เรือนไทย

General Category => วิเสทนิยม => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 12, 20:39



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 12, 20:39
คุณเทาชมพูแหย่ให้ผมตั้งกระทู้อาหารป่า ก็เลยลองดูครับ

ผมจะขอเริ่มด้วยคำว่าอาหารป่า ซึ่งน่าจะมีใน 2 ลักษณะ คือ ของป่าหรือของหายากเอามาปรุงในเมือง ในลักษณะหาเครื่องปรุงได้ครบแต่ไม่ใช้ และของป่าที่ปรุงอยู่ในป่า ปรุงตามเครื่องที่จะหาได้ (ตามมีตามเกิด)
สำหรับความต่างที่สำคัญนั้น ผมเห็นว่าที่เป็นสาระ คือ
     - การใช้กะทิกับการไม่ใช้ การใช้เกลือเป็นหลัก และการใช้น้ำตาลกับการไม่ใช้
     - การใช้เครื่องปรุงทดแทนเครื่องปรุงที่ใช้กันตามปกติ
     - การปรุงรสให้ออกรสเข้มข้นจัดจ้าน (เผ็ดคือเผ็ด ร้อนคือร้อน เป็นต้น)
     - ความเป็นอาหารป่านั้น ไม่ว่าข้าวหรือกับข้าวจะร้อนหรือเย็นก็จะได้รสชาติอร่อยเหมือนกัน คือ อร่อยทั้งนั้น
     - อาหารป่าไม่ใช่อาหารที่ปรุงแบบพิศดาร (เป็นลักษณะของ exortic มากกว่า wierd (weird))
     - หลายอย่างที่เรียกว่าป่ามิใช่เป็นของป่าจริงๆ เช่น หมูป่า หรือตะพาบน้ำ
     - เครื่องปรุงจากป่าหลายๆอย่าง ในปัจจุบันนี้หาซื้อได้ไม่ยาก เช่น ผักกูด ยอดกุ่ม ฯลฯ

ดังนั้น อาหารป่าที่ผมจะพยายามเล่าต่อไปนี้ ก็คือ อาหารที่ทำกินกันเมื่อออกทำงานในภาคสนาม ในท้องที่ทุรกันดาน ซึ่งได้มาจากการทำงานในท้องที่ ถิ่นต่างๆ ครึ่งๆระหว่างของป่ากับของเมือง และครึ่งๆระหว่างเครื่องปรุงแบบตามมีตามเกิดกับที่พอมีแต่ไม่ใช้ครับ

   
     


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 12, 21:24
จะขอเริ่มด้วยเมนูน้ำพริก ซึ่งน้ำพริกนั้นเป็นกับข้าวประจำของอาหารในป่า

น้ำพริกปลากระป๋องครับ
เอาวิธีการทำก่อนแล้วค่อยบอกที่มานะครับ ลองทำกินเย็นวันพรุ่งนี้ได้เลย ง่ายมากๆ
หาปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศมา 1 กระป๋อง จะบอกยี่ห้อที่เกือบจะไม่ต้องปรุงรสเลยก็ดูจะเป็นการโฆษณาไป (Tip - ของประเทศติดไทยทางใต้) ปอกหอมแดงสัก 6-7 หัว หั่นผ่าสี่ ปอกกระเทียมหนึ่งหัว เอาพริขี้หนูสวนสัก 10-15 เม็ด หรือพริกขี้หนูเม็ดใหญ่ที่มักจะเรียกว่าพริกขี้หนูก็ได้ (มากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ค่อยไปปรับกันเอาเอง) หั้นพริกเป็นท่อนๆเสียก่อน เอาหอม กระเทียมพริก ใส่ครก ใส่เกลือลงไปสักประมาณหยิบมือนึง (เพื่อช่วยในการโขลกให้แหลก) โขลกพอดูแหลก เปิดปลากระป๋องเทใส่ในครก บดขยี้และโขลลกให้เข้ากันทั้งหมด เอากะทะตั้งไฟ ใส่น้ำมันนิดหน่อยสักประมาณ 1-2 ช้อนกินข้าว พอน้ำมันร้อนค่อนข้างมาก ก็เอาของในครกทั้งหมดเทลงไป ผัดเคล้าให้ทั่ว อย่าให้ไหม้ติดก้นกะทะนะครับ อนุญาตให้ไหม้ได้นิดๆหน่อยๆ พอเห็นว่าของในกะทะแห้งและเริ่มมีกลิ่นหอม เอาน้ำใส่ครกล้างให้ทั่วแล้วเทลงในกะทะ คนให้ทั่ว พอเิริ่มเดือดปุดๆ หากเห็นว่ายังแห้งเกินไปที่จะเป็นน้ำพริก ก็เอาน้ำล้างอีกครกหนึ่งใส่ลงไปพอให้เหลวพอดีๆ พอเดือดปุดๆ คนให้ทั่วสักพัก ปรุงรสให้ออกเค็มด้วยน้ำปลาดี ตักออกใส่ถ้วย หากประสงค์จะให้ออกรสแบบน้ำพริกทั่วไปก็บีบมะนาวสักครึ่งผลใส่ลงไป ผักแนมที่เหมาะมากๆคือหน่อไม้ต้ม แต่จะเป็นผักกาดขาวก็ได้ แตงกวาก็ได้ มะเขือเปราะก็ได้ รวมทั้งมะเขือลูกเล็กต่างๆ แต่หากจะเป็นมะเขือพวง ลองเอาไปเผาดูก่อนให้พอสุกหรือเิ่ริ่มปริแตกจะหวานอร่อยมาก ลองหาผักดูเอาเองเถอะครับ อร่อยทั้งนั้น ผมสังเกตว่า ผักพวกมีกลิ่นและรสดูจะไม่ค่อยไปด้วยกัน เช่น มะระ ใบบัวบก ชะอมทอดไข่ หรือมะเขือชุบไข่ทอด
อร่อยแล้วบอกกันด้วยนะครับ

ขอต่อเรื่องราวที่มาที่ไปของน้ำพริกนี้ในวันพรุ่งนี้นะครับ

 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 09:42
ดิฉันเป็นคนไม่กินอาหารเผ็ด  ก็เลยไม่ค่อยมีโอกาสกินน้ำพริก   แต่อ่านที่คุณตั้งเขียน ได้ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง   ชวนน้ำลายไหล
อาหารป่าในชีวิตจริงกับอาหารป่าในนิยาย เช่นเพชรพระอุมา นิยายโปรดของดิฉัน  เป็นคนละเรื่องกันเลย   รอคุณตั้งเล่าต่ออีกสักพักแล้วจะเอาอาหารป่าในนิยายมาช่วยปั่นกระทู้ค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 28 ก.พ. 12, 17:49
ปลากระป๋องยี่ห้อที่คุณตั้งเล่า(Tip-ของประเทศติดไทยทางใต้) ต้องแปลว่าไก่ แน่ๆเลย... ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 28 ก.พ. 12, 17:53
ส่งมาอีกหนึ่งเมนูเด็ด .. ตัวอะไรเอ่ย.. ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 19:57
เวียนเข้ามาดู ๓ รอบแล้วค่ะ   อยากรู้คำตอบว่ามันตัวอะไร   เก้ง? กวาง?
คงไม่ใช่เมนูเด็ดแถวสกลนครนะคะ  :-\


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 20:21
^
^

(http://www.jokechao.com/index.php?action=dlattach;topic=4532.0;attach=32065;image)

น่าจะเป็นแกะหัน

อา-หย่อย

 ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 20:38
หาปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศมา 1 กระป๋อง จะบอกยี่ห้อที่เกือบจะไม่ต้องปรุงรสเลยก็ดูจะเป็นการโฆษณาไป (Tip - ของประเทศติดไทยทางใต้)

มารับประกันว่ายี่ห้อนี่อร่อย

 ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 21:11
ถ้าเป็นแกะจริงๆ ก็นึกถึงอาหารจานโปรด


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 12, 21:40
สำหรับสัตว์ที่ย่างหันนั้น ก็คงจะเดายากสักหน่อย
เอาเป็นว่า เมื่อเราต้องการปิดบังมิให้คนอื่นๆมีความรู้สึกที่ไม่ดี เราก็มักจะตัดหัวออกไป นึกดูนะครับสุนัขกับแพะ เมื่อตัดหัวตัดเท้าทั้งสี่ออกไป เดายากเลยครับ สัตว์ทั้งสองย่างนี้อร่อยทั้งคู่หากทำดีๆ ไม่ให้มีกลิ่นสาบหลงเหลืออยู่ ยิ่งย่างได้แห้งในระดับหนึ่งแล้วยิ่งยากมากที่จะบอกว่ากินอะไรเข้าไป เนื้อสุนัขดูจะมีลักษณะชุ่มมันมากกว่าเนื้อแพะเท่านั้นเอง
ตามภาพนี้ หากจะเดาก็คงจะต้องวิเคราะห์ก่อน ดูจากส่วนตะโพกและขาหลังและขนาดของตัวสัตว์ คงไม่น่าจะใช่พวกลิงและค่าง ส่วนหน้าอกใหญ่มาก เหมือนเป็นพวกสุนัข แพะ และเก้ง (โดยเฉพาะเก้งหม้อ) ไม่ใช่กวางเพราะขนาดตัวเล็กเกินไป แต่กล้ามเนื้อที่บริเวณน่องของขาหลังและลักษณะของขาหน้าดูน่าจะไม่ใช่สุนัข น่าจะใกล้เป็นแพะแต่ก็ตัวใหญ่มากทีเดียวนะครับ จะว่าเป็นลูกวัวก็ดูส่วนขาหลังจะเล็กเกินไปแต่ก็มีส่วนหนอกให้ภาพนั้นที่ทำให้คิดว่าเป็นไปได้เช่นกัน
ยกเว้นจะทำแบบที่เขาไม่ค่อยจะทำกัน คือ เอาเก้งมาย่าง แต่เนื้อเก้งทำวิธีอย่างอื่นอร่อยกว่าเยอะครับ อีกประการหนึ่ง พื้นที่ที่เขามาล้อมวงกันนี้อยู่ในพื้นที่ราบ ดินชื้นแน่ๆ จึงมีต้นก้ามปูให้เห็น และต้นมะพร้าวสูงด้วย แสดงว่าเป็นบ้านเก่าที่อุดมสมบูร์พอสมควร เก้งในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยจะพบได้ในละเมาะป่าใกล้ๆพื้นที่แบบนี้ แถมจะยิงเอามาผ่านหูผ่านตาคนชาวบ้านอีกมากก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่อำนวย ผิดกฏหมายด้วย  
 
เดาไม่ออกครับ น่าจะลูกวัว ไม่คิดว่าจะอุตตะริเอาสุนัขมาย่าง แล้วแพะก็ดูจะหาซื้อยาก
ก็คงผิด รอเฉลยดีกว่า


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ก.พ. 12, 22:18
ระหว่างแกะกับแพะ เชื่อว่าเป็นแกะมากกว่า

เมืองไทยหาแกะมาย่างง่ายกว่าแพะ

เผอิญมีรูปถ่ายที่ตลาดพม่า

แพะหารับประทานได้ง่าย

กว่าเมืองไทยนัก

 ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 12, 22:21
ใช่แล้วครับปลากระป๋องยี่ห้อนั้น
ว่าจะบอกที่มาของน้ำพริกปลากระป๋อง
เป็นดังนี้ครับ
ผมได้มาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2516 ที่เหมืองปิล็อก อ.ทองผาภูมิ ซึ่งเป็นเหมืองขององค์การเหมืองแร่

วิธีการดั้งเดิมที่ทำกัน คือ ติดเตา ตั้งกะทะใ้ห้ร้อน เอาพริขี้หนูสดสักกำมือหนึ่งใส่กะทะ คั่วให้พอสยบและผิวเกรียมใหม้เป็นจุดๆ เอาใส่ครก เอาหอมแดง 8-9 หัวและกระเทียม 1-2 หัวหมกใต้เตาให้สุก แกะเปลือกแล้วใส่ครก โขลกให้แหลก เปิดปลากระป๋อง (สมัยนั้นยังเป็นกระป๋องรูปทรงรี) สัก 2 กระป๋อง เทใส่ครก ยี โขลกให้ส่วนผสมเข้ากัน เอากะทะตั้งไฟอีกครั้ง เอานำมันหมูใส่สักตะหลิวนึง พอน้ำมันร้อน เอาเคื่องที่โขลกในครกทั้งหมดลงผัด เติมน้ำปลาหรือเกลือให้ออกรสทางเค็ม เอาน้ำล้างครกเทใส่ลงไปให้มีความข้นพอดีๆเป็นน้ำพริก ตักใส่ชามกะละมัง จะกินกับข้าวเปล่าๆหรือกับผักแนมตามมีตามเกิดก็ได้

ที่มาก็คือ ปลากระป๋องเป็นอาหารที่สะสมไว้ได้นาน ไม่เสียง่าย ในสมัยนั้น เมื่อเข้าฤดูฝน ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน การส่งสะเบียงลำบากมาก ทางรถแคบและไต่เขาสูงชัน วิ่งสวนสวนกันลำบาก มีหล่มโคลนตลอด จึงมีการกำหนดวันรถขาขึ้นและขาล่อง แต่มีรถเป็นจำนวนมากมักจะตายอยู่กลางทาง วันเดียวไปไม่ถึงที่หมาย บางคัน ถั่วเขียวที่อยู่ในกระสอบงอกกินได้เลยทีเดียว ดังนั้นในฤดูแล้งจึงมีแต่เรื่องของการตุนเสบียง เช่น ข้าวหลายร้อยกระสอบ ถั่งเขียวซิ่งกินกันทั้งคนพม่า แขกพม่า (ทำแกงดาล) และคนไทยกินต้มน้ำตาล ปลาเค็ม ปลากระป๋อง พริกแห้ง หอม กระเทียม เหล้าโรง นมกระป๋อง ฯลฯ อาหารสดบางอย่างไม่ขาด แถมยังกินดีด้วย เช่นปูดำ ไข่เต่า กุ้งแม่น้ำ ปลาหัวยุ่ง ปลาสละเค็ม ซึ่งชาวพม่าแบกจากฝั่งพม่าขึ้นมาขาย

ปลากระป๋องจัดได้ว่าเป็นอาหารหลัก กินได้ง่าย และรวดเร็ว เดิมก็กินเปล่าๆ ต่อมาก็ยำ ต่อมาก็หยาบขึ้นคือไม่ต้องยำแล้ว ยำในปากเลย คือปอกหอมหนึ่งหัว พริกสองเม็ด วางบนเนื้อปลากระป๋องที่ตักมา กินกับข้าวเลย กินบ่อยเข้า ทุกวันเข้า เป็นเวลานานทุกปี หลายๆปี เบื่อแน่นอน เลยพัฒนามาเป็นน้ำพริกปลากระป๋องที่เล่าสู่กันฟัง แล้วสาเหตุที่ต้องเอาลงกะทะผัดให้สุก ก็เพราะปลากระป๋องสมัยก่อนนั้นจัดว่าสกปรก ไม่น่ากินเลย คุณภาพไม่คงที่ มีทั้งใกล้บูดใกล้เสีย และมีแม้กระทั้งมีหนอนใส้เดือนตัวขาวๆให้เห็นในบางครั้ง

ลองทำตามแบบดั้งเดิมซิครับ ทั้งหอมและอร่อย      


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 ก.พ. 12, 22:39
รูปประกอบแต่ละรูป ใช้ปลงอสุภกรรมฐานได้ทั้งนั้น
.
.

เข้ามาเนื่องจากอยากจะถามคุณตั้งว่า ที่เคยเข้าป่ามา เคยเห็นต้นพริกที่ขึ้นอยู่ในป่าลึกๆ แบบที่ว่าไม่มีคนไปปลูกไว้ไหมครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 29 ก.พ. 12, 09:02
ภาพตัวที่ย่างอยู่ข้างบน คงไม่มีเฉลยค่ะ เพราะได้มาจากอินทรเนตร เขาไม่ได้บอกว่าตัวอะไร   ;D
ภาวนาว่าอย่าเป็นน้องหมาเลยนะคะ ไม่อยากส่งเสริมให้คนทานเนื้อหมา...

การทำอาหารเขาต้องมีขั้นตอนนะคะ ...ถ้าพลาดก็อาจต้องทิ้งทั้งหม้อ..
ทริปแรกในชีวิต เดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาวค่ะ กางเต็นท์นอนกัน
ก่อนนอนก็มีนิทานรอบกองไฟ แล้วก็ต้มถั่วเขียวรอบดึก...
ปรากฏว่ารอแล้ว รอเล่า นิทานเริ่มเล่าซ้ำแล้ว ถั่วเขียวก็ยังแข็งอยู่เหมือนตอนลงหม้อใหม่ๆ
ซักไป... ซักมา... ปรากฏว่าตอนต้ม เขาเอาน้ำใส่หม้อเอาถั่วเขียวและน้ำตาลทรายเทใส่ลงไป
แล้วก็ยกหม้อขึ้นตั้งไฟ จากนั้น พวกเราก็ รอ ร๊อ รอ .....หม้อนี้ ต้องเททิ้งค่ะ...จำได้ไม่ลืมเลย...

สมัยนั้นเดินเท้าขึ้นไปนะคะ ลำพังเดินไปแต่ตัวก็แทบแย่แล้ว สัมภาระเครื่องนอนอาหารที่แบบกไปอีก
ถั่วเขียวหนึ่งกิโล น้ำตาลทรายหนึ่งกิโล มีค่ามากนะคะกว่าจะแบกขึ้นไปถึงข้างบนนั้นได้.. แล้วต้องเททิ้ง... :'(


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 09:50
คิดว่าไม่ใช่หมาค่ะ   ตัวมันโตกว่าหมาไทยทั่วไป   ในรูปเห็นมีหมานั่งอยู่ตัวหนึ่ง  ถ้ากลุ่มคนกินเป็นพวกชอบกินหมา  คงไม่มีหมามาป้วนเปี้ยนอยู่ด้วย  
อาจจะเป็นแกะหรือแพะก็เป็นได้


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.พ. 12, 19:45
คิดว่าไม่ใช่หมาค่ะ   ตัวมันโตกว่าหมาไทยทั่วไป   ในรูปเห็นมีหมานั่งอยู่ตัวหนึ่ง  ถ้ากลุ่มคนกินเป็นพวกชอบกินหมา  คงไม่มีหมามาป้วนเปี้ยนอยู่ด้วย   
อาจจะเป็นแกะหรือแพะก็เป็นได้

ไม่อยากจะเล่าเรื่องวิธีการทำหมาตามความเชื่อของคน (ไทยภูเขา) ซึ่งยังทำกันอยู่ในปัจจุบัน เมื่อหนาวนี้ยังได้ยินเสียงเลยครับ สลดใจจริงๆครับ



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 19:56
 :'(
อ่านแค่นี้ก็เศร้าแล้วค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.พ. 12, 20:40

....ถั่วเขียวหนึ่งกิโล น้ำตาลทรายหนึ่งกิโล มีค่ามากนะคะกว่าจะแบกขึ้นไปถึงข้างบนนั้นได้.. แล้วต้องเททิ้ง... :'(

สูตรที่เป็นมาตรฐานจริงๆสำหรับคนทำงานป่าอย่างพวกผม คือ ถั่วเขียว 1 กก. น้ำตาลทรายครึ่งกิโลครับ หวานกำลังพอดี
วิธิทำก็เหมือนกับที่ทราบกันโดยทั่วไป คือ ต้มถั่วเขียวก่อน ให้สุก นิ่ม บาน จนใกล้เละ และในระหว่างการต้มให้ใส่ช้อนสังกะสีลงไปด้วย เพื่อให้ช่วยกวนถั่วเขียวให้สุกทั่วกัน จากนั้นจึงใส่น้ำตาล
หากใส่น้ำตาลลงไปพร้อมกับถั่วเขียวเป็นได้เรื่องอย่างที่คุณดีดีเล่า
ที่จริงแล้ว หากทำกินในสถานที่ที่มีครัวเป็นเรื่องเป็นราว เอาถั่วเขียวมาคั่วในกะทะเสียก่อน ให้หอม จากนั้นนำไปบดพอแตกเป็นครึ่งเม็ดหรือมากกว่านั้นก็ได้ แล้วจึงนำไปต้มตามวิธีการที่เล่ามา

ถั่วเขียวต้มน้ำตาลนี้ จัดเป็นของกินกันเหนียว เป็นอาหารเติมพลังสุดท้ายสุดๆในยามที่หาอาหารไม่ได้ ไปค้นดูรถป่าทั้งหลายเถอะครับ (รถลากไม้ รถเหมืองแร่) มีติดรถแทบจะทุกคันในจำนวนประมาณตามที่ผมเล่า ส่วนมากก็จะไม่ค่อยมีโอกาสได้นำมาทำกัน เพราะมันต้องสุดๆจริงๆ ในทำนองเดียวกัน เมื่อจะใช้การจริงๆ ถุงถั่วแตกบ้าง มีน้ำซึมเข้าบ้าง จนถั่วเขียวงอกเลย ก็ทำตามมีตามเกิดต่อไป
ในท้ายรถพวกที่ผมกล่าวถึงนี้ มักจะเห็นเข่งขนาดย่อมๆอยู่ 1 ใบ สภาพโยกไปเย้มาจนแทบจะไม่เป็นทรงรูปเข่ง ในนั้นจะมีหม้ออยู่ 1 ใบ มีกะทะและตะหลิว มีหอมใสถุงเล็กๆอยู่ถุงหนึ่ง มีพริกสีดา (พริกกะเหรี่ยง) แห้ง มีน้ำมันพืชหรือน้ำม้นหมู น้ำปลา แล้วก็มีปลากระป๋อง 3-4 กระป๋อง เป็นหลักใหญ่ ส่วนถั่วเขียวและน้ำตาลนั้นมักจะเก็บหมกไว้แถวๆที่นั่งคนขับรถ

สำหรับกรณีการเดินแบบแบกเป้สนามของพวกผมนั้น บางครั้งก็เอาถั่วเขียวกับน้ำตาลไปด้วย ขึ้นอยู่กับสภาพที่คาดเดาล่วงหน้า ตามปกติก็จะไม้พกพากันให้หนัก จะเอาออกมาทำกินกันก็เมื่อเิริ่มจะเดินกลับ เนื่องจากต้องลดน้ำหนักส่วนเกินนี้ลงไป เพราะต้องแบกตัวอย่างหิน แร่ กลับมาด้วย  



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.พ. 12, 21:12
สงสัยคุณตั้งจะไม่เห็นคำถามของผม ขออนุญาตมาลงไว้อีกที

อ้างถึง
เข้ามาเนื่องจากอยากจะถามคุณตั้งว่า ที่เคยเข้าป่ามา เคยเห็นต้นพริกที่ขึ้นอยู่ในป่าลึกๆ แบบที่ว่าไม่มีคนไปปลูกไว้ไหมครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.พ. 12, 21:17
เล่ามาแล้วว่า ส่วนหนึ่งของอาหารของพวกเหมืองแร่ที่ตุนไว้เป็นถั่วเขียว

พูดถึงถั่วเขียวก็เลยอยากจะเล่าว่าเขาเอามาทำอะไรกินกัน นอกจากเอามาต้มน้ำตาล
เอามาทำแกงดาลครับ
ทำไม่ยาก แล้วก็ไม่อร่อยอีกด้วย ยามอดไม่มีอะไรจะกินกันก็ต้องกล้ำกลืนกินเข้าไป
แกงนี้ก็ได้มาจากปิล็อกอีก เป็นอาหารช่วงฤดูฝนที่ผนตกอย่าต่อเนื่องๆๆๆๆๆ แทบจะไม่มีเวลาได้แห้งเลย ออกไปทำงานเสื้อผ้าเปียก กลับมาเปลี่ยนชุด ไอ้ชุดที่เปียกก็ตากไม่แห้งเพราะไม่มีแดด มีอยู่ 2-3 ชุดแล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องย่างให้แห้งนะซีครับ
ติดไฟเตาอั้งโล่ให้ถ่านติดแดงทั่วกัน แล้วก็ลดความแรงลงด้วยขี้เถ้า เอาสุ่มไก่มาครอบ เอาเสื้อผ้าที่เปียกนั้นมาวางบนสุ่มไก่ เพื่ออังไฟให้แห้ง ซึ่งมันไม่เคยแห้งเลยครับ มีแต่ค่อนข้างจะแห้งพอใส่ได้ ซึ่งก็ดีกว่าเปียก ลองทำดูครับ สนุกดี ใส่เสื้อผ้าพวกนี้แล้วเดินสวนกันแทบไม่ได้ กลิ่นมหาปะลัยเลยทีเดียว ต้องแยกตัวเองออกห่างจากคนอื่นๆเพื่อลดการดมกลิ่นสาปมหาปะลัยนั่น ในทำนองเดียวกันเขาก็ต้องทำเหมือนกัน ไม่ยืนใกล้กันคุยกันหรอกครับ ต้องยืนจุ๊ยวางมาดอยู่ห่างกัน

กลับมาเรื่องแกงดาลดีกว่านะครับ
เอาถั่วเขียวมาคั่วให้หอม สุกพอๆกับที่เอามาโรยหน้าข้าวเหนียวมะม่วงนั่นแหละ จะให้เกรียมหน่อยก็จะดี เอามาบดขยี้ด้วยขวดให้แหลก เอาเม็ดยี่หร่ามาคั่วให้หอม บดให้แหลกเช่นกัน เอาพริกแห้งมาคั่วในกะทะให้หอมแล้วใส่ครกโขลกให้แหลก หากพอจะหาเม็ดผักชีได้ก็ทำแบบเดียวกัน กะดาลาสักแว่น (อบเชย เรียกตามภาษาถิ่น) ก็คือทำผงกะหรี่นั่นแหละครับ แต่แบบไม่ครบเครื่อง เอาเครื่องแกงลงผัดในกะทะ ใส่น้ำมันนิดหน่อย เอาถั่วลง เคล้าให้ทั่ว ใส่น้ำเปล่า คะเนดูว่ามากพอที่จะทำให้แกงเละเหมือนโคลน เคี่ยวไปจนเห็นว่าถั่วนิ่มตามที่พอใจแล้ว ใส่เกลือ ชิรสแล้วยกลง เอาหอมแดงมาซอยแล้วเจียวให้หอมโรยลงไป กินกับข้าวสวยครับ

แกงนี้พวกคนงานเหมืองชาวพม่าเขากินกันเป็นประจำวัน

สำหรับผมอาจจะต้องทำโรตีเพิ่ม สำหรับกินกับแกงนี้ ก็ทำง่ายแต่ยากครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.พ. 12, 21:53
สงสัยคุณตั้งจะไม่เห็นคำถามของผม ขออนุญาตมาลงไว้อีกที

อ้างถึง
เข้ามาเนื่องจากอยากจะถามคุณตั้งว่า ที่เคยเข้าป่ามา เคยเห็นต้นพริกที่ขึ้นอยู่ในป่าลึกๆ แบบที่ว่าไม่มีคนไปปลูกไว้ไหมครับ

เห็นคำถามแล้วครับ ไม่ลืมที่จะตอบเกลอหรอก กำลังจะตอบอยู่พอดีครับ
คำตอบก็คือ พริกป่าที่เป็นของป่าในธรรมชาติจริงๆนั้นไม่เคยเห็นครับ
แต่มีพริกที่อาจจะอนุโลมเรียกว่าพริกป่าได้ เป็นพริกที่เกิดจากเม็ดที่ชาวบ้านป่าเขาเอาติดตัวมาทำอาหารกินกัน ซึ่งแยกออกได้เป็น 2 พวก คือ พวกที่ตั้งใจจะปลูกไว้เผื่อกินเองในวันหลังและให้คนอื่นที่เดินทางผ่านมากิน กับพวกที่ขึ้นจากเม็ดที่ตกหล่น หรือถูกทิ้งไว้ ทั้งสองพวกนี้พบอยู่ตามชายตลิ่งริมห้วย ซึ่งอาจจะเป็นบริเวณที่ตรงที่มีที่ราบพอหลับนอนหุงหาอาหารกันได้ หรือในพื้นที่ราบที่เป็นแหล่งอาศัยเดิมซึ่งย้ายถิ่นฐานออกไปนานแล้ว ยังไม่เคยได้เห็นต้นพริกที่เกิดอยู่ห่างจากด่านทางเดินของคนและสัตว์

คนชาวบ้านป่าเขามีปรัชญาแนวคิดในการทำบุญให้ทานเป็นทุนอยู่ในจิตใจ ดังนั้น พวกพริก ตะใคร้ มะเขือ พวกนี้เมื่อทำอาหารกินพอแล้วก็จะปลูกไว้ริมตลิ่งห้วย หรือในที่ๆเหมาะสมที่อาจจะมีคนเดินสัญจรผ่าน ให้ธรรมชาติดูแลไป คนที่เดินผ่านมาเช่นพวกผมและชาวบ้านอื่นๆ เมื่อขาดก็จะเก็บไปทำกิน แล้่วก็ช่วยรดน้ำพรวนดินตามสมควร เพื่อให้มันงอกงามต่อไป ดูจะเป็นกติกาที่รู้ได้ด้วยตนเอง ตะใคร้ที่ใช้ทำอาหารนั้น เราจะไม่ใช้ถึงโคน จะให้เหลือมากพอที่มันจะงอกต่อไปได้แล้วปลูกมัน มะเขือนั้นขึ้นง่ายมาก โดยเฉพาะมะเขือพวง ดังนั้นจึงมักจะพบต้นมะเขือพวงบ่อยครั้ง ทั้งจากพวกที่ขึ้นจากขี้นก ซึ่งบางครั้งเป็นดงเลยทีเดียว พริกนั้นไม่เคยพบเป็นดง มักจะพบตามตลิ่งริมห้วยแหล่งละต้น สองต้น
ลักษณะที่เล่ามานี้ พบทั้งในภาคตะวันตกและในภาคเหนือ สำหรับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นไม่สันทัด เคยเห็นแต่ที่อยู่ตามหัวไร่ปลายนา จะเป็นการตั้งใจปลูกหรือขึ้นเองไม่ทราบ แต่ก็เป็นที่ทราบว่าเก็บกินได้ ไม่หวง ตราบใดที่ไม่เก็บมากจนกลายเป็นการเก็บตุน

จะเล่าเรื่องไร่ธารก็จะยาวไป เอาไว้ค่อยๆเล่าต่อไปนะครับ     



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 12, 22:01
สงสัยเรื่องพริกป่าอยู่เหมือนกัน
ที่คุณตั้งเจอในป่า  หน้าตาเป็นอย่างนี้หรือเปล่าคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ก.พ. 12, 22:21
อึมม์ ก็มีเหตุมีผล

ฉะนั้น ต้นพริกสูงประมาณสองเมตรเศษที่ผมกับเพื่อนสี่ห้าคนเคยพบกลางป่าดิบเขาต้นน้ำแก่งกระจานสมัยเกือบห้าสิบปีก่อนนู้น ก็คงมีคนกระเหรี่ยงไปปลูกไว้

ต้นพริกที่ว่ากำลังออกลูกขนาดเท่าพริกขี้หนู แต่ผอมบางเหมือนก้านไม้ขีด สีเขียวสดเต็มต้น ขณะกำลังช่วยกันเก็บยังแสบตาจนน้ำตาไหลทั่วกัน สักพักก็รู้สึกแสบนิ้วมือนิ้วไม้ มื้อเย็นวันนั้นเอาออกจากถุง ยื่นให้กระเหร่ยงคนนำทาง เขายิ้มแล้วสั่นหัว คนกรุงกัดไปนิดนึงโอดโอยกันไปทั่ว
เสียดาย ตอนนั้นเด็กเกินไปที่จะทำอะไรได้มากกว่าจำ

ฤาจะต้องเชื่อว่าบรรดาพริกทั้งหลายในเมืองไทยนี้ คนปอร์ตุเกตเป็นคนนำเข้ามาทั้งสิ้น


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 15:49
พลิกเปิด "เพชรพระอุมา" เพื่อจะดูเมนูอาหารในแคมป์ของรพินทร์ ไพรวัลย์    พบว่าไม่มีฉากไหนเลยที่เชษฐา ดาริน ไชยยันต์ หรือรพินทร์ต้องมาผัดปลากระป๋องในกระทะ   ตามเมนูของคุณตั้ง
เป็นอันว่าปลากระป๋องและน้ำพริก  สงวนไว้ในชีวิตจริงของนักธรณีวิทยา    แต่ว่านิยายที่เขียนเมื่อประมาณพ.ศ. 2500  สมัยคุณพนมเทียนยังหนุ่ม บุกป่าล่าสัตว์ด้วยตนเอง     พระเอกนางเอกของท่านกินอยู่กันอลังการ   เป็นคนละป่ากันเลยทีเดียว

มื้อแรกที่ขบวนเข้าป่าของม.ร.ว.เชษฐา ไปค้างคืนแรกกันในป่า  ตื่นขึ้นมาตอนเช้า แงซายยกสเต็กหมูป่าและซุปเนื้อสันในกวางเข้าไปเทียบถึงเตียงนอนในเต๊นท์
คืนต่อๆมา ซัปเปอร์มื้อดึกริมกองไฟ  คือซุปเนื้อสันในวัวแดงที่ยิงได้  เคี่ยวจนได้ที่ในหม้อบนกองไฟ
จากนั้นนางเอกก็ยิงเม่นได้ ๓ ตัว   เอามาทำเนื้อเม่นย่าง แบบบาบิคิว   กลิ่นหอมหวนเหมือนเป็ดย่าง  ให้พรานป่ากินแกล้มกับเหล้าขาว
พระเอกนางเอกคุยกันด้วย  ว่าปีๆ พรานป่าล้มช้างมาทำเนื้อเค็ม  เคี่ยวน้ำมันส่งไปขาย เป็นน้ำมันใส่ปี๊บ วางขายในเมืองหลวง  โดยชาวกรุงก็ไม่รู้   ใช้น้ำมันช้างทอดอาหารกันเพลินไป


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 20:56
กลับมาเรื่องเมนูอาหารในเพชรพระอุมาอีกครั้งค่ะ
สมัยปี 2500 คงไม่มีพ.ร.บ. สงวนพันธุ์สัตว์ป่าละมัง     คณะของรพินทร์ ไพรวัลย์จึงล่าสัตว์ได้ไม่จำกัด    อาหารโปรตีนในเรื่องนี้หาได้อย่างอุดมสมบูรณ์
ไชยยันต์ยิงวัวแดงได้ถึง 2 ตัว   ลูกหาบยิงกวางได้   นอกจากนี้ใกล้ๆแคมป์ยังอุดมไปด้วยไก่ป่า นกเขาเขียว และกระทาดง    จึงไม่แปลกที่ดารินสามารถทำอาหารระดับภัตตาคารให้คนอื่นๆรวมทั้งลูกหาบกินกันได้อย่างอิ่มหนำสำราญ
รายการอาหารในเล่มที่ 2  มี  แกงเขียวหวานกวาง  มัสมั่นวัวแดง   นกเขาเขียวตุ๋นกับมะนาวและถั่วกระป๋อง  (แสดงว่ามะนาวขึ้นเองในป่า ไม่น้อยหน้าพริกขี้หนู)  ถั่วกระป๋องนั้นใส่ลังมาในเกวียน   กระทาดงอบซีอิ๊วและเครื่องเทศ    และมีต้มยำปลาก้าง  อย่างหลังนี้ถามคุณเพ็ญชมพูแล้ว  ได้ความว่าไม่ใช่ปลาก้างพระร่วง แต่เป็นญาติกับปลาช่อน  เมื่อทำต้มยำก็คงอร่อยเหมือนต้มยำปลาช่อน

รพินทร์ยังจาระไนด้วยว่า ในป่า มีตะไคร้ ใบมะกรูด มะเขือพวง พริกขี้หนู มะนาว   มากมาย จะเอาสักกี่กระบุงก็ได้    หายากหน่อยก็คือโหระพา  แต่ก็พอหาได้   

สัตว์ที่ระบุในเรื่องนี้  ไม่รู้ว่าปัจจุบันหายากแค่ไหนแล้วค่ะ  วัวแดงเหลืออยู่หรือเปล่าไม่ทราบ  กวางยังมีแต่ถูกห้ามล่า  กระทาดงกับนกเขาเขียว เพิ่งเคยเห็นรูปจากอินทรเนตร


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มี.ค. 12, 21:00
สงสัยเรื่องพริกป่าอยู่เหมือนกัน
ที่คุณตั้งเจอในป่า  หน้าตาเป็นอย่างนี้หรือเปล่าคะ

ลักษณะแบบดังภาพก็มีครับ ที่ได้เห็นส่วนมากจะเม็ดยาวกว่านี้หน่อย และส่วนมากต้นจะแก่ใบมากกว่าแก่เม็ด จึงมักมีบ่อยๆที่จะเด็ดเอายอดอ่อนๆมาใส่ในแกงแทนใบกะเพรา
อย่างคุณนวรัตน์ว่าแหละครับ ส่วนมากจะเม็ดเล็กเป็นไม้ขีด ยาวกว่าพริกขี้หนูสักหน่อย แต่ไม่ใช่พริกขี้หนูแน่ๆ มันคงกลายพันธุ์ไปแล้ว ที่จริงแล้วข้อมูลที่คุณนวรัตน์เล่านี้น่าสนใจ ต้นพริกเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุยืนสักหน่อย เท่าที่เคยเห็น ต้นมักจะไม่สูงเกินกว่าเอว ผมไม่เคยเห็นต้นที่สูงขนาดประมาณ 2 เมตรอย่างที่เล่ามา ฤาที่คุณนวรัตน์ได้พบนั้นจะเป็นพริกถิ่น ไม่ได้กระจายมาจากที่คนปอร์ตุเกตนำเข้ามา
  
พริกป่าพวกนี้มีรสเผ็ดและแสบร้อนมาก (จำเรื่อง hot & bite ได้ใหมครับ แต่อย่าย้อนเรื่องกลับนะครับ) พริกที่ชาวบ้านป่าเขาปลูกกันแล้วเก็บมาทำพริกแห้ง เป็นพวกพริกกลุ่มนี้ ตากแห้งแล้วออกสีแดงส้มๆ ผมเรียกว่าพริกสีดาตามชาวบ้าน แต่คนกรุงมักจะเรียกว่าพริกกะเหรี่ยง ปัจจุบันทั่วๆไปเรียกว่าพริกแห้งที่แม่ค้าส้มตำใช้กัน    


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 21:10
พริกกะเหรี่ยง?


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มี.ค. 12, 21:13
อ่านที่คุณเทาชมพูเล่าเรื่องเมนูอาหารในเพชรพระอุมาแล้วทึ่งครับ

จะขออนุญาตไล่เรียงตอบและค่อยๆเล่าไปนะครับ เรื่องมันขัดๆยังไงชอบกล
วันนี้ตึงๆแล้ว จะขอเริ่มในวันพรุ่งนี้นะครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 มี.ค. 12, 22:05
ต้นพริกที่ผมเห็นในป่าสูงจริงๆ ข้อมูลของคุณผู้หญิงข้างล่างก็ว่าเช่นนั้นเหมือนกัน
เสียดาย ผมหารูปต้นพริกสูงๆไม่ได้เลย


http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pavita&date=05-07-2007&group=17&gblog=1

พริกกะเหรี่ยงหรือพริกลาว

บางคนบอกว่าเป็นพริกกะเหรี่ยง แต่บางคนบอกว่าเป็นพริกลาว วานผู้รู้ตอบด้วยค่ะ ที่บ้านปลูกอยู่ 3 ต้น สูงประมาณ 2.5 เมตรแล้วค่ะ ออกลูกทั้งปีเลย เพราะใช้น้ำจากบ่อปลาคาร์ฟ และใช้แร่เทคโต เพิ่มธาตุอาหารในดินค่ะ

แต่ที่บ้านไม่ค่อยทานเผ็ด (เพราะว่ามันเผ็ดมาก ขอบอก)
เลยได้แต่เก็บแจกเพื่อน ๆ ทานค่ะ ที่บ้านมีพริกขี้หนูสวนด้วยแต่ไม่ได้ถ่ายรูปไว้ค่ะ ดกมากเหมือนกัน


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 12, 22:17
รูปนี้ จาก http://www.thaimtb.com/cgi-bin/viewkatoo.pl?id=242245&st=91
มีคำบรรยายว่า
"ข้างทางเป็นไร่พริกขี้หนูหรือที่เรียกว่า"พริกกระเหรี่ยง" 

เหมือนต้นพริกที่คุณนวรัตนเคยเห็นหรือเปล่าคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 01 มี.ค. 12, 22:41
สองรูปข้างล่างจาก http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=41300.0 ค่ะ  ;D
เขาบอกว่าบ้านเขามีต้นพริกสูง 3 เมตร อีกท่านก็เข้ามายืนยันว่าบ้านเขาก็มี
แล้วก็ลงภาพคุณแม่เขากำลังปีนบันไดเก็บพริกค่ะ.....

หนูดีดี เลยเก็บมาให้ชมกันอีกต่อหนึ่ง ว่าพริกสูง 3 เมตร มีจริงๆ ค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 05:38
^
ขอบคุณมากเลยครับ
สูงใหญ่มาก เจ้าของบอกว่าอาจจะติดมากับคนงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นพริกที่ไม่ค่อยเผ็ด


คือผมเข้าไปร่วมอภิปรายในวิกโน้นเรื่องถิ่นกำเนิดของพริก โดยส่วนตัวแล้วผมเคยเห็นต้นพริกสูงท่วมหัวอยู่ในป่าดิบเขา แม้นานมาแล้วสมัยยังอยู่มัธยมปลาย แค่ติดตาติดใจอยู่ พริกต้นนั้นสูงกว่าศีรษะเล็กน้อย แต่ลูกพริกผอมกลม เผ็ดจนกระเหรี่ยงนำทางยังเมิน
 
ครั้นได้มาทราบทฤษฎีที่ฝรั่งเขียนแล้วคนไทยก็เชื่อว่า พริกทุกสายพันธุ์ในโลกนี้ ปอร์ตุเกตเป็นคนนำมาเผยแพร่ทั้งสิ้นหลังโคลัมบัสพบอเมริกา ผมเลยสงสัยว่ามันจะรวมพริกต้นที่ผมเคยเห็นนั้นด้วยหรือ ภูมิภาคแถบนี้ไม่มีพริกเป็นไม้พื้นเมืองประจำถิ่นเลยหรือ

แต่ผมก็หาภาพต้นพริกสูงขนาดนั้นไปลงให้เขาดูกันไม่ได้

http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K11752933/K11752933.html


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 09:10
พริกมีหลายพันธุ์   บางพันธุ์อาจมาจากชาวต่างประเทศ  บางพันธุ์อาจอยู่ในแหลมทองมานมนานแล้ว  ขึ้นเองตามสภาพภูมิอากาศก็เป็นได้  
ไทยมีคำว่า พริกเทศ และพริกไทย
อะไรที่มาจากต่างประเทศ  มีลักษณะบางอย่างคล้ายๆที่ไทยมีอยู่แล้ว คนไทยจะเติมคำว่า "เทศ" ลงไป    เพื่อให้รู้ว่าคนละอย่างกัน
พริกไทยนั้นเห็นจะมีอยู่ในถิ่นไทยมาแต่เดิม  จึงเรียกว่าพริกไทย   ต่อมามีพืชอีกชนิด รสเผ็ดกลิ่นฉุนเหมือนกันเข้ามาในอาณาจักร  ก็เรียกแยกไปว่าพริกเทศ     มะเขือ(ไทย) กับมะเขือเทศก็แบบเดียวกัน
ไปเปิดหาความหมายของพริกเทศ ได้ความว่า หมายถึงพริกแห้งเม็ดยาวมาจากต่างประเทศ  มีแปลเป็นอังกฤษด้วยว่า imported dried spur-pepper  ซึ่งหมายถึงพริกชี้ฟ้า   ส่วนพริกขี้หนู ฝรั่งเรียกว่า Bird Chilli   ก็เป็นพริกคนละอย่างกันอยู่แล้ว


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 09:12
ในหนังสือ "น้ำพริก" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช   ท่านสันนิษฐานไว้ว่า "พริก" มีการปลูกและกินในอยุธยานับแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์  บาทหลวงและพ่อค้าชาวโปรตุเกสเป็นคนนำเข้ามา    ถ้าเป็นเช่นนี้ ท่านก็บอกว่าสมเด็จพระนเรศวรไม่เคยเสวยแกงเผ็ด

โดยส่วนตัว ดิฉันเข้าใจว่าพริกในอยุธยาแบ่งได้เป็น ๒ ชนิด คือชนิดขึ้นเองในป่าอย่างที่ท่านนวรัตนไปเจอมา   เม็ดมันเผ็ดเกินกว่าจะกินได้   ก็เลยไม่เป็นที่นิยมเอามาปลูกกันตามบ้าน   มันก็เลยถูกจำกัดวงไว้ไม่แพร่หลายมากกว่านั้น   แล้วก็ค่อยๆหายากเข้าทุกทีจนอาจจะหมดไปในที่สุด     อีกชนิดหนึ่งคือพริกที่ชาวต่างชาติเอาเข้ามา  ไม่เผ็ดนัก พอมาปรุงอาหารกินได้    อย่างหลังนี้เป็นที่นิยมมากกว่า จนขยายพันธุ์ปลูกกันหลากหลายเป็นหลายอย่าง
เราอาจจะไม่ต้องรอจนโปรตุเกสเอาพริกเข้ามาถึงจะแกงเผ็ดกันเป็น    ก่อนหน้านี้การติดต่อระหว่างไทยกับอินเดีย และเปอร์เชียมีมาก่อนแล้ว   พ่อค้าที่นำเครื่องเทศมาขายถึงอยุธยา อาจเอาพริกมาด้วยก็ได้
คำว่า เทศ  เราหมายถึงเปอร์เชียด้วยเช่นกัน เช่นคำว่า แขกเทศ  พริกเทศอาจเข้ามาตามเส้นทางการค้าทางนี้ก็ได้  ไม่ต้องรอโปรตุเกส


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 09:30
ขอย้อนกลับไปเรื่องเมนูอาหารป่าในเพชรพระอุมาอีกครั้งค่ะ

เมื่อดิฉันเล่าในค.ห.24 ว่าดารินทำแกงมัสมั่นวัวแดง และแกงเขียวหวานกวาง   คุณตั้งอาจสงสัยว่าพรานไพรคณะนี้หอบมะพร้าวและกระต่ายขูดมะพร้าว ใส่เป้ไปด้วยหรืออย่างไร   เพราะสมัยนั้นไม่มีกะทิชาวเกาะ 
ขอตอบว่าคุณพนมเทียนหาทางออกไว้แล้ว  คือบอกว่าดารินหอบเครื่องแกงสำเร็จรูปจากในเมืองหลวงไปด้วย    ส่วนกะทิไม่มีก็ไม่เป็นไร  เธอเอาน้ำมันเนยไปด้วย ใช้แทนกะทิ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 มี.ค. 12, 10:58
อ้างถึง
โดยส่วนตัว ดิฉันเข้าใจว่าพริกในอยุธยาแบ่งได้เป็น ๒ ชนิด คือชนิดขึ้นเองในป่าอย่างที่ท่านนวรัตนไปเจอมา   เม็ดมันเผ็ดเกินกว่าจะกินได้   ก็เลยไม่เป็นที่นิยมเอามาปลูกกันตามบ้าน   มันก็เลยถูกจำกัดวงไว้ไม่แพร่หลายมากกว่านั้น   แล้วก็ค่อยๆหายากเข้าทุกทีจนอาจจะหมดไปในที่สุด     อีกชนิดหนึ่งคือพริกที่ชาวต่างชาติเอาเข้ามา  ไม่เผ็ดนัก พอมาปรุงอาหารกินได้    อย่างหลังนี้เป็นที่นิยมมากกว่า จนขยายพันธุ์ปลูกกันหลากหลายเป็นหลายอย่าง

ผมก็มีความเห็นคล้ายกัน ที่โน่นผมเขียนปิดไว้ดังนี้

เอาละครับ  เราลองมาคิดกันดูเล่นๆก็ได้ ถ้าคนปอร์ตุเกตหรือเสปญเอาพริกเข้ามาแนะนำให้คนไทยกิน เขาคงจะแนะนำในรูปของอาหารสักอย่างที่ปรุงรสด้วยพริกที่อร่อยและถูกปากคนที่นี่ถึงขนาดขอเครื่องปรุงไปขยายพันธุ์ไปทั่วประเทศ ไม่น่าจะอยู่ดีๆเอาลูกพริกมาให้ชิมเหมือนขนมหรือผลไม้ ซึ่งหากใครไม่เคยกินมาก่อนจะต้องเข้าใจว่าถูกหลอกให้ปากพอง อาจมีมวยไทยซดกับมวยฝรั่งตามมาได้ง่ายๆ

แล้วอาหารปอร์ตุเกตที่ว่าคืออะไรล่ะ เห็นมีแต่พวกขนมทองหยิบฝอยทองที่นางทองกีบม้านำมาโปรโมต

ในเวปฝรั่งที่แนะนำอาหารปอร์ตุเกตุจานเด็ดจะมีเมนูไก่ คล้ายไก่ย่างและซอสพริกชื่อ Piripiri บอกว่าเป็นเมนูเดียวที่คนปอร์ตุเกตกินพริก แถมว่ามาจากโมแซมบิคอีกต่างหาก รูปที่เอามาให้ชมคือลักษณะพริกที่คนปอร์ตุเกตใช้

ก็เป็นไปได้ครับที่คนปอร์ตุเกตนำพริกจากอเมริกาใต้ ผ่านอัฟริกามาแพร่ที่เอเซีย แต่ก็คงไม่ได้เอามาทุกสายพันธุ์เพราะเป็นไปไม่ได้ เขาไม่ได้รักการกินพริกขนาดนั้น และพริกก็ต้องเป็นพันธุ์ที่แปลกไม่เผ็ดร้อนมากนัก คนเอเซียจึงยอมรับว่าบริโภคได้ คนไทยเห็นเข้าก็รู้สึกว่าไม่เหมือนพริกป่าที่เผ็ดราวกับยาพิษขนาดมือที่เก็บเม็ดพริกยังแสบร้อน  จนไม่กล้ากิน คนเมืองในกรุงศรีก็เริ่มกินพริกกัน ครั้นชำนาญเข้าก็หาที่เผ็ดๆกว่ามาลอง ผสมพันธุ์จนได้ขนาดพริกขี้หนูที่เผ็ดจัดแต่ไม่มากขนาดกินไม่ได้  ทำให้พริกแพร่ออกไปเป็นพืชสวนครัวตามพื้นที่ราบ

ผมท่องเวปหาเรื่องพริกไป เจอเวปหนึ่งคุณผูหญิงบอกว่าปลูกต้นพริกกระเหรี่ยงไว้ที่บ้าน บัดนี้สูง2.50เมตร ความสูงขนาดนี้คือความสูงจากพื้นถึงผ้าเพดาน เสียดายไม่มีรูปให้ดู
พริกกระเหรี่ยงปลูกกันมากแถวหลองหญ้าปล้อง เพชรบุรี ไม่ไกลจากเทือกเขาตะนาวศรีและแก่งกระจานที่ผมไปพบต้นพริกป่าขนาดยักษ์นั่นเท่าไหร่

ก็เอามาเล่าเป็นข้อมูลเฉยๆ  แบบเล่าสู่กันฟัง จะให้เป็นวิชาการมากกว่านี้ก็ไม่ได้เพราะไม่ใช่นักพฤกษศาสตร์  แล้วตำราวิชาการเขาก็ระบุทั่วไปว่าพริกทั้งหลายในโลกนี้มีถิ่นกำเนิดในอเมริกา คนปอร์ตุเกตเป็นคนเอาไปแพร่พันธุ์เมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี่เอง 
ถ้าผมไม่ได้เห็นต้นพริกที่ว่า คงเชื่อไปตามนั้นโดยไม่ต้องเก็บมาคิดให้เปลืองสมอง

เป็นอันว่า อาหารป่าของคุณตั้ง ก็คงชูรสด้วยพริกที่มีสายพันธุ์ไทยแท้ๆผสมอยู่ด้วย


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 02 มี.ค. 12, 19:21
ดิฉันเป็นสมาชิกเก่าที่ถูกน้ำพัดไปเสียไกล กว่าจะตะกายกลับมาเกาะบันไดเรือนได้
ก็ลืมรหัสผ่านไปหมด จึงเพิ่งทำพิธีงัดกลอนประตูเข้ามาได้ โดยขออนุญาตท่านเจ้าเรือนเรียบร้อยแล้ว

เห็นกระทู้นี้ก็เลยตามมาอ่านเงียบๆสักพัก ...น่าสนใจนะคะ
เพราะเป็นคนกรุงเทพ...ที่เคยไปใช้ชีวิตต่างจังหวัดหลายปี
เคยไปเที่ยวค้างแรมในป่า บนดอยเมื่อ หลายสิบปีมาแล้ว
จำได้ว่าได้รู้จักต้มยำปลากระป๋องเป็นครั้งแรกในชีวิต

คนที่ทำให้ทานเป็นชายหนุ่มที่ชอบเที่ยวไปในป่าเขา เขาจึงคล่องแคลวในการปรุงอาหารง่ายๆ
แต่ดิฉันจำรสตำยำปลากระป๋องได้ไม่ลืม  และเดี๋ยวนี้พอคิดอะไรไม่ออกนอกจากผัดกระเพราแล้ว
ก็มีต้มยำนี้แหละค่ะ ปรุงให้แซบๆ สุดยอดเลย

ตอนน้ำท่วมดิฉันตุนปลากระป๋องไว้เป็นสิบ เครื่องต้มยำพร้อม ช่วยชีวิตได้มากเลยค่ะ

เข้ามาติดตามอ่านนะคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มี.ค. 12, 19:52
ตื่นตาตื่นใจ ไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ทราบเลยว่ามีต้นพริกสูงขนาดสองสามเมตร แถมขึ้นเองและโตเร็วขนาดอายุประมาณ 3 ปีก็สูงท่วมหัว ต้องใช้บันไดปีน (ตามภาพของคุณดีดี) มากไปกว่านั้นลักษณะของลำต้น กิ่งก้านสาขาและใบ ยังเป็นลักษณะของไม้ยืนต้นอีกด้วย และอีกประการหนึ่งยังขึ้นโตอยู่ในพื้นที่รำไร แดดไม่จัดอีกต่างหาก  
สำหรับต้นสูงที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นก็ประมาณระดับหัวเท่านั้นเอง ลักษณะลำต้น กิ่งก้านสาขาก็ไม่ออกไปในลักษณะของไม้ยืนต้นทั่วๆไป น่าสนใจมากเลยครับ อาจจะเป็นพืชประจำถิ่นอีกอย่างหนึ่งที่นักวิชาการยังไม่เคยได้วิจัยและกล่าวถึงในตำราต่างๆ เท่าที่พอจะมีความรู้สำหรับต้นพริกที่เราปลูกกันก็คือ มักชอบขึ้นในที่โล่ง แดดค่อนข้างจัด ชอบสภาพของดินและอากาศออกไปทางแล้งและแห้งมากกว่า (well drain soil) ยิ่งคุณนวรัตน์เคยพบในป่าลึก ซึ่งแม้ว่าจะไม่โดดเดี่ยวห่างจากเส้นทางด่านเดินเที่ยวป่าล่าสัตว์ของชาวกะเหรี่ยงคนนำทางก็ตาม ก็ย้งชวนให้สนใจว่าอาจจะเป็นพันธุ์พืชประจำถิ่นก็ได้

ข้อมูลที่จะให้เพิ่มเติมได้ คือ ผมเิดินทำงานในป่าด้านตะวันตกติดชายแดนค่อนข้างจะมาก เป็นเวลานานหลายๆปีมากๆ เดินทำงานในเส้นทางที่คนชาวบ้านป่าเขาไม่เดินกัน ตั้งแต่เขตของจังหวัดตากจนจรดพื้นที่บริเวณรอยต่อของ จ.ราชบุรีกับเพชรบุรี แล้วก็เคยเดินทำงานเป็นครั้งคราวในพื้นที่บางส่วนตามชายแดนของ จ.แม่ฮ่องสอน และเพชรบุรี ไม่เคยได้ยินว่ามีพริกป่าต้นใหญ่ๆที่ชาวบ้านบอกว่า พอมี และจะไปเก็บกินได้เลย ซึ่งอาจจะแสดงว่าถิ่นกำเนิดของต้นพริกพันธุ์นี้ไม่พบอยู่เหนือเขต จ.เพชรบุรี ที่จริงแล้วป่าละเม็ง ป่าละอู ในย่านนั้นก็เป็นดงพริกดั้งเดิมอยู่แล้วเหมือนกัน
 
ข้อมูลของคุณนวรัตน์ จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง น่าจะเป็นแบาะแสที่สำคัญสำหรับการศึกษาต่อไป ข้อมูลบางอย่างในสมัยก่อนอาจจะไม่สมบูรณ์ เช่น ผมเคยทราบว่า ตัวสมเสร็จเป็นสัตว์ประจำถิ่นอยู่ในป่าชื้นแถบแหลมมะลายู แต่ผมเคยพบเห็นในป่าห้วยองค์ทั่งค่อนข้างมาก ซึ่งอยู่เหนือปากลำห้วยขาแข้งขึ้นไป (เหนือขึ้นไปตามลำน้ำแควใหญ่)

ผมคิดว่า จากนี้ไป จะพยายามหาพันธุ์ต้นพริกสูงเหล่านี้ไปลองปลูกสักต้นในสวนที่ภาคเหนือสักต้นหนึ่ง เหมือนกับที่ในขณะนี้กำลังพยายามหาสะระแหน่พันธุ์ที่ใบหนาเหมือนกำมะหยี่ ลักษณะใบกลมมน มีกลิ่นหอมมากและไม่ออกรสเย็นจนเป็นเม็นทอลจัดจ้านเหมือนใบสะระแหน่ในปัจจุบัน ใบสะระแหน่ที่ผมกล่าวถึงนี้ เข้าใจว่าอาจจะยังคงเหลือที่ปลูกอยู่ในกระถางในบ้านของชาวเหมืองบางคนในหมู่เหมืองปิล็อก เอามาใส่ยำทวายอร่อยนักแลเลยครับ    
    


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 12, 21:24
มารอฟังคุณตั้งเล่าเรื่องอาหารป่าต่อไป   อยากรู้ว่าในป่ามีผักอะไรที่เอามากินกันเป็นประจำบ้างคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 03 มี.ค. 12, 11:12
หนูดีดี เดาว่า หนึ่งในบรรดาผักป่าที่คุณตั้งนำมาประกอบอาหารต้องมี ปลีกล้วยป่า ด้วยแน่ๆ เลยใช่ไหมค่ะ  ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มี.ค. 12, 18:50
ผักป่าที่ใช้นำมาใช้คงจะแยกได้เป็น 2 พวก คือ พวกที่ใช้ในแกง กับพวกที่ใช้แนม
พวกที่ใช้ในแกงก็จะมี อาทิ ผักกูด หัวปลีกล้วยป่า หยวกกล้วย ไหลบอน คูน (คล้ายต้นกระดาษแต่ต้นเล็กกว่ามาก) เตา (หรือเทา_สาหร่าย) เร่ว ทิงเพราะ บุก เปลือกต้นตะคล้ำ หน่อไม้ต่างๆ เห็ดโคน เห็ดลม และเห็ดอื่นๆที่กินได้ ใบพริก ผักหวานป่า ลูกมะกอก นึกไม่ออกแล้วครับ แล้วก็มีที่คนบ้านป่าเขาปลูกกินกัน เช่น   
พวกที่ใช้แนม มีอาทิ หยวกกล้วย คูน หน่อไม้ต่างๆ ยอดต้นใคร้น้ำ ยอดมันสัมปะหลัง (เมื่อเดินผ่าดงที่เขาปลูกกัน) ฝักต้นละหุ่งอ่อน ผักตูดหมูตูดหมา บุก ยอดอ่อนของไม้เลื้อยที่อยู่ตามหาดทราบในห้วย ยอดมะกอก ลูกส้าน (มะตาด???) เกษรดอกงิ้ว ยอดต้นกระโดน ดอกข่า ใบขี้เหล็ก(ดอง) ยอดกุ่ม(ดอง) ผลของอ้อยสามสวน (บางคนเรียกลูกชะเอม) ผักกาดป่า (ออกรสเปรี้ยว) ผักอีปู่ (คล้ายๆยอดต้นสาบเสือ) แล้วก็ที่ชาวบ้านเขาปลูกกัน เช่นใบหูเสือ ใบโกศล (แบบใบเล็กเรียวและหงิกงอ) ใบกุหลาบ (ต้นกุหลาบพวง) ผักพาย ผักไผ่ (เอื้องเผ็ดม้า) แล้วก็ต้นอะไรไม่ทราบ (จำชื่อไม่ได้) ขึ้นในกระถางน้ำแฉะๆ ใบขนาดหัวแม่มือปลายเรียวแหม มีกลิ่นและรสผสมของผักและยอดไม้หลายอย่างปนกัน

จะค่อยๆจำแนกเล่าวิธีการทำนะครับ 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มี.ค. 12, 20:00
แกงที่ทำกันในป่าเขาจริงๆแบบชาวบ้านๆนั้น หนีไม่พ้นแกงที่ไม่ใส่กะทิ ซึ่งดูจะมีอยู่ 3 ประเภทเท่านั้น คือ แกงแบบแกงส้ม แกงแบบแกงเผ็ด และต้มเหมือนต้มจืด หากอยู่ในสภาพที่พอจะหาเครื่องปรุงอื่นๆได้ จึงจะทำพวกต้มยำ เช่น ต้มขมุ (ผมเรียกกัน) ต้มโคล้ง ต้มโฮกอือ และอื่นๆที่เป็นไทยๆ
บางที่หากเครื่องไม่อำนวย ก็แปลงหนักไปหน่อย เช่น แกงจืดหอยขม แกงจืดงูสิงห์ แกงจืดตะกวด และแกงจืดตัวเหี้ย เป็นต้น

แกงส้ม ใช้แกงกับผักที่รู้ว่ากินแล้วคัน หรือไม่แน่ใจว่าจะคัน ชาวบ้านคงตอบไม่ได้ในทางลึกว่าทำไมต้องแกงส้ม แต่เขาจะไม่เอาผักนั้นๆไปทำแกงอย่างอื่นๆ แกงส้มซึ่งชาวบ้านเขาไม่เรียกว่าแกงส้ม แต่จะเรียกโดยชื่อตรงๆเลยว่าแกงผักโน่นผักนี่ โดยหลักสำคัญก็คือเป็นแกงที่ใส่ส้มมะขามเปียก ของเราก็ทำให้มันดูครบเครื่องหน่อย คือใช้หอม ใช้พริกแห้ง ใช้กะปิ (กะปิไทยทำจากเคย) ชาวบ้านอาจะใช้หอม พริกแห้ง และกะปิมอญ (สีออกเหลืองๆ ทำจากปลาน้ำจืดตัวเล็ก_ไม่ใช่ปลาร้า อาจจะยังพอหาซื้อได้ในตลาดสดบ้านโป่ง ราชบุรี หรือในตลาดสดเมืองกาญจนบุรี)
ตำน้ำพริกไห้ได้ขนาดประมาณ 1 ช้อนโต๊ะพูนๆ หรือมากกว่านั้นสักเล็กน้อย พริกแห้งนั้น ถ้าจะให้เผ็ดมากหน่อยก็ใช้พริกแห้งเม็ดใหญ่ หากจะให้รู้สึกแสบร้อนหน่อยก็ใช้พริกแห้งเม็ดเล็กผสมลงไปตามความซี๊ดซ้าดที่ต้องการ ก็ประมาณหยิบมือใหญ่ๆ หอมแดง 6-7 หัว ใส่เกลือเม็ดลงในครกสักหยิบมือนึง โขลกให้แหลก เกลือจะช่วยทั้งในการบดขยี้ให้เครื่องปรุงในครกแหลก และให้ทั้งรสชาติของน้ำแกง จากนั้นเอาน้ำใ่ส่หม้อมากพอที่จะละลายน้ำพริกที่ตำใว้ คนให้ละลายจนพอน้ำเดือด จึงเติมน้ำตามที่ต้องการ (ประมาณ 2 ถวยแกง) รอจนน้ำเดือนพล่าน จึงใส่ปลา กบ ลูกเขียด ปู หรือเนื้อสัตว์อื่นๆที่ไม่มีไขมัน (แกงนี้ต่อมาน่าจะเป็นการแปลงใช้ปลากระป๋องแทน ซึ่งจะทำให้น้ำแกงข้นมากขึ้น) รอให้เดือดอีกครั้ง ชิมรสน้ำ เติมเกลือให้ออกรสเค็มนำมากๆหน่อย เมื่อเดือดอีกครั้งจึงใส่ผักที่เก็บหามาได้ เช่นผักกูด ไหลบอน คูน บุก ฯลฯ เมื่อเห็นว่าผักทั้งหมดสุก (นิ่ม) ดีแล้ว จึงใส่น้ำมะขามเปียก ค่อยๆใส่ครั้งละนิด จนออกรสเปรี้ยวตามชอบใจ ต้มไปอีกนิดหน่อย หรือหากกลัวก็ต้มไปอีกนานหน่อย หากมีน้ำตาลปึกจะใส่ตัดรสให้ดูกลมกลืืนไม่ฉูดฉาดจนเกินไปก็ได้ มะขามเปียกนี้ หากใส่มากเกินจนเปรี้ยวเกินไป จแก้ไขไม่ได้ (ยิ่งมากยิ่งเปรียว) ซึ่งจะต่างจากใบของมัน ใส่ไปมากน้อยเพียงใดก็จะเปรี้ยวเท่าเดิม ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวนะครับ แกงที่ใส่ยอดใบมะขาม ใส่ไปมากเท่าที่ต้องการ มันจะไม่ให้รสที่เปรี้ยวมากขึ้น

เรื่องของเรื่องมันอยู่ที่ว่า (เท่าที่ศึกษามา) อาการคันมันเกิดจากผลึกของสารบางอย่างในพืชเหล่านี้ไปทิ่มติดอยู่ในคอ บางตำราโบราณเขาให้แก้ด้วยการกินน้ำตาล แต่จริงๆแล้วกรดน้ำส้มในน้ำมะขามเปียกนั้นมันไปช่วยละลายผลึกเหล่านั้น การแกงโดยใส่ส้มมะขามเปียกจึงทำให้ไม่เกิดอาการคันคอ ที่คนโบราณเขาบอกว่า พกมะนาวในกระเป๋าสักลูกแล้วงูจะหนีไปหมดนั้น ก็คงจะเป็นกลอุบายด้วยเหตุผลดังที่ผมกล่าวถึงนี้ พกไปพกมาก็ได้ประโยชน์ในการเอามาทำอาหารในที่สุด

ภูมิปัญญาชาวบ้านที่แท้จริงอย่างหนึ่ง ใช่ใหมครับ แล้วก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ในเสบียงอาหารที่จัดเตรียมสำหรับเข้าไปรอนแรมอยู่ในป่าหลายๆวันนั้น สิ่งที่จะขาดมิได้อย่างหนึ่ง คือมะขามเปียก


     


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 12, 21:45
อ้างถึง
บางที่หากเครื่องไม่อำนวย ก็แปลงหนักไปหน่อย เช่น แกงจืดหอยขม แกงจืดงูสิงห์ แกงจืดตะกวด และแกงจืดตัวเหี้ย เป็นต้น
แกงสองอย่างหลังนี่ รสชาติเป็นไงคะ
สองอย่างแรก เคยนึกว่ามีแต่แกงเผ็ด


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มี.ค. 12, 18:59
เริ่มต้นที่แกงจืดหอยขมนะครับ
ต้มนี้ได้ลิ้มลองครั้งแรกที่เหมืองแร่แห่งหนึ่งแถวๆห้วยน้ำขาว แถบที่เราข้ามไปพัฒนาพื้นที่ทวายในพม่านั้นแหละครับ
คนทำเป็นคนเฝ้าเหมือง เสียชีวิตไปแล้ว จัดได้ว่าเป็นพ่อครัวมีฝีมือเข้าชั้นเอกเลยทีเดียว เรื่องของเรื่องก็คือ ยามเย็นก็คุยกันเรื่องการทำอาหารต่างๆ ผมเป็นคยชอบทำอาหารและชอบศึกษาเปรียบความเหมือนและความต่างของอาหารที่ทำกันในถิ่นต่างๆอยู่แล้ว จึงพอคุยถูกคอกันอย่างออกรสถึงเรื่องวิธีการทำอาหารแบบชาวบ้านที่ได้พบเห็นกันมา พลันก็เหลือบไปเห็นหอยขมที่เขางมเก็บขึ้นมาใส่กะแป๋งไว้ ถามเขาว่านอกจากแกงแบบที่เราคนภาคกลางกินกันแล้ว มีวิธีอื่นอีกหรือไม่ เขาก็บอกว่ามีแล้วง่ายมากๆ ก็เลยทำ
เอาหอยขมใส่กะแป๋งแช่น้ำ เอาพริกแห้งหรือสดก็ได้ (3-4 เม็ด) ยีให้แหลกในครกแล้วใส่ลงไป กวนน้ำด้วยสากแล้วทิ้งไว้สักพัก กวนด้วยสากแล้วทิ้งไว้อีกสองสามครั้ง ผมคะเนว่าใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงรวมๆกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้หอยขมคายดินโคลนออกให้หมด (คงจะแสบร้อนเอาการเลยทีเดียว) เอาน้ำเท่าที่จะทำเป็นอาหารหนึ่งถึงสองชามแกงใส่หม้อต้มให้เดือด ใส่หอยขมลงไป พอน้ำเริ่มเดือดอีกครั้งก็ใส่กะปิก้อนประมาณหัวแม่มือเขื่องๆลงไป  พอกะปิละลายหมด ก็ชิมรสและปรุงรสด้วยเกลือให้เริ่มรู้สึกจะมีรสเค็มปะแหล้มๆ จึงใส่ใบโหระพาสักหยิบมือลงไป เป็นอันใช้ได้ ตักใส่ชามแกงกินกับข้าวได้เลย รสและกลิ่นกลมกล่อมดีครับ จะกินยากสักหน่อยเพราะไม่ได้ตัดปลายทำให้จุ๊ปเนื้อออกได้ยาก
หอยขมนี้มีมากในช่วงฤดูหนาว ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งใกล้วันสิ้นปีเก่า ช่วง พ.ศ.2512 (กำลังเริ่มปฏิบัติการสร้างเขื่อนสิริกิต) ทำงานอยู่แถวๆอุตรดิตถ์ เห็นชาวบ้านแถวริมน้ำน่านเหนือตัวจังหวัดขึ้นไป (บ้านผาจุก ผาเลือด) งมหอยขมไปขายในตลาดกันมาก พอจะกลับเข้าศูนย์ปฏิบัติการที่เชียงใหม่เลยซื้อไปกะแป๋งหนึ่งเพื่อไปทำกินเลี้ยงกัน เอาแบบที่แกะมีแต่เนื้อในแล้ว ด้วยนึกขี้เกียจที่จะจุ๊ปให้ยุ่งยาก พอจะทำกินกันก็ขี้เกียจตำน้ำพริกแกงอีก สรุปก็คือเอามาลวกให้สุกแล้วทำน้ำจิ้มเป็นกับแกล้มกินกัน ผลหรือครับ เหลือบานเบอะ มันมากเกินพอนั้นเป็นเรื่องนึง ไม่ได้อร่อยสุดๆอย่างที่คิดฝันไว้นั้นก็เป็นอีกเรื่องนึง แล้วแถมยังมีลูกหอยกรุบกรับเต็มไปหมด ได้รับทราบจากชาวบ้านในภายหลังว่า จะงมหอยขมก็ให้ดูข้างขึ้นข้างแรมด้วย จำไม่ได้แม่นแล้วว่าหอยจะมีลูกในช่วงข้างขึ้นหรือข้างแรมครับ จริงหรือเท็จก็ไม่ทราบอีกด้วยครับ
ผมคิดว่า แกงแบบที่คนภาคกลางและภาคใต้เขาแกงกันด้วยตัวหอยทั้งเปลือกนั้นอร่อยเป็นที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะใส่ชะอมให้พอดีฉุน หรือจะใส่ใบชะพลูแบบน้ำขลุกขลิกค่อนข้างแห้ง ก็อร่อยทั้งนั้น
 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 12, 19:15
หอยขม


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มี.ค. 12, 20:09
สำหรับแกงจืดงูสิงห์นั้น ได้มาจากการกินที่บ้านม่องควะ ในเขต อ.อุ้ผาง ย่านน้ำแม่จัน ซึ่งเป็นดงที่พักของพวก ผกค. สมัย พ.ศ. 2520+ โน่น
ช่วงนั้นเดิน Back pack มากับ ตชด. 2 คน (ต่างคนต่างอาศัยเป็นกันเป็นเกราะ) ซึ่งอยู่ในภารกิจปฏิบัติการ ปจว. (ปฏิบัติการจิตวิทยา) ระหว่างทางยิงงูสิงห์ได้ พอมาถึงหมู่บ้านก็โพล้เพล้แล้ว จึงรีบเอางูมาแกงกินกันที่บ้านชาวบ้าน (กะเหรี่ยง) เครื่องแกงไม่มีเอาเลย เมื่อเผาให้พอพอง (เหมือนน้ำตก) ขอดเกล็ดล้างน้ำแล้ว ส่วนหนึ่งของงูก็สับทั้งกระดูกผัดเผ็ด มีแต่พริกกับเกลือ อีกส่วนหนึ่งใกล้ๆส่วนหางก็ต้มทำเป็นแกง ก็ใส่แต่เกลือ แม้งูสิงห์นั้นเนื้อจะขาวและรสชาติเหมือนเนื้อไก่ หวังจะอาศัยความหวานของเนื้องูเท่านั้นที่จะทำให้อาหารอร่อย ไปไม่รอดเลยครับ ก็กินกันไปแบบแกนๆ ดีกว่าไม่มีอะไรจะกิน ขนาดหิวนะครับ ส่วนที่นำมาทำแกงจืดนั้น ก็หั่นเป็นท่อนๆยาวประมาณนิ้วมือ ทั้งหนังเลย อาหารเย็นมื้อนั้นก็รอดไปได้เพราะงู พอเช้าขึ้นมาหุงข้าวเสร็จ มีแต่คนกินปลากระป๋องเป็นหลัก แทบจะไม่มีใครกินงูเลย
พอสายๆหน่อย ประมาณ 8 โมงเช้า ผมก็ออกเดินสำรวจ ตชด. ก็ไปที่ริมน้ำไปยิงปลาเพื่อเป็นอาหาร ได้ปลาแมงภู่หรือไอ้ภู่มาตัวขนาดน่องขาเลยทีเดียว การยิงปลาชนิดนี้เราจะต้องปีนไปซุ่มอยู่บนต้นไม้ที่ยื่นออกไปในน้ำ ปลานี้จะลอยตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้เวลาแดดร้อน เมื่อยิงแล้วจะต้องรีบลงน้ำไปจับมาในทั้นที มิฉะนั้นจะจม หาตัวไม่เจอ
ปกติเราจะไม่ไปหาปลาชนิดมาทำกินกัน เสียเวลารอคอยซุ่มยิง แถมรสเนื้อจืดชืดมากๆ เป็นปลาลักษณะเหมือนปลาช่อนและชะโด แต่ยาวกว่า หากตัวขนาดน่องขาจะยาวประมาณเมตรเศษๆ พบอยู่ในลำน้ำที่ไหล เช่น แควใหญ่ แควน้อย ห้วยบีคลี่,ห้วยซองกาเลีย,และแม่กลองคี (อ.สังขละบุรี) ปลาชนิดนี้นำมาทำอาหารให้อร่อยได้ แต่จะขอค่อยๆเล่าต่อไป
เป็นอันว่าที่บ้านม่องควะในวันถัดมาได้กินปลาแมงภู่ ก็ได้ต้มแกงกินแบบแกนๆอีกเพราะเครื่องปรุงไม่ครบ มีแต่ตะใคร้ พริกแห้ง ไม่มีใบมะกรูดและมะนาว ไม่มีมะขามเปียก กินทั้งมื้อเที่ยงและเย็น ไก่ของชาวบ้านก็มีแต่ไม่กวนเขา คนทำงานในป่าจริงๆเขาไม่รบกวนชาวบ้านจริงๆนะครับ ความที่ได้สัมผัสกับ ตชด.มาพอสมควร ผมคิดว่าคนพวกนี้คือคนที่ผมยังให้เคารพด้วยใจจริง เขามีความรับผิดชอบในภารกิจ หน้าที่และมีความเสียสละอยู่ เขาทำงานทั้งในสภาพที่พกหรือไม่พกอาวุธติดตัวในพื้นที่ปฏิบัติการ ผมเองทำงานคลุกคลีอยู่ในพื้นที่สีแดงมาตลอด ทราบดีว่ามันเป็นอย่างไร
เล่าต่อใ้ห้จบกระบวนความเลยนะครับ (ส่วนหนึ่ง)
รุ่งขึ้นแต่เช้าก็ออกเดินทางไปบ้านเลตองคุ ไม่มีอาหารกลางวัน เดินขึ้นสูงอย่างเดียวตั้งแต่เช้าจนสี่โมงเย็น พอถึงจุดลงเข้าหมู่บ้าน ชันมากจนต้องใช้ก้นถัดเป็นระยะๆ ประมาณ 1 ชม.ก็ถึงหมู่บ้าน ที่หมู่บ้่านนี้ก็เป็นพื้นที่สีแดงจัดเหมือนกัน นอกจาก ตชด.ที่กล่าวถึงแล้ว ก็ขอคารวะด้วยใจจริงถึงบรรดาครูที่มาประจำและสอนอยู่ที่โรงเรียนประจำหมู่บ้านนี้ ผมคงจะเล่าเรื่องเหล่านี้ในวาระที่มีโอกาสต่อไป
 
เรื่องอาหารกลายเป็นเรื่องอื่นไปเสียแล้ว

อาหารป่าๆก็เป็นดังที่เล่านี้ อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้างตามแต่สภาพแวดล้อม ณ.ขณะนั้นครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 12, 20:17
คุณตั้งพูดถึงหุงข้าว  เวลาเข้าป่า เอาข้าวสารติดตัวไปด้วยหรือว่าไปขอแบ่งปันจากชาวบ้านคะ     หมู่บ้านที่เล่าถึง  เดาว่าเขาทำนาปลูกข้าวกินกันเอง
นอกเหนือจากพริกมหัศจรรย์ต้นสูงเลยหัวที่คุณนวรัตนไปเจอเข้าแล้ว      พืชป่าที่เอามาปรุงอาหารได้อย่างมะนาว มีขึ้นเองตามทางหรือเปล่า     หรือว่าต้องไปขอจากหมู่บ้าน   ถ้าหมู่บ้านไหนไม่ปลูกมะนาวก็ต้องอดกันไปเลย?


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มี.ค. 12, 21:50
ชาวบ้านป่าเขาจะปลูกข้าวกินกันครับ เรียกว่าข้าวไร่ เป็นพวกข้าวเมล็ดป้อมสั้น แทบจะมีทั้งลักษณะของเมล็ด กลิ่นและรสชาติเหมือนข้าวของญี่ปุ่น ข้าวพวกนี้ปลูกได้ในหลายสภาพภูิประเทศ ตั้งแต่บนดอย ตามใหล่เขา และในแอ่งที่ราบ มักจะไม่มีการยกคันนาแยกออกเป็นบิ้งๆเพื่อบริหารปริมาณน้ำ เป็นการปลูกข้าวที่อาศัยน้ำจากฟ้าฝนแต่เพียงอย่างเดียว เคยเห็นที่มีการชักน้ำเข้านาเหมือนกัน ในภาคตะวันตกจะเป็นพวกกะเหรี่ยงทำกัน ในภาคเหนือก็เป็นพวกเย้าและพวกไทยลื้อทำกัน ไม่แน่ใจว่าพวกมูเซอ ลีซอ อาข่า ทำกันบ้างหรือเปล่า
ในพื้นที่ลาดชันนั้น เวลาปลูกเขาจะเอาไม้ไผ่กระทุ้งให้เป็นหลุมตื้นๆ หยอดเล็ดข้าวลงไป แล้วใช้เท้ากลบ ทิ้งไว้ รอจนมันออกรวงจึงเก็บเกี่ยว ผมเคยเห็นแต่วิธีปลูกแต่ไม่เคยตอนเกี่ยวว่าทำกันอย่างไร ไม่แน่ใจและจำไม่ได้ว่าเคยเห็นพวกเครื่องมือเี่กี่ยวข้าวว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ไปเห็นอีกครั้งก็ตอนวิธีการตำข้าว สีขาว และฝัดข้าวก่อนนำไปหุง การปลูกข้าวในพื้นที่ลักษณะนี้ เป็นการเผาทำลายป่ามากที่สุด ปกติในพื้นที่เดิมจะปลูกได้ประมาณ 3 ครั้ง (3 ปี) จากนั้นก็ถางป่าใหม่ เรามักจะเรียกว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอย แต่ผมว่าเป็นการทำนาข้าวเลื่อนลอยมากกว่า พอย้ายพื่นที่ปลูกข้าว พื้นที่เดิมจึงใช้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ป่าที่ถางเปิดพื้นที่ใหม่นั้น หากเป็นพวกกะเหรี่ยง (ไม่ว่าจะเรียกว่าพวกใด _ ยางแดง ยางขาว กะเหรี่ยง กะหร่าง กะโพล่ว ปากะญอ) ส่วนมากก็มักจะไปเลือกถางในที่ๆเป็นป่าไผ่ หรือชัฎป่าไผ่ แล้วพัฒนาต่อไปจนมีการทำคลองผันน้ำจากห้วย มีการยกคันนาแยกเป็นบิ้งๆ ซึ่งจะต่างไปจากพวกลีซอ ม้ง ขมุ ลั้วะ ฯลฯ ที่มักจะถางที่ตามลาดชันดอย จากประสบการณ์ ในหลายแห่ง บางครั้งเราแทบจะทราบได้เลยว่าชนเผ่าใดเป็นผู้ถางในที่ตรงนั้น ที่ชัดเจนที่สุดดูจะเป็นของพวกม้ง พวกนี้ถางแบบถางเตียนสนิท ไม่มีตอเหลือให้เห็นเลย ผมมักจะพูดเล่นๆว่า ดูกางเกงพวกม้งซี เป้ากางเกงเขายานต่ำลงเกือบจะถึงพื้นเลยเดินคล่อมตอไม่ได้ ไร่ก็ต้องเตียนเป็นธรรมดา เราสังเกตได้แม้กระทั่งว่าเป็นพื้นที่ถางใหม่หรือพื้นที่เดิม และมีการใช้กันมานานหลายปีแล้วหรือไม่ โดยสังเกตจากตอไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่นา นายิ่งเก่า ยิ่งนาน ยิ่งไม่เหลือตอ อันนี้รวมถึงคนไทยที่เป็นเจ้าของนาทั้งหลายในทุกภาค
ข้าวไร่เป็นข้าวที่หอมอร่อยมากๆ สำหรับผมแล้วข้าวไร่แถบบ้านไร่ อุทัยธานี อร่อยที่สุด ปัจจุบันนี้ทราบว่ามีโรงสีเล็กสีข้าวไร่ขายอยู่เหมือนกันครับ
เมื่อเข้าป่าทำงานผมจะเริ่มด้วยข้าวสาร 1 ถัง ซึ่งสำหรับคนประมาณ 8 คน จะหมดในไม่เกิน 5 วัน กินสองมื้อ  เช้า-เย็น เปลืองนะครับ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องประมาณดูให้ดีว่า trip นี้จะเดินทำงานลึกไปในที่ๆไม่มีคนเลยกี่วัน จึงพอจะกำหนดจำนวนคนให้พอเหมาะได้ว่าจะจ้างคนได้กี่คน ซึ่งจะผนวกไปถึงเรื่องของการคิดว่าจะต้องแบกเองหรือสามารถใช้ช้างใช้ม้าช่วยขนสเบียง
ด้วยลักษณะสภาพบังคับตามที่เล่ามา ผมก็จะต้องหาว่าในป่านี้ มีหมูบ้านอยู่ที่ใดบ้าง เพื่อกำหนดเส้นทางและระยะเวลาเดินทางว่า จะไปหาข้าวเพิ่มเติมได้ที่ใหน ผมเคยซื้อข้าวสารในเมืองถังละ 18 บาท แต่พอต้องหาซื้อจากชาวบ้านในป่าตกถังละ 40 บาท (สองเท่าของค่าจ้างแรงงานรายวัน) แถมยังต้องตำเองทั้งด้วยครกกระเดื่อง ตำด้วยสากไม้ยาวๆในเบ้าครกที่ทำจากต้นไม้ หรือสีด้วยเครื่องสีข้าวหมุนซ้ายหมุนขวาด้วยมือ เป็นตอไม้คล้ายโม่ แต่ตอด้านล่างเป็นรูปทรงกรวย ตอด้านบนเป็นรูปทรงฝาชีครอบ  ฝัดเองอีกต่างหาก ก็เป็นการเรียนรู้ด้วยการสัมผัสจริง เรียกว่าพอจะรู้แจ้งเห็นจริงในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ เข้าใจเลยครับว่าทำไมชาวบ้านเขาจึงทำไมจึงไม่ตำข้าว ฝัดข้าวสารเก็บไว้ มันทั้งเหนื่อยและเสียเวลา ทำเพียงพอใช้ทั้งวันก็พอแล้ว
บ่อยครั้งที่มีโอกาส ผมก็จะเอาข้าวสารที่ซื้อมาจากในเมืองไปแลกกับข้าวไร่ของชาวบ้าน ถังต่อถัง ชาวบ้านก็ชอบเพราะจะได้กินข้าวที่นิ่มหอม ไม่มีเม็ดทราย ไม่ต้องเหนือ่ยตำและฝัด ส่วนเราก็ชอบเพราะได้กินของอร่อยและอิ่มอยู่ท้องนาน แต่เวลาหุงข้าวไร่ต้องระวังแฉะ เราจึงต้องหุงแบบเช็ดน้ำ แล้ว regulate ความสุกแบบนุ่มนวลพอดีๆด้วยการดง ส่วนน้ำข้าวนั้น เก็บใสหม้อ ใส่เกลือ ไว้กินเพื่อเสริมวิตตามินและเกลือแร่ที่หายไปกับเหงื่อ ออกจากป่าทีไรตัวก็ตันทุกทีก็ด้วยประการฉะนี้ครับ
ต่ออีกนิดว่า ในพื้นที่ลาดเอียงเชิงดอยนั้น ตะกอนดินทรายเม็ดเล็กมักจะถูกพัดพาไปมาก ผิวดินจึงบางและมักมีสภาพเป็นกรด ดังนั้น พอเข้าหนาวก็จะเริ่มการถางป่า เอาไม้มากองรวมกันทิ้งใว้ให้แห้ง พอประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็จะเผากองไม้เหล่านั้น ผลที่ได้คือขี้เถ้าซึ่งมีสภาพเป็นด่าง พอฝนตกลงมาน้ำด่างนี้ก็จะกระจายช่วยปรับสภาพดินที่เป็นกรดให้เป็นใกล้ๆกลาง เหมาสำหรับการปลูกข้าวและพืชต่างๆ อีกประเด็นหนึ่งคือ จะต้องคะเนให้ดีว่าเมื่อเผาแล้วจะต้องมอดเป็นจุลด้วย คือต้องหมด มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถจุดอีกครั้งได้ ที่ผืนนั้นสำรหับปีนั้นอาจจะต้องทิ้งไปเลย หรือก็จะต้องถางใหม่

ถามมานิดเดียว ตอบเสียยืดยาว ไม่ว่ากันนะครับ ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องที่อยู่ในวงของเรื่องของๆกิน


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มี.ค. 12, 22:08
เรื่องของรสเปรี้ยวในอาหารแบบชาวบ้านนั้นไม่ค่อยมีครับ
ไม่คิดว่าเคยเห็นมะนาวป่านะครับ เคยเห็นอยู่ครั้งหนึ่ง แม้จะอยู่ใกล้ห้วยแต่ก็อยู่ใกล้หมู่บ้านมาก ห่างจากหมู่บ้านประมาณหนึ่งกิโลเท่านั้น พบใกล้ๆบ้านเกริงไกร ในห้วยขาแข้ง ระยะเดินประมาณ 6 ชม.จากปากลำขาแข้ง (น้ำของเขื่อนเจ้าเณรท่วมบ้านนี้ไปแล้ว) ผมคิดว่าเป็นการปลูกมากกว่า เพราะแถบนี้มีปรัชญาของการทำไร่ทาน
ของเปรี้ยวประจำป่าที่สำคัญคือมะกอก มะขามป้อม ลูกส้าน และผักกาดป่า อาจจะยังมีอีก ยังนึกไม่ออกครับ
ต้นไม้บางอย่าง เช่น มะพร้าว ขนุน ส้มโอ มะนาว กล้วยน้ำว้า เหล่านี้ จะพบได้ในหมู้บ้านที่ตั้งอยู่กันมานาน จากการสอบถามมักจะอยู่มานานกว่า 80 ปีแล้ว ต้นไม้เหล่านี้จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ในหมู่บ้านเหล่านี้ไม่ขัดสน ขาดเหลือเครื่องปรุงอาหารยังพอมีปลูก พอขอ พอเก็บหาได้   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 12, 22:14
เอารูปมาประกอบค่ะ     ค้นคำว่า ข้าวไร่ จากกูเกิ้ล  เจอรูปเหล่านี้ก็เอามาให้คุณตั้งตรวจสอบอีกทีว่าใช่หรือเปล่า

ในแอ่งที่ราบ มักจะไม่มีการยกคันนาแยกออกเป็นบิ้งๆเพื่อบริหารปริมาณน้ำ

แยกออกเป็นบิ้งๆนี่มันเป็นยังไงคะ  "บิ้ง" เป็นคำใหม่เพิ่งเคยได้ยินค่ะ   ???  ???  ???


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พรต ที่ 05 มี.ค. 12, 08:00
คุณตั้งบรรยายเรื่องเมนูจากปลาและงูสิงห์ไร้เครื่องปรุงรสรสชาดทานไม่่ค่อยลง( ขนาดตอนหิว ) พาลนึกถึงจอมยุทธในหนังกำลังภายใน ปิ้งไก่ในป่าไม่มีเครื่ิองปรุงแล้วทานอย่างอร่อยโดนหลอกมาตั้งแต่เด็กเลยเรา ???


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 05 มี.ค. 12, 11:07
เคยแวะไปเมียงมองหมู่บ้านชาวเขาพวกม้ง เย้า ทางเชียงใหม่ เชียงราย

เห็นในบ้านเขาจะมีเตาเตี้ยๆที่ก่อติดพื้น มีหินวางรอบกองไฟ มีกะทะเหล็กใบใหญ่

ในนั้นมีอาหารที่ดูแปลกตา อยู่ อยากทราบว่าอาหารโดยทั่วไปของชาวเขานั้น

เขาทานอะไรกันค่ะ พวกต้ม หรือผัด หรือคั่ว แกงอย่างไร พอทราบไหมค่ะ

ผักพื้นๆที่เขานิยมทานคืออะไรค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 11:47
ของเปรี้ยวประจำป่าที่สำคัญคือมะกอก มะขามป้อม ลูกส้าน และผักกาดป่า อาจจะยังมีอีก ยังนึกไม่ออกครับ  
เพลิดเพลินกับศัพท์แปลกๆในป่า ที่คุณตั้งเอามาเล่าให้ฟัง
เพิ่งเคยได้ยินคำว่าลูกส้าน     โชคดี อินทรเนตรมองเห็นลูกไม้ชนิดนี้ เลยเก็บรูปมาให้คุณตั้งดูได้ว่าเป็นอย่างเดียวกับที่เคยเห็นในป่าหรือเปล่า
เจ้าของภาพบอกว่า เป็นต้นไม้ใหญ่สูงเกือบ ๑๐ เมตร ค่ะ

http://www.bansuanporpeang.com/node/846


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 12, 19:09
ย้อนตอบไปนะครับ
เรื่องลูกส้าน_ต้นส้านที่พบในป่าเป็นต้นไม้ค่อนข้างใหญ่และสูง ลูกของมันเมื่อผ่าออกแล้วจะเห็นกลีบดอกสีเหลืองๆ จะเอามาต้มหรือย่างไฟกินกับน้ำพริกก็ได้ หลวงพ่ออุตมะ (ท่านได้ละสังขารไปแล้ว) ชอบมาก และก็ชอบพริกอะไรไม่ทราบเม็ดขนาดนิ้วก้อยยาวประมาณ 2 องคุลี (2 ข้อนิ้ว)นำมาเผา ลอกเปลือกออกเป็นผักแนมกับน้ำพริก
เคยค้นคว้าเรื่องต้นมะตาด ซึ่งได้ปลูกเป็นไม้ประดับตามริมทางเดินบนเกาะเกร็ด นนทบุรี จึงได้ทราบว่าเป็นต้นส้านเหมือนกัน สำหรับผมแล้วคงจะต้องแยกเรียกว่าส้านป่ากับส้านบ้าน ลักษณะลูกคล้ายๆกัน ส้านป่าจะลูกเล็กกว่า ขนาดประมาณหัวแม่มือ ส่วนส้านบ้านดูลูกจะใหญ่กว่าค่อนข้างมาก และเมื่อผ่าแล้วดูจะไม่เห็นกลีบดอกสีเหลืองๆ อีกประการหนึ่ง ส้านเป็นลูกไม้ที่ชาวมอญกินกัน (มอญที่อยู่ตามชายแดนใน จ.กาญขนบุรี) แต่ลูกมะตาดที่เกาะเกร็ดนั้น คนเชื้อสายมอญที่นั่นกลับไม่นิยมนำมากินกัน ผมก็เลยยังสงสัยอยู่ว่าอาจจะเป็นคนละต้นหรือคนละสายพันธุ์กัน เคยถามชาวเกาะเกร็ดว่ากินลูกมะตาดได้ใหม เขาตอบว่ากินได้เหมือนกัน จำไม่ได้ว่าเอาไปทำอะไรกิน แต่ไม่นิยมกันเลย มีแต่ต้นหน่อกะลาที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นอาหารประจำถิ่น

ลูกส้านป่านี้ ชาวบ้านทางภาคเหนือที่มีอายุมากหน่อยและเป็นคนพื้นบ้านที่อยู่ห่างเมืองจริงๆจึงจะนำมากินกัน พวกชาวเมืองจริงๆแทบจะไม่รู้จักว่ากินได้ ทั้งๆที่มีหมู่บ้านมากมายในภาคเหนือที่มีคำว่าส้านรวมอยู่ด้วย เช่น ป่าส้าน ห้วยส้าน ห้วยส้านพลับพลา ชื่อบ้านเหล่านี้ สำหรับในการทำงานของผม ทำให้พอเดาต่อไปได้อีกด้วยว่า พื้นที่ในบริเวณนั้นจะมีลักษณะเป็นเนินเขาเตียสูงสลับกันไป แม้จะดูเป็นพื้นที่แห้งๆ แต่ก็มีความชื้นในดินค่อนข้างมาก ห้วยต่างๆจะเป็นร่องไม่เป็นตัว V shape แบบใหล่ห้วยสูงชัน ดินหินที่พบมักจะเป็นพวกแตกร่วนมักจะไม่พบที่ฝังลึกเป็นดานหินอยู่ใต้ดิน อย่างไรก็ตามต้นส้านก็เกิดในป่าลึกค่อนข้างทึบได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในบริเวณใกล้ๆห้วย (กว้างหน่อย) ที่มีน้ำไหลริน ส้านพวกนี้จะต้นค่อนข้างสูงมาก แหงนดูคอตั้งบ่าเหมือนกัน 
 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 12, 19:12
ภาพของลูกส้านที่คุณเทาชมพูได้กรุณาค้นและนำมาแสดงนั้น ผมเข้าใจว่าเป็นส้านบ้านครับ ต้นของมันสูงไม่มาก ก็คงไม่เกิน 10 เมตรดังว่าครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 12, 20:01
เคยแวะไปเมียงมองหมู่บ้านชาวเขาพวกม้ง เย้า ทางเชียงใหม่ เชียงราย เห็นในบ้านเขาจะมีเตาเตี้ยๆที่ก่อติดพื้น มีหินวางรอบกองไฟ มีกะทะเหล็กใบใหญ่
ในนั้นมีอาหารที่ดูแปลกตา อยู่ อยากทราบว่าอาหารโดยทั่วไปของชาวเขานั้น เขาทานอะไรกันค่ะ พวกต้ม หรือผัด หรือคั่ว แกงอย่างไร พอทราบไหมค่ะ
ผักพื้นๆที่เขานิยมทานคืออะไรค่ะ

อาหารที่ชาวเขากินกันนั้น เป็นอาหารที่ปรุงแบบง่ายๆ โดยพื้นฐานก็คือน้ำพริกกับผัก ผักที่เก็บมากินกันนั้น ก็มีทั้งผักสดและผักดอง หากเป็นพวกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนที่เป็นเขาสูง ผักจะหายากหากไม่มีแปลงปลูกเพาะ แต่ดั้งเดิมนั้นผักที่ปลูกกันก็จะมักจะเป็นผักกาดเป็นหลัก มักจะเป็นผักกาดเขียวและผักกาดจอ (ผักกาดที่มีช่อดอกเหลืองๆ) บางแห่งอาจจะพบว่าปลูกผักกวางตุ้ง นอกจากนั้นก็มีฟักเขียว ฟักหม่น ฟักพันธุ์ลูกกลมๆเหมือนแตงโม ฟักทอง มะเขือเหลือง (มะเขือขื่น) มะเขือหำแพะ (ลูกสั้นๆสีม่วงๆ) มะเขือพวง คงมีอีกนะครับแต่ยังนึกไม่ออก ในปัจจุบันนี้ก็เป็นพวกผักเมืองหนาวที่เรากินกัน ซึ่งที่ดูจะเป็น norm ก็คือกล่ำปลี

กินทุกวันๆก็คงเบื่อ จึงต้องไปเก็บผักในป่าด้วย ก็เช่น ผักกูด ยอดกุ่ม ผักกาดป่า ขี้เหล็ก ยอดหวาย ยอดอ่อนของต้นไม้ต่างๆ และยอดไม้เถาต่างๆ จะแปลกก็ตรงที่ ผมเกือบจะไม่เคยเห็นมีการเก็บยอดตำลึงมาทำอาหารเลย ทั้งๆที่มีอยู่มากมาย
พวกมะเขือ ยอดกุ่ม ใบขี้เหล็กเหล่านี้ เขาจะเอามาใส่กะละมัง เอาน้ำซาวข้าวเทใส่ลงไปดอง อาจจะใส่เกลือลงไปเล็กน้อย (เกลือหายากครับ)
อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มของชาติพันธุ์ เช่น พวกม้ง ลีซอ นิยมอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ ส่วนพวกกะเหรี่ยงนิยมพวกน้ำพริกกับผักและต้มปลา เป็นต้น ด้วยลักษณะนิยมของการกินดังกล่าวนี้ เราจึงมักจะพบว่าการล่่าสัตว์ของแต่ละชาติพันธุ์แตกต่างกันไป เช่น ชาวม้ง นิยมล่าสัตว์ค่อนข้างใหญ่ พวกหมูป่า เก้ง กวาง ในขณะที่พวกกะเหรี่ยงจะเป็นพวกกะรอก อีเห็น เม่น ปูและปลา ส่วนพวกลีซอ มูเซอ นั้นอาวุธประจำกายเป็นพวกหน้าไม้ ก็ไปนิยมล่าพวกนก กะรอก เป็นต้น คนไทยก็ไปอีกแบบ คือเอาทุกอย่าง เช่น ตะกวด แย้ นกเขา นกกุลุมพู ตุ่น งูสิงห์ กระต่าย กระทิง วัวแดง ลิง ค่าง เป็นต้น

แกงน้ำมากๆดูจะไม่อยู่ในเมนูอาหารมากนัก คงจะเป็นเพราะการกินด้วยมือเปิบ หากจะแกงก็จะเป็นลักษณะของการคั่วแบบน้ำขลุกขลิกค่อนข้างแห้งเสียมากกว่า
แกงคั่วของเรานั้น แต่ดังเดิมนั้นก็คงเป็นแกงในกะทะในลักษณะของการคั่วให้สุก ปัจจุบันนี้เป็นการแกงในหม้อและทำให้มีน้ำมากหน่อย

แล้วคงจะได้เล่าเมนูต่างๆเป็นระยะๆต่อไปนะครับ
       
 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 20:02
คุณตั้งมีชื่อต้นไม้ป่าแปลกๆเติมมาให้อีก  ดิฉันก็หารูปมาส่งเป็นการบ้านอีก  
มะตาด  เรียกอีกชื่อว่าแอปเปิ้ลมอญ   ได้รูปมาตามนี้ค่ะ    เป็นอย่างเดียวกับส้านป่าหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 20:04
อ้างถึง
คนไทยก็ไปอีกแบบ คือเอาทุกอย่าง เช่น ตะกวด แย้ นกเขา นกกุลุมพู ตุ่น งูสิงห์ กระต่าย กระทิง วัวแดง ลิง ค่าง เป็นต้น
อย่างอื่นไม่ค่อยสงสัยนัก   สงสัยว่าลิง คนไทยเขากินแบบไหนกันคะ

คุณพนมเทียนบรรยายไว้ในเพชรพระอุมาว่า พรานเขากินเลือดค่างผสมเหล้าโรง เพื่อให้หายเมื่อยขบและบำรุงกำลัง เจริญอาหาร  ดีของค่างกินเป็นยาบำรุงสายตา   และกินสมองสดๆ ใส่มะนาว ซอยหอมใส่  พริกกับเกลือลงไปหน่อย   กินเหมือนกินหอยนางรม
ลิง คนไทยกินกันแบบกินค่างอย่างในนิยายหรือเปล่า


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 12, 21:06
รู้สึกว่าผมจะมีการบ้านยาวเหยียดคอยอยู่เสียแล้ว   :D

กลับไปรูปข้าวไร่ที่คุณเทาชมพูได้ค้นมา นั่นแหละครับ พื้นที่เช่นนี้คือที่ๆปลูกข้าวไร่ แต่ภาพนี้ดูจะสวยมากไป คงจะเป็นการปลูกเพื่อขายมากกว่าเพื่อกินเสียแล้ว ครับ
แต่ละกอของข้าวไร่จะไม่ใหญ่ ที่เห็นส่วนมากก็จะประมาณกำมือพอดีๆ ต่างจากข้าวนาที่ยิ่งดินดี ยิ่งปุ๋ยดี กอก็จะยิ่งใหญ่ ปริมาณข้าต่อไร่ก็จะยิ่งสูง กอขนาดกำมือคงจะได้ข้าวไม่มากกว่า 40 ถังต่อไร่ แต่หากขนาดประมาณโคนแขนก็จะน่าจะได้ถึง 60 -70 ถังต่อไร่ (เป็นการประเมินสมัยก่อนๆนะครับ ข้าวพันธุ์ใหม่ๆคงจะให้ปริมาณข้าวเปลือกมากกว่านี้มากในขนาดกอเท่าๆกัน) ดังนั้น เดินผ่านาก็พอจะบอกได้ว่าพื้นที่อุดมสมบูรณ์หรือไม่

สำหรับคำว่าบิ้งนานั้น ตามภาษาเขียนที่ถูกแล้วน่าจะใช้คำว่าคันนา โดยแต่ละผืนนาที่ล้อมรอบไปด้วนคันนานั้นเรียกว่าบิ้ง แต่ในภาษาพูดมักจะเพี้ยนไปเป็นบิ้งนา ซึ่งจะให้ความหมายในเชิงของนามธรรมในรูปของผืนนาที่มีการยกคันนาเพื่อการบริหารน้ำตามระดับความสูง แสดงถึงความเป็นผืนนาเก่าที่มีการทำกันมาหลายปีแล้ว ยิ่งมากปีมากๆ ก็จะมีบิ้งนาย่อยมากขึ้น และแต่ละบิ้งก็จะมีขนาดเล็กลง ในบางกรณีการทำคันนาก็เป็นการแบ่งเขต หรือแบ่งส่วนความรับผิดชอบของเครือญาติ บิ้งนานี้เมื่อดูจากภาพถ่ายทางอากาศแล้ว ส่วนมากจะบอกแนวของแม่น้ำหรือร่องน้ำเดิม หากเห็นบิ้งนาลักษณะทรงสี่เหลี่ยมยาวเรียงกันเหมือรูปพัด เราก็จะเห็นปลายด้านหนึ่งของปลายรูปทรงพัดนั้นมีแนวสิ้นสุดเป็นเส้นโค้ง ซึ่งแสดงถึงแนวลำน้ำเดิม ในโอกาสต่อไป หากขึ้นเครื่องบินขึ้นไปพิษณุโลกหรือเชียงใหม่ พอเครื่องขึ้นไปได้สักประมาณ 10 นาที ซึ่งเครื่องบินจะอยู่เหนืออยุธยา เรื่อยไปจนถึงประมาณนครสวรรค์ ลองก้มดูพื้นดินนะครับ จะเห็นภาพเหล่านี้และภาพสวยงามอื่นๆ เช่น แอ่งน้ำที่เป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว (Oxbow lake) เต็มไปหมด ซึ่งเป็นส่วนของโค้งหรือคุ้งของแม่น้ำในอดีต ยังมีลักษณะอื่นๆอีกมากมาย ในภาษาทางวิชาการเรียกลักษณะเหล่านี้รวมๆกันว่า Meandering scar หรือร่องรอยการกวัดแกว่งของแม่น้ำในอดีตครับ ตามร่องรอยนี้ก็จะมีสันคันคลองตามธรรมชาติ (natural levee)
ซึ่งจะเป็นพื้นที่น้ำหลากผ่าน คนไทยจะใช้เป็นที่อยู่อาศัย ปลูกไม้ผลยืนต้น ไม้ประจำถิ่นก็อาจจะเป็นต้นชุมแสง อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ก็มาจากดงของต้นไม้ชื่อนี้เอง เป็นต้น ที่จริงแล้วลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าต้นชุมแสงหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่อดตายในช่วงเดินป่าสำรวจก็เพราะความรู้ในสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้แหละครับ คงจะได้เล่าเป็นเรื่องราวหรือผนวก แฝงอยู่ในเรื่องอื่นเป็นครั้งๆไปครับ

 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 21:26
การบ้านของดิฉันก็คงจะยาวเหยียดไม่แพ้กัน   :)
หวังว่าข้างล่างนี้จะเป็นต้นชุมแสงที่ถูกต้องนะคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 12, 21:31
เขียนไปเขียนมาเลยเอาเรื่องที่จะเขียนในกระทู้สัมผัสป่าในอดีตมาบรรยาย
ขออนุญาตเอามารวมๆกันอยู่ในกระทู้นี้นะครับ ก็เรื่องมันพัวพันกันอยู่นี่ครับ เนาะ

ค่างนั้นยิงได้ง่ายมาก มีข้อสังเกตได้อย่างน้อยก็ 2 อย่างว่าที่ใดมีค่างบ้าง คือ กลิ่นขี้ค่างซึ่งหอมหวนมาก และเสียงร้องของชะนีซึ่งมีลักษณะผิดไจากเสียงโหยหวนตามปกติ ลักษณะอย่างนึง คือเสียงต่างๆจะสั้นลง และร้องบอกกันเป็นขรม แล้วค่อยเล่าขยายให้ฟัง

ลิงในป่าที่ผมทำงานดูจะมีสองพวก คือ พวกหางสั้น ผมเรียกกันว่าไอ้กังหางสั้น กับลิงหางยาว เลือดลิงนั้นก็กินได้เหมือนกับเลือดค่าง วิธีทำก็เหมือนกับค่าง คือ พอยิงได้ก็รีบตัดปลายหาง เอาหางจุ่มลงในขวดเหล้าขาว หรือหากยังไม่มีเหล้าในตอนนั้น เมื่อกลับถึงที่พักก็ผ่าท้องเอาเลือดที่คั่งอยู่ในช่องท้องเมื่อถูกลูกปืนหรือเมื่อตอนแล่เนื้อ นำออกมาผสมเหล้า แม้ว่าเลือดมักจะเป็นลิ่มแล้ว แต่ก็ยังพอคนให้ละลายได้ในแก้วเหล้า ส่วนดีลิงนั้น หากจะกินสดก็ทำให้แตกในแก้วเหล้า แต่หากจะเก็บไว้วันหลังก็เอาไปแขวนตากลม อย่าตากแดดเพราะจะแตก (ระเบิด) อดกิน
ได้ผลทางแก้เมื่อแก้ขบใหม ผมว่าเห็นผลนะ แต่ก็คงจะผนวกไปด้วยความเชื่อและจริตของใจว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ขอพักไว่ต่อในวันพรุ่งนี้นะครับ ฟังผมเล่าตอนนี้ กลัวจะนำไปคิด เดี๋ยวจะนอนไม่หลับ
เอ! ผมยังค้างไม่ตอบเรื่องอะไรบ้างครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 21:41
แกงจืดเหี้ยกับแกงจืดตะกวดค่ะ    ไม่ต้องมีภาพประกอบนะคะ (ข้อนี้ฝากบอกคุณเพ็ญชมพู)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มี.ค. 12, 21:55
เรื่องของแกงจืดเหี้ยกับตะกวดนี้ เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ

เอาเรื่องเหี้ยก่อน
วันหนึ่งในห้วยขาแข้งแถวบ้านไก่เกียง ผมได้ให้คนงานประจำคณะของผมซึ่งคนหนึ่งเป็นกะเหรี่ยง บ้านอยู่แถวแม่สะเรียง ซึ่งเป็นคนงานที่ติดสอยห้อยตามไปทำงานในป่ามาระยะหนึ่ง จัดการต่อแพไม้ไผ่ 15 ลำ จำนวน 3 แพ ลักษณะของแพนี้คือ 10 ลำผูกเป็นแผง (บากและร้อยไม้ที่ส่วนหัวแพ) ใช้เถาวัลย์และตอกผูก ก็ได้กว้างประมาณ 1 เมตร ตัดไม้ไผ่ทั้งต้นวางขวางท่อนนึงห่างจากหัวแพประมาณ 1 เมตร อีกท่อนนึงวางห่างออกมาประมาณ 3 เมตร อีท่อนวางไว้ตรงกลาง จากนั้นก็เอาไม้ไผ่อีก 5 ท่อนวางพาดข้างบน ตัดให้ความยาวพอดีกับท่อนขวาง แพนี้จะบรรทุกได้ประมาณ 4 คน แต่ผมบรรทุก 3 คนพร้อมสัมภาระติดตัว อีก 2 แพ บรรทุกแพละ 2 คนพร้อมสัมภาระ คือต้องมีคนอยู่ด้านหัวใช้ไม้ไผ่คอยยันหันหัวแพไม่ให้ชนกับโขดหิน ส่วนคนท้ายต้องยืนอยู่บนหางของไม้ไผ่ 10 ลำที่รวบเอาไว้ ผมทำงานนะครับ ไม่ใช่ใช้ล่องแก่งเพื่อสนุก คือต้องการสำรวจดูหินชนิดต่างๆที่โผล่อยู่ในลำห้วย เดินไม่ไหว น้ำลึกมากในบางช่วงบางตอน ปกติก็ประมาณเอว เดินลุยก็แย่แล้ว บางช่วงขนาดท่วมหัว ล่องลงมาตามน้ำจากบ้านเกริงไกร พอประมาณบ่ายสามโมงเย็น ก็เป็นเวลาที่จะต้องให้ความสนใจกับการเก็บหาอาหารมื้อเย็น
เจ้ากะเหรี่ยงลูกน้องคนโปรดก็เริ่มให้ความสนใจในทุกสิ่งที่จะเก็บกินได้ พลันก็เห็นตัวอะไรก็ไม่รู้วิ่งเลาะโคนวัชพืชที่ขึ้นอยู่ตามชายน้ำ พอเห็นตัวก็ไม่แน่ใจเพราะแสงสว่างในหุบเขาเริ่มไม่สว่างพอ ผิวหนังก็ดูเข้มไม่ค่อนจะออกเหลือง คิดว่าเป็นตะกวด กำลังพิจารณาอยู่ เจ้ากะเหรี่ยงอดไม่ได้ ยิงเลยครับ ห้ามก็ไม่ืัทันแล้ว จอดแพลงไปเก็บ อ้าวเป็นเจ้าตัวเหี้ยนี่นา
ด้วยสัจจะบางประการของผม คือ เมื่อยิงอะไรได้ก็ต้องกิน ไม่ไปเสาะแสวงหาให้เป็นเรื่องของการไปล่าไปเบียดเบียน เจ้าที่เจ้าทางเขาให้เรามาเองเมื่อถึงเวลา เชื่อใหมครับ ไม่เคยอดไม่เคยขาด อยากจะกินอะไรขอก็ได้เสมอ ขอหนึ่งได้หนึ่ง ขอสองได้สองเสมอ
พอพบหาดทรายเหมาะๆก็จอดแพ ตั้งแค้มป์พักแรม ทุกคนมีหน้าที่ช่วยกันคนละไม้ละมือ กางผ้าใบ หาฟืน เอาสัมภาระลง เอาเครื่องครัวออก เตรียมตะเกียงเจ้าพายุ ฯลฯ
สำหรับเหี้ยนั้น เริ่มต้นที่ต้องเอาไปเผาไฟให้หนังใหม้เกรียม ผิวแตกเป็นเหมือนเม็ดมะขามคั่วเสียก่อน จากนั้นก็ผ่าท้องเอาตับไตใส้พุงทิ้งให้หมด อย่าใ้ห้ใส้แตกเป็นอันขาด จะเหม็นจนกินไม่ได้เลยทีเดียว สัตว์พวกนี้เป็นสัตว์กินเนื้อมีแต่ของเน่าอยู่ในกะเพาะและลำใส้ จากนั้นก็นำมาหั่นเป็นชิ้นๆดูว่าจะทำอะไรดี เหลือเครื่องแกงสำเร็จรูปติดอยู่นิดเดียว ก็คงผัดได้ส่วนหนึ่ง ใส่พริกแห้งโขลกผสมลงไปให้เผ็ดๆเข้าไว้ ส่วนที่เหลือก็เลยลอง เลือกเอาเฉพาะส่วนหางมาต้มเป็นแกงจืด ใสหัวหอมแดงที่มี ใส่เกลือให้ออกรสเริ่มเค็ม ใส่น้ำปลาให้มีรสหอม ต้มน้ำให้เดือดพล่าน ค่อยๆหย่อนลงไปทีละชิ้น โดยยังรักษาให้น้ำเดือดปุดๆอยู่ ก็กินได้นะครับ ไม่เกลี้ยงหม้อ แม้จะกินกันแต่ก็ดูจะขยาดๆกันหน่อยด้วยชื่อของมัน มีกลิ่นคาวอยู่บ้าง

เรื่องของตะกวด เอาไว้พรุ่งนี้นะครับ

     


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 12, 22:18
เคยอ่านพบว่าเนื้อตัวเงินตัวทองมันเหมือนเนื้อไก่    ต้มแบบนี้ก็คล้ายๆต้มซุปไก่ใสๆ   รสชาติคล้ายเนื้อไก่ไหมคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มี.ค. 12, 18:27
เคยอ่านพบว่าเนื้อตัวเงินตัวทองมันเหมือนเนื้อไก่    ต้มแบบนี้ก็คล้ายๆต้มซุปไก่ใสๆ   รสชาติคล้ายเนื้อไก่ไหมคะ

วันนี้วันพระใหญ่ ขออนุญาตยังไม่ตอบหนึ่งวันนะครับ
แต่จะขอเลี้ยวผิดซอยไปในเรื่องรัตนชาติที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับสัตว์ และก็จะยังไม่เล่าเรื่องเกี่ยวกับรัตนชาตินี้ ผมคิดว่าท่านทั้งหลายคงพอจะเดาออกแล้ว
มีอยู่ 3 ชื่อครับ อะไรบ้างเอ่ย ??? 

 


 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 19:58
คุณตั้งเล่นเกมทศกัณฐ์แล้วไหมล่ะ
นึกออกแต่ cat's eye หรือไพฑูรย์ ค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: benjawan ที่ 07 มี.ค. 12, 20:03
ขอตอบว่า แก้วตาเสือ ( tiger's eye ) เพชรตาแมว ( chrysoberyl ) และไข่มุกค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 20:11
ไข่นกการเวก   ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 20:43
พลอย turquoise  เขาเรียกว่าพลอยสีขี้นกการเวก หรือ ไข่นกการเวกกันแน่คะ   
ตอนเด็กๆได้ยินเขาเรียก สีขี้นกการะเวก   ปัจจุบันกลายเป็นไข่นกการเวก
ตกลงว่านกการเวก ไข่มันสีนี้หรือ?


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 21:58
ไข่นกการเวกนี้ เรียกกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

เมื่อทรงส่งตุ้มหูไข่นกการเวกพระราชทานเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ  ก็พระราชทานแก่เจ้าจอมเอิบด้วย ๑ คู่
“ตุ้มหูคู่หนึ่งเปนไข่นกการเวกเหมือนกัน ฉันได้ซื้อที่เมืองนีศส่งทางไปรสนีย์ให้สดับ.. ...ฉันได้ส่งไปอีกคู่ ๑ สำหรับให้เอิบจากปารีสรวมเป็นสองคู่ด้วยกัน”


ฝรั่งว่า turquoise ที่ดีต้องเป็น สีไข่นกโรบิน (http://en.wikipedia.org/wiki/Robin_egg_blue)

ไข่นกออกฟ้าอมเขียวมีแน่ ๆ

แต่ขี้นกสีนี้ยังไม่เคยเห็น

 ;D



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 12, 10:30
“เขี้ยวหนุมาน”  ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 12, 10:49
พลอยตาเสือ-red tiger's eye  ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 12, 10:51
พลอยตาเหยี่ยว-Hawk's Eye-Falcon's Eye  ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 12, 10:57
หินเสือดาว-Leopard Skin Jasper  ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 12, 11:00
หินไข่นกกระทา-Dalmatian Jasper  ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 12, 11:13
หินนกยูง- Malachite  ;D
อียิปต์โบราณ ใช้แทนสมุนไพรรักษาโรคได้ครอบจักรวาล และใช้บดทารอบดวงตาแทนอายแชว์โดว์


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 12:21
จะแยกกระทู้ได้หรือยังเอ่ย?


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 14:10
ลูกปัดหินตาเสือ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 16:15
จะแยกกระทู้ได้หรือยังเอ่ย?

เห็นทีคุณเทาชมพูต้องรวบรวมรัตนชาติจากกระทู้หลังคามารวมกับกระทู้อาหารป่ามาตั้งเป็นกระทู้ "ว่าด้วยเรื่องรัตนชาติ" เสียแล้วกระมัง

 ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 17:57
ดิฉันจะแยกกระทู้ในนามคุณตั้งเป็นเจ้าของกระทู้      รอคุณตั้งเข้ามาตอบก่อน ว่าจะให้ชื่อกระทู้ใหม่ว่าอะไรดี   
จากนั้นก็จะลองหาวิธีรวมความเห็นจากกระทู้ทั้งสอง ใส่เข้าไปในกระทู้ใหม่ให้ได้    ต้องดมพิมเสนน้ำสัก ๒ ขวดก่อน อาจจะหาวิธีได้ค่ะ   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 12, 19:39
มาตอบแล้วครับ  ;D

กระทู้ "ว่าด้วยเรื่องของอัญมณี" ดีใหมครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 12, 19:55
หรือว่า ว่าด้วยเรื่องรัตนชาติ จะดีกว่า
ชักสับสนเสียแล้ว อัญมณีเป็นเรื่องของเครื่องประดับ ??? รัตนชาติเป็นเรื่องของตัวหินเพชรพลอย ???
ขอแก้ครับไปเป็นกระทู้ชื่อ ว่าด้วยเรื่องรัตนชาติ นะครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 20:17
ไปตั้งกระทู้ใหม่แล้วนะคะ     เจอกันที่นั่น อย่าลืมขนหินแร่จากกระทู้เดิมไปด้วยค่ะ
ย้อนกลับเข้ามาเชิญไปต่อที่นี่ค่ะ  คลิกที่ข้อความสีแดงได้เลย

ว่าด้วยเรื่องรัตนชาติ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5014.msg101810;topicseen#msg101810)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 12, 20:26
เรื่องรัตนชาติคงจะแยกไปเป็นกระทู้ใหม่แล้ว

ก็ขอวกกลับมาเรื่องแกงจืดตะกวด

ตะกวด หรือ แลน มีลักษณะตัวเหมือนเหี้ย เป็นสัตว์กินเนื้อเหมือนๆกัน ตัวก็ขนาดพอๆกัน หากเอาทั้งสองตัวมาวางใว้ใกล้ๆกัน บางที่ก็อาจจะจำแนกไม่ออก ตัวเหี้ยจะมีลวดลายที่หนังออกเป็นโทนสีเหลืองมาก ในขณะทีตะกวดจะมีสีออกน้ำตาลดำๆมาก แต่หากเห็นอยู่ในสภาพธรรมชาติ เหี้ยจะอยู่ในน้ำ ลอยคอและเดินเลาะอยู่ตามชายน้ำ เมื่อพบคนหรือตกใจก็จะโดดลงน้ำ ส่วนตะกวดนั้นจะพบอยู่บนดอย เมื่อพบคนหรือตกใจจะขึ้นต้นไม้
ตะกวดจะพบมากในป่าเบ็ญจพันธุ์ ซึ่งเป็นป่าค่อนข้างโปร่ง ที่มีไม้พื้นล่างและไม้เรือนยอดสูงเป็นหลัก มีไม้เรือนยอดระดับกลางน้อย เป็นลักษณะของป่าแดง (มีต้นไม้สูง แห้งแล้ง และโปร่ง) มิใช่ป่าแพะ (ไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่ มีแต่ต้นไม้เล็กๆ แห้งแล้ง และโปร่ง)    
ตะกวดชอบที่จะนอนอยู่บนต้นไม้โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นง่ามไม้ บางครั้งอาจจะพบนอนซุกอยู่ในขอนไม้ผุๆที่เป็นโพรง ขนาดตัวตะกวดใหญ่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา คือ ส่วนกว้างของลำตัวประมาณหนึ่งไม้บรรทัด รู้สึกว่าจะไหญ่เกินที่จะเห็นว่าน่ากิน ส่วนมากแล้ว ขนาดที่พอเหมาะพอกิน ก็จะตัวขนาดประมาณน่องขาหรือโคนขา สำหรับผมนั้น ตัวขนาดประมาณแขนหรือน่องขาจะเหมาะที่สุด

เหี้ยและตะกวดต่างกับจรเข้ตรงใหนบ้างครับ ???
 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 มี.ค. 12, 21:27
พี่เข้ยังคงจะเป็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ (http://www.thaiatweb.com/tag-พบจระเข้ที่บางขุนเทียน%20%20%20page1.html)  จนกว่าน้ำจะลด

แต่ไม่ใช่ว่าที่่คนแจ้งว่าพบเห็นพี่เข้อยู่ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง จะเป็นพี่เข้ตัวจริงไปเสียทั้งหมด อาจเป็นน้องวรานุสก็ได้

กรมประมงท่านให้คำแนะนำ เพื่อแยกพี่เข้กับน้องวรานุสให้ออก ดังนี้


http://www.youtube.com/watch?v=TnJrra5Mo2A

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3296.0;attach=26725;image)

มีเรื่องและรูปครอบครัวคุณวรานุสอยู่อีกเยอะเชียว นำมาลงกระทู้นี้คงไม่เหมาะ เพราะคุณเทาชมพูห้ามไว้

แกงจืดเหี้ยกับแกงจืดตะกวดค่ะ    ไม่ต้องมีภาพประกอบนะคะ (ข้อนี้ฝากบอกคุณเพ็ญชมพู)

เชิญเข้าไปดูในลิ้งก์ที่ให้ไว้ข้างบน

 ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 12, 22:29
ใช่เลยครับ ดู่ายๆกว่านั้นอีก คือ จรเข้มันเป็นเหลี่ยมเป็นปมไปหมดทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดหาง ส่วนเหี้ยและตะกวดผิวหนังของเขาราบเรียบ ไอ้เข้ชอบนอนลอยคออยู่ในน้ำหรือไม่ก็ชอบนอนอ้าปากอยู่บนหาดริมน้ำ ส่วนตัวเหี้ยนั้นเมื่ออยู่นิ่งๆในน้ำมักจะต้องมีขอนไม้ หรือมีอะไรเกาะอยู่ บนริมตลิ่งมักจะไม่อยู่นิ่ง ชอบแลบลิ้นสองแฉก เดินหาอะไรเรื่อยไป

ที่ได้เล่าแล้วว่า ตะกวดชอบขึ้นต้นไม้ ดังนั้น เมื่อจะจับเอามันมากิน ส่วนมากจึงเป็นการยิง แล้วก็ที่ได้เล่าแล้วว่ามันชอบนอนอยู่ระหว่างคบไม้ (ง่ามไม้) คนยิงจึงต้องมีฝีมือสักหน่อย คือ ยิงแม่นเกินไปตายคาที่มันก็จะติดค้่างอยู่ที่ง่ามไม้ ไม่ร่วงตกลงมา ยิงไม่ถูกที่สำคัญมันก็จะไต่ต้นไม้ขึ้นสูงไปอีก จึงต้องมีมุมยิงที่จะทำให้มันหันตัว หรือพลิกตัวออกจากง่ามไม้จะได้ตกลงมา หรือใช้แรงของลูกปืนให้มันกระดอนขยับพ้นง่ามไม้ จะได้ตกลงมา แต่เกือบจะเป็นปกติที่มันตายคาง่ามไม้ เนื่องจากต้นไม้ที่มันขึ้นมักจะไม่มีกิ่งก้านสาขามากและสูงชะลูด วิธีการเอามันลงมาก็คือ โค่นต้นไม้เลย ความที่เนื้อมันอร่อยมากชาวบ้านจึงยอมที่จะเสียเวลาและเสียแรงที่จะโค่นต้นไม้ทั้งต้น เพื่อเอาตัวมันขนาดแขนขนาดขาเท่านั้นมาทำกิน
อีกวิธีหนึ่งในการล่าตะกวดคือ การใช้สุนัข 2-3 ตัว ตะกวดจะลงมาหากินที่พื้นดินแล้วก็ชอบที่แอบหลับนอนพักผ่อนบนดินข้างๆขอนไม้ด้วย หมาพวกนี้ฉลาด จะชอบเดินนำหน้าดมกลิ่น พอเข้าใกล้ตะกวดก็จะวิ่งหนีขึ้นต้นไม้ ก็เหมือนหมาไล่แมว ก็จะช่วยกันสกัดดักหน้าดักหลัง งับตะกวด พลาดท่าก็โดนหางตะกวดตวัดฟาดเอาร้องเป๋งเหมือนกัน ชาวบ้านก็จะรีบมาจับ เอาไม้ตีหัว จับหางลากเหวี่ยง พอได้ตัวเป็นๆอย่างนี้ก็จะเอามีดขวั้นที่ข้อเล็บของตีนหลัง ดึงเล็บซึ่งติดอยู่กับเส้นเอ็นให้ยืดยาวออกมาเป็นเชือกผูกมัดเท้าหลังทั้งสองไพล่ขึ้นด้านหลังเข้าด้วยกัน แบกกลับไปทำอาหาร
   
วิธีทำก็คือเผาให้หนังแตกเป็นเม็ดมะขามคั่ว จากนั้นก็ทำแบบเหี้ยที่เล่ามา อร่อยกว่าเหี้ยมากเพราะไม่คาวเลย

เนื้อตะกวดจะขาวเป็นเส้นเหมือนเนื้ออกไก่ สำหรับท่อนหางที่เรียกว่าบ้องตันนั้น หากกินทั้งเนื้อติดหนังก็ออกจะเหนียวหน่อย แต่ตัวเนื้อใต้หนังนั้นนุ่ม ขาว เหมือนเนื้อไก่จริงๆ ผมว่าเนื้อส่วนนี้ของตะกวด เหี้ย หรือไอ้เข้ เหมือนกันหมด วิธีลดความคาวของเนื้อก็คือความใจเย็นในการเผา จะต้องให้แตกเป็นเม็ดมะขามคั่วจริงๆ แล้วเนื้อในจะต้องค่อนไปทางสุกมากกว่าดิบ เมื่อผ่าท้องเอาใส้ออกจะต้องไม่ให้แตกเลย ซึ่งในตอนทำจะยากก็ช่วงตัดให้ขาดจากส่วนลำคอ และช่างบริเวณง่ามขากับทวาร
คงไม่นึกอยากเห็นภาพเลยใช่ใหมครับ
เนื้อส่วนอื่นๆก็เอามาผัดเผ็ด ง่ายๆ บุบกระเทียมสักหัวนึง เอาพริกแห้งขยุ้มมือนึง โขลกเข้าด้วยกัน เอาน้ำมันใส่กะทะ เอาน้ำพริกใส่ผัดให้หอมฉุนจนจามเลย เอาเนื้อตะกวดผัด เติมเกลือใ้ห้ออกรสเค็ม ใส่น้ำตาลปึกนิดหน่อย (หากพอมี) ใส่น้ำปลาเอากลิ่นให้หอม ใส่ใบกระเพราจะเป็นกระเพราขาวหรือแดงก็ได้ ตักใส่จานก็กินได้แล้ว
หากจะทำเป็นแกงแบบแกงคั่วก็ได้ ถ้าจะทำให้อร่อยต้องมีเครื่องแกงครบ ก็มีหอม กระเทียม ข่า ตะใคร้ พริกแห้ง ผิวมะกรูด ดอกกระเพรา เกลือเม็ด โขลกให้แหลกละเอียด ใส่กะปิเผาใ้ห้หอม จะแถมด้วยกระชายสักเล็กน้อยก็ได้ น้ำพริกที่ตำควรจะต้องมีกลิ่นผิวมะกรูดโชยอ่อนๆ เอากะทะตั้ง ใส่น้ำมันนิดเดียว ผัดเครื่องแกงให้หอม (เกือบใหม้) เอาเนื้อลงผัดให้ทั่ว เอาน้ำล้างครกใส่ ให้มีน้ำขลุกขลิก ก่อนยกลงใสใบชะอมหรือใบชะพลู เท่านั้นเองครับ 
 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 มี.ค. 12, 22:33
เขาบอกว่า ไข่แลน เป็นไข่ที่อร่อยมากกกกก... ;D
สำนวน เกลียดตัว กินไข่ ก็น่าจะมาจากเจ้าตัวนี้นะคะ...


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 มี.ค. 12, 05:31
ก่อนจะนำภาพมาให้ชม ขอทำความเข้าใจก่อนว่า สัตว์ในสกุลเหี้ย Varanus (http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2011/03/X10397369/X10397369.html) ในเมืองไทยมีอยู่ด้วยกัน ๖ ชนิด คือ

๑. เห่าช้าง  Varanus rudicollis
๒. เหี้ยดำ   Varanus salvator komaini
๓. เหี้ยลายดอก (ตัวเงินตัวทอง) Varanus salvator
๔. ตะกวด (แลน)  Varanus bengalensis
๕. ตุ๊ดตู่  Varanus dumerilii
๖. แลนดอน   Varanus flavescens

วรานุสตัวที่เราเห็นบ่อย ๆ และนิยมเอาไข่มารับประทานเห็นจะเป็นตัวในข้อ ๓.

คุณเทาชมพูขอเฉพาะไข่ ไม่เอาตัว (แต่ถ้าอยากจะเห็น ใช้บริการทางอินทรเนตรของคุณกุ๊กได้เลย)

หาภาพสวย ๆ ของไข่วรานุสข้อ ๓. ไม่ได้

จึงขอนำเสนอไข่ของวรานุสในข้อ ๔. ที่ต้มแล้วเทียบกับไข่ไก่เบอร์ศูนย์

เห็นแล้วอย่าน้ำลายไหล


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4537.0;attach=23068;image)

 ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 12, 11:06
อ้างถึง
คุณเทาชมพูขอเฉพาะไข่ ไม่เอาตัว (แต่ถ้าอยากจะเห็น ใช้บริการทางอินทรเนตรของคุณกุ๊กได้เลย)

จนเดี๋ยวนี้ก็ยังขอไม่เอาตัวมาลงในกระทู้อยู่นะคะ   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 12, 20:43
เรื่องของไข่สัตว์นี้ ตามกติกาที่ผมและชาวบ้านป่าจริงๆถือกัน คือ ไม่เก็บกิน ไม่หยิบมาดู ไม่แตะต้อง เพราะต้องการให้มันฟักเป็นตัวเพื่อจะได้มีกินต่อๆไปนานๆ ยกเว้นจะอดอยากจริงๆจึงจะทำ ผมเห็นว่าเป็นกติกาที่สำคัญอย่างยิ่งยวดที่สอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์และการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
เมื่อเราไปจับต้องไข่เหล่านี้ จะมีกลิ่นมือของเราติดอยู่ เิดิมผมก็ไม่เชื่อ หยิบไข่ไก่ป่าบ้าง ไก่ฟ้าบ้างมาดูแล้วก็วางลงบนที่เดิม เดินผ่านทุกวันก็ไม่เห็นมันมากกไข่อีกเลย เลยต้องเก็บเอามาทำกิน แต่หากดูแต่ตา ไม่แตะต้องก็จะเห็นมันก็กลับมาฟักต่ออีก
สำหรับไข่ตะกวดเคยเห็นอยู่ครั้งหนึ่ง ไข่เหี้ยนั้นไม่เคยเห็นจริงในป่าสักที อาจจะมีเหี้ยในป่าน้อย (ผมเห็นอยู่ในห้วยขาแข้งเท่านั้น) อาจจะเป็นเพราะกติกาที่ผมเล่าให้ฟังก็ได้ ก็จึงไม่สนใจจะแสวงหาค้นดู ส่วนมากที่จะแวะเข้าไปดูก็เพราะสัตว์เหล่านี้ตกใจหนีไป
นอกจากไข่แล้ว ในการยิงสัตว์มาเป็นอาหารก็เช่นกัน หากเห็นเป็นตัวเมียก็จะปล่อยไป เลือกยิงเฉพาะตัวผู้เท่านั้น ทั้งสัตว์ใหญ่และสัตว์เล็ก (ที่เราดูออกจากลักษณะภายนอกชัดๆนะครับ)
สำหรับเรื่องของไข่นี้ ในช่วงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ต้นมีนาคม ที่หมู่เหมืองแร่ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จะมีชาวพม่าแบกไข่เต่ามาขาย ถูกมากครับ ในช่วง พ.ศ.2516 ร้อยละ 180 บาทเท่านั้น ในขณะที่แถวสงขลา ปัตตานีใบละประมาณ 8-9 บาท รู้ทั้งรู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี แต่เห็นเป็นของพม่าก็เลยตัดใจ ไม่เคยกินที่ต้มกันครั้งละ 20 ฟองที่ใหนเลย ก็ที่นี่แหละ ซอยหอม ซอยพริกใส่น้ำปลา เท่านั้นก็อร่อยสุดๆแล้ว ทั้งแกล้มเหล้าทั้งกินกับข้าว ไม่พอ ยังซื้อกลับมาแจกอีกต่างหาก กินอยู่หลายปีจนกระทั่งขายเฉลี่ยไบละ 3-4 บาทจึงหยุดกิน แล้วก็ได้ความรู้มาด้วยว่าไข่สดๆใหม่ๆนั้นมันจะเป็นฟองกลมๆ กินแล้วไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว (ขิ่ว) ยิ่งเก่าก็ยิ่งแฟบ กลิ่นขิ่วก็จะยิ่งแรงขึ้น แล้ววิธีเก็บให้ดูสดและทนนานก็คือหมกไว้ในทรายในกะละมังเท่านั้นเอง

   

   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 10 มี.ค. 12, 20:51
ได้คำใหม่อีกคำแล้วค่ะ "ขิ่ว" เป็นไงค่ะ เหมือนเหม็นเขียวไหม


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 12, 21:16
ขิ่ว เป็นภาษาทางเหนือ มีความหมายว่าเหม็นเขียวแบบฉุนเอามากๆ บางที่ก็ใช้ว่า เหม็นขิ่ว หรือ ขิ่วจัด คือ เหม็นตลบอบอวลบรรลัยเลย
กลิ่นรักแร้ของคนบางคนค่อนข้างจะตรงกับคำว่าขิ่ว
สัตว์เช่นแกะ เนื้อตัวภายนอกอาจจะมีกลิ่นสาบประจำตัวของเขา ก็ยังไม่จัดว่ามีกลิ่นขิ่ว แต่หากเป็นแกะแก่ เอามาทำกิน สาบกลิ่นเนื้อที่ทำกินนั้นจะขิ่ว แล้วยิ่งเมื่อถลกหนังแล้วเนื้อโดนขนด้วย เนื้อนั้นจะขิ่วไปเลย บางทีกลิ่นขิ่วก็มาจากกลิ่นสาบของน้ำปัสสาวะที่กระจายไปในเนื้อของสัตว์เมื่อตกใจใกล้ตายสุดขีด อันนี้ไม่ยืนยัน แต่เป็นเรื่องจริงที่พรานป่า เมื่อยิงสัตว์ป่าบางชนิดล้มแล้ว (เช่น หมูป่า อีเห็น) เขาจะรีบไปตัดพวงไข่ทิ้ง เพื่อไม่ให้เนื้อมีกลิ่นขิ่ว (หากเป็นตัวเมียก็ซวยไป  ;D)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มี.ค. 12, 21:37
ระยะเวลาการเข้าทำงานอยู่ป่าของผมนั้นเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 20 วัน แต่บางครั้งก็เลยไปเป็นประมาณหนึ่งเดือน สูงสุดคือประมาณสามเดือน
ก่อนจะเข้าป่าก็ต้องมีการเตรียมซื้ออาหาร ซึ่งด้วยข้อจำกัดของเนื้อที่ในการบรรทุก จึงทำให้ซื้อเตรียมได้ไม่มากนัก ก็จะมีข้าวสาร  1-2 ถัง หมูส่วนตะโพกติดหนัง เนื้อ ไก่ หอมแดง กระเทียม กล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง มะเขือเปราะ มะเขือยาว น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลปี๊บ พริกแห้ง กะปิแดง กะปิมอญ กุนเชียง พริกขี้หนูสด อย่างละหนึ่งกิโลกรัม มะนาว มะขามเปียก เกลือ ตะไคร้ ลูกมะกรูด ใบมะกรูด ข่า กะเพราะที่มีดอก เม็ดผักชี ยี่หร่า อบเชย ใบชา น้ำตาลอ้อย พริกแกงส้มสำเร็จรูป พริกแกงเผ็ดสำเร็จรูป กาแฟ ปลากระป๋อง ไข่ไก่ ทั้งหมดนี้ในปริมาณพอสมควรตามแต่ที่คิดว่าจะเข้าป่าใหนและจะพบอะไรบ้าง น้ำปลา ซีอิ๊ว เหล้าเซี่ยงชุน เหล้าโรง อย่างละหนึ่งขวด  เหล้าแม่โขงหกขวด ส่วนมากรวมๆกันแล้วก็จะไม่เกินสองหลัว (เข่ง)

วันแรกที่เดินทางก็จะไปสิ้นสุดที่บ้านของผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัล เพื่อแจ้งให้ทราบว่ามาทำอะไร รวมทั้งขอให้หาคนงานและช้างหรือม้าต่างเพื่อช่วยขนของให้ด้วย โดยเนื้อแท้แล้วก็คือการผูกมิตรและการเข้าผสมเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาวบ้าน คือให้เขารู้ทุกย่างก้าวว่ามาทำอะไรทำอย่างไร ป่าที่ผมทำงานอยู่ในสมัยโน้นเป็นพื้นที่สีแดงจัดเกือบทั้งนั้น

อาหารมื้อแรกจึงเป็นเรื่องของการผูกมิตร และส่วนมากก็จะยกเข่งกับข้าวขึ้นบ้านทั้งเข่ง ให้แม่บ้านเขาเลือกทำกับข้าวได้ตามใจชอบ ฝ่ายชายก็จะนั่งตั้งวงสนทนากัน อธิบายความ สอบถามเรื่องราวต่าง ฯลฯ ไก่ หมู เนื้อ มักจะถูกใช้หมดในอาหารมื้อนี้ อาจจะเหลือสำหรับมื้อเช้าบ้าง ที่เหลือก็จะเป็นพวกผักเป็นหลัก มีน้อยครั้งที่ผมจะนอนบนบ้านเหล่านี้ ปกติผมจะแยกไปตั้งแคมป์นอนห่างไปจากหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 1-2 กม.เสมอ เพื่อความปลอดภัยหลายๆอย่าง

พอเสร็จการกินร่วมกัน ผมก็จะยกกับข้าวที่เป็นผักสดทิ้งไว้ให้เขาทั้งหมด เก็บแต่ของแห้งเอากลับไป รวมๆแล้วเหลือเข่งเดียว ดังนั้นตั้งแต่วันที่สองเป็นต้นไปก็จะต้องเริ่มเก็บหาทุกอย่างที่สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ ซึ่งโดยปกติช่วงเช้าถึงบ่ายสามจะทำงานจริงๆ หลังจากนั้นก็จะเริ่มตาสอดส่ายหาเก็บทุกอย่างที่กินได้ในระหว่างเดินไปหาแคมป์ที่ตั้งเคลื่อนที่ไปทุกวัน ลักษณะงานของผมทำให้ต้องเดินทางทุกวัน ค่ำใหนนอนนั่น มีน้อยครั้งที่จะปักหลักอยู่ แต่ก็ไม่เคยเกินสามวัน

อาหารแบบที่ผมทำกินกัน คงจะได้เล่าต่อในวันพรุ่งนี้ครับ





กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 12, 11:19
นึกถึงรพินทร์ ไพรวัลย์ขึ้นมาค่ะ
การทำงานในป่าสีแดงจัด   นักธรณีวิทยาต้องหาทางหลีกเลี่ยงจุดอันตรายด้วยวิธีไหนอีกคะ  นอกเหนือจากผูกมิตรกับชาวบ้าน   
คุณตั้งเคยเจอสถานการณ์อะไร ที่ฉิวเฉียดจะไม่มีโอกาสกลับบ้านบ้างหรือไม่



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 12 มี.ค. 12, 13:37
พวกอาหารกระป๋อง ปลากระป๋อง มาม่า ไม่พกไปบ้างหรือคะ.. ???


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 12 มี.ค. 12, 14:03
กะปิมอญ ต่างจากกะปิทั่วไปอย่างไรค่ะแล้วทำไมต้องเป็นกะปิมอญด้วยคะ

แล้วกะปิที่ขายอยู่ทั่วไปในตลาดขณะนี้ ต่างจากในสมัยก่อนมากไหมคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 12, 14:50
พวกอาหารกระป๋อง ปลากระป๋อง มาม่า ไม่พกไปบ้างหรือคะ.. ???

อาหารกระป่องที่ซื้อเตรียมก็มีเพียงปลากระป๋อง 6 กระป๋องเท่านั้น สาเหตุที่ไม่ซื้ออย่างอื่นก็เพราะราคาสูง หนัก และต้องใช้จำนวนมาก (สมัยนั้นเบี้ยเลี้ยงวันละ 28 บาท ข้าวถังหนึ่งก็ 16-20 บาทเข้าไปแล้ว เนื่องจากคนในคณะสำรวจออกจากกรุงเทพฯก็ 3-4 คน มีคนขับรถ ผู้ช่วยสำรวจ และตัวผม บางครั้งอาจจะมีนักวิชาการคู่หูอีกหนึ่งคน ผนวกกับคนงานชาวบ้านอีกอย่างน้อย 2 คน ชาวบ้านก็ไม่มั่นใจในตัวเราเหมือนกันว่าจะถูกหลอกไปทำมิดีมิร้าย อย่างน้อยจึงต้องมี 2 คนเป็นเพื่อนกัน และบ่อยครั้งมากที่จะมี 3-5 คน โดยรวมก็คือจะมีคนในคณะระหว่าง 5-8 คน ซึ่งจะต้องกินอยู่ร่วมกัน ชาวบ้านเองไม่มีอาหารอะไรที่จะสามารถนำติดตัวไป จึงต้องกินอยู่ในสะเบียงของผม ในเวลาทำงานนั้นผมจะเดินกันเพียง 2-4 คน ที่เหลือก็จะอยู่เฝ้าหรือไปกับขบวนแคมป์ จำนวนคนในระดับนี้หากแบกของทุกอย่างด้วยตัวเองก็จะเดินได้ไม่เกิน 3-4 วัน หากจะเดินเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์ขึ้นไป จะต้องใช้คนประมาณ 10-14 คนเพื่อช่วยกันแบกหามสัมภาระ ดังนั้นจึงต้องจ้างช้างบ้างม้าบ้างเพื่อบรรทุกสัมภาระ หากเป็นช้างก็ต้องสองตัว ตัวเดียวก็ไม่ยอมไปกันอีก ช้างเองก็ต้องการเพื่อน เดินอยู่ตัวเดียวก็คิดแต่จะหันหลังกลับบ้านและเดินช้ามาก อ้อยอิ่งไปเรื่อยๆ จะให้ดีต้องเป็นตัวเมียตัวหนึ่งกับตัวผู้อีกตัวหนึ่ง แล้วจะต้องเอาตัวเมียเดินนำหน้าด้วย หากเอาตัวผู้นำหน้า มันก็พะวงอีก คอยหันกลับมาดูตัวเมีย จะเดินช้ามาก แต่หากเอาตัวเมียนำหน้า คราวนี้ไปใหนไปกันเลย ระหว่างเดินมันก็จะคอยใช้งวงแหย่ตัวเมีย ดมบ้าง แตะบ้าง จับบ้าง ตัวเมียจะรำคาญก็จะเดินให้เร็วขึ้นเพื่อหนี กรณีต้องจ้างม้าต่างนั้นขอเว้นไว้ก่อน สนุกครับ
ที่จริงแล้วช้างสองตัวกำลังดี สัมภาระต่างๆที่เอาติดตัวไปสำหรับคนที่ไปจากกรุงเทพฯก็มีปี๊บสองใบ ใบหนึ่งใส่เครื่องครัวพวกของแห้ง อีกใบใส่พวกเครื่องปรุง สำหรับคนก็มีถุงทะเลคนละใบ (ใส่เสื้อผ้า 3-4 ชุด ถุงนอน ผ้าห่ม หมอนและอื่นๆ) ผ้าใบ 2-3 ผืน (ไว้กางนอนรวมกันหนึ่งผืน ไว้ทำหลังคาหนึ่งผืน และผืนเล็กใว้ปูทำครัวและนั่งล้อมวงกินข้าว) ตะเกียงเจ้าพายุลูกหนึ่ง น้ำมันก๊าดสำหรับจุดตะเกียงประมาณ 10 ลิตร โดยสรุปก็คือช้างตัวหนึ่งบรรทุกของกิน อีกตัวหนึ่งบรรทุกเครื่องนอน ช้างนี้แม้ว่าจะลากของได้หนักหลายตัน แต่หากบรรทุกของจะได้ประมาณ 200 กก.สำหรับการเดินระยะสั้น หากเดินทุกวันตั้งแต่ประมาณ 8 โมงเช้าถึงประมาณบ่าย 4 โมงเย็น โดยไม่มีโอกาสพักและกิน จะบรรทุกได้สูงสุดประมาณ 100 กก.ไม่เช่นนั้นหลังพัง
สัมภาระ จำนวนคน และจำนวนเบี้ยเลี้ยงรวมกันของคนจากกรุงเทพฯ เป็นตัวกำหนดจำนวนวันในการเข้าป่า จึงเป็นที่มาของระยะเวลาทำงานในแต่ละครั้งประมาณ 20 วัน น้อยวันไปเบี้ยเลี้ยงรวมกันก็จะไม่พอค่าอาหารของคนทั้งคณะ มากวันไปเสบียงหลักก็หมด คนมากไปก็เปลืองสะเบียงและมีสัมภาระมาก สำหรับคนงานนั้นผมไม่หักค่ากินอยู่ เขาจะได้รับเต็มๆวันละ 20 บาท (ค่าแรงในสมัยนั้น) ก็เป็นการผูกมิตรอีกอย่างหนึ่งด้วย เงินทองในป่าเป็นของหายาก ทำให้ใครๆก็อยากทำงานด้วย เขารู้สึกว่าเรามาดี ใจดี เขาก็ช่วยเป็นหูเป็นตาปกป้องเรา

ก็จะไปเข้าเรื่องคำถามของคุณเทาชมพูนะครับ   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 12, 16:11
นึกถึงรพินทร์ ไพรวัลย์ขึ้นมาค่ะ
การทำงานในป่าสีแดงจัด   นักธรณีวิทยาต้องหาทางหลีกเลี่ยงจุดอันตรายด้วยวิธีไหนอีกคะ  นอกเหนือจากผูกมิตรกับชาวบ้าน  
คุณตั้งเคยเจอสถานการณ์อะไร ที่ฉิวเฉียดจะไม่มีโอกาสกลับบ้านบ้างหรือไม่

วิธีการหลีกเลี่ยงอันตรายที่สำคัญ คือ ต้องมีหูตาเป็นสับปะรด มีการข่าวที่ดีและกรองข่าวเป็น มีความสังเกตสูงในทุกสรรพสิ่งในระดับรายละเอียด พูดคุย เปิดเผย (แบบปิดบังอำพราง) เป็นมิตรกับทุกคน จริงใจ ช่วยเหลือ ไม่หวังผลตอบแทน เข้าใจวิถีชีวิตของเขา และปฏิบัติตนเหมือนๆกับชาวบ้านเขา ซึ่งทั้งหมดก็รวมๆอยู่ในเรื่องของการผูกมิตรกับชาวบ้าน
หลักการของผมคือ คบและพูดคุยกับทุกคน แล้วสังเกตลักษณะกิริยาท่าทางอุปนิสัยใจคอ วิธีการพูดจา เรื่องที่เขาพูดเล่า เรื่องที่เขาชอบ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เราทราบว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร มีอะไรเป็นจุดอ่อนจุดด้อย มีอะไรที่เขาภาคภูมิใจ ผมก็จะพูดคุยเป็นมิตรกับประตูที่เขาเปิดให้ และผมก็จะเปิดประตูคบกับเขาในประตูนั้นๆเหมือนกัน เมื่อไม่มีอะไรต่อกัน ดีต่อกันอย่างสม่ำเสมอ เดี๋ยวก็รู้เองว่ามีอะไรที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ มีอะไรที่กำลังจะเป็นพิษเป็นภัยกับเรา รวมทั้งข่าวสารที่อีกฝ่ายหนึ่งส่งมาบอกกล่าวให้ทราบ เช่น ห้ามเดินไปที่ใหน ฯลฯ ที่จริงเมื่อเสียงปืนสงบ ผมยังได้พบกับคนที่ผมเคยจ้าง ต่อมาเขาไปอยู่กับอีกฝ่าย พอเลิกก็กลับนั่งคุยกัน มีเรื่องอันตรายที่ตัวผมไม่รู้อีกมาก เขาช่วยปกป้องให้เยอะแยะ เรื่องเกี่ยวข้องกับพื้นที่สีแดงเหล่านี้มีมากและสามารถเล่าได้อีกยาว มีตั้งแต่อุตรดิตถ์ ข้ามไปกำแพงเพชร ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ตั้งแต่ 2512 จน 2522

สำหรับเหตุการณ์ฉิวเฉียดใกล้ตายนั้นมีมากพอควร โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 2512-2516 แล้วก็มาช่วงปลายๆ 2521 ซึ่งการปฏิบัติการณ์ทั้งหมดกำลังรุนแรงทั้งฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายเขา  ทั้งหมดเกี่ยวกับคน ไม่เกี่ยวกับสัตว์ และไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุเลย ผมเคยโดนทั้งถูกไล่ล่า ถูกจับ ถูกท้ายิง ถูกจะปล้น และยืนคุยแบบฉันท์มิตรกันแบบถือปืนเตรียมพร้อม กลัวไหมครับ คำตอบแบบน่าเตะก็คือหากกลัวก็คงไม่กลับเข้าไปทำงานในที่เหล่านั้นอีก จริงๆแล้วหากเราอยู่ในพื้นที่และในเหตุการณ์ก็ไม่กลัว เฉยๆ แต่ก่อนจะกลับเข้าไปอีกก็คิดกลัวอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มากนัก การแก้สถานะการณ์ที่สำคัญยิ่ง คือ ใจเย็นๆๆๆ สงบ นิ่ง ยิ้มแย้ม พูดคุย และพยายามแสดงตนว่าปราศจากอาวุธใดๆ (แบบไว้เชิง)
วิธีการอย่างหนึ่งที่ผมทำก็คือ รถแลนด์ของผมจะไม่เปลี่ยนคัน ใช้คันเดิมหมายเลขทะเบียนเดิม แต่งไฟให้เด่นเป็นสัญลักษณ์ ผมใช้ไฟสปอตไลท์สีเหลืองติดคู่อยู่หน้ารถ ตัวผมเองแต่งกายให้ดูมีสีสันกว่าปกติเล็กน้อย ใส่หมวกสักหลาดสีน้ำตาล เอาผ้าขาวม้าคาดพุง ระยะแรกๆก็เพื่อปกปิดปืนสั้นที่เหน็บไว้ ต่อมาก็ไม่พกอะไร ให้ผู้ช่วยพกแทน จะไปที่ไหนก็บอกตั้งแต่ปากทาง ข่าวของคนพวกนี้เร็วมาก เมื่อผมไปถึงเขาจะทราบและรอพบเลยทีเดียว ไม่ไช่การมารอรับแบบเจ้านายนะครับ มารอเพื่อตรวจสอบว่ามาจริง ผมจึงต้องถือสัตย์ในเรื่องเหล่านี้ จะเข้าเมื่อใดจะออกเมื่อใดก็บอก แต่เวลาออกก็จะหาเรื่องออกให้ผิดเวลา ก่อนบ้าง หลังบ้าง ไปอีกทางหนึ่งบ้างด้วยข้ออ้างสารพัด อีกอย่างหนึ่งผมต้องไว้หนวดตลอด เป็นสัญลักษณ์ประจำกายของผม เพราะครั้งแรกๆนั้นไม่ได้โกนหนวด ชาวบ้านเขาเลยรู้จักผมในนามช่างหนวด ผนวกด้วยการเป็นคนใจดี ไม่มีปัญหาอะไร ไม่รบกวนชาวบ้านในทุกเรื่องยกเว้นการจ้างคนงาน ทุกครั้งที่เข้าไปก็จะต้องมีของฝาก เช่น กับข้าวที่เล่าให้ฟัง บางทีก็เป็นเกลือยกเป็นกระสอบเลย ยาแก้ไข้มาลาเรียแฟนซิดาซึ่งมีอาการข้างเคียงน้อยมาก แทนยาที่ชาวบ้านได้รับพวกอะลาเล็นหรือคอโลควินซึ่งทำให้หูอื้อและท้องผูก ยาทัมใจ ซึ่งเป็นยา APC แบบผงอยู่ในซอง ซองละ 25 สตางค์ แจกไปเลยครับ 10 -20 ซอง เขาติดและใช้ในการสูบฝิ่นด้วย ขนม ท็อฟฟี่แจกเด็ก แม้กระทั่งเสื้อผ้า และเสื้อหนาวที่ถอดให้เลยเวลาจะออกจากป่า รถของผมไม่เคยจอดหันหน้าเข้าบ้านหรือทางตันเลย ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือค้างคืน จะต้องหันหน้าออกพร้อมขับหนีตลอดเวลา เมื่อถึงบ้านชาวบ้าน ผมจะเปิดประตูรถค้างไว้เพื่อให้เห็นตราข้างประตูสักครู่ (ผมไม่เคยนั่งเบาะหลัง) ให้ชาวบ้านเขาได้สังเกตและพิจารณา ช่วยให้ใจของเขาเกิดความสงบ ไม่ตกใจ แล้วก็จะค่อยๆลงไปคนเดียว เดินไปถามทางพูดคุย (ทั้งๆที่รู้ว่าทางไปใหน) ขยับผ้าขาวม้าให้เห็นว่าไม่ได้พกอะไรไว้ที่เอว คนขับรถของผมและผู้ช่วยจะไม่ลงจากรถ แต่จะเฝ้าระวัง มีปืนเสียบอยู่พร้อมใช้งานตลอดเวลา เมื่อทุกอย่างดูเป็นมิตรดีแล้วจึงลงมาคุยกันทั้งหมด จะไว้ใจชาวบ้านร้อยเปอร์เซ็นไม่ได้เลยสักคน เป็นกฎที่ต้องถือไว้ประจำใจ  

เหล่านี้คืออาวุธของผมในการป้องกันอันตรายของผม สำหรับเรื่องเฉียดตายนั้น จะค่อยๆเล่าไปนะครับ           


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 12, 16:19
กะปิมอญ ต่างจากกะปิทั่วไปอย่างไรค่ะแล้วทำไมต้องเป็นกะปิมอญด้วยคะ
แล้วกะปิที่ขายอยู่ทั่วไปในตลาดขณะนี้ ต่างจากในสมัยก่อนมากไหมคะ

กะปิมอญ คือกะปิที่ทำมาจากปลาน้ำจืด ออกสีเหลืองๆ เนื้อหยาบเหมือบปลาร้าสับ สมัยก่อนมีขายในตลาดสดตั้งแต่ อ.บ้านโป่ง ไปจนชิดชายแดน กะปินี้ใช้ในการทำแกงป่า จะทำให้แกงหอมอร่อยมากกว่าใช้กะปิไทยที่ทำจากเคย แต่เอามาตำน้ำพริกสู้กะปิไทยไม่ได้เลย ในปัจจุบันนี้ ผมไม่ทราบว่ายังมีการทำขายกันอยู่หรือเปล่า เพราะดูจะมีรถขายกับข้าวเอากะปิไทยไปขายอยู่ทั่ว 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 12, 16:21

 เรื่องเกี่ยวข้องกับพื้นที่สีแดงเหล่านี้มีมากและสามารถเล่าได้อีกยาว มีตั้งแต่อุตรดิตถ์ ข้ามไปกำแพงเพชร ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ตั้งแต่ 2512 จน 2522
.................
สำหรับเรื่องเฉียดตายนั้น จะค่อยๆเล่าไปนะครับ          

ขอสำหรับกระทู้ใหม่นะคะ  ประสบการณ์เฉียดตายในป่า

ป.ล.ขออนุญาตคุณตั้งว่า ในการพิมพ์ยาวๆ อาจมีบางคำที่พิมพ์ผิด หลงหูหลงตาเจ้าของกระทู้ไป     ดิฉันขอพิมพ์ตัวสะกดที่พิมพ์ผิดเสียใหม่ให้ถูกต้อง   โดยไม่เปลี่ยนเนื้อความ    ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่ผู้มีปัญหาทางสายตาที่เข้ามาอ่านกระทู้เรือนไทย โดยใช้โปรแกรมที่ออกเสียงตามตัวสะกด จะได้อ่านคำได้ถูกต้องค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 12, 18:26
ขอบพระคุณมากครับ

เรื่องพิมพ์ผิดนั้นอาจะเป็นเรื่องปกติ แต่การสะกดผิดนี้ ผมแย่มากครับ อายุมากเข้าก็มีแต่จะพูดมากกว่าเขียน มีศัพท์อยู่หลายคำมากๆที่เลยลืมการสะกดที่ถูกต้อง
ผมจะพยายามเพิ่มการตรวจทานให้มากขึ้นครับ
อนึ่ง ขอถามเป็นความรู้ด้วยครับ เนื่องจากผมพยายามเลี่ยงการใช้ภาษาที่เป็นภาษาเขียนที่ถูกต้องตามหลัก มาเป็นการใช้เป็นภาษาพูดเล่าเรื่องแทน ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีความรู้สึกว่ากำลังพูดคุยกันในลักษณะที่เห็นหน้ากัน โครงสร้างของการใช้ภาษาจึงอาจจะเปลี่ยนไป เรื่องนี้จะทำให้ผู้ที่อ่านผ่านโปรแกรมนี้เข้าใจได้ยากใหมครับ ผมเคยใช้โปรแกรมแปลของกูเกิ้ลในการหาข้อมูลในเว็ปที่เป็นภาษาญี่ปุ่น อ่านแล้วต้องวิเคราะห์และประมวลความให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้อีกครั้งหนึ่ง 
 
อนุญาตครับ และขอขอบพระคุณในความกรุณาด้วยใจจริงอีกครั้งหนึ่ง


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 12, 18:47
ใช้ภาษาง่ายๆอย่างคุณตั้งใช้อยู่ ดีแล้วค่ะ ไม่มีปัญหาอะไร     กลับทำให้อ่านง่ายขึ้นเสียอีก 
กระทู้เล่าเรื่อง ใช้ภาษาพูดเข้าใจง่ายกว่าภาษาเขียนค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 12 มี.ค. 12, 20:34
อ่านกระทู้ที่97 เผลอนึกว่าอ่าน นวนิยาย น่าตื่นเต้นมากค่ะ เห็นด้วยว่าน่าจะแยกเล่าเป็นกระทู้ใหม่(ก.ท.99)นะคะ
 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 13 มี.ค. 12, 10:47
อย่าแยกกระทู้เลยค่ะ  ;D
เล่าประสพการณ์ไปพร้อมๆ กับเล่าเรื่องอาหาร ดูลื่นไหลต่อเนื่องชวนติดตามดีแล้วค่ะ
ถ้าแยกเป็นส่วนๆ หนูดีดีว่า มันจะไม่ครบรสนะคะ...
เกรงจะเป็นภาระแก่เจ้าของกระทู้ ต้องคอย up หลายๆ กระทู้ค่ะ
(http://www.kapook.com/wallpaper/images/kp-icon-4.gif)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 มี.ค. 12, 15:24
ขออนุญาตคุณตั้งเอารูปดาราแสดงนำมาให้ดูเพื่อเพิ่มเรตติ้งกระทู้ครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 13 มี.ค. 12, 18:45
ขอเดาจากภาพว่า ดาราแสดงนำตอนนี้คงจะอยู่ประมาณมัธยมปลาย...

เรื่องแยกกระทู้ตามที่คุณ:D:D แนะนำก็ดีเหมือนกัน

เอาเป็นว่าแล้วแต่ความสะดวกของผู้ตอบก็แล้วกันค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 12, 22:04
เพื่อนเอ๋ย เปิดเผยตัวเสียแล้ว หน้าตาอย่างนี้แหละครับที่เข้าป่าเป็นอาชีพ กะว่าจะไปเป็นชาวหมอ ตกวิชาเดียวเลยไปเป็นชาวบ้าน

เล่ามาว่ามื้อแรกในในการออกทำงาน อาหารก็แทบจะไม่เหลือแล้ว ที่จริงก็ขยักไว้นิดหน่อย พอสำหรับอีกมื้อเช้าก่อนจะต้องพึงอาหารจากป่าจริงๆ
อาหารที่บ้านกำนัล ผู้ใหญ่บ้าน หรือสารวัตรกำนัล ซึ่งทำโดยแม่บ้านของผู้นำชาวบ้านเหล่านี้ มักจะหนีไม่พ้นการนำไก่มาทำเป็นแกงซดน้ำแบบต้มยำ ส่วนหมูนั้นส่วนมากจะทำเป็นลาบ เนื้อนั้นก็แล่เป็นชิ้นบางทอดอย่างเดียว ผัดผักไม่ต้องพูดถึง ไม่มี ผักสดที่ซื้อมาจะเอามาเป็นผักแนมกับลาบ
ก็พอจะสรุปได้อย่างหนึ่งว่า อาหารพิเศษในการรับแขกของชาวบ้านป่า มักจะเป็นต้มยำไก่ ลาบ และเนื้อทอด ซึ่งดูเหมือนปกติ แต่แท้จริงแล้วต้องจัดว่าเป็นอาหารพิเศษของเขา แล้วแม่บ้านยังได้แสดงฝีมืออีกด้วย (รวมทั้งลูกสาว) อาหารประจำทุกมื้อของเขาคือน้ำพริกกับผักที่หาได้ และปลาต่างๆที่หาได้ในลำห้วย ปลานั้นหากตัวค่อนข้างใหญสักหน่อยก็จะเอามาเสียบไม้ย่างเป็นหลัก หรือหากหาได้หลายชนิดคละกันบางนำมาทำเป็นแกงแบบต้มยำ สำหรับพวกลาบและทอดนั้นจะทำก็ต่อเมื่อล่าได้เนื้อสัตว์ขนาดค่อนข้างใหญ่มา
ลืมไปอีกอย่างที่ต้องซื้อเตรียมเสมอ คือ หมูสามชั้นทั้งแผงประมาณ 1 กก. หมูสามชั้นนี้จะหมดเกลี้ยงในมื้อแรกเลยทีเดียว ชาวบ้านเขาจะเจียวเอาน้ำมันเก็บใว้ใช้ ส่วนหมูที่เจียวแล้วก็จะเอามากินเป็นกับข้าว ส่วนมากก็จะจิ้มกับเกลือตำกับพริกแห้ง น้ำมันหมูมีค่าและหายากสำหรับชาวบ้าน ไม่มีสัตว์ป่าใดทีจะไห้น้ำมันเท่ากับหมู และหมูที่เขาเลี้ยงไว้นั้น จะจี่ (ฆ่า) ก็ในโอกาสงานพิเศษเท่านั้น ปีหนึ่งจะได้ฆ่าหมูสักครั้งก็ดีมากแล้ว

พวกผมทราบสภาพการณ์ดีว่าควรจะกินอย่างไร จึงไม่เคยขอซื้อไก่ หรือรบกวนอะไรทั้งสิ้น นึกดูนะครับ เขาก็แทบจะไม่มีอะไรทำกินอยู่แล้ว เมื่อได้สะเบียงของผม ก็นับว่าเป็นวันที่พิเศษแล้ว ในขณะที่ทำกับข้าว จะเห็นลูกของเขานั่งมองด้วยความอยาก ในขณะที่แม่เขาตักใส่ถ้วยชามให้ลูกนำมาให้กับวงเหล้าของเราแกล้มเหล้า ลูกเขาก็จะมองเหมือนกับแอบลุ้นว่าจะมีเนื้อเหลืออยู่เท่าใด จึงเป็นที่รู้กันในหมู่พวกผมว่ากินแต่เหล้า ซดแต่น้ำแกง แบ่งเนื้อต่างๆกินชิ้นเท่ากับหนูแทะ กับข้าวมื้อนี้จึงมักจะเหลือบานเบอะ เพื่อให้เด็กๆและเขาได้กินกันต่อไปอย่างอร่อย แม้กระทั่งเหล้าที่ดื่ม ด้วยความที่เขาเป็นเจ้าบ้าน เขาก็จะเอาเหล้าป่ามาเลี้ยง เราก็เลือกที่จะดื่มเหล้าป่า เอาเหล้าสี (เหล้าแม่โขง)ให้เขาดื่ม เหล้าสีสำหรับพวกเขานั้นก็เหมือนเรากินเหล้าวิสกี้ชั้นดีราคาแพงๆ
ในวงดื่มเหล้า ก็จะต้องมีชาวบ้านที่เจ้าบ้านเลือกคัดมาให้เป็นคนงานของเรานั้่งร่วมวงอยู่ด้วย เื่พื่อเป็นการแนะนำตัว สร้างความรู้จัก และนัดแนะ สอบถามในเรื่องต่างๆ อันจะเป็นเรื่องของการสนทนาที่พวกเขาเป็นฝ่ายสบายใจ มากกว่าพูดคุยในเรื่องของฝ่ายเราซึ่งเขาไม่รู้เรื่อง แน่นอนว่าคนงานเหล่านั้นจะต้องเป็นพวกและคนที่ไว้ใจของหัวหน้าหมู่บ้าน
วิธีการดื่มตามปกติก็คือ เริ่มด้วยเหล้าป่า เขาเทใส่ถ้วยแก้วเล็กๆ ให้เรา เราดื่มแล้วก็จะเทเหล้าส่งให้เขา เขาดื่มแล้วก็จะเทเหล้าให้คนที่นั่งถัดไป เวียนเป็นวงกลม เมื่อถึงผมอีกรอบ ผมก็จะเปิดเหล้าสีเทให้เจ้าบ้าน เมื่อเวียนมาถึงผมอีครั้ง ผมก็จะยกเหล้าสีแก้วนั้นให้กับเจ้าบ้าน แล้วขอต่อด้วยเหล้าป่าแล้วบอกว่าอร่อยกว่า เป็นการสร้างความประทับใจในความรู้สึกไม่รังเกียจของๆพวกเขา ในวงเหล้าก็จะมีขันน้ำใบใหญ่ลอยด้วยก็อก (ขัน)ใบเล็ก เอาไว้ดื่มตามหลังเหล้า บางทีก็ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ เพราะต่างคนต่างก็จะพยายามมอมเหล้ากัน เื่พื่อจะให้ได้ความจริงที่ซ่อนไว้ บางครั้งเจ้าบ้านก็มีลูกเล่น เอาลูกสาวเข้ามาช่วยรินเหล้า ตักน้ำให้ เดินเข้าเดินออกยกกับข้าว ฯลฯ ก็คงจะแอบคิดลึกๆอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมจึงไม่ยอมนอนบนบ้านเหล่านี้เลย เมาอย่างไรก็ต้องเดินกลับแคมป์ ดีไม่ดีนอนตื่นมามีคนนอนอยู่ข้างๆ ก็จะต้องเสียผีผูกข้อมือกันเป็นเรื่องเป็นราว ก็ไม้แพงหรอกครับ หากเป็นคนไทย ก็อาจจะเป็นทองสลึงนึง เิงินไม่กี่ร้อย หมูตัวนึง หากเป็นกะเหรี่ยงก็ เหรียญสลึงสองอัน อันหนึ่งโยนขึ้นหลังคา อีกอันหนึ่งโยนลงดิน แล้วก็หมูตัวนึง
 
การผูกข้อมือนี้ก็แปลกนะครับ ผมคิดว่าเป็นประเภณีพื้นฐานของคนชาวบ้านทั่วๆไปทั่วทุกภาค ที่จะยกเว้นก็ดูจะมีเฉพาะคนในเมืองภาคกลาง
ปริมาณสลึงนึงนี่ก็แปลก หาที่มาไม่ได้ จะเป็นทอง เป็นเงินก็เท่านี้ เป็นความเคยปากหรือว่าเห็นว่า ปริมาณสลึงนึงตามมาตราชั่งหรือมาตราเงิน (เฟื้อง เบี้ย ไพ)ก็มีปริมาณอักโขแล้ว

ว่าจะเล่าเรื่องอาหาร กลายเป็นเรื่องอื่นไปเสียแล้ว 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 มี.ค. 12, 22:52
รูปช่วยขยายจินตนาการ

น่าจะมีรูปตอนที่อยู่ในป่ามาประกอบเรื่องบ้างนะขอรับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 14 มี.ค. 12, 09:24
 ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 14 มี.ค. 12, 10:36
 ก็ดีเหมือนกันถ้าจะได้เห็นรูปนายช่างหนวด คาดผ้าเหมือนชาวบ้าน

 ไม่นึกเลยว่าการเข้าไปทำงานในพื้นที่นั้น จะต้องรู้ชั้นเชิงต่างๆมากมาย

 (แต่แน่นอนค่ะ...ต่างคนต่างแปลกหน้ากันก็ต้องระวังตัวให้มาก)
 
 ความรู้แบบนี้ในมหาวิทยาลัยเขาสอนโดยตรงไหมค่ะ หรือมีใครแนะนำว่าควรต้องทำอย่างไร

 หรือไปเรียนรู้เอาเองในตอนเข้าพื้นที่

 ดิฉันเคยไปเก็บข้อมูลวรรณกรรมพื้นบ้านแถวท่ายางเพชรบุรี ในหมู่บ้านลาวพวน
 
 ก็ต้องไปค้างที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ไปกิน ไปนอน อยู่หลายวัน เพราะไปกับเพื่อนผู้หญิง 2 คน

 ก้ต้องพยายามเข้ากับเจ้าของบ้านให้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีเวลาไม่มาก

 และต้องขอความช่วยเหลือในการประสานงานในพื้นที่ด้วย เพราะเราเป็นคนแปลกหน้า

 ภรรยาเจ้าของบ้านก้ต้องทำอาหารให้ทาน แต่ก็ไปช่วยเขาทำด้วย ความที่เป็นผู้หญิงเหมือนกัน

 จึงไม่มีปัญหามากนัก  ไม่ต้องระวังตัวมาก นอกจากเรื่องความปลอดภัย...

 พอกลับมาแล้วก้จดหมายไปขอบคุณตามธรรมเนียม แต่แทบหงายหลังและไม่ได้กลับไปเยี่ยมอีกเลย

 เพราะผู้ใหญ่บ้าน ส่งเพลงยาวมาให้ 1 หน้ากระดาษ...โอ้โฮ ...เป็นเรื่องขำที่ไม่เคยลืม


 
 

 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 14 มี.ค. 12, 10:41
มีคำสะกดผิดนิดหน่อย "ก็"   "เป็น" อันเนื่องมาจากแป้นคอม ที่พิมพ์เร็วไม่ได้คะ ทำหน้าแตกทุกที


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 14 มี.ค. 12, 11:01
คุณพวงแก้ว พูดถึงคำสะกดผิด..

เลยขอเรียนคุณตั้ง ด้วยความเคารพ ค่ะ  ;D
กำนัน ค่ะ ไม่ใช่ กำนัล...


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 14 มี.ค. 12, 13:40
อันนี้ขอถามเป็นความรู้อันบริสุทธิ์ใจนะคะ

"ที่ว่าพอตื่นขึ้นมาแล้วพบว่ามีคนนอนอยู่ข้างๆ ต้องเสียผีผูกข้อมือ.........."นั้น
 ในกรณีที่เป็นอุบัติเหตุ ...ไม่ได้ตั้งใจ พอยอมเสียผีผูกข้อมือแล้วต้องรับหญิงนั้นมา
 อยู่ด้วย เลี้ยงดูเป็นเรื่องเป็นราวไหมค่ะ หรือทำให้ถูกประเพณีเป็นการขอโทษแล้วก็จากไป"

 ประเพณีนี้สาวไทย กับสาวชาวเขาแถวนั้นถือเหมือนกันไหมคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 12, 20:08
รูปช่วยขยายจินตนาการ
น่าจะมีรูปตอนที่อยู่ในป่ามาประกอบเรื่องบ้างนะขอรับ

นึกอยู่เหมือนกันว่าดูจะเป็นการฝอยมากไปหน่อยแล้ว หากไม่มีรูปประกอบบ้่าง
ขอบคุณครับที่กระทุ้งมา ผมจะลองเอากล้องดิจิตัลไปถ่ายภาพเก่าๆแล้วมาโพสด์ให้ดู

อย่างไรก็ตามก็อยากจะบอกว่า ในสมัยนั้น แม้ว่าจะมีกล้องถ่ายรูปของหลวงให้เบิกไปใช้งานอยู่บ้าง แต่ก็ไม่พอเพียง แถมยังจะต้องรายงานและถูกตรวจสอบด้วยว่าซื้อฟิล์มไปถ่ายอะไร ภาพที่พวกผมถ่ายมาจึงมีแต่ภาพของหินและฟอสซิลเป็นหลัก ภาพถ่ายอื่นๆจึงไม่ค่อยจะมี

สำหรับผมนั้น แย่ยิ่งกว่านั้น กล้องถ่ายภาพเป็นอุปกรณ์ที่มีอันตรายต่อชีวิตค่อนข้างมากสำหรับการทำงานในพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบ เป็นสิ่งของที่อีกฝ่ายหนึ่งจ้องจะหาเรื่องเป็นการเฉพาะ เหมือนกับเป็นการสอดแนมและเก็บภาพเพื่อเป็นหลักฐาน ขนาดวิทยุธานินทร์ที่เปิดได้ดังลั่นไปทั่วป่ายังถูกสงสัย ต้องพิสูจน์ให้กระจ่างว่ามันเป็นวิทยุเพื่อการรับฟังจริงๆ ไม่ใช่วิทยุสื่อสาร เกือบจะโดนรุมยิงตายครั้งหนึ่งก็เพราะไอ้วิทยุนี้แหละครับ
ดังนั้น สิ่งของอะไรก็ตามที่จะเป็นสื่อของเรื่องที่ทำให้เขาคิดว่าจะอันตรายสำหรับการเคลื่อนไหวเขา ผมก็จะไม่เอาไปด้วย อย่าว่าแต่เรื่องนี้เลย ขนาดผ้าใบสีเขียว กระติกน้ำสนาม เข็มขัดห้อยกระติกน้ำ เป้สะพายข้างสำหรับเก็บตัวอย่างหินและฆ้อนธรณี ยังถูกระแวงสงสัย ต้องอธิบายความกันยืดยาว
เชื่อใหมครับว่า แม้กระทั่งกระทะทำกับข้าวที่ขัดสะอาดดูดีนั้น ชาวบ้านยังวิ่งหนีเลย

ภาพที่ผมจะโพสด์คงจะมีอยู่สองสามภาพเท่านั้น ถ่ายใว้ใน trip แรกๆ ที่เข้าไปทำงานในพื้นที่นี้ หลังจากนั้นก็ไม่มีการถ่ายภาพอีกเลยครับ     


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 12, 20:32
ผมว่า เค้าไม่อยากดูรูปหินกะฟอสซิลเท่าไหร่หร๊อก
เค้าอยากดูรูปประกอบตอนนี้

อ้างถึง
ในวงเหล้าก็จะมีขันน้ำใบใหญ่ลอยด้วยก็อก (ขัน)ใบเล็ก เอาไว้ดื่มตามหลังเหล้า บางทีก็ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ เพราะต่างคนต่างก็จะพยายามมอมเหล้ากัน เพื่อจะให้ได้ความจริงที่ซ่อนไว้ บางครั้งเจ้าบ้านก็มีลูกเล่น เอาลูกสาวเข้ามาช่วยรินเหล้า ตักน้ำให้ เดินเข้าเดินออกยกกับข้าว ฯลฯ ก็คงจะแอบคิดลึกๆอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมจึงไม่ยอมนอนบนบ้านเหล่านี้เลย เมาอย่างไรก็ต้องเดินกลับแคมป์ ดีไม่ดีนอนตื่นมามีคนนอนอยู่ข้างๆ ก็จะต้องเสียผีผูกข้อมือกันเป็นเรื่องเป็นราว

ระหว่างรอ เอารูปช่างหนวดตอนพ้นวัยละอ่อนแล้วมาขึ้นก่อนละกัน


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 มี.ค. 12, 20:40
ขออภัยท่านผู้ชมทางบ้านด้วยครับ

เนื่องจากเกิดผิดพลาดทางเทคนิกเล็กน้อย บัดนาว..ได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 12, 20:43

ผมว่า เค้าไม่อยากดูรูปหินกะฟอสซิลเท่าไหร่หร๊อก
เค้าอยากดูรูปประกอบตอนนี้......

ไม่ใช่รูปหินกับฟอสซิลหรอกครับ  ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 14 มี.ค. 12, 20:59
น่าเสียดายที่ไม่มีรูปสมัยนั้น แต่ไม่เป็นไรค่ะฟังคุณตั้งเล่าประสบการณ์สมัยนั้นให้พวกเราฟัง
ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก  น้อยคนจะรู้ถึงความยากลำบากในการทำงานในสถานที่เช่นนั้น
กว่าจะเอาตัวรอดมาได้...ก็คอยฟังต่อค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 12, 21:01
อันนี้ขอถามเป็นความรู้อันบริสุทธิ์ใจนะคะ
"ที่ว่าพอตื่นขึ้นมาแล้วพบว่ามีคนนอนอยู่ข้างๆ ต้องเสียผีผูกข้อมือ.........."นั้น
 ในกรณีที่เป็นอุบัติเหตุ ...ไม่ได้ตั้งใจ พอยอมเสียผีผูกข้อมือแล้วต้องรับหญิงนั้นมา
 อยู่ด้วย เลี้ยงดูเป็นเรื่องเป็นราวไหมค่ะ หรือทำให้ถูกประเพณีเป็นการขอโทษแล้วก็จากไป"
 ประเพณีนี้สาวไทย กับสาวชาวเขาแถวนั้นถือเหมือนกันไหมคะ

เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง คือ จะละจากไป หรือได้ทีรับมาอยู่เคียงข้างเสียเลยก็ได้ (สำหรับในกรณีที่เป็นชาวกะเหรี่ยง)
แต่สำหรับคนไทยนั้นก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ทราบแน่ครับ ที่เคยเห็นมาก็มีทั้งแบบ เออ ก็ดี อยู่พอเสร็จงานก็กลับออกไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย หรือลาออกจากงานมาอยู่กับฝ่ายหญิงเลย หรือไปๆมาๆแต่ไม่บ่อยครั้ง ซึ่งคนไทยพวกนี้ส่วนมากจะเป็นคนในสังกัดงานของกรมทางฯ ที่เคยพบเป็นคนทางอีสานก็มี แต่พวกนี้ก็มีที่มาที่ไปอีกอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ประเภทโปรย (คงจะเล่าเมื่อมีโอกาส) จนพวกที่มีบางอย่างเบื้องหลัง  
    
  


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 12, 22:04
เดี๋ยวจะไม่เป็นเรื่องของอาหาร

เอาวิธีการทำลาบอีกวิธีหนึ่งนะครับ
วิธีทำนี้ได้มาจากบ้านสารวัตรกำนันที่บ้านวังปาโท่ เป็นหมู่บ้านอยู่ใกล้ๆกับเจดีย์บุอ่อง บนเส้นทางจาก อ.ทองผาภูมิ ไป อ.สังขละบุรี เส้นทางเลาะริมแม่น้ำแควน้อย น้ำของเขื่อนเขาแหลมท่วมไปหมดแล้วเหมือนกัน
คนในหมู่บ้านนี้ส่วนมากอพยพมาจาก อ.แม่สอด และมีคนไทยในพม่าจำนวนหนึ่งที่มาอยู่ร่วมด้วย ซึ่งยังแต่งตัวเหมือนคนพม่า คือ ใส่สะโหร่ง ใส่หมวกแบบที่ทำเลียนแบบสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ แต่พูดไทย เช่น ข้อยเฮียนหนังสือบ่แตกสาน สอบถามจากเจ้าตัวได้ความว่า พวกเขาคือคนไทยที่ถูกพม่ากวาดต้อนไป หมู่บ้านในพม่าที่อยู่กันคือบ้านหนองบัว ซึ่งมีจำนวนคนพวกเขามากอยู่พอสมควร เขาติดอยู่ในพม่าหลังจากถูกแบ่งแยกดินแดนโดยอังกฤษ ผมสนใจและมีแผนที่มาตราส่วน 1:250,000 รุ่นเก่าที่ใช้ระบบ feet อยู่ จึงพยายามหาดูชื่อหมู่บ้านต่างๆ จำได้ว่าได้เห็นชื่อหลายหมู่บ้านที่หากออกเสียงให้ดีจะเป็นชื่อหมู่บ้านไทยอยู่หลายแห่งมากทีเดียว ยังสนใจว่าจะติดตาม แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ทำอะไรเลย 
ใกล้ๆหมู่บ้านวังปาโท่นี้ มีพื้นที่หนึ่งเป็นวงกลม ลักษณะมีขอบดินยกเป็นคัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 เมตร ตรงกลางมีลักษณะเป็นหลุมยุบตื้นๆ ในแอ่งนี้ได้พบโกลนม้า มีดดาบ แท่งโลหะคล้ายหอก และพบใหหลายใบขนาดความสูงเท่ากับใหน้ำปลาในสมัยก่อน แต่ขนาดความกว้างของใหจะแคบกว่า คิดว่าประมาณสัก 20 ซม. มีก้อนหิน (กรวดแม่น้ำ) ขนาดประมาณกำปั้นปิดอยู่ที่ปากให นอกจากนั้นยังพบอุปกรณ์เชี่ยนหมากโลหะ (ทองเหลือง) เช่น ขวดมีฝาสำหรับใส่ปูนที่กินกับหมาก และเศษโลหะอื่นๆ นึกอะไรไม่ได้นอกจากจะเป็นหลุมฝังศพของทหารสมัยสงครามเก้าทัพ เรื่องนี้ทำให้ผมสนใจในเรื่องของสงครามเก้าทัพและได้ติดตามเส้นทางเดินทัพในยุคนั้นตั้งแต่นั้นมา ซึ่งท้ายที่สุดก็ได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระกรุณาให้ทุนไปทำปริญญาเอก ซึ่งได้ทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องเส้นทางเดินทัพนี้ ดีใจมากเลยครับ ได้คุยกันในเรื่องที่ผมได้เห็น ได้ยืนยันกันในหลายๆเรื่อง น่าสนใจมากทีเดียว
บ้านวังปาโท่นี้ เพี้ยนมาจากชื่อตำรองพะโ๊ด๊ะ เป็นภาษากะเหรียง แปลว่าตลิ่งสูง ในยุคที่กำลังเริ่มจะสร้างเขื่อนเขาแหลม ชื่อบ้านนี้ได้เพี้ยนไปมากมาย เช่น บ้านวังปาโท้ บ้านวังปลาโท่

กลับมาเรื่องลาบดีกว่า     
เอาหมูมาสับให้ละเอียดเป็นลาบ (ประมาณ 1 กก.) เอาหนังหมูมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆกว้างเกือบๆครึ่ง ซม. ยาวประมาณ 2 ซม. เอาพริกแห้งคั่วในกระทะให้หอม โขลกให้ละเอียด เอาข่าสักแง่งย่อมๆ หั่นเป็นแว่นๆ (ลาบนี้จะออกกลิ่นข่าพอสมควร) คั่วในกระทะให้หอม แล้วโขลกให้ละเอียด เอาข้าวมาคั่ว แล้วโขลกให้ละเอียด เอาน้ำมันใส่กระทะประมาณหนึ่งตะหลิว เอาหนังหมูลงคั่วให้กรอบ (มันจะไม่พอง แต่จะกรอบแข็ง) ตักออกเก็บไว้ แบ่งเนื้อหมูครึ่งหนึ่งลงผัด ใส่ข่าที่ตำเอาไว้ ใส่พริกป่นส่วนหนึ่ง ใส่น้ำปลาให้ออกรสเค็ม พอหมูส่วนนี้สุกดี เอาอีกครึ่งหนึ่งใส่ลงไป ใส่หนังหมูที่ทอดไว้ ใส่พริกป่นเพิ่มให้ออกรสเผ็ด เคล้ากันในกระทะให้ดี ใส่ข้าวคั่วเคล้าให้ดีแล้วยกลง  โรยด้วยต้นหอมซอย ผักชีซอย ใบผักชีฝรั่งซอย ผักไผ่ สะระแหน่ หรือไม่มีผักเหล่านี้โรยหน้าก็ไม่เป็นไร อร่อยพออยู่แล้ว กินกับใบโกศล ใบหูเสือ ใบผักไผ่ มะเขือเปราะ ฯลฯ หากมีดอกข่าสดยิ่งสุดยอดเลยครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 12, 06:12
อ้างถึง
ใกล้ๆหมู่บ้านวังปาโท่นี้ มีพื้นที่หนึ่งเป็นวงกลม ลักษณะมีขอบดินยกเป็นคัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 เมตร ตรงกลางมีลักษณะเป็นหลุมยุบตื้นๆ ในแอ่งนี้ได้พบโกลนม้า มีดดาบ แท่งโลหะคล้ายหอก และพบใหหลายใบขนาดความสูงเท่ากับใหน้ำปลาในสมัยก่อน แต่ขนาดความกว้างของใหจะแคบกว่า คิดว่าประมาณสัก 20 ซม. มีก้อนหิน (กรวดแม่น้ำ) ขนาดประมาณกำปั้นปิดอยู่ที่ปากให นอกจากนั้นยังพบอุปกรณ์เชี่ยนหมากโลหะ (ทองเหลือง) เช่น ขวดมีฝาสำหรับใส่ปูนที่กินกับหมาก และเศษโลหะอื่นๆ นึกอะไรไม่ได้นอกจากจะเป็นหลุมฝังศพของทหารสมัยสงครามเก้าทัพ เรื่องนี้ทำให้ผมสนใจในเรื่องของสงครามเก้าทัพและได้ติดตามเส้นทางเดินทัพในยุคนั้นตั้งแต่นั้นมา ซึ่งท้ายที่สุดก็ได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระกรุณาให้ทุนไปทำปริญญาเอก ซึ่งได้ทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องเส้นทางเดินทัพนี้ ดีใจมากเลยครับ ได้คุยกันในเรื่องที่ผมได้เห็น ได้ยืนยันกันในหลายๆเรื่อง น่าสนใจมากทีเดียว

พบแล้วทำอย่างไรต่อครับ

ดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและนำมาเก็บรักษา
หรือ ปล่อยไว้ที่เดิมตามสภาพ

ได้เปิดดูไหม ในไหเป็นอะไรครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 12, 18:48
อ้างถึง
ใกล้ๆหมู่บ้านวังปาโท่นี้ มีพื้นที่หนึ่งเป็นวงกลม ลักษณะมีขอบดินยกเป็นคัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 เมตร ตรงกลางมีลักษณะเป็นหลุมยุบตื้นๆ ในแอ่งนี้ได้พบโกลนม้า มีดดาบ แท่งโลหะคล้ายหอก และพบใหหลายใบขนาดความสูงเท่ากับใหน้ำปลาในสมัยก่อน แต่ขนาดความกว้างของใหจะแคบกว่า คิดว่าประมาณสัก 20 ซม. มีก้อนหิน (กรวดแม่น้ำ) ขนาดประมาณกำปั้นปิดอยู่ที่ปากให นอกจากนั้นยังพบอุปกรณ์เชี่ยนหมากโลหะ (ทองเหลือง) เช่น ขวดมีฝาสำหรับใส่ปูนที่กินกับหมาก และเศษโลหะอื่นๆ นึกอะไรไม่ได้นอกจากจะเป็นหลุมฝังศพของทหารสมัยสงครามเก้าทัพ เรื่องนี้ทำให้ผมสนใจในเรื่องของสงครามเก้าทัพและได้ติดตามเส้นทางเดินทัพในยุคนั้นตั้งแต่นั้นมา ซึ่งท้ายที่สุดก็ได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระกรุณาให้ทุนไปทำปริญญาเอก ซึ่งได้ทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องเส้นทางเดินทัพนี้ ดีใจมากเลยครับ ได้คุยกันในเรื่องที่ผมได้เห็น ได้ยืนยันกันในหลายๆเรื่อง น่าสนใจมากทีเดียว

พบแล้วทำอย่างไรต่อครับ

ดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและนำมาเก็บรักษา
หรือ ปล่อยไว้ที่เดิมตามสภาพ

ได้เปิดดูไหม ในไหเป็นอะไรครับ


ตอบไปแล้วแต่ server ของเรือนไทยมีปัญหา เลยต้องเขียนใหม่ ขอเวลาอีกหน่อยนะครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 12, 19:54
ตอบคุณนวรัตน์อีกครั้งครับ

สถานที่นี้อยู่ใกล้ถนน (จะเรียกว่าติดๆก็ได้) ชาวบ้านก็ทราบกันมานานแล้ว ถามเขาว่ามีส่วนราชการมาดูกันบ้างหรือเปล่า เขาบอกว่ามีแต่ไม่ได้ทำอะไรต่อ มีแต่การเก็บสิ่งของที่ยังมีรูปทรงสมบูรณ์ไป (ซึ่งดูจะสอดคล้องกับสภาพที่ผมเห็น คือ ไม่ค่อยจะมีอะไรที่เป็นของสมบูรณ์มากนักหลงเหลืออยู่ให้เห็น) ผมเข้าใจในขณะนั้นว่า อย่างน้อยส่วนราชการฝ่ายปกครองต้องทราบและมีรายงาน แล้วกรมศิลป์ก็จะต้องมาสำรวจตรวจสอบดูแล้ว ประกอบกับในพื้นที่ใกล้ๆทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ก็มีโบราณสถาน คือ เจดีย์บุอ่องหรือโบอ่อง ซึ่งมีการจัดงานบุญเป็นประจำ(แม้จะไม่ต่อเนื่องทุกๆปี)  ซึ่งด้วยวิสัยของนักอนุรักษ์ของกรมศิลป์ฯ ผมเห็นว่า เมื่อมีเรื่องของเจดีย์บุอ่องที่เด่นชัดอยู่แล้ว กรมศิลป์ฯก็คงจะไม่ละเลยที่จะสำรวจตรวจสอบพื้นที่ในละแวกนั้น ผมจึงไม่ดำเนินการอะไรต่อไป
อนึ่ง ก่อนการสร้างเขื่อนใดๆ ส่วนราชการต่างๆจะได้รับการสอบถามความเห็นว่ามีเรื่องขัดข้องหรือมีเรื่องจะต้องดำเนินการใดๆบ้าง ซึ่งผมก็เชื่อว่าโบราณสถานทั้งสองนี้จะได้มีการสำรวจตรวจสอบและมีการบันทึกเป็นข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วก่อนที่น้ำจะท่วม

กรณีใหนั้น ผมไม่ได้เปิดดูด้วยเคารพในสถานที่และสิ่งที่คนสมัยก่อนนั้นได้กระทำ แต่ผมเห็นใหที่ไม่มีหินปิดอยู่เป็นใหเปล่าครับ

ให้ข้อมูลเพิ่มเติมครับ   เจดีย์บุอ่องนั้น เป็นเจดีย์ตั้งอยู่บนโขดหินกลางแอ่งในสระน้ำทรงประมาณสี่เหลี่ยม มีน้ำตลอดปีบ้าง แห้งบ้าง มีสะพานชั่วคราวสำหรับเดินข้าม ผมเข้าใจว่าเดิมนั้น พื้นที่ตรงบริเวณนี้เป็นหลุมยุบ (Sink hole) เนื่องจากเป็นพื้นที่หินปูน เมื่อจะทำการสร้างเจดีย์ จึงมีการขุดปรับแต่งแอ่งนี้ให้เป็นทรงเหลี่ยม ผมเข้าใจเอาเองว่าเป็นการสร้างโดยพม่า และคงจะมีความศักดิ์สิทธ์พอสมควร เช่น ห้ามผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดินเดินข้าม มิฉะนั้นน้ำจะแห้งหมด เคยเห็นป้ายห้ามผู้หญิงเดินข้ามไปยังเจดีย์
คิดว่าเป็นพม่าสร้างก็เพราะ มีลักษณะทางภูมิสถาปัตย์ (ใช้คำถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้) คล้ายกับพระราชวังในมัณฑะเลย์ แล้วก็เข้าใจว่าคงจะมีอายุไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง คือ ก่อนหรือหลังยุคเจดีย์สามองค์ หรือ ก่อนหรือหลังยุคสงครามเก้าทัพ   

   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 12, 20:03
เพิ่มเติมอีกนิดเดียว
ในบริเวณหมู่บ้านวังปาโท่นี้ ชาวบ้านบอกว่า ในการขุดหลุมฝังเสาบ้าน มักจะพบเศษกระบื้องจานชามลาย white & blue ในปริมาณค่อนข้างมาก ฤๅบริเวณหมู่บ้านนี้จะเป็นทีพำนักของกองทหาร ? ในแอ่งดินที่ผมเล่านั้นก็มีพบบ้าง แต่มีน้อย

เรื่องเศษกระเบื้องถ้วยชามนี้ ก็เป็นเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งครับ แถวบริเวณที่เรียกบ่องาม เหนือบ้านคลิตี้ขึ้นไปประมาณ 5 กม. ก็พบอยู่รวมกับเศษแร่และตระกันตะกั่ว 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 มี.ค. 12, 20:28
ขอบคุณที่เล่าให้ฟังครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 12, 20:37
รูปช่วยขยายจินตนาการ
น่าจะมีรูปตอนที่อยู่ในป่ามาประกอบเรื่องบ้างนะขอรับ

จะขอลองใส่รูป (ยังทำไม่เป็นครับ)

(http://)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 16 มี.ค. 12, 10:53
การส่งภาพ
 1. กด"ตัวเลือกเพิ่มเติม"
 2.กด Browse
 3.เลือกภาพ กด open (ข้อสำคัญต้องย่อภาพให้มีขนาดเล็ก
    สัก50 KB. ดูก่อนนะคะ เพราะพอส่งไปแล้ว เวลาเปิดอ่าน
    ในกระทู้มักมีขนาดใหญ่มาก...ถ้ารูปที่ส่งใหย่เกินไปมักส่งไม่ได้ค่ะ

4.กดส่งข้อความ

  (รูปดอกไม้นี้ขนาดที่ส่ง 6.32 kB.)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 มี.ค. 12, 11:46
สัก ๒๕๐ กิโลไบต์ ก็คงได้

 ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 12, 18:17
ถ้าเป็นภาพสกุล jpg.  ขนาด 250 จะใหญ่คับหน้าจอค่ะ   ไม่เกิน 50 Kb. กำลังดี   
แต่ถ้าใหญ่เกินไป  ดิฉันจะแก้ไขลดขนาดภาพให้ค่ะ  เพื่อมิให้ลำบากในการโหลด


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 12, 19:54
ขอบพระคุณสำหรับความช่วยเหลือต่างๆครับ
คิดว่าทำได้แล้ว จะลองส่งมารูปแรกครับ (http://)

เป็นแคมป์ที่ทำกันปกติดังที่เล่ามา คือ ใช้ผ้าใบ 3 ผืน ผืนหนึ่งทำหลังคา ผืนหนึ่งปูนอน อีกผืนเล็กปูทำครัว กินข้าว
แคมป์ดังภาพนี้อยู่ใกล้เมืองหน่อย เลยมีรถแลนด์ประจำตัวให้เห็น ตั้งแคมป์อยู่ที่ต้นห้วยซึ่งไหลไปเป็นน้ำตกไทรโยค อยู่ตรงบริเวณใกล้ๆกับน้ำผุด
ต้นไม้นั้นไม่ได้ตัดเองนะครับ ใครก็ไม่ทราบมาตัดไว้ก่อนแล้ว ผมเพียงมาอาศัยพื้นที่นอน



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 12, 21:14
รอดแล้ว ส่งได้แล้ว ดีใจจัง ฮิๆ

พื้นที่นี้อยู่ด้านหลังบนเนินที่ราบอีกระดับหนึ่งของวัดพุองกะ (ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) หลบมาตั้งแคมป์ที่นี่ก็ด้วยหลายสาเหตุ คือ ครั้งนั้นจะเข้าไปทำงานทางด้านตะวันตกของแม่น้ำแควน้อย ไปทางเหมืองเต่าดำ ระยะทาง 44 กม ต้องข้ามน้ำแควน้อยที่แก่งระเบิดซึ่งอยู่ทางเหนือของตัวบ้านท่าเสาหรือสถานีน้ำตก (สถานีรถไฟ) เนื่องจากต้องรอเจ้าของเหมือง รอวันขึ้นวันล่อง (รถสวนกันไม่ได้บนเขา) สะสมสะเบียง เลยถือโอกาสสำรวจหินในบริเวณใกล้ๆนี้ด้วย จากแผนที่แสดงว่าห้วยไทรโยคนั้นมีต้นตอมาจากน้ำผุด ก็เลยตามไปดูเพื่อตรวจสอบว่าเป็นหินปูนยุคใหน
ก็เจ้ากรรม วันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าเจ้ารถคันงามคันนี้ก็มีอาการเกียร์ค้าง ใส่ได้เฉพาะเกียร์สามและเกียร์ถอยหลัง ต้องใช้เกียร์สโลว์ช่วยในการขับเคลื่อนรถ จึงต้องแก้ไข ซ่อมเฉพาะหน้าไป ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเสียอะไรและจะซ่อมได้หรือไม่ จะขับกลับออกไปเมืองกาญน์ฯก็ไม่ได้ จึงตัดสินใจยก (รื้อ) เกียร์ด้วยเครื่องมือประแจปากตายไม่กี่ชิ้น ยกออกมาทั้งลูก ถอดออกมาเพียงก้านเกียร์ เอาประแจปากตายเคาะๆกระทุ้งเฟืองเกียร์ที่เห็น ลองประกอบกลับ เออ ใช้ได้แฮะ ก็ยังไม่ทราบสาเหตุจนปัจจุบันนี้ ก็เลยยกกลับเข้าที่เดิม ตัดกล่องผงซักฟอกไปทำประเก็น ขับกลับเมืองกาญจน์ เข้ากรุงเทพฯ ส่งซ่อม

ปัญหาและการแก้ไขเฉพาะหน้าในเรื่องเกี่ยวกับรถนี้ก็มีอยู่มากเหมือนกัน แต่คงจะไม่เล่า เพราะคงจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก

ที่บ้านท่าเสานี้ ผมได้เรียนวิธีการทำขนมเข่งและขนมเทียน (คงจะเหมือนๆที่ทำกันทั่วๆไป) เนื่องจากไปอาศัยบ้านสวนของเขา เลยต้องช่วยเขาทำตั้งแต่กวนแป้งไปจนเย็บกระทงและห่อขนมเทียน ที่บ้านนี้เองผมต้องช่วยเขาหาบน้ำจากแม่น้ำขึ้นเนินมายังบ้าน น้ำข้างละเกือบๆปี๊บ เลยเข้าใจเลยว่า คานหาบนั้น คานอ่อนและคานแข็งนั้นต่างกันอย่างไร ผมเห็นว่าภูมิปัญญาชาวบ้านของคนไทยนี้ไม่เบาเลยทีเดียว มิน่าเล่าแม่ค้าไทยที่หาบของหนักๆจึงใช้คานอ่อน คนที่ใช้คานแข็งดูจะเป็นคนจีนและดูจะมีเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่จะหาบของ มีน้อยที่จะเห็นผู้หญิงจีนหาบของ
 
วิธีทำขนมเข่งและขนมเทียนดูจะไม่ยากเลย เอาแป้งข้าวเหนียวมาละลายกับน้ำตาลปี๊บ ให้ข้นเหนียวสักหน่อย ชิมรสตามความพอใจ เอาใบตองมา เอาชามกลมๆครอบ ตัดใบตองตามขอบ  พับหยักแล้วกลัดด้วยไม้กลัดสี่มุม เอาแป้งเทใส่แล้วนึ่ง จุดธูปไว้ พอธูปหมดดอกก็สุกพอดี สำหรับขนมเทียนนั้นก็ตัดใบตองเป็นรูปรีๆ ขมวดเป็นรูปกรวย ตักแป้งใส่ เอาใส้ (อันนี้จำไม่ได้ว่าทำอย่างไร) ที่ปั้นเป็นลูกกลมๆใส่ เหยาะด้วยแป้งปิดทับอีกที แล้วห่อ แล้วก็นึ่ง ดูราคาขนมเทียนในปัจจุบันลูกละสี่ห้าบาทแล้ว ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะมีราคาสูงได้ขนาดนั้น   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 17 มี.ค. 12, 07:31
ส่งรูปมาให้ดูค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 12, 18:51
วันนี้ขอเล่าของกินเล่น

ในป่าลึกๆหน่อย จะมีลูกมะกอกหล่นอยู่มาก ลูกมะกอกนี้มีสัตว์หลายชนิดชอบกิน แต่ที่ทิ้งร่องรอยมากที่สุด คือ เก้ง กับ กวาง เป็นของโปรดของมัน ต้นมะกอกนี้มักจะพบอยู่ในดงป่าไม้ที่มีเรือนยอดสูง มีไม้เรือนยอดระดับกลางไม่มากนัก และมีไม้คลุมดินมีบางๆ เรียกได้ว่าเป็นป่าโปร่ง ค่อนข้างจะร่ม มีแดดส่องผ่านได้รำไร พวกเก้งและกวาง จะชอบมาอาศัยหลบแดดนอนในตอนกลางวัน ซึ่งป่าชนิดนี้ก็เหมาะสำหรับพวกเขา คือ ไม้ไม่หนาทึบระเขาของเขา เมื่อมีเก้งกวางก็ต้องมีเสือเป็นของคู่กัน
สังเกตได้ประการหนึ่งว่า หากมีลูกมะกอกตกอยู่บนพื้นดินมาก ก็แสดงว่าแถวนั้นคงจะไม่มีเก้งและกวาง ผมอดที่จะเก็บเกลับไปที่แคมป์ทุกครั้งและในจำนวนมากๆ ใช้มะกอกทำได้ตั้งแต่ปรุงรสชาติอาหารไปจนกินเล่น

หลายคนอาจจะไม่ชอบมะกอกเนื่องจากมีรสเปรี้ยวอมฝาด ทำอย่างนี้ซิครับ เอาลูกมะกอกมาควั่นกลางลูก บีบหัวท้ายให้หลุดออกมาจากเม็ด ขุดเอาเนื้อแบ่งใส่ทั้งสองฝาเท่าๆกัน ในแต่ละฝาเอาน้ำตาลปี๊บ หรือหากไม่มีจะเอาน้ำตาลทรายก็ได้ สักประมาณเกือบๆครึ่งช้อนกาแฟและพริกป่นในปริมาณตามใจชอบ หากมีผักชีก็เด็ดสักใบใส่เข้าไปด้วย เอาใส่ปากอมเหมือนทอปฟี่ จะได้รสชาติที่อร่อยมาก ชุ่มคอและแก้กระหายน้ำได้เป็นเลิศ พอรสแหลมเริ่มหมดไปก็กัดขย้ำทีละนิดทีละนิด จะได้รสของมะกอกออกมาผสม จะรู้สึกมีความมันจนต้องเิริ่มเคี้ยวแล้วอมเคี่ยวแล้วอมจนหมด และมีความรู้สึกมันดี (Chewy) ในกรณีที่ไม่มีน้ำตาล ใช้เกลือเม็ดก็ได้ ใส่ไปสักหนึ่งหรือสองเม็ด ก็จะำได้อีกรสชาติหนึ่ง แต่หากคุ้นแล้ว ไม่ต้องใส่อะไรเลยก็ได้ ในสมัยเด็กๆ ผมเคยกินแบบที่เอาน้ำปลาเหยาะใส่ลงไปก็ยังเคย อร่อยทั้งนั้นแหละครับ ลองทำกินเล่นกันดูนะครับ ในกรุงเทพก็หาซื้อลูกมะกอกได้ในตลาดสด หรือจะขอแบ่งจากแม่ค้าส้มตำก็น่าจะพอได้
ความอร่อยจากการทำแบบนี้ แฝงไปด้วยประโยชน์หลายๆอย่าง คือ ได้น้ำตาลไปเพิ่มพลังงานทำให้รู้สึกสดชื่น หรือหากใช้เกลือ ก็จะได้เกลือแร่ทดแทนส่วนที่หายไปกับเหงื่อ ทำให้รู้สึกหายอ่อนเพลีย แต่ความรู้สึกที่จะได้แน่นอนคือชุ่มคอและหายจากอาการน้ำลายเหนียว (จากการเหนื่อย) แน่นอน 

ผมจะหายไปหน้าจอนี้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ไปนอนสวนในต่างจังหวัด ซึ่งค่อนข้างจะอยู่ไกลปืนเที่ยงสักหน่อย สัญญาณโทรศัพท์ยังมีเพียงขีดเดียวหรือไม่มีเลยในบางครั้ง เลยต้องขอลงโรงไประยะสั้นๆนะครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มี.ค. 12, 19:22
ของกินเล่นอีกอย่างหนึ่ง คือ ลูกมะคอแลน เป็นผลไม้ที่มีสีและผิวคล้ายลูกลิ้นจี้ แต่รูปทรงจะคล้ายลูกหนำเลี้ยบหรือลูกรักบี้ ขนาดของลูกไม่ใหญ่ไปกว่าหัวแม่มือ ปกติจะมีรสเปรี้ยว แต่ก็เคยพบที่ออกรสหวาน ซึ่งเคยพบอยู่เพียงต้นเดียว อยู่บนเขาสูงบริเวณรอยต่อระหว่าง จ.อุตรดิตถ์ สุโขทัย และแพร่ เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ประมาณสองคนโอบจึงจะรอบ ปกติที่พบเห็นจะไม่ใหญ่ขนาดนี้ ต้นมะคอแลนนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นไม้ที่พบเฉพาะในภาคเหนือและอีสาน เพราะไม่เคยเห็นในป่าที่อื่นๆ

เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2513 ผมรับผิดชอบสำรวจพื้นที่บริเวณรอยต่อของทั้งสามจังหวัดดังกล่าว เริ่มตั้งแต่บริเวณ อ.ศรีสัชนาลัย ลับแล ไปจนถึงประมาณบ้านผาจุก และผาเลือด (ซึ่งตั้งอยู่บนริมแม่น้ำน่าน ใกล้ตัวเมืองอุตรดิตถ์) ทางด้านตะวันตกก็ไปชนแม่น้ำยมแถวบ้านหาดรั่ว และ อ.วังชิ้น ด้านเหนือก็ไปชนบริเวณห้วยแม่สิน ซึ่งอยู่ประมาณครึ่งทางบนถนนระหว่างศรีสัชนาลัยกับ อ.เด่นชัย
ธรณีวิทยาบริเวณนี้ดูจากหินแล้วเรียบง่าย มีหินไม่กี่ชนิด แต่ยุ่งยากด้วยเรื่องราวการกำเนิดของมัน จัดได้ว่าเป็นตัวบ่งชี้เรื่องราวที่สำคัญของแหล่งทรัพยากรของประเทศเลยทีเดียว เหตุที่ต้องเดินข้ามเขาสูงจนได้ลิ้มลองมะคอแลนหวานก็เพราะว่า ในแผนที่ภูมิประเทศปรากฏว่ามีจุดหนึ่งที่เรียกว่าหนองกลางหาว ในทางธรณ๊วิทยาแล้วในสภาพพื้นที่ลักษณะนี้คงจะหนีไม่พ้น นั่นคือ ทะเลสาปในปล่องภูเขาไฟ (Crater lake) เพียรพยายามเดินหาร่องรอยอยู่ประมาณ 7 วัน ซึ่งได้แก่ เศษเถ้าถ่านภูเขาไฟ  หินลาวา ฯลฯ (รวมๆเรียกว่า Pyroclastic debris) ไม่พบอะไรเลย เลยต้องเดินขึ้นสูงไปหาตัวหนองกลางหาว ก็ออกเดินจากจุดที่รถพอจะเข้าไปในตามห้วยแม่สิน ไปกันสี่คน และเพื่อไม่ให้เสียเที่ยวก็จะเดินข้ามเขาไปลง อ.เด่นชัย แบกสัมภาระในเป้หลัง มีเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนนอน 1 ชุด และเครื่องอาหาร
ดอยที่จะเดินข้ามชื่อดอยพญาพ่อ เห็นชื่อดอยแล้วยังขยาดเลย ออกเดินท่องน้ำสำรวจไปตามห้วย ผ่านน้ำตก (ปัจจุบันนี้คิดว่าคือน้ำตกผาตาด ???) พอเย็นก็หาที่นอน หาหาดทรายไม่ได้ จึงถางพื้นที่เล็กๆริมห้วย ช่วยกันตัดไม้ทำเป็นเพิง ตัดใบตองกล้วยป่ามามุงเป็นหลังคาและปูเพื่อนอน เปลี่ยนชุดเพื่อนอนเพราะเดินลุยน้ำเปียกมาทั้งวัน อาหารมื้อเย็นและมื้อเช้าไม่ยุ่งยากเราะเตรียมมา พอรุ่งเช้าประมาณ 6 โมงเช้า ต้องเปลี่ยนชุดไปใส่ชุดเปียกอีก มันเป็นหน้าหนาว นึกภาพเอาเองนะครับว่าไม่สนุกเลยครับ แถมก้าวแรกที่ออกเดินก็ลงน้ำเลย


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มี.ค. 12, 20:42
ของกินเล่นอีกอย่างหนึ่ง คือ ลูกมะคอแลน เป็นผลไม้ที่มีสีและผิวคล้ายลูกลิ้นจี้ แต่รูปทรงจะคล้ายลูกหนำเลี้ยบหรือลูกรักบี้ ขนาดของลูกไม่ใหญ่ไปกว่าหัวแม่มือ ปกติจะมีรสเปรี้ยว แต่ก็เคยพบที่ออกรสหวาน ซึ่งเคยพบอยู่เพียงต้นเดียว อยู่บนเขาสูงบริเวณรอยต่อระหว่าง จ.อุตรดิตถ์ สุโขทัย และแพร่ เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ประมาณสองคนโอบจึงจะรอบ ปกติที่พบเห็นจะไม่ใหญ่ขนาดนี้ ต้นมะคอแลนนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นไม้ที่พบเฉพาะในภาคเหนือและอีสาน เพราะไม่เคยเห็นในป่าที่อื่นๆ

คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%99) บอกว่า คอแลน Nephelium hypoleucum พบภาคใต้ด้วยเรียกว่า  คอลัง (อีสานเรียก บักแงว)

ภาพประกอบ

 ;D 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มี.ค. 12, 21:06
เดินไปสักประทาณ 15 นาที ก็ตัดขึ้นเขา ขึ้นแล้วก็ขึ้น แล้วก็ขึ้น.....ไม่มีที่ราบให้เดินสะบายเลย จะสี่โมงเย็นแล้วก็ยังขึ้นอีก หมดแรง ตรงที่ชันๆขึ้นได้สัก 10 เมตรต้องพัก ใกล้ยอดดอยจึงได้พบต้นมะคอแลน และพบผลไม้อีกอย่างหนึ่ง ลูกกลมๆสีออกแดงๆ ผ่าออกมามีใส้่เป็นรูปห้าแฉก ก็เลยเรียกว่า star apple จนวันนี้ยังไม่ทราบเลยว่าชื่อจริงๆคือลูกอะไร หกโมงเย็นก็ถึงยอดสันเขา เห็นร่องรอยเป็นด่านทางเดิน น่าจะเป็นทั้งคนและสัตว์ใช้ กะว่าจะนอน นอนไม่ได้เพราะเหลือบไปเห็นรังหมีนอน ทั้งที่เป็นระหว่างง่ามของต้นไม้และบนดิน มีหญ้าราบเป็นวงกลมๆ เดินสำรวจเพื่อตัดสินใจว่าจต้องลงไปทางห้วยใด เพราะว่าหากลงผิดก็จะไปใหนไม่รู้ ห้วยหนึ่งลงมาทางสถานีรถไฟปางต้นผึ้งแน่ๆ ปัจจุบันนี้กลายเป็นสถานที่ๆมีการพัฒนาเป็นหมู่บ้านน่าอยู่ไปแล้ว (อยู่บนเส้นทางรถระหว่างอุตรดิตถ์-เด่นชัย) บังเอิญไปพบรอยบากเป็นรูปกากะบาดข้างต้นไม้ใหญ่ เลยทราบว่าเป็นสันสูงสุดจุดต้นกำเนิดของห้วยสี่ห้วย เมื่อสอบกับแผนที่จึงทำให้รู้ว่าจะต้องลงไปตามห้วยใหนจึงจะไปถึง อ.เด่นชัย ทั้งเดินทั้งวิ่งลงเขา เพื่อจะได้ไปถึงบริเวณที่มีน้ำสำหรับกินและทำอาหาร กว่าจะลงถึงที่มีน้ำก็ประมาณ 2 ทุ่มพอดีๆ

เล่าประกอบมาเสียยืดยาว มาเข้าเรื่องอาหารกัน

เช้าวันที่จะเดินขึ้นเขา กับข้าวนั้นพอจะมี แต่ต้องหุงข้าว ผมเอาข้าวเหนียวไปกัน วิธีการหุงก็คือ ตัดไม้ไผ่ เรียกว่าไผ่หก ลำต้นขนาดใหญ่มาก ปล้องที่บริเวณโคนต้นจะใหญ่ขนาดประมาณโคนขาและมีเนื้อหนามาก  ก็ต้องโค่นกันเหมือนกับการโค่นต้นไม้ ตัดเอามาเป็นขนาดยาว 2 ปล้องต่อกัน พยายามเอามีดทะลวงด้านในบริเวณข้อต่อปล้องให้ทะลุ ใส่น้ำในปล้องด้านล่างประมาณค่อนปล้อง สานตะแกรงไม้ไผ้รองที่บริเวณข้อต่อปล้องที่ได้ทะลวงให้ทะลุถึงกันนั้น เอาข้างเหนียวใส่ เอาใบตองอุดปาก เอาไม้ไผ่นั้นตั้งในกองไฟเลย เพื่อนึ่งข้าวเหนียว พอสุกดีแล้ว วิธีการเอาออกง่ายที่สุด คือ ตัดใบตองวางบนพื้นดิน ยกกระบอกที่นึ่งข้่าวนั้นออกมาจากกองไฟ กะให้ดีแล้วยกกระบอกไผ่นั้นกระทุ้งกับพื้นดิน ไอน้ำจะช่วยดันข้าวที่สุกแล้วออกมาเหมือนกับการยึงปืนใหญ่อย่างใดอย่างนั้นทีเดียว เป็นยวงข้างเหนียวทั้งแท่งออกมาวางลงบนใบตองที่รองไว้ หอมเยื่อไผ่และนิ่มอร่อยมากครับ กินข้าวเหนียวเป็นอาหารเช้าไปส่วนนึง เก็บพกเป็นสะเบียงอีกส่วนหนึ่ง

พอใกล้ถึงยอดดอย ต่างคนต่างหิวมาก ก็เลยเอาข้าวเหนียวนั้นกินกับพริกสด ก็อร่อยไปอีกแบบ ซึ่งก็คงจะเพราะหิวมากนั่นเอง พอลงมาถึงบริเวณที่มีน้ำในห้วย ประมาณ 2 ทุ่ม สะบายแล้วครับ กบเขียดร้องกันอื้ออึง ช่วยกันคนละไม้ละมือ เอาไฟฉายไปหาตัดไม้ไผ่ชนิดปล้องยาวๆ (ไม้ซาง ไม้ข้าวหลาม ไม้ผาก) เอามาเป็นอุปกรณ์ทำอาหาร พร้อมทั้งหาไผ่ที่ล้มและแห้งๆมาด้วย เอามาจักเป็นคบเพลิง บังเอิญได้พบเห็ดลม (ทางเหนือเรียกเห็นกระด้าง ทางภาคกลางเรียกว่าเห็ดหนัง) คราวนี้ก็เพลิดเพลิดนะซีครับ หาตัดส่วนโคนของไผ่เอามาทำเป็นครกและสาก เอาพริกแห้งโขลกกับเกลือ หอม กระเทียม ใส่กะปินิดหน่อย หั่นเห็ดลมเป็นเส้นๆ จับเขียดที่ร้องระงมอยู่นั้นเอามาผ่าท้องเอาใส้ออก คลุกเคล้ากับเครื่องแกงให้ดี ยัดใส่กระบอกไม้ไผ่ หลามให้สุก กินกับข้าวเหนียวที่หลามไปพร้อมๆกัน ก็อร่อยดีตามประสาความลำบาก แต่ที่แย่คือ เห็ดนั้นมันแก่มากๆ เหนียวจนเหมือนเคี้ยวเชือกหนังผูกรองเท้า เคี้ยวแทยจะไม่ขาดเลยทีเดียว ก็อิ่มไปอีกมื้อหนึ่ง มัวแต่พะวงเรื่องกินเลยไม่ได้จัดการเรื่องที่นอน ตัวใครก็ตัวมันแหละครับ หาที่ซุกเอาเอง จำได้ว่าไม่มีใครอาบน้ำเลย

รุงเช้าก็ออกเดิน ประมาณบ่ายสี่โมงก็ถึงสถานีรถไฟเด่นชัย

สรุป__ ไม่พบหนองกลางหาว ไม่มีร่องรอยของภูเขาไฟ กลับมากรุงเทพฯก็มาตรวจสอบดูภาพถ่ายทางอากาศโดยใช้กล้อง Stereoscope และใช้ Parallax bar ช่วยทำเส้นชั้นความสูง (Contour) จึงได้ความกระจ่างว่า บริเวณที่เป็นหนองกลางหาวนั้น มีเมฆคลุมบางๆ ทำให้ Float dot ของ parallax bar ที่เคลื่อนตัวไปบนระดับที่มีความสูงเท่ากันนั้นหลงพลาดไป ก็ทำเรื่องรายงานและแจ้งไปยังกรมแผนที่ทหารให้แก้ใข

จะขยายความเรื่องการทำแผนที่ภูมิประเทศในโอกาสอันควรต่อไปนะครับ          
  


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 มี.ค. 12, 23:29
พบผลไม้อีกอย่างหนึ่ง ลูกกลมๆสีออกแดงๆ ผ่าออกมามีใส้่เป็นรูปห้าแฉก ก็เลยเรียกว่า star apple จนวันนี้ยังไม่ทราบเลยว่าชื่อจริงๆคือลูกอะไร

เห็นเขาเรียกกันว่า สตาร์แอปเปิ้ล Chrysophyllum cainito (http://en.wikipedia.org/wiki/Chrysophyllum_cainito)

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/2/22/Star_Apple_%28Kaimito%29.jpg/640px-Star_Apple_%28Kaimito%29.jpg)

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/e/ea/Chrysophyllum_cainito0.jpg/640px-Chrysophyllum_cainito0.jpg)

บางทีก็เรียก แอปเปิ้ลเมือง   ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 12, 10:16
อาหารป่าของคุณตั้ง มีข้าวเหนียวยืนพื้น  คงเป็นเพราะไปป่าทางเหนือหรือเปล่าคะ
ส่วนในเพชรพระอุมา  ลูกหาบของรพินทร์ ไพรวัลย์แบกกระสอบข้าวสารใส่เกวียนไปกินทั้งนั้น     ไม่มีข้าวเหนียว   คงเป็นเพราะเดินป่าภาคกลางละมัง
คุณตั้งกินเขียด แต่ในนิยายมีฉากนางเอกมาทำข้าวต้มกบให้พระเอกและลูกหาบกิน   วิธีทำก็เริ่ดอลังการเหมือนข้าวต้มราชวงศ์   นิยายต่างจากชีวิตจริงมากทีเดียว


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 12, 21:08
เห็นเขาเรียกกันว่า สตาร์แอปเปิ้ล...บางทีก็เรียก แอปเปิ้ลเมือง   ;D

ขอบคุณครับ
เคยลองกินมานานมากแล้ว นานจนจำรสชาติไม่ได้เลยครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 12, 21:24
กินเขียดนั้น มักจะเกิดขึ้นเมื่อตั้งแคมป์อยู่ใกล้ริมห้วยที่มีแอ่งน้ำขังอยู่ น้ำไม่ค่อยไหล มันจะร่วมกันร้องเพลงประสานเสียงกันอย่างดังในช่วงเวลาประมาณ 2-3 ทุ่ม นอนไม่หลับก็ไปจับมันมา ใส่ถังน้ำไว้ ก็จะเงียบไปพักหนึ่ง หลับไปได้สักพักใหญ่ๆ พอดึกมากๆก็เอาอีก ก็ไปจับอีกก็เงียบลงไปใด้อีก ตกเช้ามาก็จัดการผ่าท้อง ทำต้มยำแบบใส่มะขามเปียก ต้มน้ำให้เดือด ใส่ตะใคร้บุบ ใบมะกรูด ใส่เกลือกะว่าพอเค็ม ก่อนน้ำจะออกสีเขียวอ่อนจากตะใคร้และใบมะกรูด ก็เอาเขียดที่ทำแล้วใส่ลงไป  คะเนว่าสุกดีแล้ว ชิมน้ำ เติมเกลือให้ออกเค็ม จากนั้นตักน้ำในหม้อแกงมาคั้นน้ำมะขามเปียก ค่อยๆใส่ลงไป ดึงรสเปรี้ยวให้ออกมา (หากทำกลับทาง คือ เอารสเปรี้ยวออกมาก่อนรสเค็ม รสจะไม่ไปทางใหนเลย แก้ไม่ตก) เอาพริกแห้งเผาหักใส่ กินกับข้าวได้แล้ว
บางครั้งแทนที่จะเป็นเขียด ก็เป็นลูกอ๊อดตัวขนาดหัวแม่มือ ผ่าท้องเอาใส้ออก แล้วปรุงเหมือนกัน



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 12, 22:07
อาหารป่าของคุณตั้ง มีข้าวเหนียวยืนพื้น  คงเป็นเพราะไปป่าทางเหนือหรือเปล่าคะ
ส่วนในเพชรพระอุมา  ลูกหาบของรพินทร์ ไพรวัลย์แบกกระสอบข้าวสารใส่เกวียนไปกินทั้งนั้น     ไม่มีข้าวเหนียว   คงเป็นเพราะเดินป่าภาคกลางละมัง
คุณตั้งกินเขียด แต่ในนิยายมีฉากนางเอกมาทำข้าวต้มกบให้พระเอกและลูกหาบกิน   วิธีทำก็เริ่ดอลังการเหมือนข้าวต้มราชวงศ์   นิยายต่างจากชีวิตจริงมากทีเดียว

ข้าวเหนียวจะใช้เฉพาะเมื่อเดินแยกออกไปค้างแรมคืนหรือสองคืน เพราะหุงง่ายครับ แต่หากใช้กินเมื่ออยู่ร่วมกันหลายๆคน จะเปลืองมากกว่าข้าวเจ้า พอจะเทียบให้เห็นได้ว่า ในจำนวนคนเท่ากัน หากในหนึ่งอาทิตย์ใช้ข้าวเจ้าหนึ่งถัง เมื่อใช้ข้าวเหนียวจะได้เพียงประมาณ 5 วันเท่านั้น

เรื่องกินกบนั้น ผมก็มีวิธีทำกินแบบอร่อยสุดๆเหมือนกัน
กบตัวใหญ่ๆจะพบมากในป่าแถบด้านเหนือของ จ.กาญจนบุรี ผมเรียกว่าเขียดแลว (กบทูต???) ตัวขนาดฝ่ามือ ชอบอยู่ในห้วยที่มีน้ำไหลรินเบาๆ เขาจะเขี่ยทรายบริเวณที่มีน้ำแฉะๆให้เป็นแอ่งขนาดพอตัว เดินอยู่ในห้วยในตอนกลางวันก็จะเห็นร่องรอยนี้ พอตั้งแคมป์เสร็จ พอมืดดีแล้วก็เดินย้อนไปหาแถวที่พบร่องรอย ใช้ไฟฉายส่องดูก็จะเห็น ยิ่งมีมากตัวก็จะยิ่งได้ยินเสียงร้องของเขาชัดเจน เสียง ทืดๆๆๆๆ กลางคืนดึกๆออกไปปัสสาวะ ได้ยินเสียงเขาร้องบางทียังขนลุกเลย กบนี้แข็งแรงมาก เอาไม้ฟาดตียังกระโดดหนีเลย ต้องใช้ปืนยิงเอา วิธีการก็คือ หิ้วตะเกียงเจ้าพายุและจับกระบอกปืนด้วยมือซ้าย มือขวาใช้จับตัวปืนประทับไหล่และเหนี่ยวไก ผมใช้ปืนลูกกรด บางครั้งก็ปืนลม เอามา 3-4 ตัวก็พอแล้วครับ

คราวนี้ก็วิธีทำให้อร่อย อย่าไปทำเป็นแบบแกงหรือต้มเลย ยุ่งยากและไม่อร่อย ทำง่ายๆครับ เอากระเทียมโขลกกับพริกแห้งให้ได้ประมาณ 1 ช้อนแกง ผ่าท้องกบทำความสะอาด ไม่ต้องลอกหนัง ตัดกบเป็นชิ้นๆ เอานำ้มันใส่กระทะ รอจนน้ำมันร้อนค่อนข้างจัด เอากระเทียมกับพริกที่ตำไว้ใส่ลงไปผัดให้หอม พอแห้งดี (เกือบจะเริ่มเกรียม) ก็เอากบลงผัดให้สุก ใส่เกลือให้ออกรสเค็ม ใส่น้ำปลาแต่งให้กลิ่นหอม จะใส่น้ำตาลปี๊บสักองคุลีก็ได้ (หากมี) เพื่อทำให้รสกลมกล่อมมากขึ้น เท่านี้แหละครับ รับประกันความอร่อยได้เลย ชิ้นส่วนแรกที่จะหมดไปจากจานก็คือส่วนตะโพกขาหลัง เนื้อเป็นปั้นๆอร่อยจังครับ

บางครั้งก็ตัดเอาเฉพาะขามาคลุกเกลือ ทอดให้สุก จากนั้นจึงเอากระเทียมทั้งหัวมาบุบด้วยมีด ให้พอเปลือกแยกออกจากเนื้อใน ตั้งน้ำมันให้ร้อน เอากระทียมลงเจียวให้เกรียมนอกแต่นุ่มใน กินกับขากบทอด ผมว่าขากบของฝรั่งเศสยังชิดซ้ายไปเลย
มีอยู่วันหนึ่งต้องรับรองฝรั่ง เลยสั่งให้กะเหรี่ยงไปหากบมา ทำแบบทอดนี้แหละครับ สำหรับกระเทียมนั้น ส่วนหนึ่งใช้น้ำมันธรรมดา อีกส่วนหนึ่งใช้เนย ปรากฏว่ากระเทียมที่ทอดน้ำมันธรรมดาเกลี้ยงเลยทีเดียว สำหรับส่วนตัวกบที่เหลือนั้นก็เอามาสับแบบหยาบผัดกระเพรา ผมว่าไม่อร่อยนะ ต้องคอยคายกระดูก จะเคี้ยวก็ไม่แหลก ต้องคอยปลิ้นคอยคายอย่างเดียว

สำหรับกบที่อยู่ตามแอ่งในร่องล้อรถยนต์ตามทางในป่านั้น เป็นกบแท้ๆเหมือนที่เห็นตามตลาดทั่วไป ตัวจะไม่ใหญ่นัก อร่อยสู้เขียดแลวไม่ได้เลยครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 25 มี.ค. 12, 22:13
อาหารป่าของคุณตั้ง มีข้าวเหนียวยืนพื้น  คงเป็นเพราะไปป่าทางเหนือหรือเปล่าคะ
ส่วนในเพชรพระอุมา  ลูกหาบของรพินทร์ ไพรวัลย์แบกกระสอบข้าวสารใส่เกวียนไปกินทั้งนั้น     ไม่มีข้าวเหนียว   คงเป็นเพราะเดินป่าภาคกลางละมัง
คุณตั้งกินเขียด แต่ในนิยายมีฉากนางเอกมาทำข้าวต้มกบให้พระเอกและลูกหาบกิน   วิธีทำก็เริ่ดอลังการเหมือนข้าวต้มราชวงศ์   นิยายต่างจากชีวิตจริงมากทีเดียว

หนูดีดีว่าน่าจะเป็นเพราะ ข้าวเหนียว มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าข้าวสวยและข้าวต้ม คือ
- เก็บไว้ได้หลายวัน
- ไม่บูดเสียง่าย
- ไม่ต้องเสียเวลาอุ่นก็กินได้
- ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ในการกินให้ยุ่งยาก แค่ใช้มือหยิบก็กินได้เลย
- เดินไปด้วยกินไปด้วยก็ได้
- กินข้าวเหนียวแล้วอิ่มนาน

 ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 26 มี.ค. 12, 10:08
เคยทานกบทอดกระเทียมครั้งแรกตอนไปเยี่ยมเพื่อนที่ อ.เดิมบางนางบวช สุพรรณบุรี

คงจะป็นกบธรรมดา ตัวไม่ใหญ่โตอะไร  เขาทอดกรอบโรยมาด้วยกระเทียมเจียวเต็มจาน

เห็นเนื้อที่โคนขามันเป็นก้อนเหมือนเนื้อไก่เลยลองดู....โอ้โฮ ติดใจเลยค่ะ

เดี๋ยวนี้พอไปต่างจังหวัดเห็นเมนูนี้เป็นไม่พลาด  แต่ในกรุงเทพหากบตัวโตๆยาก

เนื้อน้อยไม่น่าทาน

ตอนเด็กๆเคยเห็นคนเขาจับหนูตัวใหญ่ๆมาย่างทาน เขาว่าเนื้อเหมือนไก่

คุณตั้งเคยเห็นบ้างไหมค่ะ เช่นหนูนา...


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มี.ค. 12, 10:49
เมนูกบของคุณตั้งและคุณพวงแก้ว  น่ากินมากๆค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มี.ค. 12, 20:45
ยังมีเมนูเขียดอีกอย่างที่อร่อยมาก เมนูนี้ทำไม่ได้ในป่า แต่หากินได้ในเมือง แล้วก็คงจะหาได้ยากมากแล้วในปัจจุบันนี้

ภาษาตามเมนูในร้านอาหารชื่อว่า ทหารนอกกรม ซึ่งก็คือ เขียดตัวขนาดประมาณหัวแม่มือ ผ่าท้อง เสียบไม้เป็นแถวเรียงกันย่างแห้งหรือตากแห้ง เอามาทอด อร่อยมากๆเลยทีเดียว ผมคิดว่าน่าจะยังพอหากินได้ที่ จ.น่าน ไม่แน่ใจว่าในตลาดสดในเมืองจะยังมีขายหรือไม่ เพราะตลาดเดิมเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ที่ร้านอาหารติดกับโรงแรมดังของจังหวัดน่าจะยังมีให้สั่งกินกันได้อยู่

ว่าจะข้ามเรื่องของกบเขียดไปแล้ว นึกขึ้นได้ว่ายังมีอีก 2 เมนู ทั้งสองเมนูนี้จะมีกินก็เฉพาะเมื่อเริ่มเข้าฤดูฝน เมนูหนึ่งนั้นไม่น่ากินเลย ส่วยอีกเมนูหนึ่งนั้นอร่อยมาก

อึ่งอ่างครับ

อึ่งอ่างตามความรู้ทีผมมี แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ อึ่งข้างลาย อึ่งข้างขาว และอึ่งยาง อึ่งอ่างสองชนิดแรกอยู่ในที่นา ที่น้ำแฉะ ส่วนอึ่งยางนั้นอยู่ตามห้องน้ำในบ้านเรือน อึ่งยางนั้นไม่จับมาทำกินกัน สำหรับอึ่งข้างขาวและข้างลายนั้น ผมสับสน จำไม่แม่นว่าภาคกลางและภาคตะวันตกกินและไม่กินชนิดใหนกัน แต่สรุปว่ากินได้ทั้งสองชนิด และผมเองก็เป็นคนนำคนหนึ่งที่ทำให้คนทางภาคตะวันตกจับกินทั้งสองชนิดเลย

อึ่งต้มยำ อันนี้กินแถว จ.ตาก จำได้ว่าแถวๆบ้านโป่งแดง อยู่ระหว่างตัว จ.ตาก กับ อ.บ้่านด่านลานหอย บนเส้นทางตาก-สุโขทัย มาทั้งตัว ลอยพองอยู่เต็มถ้วยแกง สามารถใช้ช้อนตัดแยกเป็นชิ้นๆได้เพราะเปื่อยดี แต่ไม่น่ากินเลยนะครับ น้ำแกงก็อร่อยดี รสแซบ แต่เนื้อนี่ซิ ดูเป็นเมือกลื่นๆ นึกภาพเอาเองก็แล้วกันนะครับ พอแยกขาแบกแขนแล้วเป็นอย่างไร

อึ่งย่างแห้งหรือตากแห้งกับแดด เมนูนี้อร่อย เป็นของมักอย่างหนึ่งของผม ผมจะนิยมจับมาทำด้วยวิธีนี้ ผ่าท้องเอาใส้ออกเหลือแต่ไข่เก็บไว้ พอตากแดดหรือรมควันแห้งดีแล้วก็เอามาทอดให้กรอบ ของโปรดของผมคือส่วนที่เป็นแขนและขา แต่คนอื่นๆมักจะเลือกกินไข่ในท้อง ซึ่งผมเคยกินไข่แล้วก็เคยรู้สึกเมาเหมือนกินหมากพลู ก็เลยไม่กินอีกเลย
     


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 มี.ค. 12, 09:36
ส่งภาพประกอบค่ะ... ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มี.ค. 12, 09:51
ฝรั่งเศสเป็นชาติที่นิยมกินกบ  จนได้สมญาว่า Frog-eaters อย่างเหยียดหยามจากอังกฤษซึ่งไม่รู้จักของอร่อยชนิดนี้     ตอนไปฝรั่งเศสครั้งแรกก็อยากลองกินอะไรแปลกๆเหมือนกัน  แต่ใจไม่ถึงพอจะสั่งขากบ  ไปสั่งหอยโข่งเอสคาโกต์มากินแทน  รสชาติก็งั้นๆ ไม่ได้รู้สึกอร่อยจนติดใจ
ส่วนขากบ ไม่ว่าจะในรูปเห็นทรวดทรงตามธรรมชาติอย่างที่คุณ DD เอามาลง   หรือว่านำไปประดิดประดอยยังไง อย่างในรูปข้างล่างนี้   เห็นแล้วก็นึกถึงกบและอึ่งอ่างที่ทำตาปริบๆอยู่บนสนามหลังฝนตก   กินไม่ลงจนแล้วจนรอดค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มี.ค. 12, 18:27
.......ตอนเด็กๆเคยเห็นคนเขาจับหนูตัวใหญ่ๆมาย่างทาน เขาว่าเนื้อเหมือนไก่
คุณตั้งเคยเห็นบ้างไหมค่ะ เช่นหนูนา...

หนูตัวใหญ่ๆจับมากินกันนั้น ก็คือหนูพุกหรือหนูนานั่นแหละครับ ปัจจุบันนี้ก็ยังมีขายกันมากตามข้างทางถนนสายกรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี และถนนสายนครสวรรค์-พิษณุโลก ย่างเสร็จเรียบร้อย ผมเคยกินแต่ไม่ชอบ เพราะอาหารประเภทกล้าๆกลัวๆที่จะกินนี้ มักจะต้องทำให้รสจัด ความอร่อยไปอยู่ที่รสของเครื่องปรุง ไม่ใช่ที่รสของเนื้อและ texture ของเนื้อ เลยไม่ได้สนใจว่าราคาปัจจุบันนี้ตัวละเท่าไร

วิธีทำดูจะมีเพียงอย่างเดียว คือ ผัดเผ็ด ซึ่งจะให้อร่อยก็ต้องผัดให้แห้งหน่อยแล้วใส่ใบโหระพาด้วย เนื้อหนูนานี้ค่อนข้างจะหยาบและเป็นเส้นๆคล้ายๆหมูทุบ เสียอย่างเดียวที่ต้องคอยคายกระดูก
อีกประการหนึ่ง การทำหนูนานั้นจะใช้วิธีลอก (ถลก) หนัง นำไปย่างให้พอแห้ง แล้วจึงจะนำมาผัดเผ็ด ซึ่งแตกต่างไปจากวิธีที่ทำกันตามปรกติสำหรับสัตว์ตัวขนาดนี้ซึ่งจะใช้วิธีเอาตัวสัตว์ทั้งตัวแช่น้ำให้ขนเปียก แล้วเผาในกองฟืนให้ขนใหม้เกรียมดำทั้งหมด จากนั้นจึงเอาไปขูดขนและผิวที่เกรียมล้างในน้ำ เมื่อขูดให้สะอาดแล้วจึงผ่าท้องเอาเครื่องในออกให้หมด ล้างให้สะอาดอีกครั้ง หากกลัวคาวก็เอามาเผาไฟอีกรอบให้เนื้อสุกพอง (กำลังสุกๆดิบๆ) จึงนำมาหั่นเป็นชิ้นๆขนาดตามที่ชอบ
ผมเดาว่า เหตุที่ใช้วิธีลอกหนังหนูนานั้น ก็คงจะเพราะกลัวความสกปรกของหนูนั่นเอง
แท้จริงแล้ว หนูนาน่าจะเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญได้ มีความสะอาด ไม่สกปรกเหมือนหนูบ้าน กินข้าวในนา ไม่ใช่กินทุกอย่างที่ขวางหน้าเหมือนหนูบ้าน ตัวค่อนข้างใหญ่ ใช้เพียงตัวสองตัวก็พอมื้อสำหรับครอบครัวหนึ่ง เติบโตเร็วและขยายพันธุ์เร็ว และมีปริมาณมาก คงจะเป็นชื่อของมันเท่านั้นที่ทำให้คนรู้สึกกล้าๆกลัวๆที่จะนำมันมาทำเป็นอาหาร ซึ่งหากสามารถขจัดความกล้าๆกลัวๆในจิตใต้สำนึกนี้ออกไปได้ ผมคิดว่า น่าจะทำอาหารได้อีกหลายชนิดนอกเหนือไปจากผัดเผ็ด ขนาดฝรั่งในกองบรรณาธิการของ Martha ยังติดใจในรสชาติของอาหารที่ปรุงโดยแม่ค้าหาบเร่ขายอาหารอยู่ข้างถนน   

 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มี.ค. 12, 19:24
พูดถึงหนูนา ก็นำพาไปยังกะรอก พญากะรอก และบ่างใหญ่ ของหากินได้ในป่าทั้งนั้น

กะรอกนั้นตัวเล็กและน่ารัก ยามอดก็ต้องเอา พญากะรอกและบ่างใหญ่ นั้นตัวจะใหญ่มากหน่อยคือเกือบๆท่อนแขน กะรอกและพญากะรอกนั้นเป็นสัตว์หากินในตอนกลางวัน ส่วนบ่างใหญ่นั้นหากินในตอนกลางคืน พวกนี้เป็นสัตว์ฟันแทะ (Rodents) กินผลไม้และลูกไม้เนื้อแข็ง แต่หากขาดอาหารจริงๆก็แทะกินเปลือกไม้
หากเดินทำงานแล้วเห็นกะรอก ก็ต้องพิจารณาสักหน่อยว่าในพื้นที่ที่พบนั้นมีโอกาสจะพบอีกหลายตัวหรือไม่ กะรอกตัวเดียวกินไม่พอสำหรับคณะสำรวจแน่ๆ อย่างน้อยก็จะต้องประมาณ 5 ตัว คิดดูนะครับจะหายิงกะรอก 5 ตัวเพื่อนำมาทำอาหารมื้อหนึ่งนั้นยากใหม อย่างที่เคยเล่าแล้วว่าเข้าป่าก็ต้องมีสัจจะ และไม่ทำร้ายสิ่งใดเกินกว่าความต้องการ เจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขาๆรับรู้และจะทำให้เราได้อย่างที่เราต้องการ ไม่เกินเลยไปจากที่เราตั้งใจจะได้ ไม่ให้ในส่วนที่อยู่ในภาคของความโลภ เชื่อใหมครับ ในระหว่างการทำงานตามเส้นทางสำรวจ ไม่ต้องออกนอกเส้นทางเลย ก็มีกะรอกมาให้ยิง 5 ตัว
(ขอกินเก้งก็ได้เก้ง ขอกินไก่ป่าก็ได้ไก่ป่า ขอสองตัวก็ได้สองตัว ขอกวางก็ได้กวาง ฯลฯ)

กะรอกก็นำมาทำแบบที่เล่ามา คือชุบน้ำแล้วเผาไฟ จะทำเป็นแกงก็คงไม่ไหวเพราะมีเนื้อน้อยมาก ทำได้อย่างเดียวคือผัดเผ็ด หากมีดอกกระเพราะก็เด็ดใส่ในครกโขลกไปพร้อมกับเครื่องผัดเผ็ด จะทำให้เครื่องผัดนั้นหอมขึ้นอีกมากโขทีเดียว ตัวกะรอกนั้นจะหั่นเป็นชิ้นๆก็ดูไม่น่ากิน ต้องใช้วิธีสับให้แหลกละเอียด
หากเป็นพญากะรอกนั้นใช้ตัวเดียวก็พอเพียง ถึงแม้จะพบบ่อยแต่ก้ไม่ค่อยจะยิงมากินหรอกครับ

ผมได้ลูกกะรอกมาจากห้วยขาแข้งตัวหนึ่ง มันเดินไต่อยู่บนลำไม้ไผ่ที่เอนเอียงอยู่ข้างแคมป์ เอาหนังสะติ๊กยิงไม่โดน เลยเขย่าลำไผ่นั้น มันก็ตกลงมา ผมจึงเก็บมาเลี้ยง มันอยู่ในป่ากับผมเป็นเวลาเกือบเดือน ในขณะเิดินสำรวจมันก็จะซุกอยู่ในกระเป๋าเสื้อหนาว Jacket field ตกค่ำก็นอนซุกอยู่ในถุงนอนที่ปลายเท้า พอเช้ามาก็ออกมาปลุกใต่อยู่ข้างหูและที่ใบหน้า ผมเอามาเลี้ยงที่บ้านในกรุงเทพฯ น่ารักมาก หวงผมเหมือนสุนัขหวงเจ้าของ ภรรยาผมเข้าใกล้ไม่ได้เลย มันจะกัดอย่างเดียว แต่สำหรับแม่ของผมได้ มันเป็นตัวเมียครับ ผมดูแลมันจนกระทั่งแก่มาก อายุสิบกว่าปี แก่จนกระทั่งฟันบนหลุด ผมเลยได้ความรู้ว่าฟันของมันนั้นยาวออกมาได้เรื่อยๆ สุดท้ายก็แก่ตายและเพราะเป็นมะเร็งที่ท้อง (เป็นก้อนดำโตที่บริเวณท้อง) ศึกษาเพิ่มเติมก็ได้ความรู้อีกอย่างหนึ่งว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นเมื่ออายุมากจัดๆจะเกิดมะเร็งไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งในร่างกาย แล้วก็จะตายด้วยมะเร็ง เป็นสัจจะธรรม
ผมรักเจ้ากะรอกตัวนี้มาก ยังหวนคิดถึงมันอยู่เสมอ ยังเคยซื้อเข็มกลัดรูปกะรอกให้แม่และภรรยาเลย


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มี.ค. 12, 21:47
ชาวบ้านและคนที่ทำงานอยู่ในป่านั้น มักจะไม่ยิงสัตว์ใหญ่ (กวาง กระทิง วัวแดง) มาเป็นอาหาร แม้จะเห็นก็มักจะนั่งดูเสียมากกว่า ยกเว้นเฉพาะเมื่อต้องการสะสมเป็นสะเบียงเก็บไว้กินหลายๆวันเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปหาอาหาร คนที่ล่าสัตว์ใหญ่มักจะเป็นพวกพรานที่เอาเนื้อมาขายและพวกนิยมเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์แล้วถ่ายรูปเอามาอวดกัน

สำหรับผมและชาวบ้านทั่วๆไปนั้น อาหารที่หากินกันประจำวันมักจะอยู่ตามห้วย เช่น ผักกูด ไหลบอน ต้นบุก ต้นทิงเพราะ กบ เขียด ปลา ปู งูสิงห์ เต่า ตะพาบ   สัตว์ที่ใหญ่กว่านี้ก็มี เช่น ไก่ป่า เก้ง อีเห็น อีเห็นแผง อ้น เม่นใหญ่ เม่นหางพวง หมูหริ่งหมาหริ่ง ลิงหางสั้น ลิงหางยาว ค่าง ตัวนิ่ม ในพื้นที่ราบบนบกก็หาพวกแย้ ตุ่น ตะกวด    ในบางโอกาสก็ เก้ง กวาง หมูป่า  และพวกนกต่างๆ   ที่ผมไม่ลองกินเลยก็มี ลิงลม ชะนี สมเสร็จ ช้าง เสือ หมี นกขนาดใหญ่

ที่ผมห้ามคนในคณะยิงเอามากินเด็ดขาดก็คือ สัตว์ที่กำลังเลี้ยงลูก สัตว์ตัวเมียทั้งหลายที่เราจำแนกได้ชัดเจนด้วยตา นกตัวใหญ่หัวโตทั้งหลาย (เช่น นกเงือก นกแกง) นกฮูก เหยี่ยวอีรุ้ม เหยี่ยวนกเขา นกหัวขวาน ไก่ฟ้า วัวแดง กระทิง (ทั้งข้อขาวและข้อเหลือง) มหิงสา (ควายเพลิด) ช้าง ลิงลม ชะนี สมเสร็จ เสือ หมี หมีขอ นาก

จะต่อด้วยเมนูอะไรดีครับ

เอาต้นบุกมาจิ้มน้ำพริกก่อนนะครับ
ต้นบุกที่กินได้รสชาติ คือ ต้นที่มีลายเหมือนงูหรือตุ๊กแก ผิวของต้นเป็นตุ่มๆ  ตัดเอาแต่ส่วนลำต้นมา หั่นเป้นท่อนๆยาวประมาณ 1 คืบ เอาไปหมกในถ่านกองไฟ พลิกไปมาให้สุกและนิ่มจริงๆ ลอกเปลือกออกเหมือนกับลอกเปลือกมะเขือยาวเผา แล้วฉีกออกเป็นเส้นๆขนาดเส้นประมาณนิ้วก้อย เอามะขามเปียกละลายน้ำให้เป็นน้ำมะขามเปียกในชามแกง ให้ได้ปริมาณปริมาณน้ำมะขามเปียกเข้มข้นประมาณค่อนแก้วน้ำ เอาบุกที่ฉีกแล้วขยำ บีบคั้นกับน้ำมะขามเปียก ไม่ต้องกลัวว่าจะเปรี้ยว ให้นึกเสียว่าอย่าให้กินแล้วจะคันคอดีกว่า ขยำสักพัก ก็นำมากินได้แล้ว หั่นเป็นชิ้นๆ กินกับน้ำพริกกระปิที่ตำออกรสหวานเล็กน้อย เผ็ดหน่อย หากได้ลองลิ้มรสแล้วก็จะรู้ว่ามันเข้ากันได้ดีเพียงใด เสมือนดั่งกินยอดกระถินกับหอยนางรมสด แนะนำว่าหากกลัวว่าจะคันคอ ก็ลองคำแรกแล้วเว้นระยะสักนิดหน่อย ก่อนที่จะกินอย่างต่อเนื่องต่อไป หากคันคอเขาว่าให้กินน้ำตาลทรายจะช่วยได้ เท่าที่ผมทำแบบนี้กินมายังไม่เคยมีคนคันคอเลย 
         


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 28 มี.ค. 12, 22:58
ผักกูดเป็นอาหารจานโปรดอีกอย่างหนึ่ง ได้ทานครั้งแรกเมื่อไปเย่ยมเพื่อนที่อ.บ้านไร่ อุทัยธานี

ตลาดเล็กๆที่อำเภอบ้านไร่มีร้านขายข้าวต้ม กับอาหารตามสั่ง เห็นผักกูดเป็นกำ สูงราวๆ 1 คืบ

ใบอ่อน ปลายม้วนดูสดมาก เลยให้เขาผัดเหมือนผักบุ้งไฟแดง กรอบอร่อยมากค่ะ

ติดใจตั้งแต่นั้นมา...เดี๋ยวนี้ยังพอหาได้ในกรุงเทพ ตามตลาดสดที่ใหญ่สักหน่อย

เช่นตลาดราชวัตร(ริมถนน หน้าเซเว่น) สังเกตว่า แม่ค้าจะเอาผักพื้นบ้านมาขาย

โชคดีก็จะได้มาพอผัดสักจานหนึ่ง ให้หายอยากค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 28 มี.ค. 12, 23:05
ค้นภาพผักกูด ที่ทำอาหารได้หลายอย่างมาให้น้ำลายหยด


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 28 มี.ค. 12, 23:07
มีอีก 2 รายการค่ะ น่าทานเหมือนกัน


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 12, 21:33
ดีใจครับที่ได้เห็นผักกูดขึ้นโต๊ะอาหารหลายๆเมนู เป็นผักในธรรมชาติที่ไม่มีการปรุงแต่ง ที่ปลอดสารจริงๆ ในช่วงเวลาที่ผมใช้ชีวิตทำงานในป่าในอดีตที่ผ่านมานั้น คนในเมืองแทบจะไม่รู้จักผักกูดกันเลย
ผักกูดเป็นผักที่ผมเก็บกินแทบจะทุกวัน หาได้ง่ายมากตามริมห้วยต่างๆ โดยเฉพาะตามคุ้งน้ำในห้วยด้านที่มีการกัดเซาะ (ด้านนอกของวงโค้ง) ส่วนมากก็จะเอามาต้มกินกับน้ำพริก หรือใช้ในการแกงส้ม จะเป็นแกงผักกูดเฉยๆไม่มีเนื้อใดๆ จะเป็นแกงส้มปลากระป๋อง หรือแกงส้มกับปลาอื่นๆที่พบในห้วยก็ได้ทั้งนั้น ไม่เคยใช้ผักกูดในการแกงป่าหรือแกงเผ็ด ผมว่ามันไปด้วยกันไม่ได้เลย

การเก็บผักกูดก็จะต้องเก็บให้เป็น ต้องระวังนะครับ ในบริเวณที่เป็นดงผักกูดขึ้นก็จะมีพวกเฟิร์นที่ไม่ใช่ผักกูดขึ้นร่วมอยู่ด้วย ความแตกต่างที่สำคัญก็คือ ก้านสีแดงหรือดำ กับก้านสีเขียว ห้ามเก็บที่มีก้านสีแดงหรือดำ ผักกูดจะมีก้านเขียว พวกก้านสีแดงนั้นกินไม่ได้ครับ

เอาผักกูดมาแกงส้มกันนะครับ
แกงส้มแบบคนในเมืองทำกันนั้น ผมจำแนกออกเป็น 3 แบบ คือ แบบแกะเอาเนื้อปลาที่ต้มแล้วมาโขลกรวมกับน้ำพริกแกง ใส่ผัก น้ำแกงส้มจะข้น แบบน้ำแกงใส ใส่เนื้อปลาและผัก และแบบผสม    ไม่เอาแบบของภาคเหนือ(ใส่มะแขว่น) และภาคใต้ (ใส่ขมิ้นและมะขามแขกหรือส้มควาย) นะครับ
ในป่านั้น แกงส้มก็ทำได้ทั้งสามแบบ แต่ทั่วๆไปมักจะนึกถึงการใช้ปลากระป๋องแทนปลาสด

แท้จริงแล้ว มิใช่ว่าจะหาปลาสดไม่ได้ในป่านะครับ แต่เนื่องจากว่าปลาในห้วยนั้นเกือบทั้งหมดเป็นปลามีเกล็ด ตัวเล็กและมีก้างเยอะ คนอาจจะไม่ชอบ เช่น ปลาใบไม้ ปลาเกล็ดขาว ซึ่งพวกนี้ลักษณะคล้ายปลาตะเพียน มีปลากั้งหรือปลาก้าง ลักษณะคล้ายปลาช่อน ตัวสั้น หัวโต ปลายครีบหลังสีแดง ที่พบตลอดมาก็ตัวยาวประมาณคืบหนึ่ง มีปลาตากลับ กัวขนาดประมาณฝ่ามือ สีออกเขียวเหลือง แลมีตาเหมือปลาตาดียว    สำหรับปลาหนังก็มีปลากดหมู ตัวเหมือนปลาแขยง ตัวป้อมสั้นขนาดประมาณหัวแม่มือ เหล่านี้เป็นต้น
 
หากเป็นห้วยใหญ่หรือแม่น้ำก็อาจจะได้พวกปลาเกล็ดขนาดใหญ่ เช่น ปลาตะเพียน (ก้างถี่และละเอียด) ปลาตะโกรกหรือตะโกก (ก้างเหมือนปลาตะเพียนแต่ห่างและใหญ่กว่า) มีปลายี่สก มีปลาชะโด เหมือนปลาช่อนแต่ข้างลาย ตัวใหญ่กว่าปลาช่อน มีปลาแมลงภู่หรือแมงภู่ ก็เหมือนปลาชะโดแต่ตัวยาวกว่ามาก ปลาหนังก็มีปลาแคร่หรือแค่ (ไอ้แคร่) ตัวใหญ่ได้ถึงขนาดโคนขา สีออกน้ำตาล ป้อมสั้น ผมเรียกมันว่าฉลามน้ำจืด มีปลาคังหรือคลัง สีแบบเครื่องแบบทหารอากาศแต่เข้มกว่าและมีปลายหางแดง (ไอ้คังหางแดง) เหล่านี้เป็นต้น ปลาพวกนี้เอาไปทำอาหารอย่างอื่นกินอร่อยกว่าเอามาทำแกงส้ม

น้ำพริกแกงส้มก็ไม่มีอะไรพิศดาร มีหัวหอม พริกแห้ง จะให้เผ็ดก็ใช้พริกแห้งเม็ดใหญ่ จะให้รู้สึกแสบร้อนก็ใช้พริกแห้งเม็ดเล็ก หรือใช้พริกแห้งทั้งสองชนิดก็จะได้ทั้งเผ็ดและแสบร้อนปาก ใส่เกลือ โขลกเข้าด้วยกัน เกลือจะช่วยในการบดให้พริกแหลกละเอียด ใส่กะปิ คะเนว่าโขลกรวมกันแล้วจะได้น้ำพริกแกงประมาณหนึ่งช้อนโต๊ะ เอาหม้อแกงใส่น้ำไม่มากตั้งไฟ พอน้ำเริ่มร้อนก็ละลายน้ำพริก พอเดือดก็จัดก็ใส่เนื้อปลาที่อยากจะใส่ หย่อนลงทีละชิ้นๆ เมื่อน้ำเริ่มจะไม่เดือดปุดๆก็หยุดรอ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้คาว ปรุงรสน้ำแกงโดยใส่เกลือให้ออกรสเค็มนำ จากนั้นจึงใส่น้ำมะขามเปียกเพื่อดึงรสเปรี้ยวให้ออกมา ถ้าจะให้มีรสกลมกลืนมากขึ้นและตัดรสฉูดฉาดออกไปก็ใส่น้ำตาลปี๊บลงไป พอน้ำแกงเดือดอีกครั้ง ก็ใส่ผักกูด ปิดฝาให้เดือดอีกครั้ง แล้วยกลง กินได้แล้วครับ

แกงส้มผักต่างๆนั้น ถ้าจะให้อร่อยถึงรสจริงๆจะต้องทำค้างคืนไว้ ผักบางอย่างก็คืนหนึ่งพอ บางอย่างอาจจะต้องค้า่งถึงสองคืน           
   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 29 มี.ค. 12, 21:50
อาหารเหนือที่ชอบมากและทำเป็นอยู่อย่างเดียวคือ แกงขนุนอ่อน

ใช้น้ำพริกแกงส้มผัดกับซี่โครงหมู(ที่มีเนื้อมากหน่อย) ชิ้นพอคำ

พอหอมแล้วเติมน้ำให้ท่วม เคี่ยวให้หมูเริ่มเปื่อย

ขนุนอ่อนหั่นเป็นแว่นๆหนาไม่เกิน 1 นิ้ว (อย่าลืมเอาน้ำมันพืชทาที่มีดเพื่อกันยางขนุน)

หั่นเปลือกออกให้หมดตัดเอาแต่เนื้อขนุนพร้อมยวงที่เป็นเส้นๆ ขนาดพอคำ

เอาขนุนที่หั่นใส่หม้อที่เคี่ยวหมูกับน้ำพริกไว้ เคี่ยวไฟอ่อนต่อไปจนนุ่ม

ใส่ชะอม และมะเขือเทศลูกเล็กเพิ่มรสเปรี้ยว

ปรุงด้วยน้าตาล  น้ำปลา ชิมรสตามชอบ


ทานแล้วชื่นใจมากค่ะ

ส่วนปลาน้ำจืดที่ชอบเป็นพิเศษ คือปลาค้าวค่ะ ทอดแล้วราดด้วยน้ำปลาผสมน้ำตาล

ทานกับข้าวสวยร้อนๆ โอ้ย...อร่อยอย่าบอกใครเลยค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 12, 18:38
อาหารเหนือที่ชอบมากและทำเป็นอยู่อย่างเดียวคือ แกงขนุนอ่อน ใช้น้ำพริกแกงส้มผัดกับซี่โครงหมู(ที่มีเนื้อมากหน่อย) ชิ้นพอคำ พอหอมแล้วเติมน้ำให้ท่วม เคี่ยวให้หมูเริ่มเปื่อย ขนุนอ่อนหั่นเป็นแว่นๆหนาไม่เกิน 1 นิ้ว (อย่าลืมเอาน้ำมันพืชทาที่มีดเพื่อกันยางขนุน) หั่นเปลือกออกให้หมดตัดเอาแต่เนื้อขนุนพร้อมยวงที่เป็นเส้นๆ ขนาดพอคำ เอาขนุนที่หั่นใส่หม้อที่เคี่ยวหมูกับน้ำพริกไว้ เคี่ยวไฟอ่อนต่อไปจนนุ่ม ใส่ชะอม และมะเขือเทศลูกเล็กเพิ่มรสเปรี้ยว ปรุงด้วยน้าตาล  น้ำปลา ชิมรสตามชอบ ทานแล้วชื่นใจมากค่ะ
ส่วนปลาน้ำจืดที่ชอบเป็นพิเศษ คือปลาค้าวค่ะ ทอดแล้วราดด้วยน้ำปลาผสมน้ำตาล ทานกับข้าวสวยร้อนๆ โอ้ย...อร่อยอย่าบอกใครเลยค่ะ

แกงขนุนนี้ก็เป็นแกงที่น่าสนใจเมื่อพิจารณาในเชิงของการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง
ต้นขนุนนั้นไม่ค่อยจะพบว่ามีการปลูกกันในบ้านป่า แต่หากเป็นชุมชนที่ตั้งมาเก่าแก่มากๆหน่อย เป็นเวลา 70-80 ปีขึ้นไป จึงจะมีการปลูกกัน ซึ่งนอกจากขนุนแล้วก็จะเห็นว่ามีการปลูกมะพร้าวและหมากอีกด้วย ต้นขนุน มะพร้าวและหมากนี้ เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างดีสำหรับผมในขณะออกสำรวจว่า ได้พบชุมชนที่อยู่กันอย่างผาสุขต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน (คนมีอัธยาสัยดี มีความปลอดภัย อาหารการกินสมบูรณ์) พื้นที่มักจะเป็นที่ราบ มีห้วยผ่านหมู่บ้านและในห้วยมีน้ำไหลทั้งปี มีนาข้าว (หากพบหมู่บ้านที่ปลูกต้นไม้ผลลักษณะนี้อยู่ในหุบเขาเล็กๆก็จะมีนาข้าวแบบขั้นบันใด ซึ่งมักจะแสดงมีการทำฝายทดน้ำและมีการชลประทานที่พัฒนาด้วยตนเองโดยหมู่คนที่ร่วมแรงร่วมใจกัน มิใช่นาน้ำฟ้า) มีการเลี้ยงสัตว์ หมู ไก่ วัว ควาย หมู่บ้านลักษณะพวกนี้แหละครับ คือแหล่งเติมสะเบียงที่สำคัญของผมในระหว่างการทำงานในป่าเป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งจะหาพวกของแห้งและพืชผักทำครัวได้เกือบจะทุกชนิด
 
ต้นขนุนนั้นจะออกลูกเป็นจำนวนมาก หากไม่เด็ดทิ้งไปบ้าง ก็จะแย่งอาหารกันทำให้ผลไม่ใหญ่  หากทิ้งไว้มากก็จะร่วงและเน่าเป็นที่เชื้อเชิญหนอนและแมลงต่างๆ แทนที่จะต้องทิ้งไปให้เสียประโยชน์ ก็เอามาทำเป็นอาหาร เอามาทำแกงกินกันไม่ดีเหรอ เอามาทำตำขนุน (ตำบะหนุน) ก็ได้ เอามาต้มจิ้มน้ำพริกก็ได้ ขนุนที่นำมาทำอาหารพวกนี้จึงมีลูกขนาดเล็ก จะเป็นขนุนอ่อนลูกขนาดประมาณขวดน้ำ ใหญ่กว่านั้นก็ไม่อร่อยแล้วเพราะเมล็ดเริ่มจะแข็ง
ในการทำแกงนั้นก็หั่นเป็นชิ้นพอคำ ใส่กระดูกหมูอ่อน ใส่ผักหละ (ชะอม) ใส่มะเขือส้ม (มะเขือลูกเล็กขนาดประมาณลูกมะเขือพวง) ตามที่คุณพวงแก้วว่า ก็อร่อยมาก แต่หากเอาที่ต้มแล้วมายี (โขลก) ให้แหลกแล้วเอาไปผัดกับพริกแกง ก็น้ำพริกแกงส้มอย่างเดียวกันนั้่นเอง จะใส่มะแขว่น (ซึ่งคิดว่าเป็นพริกพราน หรือพริกหวานของจีนที่ใส่ในเครื่องพะโล้ในบางตำรา) คั่วแล้วโขลกให้ละเอียดสักเล็กน้อย ก็จะได้กลิ่นที่ชวนกินอีกแบบ โรยด้วยหอมและกระเทียมหั่นแว่นเจียว กินกับแคบหมูสุดยอดไปเลย

พุดแล้วก็นึกถึงดอกข่า ต้นข่านั้นหากปลูกในที่โล่ง มีแดดมาก พอมันแก่เข้าก็จะออกดอกเป็นช่อสีขาวยาวประมาณครึ่งศอก  จะกินสดก็ได้ กินแบบต้มสุกก็ได้ กินกับลาบก็ได้ กินกับน้ำพริกก็ได้ อร่อยทั้งนั้นเลย ได้รสชาติซ่าๆลเ็กน้อยแต่หอม หากพบในตลาดนะครับ ซื้อมาลองเด็ดทีละดอกกินกับลาบ จะเป็นลาบอีสานก็ได้ แต่ดูจะเหมาะกับลาบคั่วทางเหนือมากกว่า   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 30 มี.ค. 12, 19:30
ส่งาพขนุนอ่อนที่หั่นแล้ว กับแกงขนุนอ่อนมาให้ดูค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 12, 19:37
วันนี้มาทำต้มขมุกินกัน
ต้มขมุนี้เป็นอาหารอย่างหนึ่งที่พบว่า น้ำแกงหมดก่อนเื้นื้อ ทำเมื่อใรก็เมื่อนั้นแหละครับ
ผมไม่ทราบว่าหน้าตาของต้มขมุที่รู้จักกันในปัจจุบันนี้มีหน้่ตาเป็นอย่างไร แต่ที่ผมทำกินกันเป็นประจำในป่ามากกว่า 40 ปีนานมาแล้วนั้น ทำอย่างนี้ครับ

ใช้เครื่องต้มยำ คือ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด แต่ใส่ให้มากกว่าปรกติที่ทำต้มยำกัน ทั้งหมดทุบบนเขียงด้วยมีดเพื่อให้กลิ่นออกมาดี ใส่น้ำให้มากหน่อย ใส่เกลือลงไปสักครึ่งช้อนชา พอน้ำเดือดก็ใส่เครื่องแกงทั้งหลายนี้ สำหรับเนื้อที่จะใส่ลงไปจะเป็นพวกปลาทั้งหลาย ใช้ได้ตั้งแต่ปลาตัวเล็กจนปลาตัวใหญ่ แต่อย่าใส่ปนกันนะครับ ต้มนี้เหมาะสำหรับพวกปลาที่เนื้อมีรสจืด เ่ช่น ปลาชะโด ปลาแมลภู่ ปลากั้ง และปลาหนังตัวเล็กที่ไม่ค่อยจะมีเนื้อ เช่น ปลากดหมู หรือจะใช้กบเขียดตัวเล็กๆก็ได้ ไม่ผิดกติกา เหตุที่ไม่ใช้ปลาที่กินอร่อยชนิดอื่นๆมาทำก็เพราะ ปลาพวกนั้นมีค่าพอที่จะเอาไปทำอาหารชนิดอื่นๆที่ได้รสชาติมากกว่า
 
พอน้ำเดือดพล่าน ก็ค่อยๆหย่อนปลาลงทีละชิ้น เพื่อไม่ให้คาว พอเนื้อปลาเริ่มสุกดี ก็เติมเกลือให้ออกรสเค็ม แล้วค่อยๆเอาน้ำมะขามเปียกใส่ลงไปจนรู้สึกออกรสเปรี้ยวเหมือนต้มยำ คราวนี้เราก็ได้ต้มที่เหมือนกับต้มยำแล้ว

ในระหว่างทำแกง ก็เอาหอมแดงสัก 4-5 หัว กระเทียมสัก 2 หัว หมกใต้เตาให้สุกนิ่มและหอม เอาพริกแห้งเม็ดเล็กสัก 10 -15 เม็ดเสียบไม้ย่าง (เผา) ให้หอม พอใกล้จะเกรียมจัดๆมันจะขับน้ำมันพริกออกมาด้วย เอากะปิประมาณหนึ่งช้อนกินข้้่าวห่อใบตองย่างหรือหมกไฟให้สุก เอาละครับ เอาพริกเผาใส่ครก โขลกให้เป็นพริกป่นหยาบๆ ปอกเปลือกหอม กระเทียม ใส่ครก โขลกรวมกันให้แหลกแต่ไม่ต้องละเอียดมากนัก ใส่กะปิที่เผาลงไป โขลกให้เข้ากัน ตักออกพักใว้ในถ้วย

ถึงเวลากินแล้ว   ตักแกงออกมาใส่ถ้วยแกง แบ่งเอาน้ำพริกที่ตำละลายในชามแกง ชิมรสดูว่า OK ก็กินได้เลย เริ่มกระบวนการน้ำหมดก่อนเนื้อแล้วครับ
จะให้แซบมากกว่านั้นก็ได้ เอาชามแกงมาเหยาะน้ำปลาใส่ลงไป ทุบพริกขี้หนูใส่ลงไป แล้วบีบมะนาวสักครึ่งลูกลงไป จากนั้นจึงเอาน้ำแกงร้อนๆใส่ลงไป แล้วก็ละลายนำ้พริกลงไป จะยิ่งแซบเหลือหลายเลยครับ

กินต้มนี้แล้วเช้าถ่ายสะบาย เนื่องจากมีมะขามเปียก ไม่ใช่ท้องเสีย เนื่องจากทุกอย่างสุกอย่างแท้จริงจริงๆ    
  


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 30 มี.ค. 12, 19:40
พุดแล้วก็นึกถึงดอกข่า ต้นข่านั้นหากปลูกในที่โล่ง มีแดดมาก พอมันแก่เข้าก็จะออกดอกเป็นช่อสีขาวยาวประมาณครึ่งศอก  จะกินสดก็ได้ กินแบบต้มสุกก็ได้ กินกับลาบก็ได้ กินกับน้ำพริกก็ได้ อร่อยทั้งนั้นเลย ได้รสชาติซ่าๆลเ็กน้อยแต่หอม หากพบในตลาดนะครับ ซื้อมาลองเด็ดทีละดอกกินกับลาบ จะเป็นลาบอีสานก็ได้ แต่ดูจะเหมาะกับลาบคั่วทางเหนือมากกว่า  

หาภาพดอกข่ามาให้ดูค่ะ แต่ไม่เคยทาน แบบนี้ใช่ที่คุณตั้งพูดถึงใช่ไหมคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 30 มี.ค. 12, 19:42
ภาพดอกข่าไม่ไป ...ขอส่งใหม่ค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: atsk ที่ 02 เม.ย. 12, 16:06
ไข่นกการเวกนี้ เรียกกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

เมื่อทรงส่งตุ้มหูไข่นกการเวกพระราชทานเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ  ก็พระราชทานแก่เจ้าจอมเอิบด้วย ๑ คู่
“ตุ้มหูคู่หนึ่งเปนไข่นกการเวกเหมือนกัน ฉันได้ซื้อที่เมืองนีศส่งทางไปรสนีย์ให้สดับ.. ...ฉันได้ส่งไปอีกคู่ ๑ สำหรับให้เอิบจากปารีสรวมเป็นสองคู่ด้วยกัน”


ฝรั่งว่า turquoise ที่ดีต้องเป็น สีไข่นกโรบิน (http://en.wikipedia.org/wiki/Robin_egg_blue)

ไข่นกออกฟ้าอมเขียวมีแน่ ๆ

แต่ขี้นกสีนี้ยังไม่เคยเห็น




 ไข่นกสีนี้ ในบ้านเราก็มีจริงๆครับ  คือ ไข่ของนกเอี้ยงสาริกา  ที่เราเห็นกันทั่วไปครับ   สมัยเด็กๆชอบปีนต้นตาลไปขโมยลูกนกเอี้ยงมาเลี้ยง  บางทีขึ้นไปก็เจอรังนึงมีลูกนก  อีกรังนึงมีแต่ไข่ สีฟ้าสวยแบบนี้เลยครับ
 ;D




กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: atsk ที่ 02 เม.ย. 12, 16:17
ของกินเล่นอีกอย่างหนึ่ง คือ ลูกมะคอแลน เป็นผลไม้ที่มีสีและผิวคล้ายลูกลิ้นจี้ แต่รูปทรงจะคล้ายลูกหนำเลี้ยบหรือลูกรักบี้ ขนาดของลูกไม่ใหญ่ไปกว่าหัวแม่มือ ปกติจะมีรสเปรี้ยว แต่ก็เคยพบที่ออกรสหวาน ซึ่งเคยพบอยู่เพียงต้นเดียว อยู่บนเขาสูงบริเวณรอยต่อระหว่าง จ.อุตรดิตถ์ สุโขทัย และแพร่ เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ประมาณสองคนโอบจึงจะรอบ ปกติที่พบเห็นจะไม่ใหญ่ขนาดนี้ ต้นมะคอแลนนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นไม้ที่พบเฉพาะในภาคเหนือและอีสาน เพราะไม่เคยเห็นในป่าที่อื่นๆ

คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%99) บอกว่า คอแลน Nephelium hypoleucum พบภาคใต้ด้วยเรียกว่า  คอลัง (อีสานเรียก บักแงว)

ภาพประกอบ

 ;D



คอแลน  หรือ บักแงว  ในภาษาอีสานที่บ้านผมที่ร้อยเอ็ดมีเยอะครับมีทั้งต้นหวานต้นเปรี้ยว ที่เรียกว่าคอแลนนั้นเนื่องมาจากผิวของผลมีลักษณะคล้านผิวหนังที่คอของแลน(ตะกวด) ซึ่งเป็นตะปุ่มตะป่ำคล้ายผิวของลิ้นจี้ บางคนจึงเรียกลิ้นจี่ป่าครับ

แต่ถ้าได้ลองกินแล้วจะทราบว่า ไม่คล้ายลิ้นจี่เพราะเมล็ดของคอแลนหรือบักแงวจะคล้ายเมล็ดเงาะ  เนื้อเกาะกับเมล็ดก็คล้ายเงาะ   ไม่ใช่เมล็ดดำๆล่อนๆเป็นมันเหมือนลิ้นจี่ครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: atsk ที่ 02 เม.ย. 12, 16:31
พบผลไม้อีกอย่างหนึ่ง ลูกกลมๆสีออกแดงๆ ผ่าออกมามีใส้่เป็นรูปห้าแฉก ก็เลยเรียกว่า star apple จนวันนี้ยังไม่ทราบเลยว่าชื่อจริงๆคือลูกอะไร

เห็นเขาเรียกกันว่า สตาร์แอปเปิ้ล Chrysophyllum cainito (http://en.wikipedia.org/wiki/Chrysophyllum_cainito)

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/2/22/Star_Apple_%28Kaimito%29.jpg/640px-Star_Apple_%28Kaimito%29.jpg)

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/e/ea/Chrysophyllum_cainito0.jpg/640px-Chrysophyllum_cainito0.jpg)

บางทีก็เรียก แอปเปิ้ลเมือง   ;D



สตาร์แอปเปิ้ล  หรือ แอปเปิ้ลเมือง ในภาษาเหนือ   คือ บักน้ำนม   หรือ บักยางต้น  ในภาษาอีสานครับ   ผลดิบสีเขียว  ผลสุกสีม่วงเข้ม  วิธีกินปอกเปลือกออกกินได้เลยครับรสหวาน หอม  ที่บ้านผมก็มีคุณปู่คุณย่าปลูกไว้หลายต้นครับ  ในกทมก็เห็นมีปลูกอยู่หลายที่ครับ    ด้านบนของใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างของใบสีน้ำตาล  เห็นทีเดียวจำได้เลย

(http://image.ohozaa.com/i/396/ehL5Dp.jpg)


นี่ใบครับ

(http://image.ohozaa.com/i/665/PpCP2k.jpg)

ผลสุกครับ  กำลังเริ่มสุก ถ้าสุกงอมมากๆจะสีม่วงเข้ม

(http://image.ohozaa.com/i/571/xPI74E.jpg)


เนื้อในครับ  หวาน หอมมาก

(http://image.ohozaa.com/i/d6b/TJHL2I.jpg)





กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 02 เม.ย. 12, 17:19
เห็นภาพสตาร์แอปเปิ้ล ทั้งต้นแล้วก็นึกได้ว่าเคยเห็นที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่เขาใหญ่

ลักษณะใบที่สะท้อนแสงเป็นสีทอง ครั้งนั้นยังติดอยู่ในความทรงจำ ถ้ามีที่กว้างๆก็น่าปลูกนะคะ

ดูเหมือนว่าต้นมีทรงพุ่มขนาดใหญ่มาก


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 เม.ย. 12, 21:27
สตาร์แอปเปิ้ล แอปเปิ้ลเมือง บะน้ำนม หรือบักยางต้น จะชื่ออะไรก็ตาม เช่นเดียวกับมะคอแลน คอแลน หรือบักแงว น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า มันเป็นไม้มีถิ่นอยู่นอกภาคกลาง เราอาจจะส่งเสริมให้มันเป็นผลไม้ประเภทแปลกที่น่าชวนชิมได้ (Exotic fruit) หรือพยายามปรับปรุงพันธุ์ให้มันน่ากินกว่านี้อีก หรือแม้กระทั่งการแปรสภาพไปเป็นอย่างอื่นๆที่กินได้อร่อย ไม่ทราบว่านักวิชาการเกษตรของเราได้ให้ความสนใจบ้างหรือไม่ หรือสนใจแต่เอาผลไม้จากถิ่นกำเนิดต่างประเทศมาปรับให้ปลูกได้เป็นสินค้าส่งออกเพียงประการเดียว

มะ่ม่วงพื้นบ้านหลายพันธุ์ที่มีความหอมอร่อย ก็ถูกลืมไปมาก เช่น มะม่วงยายกล่ำ มะม่วงแก้วไทย (กำลังถูกกลืนด้วยแก้วอินเดีย) และอกร่องซึ่งร่องอกหายไปแล้ว
ฝรั่งไทย กำลังถูกกลืนไปหมดด้วยพันธุ์ชื่อใหมๆ ในขณะที่เม็กซิโกกำลังนำฝรั่งพันธุ์ลักษณะกลิ่นแบบไทยออกสู่ตลาดโลก
มะปรางไทย (มะยงห่าง???) ถูกจำกัดวงไปเป็นผลไม้เพื่อใช้ในการปรับรสซอสมะเขือเทศ
กล้วยต่างๆก็ถูกหลงลืมและค้นคว้าพัฒนา เราพยายามทำเรื่องกล้อยหอมไปแข่งกับประเทศอื่น ในขณะที่เรามีกล้วยพันธุ์อื่นๆที่ประเทศอื่นเขาไม่มีหรือมีแต่ไม่ดีและไม่กินกัน กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก กล้วยเล็บมือนาง กล้วยนาค และแม้กระทั่งกล้วยหอมเขียวซึ่งหอมกว่าหอมทองเสียอีก ฯลฯ แต่ละชนิดก็เหมาะสำหรับเอามาแปรไปเป็นของกินต่างๆที่อร่อยได้ไม่เหมือนกัน 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 เม.ย. 12, 21:36
พูดถึงต้มขมุโดยใช้ปลา ที่จริงแล้วเราจะต้มโดยใช้กบ หรือไก่ก็ได้ สำหรับเครื่องแกงพื้นฐาน (ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด) นั้น เราจะเพิ่มกระชายบุบลงไปสัก 2-3 รากก็ได้ (ปกติผมจะใส่กัน) แต่หากไม่ชอบกลิ่นก็ไม่ต้องใส่ กระชายกับกะปิเข้ากันได้อย่างดีนะครับ ดูแต่เครื่องข้าวแช่ที่มีกะปิทอดซิครับ ยังใช้กระชายสับกับกะปิแล้วปั้นเป็นก้อนกลมๆชุบไข่ทอดในน้ำมัน

รู้ว่าต้มอย่างไรแล้ว คราวนี้ก็ต้องไปหาปลา  วิธีหาปลาในห้วยของผมมีอยู่ 2 วิธี วิธีแรก คือการฟันปลา ผมใช้วิธีนี้กับน้ำที่ลึกไม่เกินเข่า และวิธีที่สอง คือการดักด้วยตะครัด (ตาข่าย) วิธีนี้ใช้ในบริเวณที่น้ำที่ลึกถึงระดับอกหรือคอ เบ็ดก็พกพาไปแต่เกือบจะไม่ได้ใช้เลย

การฟันปลานั้นจะทำในตอนกลางคืน เมื่อมืดค่ำแล้ว คือประมาณ 2 ทุ่มขึ้นไป และทำในบริเวณที่น้ำห้วยค่อนข้างใส อุปกรณ์สำคัญได้แก่ มีดที่ใช้ฟันไม้ ไฟฉายหรือตะเกียงเจ้าพายุ และถังสำหรับใส่ปลา วิธีการคือ สองคนช่วยกัน คนหนึ่งถือไฟฉายกับมีด อีกคนถือไฟฉายกับถัง ค่อยๆเดินลุยทวนน้ำไปเบาๆ ใช้ไฟฉายส่องดูปลา ในขณะที่ท่องน้ำไปก็เอามีดราอยู่ใต้น้ำไปด้วย จะพบปลาจะลอยอยู่นิ่งๆแม้ครีบจะโบกไปมา ปลามันหลับครับ ค่อยๆฟันมันไปทีละตัว ค่อยๆจับไปทีละตัว พักเดียวแหละครับ ได้สำหรับพอกินไปสักสามมื้อสบายๆ (มากกว่าครึ่งถัง) ง่ายไหมครับ ชาวบ้านกะเหรี่ยงก็ใช้วิธีฟันปลาเหมือนกัน โดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นคบเพลิง แต่เดินเลาะตามชายน้ำ วิธีการนี้ได้ปลาจำนวนน้อย เพราะมีปลาไม่กี่ชนิดที่จะมาลอยนอนอยู่ใกล้ชายน้ำ

การใช้ตะครัดขึงขวางลำห้วยนั้นจะทำกันในช่วงกลางวัน ตาข่ายที่ผมใช้มีขนาดของช่อง (มุมทะแยง) ประมาณ 2 นิ้วมือ ซึ่งจะจับได้ปลาตัวขนาดประมาณฝ่ามือ ตะครัดนี้เหมาะที่จะใช้บริเวณที่น้ำไหลไม่แรง ก็คือบริเวณที่เป็นแอ่ง (มิฉะนั้นจะต้องถ่วงที่ปลายตีนให้หนักเพื่อให้แผงตาข่ายตั้งตรงถึงพื้น) ผมใช้วิธีการหาปลาหาอาหารแบบนี้เมื่อหยุดพักการเดินจากลักษณะที่ต้องย้ายแคมป์ทุกวัน เลือกหาที่เหมาะๆเพื่อจะได้อาบน้ำ สระผม ซักเสื้อผ้าสักหนึ่งวัน  เพื่อทบทวนข้อมูลทางวิชาการที่ได้มา จัดแยกและรวมตัวอย่างหินและฟอสซิลที่ได้มาให้เป็นระเบียบ เพื่อวางแผนต่อไปว่าจะเดินต่อไปในทิศทางใดเพื่อสำรวจหาข้อมูลที่ยังยังขาดหรือยังจะต้องหาข้อมูลใดที่สำคัญเพิ่มเติมอีกในเส้นทางใด และตำแหน่งแห่งหนใด    
ในป่านั้น อากาศจะเย็นกว่าในเมืองมาก แม้กระทั่งในเดือนเมษายน    เมื่อพระอาทิตย์ลับขอบเขา (ประมาณบ่าย 3 โมง) จะเริ่มรู้สึกเย็นลงในทันที เมื่อหยุดทำงานเริ่มตั้งแคมป์ก็ประมาณ 4 โมงเย็น กว่าแคมป์จะเข้ารูปร่าง กว่าจะช่วยกันรื้อของตั้งครัวได้ก็เกือบ 5 โมงเย็น อาบน้ำไม่ไหวแล้ว เย็นเกินไปที่จะทำให้ไม่สบาย เช้าเริ่มออกเดินก็ประมาณ 8 โมง ก็อาบน้ำไม่ไหวอีก   ก็เลยเกือบจะเป็นปรกติที่  4 - 7 วันอาบน้ำหนเดียว เสื้อผ้าที่เอาไปกันก็ไม่มากด้วยข้อจำกัดทางน้ำหนัก สำหรับผมก็กางเกงสามตัว เสื้อสามตัว เสื้อกล้ามสามตัว เสื้อหนาวหนึ่งตัว ผ้าขาวม้า โสร่ง  ผ้าเช็ดตัว แรกๆก็มีกางเกงในด้วย ต่อๆไปก็ไม่มี ถุงเท้าไม่ใช้ รองเท้าไม่ใช้ ใช้แต่รองเท้าแตะ ใส่เสื้อกันจนเกิดเป็นแผนที่บนแผ่นหลังเสื้อจากคราบเหงื่อ เนื้อหนังของตัวเองบางครั้งก็เป็นวงๆสีแดง (เกลื้อน)  เมื่อได้สถานที่เหมาะๆจึงต้องหยุดเพื่อเพื่อการรักษาสุขอนามัยบ้าง เวลาอาบน้ำที่เหมาะคือประมาณ 9 โมงเช้า แม้อากาศจะเย็นแต่ก็จะรู้สึกว่าน้ำในห้วยนั้นอุ่น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงหาปลาด้วยตะครัด
เคยพบแอ่งน้ำที่มีปลาสี่ชนิดว่ายสวนกันไปมาเป็นสี่ระดับชั้นในห้วยขาแข้ง ลงตะครัดสองครั้ง ได้ปลามาเกือบ 100 ตัว ปลดปลากันแทบไม่ทัน แช่อยู่ในน้ำจนปากเขียวเลยต้องเลิก ผมปลดปลาจากตาข่ายได้ครั้งละหนึ่งตัว แต่คนในคณะของผมซึ่งเป็นอดีตทหารในหน่วยนาวิกโยธิน ปลดได้ครั้งละสามตัว ตัวหนึ่งคาบอยู่ในปาก ปลาที่ได้มากขนาดนี้ ก็คือเสบียงสะสม จะได้ไม่ต้องพะวงคอยหาอาหารประจำวัน ปรกติอีกเช่นกัน ผมจะเดินทำงานตั้งแต่เช้าให้ความสนใจไปในเรื่องของงานไปจนประมาณบ่าย 3 โมงเย็น จึงจะเริ่มให้ความสนใจในการหาอาหารตามเส้นทางเดินไปยังแคมป์ที่นัดไปเจอกันในตอนเย็น เชื่อไหมครับ ป่าไม่เคยให้ผมต้องขาดอาหารสักมื้อหนึ่ง ไม่เคยให้ผมหลงป่าอย่างชนิดหลงจริงๆ ทำให้ผมรอดตายมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้ผมได้ช่วยชีวิตคนที่แทบจะไม่มีทางรอด ทำให้ได้ช่วยคนให้พลิกฟื้นจากสถานะจนตรอกไปสู่สถานะอยู่รอด  
สิ่งเดียวที่ผมยึดมั่นและได้ช่วยพลิกผันสถานการณ์ต่างๆจากร้ายสุดมาเป็นดี ก็คือ ความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจมาตลอดว่า เมื่อใดที่เราทำงานตามภารกิจหน้าที่อย่างเต็มที่ อย่างเต็มใจและด้วยจิตใจอย่างสมบูรณ์ ทำให้กับแผ่นดิน ทำให้เป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวม ไม่คิดคดโกง ไม่คิดฉ้อฉล ไม่คิดเอาเปรียบ เมื่อนั้นภยันตรายต่างๆก็จะไม่เยือนและบรรเทาลงไป


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 12, 10:56
ตามอ่านเป็นประจำค่ะ
ยิ่งเล่า ยิ่งมีเรื่องอยากให้ซักถามมากขึ้น แต่รอไว้เล่าเรื่องอาหารป่าให้จบก่อนดีกว่า
ชีวิตในป่าที่เป็นเรื่องจริง แตกต่างจากนิยายมาก


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 เม.ย. 12, 21:34
ปลาที่ได้มามากทำอะไรกินกันดี
ส่วนหนึ่ง แล่แล้วใช้ตอกเสียบแขวนตากให้แห้ง
อีกส่วนหนึ่ง ย่างมอญ คือเสียบไม้ปักใว้รอบกองไฟ ย่างให้สุก
อีกส่วนหนึ่ง ทำลาบหรือพร่า (เรียกไม่ถูกครับ)
และส่วนของตับไตใส้พุงเอามาทำน้ำพริก

ปลาทั้งหมดเป็นปลาเกล็ด ปลาในห้วยส่วนมากจะเป็นปลากินพืช ดังนั้นจึงต้องขอดเกล็ดเสียก่อน ผ่าท้องเอาตับไตใส้พุงมารวมกันไว้ ผ่าครึ่งจากสันหลังถึงท้อง แผ่ออกใสกะละมัง ใส่เกลือคลุกให้เข้ากันดี แล้วใช้ตอกเสียบแขวนกับราวไม้ไผ่ ก็ไม่แห้งขนาดเป็นปลาแดดเดียวหรอก เพียงแต่หมาดๆก็พอแล้ว เพราะมีเวลาชั่วบ่ายกับข้ามคืนเท่านั้น รุ่งขึ้นเช้าก็ต้องย้ายแคมป์เดินอีกแล้ว เสื้อผ้าและอาหารทุกอย่างก็จัดได้ว่าพอแห้งเท่านั้น วันรุ่งขึ้นก็เดินให้น้อยลงหน่อย ตั้งแคมป์ให้เร็วขึ้นหย่อย เพื่อจะได้เอาทุกอย่างมาตากให้แห้งให้สนิทจริงๆ ความแห้งจึงเป็นแบบความแห้งจากลม มิใช่จากแสงแดดเท่าไดนัก ความแห้งแบบนี้จะเป็นแห้งแบบมีกลิ่นครับ เมื่อทุกคนและทุกอย่างมีกลิ่นเหมือนๆกัน ก็โทษใครไม่ได้ จมูกก็ชินกลิ่นกันไปเอง เรียกว่าทั้งคณะมีกลิ่นฉุนทีเดียว

ครั้งหนึ่งผมเดินแบบจ้างช้างขนของต่อเนื่องกันประมาณ 20 วัน เคยถูก สตง.ถามว่าไม่หยุดพักกันบ้างหรือไร ผมตอบไปว่าก็หยุดซักผ้าผ่อนเป็นระยะ เขาก็ถามว่าเมื่อหยุดไม่ทำงาน ก็ต้องไม่มีการเสียค่าจ้างช้างซิ ผมก็ชี้แจงไปว่า ช้างมันมิใช่รถแทกซี่ที่จะเรียกใช้เมื่อใดก็ได้ เดินเข้าป่าลึกอย่างนั้น กว่าจะเจรจาจ้างได้ก็แย่แล้ว พวกช้างเขาก็กลัวที่จะเข้าป่าลึกๆเหมือนกัน แม้จะคิดราคาเบิกจ่ายเป็นรายวัน แต่แท้จริงแล้วก็เป็นการเช่าเหมาในลักษณะหนึ่ง หากเป็นการจ้างรายวันจริงๆแล้วเขาหันหลังกลับทิ้งเราไว้กลางป่าแล้วจะทำอย่างไร เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว พอเดินลึกเข้าไปมากๆเขาก็จะกลับท่าเดียว และขอต่อรองเพิ่มค่าจ้างช้างแทบจะทุกวัน เขาก็ห่วงช้างว่าจะถูกเสือเล่นงานเอาเมื่อปล่อยให้หากินหลังเลิกงาน ก็เลยเข้าใจกัน

เอาน้ำพริกตับไตใส้พุงปลานะครับ    ทำง่ายๆ เอาพริกที่มี สดหรือแห้งก็ได้ โขลกกับกระเทียม กะว่าให้ออกรสจัดจ้าน ใส่น้ำมันในกระทะเจียวให้หอม เิอาเครื่องในปลาที่ล้างสะอาดแล้วใส่ลงไปผัด ใส่เกลือ ใส่น้ำปลาให้ชูกลิ่น ใส่น้ำตาลปึกเล็กน้อย ผัดให้สุกจริงๆ ซึ่งจะเละเป็นเนื้อเดียวกัน เท่านั้นเองครับ กินกับผักที่หาได้ คลุกข้าวก็อร่อย น้ำพริกจะออกรสขมนิดๆเนื่องจากมีดีปลาผสมอยู่ด้วย

มีข้อควรคำนึงและต้องปฏิบัติที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ การทำอาหารทุกอย่างที่ใช้สัตว์น้ำจืด จะต้องสุกจริงๆ เพื่อฆ่าพยาธิและ Parasite ต่างๆที่อาศัยอยู่ในเนื้อสัตว์เหล่านั้น   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 03 เม.ย. 12, 22:56
อาจจะนอกเรื่องไปนิดแต่ ขออนุญาตถามหน่อยนะคะ  สงสัยจริงๆ

ที่คุณตั้งบอกว่า ปลาน้ำจืดต้องทำให้สุกจริงๆเพราะอาจมีพยาธิและอื่นๆ

ที่สงสัยคือปลาดิบที่เอามาทำอาหารญี่ปุ่นขายกันเกลื่อนในเมืองไทยอยู่ขณะนี้

จะมีอะไรปนเปื้อนที่ต้องระวังไหมคะ ... (ทานได้ปลอดภัยเหมือนที่ญี่ปุ่นไหมคะ)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 12, 06:32
ที่มีรายงานคือ พยาธิอนิสซาคิส Anisakis (http://en.wikipedia.org/wiki/Anisakis)   

ถ้าคนกินปลาดิบที่มีการติดเชื้อนี้เข้าไป ก็จะได้รับตัวอ่อนของเชื้อนี้ เข้าไปฝังตัวในกระเพาะอาหาร

อาการที่สำคัญคือ อาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้อาเจียนและท้องเสีย บางรายอาจถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด ซึ่งอาการปวดท้องบางครั้ง อาจจะวินิจฉัยผิดพลาด เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือไส้ติ่งอักเสบก็ได้

ในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อพยาธิชนิดนี้ และพยาธิชนิดนี้ ก็เป็นพยาธิในเมืองหนาวเท่านั้น กรณีปลานำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าได้รับการแช่แข็งที่ถูกต้อง ก็น่าจะปลอดพยาธิดังกล่าว

ข้อมูลจาก http://www.thaiclinic.com/medbible/sushiparasite.html

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/1c/Anisakiasis_01.png/457px-Anisakiasis_01.png)

 ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 12, 09:21
อาหารป่าของคุณตั้ง มีผัก ปลา และสัตว์เล็กๆยืนพื้น    นอกจากนั้นก็ผลไม้ป่า
นึกได้อีกอย่างคือเห็ด    ไม่ทราบว่าในป่ามีเห็ดอะไรบ้าง
เวลานักธรณีวิทยาเข้าป่า   เก็บเห็ดมากินกันสดๆ หรือปรุงให้สุกบ้างหรือเปล่าคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 12, 15:26
....ที่คุณตั้งบอกว่า ปลาน้ำจืดต้องทำให้สุกจริงๆเพราะอาจมีพยาธิและอื่นๆ ที่สงสัยคือปลาดิบที่เอามาทำอาหารญี่ปุ่นขายกันเกลื่อนในเมืองไทยอยู่ขณะนี้
จะมีอะไรปนเปื้อนที่ต้องระวังไหมคะ ... (ทานได้ปลอดภัยเหมือนที่ญี่ปุ่นไหมคะ)

   
.....กรณีปลานำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าได้รับการแช่แข็งที่ถูกต้อง ก็น่าจะปลอดพยาธิดังกล่าว

ปลาดิบที่ญี่ปุ่นเขากินกันนั้น ทั้งหมดจะเป็นปลาทะเล มีน้อยมากๆที่จะใช้ปลาน้ำจืด (ซึ่งจะเป็นการทำกินกันเองเฉพาะที่บ้าน กินกันในครอบครัว)
สำหรับปลาดิบที่ทำขายกันในภัตตาคารนั้น คงจะจะแนกได้เป็น 2 แบบ คือ พวกที่แช่แข็งมาแล้ว กับพวกที่สดจริงๆ

สำหรับพวกที่แช่แข็งนั้น คนญี่ปุ่นบอกผมเช่นนี้ครับ เขามีอุณหภูมิกำหนดไว้แน่นอน ผมจำไม่ได้ว่าเท่าใด (คิดว่า -53 องศา) และจะต้องกี่วันด้วย (จำนวนวันนี้นึกไม่ออกจริงๆ) การแช่แข็งในอุณหภูมิและในระยะเวลที่กำหนดจะทำให้เชื้อโรคต่างๆตายสนิท แล้วยังเป็นการบ่ม (Marinate) ด้วยของเหลวในเนื้อปลาเอง ทำให้เนื้อปลามี texture และรสชาติที่ดีมากขึ้นด้วย

สำหรับพวกที่สดจริงๆนั้น มีราคาแพงมาก เนื่องจากไม่ทำจากปลาที่ตายแล้ว แต่จะทำจากปลาที่เป็นๆ จับมาเลาะมาทำในขณะที่มันยังมีชีวิตอยู่ (ความแตกต่างระหว่างคำว่า ดิบ กับคำว่า สด ก็คงจะเป็นในลักษณะดังกล่าวนี้) ส่วนเรื่องจะมีอันตรายจากพยาธิเพียงใดนั้น ผมไม่ทราบ เคยทราบแต่ว่าสัตว์ทะเลพวกที่ว่ายไปมา (Pelagic life) นั้นเกือบจะไม่มีพยาธิใดๆที่เป็นอันตราย ซึ่งจะแตกต่างไปจากพวกที่หากินกับพื้นโคลน (Benthos)

คนญี่ปุ่นเขาเชื่อว่า วาซาบิช่วยฆ่าเชื้อโรคต่างๆ เขาว่ากินแบบที่คนไทยชอบกัน (คือจิ้มชิ้นเนื้อแบบคลุกในวาซาบิที่ละลายในซีอิ๊วนั้น) ไม่ช่วยอะไรเลย วิธีการที่ถูกต้อง คือ เอาวาซาบิวางไว้ในถ้วยน้ำจิ้มที่ใส่ซีอิ๊ว เอาเนื้อปาดผ่านก้อนวาซาบิลงไปในน้ำซีอิ๊ว เท่านี้จึงจะเป็นการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ

เรื่องอาหารของญี่ปุ่นนี้ คงจะเป็นเรื่องสั้นๆที่จะเล่าสู่กันฟังในอีกกระทู้หนึ่งครับ   



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 12, 15:40
สำหรับพวกที่แช่แข็งนั้น คนญี่ปุ่นบอกผมเช่นนี้ครับ เขามีอุณหภูมิกำหนดไว้แน่นอน ผมจำไม่ได้ว่าเท่าใด (คิดว่า -53 องศา) และจะต้องกี่วันด้วย (จำนวนวันนี้นึกไม่ออกจริงๆ) การแช่แข็งในอุณหภูมิและในระยะเวลที่กำหนดจะทำให้เชื้อโรคต่างๆตายสนิท แล้วยังเป็นการบ่ม (Marinate) ด้วยของเหลวในเนื้อปลาเอง ทำให้เนื้อปลามี texture และรสชาติที่ดีมากขึ้นด้วย

คำแนะนำขององค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ในกรณีที่จะต้องกินปลาทะเล ถ้าจะทำกึ่งสุก เช่นลวก ควรทำที่อุณหภูมิอย่างน้อย ๖๐ องศาเซลเซียส อย่างน้อย ๕ นาที แต่ถ้าต้องกินปลาดิบ เนื้อปลานั้นควรจะได้รับการเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง คือต่ำกว่า - ๓๕ องศาเซลเซียส อย่างน้อย ๑๕ ชั่วโมง หรือต่ำกว่า - ๒๐ องศาเซลเซียส อย่างน้อย ๗ วัน

ข้อมูลนี้มีอยู่ในลิ้งก์ที่อ้างไว้ข้างบน

 ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 04 เม.ย. 12, 15:52
ขอบคุณ คุณเพ็ญชมพู และคุณตั้งสำหรับคำตอบค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 12, 16:26
อาหารป่าของคุณตั้ง มีผัก ปลา และสัตว์เล็กๆยืนพื้น    นอกจากนั้นก็ผลไม้ป่า
นึกได้อีกอย่างคือเห็ด    ไม่ทราบว่าในป่ามีเห็ดอะไรบ้าง
เวลานักธรณีวิทยาเข้าป่า   เก็บเห็ดมากินกันสดๆ หรือปรุงให้สุกบ้างหรือเปล่าคะ

เห็ดในป่านั้น ผมไม่นิยมเก็บมากิน แม้ว่าชาวบ้านจะบอกว่ากินได้ ผมไม่ได้ค้นคว้าศึกษามากพอที่จะจำแนกเห็ดที่อันตรายออกไปด้วยตนเองได้ อีกประการหนึ่ง สารพิษบางอย่างในเห็ดจะสะสมอยู่ในร่างกาย เมื่อถึงระดับหนึ่งก็จะทำอันตรายได้ถึงชีวิต (เคยทราบว่าเห็ดบางชนิดในยุโรป กินได้สองครั้งในชีวิตเท่านั้น ครั้งที่สามคือตาย)

เห็ดที่ผมเก็บกินมีอยู่ สองชนิดเท่านั้น คือเห็ดลมหรือเห็ดกระด้าง ขึ้นอยู่ตามขอนไม้ หากแก่จัดๆก็จะเหนียวเหมือนเคี้ยวเชือกหนังยังไงยังงั้น เห็ดอีกอย่าง ก็คือเห็ดโคน ซึ่งสังเกตได้ง่าย เกิดอยู่เป็นวงขนาดประมาณ 1 เมตร เมื่อเห็ดโคนบาน จะมีนกกะรางหัวหงอก เป็นฝูงเล็กๆบินลงไปคลุกตีหมวกเห็ดให้แหลก ร้องกันเจี๊ยวจ๊าวดังลั่นไปหมด ผมก็ไม่ทราบว่ามันโกรธเคืองกันมาตั้งแต่เมื่อใด   ซึ่งแม้กระนั้นก็ตาม ผมก็จะไม่เป็นคนแรกที่ตักเห็ดที่ต้มแล้วหรือผัดแล้วมากิน จะดูก่อนว่า คนแรกที่กินจะมีอาการเมาใหม สักพักหนึ่งเมื่อคะเนดูว่าน่าจะปลอดภัยดีแล้วจึงจะกิน หรือไม่ก็ข้ามไปอีกมื้อหนึ่งเลย

เห็ดลมไม่ได้มีความอร่อยอะไรเป็นพิเศษ มักนำมาเป็นเครื่องปรุงในลักษณะเพิ่มปริมาณอาหารในส่วนที่เป็นเนื้อเพื่อการขบเคี้ยวครับ ส่วนเห็ดโคนนั้น นำมาต้มจืดหรือต้มยำดูจะเหมาะสมที่สุด แม้ว่าจะสามารถนำมาผัดหรือยำได้ก็ตาม (กลัวเรื่องมีพิษครับ)

เห็ดในป่ามีอยู่มากมาย บางชนิดก็ขึ้นอยู่กับขอนไม้ที่ล้ม บางชนิดก็ขึ้นอยู่ตามโคนต้นไม้ บางชนิดก็โผล่มาจากดิน จะจำแนกว่าพวกที่ขึ้นแบบใหนกินได้หรือไม่ได้ก็ไม่มีกฏที่ชัดเจน  เห็ดบางอย่าง เช่น เห็ดร่างแห (มีตาข่ายคลุมดอกเห็ด) ก็ดูจะมีบางชนิดกินได้บางชนิดก็มีพิษ เห็ดตับเต่า เห็ดไข่ ผมก็เห็นว่ามันเหมือนๆกับเห็ดชนิดอื่นๆ ผมแยกไม่ออกว่าอะไรกินไม่ได้บ้าง เห็ดหูหนูก็มี แต่ภูมิปัญญาชาวบ้านบอกว่า เห็ดหูหนูนั้นหากขึ้นกับไม้มะกอกกินได้แน่ๆ หากขึ้นกับไม้สักห้ามกิน แล้วขึ้นกับไม้อื่นๆไม่บอก ไม้ล้มในป่ามันก็ผุทั้งนั้น แล้วเราก็ไม่เก่งฉกาดพอที่จะจำแนกได้ว่าเป็นต้นอะไร ก็เลยไม่เก็บกินครับ
 
การเก็บเห็ดในป่านั้นต่างกับที่เราเห็นชาวบ้านเขาเก็บมาขายกันครับ ประการแรก เห็ดมันเกิดอยู่ที่เดิมที่เคยพบ เคยนำมากินกันแล้วไม่มีพิษ และประการที่สอง ชาวบ้านเขาก็จะกลับไปเก็บที่เดิมทุกปี แล้วก็มักจะเป็นสถานที่ๆเก็บกินกันมาเป็นเวนานแล้ว แทบจะแบ่งแยกกันเลยว่าที่ใดเป็นของใคร แถมเก็บเป็นความลับอีกต่างหาก โดยเฉพาะในระดับชุมชน คือ ไม่ให้ชุมชนอื่นๆรู้    จึงเป็นการยากที่จะทราบว่า ที่บริเวณใดหรือสถานที่ใดในป่าลึกจริงๆนั้น เห็ดที่ขึ้นเป็นเห็ดที่กินได้หรือไม่ได้    


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 12, 19:01
เห็ดกระด้างหรือเห็ดลม    เห็ดร่างแห
เห็ดตับเต่า                 เห็ดไข่


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 12, 19:01
เห็ดยอดนิยม--->  เห็ดโคน


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 12, 19:16
ไปค้นเจอรูปเก่าๆครับ

นี่เป็นช้าง 2 ตัวที่ผมจ้างขนของในระหว่างเดินสำรวจในห้วยขาแข้ง
จะสังเกตเห็นรอยคราบน้ำที่ข้างตัวช้าง เป็นช่วงเวลาเช้ากำลังเก็บของย้ายแคมป์ เพื่อเดินต่อไป
จะสังเกตเห็นปี๊บใส่ของพวกเครื่องครัววางอยู่ ควาญช้างคนหนึ่งชื่อจำรูญ ต่อมาเป็นผู้ใหญ่บ้านนาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ อีกคนชื่อทุกกะโพ่
ทุกเช้าช้างจะต้องอาบน้ำลางฝุ่นล้างทรายออกจากผิวหนังให้สะอาด ก่อนที่จะใส่แหย่งเพื่อบรรทุกของ มิฉะนั้นทรายจะกัดผิวหนังเป็นแผล (http://)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 04 เม.ย. 12, 19:17
เคยไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่รัก นับถือกัน ที่ตาก พอดีเป็นช่วงที่มีเห็ดโคนออกมาวางขาย

เธอเล่าให้ฟังว่าถ้าอากาศร้อนจัดๆติดต่อกันสัก 2-3 วันแล้วมีฝนลงมา จากนั้นไม่นาน

ก็จะมีเห็ดโคนมาวางขาย เธอชวนให้ไปหาซื้อมาทำอาหารทานกัน ...แค่การซื้อก็น่าสนใจแล้ว

เพราะชาวบ้านจะเสื่อมาปูแล้วเอาเห็ดโคนที่เก็บมาได้ดูใหม่ๆ มาวางบนใบตอง เป็นกองเล็กๆ

กองหนึ่งพอทำอาหารได้สักมื้อหนึ่ง แล้วขายกันเป็นกองๆ....ไม่ได้ชั่งน้ำหนักเป็นเรื่องเป็นราว

ฝ่ายคนซื้อก็จะสอบถามราคา ถูกแพงแล้วแต่ฤดูกาลว่าจะมีเห็ดมากน้อยแค่ไหน

ขนาดดอกเห็ดอวบอ้วน หรือผอมยาว ราคาก็ต่างกันไป  ถ้าแถวนี้ยังไม่น่าสนใจ

คนซื้อก็จะตระเวณไปที่อื่น และอาจมีเจ้าประจำกัน ...ตอนนั้นรู้สึกว่าการหาซื้อเห็ดโคนดูเป็น

มหกรรมที่คึกคักกันมาก ...ซึ่งคนกรุงเทพไม่เคยเห็นว่าเห็ดจะทำให้คนวิ่งพล่านไปหมดได้ไง

ราคาตอนนั้นก็ประมาณก.ก.ละ 400 บาททีเดียว

   ถามเธอว่าทำไมแพงอย่างนี้เธอก็เล่าคล้ายที่คุณตั้งเล่านั่นแหละค่ะว่า หายากต้องคนชำนาญจึงจะหาเจอ

คล้ายๆการล่าหาสมบัติในดิน ยังไงยังงั้นเชียวค่ะ

  ทุกปีเธอจะทำเห็ดโคนดองน้ำปลา   ให้ญาติที่มาธุระในก.ท.ม.นำมาให้ถึงบ้านตลอด 20 กว่าปี

....เป็นน้ำใจไมตรีที่ไม่เคยลืมเลยค่ะ








กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 12, 19:27
ขอประทานโทษนะครับ ยังส่งไม่ไปจะลองใหม่ครับ(http://)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 12, 19:49
สภาพของผมเมื่อเดินทำงานในห้วยขาแข้งครั้งแรกๆ จะเห็นพกปืนอยู่ที่เอวเสมอ ปืนสั้นนี้ใช้กันคน มิใช่กันสัตว์  ใส่โสร่งเพราะกางเกงไม่แห้ง (http://)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 12, 19:53
อีกภาพหนึ่งครับ ทั้งสองภาพถ่ายช่วง 2514-15 (http://)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 12, 20:06
นึกถึงรพินทร์ ไพรวัลย์ นุ่งโสร่งขึ้นมาเลยค่ะ  :)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 12, 20:52
ขอถามคุณตั้ง ไพรวัลย์หน่อยได้ไหมว่าไม้ยาวๆที่ถืออยู่ทั้ง 2 รูป มีเอาไว้ทำอะไร  ต้องถือติดมืออยู่ตลอดเวลาเดินป่าหรือไม่


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 12, 21:37
ปรกติในเวลาทำงานจริงๆนั้นไม่ถือไม้อะไรหรอกครับ เกะกะเสียมากกว่า รูปที่ถ่ายนี้เป็นช่วงที่เดินยาวไปตามทางเดินป่าของกะเหรี่ยงตามห้วยองค์ทั่ง ไม่มีหินอะไรโผล่ให้ดู ให้ศึกษาและเก็บตัวอย่าง ก็เลยเก็บอุปกรณ์การทำงาน คนงานที่จ้างเขาอาสาแบกให้ ผมก็เลยหาไม้ไผ่มาถือเป็นไม้เท้าเล่นๆ แต่ก็ไม่ใช่ทำเล่นๆจริง เพราะใช้เขี่ยใบไม้ใบหญ้า ไล่งู ไล่แมลง และใช้กันเถาไม้เลื้อยที่เป็นหนาม สำหรับหมวกก็เช่นกัน ตามปรกติจะไม่ใส่เพราะว่ามันคอยจะเกี่ยวหนามเกี่ยวกิ่งไม้เวลาเดิน ต้องคอยจับ หยิบใส่หยิบออกน่ารำคาญมากๆ แถมยังทำให้หัวเปียกชุ่มจากเหงื่ออีกด้วยครับ

ชุดทำงานจริงๆของผมเหมือนดังในภาพนี้ (ภาพนี้เป็นภาพของเืพื่อนร่วมงานที่ทำงานเคียงกันมาในหลายพื้นที่) ภาพนี้ถ่ายในพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ (http://)
การแต่งกายก็จะใส่รองเท้าแตะ มีเป้สะพายข้างใว้ใส่กระติกน้ำ ของกิน และใส่ตัวอย่างหิน มีแผนที่ (ที่เห็นพาดแขน) มีเข็มทิศและสมุดโน๊ตข้อมูลถืิอไว้ที่มือซ้าย มือขวาก็ถือฆ้อนธรณี ห้อยแฮนเลนซ์ไว้ที่คอ มีผู้ช่วยสำรวจเดินเป็นเพื่อนและช่วยในเรื่องอื่นๆหลายๆเรื่อง ในครั้งนี้ ผมเดินทำงานคู่กับเพื่อนเพื่อช่วยกันขบปัญหาทางวิชาการเรื่องหนึ่ง คนซ้ายมือคือผู้ช่วยของผม คนที่นั่งส่องปืนเป็นผู้ช่วยของเพื่อนผม คนซ้ายมือนั้นคือคนที่เป็นคู่หูของผมในเกือบจะทุกสภานการณ์ ปืนนั้นไม่ได้ใช้ยิงสัตว์เป็นเรื่องเป็นราวหรอกครับ เอาไว้ป้องกันตัวจากพวกสัตว์ใหญ่ เช่น ยิงไล่หมี ยิงไล่ช้าง งูจงอาง เป็นต้น จะเห็นว่าคนของผมถือปืนลูกซองแฝด ส่วนคนของเพื่อนผมถือปืนลูกกรด   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 12, 06:24
เมื่อไหร่จะถึงเมนูนี้มั่ง


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 05 เม.ย. 12, 10:28
รูปถ่ายเมื่อ 40 ปีมาแล้ว ยังเก็บไว้...ดีจัง รูปถ่ายเก่าๆมักจะหายไปเสียแล้ว

ป่าสมัยนั้น...สภาพโดยรวมยังดีไหมคะ  ถูกทำลายมากไหม

เคยไปเที่ยวพักป่าภาคเหนือ 2-3 ครั้ง ชอบที่ป่าหน้าหนาวจะมีใบไม้เปลี่ยนสี สวยงาม

(แม้จะไม่เท่าต่างประเทศก็ตาม) แต่ก็มีสีสันมากกว่าป่าที่มีสีเขียวตลอดปี

ป่าที่ไหนสวยที่สุดคะ เท่าที่คุณตั้งเคยสัมผัสมา


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 12, 19:06
เมื่อไหร่จะถึงเมนูนี้มั่ง

เมนูของคุณนวรัตน์นี้รวมพลก่อนย่อย
ลองเมนูของผม รวมพลหลังย่อย เมนูนี้เป็นสุดๆที่ผมได้เคยลองลิ้มชิมรส

ปลาร้าขี้ค่างครับ

ไปได้กินในป่าแม่วงค์ จ.นครสวรรค์ ในสมัยนั้น (2515) ได้มีการอนุญาตให้ตัดไม้ในพื้นที่นี้ เส้นทางเข้าจึงเป็นเส้นทางที่ตัดเข้าไปเพื่อการลากไม้ ในช่วงที่ผมเข้าไปครั้งแรกนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งจะเริ่มมีการตัดไม้ ป่ายังจัดได้ว่าสมบูรณ์มากๆ มีต้นไม้ใหญ่เรือนยอดสูง แดดแทบจะส่องไม่ถึงพื้นดิน ไม้ที่เห็นส่วนมากจะเป็นต้นยางขนาดใหญ่มากๆ และมีต้นมะค่าที่มีปมขนาดประมาณหนึ่งวาอยู่มากมายเลยทีเดียว เมื่อเข้าไปพื้นที่ๆเป็นหุบเขามีน้ำแม่วงค์ไหลผ่าน ป่าจะยิ่งชุมชื้นและเย็นสะบาย เห็นไม้พื้นล่างที่คลุมดินเป็นพวกต้นกระชาย สวยงามจริงๆครับ แล้วก็มีนกเงือกหรือนกกก นกแกง และนกอื่นๆบินผ่านไปมา ได้ยินเสียงจากการกระพือปีกของนกขนาดใหญ่เหล่านี้ เหมือนอยู่ในโลกโบราณเลยทีเดียว ผมเข้าไปทำงานในพื้นที่นี้เพื่อจะหาทางเดินไปห้วยขาแข้งตอนต้นน้ำที่เรียกกันว่าขาแข้งแห้ง ในครั้งแรกที่เข้าไปประมาณปลายเดือนธันวาคม ป่ายังเป็นป่า พอเข้าไปครั้งที่สองประมาณปลายเดือนมีนาคม ป่าทึบกลายเป็นป่าโปร่ง แดดแส่องถึงพื้นแล้ว ป่าที่ชุมชื้นกลายเป็นป่าแห้ง ผิดหูผิดตาไปขนาดแทบจะจำไม่ได้
เนื่องจากมีทางรถจึงมีชาวบ้านใช้เกวียนบรรทุกสัมภาระเข้าไปเพื่อหาของป่า ผมได้พบชาวบ้านกลุ่มหนึ่งและได้ตั้งแคมป์อยู่ใกล้ๆกันในแอ่งที่ราบเล็กริมห้วยแม่วงค์ จึงได้ทราบว่าเขามาหาค่าง เอากลับไปเป็นอาหารและทำยา ด้วยความอยากรู้การยิงค่างและจะได้รู้เส้นทางเดินเข้าไปในพื้นที่เขาและด่านสัตว์ จึงเดินไปด้วยกันวันหนึ่ง

ที่นี่ ผมได้ประสบการณ์อีกมากมาย
   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 12, 21:06
เรื่องแรก การยิงค่าง  

ชาวบ้าน 3-4 คนจะใช้ปืนลูกซองคนละกระบอกและสุนัขอีก 3-4 ตัว เิดินเข้าไปในหุบห้วยที่มีต้นร่มม้า พอเดินเข้าหุบนี้ก็จะได้กลิ่นหอมอย่างบอกไม่ถูก เป็นกลิ่นหอมจากขี้ค่างครับ เขามายิงค่างในช่วงประมาณเดือนนี้ก็เพราะเชื่อว่า ค่างไม่ลงมากินน้ำ กินแต่ยอดใบไม้ เรียกว่ากันค่างห้าร้อยยอด จึงเชื่อว่ามีแต่ตัวยาอายุวัฒนะอยู่ในทุกส่วนของตัวค่าง
ค่างจะอยู่กันเป็นฝูงๆละประมาณ 10 -15 ตัว ค่างชอบกินลูกร่มม้าซึ่งต้นร่มม้านั้นเป็นไม้ใหญ่และสูง การยิงค่างจะเป็นในช่วงเช้า เดินเข้าไปฟังเสียงชะนีไป เมื่อใดที่เสียงชะนีร้องเรียกกันให้ว่อนก็แสดงว่าต้องมีลิงหรือค่างอยู่ในบริเวณนั้น พอเราเดินเข้าไปถึงจุดที่ชะนีร้อง ชะนีก็จะเงียบเสียงและหนีไป (ชะนีที่พบแถวนี้ ถ้าความจำยังดี ไม่ผิด จะมีชะนีทั้งขาวและดำ รวมทั้งชะนีหัวมงกุฎด้วย) ได้ทีแล้วครับ เดินแหงนหน้ามองไปตามกิ่งไม้พุ่มไม้ไปเรื่อยๆ ค่าง (เป็นพวกค่างแว่น) นี้มีนิสัยเสียอยู่อย่างหนึ่ง คือ เราไม่เห็นตัวมันหรอกครับ แต่ถ้ามันรู้สึกว่าสบตากับเราเมื่อใด มันก็จะนึกว่าเราเห็นมัน มันจะกระโดดย้ายกิ่งย้ายไม้ต้นไม้ในทันที แล้วก็ไปแอบอยู่นิ่งๆ เรียกได้ว่า ไม่สบตาไม่โดด คราวนี้ก็ได้การละครับ เรารู้ว่ามันกระโดดจากต้นใดไปต้นใดและกี่ตัว คนหนึ่งก็จะเอาสันมีดเคาะต้นไม้ยุให้สุนัขเห่าให้เสียงขรมเลย ค่างก็จะกระโดดอีก ในระหว่างที่ลอยอยู่กลางอากาศเราก็ยิงมันทีละตัว ทำไปเช่นนี้เรื่อยๆ ไม่นานหรอกครับก็จะหมดทั้งฝูง เนื่องจากค่างนั้นหางมันยาว ก็จะใช้วิธีเอามีดกรีดที่ปลายหาง ดึงหนังออกมาเป็นห่วงนำมาคล้องคอมันอีกที แล้วก็หาบกลับมาแคมป์   ตัวผมเองในตอนนั้นยังอดร่วมวงไม่ได้ ยิงตัวแรกได้ก็เป็นเรื่องเลย มันตกลงมาพร้อมลูกอยู่ที่อก เนื่องจากลูกมันยังไม่ตาย สุนัขเลยจัดการขย้ำเสียจนตาย ผมช่วยไม่ทัน ตั้งแต่นั้นมาผมไม่ยิงค่างและลิงอีกเลย

เล่ามาเสียยืดยาว คราวนี้ก็เอามาทำกิน ชาวบ้านเขาจะเอาค่างชุบน้ำให้เปียกแล้วเผาให้ขนใหม้เกรียม จากนั้นก็จะขูดขนออกใ้ห้สะอาด ผ่าท้องเอาตับไตใส้พุงทั้งหมดมา รูดเอาขี้ทั้งหมดที่อยู่ในใส้ใส่ปีบ ผ่ากระเพาะเอาของที่อยู่ในกระเพาะใส่ปี๊บ ใ่ส่เกลือคลุกกันให้ดี ตัดมือตัดตีน หั่นนิ้วมือนิ้วตีนและเครื่องในทั้งหมดออกเป็นชิ้นๆใส่ในปี๊บขี้คลุกเค้าให้ทั่ว ปิดฝาปี๊บให้ดีหมักไว้ ส่วนตัวค่างนั้น สับเป็นชิ้นๆทั้งหนังขนาดฝ่ามือแล้วย่างแห้งแบบรมควัน เก็บสะสมไว้กลับบ้าน

วิธีการปรุงอาหาร อย่างหนึ่งแน่นอนคือทำแกง เครื่องแกงก็ต้องเป็นแบบง่ายๆ คือ พริกแห้ง หอม กระเทียม ข่า ตะใคร้ ผิวมะกรูด และกะปิ โขลกละเอียดแล้วละลายในน้ำเดือด ใส่เนื้อค่าง แล้วใส่ขี้ของมันด้วย ปรุงให้ออกรสเค็ม เท่านั้นก็อร่อยแล้ว แต่เดิมนั้นผมกินไม่ลงเพราะใส่ขี้ค่าง แต่ต่อมาหากไม่ใส่จะไม่อร่อยถึงใจ แล้วต้องกินด้วยมือเปิบด้วยนะครับ ทุกคนไม่มีใครใช้ช้อนเลย กินเร็จแล้วล้างมือแล้ว ทุกคนยังเอามือมาดมกลิ่นขี้ค่างที่ติดมือ หอมดีครับ
ที่แปลกใจอยู่อย่างหนึ่ง คือ ชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยงหรือคนไทยเกือบทั้งหมด เมื่อทำแกงค่างจะต้องใส่ขี้ค่างด้วย

เอาละครับถึงเวลาของเมนูปลาร้าขี้ค่าง
ด้วยความกล้าๆกลัวๆ ผมใช้วิธีคั่วพริกแห้ง เจียวหอม เจียวกระเทียม แยกใว้ เอาปลาร้าขี้ค่างลงผัดในน้ำมันเล็กน้อยให้สุกจริงๆ ใส่เกลือให้เค็ม เอาเครื่องที่เจียวไว้โรยหน้า กินกับพริกคั่ว ก็กินได้นะครับ กลิ่นพอหอม แต่ก็กินกันน้อยเพราะขยาดกัน อย่างไรก็ตาม ไม่มีท้องเสีย แถมเช้ายังถ่ายได้อย่างราบรื่นหมดใส้หมดพุงเสียอีก มันก็คงเป็นยาระบายอ่อน ซึ่งเป็นสภาวะอย่างหนึ่งในตำรับของความเป็นยาอายุวัฒนะ

เมนูค่างที่ผมชอบและคิดว่าอร่อยมากที่สุด คือ เอาส่วนซี่โครงหลักกับซีอิ๊วดำเล็กน้อย ซีอิ๊วขาว และเกลือ หมักไว้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น จึงนำมาทอด เมื่อเคี้ยวหมดรสเครื่องปรุงแล้ว จะได้รสหวานของเนื้อออกมาอย่างบอกไม่ถูก

หมดยุคหมดสมัยแล้วนะครับ อย่าไปแสวงหาทานเลย บาปครับ ผมทำไปเพื่อความอยู่รอดครับ มิใช่เื่พื่อความสนุก    
  


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 12, 21:38
ป่าที่ไหนสวยที่สุดคะ เท่าที่คุณตั้งเคยสัมผัสมา

ผมคิดว่าป่าที่พ้นไปจากที่ราบภาคกลางไปทางตะวันตกจนจรดชายแดนไทยพม่า ป่าระหว่างรอยต่อของ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ป่าทางด้านตะวันออกของ จ.น่าน ตลอดแนวตั้งแต่ชายแดน อ.ทุ่งช้าง เลาะลงมา อ.แม่จริม ไปจนจรดชายแดนลาว ป่าแถบชายแดนตลอดตั้งแต่ อ.แม่ระมาดน้อย จ.ตาก ขึ้นไปจนถึง อ.แม่ลาหลวง จ.แม่ฮ่องสอน เหล่านี้ ในสมัยก่อนเป็นป่าใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์มาก เงียบสงบ เยือกเย็น น่ากลัว ปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปหมดแล้ว ทางภาคใต้ที่สัมผัสก็มีป่าเขายี่สก แถบ อ.พะโต๊ะ จ.ระนอง และลงไปใต้สุดแถบแนวชายแดน อ.แว้ง อ.โต๊ะโม๊ะ อ.สุคิรินทร์ สำหรับป่าในภาคอีสานนั้นไม่สันทัดครับ

ใช่ครับ ป่าในภาคเหนือยังพอจะเห็นใบไม้เปลี่ยนสีบ้าง เพราะมีต้นไม้ในตระกูลเมเปิ้ลอยู่บ้าง แต่ในที่อื่นๆมักจะเปลี่ยนสีจากเขียวชุ่มชื้นไปเป็นน้ำตาลแดงแห้ง

ผมเคยเห็นป่าที่เปลี่ยนสภาพตามธรรมชาติไปอย่างสิ้นเชิงอยู่ 3 แห่ง คือ ในห้วยขาแข้งแถวๆบ้านเกริงไกร จากชัฏป่าไผ่ (ไผ่หนาม) เดินไม่ทะลุ กลายเป็นไผ่ยืนต้นตาย มีแต่ดอกไผ่ ขุยไผ่เพราะมันหมดอายุตายพร้อมกันทั้งชัฏ อีกแห่งก็แถวๆบริเวณใกล้ๆบ้านคลิตี้ แควใหญ่ จากป่ารกทึบกลายเป็นป่าโปร่ง และแห่งสุดท้ายที่ป่าแม่วงค์ที่เล่าเรื่องค่างนี้แหละครับ จากป่าทึบ เขียวชะอุ่ม กลายเป็นป่าโปร่งแบบที่ทางเหนือเขาเรียกกันว่าป่าแดง หรือป่าแพะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 06 เม.ย. 12, 17:08
เรื่องค่าง ...อ่านแล้วสงสารมันมากนะคะ

สมัยก่อนคนที่เดินป่าอาจเป็นมาเลเลียกันง่ายมาก โดยเฉพาะคนจากในเมืองไปเดินป่า

คุณตั้งแก้ปัญหานี้ยังไง และน้ำดื่ม...ถ้าไม่ได้จากชาวบ้าน จะหาทานได้ที่ไหน

แล้วจะแน่ใจว่าปลอดเชื้อที่เป็นอันตราย...ด้วยวิธีใดคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 12, 19:08
ปลาที่ว่าลงตะครัดจับได้มากๆนั้น ส่วนหนึ่งเอามาทำเมนูลาบปลา หรือก้อยปลา ผมไม่แน่ในว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรดี

เมนูนี้ใช้ปลาใบไม้ครับ เป็นปลาเกล็ด ตัวคล้ายปลาตะเพียนไม้สานที่ขายเป็นของที่ระลึกอยู่ตามร้านค้าในวัดต่างๆของ จ.อยุธยา
ขอดเกล็ด ตัดหัว เอาครีบหลังส่วนที่แข็งๆออกไป (ปลา 4-5 ตัว) แล้วสับให้ละเอียด บีบน้ำมะนาว (1-2 ผล) ลงไปเคล้าให้ทั่ว ทิ้งไว้สักพัก ในระหว่างนี้ ซอยหัวหอม 6-7 หัว ซอยพริกสดหรือแห้งก็ได้ตามปริมาณความเผ็ดที่ชอบ    
บีบขยำเนื้อปลาที่ใส่น้ำมะนาวนั้น จะมีน้ำออกจากปลา แยกเนื้อกับน้ำออกจากกัน เอาน้ำนั้นใส่กระทะตั้งไฟใ้ห้เดือดหรือร้อนจัด เอามาเทใส่เนื้อปลา คลุกให้ทั่ว ใส่น้ำไปลา ใส่หอมซอย ใส่พริก คลุกอีกครั้ง เท่านี้ก็อร่อยมากแล้ว ไม่ใช่ของดิบจริงๆ และก็ไม่ใช่ของสุกจริงๆ

คราวนี้เป็นเมนูก้อยปลาอร่อยประเภทในเมืองชนิดค่อนข้างหรู ซึ่งผมได้มาจากพวกพ่อครัวไทยในเวียนนา ออสเตรีย (ชอบพอกันจึงทำให้กิน) ผู้ใดที่กลัวการกินก้อยแบบบ้านเรา หากท่านกินซูชิได้ กินซาชิมิได้ ลองกินก้อยแบบนี้ซิครับ

ในไทย ผมใช้เศษปลาแซลมอน ซึ่งเป็นส่วนที่แล่ขายในราคาถูก เช่นบริเวณปลายใกล้หาง เอามาแล่เอาหนังออก หั่นเป็นชิ้นๆทรงลูกเต๋า พยายามทำให้ได้ลูกเต๋าขนาดใหญ่หน่อยเท่าที่จะทำได้จากชิ้นปลาส่วนนี้ แต่ไม่เกินด้านละประมาณ 1 ซม.  จะใช้ชิ้นปลาดีๆที่ตัดขายเป็นชิ้นเขื่องๆแบบสเต็กก็ได้ (ราคาแพงหน่อย) เอาปลาไปแช่ในช่องแข็งของตู้เย็น ให้เกือบแข็ง เพื่อจะได้หั่นง่ายๆ ไม่เละ เตียมฝานมะนาวสัก 1 ลูก เตรียมข้าวคั่ว เตรียมใบสะระแหน่ (พันธุ์ปลายมน) หอมแดงซอย (ของไทย) พริกป่นหอมๆ (คั่วเองป่นเองยิ่งดี) น้ำปลาดี (พวกที่ใช้เวลาหมัก 18 เดือน)
บีบมะนาวใส่เนื้อปลา คลุกให้ทั่ว ใส่น้ำปลาแล้วคลุกให้ทั่ว ชิมรสกำลังพอดีเค็มและเปรี้ยว ใส่หอมซอย ใส่พริกป่นตามชอบ ใส่ข้าวคั่วตามชอบ (กะว่าพอทำให้น้ำแห้ง) คลุกให้ทั่ว ใส่ใบสะระแหน่ เคล้าให้ดี ตักใส่จาน โรยใบสะระแหน่อีกครั้ง วางบนโต๊ะ บอกให้รีบกินหน่อยก่อนที่เนื้อปลามันจะนิ่มแหยะๆ คนที่ไม่กินปลาดิบก็ขอให้ลอง แพล็บเดียวหมดครับ ที่ผมทำเลี้ยงแขก ไม่ว่าจะเป็นชาติใหน ไม่เคยไม่หมดด้วยความรวดเร็วเลย


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 12, 19:54
ปลาแซลมอนนี้ ฝรั่งกินแบบหนึ่ง ญี่ปุ่นกินแบบหนึ่ง ไทยกินอีกแบบหนึ่ง
หากจะเอามาทอดกินกับน้ำปลาพริกขี้หนู กินกับยำมะม่วงน้ำปลา หรือแช่น้ำปลาทอด ผมว่าอย่าไปกินให้แพงเลยครับ ทำแล้วแทบจะไม่ต่างไปจากการใช้ปลาสวาย ปลาเทโพ หรือแม้กระทั่งปลาเค้า

ผมเห็นว่า เอาเศษปลาแซลมอนที่เขาขายถูกๆนั้นแหละมาทำอาหารให้อร่อยมากๆแบบไทยๆจะดีกว่า (คงจะต้องเป็นอาหารป่าในเมืองเสียแล้ว และแบบไฮโซเสียด้วย)

ในซุปเปอร์มาเก็ตนั้น มักจะมีหัวปลาแซลมอน ส่วนที่เป็นก้าง ครีบ พุง และส่วนปลายหาง แพ็คขายอยู่รวมกันในราคาที่ย่อมเยาว์
เมื่อแกะออกมา หากเห็นว่ามีส่วนครีบท้องมาก (ตลอดความยาวท้อง) นั่นแหละครับของแพงมากๆของญี่ปุ่น เอามาย่าง ทาด้วยซีอิ๊วที่ใส่น้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย ทาไปย่างไปให้สุก ให้มันหยด อร่อยมาก มีแต่ประโยชน์ทั้งนั้น คือ อุดมด้วย Omega 3    เช่นเดียวกันกับส่วนท้องที่มีมันมากๆ ก็เอามาทำเช่นเดียวกับ 

ส่วนหัว ก้างที่ติดเนื้อและส่้วนท้อง เอามาทำต้มยำรสแซบแบบไทยๆ อร่อยมากเหมือนกัน มีแต่ประโยชน์เช่นกัน คือ กระดูกอ่อนทั้งหลายก็เป็น Cartilage ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยาแก้มะเร็ง สมัยที่ผมประจำการในต่างประเทศแรกๆนั้น ของพวกนี้ในยุโรปไม่มีราคา พ่อค้าทิ้งหมด ขอมาขากเขียงได้ ต่อมาไม่นานนักก็กลายเป็นของมีราคาที่ขายกันในซุปเปอร์มาเก็ต

เป็นอันว่า เอาของดีราคาถูกมาทำเป็นอาหารพื้นบ้านไทยแบบไฮโซ

แซลมอนนั้น มีทั้งปลาธรรมชาติและปลาเลี้ยง ของแพงจริงๆเป็นปลาในธรรมชาติซึ่งอร่อยต่างกันมาก แล้วก็มีปลาพันธุ์ผสมที่เรียกว่า แซลมอนเทร้าท์ ตัวเล็กกว่า  ขนาดพอๆกับปลากุเลา ซึ่งผมว่าปลาแซลมอนเทร้าท์นี้อร่อยมาก โดยเฉพาะเอาเมื่อเอามา marinate ด้วยเหล้าเชอรี่สัก 4-5 วัน แล้วทอดกับเนยกับ Almond

ในไทย ที่โครงการหลวงใกล้ทางขึ้นดอยอินทนนท์นั้น มีการทดลองเลี้ยงปลาเทราท์ ซึ่งสามารถสั่งกินได้ในร้านอาหารของโครงการ ผมคิดว่าหากสามารถซื้อหามาได้ให้ ลองทำแบบที่ผมเล่าซิครับ 


 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 เม.ย. 12, 20:16
ตามอ่านมาเรื่อยๆ น้ำลายก็หกตามเมนูไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อมาถึงปลาแซลมอน
สเต๊กปลาแซลมอน ของโปรดเลยค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 เม.ย. 12, 20:24
ย้อนไปถึงเมนูปลา ที่จับได้ในป่า   มีปลาอะไรที่เผาหรือย่างกินได้อร่อยบ้างไหมคะ 
ในเพชรพระอุมา( เป็นหนังสือเรื่องป่าเรื่องเดียวที่พอจะเอามาค้นเรื่องอาหารการกินได้) เล่าถึงปลาที่คณะพรรคของรพินทร์ ไพรวัลย์ทำกันสดๆคือ เอาปลาเผาหมกโคลน   
ส่วนค่าง คุณ "พนมเทียน" เล่าว่านอกจากเลือดใช้เป็นยาบำรุงแก้เมื่อยขบ     เครื่องในค่างเอามาทำแกงจืดได้เหมือนเครื่องในหมู   สมองเอามากินสดๆแบบหอยนางรม
ปลาร้าขี้ค่าง  เพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก    รพินทร์ ไพรวัลย์คงไม่เคยกิน  คนอ่านเลยไม่รู้จักเมนูนี้
 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 12, 20:44
สมัยก่อนคนที่เดินป่าอาจเป็นมาเลเลียกันง่ายมาก โดยเฉพาะคนจากในเมืองไปเดินป่า  คุณตั้งแก้ปัญหานี้ยังไง และน้ำดื่ม...ถ้าไม่ได้จากชาวบ้าน จะหาทานได้ที่ไหน
แล้วจะแน่ใจว่าปลอดเชื้อที่เป็นอันตราย...ด้วยวิธีใดคะ

ในชิวิตผมเป็นไข้มาลาเรียมา 8 ครั้ง
มีอยู่ปีหนึ่ง เป็น 2 ครั้ง จำได้แม่นเลยครับ ครั้งแรกทีีแคมป์ตามทางไปเหมืองห้วยเต่าดำ (ข้ามฝั่งแม่น้ำแควน้อยที่แก่งระเบิดเหนือบ้านท่าเสา หรือสถานีน้ำตก) ต่อมาในครั้งที่สองในปีเดียวกันจากการตั้งแคมป์ที่ฝั่งตรงข้ามกับปากแม่น้ำน้อย ในแควน้อย ใต้น้ำตกไทรโยคลงมา

แล้วค่อยขยายความเล่าให้ฟังพรุ่งนี้นะครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 12, 21:05
ย้อนไปถึงเมนูปลา ที่จับได้ในป่า   มีปลาอะไรที่เผาหรือย่างกินได้อร่อยบ้างไหมคะ 
ในเพชรพระอุมา( เป็นหนังสือเรื่องป่าเรื่องเดียวที่พอจะเอามาค้นเรื่องอาหารการกินได้) เล่าถึงปลาที่คณะพรรคของรพินทร์ ไพรวัลย์ทำกันสดๆคือ เอาปลาเผาหมกโคลน   

ในความเป็นจริง ห้วยที่มีโคลนอยู่ชายหาดหรือตลิ่งนั้นเกือบจะไม่เคยเห็น ชายน้ำที่มีโคลนจะพบได้ตามแม่น้ำใหญ่มากกว่า อนึ่ง ในส่วนที่เป็นป่าจริงๆจะอยู่ด้านเหนือน้ำขึ้นไป เพียงจะบอกว่า แม้กระทั่งแควใหญ่ เหนือขึ้นไปจากห้วยตาม่องล่าย (น้ำตกเอราวัณ) หรือแควน้อย เหนือขึ้นไปจากน้ำตกไทรโยค ก็ยังไม่เคยเห็นชายหาดที่มีโคลน
ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นโคลนริมชายน้ำนั้น ก็ไม่เป็นโคลนที่มีความเหนียวเช่นโคลนที่เราคิดกัน (ดินเหนียว) เป็นเพียงตะกอนทรายละเอียดซึ่งมีพวกเศษอินทรีย์ (พืช ใบไม้)ผสมอยู่ มีคุณสมบัติในทางร่วนเสียมากกว่า หากว่าจะทำปลาหมกโคลนจริงๆ คงจะต้องไปเอาดินจากเหนือตลิ่งขึ้นไปมาผสมน้ำให้เป็นโคลนสำหรับพอกตัวปลา

สำหรับกรณีทำไมไม่มีชายหาดที่เป็นโคลนตามห้วยขนาดใหญ่และห้วยเล็กห้วยน้อยต่างๆนั้น หากอยากจะทราบเหตุผลจริงๆก็คงจะต้องอธิบายในทางวิชาการครับ




กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 เม.ย. 12, 21:28
เพิ่งรู้นี่เองว่าริมห้วยใหญ่น้อยทั้งหลาย ไม่มีดินโคลน    :-[
เรื่องไข้ป่ามาเลเรียก็น่าสนใจ    จะรออ่านว่าคุณตั้งหายโดยใช้ยาที่พกติดตัวไป หรือว่าหายจากสมุนไพร    ทำให้อยากรู้ว่าชาวบ้านเขากินสมุนไพรอะไรแก้ไข้ป่ากันบ้าง
ยุงป่าคงจะตัวโตกว่ายุงบ้านมาก    คุณตั้งใช้วิธีกันยุงยังไงคะ    นอนในมุ้งหรือว่ามียาทากันยุง


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 12, 21:50
ย้อนไปถึงเมนูปลา ที่จับได้ในป่า   มีปลาอะไรที่เผาหรือย่างกินได้อร่อยบ้างไหมคะ  


ผมพบว่า ปลาขนาดใหญ่ (ตัวใหญ่กว่าแขนขึ้นไป) นั้น เอาไปลวกจิ้มน้ำจิ้มจะอร่อยที่สุด เอาไปย่างหรือเอาไปผัดไปแกงนั้นเป็นรอง เหตุผลที่แท้จริง ผมไม่ทราบ
  
สำหรับปลาลวกจิ้มนั้น พอจะมีคำตอบได้บ้าง คือ มันไม่สุกทีเดียว ความร้อนจากน้ำเดือดในขณะที่เอาเนื้อปลาลงไปลวกนั้น จะทำให้ผิวรอบๆของชิ้นปลาตึง ปิดช่องไม่ให้น้ำในเนื้อปลาไหลออกมามาก จึงยังมีรสของความหวานของเนื้อปลาติดอยู่ในเนื้อ แล้ว Enhance รสชาติของเนื้อด้วยรสของน้ำจิ้ม
 
การเอาไปผัดไปแกงตามปกติ (ให้สุก) นั้น ผมเห็นว่า รสของเนื้อปลาจะถูกกลบให้เลือนหมดไป ความอร่อยจะไปอยู่ที่รสของเครื่องปรุง สำหรับผัดที่ทำให้เนื้อปลาอร่อยจึงมักจะเป็นในรูปผัดฉ่า ผมเห็นว่าการผัดกันตามปรกติประเภททำให้สุกจริงๆนั้น มักจะไปอยู่ในระดับที่เอาน้ำในเนื้อปลาออกมาผสมกับรสของเครื่องปรุงแล้วซึมย้อนกลับเข้าไปในเนื้อปลาอีกครั้งหนึ่ง ความอร่อยจึงไปอยู่ที่ texture ของเนื้อปลากับรสของเครื่องปรุง

ในกรณีเผาหรือย่างนั้น หากย่างแบบเิปิด คือ ไม่ห่อไม่ปิดตัวปลาด้วยสิ่งใดสักอย่าง ปลาก็จะแห้ง น้ำในเนื้อปลาจะดันขึ้นมายังผิวด้านบนแ้ล้วไหลออกไปตามเกล็ดปลาจนหมด ถ้าจะให้คงความอร่อยของเนื้อปลา ก็จะต้องเริ่มที่ไฟแรงๆ พอน้ำเริ่มโผล่อีกด้านหนึ่ง ก็พลิกเพื่อให้ความร้อนไล่น้ำกลับเข้าไปในเนื้อปลา พลิกกลับไปมาจนเห็นว่าสุก สังเกตว่าหากเป็นการทำแบบไม่ห่อไม่ปิดเนื้อปลาก็จะแห้ง ซึ่งก็จะไปได้รสของเนื้อปลาอีกแบบ เปรียบเทียบได้กับการกินปลาสลิดสดกับปลาสลิดแห้ง ความอร่อยจะต่างกันมากๆ  ดังนั้นการย่างหรือเผาปลาจึงมักจะต้องมีการห่อ จะด้วยโคลน ด้วยเกลือ ด้วยใบตอง ด้วย foil อะไรก็ได้
เมื่ออยู่ในป่านั้น ผมว่าพวกปลาเกล็ดในตระกูลที่ตัวคล้ายๆปลาตะเพียนนั้น (ง่ายๆก็คือปลาในตระกูลปลา Carp ทั้งหลาย) เอามาย่างมาเผาอร่อยที่สุด ซึ่งที่อร่อยสุดๆจริงๆ ก็คือ ปลาตะโกก และปลายี่สกห้วย ข้อสำคัญคือ อยู่ที่วิธีการย่างด้วย การย่างบนตะแกรงนั้นสู้การย่างแบบมอญไม่ได้ (คือเสียบไม้ปักไว้ข้างๆกองไฟ)

ปลาสุดยอดอร่อยของญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นปลาในห้วยเหมือนกัน คือ ปลาอาหยุ และปลาอิวานะ ก็ต้องใช้วิธีย่างแบบนี้ (ย่างมอญ)เท่านั้น ผู้ใดมีโอกาสต้องลิ้มลองนะครับ  
      


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 12, 22:10
   
ส่วนค่าง คุณ "พนมเทียน" เล่าว่านอกจากเลือดใช้เป็นยาบำรุงแก้เมื่อยขบ     เครื่องในค่างเอามาทำแกงจืดได้เหมือนเครื่องในหมู   สมองเอามากินสดๆแบบหอยนางรม
ปลาร้าขี้ค่าง  เพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก    รพินทร์ ไพรวัลย์คงไม่เคยกิน  คนอ่านเลยไม่รู้จักเมนูนี้

ผมไม่เคยเอาเครื่องในค่างมาทำแกงจืด ผมคิดว่ามันน่าจะมีสาบและคาวมาก ส่วนสมองนั้นก็ไม่เคยลอง ซึ่งสำหรับบผมนั้นว่าดูมันจะห่ามมากไปสักหน่อย อย่างไรก็ตาม คนในคณะของผมเคยเอาหัวมันมาต้ม ล้วงเอาสมองออกให้หมดแล้วเอาแขวนไว้ที่แคมป์ ส่วนหนึ่งก็เป็นการส่งสัญญาณให้พวกกะเหรี่ยงได้รู้ว่า เราก็พอจะมีความเหี้ยมอยู่บ้างนะ อย่ามายุ่งมาคิดมิดีมิร้ายก็แล้วกัน คิดดูแล้วยังรู้สึกตัวเองว่าเหมือนกับเป็นพวกมนุษย์กินคน

ส่วนเลือดค่างนั้น ปรกติก็จะใช้วิธีตัดปลายหางแล้วแหย่ลงไปในขวดเหล้าให้เลือดหยดผสมกับเหล้าในขวด บางครั้งผ่าท้องแล้วก็จะเห็นเลือดตกอยู่ในท้องเป็นก้อนลิ่ม ก็เอามาใส่เหล้าเขย่าให้ละลาย ไมเคยเอาไปต้มกินครับ ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า พอเอาลงในน้ำเดือด มันจะมิละลายไปหรือ มันไม่ใช่เลือดหมู เลือดเป็ดเลือดไก่ที่ถูกอากาศแล้วแข็งตัวเป็นก้อนๆ อีกประการหนึ่ง คนเชื่อกันว่าเหล้าเลือดค่างนั้นเป็นยา หายาก คงจะไม่เอาเลือดซึ่งมีไม่มากนักไปต้มกินกัน


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 เม.ย. 12, 22:13
ชนกลางอากาศขณะไปหารูปปลาตะโกกกับปลายี่สกห้วยมาดู  อยากรู้ว่าปลาเนื้ออร่อยที่สุดของคุณตั้งหน้าตาเป็นยังไง
ซ้าย ปลาตะโกก ขวา ปลายี่สก


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 เม.ย. 12, 22:19

ผมไม่เคยเอาเครื่องในค่างมาทำแกงจืด ผมคิดว่ามันน่าจะมีสาบและคาวมาก ส่วนสมองนั้นก็ไม่เคยลอง ซึ่งสำหรับบผมนั้นว่าดูมันจะห่ามมากไปสักหน่อย อย่างไรก็ตาม คนในคณะของผมเคยเอาหัวมันมาต้ม ล้วงเอาสมองออกให้หมดแล้วเอาแขวนไว้ที่แคมป์ ส่วนหนึ่งก็เป็นการส่งสัญญาณให้พวกกะเหรี่ยงได้รู้ว่า เราก็พอจะมีความเหี้ยมอยู่บ้างนะ อย่ามายุ่งมาคิดมิดีมิร้ายก็แล้วกัน คิดดูแล้วยังรู้สึกตัวเองว่าเหมือนกับเป็นพวกมนุษย์กินคน

ส่วนเลือดค่างนั้น ปรกติก็จะใช้วิธีตัดปลายหางแล้วแหย่ลงไปในขวดเหล้าให้เลือดหยดผสมกับเหล้าในขวด บางครั้งผ่าท้องแล้วก็จะเห็นเลือดตกอยู่ในท้องเป็นก้อนลิ่ม ก็เอามาใส่เหล้าเขย่าให้ละลาย ไมเคยเอาไปต้มกินครับ ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า พอเอาลงในน้ำเดือด มันจะมิละลายไปหรือ มันไม่ใช่เลือดหมู เลือดเป็ดเลือดไก่ที่ถูกอากาศแล้วแข็งตัวเป็นก้อนๆ อีกประการหนึ่ง คนเชื่อกันว่าเหล้าเลือดค่างนั้นเป็นยา หายาก คงจะไม่เอาเลือดซึ่งมีไม่มากนักไปต้มกินกัน

ขอโทษที่ดิฉันอธิบายไม่ชัดเจน    คุณพนมเทียนบรรยายว่า พรานของรพินทร์ไพรวัลย์ ใช้วิธียิงค่างตกจากยอดไม้  เชือดคอรองเลือดใส่เหล้าโรง เขย่าๆ ให้เข้ากัน  กินเลือดค่างผสมเหล้าโรงเป็นยาบำรุงกำลัง แก้เมื่อยขบ และแก้ไข้อีกด้วย   ไม่ได้เอาเลือดมาต้มค่ะ
อ้อ อีกอย่างคือดีค่าง  เก็บไว้ทั้งถุงไม่ให้แตก แล้วหย่อนลงคอกินสดๆ ตามด้วยเหล้าอีกนิดหน่อย  เป็นยาบำรุงสายตา แก้ตามืดตามัว   สมองค่างก็กินสดๆ เช่นกัน   
สรุปว่าค่างมีสรรพคุณเป็นยา เกือบทั้งตัวละมัง

หัวค่างแขวนโชว์หน้าแคมป์ เพื่อเตือนกะเหรี่ยงว่าห้ามยุ่ง   น่าจะเป็นการผจญภัยในป่า อีกตอนหนึ่งที่น้อยคนจะได้เจออย่างคุณตั้ง   แค่แย้มๆก็น่าตื่นเต้นเสียแล้ว


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 เม.ย. 12, 22:25
คุณตั้งบุกป่าฝ่าดงไปทำงานธรณีวิทยามาหลายปี   เห็นชีวิตในป่าอย่างที่น้อยคนจะมีโอกาสเห็น
เมื่อเขียนกระทู้ เมนูอาหารป่าจบแล้ว    อยากจะขอเชิญให้เล่าถึง "ชีวิตในป่า" บ้าง หากว่ามีแง่มุมหรือเกร็ดต่างๆที่คิดว่าจะถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง และคนรุ่นเดียวกันที่ไม่มีโอกาสจะไปเห็นได้มากเท่า
เพราะประสบการณ์อันมีค่าแบบนี้  ถ้าไม่เล่าไว้ ก็มีแต่จะหายสูญไปพร้อมกับความทรงจำของเจ้าตัว

สมัยที่คุณตั้งเรียนจบ   เริ่มทำงาน  เป็นยุคที่ป่าเมืองไทยมีอันตรายมากมาย   ทั้งจากธรรมชาติของป่า  ธรรมชาติของคน และธรรมชาติของการเมืองในยุคนั้น
นับว่าเป็นเก่งบวกเฮง ที่คุณตั้งเอาตัวรอดมาได้จนกระทั่งพ้นจากชีวิตในป่า ไปเป็นชีวิตในต่างแดน และกลับมาเป็นชีวิตในเมืองหลวงอย่างทุกวันนี้

วางเทียบเชิญล่วงหน้าไว้ก่อนค่ะ  ไม่รีบร้อน  เมื่อไรก็เมื่อนั้น


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 07 เม.ย. 12, 15:00
พูดถึงความอร่อยของเนื้อปลา  ที่จำได้ไม่ลืมเลยคือที่จ.ว.อุตรดิตถ์ ริมถนนมีปลาหมอไทยตัวใหญ่มาก

น.น.น่าจะมากกว่า 1 ก.ก ต่อตัว รูปทรงคล้ายปลานิลตัวใหญ่ยักษ์ ใส่จานเปลใบใหญ่พอดี

 เขาเผาจนผิวเป็นสีนิลทีเดียว

พอเอาวางที่โต๊ะ ใช้มีดกรีดตั้งแต่หัว มาตามแนวครีบหลังจนสุดตัว เปิดผิวสีถ่านออกเหมือนเปิดฝา

เนื้อปลาสีชมพูอ่อน มีน้ำฉ่ำ พร้อมกลิ่นหอม และยังร้อนอยู่ พร้อมเครื่องจิ้ม

ทุกคนลองชิมคนละคำ ก็ถึงกับอุทานว่า"อร่อยที่สุด"

มื้อนั้นทุกคนทานปลาจนอิ่มจริงๆ โดยไม่แตะข้าวกันเลย ทั้งที่ข้าวก็หอมชวนทาน

รสชาติของปลาวันนั้นทำให้ประทับใจ...ไม่ลืม และถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปทานอีก

ถามคนขายได้ความว่าเป็นปลาจากเขื่อน จึงตัวโตมาก เนื้อหนา สด และหวานค่ะ



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 เม.ย. 12, 21:10
ชนกลางอากาศขณะไปหารูปปลาตะโกกกับปลายี่สกห้วยมาดู  อยากรู้ว่าปลาเนื้ออร่อยที่สุดของคุณตั้งหน้าตาเป็นยังไง
ซ้าย ปลาตะโกก ขวา ปลายี่สก

หากเป็นในป่า ผมคิดว่าปลายี่สกห้วยย่างมอญอร่อยกว่าปลาตะโกกมาก แต่หากเป็นในเมือง ผมจะสั่งปลาตะโกกทอด ผมจะไม่สั่งปลาตะโกกมาต้มยำกินเหมือนปลายี่สกเด็ดขาด และหากจะสั่งต้มยำปลาผมก็คงจะสั่งต้มยำปลาช่อนมากกว่าที่จะสั่งต้มยำปลายี่สก
ปลายี่สกตัวใหญ่ที่แขวนโชว์ตามภัตตาคารนั้น บางทีก็เป็นปลานวลจันทร์ ซึ่งเหมือนกันมาก ปลายี่สกจะต่างๆไปที่มีลายดำเป็นทิวข้างๆตัวดังรูปของคุณเทาชมพู ปลายี่สกเป็นปลาตัวใหญ่ที่พบอยู่ตามวังน้ำในแควน้อยและแควใหญ่ มักจะได้มาด้วยการตกเบ็ด หาได้ยากมากกว่าปลานวลจันทร์ ผมเดยเห็นเด็กสองคนหามปลายี่สกหางลากดินเลย ตัวคงจะยาวแระมาณ 1 เมตร น้ำหนักน่าจะมากกว่า 20 กก.

เลยนึกถึงต้มยำเป็ดตุ๋น เมนูนี้ก็อร่อยมากเช่นกัน ผมทำเลี้ยงคนทั้งฝรั่งและไทยมาหลายครั้งแล้ว หมดทุกที หลายครั้งทำตุ๋นเป็ดเพื่อจะทำเป็นต้มยำ แทนที่จะซดน้ำเป็ดตุ๋นใส่มะนาวดอง   
เอาน้ำเป็นตุ๋นนั้นแหละครับ ยิ่งที่ใส่มะนาวดองแล้วยิ่งดี ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกขี้หนูบุบ ใส่เนื้อเป็ดตุ๋นลงไป ปรุงรสให้แซบด้วยน้ำปลา และมะนาว ซดได้แล้วครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 เม.ย. 12, 21:30
พูดถึงความอร่อยของเนื้อปลา  ที่จำได้ไม่ลืมเลยคือที่จ.ว.อุตรดิตถ์ ริมถนนมีปลาหมอไทยตัวใหญ่มาก  น.น.น่าจะมากกว่า 1 ก.ก ต่อตัว รูปทรงคล้ายปลานิลตัวใหญ่ยักษ์ ใส่จานเปลใบใหญ่พอดี  เขาเผาจนผิวเป็นสีนิลทีเดียว พอเอาวางที่โต๊ะ ใช้มีดกรีดตั้งแต่หัว มาตามแนวครีบหลังจนสุดตัว เปิดผิวสีถ่านออกเหมือนเปิดฝา
เนื้อปลาสีชมพูอ่อน มีน้ำฉ่ำ พร้อมกลิ่นหอม และยังร้อนอยู่ พร้อมเครื่องจิ้ม ทุกคนลองชิมคนละคำ ก็ถึงกับอุทานว่า"อร่อยที่สุด"
มื้อนั้นทุกคนทานปลาจนอิ่มจริงๆ โดยไม่แตะข้าวกันเลย ทั้งที่ข้าวก็หอมชวนทาน รสชาติของปลาวันนั้นทำให้ประทับใจ...ไม่ลืม และถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปทานอีก
ถามคนขายได้ความว่าเป็นปลาจากเขื่อน จึงตัวโตมาก เนื้อหนา สด และหวานค่ะ

ผมไม่ได้เห็นตัวจริง แต่คิดว่าบางทีอาจจะเป็นปลาที่เรียกกันว่าปลาหมอช้างเหยีบ (หรือปลาเสือตอ) ซึ่งในสมัยระหว่าง พ.ศ. 2512-2516 หากินได้ที่ จ.นครสวรรค์ เป็นปลาในบึงบรเพ็ด จากนั้นมาก็หายาก ความอร่อยนะหรือครับ สมัยนั้นในร้านอาหารราคาตัวละ 100 บาท เอามาทอด ยังยอมจ่ายเงินกินกันเลย
 
ในเขื่อนน้ำน่านที่อุตรดิตถ์นั้น ก่อนจะมีการกักน้ำ มีแต่ปลาตัวเล็กมาขายกัน แต่พอกักน้ำแล้วได้ปลาตัวใหญ่มาขายกันมากมาย แถมแพงอีกด้วย จำได้ว่าปลาช่อน กก.ละ 20 บาท สูสีกับเบี้ยเลี้ยงเลยทีเดียว

หลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่าในแม่น้ำน่านตอนบนๆเหนือบริเวณเขื่อน ในช่วงก่อนที่จะปิดกั้นน้ำนั้น มีปลาปักเป้าน้ำจืดอยู่ด้วย เวลาลงอาบน้ำต้องระวังเหมือนกัน มันมาตอดน่องขา เผลอไปบางทีได้เลือดเหมือนกัน ตัวขนาดย่อมกว่ากำปั้น


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 09 เม.ย. 12, 11:46
เลยนึกถึงต้มยำเป็ดตุ๋น เมนูนี้ก็อร่อยมากเช่นกัน ผมทำเลี้ยงคนทั้งฝรั่งและไทยมาหลายครั้งแล้ว หมดทุกที หลายครั้งทำตุ๋นเป็ดเพื่อจะทำเป็นต้มยำ แทนที่จะซดน้ำเป็ดตุ๋นใส่มะนาวดอง   
เอาน้ำเป็นตุ๋นนั้นแหละครับ ยิ่งที่ใส่มะนาวดองแล้วยิ่งดี ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกขี้หนูบุบ ใส่เนื้อเป็ดตุ๋นลงไป ปรุงรสให้แซบด้วยน้ำปลา และมะนาว ซดได้แล้วครับ

ทานเป็ดตุ๋นมะนาวดองบ่อยๆแต่ไม่เคยทานแบบต้มยำเลย ...จะลองทำดูบ้างนะคะ  ท่าจะอร่อยเลิศ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 เม.ย. 12, 18:00
....อ้อ อีกอย่างคือดีค่าง  เก็บไว้ทั้งถุงไม่ให้แตก แล้วหย่อนลงคอกินสดๆ ตามด้วยเหล้าอีกนิดหน่อย  เป็นยาบำรุงสายตา แก้ตามืดตามัว   สมองค่างก็กินสดๆ เช่นกัน   
สรุปว่าค่างมีสรรพคุณเป็นยา เกือบทั้งตัวละมัง....


ใช่ครับ เขาก็ว่ากันอย่างนั้น คือ หย่อนดี (ขนาดประมาณหัวแม่มือ) ลงคอไปทั้งถุง ส่วนหนึ่งก็เพื่อไม่ให้ขม แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นคนที่ทำเช่นนั้นได้คงจะต้องเป็นนายใหญ่จริงๆ หรือไม่ก็ต้องไม่มีคนอยากลอง  ในความเป็นจริงแล้ว มีโอกาสน้อยมากที่จะยิงค่างได้หลายๆตัวในคราวเดียวดังที่ผมเล่ามา ต้องเป็นความตั้งใจจริงๆ ต้องมีคนอย่างน้อยสองคนพร้อมปืนลูกซองอย่างน้อยหนึ่งกระบอก มีสุนัขสองสามตัว    หากมีปืนอยู่กระบอกเดียว มีคนหลายคน ไม่มีสุนัข วิธีการคือต้องช่วยกันแหงนคอดู คนหนึ่งเอาสันมีดเคาะต้นไม้ คนอื่นๆช่วยกันทำเสียงเอะอะ อีกคนคอยยิง จึงจะได้
ตามปรกติ จะเอาดีค่างมาฉีกออกใส่แก้วแล้วใส่เหล้าลงไป แบ่งกันกินได้คนละอึกน้อยๆเท่านั้น

ดีลิงก็กินได้เหมือนดีค่างครับ และหากจะเก็บดีไว้กินในวันหลัง ก็ต้องใช้วิธีแขวนตากให้แห้งด้วยลม ใช้เวลาสองสามวันจึงจะแห้ง หากตากกับแดดเมื่อใร ถุงดีก็จะแตกระเบิดเสียของไปเลย ผมว่าด้วยเหตุที่ว่านี้จึงกินดีสดๆกันครับ

ดีสัตว์นี้ก็แปลกนะครับ นิยมเอามาทำเป็นยากันทั้งนั้น เท่าที่ผมรู้ก็ของเกือบจะทุกสัตว์
คนในเมืองและร้านขายยาใ้ช้ดีหมีและดีงูเหลือมเป็นหลัก กะเหรี่ยงใช้ดีเม่นเป็นหลัก ชาวบ้านป่าอื่นๆผมไม่ค่อยจะเห็นมีการเก็บไว้เข้ายา (คงขายกันหมดเพราะราคาดี) คนเดินป่าก็จะไม่เก็บแต่กินสดเลย ที่นิยมก็มีดีค่าง ดีลิง ดีเต่า
ในภาคเหนือและอีสานนั้นมีลาบขม เป็นลาบดิบที่ใส่น้ำดีในลาบวัวหรือลาบควายด้วย ปรุงรสลาบมาแทบตายใส่น้ำดีลงไปกลายเป็นขมอย่างเดียว ในอีสานนั้นน้ำปลาที่จิ้มเนื้อย่างยังใส่ดีกับข้าวคั่วเลย     


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 เม.ย. 12, 18:24
พูดถึงค่างแล้วก็ต้องต่อด้วยลิง

ลิงที่พวกผมยิงกันนั้น เหมือนเป็นอาหารที่เจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขาเขาให้มา ดังที่เล่ามาแล้วว่า พอบ่ายสามโมงแล้วก็จะเริ่มให้ความสนใจในเรื่องของอาหาร ซึ่งจะอยู่บนเส้นทางในระหว่างเดินไปหาแคมป์ เป็นช่วงเวลาที่รีบและจำกัด เนื่องจากมีโอกาสที่จะพลัดหลงกับแคมป์ที่นัดกันไว้ บนเส้นทางนี้อะไรที่เก็บกินได้ก็จะเก็บ ลิงที่เขาให้มาก็จะอยู่บนเส้นทางนี้ นั่งอยู่เดี่ยวๆโดดเด่นบนกิ่งไม้ให้ยิง หากลิงอยู่กันเป็นฝูงก็ไม่กล้าหรอกครับ กลัวมันรุมเอาเหมือนกัน ที่ว่าเจ้าป่าเขาให้มาก็เพราะเหตุนี้แหละครับ คือไม่ต้องไปแสวงหา มีมาให้หนึ่งตัวเดี่ยวๆ 

ลิงค่อนข้างจะมีกลิ่นคาว ไม่กินเลือดและเครื่องในกัน กินแต่ดีเท่านั้น วิธีทำก็คล้ายๆค่าง แต่จะไม่แกงกัน จะเป็นผัดแบบเผ็ดๆและผสมเครื่องแกงสำหรับผัดเป็นพิเศษ ก็ใช้น้ำพริกแกงเผ็ดธรรมดา เิ่พิ่มตะใคร้อีกสักต้น ผิวมะกรูดอีกสักครึ่งลูก ข่าอีก3-4 แว่น ดอกกระเพรา (หากมี) กะปิอีกหน่อย แล้วใส่เม็ดผักชี (เครื่องเทศ ที่ต้องพกพาเป็นประจำ) ใช้กระทะผัดน้ำพริกให้หอม ใส่เนื้อผัดให้สุก เติมเกลือ เติมน้ำปลา เอาน้ำล้างครกใส่ไปด้วยให้น้ำขลุกขลิก ปิดกระทะด้วยฝาให้เดือนจัด ยกลงกินได้แล้วครับ



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 เม.ย. 12, 19:02
ถึงตรงนี้ก็คิดว่าคงจะต้องชี้แจงเพื่อความเข้าใจในบางเรื่อง

การทำงานของพวกผมนั้น จำแนกได้เป็น  2 ลักษณะ คือ แบบเดินดาหน้าสำรวจไปเรื่อยๆ (ทำแผนที่) กับแบบตั้งแคมป์เดินไปทำงานเช้า-เย็นกลับแคมป์ (สำรวจแหล่งแร่)
ในช่วงระหว่างปี 2508 - 2522 นั้น อยู่ในช่วงการทำแผนที่ธรณ๊วิทยาพื้นฐานอย่างเป็นระบบทั่วประเทศไทย ประเทศไทยยังไม่เคยมีแผนที่ในลักษณะนี้ ผมสมัครใจทำงานอยู่ในพวกทำแผนที่นี้ เดินไปทุกที่ในระวางแผนที่ที่ได้รับมอบหมาย เท่าที่จะเดินไปได้เพื่อเก็บข้อมูลนำมาประมวลทำแผนที่ให้มีความถูกต้องมากที่สุด ผลที่ได้รับมันเป็นความภูมิใจ ข้อมูลที่ได้ทำกันมาได้ทำให้มีการสำรวจและพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและน้ำมันบนบก ใด้ใช้ในเรื่องของน้ำบาดาลที่ช่วยคนไทยให้มีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลนเป็นจำนวนมากมายทั่วทุกภาค ได้พบถ่านหินและแหล่งแร่อีกหลายแหล่ง ฯลฯ

ด้วยลักษณะงานแบบนี้ ในสภาพแวดล้อมและความธุรกันดารหฤโหดในสมัยนั้น จึงมีเรื่องราวของการอยู่รอดเล่าให้ฟังดังที่เล่ามา มิใช่เป็นเรื่องของความสนุกใดๆที่ไปเสาะแสวงหา เพียงแต่อยู่ให้รอด อยู่อย่างพอเพียง อยู่อย่างเพียงพอ และเบียดเบียนให้น้อยที่สุดเท่านั้น


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 12, 20:34
ดิฉันเชื่อว่าคุณตั้งคงจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับป่าเก็บไว้ในความทรงจำอีกมาก    การสำรวจพื้นที่ของนักธรณีวิทยาไม่ใช่การเข้าไปปิคนิคในป่า หรือไปล่าสัตว์ เราทุกคนก็ทราบกัน    พร้อมกับงานสำคัญที่ได้กลับมา  ก็ย่อมมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับชีวิตในป่าที่ไปพบเห็นอีกมาก  ซึ่งชาวเมืองไม่มีโอกาสรู้  จึงได้เชิญไว้เผื่อจะอยากเล่าถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รู้กัน

คุณตั้งเล่าถึงลิงผัดเผ็ด   ดิฉันก็พยายามหารูปประกอบมาให้ตามเคย   ไปค้นกูเกิ้ลได้เมนูลิงมาหลายจาน  แต่เจอรูปที่ชวนสังเวชมากกว่าชวนให้ทึ่ง  ก็เลยไม่ได้เอามาลงให้ดูค่ะ
อยากทราบอีกนิดเดียว   เนื้อลิงรสชาติมันคล้ายเนื้ออะไร   ถ้าตอบว่าคล้ายเนื้อค่างก็คงจะถามต่อว่าแล้วเนื้อค่างคล้ายอะไรที่ชาวบ้านชาวเมืองเขากินกัน  พอจะเปรียบเทียบได้ไหมคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 12, 21:02
....คุณตั้งเล่าถึงลิงผัดเผ็ด   ดิฉันก็พยายามหารูปประกอบมาให้ตามเคย   ไปค้นกูเกิ้ลได้เมนูลิงมาหลายจาน  แต่เจอรูปที่ชวนสังเวชมากกว่าชวนให้ทึ่ง  ก็เลยไม่ได้เอามาลงให้ดูค่ะ
อยากทราบอีกนิดเดียว   เนื้อลิงรสชาติมันคล้ายเนื้ออะไร   ถ้าตอบว่าคล้ายเนื้อค่างก็คงจะถามต่อว่าแล้วเนื้อค่างคล้ายอะไรที่ชาวบ้านชาวเมืองเขากินกัน  พอจะเปรียบเทียบได้ไหมคะ

จำๆไม่ได้จริงๆและจำแนกไม่ออกครับว่ารสเนื้อลิงเหมือนเนื้ออะไร คงจะเป็นเพราะความที่มันไม่ประทับใจเป็นพิเศษอะไรมากมาย จำได้แต่ว่ากลัวคาว จึงทำให้เผ็ดและรสร้อนแรงเท่านั้น ซึ่งผลที่ได้มาคือ อร่อยที่รสของเครื่องปรุง มิใช่ที่รสเนื้อ ซึ่งต่างกับรสเนื้อค่างที่มีรสเนื้อออกหวานเมื่อต้องพยายามเคี้ยวให้แหลก (Chewy)    Texture ของเนื้อค่างเหมือนกับเนื้อที่เรียกว่าเนื้อหมูป่าติดหนังที่ขายกันในท้องตลาด เพียงแต่ส่วนหนังและส่วนเนื้อบางกว่ามาก

   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 12, 21:24
ขอบคุณค่ะ  หารูปเนื้อค่างไม่ได้  ได้แต่รูปเนื้อหมูป่ามาแทน


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 12, 21:37
สลับไปเมนูอาหารที่ดูเป็นคนเมืองสักหน่อยครับ
ไก่ป่า เป็นอาหารที่หากินได้เกือบจะทุกวัน และจะเป็นอาหารมื้อเช้าเสียส่วนมาก ยิงมาครั้งละหนึ่งตัวก็พอ และก็ยิงแต่ตัวผู้เป็นหลัก ปล่อยให้ตัวเมียไปออกไข่เพาะพันธุ์ต่อไป (ยกเว้นอดจริงๆก็จะยิงตัวเมีย)
ไก่ป่าเป็นของที่หากินได้ค่อนข้างง่าย ตามปรกติเมื่อตั้งแคมป์แล้ว กินอาหารเย็นแล้ว พอมืดประมาณหนึ่งหรือสองทุ่มก็จะออกเดินไปบริเวณที่เป็นป่าไผ่พร้อมไฟฉายและปืน ไม่ทำอะไรหรอกครับไปแอบดูว่าต้นใหนมีไก่ป่าเกาะกิ่งไผ่นอนอยู่บ้าง จำสถานที่ไว้แล้วก็กลับมานอน พอประมาณตีห้าก็ไปอีกครั้ง คราวนี้เพื่อการยิงเอามากิน เหตุที่ทำเช่นนี้ก็เพาะว่า ตอนหัวค่ำ ไก่จะมองลงพื้นดินเพื่อดูว่ามีสัตว์อะไรจะมารบกวนบ้าง เช่น อีเห็น เป็นต้น พอจะเช้าไก่จะมองฟ้าดูว่าเมื่อใดจะสว่าง มันไม่ค่อยจะระวังด้านพื้นดิน เราจึงสามารถเข้าไปใกล้ๆและยิงมันได้ไม่ยากนัก

ผมไม่เคยเอาไก่ป่ามาทำต้มยำสักครั้ง จะเอามาผัดเผ็ดหรือแกงเผ็ดเป็นปรกคิ ก็ทำง่ายๆ เอาเกลือ กระเทียม และพริกแห้งใส่ครก ตำให้แหลกแบบหยาบๆ ผัดเครื่องให้หอมแล้วจึงใส่ไก่ ใส่น้ำล้างครกลงไป แบบขลุกขลิก ปรุงรสด้วยน้ำปลา อาจจะใส่น้ำตาลปี๊บนิดหน่อยเพื่อตัดรสให้แหลมขึ้นก็ได้ เท่านั้นเอง กินกับข้าวสวยร้อนๆตอนเช้า อร่อยนักแล
เนื่องจากไก่ป่าตัวมันเล็ก วิธีการสับเนื้อไก่จึงมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับจำนวนคนในคณะ มีแบบสับเป็นชิ้นขนาดพองามแบบชาวกรุงก็มี สับเป็นชิ้นเล็กๆขนาดประมาณเมล็ดถั่วปากอ้าก็มี สับทั้งกระดูกทั้งตัวใกล้จะเป็นแบบลาบก็มี กินได้อรรถรสต่างกัน ที่กินแบบทรมาณ อร่อย กินได้หลายคน และไม่เปลืองกับนั้น ก็คือการสับทั้งกระดูก เวลากินก็พยายามเคี้ยวกระดูกบ้าง พยายามปลิ้นเนื้อออกให้หมดแล้วคายกระดูกบ้าง เป็นการกินที่ช้าและเปลืองข้าวอีกด้วย  



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 12, 21:44
คุณตั้งเอ่ยถึงไก่ป่า ค่อยคุ้นชื่อหน่อย  เพราะในเพชรพระอุมา  นางเอกกินไก่ป่าที่พระเอกยิงมาให้หลายมื้อด้วยกัน
คุณตั้งพูดถึงผัดเผ็ดและแกงเผ็ดหลายครั้ง    เลยสงสัยว่าใช้น้ำมันอะไรคะ   และแกงเผ็ดที่ใส่กะทิด้วย  เอากะทิติดตัวไปในรูปแบบไหน


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 12, 21:56
เมื่อไรที่กำลังเดินไปหาแคมป์แล้วพบไก่ป่า อาหารเย็นก็จะไปในอีกรูปแบบหนึ่ง จะกลายเป็นแกงไก่ป่าหรือลาบแทนที่จะผัดเผ็ด อาจจะสงสัยว่าเพราะเหตุใด ไม่มีอะไรหรอกครับ นึกถึงกับแกล้มเหล้ามากกว่า กับข้าวตัวจริงก็คือน้ำพริกกับผักเป็นหลัก
อย่างที่เล่าว่าไก่ป่าตัวมันเล็ก เราก็ต้องมีวิธีการเพิ่มปริมาณ เมื่อได้ไ่ก่มาแล้ว เรารู้ว่าเนื้อมันน้อยก็จะแวะหาต้นกล้วยป่า ลอกเอาแต่แกนในมาใส่ในแกงเพื่อเพิ่มปริมาณ ก็ทำเหมือนการทำก้านบัวแกงกะทิกับปลาทูใส่มะดัน เพียงแต่ใช้มีดขวั้นหยวกกล้วยให้เป็นชิ้นสั้นๆแล้วม้วนปั่นเอาใยออกไห้หมด แช่น้ำที่ใส่มะขามเปียกหรือมะนาวไว้กันดำก่อนที่จะใส่ลงในน้ำเดือดๆของแกง แกงนี้จะต้องปรุงรสอีกครั้งก่อนกิน เนื่องจากน้ำในหยวกกล้วยจะทำให้รสแกงจืดลงไป

หากได้ไก่แล้วยังอยู่ใกล้ช้านชาวบ้านป่า ก็จะทำลาบหรือแกงโดยใช้เปลือกต้นตะคล้ำนำมาสับให้แหลกเพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อ ใส่เปลือกตะคล้ำไปตามที่ต้องการเพิ่มปริมาณ เวลาตักกินจริงๆ นึกออกใหมครับ มีแต่เปลือกไม้ ไม่รู้ว่าเนื้อไปอยู่ที่ใหนหมด  


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 12, 22:12
คุณตั้งเอ่ยถึงไก่ป่า ค่อยคุ้นชื่อหน่อย  เพราะในเพชรพระอุมา  นางเอกกินไก่ป่าที่พระเอกยิงมาให้หลายมื้อด้วยกัน
คุณตั้งพูดถึงผัดเผ็ดและแกงเผ็ดหลายครั้ง    เลยสงสัยว่าใช้น้ำมันอะไรคะ   และแกงเผ็ดที่ใส่กะทิด้วย  เอากะทิติดตัวไปในรูปแบบไหน

น้ำมันนั้นซื้อเตรียมเข้าไปครับ เป็นน้ำมันหมู ครั้งละ 1 กก. การใช้แต่ละครั้งจะเป็นเพียงการหล่อกระทะ มิได้ใส่ในปริมาณเหมือนทำครัวในเมือง สังเกตไหมครับว่าจะมีการใส่น้ำล้างครกเสมอ ผัดเผ็ดจึงออกมาในรูปของมีน้ำขลุกขลิก สำหรับแกงเผ็ดนั้นในป่าจะไม่มีการใส่กะทิเลย แท้จริงแล้วมันก็คือเครื่องแกงผัดเผ็ดที่ใส่กะปิและหอมแดงเพิ่มเข้าไป แล้วใส่น้ำมากๆนั่นแหละครับ มันเป็นแกงป่าจริงๆ ซึ่งจะเรียกว่าแกงส้มก็ไม่ใช่เพราะใส่กระเทียมในเครื่องแกงและไม่ใส่น้ำมะขามเปียก
อนึ่ง เหตุที่ผมยังไม่ใช้คำว่าแกงป่าก็เพราะว่า เครื่องแกงป่าที่อร่อยนั้นทำอีกแบบหนึ่งครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 12, 18:08
ไก่ป่า


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 เม.ย. 12, 20:04
ไก่ป่า

รูปนี้ไก่ฟ้าครับ  ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 12, 20:27
เพล้ง...
หน้าแตก


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 12, 20:29
มารีเอ๊กแซมค่ะ   
ไก่ป่าหน้าตาอย่างนี้หรือเปล่าคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 เม.ย. 12, 22:00
OK ครับ

ใกล้เคียงมากครับ สีสรรลักษณะนี้ แต่ตัวจริงๆจะมีขนปุกปุยน้อยกว่านี้ และขนสั้นกว่านี้ คือไม่เหมือนใส่โสร่งกรอมเท้าลากดิน
ผมว่ารูปตัวนี้เหมือนกับมีการผสมกับไก่บ้านมาแล้วครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 12, 22:06
ตัวขนปุกปุยใส่โสร่งกรอมเท้าแบบนี้ละค่ะ  ดิฉันเคยเลี้ยงเอาไว้ที่สนามหลังบ้าน   จนกระทั่งไข้หวัดนกระบาดก็เลยต้องส่งกลับเจ้าของเดิม   เพิ่งรู้ว่าเป็นไก่ป่าผสมไก่บ้าน
เลยเอารูปมาให้ดูอีกหลายๆตัว   ว่าแบบไหนเป็นแบบที่ลงหม้อแกงของคุณตั้งตอนไปสำรวจป่า


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 เม.ย. 12, 22:15
ขอส่งรูปมาให้ดู

เป็นที่ตั้งแคมป์ที่ผมชอบมากที่สุดที่หนึ่ง อยู่ในห้วยขาแข้ง จะเห็นไก่อยู่ตัวหนึ่ง คือไก่ต่อ เป็นไก่ป่าที่ชาวบ้านเขาเอาไข่มาฟัก เป็นตัวผู้ จะไปใหนก็เอาใส่ชะลอมสานพอดีตัวมัน หนีบสะพายไปได้ทั้งวัน พอได้ยินเสียงไก่ป่าร้อง ก็เอามันออกมา (ผูกเชือกไว้ที่ขาข้างหนึ่งสั้นๆผูกติดไม้ปักเอาไว้) มันจะรู้หน้าที่ว่ามันต้องขันเพื่อเรียกตัวผู้อีกตัวให้ออกมา ไก่ป่าตัวผู้จะต้องรีบบินออกมาเผชิญหน้า มาดูว่าใครหว่ามาอวดเบ่งในถิ่นฮาเร็มของฉัน ก็จะถูกยิงเอามากิน ไก่ต่อเก่งๆ หากเจ้าของยิงพลาดแล้วไก่ป่าบินหนีไป มันจะยิ่งขันใหญ่เลยจนตัวที่บินไปนั้นอดไม่ได้ต้องบินกลับมาให้ยิงอีกครั้ง

แต่การใช้ไก่ต่อนี้ก็ต้องระวัง หากเป็นไก่ที่มีขนคอลาย บางทีจะกลายเป็นการขันเรียกเสือเข้ามา เสือก็อยากกินไก่เหมือนกัน (http://)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 12, 22:21
ไก่ต่อ เป็นศัพท์ใหม่   เคยได้ยินแต่ "นกต่อ" ค่ะ
วิธีการ ก็เพิ่งรู้นี่แหละ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 เม.ย. 12, 22:23
ตัวซ้ายมือครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: atsk ที่ 20 เม.ย. 12, 12:55
ไก่ต่อ แถวบ้านผมเรียกไก่ตั้งครับ เดี๋ยวนี้จะไม่ต่อมากินไม่มีการยิงแล้วครับแต่จะต่อมาขายเพื่อเลี้ยง โดยการต่อนั้นไก่ต่อหรือไก่ตั้งจะผูกไว้กับหลักเหมือนกันครับ ส่วนกับดักก็คือบ่วงเชือกธรรมดานี่แหละครับทำบ่วงเชือกหลายๆอันวางไว้ตามพื้นดินรอบๆตัวไก่ต่อปลายอีกด้านก็จะผูกไว้กันต้นไม้ ขอนไม้หรืออะไรก็ได้ที่มีน้ำหนักมากสักหน่อย พอไก่ป่ามาขันท้ามันก็จะเดินไปมารอบๆไก่ต่อเท้าไก่ป่าก็จะไปเกี่ยวบ่วงเชือกรัดขาบินหนีไม่ได้เราก็จะวิ่งเข้าไปจับครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: atsk ที่ 20 เม.ย. 12, 12:59
ขออนุญาตรายงานเรื่องต้นแอปเปิ้ลเมืองนิดนึงนะครับ

ใครอยู่ในกทมแล้วอยากเห็นต้นแอปเปิ้ลเมืองไปดูได้ที่วัดบูรณศิริมาตยาราม ข้างคลองหลอดใกล้ๆโรงแรมรัตนโกสินทร์ตรงผ่านฟ้าครับ

วันนี้ผ่านไปมองไปในวัดเห็นต้นใหญ่มากใบสวยมากครับ ใครอยากได้เมล็ดไปปลูกที่บ้านลองไปถามพระในวัดดูนะครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 12, 13:18
ดิฉันเคยได้ยินคำว่า "นกต่อ"  ในนิยายอาชญากรรมมักจะมีผู้หญิงสวยๆ เล่นบท "นางนกต่อ"  หลอกพระเอกไปให้ถูกทำร้าย
วิธีการต่อนก  เขาทำกันอย่างไรคะ ใครทราบบ้าง
เป็นนกชนิดไหน ต่อไปทำไม


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: atsk ที่ 20 เม.ย. 12, 14:02
ขอตอบอาจารย์เท่าที่ผมเคยทำนะครับ

ต่อนกเขาใหญ่ ต่อมาเพื่อขายครับ เอาไปเลี้ยงเพื่อฟังเสียงขันครับ   http://www.nokkhao.com/smf/index.php?PHPSESSID=5e574fa05c9087ec3acd67af99b7534d&topic=5888.0
ต่อนกกวัก     ต่อมาเพื่อเป็นอาหารครับ บางคนก็เอาไปเลี้ยงเฝ้าบ้านได้ดีมาก เพราะเมื่อมีคนมานกกวักจะร้องครับ  http://www.youtube.com/watch?v=3pQ8xW55mVE
ต่อนกกระทาทุ่ง  ถ้าได้ตัวเมียเอามาเป็นอาหาร ถ้าได้ตัวผู้เอามาเลี้ยงไว้ฟังเสียงร้องครับ  http://www.youtube.com/watch?v=nTOp6dHSwg4&feature=related
นกกระทาเล็ก (นกขุ้ม)  ต่อมาเป็นอาหารครับ http://www.youtube.com/watch?v=mrgCsWjEwmA&feature=related
นกกางเขนดง  ต่อมาขาย เลี้ยงฟังเสียงร้องครับ  http://www.youtube.com/watch?v=yhpuLgy0pvQ&feature=related
http://www.youtube.com/watch?v=ocSV2Y062lQ

ต่อไก่ป่า มีทั้งต่อมากินและต่อมาเลี้ยงขายลูกครับ    http://www.thaijunglefowl.com/forum-f18.html

http://www.youtube.com/watch?v=fP-8Y4cYkn4&feature=related  นาทีที่ 3.22 ติดแล้วครับ

ขอแปะลิ้งครับอาจารย์


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 เม.ย. 12, 18:52
พวกสัตว์ต่อทั้งหลายนี้ มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย ขึ้นอยู่กับความชำนาญของคนและนิสัยของสัตว์ เท่าที่เห็นมาจะเป็นการต่อเพื่อเอาตัวผู้ เนื่องจากตัวผู้มีนิสัยต้องชิงตัวเมีย หรือต้องปกป้องฮาเร็ม หรือต้องปกป้องถิ่นอิทธิพลของตน

บังเอิญที่สัตว์ตัวเมียมักจะไม่มีเสียงร้องที่ดังและมีลักษณะเป็นเพลงที่มีเสียงสูงต่ำดังเช่นตัวผู้ ดังนั้นสัตว์ต่อจึงมักจะเป็นตัวผู้ อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับสภาพของสถานที่และฤดูกาลด้วย 
หากจะเรียกตัวผู้เข้ามาด้วยเสียงตัวเมียนั้น น่าสนใจที่มักจะเป็นการทำเสียงโดยคน ซึ่งมักจะใช้ใบไม้ใบหญ้าช่วย ผมเองไม่ค่อยจะได้พบและเรียนรู้จากคนที่มีความชำนาญทางนี้มากนัก

การทำเสียงจากออกจากปากและคอ โดยอาจจะใช้มือช่วยบ้างนั้น มักจะมิใช่การทำเสียงเลียนแบบให้เหมือนจริง แต่เป็นการสะกดให้สัตว์นิ่งหยุดฟัง เพื่อที่จะได้ยิงไ้ด้


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 12, 19:39
ขอบคุณคุณ atsk และคุณตั้งค่ะ
ดิฉันเอาลิ้งค์มาทำ youtube ให้ดูกันง่ายๆนะคะ


ต่อนกกวัก     ต่อมาเพื่อเป็นอาหารครับ บางคนก็เอาไปเลี้ยงเฝ้าบ้านได้ดีมาก เพราะเมื่อมีคนมานกกวักจะร้องครับ 
http://www.youtube.com/watch?v=3pQ8xW55mVE

ต่อนกกระทาทุ่ง  ถ้าได้ตัวเมียเอามาเป็นอาหาร ถ้าได้ตัวผู้เอามาเลี้ยงไว้ฟังเสียงร้องครับ
http://www.youtube.com/watch?v=nTOp6dHSwg4&feature=related

นกกระทาเล็ก (นกขุ้ม)  ต่อมาเป็นอาหารครับ
http://www.youtube.com/watch?v=mrgCsWjEwmA&feature=related

นกกางเขนดง  ต่อมาขาย เลี้ยงฟังเสียงร้องครับ 
http://www.youtube.com/watch?v=yhpuLgy0pvQ&feature=related

http://www.youtube.com/watch?v=ocSV2Y062lQ

ต่อไก่ป่า มีทั้งต่อมากินและต่อมาเลี้ยงขายลูกครับ    http://www.thaijunglefowl.com/forum-f18.html

http://www.youtube.com/watch?v=fP-8Y4cYkn4&feature=related 
นาทีที่ 3.22 ติดแล้วครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 เม.ย. 12, 19:47
ไปทำแกงป่าอร่อยๆกินกันดีกว่า แบบทำในเมืองให้เหมือนทำในป่า

สำหรับแกงประมาณ 2 ถ้วยใหญ่
น้ำพริกแกงประมาณ 1 - 2 ช้อนกินข้าว    ใช้น้ำพริกแกงเผ็ดที่ขายกันในตลาดเป็นฐาน (ยังไม่ต้องใส่ในครก) เอาข่ามาหั่นสามสี่แว่น พริกแห้งเม็ดเล็กสัก 10 เม็ด พริกแห้งเม็ดใหญ่สัก 4-5 เม็ด ตะใคร้ซอยสักสองต้น กระเทียมสักหนึ่งหัว หอมสัก 3-4 หัว ใส่เกลือสักครึ่งช้อนกาแฟในครก ใส่ของที่เตรียมไว้นี้โขลกให้แหลกค่อนข้างละเอียด เอากระชายสักสามท่อนนิ้วชี้และฝานผิวมะกรูดสักครึ่งลูกใสลงๆไป โขลกต่อให้แหลก ใส่ดอกกระเพราขาวและดอกกระเพราแดงอย่างละประมาณ 2-3 ดอก โขลกให้เข้ากัน แล้วใส่กะปิหอมๆประมาณเกือบๆช้อนกินข้าวลงไป โขลกให้เข้ากัน พักไว้

เตรียมผักที่จะใส่ เอามะเขือขื่น (มะเขือเหลือง) และมะเขือเปราะอย่างละประมาณ 10 ลูก ผ่าสี่แล้วแช่น้ำไว้ สำหรับมะเขือเหลืองนั้นหใ้บีบเอาเมล็ดออก ซอยกระชายสัก 6-7 แง่ง แช่น้ำไว้ เด็ดมะเขือพวงประมาณหนึ่งกำมือ เด็ดใบกะเพราะขาวและกระเพราแดงรวมๆกันประมาณกำมือ แช่น้ำไว้  แล้วเตรียมเนื้อสัตว์ที่ต้องการ จะเป็นปลาดุก ไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว หรือจะเป็นเนื้อหายาก (กวาง หมูป่า เก้ง ฯลฯ) อะไรก็ได้

วิธีทำ ใช้ไฟแรง เอากระทะตั้งไฟใส่น้ำมันประมาณ 1 ตะหลิว (2-3 ช้อนกินข้าว) พอน้ำมันร้อนค่อนข้างมากเอาน้ำพริกแกงที่ตำไว้ลงผัดให้หอม (เกือบใหม้) จนได้กลิ่นแรงขนาดต้องจาม ใส่้น้ำล้างครกผัดต่อให้เดือด ใส่เนื้อสัตว์ ผัดให้เกือบสุก ใส่น้ำล้างครกอีกครั้งหรือสองครั้งสามครั้งก็ได้ ให้พอขลุกขลิก (พอท่วมเอ่อ) ชิมรส เิ่ติมเกลือให้ออกเค็มมากหน่อย รอให้เดือด จากนั้นจึงเอามะเขือทั้งหลายลงไป เคล้าให้ทั่ว ปิดฝาสักอึดใจ แล้วเอาของที่เหลือทั้งหมดลงไป เคล้าให้ทั่วอีกครั้ง ปิดฝา ราไฟ ยกออกจากเตา เท่านั้นแหละครับ กินกับข้างร้อนๆ สุดยอดเลย

จะให้สุดยอดมากกว่านั้นอีก ต้องกินกับไข่เจียวครับ จะใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ดก็ได้ สัก 3-4 ฟอง ใส่น้ำเล็กน้อยประมาณสองช้อนกินข้าว ใส่น้ำปลา หากจะให้อร่อยกว่านั้นก็ใส่น้ำกระเทียมดองลงไปแทนน้ำเปล่า ใช้น้ำมันมากหน่อย เมื่อน้ำมันร้อนจัดแล้วจึงใส่ไข่ลงไปเจียว พอฟูดีแล้วจึงพลิกกลับด้าน คะเนดูว่าเกรียมพอสวยแล้ว พลิกกลับให้เกรียมเท่าๆกัน

แกงป่านี้ บางทีกินมื้อแรกอาจจะยังไม่อร่อยมากนัก แต่หากค้างคืนแล้วตอนเช้าเอามาอุ่นอีกครั้งบางทีก็จะอร่อยมากกว่า เตรียมน้ำปลาใส่พริกขี้หนูกับหอมซอยและหากจะบีบมะนาวและแช่มะนาวที่บีบไว้ในน้ำปลาก็จะยิ่งชูรสชาติ    

  


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 12, 21:08
เว้นว่างไประยะหนึ่ง
อาจจะสงสัยว่าทำไมจึงขาดเรื่องน้ำพริกไป
น้ำพริกที่ทำกินกันในป่านั้นมีเสมอ แทบจะทุกมื้อเลยก็ว่าได้ จะว่าไป น้ำพริกก็คืออาหารหลักของเมนูอาหารป่า กินได้ทั้งแบบเอาผักมาจิ้มน้ำพริกกิน เอาน้ำพริกคลุกข้าวกินกับผักที่หาได้ และเอามาคลุกข้าวกินเปล่าๆ 

สำหรับผมนั้น แบ่งน้ำพริกออกเป็น 4 พวก คือ พวกเครื่องสด พวกเครื่องเผา พวกเครื่องต้ม และพวกที่เอามาผัด    และผมเห็นว่า น้ำพริกมีองค์ประกอบหลักที่สำคัญ คือ พริก กะปิ และกระเทียม  องค์ประกอบรอง คือ สิ่งที่ทำให้น้ำพริกนั้นๆถูกเรียกชื่อต่างๆกันออกไป (ปลา ปู กุ้ง ไข่เค็ม ฯลฯ) องค์ประกอบย่อย คือ ที่ทำให้ออกรสและกลิ่น (แมงดา มะดัน มะกอก ฯลฯ) และองค์ประกอบสุดท้าย คือ ช่วยเพิ่มปริมาณเนื้อของน้ำพริก (มะเขือ มะอึก พริกขี้หนู ฯลฯ)

ด้วยเหตุนี้ น้ำพริกจึงมีชื่อเรียกได้นับร้อยชนิด และก็คงจะไม่มีสูตรตายตัวเสมอไป ความอร่อยของน้ำพริกอยู่ที่รสชาติของน้ำพริกที่ผสมผสานกับการเลือกผักจิ้มที่เหมาะสม ความน่า่ลิ้มลองชวนกินอยู่ที่รูปร่างหน้าตาที่นำเสนอ และความดึงดูดใจให้ต้องลิ้มลองอยู่ที่กลิ่นที่หอมหวนชวนกิน

ผมเห็นว่่า น้ำพริกที่ทำกินกันในป่านั้นไม่ถูกจำกัดด้วยความไม่กล้าที่จะลองทำ หากคนในเมืองทำน้ำพริกอะไรที่แตกต่างไปจากปรกติ ก็คงจะมีคนกล่าวหาว่าบ้าไปแล้ว

ลองพิจารณาน้ำพริกที่แปลงไปจากน้ำพริกกะปินะครับ (ผมจัดเป็นน้ำพริกเครื่องสด) เราสามารถเปลี่ยนรส เปลี่ยนกลิ่น เปลี่ยนความอร่อย ได้หลายอย่างมากๆ เช่น ทำให้ออกรสหวานเล็กน้อยเพื่อกินกับผักดองที่เปรี้ยว (เช่น ยอดกุ่มดอง) ทำให้เผ็ดหรือรสจัดมากกว่าปรกติเพื่อกินกับผักที่มีเนื้อชุ่มน้ำ (เช่น แกนของหยวกกล้วย ดอกกะทือ) ใส่มะกอกฝานเปลือกเป็นชิ้นเล็กๆและใส่เนื้อลงไปด้วยกินกับพวกเนื้อเค็มหรือผักดองเค็ม ใส่มะเขือส้ม (มะเขือสุกลูกเล็กๆคล้ายมะเขือพวก) ใส่มะม่วงเปรี้ยวซอย ใส่แมงดานา ใส่ไข่แมงดาทะเล ใส่มะอึก ใส่มะเขือพวงเผา (ผ่าครึ่งลูก) ใส่มะดัน ใส่ตะลิงปลิง ใส่น้ำมะกรูดแทนมะนาว ใส่น้ำมะขามเปียกแทนมะนาว ใส่ไข่เค็ม ใส่กุ้งแห้งโขลกละเอียดหรือเป็นตัว ใส่มะเขือเปราะซอยบางๆ ใส่มะเขือพวง ใส่กุ้งสด ใส่ปลาแห้งป่น ฯลฯ เป็นต้น
ลองตำน้ำพริกกะปีโดยใช้พริกแห้งเม็ดเล็กดู ก็จะได้รสและกลิ่นไปอีกแบบ หรือใส่ข่าเผาก็จะมีกลิ่นไปอีกแบบ

น้ำพริกที่ผมชอบในเชิงของภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ ของกะเหรี่ยงที่ไปด้วยกัน เขาเอาพริกแห้งทำเป็นพริกป่นแยกห่อไว้ถุงหนึ่ง เอาตะไคร้หั่นซอยแยกไว้อีกถุงหนึ่ง เอากะปิละลายกับน้ำมะขามเปียกแยกไว้อีกถุงหนึ่ง และเกลืออีกถุงหนึ่ง เมื่อจะกินน้ำพริกก็เพียงแต่เอาพริกป่นมาใส่กะปิ เมื่อจะแกงก็รวมเอาตะไคร้ พริกป่น และกะปิเป็นน้ำพริกแกง กะสัดส่วนในปริมาณที่พอดีๆ ใส่เกลือ ก็จะได้อาหารที่อร่อย  ครบเครื่องของความเป็นยาอีกด้วย เนื่องจากมะขามเปียกจะช่วยแก้อาการคันคอเมื่อกินพืชผักบางอย่าง (ผักกูด ไหลบอน บุก ฯลฯ) เกลือช่วยแก้ความอ่อนเพลียจากการเสียเหงื่อ





 




กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: tidlek ที่ 01 พ.ค. 12, 12:26
สวัสดีคุณ naitang และชาวเรือนไทยทุกท่าน

แอบเข้ามาอ่านอย่างตั้งใจแต่ต้นเพราะเคยทำงานตามหมู่บ้านชายป่า ชายเขาในช่วงสั้นๆ ช่วงหนึ่งของชีวิต อ่านแล้วทำให้คิดถึงรสชาติยอดมันสำปะหลังต้ม แกนของหยวกกล้วย จิ้มน้ำพริกปลากระป๋อง  ขึ้นมาอีกครั้ง
ช่วงนี้รู้สึกว่าจะว่างเว้นไป รออ่านอยู่นะครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ค. 12, 17:33
^
ขอบคุณครับที่ติดตามอ่าน และต้องขออภัยที่มิได้เขียนอย่างต่อเนื่อง ช่วยเลี้ยงหลานครับ อีกไม่กี่วันก็จะเว้นไปอีกอาทิตย์หนึ่ง แล้วจะมาลุยต่อครับ

ว่าเรื่องน้ำพริกเครื่องสดแล้ว จะขอต่อไปน้ำพริกเครื่องต้ม
น้ำพริกนี้ทำง่าย ปรกติจะใช้ทำน้ำพริกปลา แทนที่จะต้มปลาแล้วเอามาแกะเอาเนื้อไปตำน้ำพริก เราก็ต้มเครื่องไปด้วยเลย หลักๆก็เอาข่า 2-3 แว่น พริกสดปริมาณตามชอบ (7-8 เม็ด) หอม 4-5 หัว กระเทียม 1 หัว ตะไคร้ 2-3 ต้น ต้มพร้อมไปกับปลา ใส่น้ำประมาณสักหนึ่งชามแกง ใส่เกลือให้ออกรสเค็ม สำหรับปลานั้นจะเป็นปลาอะไรก็ได้ ที่ทำแบบนี้มันง่ายและยังกันคาวปลาด้วย เครื่องเหมือนต้มยำเลยใช่ใหมครับ ขาดใบมะกรูดอีกอย่างเดียวก็จะเป็นต้มยำ เมื่อเนื้อปลาสุกดีแล้ว ตักเอาพริก หอม กระเทียมมาโขลกในครกเข้าด้วกัน แกะเนื้อปลาใส่ครกตำให้แหลก เอาก้างปลาใส่คืนในน้ำ ตักน้ำใส่ครกละลายน้ำพริกให้เหลวกำลังพอดีกิน ปรุงรสด้วยเกลือหรือน้ำปลาอีกหน่อย หากรู้สึกยังไม่เผ็ดพอจะใส่พริกป่น พริกสด เพิ่มลงไปก็ได้ อาจจะบีบมะนาวให้ออกรสเปรี้ยวด้วยก็ได้เช่นกัน กินกับผักต้มหรือผักสดก็ได้ อร่อยเหมือนกันครับ
ส่วนน้ำที่ต้มเครื่องน้ำพริกและปลานั้น (ตอนนี้เหลือแต่หัวกับก้างและตะไคร้เป็นเนื้ออยู่) ก็ปรุงรสให้เป็นน้ำแกงซดแก้ฝืดคอ จะปรุงต่อไปให้เป็นต้มยำก็ได้

วันหนึ่งกะเหรี่ยงที่ไปด้วย เอาชะอมทั้งมัดใส่ต้มพร้อมไปกับปลาดุก เลยไม่ทำน้ำพริก ก็กินได้นะครับ แปลกดี ไม่นึกเลยว่าเครื่องและกลิ่นมันจะไปกันได้ 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ค. 12, 18:02
น้ำพริกเครื่องเผาก็ทำในทำนองเดียวกัน คือ เอาทุกอย่างมาเผาหทั้งหมด รวมทั้งกะปิห่อใบตองเผาด้วย
น้ำพริกแบบนี้เก็บไว้ได้นาน ทำมากๆเพื่อเก็บใว้กิน กินได้ทั้งกินกับผักสดผักต้ม เอาไปละลายในน้ำต้มยำ และหากเอาไปผัดในน้ำมันก็จะได้น้ำพริกเผา (ซึ่งเราอาจจะเพิ่มข่าเผาโขลกเข้าไปด้วยก็ได้)

ตัวน้ำพริกเองเรายังสามารถแปลงรสและกลิ่นออกไปได้อีกมาก เช่น ใส่มะกอก ใส่มะม่วงสับ ใส่น้ำมัะขามเปียก ใส่น้ำมะนาว น้ำมะกรูด เป็นต้น 
 
น้ำพริกเครื่องเผานี้ยังใช้ในการเอาไปทำยำที่อร่อยต่างๆ โดยเฉพาะยำแย้กับยอดมะกอกอ่อน ยำกบกับหัวปลีเผา ยำเนื้อ (สัตว์ป่า) ย่างแห้งรมควันกับเครื่องหอมซอยต่างๆ (ผักไผ่ หอมสด ผักชี ใบสะระแหน่ ใบผักชีฝรั่ง หอมแดง กระเทียม) กินกับใบโกศล ใบหูเสือ ใบเล็บครุฑ ใบตูดหมูตูดหมา ยอดต้นกระโดน (จิก) ยอดเสลี่ยม (สะเดา) สารพัดผักแนมสำหรับยำและลาบ ฯลฯ

ผมชอบน้ำพริกนี้สำหรัับพกพากินกับข้าวเป็นอาหารกลางวัน แล้วกินกับกุนเชียงปิ้งให้ผิวเกรียม นึกถึงแล้วยังน้ำลายสอเลยครับ จะได้กินเมนูนี้ก็เมื่อกำลังจะกลับเข้าเมือง กุนเชียงเป็นอาหารตุนเผื่เหลือเผื่อขาดอย่างหนึ่ง ส่วนมากก็มักจะซื้อเข้าไปครั้งละประมาณ 1 กก.


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 01 พ.ค. 12, 18:12
อ่านต้มปลากับเครื่องน้ำพริกต้มแล้วนึกภาพ การเตรียมน้ำพริกสำหรับทำน้ำยาขึ้นมาได้

แต่เบลอๆ ดูเหมือนจะมีการต้มปลาช่อน หรือปลาสำลีกับเครื่อง.....และมีกระชายด้วย

พอสุกก็ช้อนเครื่องน้ำพริกที่อ่อนตัวแล้ว ขึ้นมาโขลกจนได้ที่....แล้วแกะเนื้อปลาที่ต้มโขลกให้เป็นเนื้อเดียวกัน

เอาก้างออกให้หมด แล้วเทกลับลงไปในน้ำต้ม ในหม้อ ปรุงรสด้วยน้ำปลาดี

จะได้น้ำยาที่ข้น ด้วยเนื้อปลา หอม อร่อยสุดๆค่ะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 12, 19:34
เว้นวรรคไปเสียนานครับ
ขอกลับมาต่อเรื่อง เพื่อให้กระทู้นี้ได้จบลงอย่างนุ่มนวล

ที่ผ่านมา อาหารส่วนมากจะเป็นเรื่องของผักและสัตว์เล็กๆ
จะขอเล่าต่อในเรื่องของสัตว์ปีก
ไก่ป่านั้นผมจะเลือกเฉพาะตัวผู้เอามาทำกิน ปล่อยตัวเมียให้กกไข่แพร่พันธุ์ต่อไป ชาวบ้านเขาก็ทำกันแบบนี้ จะยกเว้นก็เฉพาะคนในเมืองที่ชอบเข้าป่าแล้วยิงดะทุกอย่างที่เคลื่อนที่ได้
ในช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม ต้นไผ่ในป่าบางแห่งก็จะแตกขุย คือ ไผ่ออกดอก จากนั้นก็จะตายยกป่า ในช่วงนี้ไก่ป่าจะมีมาก ออกมากินขุยไผ่กัน ไก่ตัวเมียจะอ้วนอิ่มเอิบมาก ไก่ตัวผู้ก็เช่นกัน ไก่ป่าช่วงนี้จะอร่อย เนื้อแน่น
ไก่ฟ้าพญาลอก็มีเหมือนกัน (Pea fowl ???) เราจะปล่อยมันไม่นำมาทำอาหาร ไก่ฟ้ามักจะชอบอยู่ในบริเวณที่เป็นป่าชุ่มชื้น มีใบไม้ตามพื้นดินมาก เนื่องจากมันเป็นสัตว์กินแมลงตามพื้นดิน  นกยูงก็ยิ่งไม่เอาเลย   
นกที่เอามากินก็เลือกครับ นกที่กินเนื้อ (แมลง) ส่วนมากจะมีเนื้อสีแดงเข้มไม่น่ากิน หากเป็นนกตัวใหญ่จะเอามาทำกินจะต้องถลกหนังทิ้งไป นกพวกนี้ เช่น นกกะปูด เหยี่ยวนกเขา เหยี่ยวอีรุ้ม นกฮูก ถึดทือ ฯลฯ  นกกินผลไม้ที่ตัวขนาดใหญ่ก็ไม่เอามากินเหมือนกัน เช่น นกกก เงือก กาฮัง นกแกง ฯลฯ
นกที่เอามากินก็จะมี นกกุลุมพู (ชอบเกาะอยู่สูงมากตามยอดไม้) นกเขาเปล้า นกเขาเขียว และเขาใหญ่  ส่วนนกตัวขนาดเล็กทั้งหลายจะไม่ไปยุ่งกับมัน  ซึ่งเหตุผลที่สำคัญก็คือ ตัวมันเล็กมากไป ต้องยิงหลายๆตัวจึงจะพอหม้อแกง และอีกประการหนึ่งคือไม่คุ้มค่าลูกปืน

การเอาไก่มาทำอาหารสำหรับคณะ ใช้เพียงตัวเดียวก็พอ เราเอาเนื้อตัวของมันมาเป็นเพียงกระสัยในแกงหรือผัด ที่กินกันเอร็ดอร่อยจริงๆนั้นมันคือผักและรสชาติของน้ำแกงผนวกกับพืชผักที่ใส่ลงไป และการแทะเล็มเนื้อติดกระดูก  เผ็ดมาก รสจัดมาก ร้อนมาก ก็กินข้าวมาก (กินกับน้อย) กินน้ำแก้เผ็ดมากตามไปด้วย (อิ่มน้ำ) กับข้าวป่าจึงมีรสจัดและเผ็ดเป็นมาตรฐาน สำหรับเรา เพียงเจียวไข่ไปแนมเท่านั้นอาหารป่าก็กลายเป็นอาหารที่อร่อยสุดที่จะพรรณา

สำหรับนกนั้น ตัวเล็กกว่าไก่มาก อย่างน้อยก้ต้องใช้ถึงสามตัวจึงจะพอมื้อ วิธีการทำจึงจะใช้วิธีตัดเป็นชิ้นๆไม่ได้ จะใช้วิธีสับให้แหลกและค่อนข้างจะละเอียดอีกด้วย เพื่อมิให้คงเหลือกระดูกเป็นเสี้ยนอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของคำว่าแกงสับนก แกงสับนกนี้ก็แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ นิยมจะใส่กระชาย สำหรับเครื่องหอมนั้นก็ใช้ได้ทั้งใบกระเพราหรือใบโหระพา


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ค. 12, 19:24
พวกสัตว์ขุดรูและสัตว์อยู่ในโพรงอยู่ก็เอามาเป็นอาหารได้หลายชนิด

พวกนี้เกือบทั้งหมดจะเอามาผััดเผ็ดที่มีน้ำมากหน่อย (ยังไม่เป็นแกงป่าเพราะไม่ได้ใส่ผักอื่นๆ)  เครื่องผัดเผ็ดก็ง่ายๆ เอาพริกแห้งเม็ดเล็กโขลกกับเกลือพอแหลก ใส่เกลือไปด้วยเพื่อช่วยให้ตำให้แหลกได้ง่ายและเป็นการปรุงรสไปในตัว ใส่กระเทียม ใส่ข่า ใส่ผิวมะกรูด (หากมี) ใส่ตะไคร้ซอย จะใส่หอมแดงหรือไม่ใส่ก็ได้ หากมีดอกกระเพรา หรือดอกโหระพา ใส่รวมไปด้วยก็ยิ่งดี เมื่อเครื่องแกงแหลกพอแล้ว ก็เอาลงผัดให้หอมจนจาม เอาเนื้อสัตว์ลงผัดให้สุก เติมเกลือหรือน้ำปลาตามชอบ จะใส่น้ำตาลปี๊บเพื่อตัดรส (ทำให้รสแหลมขึ้นก็ได้) คะเนว่าเกือบจะสุกดีแล้วก็เอาน้ำล้างครกใส่ลงไป ชิมรสให้พอดีพอเหมาะอีกครั้ง เท่านั้นเอง

พวกสัตว์อยู่รู ได้แก่ เม่นธรรมดา (ขนกลม) เม่นหางพวงที่กะเหรี่ยงเรียกว่าชะบา (ขนออกไปทางแบนและตัวเล็กกว่า) ตัวตุ่น ตัวอ้น ตัวแย้ ตัวนิ่ม   
พวกสัตว์อยู่โพรง ได้แก่ อีเห็นข้างขาว อีเห็นข้างลาย อีเห็นหางปล้อง อีเห็นแผง หมูหริ่ง หมาหริ่ง 
สัตว์เหล่านี้กินได้ทั้งนั้น แต่ก็ต้องรู้วิธีทำด้วย ที่เหมือนกันคือเอามาชุบน้ำแล้วเผา ขูดขนออกให้หมด แล้วเผาต่อใ้ห้พองจนตัวเต่งเหมือนเป่าลม จากนั้นจึงผ่าเอาเครื่องในออกให้หมด ไม่กินเครื่องใน
สำหรับสัตว์อยู่รูนั้น ลักษณะของเนื้อมักจะคล้ายเนื้อหมู มีชั้นไขมันเปลว   
แต่สำหรับสัตว์อยู่โพรงนั้น เมื่อยิงได้จะต้องรีบตัดอวัยวะเพศออกทิ้งใปในทันทีโดยเร็ว จะช่วยให้ Urine ไม่กระจายไปทั่วในเนื้อของมัน สัตว์พวกนี้กลิ่นตัวและมีกลิ่นเนื้อสาบแรงมาก ไม่เหมาะที่จะนำมาทำเป็นอาหาร แต่อย่างว่าแหละครับ มันเป็นสัตว์หากินกลางคืน อดเข้าก็เอามากินทั้งนั้น ยิงไปแล้วจึงจะรู้ชัดๆว่าเป็นตัวอะไร  ด้วยปรัชญาที่ถือว่ายิงแล้ว ทำลายชีวิตของเขาแล้วก็ต้องกิน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการบาปหนักที่ไปเบียดเบียนชีวิตเขาแล้วก็ละไป

มีอยู่ปีหนึ่งที่ผมรู้สึกระห่ำเกินไป ลองกินตับของสัตว์ทุกชนิดที่เอามาทำอาหาร โดยเอามาย่างให้สุก ก็หอมอร่อยทานได้ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ แต่สำหรับสัตว์ที่กล่าวมาใน คห.นี้ ส่วนมากจะมีกลิ่นฉี่มากบ้างน้อยบ้าง (จำไม่ได้แล้วครับว่าตัวใหนเป็นอย่างไร) จำได้แต่ว่าตับเม่นและรวมถึงเนื้อเม่นธรรมดานั้นต้องระวัง กินแล้วออกอาการยัน เหมือนเมาหมากพลู อาจจะไปเจอตัวที่มันกินรากไม้บางชนิดเข้าก็ได้  เหมือนกับปลากาในช่วงฤดูน้ำหลากที่มันกินลูกกะบ้า คนกินก็เมาลูกกะบ้าไปด้วย  แต่สำหรับเม่นหางพวงนั้น (ชะบา) หากินในป่ากล้วยจึงไม่เป็นปัญหาใดๆ 

ชาวบ้านป่าเขาจะชำแหละเอาหนังส่วนจมูกเม่นมาปิดไว้หน้่าประตูเข้าบ้านเรือน เพื่อกันผีและทำให้มีโชคดีต่างๆ   

 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 12, 21:38
เรื่องกินเนื้อเม่น  คุณพนมเทียนเล่าไว้ใน"เพชรพระอุมา" ตรงกับคุณตั้ง   ว่าเนื้อเม่นมีมัน และคาวจัด พอย่างไฟแล้วกลิ่นหอมหวน  รสอร่อยเหมือนเนื้อเป็ด  พรานจึงเรียกว่า "เป็ดป่า"
เม่นเป็นสัตว์กินรากไม้ได้ทุกชนิดโดยไม่เป็นอันตราย    แต่คนที่เอาเนื้อเม่นมากิน  บังเอิญเม่นตัวนั้นกินรากไม้ที่มีพิษเบื่อเมาเข้าไป คนกินก็ได้รับพิษนั้นเข้าไปเต็มๆ  คงเกิดอาการเมาที่คุณตั้งเรียกว่า "ยัน"


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ค. 12, 19:37
จะขอผ่านเรื่องสัตว์ตัวเล็กขึ้นไปหาสัตว์ใหญ่
แต่ก่อนจะผ่านไป จะขอกล่าวถึงอาหารจากอีก 2 สัตว์ คือ เต่าและตะพาบน้ำ (ทำไมจะต้องมีคำว่า น้ำ ต่อท้ายด้วยก็ไม่รู้ หรือมีตะพาบบกอีกด้วย ส่วนเต่านั้นมีทั้งที่เป็นเต่าบกและเต่าน้ำ)
สัตว์ทั้งสองชนิดนี้ ทำให้ตายได้ยาก ก็จะไม่เล่าวิธีการ เอาเป็นว่าเอามาผัดเผ็ดและแกงก็กินได้อร่อยทั้งนั้น ซึ่งมิใช่เอามาทำกินแบบที่เราเคยได้ยินได้ฟังกัน (เผา ลุยไฟ นึ่ง) 
ตะพาบน้ำนั้น ตั้งแต่เข้าป่ามาพบเพียงครั้งเดียว ส่วนเต่านั้นพบเห็นได้ค่อนข้างบ่อย ส่วนมากจะเห็นตัวก็เมื่อไฟใหม้ป่า เดินหนีไฟออกมา และที่ปฎิบัติกันก็คือเก็บเอาตัวมันมาปล่อยลงในลำห้วยให้กินน้ำแก้กระหาย เวลาเอาเต่ามาปล่อยลงในห้วยนั้น เห็นมันกินน้ำแบบกระหายแล้ว ไม่เห็นมันเป็นอาหารที่พึงกินอีกเลย ชาวบ้านจะชอบเพราะเอาเลือดหรือดีมาใส่เหล้าเป็นยาแก้กระสัย ผมก็จะขอให้ปล่อยหรือขอซื้อไปปล่อย  ส่วนตะพาบนั้น ผมคิดว่าเป็นความเชื่อในความอร่อยของเชิงของมัน    ก็คงพอจะนึกออกถึงเมนูผัดเผ็ดตะพาบน้ำกันนะครับ

       


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ค. 12, 20:40
มาถึงเรื่องของเมนูอาหารจากสัตว์ใหญ่

สัตว์ใหญ่ที่เอามาทำอาหารกินนั้น ก็มี หมูป่า เก้ง กวาง กระทิง     ในสมัยก่อนๆโน้น (เมื่อสมัยเด็กๆ) ก็มี ละมั่ง ละอง เนื้อทราย สมัน วังแดง  ส่วนสัตว์ที่ไม่เอามากินกัน ก็มี เสือทั้งหลาย หมีทั้งหลาย สมเสร็จ และช้าง

สัตว์เหล่านี้ตัวใหญ่เิกินไปที่จะกินให้หมดสำหรับคน 4-5 คน ต้องทำกินทุกมื้อกันเป็นสัปดาห์เลยทีเดียว
หมูป่านั้นยิงยาก เนื่องจากเป็นสัตว์ที่สวนทางปืน คนที่ยิงอาจจะเจ็บตัวและเจ็บตัว เสียชีวิตได้
เก้ง เท่าที่รู้จักมี 2 ชนิด คือเก้งธรรมดา และเก้งหม้อ   เก้งธรรมดานั้นพบอยู่ทั่วไป ช่วงบ่ายต้นๆจนบ่ายเริ่มจะแก่ มักจะเห็นนอนอยู่ในร่มไม้ในพงหญ้า ส่วนเก้งหม้อนั้นอยู่ในป่าที่เป็นป่าค่อนข้างชื้น (มักจะเรียกว่าป่าดิบ) พบเห็นตัวได้ไม่ง่ายนัก   

พรุ่งนี้ค่อยเล่าต่อนะครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 12, 12:13
รพินทร์ ไพรวัลย์ก็กินเนื้อกระทิงเหมือนกัน   แต่คุณพนมเทียนไม่ได้ขยายความว่าเนื้อกระทิงอร่อยเหมือนเนื้อวัวหรือไม่
เดาว่ากระทิงเป็นสัตว์บึกบึน  กล้ามเนื้อแข็งแรงมาก  เนื้อน่าจะแข็งและเหนียวกว่าวัว
ส่วนหมูป่า(hog)   คุณพนมเทียนบรรยายการย่างหมูป่าไว้น่าน้ำลายไหล   อร่อยไม่แพ้หมูหันในภัตตาคาร   คุณตั้งคงเคยกินหมูป่าย่างมาแล้วนะคะ   รสชาติเหม็นเขียวอย่างที่เคยอ่านพบในหนังสือเล่มอื่นหรือเปล่า


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 12, 19:39
รพินทร์ ไพรวัลย์ก็กินเนื้อกระทิงเหมือนกัน   แต่คุณพนมเทียนไม่ได้ขยายความว่าเนื้อกระทิงอร่อยเหมือนเนื้อวัวหรือไม่
เดาว่ากระทิงเป็นสัตว์บึกบึน  กล้ามเนื้อแข็งแรงมาก  เนื้อน่าจะแข็งและเหนียวกว่าวัว
ส่วนหมูป่า(hog)   คุณพนมเทียนบรรยายการย่างหมูป่าไว้น่าน้ำลายไหล   อร่อยไม่แพ้หมูหันในภัตตาคาร   คุณตั้งคงเคยกินหมูป่าย่างมาแล้วนะคะ   รสชาติเหม็นเขียวอย่างที่เคยอ่านพบในหนังสือเล่มอื่นหรือเปล่า

ทั้งกระทิงและหมูป่าเป็นสัตว์ที่มีเนื้อสีไม่ขาวเหมือนเนื้อหมู สีของเนื้อเหมือนกับเนื้อวัว
 
เนื้อกระทิงสดนั้นผมไม่เคยกิน เคยกินแต่เนื้อที่ตัดเป็นก้อนๆที่ย่างรมควันมาแล้ว  เพราะไม่เคยไปขวนขวายหายิงมาเพื่อเอามาทำอาหาร  กระทิงตัวหนึ่งนั้น คน 7 คนยังแบกเอาเนื้อมากินไม่หมดเลยครับ (เคยเห็นอยู่ครั้งเดียว) หัวพร้อมเขาก็คนหนึ่งแล้ว อีกสี่ขาก็อีกสี่คน ซี่โครงอีกสองซีกก็อีกสองคน ยังไม่นับหนังและเนื้อส่วนอื่นๆ ผมห้ามและไม่อนุญาตให้คนในคณะสำรวจของผมยิงกระทิงเลยครับ ทั้งๆที่เห็นมันอยู่เป็นฝูง แทะเล็มหญ้าอยู่ในทุ่งในโป่ง  กระทิงก็สวนทางปืนเหมือนกันครับ ผมเคยพบคนอย่างน้อยก็สองสามคนที่เกือบตายเพราะยิงกระทิง มีแผลเป็นที่พอเดาความเหวอะหวะของแผลได้  กระทิงเป็นสัตว์ใหญ่มาก น้ำหนักมาก (ก่อนจะลืมไป จะขอบอกว่ากระทิงนั้นมีสองชนิด คือ ชนิดที่ข้อเท้าสีเหลืองและข้อเท้าสีขาว) น้ำหนักอยู่ในระดับประมาณ 500+/- กก. และมีหนังหนา  นึกดูเอาเองนะครับว่ากระสุนและแรงปะทะขนาดใหนจึงจะหยุดมันได้ ลูกปืนขนาด .375 magnum ดูพอจะสมน้ำเนื้อ หากเป็นขนาด 30.06 spring field ก็ดูจะเบาไปหน่อย ชาวบ้านที่ยิงด้วยปืนแก็บหรือปืนลูกซองที่เปลี่ยนลูกตะกั่วเองเป็นลูกโดดด้วยตัวเอง จึงมักจะหยุดยั้งมันไม่ได้   ประกอบกับการยิงของชาวบ้านจะเลือกยิงเฉพาะตัวที่มีเขาสวยๆ จะต้องยิงในระยะค่อนข้างใกล้ และจะต้องเลือกตำแหน่งที่ยิงเพื่อหยุดยั้งให้ได้เพียงลูกปืนนัดเดียวโดยที่จะต้องไม่ทำให้หนังเสียหายด้วย ซึ่งตำแหน่งจุดยิงที่ดีที่สุด คือ รักแร้แดง (ตัดขั้วหัวใจ) และอีกตำแหน่งหนึ่งคือ สันหลัง ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ (แต่หนังเสียหาย) ดังนั้น ลักษณะการยิงจึงจะต้องเข้าใกล้ ซึ่งทำให้การเลือกยิงตัวใดตัวหนึ่งนั้น อาจจะถูกตัวอื่นๆ charge ได้
ผมไม่สนใจที่จะเอากระทิงมาเป็นอาหารนั้น ก็เพราะว่ามันเกินพอกับความจำเป็นจริงๆและก็ไม่ทำกับวัวแดงอีกด้วย  คนที่ยิงกระทิงนั้นหากเป็นชาวบ้านก็เพื่ออาหารและการขายหนังและหัว หากเป็นนักล่าสัตว์ก็เพื่อความเท่ห์เป็นหลัก
ที่ได้บอกว่าเคยกินเฉพาะเนื้อย่างรมควันนั้น ก็เพราะวิธีการเอาเนื้อกลับไปเป็นสะเบียงของชาวบ้านตามปรกตินั้น ก็คือการย่างรมควัน ซึ่งจะเสียเวลาอีกหลายวัน    วิธีการทำก็คือตั้งสามขา สานตะแกรงไม้ไผ่ เอาเนื้อสดวางบนตะแกรง จะเอาใบตองปิดไว้ก็ได้ แขวนห้อยไว้เหนือกองไฟอ่อนๆ เป็นวันนะครับที่จะให้ก้อนเนื้อ (ขนาดประมาณกำปั้น) แห้ง   นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่ไปขวนขวายที่จะไปยิงมาทำกิน

ที่แย่มากๆ คือ การฆ่ากระทิงหรือการทิ้งส่วนซากของกระทิงไว้นั้น เขาทิ้งไว้เพื่อล่อเสือ เพื่อจะยิงเสือต่อไป  ผมเกือบจะไม่เคยได้ยินว่ามีการยิงเก้งหรือกวางเพื่อทิ้งซากไว้ล่อเสือเพื่อยิงเสือต่อไป  ก็คงพอจะเห็นภาพนะครับว่า เก้ง กวางนั้น อร่อยมากเพียงใดที่จะไำม่ให้มีซากหลงเหลือทิ้งใว้  ในทำนองเดียวกัน ซากกระทิงก็คงจะมีกลิ่นคาวมากพอที่จะเป็นที่หลงไหลของเสือ แม้ว่าเสือจะล่ากวางและเก้งได้ง่ายกว่ากระทิงก็ตาม         


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 12, 19:42
คำถามว่าเนื้อจะเหนียวหรือเปล่านั้น ตอบไม่ถูกครับ เรียกว่า Chewy ก็แล้วกัน (ภาษาไทยจะตรงกับคำใหนไม่ทราบครับ) จะว่าเหนียว (tough) ก็ไม่เชิง จะว่านุ่มละเมียดละไม (tender) ก็ไม่ใช่   ฤๅ คำว่า chewy จะตรงกับคำว่าเหนียวนุ่มครับ    อนึ่ง เนื้อสัตว์ใหญ่นั้น คนพื้นบ้านของเรามักจะไม่ค่อยจะคำนึงถึงการจำแนกแยกแยะว่าส่วนใดควรจะนำมาทำสเต๊ก ส่วนใดควรจะนำมาทำสตูว์ (เหมือนกับที่ฝรั่งเขาทำกั)  ซึ่งผมเห็นว่ามันขึ้นอยู่กับรสนิยมและลิ้นของคน ฝรั่งกินที่รสเนื้อ ไทยเรากินที่รสเครื่องปรุง  
สำหรับกลิ่นนั้น ก็เป็นกลิ่นสาบตามปรกติของสัตว์กินหญ้า แต่ก็ขึ้นกับการถลกหนังด้วย  ตามหลักแล้ว (ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ไม่ก็ตามแต่) ในการลอกหนังสัตว์มีขนนั้น เขาจะไม่พยายามไม่ให้มีขนร่วงมาติดเนื้อ ซึ่งจะเป็นผลทำให้เนื้อมีกลิ่นสาบในทันที การถลกหนังแพะ แกะ เพื่อมิให้เนื้อมีกลิ่นขิ่วนั้นก็ต้องทำในลักษณะนี้



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 12, 19:47
chewy   เห็นจะแปลได้ว่า เหนียวพอเคี้ยวได้  ขยายความจาก "เหนียวนุ่ม" ของคุณตั้งอีกที
เนื้อกระทิงรมควัน เอามาผัดเผ็ด หรือว่าพอจะกินก็ปิ้งอีกทีให้ร้อนๆ เหมือนเนื้อเค็ม คะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 12, 20:46
สำหรับหมูป่านั้น เป็นสัตว์ที่มีไขมันน้อย เนื้อจึงค่อนข้างแน่นแต่จะไม่เหนียวดังที่คิด
หมูป่าเป็นสัตว์ที่กินสารพัดทั้งพืชและเนื้อ เนื้อมีกลิ่นแรงแต่ไม่อยู่ในระดับที่เรียกว่าขิ่ว เมื่อย่างไฟก็จะหอมชวนกินทีเดียว   เป็นสัตว์ที่ต้องระวังเมื่อจะยิงมัน ด้วยเขี้ยวที่โค้งงอออกเหนือปาก ด้วยความที่หนังหนามาก และด้วยที่ตัวมันแน่นและแข็งแรงเหมือนนักมวยปล้ำ ดูเทอะทะแต่เคลื่อนตัวได้เร็ว ทำให้มันสามารถสวนทางปืนได้เหมือนกัน ห้ามยิงแบบประจัญหน้าเด็ดขาด อันตรายมาก ผมเคยเห็นแผลเป็นของคนหลายคนที่ถูกมันวิ่งสวนขวิดเอา รอยแผลเป็นแสดงถึงความเหวอะหวะของแผลที่น่ากลัวเลยทีเดียว

เนื้อหมูป่านั้นเคยกินแบบเอาเนื้อสดมาทำกิน ทำอาหารอยู่สองอย่างเท่านั้น คือ แกงป่า กับผัดเผ็ด ส่วนการย่างนั้นก็เป็นลักษณะของการแอบเอาชิ้นเนื้อที่ย่างรมควันยังไม่ทันเข้าที่มาฉีกกิน

เนื้อหมูป่าและกระทิงที่เคยกินอีกอย่างหนึ่ง คือ เนื้อร้า เป็นการถนอมอาหารเนื้อสัตว์ส่วนที่ไม่มีไขมันในอีกลักษณะหนึ่ง ด้วยการทำแบบปลาร้า คลุกเกลือใส่ใหใส่ข้าวคั่วหรือรำข้าวก็ได้ เมื่อไ้ด้ที่ก็เอามาทอด กินกับหอมเจียว พริกแห้งคั่วหรือทอด อร่อยเข้าท่าเลยทีเดียวครับ  ติดใจพอที่จะลองทำเองด้วยเนื้อวัวเลยครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 12, 20:49
chewy   เห็นจะแปลได้ว่า เหนียวพอเคี้ยวได้  ขยายความจาก "เหนียวนุ่ม" ของคุณตั้งอีกที
เนื้อกระทิงรมควัน เอามาผัดเผ็ด หรือว่าพอจะกินก็ปิ้งอีกทีให้ร้อนๆ เหมือนเนื้อเค็ม คะ

แสดงว่าเคยกินมา  ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 12, 20:53
แสดงว่าเคยกินมา  ;D

แสดงว่าเดาถูก  :)


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 01 มิ.ย. 12, 15:12
เคยได้ยินคำว่า "เขี้ยวตัน" มันคือเขี้ยวของสัตว์ชนิดไหนคะ

คนที่เดินป่าเขามีความเชื่อเรื่องพวกนี้มากน้อยแค่ไหนคะ





กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 12, 19:07
เคยได้ยินคำว่า "เขี้ยวตัน" มันคือเขี้ยวของสัตว์ชนิดไหนคะ
คนที่เดินป่าเขามีความเชื่อเรื่องพวกนี้มากน้อยแค่ไหนคะ

เรื่องเขี้ยวตันนี้ เป็นความเชื่อแต่โบราณว่า เขี้ยวตันของสัตว์มีเขี้ยวนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นปรกติตามธรรมชาติ (ตามปรกตินั้น เขี้ยวสัตว์จะกลวงในส่วนโคนและตันในส่วนปลาย) จึงเชื่อกันว่าเป็นของพิเศษหรือวิเศษที่มีพลังของตัวเอง เมื่อเอามาลงคาถาอาคมก็จะทำให้มีความขลังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านของความอยู่ยงคงกระัพัน 
ประกอบกับเขี้ยวของสัตว์ที่นำมาทำเครื่องรางของขลังเหล่านี้ ซึ่งได้แก่เขี้ยวของหมูป่าและเสือ สัตว์ทั้งสองนี้มีอำนาจ หรือตามภาษาของชาวป่า คือ เป็นสัตว์ที่มีตะบะสูง เราจะรู้สึกกลัวมันเมื่อเห็นตัวมัน หมูป่าเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขาม มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะฆ่ามันดังที่ได้เล่ามา  ในทำนองเดียวกับเสือโคร่งหรือเสือลายพาดกลอน ซึ่งผมเชื่อว่าขนาดเราดูมันอยู่ในกรงในสวนสัตว์ก็ยังรู้สึกขยาดๆ หากเป็นในป่าเล่า ผมเชื่อว่าแทบจะทุกคนจะรู้สึกว่าจะต้องหาทางหนีหรือลดการเผชิญหน้าเพียงประการเดียวเท่านั้น อาจะกลัวจนก้าวขาไม่ออกเอาเลยทีเดียว แม้จะมีปืนอยู่ในมือก็ตาม
หมูป่าและเสือนั้นเป็นสัตว์ที่ยิงค่อนข้างยาก  หมูป่าจากป่าจริงๆที่เอามาขายกันนั้น ส่วนมากจะได้มาจากการยิงด้วย จันห้าว  สำหรับเสือนั้น เป็นสัตว์หนังบาง ยิงด้วยลูกปืนที่มีหัวกระสุนเป็นลูกตะกั่วเม็ดเดียวนั้น ยากที่จะตาย ณ สถานที่ยิง หากยิงไม่อยู่ในนัดเดียวก็จะกลายเป็นเสือลำบาก ไม่สนุกเลยครับ ไม่เราตามมันด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด มันก็ตามมารังควานเราถึงที่   (เอาไว้เล่าในอีกกระทู้หนึ่งนะครับ ซึ่งจะได้เริ่มตามที่คุณเทาชมพูได้ขอให้เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตในป่า)

ก็ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้กระมังครับ คือ หาได้ยาก (ไม่ใช่พบได้ยาก) จึงที่ทำให้คนนิยมเอาเขี้ยวตันไปปลุกเสก เอามาคล้องคอเป็นเครื่องรางของขลังทางอยู่ยงคงกระพันและกันเขี้ยวกันงา ครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 12, 19:23
อ้างถึง
(เอาไว้เล่าในอีกกระทู้หนึ่งนะครับ ซึ่งจะได้เริ่มตามที่คุณเทาชมพูได้ขอให้เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตในป่า)

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
แต่ดูเหมือนคุณตั้งจะติดหนี้ 2 กระทู้นะคะ    อาจารย์พวงแก้วขอให้เล่าประสบการณ์การท่องเที่ยวในต่างแดนด้วย  ว่าด้วยวัฒนธรรม อาหารการกิน ของสะสมฯลฯ ตามที่เจอมา  ด้วยค่ะ
ถือโอกาสทวงแทนเธอเสียเลย


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 12, 20:45
ดังที่เล่ามาแล้วว่า คนไทยนั้นความอร่อยของอาหารอยู่ที่รสแกง (รสของเครื่องปรุง) มิใช่ที่รสเนื้อ แตกต่างกันไปกับชาติอื่นๆ อาทิ จีน ซึ่งความอร่อยอยู่ที่รสของน้ำจากเนื้อ (การตุ๋นหรือต้มเปื่อย) อเมริกันชน ความอร่อยอยู่ที่กลิ่นจากการใหม้ของเนื้อและรสที่เนื้อ marinate ด้วยของเหลวที่อยู่ในเนื้อของตัวมันเอง (การบาร์บีคิว) ฝรั่งเศส ความอร่อยอยู่ที่รสเนื้อกับการผสมผสานกับรสของน้ำจิ้มที่ไปในทางเดียวกัน (ก้อนเนื้อที่ทำให้สุกราดซอสชนิดต่างๆ) และญี่ปุ่น ความอร่อยอยู่ที่รสของเนื้อสดที่ใกล้สภาพยังมีชีวิตอยู่ (การกินเนื้อแบบดิบๆ_raw_มิใช่_rare) เหล่านี้เป็นต้น ใครที่จะไปญี่ปุ่นครั้งหน้า อาจจะลองสั่งเนื้อสันคอลูกม้าดิบมาลองกินบ้างก็ได้

เล่ามาเสียยาว เพื่อจะบอกว่า เก้งและกวางนั้น สำหรับผมแล้วทำอะำไรอร่อยที่สุด

สำหรับผม เก้ง มีเนื้อออกไปทางไม่เหนียวแต่นุ่ม (tender) ไม่มีกลิ่นสาบ ที่อร่อยที่สุด คือ ย่างน้ำตก จิ้มกับน้ำปลา พริกขี้หนูและหอมซอย บีบมะนาว หรือจะเพิ่มด้วยพริกป่นคั่วใหม่ๆก็ได้  ซึ่งที่เป็นพิเศษของผม คือ เอาตับมาย่างกินครับ
สำหรับชาวบ้านนั้น เมื่อได้เก้งมาจะถลกหนัง เอาเนื้อมาทำลาบสดในทันที เครื่องลาบก็มีเท่าที่เตรียมไป พริกแห้ง หอมแดง เกลือ เท่านี้แหละครับ แล้วก็แนมกับเนื้อส่วนที่เป็นแผ่นปิดซีโครงที่เอามาหนีบที่ง่ามเข่าเพียงแว๊บเดียว (กล้ามเนื้อยังเต้นอยู่เลย) รสชาตินั้นไม่มีใครชมอร่อย แต่ก็ไม่มีใครบอกว่าแย่ ทุกคนดูจะกินได้และพอใจ  ลาบนี้มักจะต้องใส่ขี้เพี๊ยะหรือขี้อ่อน (อาหารที่ย่อยค้างอยู่ในลำใส้ส่วยกลางก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นอุจจาระ) ขี้เพี๊ยะนี้ หากเป็นเก้งในฤดูกินลูกมะกอกป่า ลาบก็จะออกรสเปรี้ยวและฝาดแบบชุ่มคอ  
  


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 12, 20:50
ครับ สองกระทู้ ไม่ลืมครับ

ตั้งใจว่าจะสลับไปเรื่องของทองคำเสียก่อน ครับ



กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 12, 05:47
รวม 3 กระทู้แล้วนะคะ
เรื่องทองคำ น่าสนใจมากค่ะ  เคยคิดจะเขียนถึงเครื่องทองบันลือโลก 10 อันดับมานานแล้ว แต่ยังรวบรวมข้อมูลได้ไม่หมด 
อ่านๆของคุณตั้งไป อาจจะเอามาแจมด้วยเสียเลย


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 12, 20:14
ครับผม 3 กระทู้  แล้วครับ
ก่อนที่กระทู้นี้จะค่อยๆลางหายไปจากจอ จะขอเล่าอีก 2-3 เรื่องครับ

เมื่อวานนี้เล่าเรื่องเก้ง วันนี้จะไปเรื่องกวาง
สัตว์ทั้งสองชนิดนี้ ถึงแม้จะพบบ่อยมากในป่า แต่ก็เบียดเบียนเอามาทำอาหารน้อยมาก  จะหามาก็เฉพาะเมื่อต้องการสะเบียงแห้งสำหรับการเดินแยกเข้าป่าลึกที่ต้องเดินด้วย bag pack เท่านั้น  ส่วนที่เกินมาก็เก็บเป็นสะเบียงต่อไป จะได้ไม่ต้องเสียเวลาหากิน

กวางนั้นตัวค่อนข้างใหญ่ กินได้หลายๆวันเลยทีเดียว  งานใหญ่และเสียเวลานะครับ ตั้งแต่ถลกหนัง แล่เนื้อ ตัดออกเป็นชิ้น เป็นก้อนบ้าง (เพื่อย่างรมควัน) เป็นเส้นขนาดประมาณหัวแม่มือบ้าง (ร้อยตอกแขวนให้แห้ง เรียกว่าเนื้อจิกหรือเนื้อฉีก) แล่บางทำเป็นเนื้อสวรรค์บ้าง (ใส่เกลือ เม็ดผักชี ยี่หร่า) เอามาผัดมาแกงกินบ้าง ตัดเป็นขนาดประมาณท่อนแขนสักชิ้นหนึ่ง เอามูลในลำใส้ใหญ่ส่วนปลายทาพอกและแขวนตากลมเอาไว้บ้าง อันนี้เป็นวิธีเก็บเนื้อสดให้อยู่ได้ไปอีกสองสามวัน (แมลงจะตอมและไข่ใว้ที่ชั้นเปลือกนอกที่พอกเอาไว้)  เมื่อจะเอามาทำกินก็ถากผิวออก หรือไม่ก็ล้างน้ำออก เนื้อในก็จะยังคงสดแดงอยู่ เนื่องจากในป่าอากาศค่อนข้างจะเย็น เนื้อจึงเสียยากสักหน่อย ดังนั้น จึงเหมือนกับการ marinate เนื้อด้วยตัวมันเอง  เนื้อที่เอามาทำกินจึงเป็นเนื้อสดเฉพาะในมื้อแรกเท่านั้น มื้อถัดๆมาก็จะเป็นเนื้อที่ไม่สดจริง บางทีก็มีกลิ่นตุๆเหมือนกัน นึกดูเอาเองนะครับว่าเราจะต้องใช้เกลือเท่าไรกับกวางทั้งตัว แล้วคิดว่าเราจะสามารถพกพาเกลือติดตัวไปได้มากน้อยเพียงใด  นี่แหละจึงเป็นศิลปะของการถนอมอาหารที่แต่ละคนจะแสดงความสามารถในสภาพที่มีทรัพยากรจำกัด
เมื่อเบียดเบียนเขาแล้วก็ต้องทำอย่างคุ้มค่า บรรดาเครื่องในนั้น ขี้เพี๊ยะอ่อนและแก่ก็เอามาใส่ลาบได้ ส่วนตับไตใส้พุงนั้น ล้างให้สะอาดแล้วเอามาต้มในปี๊บ เคี่ยวไปให้เปื่อยเลย เริ่มต้นใส่เพียงเกลือ ตะไคร้ ใบมะกรูดก็พอ
   


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 12, 21:18
ต้มเครื่องในแบบพื้นฐานนี้ สามารถแปลงออกไปได้อีกหลายรส หลายกลิ่น ลองใส่เพิ่มมื้อละอย่าง เช่น ใส่พริกแห้งป่น พริกคั่วฉีก พริกขี้หนูสด น้ำปลา มะนาว มะขามเปียก ใบกระเพรา ใบผักไผ่ ผักชีฝรั่ง มะกอก แล้วก็ลองใส่สองอย่างพร้อมกันบ้าง สามอย่างพร้อมกันบ้าง หรือรวทั้งหมด สารพัดที่จะแปลงไปครับ  ปัจจุบันนี้ เมื่อผมพบแม่ค้าในตลาดเอาเศษเนื้อและเครื่องในมาต้มแบบต้มแซบในกะละมัง ซึ่งจะขายตามน้ำหนักนั้น ผมก็จะแถเข้าไปเลือกเอาเฉพาะชิ้นที่มีเนื้อติดอยู่มากหน่อย หรือที่เป็นเอ็น เอามาต้มน้ำอีกครั้งเพื่อเอาไขมันทิ้งไปอีก จากนั้นจึงเอามาทำเป็นเนื้อตุ๋น หรือทำสตูว์สด ไม่ต้องไปเสียเวลาเคี่ยวให้เปื่อย 

สำหรับตัวผมเองนั้น ขอมื้อแรกเป็นเอาเนื้อกวางมาแช่น้ำปลาแล้วทอด กับตับย่าง เท่านั้นก็สุดแสนวิเศษแล้ว

เมื่อช่วงเรียนหนังสืออยู่ ได้เห็นเขาชำแหละเนื้อกวางซึ่งต่างกับเรามาก (เคยไปช่วยเขาครับ) เมื่อยิงมาแล้วเขาจะผ่าท้องเอาเครื่องในทิ้งหมด ผ่าท้องตลอดจากก้นถึงคอ เอาไม้มาค้ำกางแผ่ไว้ แล้วแขวนใว้ในโรงนาประมาณ 7 วัน (ช่วงฤดูหนาว) จากนั้นจึงเอาลงมาถลกหนัง ก็ต้องขนาดผูกท้ายรถดึงแหละครับจึงจะถลกได้ จากนั้นจึงผ่าออกเป็นสองซีก แล่เนื้อแยกออกเป็นชิ้นๆเป็นส่วนๆคล้ายกับการชำแหละเนื้อวัว เช่น ส่วน T-bone ส่วนสันใน สันนอก ซี่โครง ส่วนคอไปทำสตูว์ เหล่านี้เป็นต้น เนื้อชิ้นๆเหล่านี้จะใส่ถุงพลาสติคแล้วนำไปแช่แข็งเก็บไว้กินช่วงตลอดฤดูหนาว ครอบครัวหนึ่งก็ยิงกวางเก็บไว้เป็นสะเบียงเพียงตัวสองตัวก็พอ  สตูกวางนี้ ฝรั่งนิยมกินกับแยม (ทำมาจากลูก red หรือ black currants) เป็นสตูว์เนื้อล้วนๆ ไม่เหมือนสตูว์เนื้อวัวหรือแกะที่จะใส่ผักจำพวกหัวลงไปด้วย


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 12, 22:03
รู้แต่ว่าเนื้อกวางฝรั่งเรียกว่า venison   แต่ยังไม่เคยกิน   กวางฝรั่งตัวโตกว่ากวางไทย  อดทนต่อความหนาวได้ดี น่าจะมีมันมากกว่ากวางไทย   เขาว่ากันว่าเนื้อกวางอร่อยมาก
คุณตั้งเคยรับประทานมาแล้วทั้งสองอย่าง คงจะเปรียบเทียบกันได้นะคะ
ข้างล่างนี้คือเนื้อกวาง กินกับแยม(หรือซอส) black currents  หน้าตาน่ากินเชียวละ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 12, 22:06
ส่วนเนื้อกวางที่นำมาเคี่ยวเป็นสตู  พบว่ามีอยู่หลายเมนู    ทำคล้ายๆกับสตูเนื้อวัว คือใส่ผักลงไปด้วย
ในรูปนี้ใส่มันฝรั่งค่ะ

หนังกวาง ทราบมาว่าเขาไม่กินกัน  แต่เอาหนังมาทำเสื้อ อย่างพวกเสื้อตัวนอกของคาวบอย ที่มีครุยเป็นริ้วๆตรงริม  ก็ทำจากหนังกวาง


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 12, 22:07
เสื้อหนังกวาง


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 12, 22:11
จะขอลงจากกระทู้นี้ด้วย เนื้องูเหลือม

นักล่าชาวกรุงอดใจไม่ได้เลยยิง แล้วก็ทำอะไรไม่เป็น จะเอาแต่เพียงหนังเท่านั้น คนของผมก็เลยต้องทำให้แล้วเอาเนื้อมาทำกินกัน เนื้องูเหลือมเมื่อสดมีสีขาวขุ่น แต่เมื่อทำให้สุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีขาวใสอมเหลือง ไม่ได้อร่อยเด็ดดวงอะไรเลยครับ ผมเอาตับมาย่างให้สุกแล้วกิน ก็ไม่มีความอร่อยเหมือนกัน ตับงูเหลือมมีลักษณะคล้ายช่อใบต้นดอกแค ยาวประมาณคืบกว่าๆ  จัดได้ว่าเป็นเนื้อที่ทำอะไรก็ไม่เข้าท่าทั้งนั้น ปริมาณเนื้อมีมากนะครับ สองพูใหญ่ๆยาวตลอดลำตัวเลยทีเดียว

พูดถึงงูเหลือมแล้วก็ขอต่อไปจบลงที่งูหลาม ที่เคยเห็นตัวใหญ่ๆก็ขนาดโคนขา เลื้อยผ่านหน้ารถ พวกผมก็นึกสนุกลงไปลองชักขะเย่อดู สี่คนช่วยกันจับหางดึง มันลากกระจุยเลยครับ นึกดูก็แปลกดี เราสี่คนน้ำหนักรวมกันมากกว่า 200 กก.แน่ๆ ยังดึงไม่อยู่ ตัวมันน้ำหนักคงไม่เท่าพวกผมรวมกันแน่ๆ ไม่รู้ว่ามันเอากำลังมาจากใหน จนมันรำคาญหยุดหันกลับยกหัวขึ้นมาดู เราก็เลยต้องผละปล่อยมันไป

แถมสุดท้ายด้วยเรื่องอุ้งตีนหมี ชาวบ้านเอามาให้ ก็เลยลองทำดู ลองกินสักครั้งในชีวิต ต้มง่ายๆเหมือนพะโล้ ใส่ต้นหอม รากผักชี และผักชี ปรุงรสด้วยซีอิ้วขาวและซีอิ๊วหวาน รสของน้ำแกงก็เป็นไปตามที่เราชอบ แล้วรสเนื้อล่ะ เหมือนกับขาหมูคากิที่ไม่มีมัน ผมว่าเอาขาหมูตัวเล็กที่ยังเยาว์วัยมาต้มกินก็ดูจะไม่แตกต่างกันเลย

แม้ว่าเนื้อสัตว์เกือบจะทุกชนิดเราสามารถจะนำมาทำอาหารได้ ผมก็ละเว้นที่จะไม่ทำกับสัตว์มากมายหลายชนิด

ที่เล่ามานี้ เป็นเรื่องราวในอดีตที่เกิดขึ้นในยุค 40 ปีที่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่พึงจะนำมากระทำในสภาพการณ์ในปัจจุบันนี้ครับ  

กติกาของป่าที่สำคัญ คือ เบียดเบียนแต่พออยู่รอดเท่านั้น

ก็คงจะพอสมควรในเรื่องของเมนูอาหารป่าแล้วนะครับ    

 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 12, 22:26
ขอบคุณสำหรับประสบการณ์ในป่าที่หายากค่ะ
แม้คุณตั้งจะปิดม่านเดินลงจากเวที เพื่อไปขึ้นเวทีใหม่    กระทู้นี้ก็ยังเปิดไว้ เผื่อท่านใดสนใจจะเข้ามาร่วมวงส่งท้าย
หรือมาตั้งคำถาม ออกความเห็น ฯลฯ นะคะ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 12, 22:43
รู้แต่ว่าเนื้อกวางฝรั่งเรียกว่า venison   แต่ยังไม่เคยกิน   กวางฝรั่งตัวโตกว่ากวางไทย  อดทนต่อความหนาวได้ดี น่าจะมีมันมากกว่ากวางไทย   เขาว่ากันว่าเนื้อกวางอร่อยมาก
คุณตั้งเคยรับประทานมาแล้วทั้งสองอย่าง คงจะเปรียบเทียบกันได้นะคะ
ข้างล่างนี้คือเนื้อกวาง กินกับแยม(หรือซอส) black currents  หน้าตาน่ากินเชียวละ

ผมไม่เคยมีโอกาสกินเนื้อกวางไทยที่ทำแบบอาหารฝรั่ง อย่างไรก็ตาม ทั้งเนื้อกวางไทยและของฝรั่งนั้น มี texture และมีความนุ่มนวลเหมือน filet mignon หรือ medallion steak   ซึ่งหากจะหั่นเป็นชิ้นหนาเอาไปย่างไฟก็ดูจะไม่ต่างไปจากเนื้อโคขุนโพนยางคำของไทย (texture ของเนื้ออาจจะหยาบกว่าเล็กน้อยเท่านั้น) เมื่อมีโอกาสผมจึงชอบสั่งเนื้อโพนยางคำย่างน้ำตก จิ้มกับซอสมะเขือเทศ แล้วแนมด้วยหอมใหญ่ฝานเป็นแว่นๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาพักผ่อนแดดล่มลมตก

สำหรับ venison stew นั้น ในยุโรปในช่วงฤดูหนาวหากินได้ไม่ยากนักครับ โดยเฉพาะในร้านอาหารพื้นบ้านในเมืองเล็กต่างๆ ผมไม่เคยพลาดที่จะลอง อร่อยมากครับ   ผมชอบเข้าร้านอาหารพื้นบ้าน ร้านพวกนี้มีอาหาร homemade recipes ทั้งนั้น  ประเภทที่เมื่อใดเดินเข้าไปแล้วคนในร้านหันมามองดูกันทั้งร้านนั้นแหละครับ ยิ่งดี


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 12, 22:45
ขอบพระคุณมากครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.ย. 12, 20:23
ไม่ได้ล่อเป้า

แต่อยากถามนายตั้งว่า เจ้าลูกนอกแดงในเหลืองใจดำนี่ คือลูกอะไร รับทานได้ไหม เพื่อนไปเจอในป่าที่ปายถามมาครับ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 12, 21:56
ไม่ทราบจริงๆครับ 
ดูจากภาพแล้วเหมือนกับเป็นผลไม้จากพวกไม้เถา  ซึ่งจากประสบการณ์ เมื่อผ่าออกมาแล้วเห็นสภาพเนื้อและเมล็ดลักษณะนี้แล้วก็คงจะไม่ลองกิน แต่หากเห็นร่องรอยว่ามีสัตว์พวกเก้งกวางหรือลิงกิน ก็อาจจะลองแตะๆลิ้นเพื่อดูรสชาติเพื่อรู้และบ้วนทิ้งเท่านั้น จะยังไงก็คงจะไม่กินเข้าไปหากไม่มีชาวบ้านกินให้ดูเสียก่อน


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 12, 08:35
ถูกแล้วครับ ต้นเป็นเถา ลืมลงรูปให้ดูแต่แรก


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 27 ก.ย. 12, 09:55
ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะใช่หรือเปล่านะคะ.... ;D

ขี้กาแดง หรือ แตงโมป่า (กาญจนบุรี) , มะกาดิน (ชลบุรี) , กายิงงอ (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์          Gymnopetalum integrifolim Kurz. Trichosanthes tricuspidata Lour
วงศ์          CUCURBITACEAE

 เป็นไม้เถาพาดพันตามต้นไม้อื่น   ใบและเถาคล้ายเถาฟักข้าว  ใบเดี่ยวรูปไข่เกือบกลม  ๕  เหลี่ยมหรือแฉกลึก ๕  แฉก  โคนเว้ารูปหัวใจขอบค่อนข้างเรียบปลายแหลมผิวหยาบสากด้านล่างมีขน ยาวประมาณ ๔ นิ้ว เถามีมือจับ ดอกเพศผู้เพศเมียแยกจากกัน ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อยาวประมาณ ๑๐ - ๒๐ เซนติเมตร ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ฐานดอกเป็นหลอดยาว  กลีบรูปไข่กลับปลายแหลมสีขาว ผลกลมรี เมื่อสุกสีแดง เมื่อแห้งเนื้อโปร่งเหมือนฟองน้ำ เกิดตามป่าทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ/ความสัมพันธ์กับชุมชนและความสำคัญทางเศรษฐกิจ

ใบ          รสขม ตำพอกฝี ทาแก้โรคผิวหนังอักเสบ ตำคั้นเอาน้ำให้เด็กกินแก้ท้องเสีย
หัว          รสขม บำรุงหัวใจ แก้ม้ามย้อย ตับโต หรืออวัยวะในช่องท้องบวมโต
ราก         รสขม บำรุงน้ำดี แก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้จุกเสียด บดทาฝีฝักบัว แก้ตับโต ม้ามย้อย อวัยวะในช่องท้องบวมโต
ลูก          รสขม บำรุงน้ำดี แก้พิษเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษเสมหะให้ตก แก้พิษตานซาง แก้ตานขโมย ขับพยาธิ เป็นยาถ่ายอย่างแรง ใช้ควันรมแก้หืด
ทั้งเถา     รสขม ต้มอาบ แก้เม็ดผดผื่นคัน แก้ไข้หัว ไข้พิษไข้กาฬ ต้มดื่มบำรุงน้ำดีขับเสมหะ ดับพิษ
 
 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.ย. 12, 10:29
ขอบคุณครับ ดูใบแล้วน่าจะใช่ แม้ว่าผลจะมีรูปทรงต่างกันบ้างก็ตาม

อึมม์...มีมะเขือเทศ ก็ต้องมีขี้กาแดงบ้าง เป็นธรรมชาติแท้ๆ


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ก.ย. 12, 12:55
ขี้กาแดงคงมีทั้งกลมและรี

Trichosanthes tricuspidata, also known as T. palmata Roxb., T. bracteata Lamb., T. pubera Blume or Modeccca bracteata, belongs to the family cucurbitaceae and is known by various vernacular names. In Hindi it is known as Lal Indrayan; in English, Redball snakegourd; in Malaya, Kalayar; in Marathi, Kaundal; in Telugu, Avuduta; in Thai, Khe- Ka- Daeng and in Nepal, Indreni.

สรรพคุณทางยา

T. tricuspidata is considered to be medicinally important in several traditional systems. In ayurvedic medicines, the fruits are used in the treatment of asthma, earache and ozoena (intranasal crusting, atrophy and fetid odor). In the Unani system of medicine, the fruits are used as a carminative (an agent that relieves flatulence), a purgative, and an abortifacient, to lessen inflammation, cure migraines, and reduce heat of the brain, as a treatment for opthalmia (inflammation of the eye), leprosy (infectious disease caused by Mycobacterium leprae), epilepsy (episodic impairment or loss of consciousness, abnormal motor phenomenon) and rheumatism, (painful local inflammation of joints and muscles) as well as other uses. The seeds are emetic and a good purgative. In the Thai traditional system of medicine, the plant is used as an anti-fever remedy, a laxative, an anthelmintic as well as in migraine treatments .  The roots of the plant are used to treat lung diseases in cattle and for the treatment of diabetic carbuncles and headaches . Gaur has reported the use of this plant in curing bronchitis, and the application of seed paste for hoof and mouth disease in cattle.

The vaidyas, or practictioners of ayurveda, also use the fruits in treating stomatitis. The oil extracted from the roots is used as a pain killer. In Bastar District, Chhattisgarh, India, the plant is used for curing snakebite poisoning and the juice of the plant is applied externally for skin eruptions. In Nepal the roots are used to cure bleeding in chickens

ข้อมูลและภาพจาก  http://www.tfljournal.org/article.php/20080724105858161/print (http://www.tfljournal.org/article.php/20080724105858161/print)

รูปนี้น่าจะเหมือนลูกของคุณนวรัตน

 ;D


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 12, 18:32
พอได้อ่านคำตอบ ก็ร้องอ๋อ เลยทีเดียว  ใช่ครับลูกขี้กาแดง ผมไม่เคยผ่าดูเนื้อในเลย  เห็นภาพทั้งต้นทั้งลูกทำให้ย้อนความจำได้ว่า พบมากตามป่าสองข้างฝั่งของห้วยขาแข้ง โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นที่ราบ ผมยังเคยเอาปืนลูกกรดและหนังสติ๊กยิงเล่นตอนตั้งแคมป์เลย 

 


กระทู้: เมนูอาหารป่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 12, 14:32

ลูก          รสขม บำรุงน้ำดี แก้พิษเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษเสมหะให้ตก แก้พิษตานซาง แก้ตานขโมย ขับพยาธิ เป็นยาถ่ายอย่างแรง ใช้ควันรมแก้หืด
ทั้งเถา     รสขม ต้มอาบ แก้เม็ดผดผื่นคัน แก้ไข้หัว ไข้พิษไข้กาฬ ต้มดื่มบำรุงน้ำดีขับเสมหะ ดับพิษ 
ใช้อาบคงจะดี เวลาเป็นไข้หรือเป็นโรคผิวหนัง  แต่ลูกขี้กาแดง ถ้ากินตอนเดินทางไกลเห็นจะไม่ค่อยดี   วิ่งหาห้องน้ำไม่ทัน  :)