เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 ส.ค. 16, 13:39



กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 ส.ค. 16, 13:39
เมืองตากเมืองระแหง เท่าที่ทราบก็เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง เพราะชัยภูมิก็นับเป็นเมืองด่านที่อยู่ติดต่อกับพม่า จึงปรากฏว่าเป็นเส้นทางเดินทัพที่สำคัญของพม่าอยู่หลายครั้ง ซึ่งปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาเรียกว่าเมืองตากนั้นเป็น "เมืองหน้าศึก"

แต่เมืองตากนั้นไม่ปรากฏในทำเนียบหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวาในพระอัยการนาทหารหัวเมืองเลย


จึงไม่ทราบได้ว่าเป็นหัวเมืองระดับไหน (แต่คงไม่ใช่เมืองเอกหรือโท) ไม่ทราบทินนามของเจ้าเมืองรวมถึงศักดินาด้วยครับ


เลยอยากสอบถามว่ามีท่านใดพอจะทราบข้อมูลบ้างไหมครบ ขอบคุณครับ




กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 ส.ค. 16, 13:56
ข้อมูลอื่นๆ เท่าที่ทราบคือในทำเนียบเมืองจากจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมัยรัชกาลที่ ๓ ระบุว่ามีเมืองเชียงเงิน เมืองเชียงทองขึ้นกับเมืองตากครับ


ซึ่งก็ส่วนคล้องกับพงศาวดารที่ระบุว่า เมื่อตอนที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จหนีจากกรุงศรีอยุทธยา มีพระเชียงเงินเป็นหนึ่งในนายทหารผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จมาด้วย และมีการระบุว่าเป็น "ข้าหลวงเดิม" จึงสันนิษฐานว่าอาจจะรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อนแล้ว ภายหลังได้เลื่อนยศเป็นพระท้ายน้ำและพระยาสุโขทัยตามลำดับ

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้อธิบายไว้ในหนังสือ การเมืองสมัยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าเมืองเชียงเงิน "ซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นเมืองตาก-ระแหง" ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าอ้างอิงจากหลักฐานอะไรบ้าง

แต่ถ้าจริงเมืองตากก็ควรจะสูงกว่าระดับจัตวา คิดน่าจะเป็นหัวเมืองชั้นตรี ไม่น่าจะถึงหัวเมืองชั้นโทระดับเดียวกับสุโขทัย สวรรคโลก กำแพงเพชร


นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงอธิบายไว้ใน พระนิพนธ์ 'ไทยรบพม่า' ว่า "พระยาตากคนนี้เป็นเชื้อจีน เดิมอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แล้วขึ้นไปรับราชการทางหัวเมืองเหนือ ไปทำราชการมีความชอบได้เป็นเจ้าเมืองตาก เมื่อยังเป็นเมืองขึ้นของเมืองกำแพงเพชร"

ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นเมืองตรี แต่ไม่พบหลักฐานชัดเจนครับ





กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 ส.ค. 16, 14:02
เรื่องทินนามก็ไม่ปรากฏ ในเอกสารต่างๆ ก็เรียกกันแต่ว่า "พระยาตาก"

ซึ่งเมืองที่เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็น 'พระยา' ในสมัยอยุทธยาก็น่าจะมีความสำคัญพอสมควร เพราะเมืองส่วนใหญ่หลายๆ เมืองเจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์แค่ 'พระ'

แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าเมืองตากมีทินนามแต่อย่างใดครับ หรือแต่เดิมจะมีแต่สูญหายไปหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ครับ


มีปรากฏในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองตากยุคต้นๆ คือ "พระยาสุจริตรักษา" ครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ส.ค. 16, 15:05
เรื่องทินนามก็ไม่ปรากฏ ในเอกสารต่างๆ ก็เรียกกันแต่ว่า "พระยาตาก"
ราชทินนามของเจ้าเมืองตากในรัชกาลที่ ๓ ปรากฏอยู่ในจารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ทิศเหนือ  

จารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมืองนี้ ปรากฏอยู่บนคอสองเฉลียงพระระเบียงล้อมอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามทั้ง ๔ ทิศ ได้แก่ ทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือ ตามลำดับ ในโคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ระบุว่า มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปหัวเมืองขึ้นของกรุงเทพมหานคร ๔๗๔ หัวเมืองไว้คู่กับจารึก เมื่อคราวรัชกาลที่ ๓ โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ แต่ในปัจจุบันภาพดังกล่าวลบเลือนไปจนหมดสิ้นแล้ว หลงเหลือเพียงจารึกจำนวนหนึ่ง ซึ่งในประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฉบับตีพิมพ์ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ ระบุว่า มีการตรวจสอบพบจารึกจำนวน ๗๗ แผ่น ทำเนียบเมือง ๑๙๔ หัวเมือง แล้วนำไปสอบทานกับชื่อเมืองในประกาศพระราชพิธีตรุษพบว่าตรงกัน จึงสันนิษฐานว่าเดิมมีการจารชื่อเมืองตามประกาศดังกล่าวทั้งหมด ส่วนทำเนียบข้าราชการคงใช้ตามที่เป็นอยู่ในเวลานั้น โดยมีการจัดเรียงตำแหน่งจารึกหัวเมืองต่าง ๆ ไว้ตามทิศ เช่น หัวเมืองทิศเหนือ จารึกไว้บนคอสองระเบียงอุโบสถทางทิศเหนือ เป็นต้น

ความในจารึกมีดังนี้

๏ เมืองป่องขึ้นเถินอยู่ดอน  ๑ เมืองเถิน เจ้าเมืองชื่อพระยาเถินบุรีขึ้นกรมมหาดไทย ๑ เมืองตากเจ้าเมือง
ชื่อพระยาวิชิตชลธีศรีสุรสงคราม รามราชราชัย อภัยภักดี พิริยพาหะ ขึ้นกรมมหาดไทย


จาก ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย (http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=10633)


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 ส.ค. 16, 15:41
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูครับ ลืมดูตรงจารึกนี้ไป ดูเฉพาะแต่ตรงเมืองเชียงเงินเชียงทองที่ขึ้นกับเมืองตาก


ทินนาม "พระยาวิชิตชลธีศรีสุรสงคราม รามราชราชัย อภัยภักดี พิริยพาหะ" นี้ ฟังดูใกล้เคียงกับทินนามของทหารเรือมาก ดูไม่ค่อยเข้ากับเจ้าเมืองตากที่อยู่ห่างทะเลเท่าไร่ครับ

ซึ่งไปค้นข้อมูลแล้วต่อมาทินนามนี้ก็กลายเป็นทินนามของทหารเรือจริงๆ คือ นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์) ผู้บัญชาการทหารเรือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและเป็นนักโทษการเมืองจากกบฏบวรเดช


สร้อยนาม "รามราชราชัย" ดูคล้ายจะสื่อถึงพระญารามราชหรือพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งตามศิลาจารึกหลักที่ ๑ ระบุว่าได้ชนช้างกับขุนสามชนที่เมืองตาก


เท่าที่ดูข้อมูลมาปรากฏว่าทินนามปรากฏใช้ช่วงรัชกาลที่ ๓-๔ จะใช้ตั้งแต่สมัยอยุทธยาหรือไม่ก็คงไม่ทราบได้ เพราะไม่พบหลักฐานครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ส.ค. 16, 15:42
พระยาวิชิตชลธี  ฟังราชทินนามน่าจะเป็นเจ้าเมืองทางใต้หรือตะวันออก ที่มีทะเล  
มากกว่าเมืองทางเหนือ
แค่ตั้งข้อสังเกตเฉยๆค่ะ ไม่ได้หมายความว่าคัดค้าน

อ้าว ความเห็นชนกันกลางอากาศพอดี


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ส.ค. 16, 15:50
มีปรากฏในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองตากยุคต้นๆ คือ "พระยาสุจริตรักษา" ครับ

มีอยู่หลายท่าน หลายราชทินนาม

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2450/001/10_1.PDF (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2450/001/10_1.PDF)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2451/018/538.PDF (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2451/018/538.PDF)


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ส.ค. 16, 18:28
จำได้ว่า ในหนังสือ "การเมืองสมัยกรุงธนบุรี" ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับราชทินนามของพระยาตาก ว่าทำไมชื่อพระยาวชิรปราการ     เจ้าเมืองตากน่าจะเป็นพระยารามณรงค์
ไม่ทราบว่าชื่อพระยารามณรงค์   อ.นิธิได้มาจากที่ใด   ฝากคุณเพ็ญชมพูหรือท่านใดที่ทราบ ช่วยตอบด้วยนะคะ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 01 ส.ค. 16, 18:51
ที่ราชทินนามเจ้าเมืองตากมีส่วนเกี่ยวกับน้ำนั้น  อาจจะเป็นเพราะเมืองตากเป็นหัวเมืองหน้าด่านชายพระราชอาณาเขต
ที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อส่วนกลางและหัวเมืองล้านนาผ่านทางลำน้ำปิง  และติดต่อกับพม่าในเส้นทางบกผ่านทางด่านแม่สอด


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ส.ค. 16, 18:58
จำได้ว่า ในหนังสือ "การเมืองสมัยกรุงธนบุรี" ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับราชทินนามของพระยาตาก ว่าทำไมชื่อพระยาวชิรปราการ     เจ้าเมืองตากน่าจะเป็นพระยารามณรงค์
ไม่ทราบว่าชื่อพระยารามณรงค์   อ.นิธิได้มาจากที่ใด   ฝากคุณเพ็ญชมพูหรือท่านใดที่ทราบ ช่วยตอบด้วยนะคะ


อาจารย์นิธิหมายถึงราชทินนามของเจ้าเมืองกำแพงเพชรซึ่งควรเป็นพระยารามณรงค์ฯ  แต่ทำไมราชทินนามของสมเด็จพระเจ้าตากสินครั้งเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรคือพระยาวชิรปราการ

คือไหนๆ กระทู้นี้ก็รวมเรื่องราชทินนามแล้ว ผมก็เลยเอาตำแหน่งใน พระไอยการนาพลเรือนฯ ที่เป็นขุนนางระดับสูงศักดินา 10,000 มาลงไว้เลยครับ เท่าที่ตรวจสอบ มีขุนนางระดับ เจ้าพระยา 5 ตำแหน่ง (เจ้าพระยามหาโยธา ซึ่งเป็นหัวหน้ามอญ ก็มีบรรดาศักดิ์ เจ้าพระยา แต่ศักดินาแค่ 3,000 ไร่ ซึ่งอาวุโสในระบบขุนนางโบราณถือ ศักดินาเป็นลำดับแรก จึงถือว่าเป็นแค่ขุนนางระดับกลาง เท่านั้น) ส่วนระดับออกญา หรือ พระยามี 16 ตำแหน่ง เป็นทั้งเสนาบดี และเจ้าเมืองชั้นโท  เข้าใจว่าจะมีตำแหน่งขุนนางที่ไม่ได้ปรากฎในทำเนียบพระไอยการฯ อีกจำนวนมาก คือ สถาปนาขึ้นมาภายหลัง (เข้าทำนองออกกฎหมายเพิ่มเติม) รายชื่อมีดังนี้ครับ

18. ออกญารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิรียภาหะ   เจ้าเมืองกำแพงเพชร




กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 ส.ค. 16, 19:14
จำได้ว่า ในหนังสือ "การเมืองสมัยกรุงธนบุรี" ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับราชทินนามของพระยาตาก ว่าทำไมชื่อพระยาวชิรปราการ     เจ้าเมืองตากน่าจะเป็นพระยารามณรงค์
ไม่ทราบว่าชื่อพระยารามณรงค์   อ.นิธิได้มาจากที่ใด   ฝากคุณเพ็ญชมพูหรือท่านใดที่ทราบ ช่วยตอบด้วยนะคะ

พระยารามรณรงค์เป็นทินนามของเจ้าเมืองกำแพงเพชรตามที่คุณเพ็ญชมพูกล่าวมาครับ เพราะมีประวัติอยู่ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรครับ


จริงๆ หลักฐานที่ระบุว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ก็ปรากฏแต่ในหลักฐานสมัยหลังครับ ในขณะที่หลักฐานอื่นที่เก่าหน่อย ก็บ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่าน่าจะทรงมีบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นแค่พระยาตาก จึงเรียกกันต่อมาเมื่อทรงได้เป็นเจ้าหรือเมื่อสวรรคตไปแล้วว่า "เจ้าตาก" "เจ้าตากสิน" "พระยาตากสิน" "ขุนหลวงตาก" เอกสารอื่นๆอย่างพงศาวดารพม่าหรือคำให้การเชลยไทยที่ไปอยู่ที่พม่าหลังเสียกรุงอย่างคำให้การขุนหลวงหาวัด ก็เรียกพระองค์ว่า "พระยาตาก"

เข้าใจว่าหลักฐานที่ทำให้เข้าใจกันว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรมาก่อน น่าจะมาจากเอกสาร "สังคีติยวงศ์" งานนิพนธ์ของสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) วัดพระเชตุพน เมื่อครั้งยังมีสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีในภาษามคธว่า "วชิรปากานราชา" ซึ่งแปลตรงตัวว่า “กำแพงเพชร” เลยเป็นไปได้ที่น่าจะทรงเคยเป็นพระยากำแพงเพชร แต่ก็ไม่มีความชัดเจน และมีการสันนิษฐานว่าคำๆ นี้อาจจะเป็นคำเรียกขานพระองค์อย่างยกย่องก็เป็นได้


สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกระบุว่าเคยเป็น "พระยากำแพงเพชร" ครั้งแรกในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ซึ่งมีบานแพนกระบุว่าสมเด็จพระพนรัตน์กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสผู้เป็นศิษย์ ได้ทรงชำระต่อมาจากพงศาวดารที่รัชกาลที่ ๑ ทรงชำระเอง จึงเข้าใจว่ากรมพระปรามานุชิตชิโนรสเป็นผู้ชำระเป็นองค์สุดท้าย (น่าจะชำระราวสมัยรัชกาลที่ ๓)

สันนิษฐานว่า ภายหลังกรมพระปรามานุชิตชิโนรสน่าจะทรงได้อิทธิพลจากสังคีติยวงศ์ของสมเด็จพระพนรัตน์ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ในการชำระพงศาวดารเลยอาจจะทำให้ทรงชำระแก้ไปว่าพระยาตากทรงเคยเป็นพระยากำแพงเพชรโดยการตีความคำว่า "วชิรปากานราชา" ตามความเข้าใจของพระองค์ก็เป็นได้ครับ

ซึ่งในพงศาวดารนี้ ในช่วงศึกบ้านระจัน พ.ศ. ๒๓๐๙ ยังเรียกว่า “พระยาตาก” แต่ช่วงตีฝ่าออกจากพระนครได้เรียกว่า “พระยากำแพงเพชร” คงด้วยเหตุนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงมีพระวินิจฉัยไว้ในหนังสือไทยรบพม่าว่า “ครั้นพม่าเข้ามาล้อมกรุงฯ พระยาตากถูกเกณฑ์ลงมาช่วยรักษาพระนคร ฝีมือรบพุ่งเข้มแข็ง มีบำเหน็จความชอบในการสงคราม จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยากำแพงเพชร แต่หาทันได้ขึ้นไปครองเมืองไม่”

แต่ส่วนตัวก็คิดว่าเป็นไปได้ที่อาจจะไม่ได้ทรงเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรจริงๆ เพราะก็ดูขัดแย้งข้อบ่งชี้อื่นๆ จำนวนมาก ที่ยังเรียกพระองค์ว่า "พระยาตาก" อยู่


พระราชพงศาวดารไม่เคยบอกว่าพระองค์ได้เป็น “พระยาวชิรปราการ” เป็นแต่ “พระยากำแพงเพชร” และปกติแล้วทินนามของเจ้าเมืองกำแพงเพชรตามพระอัยการนาทหารหัวเมืองก็ไม่ใช่ "วชิรปราการ" แต่คือ "ออกญารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิรียภาหะ"  ครับ


ทินนาม "วชิรปราการ" หรือ "วิเชียรปราการ" เคยใช้ในสมัยธนบุรี แต่ก็เป็นทินนามของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่เจ้าเมืองกำแพงเพชร ปรากฏหลักฐานว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งพญาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการเมือ พ.ศ.๒๓๑๙ ซึ่งปรากฏชื่อในจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองว่า “พฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺก” ครับ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้ากาวิละแห่งลำปางก็ได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ในยศพระยาวชิรปราการเช่นเดียวกัน


เข้าใจว่าเอกสารแรกที่ระบุว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมียศเป็น “พระยาวชิรปราการ” คือ “อภินิหารบรรพบุรุษ” ซึ่งระบุว่าเมื่อเจ้าเมืองกำแพงเพชรถึงแก่กรรมเลยเรียกพระยาตากลงมายังกรุงเพื่อเลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่พอลงมาแล้วพม่ายกทัพมาพอดีเลยไม่ได้ไปครองเมือง (ซึ่งขัดแย้งกับพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ที่ระบุยังเป็นพระยาตากในช่วงศึกบ้านระจัน แต่ได้เป็นพระยากำแพงเพชรภายหลัง และขัดกับหลักฐานอื่นๆ ที่ยังคงเรียกว่าพระยาตาก)

น่าเชื่อว่าอภินิหารเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ ๕ (สันนิษฐานว่า ก.ศ.ร. กุหลาบเป็นผู้เขียน) ซึ่งก็มีความพิสดารของเนื้อหาจำนวนมาก หาหลักฐานอ้างอิงไม่ได้ แล้วก็มีความขัดแย้งกับหลักฐานอื่นๆ อยู่มาก ประกอบกับนายกุหลาบมีประวัติอยู่ว่าเคยลักลอบทำสำเนาเอกสารจากหอหลวง ไปแต่งเติมดัดแปลงเนื้อหาตามอำเภอใจจนถูกลงโทษมาแล้ว ทำให้เอกสารนี้ไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือจากนักประวัติศาสตร์เท่าไหร่ครับ แต่ก็เป็นเอกสารที่คนทั่วไปนิยมอ้างอิงกันมาก ซึ่งประวัติพระเจ้ากรุงธนบุรีส่วนใหญ่ที่รู้กันก็มาจากเอกสารนี้นั่นเองครับ

เป็นไปได้ผู้เขียนอภินิหารบรรพบุรุษ อาจจะตีความเอาว่าพระยากำแพงเพชร น่าจะมีทินนามตามภาษามคธว่า "วชิรปราการ" และอาจจะได้อิทธิพลจากสังคีติยวงศ์มาด้วยเลยแต่งไปตามนั้น ทั้งๆ ที่ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีเจ้าเมืองกำแพงเพชรคนใดใช้ทินนามว่า "วชิรปราการ" เลยครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 01 ส.ค. 16, 20:03
ที่ราชทินนามเจ้าเมืองตากมีส่วนเกี่ยวกับน้ำนั้น  อาจจะเป็นเพราะเมืองตากเป็นหัวเมืองหน้าด่านชายพระราชอาณาเขต
ที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อส่วนกลางและหัวเมืองล้านนาผ่านทางลำน้ำปิง  และติดต่อกับพม่าในเส้นทางบกผ่านทางด่านแม่สอด


เป็นข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจมากครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ส.ค. 16, 21:11
ดิฉันกลับไปคิดอีกอย่าง ไม่ต้องเชื่อก็ได้เพราะเดาล้วนๆ   
คือเดาว่าราชทินนามของเจ้าเมืองที่สอดคล้องกับเมืองก็มี  เช่นพระยาเถินบุรีเจ้าเมืองเถิน    และที่ไม่สอดคล้องก็มี  เช่นพระยาวิชิตชลธีเจ้าเมืองตาก
 ประการหลังอาจเกิดจากการโยกย้ายขุนนางด้วยเหตุผลต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการถึงแก่กรรมของคนเก่า  หรือการเลื่อนตำแหน่งให้ความดีความชอบแก่คนใหม่ซึ่งมาจากอีกเมืองหนึ่ง    ย้ายกันบ่อยเข้า  ชื่อเจ้าเมืองกับเมืองก็เลยสอดคล้องกันบ้างไม่สอดคล้องกันบ้าง  แล้วแต่กรณี
การบันทึกหลักฐานต่างๆ  อาจบันทึกตามสภาพความเป็นจริงในขณะที่บันทึก    แม้ว่าจะบันทึกในฐานะทำเนียบขุนนาง ก็ไม่ได้หมายความว่านี่คือกฎระเบียบตายตัว ค่ะ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ส.ค. 16, 09:08
แนบแผนที่จากสมุดภาพไตรภูมิ วาดลักษณะเอาทิศเหนือไว้ซ้ายมือเรา ทิศใต้อยู่ขวามือ ในกรอบจะเห็นอยู่ ๒ เมืองบริเวณจังหวัดตาก คือ เมืองตาก และ เมืองเชียงทอง ด้านเหนือวาดรอยพระพุทธบาทบนยอดเขารัง ส่วนด้านซ้ายเป็นพระพุทธบาทเมืองล้านนา


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ส.ค. 16, 09:21
ราชทินนามผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ในรัชกาลที่  ๖

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/D/724.PDF (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/D/724.PDF)


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 16, 09:28
เมืองตาก --> ตักกสิลาบุรินทร์
เข้าใจคิด เท่มากค่ะ
แต่เจ้าเมืองไม่ยักใช่พระยาตักกสิลารักษา


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ส.ค. 16, 09:38
รายนามผู้ว่าราชการจังหวัดตากตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๕ - ๒๔๙๒

http://www.tak.go.th/history_governor.htm (http://www.tak.go.th/history_governor.htm)


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 02 ส.ค. 16, 10:35
อ้างถึง
เมืองตาก --> ตักกสิลาบุรินทร์

เป็นการเรียกให้สั้น ตอนอุปนิสัยคนไทยเหมือนกันสินะครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ส.ค. 16, 11:17
ทินนาม "วชิรปราการ" หรือ "วิเชียรปราการ" เคยใช้ในสมัยธนบุรี แต่ก็เป็นทินนามของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่เจ้าเมืองกำแพงเพชร
ในรัชกาลที่ ๕ ราชทินนาม "วิเชียรปราการ" ก็เคยใช้สำหรับผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชร

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2448/011/221.PDF (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2448/011/221.PDF)


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ส.ค. 16, 11:28
รายนามผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๖

http://www.kamphaengphet.go.th/new_web/New_web/his_05.htm (http://www.kamphaengphet.go.th/new_web/New_web/his_05.htm)


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 02 ส.ค. 16, 11:32
ทินนาม "วชิรปราการ" หรือ "วิเชียรปราการ" เคยใช้ในสมัยธนบุรี แต่ก็เป็นทินนามของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่เจ้าเมืองกำแพงเพชร
ในรัชกาลที่ ๕ ราชทินนาม "วิเชียรปราการ" ก็เคยใช้สำหรับผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชร

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2448/011/221.PDF (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2448/011/221.PDF)


เท่าที่ดูจากทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร จะใช้แค่ท่านเดียวครับ ก่อนหน้านั้นใช้ "รามรณรงค์สงคราม" แทบทุกคนเลยครับ

http://www.kamphaengphet.go.th/new_web/New_web/his_05.htm (http://www.kamphaengphet.go.th/new_web/New_web/his_05.htm)


ชน คห.คุณเพ็ญชมพูพอดีครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 02 ส.ค. 16, 15:58

ทินนาม "วชิรปราการ" หรือ "วิเชียรปราการ" เคยใช้ในสมัยธนบุรี แต่ก็เป็นทินนามของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่เจ้าเมืองกำแพงเพชร ปรากฏหลักฐานว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งพญาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการเมือ พ.ศ.๒๓๑๙ ซึ่งปรากฏชื่อในจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองว่า “พฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺก” ครับ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้ากาวิละแห่งลำปางก็ได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ในยศพระยาวชิรปราการเช่นเดียวกัน


ในจารึกทำเนียบหัวเมืองที่วัดพระเชตุพนฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็ยังระบุว่าทินนาม "วิเชียรปราการ" เป็นทินนามของเจ้าเมืองเชียงใหม่ครับ จึงเข้าใจได้ว่าใช้ต่อเนื่องตั้งแต่สมัยธนบุรีเรื่อยมาครับ

(http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/uploads/images/201505121523381VJs.jpg)

"๏ เมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองชื่อพระยาวิเชียรปราการ ประเทศราชขึ้นกรมมหาดไทย"


http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_image_detail.php?id=10660 (http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_image_detail.php?id=10660)


น่าคิดเหมือนกันครับว่าเมืองเชียงใหม่มีอะไรที่สามารถสื่อถึง 'วิเชียรปราการ (กำแพงเพชร)' ได้บ้าง

ถ้าให้เดา อาจจะเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีคำกล่าวมาตั้งแต่โบราณว่าเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถตีได้ในครั้งเดียว ต้องมาสองครั้งก็เป็นได้ครับ ซึ่งเรื่องนี้มีกล่าวถึงอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี โดยเป็นพระราชดำรัสของพระเจ้ากรุงธนบุรีก่อนจะมีพระราชโองการให้ถอยทัพจากเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกใน พ.ศ.๒๓๑๓ ครับ

"ตรัสว่าอันเมืองเชียงใหม่นี้ต้องทำนายอยู่ คำปรำปราเล่าสืบมาว่ากษัตริย์พระองค์ใดยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่นั้นครั้งเดียวมิได้ ต่อยกไปเป็นคำรบสองจึงได้ ถ้าจะเข้าหาญบุกรุกเอาดวยกำลังกล้าบัดนี้ก็จะได้ แต่จะเสียไพร่พลมาก และยกมาบัดนี้เหมือนจะดูท่วงทีท่าทางและกำลังข้าศึก ก็ได้เห็นประจักษ์แล้ว ถ้ายกมาครั้งหลังเห็นได้ถ่ายเดียว จึงให้ถอยทัพหลวงล่วงมาเวนหนึ่ง กองทัพทั้งปวงก็เลิกเลื่อนถอยมาตาม"


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 03 ส.ค. 16, 09:37
ดิฉันกลับไปคิดอีกอย่าง ไม่ต้องเชื่อก็ได้เพราะเดาล้วนๆ   
คือเดาว่าราชทินนามของเจ้าเมืองที่สอดคล้องกับเมืองก็มี  เช่นพระยาเถินบุรีเจ้าเมืองเถิน    และที่ไม่สอดคล้องก็มี  เช่นพระยาวิชิตชลธีเจ้าเมืองตาก
 ประการหลังอาจเกิดจากการโยกย้ายขุนนางด้วยเหตุผลต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการถึงแก่กรรมของคนเก่า  หรือการเลื่อนตำแหน่งให้ความดีความชอบแก่คนใหม่ซึ่งมาจากอีกเมืองหนึ่ง    ย้ายกันบ่อยเข้า  ชื่อเจ้าเมืองกับเมืองก็เลยสอดคล้องกันบ้างไม่สอดคล้องกันบ้าง  แล้วแต่กรณี
การบันทึกหลักฐานต่างๆ  อาจบันทึกตามสภาพความเป็นจริงในขณะที่บันทึก    แม้ว่าจะบันทึกในฐานะทำเนียบขุนนาง ก็ไม่ได้หมายความว่านี่คือกฎระเบียบตายตัว ค่ะ


ตามความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าทำเนียบหัวเมืองในจารึกนี้ เป็นสิ่งที่รัชกาลที่ ๓ โปรดให้จารึกเอาไว้ในวัดพระเชตุพนเช่นเดียวกับสรรพวิชาทั้งหลาย จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ให้ยึดเป็นหลักยึดถือพอสมควรครับ และโดยปกติแล้วทินนามในช่วงสมัยอยุทธยาถึงรัตนโกสินทร์ เท่าที่ดูมักจะค่อนข้างคงที่ อาจมีทินนามพิเศษประปรายบ้าง แต่จะเยอะมากขึ้นในช่วงรัชกาลที่ ๔-๕ เป็นต้นมาครับ

เมื่อลองตรวจสองดูแล้ว ทินนามเจ้าเมืองในจารึกจะตรงกับในพระอัยการนาทหารหัวเมือง (เฉพาะเมืองที่มีระบุ) เกือบทุกเมืองครับ บางเมืองยังจารึกบรรดาศักดิ์ว่า "ออกญา" อย่างโบราณด้วยครับ

มีไม่ตรงแค่เมืองเดียวคือเมืองกาญจนบุรีที่ในพระอัยการมีทินนามว่า "ออกพระพิไชยภักดีสรีมไหยสวรรค" แต่ในจารึกคือ "พญาประสิทธิสงครามรามภักดีศรีพิเศศ ประเทศนิคม ภิรมราไชยสวรรย์" ครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 03 ส.ค. 16, 14:24
มีปรากฏในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองตากยุคต้นๆ คือ "พระยาสุจริตรักษา" ครับ


ดิฉันกลับไปคิดอีกอย่าง ไม่ต้องเชื่อก็ได้เพราะเดาล้วนๆ   
คือเดาว่าราชทินนามของเจ้าเมืองที่สอดคล้องกับเมืองก็มี  เช่นพระยาเถินบุรีเจ้าเมืองเถิน    และที่ไม่สอดคล้องก็มี  เช่นพระยาวิชิตชลธีเจ้าเมืองตาก
 ประการหลังอาจเกิดจากการโยกย้ายขุนนางด้วยเหตุผลต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการถึงแก่กรรมของคนเก่า  หรือการเลื่อนตำแหน่งให้ความดีความชอบแก่คนใหม่ซึ่งมาจากอีกเมืองหนึ่ง    ย้ายกันบ่อยเข้า  ชื่อเจ้าเมืองกับเมืองก็เลยสอดคล้องกันบ้างไม่สอดคล้องกันบ้าง  แล้วแต่กรณี
การบันทึกหลักฐานต่างๆ  อาจบันทึกตามสภาพความเป็นจริงในขณะที่บันทึก    แม้ว่าจะบันทึกในฐานะทำเนียบขุนนาง ก็ไม่ได้หมายความว่านี่คือกฎระเบียบตายตัว ค่ะ


ข้อสันนิษฐานของอาจารย์เทาชมพูเองก็มีน้ำหนักเหมือนกันครับ โดยมักจะเกิดกรณีอย่างที่กล่าวมาในราว สมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ที่มีการตั้งทินนามใหม่ๆ มาก และอาจจะมีการโยกย้ายเมืองโดยไม่ได้เปลี่ยนทินนาม

อย่างทินนาม "สุจริตรักษา" ซึ่งเป็นทินนามของเจ้าเมืองตากในสมัยรัชกาลที่ ๕ เคยเป็นทินนามของเจ้าเมืองลพบุรีในสมัยรัชกาลที่ ๔

โดยพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ รัชกาลที่ ๔ ระบุว่าทรงแปลงทินนามหลายเมือง อย่างเมืองลพบุรีเคยมีเจ้าเมืองทินนาม "พระนครพราหมณ์" ก็ทรงแปลงใหม่เป็น "พระยาสุจริตรักษาลพบุรานุรักษ" ส่วน "พระนครพราหมณ์" ให้เปลี่ยนไปเป็นตำแหน่งปลัดเมืองแทน

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ปรากฏในสำเนาสัญญาบัตรแต่งตั้งขุนนางหัวเมือง เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๓๐ ซึ่งเป็นปีแรกในรัชกาลระบุทินนามเจ้าเมืองลพบุรีว่า "พระยาสุจริตรักษาลพบุรานุรักษพิทักษ์ทวิชชาติภูมิ" ครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ส.ค. 16, 15:49
อย่างเมืองลพบุรีเคยมีเจ้าเมืองทินนาม "พระนครพราหมณ์"

อาจารย์ศานติ ภักดีคำ ให้ความเห็นไว้ในบทความเรื่อง ศรีรามเทพนคร : สร้อยนามหรือชื่อเมือง วารสารรวมบทความทางวิชาการ คณะโบราณคดี ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒ (กรกฏาคม - ธันวาคม) ว่า ราชทินนามเจ้าเมืองลพบุรีที่ถูกต้องคือ "นครพระราม" อันหมายความว่า ลพบุรี คือ นครของพระราม

http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/72_10.pdf หน้า ๑๖๒ (http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/72_10.pdf)


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ส.ค. 16, 08:48
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ปรากฏในสำเนาสัญญาบัตรแต่งตั้งขุนนางหัวเมือง เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๓๐ ซึ่งเป็นปีแรกในรัชกาลระบุทินนามเจ้าเมืองลพบุรีว่า "พระยาสุจริตรักษาลพบุรานุรักษพิทักษ์ทวิชชาติภูมิ" ครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ส.ค. 16, 08:52
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2458/D/2792.PDF (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2458/D/2792.PDF)


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ส.ค. 16, 09:12
เท่าที่ดูจากทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร จะใช้แค่ท่านเดียวครับ ก่อนหน้านั้นใช้ "รามรณรงค์สงคราม" แทบทุกคนเลยครับ

http://www.kamphaengphet.go.th/new_web/New_web/his_05.htm (http://www.kamphaengphet.go.th/new_web/New_web/his_05.htm)


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6561.0;attach=62407;image)

ในรัชกาลที่ ๖ มีพระบรมราชโองการให้ พระยาวิเชียรปราการ (ฉาย อัมพะเศวต) ไปเป็น พระยาไชยนฤนาท ผู้ว่าราชการเมืองชัยนาท ให้พระกำแพงพลล้าน (ชื้น คชภูมิ) เป็น พระยาวิเชียรปราการ ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชรแทน

ดังนั้น ลำดับที่ ๑๓ ที่ถูกต้องจึงเป็น พระยาวิเชียรปราการ (ชื้น คชภูมิ)

ดังนี้นอย่างน้อยก็มีผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชรที่ใช้ราชทินนามว่า "วิเชียรปราการ" ๒ ท่าน  ;D

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/1027.PDF (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/1027.PDF)


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ส.ค. 16, 15:11
ดังนั้น ลำดับที่ ๑๓ ที่ถูกต้องจึงเป็น พระยาวิเชียรปราการ (ชื้น คชภูมิ)
พระยาวิเชียรปราการ (ชื้น คชภูมิ) และ หนังสือ "เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง" พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ

ภาพจาก http://www.muangklang.com/historyofprawicher/historyprakamhang.html (http://www.muangklang.com/historyofprawicher/historyprakamhang.html)


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 04 ส.ค. 16, 15:16
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูที่กรุณามาเสริมข้อมูลครับ  :)


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 06 ส.ค. 16, 15:12

เข้าใจว่าหลักฐานที่ทำให้เข้าใจกันว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรมาก่อน น่าจะมาจากเอกสาร "สังคีติยวงศ์" งานนิพนธ์ของสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) วัดพระเชตุพน เมื่อครั้งยังมีสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีในภาษามคธว่า "วชิรปากานราชา" ซึ่งแปลตรงตัวว่า “กำแพงเพชร” เลยเป็นไปได้ที่น่าจะทรงเคยเป็นพระยากำแพงเพชร แต่ก็ไม่มีความชัดเจน และมีการสันนิษฐานว่าคำๆ นี้อาจจะเป็นคำเรียกขานพระองค์อย่างยกย่องก็เป็นได้


พอดีผมเขียนจากความจำเลยสะกดผิดไปหน่อย ตามเอกสารสังคีติยวงศ์จริงๆ สะกดว่า "วชิรปาการรัญ์ญา" หรือ "วชิรปาการราชา" ครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 06 ส.ค. 16, 15:16
เจอหลักฐานเพิ่มเติมว่าในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีเจ้าเมืองตากใช้ทินนามว่า "พระยาวิเศษสงคราม" ครับ

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้อธิบายไว้ในหนังสือ 'การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี' ว่า พบร่างท้องตรา พ.ศ.๒๓๒๙ ที่พระยาจักรีส่งถึงพระยากำแพงเพชรให้ยกความดีความชอบของพระยาวิเศษสงครามเจ้าเมืองตาก ได้สู้รบกับพม่าอย่างเข้มแข็ง และได้ผ่อนครอบครัวลงมากรุง ผิดกับเจ้าเมืองอื่นๆ ที่หลบหนีหรือยอมให้พม่ากวาดต้อนไป จึงปูนบำเหน็จยกขึ้นเป็นเจ้าพระยา ตำแหน่งจาววางเมืองตากบ้านระแหงครับ


ซึ่งทินนามนี้ปรากฏว่าได้ใช้เป็นทินนามเจ้ากรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ด้วยครับ


รัชกาลที่ ๑  โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมิตตคามรับราชการทหารเป็นเหล่าทหารอาสาสมัครในกรมท่าช้าง  เรียกว่า  อาสาสมัครโปรตุเกส   เมื่อมีการสั่งปืนใหญ่ชนิดใหม่เข้ามาใช้ในราชการสงครามครั้งนั้น  รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้า ฯ ให้มีการทดลองยิงปืนใหญ่ดังกล่าว ถวายเพื่อทอดพระเนตร  ณ บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา   ชาวมิตตคามเล่าสืบต่อกันมาว่า   รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่เอาผ้าขาวผูกปากตุ่มใบเขื่อง   แล้วปล่อยลอยอยู่กลางลำน้ำ    จากนั้นมีรับสั่งให้ทหารอาสาแขกยิงปืนลองฝีมือก่อน  ๒  นัด  กระสุนพลาดเป้าทั้ง ๒ นัด    แล้วรับสั่งให้ทหารอาสาจีนลองยิงดูบ้าง  ปรากฏว่า  ทหารอาสาจีนยิงถูก ๑ นัด พลาด ๑ นัด     ที่สุดมีรับสั่งให้ทหารอาสาโปรตุเกสลองยิงดูบ้าง  ปรากฏว่า กระสุนตกตรงเป้าหมาย ทั้ง ๒ นัด  แต่รัชกาลที่ ๑ ทรงแคลงพระทัยว่าอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ   จึงมีรับสั่งให้ทหารอาสาโปรตุเกสลองยิงปืนอีกนัดหนึ่ง  ผลประกฏกระสุนตกตรงเป้าหมายอีก   ว่ากันว่าผู้ที่ยิงปืนถูกเป้าหมายครั้งนั้น  เป็นชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส แห่งบ้านมิตตคาม  ชื่อ นายแก้ว  สกุล  ลีเบยโร  ( Libeiro )  จึงมีรับสั่งให้ตามตัวนายแก้วมาเฝ้าฯ  รับสั่งถามความดู  จึงได้ทราบว่า  นายแก้วนี้ไม่ได้ยิงปืนไปตามบุญตามกรรมแต่ได้คำนวณระยะยิงตามสูตรที่ได้ร่ำเรียนสั่งสอนสืบทอดกันมาในหมู่ชาวโปรตุเกส    เมื่อได้ทรงทราบเช่นนี้จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเหล่าทหารอาสาสมัตรโปรตุเกสขึ้นเป็นกองทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่หน้า  และโปรดเกล็ฯ ตั้งนายแก้ว  ลีเบยโร  เป็นที่จางวางเจ้ากรมทหารฝั่งแม่นปืนใหญ่หน้า    มีโรงเก็บปืนใหญ่อยู่ที่บริเวณวังสราญรมย์ในปัจจุบัน    มีหน้าที่ควบคุมเรือพระที่นั่งในกระบวนเสด็จฯ ทางชลมารคทุกครั้ง   กับรักษาพระบรมมหาราชวังในระหว่างที่ในหลวงเสด็จฯ ไปประพาสนอกพระนครด้วย


นอกจากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตำแหน่งหัวหน้าค่ายโปรตุเกส  ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินคดี  ลงโทษผู้กระทำผิดถึงโทษโบย จำ กักขัง และจองจำ   นายแก้ว  ลีเบยโร    ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยซื่อสัตย์สุจริตและกล้าหาญ  จึงได้เลื่อนเป็นที่พระยาวิเศษสงครามรามภักดี   และได้เป็นต้นตระกูลของสกุล  "วิเศษรัตน์"  และ  "วงศ์ภักดี"  และได้มีลูกหลานเหลนรับราชการสืบทอดราชทินนามพระยาวิเศษสงครามรามภักดี นี้ต่อมาตามลำดับดังนี้ คือ  พระยาวิเศษสงครามรามภักดี   (แบน)  พระยาวิเศษสงครามรามภักดี   (นอน)  และพระยาวิเศษสงครามรามภักดี   (แก้ว) (ชั้นเหลน)



กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 09 ส.ค. 16, 09:51

จากข้อมูลที่หลายๆท่านได้ยกมา
ผมมีความเห็นคล้อยตามคุณศรีสรรเพชญ์ ในเรื่องที่ว่า พระยาตากไม่เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร
และไม่เคยดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการครับ

กลับไปดูที่ Turpin เขียนไว้ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๔ ใน History of Siam ฯ
(อ้างฉบับแปลอังกฤษ ค.ศ. 1908 โดย Cartwright)

    The Siamese, although united by desire of revenge,
were split into factions for the leadership.
    The eyes of the nation were fixed upon Phya Tak, a Siamese officer,
born of a Chinese mother. A politician and  a warrior, he paved his way
to power by affecting its disdain. He was elected to the leadership by
the unanimous voice of the whole nation. At first he took the unpretentious
title of "Defender of the Nation",  and,  disguising
his ambitions under the cloak of moderation, he wished to appear merely
as a citizen in order to be King in reality.

อาจเป็นไปได้ว่า Defender of the Nation คือ วชิรปราการราชา ครับ



กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ส.ค. 16, 14:27
อาจเป็นไปได้ว่า Defender of the Nation คือ วชิรปราการราชา ครับ

คนไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยเรียกเห็นดินแดนหรือประเทศของตนว่า "เมืองเพชร" เคยเห็นแต่เรียกว่า "เมืองทอง" ดังชื่อ "เมืองอู่ทอง" และ "สุวรรณภูมิ"  ส่วนชื่อ "เมืองเพชร" เห็นแต่ชื่อจังหวัดซึ่งมักใช้เรียกกันในชั้นหลังเช่น กำแพงเพชร เพชรบุรี เพชรบูรณ์


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ส.ค. 16, 23:13
เอกสารระหว่างหลี่ซื่อเหยาที่เป็นอุปราชเหลียงกว่าง (กว่างตง-กว่างซี) กับราชสำนักจีน ในช่วงต้นๆ ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นครองราชย์และจีนยังไม่ยอมรับพระองค์ แทนพระนามพระองค์ว่า 甘恩敕

คำว่า 甘恩敕 นี้ออกเสียงจีนกลางว่า กานเอินชื่อ แต้จิ๋วจะเป็น กำเอ็งเถ็ก แปลว่าอะไรนั้นแปลไม่ถูกครับ มันฟังไม่ได้ความหมายในภาษาจีน ดังนั้นน่าสงสัยอย่างยิ่งว่าคำๆนี้ หรือบางส่วนของคำนี้เป็นคำทับศัพท์ภาษาไทย

เพื่อจะให้หายข้องใจว่าผมอาจจะสรุปมั่วเอง ผมจะแปลทีละตัวอักษรดังนี้ครับ
甘 - หวานชุ่มคอ
恩 - กรุณา
敕 - พระบรมราชโองการ

ไม่มีวี่แววว่าจะเป็นชื่อบุคคลได้ แต่น่าสนใจว่ากำแพงเพชรมีชื่อจีนว่า 甘烹碧 จีนกลางว่า กานเพิงปี้ แต้จิ๋วว่า กำเผ่งเผ็ก เห็นได้ชัดว่าชื่อนี้มาจากจีนแต้จิ๋ว

แต่โดยส่วนตัวผมเห็นว่า 甘恩 แต้จิ๋วว่า กำเอ็ง มาจาก กำแพงครับ เผลอๆ 甘恩敕(กำเอ็งเถ็ก) จะเพี้ยนมาจาก 甘烹碧(กำเผ่งเผ็ก) ก็เป็นไปได้สูง ข่าวสารที่หลี่ซื่อเหยาได้นั้น น่าจะผ่านมาจากพุทไธมาศ จีนที่นั่นไม่รู้จักไทยดี ฟังไม่ได้ศัพท์ พอจดบันทึกเป็นตัวอักษรก็เขียนตามที่เข้าใจอย่างนี้เอง

สอดคล้องกับข้อมูลอื่นว่าพระเจ้าตากได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่คงไม่มีโอกาสได้ไปกินเมือง ส่วนราชทินนามพระยาวชิรปราการจะมีจริงหรือเปล่านั้นไม่ทราบครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 ส.ค. 16, 09:28

วิเคราะห์ตามแนวคุณหมอเพ็ญก่อนนะครับ

เมืองเพชร ระยะหลังมีแต่เพชรบุรีเท่านั้น แต่ ไม่ใช่กำแพงเพชร หรือเพชรบูรณ์
สมมุติว่าวชิรปราการแปลว่าผู้ป้องกันเมืองเพชร ( ไม่ใช่ผู้ป้องกันเมืองวิเชียรบุรี  :) )
เมื่อพระยาเพชรบุรีตายในที่รบและพระยาตากรอดกลับมาได้ ตำแหน่งเจ้าเมืองเพชรบุรีว่างลง
จึงมีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเมืองเพชร และเป็นที่มาของวชิรปราการ 
สมมติฐานนี้ต้องใช้จิตนาการมากเกินไปน่าจะตัดออกได้

เมืองกำแพงเพชร นั้น ชื่อเล่นน่าจะชื่อเมืองกำแพง ไม่ใช่เมืองเพชร
และวชิรปราการไม่น่าจะแปลว่ากำแพงเพชรครับ
อาจจะมีความหมายประมาณผู้ปกป้องที่แข็งแกร่งมากกว่า

ส่วนข้อเสนอของคุณ CrazyHOrse นั้นน่าสนใจมากครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ส.ค. 16, 10:34

เมืองเพชร ระยะหลังมีแต่เพชรบุรีเท่านั้น แต่ ไม่ใช่กำแพงเพชร หรือเพชรบูรณ์

ที่ยกตัวอย่างมา มิได้หวังจะแปลตามตัวอักษร กำแพงเพชร แน่นอนคือ เมืองที่มีกำแพงเป็นเพชร, เพชรบูรณ์ คือเมืองที่อุดมไปด้วยเพชร ความหมายโดยนัยก็คือ "เมืองเพชร" นั่นแล


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 10 ส.ค. 16, 14:40
บทวิเคราะห์เรื่องพระนาม "กันเอินชื่อ" ของพระเจ้ากรุงธนบุรี เคยมีผู้แย้งครับว่าไม่สอดคล้องกับชื่อเมืองกำแพงเพชรที่เรียกกันในภาษาจีนในเวลานั้นครับ

แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่ว่าข้อมูลที่หมักเทียนตื๊อหรือพระยาราชาเศรษฐีส่งไปที่จีน เป็นข้อมูลที่ฟังมาจากผู้อื่นอีกต่อหนึ่งเลยคลาดเคลื่อนไปได้ ซึ่งเรื่องบทวิเคราะห์ของพระนามเดี๋ยวผมจะนำมาลงให้ครับ


ส่วนเรื่องคำว่าวชิรปราการ จริงๆ ผมก็ยังไม่ทราบได้ว่าจะถอดความเป็นอะไรนอกจาก "กำแพงเพชร" เพราะจะปรากฏในเอกสารโบราณหลายชิ้นกล่าวถึงเมืองกำแพงเพชรในภาษามคธว่า "วชิรปาการ"

ซึ่งค่อนข้างจะสอดรับกับพงศาวดารสมัยหลังที่ระบุว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเคยเป็น "พระยากำแพงเพชร" (ไม่ใช่ "พระยาวชิรปราการ") แต่นอกจากพงศาวดารกับหนังสือแต่งสมัยนั้นก็ดูไม่สอดคล้องกับหลักฐานอื่นเท่าไหร่


เดี๋ยวจะขอมาอธิบายอีกทีครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 13 ส.ค. 16, 19:57
พอศึกษาเพิ่มเติม ผมเลยเปลี่ยนความคิดเล็กน้อยเรื่องที่ว่าพระยาตากไม่เคยเป็นพระยากำแพงเพชรครับ


แม้ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์จะสันนิษฐานว่าคำว่า"วชิรปาการราชา" ไม่ได้บ่งชี้ว่าพระยาตากจะได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่เท่าที่ดูจากหลักฐานหลายชิ้นแล้วพบว่าต่างก็สื่อถึงเมืองกำแพงเพชร ยังไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีความหมายอื่นครับ

ตั้งแต่เอกสารภาษามคธของล้านนาอย่าง "ชินกาลมาลีปกรณ์" ที่แต่งโดยพระรัตนปัญญาใน พ.ศ.๒๐๗๑ กับ "ตำนานพระพุทธสิหิงค์" ที่แต่งโดยพระโพธิรังษีในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ต่างก็เรียกเมืองกำแพงเพชรว่า "วชิรปราการ" หรือ "วชิรปาการนคร"

และก็ปรากฏในสังคีติยวงศ์กับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาภาษามคธที่แต่งโดยสมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพน เมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเคยกล่าวไปแล้วว่าเรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า "วชิรปาการราชา"  "วชิรปาการรญฺญา" หรือ "วชิรปาการรญฺโญ"

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธเองก็ได้นำเนื้อหาพระราชพงศาวดารไทยมาแต่งเป็นภาษามคธ ในส่วนเมืองประเทศราช ๑๖ เมืองสมัยพระเจ้าอู่ทองซึ่งมีเมืองกำแพงเพชรอยู่ด้วย ก็เรียกเมืองนี้ว่า "วชิรปาการนครญฺจ"

เทียบกับเจ้าชุมนุมต่างๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกับพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างเจ้าพิษณุโลก เจ้านครศรีธรรมราช เจ้าพิมาย ในสังคีติยวงศ์ก็เรียกว่า "วิสฺสณุโลกราชา นครสิริธมฺมราชา นครราชสีมาราชา" ตามชื่อเมืองที่ครองอยู่ ซึ่งถ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรจริงก็ออกจะไม่มีเหตุผลที่จะเรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยนาม "วชิรปาการราชา" ซึ่งดูจากเอกสารของผู้แต่งคนเดียวกันก็ระบุชัดเจนว่าคำๆ นี้คือเมืองกำแพงเพชร


จึงไม่น่าสงสัยว่าคำๆ นี้น่าจะสื่อถึงเมืองกำแพงเพชร



สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ซึ่งบานแพนกระบุว่าชำระโดยสมเด็จพระพนรัตน์และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสซึ่งเป็นศิษย์

"ศุภมัศดุ จุลศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะสัพศกพระบาทสมเดจ์พระบรมธรรมฤกมหาราชาธิราชรามาธิบดีบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้เสดจ์ดำรงพิภพมไหยศวรรยาธิปัติ์ ถวัลราช ณะ กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกษินท์ มหินทรอยุทธยา เถลีงพระธินั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระเรื่องพระราชพงศาวดาร แล้วสมเดจ์พระวันรัตน วัดพระเชตุพนผู้เปนอุปัชฌาจาริย์ กับพระเจ้าลูกเธอ ทรงพระนามสมเดจ์พระปรมานุชิตชิโนรสศรีสุคตขัติยวงษ์ผู้เปนศิษได้ชำระสอบเรื่อง ต้น ปลาย แลเรียบเรียงสืบต่อมา ครั้งหลัง จนถึงแผ่นดินกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งใหม่"

ซึ่งเป็นพงศาวดารฉบับแรกที่ระบุว่าพระยาตากได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชรในเดือน ๑๒ ก่อนจะเสียกรุง  

"ครั้งถึง ณะ เดือน ๑๒ น่าน้ำ  จึ่งทรงพระกรรุณาโปรดให้พญาตากเลื่อนที่เปนพญากำแพงเพช แล้วตั้งให้เปนนายกองทับเรือ..."


ตอนที่ อ.นิธิ เขียนหนังสือเรื่องการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พงศาวดารฉบับนี้ยังไม่เคยตีพิมพ์ มีแต่พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเนื้อความแทบไม่ได้ต่างกับฉบับนี้เลย แต่เพราะในตอนนั้นไม่เคยพบฉบับที่เก่ากว่า เมื่อมาเห็นพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่มีความละเอียดมากกว่าฉบับอื่นทำให้นักวิชาการไม่ค่อยเชื่อถือ เพราะว่าเป็นพงศาวดารชำระสมัยหลังมากแต่กลับมีความละเอียดพิศดารเพิ่มมาจากฉบับอื่น เลยคิดกันว่าเป็นความแต่งเติมในสมัยรัชกาลที่ ๔

อ.นิธิจึงไม่ค่อยเชื่อถือเรื่องที่พระยาตากได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชรที่มีปรากฏแต่ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ตามความเข้าใจของท่าน) และสันนิษฐานว่าผู้ชำระพงศาวดารซึ่งเป็นคนชั้นหลังตีความจากคำว่า "วชิรปาการราชา" ของสมเด็จพระพนรัตน์เอาเองว่าพระยาตากได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร


แต่ตอนนี้ก็พบแล้วว่าความละเอียดหลายตอน รวมถึงเรื่องพระยากำแพงเพชรมีในพงศาวดารมีมาตั้งแต่สมัยที่ชำระโดยสมเด็จพระพนรัตน์และกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งน่าจะชำระตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ แล้วครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 13 ส.ค. 16, 20:05
จึงต้องมาลองพิจารณาที่ตัวผู้แต่งคือสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน


ตามประวัติแล้วสมเด็จพระพนรัตน์เกิดในสมัยอยุทธยา ในสมัยธนบุรีมีสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระพิมลธรรมครองวัดโพธาราม ปลายรัชกาลถูกพระเจ้ากรุงธนบุรีเฆี่ยนแล้วถอดจากสมณศักดิ์เพราะว่าเป็นหนึ่งในพระราชาคณะที่ทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าพระภิกษุไม่ควรกราบไหว้คฤหัสถ์ที่บรรลุโสดาบัน จนในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดให้กลับมาดำรงสมณศักดิ์เดิม และได้เลื่อนเป็นสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในเวลาต่อมา

สมเด็จพระพนรัตน์เป็นผู้มีความรู้เป็นที่นับถือของรัชกาลที่ ๑ อย่างมาก จนได้รับความไว้วางพระทัยให้เป็นพระอุปัชฌาย์ของกรมสมเด็จพระปรามานุชิตชิโนรส และท่านก็มีผลงานประพันธ์จำนวนมากทั้งวรรณกรรมทางศาสนาและการชำระพงศาวดาร ซึ่งพบว่าเนื้อหาหลายตอนมีความเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๑ อยู่มาก


พิจารณาแล้ว ในกรณีที่สมเด็จพระพนรัตน์เป็นผู้ชำระความในพงศาวดารตอนพระยาตากได้เป็นพระยากำแพงเพชร ก็น่าจะเป็นไปได้ว่าจะเป็นจริง

(ที่บอกว่า 'ถ้า' เพราะผู้ชำระมีสองท่าน และเข้าใจว่าไม่ได้ชำระพร้อมกันเพราะกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสผนวชแค่ ๓ ปี สมเด็จพระพนรัตน์ก็มรณภาพ จึงเข้าใจว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสน่าจะทรงชำระเรียบเรียงพงศาวดารต่อจากสมเด็จพระพนรัตน์จนจบ จนปรากฏในบานแพนกของพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวถึงพงศาวดารฉบับนี้ว่า "จดหมายเหตุพระราชพงษาวดาร ซึ่งพระไอยกาเธอกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรศ ศรีสุคตขัติยวงษ์ทรงเรียบเรียงไว้")

เพราะว่าสมเด็จพระพนรัตน์มีชีวิตร่วมสมัยอยู่กับพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่ใช่บุคคลสมัยหลัง ถ้าจะทราบว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเคยเป็นพระยากำแพงเพชรก็ไม่น่าจะแปลกประหลาด นอกจากนี้พระราชพงศาวดารเองถึงกับสามารถระบุเดือนที่พระยาตากได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชรได้ ส่วนตัวคิดว่าแม้ว่าพงศาวดารจะมีการเพิ่มเติมข้อความเพื่อตอบสนองบริบททางการเมืองอยู่หลายครั้ง แต่กรณีนี้ไม่น่าเป็นการต่อเติมตามอำเภอใจครับ


นอกจากนี้ ถ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่เคยเป็นพระยากำแพงเพชร ก็ดูไม่มีเหตุผลที่สมเด็จพระพนรัตน์จะกล่าวว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเป็นพระยากำแพงเพชร และสมเด็จพระพนรัตน์เองก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อเสริมฐานะพระเจ้ากรุงธนบุรีตอนก่อนขึ้นครองราชย์ดูดีขึ้น เมื่อเทียบกับเนื้อหาในพงศาวดารฉบับนี้ที่เขียนประณามการปกครองของพระเจ้ากรุงธนบุรีในปลายรัชกาลเป็นอย่างมาก และสมเด็จพระพนรัตน์เองก็ถูกถอดจากสมณศักดิ์เพราะพระเจ้ากรุงธนบุรี



ถ้าผู้ชำระความส่วนนี้เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นศิษย์ของสมเด็จพระพนรัตน์ แม้ว่าจะทรงเป็นคนชั้นหลัง แต่ก็น่าจะรับรู้เรื่องราวต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์พอสมควร และก็ไม่น่าจะทรงแต่งเติมเนื้อหาส่วนนี้เอาเองตามพระทัยเช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีการกล่าวว่าอาจจะทรงได้อิทธิพลจากสังคีติยวงศ์ของสมเด็จพระพนรัตน์ที่เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า "วชิรปาการราชา" มาชำระพงศาวดาร แต่ไม่น่าจะทรงถึงขั้นแต่งเดือนที่พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เป็นพระยากำแพงเพชรตามอำเภอพระทัยได้ครับ

ยิ่งทรงครองเพศเป็นสมณะได้เป็นถึงที่สมเด็จพระสังฆราช และโดยวิสัยยังทรงเป็นปราชญ์ที่พระบรมวงศ์ทั้งหลายต่างเคารพนับถือ ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะทรงแต่งเรื่องขึ้นเองครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 13 ส.ค. 16, 20:33
เรื่องพระนาม "กันเอินชื่อ (甘恩敕)" ของพระเจ้ากรุงธนบุรีในภาษาจีน  ต้วน ลี่ เซิง นักประวัติศาสตร์ชาวจีนสันนิษฐานว่าทับศัพท์มาจากกำแพงเพชร ตามที่คุณ CrazyHOrse กล่าวไว้ครับ

ซึ่งถ้าดูจากสำเนียงแต่จิ๋วคือ "กำเอ็งเถ็ก" อย่างที่กล่าวไว้ก็เป็นไปได้ครับ  แต่คำว่ากำแพงเพชรในภาษาจีนในสมัยนั้น ไม่ใช่คำว่า 甘烹碧 หรือสำเนียงแต้จิ๋วว่า "กำเผ่งเผ็ก" ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในปัจจุบันครับ


ต้วน ลี่ เซิง อธิบายว่า คนจีนในสมัยอยุทธยา (ไม่ทราบว่าอ้างอิงจากหลักฐานใดบ้าง) เรียกเมืองกำแพงเพชรว่า "กันเฉิง" หรือในสำเนียงแต้จิ๋วว่า "กำเซี้ย"


อ.นิธิไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะใน "จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ" ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดยหลวงเจนจีนอักษร  ในส่วน "พรรณาว่าด้วยกรุงสยาม" ซึ่งเรียบเรียงมาจากหนังสือหวงเฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้า ซึ่งเรียบเรียงในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งต้าชิง ได้เรียกเมืองกำแพงเพชรตามสำเนียงแต่จิ๋วว่า "โกวผินพี้"


แต่ส่วนตัวสันนิษฐานว่าเนื้อหาในจดหมายเหตุจีนส่วนนี้แม้เรียบเรียงในสมัยราชวงศ์ชิง แต่ก็เรียบเรียงจากเอกสารหลายสมัย เพราะบรรยายว่าชายอยุทธยาไว้ผมยาวเกล้ามวย ซึ่งน่าจะเป็นสมัยอยุทธยาตอนต้นเท่านั้น เป็นไปได้ว่าทางจีนเองอาจจะมีการเรียกหัวเมืองเพี้ยนไปตามยุคสมัย บางสมัยอาจเรียกว่า "โกวผินพี้" บางสมัยอาจเรียกว่า "กำเซี้ย"


ส่วนที่เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า "กำเอ็งเถ็ก" มีความเป็นไปได้สูงจีนที่จะเพี้ยนมาจาก "กำแพงเพชร" จากการฟังภาษาไทยที่ใช้เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยตรง ไม่ได้เรียกตามชื่อเมืองกำแพงเพชรที่คนจีนตอนนั้นอาจจะเรียกด้วยชื่ออื่น และอาจจะมีการเรียกเพี้ยนไปบ้างโดยผู้ที่ให้ข้อมูลกับหมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองพุทไธมาศ ก่อนจะส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังต้าชิง ตามที่คุณ CrazyHOrse สันนิษฐานครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 13 ส.ค. 16, 21:00
จากหลักฐานที่ยกมาก็น่าเชื่อว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเป็นพระยากำแพงเพชร แต่ก็ยังดูขัดแย้งกับหลักฐานอื่นๆ อีกมากที่ต่างก็เรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อพ้นแผ่นดินไปแล้วว่า "เจ้าตาก" "เจ้าตากสิน" "พระยาตากสิน" "ขุนหลวงตาก" ทำให้หลายคนไม่เชื่อว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเป็นพระยากำแพงเพชรจริง

แม้แต่ในพงศาวดารที่ระบุว่าพระองค์ได้เป็นพระยากำแพงเพชร ยังกล่าวว่าเมื่อพระยากำแพงเพชรตั้งตนเป็นเจ้า คนก็เรียกขานพระองค์ว่า "จ้าวตาก" ซึ่งก็ดูประหลาดอยู่


ถ้าจะให้ลองสันนิษฐานว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ดูจากพงศาวดารแล้วระบุว่าพระยาตากได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชรในเดือน ๑๒ ต่อมาในเดือนยี่ ก็หนีออกจากกรุงไปทางตะวันออก โดยสรุปก็คือได้เป็นอยู่ประมาณ ๒-๓ เดือน


อาจเป็นไปได้ว่าด้วยช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ผู้ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับแวดวงราชสำนักโดยเฉพาะหัวเมืองห่างไกลอาจจะรู้จักพระยาตากในฐานะแม่ทัพที่ป้องกันพระนคร แต่อาจไม่ทราบได้ว่าพระยาตากได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชร หรือไม่ก็เพราะพระยาตากเป็นแม่ทัพคนสำคัญอยู่แล้ว ถ้าเปลี่ยนไปเรียกพระยากำแพงเพชรอาจจะทำให้เกิดความสับสนในการบัญชาการศึกเลยเรียกกันว่าพระยาตากอยู่ตามเดิม ไม่ก็ยังไม่ได้เป็นพระยากำแพงเพชรเต็มตำแหน่ง ยังไม่ได้ออกไปครองเมือง อาจได้เพียงว่าที่เจ้าเมืองกำแพงเพชรเท่านั้น เลยยังคงเรียกพระยาตากอยู่


ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นการเดาเท่านั้น ไม่มีหลักฐานอะไรครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 ส.ค. 16, 12:29

ผมยังไม่เปลี่ยนความเชื่อตามคุณศรีฯ นะครับ
เรื่องวชิรปราการราชายังขัดกับข้อมูลหลายๆอย่าง 8)


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ส.ค. 16, 13:22
กำเซี้ยเป็นเสียงแต้จิ๋ว คือ 甘城 เซี้ยแปลว่านคร มีอีกความหมายหนึ่งคือกำแพงเมือง โดยนัยแล้ว เซี้ย เป็นเมืองที่มีกำแพงเมืองล้อมรอบ จีนกลางอ่านเฉิง ผมเข้าใจว่าเป็นรากศัพท์เดียวกับ เชียง ของล้านนา ล้านช้าง และไทยใหญ่

กำเซี้ย จึงแปลได้ว่า นครกำ (ขอไม่แปล กำ เพราะเห็นว่าทับศัพท์แน่ๆ ดังได้กล่าวไว้ใน คคห. ก่อนหน้านี้ครับ) ซึ่งผมไม่เห็นว่าเป็นคนละชื่อกับ กำเผ่งเผ็ก แต่อย่างใด และน่าจะรวมไปกับโกวผินพี้ (ไม่รู้ถอดเสียงมาอย่างไร เพราะไม่เห็นต้นฉบับจีน แต่ผมคิดว่าน่าจะเพี้ยนไม่น้อย ด้วยเงื่อนไขปัจจัยหลายๆ อย่างครับ)

ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ล้วนแล้วแต่เป็นชื่ออันเนื่องมาจากการทับศัพท์ชื่อ กำแพงเพชร ที่คนไทยเรียกกันมานานนะครับ

ถ้าพระเจ้าตากไม่เคยได้เป็นพระยากำแพงเพชร (หรือเป็นว่าที่เจ้าเมืองกำแพงเพชร) ผมว่ามันต้องเป็นเรื่องประหลาดมากๆ ที่เอกสารจีนร่วมสมัยในปี พ.ศ.2311 เรียกพระองค์ว่ากำเอ็งเถ็กครับ ต้องหาเหตุผลที่ดีมาอธิบายเรื่องนี้ให้ได้ครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 16, 10:57
ในหนังสือ จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม เขียนโดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร กล่าวถึง เมืองตาก และกำแพงเพชรไว้ดังนี้

เมืองอื่น ๆ บนเส้นแม่น้ำ (เจ้าพระยา)

ตำบลสำคัญ ๆ ที่แม่น้ำสายไหลผ่าน คือ แม่ตาก (Mê-Tac) อันเป็นเมืองเอกของราชอาณาจักรสยามที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือหนพายัพ ถัดจากนั้นต่อมาก็ถึงเมือง เทียนทอง (Tian-Tong หรือ เชียงทอง) กำแพงเพชร หรือ กำแพง เฉย ๆ ซึ่งลางคนออกเสียงว่า กำแปง (Campingue)  แล้วก็ถึงเมืองนครสวรรค์ เขียนว่า (Lacondevan), ชัยนาท (Tchaĭnat) สยาม, ตลาดขวัญ, ตลาดแก้ว (Talaqu'ou) และบางกอก....

เมือง แม่ตาก นั้นกล่าวกันว่า เป็นเมืองที่มีเจ้าสืบวงศ์ครอบครอง ขึ้นต่อพระเจ้ากรุงสยาม เรียกชื่อเจ้าผู้ครองว่า พญาตาก (Pa-yà tac) อันหมายความว่า เจ้าแห่ง (เมือง) ตาก. เมือง เทียนทอง นั้นร้างไปแล้วคงจะเนื่องจากสงครามเก่าแก่กับพะโค. เมือง กำแพง นั้นเป็นที่รู้กันว่ามีเหมืองเหล็กกล้าอันเป็นเหล็กเนื้อดีวิเศษ.


ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส (https://books.google.co.th/books?id=wbQUAAAAQAAJ&pg=PA20&hl=th&source=gbs_toc_r&cad=3#v=onepage&q&f=false) หน้า ๘-๙


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 15 ส.ค. 16, 11:35
เอ่ อาจารย์ครับ ผมจำได้ว่า พญาจ่าบ้าน เจ้าเมืองเชียงใหม่ ก็เคยได้รับแต่งตั้งเป็น พระยาวชิรปราการ อีกท่านหนึ่งด้วย ใช่ไหมครับ 


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ส.ค. 16, 12:13
ทินนาม "วชิรปราการ" หรือ "วิเชียรปราการ" เคยใช้ในสมัยธนบุรี แต่ก็เป็นทินนามของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่เจ้าเมืองกำแพงเพชร ปรากฏหลักฐานว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งพญาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๙ ซึ่งปรากฏชื่อในจารึกวัดพระธาตุศรีจอมทองว่า “พฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺก” ครับ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้ากาวิละแห่งลำปางก็ได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ในยศพระยาวชิรปราการเช่นเดียวกัน


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 16 ส.ค. 16, 11:13
ขออภิปรายประเด็นนี้ครับ


ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธเองก็ได้นำเนื้อหาพระราชพงศาวดารไทยมาแต่งเป็นภาษามคธ ในส่วนเมืองประเทศราช ๑๖ เมืองสมัยพระเจ้าอู่ทองซึ่งมีเมืองกำแพงเพชรอยู่ด้วย ก็เรียกเมืองนี้ว่า "วชิรปาการนครญฺจ"

เทียบกับเจ้าชุมนุมต่างๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกับพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างเจ้าพิษณุโลก เจ้านครศรีธรรมราช เจ้าพิมาย ในสังคีติยวงศ์ก็เรียกว่า "วิสฺสณุโลกราชา นครสิริธมฺมราชา นครราชสีมาราชา" ตามชื่อเมืองที่ครองอยู่ ซึ่งถ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรจริงก็ออกจะไม่มีเหตุผลที่จะเรียกพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยนาม "วชิรปาการราชา" ซึ่งดูจากเอกสารของผู้แต่งคนเดียวกันก็ระบุชัดเจนว่าคำๆ นี้คือเมืองกำแพงเพชร
 

ในเวลาที่พระเจ้าตากได้เริ่มทำการ re-unification สยามนั้น
วิสฺสณุโลกราชา กลายเป็นเจ้าฝาง ศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองฝาง ไม่ใช่เมืองพิษณุโลก
นครราชสีมาราชา กลายเป็นเจ้าพิมาย ศูนย์อำนาจอยู่ที่พิมาย ไม่ใช่เมืองโคราช
วชิรปาการราชา คือเจ้าตาก ตั้งมั่นอยู่ที่ธนบุรี
เหลือแต่ นครสิริธมฺมราชา ที่ยังอยู่ที่เมืองนคร

อนึ่ง ตามพงศาวดาร นครราชสีมาราชา
ไม่ใช่ พระยากำแหงสงคราม หรือ พระยานครราชสีมาอย่างแน่นอน
เพราะโดนวางแผนลอบทำร้ายเสียชีวิตในงานทำบุญตั้งแต่กรุงยังไม่แตก

ดังนั้นประเด็นนี้จึงไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงได้ว่า วชิรปราการราชาคือ พระยากำแพงเพชรแต่อย่างใดครับ
นอกจากจะเหมารวมว่าชุมนุมในอาณาเขตของเมืองใหญ่ให้ใช้ชื่อเมืองใหญ่นั้นแทน

ฝางคือพิษณุโลก พิมายคือนครราชสีมา และ ตากคือกำแพงเพชร ?

ในเอกสารร่วมสมัยของทางฝรั่งเศส ก็เรียก Paya Tak
หรือในเอกสารคำให้การฯ ก็เรียก พระยาตาก

ส่วนในประเด็นที่ว่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยากำแพงเพชร คุมกองเรือ ในเดือนสิบสองน้ำนองตลิ่งนั้น
ค่อนข้างขัดกับเอกสารอื่นครับ
ในศึกท้ายๆก่อนตีฝ่าออกจากกรุง พระยาตากสนับสนุนการรบของพระยาเพชรบุรีซึ่งคุมกองเรือ
ตอนนั้นยังเป็นพระยาตาก และไม่น่าจะได้เลื่อนตำแหน่งเพราะผลการรบไม่ได้รับชัยชนะ
และในเวลานั้น เมืองกำแพงเพชรไม่ได้อยู่ใต้อำนาจการควบคุมของสยามแล้ว
จึงเป็นเรื่องแปลกที่จะตั้ง ให้พระยาตากเป็นเจ้าเมืองที่พม่ายึดไว้แล้วและถือเป็นการให้ความดีความชอบ

ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าผู้แต่งพงศาวดารจะแต่งเรื่องขึ้นเองตามใจชอบครับ
ต้องมีมูลเหตุหลักฐานจูงใจมากกว่านั้น






กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ส.ค. 16, 12:28
เรื่องตั้งพระยาตากเป็นพระยากำแพงเพชรที่โดนพม่ายึดไปแล้ว ถ้าจะพยายามตีความก็คือ รบให้ชนะพม่าสิครับ แล้วท่านจะได้ครองกำแพงเพชรเป็นบำเหน็จ

เรื่องนี้โยงมาถึงเรื่องตั้งพญาจ่าบ้านเป็นพฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺก ตั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้ชื่อเป็นกำแพงเพชร? น่าคิดว่าก่อนหน้านั้นเชียงใหม่อยู่ใต้พม่ามานาน กำแพงเพชรจึงกลายเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในเส้นทางแม่น้ำปิง (ไม่นับเมืองตากที่เป็นเมืองชัยภูมิสำคัญ แต่มีที่ราบขนาดเล็กเลี้ยงคนได้จำกัด) การตั้งพฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺกจึงฟังดูคล้ายๆกับว่าเอาชื่อกำแพงเพชรไปใส่ที่เชียงใหม่แทน

แต่พงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศก็เล่าเรื่องการตั้งพระยาสุรบดินทร์เป็นพระยากำแพงเพชรไว้ด้วย (พ.ศ. 2313) และเอ่ยถึงอีกครั้งในปี 2319 ในนามพระยาสุรบดินทร์เจ้าเมืองกำแพงเพชร ส่วนเหตุการณ์ตั้งพญาจ่าบ้านในปี 2317 ใส่ชื่อไว้เป็นพระยาวิเชียรบุรี (ไม่มีกำแพงเพชร)

งงครับ

ส่วนเรื่องที่คุณ Koratian ว่า การตั้งให้เป็นพระยากำแพงเพชรคุมกองเรือ ผมว่าไม่ขัดนะครับ ถ้ามีการตั้งพระยาตากเป็นพระยาเพชรบุรีจริง คนจะเรียกชื่อตามเมืองที่เคยครองจริง หรือเมืองที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งก็ไม่แปลก  แต่ถ้าไม่เคยได้เป็นพระยากำแพงเพชร อันนี้ขัดกับความเรื่องตั้งพระยากำแพงเพชรในพงศาวดาร และขัดกับหลักฐานจีน (ซึ่งเป็นหลักฐานชั้นต้น) ด้วยครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 16 ส.ค. 16, 13:28

ในเวลาที่พระเจ้าตากได้เริ่มทำการ re-unification สยามนั้น
วิสฺสณุโลกราชา กลายเป็นเจ้าฝาง ศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองฝาง ไม่ใช่เมืองพิษณุโลก
นครราชสีมาราชา กลายเป็นเจ้าพิมาย ศูนย์อำนาจอยู่ที่พิมาย ไม่ใช่เมืองโคราช
วชิรปาการราชา คือเจ้าตาก ตั้งมั่นอยู่ที่ธนบุรี
เหลือแต่ นครสิริธมฺมราชา ที่ยังอยู่ที่เมืองนคร

อนึ่ง ตามพงศาวดาร นครราชสีมาราชา
ไม่ใช่ พระยากำแหงสงคราม หรือ พระยานครราชสีมาอย่างแน่นอน
เพราะโดนวางแผนลอบทำร้ายเสียชีวิตในงานทำบุญตั้งแต่กรุงยังไม่แตก

ดังนั้นประเด็นนี้จึงไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงได้ว่า วชิรปราการราชาคือ พระยากำแพงเพชรแต่อย่างใดครับ
นอกจากจะเหมารวมว่าชุมนุมในอาณาเขตของเมืองใหญ่ให้ใช้ชื่อเมืองใหญ่นั้นแทน

ฝางคือพิษณุโลก พิมายคือนครราชสีมา และ ตากคือกำแพงเพชร ?


เรื่องช่วงเวลาสำหรับเอกสารนี้คงเอาแน่นอนไม่ได้ครับ เพราะไม่ได้เจาะจงชัดเจน เพียงแต่อธิบายกว้างๆ เท่านั้น ซึ่งก็น่าเชื่อว่าชุมนุมเหล่านี้ได้แยกตนเป็นอิสระตั้งแต่กรุงยังไม่เสียให้พม่าแล้วครับ


"วิสฺสุณโลกราชา" หมายถึงเจ้าพระพิษณุโลกแน่นอนครับ ไม่ใช่เจ้าพระฝาง เพราะสังคีติยวงศ์ยังกล่าวต่อไปว่าชนทั้งหลายในเมืองพิษณุโลกได้ยกเป็นกษัตริย์ และได้รบกับ "วรสฺวางคภิกฺขุนา" ซึ่งก็คือพระภิกษุจากเมืองสวางคบุรีหรือเจ้าพระฝางถึงสามครั้งไม่แพ้ชนะ จนกระทั่งวิสฺสุณโลกราชาถึงแก่กาลกิริยาไปเอง สอดคล้องกับพระราชพงศาวดาร

"นครราชสีมาราชา" ก็หมายถึงพระยานครราชสีมาอย่างแน่นอน เพราะสังคีติยวงศ์กล่าวต่อไปว่านครราชสีมาราชาถูกมหาชนฆ่าตาย แล้วยกพระราชบุตรของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยานามว่า "เทพฺพิวิจนาเมน" ซึ่งก็คือกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นกษัตริย์ สอดคล้องกับพงศาวดารที่ระบุว่ากรมหมื่นเทพพิพิธลอบฆ่าพระยานครราชสีมาแล้วยึดเมืองได้  แต่สังคีติยวงศ์ไม่ได้กล่าวเรื่องหลวงแพ่งน้องพระยานครราชสีมามายึดเมืองคืนแล้วให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่พิมายซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้น แต่ข้ามไปตอนพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพมาตีเมืองนครราชสีมาเลย

ส่วนเรื่องสถานที่ว่าว่าศูนย์กลางไปอยู่พิมายนั้น สังคีติยวงศ์ได้เหมารวมไว้กับนครราชสีมาอย่างที่กล่าวมาครับ ดังที่ยังกล่าวว่ากรมหมื่นเทพพิพิธ "ได้สำนักอยู่ในเมืองนครราชสีมาบุรนั้น"


ดังนั้นชื่อเหล่านี้จึงบ่งบอกถึงเจ้าเมืองอย่างไม่น่าสงสัยครับ

ดังนั้นเมื่อวิสฺสุณโลกราชาคือเจ้าพระยาพิษณุโลก นครสิริธมฺมราชาคือเจ้านครศรีธรรมราช (เดิมเป็นพระปลัด แต่ได้ว่าราชการเมืองนครอยู่ก่อน) นครราชสีมาราชาคือพระยานครราชสีมา ความเป็นไปได้มากที่สุดของวชิรปาการราชาก็ควรจะเป็นพระยากำแพงเพชรอย่างในพงศาวดารครับ

ส่วนเรื่องเมืองศูนย์กลางของชุมนุมไม่น่าจะเกี่ยวกับชื่อเรียกโดยตรง อย่างที่สังคีติยวงศ์ไม่เคยเรียกกรมหมื่นเทพพิพิธว่า "นครราชสีมาราชา" หรือ "วิมายราชา" และสังคีติยวงศ์ก็กล่าวถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า "ธนปุเร วสนฺเตน วชิรปาการรญฺโญ" หรือ "พระราชาวชิรปาการราชดำรงอยู่ในเมืองธนปุร" ซึ่งเข้าใจว่าความหมายจริงๆ น่าจะเป็น "พระยากำแพงเพชรได้ครองเมืองธนบุรี" ครับ





ส่วนในประเด็นที่ว่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยากำแพงเพชร คุมกองเรือ ในเดือนสิบสองน้ำนองตลิ่งนั้น
ค่อนข้างขัดกับเอกสารอื่นครับ
ในศึกท้ายๆก่อนตีฝ่าออกจากกรุง พระยาตากสนับสนุนการรบของพระยาเพชรบุรีซึ่งคุมกองเรือ
ตอนนั้นยังเป็นพระยาตาก และไม่น่าจะได้เลื่อนตำแหน่งเพราะผลการรบไม่ได้รับชัยชนะ
และในเวลานั้น เมืองกำแพงเพชรไม่ได้อยู่ใต้อำนาจการควบคุมของสยามแล้ว
จึงเป็นเรื่องแปลกที่จะตั้ง ให้พระยาตากเป็นเจ้าเมืองที่พม่ายึดไว้แล้วและถือเป็นการให้ความดีความชอบ



ตามพงศาวดารระบุว่าเลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชร แล้วให้ยกทัพเรือไปกับพระยาเพชรบุรี ไม่ใช่ว่ายกทัพเรือไปแพ้ไปแล้วถึงตั้ง ซึ่งก็ปรากฏว่าก่อนสงครามนั้นพระยาตากมีผลงานอยู่ในการรบที่ค่ายปากน้ำประสบ เวลาไล่เลี่ยกับศึกบ้านระจัน โดยกล่าวว่าทัพกรุงถูกตีแตกจนจมื่นศรีเสาวรักษ์ จมื่นเสมอใจราชต้องหนีข้ามแม่น้ำไป แต่พระยาตากยังรบรออยู่แล้วหนีมาภายหลัง ถ้าจะทำความชอบในช่วงนี้จนได้เลื่อนยศก็ดูไม่เป็นการแปลกประหลาดครับ


ส่วนเรื่องที่ตั้งเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ในกรณีที่เกิดขึ้นจริง ก็เห็นตรงตามคุณ CrazyHOrse ที่จะคาดว่ารอรบชนะพม่าถอยไปแล้วค่อยให้พระยาตากไปครองเมืองกำแพงเพชร ประกอบกับช่วงเวลานั้น เมืองกำแพงเพชรและอีกหลายเมืองถูกพม่าตีแตกหรือหนีเข้าป่ากันหมด น่าจะทำให้ตำแหน่งเจ้าเมืองว่างลงหลายเมือง จึงอาจจะหวังให้พระยาตากไปครองเมืองกำแพงเพชรหลังจากเสร็จศึกก็ได้ครับ

ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรครับ ในประวัติศาสตร์ก็มีตัวอย่างอยู่หลายครั้งหลายชาติที่ตั้งคนของตนให้เป็นเจ้าเมืองที่ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของตน แต่ตั้งไว้ล่วงหน้าเพื่อรอยึดมาได้แล้วให้ไปครองในอนาคต อย่างเช่นในสมัยสามก๊ก ตามประวัติศาสตร์เล่าปี่ตั้งม้าเฉียวให้เป็นผู้ว่าราชการมณฑลเหลียงโจว ซึ่งตอนนั้นเหลียงโจวเป็นเขตอิทธิพลของโจโฉเป็นต้น คงคาดไว้ว่ารอพิชิตวุยก๊กได้จึงให้ม้าเฉียวกลับไปครอง


ส่วนเรื่องประเด็นที่ว่าในหลักฐานอื่นๆ จำนวนมายังคงเรียกพระยาตาก ก็เป็นเรื่องที่น่าขบคิดต่อไปครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 19 ส.ค. 16, 23:22

เรื่องนี้โยงมาถึงเรื่องตั้งพญาจ่าบ้านเป็นพฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺก ตั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้ชื่อเป็นกำแพงเพชร? น่าคิดว่าก่อนหน้านั้นเชียงใหม่อยู่ใต้พม่ามานาน กำแพงเพชรจึงกลายเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในเส้นทางแม่น้ำปิง (ไม่นับเมืองตากที่เป็นเมืองชัยภูมิสำคัญ แต่มีที่ราบขนาดเล็กเลี้ยงคนได้จำกัด) การตั้งพฺรฺยาหฺลวฺงวชฺชิรบฺรากานกำแพฺงเพฺกจึงฟังดูคล้ายๆกับว่าเอาชื่อกำแพงเพชรไปใส่ที่เชียงใหม่แทน


ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงเจ้ากาวิละตอนได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ.๒๓๒๕ ว่ามียศเป็น "พระยามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว" ครับ (พงศาวดารไทยเรียก พระยาวิเชียรปราการ) แต่เมื่อมาครองเมืองแล้วจึงปรากฏเรียกกันว่า "พระเป็นเจ้ามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว"

ไม่รู้ว่ากำแพงเพชรกับกำแพงแก้วในที่นี้จะมีความหมายเดียวกันหรือไม่ครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 19 ส.ค. 16, 23:57
สำหรับทินนามเจ้าเมืองตาก มีระบุในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เหมือนกันครับ


โดยระบุว่า พ.ศ.๒๓๓๒ มีศึกพม่ามา พระยาตากในเวลานั้นชรามากแล้ว ครั้นเจ้ากาวลิะจะหวังให้ช่วยคุ้มกันให้ล้านนาก็คงไม่ได้แล้ว

เมื่อเจ้ากาวิละยกทัพขับไล่พม่าไปได้ จึงพานายน้อยสุภา นายน้อยชวนะลงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ แจ้งข้อราชการแล้วขอให้ทั้งสองมาช่วยราชการบ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระพทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์จึงตั้งนายน้อยสุภาเป็น "พญาอนุชิตชลที" เจ้าเมืองตากระแหง ตั้งนายน้อยชวนะเป็น "พญาอินทคีรี" ให้ช่วยราชการรักษาบ้านเมือง


ทินนาม "อนุชิตชลที" นั้นใกล้เคียงกับ "วิชิตชลธี" ที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งมีความหมายถึงน้ำเหมือนกันครับ


ซึ่งทินนามอนุชิตชลธี มีปรากฏใช้ตั้งแต่สมัยอยุทธยาแล้ว โดยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ.๒๒๐๓ เกิดศึกฮ่อ (แมนจูราชวงศ์ชิง) ยกทัพมาตีเมืองอังวะ และมีข่าวว่าจะมีตีเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นประเทศราชของอังวะด้วย ทางเชียงใหม่หาที่พึ่งไม่ได้จึงส่งหนังสือมาอยุทธยายอมเป็นประเทศราช และขอกำลังไปช่วยป้องกัน แต่เมื่อยกทัพหลวงไปถึงเมืองพิษณุโลก เชียงใหม่เกิดกลับใจทำให้อยุทธยาต้องยกทัพไปตีหัวเมืองของเชียงใหม่

ช่วงเวลานั้นพระยากำแพงเพชรยกทัพไปตีเมืองรามตี พระยาพรหมคีรีกับพวกละว้า (ลัวะ) อีกราว ๑๘๐๐ คนมาหาพระยากำแพงเพชรขอสวามิภักดิ์เป็นข้ากรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดพระราชทานชื่อให้พระยาพรหมคีรีว่า "พระยาอนุชิตชลธี" แล้วพระราชทานเงินทองสิ่งของให้ ก่อนจะให้กลับไปภูมิลำเนาของตน


หลังจากนั้นพงศาวดารก็ระบุว่าได้ยกทัพไปตีเมืองอินทคีรีต่อ และได้เมืองอินทคีรีมาเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุทธยา


จึงสันนิษฐานว่าทินนาม "อนุชิตชลธี" กับ "อินทคีรี" นี้น่าจะเป็นทินนามที่ใช้ในเมืองเหนือมาตั้งแต่สมัยอยุทธยา แต่ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าเคยใช้กับเมืองตากในสมัยนั้นครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 20 ส.ค. 16, 08:08

และในเวลานั้น เมืองกำแพงเพชรไม่ได้อยู่ใต้อำนาจการควบคุมของสยามแล้ว
จึงเป็นเรื่องแปลกที่จะตั้ง ให้พระยาตากเป็นเจ้าเมืองที่พม่ายึดไว้แล้วและถือเป็นการให้ความดีความชอบ



ยังมีตัวอย่างในการตั้งเจ้าเมืองซึ่งไม่ได้อยู่ใต้อำนาจการปกครองของอยุทธยาโดยตรง คือตามหลักฐานของวันวลิตในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองระบุว่า หลังจากที่ยามาดะ นางามาสะซึ่งเป็นออกญานครเสียชีวิต เมืองนครศรีธรรมราชเป็นจลาจลเนื่องจากพวกทหารอาสาญี่ปุ่นแย่งชิงอำนาจกันเอง และเจ้าเมืองนครคนเก่าก็ถูกญี่ปุ่นฆ่าตายระหว่างจลาจล ต่อมาชาวเมืองนครขับไล่ญี่ปุ่นไปได้ก็สบโอกาสแข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุทธยา

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงทราบ ก็โปรดให้ยกทัพจากในกรุงไปปราบกบฎ และทรงแต่งตั้งขุนนางคนหนึ่งเป็นออกญานคร คุมทหาร ๓๐๐๐ เป็นทัพหลัง เพื่อให้ครองเมืองนครศรีธรรมราชหลังจากปราบกบฎได้ครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 22 ส.ค. 16, 10:36

ผมขออ้าง พงศาวดารฉบับ พันจันทนุมาศ ก่อนครับ
---------------------------------------------------
   ชาวบ้านค่ายระจันให้เข้ามาขอ ปืนใหญ่ ๒ บอก ปรึกษากราบทูลว่า ถ้าค่ายบ้านระจันเสียแก่พะม่า พะม่าจะเอาปืนเข้ามารบกรุง
จะให้ไปนั้นมิบังควร ครั้นรุ่งขึ้นพะม่า ยกไปตั้งค่ายณบ้านขุนโลก นายจันท์เขี้ยวคุมพรรคพวกออกมาตี พะม่า
ฆ่าพะม่าตายเป็นอันมากประมาณสัก ๕๐๐ ตัวก็ต้องปืนตายในที่รบ
ฝ่ายข้างในกรุงยกไปตีค่ายปากน้ำประสบอีก พะม่าให้ยก หาบคอนออกหลังค่ายทำทีจะหนี
พวกอาทมาตชวนวิ่งเข้าไปใกล้ ค่ายพะม่าๆ เอาม้าโอบหลัง ก็ถอยหลังมาโพสามต้น
จมื่นศรี เสาวรักษ์ จมื่นเสมอใจราช ขี่ม้าลงข้ามน้ำหนีมาฟากตะวันออก
แต่พวกพระยาตากรบรออยู่คอยข้ามมาต่อภายหลัง
อนึ่งพระยารัตนา ธิเบศร์ออกไปไรทอง หล่อปืนใหญ่ขึ้นณบ้านระจัน ๒ บอก
ครั้นพะม่ายกไปตีอีก ค่ายบ้านระจันก็แตก ไพร่พลล้มเป็นอันมาก
ขณะนั้นกรมหมื่นเทพพิพิธเข้าอยู่เมืองปราจินบุรี อพยพราษฎรเข้ามาอยู่ด้วยเป็นหลายหมื่น
พะม่าจึงยกทัพเรือออกไปตีเมือง ปราจินแตก กรมหมื่นเทพพิพิธ พระยารัตนาธิเบศร หนีไปอยู่ เมืองนครราชสีมา
  
  ขณะนั้นโปแม่ทัพสีกุกป่วยเป็นไข้ตาย โปสุพลาแม่ทัพปากน้ำประสบเป็นใหญ่สิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียว
ยกมาตั้งค่ายโพสามต้นแล้ว ให้มาตั้งค่ายวัดการ้อง แลก่ออป้อมสูง ฝ่ายข้างในกรุงจึงแต่งทัพข้ามไปตีค่ายบ้านป้อมวัดการ้อง
พะม่ายิงปืนมาถูกนายเริก ซึ่ง รำดาบอยู่หน้าเรือตกน้ำลงคนหนึ่ง ก็ถอยทัพกลับมาสิ้น วันนั้นพะม่า เข้าตั้งค่าย ณ วัดภูเขาทอง
พระยาศรีสุริยภาศซึ่งเป็นนายป้อม สั่งให้ประจุปืนมหากาฬมฤตยราช ๒ สัด ๒ ลูก ยิงไปนัดหนึ่งปืนก็ร้าวราน
ครั้นเพลาค่ำไทยหนีมาคนหนึ่ง ให้การว่าปืนพระมหากาฬมฤตยูราช ซึ่งยิงออกไปนั้นถูกเรือรบพะม่าล่ม ๒ ลำคนตายหลายคน
และ บัดนี้พะม่ายกเข้ามาตั้งค่ายที่วัดกระชาย วัดพลับพลาชัย วัดเตา วัดสุวรรณ วัดแดง

 ครั้น ณ เดือน๑๒ ในกรุงจึงแต่งทัพเรือให้พระยาตาก พระยาเพ็ชรบุรี หลวงศรเสนี ออกไปตั้งอยู่วัดใหญ่ คอยสะกัดตีเรือรบพะม่าซึ่งขึ้นลงหากัน
อนึ่งพะม่าค่ายบางไทรวัดโปรดสัตว์ยกทัพมากลางทุ่ง พระยาเพ็ชรบุรียกออกตีอยู่ณค่ายวัดสังกวาดก็ตายที่รบ
พระยาตาก หลวงศรเสนี ถอยมาแอบดูหาช่วยหนุนไม่ แล้วไปตั้งอยู่วัดพิชัย
ฝ่ายข้างในกรุงเกณฑ์กันไปตั้งค่ายที่วัดชัยวัฒนาราม จึงออกไปตั้งค่ายคลองสวนพลู

 ครั้นเดือนอ้ายโปรสุพลาให้กองทัพเมืองแพร่มาตั้งโพสามต้นฟากตะวันออก กองทัพเมืองแพร่ยกกองทัพหนีไปทางพระพุทธบาท
ให้คนถือหนังสือเข้ามาถึงพระยายมราชว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงธรรม มีพระคุณอยู่ จึงมิได้อยู่รบกรุงด้วยพะม่า

 ครั้นเดือนยี่ปีจออัฐศกเพลาค่ำ เกิดเพลิงขึ้น ณ ท่าทราย ไหม้ลามมาสะพานช้าง ข้ามมาติดป่ามะพร้าว ป่าโทน ป่าถ่าน ป่าทอง ป่าหญ้า
จนวัดราชบูรณะ วัดพระมหาธาตุ เพลิงไปหยุดที่วัดฉันท์ทันต์

-----------------------------------------------

กรณีตีค่ายปากน้ำประสบไทยรบแพ้นะครับ
จากพงศาวดาร ยังไม่เห็นช่วงเวลาที่พระยาตากจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรได้
ฉบับคำให้การก็ชัดเช่นกันว่า ในเหตุการณ์เดียวกันไม่มีการตั้งพระยาตากเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร

กรณี พระเจ้าปราสาททองแต่งตั้งพระยานคร ก็หลังจากโปรดให้ยกทัพไปปราบกบฎแล้ว
เป็นการแสดงอำนาจของราชสำนักที่อยู่เหนือเมืองนคร จะนำมาเทียบเคียงกับกรณีนี้มิได้ครับ


กระทู้: สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเมืองตากในสมัยอยุทธยา-รัตนโกสินทร์ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีสรรเพชญ์ ที่ 22 ส.ค. 16, 12:48
เราต้องพิจารณาด้วยความความในพงศาวดารพันจันทนุมาศ (เจิม) ถึงแม้จะปรากฏว่าเป็นฉบับที่เก่าที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ นั้นเชื่อถือได้ไหนครับ และไม่จำเป็นว่าฉบับที่เก่าที่สุดจะต้องถูกต้องที่สุดเสมอไป และรายละเอียดสงครามในพงศาวดารพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้นมีแต่เนื้อหาคร่าวๆ แทบไม่มีรายละเอียดใดๆ และยังมี timeline คลาดเคลื่อนเมื่อเทียบกับพงศาวดารพม่าด้วย


ซึ่งถ้าเนื้อหาของพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้นถูกต้องอยู่แล้ว สำหรับเนื้อหาตอนนี้ เหตุใดผู้ชำระจะต้องชำระแก้ว่าเดือน ๑๒ พระยาตากได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชรก่อนจะให้ยกทัพเรือไปกับพระยาเพชรบุรี (ส่วนมากในฉบับหลัง มักจะมีแต่การเพิ่มข้อความที่ให้พระเจ้าเอกทัศน์ในแง่ลบ) ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ยิ่งพิจารณาจากตัวผู้ชำระพงศาวดารคือสมเด็จพระพนรัตน์ที่เกิดทันพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยแล้ว และยังเขียนโจมตีพระเจ้ากรุงธนบุรีจำนวนมาก ก็ดูไม่มีเหตุผลที่จะสร้างเรื่องขึ้นมาว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเป็นพระยากำแพงเพชรให้ดูดีขึ้น และยังต้องอธิบายเรื่องคำว่า "กำเอ็งเถ็ก" กับคำว่า "วชิรปราการ" ซึ่งตามหลักฐานแล้วล้วนสื่อถึงเมืองกำแพงเพชรด้วย


และถ้าพิจารณาในพงศาวดาร ก็จะเห็นว่าพระยาตากรบแค่ตีค่ายปากน้ำประสบเพียงแต่ครั้งเดียว แต่เมื่อดูในเอกสารอื่นๆ อย่างคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า พระยาตากมีผลงานหลายครั้งมาก จะทำความชอบสะสมในสงครามมาก็ไม่ใช่การแปลกประหลาดแต่อย่างใด นอกจากนี้ถึงค่ายปากน้ำประสบจะรบแพ้ แต่เนื้อหาจากพงศาวดารก็บ่งบอกว่าพระยาตากนั้นยังรบถ่วงเวลาเพื่อให้คนอื่นหนีได้ ก่อนจะหนีภายหลัง ถ้าพงศาวดารจะนับตรงนี้เป็นความชอบ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด


เรื่องตั้งเจ้าเมือง อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าคงเป็นด้วยรอให้พม่าถอยกลับไปแล้วขึ้นไปครองเมืองที่น่าจะว่างเจ้าเมือง (ในบรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือน่าจะว่างเจ้าเมืองลงหลายเมือง ไม่เฉพาะแค่กำแพงเพชร) ถ้าจะอธิบายว่าอยุทธยายังถือหัวเมืองเหล่านั้นเมืองของตนมาตั้งแต่เดิมแม้ว่าจะถูกพม่ายึดครองอยู่ การจะตั้งเจ้าเมืองทดแทนเตรียมไว้ล่วงหน้าก็เป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่แปลกอันใดครับ เรื่องกบฎเมืองนครก็เช่นเดียวกัน เพราะในเวลานั้นโดยพฤตินัยแล้วอยุทธยาก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือเมืองนครแม้จะเป็นหัวเมืองของอยุทธยาก็ตาม พิจารณาในทางปฏิบัติก็คือการตั้งเจ้าเมืองเตรียมล่วงหน้าไม่ได้แตกต่างกันเลยครับ ไม่ว่าจะยกไปตีทันทีหรือเตรียมไว้ล่วงหน้าจากภาวะที่ไม่ปกติและยังไม่สามารถจัดการให้เรียบร้อยได้ก็ตาม


เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาต่อไปครับ