เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เหมียวซิล่า ที่ 28 มี.ค. 05, 08:47



กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เหมียวซิล่า ที่ 28 มี.ค. 05, 08:47
 อยากทราบว่าพิธีการหมั้นอย่างไทยแท้ๆนี่ต้องทำอย่างไรบ้างคะ  แล้วเรื่องสิดสอดทองหมั้นตามธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณต้องมีอะไรบ้างคะ แล้วมีความหมายว่าอย่างไร


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 05, 11:02
http://www.tonrak.com/thaiwedding_a1.html
ขันหมาก เป็นขบวนสินสอดทองหมั้น และอาหารคาวหวาน ที่ฝ่ายชายนำมาให้ฝ่ายหญิงในสมัยก่อนพิธีหมั้นและพิธีแต่งงานจะกระทำกันคนละวัน จึงต้องจัดขบวนขันหมาก สองครั้งคือขันหมากหมั้นและขันหมากแต่ง แต่ทว่าในปัจจุบันนิยมจัดพิธีหมั้นและพิธีแต่งในวันเดียวกัน จึงจัดขันหมากเพียงครั้งเดียว ซึ่งขบวนขันหมากจะเคลือนขบวนตามฤกษ์ยามที่เป็นมงคล และมักจะมีขบวนกลองยาวนำหน้า ร้องรำกันอย่างสนุกสนาน ไปตลอดทางจนถึงเรือนของฝ่ายหญิง ซึ่งฝ่ายหญิงจะแสดงมิตรไมตรี ด้วยการถือพานหมากพลู หรือพานเชิญขันหมากออกมาต้อนรับ
ขันหมากแบ่งออกเป็น ขันหมากเอก และขันหมากโท

ขันหมากเอก ประกอบไปด้วย ขันหมากพลู สำหรับใส่หมากพลู และพืชมงคล เช่น ถั่ว งา ข้าวเปลือก ใบเงินใบทอง ฯลฯ ขันสินสอด สำหรับใส่เงินทอง ของหมั้น พานแหวนหมั้น และพานธูปเทียนแพ

ขันหมากโทหรือบริวารขันหมาก จะเป็นอาหารคาว หวาน ซึ่งนิยม จัดให้เป็นคู่ เช่น พานไก่ต้ม หมูนอนตอง, กล้วยน้ำว้า, มะพร้าวอ่อน, ห่อหมก, ขนมจีน, ขนมไทยต่าง ๆ เช่น ขนมกง ขนมทองเอก ขนมเสน่ห์จันทน์ ขนมจ่ามงกุฎ ขนมชั้น ขนมถ้วยฟู ฯลฯ ที่มีชื่อเป็นมงคล และมีต้นกล้วย ต้นอ้อย ที่ขุดมาทั้งราก เพื่อให้คู่บ่าว สาว นำไปปลูก ณ เรือนหอ ให้เจริญงอกงาม ผลิดอกออกผล เหมือนกับชีวิตสมรส

http://www.tonrak.com/thaiwedding_a4.html
ตามธรรมเนียมไทย ฝ่ายชายจะเป็นผู้นำ สินสอด ทองหมั้นตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ในวันสู่ขอ ซึ่งปัจจุบันได้ประยุกต์มาเป็น เงินสินสอดและแหวนหมั้น เพื่อเป็นการหมั้นหมายฝ่ายหญิง

โดยในพิธีนับสินสอด จะกระทำกันต่อหน้าสักขีพยาน พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ของทั้งสองฝ่ายโดยมีเฒ่าแก่ * เป็นผู้กำกับดูแลขั้นตอนต่าง ๆ การนับสินสอดจะวางเงินสินสอด ลงบนผ้าแดง ฝ่ายหญิงจะทำการตรวจนับ ตามธรรมเนียม ฝ่ายชายจะใส่เงินสินสอดให้เกินกว่าที่ตกลงกันไว้ถือเป็นเคล็ดว่า เงินงอก เงินทองจะได้เพิ่มพูน ส่วนที่เป็นของหมั้น ฝ่ายชายก็จะสวมให้ฝ่ายหญิงต่อหน้า สักขีพยาน แล้วเฒ่าแก่ พร้อมทั้งพ่อแม่ของทั้งฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง จะช่วยกัน โรย ถั่วเขียว งาดำ ข้าวตอก ดอกไม้ แป้งหอม ฯลฯ คลุกเคล้าสินสอด ก่อนที่จะช่วยกันพับผ้าแดงให้เป็นถุงจากนั้นแม่ของฝ่ายหญิงจะยกถุงสินสอด ขึ้นมาแนบอก แล้วยกขึ้นพาดบ่า แล้วนำไปเก็บรักษา

* เฒ่าแก่ คือ ผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือ ซึ่งฝ่ายชายเชื่อเชิญให้มาช่วยเป็นธุระในการสู่ขอ หมั้นหมายและแต่งงาน


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เหมียวซิล่า ที่ 28 มี.ค. 05, 11:47
 ปกติสินสอดนี่พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เก็บไว้ หรือต้องมอบให้เจ้าสาวทั้งหมดคะ


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เหมียวซิล่า ที่ 28 มี.ค. 05, 11:48
 ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 05, 12:19
สินสอด ก็แล้วแต่พ่อแม่ฝ่ายหญิงค่ะ  บางบ้านก็เก็บไว้ ถือว่าเป็นค่าน้ำนม  คือค่าเลี้ยงดูลูกสาวมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเป็นสาวออกเรือนไป
บางบ้านก็ยกให้ลูกสาวเป็นสิทธิ์ขาด   พ่อแม่ไม่เอาเลย
แล้วแต่ว่าเจ้าสาวจะเอาไปตั้งตัวกับเจ้าบ่าว  หรือจะเก็บไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัว  เผื่อไว้เลี้ยงตัวเอง หรือลงทุนทำอะไรส่วนตัว  ก็ตามใจ

สินสอดที่เรียกก็เพื่อให้เจ้าบ่าวเห็นคุณค่าของฝ่ายหญิง ว่ากว่าจะได้มา ก็ด้วยความยากลำบาก   ไม่ใช่ของฟรี  ที่ได้ง่ายก็ทิ้งง่าย
อีกอย่างคือเป็นความมั่นคงของผู้หญิง เพราะสมัยก่อนผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพ เมื่อออกเรือนไปก็ควรมีเงินสำรองบ้าง   ไม่ต้องพึ่งสามีฝ่ายเดียว


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 28 มี.ค. 05, 18:26
   ... เอ่อ ขนมกง นี่ มันเป็นอย่างไรหรือครับ ไม่เคยได้ยินมาก่อน
   


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 05, 11:31
 ขนมกง ที่เคยเห็นทำเป็นรูปวงกลมมีกากะบาทอยู่ข้างในค่ะ   คล้าย กงล้อ
ถือกันว่าเป็นเครื่องหมายของความเจริญก้าวหน้า เหมือนล้อที่หมุนไปข้างหน้า
หาไม่ยากหรอกค่ะ  เป็นสินค้าโอท็อปแถวบางปลา สมุทรปราการและอีกในหลายๆจังหวัด
วิธีทำขนมกง
                   1. นำถั่วเขียวโม่เป็นซีกขัดเอาเปลือกออกผสมน้ำ แล้วร่อนให้เป็นฝุ่น
                   2. คั่วแป้งข้าวเจ้าให้เหลือง
                   3. เคี่ยวน้ำตาลปี๊บให้เหนียว เอาแป้งกับถั่วผสมเคี่ยวน้ำตาลคนให้เข้ากันนวดให้เหนียวติดกัน
                   4. ปั้นแป้งที่ได้ให้เป็น “กง”
                   5. นำแป้งข้าวเหนียวโม่ ตากแดด 2 แดด นวดกับกะทิ แล้วละลายน้ำนำขนมกงชุบแล้วทอดไฟกลาง

 http://www.thai-d.com/siam-china/hcu/bangpa.html  

อ้อ คุณเหมียวคะ  เรื่องสินสอดถ้าตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใคร  ตำราของดิฉันบอกว่าฝากไว้ที่เฒ่าแก่ก็ได้ค่ะ


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 05, 11:35
 เรื่องสินสอด นิยมให้มีตัวเลข ๙ ซึ่งเป็นเลขมงคลของไทย
เช่น ๙๙,๙๙๙ บาท หรือ ๙๙๙,๙๙๙  หรือจะ ๙,๙๙๙,๙๙๙ก็ได้ค่ะ
เวลานับ  เอาใครที่จบบัญชีนับเงินเก่งๆ เร็วๆ มานับด้วยก็ดีค่ะ


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 30 มี.ค. 05, 14:45
 แล้วแหวนหมั้นเนียะ เป็นธรรมเนียมฝรั่งที่รับเอาเข้ามาใช่ไหมครับ ผมคิดว่าของไทยโบราณไม่น่าจะมี

คนไทยจะเอาแต่ทอง เพชรไม่เอา อิอิ


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เหมียวซิล่า ที่ 30 มี.ค. 05, 15:29
 หากจะตัดทอนขั้นตอนในลดลงเพื่อความเรียบง่าย ไม่สิ้นเปลือง โดยอาจจะมีการสู่ขอ จากเฒ่าแก่และมีการสวมแหวนหมั้นเพียงอย่างเดียว จะได้ไหมคะ

อยากรบกวนถามว่าคำว่าเฒ่าแก่ กับ เถ้าแก่เหมือนกันไหมคะ เห็นบางทีมีการสะกดคำนี้โดยใช้ ถ.ถุง ไม้โทแทน


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 05, 11:16
 แหวนเพชร เป็นธรรมเนียมฝรั่งค่ะ   เจ้าสาวยุคใหม่ชอบแหวนมากกว่าทองเป็นหีบๆอย่างสมัยแม่พลอย
พิธีการทั้งหลายขึ้นอยู่กับเจ้าบ่าวเจ้าสาวว่าชอบแบบไหน   บางคนถือว่าแต่งหนเดียว  ก็ทำให้ครบตามประเพณีไทย  จะได้ถ่ายวิดีโอเก็บไว้ให้ลูกหลานดู
แต่บางคนก็ชอบขั้นตอนเรียบง่ายไม่ยุ่งยาก  

เรื่องพรรค์นี้ต้องตกลงกันเองระหว่างเจ้าบ่าวเจ้าสาว   เฒ่าแก่ไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไร  ขั้นตอนมากหรือน้อยเฒ่าแก่ก็ทำแบบเดียวกัน
เฒ่าแก่-เถ้าแก่ ใช้ได้ทั้งสองคำ  


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เหมียวซิล่า ที่ 31 มี.ค. 05, 12:22
 ขอบคุณค่ะ


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ที่ 03 มิ.ย. 05, 12:48
 บ้านผมยังนิยมหมั้นด้วยทองกันอยู่เลย สมัยพ่อผมก็ใช้เครื่องประดับกับทองแท่ง พร้อมเงินตามสมควร ตอน คุณอาผู้หญิงที่พึ่งแต่งออกไป ก็ใช้ เคล็ด "ทอง100 เงินล้าน" แต่เจ้าบ่าวเอามาเกินตั้งเยอะ เห็นแม่บอกว่าเป็นเคล็ด เวลานับจะได้บอกว่าเงินงอกออกดอกผล เหลือกินเหลือใช้ แต่งแล้วรวย


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เกาลัดกลมๆ ที่ 25 ก.ย. 05, 16:23
 ตอนที่พี่ชายแต่งงานก็ตกลงแต่งแบบจีนค่ะ ไปแต่งที่บ้านเจ้าสาวที่ประจวบฯ แปลกใจมากที่เฮียแต่งแบบเรียบง่าย แต่ตรงตามประเพณีจีน ไม่มีกินเลี้ยงกลางคืน ไม่เชิญแขกฟุ่มเฟือย สินสอดก็เอาการอยู่ แต่ก็กลับมาที่คู่บ่าวสาวอยู่ดี (ที่รู้ว่ามันเอาการเพราะเป็นคนถือค่ะ ทองเป็นร้อยบาท แบ็งค์เป็นปึกๆ ตอนถือต้องมีคนมาคุ้มกัน...แต่ได้อั่งเปาซองใหญ่กว่าใคร)

ที่ยังสับสนคือการกั้นประตู ไม่รู้ว่าเป็นธรรมเนียมจีน ไทยหรือมอญกันแน่ เห็นทางจีนก็มีไทยก็มี แต่ตอนอ่านเรื่องรัตนโกสินทร์ก็มีเขียนตอนแต่งงานพี่สาวฟักว่า เป็นธรรมเนียมอย่างมอญ


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 27 ก.ย. 05, 01:26
 ผมก็ไม่สันทัดเรื่องหมั้น เพราะยังไม่เคยหมั้นใคร อิอิ

ก็เลยสงสัยว่า เพื่อนบ้านของเราคือ

พม่า ลาว เขมร มีพิธีหมั้นหรือเปล่าครับ ใครทราบโปรดเฉลยด้วยครับ แล้วก็ แขกมาเลย์ มีการหมั้นกันหรือเปล่าครับ

เคยได้ยินแต่แขกอินเดีย ผู้หญิงจะต้องไปขอผู้ชาย มีสินสอดทองหมั้นเหมือนกัน

ก็เลยสงสัยอีกว่า การหมั้นของไทยนั้น รับรูปแบบมาจากที่ไหนหรือเปล่าครับ หรือเป็นประเพณีสามัญที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษของเราที่มาจากจีนตอนใต้  

ปัจจุบันก็ปรับเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม รับธรรมเนียมสวมแหวนหมั้นตามฝรั่ง แล้วยังเอาเรื่องโชคลางถือเลข ๙๙๙๙๙๙๙๙ มาอีก อิอิ สังคมไทยอะไรเช่นนี้ :)


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 14 พ.ย. 05, 12:33
 คุณจ้อ + คุณเหมียว well planned จังค่ะ ยินดีด้วย


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: nol ที่ 08 ม.ค. 12, 15:24
ขอขุดกระทู้นี้ขึ้นมาถามอีกครั้งครับ เนื่องจากจะต้องประกอบพิธีของตัวเองซึ่งอยากให้เป็นพิธีไทยแท้ๆ (เว้นแต่กรณีสวมแหวนที่คงต้องตามยุคสมัย) แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่กระจ่างและต้องการแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้


๑. ในกรณีของการกั้นประตูของฝ่ายหญิง ที่ปกติมักจะเป็น ๓ ประตู คือ นาก เงิน ทอง แต่เห็นบางที่ก็กั้นกันหลายประตูเหลือเกิน ยิ่งไปกว่านั้นบางงานตอนกั้นใช้ดอกรักร้อยมากั้นแทนเข็มขัดนาก เงิน ทอง (เป็นงานของเจ้าบ่าวที่เป็นราชสกุลเสียด้วย) ในกรณีที่ถูกตามธรรมเนียมปฏิบัติเป็นอย่างไรครับ

๒. ตอนที่ต้องโรยพวกข้าวตอก ถั่ว งา ฯลฯ ลงบนสินสอดและของหมั้น ตรงนี้ผู้ใดเป็นผู้โรย และโรยในลำดับพิธีตอนไหนครับ บางครั้งก็เห็นโรยโดยผู้ใหญ่ฝั่งผู้หญิงและโรยตอนที่ตรวจนับสินสอดกันเสร็จแล้ว ขณะที่บางงานก็เห็นทั้งผู้ใหญ่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงรวมทั้งพ่อแม่ช่วยกันโรย และบางทีก็เห็นว่าโรยกันตอนที่ชายหญิงออกมานั่งคู่กันแล้วก่อนสวมแหวนหมั้น ขณะที่บางครั้งก็เห็นโรยตนที่สวมแหวนหมั้นเสร็จแล้ว

๓. อันนี้ขอแถมเพิ่มตรงตอนหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ พ่อแม่จะรดน้ำตอนไหนครับระหว่าง
       - หลังจากประธานในพิธีสวมมงคลและเจิมและรดน้ำแล้ว แต่ก่อนแขกคนอื่นๆ
       - รดเป็นกลุ่มสุดท้ายเลยก่อนที่จะมีการถอดมงคล



ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับทุกคำตอบครับ และขออภัยหากสะกดคำใดผิดไป :D


กระทู้: พิธีการหมั้นของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 12, 19:04
คุณน่าจะตั้งกระทู้ใหม่   เพราะเรื่องที่คุณถามเป็นพิธีมงคลสมรสแบบไทย   กระทู้นี้เป็นกระทู้พิธีหมั้น  เจ้าสาวเจ้าของกระทู้ตอนนี้มีลูกสาวลูกชายอย่างละหนึ่งแล้วค่ะ
พิธีมงคลสมรสแบบไทย แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น    แม้ในจังหวัดเดียวกันก็จัดไม่เหมือนกัน ขึ้นกับฐานะ ประเพณี  ความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ
คุณลองพิมพ์คำว่า พิธีมงคลสมรสแบบไทย ใช้กูเกิ้ลหาดูก็คงจะพบข้อมูล 

หาให้เว็บหนึ่งค่ะ
http://www.ruenjoawsao.com/thaiwedding.htm