 13, 12:19
แผนที่นี้เรียกว่า แผนที่นายวอน นายสอน  เป็นแผนที่เขียนปรับปรุงจากแผนที่ พ.ศ. ๒๔๓๐ ซึ่งเป็นการเขียนแผนที่โดยน้องพระวิภาคภูวดลจัดสำรวจกรุงสยามและทำแผนที่กรุงเทพขึ้นเป็นครั้งแรก และเวลาผ่านมากว่า ๙ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๙ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้สำรวจสถานที่และถนนในกรุงเทพใหม่ โดยอ้างอิงแผนที่กรุงเทพเดิมมาดัดแปลง โดยผู้เขียนแผนที่คือ นายวอน และนายสอน ครับ

ขยายความ

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๓๙ (ร.ศ. ๑๑๕) เป็นหนึ่งในแผนที่พระราชอาณาเขตและแผนที่เมืองที่กรมแผนที่จัดพิมพ์ขึ้น เพื่อแสดงข้อมูลทางกายภาพของสยามประเทศ ตามมาตราฐานการทำแผนที่อย่างตะวันตก ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สำหรับแผนที่พระนครนั้น ปรากฏหลักฐานว่า ทำขึ้นในมาตราส่วนขนาดใหญ่ มีรายละเอียดถนน หนทาง บ้านเรือนต่าง ๆ อย่างชัดเจน และตีพิมพ์ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมแผนที่ปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย แก้ไขเพิ่มเติม ตึกถนน บ้านเรือน ตามที่เปลี่ยนแปลงใหม่ในทุกวันนี้ รวบรวมเข้าทั้งฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาลงบนแผ่นเดียวกัน โดยให้ช่างเขียนแผนที่สองท่าน คือนายวอนและสอน คัดลอกเส้นแผนที่ขึ้นใหม่ จนแผนที่แล้วเสร็จและพิมพ์เผยแพร่ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ค. 13, 16:50
แผ่นนี้

ระวางเดียวกันครับ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ค. 13, 16:57
ภาพขยายป้อมกำลังหักดัษกร มาให้เห็นลักษณะโครงสร้างของป้อม (แผนที่ พ.ศ. ๒๔๓๐ หรือ จศ. ๑๒๔๙)

ลักษณะป้อมนี้จะเป็นแบบชั้นเดียว คือ เชิงเทินใบบัง ไม่มีโครงสร้างของห้องล้อมแบบป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ค. 13, 17:06
นี่ครับคุณ Visitna แผนที่กรุงเทพ พ.ศ. ๒๔๓๐ (จ.ศ. ๑๒๔๙) ต้นฉบับก่อนที่จะดัดแปลงเป็น นายวอนนายสอน


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 13, 19:09
ภาพขยายป้อมกำลังหักดัษกร มาให้เห็นลักษณะโครงสร้างของป้อม (แผนที่ พ.ศ. ๒๔๓๐ หรือ จศ. ๑๒๔๙)

ลักษณะป้อมนี้จะเป็นแบบชั้นเดียว คือ เชิงเทินใบบัง ไม่มีโครงสร้างของห้องล้อมแบบป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์
คุณ siamese มีภาพถ่ายป้อมลักษณะนี้มาให้ดูกันบ้างไหมคะ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 13 ก.ค. 13, 19:17
ขอบคุณคุณหนุ่ม และคุณเพ็ญชมพู สำหรับการไขความกระจ่างเรื่องแผนที่


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 13, 21:14
ขอตัดไปสู่ถนนราชดำเนินในบ้างค่ะ

ถนนราชดำเนินในเริ่มตั้งแต่ถนนสนามชัยมาถึงสะพานผ่านพิภพลีลา    ก่อนถนนราชดำเนินถือกำเนิดขึ้น  บริเวณที่ต่อมาก่อสร้างเป็นกระทรวงยุติธรรม เดิมเป็นคอกวัวมาก่อน      ผู้เลี้ยงเป็นแขกรีดนมวัวขาย  และส่งเข้าพระบรมมหาราชวังด้วย   นิวาสถานของพวกนี้อยู่แถวหัวป้อมเผด็จดัสกร

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ใน สาส์นสมเด็จตอนหนึ่งว่า พระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา โปรดเสวยนมวัว    หลักฐานมีอยู่ในบทละครเรื่องระเด่นลันไดของพระมหามนตรี(ทรัพย์)    เรื่องนี้พระมหามนตรีสร้างตัวละครชื่อท้าวประดู่ เป็นแขกเลี้ยงวัว   ตั้งคอกอยู่แถวป้อมเผด็จดัสกร    ท่านก็คงจะเห็นตัวอย่างมาจากเรื่องจริง ว่าแขกเลี้ยงวัวตั้งบ้านเรือนอยู่แถวนั้น     วัวที่ว่าเป็นวัวหลวง   แขกรีดนมแล้วส่งเข้าถวายเจ้านายในวัง     พระองค์ท่านเองทรงจำได้ว่าเช้าๆ มีเจ้าพนักงานเป็นแขกโกนศีรษะ ใส่หมวกอย่างพระจุฬาฯ แต่นุ่งผ้าใส่เสื้ออย่างไทย  ถือขวดนมวัวไปส่งที่ประตูสนามราชกิจทุกวัน
น้ำนมที่ว่านี้ไม่ได้ถวายเฉพาะเจ้านาย   แต่พระสงฆ์ที่เข้าไปรับบิณฑบาตเวร  ก็มีน้ำนมวัวโถหนึ่งตั้งไว้ให้พระราชาคณะได้ฉัน

ถึงรัชกาลที่ 4  ฝรั่งต่างประเทศเข้ามาในสยามมากขึ้น   ความต้องการน้ำนมวัวก็ทวีขึ้น  ฝรั่งมารับนมสดจากแขกในไทยไปดื่มเป็นประจำ    แต่น่าเสียดายว่า ไม่รู้ว่าคอกวัวนอกกำแพงวังหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่   คงจะเป็นในรัชกาลที่ 5  เมื่อมีการตัดถนนรอบพระบรมมหาราชวัง และถนนราชดำเนินใน


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 14 ก.ค. 13, 07:22
ป้อมเผด็จดัสกร พศ 2428 แขกเลี้ยงวัว คงจะย้ายไปที่อื่นแล้ว

เคยอ่านเรื่องการซื้อที่ดินแถว สีลม สาทร แขกเลี้ยงวัวไปเป็นเจ้าของที่ดินแถวนั้น
ไม่ว่าจะเป็นซอยปั้น ซอยแขก เดิมพวกแขกเลี้ยงวัวเป็นผู้ถือครองที่ดิน



กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 14 ก.ค. 13, 16:16
ยังไม่สรุป อ่านเป็นแนวทางกว้างๆก่อน


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ค. 13, 20:12
ภาพนี้ถ่ายปีไหนไม่ระบุ
อาจจะเป็นราชดำเนินกลางหรือนอกก็ได้
เห็นด้านริมถนนเหมือนรั้วพู่ระหง จะเหมือนราชดำเนินกลาง
ไม่มีม้านั่งที่อยู่ใต้ต้นไม้ อาจจะเป็นราชดำเนินนอกก็ได้เช่นกัน


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 13, 21:04
อาชีพเก่าแก่ที่สุดในโลก กระจัดกระจายไม่อยู่เป็นแหล่งเดียว  ในตอนต้นรัตนโกสินทร์ อยู่ที่สำเพ็ง  ต่อมาคงแตกลูกแตกหลานไปหลายถนน    แม้แต่ถนนสายสำคัญอย่างราชดำเนินก็ไม่วายมีซ่องโสเภณีไปตั้งอยู่ระยะหนึ่ง
   
"กาญจนาคพันธุ์ เล่าไว้ในหนังสือ “กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้” ว่า ในช่วง พ.ศ.2473 ย่านแพร่งสรรพศาสตร์เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักเที่ยว เพราะจะมีตรอกมีชื่ออยู่ตรอกหนึ่ง เรียกว่า “ตรอกสาเก” เป็นที่อยู่ของพวกหญิงโสเภณี และซ่องโสเภณีใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งถูกไล่ที่มาจากถนนราชดำเนินย้ายมาอยู่ที่ปลายถนนแพร่งสรรพศาสตร์ จนบริเวณนั้นกลายเป็นที่อยู่ของเหล่าโสเภณีแทบทั้งหมด โดยโสเภณีชั้นดีหน่อยจะอยู่บ้านเช่าเป็นหลัง ขณะที่พวกชั้นรองลงมาก็จะอยู่ห้องแถว"


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 13, 21:13
ถนนราชดำเนินในช่วงกึ่งพุทธกาล หรือพ.ศ. 2500 ยังเป็นที่ตั้งของร้านตัดผมร้านดัง  ชื่อร้าน "พงศ์เทพ" เป็นแหล่งชุมนุมคนดังหลากหลายวงการ ทั้งในแวดวงสังคมชั้นสูง นักการเมือง ไปจนถึงผู้สร้าง ผู้กำกับ และดาราภาพยนตร์

http://www.kroobannok.com/blog/13988

สมพร โฉมงาม ช่างตัดผมประจำร้านพงศ์เทพ วัย 69 ปี ซึ่งยึดอาชีพช่างตัดผมมานานนับ 40 ปี บอกเล่าว่าดาราดังๆ ที่มาตัดผมในยุคนั้น ได้แก่ ลือชัย นฤนาท, ชนะ ศรีอุบล, ทักษิณ แจ่มผล, มานพ อัศวเทพ, ชุมพร เทพพิทักษ์ และมีดาราอีกหลายคนที่ได้แจ้งเกิดในวงการโดยมีจุดเริ่มต้นจากร้านนี้ เนื่องจากมีผู้สร้างภาพยนตร์มาชุมนุมกันที่ร้านนี้มากมาย หากจะเปรียบกับสมัยนี้ก็คงเป็นเหมือนสยามแสควร์ที่บรรดาวัยรุ่นไปชุมนุมกัน หวังให้มีแมวมองมาชักชวนเข้าสู่วงการบันเทิง
ช่างสมพรบอกว่า ยุคนั้นทรงผมยอดนิยมที่สุดก็คือ "ทรงลือชัย นฤนาท" พระเอกที่มาดัดผมเลียนแบบสไตล์เจมส์ ดีน ซูเปอร์สตาร์ของฮอลลีวู้ด ส่งผลให้แฟนหนังของลือชัยมาดัดผมทรงนี้ตามจนเข้าแถวยาวออกไปจนถึงถนนหน้าร้าน ช่างสมพรยังเล่าเกร็ดขำๆ ว่าช่วงที่ผมทรงนี้ฮิตระเบิดไปทั่วพระนครนั้น ถึงกับมีกรณีชกต่อยกันระหว่างช่างตัดผมกับลูกค้า เพราะไม่พอใจที่ช่างดัดผมออกมาให้ไม่เหมือนลือชัย
ช่วงแรกนั้น สนนราคาค่าตัดก็อยู่เพียงแค่ 5 บาท ก่อนจะขึ้นเป็น 7 บาทในเวลาต่อมา ถ้าตัดสระก็ 8 บาท ส่วนเด็กคิดค่าตัด 2 บาท ในตอนนั้นร้านพงศ์เทพมีอยู่ 2 ร้าน คือร้านเก่าที่ถนนตะนาว และร้านที่ถนนราชดำเนินซึ่งติดเครื่องปรับอากาศ ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่นี่ถาวรเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน
แม้ในวันนี้ ร้านพงศ์เทพจะเปลี่ยนเจ้าของมาหลายมือแล้ว แต่ชื่อเสียงเดิมของนายพงศ์เทพ บุญสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งก็ยังคงอยู่ ทำให้ลูกค้ายังให้ความไว้วางใจมาใช้บริการไม่ขาดสาย
บัญญัติ สังขารักษ์ ช่างตัดผมที่มีประสบการณ์หลายสิบปีกล่าวว่า ในยุคต่อมาลูกค้าที่เป็นนักแสดงเริ่มไม่มีแล้ว แต่เป็นกลุ่มนักธุรกิจและคนในสังคมชั้นสูงทั้งหลายมารวมตัวกัน ในรุ่นหลังลูกค้าส่วนใหญ่มักจะเป็นนักการเมือง ส่วนนักแสดงก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก เช่น พระเอกละคร ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ ในยุคที่รุ่งเรืองสุดขีดก็เคยมาเป็นลูกค้าที่นี่
ลูกค้านักการเมืองที่มาใช้บริการร้านพงศ์เทพยุคนั้นก็มีหลายท่าน อาทิ สมัคร สุนทรเวช, สุธี สิงห์เสน่ห์, บัญญัติ บรรทัดฐาน, สุรินทร์ พิศสุวรรณ, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, สัมพันธ์ ทองสมัคร, ไสว พัฒโน, สวัสดิ์ คำประกอบ, วิษณุ เครืองาม เป็นต้น โดยเฉพาะในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นจะมีนักการเมืองมาใช้บริการที่ร้านกันมาก
สมหมาย กองสุทธิผล เป็นช่างตัดผมมีฝีมืออีกคนที่มีนักการเมืองหลายคนไว้วางใจให้เป็นช่างประจำ กล่าวว่าปัจจุบันนี้ลูกค้าที่มาใช้บริการส่วนมากมักจะเป็นลูกค้าประจำ นักการเมืองบางท่านก็ยังแวะเวียนมาใช้บริการบ้าง "ร้านพงศ์เทพมีนักการเมืองรู้จักกันมาก ผู้หลักผู้ใหญ่ให้การยอมรับ เพราะร้านเรามีมาตรฐาน ไฮโซยุคก่อนเอ่ยชื่อร้านพงศ์เทพใครก็ต้องรู้จัก"
ด้วยความที่มีนักการเมืองมาใช้บริการมากนี่เอง ช่างตัดผมที่ร้านพงศ์เทพจึงรู้เบื้องหลังเบื้องลึกในแวดวงการเมืองไม่น้อยกว่าในรัฐสภาหรือทำเนียบ เนื่องจากต้องคอยรับฟังปัญหาที่ลูกค้าระบายให้ฟังอยู่เสมอ
ด้านลูกค้าขาจรต่างชาตินั้นก็มีมาบ้าง ทั้งญี่ปุ่นและฝรั่ง ช่างบัญญัติเสริมว่า ที่ชาวต่างชาติเลือกมาใช้บริการไม่ใช่เพียงค่าตัดที่ถูกกว่า แต่หลายคนต่างยอมรับว่าช่างตัดผมไทยฝีมือประณีตดีกว่า โดยทางร้านจะคิดค่าบริการเท่ากันกับคนไทยคือ ราคาตัด 100 บาท ตัดสระ 200 บาท แต่สำหรับชาวต่างชาติจะคิดค่าโกนหนวดแยกต่างหาก ไม่คิดรวมอยู่ในค่าตัดผมเหมือนคนไทย เพราะเหตุที่ว่า ฝรั่งนั้นหนวดมักจะแข็งทำให้โกนยากกว่า
การโกนหนวดนั้นนับเป็นเอกลักษณ์ของร้านตัดผมยุคเก่า แต่ช่างสมหมายและบัญญัติบอกว่า ช่างตัดผมรุ่นใหม่ๆ นั้นใช้ใบมีดโกนกันไม่เป็นเสียแล้ว
"ถ้ารุ่นนี้ตายก็ไม่มีแล้ว ขึ้นห้างกันหมดแล้ว ต่อไปใครอยากไปตัดผมก็ต้องไปที่ห้าง" คือคำปรารภอย่างเศร้าสร้อยของช่างตัดผมที่มีฝีมือรุ่นเก่า

ภาพข้างล่างนี้คือลือชัย นฤนาท ค่ะ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 24 ก.ค. 13, 19:31
ปัจจุบันนี้ ร้านพงศ์เทพ จะเป็นร้านเดียวกับยุคก่อนหรือไม่ ไม่รู้

ห้องแต่งผมพงศ์เทพ อยู่ราชดำเนินครับ ติดถนนเลย
นั่งรถเมล์เลยป้ายกองฉลากมาป้ายนึงครับถึงเลย
เป็นร้านตัดผมธรรมดาแต่ว่าฝีมือสุดยอดครับ ตัดละเอียด สวยงาม
จะมีช่างประมาณ 3-4 คนครับ เวลาไปตัดช่างเค้าจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง
ในการตัดผมให้กับเรา คุยสนุกสนาน เฮฮาครับ ตัดอย่างเดียว 120.- ครับ
คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปแน่นอนครับ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 13, 19:39
น่าจะใช่นะคะ คุณ Visitna   
น่าชมเชยที่เจ้าของยังรักษาร้านเอาไว้ได้อยู่     และรักษาฝีมือได้ดีด้วย 
ไปหารูปมาได้รูปหนึ่งจากอินทรเนตรค่ะ    น่าจะใช่นะคะ


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 13, 10:12
ในหนังสือ กรุงเทพเมื่อวานนี้ ของขุนวิจิตรมาตรา (กาญจนาคพันธุ์) เล่าถึงถนนราชดำเนินกลางและราชดำเนินนอกเอาไว้ว่า ถนนสองสายนี้ทำเหมือนกัน  คือเป็นถนนใหญ่มาก ทำเป็น 5 ทาง   ทางริมสองข้างเป็นถนนเล็ก  ถัดเข้ามาเป็นบาทวิถี   ตรงกลางเป็นถนนใหญ่
ถนนราชดำเนินกลางตอนที่เป็นบาทวิถี ปลูกต้นมะฮอกกานีตลอด     ตั้งแต่สะพานผ่านพิภพฯทางขวามือไป  ริมถนนสุดเป็นรั้วพู่ระหง  มีซอยเล็กๆเป็นสะพานไม้เข้าไปสองหรือสามซอย    บ้านเรือนอยู่ในซอยนั้น  แต่มองข้างนอกไม่เห็น เพราะต้นไม้มักจะบังหมด
ซอยแรกชื่อตรอกสาเก    พวกหญิงโสเภณีอยู่ในซอยนี้มาก   แถวนี้มีวังของกรมหลวงประจักษ์ฯด้วย  แต่ขุนวิจิตรมาตราไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน   ซอยสาเกทะลุถึงคลองหลอด  ที่มีวัดบุรณศิริอยู่ต้นคลองหลอด 
ราชดำเนินตอนนี้เป็นรั้วพู่ระหงไปจนจดถนนตะนาวที่เป็นสี่แยกคอกวัว     ข้ามถนนตะนาวไปก็เป็นรั้วพู่ระหงไปจนจดถนนดินสอที่เป็นสี่แยก  (ตอนหลังคือที่ตั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย)


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 27 ก.ค. 13, 00:00
จากหนังสือ ทำเนียบนามภาค ๑ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗

รายชื่อป้อมชั้นนอกรอบคลองผดุงกรุงเกษมแลฝั่งตวันตก

๑. ป้อม "ป้องปัจจามิตร" อยู่ฝั่งตะวันตกริมปากคลองสาน
๒. ป้อม "ปิดปัจจนึก" อยู่ฝั่งตวันออก ริมปากคลองผดุงกรุงเกษมข้างใต้
๓. ป้อม "ผลาญศัตรูราบ" อยู่ใต้วัดเทพศิรินทราวาส หรือริมวัดพลับพลาไชย
๔. ป้อม "ปราบศัตรูพ่าย" อยู่ใต้ตลาดนางเลิ้ง ตรงหมู่บ้านญวนข้าม แต่บัดนี้ได้รื้อเสียแล้ว
๕. ป้อม "ทำลายแรงปรปักษ์" อยู่เหนือวัดโสมนัสวิหาร แต่บัดนี้ได้รื้อเสียแล้ว
๖. ป้อม "หักกำลังดัษกร" อยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษม ข้างเหนือ รื้อแล้ว
๗. ป้อม "วิไชยประสิทธิ์" อยู่ฝั่งตวันตก ปากคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง)

หน้าตาคงคล้ายๆแบบนี้  ?



ภาพขยายป้อมกำลังหักดัษกร มาให้เห็นลักษณะโครงสร้างของป้อม (แผนที่ พ.ศ. ๒๔๓๐ หรือ จศ. ๑๒๔๙)

ลักษณะป้อมนี้จะเป็นแบบชั้นเดียว คือ เชิงเทินใบบัง ไม่มีโครงสร้างของห้องล้อมแบบป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์

ขออนุญาตนอกประเด็นครับ

ป้อมชุดนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดการสร้างป้อมของทหารฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔  ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง

โดยที่รูปแบบการสร้างป้อมแบบนี้ ได้มาจากแนวคิดของ

(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_001_zpsd557a7f5.png)

ปัจจุบันนี้ แนวคิดการสร้างป้อมของโวบองนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วครับ

ตัวอย่างป้อมของโวบอง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในฝรั่งเศส
(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_006_zpse20413f2.png)

ในสยามป้อมที่ได้รับอิทธิพลการสร้างแบบโวบองนี้ได้แก่ ป้อมเมืองบางกอก และ ป้อมวิไชยประสิทธิ์  และก็ต่อมาจนถึงชุดป้อมในรัชกาลที่สี่นั่นเอง

ป้อมเมืองบางกอก ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ปัจจุบันคือส่วนที่ตั้งของมิวเซียสยาม ท่าเตียน
(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_002_zps79b9ea24.png)


สำหรับรูปปัจจุบันของ ป้อมป้องปัจจามิตร สามารถติดตามได้ที่กระทู้นี้ครับ

รูปบนเชิงเทิน
(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_005_zpsc23e6889.png)


ท่อนซุง ที่ใช้เป็นฐานรากป้อมป้องปัจจามิตร
(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/Selection_007_zps6562aead.png)

ขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.konrakmeed.com/webboard/upload/index.php?showtopic=4028


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.ค. 13, 08:24


ขออนุญาตนอกประเด็นครับ

ป้อมชุดนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดการสร้างป้อมของทหารฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔  ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง

โดยที่รูปแบบการสร้างป้อมแบบนี้ ได้มาจากแนวคิดของ

ปัจจุบันนี้ แนวคิดการสร้างป้อมของโวบองนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วครับ


เรื่องแนวคิดการสร้างป้อมกระจายอยู่รอบคลองผดุงกรุงเกษมนั้น ในหนังสือวังไม้ มีการตั้งคำถามว่า "ทำไมถึงมีการสร้างป้อมรอบคลองผดุงกรุงเกษม"

เพราะว่านโยบายการต่างประเทศนั้นเปลี่ยนไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงตรัสก่อนสวรรคตว่า การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่พวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว ”


ดังนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ย่อมรู้และตระหนักถึงนโนยบายการต่างประเทศในการป้องกันข้าศึกจากต่างชาติที่จะมาทางเรือในวันข้างหน้า ไม่ต้องมาสร้างป้อมในทุ่งตะวันออกซึ่งไม่มีความสำคัญอีกต่อไป แต่อาจจะเป็นแนวคิดที่ไม่อาจขัดได้ของพระปิ่นเกล้าหรืออย่างไร"

และอีกกรณีหนึ่งที่เคยอ่านเจอบทความการสร้างป้อมรอบคลองผดุงกรุงเกษมไว้ทำนองว่า การออกแบบป้อมนั้นใช้รูปแบบอย่างเดียวกับป้อมบางกอก อย่างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งจำลองแบบจากฝรั่งเศสมาสร้างรอบคลองขุดใหม่ แต่น่าจะออกแบบให้ใช้ประโยชน์ได้ดีกว่านี้


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 13, 09:21
ไม่มีความรู้เรื่องป้อม  ขอหลีกทางให้ผู้รู้อภิปรายกันต่อไปเองค่ะ

     ขอกลับมาที่ถนนราชดำเนินกลางอีกครั้ง    เก็บความจากความทรงจำของขุนวิจิตรมาตรา   
     ในรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖    ถนนราชดำเนินกลางยังคงรักษาลักษณะแบบเดิมที่ถูกสร้าง คือเป็นแบบเดียวกับถนนราชดำเนินนอก    มีสายใหญ่ตรงกลาง คั่นด้วยบาทวิถีปลูกต้นมะฮอกกานี และมีทางเล็กขนาบข้าง   เป็นถนนสายร่มรื่นที่ค่อนข้างว่างเปล่า นานๆจะมีผู้คนสัญจรผ่านไปมา     เนื่องจากสองข้างทางไม่มีร้านค้า   
แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พ.ศ. 2475   ถนนราชดำเนินก็พลิกโฉมใหม่อย่างมโหฬาร   นอกจากเกิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นมาตระหง่านอยู่บนสี่แยก    ก็ตามมาด้วยอาคารใหญ่โตสองข้างทาง   ตัวถนนก็ถูกรื้อของเดิมทิ้งกลายเป็นถนนสายใหญ่สายเดียว  ตัดต้นมะฮอกกานีทิ้งหมด   กลางถนนทำเกาะกลางปูด้วยกระเบื้องลายสี      อาคารใหญ่โตสองข้างทางมีไว้ให้เช่า

     พ่อค้าพากันไปเช่าร้านที่อาคารเหล่านี้เพื่อค้าขาย เพราะคิดว่าคงจะมีประชาชนสนใจมาซื้อสินค้าบ้าง  แต่กลับขาดทุน  มีคนเดินโหรงเหรง    เพราะถนนร้อนระอุทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงา      นอกจากนี้ค่าเช่าก็แพง   จึงเลิกกิจการกันไปหลายราย    ในตอนหลัง เทศบาลปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นให้ร่มเงา ก็ค่อยดีขึ้น


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ค. 13, 09:41
จากกระทู้เก่า
กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5425.30

อ้างถึง
NAVARAT.C
และด้วยข้อมูลดังกล่าว ผมจึงทดลองกำหนดจุดที่ตั้งป้อมต่างๆที่อยู่ตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมได้ และขอเสนอไว้ให้วิจารณ์กันด้วยเป็นของแถม
อย่าลืมว่านอกแนวคลองออกไป สมัยนั้นยังเป็นท้องไร่ท้องนาอยู่ ป้อมต่างๆในแผนผังนี้เป็นป้อมโดดๆ เรียกว่า ป้อมปีกกาคือมีแต่ตัวป้อมไม่มีกำแพงเมืองต่อเนื่องกันไป เช่นอาณาบริเวณพระนครเดิมถัดจากคลองคูเมือง ยุทธวิธีโบราณที่จะใช้เมื่อเกิดศึกมาประชิดติดเมืองนั้น ก็จะปักระเนียดไม้ชักปีการะหว่างป้อมให้ถึงกันตลอดแนว แล้ววางกำลังทหารเป็นแนวต้านทานด่านหน้า

ตามที่ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕ เรื่องสถานที่แลวัดถุซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๔ อันเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นในชั้นหลังระบุว่า
 
๓๒ ขุดคลองแลทำถนนในจังหวัดพระนคร ๑ คลองผดุงกรุงเกษม เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ โปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมเปนแม่กอง ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ(วร) เปนนายงานขุด คลองแต่ลำแม่น้ำที่ใต้วัดเทวราชกุญชรผ่านคลองมหานาคไปออกแม่น้ำ ที่เหนือวัดแก้วแจ่มฟ้าคลอง๑ ๑ เปนคูพระนครชั้นนอกกว้าง ๑๐ วาลึก ๖ ศอก ยาว ๑๓๗ เส้น ๑๐ วาสิ้นค่าจ้างขุดเปนเงิน ๒๗,๕๐๐ บาท สำเร็จในปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗ ได้เปิดคลองเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ค่ำ ๑ พระราชทานนามว่า คลองผดุงกรุงเกษม แลมีงานมโหรศพ ฉลอง ๓ วัน ต่อมาโปรดให้สร้างป้อมตามแนวคลองเปนระยะห่างกันประมาณ ๑๒ เส้น รวม ๘ ป้อม คือ ๑ ป้อมป้องปัจจามิตร อยู่ฝั่งตวันตกที่ปากคลองสาร ๒ ป้อมปิดปัจนึก อยู่ที่ปากคลองผดุง ฯ ข้างใต้ ๓ ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ๔ ป้อมผลาญไพรีราบ อยู่ตรงตลาดหัวลำโพง ๕ ป้อมปราบสัตรูพ่าย อยู่ที่ริมวัดพลับพลาไชย ๖ ป้อมทำลายแรงปรปักษ์ อยู่ตรงมุมถนนหลานหลวง ๗ ป้อมหักกำลังดัษกร อยู่ตรงถนนราชดำเนิน ๘ ป้อมพระนครรักษา อยู่ริมวัดนรนารถ
 
ป้อมชื่อนั้นชื่อนี้อยู่ที่วัดหรือถนนโน่นนี่นั่น ความจริงแล้ว ช่วงเวลาที่ป้อมสร้างขึ้นสถานที่ดังกล่าวยังหามีไม่ แม้ตัวป้อมเองก็อาจมีแต่ชื่อ ยังไม่ได้สร้าง หรือยังสร้างยังไม่เสร็จก็ทิ้งฐานรากค้างไว้ด้วยหมดความจำเป็น เพราะยุทธวิธีในการรบชิงเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว
สมัยรัชกาลที่๕ ทางราชการจึงรื้อป้อมที่สร้างค้างไว้ลง เอาพื้นที่ให้เป็นประโยชน์อย่างอื่นแทน
ป้อมพวกนี้ไม่เกี่ยวกับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯนะครับ แผนของท่านที่จะรับมือศึกฝรั่ง คือถอยไปตั้งแนวปราการรับที่ริมแม่น้ำป่าสัก สระบุรี แถวบ้านสีทาอำเภอแก่งคอย


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 13, 20:03
ขอข้ามเวลามาจนถึงพ.ศ. 2516  เมื่อถนนราชดำเนินกลายเป็นเส้นทางรองรับประชาชนนับจำนวนแสน ชุมนุมกันโดยรัฐบาลมิได้คาดหมายมาก่อนว่าเหตุการณ์จะก้าวขึ้นมาถึงขั้นนี้

จุดเริ่มต้นเกิดจากข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวหนึ่ง ตอนแรกก็ไม่มีใครคิดว่าจะกลายเป็นเหตุลุกลามใหญ่โต  คือข่าวเฮลิคอปเตอร์ของทหารหมายเลข ทบ. 6102 ตกที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม   การที่ฮ. ประสบอุบัติเหตุตกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่แปลกอะไร   แต่ที่แปลกประหลาดก็คือ ฮ.ไม่ได้ตกเปล่าๆ แต่มีซากสัตว์ป่าที่บรรทุกมาหล่นเรี่ยราด 
ว่ากันว่าที่มันตกก็เพราะบรรทุกซากสัตว์หนักเกินไป      ความจึงเปิดเผยออกมาว่ามีการนำงบประมาณ ยานพาหนะ และอาวุธสงครามของราชการไปใช้ในภาระกิจเฮฮาล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี โดยผู้นำคณะเป็นคนใหญ่โตในคณะรัฐบาล ทั้งยังมีดาราสาวคนหนึ่งร่วมไปอีกด้วย
จากนั้น  เกิดคำถามและการต่อต้านจากองค์กรอนุรักษ์และประชาชนมากมาย แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่าง  มีการอ้างว่าไปสืบราชการลับเพื่ออารักขานายพลเนวินจากพม่า   จากเหตุการณ์นี้เอง นิสิตนักศึกษาได้ร่วมกันพิมพ์หนังสือบันทึกลับจากทุ่งใหญ่ ออกจำหน่ายในช่วง ปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2516 ขายได้กว่า 200,000 เล่มภายใน 2 สัปดาห์ แล้วนักศึกษารามคำแหง 9 คนที่ออกหนังสือชื่อ "มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ" ตามมามีข้อความกระทบผู้นำโดยตรง โดนคัดชื่อออกจากการเป็นนักศึกษา เป็นผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวางภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วนำไปสู่ การชุมนุมในวันที่ 21 และ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2516 ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 13, 20:10
   ในระยะแรกเพียง นศ.เพียงแค่เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงรับนักศึกษาทั้ง 9 คนกลับเข้าเป็นนักศึกษาดังเดิม พร้อมกับเรียกร้องให้อธิการบดีรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่ต่อมา เหตุการณ์ลุกลามจนถึงขั้นเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน และ เรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในหกเดือน    ผลจากการเรียกร้องคืออธิการบดียอมลาออกและมีการรับทั้ง 9 คนเข้าเรียน  แต่ก็เพียงเท่านั้น   รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ได้ตอบสนองเรื่องรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

   กลุ่มผู้นำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้สนใจ ร่วมกันก่อตั้ง “ กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ขึ้น นำทีมโดย นายธีรยุทธ บุญมีและในวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2516 กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้นัดสื่อมวลชน เพื่อแถลงข่าวเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การดำเนินงานของกลุ่ม ว่าต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยเร็วที่สุดด้วยสันติวิธี ให้การศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน

   พลังของนักศึกษาและประชาชนเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่รู้จักมาก่อน และไม่ได้รับมือให้ถูกต้อง  พลังของฝ่ายนี้จึงขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง   ผู้นำนิสิตนักศึกษาในยุคนั้น คือ ธีรยุทธ บุญมี จากจุฬาฯ เสาวณีย์ ลิมมานนท์ จากธรรมศาสตร์ สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ จาก เกษตรศาสตร์ ราชันย์ วีระพันธ์ จากรามคำแหง เป็นต้น                 


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 13, 20:17
     เมื่อรัฐบาลตอบโต้ด้วยการจับกุมผู้นำนักศึกษาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญไป 11 คน ต่อมาเพิ่มอีก 2 เป็น 13 คน  ตั้งข้อหา “ มั่วสุ่มชักชวนให้มีการชุมชนทางการเมือง” เพราะในขณะนั้นอยู่ระหว่างใช้กฎอัยการศึก ห้ามมีการชุมนุมทางการเมือง   ก่อกระแสความไม่พอใจให้ประชาชนอย่างกว้างขวาง     ถนนราชดำเนินกลายเป็นที่ชุมนุมของประชาชนนับแสน  เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยผู้ต้องหาโดยไม่มีเงื่อนไข  
    


กระทู้: ตัดถนนราชดำเนิน
เริ่มกระทู้โดย: Lonelybankz ที่ 03 ส.ค. 13, 04:54
อีกภาพที่ต่อจากด้านบน   นักบินถ่ายสองช๊อตติดต่อกัน

มีภาพชัดกว่านี้มั๊ยครับ อยากเห็นภาพวังตรอกสาเกที่อยุ่ด้านหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ จากภาพเห็นอาณาบริเวณวังชัดกว่าปัจจุบันมาก เพราะปัจจจุบันมีชุมชมชนแออัด ตึกแถว และป่ารกถ้าไม่เดืนเข้าในซอยสังเกตดีๆ แทบจะมองไม่เห็นแล้ว ต้นไม้เยอะมาก