เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 03, 14:00



กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 03, 14:00

องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ประกาศให้ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา  ในวาระครบ 100 ปีวันเกิดของท่าน  


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 03, 14:30
 ม.ล.ปิ่น    มาลากุล เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2446
สืบเชื้อสายมาจากต้นราชสกุล มาลากุล ณ อยุธยา  คือสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์  พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอันประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี

บิดามารดาของม.ล.ปิ่นคือเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม (สกุลเดิม วสันตสิงห์)

หม่อมหลวงปิ่น   มาลากุล ได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้รุ่นแรก

ต่อมาได้รับทุนของกระทรวงธรรมการ(กระทรวงศึกษาธิการ)ไปศึกษาวิชาภาษาสันสกฤต ณ School of Oriental Studies  มหาวิทยาลัย ลอนดอน
แล้วจึงสอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เลือกภาษาสันสกฤตเป็นวิชาเอก  บาลีเป็นวิชาโท  จนสำเร็จปริญญาตรี เกียรตินิยม สาขาวิชาโบราณตะวันออก (ภาษาบาลี - สันสกฤต)
ต่อจากนั้นได้ศึกษาวิชาครูต่อที่ออกซฟอร์ดอีก 1 ปี
ในพ.ศ. 2474 มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้พิจารณาให้ได้รับปริญญาโททางอักษรศาสตร์   (M.A)

หม่อมหลวงปิ่น   มาลากุล ได้สมรสกับท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ไกรฤกษ์) ไม่มีบุตรธิดา

เมื่อสำเร็จการศึกษา        ม.ล.ปิ่น   มาลากุล รับราชการเป็นอาจารย์ประจำกรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ   ต่อมาย้ายไปเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2475-77

ตำแหน่งงานต่อๆมาของท่านคือผู้รักษาการตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนมัธยมหอวัง   ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และ อธิบดีสามัญศึกษาตามลำดับ

ในช่วงปี พ.ศ. 2489 - 2500 ได้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ในขณะเดียวกันก็ได้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการ อธิบดีกรมการฝึกหัดครู และอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา

ท่านได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของผู้บริหารกระทรวงเมื่อได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2500 - 2501 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ. 2502 - 2512


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 03, 14:34
 ผลงานทางด้านการศึกษาของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล    มีจำนวนมากมาย
ขอยกมาเฉพาะผลงานสำคัญบางชิ้น  คือ
 1. ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท โรงเรียนมัธยมสหศึกษา โรงเรียนแรกในประเทศไทย
2. ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนประถมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในระดับประถมศึกษา
3. ริเริ่มตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถนนประสานมิตร ต่อมาเป็นวิทยาลัยวิชาการ ศึกษาประสานมิตร  และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในปัจจุบัน
4. ริเริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์(ทับแก้ว )และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ประชากรในชนบทได้มีโอกาสเรียนถึงระดับอุดมศึกษา


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 03, 14:37
 5 ริเริ่มจัดตั้งห้องสมุดเสียงขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อรวบรวมวรรณกรรมร้อยแก้วด้านพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทและปาฐกถาของผู้มีชื่อเสียงด้านต่าง ๆ
6. พัฒนาการศึกษาหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาการศึกษาส่วนภูมิภาค โครงการพัฒนาการศึกษา และโครงการฝึกหัดครูชนบท ก่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา
7. ขยายงานของกรม กองต่าง ๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นำเทคโนโลยีด้านการศึกษาเข้ามาใช้ เช่น จัดตั้งวิทยุการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น
8. ก่อตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์เพื่อเป็นที่ระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นคลังสมบัติทางปัญญาในการค้นคว้ารวบรวมและเผยแพร่พระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน
9. จัดสร้างค่ายหลวงบ้านไร่ จังหวัดราชบุรี เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมความรู้และเป็นค่ายพักแรมหรือจัดกิจกรรมของเยาวชน


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 03, 14:50
 ผลงานด้านวัฒนธรรมและวรรณกรรม

ม.ล. ปิ่น มาลากุลได้รับการอบรมปลูกฝังให้รักและชื่นชมวัฒนธรรมของชาติมาแต่เยาว์วัย   ท่านได้เป็นมหาดเล็กรับใช้รุ่นแรกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเวลานานถึง 6 ปี ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากพระองค์ท่านมากมายหลายด้าน โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับวรรณกรรม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงฝึกอบรมและทรงมอบหมายหน้าที่พิเศษให้ท่านจัดเก็บพระราชนิพนธ์บทละคร และเมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องใดแล้ว จะพระราชทานให้อ่านก่อน แล้วจึงนำมาอ่านให้ที่ประชุมฟังในภายหลัง
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้รับพระราชานุญาตเป็นพิเศษ ให้แก้ไขต้นฉบับลายพระหัตถ์ได้  หากทรงเผลอพระราชนิพนธ์ผิดไป นอกจากนี้ทรงตั้งให้เป็น บรรณาธิการดุสิตสมิตอีกด้วย
ม.ล.ปิ่น มาลากุล จึงปราดเปรื่องในเชิงวรรณศิลป์  สามารถแต่งหนังสือได้แทบทุกประเภทภายในเวลาอันรวดเร็ว สืบเนื่องมาจากการได้อยู่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีความเป็นอัจฉริยะทางด้านอักษรศาสตร์ และได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก

ท่านมีผลงานที่ตีพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่รวม 207 เรื่อง แบ่งออกเป็น 5 หมวด คือ
หมวดการศึกษา 57 เรื่อง
หมวดบทละคร 58 เรื่อง
หมวดคำประพันธ์ 32 เรื่อง
หมวดการท่องเที่ยว 8 เรื่อง
หมวดเบ็ดเตล็ด 52 เรื่อง
ในจำนวนนี้ที่สำคัญ ได้แก่ ศึกษาภาษิต 109 บท คำประพันธ์บางเรื่อง 200 เรื่อง บทเพลง 24 เพลง บทนิราศ 8 เรื่อง และบทละคร 58 เรื่อง

เกียรติคุณทางวัฒนธรรมของท่านเป็นที่ประจักษ์ดังนี้
-ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณคดี สาขาวรรณคดี  และภาษาศาสตร์
- ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์  พ.ศ. 2430
-ผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น
-ได้รับพระเกี้ยวทองคำ  ในฐานะผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น
-รางวัลอาเซียน สาขาวรรณกรรม
-ปูชนียบุคคลด้านภาษาและวรรณกรรมไทย


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 03, 14:57
 ตัวอย่างผลงานด้านวรรณศิลป์

อันอำนาจใดใดในโลกนี้
ไม่เห็นมีเปรียบปานการศึกษา
สร้างคนหาค่ามิได้ในโลกา
ขึ้นจากผู้ที่หาค่าไม่มี

กล้วยไม้มีดอกช้า..........ฉันใด
การศึกษาเป็นไป...........เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราวไร......งามเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น.......เสร็จแล้วแสนงาม

การเป็นครูนั้นไซร้ไม่ลำบาก
แต่สอนดีนั้นยากเป็นนักหนา
เพราะต้องใช้ศิลปวิทยา
อีกมีความเมตตาอยู่ในใจ

ตระเวนไปอยากได้การศึกษา
จนยุโรปอเมริกาก็ถ้วนทั่ว
มนุษย์เชี่ยวเชิงวิชาอย่างน่ากลัว
แต่ใจคนจะชั่วไม่เปลี่ยนแปลง
ระลึกคุณพระพุทธสุดประเสริฐ
สงบเกิดแก่ใจได้รู้แจ้ง
ฝึกฝนจิตส่วนร้ายหายรุนแรง
ศึกษาแหล่งที่แท้อยู่แค่ใจ


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 24 ต.ค. 03, 16:12
 ขอบคุณครับคุณเทาชมพู

ในสมัยปฏิรูปการศึกษาบ้างไม่ปฏิรูปบ้างนี้ (ไม่รู้เมื่อไหร่จะปฏิรูปกันเสร็จ) ผมนึกไปถึงบทละครเรื่องหนึ่งที่ท่านแต่งไว้ เสนอแนวคิดในการจัดการศึกษาประชาบาลไว้อย่างน่าสนใจ ถ้าจำไม่ผิด บทละครนั้นชื่อ "สามเกลอ" ไม่ใช่สามเกลอพล นิกร กิมหงวนนะครับ แต่เป็นสามเกลอแห่งการเสริมสร้างบทบาทของโรงเรียนประชาบาลไทย สามเกลอที่ไม่ใช่พลนิกรกิมหงวนนั้น เป็นชื่อเครื่องมือช่างไทยโบราณอย่างหนึ่ง เอาไว้ใช้ตอกเสาเข็มในสมัยที่ยังไม่มีปั้นจั่นหรือเครื่องมือกลในการตอกเสา ลักษณะของสามเกลอนั้นเป็นแท่งหรือตุ้มน้ำหนักที่มีที่จับสามมุม ใช้คนสามคนยกขึ้นตอกลงไปบนหัวเสา

ม.ล. ปิ่นท่านอ้างถึงบทกลอนที่ท่านเองแต่งไว้ว่า "ประเทศเรานั้นหรือคือตึกใหญ่ จะมั่นคงอยู่ได้เพราะรากฐาน เข็มตอกลึกศึกษาประชาบาล ส่วนนายงานนั้นหรือก็คือครู เราทำงานอาบเหงื่อเพื่อวางราก ไม่มีใครออกปากว่าสวยหรู บ้านเราเองจะหวังให้ใครมาดู แต่เรารู้เราเห็นเป็นสุขเอยฯ"

เข็มตอกลึกที่เป็นรากฐานการศึกษาของอคารประเทศไทยนั้น คือการศึกษาประชาบาล อันเป็นการศึกษาประเภทหนึ่งที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ตั้งพระทัยให้เป็นการศึกษาที่ชุมชนในพื้นที่จัดการบริหารเอง เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนในท้องถิ่นมีบทบาทมีส่วนร่วมในระดับพื้นฐานที่สุด แต่ต่อมาโรงเรียนประชาบาลก็ค่อยๆ แคระแกร็นไป (อย่างน้อยจนถึงสมัยที่ท่านแต่งบทละครนั้น สมัยต่อมาจนถึงสมัยนี้ผมไม่ทราบว่าการศึกษาประชาบาลเป็นยังไงแล้ว) ตัวละครในเรื่องก็มาคุยกันว่าจะทำอะไรให้เป็นการปฏิรูปหรือปฏิวัติการศึกษาประชาบาลได้บ้าง ตัวละครนั้น คนหนึ่งเป็นนายอำเภอ ทำนองว่าเป็นตัวแทนภาครัฐ คนหนึ่งเป็นน้องสาวนายอำเภอ และเป็นนางเอกด้วย อีกคนเป็นนายธนาคารสาขาในอำเภอนั้น และเป็นเพื่อนนายอำเภอ มาช่วยกันคิดไปคิดมาแล้วก็เลยได้รักกันกับนางเอก จึงจะพอถือว่าเป็นพระเอกก็คงได้ "สามเกลอ" ที่เป็นชื่อเรื่องนั้นก็คือคนสามคนมาคิดกันเรื่องการศึกษานั่นความหมายหนึ่ง แต่ในอีกความหมายหนึ่ง "สามเกลอ" หมายถึงหลักการสามข้อในการจัดการศึกษาประชาบาล คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน การทำหน้าที่อย่าซื่อสัตย์สุจริตของข้าราชการ และบทบาทในเชิงสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะโรงเรียนประชาบาลเป็นพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 และ (ตามเรื่องละคร) คนสามคนมาคิเรื่องการศึกษาประชาบาลแอผนใหม่กันในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในรัชกาลปัจจุบัน

บทละครนี้ท่านแต่งถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปีอะไรผมก็จำไม่ได้ แต่ถ้าจำไม่ผิดเป็นปีเดียวกับที่นีล อาร์มสตรองไปลงดวงจันทร์ เพราะในบทละครมีพูดถึงยานอะพอลโล่อยู่

ถ้าท่านรัฐมนตรีศึกษาธิการสมัยปัจจุบันได้อ่านก็น่าจะดีครับ แต่ได้ข้าวว่าจะปรับ ครม. กันอีกแล้ว ไม่ทราบว่าจะเปลี่ยนตัว "เสมา 1" กันอีกรึเปล่า


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 03, 18:33
 ในเน็ตมีการพูดถึงการศึกษาประชาบาลไว้ในเว็บนี้ค่ะ
 http://www.thaiteacher.org/admin/publication/4/2.pdf.
คงจะตอบคำถามของคุณนิลกังขาได้พอสมควร


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 03, 13:03
 ขอเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับราชสกุล มาลากุล ณ อยุธยาค่ะ

ราชสกุลมาลากุล ณ อยุธยา สืบเชื้อสายมาจาก  สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา หรือ เจ้าฟ้าชายกลาง กรมพระยาบำราบปรปักษ์พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (พระนามเดิมพระองค์เจ้าจันทบุรี )
เจ้าฟ้ากุณฑลทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทองสุก พระธิดาพระเจ้าอินทวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์
เมื่อพระสูติทรงดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้า  แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี

เล่ากันมาว่า  เนื่องจาก ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเสด็จพระราชดำเนินลงไปลอยพระประทีป พระองค์เจ้าจันทบุรีตามเสด็จลงไปที่พระตำหนักแพ
เมื่อเวลาจุดดอกไม้ รับสั่งว่าประชวรพระเนตรอยู่ให้กลับขึ้นไปพระราชวังเสียก่อน พระองค์เจ้าหญิงก็เสด็จกลับขึ้นมาถึงเรือพลาดตกลงน้ำหายไป
คนทั้งปวงพากันตกใจพากันลงน้ำเที่ยวค้นหา จึงพบพระองค์เจ้าลูกเธอเกาะทุ่นหยวกอยู่ท้ายน้ำ หาได้เป็นอันตรายไม่ เป็นอัศจรรย์
จึงมีพระราชโองการสถาปนาให้มีอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าและให้มีงานสมโภชอีก ๓ วัน )    

เจ้าฟ้ากุณฑลฯทรงมีพระราชโอรสธิดารวม 4 พระองค์ด้วยกัน คือเจ้าฟ้าชายอาภรณ์  เจ้าฟ้าชายกลาง (เจ้าฟ้ามหามาลา) เจ้าฟ้าหญิง และเจ้าฟ้าชายปิ๋ว

สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์สำคัญองค์หนึ่ง  ในรัชกาลที่ 5  ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการ ในพระราชสำนักและว่าพระคลังทั้งปวง
ต่อมาได้เป็นผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย ซึ่งเกี่ยวข้องต่อคนต่างประเทศและราชการหัวเมืองต่างๆ
และทรงเป็นประธานของพระบรมวงศานุวงศ์

ราชสกุลมาลากุล มีเจ้านายสืบสายจำนวนมาก    ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะสายของม.ล.ปิ่น มาลากุล
คือ สมเด็จกรมพระยาบำราบฯ มีพระโอรส ประสูติจากหม่อมกลีบ ได้แก่หม่อมเจ้าขจรจรัสวงษ์    ต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์
กรมหมื่นปราบปรปักษ์  มีโอรสจากหม่อมเปี่ยม ชื่อม.ร.ว. เปีย มาลากุล  รับราชการได้เป็นเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี
เจ้าพระยาพระเสด็จฯ(ม.ร.ว. เปีย)มีบุตรธิดากับท่านผู้หญิงเสงี่ยม  รวม  8 คน คือ
ม.ล. ปก
ม.ล. ปอง สมรสกับหม่อมเจ้าสุรวุฒิประวัติ เทวกุล
ม.ล. เปนศรี
ม.ล. ปนศักดิ์
ม.ล. ป้อง
ม.ล. ปิ่น
ม.ล. เปี่ยมสิน
ม.ล. ปานตา สมรสกับนายเมืองเริง วสันตสิงห์


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 27 ต.ค. 03, 18:09
 ขอบพระคุณครับคุณเทาชมพู

แต่ link ที่ให้ไว้ผมเปิดไม่ออก ไม่ทราบว่าเครื่องผมมีปัญหารึเปล่า

มล. ปิ่น เป็นท่านผู้ให้กำเนิดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในยุคปัจจุบัน ในฐานะลูก ตอ. คนหนึ่ง ผมยังจำได้ว่า เพลงประจำโรงเรียนคือเพลง "ปิ่นหทัย" และว่ากันว่า เล็งถึงท่านผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี่เอง ในเนื้อเพลงนั้น ว่ากันว่าท่านผู้แต่งเนื้อเพลงสามารถบรรจุชื่อของอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเตรียมฯ ทุกท่านตั้งแต่แรกตั้ง คือท่าน ม.ล. ปิ่นมาจนถึงท่านที่เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ในขณะที่แต่งเพลง ใส่เข้าไปในเนื้อเพลงปิ่นหทัยได้หมด (แต่อาจารย์ใหญ่หลังจากนั้น ยังไม่มีเนื้อ version ที่ updated ครับ)

...รัก ตอ. ขอจงอยู่ยืนนาน
รักครูอาจารย์ รักเพื่อนทั่วหน้า
รักจริงรักจริง รักสิงวิญญาณ์
รัก ตอ. ประหนึ่งว่า "ปิ่น" ปักจุฑานั่นเอย...


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 03, 09:16
 เว็บประชาบาล กลับไปอีกทีทำไมเข้าไม่ได้ก็ไม่ทราบค่ะ น่าเสียดาย
บอกประวัติของโรงเรียนประชาบาลไว้ยาวมาก  ทำให้มองเห็นนโยบายการสร้างโรงเรียนประเภทต่างๆ
ดิฉันสงสัยว่าได้แนวมาจากอังกฤษ  เพราะปัญญาชนของไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 6 มาจนถึงก่อนสงครามโลก มักจะรับวิชาความรู้มาจากอังกฤษมากกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป  หรืออเมริกา

โรงเรียนประชาบาล  คือ ชุมชนในท้องถิ่นนั้นค้ำจุน  หางบประมาณให้ตั้งอยู่ได้  ตั้งมาเพื่อสนองภูมิปัญญาท้องถิ่น
โรงเรียนเทศบาล   หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ค้ำจุน

แต่ต่อมาความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาประเทศ ทำให้เรามุ่งเป้าหมายไปในทางทำให้ชนบท(ซึ่งถูกมองว่าด้อยพัฒนา) เจริญในแบบเมืองหลวงให้เท่ากันทั้งประเทศ
น่าจะเป็นนโยบายแบบอเมริกัน ซึ่งเข้ามามีบทบาทในไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา  
แผนพัฒนาฉบับต่างๆตั้งแต่ 1 จนปัจจุบันก็ดูจะสอดคล้องกับการพัฒนาในความหมายของอเมริกา มากกว่าแบบอังกฤษ ซึ่งยังให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่า


ย้อนมาถึงเพลงโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา   ชื่ออาจารย์ใหญ่ ดิฉันแกะออกมาได้ชื่อเดียวค่ะคือบุญเลื่อน  คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู

ฟังเพลง" ปิ่นหทัย"  ได้ที่เว็บนี้ค่ะ
 http://www.toursong.com/song/7072.htm

วันเดือนปี ที่ผ่านมา โอ้ต.อ.จ๋า รักยังแจ่มจ้า ไม่เลือน
สระน้ำคูบัว ตามเตือน สงวนบุญหนุนเลื่อน
เสียงครูเสียงเพื่อน แจ่มใจ ..
ยามเรียนลือยามเล่นเด่นชื่อ ต.อ.ระบือ ลือสนั่น ลั่นไกล
คิดถึงพระคุณ อาจารย์ยิ่งใด
เป็นปิ่น หทัย ให้ร่มเย็นใจ เสมอมา ..
รักต.อ.ขอจงอยู่ยืนนาน รักครูอาจารย์ รักเพื่อนทั่วหน้า
รักจริงรักจริง รักสิงวิญญา
รักต.อ.ยิ่งชีวา รักจนดินฟ้ามลาย ..
รักต.อ.ขอจงอยู่ยืนนาน รักครูอาจารย์ รักเพื่อนทั่วหน้า
รักจริงรักจริง รักสิงวิญญา
รักต.อ.ประหนึ่งว่า ปิ่นปักจุฑานั่นเอย... . 


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 03, 11:34

พระสาทิสลักษณ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์  


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 03, 12:39

ลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในใบพระราชทานนามสกุล "มาลากุล"  


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 31 ต.ค. 03, 15:02
 มีใครในที่นี้เป็นศิษย์เก่า ตอ. บ้างครับ?
เท่าที่ผมแกะได้ ในเนื้อเพลงปิ่นหทัยมีชื่ออาจารย์ใหญ่หลายท่าน เท่าที่ทราบคือ ท่านอาจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล อาจารย์ใหญ่ท่านแรก อาจารย์คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ที่คุณเทาฯ พูดถึง ยังมีอาจารย์สงวน จำนามสกุลท่านไม่ได้ อาจารย์สนั่น (สุมิตร?) แกะได้เพียงเท่านี้ครับ ใครเป็นอาจารย์ใหญ่ในช่วงไหนบ้างผมก็ไม่ทราบ จำประวัติโรงเรียนตัวเองไม่ได้เสียแล้ว


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ย. 03, 08:13
 สงวน? บุญเลื่อน? สนั่น?
เตือน? แจ่ม?

ชื่อสมัยก่อนง่ายๆ แต่งลงในเนื้อเพลง  หาคำอื่นมารับ  ได้ความกลมกลืนกันดี
ถ้าชื่อ"นิลกังขา" หรือ  "จ้อ" "เปี้ยว" อะไรทำนองนี้ เกิดได้เป็นครูใหญ่ตอ.   ดิฉันว่าคนแต่งเพลงคงขอลาออกจากงาน


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: ลลิน ที่ 01 พ.ย. 03, 13:32
 งูร้ายลอบกัดแล้ว   เลื้อยหนี  
หมากัดเห็นไม้ตี     รีบจ้ำ
ยุงกัดหนึ่งนาที      ยุงอิ่ม  แล้วเอย
คนกัดแล้วกัดซ้ำ    ซากโอ้ระอาใจ  

.......   อีกหนึ่งบทประพันธ์ของท่านที่เราชอบมากเป็นพิเศษ จาก คำประพันธ์บางเรื่อง ค่ะ


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 พ.ย. 03, 21:33
 มาช้าดีกว่าไม่มา ลงชื่อศิษย์เก่าต.อ.ด้วยคนครับ

ยังจำได้ไม่ลืมตอนที่ขึ้นไปพรรคพวกชวนกันขึ้นไปร้องเพลงนี้บนเวทีในงานแต่งงานเพื่อน

แขกหนีทั้งงานเลยครับ

ฮ่าฮ่าฮ่า


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 17 พ.ย. 03, 15:11
 มาช้าไปหน่อยแต่ผมก็เป็นเด็ก ตอ. ด้วยคน
แต่เลือด ตอ. ผมจางๆไปหน่อย เพราะอยู่ที่นั่นเอาแต่เล่นทั้งวัน
ใครที่ขอให้คนอื่นมาลงชื่อนี่กรุณาบอกรุ่นด้วยนะครับ ไม่งั้นถือว่าไม่จริงใจ 555555
ผมรุ่น 50  ตึกหรั่งก็รุ่น 15 ครึ่ง ห้อง 833 ครับ
แก่มั้ย? เดี๋ยวนี้ เด็กม.4 ปัจจุบันน่าจะเป็นรุ่นที่ 66 แล้วนะ


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 03, 16:04
สงสัยว่ารุ่นปัจจุบันจะเกิน 70 แล้วมั้ง...คะ


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 พ.ย. 03, 23:43
 13ครึ่ง อยู่บนหัวคุณ paganini พอดีครับ    


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 พ.ย. 03, 08:18
 ผมเคยอยู่ห้อง 844 ตึกหรั่ง แต่รุ่นไหนขอไม่บอกครับ


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 18 พ.ย. 03, 15:12
 555555555  ในที่สุดคุณนิลกังขาก็เปิดเผยว่าท่านเป็นผู้อาวุโสครับ
คุณเทาชมพูครับผมว่าน่าจะ 66 แหละครับเพราะว่าผมเข้าเตรียมปี 30 ปีนี้ก็ 46 ก็น่าจะบวก 16 ไงครับ
คุณเครซี่ฮอร์สอยู่ 843 ครับ
แสดงว่าตรงนี้ผมคงเป็นรุ่นน้องคนสุดท้องในกระทู้นี้แน่เลย


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 พ.ย. 03, 22:05
 ในเมื่อท่านผู้อาวุโสไม่เปิดเผย (เวลา)ที่มา ข้าพเจ้าขอเดาเอาเองว่าท่านน่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับท่านพี่ยอด (บุญยอด สุขถิ่นไทย) แห่ง 843 นะขอรับ  

เอ... ว่าแต่ว่าพี่นิลฯน่ะจำ เอ๋ "เอกอนงค์" 844 ได้หรือเปล่าครับ เพราะเขารุ่นเดียวกับผม


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: สุรัชน์ ที่ 29 มิ.ย. 06, 08:00
 ในทางคณิตศาสตร์ ผลงานของท่าน หนังสือชื่อ miscellaneous problems: an autobiography of a would-be mathematician น่าสนใจมาก กำลังวางแผนแปลเป็นภาษาไทยครับ แต่ยังไม่แน่ใจว่าต้องขออนุญาตใคร ผมเคยเขียนบทความพูดถึงคณิตศาสตร์ของท่านไว้ในนิตยสารอัพเดท ฉบับ 166 ชื่อตอน นักคณิตศาสตร์ไทยที่ไม่ธรรมดานาม "ประดิสมิด"


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: สุรัชน์ ที่ 29 มิ.ย. 06, 08:11

ในทางคณิตศาสตร์ ผลงานของท่าน หนังสือชื่อ miscellaneous problems: an autobiography of a would-be mathematician น่าสนใจมาก กำลังวางแผนแปลเป็นภาษาไทยครับ แต่ยังไม่แน่ใจว่าต้องขออนุญาตใคร ผมเคยเขียนบทความพูดถึงคณิตศาสตร์ของท่านไว้ในนิตยสารอัพเดท ฉบับ 166 ชื่อตอน นักคณิตศาสตร์ไทยที่ไม่ธรรมดานาม "ประดิสมิด"


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 29 มิ.ย. 06, 13:33
 ตอนนี้ผู้ที่ภือลิขสิทธิงานประพันธ์ของท่านหม่อมหลวงปิ่น  คือคณะผู้จัดการมรดกที่ประกอบด้วยหลานของท่านและท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา อาทิ คุณจุลสิงห์  วสันตสิงห์  ศ.เติมศักดิ์  กฤษณามระ  คุณหญิงชฎา  วัฒนศิริธรรม  

ถ้าไม่สะดวกที่จะติดต่อกับผู้จัดการมรดกโดยตรง  จะให้ผมช่วยประสานให้ก็ยินดีครับ


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 มิ.ย. 06, 13:52
 http://202.29.77.139/mag_list/pdf/113_3.pdf  


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: Peking Man ที่ 29 มิ.ย. 06, 23:37
โอ้...ไม่เคยทราบว่า เป็นศิษย์ร่วมสำนัก()กับท่านด้วย หลาย ๆท่านในที่นี้เป็นศิษย์เก่า ต.อ. กันเยอะนะครับ สำหรับผมนั้น รุ่น ๕๖ ห้อง ๘๑ ครับ บวกลบดูแล้ว ปัจจุบันนี้ ปี ๒๕๔๙ ก็น่าจะรุ่น ๗๐ แล้วกระมัง


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 มิ.ย. 06, 15:07
 คิดไม่ถึงว่าคุณ Peking Man จะเอ๊าะขนาดนี้

ความรู้ท่วมท้นล้นวัยเลยนะครับ


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 มิ.ย. 06, 22:15
 เรียนคุณ สุรัชน์ และอีกหลายท่านที่ SMS มาถึงผม
ขออภัยอย่างสูง ผมเพิ่งรู้จักสิ่งนี้เมื่อตะกี้นี้เอง
แล้วก็ลืมแล้วว่าเจอสิ่งนี้ได้อย่างไร
อีกทั้งคาดว่าจะใช้มันไม่เป็นเหมือนเดิม
คือแรมมันน้อยอะครับ
ดังนั้นที่ไม่ได้ตอบกลับมาตั้งแต่ปีมะโว้ ไม่ใชเพราะหยิ่งนะครับ
เพราะโง่ ....แหะ แหะ

ใหนๆก็มาแสดงฟามน่ารักแบบไม่ฉลาดในนี้แล้ว
ฝากเรียนคุณสุรัชน์ ว่า อาจารย์ดร. ประเสริฐ ณนคร ท่านก็รักคณิตศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจเหมือนกัน ช่วยค้นมาเล่าสู่กันฟังหน่อยได้ใหม
ถ้าต้องการทุน ผมจะไปขอสกว.ให้ ....555
แล้วก็เรื่องเด็กคนที่ถูกครูลงโทษให้บวกเลขต่อเนื่องกันนั่นผมก็อยากฟังด้วย
รวมทั้งเรื่องที่อินเดียคิดเลขศูนย์ได้ด้วย.......

อย่าว่าหยั่งโง้นหยั่งงี้เลยนะครับ ครูผมคนหนึ่งบอกว่า
มากก็บุญคุณ น้อยก้บุญคุณ
แล้วจะน้อยทำไม


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 30 มิ.ย. 06, 23:48
 จำได้ว่า ก่อนที่ท่านหม่อมหลวงปิ่น จะอสัญกรรมนั้น  วันหนึ่งท่านเล่าให้ฟังภายหลังรับประทานอาหารกลางวันว่า  ท่านเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ในหลวง (หมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงคัดเลือกให้ได้รับทุนด้วยพระองค์เอง  เพราะนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงที่สมัยนั้นชอบเรียกกันว่า คิงส์สกอร์ลาชิปนั้นต้องสอบชิงทุน  

เรื่องทุนคิงส์สกอร์ลาชิปนี้  เคยได้ยิน พระยาภะรตนราชา (หม่อมหลวงทศทิศ  อิศรเสนา) อดีตผู้บัญชาการ (อธิการบดี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย  ได้เล่าให้ฟังว่า  เมื่อครั้งที่ท่านเข้าสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงนั้น  มัวไปเสียเวลาทำข้อสอบคณิตศาสตร์ข้อหนึ่งที่ค่อนข้างยาก  กว่าจะแก้โจทย์ข้อนั้นเสร็จ  ก็ทำให้ทำข้อสอบที่เหลือไม่ทัน  จึงตกไปเป็นคนที่ ๓  ซึ่งต้องไปเรียนครูตามเงื่อนไขของการให้ทุน  ในเวลานั้นคนที่สอบได้ที่ ๑ สามารถเลือกเรียนวิชาอะไรก็ได้ตามใจสมัคร  ที่ ๒ ต้องเรียนวิชาทหาร  และที่ ๓ ต้องเรียนครู

ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ  ณ นคร ท่านเตยเล่าให้ฟังว่า  ท่านเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่ง  จบชั้น ๖ จากพิริยาลัย จังหวัดแพร่  แล้วไปเรียนชั้น ๗ - ๘ (มัธยมปีที่ ๗ - ๘ ปัจจุบันคือ ม.๕ - ๖) ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย  เชียงใหม่ ๑ ปี  แล้วต้องมาเรียนชั้น ๘ ซ้ำที่ สวนกุหลาบวิทยาลัยอีก ๑ ปี เพื่อจะสอบชิงทุนสิงส์สกอร์ลาชิป

มีข้อที่น่าสังเกตตรงที่นามสกุล ณ นคร ของท่านอาจารย์ประเสริฐ  ที่ชวนให้คนหลงไปว่า ท่านต้องเคยเรียนหนังสือที่ปักษ์ใต้ตามสายสกุลของท่าน  แต่โดยข้อเท็จจริงท่านติดตามบิดาของท่านซึ่งไปรับราชการอยู่ที่เมืองแพร่  จึงได้เรียนที่เมืองแพร่มาโดยตลอดจนจบมัธยมปีที่ ๖


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.ค. 06, 00:51
 แต่ผมเคยอ่านอ.ประเสริฐท่านเล่าว่าท่านเรียนเก่งมากมาแต่เด็กนะครับ

ที่ซ้ำชั้น ม.8 เพราะซุ่มครับ ท่านว่าสมัยนั้นเด็กสวนฯเก่งๆจะยอมเรียนซ้ำชั้น ม.8 ซุ่มลุ้นเอาทุนคิงส์กันทั้งนั้นครับ

จะว่าไปแล้ว สมัยผมก็มีปรากฏการณ์คล้ายๆกัน เด็กส่วนใหญ่จะสอบเทียบกันไปตั้งแต่ ม.4-ม.5 เด็กที่ได้ที่ 1 ประเทศไทยมักเป็นเด็ก ม.5 และจะมีบางคนไม่ยอมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่จะเรียนต่อ ม.6 เพื่อสอบชิงทุนคิงส์ครับ


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: สุรัชน์ ที่ 01 ก.ค. 06, 11:33
 ขอบคุณคุณpipatอกครั้ง ในช่วงแรกที่มีคนส่งsmsให้ผมผ่านช่องทางนี้ ผมก็ไม่ทราบเช่นกัน คงต้อบอกว่า โง่พอกันมั้งครับ  

เรื่องของเกาส์ สั้นๆเป็นดังนี้ครับ
...เหตุการณ์ที่แสดงความอัจฉริยะของเกาส์ให้คนทั่วไปได้ทราบ เกิดขึ้นเมื่อเขายังเป็นเด็กชายเกาส์อายุ 7 ขวบ ในห้องเรียนวันหนึ่ง ครูสั่งให้นักเรียนบวกเลขตั้งแต่ 1 ถึง 100 ครูเพียงแค่หันหลังไป เด็กชายเกาส์ก็ตอบขึ้นมาว่า 5,050 เมื่อถูกถามว่าได้คำตอบนั้นมาได้อย่างไร เด็กชายเกาส์เขียน

  1 +   2 +   3 + ... + 100
100 +  99 +  98 + ... +   1
---------------------------
101 + 101 + 101 + ... + 101  = 101 x 100 = 10100
ดังนั้นคำตอบคือ 10100 / 2 = 5050 ....

สำหรับเรื่องอาจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร นั้น ผมจำได้ว่าเคยอ่านในหนังสือนักวิจัยของไทยที่ห้องสมุดตอนเป็นนักเรียน และได้อ่านเกร็ดคร่าว ๆ เชิงคณิตศาสตร์ของท่าน ในมติชน ว่างๆเดี่ยวจะลองค้นนะครับ ... แต่ดูเหมือนว่าทุกๆท่านจะรู้จักอาจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ดีกว่าผมมาก ผมเองคงจะนำเสนอท่านได้ในมุมมองด้านคณิตศาสตร์ครับ

ส่วนเรื่องอินเดียกับศูนย์นั้น ขอติดไว้ก่อนนะครับ ตอนนี้ถ้าสนใจก็อ่านลิ้งและหนังสือแนะนำไปก่อนครับ
The Nothing that Is : A Natural History of Zero
by Robert Kaplan

 http://en.wikipedia.org/wiki/0_(number)
http://www-history.mcs.st-andrews.ac.uk/HistTopics/Zero.html


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 ก.ค. 06, 14:00
 คนอื่นรู้จักอาจารย์ประเสริฐ แบบที่ใครๆก็รู้จัก
คุณสุรัชน์น่าจะรู้จักท่าน แบบที่ท่านอยากให้ใครๆรู้จัก

เอ่อ...ภาษาคนไม่ฉลาดน่ากลัวจะเป็นแบบนี้กระมัง ฮิฮิ....

เรื่องเด็กอัจฉริยะนั่น ผมเคยอ่านตอนเด็กๆว่า วันนั้น เด็กในห้องมันเกเรกันจัง หรือเอาแต่เล่นประมาณนี้มังครับ
ครูประจำชั้นเลยแก้เผ็ดด้วยการสั่งการบ้านชนิดทุกคนนั่งนิ่งบวกเลขกันทั้งห้อง
มีแต่เด็ก..ยะนี่ คนเดียว ทำนู่นทำนี่จนหมดเวลา ไม่ทำเลขเลย
แต่เป็นคนเดียวที่ตอบถูก

ผมก็ลืมแล้วว่าอ่านมาจากใหน คงเป็นพวกวีรธรรม หรือนิตยสารช่างอากาศ...จำได้แต่ว่า
เด็กคนนี้เจ๋งจริง อยากเป็นอย่างเขา แต่ดันตกเลขเสียนี่เรา

เรื่องเลขศูนย์นี่ อยากฟังจากคนไทยเล่า ฝรั่งเล่ามันไม่มันครับ
ขอบคุณไว้ล่วงหน้าซะเลยนะครับ


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: สุรัชน์ ที่ 01 ก.ค. 06, 14:05
 ลองค้นๆดูก็พบว่า เดี๋ยวจะลองไปหาหนังสือสองเล่มนี้มาอ่านก่อนครับ
+ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด
+80 ปี ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: สุรัชน์ ที่ 01 ก.ค. 06, 14:15
 เมื่อกี้ลองถามนักวิชาการคณิตศาสตร์ศึกษาท่านหนึ่ง นั่งใกล้ๆกันว่ารู้จัก ดร.ประเสริฐ ณ นคร ไหม ปรากฏว่าไม่รู้จักครับ คงเป็นเพราะอยู่คนละสายกัน  

คณิตศาสตร์สำหรับวรรณคดีhttp://www.ipst.ac.th/ThaiVersion/publications/in_sci/wankadee.pdf

 


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 02 ก.ค. 06, 06:57
 ที่ท่านอาจารย์ ท่านว่า ท่านเรียนไม่เก่งนั่น  ท่านล้อผมครับ  

ไม่เก่งได้อย่างไรเรียน ๗ ข ๘ ปีเดียว  แล้วจบด้วย  สมัยนั้นอย่าว่าแต่นักเรียนต่างจังหวัดเลยครับ  แม้แต่นักเรียนในกรุงเทพฯ ยังสอบผ่านชั้น ๘ ได้ปีละไม่กี่คน  บางโรงเรียนตกยกชั้นก็มีให้เห็นบ่อยๆ

มีเรื่องขันๆ เกี่ยวกับการสอบชั้น ๘ ก่อนที่จะยุบชั้น ๘ เปลี่ยนไปเรียนเตรียมทั้งหลาย  ทั้งเตรียมนายร้อย  เตรียมนายเรือ  เตรียมอุดมศึกษา  เตรียมแพทย์  เตรียม มธก.  เรื่องนี้มีอยู่ว่า เจ้านายองค์หนึ่งท่านรับสั่งให้ฟังว่า เมื่อท่านทรงเรียนชั้น ๘ นั้น องค์ท่านสอบตกภาษาไทย  เลยต้องซ้ำชั้น ม.๘  รับสั่งว่า  ไม่ว่าจะสอบวิชาอื่นได้คะแนนชั้นเยี่ยมเพียงไร  ถ้าตกภาษาไทย  ต้องซ้ำชั้น  เมื่อเสด็จกลับวังก็เลยโดนเสด็จฯ พระบิดา  ซึ่งพวกเรายกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งวิชาการสาขาหนึ่ง  ทรงเอ็ดเอา  ในขณะที่ท่านชายอีกองค์หนึ่งที่เรียนชั้นเดียวกันและทรงเป็นโอรสของเจ้านายที่ได้ชื่อว่าเป็นนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียง  ก็ทรงตกภาษาไทยเหมือนกัน  เมื่อเสด็จกลับถึงวังที่ประทับก็ทรงโดนอ็ดเหมือนกันอีก  แต่ทั้งสององค์ก็ทรงยกตัวอย่างอีกองค์หนึ่งขึ้นเพ็ดทูลกับพระบิดา  ก็เลยรอดตัวไปทั้งสององค์


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 ก.ค. 06, 18:44
 สมัยอยู่เตรียมอุดม ร้องเพลงปิ่นหทัยคล่องปรื๋อค่ะ
นานมากแล้วแต่รู้สึกเหมือนไม่กี่ปี
จนปีที่แล้วไปเที่ยวฮอยอัน กับเพื่อนเตรียมห้อง 38
ไปเจอผู้ร่วมก๊วนก็จบเตรียมแต่อายุเลยวัยเกษียณค่ะ
เพื่อนเลยขึ้นเพลงปิ่นหทัย.....
วันเดือนปีี๊ ที่ผ่านมา...
ปรากฎว่าจอดแค่ สงวนบุญหนุนเลื่อนเสียงครูเสียงเพื่อนแจ่มใจ...ทั้งสามคนค่ะ
...
แต่ความรู้สึกตอนนั้นชื่นมื่นมาก


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ก.ค. 06, 18:55
 อ่านบทความที่แนะนำแล้วครับ คุณสุรัชน์
ทำเอาผมซึ่งอยู่ฝ่ายคำนวณไม่เป็น นั่งทำตาปริบๆ จะเถยงก็ไม่รู้จะเถยงยังไง

สมมติว่าเราพบบทประพันธ์เพิ่ม ค่าเฉลี่ยนี้ก็อาจจะใช้ไม่ได้สิครับ แล้วนักวิจัยเขามั่นใจแค่ใหน ว่าบทละคอนทั้งหมดเป็นของจริง...และแม้ว่าจริง จะตรงกับต้นฉบับมากน้อยแค่ใหน เพราะการพิมพ์มักจะสร้างความเพี้ยน และเชคสเปียร์กฌไม่ได้จัดพิมพ์ดดดดด้วยตัวเอง.......

เคยได้ยินคนเล่าว่า หนังสือสามก๊กนั้น ก็ใช้ศัพท์ไม่มากนัก
ส่วนพระไตรปิฏกนี่ มีฉบับดิจิตอลแล้ว
ไม่รู้ว่าวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ได้หรือไม่

ขอบคุณที่แนะนำบทความดีๆให้อ่านครับ


กระทู้: 100 ปี ม.ล.ปิ่น มาลากุล
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 12 ก.ค. 06, 14:36

มอบให้ผู้รู้ทุกๆท่านค่ะ