เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 08:22



กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 08:22
ก่อนที่จะถูกถอดฐานันดรศักดิ์ลงเป็น "หม่อมยิ่ง"  เจ้านายฝ่ายในพระองค์นี้ทรงมีพระนามว่า  พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา ประสูติเมื่อวันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2395
ทรงเป็นพระองค์เจ้าสำดับสามในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ (สกุลเดิม ธรรมสโรช)แต่เป็นพระราชธิดาพระองค์แรก   ก่อนหน้านี้สมเด็จพระชนกนาถมีแต่พระราชโอรส 2 พระองค์ ประสูติก่อนเสด็จออกผนวชในปลายรัชกาลที่ 2  คือพระองค์เจ้านพวงศ์และพระองค์เจ้าสุประดิษฐ์

พระชนกนาถทรงเรียกพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ว่า "แม่หนูใหญ่"  ส่วนชาววังออกพระนามว่า เสด็จพระองค์ใหญ่ หรือ เสด็จพระองค์ใหญ่ยิ่ง ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์, พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบัญจบเบญจมา


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 08:54
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชธิดาได้ทรงศึกษาเล่าเรียนวิชาการสมัยใหม่  แอนนา ลีโอโนเวนส์ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง ประทับใจกับพระสิริโฉม พระฉวีอันงาม พระวรกายสมส่วนแบบบาง และแววพระเนตรนิ่งสงบของพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ในพระชันษา 10 ปี

แอนนา ลีโอโนเวนส์ที่บันทึกไว้ว่า
"...นอกจากโปรดให้ตามเสด็จแล้ว ในจดหมายเหตุต่าง ๆ ก็มีบันทึกไว้ว่าพระองค์ยิ่งเยาวลักษณ์ยังเป็นลูกสาวที่ปรนนิบัติพัดวีตราบจนพระบิดาสวรรคต"

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์คงจะทรงมีชีวิตที่ราบเรียบเช่นเดียวกับเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่นๆ ตลอดพระชนม์ชีพ   ถ้าไม่ใช่เพราะมีเหตุอื้อฉาวเกิดขึ้นเมื่อพระชันษาได้ 34 ปีเศษ   กล่าวคือเป็นที่เข้าใจกันในวังหลวงว่า เกิดประชวรเป็นโรคท้องมานอยู่หลายเดือน   หมอไม่สามารถรักษาให้หายได้  ทำให้พระนาภีค่อยๆใหญ่ขึ้นทุกที
เล่ากันว่าเจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้ไปเข้าเฝ้าที่ตำหนัก   ขอให้พระองค์หญิงเปิดพระภูษาเพื่อดูพระนาภี เมื่อเจ้าจอมมารดาเปี่ยมเห็นเช่นนั้นจึงทูลว่า
"ขอประทานโทษเถอะนะเพคะ มองดูแล้วเหมือนกับคนท้องไม่มีผิด"
พระองค์หญิงก็ทรงตอบว่า "ก็ดูเถอะค่ะ โรคเวรโรคกรรมอะไรก็ไม่รู้"


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 25 ก.ย. 20, 08:55
จองที่นั่งหน้าสุดครับวันนี้


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 08:56
ไม่นานหลังจากนั้น  พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ก็ประสูติทารกชายในตำหนัก แล้วเอาเด็กใส่กระโถนปิดฝาเอาไว้ พอดีพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์หนึ่งเสด็จมาเยี่ยม แต่ได้ทรงเปิดดูกระโถนก็ทรงเห็นเด็กแดง ๆ ความจึงแตกออกมา
 ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จ.ศ. 1245 (พ.ศ. 2429) บันทึกไว้ว่า

"เกิดเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ คือพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ซึ่งเดิมว่าเป็นโรคท้องมานนั้น ปวดครรภ์แลคลอดออกมาเป็นลูกชาย ที่เรือนภายในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จกรมพระภาณุพันธุ กรมหมื่นนเรศร กรมหมื่นอดิศร กรมหลวงเทวะวงศ์ ได้จัดการที่จะชำระพิจารณาที่ได้เกิดขึ้นต่อไป แต่ลูกนั้นเอาออกไปไว้วังกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช

เวลา ๑๐ ทุ่ม สมเด็จกรมพระภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช กรมหลวงเทวะวงศ์ได้ออกไปเมืองเพชรบุรี นำความนี้ออกไปกราบบังคมทูลพระกรุณา"


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 09:00
มี "หรุ่ม" ของว่างชาววัง มาเสิฟนักเรียนค่ะ


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 25 ก.ย. 20, 12:41
เข้ามายกมือแสดงตนครับ


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 13:14
สวัสดีค่ะคุณ Jalito   เชิญนั่งแถวหน้าข้างหน้าต่างนะคะ

เราคงไม่ลืม ในเขตพระราชฐานชั้นในที่เจ้านายสตรีประทับอยู่ พร้อมกับบริวารอย่างนางข้าหลวงและบ่าวรับใช้   มีผู้ชายที่ไม่ใช่เด็กไว้จุกอยู่ได้เพียงคนเดียวคือพระเจ้าแผ่นดิน   พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เล็กๆนั้น พอพระชันษามากพอจะโสกันต์ได้แล้วก็ต้องออกไปมีวังอยู่ข้างนอก

ผู้หญิงที่อยู่ในวังหลวง-เว้นแต่เจ้าจอม-ต้องเป็นสาวโสดทั้งหมด ไม่ว่าเจ้านายหรือนางข้าหลวง    ถ้าใครท้องขึ้นมาก็ต้องเป็นเรื่องใหญ่ขนาดฟ้าผ่า สั่นสะเทือนกันไปทั้งวัง   ยิ่งถ้าเกิดกับเจ้านาย  ก็เกินฟ้าผ่า  ถึงขั้นสึนามิเลยทีเดียว

ผู้เจอสึนามิเข้าเต็มๆคือบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของบ้านเมือง    เนื่องจากช่วงนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯไม่ได้ทรงอยู่ในพระนคร  แต่แปรพระราชฐานไปที่เพชรบุรี    พระเจ้าน้องยาเธอเหล่านี้ทรงมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งในพระบรมมหาราชวังและในพระนคร


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 13:15
เจ้านายที่ปรากฏพระนามในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ล้วนแต่เป็นพระเจ้าน้องยาเธอในพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นพระราชอนุชาในพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ด้วย
ทั้งสี่พระองค์ได้แก่เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ต้นราชสกุล ภาณุพันธ์, พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร  กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ต้นราชสกุลกฤดากร, พระองค์เจ้าศุขสวัสดี   กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ต้นราชสกุล ศุขสวัสดิ์   และพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์    สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ  ต้นราชสกุล เทวกุล

ขณะนั้นทั้งสี่พระองค์ก็ยังหนุ่มๆ   พระชันษา 20 ปลายๆถึง 30 ต้น ๆ กันทุกพระองค์     ก็คงเดากันได้ว่าจะทรงหนักพระทัยกันขนาดไหนที่จะต้องมาชำระความพระพี่นางพระองค์ใหญ่ที่พระชันษามากกว่าหลายปี  และเป็นที่เคารพยำเกรงกันมาโดยตลอด

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงถูกพระราชอนุชา กรมหลวงอดิศรอุดมเดชสอบสวน  แต่เท่าไหร่ๆก็ไม่ทรงยอมบอกท่าเดียวว่าผู้ชายตัวการนั้นคือใคร และเกิดเรื่องกันขึ้นมาได้อย่างไร     
ทั้งสี่พระองค์จะไปคาดคั้นบังคับ หรือลงทัณฑ์อะไรก็ไม่ได้   ในที่สุด กรมหลวงอดิศรก็ต้องเรียกข้าหลวงบ่าวไพร่ผู้ใกล้ชิดเสด็จพระองค์หญิงมาสอบสวนดะไปหมด


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 20, 09:00
    ความก็แตกออกมาว่า มีบ่าวคนหนึ่งของพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ชื่อนางเผือก เป็นคนกลางชักนำเรื่องชู้สาว ระหว่างเจ้านายกับผู้ชายตัวการ ชื่อนายโต     
    นายโตเป็นสามัญชน ไม่มีสกุลรุณชาติหรือยศถาบรรดาศักดิ์  เดิมบวชเป็นพระอยู้วัดราชประดิษฐ์
    สาเหตุที่เส้นทางชีวิตของนายโตพาดผ่านเส้นทางของพระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดิน ก็เพราะเสด็จพระองค์หญิงทรงไปทำบุญที่วัดราชประดิษฐ์   เนื่องจากทรงรับเป็นโยมอุปัฏฐากพระในวัด   
    ทรงให้นางเผือกเป็นคนนำข้าวปลาอาหารไปถวายพระเป็นประจำ   รวมทั้งพระโตด้วย         พระโตก็เลยสนิทสนมกับนางเผือก   นางเผือกคนนี้เองเป็นแม่สื่อคนกลางติดต่อระหว่างเสด็จพระองค์หญิงและนายโต
    พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ทรงประดิพัทธ์พระโต จนเมื่อพระโตสึกออกมา ก็หาที่อยู่แถวถนนเจริญกรุงให้พัก และส่งเงินส่งทองให้     จนพระโตคิดการใหญ่  ปีนกำแพงพระบรมมหาราชวังเข้าไปหาถึงพระตำหนัก


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 20, 09:03
   ถึงเวลานัดนายโตก็แต่งกายเป็นผู้หญิง ปีนข้ามกำแพงวังทางพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ซึ่งเป็นจุดที่รู้จักดีเพราะอยู่ทางด้านวัดราชประดิษฐ์  
   ก่อนหน้านี้นางเผือกคงมาดูลาดเลาและเคลียร์เส้นทางให้เรียบร้อยแล้ว    จึงพานายโตที่แต่งกายเป็นหญิงเข้าไปถึงพระตำหนักได้  โดยไม่มีโขลนหรือใครในตำหนักอื่นสงสัย
  สมัยนั้นชายหญิงตัดผมสั้นเกรียนคล้ายๆกัน ไปไหนมาไหนก็นุ่งโจงกระเบนเหมือนกัน   ถ้าเป็นผู้ชายรูปร่างสันทัด ไม่ล่ำสันบึกบึนก็คงปลอมเป็นหญิงได้ง่าย
   นอกจากนี้ ถึงข้าหลวงในตำหนักเสด็จพระองค์หญิงเกิดผิดสังเกตกับหญิงแปลกหน้า ก็คงไม่กล้าปริปากพูด   เพราะมีนางเผือกเป็นคนกางกั้นอยู่ ไม่ให้คนอื่นๆเอะอะขึ้นมา      
   นายโตจึงได้ลอบเข้าไปได้หลายครั้ง   ค้างคืนได้ถึง 1 -2 คืน   ก็ต้องถือว่านอกจากชะล่าใจแล้ว  ยังกำแหงมากด้วย
 
    ในคำให้การ  นายโตบอกว่าเข้าไป 4 ครั้ง  แต่จริงๆแล้วน่าจะมากกว่านั้น     ถ้าหากว่าเสด็จพระองค์หญิงไม่ทรงพระครรภ์ขึ้นมา     นายโตคงลักลอบปีนเข้าปีนออกพระบรมมหาราชวังอยู่ได้อีกนาน
 
     เมื่อกรมหลวงหลวงอดิศรอุดมเดชทรงสอบสวนบรรดาข้าหลวงของเสด็จพระองค์หญิงจนได้ตัวนางเผือกแล้ว   ขั้นต่อไปก็ง่าย เพราะนางเผือกไม่อาจปากแข็งต่อการสอบสวนได้นาน  จึงสารภาพออกมาทั้งหมด    
 
    นายโตจึงถูกจับกุมตัวเอามาสอบสวนต่อหน้าพระพักตร์ กรมหลวงอดิศร   เจ้าตัวก็สารภาพหมดเปลือกเช่นกัน

    เมื่อได้ความจริงทั้งหมด  กรมหลวงอดิศรอุดมเดชก็ทรงทำเป็นหนังสือกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่่หัว  เพื่อพิจารณาโทษ


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 26 ก.ย. 20, 11:41
ขออนุญาตเข้าชั้นเรียนค่ะ


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 26 ก.ย. 20, 11:57
พอดีพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์หนึ่งเสด็จมาเยี่ยม แต่ได้ทรงเปิดดูกระโถนก็ทรงเห็นเด็กแดง ๆ ความจึงแตกออกมา
ฟังดูแปลกๆค่ะ น้องไปเยี่ยมพี่สาว ถ้าเปิดตู้กับข้าวดูว่ามีอะไรกินก็เป็นเรื่องธรรมดาของพี่น้องถ้าสนิทกันมากพอ แต่นี่ไปเปิดกระโถนดู  ???


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 26 ก.ย. 20, 16:09
น่าจะเป็นเรื่องเล่าข่าวกระซิบที่แถวเต๊งอยู่บ้างแล้วกระมังก่อนหน้านั้น

ผู้ชายที่ท้องใหญ่ก็เรียกว่าลงพุง เนื่องจากกินเยอะ

ส่วนสตรีสาวที่เจริญอุทรขึ้นเรื่อยๆผิดไปรูปทรงปรกติ เป็นธรรมดาที่จะสันนิษฐานว่าตั้งครรภ์

แต่เนื่องจากมีพระเกียรติยศเป็นถึง “เสด็จพระองค์ใหญ่”จึงไม่มีใครกล้าเอะอะ คงได้แต่รอเวลาอยู่


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ก.ย. 20, 16:50
จากคำให้การของพระองค์เจ้าบรรจบเบญจมาซึ่งเป็นน้องสาวคนสุดท้องของหม่อมยิ่ง มีว่า

พระองค์ทรงเยี่ยมหม่อมยิ่งที่ตำหนักของพระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ พระยาสัมภาหะซึ่งเป็นหมอพยุงครรภ์นวดหม่อมยิ่งอยู่ในห้อง หม่อมยิ่งมีก้อนออกมา ไดยยินแต่เสียงอ๊อบ ไม่เป็นเสียงคน ได้ยินแต่พูดกันว่า มันเป็นตะพาบน้ำและไม่คาดคิดว่าจะเป็นเด็ก พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณมีรับสั่งว่า ครั้งน้ีถึงที่ตายแล้ว เด็กก็ร้องขึ้น หม่อมยิ่งเอามือปิดปากและอุดปากเด็ก


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 20, 17:05
อ้างถึง
ได้ยินแต่พูดกันว่า มันเป็นตะพาบน้ำและไม่คาดคิดว่าจะเป็นเด็ก

คุณเพ็ญชมพูและท่านอื่นๆเข้าใจว่าหมายถึงอะไรคะ


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ก.ย. 20, 17:43
อ้างถึง
ได้ยินแต่พูดกันว่า มันเป็นตะพาบน้ำและไม่คาดคิดว่าจะเป็นเด็ก

คุณเพ็ญชมพูและท่านอื่นๆเข้าใจว่าหมายถึงอะไรคะ

คำให้การของพระองค์เจ้ากาญจนากร มีว่า

พระองค์ทรงได้จับท้องของหม่อมย่ิง ๒ คร้ังเห็นว่า ก้อนกระเพื่อมข้ึน แต่ไม่ได้สงสัยว่าหม่อมยิ่งมีครรภ์ และทรงเชื่อถือคำพูดของหม่อมยิ่งว่า เป็นโรคท้องมาน มีโลหิตอยู่ข้างใน และมีตะพาบน้ำสามตัวในท้อง


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 20, 19:18
คุณเพ็ญชมพูไปหาคำให้การมาอ่านได้แล้ว   ก็ขอให้เว้นบางตอนไว้ก่อนนะคะ
เพราะกระทู้นี้ไม่ได้เน้นเรื่องตั้งครรภ์ 

จากที่คุณเพ็ญชมพูไปหารายละเอียดมาได้  แสดงว่าพระนาภีของเสด็จพระองค์หญิงที่โตขึ้นๆ  ก็เป็นที่รู้กันแพร่หลายในหมู่เจ้านาย    เพียงแต่ไม่มีใครกล้าฟันธงลงไปว่าเป็นลักษณะของการตั้งครรภ์   
จนกระทั่งคลอดทารกชายออกมา   จากนั้นก็คือนำทารกไปซ่อนไว้   แต่ก็ไ่ม่จบแค่นั้น  เพราะมีการหาจนกระทั่งเจอว่าซ่อนอยู่ที่ไหน


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ก.ย. 20, 09:57
จนกระทั่งคลอดทารกชายออกมา   จากนั้นก็คือนำทารกไปซ่อนไว้   แต่ก็ไ่ม่จบแค่นั้น  เพราะมีการหาจนกระทั่งเจอว่าซ่อนอยู่ที่ไหน

เรื่องการซ่อนทารกไว้ในกระโถน ไม่ปรากฏในคำให้การของบุคคลต่าง ๆ ในคดีนี้เลย น่าจะเป็น "เรื่องเล่าข่าวกระซิบที่แถวเต๊ง" อย่างที่คุณ Jalito ว่า  ;D


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 20, 08:04
     ย้อนไปถึงรัชกาลก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ ทรงผูกดวงพระชะตาของพระราชโอรสธิดาไว้ทุกพระองค์เมื่อประสูติ   แล้วพระราชทานพรให้คลาดแคล้วจากข้อเสียในดวงชะตา และเน้นข้อดีในชะตาเอาไว้ให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
     ด้วยเหตุนี้ จึงทรงทำนายได้ว่าจะเกิดเหตุใดขึ้นกับเจ้านายเหล่านั้นในกาลภายหน้า

     จึงมีพระราชกระแสกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ ว่า
     "...ถ้าเจ้าได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในกระบวนพี่น้องทั้งหมด จะมีพระองค์หญิงหนึ่งองค์ และพระองค์ชายอีกหนึ่งองค์ ทรงกระทำความผิดเป็นมหันตโทษ ขอให้ไว้ชีวิตพระองค์เจ้าพี่น้องทั้งสองพระองค์ด้วย..."

     ในหนังสือกราบบังคมทูลเมื่อชำระความเสร็จแล้ว พิจารณาโทษว่าทั้งคู่ประพฤติการชั่วอย่างอุกฤษฏ์ เป็น "มหันตโทษ" ตามกฎมณเฑียรบาล จึงต้องรับโทษตามนี้
    ๑. ให้ริบราชบาตรเป็นของหลวง
    ๒. ให้ถอดจากยศและบรรดาศักดิ์
    ๓. ให้ลงพระราชอาญา ๙๐ ที (เฆี่ยน) แล้วประหารชีวิตเสีย
    แต่พระราชกระแสในอดีตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ช่วยชีวิตเสด็จพระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์ให้รอดมาได้ ดังที่จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 บอกว่า
    “๔ ทุ่มเศษ เสด็จออกทรงสั่งเรื่องคลอดลูก ว่าด้วยพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ประพฤติการชั่วอย่างอุกฤษฎ์ อย่างนี้เป็นมหันตโทษ ควรริบราชบาตรเป็นหลวง ถอดจากยศบรรดาศักดิ์ลงพระราชอาญา ๙๐ ที ประหารชีวิต แต่ทรงพระมหากรุณาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์อวิญญาณกทรัพย์เป็นของหลวง สำหรับจ่ายซ่อมแปลงพระอารามแลสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงสร้างไว้ แลให้ยกโทษเฆี่ยน ๙๐ ประหารชีวิต ให้ออกจากยศบรรดาศักดิ์ลงเป็นหม่อม เอาท้ายชื่อคือเยาวลักษณ์อรรคราชสุดาออกเสีย เรียกแต่หม่อมยิ่งคำเดียว...”
 
    สรุปว่าเสด็จพระองค์หญิงถูกริบทรัพย์ ถอดออกจากเจ้าเป็นสามัญชน เรียกชื่อเพียงว่า "หม่อมยิ่ง" แต่ไม่ได้รับโทษเฆี่ยนและประหาร เพียงแต่ถูก "จำสนม" คือถูกขังไว้ในที่ใดที่หนึ่งในเขตพระราชฐานชั้นใน จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปีต่อมา


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 20, 08:05
      ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 เช่นกัน มีข้อความอีกตอนหนึ่งว่า
      "เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ เสด็จออกรับสั่งเรื่องหม่อมยิ่ง ซึ่งลูกขุนปรึกษาวางบทลงโทษ หม่อมยิ่ง อ้ายโต อีเผือก ผู้ล่วงพระราชอาญามีความผิดเป็นมหันตโทษ ให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์อวิญญาณกทรัพย์เป็นของหลวง ให้ลงพระอาญา ๓ ยก ๙๐ ที เอาตัวไปประหารชีวิตอย่าให้ผู้ใดดูเยี่ยงอย่างนั้น หม่อมยิ่งแลอีเผือกผู้ชักสื่อ ให้งดโทษประหารชีวิต นอกนั้นให้ทำตามลูกขุนปรับแล้วเสด็จขึ้น"

      สรุปคืออีเผือกถูกเฆี่ยน 90 ทีแต่รอดตัวไม่ถูกประหาร แต่ถูกเฆี่ยนด้วยหวายขนาดนี้ ไม่ตายก็สาหัส อาจจะพิการไปตลอดชีวิตก็ได้ ถึงรอดตายมาได้ไม่พิการ อนาคตของอีเผือกก็มืดมนอยู่ดี ไม่มีใครกล้ารับไปเลี้ยงแน่นอน
ส่วนอ้ายโตถูกประหาร ว่ากันว่าพูดจาโอหังมากจึงถูกตบปากด้วยกะลาทั้งขน ก่อนนำไปตัดศีรษะที่วัดพลับพลาไชย (ปัจจุบันคือบริเวณข้างธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาพลับพลาไชย)


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 20, 15:22
    ย้อนไปถึงรัชกาลก่อน   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ ทรงผูกดวงพระชะตาของพระราชโอรสธิดาไว้ทุกพระองค์เมื่อประสูติ
     แล้วพระราชทานพรให้คลาดแคล้วจากข้อเสียในดวงชะตา และเน้นข้อดีในชะตาเอาไว้ให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
     ด้วยเหตุนี้ จึงทรงทำนายได้ว่าจะเกิดเหตุใดขึ้นกับเจ้านายเหล่านั้นในกาลภายหน้า

     จึงมีพระราชกระแสกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ ว่า
     "...ถ้าเจ้าได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในกระบวนพี่น้องทั้งหมด จะมีพระองค์หญิงหนึ่งองค์ และพระองค์ชายอีกหนึ่งองค์ ทรงกระทำความผิดเป็นมหันตโทษ ขอให้ไว้ชีวิตพระองค์เจ้าพี่น้องทั้งสองพระองค์ด้วย..."

     ในหนังสือกราบบังคมทูลเมื่อชำระความเสร็จแล้ว พิจารณาโทษว่าทั้งคู่ประพฤติการชั่วอย่างอุกฤษฏ์ เป็น "มหันตโทษ" ตามกฎมณเฑียรบาล จึงต้องรับโทษตามนี้
๑. ให้ริบราชบาตรเป็นของหลวง
๒. ให้ถอดจากยศและบรรดาศักดิ์
๓. ให้ลงพระราชอาญา ๙๐ ที (เฆี่ยน) แล้วประหารชีวิตเสีย


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 20, 15:23
     แต่พระราชกระแสในอดีตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ช่วยชีวิตเสด็จพระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์ให้รอดมาได้ ดังที่จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 บอกว่า
    “๔ ทุ่มเศษ เสด็จออกทรงสั่งเรื่องคลอดลูก ว่าด้วยพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ประพฤติการชั่วอย่างอุกฤษฎ์ อย่างนี้เป็นมหันตโทษ ควรริบราชบาตรเป็นหลวง ถอดจากยศบรรดาศักดิ์ลงพระราชอาญา ๙๐ ที ประหารชีวิต แต่ทรงพระมหากรุณาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์อวิญญาณกทรัพย์เป็นของหลวง สำหรับจ่ายซ่อมแปลงพระอารามแลสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงสร้างไว้ แลให้ยกโทษเฆี่ยน ๙๐ ประหารชีวิต ให้ออกจากยศบรรดาศักดิ์ลงเป็นหม่อม เอาท้ายชื่อคือเยาวลักษณ์อรรคราชสุดาออกเสีย เรียกแต่หม่อมยิ่งคำเดียว...”
     สรุปว่าเสด็จพระองค์หญิงถูกริบทรัพย์ ถอดออกจากเจ้าเป็นสามัญชน เรียกชื่อเพียงว่า "หม่อมยิ่ง" แต่ไม่ได้รับโทษเฆี่ยนและประหาร เพียงแต่ถูก "จำสนม" คือถูกขังไว้ในที่ใดที่หนึ่งในเขตพระราชฐานชั้นใน จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปีต่อมา



กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 20, 19:02
    จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จ.ศ. 1245 (พ.ศ. 2429) บันทึกถึงทารกไว้ว่า
    "เกิดเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ คือพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ซึ่งเดิมว่าเป็นโรคท้องมานนั้น ปวดครรภ์แลคลอดออกมาเป็นลูกชาย ที่เรือนภายในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จกรมพระภาณุพันธุ กรมหมื่นนเรศร กรมหมื่นอดิศร กรมหลวงเทวะวงศ์ ได้จัดการที่จะชำระพิจารณาที่ได้เกิดขึ้นต่อไป แต่ลูกนั้นเอาออกไปไว้วังกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช"
   
      หลังจากนั้น ก็ไม่มีการกล่าวถึงทารกชายผู้นี้อีก ชะตากรรมของนายโตคือถูกประหาร ส่วนหม่อมยิ่งคือถูกถอดและจำสนม จนถึงแก่กรรมในเวลาอีกไม่นาน คือถ้าไม่ใช้ปี 2429 ที่เกิดเหตุ ก็ปีถัดมาคือ 2430
      จากนั้นเรื่องของหม่อมยิ่งก็ถูกปิดสนิทจากปากของคนรอบด้าน แม้แต่พระนามก็กลายเป็นของต้องห้าม มิให้ใครเอ่ยถึงต่อมานับร้อยปี


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 20, 19:03
    หลังจากนั้นอีกหนึ่งร้อยกว่าปี เมื่อ พ.ศ. 2547 มีหนังสือชื่อ ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ เขียนโดยคุณ เทพ สุนทรศารทูล เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า
    “ทั้งพระองค์เจ้าหญิงยอดยิ่งเยาวลักษณ์อรรควรสุดา พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๔ และนางเผือก นางข้าหลวงคนสนิทที่ชักนำมหาโตเข้าวัง มิได้ถูกประหารชีวิต มิได้ถูกเฆี่ยนหลัง ๙๐ ทีในคราวนั้น อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อท่านถูกปลดลดยศลงเป็นหม่อมยอดแล้วท่านคงออกมาอยู่กับญาติของท่าน (ส่วนโอรสของท่าน)หลวงเทววงศ์วโรประการ(แสน) เจ้ากรมในกรมหลวงเทววงศ์วโรประการ รับเป็นบิดา เมื่อเติบโตจึงได้รับราชการเป็นนายพันตรี หลวงศักดาพลรักษ์(เสข) ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารบก ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลในรัชกาลที่ ๖ ว่า"ธรรมสโรช" พ.ศ. ๒๔๕๗ อายุ ๔๘ ปี
      ต่อเมื่อพระศักดาพลรักษ์(เสข) ได้รับพระราชทานนามสกุลแล้ว ในวงญาติของพระสำราญหฤทัย(อ้าว) บิดาของเจ้าจอมมารดาแพ มารดาของพระองค์เจ้าหญิงยอดยิ่งเยาวลักษณ์อรรควรสุดา จึงใช้นามสกุลพระราชทานร่วมกันต่อมาทั้งตระกูล ตระกูลนี้จึงมีพระศักดาพลรักษ์(เสข) เป็นต้นตระกูล"


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 20, 07:23
    หนังสือของคุณเทพ เม่ืออ่านแล้ว ดิฉันก็เกิดความสงสัยหลายข้อ จึงเรียบเรียงมาให้พิจารณากันตามนี้ ทีละข้อ
    1 ทารกชายผู้นี้ แม้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเสด็จพระองค์หญิง แต่อย่าลืมว่าอีกครึ่งหนึ่งคือสายเลือดของนายโต ซึ่งถูกประหารในข้อหาล่วงละเมิดพระราชวงศ์ฝ่ายในอย่างรุนแรง
     ถ้าคุณหลวงเทววงศ์วโรประการ(เสนหรือพิมเสน) เจ้ากรมในกรมหลวงเทววงศ์วโรประการ (พระยศในขณะนั้น ต่อมาคือสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ต้นราชสกุล เทวกุล ) เกิดเมตตารับเป็นบุตรบุญธรรม ก็ต้องแน่ใจว่าเจ้านายของตนเห็นชอบ หรืออาจจะเป็นฝ่ายประทานเด็กมาให้เลี้ยงเสียด้วยซ้ำ
     ไม่งั้นคุณหลวงเทวะวงศฯ คงไม่เอาหน้าที่การงานมาเสี่ยงกับเรื่องราชภัยร้ายแรงอย่างยิ่งเรื่องนี้

     อย่าลืมอีกข้อหนึ่งว่า เจ้านายพระองค์นี้เป็นหนึ่งในสี่พระองค์ที่ต้องทรงเหนื่อยยากจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ทรงรู้เห็นรายละเอียด ทรงทราบความวุ่นวายที่เกิดในพระบรมวงศานุวงศ์ และทรงทราบดี่ว่าพระเจ้าอยู่หัวเสียพระราชหฤทัยขนาดไหน
เป็นไปได้อย่างไรที่จะทรงสนับสนุนรับเด็กคนนี้มาให้ข้าราชบริพารของพระองค์เลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม ให้เติบโตขึ้นมามีการศึกษาดี มีเกียรติ มีบรรดาศักดิ์ โดยไม่นึกถึงที่มาของเด็ก และไม่นึกถึงพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ด้วยกัน


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ย. 20, 07:25
    2 สังคมคนไทยในยุคนั้น และแม้แต่ในยุคนี้ นับการสืบสายเลือดทางบิดาเป็นหลัก ไม่ใช่ทางมารดา
    กฎหมายและประเพณีก็ถือหลักนี้เช่นกัน เห็นได้จากเด็กทั่วไปเกิดมาก็ใช้นามสกุลของบิดา ไม่ใช่มารดา เพิ่งมาเลือกได้เมื่อไม่กี่ปีนี้เอง
    ดังนั้นทารกชายผู้นี้ สังคมสมัยนั้นจึงนับว่าเป็นลูกของนายโต ไม่ได้นับว่าเป็นพระโอรสเสด็จพระองค์หญิง
    
   3 คุณเทพเล่าว่า เด็กคนนี้เติบโตขึ้นได้บรรดาศักดิ์เป็นพันตรีพระศักดาพลรักษ์ (เสข) ได้ทำเรื่องขอพระราชทานนามสกุลในรัชกาลที่ 6
    แต่คุณเทพไม่ได้อ้างหลักฐานรายละเอียดในหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุล

    ข้อเท็จจริงคือหลวงศักดาพลรักษ์(ไม่ใช่พระศักดาพลรักษ์) ได้อธิบายละเอียดถึงเทือกเถาเหล่ากอของตน ว่าท่านเป็นบุตรของหลวงเทวะวงศวโรปการ (เสน หรือพิมเสน) อันเป็นบุตรของจมื่นสรสิทธิราช (จุ้ย) กับท่านไม้จีนบุตรของท่านคล้าย(ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒)
     ส่วนทางมารดา พระศักดาฯระบุว่าท่านศิลาเป็นบุตรีของท่านทันและเป็นหลานตา ของพระยาอุทัยธรรม (นุด) ผู้เป็นบุตรของเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมารหรือพระนเรนทรราชา' (ต้นสกุลรุ่งไพโรจน์) ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๘ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ในกรมบริจาภกดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ซึงเป็นพระราชธิดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ก.ย. 20, 20:08
พันตรีหลวงศักดาพลรักษ์ (เสข) ได้ทำเรื่องขอพระราชทานนามสกุลในรัชกาลที่ 6  

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/1033_1.PDF


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 20, 07:40
ขออนุญาตลบทิ้งข้อความของคุณเพ็ญชมพูนะคะ
มันทำให้เรื่องที่ดิฉันค่อยๆลำดับความ  เสียขั้นตอนหมดค่ะ


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 20, 11:06
     ถ้าหากว่าคุณหลวงศักดาฯเป็นบุตรบุญธรรมของหลวงเทวะวงศ และภรรยา ก็ไม่สามารถจะกราบบังคมทูลได้ว่าตนเองเป็นเชื้อสายของจมื่นสรสิทธิราชบิดาคุณหลวงเทวะวงศ และยิ่งไม่่่มีสิทธิ์เข้าไปใหญ่ที่จะอ้างบรรพชนทางสายคุณนายศิลา ภรรยาหลวงเทวะวงศ ที่สามารถสืบเชื้อสายย้อนขึ้นไปได้ถึงเจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
    
    4 ถ้าหากว่าคุณเทพ ผู้เกิดทีหลังเรื่องนี้หลายสิบปียังสามารถสืบทราบได้ว่า หลวงเทวะวงศฯ รับบุตรของหม่อมยิ่งไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เรื่องนี้ก็ย่อมไม่ใช่ความลับสำหรับคนสมัยรัชกาลที่ 5
     ยิ่งคนในวังเทวะเวสม์ ตลอดจนญาติๆของคุณหลวงเทวะวงศฯ ก็ต้องรู้กันหมด
     พันตรีหลวงศักดาฯคงไม่สามารถอ้างได้ว่าตนเองเป็นเชื้อสายคุณหลวงเทวะวงศ์และภรรยา จนเขียนหนังสือกราบบังคมทูลแบบนี้ได้


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 20, 11:08
ในเมื่อหลวงศักดาพลรักษ์ทำหนังสือกราบบังคมทูล โดยแจกแจงบรรพชนได้โดยละเอียดเช่นนี้ ก็หมายความได้อย่างเดียวว่า พันตรีหลวงศักดาพลรักษ์คือบุตรที่แท้จริงของหลวงเทวะวงศฯ และคุณนายศิลา จึงเขียนไปตามข้อเท็จจริงที่บิดามารดาเล่าให้ฟัง
5 หลักฐานสำคัญที่สุดที่แสดงว่า พันตรีหลวงศักดาพลรักษ์ หรือต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นพลตรีพระยาวิบุลอายุรเวท มิใช่บุตรของหม่อมยิ่งและอ้ายโต
ก็คือในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ แสดงประวัติของท่านไว้ว่า พลตรีพระยาวิบุลอายุรเวช (เสข ธรรมสโรช)เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ส่วนหม่อมยิ่งตั้งครรภ์เมื่อพ.ศ. 2429 สามปีหลังพระยาวิบุลฯ เกิด
พูดอีกทีคือตอนบุตรชายหม่อมยิ่งคลอดออกมา หลวงศักดาพลรักษ์หรือพระยาวิบุลอายุรเวท อายุ 3 ขวบแล้ว


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 20, 11:09
ข้อความอีกตอนหนึ่งของคุณเทพ สุนทรศารทูล คือ
"ต่อเมื่อพระศักดาพลรักษ์(เสข) ได้รับพระราชทานนามสกุลแล้ว ในวงญาติของพระสำราญหฤทัย(อ้าว) บิดาของเจ้าจอมมารดาแพ มารดาของพระองค์เจ้าหญิงยอดยิ่งเยาวลักษณ์อรรควรสุดา จึงใช้นามสกุลพระราชทานร่วมกันต่อมาทั้งตระกูล ตระกูลนี้จึงมีพระศักดาพลรักษ์(เสข) เป็นต้นตระกูล"
ความจริง คือ หลวงศักดาพลรักษ์(เสข ธรรมสโรช) หรือพระยาวิบุลอายุรเวช ไม่ใช่ต้นตระกูลธรรมสโรช เป็นเพียงผู้ทำเรื่องกราบบังคมทูลของพระราชทานนามสกุล
ตระกูลธรรมสโรชเป็นตระกูลเก่าย้อนไปได้ถึงสมัยอยุธยา แต่ผู้ที่นับกันว่าเป็นต้นตระกูลคือเจ้าพระยาธรรมาธิกร (ทองดี) เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวัง ในรัชกาลที่ ๑
เชื้อสายตระกูลนี้มีจำนวนมาก แยกเป็นหลายสาย จึงได้รับพระราชทานนามสกุลต่างกันไป คือสโรบล ธรรมสโรช รัตนทัศนีย และอินทรวิมล ลูกหลานสายไหนก็ใช้นามสกุลนั้น แต่ความจริงสืบสายจากบรรพบุรุษเดียวกัน
คุณเทพคงเชื่อว่าการที่บรรดาญาติๆของเจ้าจอมมารดาแพ ( มารดาของหม่อมยิ่ง) ใช้นามสกุลธรรมสโรชตามพระยาวิบุลอายุรเวท เป็นหลักฐานว่าพระยาวิบุล(เสข)คือหลานยายของเจ้าจอมมารดาแพ ญาติฝ่ายยายจึงตกลงใช้นามสกุลเดียวกันกับหลาน
แต่เหตุผลน่าจะอธิบายได้ง่ายกว่านั้น คือพระสำราญหฤทัย(อ้น)บิดาของเจ้าจอมมารดาแพ เป็นลูกหลานเชื้อสายเจ้าพระยาธรรมาธิกร จึงให้ลูกหลานใช้นามสกุลธรรมสโรช ก็เท่านั้นเอง


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 20, 11:12
สรุปว่า พลตรีพระยาวิบุลอายุรเวท หรือพันตรีหลวงศักดาพลรักษ์ (เสข ธรรมสโรช)คือบุตรชายแท้ๆของหลวงเทวะวงศ์( เสน ธรรมสโรช) และคุณนายศิลา ไม่ได้เกี่ยวข้องอย่างใดกับนายโตและหม่อมยิ่ง

ถ้าอย่างนั้น คุณเทพโยงหลวงศักดาพลรักษ์เข้าเป็นบุตรชายของหม่อมยิ่งได้อย่างไร

ดิฉันสันนิษฐานว่า คงจะเริ่มที่คุณเทพพบว่าญาติๆของเจ้าจอมมารดาแพ แม่ของหม่อมยิ่ง ใช้นามสกุลธรรมสโรช ผู้ขอพระราชทานนามสกุลนี้คือบุตรชายของหลวงเทวะวงศ์ เจ้ากรมของสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ ฯ เจ้านายพระองค์หนึ่งในสี่ที่ชำระความเรื่องหม่อมยิ่ง
คุณเทพจึงรวมเข้าด้วยกันว่า ญาติๆของเจ้าจอมมารดาแพกับบุตรชายหลวงเทวะวงศ์ต้องมีอะไรโยงถึงกันแน่ๆ แต่แทนที่จะคิดว่าคำตอบก็คือหลวงเทวะวงศ์เป็นญาติกับบิดาเจ้าจอมมารดาแพ
ก็คิดไกลไปว่าบุตรชายหลวงเทวะวงศ์อาจเป็นพระโอรสที่สาบสูญไป เพราะหลวงเทวะวงศ์เป็นข้าราชบริพารของเจ้านายที่ชำระความเรื่องหม่อมยิ่ง อาจรับเลี้ยงเด็กเอาไว้ พอโตขึ้น ขอพระราชทานนามสกุล ญาติทางฝ่ายเจ้าจอมมารดาแพเลยใช้นามสกุลนี้

คุณเทพคงไม่ได้อ่านหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพของพลตรีพระยาวิบุลอายุรเวท ซึ่งถึงแก่กรรมตั้งแต่พ.ศ. 2518 เกือบ 30 ปีก่อนคุณเทพพิมพ์จำหน่ายหนังสือฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ
จึงไม่ทราบว่าพระยาวิบุลฯหรืออดีตหลวงศักดาฯ เกิดก่อนบุตรชายหม่อมยิ่งตั้ง 3 ปี และมีพี่น้องร่วมบิดามารดาหลายคน ในหนังสือประวัติของท่านก็ไม่มีตอนไหนเกี่ยวข้องกับเรื่องของหม่อมยิ่งหรือนายโตเลย


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 20, 11:17
http://www.lungkitti.com/product.detail_844932_th_6695699#


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 20, 11:19
*


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ต.ค. 20, 07:40
ขออนุญาตลบทิ้งข้อความของคุณเพ็ญชมพูนะคะ
มันทำให้เรื่องที่ดิฉันค่อยๆลำดับความ  เสียขั้นตอนหมดค่ะ

ลำดับความเรื่องตามขั้นตอนคงเรียบร้อยแล้ว จึงขออนุญาตโพสต์ข้อความที่ถูกลบไป อีกครั้ง

เหตุเกิดเป็นเรื่องอื้อฉาวทราบถึงพระเนตรพระกรรณเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙


ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จ.ศ. 1245 (พ.ศ. 2429) บันทึกไว้ว่า

"เกิดเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ คือพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ซึ่งเดิมว่าเป็นโรคท้องมานนั้น ปวดครรภ์แลคลอดออกมาเป็นลูกชาย ที่เรือนภายในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จกรมพระภาณุพันธุ กรมหมื่นนเรศร กรมหมื่นอดิศร กรมหลวงเทวะวงศ์ ได้จัดการที่จะชำระพิจารณาที่ได้เกิดขึ้นต่อไป แต่ลูกนั้นเอาออกไปไว้วังกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช"

ตำแหน่งสุดท้ายของพันตรี หลวงศักดาพลรักษ์ (เสข) คือ พลตรี พระยาวิบุลอายุรเวท ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ ใช่ลูกชายของหม่อมยิ่งจริง ๆ หรือ ?

ภาพจาก อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี พระยาวิบุลอายุรเวท (เสข ธรรมสโรช)  (http://www.lungkitti.com/product.detail_844932_th_6695699#)


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ต.ค. 20, 08:00
พระยาวิบุลฯหรืออดีตหลวงศักดาฯ เกิดก่อนบุตรชายหม่อมยิ่งตั้ง 3 ปี และมีพี่น้องร่วมบิดามารดาหลายคน ในหนังสือประวัติของท่านก็ไม่มีตอนไหนเกี่ยวข้องกับเรื่องของหม่อมยิ่งหรือนายโตเลย


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 20, 08:10
สรุปว่าพลตรีพระยาวิบุลอายุรเวท(เสข ธรรมสโรช) ไม่ใช่บุตรชายของหม่อมยิ่งที่เกิดจากนายโต   ตามความเข้าใจของคุณเทพ สุนทรศารทูล
พระยาวิบุลฯ คือบุตรชายแท้ๆของหลวงเทววงศ์วโรปการ   เป็นเชื้อสายสกุลธรรมสโรช สืบมาจากเจ้าพระยาธรรมาธิกร(ทองดี)
ส่วนบุตรชายของหม่อมยิ่ง ไม่ปรากฎชะตากรรม   


กระทู้: จาก "หม่อมยิ่ง" ถึง พระศักดาพลรักษ์(เสข)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ต.ค. 20, 08:30
สำหรับรายละเอียดคำให้การของบุคคลต่าง ๆ ในคดีหม่อมยิ่ง สามารถอ่านได้ที่

http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOH/article/download/11797/9785