เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: POJA ที่ 07 พ.ย. 10, 15:28



กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 07 พ.ย. 10, 15:28
ช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมานี้  บรรดาชาวจีนอพยพที่เข้ามาในไทย ไม่ได้แต่จะเข้ามาทำการค้าขายเพียงอย่างเดียว  ยังมีบางพวกที่เป็นงานช่าง  ประกอบอาชีพอย่างผู้ชำนาญในงานเฉพาะด้าน เช่น ช่างเงิน ช่างทอง ช่างแกะสลัก ช่างปั้น ช่างกระเบื้อง ช่างกลึง ช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างฟิต ช่างก่อสร้าง ช่างตัดเสื้อ หรือกระทำช่างทำอาหารหรือพ่อครัว ฯลฯ
ก่อนที่จะถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา  จะขอบันทึกไว้  และขอปันความรู้จากท่านอาจารย์ผู้รู้หรือมีประสบการณ์เกี่ยวข้อง จะช่วยกันบอกกล่าวกัน ณ.ที่นี้


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 07 พ.ย. 10, 15:35
ว่ากันว่า  คนแต้จิ๋วชอบค้าขาย  คนกวางตุ้งเก่งเครื่องยนต์  คนไหหลำทำอาหาร
คนจีนอพยพ มักเข้ามาเป็นกลุ่ม มีพวกพ้องที่รู้จักกันแนะนำพาเข้ามา หากใครได้ประกอบวิชาชีพด้านใด หรือมีความรู้เดิมเป็นอาชึพจากบ้านเกิด ก็จะนำมาใช้ในการทำมาหากิน และสืบทอดแก่กันในกลุ่มนั้น


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 07 พ.ย. 10, 16:23
ช่างเงิน ช่างทอง
คนจีนมีความสามารถในการขึ้นรูปโลหะ พวกช่างทองส่วนใหญ่ทำทองเป็นเครื่องประดับ  
ช่างเงินเป็นช่างที่ทำของประเภทเครื่องใช้ เช่น กรอบรูป เชิงเทียน ชุดน้ำชา ฯลฯ
ยุคหนึ่งนั้น เครื่องใช้ทำด้วยเงินเป็นที่นิยมมาก สำหรับเจ้านายในวัง ผู้มีฐานะหรือเป็นของฝากชาวต่างประเทศ ที่ขายกันในร้านจิวเวลรี่แถบสีลมหรือโรงแรมใหญ่ ๆ ส่วนมากเป็นฝีมือช่างจีนกวางตุ้ง


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 07 พ.ย. 10, 16:38
ช่างปั้น ช่างกระเบื้อง
ชามตราไก่-ลำปาง
ชาวจีนแซ่ฉิน แซ่อื๊อ แซ่กว๊อก เป็นผู้ค้นพบว่าที่ลำปางนี้มีดินขาวลักษณะเหมือนที่เมืองจีน สามารถนำมาขึ้นรูปเป็นเครื่องใช้ได้ และพัฒนาต่อมาจนเป็นกระเบื้องดินเผาปูพื้น-ผนังสวย ๆ ที่ใช้กันทุกวันนี้
เช่นเดียวกับ โอ่งมังกร-ราชบุรี ที่ค้นพบโดยขาวจีน แซ๋เตีย แซ่อึ้ง  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การนำเข้าจากประเทศจีนยากขึ้น เกิดเป็นการผลิตขึ้นใช้เองในประเทศ


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 07 พ.ย. 10, 16:51
ช่างกลึง ช่างฟิต
โรงกลึงต่างๆ โรงสี โรงน้ำแข็ง ต่างก็เป็นผลงานของชาวกวางตุ้ง
โรงกลึง ส่วนใหญ่อยู่ในย่านตลาดน้อย เดี๋ยวนี้ถูกรื้อไปเกือบหมดแล้ว
อีกที่หนึ่งมีชื่ออยู่หน้าร้านว่า "โรงกลึงกวางตุ้ง" ทุกวันนี้ยังอยู่ที่ถนนอุณากรรณ แถวหลังคุกที่ปัจจุบันเป็น สวนรมณีนาถ
โรงสี อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แถวยานนาวา
ช่างฟิต ดูเป็นคำโบราณไปเสียแล้ว  หมายถึงช่างซ่อมเครื่องยนต์  สมัยก่อนก็เป็นช่างชาวจีน  เดี๋ยวนี้กลายเป็นช่างกลไป
ช่างเครื่องเหล่านี้ดูเหมือนจะห่างไกลจากคำว่า ศิลปะ  แต่ก็เป็นงานที่ต้องใช้ฝืมือเหมือนกัน


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 07 พ.ย. 10, 17:08
ช่างก่อสร้าง ช่างเฟอร์นิเจอร์
ตึกแถวสวย ๆ รุ่นเก่า (รวมถึงรุ่นใหม่แต่ไม่สวย) สไตล์ ชิโน-โปรตุกิส ได้คนงานชาวจีนเป็นคนสร้าง 
งานเฟอร์นิเจอร์  ต้องใช้หลักฝืมือช่างเซี่ยงไฮ้  ก่อนที่จะใช้ไม้อัดกับตะปูยิง


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 07 พ.ย. 10, 17:16
ช่างทำอาหาร
พ่อครัวหรือกุ๊กจีน มีหลายกลุ่มที่ทำภัตตาคารเลื่องชื่อ อาหารแบบฮ่องกง ก็คืออาหารกวางตุ้งนั้น มีอยู่หลายแห่ง
ห้อยเทียนเหลาหรือหยาดฟ้าภัตตาคาร สถานที่โปรดของพวก สามเกลอ



กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 07 พ.ย. 10, 17:19
อาหารไหหลำ - ข้าวมันไก่ ขนมจีนไหหลำ
โจ๊กอร่อย กาแฟกลมกล่อม(สมัยนี้ต้องมีคำว่า "โบราณ"ด้วย) ต้องชงโดยอาโก๊ ชาวไหหลำเท่านั้น


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 07 พ.ย. 10, 17:24
ช่างตัดเสื้อ
ชุดสูทสวย ๆ เข้ารูปดี ฝืมือช่างจีน


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 07 พ.ย. 10, 20:10
เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ชาวจีนไหหล่ำมักเข้ามาทำอาหาร

อย่างไรก็ตามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วจีนไหหล่ำกับอาหารดูจะเป็นของคู่กัน

อาหารในสิงคโปร์นอกจากจะเป็นการผสมผสานอาหารฮกเกี้ยนแล้ว

อาหารหลายอย่างยังเป็นการผสมผสานอาหารฝรั่งกับอาหารไหหล่ำ มีอยู่จานหนึ่งอร่อยดี ลืมไปแล้วว่าภาษาสิงคโปร์เรียกกว่าอะไร เป็นซุปหางวัว ตุ๋นกับน้ำมะขามเปียก ใส่ตะไคร้และพริกแห้งลงไปผสมด้วย คล้ายๆแกงกระหรี่ที่เปรี้ยวอ่อนๆ หรือสเต็กเนื้อสับ อันนี้เป็นการเอาเนื้อมาสับละเอียดปั้นเป็นก้อน แล้วทอดก่อนราดด้วยน้ำเกรวี่...

พูดแล้วคิดถึงก๋งเป็นที่ยิ่ง

บังเอิญบ้านผู้เขียนเป็นผู้สันทัดกรณีเพราะเป็นหนึ่งในครอบครัวที่เคยทำร้านอาหารไหหล่ำมาก่อน (แต่ปัจจุบันพอก๋งสิ้นไป ลูกหลานก็ไม่คิดเปิด เพราะว่าทำงานด้านอื่นหมด)

เหมือนย้อนความทรงจำครั้งวัยเยาว์เลย


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 พ.ย. 10, 22:01
ช่างตัดเสื้อจะเป็นจีนแคะเยอะครับ

พวกโรงฟอกหนัง ตัดเย็บกระเป๋าหนัง รองเท้าหนัง ก็เป็นงานถนัดของพวกแคะเช่นเดียวกันครับ

อ้อ... ขายผ้าอีกอย่างด้วยครับ


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 07 พ.ย. 10, 22:37
เรือนไทยมีฝาหลายแบบ แบบหนึ่งเรียกว่าเฟี้ยม เขาว่าเกิดจากช่างจีน ไม่แน่ใจ


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 07 พ.ย. 10, 23:45
ขอบคุณ คุณ POJA มากครับ ที่เปิดกระทู้ที่น่าสนใจนี้ขึ้นมา
ช่างชาวจีนอพยพเข้ามาสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นานมากแล้ว
(ที่จริง จะว่าไปถึงอเมริกาทั้ง เหนือ กลาง ใต้ ด้วยก็ไม่ผิดนัก)
เพราะหลังแมคเจแลนเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมาขึ้นบกที่เกาะมัคตัน (เซบู) ได้
ชาวจีนก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่อพยพจากดินแดนประเทศฟิลิปปินส์ปัจจุบันเข้าไปในทวีปอเมริกาเหมือนกัน

สำหรับผม ขออนุญาตแบ่งช่วงเวลาที่มี
ช่างชาวจีนอพยพมาสู่ประเทศไทยครั้งใหญ่ๆมีสัก 2 ช่วง
คือ
1.) ก่อนกรุงเทพ และ
2.) หลังตั้งกรุงเทพมหานคร

แรงบันดาลใจจากความเป็นจีนแพร่กระจายอยู่ในศิลปะไทย
มาตั้งแต่ราว 1,000 ปี ที่แล้ว ที่เรียกกันว่ายุค 'ทวารวดี' แล้ว
และยังมีการอพยพลงอีกหลายระลอก

เช่น มีเอกสารโบราณของชาวยุโรป
ที่เข้ามาทำการค้าในอินโดนิเซียเล่าว่า
เขา 'จ้าง' ช่างชาวจีน 'ทำลูกปัดแก้วแบบจีน' ในหมู่เกาะอินโดนิเซีย

ถ้าเทียบเวลากันดู ช่วงเวลานั้นบังเอิญไปตรงกับ
ช่วงเวลาที่เกิดการผลิตเครื่องสังคโลกขึ้นอย่างหนาแน่นพอดี
ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าสังคโลกเป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง
ที่แสดงให้เห็นร่องรอยการอพยพในช่วงที่เรียกกันว่า 'Ming Gap' ก็เป็นได้

นอกจากนั้นยังมีหลักฐานเอกสารโบราณอื่นๆ
ที่กล่าวถึงชาวจีนอพยพในช่วงก่อนกรุงเทพอีกเป็นจำนวนมาก


พูดมาถึงตรงนี้ เป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อนแล้ว
เพราะผมไม่ได้ติดตามเรื่องพวกนี้มาด้วยตัวเอง
และไม่ได้ศึกษามาโดยละเอียด ทำให้เกรงว่า
เมื่อจะพูดอะไรกันต่อไป ก็จะกระเดียดไปทางเด็กเล่นขายของ

จึงอยากเรียนถามคุณ POJA หรือสมาชิกท่านอื่นๆ
ที่เคยศึกษาและค้นคว้าข้อมูลทางด้านนี้
ให้ช่วยกรุณาแบ่งยุค แบ่งสมัย ของผู้คน
ที่ท่านได้กล่าวถึงด้วยจะได้ไหมครับ

ถ้าเป็นไปได้ หากสามารถเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ทางการเมือง
หรือเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ด้วยได้
จะเป็นพระคุณแก่ผู้อ่านท่านอื่นๆมาก

เพราะโดยส่วนตัวผมเห็นว่าการอพยพคงไม่ได้เกิดเพราะชาวจีน
อยากเดินทางท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว
แต่น่าจะมีเหตุปัจจัยอื่นๆที่กระตุ้นให้เกิดการย้ายถิ่นขึ้นนะครับ


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: san1 ที่ 08 พ.ย. 10, 11:15
สมาชิกใหม่ขอร่วมเสวนาด้วยครับ
  มีอาคารหลังหนึ่ง อยู่ที่วัดเกาะ เพชรบุรี 
นานครอง วาดเวียงไชย เศรษฐีบ้านหัวถนนเป็นผู้ออกทรัพย์สร้างสำหรับตั้งศพภรรยา
ต่อมาทางวัดใช้เป็นอาคารปริยัติธรรม
อาคารหลังนี้ใช้ช่างผู้ออกแบบเป็นชาวจีน  นายช่างผู้รับเหมาก่อสร้างก็เป็นชาวจีน
ปัจจุบันอาคารหลังดังกล่าวใช้เป็นกุฏิ


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: san1 ที่ 08 พ.ย. 10, 11:40
นอกจากอาคารปริยัติธรรมหลังดังกล่าว จีนเปงส้งยังได้สร้างตึกของนายครอง  และตึกของหมื่นศุขประสารราษฎร์ ที่บ้านหัวถนน วัดเกาะ


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: san1 ที่ 08 พ.ย. 10, 11:44
ภาพบนคืออาคารปริยัติธรรมที่วัดเกาะ
ภาพล่างคือ คำประกาศสำหรับผู้มาใช้อาคาร
ผู้ลงนามท้ายประกาศคือเจ้าอธิการยิด วัดเกาะ


ยังมีภาพเก่าของอาคารหลังนี้ที่นายครองถ่ายร่วมกับจีนเปงส้ง และจีนเกา
ขอเวลาค้นสักหน่อยนะครับ แล้วจะนำภาพมาให้ชม


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: san1 ที่ 08 พ.ย. 10, 12:00
ภาพบนคือตึกของนายครอง วาดเวียงไชย
ภาพล่างคือตึกของหมื่นศุขประสารราษฎร์(ป้าน ศุขพานิช)


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 08 พ.ย. 10, 12:42
กระแสอพยพของชาวจีนเกิดขี้นเรื่อยๆ ตามแต่กระแสลมทางการเมืองในจีนจะพัดผ่านไปทางใด

ช่วงหนึ่ง (ข้ออภัยไม่มีเวลาค้นมากพอ) ประมาณเกือบสี่ร้อยปีก่อน ชาวจีนก็อพยพกันยกใหญ่ เนื่องด้วยหนีภัยแมนจู

โดยเฉพาะชาวจีนทางตอนใต้แถบฮกเกี้ยน กวางตุ้ง เพราะอยู่ใกล้ทะเล

เมื่อหนีออกมาก็กระจัดกระจายไปทั้วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะพม่า ไทย เวียดนนาม และแถบมะละกา

ทั้งนี้พวกขุนนางจากทางเหนือก็ได้หนีเช่นกัน อาทิ เสนาบดีบางท่านหนีไปยังเวียดนาม (เวียดนามบันทึกไว้) ขุนพลแทบยูนนาน ได้หนีอยู่ตอนเหนือของพม่า ส่วนในไทย จากบันทึกของทูตชาวอิหร่าน (มาจากหนังสือเรื่องสำเภากษัตริย์สุไลมานลองไปอ่านดูละกัน) ได้กว่าว่าพบชาวจีนที่มาจากตระกูลเสนาบดีจีนลี้ภัยมาและเข้ารับราชการอยู่ในราชสำนักสยาม ภายหลังถ้าจำไม่ผิดหนังสือเรื่องอภินิหารบรรบุรุษได้กล่าวว่าตระกูลขุนนางสยามบางตระกูลสืบสายมาจากเสนาบดีชาวปักกิ่ง

แต่ว่าช่วงการอพยพก็หายเงียบไปพักใหญ่เพราะราชวงศ์ชิงห้ามชาวจีนเดินเรือและปิดประเทศไป เพื่อป้องกันการกบฏ

อย่างไรก็ตามสุดท้ายคลื่นการอพยพครั้งใหญ่ก็เกิดอีกครั้งในยุค ค.ศ. ๑๘๕๐ เนื่องจากประเทศจีนในยุคนั้นมีปัญญาทุกภิขภัย เรื่อยไปจนถึงการกบฏต่างๆ และราชวงศ์ชิงเองยกเลิกกฎหมายออกเดินเรื่อย ตลอดจนชาวตะวันตกเข้ามาทำการค้า และเปิดเส้นทางการเดินทางโดยเรือกลไฟ ทำให้การอพยพยิ่งเกิดง่ายขึ้น

คิดไปในช่วงที่ชาวจีนอพยพกันมากมายจะเป็นช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๓

หลังจากนั้นก็อพยพมาเรื่อยๆ จนกระทั่งจีนปิดประเทศอีกรอบยุคปฏิวัติวัฒนธรรมประมาณปี ๑๙๖๐ กว่าๆ

นี้มาจากความจำล้วนๆ จึงอาจผิดพลาดได้ ขอทุกท่านอย่าได้ไว้วางใจ ไว้ว่างๆจะค้นมาเขียนลง

สวัสดี



กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 08 พ.ย. 10, 17:03
ขอบคุณ คุณ han_bing มากครับ
ที่ไล่เรียงเรื่องการอพยพครั้งสำคัญให้เราได้อ่านกัน
พูดถึงช่างจีนในไทย ไม่พูดถึงงานอพยพ
ก็เหมือนพูดถึงดอกทิวลิป แต่ไม่มีต้น ไม่มีหัว
อ่านไปถึงรู้จักดอกไม้ก็ปลูกไม่ได้ เลี้ยงไม่รอดครับ

ผมไม่เห็นด้วยเลยกับนักวิชาการหลายๆท่าน
ที่ลุกขึ้นเขียนเรื่องศิลปะจีนในไทย
โดยไม่มีข้อมูลประวัติศาสตร์จีนเลยสักนิด

บางครั้งอะไรที่ 'ดูเป็น' จีน ที่จริงก็ไม่ใช่จีน
หรือจีนรับมาจากแหล่งอื่นๆอีกต่อหนึ่งก็มี

อาจารย์ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพมากท่านหนึ่ง
เคยสรุปว่าลายฝาผนังโบสถ์แบบรัตนโกสินทร์เป็นลายจีน
ท่านคิดท่านเดาไปอย่างนั้น เพราะเผอิญมันไปเหมือนลายโบราณวัตถุจีน
สมัยราชวงศ์หยวน หรือหมิงตอนต้นอยู่หลายชิ้น และของส่วนหนึ่งก็สั่งมาจากจีน...

แต่ท่านดันลืมไปว่าของที่ท่านพูดถึงมันร่วมสมัยกับราชวงศ์ชิงตอนปลาย
พอเอาหลักฐานจากส่วนอื่นๆของโลกมาเทียบเข้า... งานวิจัยก็ตายหงายท้อง
แม่ลายพวกนั้นทั้งหมดเหมือนลายร่วมสมัยเดียวกันของมุสลิมจากอินเดียใต้มากที่สุด
แต่แทบไม่มีความเหมือนกับศิลปะจีนในยุคนั้นเลยสักกะนิด... เอวัง




ปล. จะว่าไปหลังยุคสมัยของกรมพระยาดำรงฯ ลงมาแล้ว
ผมก็ยังไม่เห็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะไทยท่านไหน
เขียนงานที่แสดงให้เห็นว่ามีความเข้าใจว่า มองโกล = โมกุล เลยซักกะท่าน
แม้แต่พระโอรสของเสด็จในกรมพระองค์นั้นเอง
อย่าง ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล...  :-X


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 08 พ.ย. 10, 19:15
กำลังพูดถึงช่างจีนที่ทำงานในไทยค่ะ
เอางานฝีมือและทักษะของตนมาใช้ในงานอาชีพ
อย่างงานเครื่องเงินเครื่องทองนั้น  ช่างจีนเขียนลายไทยไม่เป็น แต่อาศัยช่างไทยเขียนลายและนำมาเข้ากระบวนการต่อ
อย่างชามตราไก่หรือโอ่งมังกร ก็ไม่ใช่ศิลปะจีนแท้ ประยุกต์เข้ากับยุคสมัย


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 08 พ.ย. 10, 19:20
งานช่างนั้น ฝึกฝนกันราวกับอยู่ในสำนักตักกศิลา
ความเชี่ยวชาญเกิดจากความใส่ใจและการทำงานหนัก

ลูกหลานช่างจีนก็ไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างบรรพบุรุษอีก
อาจเป็นเพราะเป็นงานหนัก  และต่างก็เรียนหนังสือกันหมด
ถ้าสืบทอดกิจการต่อ ก็ไม่ใช่ช่างอีกต่อไป  กลับเป็นเถ้าแก่เจ้าของร้าน
ให้ลูกน้อง (ปัจจุบันก็อาจเป็นพวกต่างด้าว) ทำงานช่างแทน


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 09 พ.ย. 10, 23:02
อ้างถึง
เพราะโดยส่วนตัวผมเห็นว่าการอพยพคงไม่ได้เกิดเพราะชาวจีน
อยากเดินทางท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว
แต่น่าจะมีเหตุปัจจัยอื่นๆที่กระตุ้นให้เกิดการย้ายถิ่นขึ้นนะครับ

คงไม่ใช่เพราะชาวจีนชอบเที่ยวหรอกค่ะ คุณติบอลองอ่านเรื่องราวของขันที เจิ้งเหอ หรือ ซำปอกง สิคะ
นอกจากจะเดินทางรอบโลกเมื่อปี ค.ศ.1421 ก่อน โคลัมบัสหลายร้อยปี ในบันทึกของท่าน กล่าวถึง การเดินเรือตามคำบอกเล่า และ แผนที่ที่เคยมีคนจีนเดินเรือไปไกล ๆ มาก่อนหน้านั้นเสียอีก แปลว่า คนจีน มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์มาก ๆ และ เป็นนักผจญภัย นักสำรวจ ฯลฯ

กองเรือของเจิ้งเหอ จะเอาผู้หญิงติดไปด้วยจำนวนหนึ่ง และ จะปล่อยให้เธอลงไปอยู่ในแผ่นดินใหม่ เพื่อสืบเผ่าพันธุ์กับคนพื้นเมือง และทำจุดนัดหมายว่าจะมารับกลับอีกครั้ง เมื่อกองเรือเดินทางมาที่นั่นอีก

ทำให้ปัจจุบัน มีการตรวจ DNA พบว่า คนพื้นเมืองหลายแห่งในโลก มี DNA ของคนจีน มีหน้าตาเหมือนคนจีน (ดู เอสกิโม ชาวโพลีนีเซียน ฯลฯ)

แต่การเดินเรือก็ต้องยุติลง เพราะสิ้นเปลืองมาก แต่เพื่อป้องกันคนจีนที่อยากจะเดินทางไปหาโลกใหม่อีก หลักฐานต่างๆ จึงถูกเผาทำลายจนแทบไม่เหลืออะไรให้ค้นหา นอกจากส่วนที่ ถูกแอบซ่อนไว้เท่านั้น

อย่างน้อย เรื่องราวของเจิ้งเหอ ต้องมีการเล่าขานกันต่อ ๆ มาไม่ขาดสาย ทำให้คนจีนฝันที่จะเดินทางไปสู่โลกใหม่เมื่อมีโอกาส

เรื่องการอพยพเพราะทุกภิกขภัย ภัยสงคราม หรือ การกดขี่ทารุณ นั่นเป็นตัวช่วยอีกแรงเท่านั้นเอง


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 09 พ.ย. 10, 23:10
เอาภาพนี้มาจากกระทู้สัตว์ประหลาดค่ะ เพราะภาพนี้ สวยมาก

แต่ที่ทำให้ดิฉันประทับใจ แปลกใจ ก็เพราะคนวาดภาพนี้บนปก เป็น "ช่างจีนในไทย" ค่ะ ชื่อ จีนจู เกิดในประเทศไทย

ในกระทู้ตุ๊กตาหิน อับเฉาจากจีน หรือ Made In Thailand ก็มีรูปตุ๊กตาจีนที่แปลกตา บางตัวน่าจะทำในจีน บางตัว คงเป็นช่างจีนในไทยค่ะ


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 10 พ.ย. 10, 10:17
ดีจังค่ะ ที่รู้ชื่อช่างเขียนด้วย น่าจะเป็นคนมีฝีมือดี และมีชื่อเสียงมาก

เราไม่ค่อยให้เครดิตแก่ช่าง  แม้แต่ในปัจจุบัน


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 10 พ.ย. 10, 11:14
ดีจังค่ะ ที่รู้ชื่อช่างเขียนด้วย น่าจะเป็นคนมีฝีมือดี และมีชื่อเสียงมาก

เราไม่ค่อยให้เครดิตแก่ช่าง  แม้แต่ในปัจจุบัน


ดีใจมากๆครับ ที่ชาวเรือนไทยสนใจประเด็นเล็กๆแบบนี้กัน
หลายครั้ง ช่างเป็นคนที่สูญหายไปจากประวัติศาสตร์... แม้แต่ผู้ออกแบบ 'นครวัด'
(ซึ่งแน่ล่ะว่า พระบาท สมเด็จ สุริยะวรมันที่ 2 ไม่ได้ออกแบบเองแน่ๆ)

มีข้อมูลงานช่างอีกนับร้อยนับพัน
ที่กำลังสูญไปอยู่ในทุกลมหายใจของวันนี้
ถ้าเราไม่รีบทำงานกันเสียก่อน...
ของที่ต้องสูญหายไปในวันพรุ่งนี้
ก็จะไม่เหลือไปถึงวันมะรืนครับ


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 10, 20:41
วัดกุฏิ    บางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี  มีภาพสลักไม้ฝีมือช่างจีน ชื่อเจ๊กโฮ่ง (หรือโค่ง บางแห่งสะกดว่าโคร่ง)
บอกว่า

http://www.osotho.com/th/content/indexdetail.php?ContentID=1204&myGroupID=7


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 พ.ย. 10, 20:58
พระที่นั่งอนันตสมาคม ในลานพระราชวังสวนดุสิต ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เสร็จสิ้นในรัชกาลที่ ๖ แม้ว่าจะเป็นการออกแบบโดยสถาปนิกชาวยุโรป แต่แรงงานที่สำคัญในการสร้างคือ แรงงานชาวจีน ครับ


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: san1 ที่ 11 พ.ย. 10, 14:28
หาภาพเจอแล้วครับ ช่างจีนที่สร้างอาคารที่วัดเกาะ
คนขวาคือจีนเกาผู้ทำแบบก่อสร้าง  คนซ้ายคือจีนเปงส้งผู้รับเหมาก่อสร้าง  คนกลางคือนายครอง วาดเวียงไชย ผู้ออกทรัพย์ก่อสร้าง
อาคารหลังนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 พ.ย. 10, 16:13
ภาพนี้มาจากนิทรรศการ “The Gallileo Chini Exhibition @ Central Chidlom
100 ปี มรดกศิลป์ กาลิเลโอ คีนี จิตรกรสองแผ่นดิน ผู้รังสรรค์งานศิลป์ในพระที่นั่งอนันตสมาคม” ค่ะ



กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 12 พ.ย. 10, 09:21
เป็นไปได้ไหม  ที่ขาดแคลนแรงงาน
คนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
อีกส่วนหนึ่ง ก็อยู่ในสังกัดเจ้านายต่าง ๆ
เลยต้องอิมพอร์ตแรงงานต่างชาติเข้ามา
ที่เข้ามาได้มากๆ ก็เป็นชาวจีน 

คล้าย ๆ กับในปัจจุบัน  ผิดกันแต่เชื้อชาติ


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ย. 10, 11:03
ถ้าพูดถึงแรงงานจีน อ่านได้ในเว็บนี้ค่ะ
http://wp.doe.go.th/history

ในอดีต แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานทาสเชลยที่เป็นราษฎรของประเทศผู้แพ้สงครามที่ถูกกวาดต้อน เพื่อเข้ามาเป็นกำลังแรงงานในยามสงบ และยามมีศึก ซึ่งสมัยโบราณพลเมืองไทย ยังมีเป็นจำนวนน้อยแรงงานทาสเชลย ได้แก่ เขมร มอญ ลาว และญวน

ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 1 กล่าวว่า พ.ศ. 2326 ได้โปรดให้เกณฑ์ไพร่พลชาวเขมร จำนวน 10,000 คน เข้ามาขุดคูพระนคร ด้านทิศตะวันออก โดยขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลบางลำพู จนออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ข้างวัดสามปลื้มด้านใต้ และให้ขุดคลองมหานาค

ในรัชกาลที่ 2 ชนชาติจีนเข้ามาอาสารับจ้างทำงานโยธาต่าง ๆ และรับจ้างแบกหาม โดยคนจีนเหล่านี้เข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหลบหนีภัยธรรมชาติ และความอัตคัดขาดแคลนจากประเทศของตน ชาวจีนส่วนใหญ่รับจ้างเป็นกุลี, รับจ้างทำเหมืองทางภาคใต้, ทำไร่อ้อยในภาคตะวันออก

ในรัชกาลที่ 3 ชาวจีนทำงานเป็นกุลีแบกหาม ขนส่งสินค้า และทำงานในเรือเดินทะเล บางคนเริ่มทำการค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งค้าขายผูกขาดน้ำตาล ชาวจีนส่วนใหญ่รับจ้างทำงาน ขุดคลอง สร้างและซ่อมแซมวัด รัฐบาลได้ว่าจ้างคนจีนขุดคลองท่าแสนแสบถึงบางขนาดไปออกแม่น้ำเมือง ฉะเชิงเทรา และคลองบางขุนเทียน

ในรัชกาลที่ 4 เศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้น จึงมีการค้าขายกับชาติตะวันตกหลายชาติ โดยมีคนจีนรับจ้างแบกหามกระสอบข้าว และเป็นกรรมกรในโรงเลื่อยไม้และโรงหีบอ้อย ส่วนฝรั่งชาติตะวันตกเข้ามาเป็นกำลังทางสมอง รับราชการ งานที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน มีแรงงานชาวอินเดีย เข้ามารับจ้างทำงานและประกอบการค้าขาย

ในรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2454 โปรดให้ตรากฎข้อบังคับเกี่ยวกับการควบคุมแรงงานและสภาพการทำงาน

พ.ศ. 2459 โปรดให้ตรากฎหมายกำหนดให้กรรมกรลากรถ ต้องจดทะเบียนใบอนุญาตทำงาน อัตราฉบับละ 3 สตางค์ โดยมีระเบียบปฏิบัติว่า ผู้ประกอบอาชีพนี้ จะต้องมีร่างกายแข็งแรง มีอายุระหว่าง 18-40 ปี และพูดภาษาไทยได้ นับเป็นก้าวแรกของการมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการใช้แรงงานและควบคุมอาชีพคนต่างด้าว

พ.ศ. 2483 ประกาศใช้กฎหมาย และพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการสงวนอาชีพสำหรับคนไทย

พ.ศ. 2484 พ.ร.บ. ช่วยอาชีพ และวิชาชีพ พ.ศ. 2484 โดยมีการกำหนดงานห้ามแก่คนต่างด้าว

พ.ศ. 2490 รัฐบาลเริ่มใช้นโยบายชาตินิยม ได้ออกกฎหมายบังคับให้โรงสี และกิจการก่อสร้างที่รับงานของรัฐต้องมีกรรมกรไทยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของ กรรมกรทั้งหมด และได้ออกกฎหมายสงวนอาชีพสำหรับคนไทยและมีการใช้มาตรการรุนแรงกับหัวหน้า กรรมกรชาวจีนที่ก่อการนัดหยุดงานโดยการเนรเทศ กลับ ออกกฎหมายควบคุมโควต้าคนจีนเข้าประเทศ และขึ้นค่าธรรมเนียมภาษีคนต่างด้าว

พ.ศ. 2499 รัฐบาลได้พิจารณาออกพระราชบัญญัติสงเคราะห์อาชีพแก่คนไทย พ.ศ. 2499 โดยมีบทบัญญัติให้เจ้าของกิจการในกิจการประเภทที่มีคนงานตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป จะต้องจ้างบุคคลสัญชาติไทยทำงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

พ.ศ. 2502 รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เห็นว่ากฎหมายที่ยังใช้บังคับเกี่ยวกับคนต่างด้าวไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ของประเทศ จึงได้มอบหมายให้กองแรงงาน ซึ่งสังกัดกรมประชาสงเคราะห์พิจารณาปรับปรุง โดยได้มีการพิจารณายกร่างกฎหมายใหม่ แต่ปรากฎว่ามีอุปสรรคขัดข้อง จึงทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนั้นล่าช้า จนกระทั่งถึงปี 2515 จึงได้มีการประกาศใช้กฎหมายควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว ในรูปของประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 322 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 และให้ยกเลิก พ.ร.บ. ช่วยอาชีพ และวิชาชีพ พ.ศ. 2484 ในการประกาศคณะปฎิวัติ นี้รัฐบาลมีเจตนารมย์ในการกำหนดขอบเขตการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อคุ้มครองให้คนไทยได้มีงานทำ โดยเน้น

1.การสงวนอาชีพที่คนไทยทำได้ไว้ให้แก่คนไทย ซึ่งได้ตราพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2516 กำหนดอาชีพ และวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ 39 อาชีพ

2.เปิดโอกาสให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานเฉพาะกรณีที่เห็นว่าคนต่างด้าวมีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับความต้องการของประเทศ และงานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย ที่จะได้เพิ่มความรู้ ความสามารถในวิทยาการและประสบการณ์ใหม่ อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ในการยกระดับฝีมือในการทำงาน และเนื่องจากได้มีคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานแล้ว จึงจำเป็นจะต้องคำนึงถึงหลักศิลธรรมและมนุษยธรรม ประกอบกับหลักผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 322 จึงได้กำหนดวิธีปฎิบัติแก่คนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยดังต่อไป นี้

2.1 คนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอยู่ก่อนวันประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 322 ใช้บังคับ (ก่อนวันที่ 14 มีนาคม 2516) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสัญชาติจีนและอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน เพื่อเป็นการคำนึงถึงหลักศิลธรรม และมนุษยธรรม จึงได้ออกใบอนุญาตทำงานตลอดชีพให้ โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงงาน หรือเปลี่ยนอาชีพในภายหลัง สิทธิพิเศษที่ได้รับจะหมดไป

2.2 คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน

2.3 คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาหลังวันประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 322 จะ ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตทำงาน ภายใต้หลักเกณฑ์ว่า จะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริง และเป็นอาชีพที่คนไทยยังทำไม่ได้ดีพอ หรือมีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน โดยกำหนดให้ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ กองงานคนต่างด้าว กรมแรงงาน ซอยโรงปุ๋ย ถนนดินแดง เขตพญาไท กรุงเทพฯ

กรมแรงงาน ได้เสนอร่างปรับปรุง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 322 ให้เหมาะสมกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 แทน


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 12 พ.ย. 10, 20:39
ความเป็นมาของลายกำมะลอ

         งานเขียนลายกำมะลอนี้ จะปรากฏเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อไรไม่เป็นที่แน่ชัด  แต่อาจจะมีการทำกันมาบ้างแล้วในสมัยอยุธยา  แต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน  อย่างไรก็ตามลายกำมะลอนั้นได้รับความนิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ในราวระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒  และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  ด้วยเป็นเวลาที่แบบแผนการประดับตกแต่งอย่างจีนกำลังได้รับความนิยม  รายละเอียดเกี่ยวกับลายกำมะลอนี้  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ได้ทรงมีบันทึกไว้ว่า

         “ที่นี้จะสันนิษฐานตำนานลายกำมะลอ  ทีแรกมีช่างจีนเข้ามาจากเมืองจีน  มาเขียนของจีนในเมืองไทย  ไทยบางคนเห็นว่างามกว่าลายรดน้ำ  เพราะมีสีต่างๆ ออกไปได้  จึ่งเอาของไทยที่เคยเขียนลายรดน้ำไปให้เขียนลายกำมะลอ  เพราะฉะนั้นลายกำมะลอชั้นแรกคงเป็นฝีมือจีนนอก  ต่อมาทีหลังก็จำเป็นอยู่เองที่ครูจีน  นอกจากจะต้องถ่ายทอดวิชาให้แก่ลูกจีนในนี้ทำเพื่อช่วยแรงตัว  เหตุฉะนั้นวิชาเขียนลายกำมะลอก็มีขึ้นในพวกลูกจีนอีกด้วย  พวกลูกจีนที่เกิดเมืองจีนย่อมมีตาติดรูปภาพและลวดลายไทยอยู่  ครั้นรับจ้างเขียนของไทย  ก็ทำเรื่องและท่วงทีล้อไทยเพื่อให้ไทยชอบ  แต่จะเหมือนฝีมือไทยที่เดียวนั้นหามิได้  เพราะมิได้หัดอย่างไทย

         ถัดนั้นลงมาอีกรุ่นหนึ่ง  พวกช่างไทยอยากทำบ้าง  แต่เป็นการยากที่ผสมสีด้วยรัก  เพราะรักนั้นดำทำให้สีมัวเสียไปเสมอ  ช่างจีนมีวิธีผสมใส่อะไรบ้างปิดหนักหนา  ช่างไทยขโมยสืบมาได้บ้างบางอย่างประกอบกับเดาลองผสม  ก็ได้บ้างแต่ไม่ดี  ฝีมือช่างไทยเขียนลายกำมะลอดูท่วงทีเป็นไทยแท้  เมื่อเป็นดั่งนี้  จะต้องจัดลายกำมะลอเป็นสามรุ่น  รุ่นที่ ๑ ฝีมือจีนนอก  รุ่นที่ ๒ ฝีมือลูกจีน  รุ่นที่ ๓ ฝีมือไทย  ทางสันนิษฐานดังนี้”

คัดลอกจาก  http://www.oknation.net/blog/phaen/2007/08/28/entry-2


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 พ.ย. 10, 00:25
ในฐานะ หลานเจ๊ก เหลนเจ๊ก คนหนึ่ง
ผมไม่เห็นด้วยกับทางสันนิษฐานของสมเด็จครูเรื่องนี้เลยครับ

คุณตาทวดของผม เป็นแพทย์แผนจีน
ท่านเกิด โต และเรียนรู้การรักษาแบบจีนในประเทศจีน
เข้ามาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว
ตอนนั้นคุณทวดอายุราว 30 ต้นๆ
ตอนนั้นคุณยายของผมอายุ 8 ขวบ
ครอบครัวของท่านพักอยู่ในตลาดแม่กลอง แถววัดหลวงพ่อบ้านแหลม

ทุกวันตอนเช้า คุณทวดจะเปิดร้านขายยาของท่านในตลาด
คุณยายเล่าให้ฟังว่าท่านมีกระดานฉนวนแผ่นใหญ่แผ่นหนึ่ง
คอยถือไว้เพื่อสูตรยาจีนไว้จัดให้ลูกค้าเวลาจ่ายยา

ไม่ถึง 20 ปีผ่านไป คุณตาทวด (ที่เคยเป็นหมอจีน)
ก็เรียนรู้สูตรยาต่างๆ ที่เป็นของไทย
และจ่ายยาไทยพื้นฐานให้กับลูกค้าได้เหมือนๆกับที่ท่านจ่ายยาจีนเป็น...


ถ้าถามผมว่าทำไมคุณทวดของผมถึงทราบสูตรยาไทย
ผมเชื่อว่าถ้าคนเราไม่ล้มเลิก เราก็จะไม่ล้มเหลว
ครูรุ่นโบราณถึงจะปิดสูตร หวงวิชาอย่างไร
ในที่สุดถ้าเราเอาชนะใจท่านได้ เราก็จะได้วิชามาอยู่ดี

ยิ่งวิชาวาด วิชาเขียน จิตรกรรมไทยกับจีนใช้มิติแบบเดียวกัน
คือ มิติของเส้น ที่ไม่มีการแรเงา... วาดก็วาดด้วยพู่กันเหมือนกัน
ผมยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรต่างกันนอกจากบุคลิกของเส้น
ถ้าช่าง 'มีความพยายาม' มากพอ เรื่องแค่นี้ขี้ปะติ๋วครับ

อ. บรูซ แกสตัน เป็นฝรั่ง ไม่รู้ดนตรีไทยท่านยังสู้ไปขับแทกซี่เป็นปีเพื่อต่อทางระนาดได้
แล้วทำไมจะต้องรอรุ่นพ่อ รุ่นลูก รุ่นหลาน อะไรแบบที่สมเด็จครูท่านคิดด้วยหรือ ?


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 10, 08:14
ติบอ อ่านแล้วดิฉันคิดว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านไม่ได้หมายถึงรุ่นของชั่วคน อย่างรุ่นปู่ รุ่นลูก รุ่นหลาน
แต่หมายถึงชนิดของฝีมือ  (ซึ่งท่านเรียกว่ารุ่น)  ตรงนี้ขอให้ติบอพิจารณา ว่าใช่หรือไม่

๑  มีลายกำมะลอแบบจีนแท้  นับเป็นรุ่น(ชนิด)ที่ 1   ลายนี้เขียนโดยช่างจีนจากเมืองจีน
๒  ต่อมา มีลายกำมะลือแบบจีน  นับเป็นรุ่น(ชนิด)ที่ 2   เขียนโดยช่างจีนเกิดในเมืองไทย  ท่านทรงใช้คำว่า "ลูกจีนในนี้"  
รุ่นแรกคือรุ่นครู  เอารุ่นที่ 2 มาฝึกทำงานด้วย เป็นศิษย์และผู้ช่วย
๓  ส่วนแบบที่ 3  คือช่างไทยที่ได้อิทธิพลการเขียนลายกำมะลอจากจีน มาสร้างเป็นชนิดที่ 3 คือลายกำมะลอไทย

ทั้งหมดนี้จะกินเวลาเท่าไรไม่ทราบ เพราะที่อ่านมาไม่ได้ระบุไว้  แต่อาจจะไม่เกิน 20 ปีก็ได้
ถ้าจะค้าน  ไม่ใช่ค้านเรื่องรุ่นพ่อรุ่นลูกรุ่นหลาน  แต่ต้องค้านว่า ลายกำมะลอไม่ได้จำแนกอย่างสมเด็จฯท่านว่า   มันก็เหมือนๆกันทั้งนั้นไม่ว่ากำมะลอไทยหรือจีน   หรืออาจจะค้านว่าช่างไทยไม่ต้องรอเวลา เห็นลายกำมะลอจีนเท่านั้น  มิติเหมือนกัน   ลองทำได้เลย
อย่างนี้ใช่ไหมที่เรียกว่าไม่เห็นด้วย


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 13 พ.ย. 10, 20:31
ช่างเขียนมีฝีมือที่เป็นเส้นสายเฉพาะตัว 
นอกจากความสามารถส่วนบุคคลแล้ว ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ถิ่นที่อยู่ ประสบการณ์ที่เคยพบเห็น ฯลฯ
เช่นเดียวกับ ลายมือเขียน  หรือภาษาพูด  อันเป็นสำเนียงต่าง ๆ

คนกรุงเทพฯ หรือคนต่างจังหวัด  ย้านไปอยู่ต่างถิ่น
นานๆ เข้าสำเนียงพูดก็เปลี่ยนได้ค่ะ

ช่างจีนที่เติบโตมากับลายจีน ย่อมมีเส้นสายออกทางจีนมากกว่า
ลายไทยสัมพันธ์กับลายจีนมากขึ้นในสมัย ร.2-ร.3  ด้วยมีความนิยมทางนั้น

สมเด็จฯ ท่านกล่าวถึง "ลายกำมะลอ"  ซึ่งเป็นงานที่มีกำเนิดต่อเนื่องมาจากยุคสมัยอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น
อันมีลวดลายงานวิจิตรรุ่งเรืองสุด  กระหนกเปลวราวกับลุกเป็นไฟ  กระนั้น 
ช่างยุคต่อมาอาจมีฝืมือด้อยลง  ประกอบกับมีช่างฝืมือชาวจีนมารับงานด้วย ก็ไม่อาจจะสำแดงฝีมือได้เทียบเท่า
จึงคลี่คลายออกมาในอีกทางหนึ่ง  เป็นอีกแบบอย่างหนึ่งของงานช่าง เรียกว่า ลายกำมะลอ

คิดเห็นอย่างที่ อ.เทาชมพู ค่ะ
รุ่นหนึ่ง ไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง  เป็นการแบ่งยุคของงาน
บางทีงานทั้งสามรุ่นนั้น  อาจจะอยู่ในตัวคนคนเดียวเลยก็เป็นได้

งานฝีมือ  เมื่อฝีกฝนคล่องแคล่ว  ก็มีความชำนาญและสวยงามมากขึ้น
เวลาเปลี่ยน  สภาพแวดล้อมเปลี่ยน  เส้นสายก็เปลี่ยนไป

ลายไทย ผสมกับลายจีน 
ยุคหลังจาก ร.4 ก็ยังมีลายฝรั่งเข้าร่วมด้วย (ตามยุคสมัย)



กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 พ.ย. 10, 21:30
ขอบพระคุณ อ.เทาชมพู
และขอบคุณ คุณ POJA นะครับ
ที่อธิบายความเห็นของคุณให้ผมได้ทราบ

ผมไม่ใช่คนที่อ่านภาษาไทยได้ดีนัก
อ่านแล้วความในประโยคสื่อมายังไง
ก็คิดไปไม่ได้ไกลนัก บางทีก็ไม่ถึงเท่านั้น

สมเด็จครูท่านอาจจะหมายถึง
ความอย่างที่อาจารย์เทาชมพูคิดก็ได้

ที่สำคัญ การสื่อสารไม่ได้อยู่ที่คนพูด
จะเป็น สมเด็จครู อาจารย์เทาชมพู
หรือผม ก็เท่ากันหมดในฐานะผู้ส่งสาร...
ผู้รับสาร เช่น คนอีกหลายๆคนที่ได้เข้ามาอ่าน
จะเข้าใจที่พวกเราพูดกันไปอย่างไรคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง



ลายไทยเป็นเรื่องซับซ้อนครับ
บางครั้ง 'ตัวตน' ของคนศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญกว่าอย่างอื่น

วันนี้ ถ้าผมบอกคนไทยสักคน ว่ากนกแบบอยุธยาตอนปลาย
ที่คนอ่านสาส์นสมเด็จเรียกตามๆกันมาว่า 'สกุลช่างวัดเซิงหวาย'
เป็นลายไทยในยุคที่ได้อิทธิพลศิลปะอิสลามแบบเปอร์เชียมาก
หรือลายแบบรัชกาลที่ 2-3 แทบไม่สัมพันธ์กับลายจีนที่ร่วมสมัยกันเลย
คนฟังบางคนอาจร้องแรกแหกกระแชงลงแดงดิ้นพราดๆ ก็ได้

แต่หากวันหนึ่ง คนที่ร้องแรกแหกกระแชงไปต่างๆนั่น
ได้รับข้อมูลใหม่ๆมากขึ้น มีตัวตนที่กว้างขึ้น
เขาอาจจะพูดเช่นนั้นด้วยปากของเขาเองก็ได้
ผมก็ไม่ถือว่าเขาผิดอะไร
ที่มันเป็นไปนั่นเพราะเขา 'กว้าง' และ 'ลึก' ขึ้น



งานวิชาการไม่ได้อยู่ที่การเอาชนะ หรือความสะใจนี่ครับ
แต่อยู่ที่การทำความเข้าใจวิธีคิดของคนอื่นๆ
ว่าเขามีเหตุ และผลอย่างไรที่ชวนให้คิดไปเช่นนั้น

น่าเสียดาย คนไทยหลายคนยังพึงใจจะเอาหนังสืออ้างอิง
หรือข้อความของครูฟาดใส่หน้ากันให้ตายยับดับสูญไปมากกว่า
โดยลืมไปว่า 'ความมั่นคง' ในความคิด เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเสมอ

แบบนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างหนึ่งในแวดวงวิชาการนะครับ...


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ย. 10, 05:16

ที่สำคัญ การสื่อสารไม่ได้อยู่ที่คนพูด
จะเป็น สมเด็จครู อาจารย์เทาชมพู
หรือผม ก็เท่ากันหมดในฐานะผู้ส่งสาร...
ผู้รับสาร เช่น คนอีกหลายๆคนที่ได้เข้ามาอ่าน
จะเข้าใจที่พวกเราพูดกันไปอย่างไรคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


ขอค้านตรงนี้ค่ะ ติบอ  
การส่งสาร ในเรื่องวิชาการนั้น เป็นเรื่องที่ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าผู้ส่งสารหมายถึงอะไร   เสียก่อนเป็นอันดับแรก
เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้ว ค่อยพิจารณาต่อว่าผู้ส่งสารมีความเห็นอย่างไร   เมื่อรู้ประเด็นแล้ว  คนอ่านจะมีความรู้ความเข้าใจตรงกันหรือเห็นแตกต่างกันไป  นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
จะมาถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกันก็ตอนนี้ละ   เรื่องมันถึงจะดำเนินต่อไปได้

ไม่ใช่ว่าคุณแค่ส่งสารมา  ผมจะเข้าใจว่ายังไง  คุณ ก. คุณ ข. เข้าใจว่ายังไง ก็อีกเรื่อง    ยังงี้จะเกิดกรณีฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดกันได้    
ถ้าการสื่อสารไม่ได้อยู่ที่คนพูดแล้วจะอยู่กับใคร    ก็เขาเป็นคนที่จุดประเด็นขึ้นมาน่ะ




งานวิชาการไม่ได้อยู่ที่การเอาชนะ หรือความสะใจนี่ครับ
แต่อยู่ที่การทำความเข้าใจวิธีคิดของคนอื่นๆ
ว่าเขามีเหตุ และผลอย่างไรที่ชวนให้คิดไปเช่นนั้น


เห็นด้วยค่ะ  
ว่าแต่ติบอช่วยทำความเข้าใจกับวิธีคิดของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ให้ดิฉันทราบหน่อยได้ไหม
ว่าทรงมีเหตุ และผลอย่างไรที่ชวนให้คิดไปเช่นนั้น
ดิฉันมีความรู้น้อยเรื่องลายกำมะลอ   อยากจะทราบไว้เป็นความรู้ และเป็นประโยชน์แก่คนอ่านเรือนไทยด้วย


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 14 พ.ย. 10, 20:21
ก่อนอื่น ขออนุญาตเรียนอาจารย์เทาชมพูให้ทราบก่อน
ว่าคนที่พูดถึงลายกำมะลอ มิใช่กรมพระยาดำรง
แต่เป็นกรมพระยานริศ นะครับ ขอให้อาจารย์ลองอ่านทวนดู
ข้อความที่ คุณ POJA ได้ quote มาเองก็ก็กล่าวเช่นนั้น



เรื่องที่สอง ที่อยากให้อาจารย์ลองอ่านทวนอีกเช่นกัน คือ
ข้อความที่ คุณ POJA ได้ quote มาบางส่วน ดังนี้

         “ที่นี้จะสันนิษฐานตำนานลายกำมะลอ  ทีแรกมีช่างจีนเข้ามาจากเมืองจีน  มาเขียนของจีนในเมืองไทย  ไทยบางคนเห็นว่างามกว่าลายรดน้ำ  เพราะมีสีต่างๆ ออกไปได้  จึ่งเอาของไทยที่เคยเขียนลายรดน้ำไปให้เขียนลายกำมะลอ  เพราะฉะนั้นลายกำมะลอชั้นแรกคงเป็นฝีมือจีนนอก  ต่อมาทีหลังก็จำเป็นอยู่เองที่ครูจีนนอกจากจะต้องถ่ายทอดวิชาให้แก่ลูกจีนในนี้ทำเพื่อช่วยแรงตัว  เหตุฉะนั้นวิชาเขียนลายกำมะลอก็มีขึ้นในพวกลูกจีนอีกด้วย  พวกลูกจีนที่เกิดเมืองจีนย่อมมีตาติดรูปภาพและลวดลายไทยอยู่  ครั้นรับจ้างเขียนของไทย  ก็ทำเรื่องและท่วงทีล้อไทยเพื่อให้ไทยชอบ  แต่จะเหมือนฝีมือไทยที่เดียวนั้นหามิได้  เพราะมิได้หัดอย่างไทย

         ถัดนั้นลงมาอีกรุ่นหนึ่ง  พวกช่างไทยอยากทำบ้าง  แต่เป็นการยากที่ผสมสีด้วยรัก  เพราะรักนั้นดำทำให้สีมัวเสียไปเสมอ  ช่างจีนมีวิธีผสมใส่อะไรบ้างปิดหนักหนา  ช่างไทยขโมยสืบมาได้บ้างบางอย่างประกอบกับเดาลองผสม  ก็ได้บ้างแต่ไม่ดี  ฝีมือช่างไทยเขียนลายกำมะลอดูท่วงทีเป็นไทยแท้  เมื่อเป็นดั่งนี้  จะต้องจัดลายกำมะลอเป็นสามรุ่น  รุ่นที่ ๑ ฝีมือจีนนอก  รุ่นที่ ๒ ฝีมือลูกจีน  รุ่นที่ ๓ ฝีมือไทย  ทางสันนิษฐานดังนี้”


สำหรับผม ผมว่าย่อหน้าแรกก็ชัดเจนดีว่าพูดถึงคน ไม่ใช่ฝีมือ
แต่ถ้าอาจารย์จะคิดว่าเป็นฝีมือ ผมก็เห็นว่าเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของอาจารย์

เพราะที่จริงเรา 3 คนก็มีจุดยืนเดียวกันอยู่ คือ เชื่อว่า
'ว่าฝีมือช่างเปลี่ยนแปลงไปได้ในแต่ละช่วงชีวิต'

ที่ผมขัดแย้งออกไป คือ การตีความในพระอธิบาย ของสมเด็จนริศ
หรือที่อาจจะมากกว่านั้นสักหน่อย คือ หากจะพูดถึงฝีมือจริง ผมก็ยังเห็นว่ามีประเด็นอื่นๆ
ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของลายกำมะลอมากกว่าสิ่งที่สมเด็จฯท่านทรงตรัสถึง
เป็นต้นว่าคุณภาพสีที่เปลี่ยนแปลงไปตามความสามารถในการผลิตในแต่ละยุคสมัย





สำหรับประเด็นเรื่องการตีความสื่อ และสาร
อาจารย์อาจยืนยันที่จะไม่เห็นด้วยกับผม
ผมก็ต้องขอขอบพระคุณจากใจจริงครับ
สำหรับความมั่นคงในจุดยืนของอาจารย์

โดยส่วนตัวผมกลับคิดเห็นว่าการ 'ฟัง' หรือ 'อ่าน' ไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อครับ
หากมีการค้นพบหลักฐานใหม่ ที่น่าเชื่อถือกว่าแนวคิดอย่างเก่าและมีการนำเสนอออกมา

กรณีเช่นนี้ นอกจากวิธีคิดอย่างเก่าตกที่นั่ง
'ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด' แล้ว
ยังตกอยู่ในข่าย 'วิชาการเหลวแลก' อีกก็น่าจะได้


เมื่อผมเองคิดเห็นเช่นนี้ จึงเข้าใจต่อไปว่า
การสัมนาทางวิชาการต้องมีการถกเถียงกันอย่างไร
การอ่านกระทู้ทางวิชาการก็ต้องมีบ้างเป็นธรรมชาติ
ส่วนผู้อ่านจะเลือกเชื่อข้างไหน เพราะอะไร ก็คงเป็นสิทธิ์ของผู้อ่าน
ไม่ต่างจากสิทธิ์ของผู้เข้าฟังงานสัมนานี่ครับ

อยากเรียนคุณผู้อ่านว่า ไม่ว่าจะเป็นข้อความในกระทู้นี้
หรือกระทู้อื่นๆที่เคยเกิดกรณีการถกเถียงกันขึ้น
หากมีผู้กล้าเข้ามาพิมพ์ตำหนิติเตียนผม เรื่องเถียงผู้ใหญ่
หรือความคิดเห็นขัดแย้ง ผมก็ยังรู้สึกขอขอบคุณท่านอยู่ดี

เพราะอย่างน้อย สิ่งที่เกิดขึ้นก็ยังทำให้ท่านสนใจในประเด็นที่พวกเราสนใจอยู่
ทำให้เรื่องที่เราพูดคุยกันไม่ใช่เรื่องจืดชืด หรือ 'เรื่องเก้าประโยค' ไปเสียหมดครับ


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 10, 05:06
ขอโทษคุณติบอและท่านผู้อ่านทุกท่าน ที่ดิฉันเองก็เบลอ พิมพ์พระนามสมเด็จกรมพระยาองค์หนึ่งไปเป็นอีกองค์หนึ่ง  จะเรียกว่าฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดก็คงได้  ข้อนี้ขอตำหนิตัวเอง
ส่วนเรื่องที่ค้านคุณติบอไป  ก็ยังค้านเหมือนเดิม คือการสื่อสารนั้นจำเป็นต้องตีโจทย์ให้แตกก่อนว่าเจ้าของสารต้องการสื่ออะไร  สิ่งนี้สำคัญที่สุด  แล้วจะเห็นด้วยกับท่านผู้นั้นหรือไม่ก็ว่ากันอีกที

ข้อความนั้น คุณติบอเห็นว่าพูดเรื่องคน ไม่ใช่ฝีมือ  ดิฉันเห็นตรงข้าม ว่าท่านพูดถึงฝีมือที่แตกต่างกันไปในช่างแต่ละสกุล( ถ้าไม่เรียกว่ารุ่น) คือสกุลช่างจีนแท้จากจีน  สกุลช่างจีนในไทย และสกุลช่างไทย   มีวิวัฒนาการตามลำดับกันมา
แต่ถ้าคุณติบอเห็นอย่างอื่นว่า ไม่มีรุ่นไม่มีสกุลอะไรหรอก    ลายกำมะลอที่ไม่เหมือนกันในแต่ละวัด   บางทีก็ช่างจีนเหมือนกันน่ะแหละ แต่ใช้สีต่างกัน เพราะวัดนี้ใช้สีจากเมืองจีนเลยออกมาเป็นแบบนี้  วัดนั้นใช้สีหาได้ในเมืองไทยนี่เอง  สีเลยออกเป็นอีกอย่าง
วัดนั้นวาดบนผนังปูน ลายเลยเป็นแบบนี้ วัดนี้วาดบนประตูไม้เล็กๆ ลายเลยออกมาเป็นอย่างนั้น   ทำให้ดูผิดเพี้ยนกันไปเหมือนเป็นช่างคนละคน 
สมมุติว่าเป็นอะไรแบบนี้   ดิฉันก็จะรับฟังด้วยความสนใจ  ว่าเป็นความรู้ใหม่  มีหลักฐานประกอบได้ยิ่งดี

สรุปเรื่องลายกำมะลอ  คุณติบอจะค้านว่าอะไรนั้นก็แล้วแต่คุณก็แล้วกัน   ส่วนที่ดิฉันค้านไปก็ยังค้านเหมือนเดิม     ถ้าคุณค้นพบข้อมูลใหม่เพิ่มเติมเรื่องวิวัฒนาการของลายกำมะลอจากจีนเป็นไทย   พอจะค้านสมเด็จฯ ท่านได้   ก็อยากจะให้เอามาลงไว้ด้วยค่ะ

ส่วนเรื่องใครจะตำหนิคุณติบอว่าค้านผู้ใหญ่  อย่าเกรงข้อนี้เลย   อินเทอร์เน็ตเป็นโลกที่ไม่มีใครนับถือใครด้วยอาวุโส ชื่อเสียงหรือตัวตนในสังคมของคนนั้นมานานแล้ว     ดิฉันรู้ข้อนี้ดี  ถึงอยู่มาได้


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 15 พ.ย. 10, 11:37
ไม่มีความสามารถพอจะสรุปอะไรได้  เป็นแค่ความคิดเห็นคาดเดาไปตามสิ่งที่สร้างสมมา

ไม่มีใครชนะ ใครแพ้ อย่างที่คุณติบอว่าไว้นั้นแหละ

ที่สมเด็จฯ ท่านกล่าวไว้ ตามที่ยกมานั้น  ฉบับเต็มอยู่ที่ไหนไม่ทราบ เห็นแต่ส่วนเดียว
ลายกำมะลอ ลายวัดเชิงหวาย เห็นมาแต่ในรูป ของจริงก็ยังไม่ซึมซับ



กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 15 พ.ย. 10, 11:41
หาของกินดีกว่า

"ขนมจีนไหหลำ"  ที่ไหหลำมีกินหรือเปล่าไม่ทราบ รสชาดอร่อยเท่าเจ๊วาได้ไหม ??
กลัวจะเหมือนเรื่อง ลอดช่องสิงคโปร์ น่ะ

คุณ Han_bing พอทราบไหมคะ 


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 17 พ.ย. 10, 17:56
แหม...ถามได้ถูกคนมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก

เพราะเรื่องของกินนี้ชอบอยู่แล้ว

อันว่าขนมจีนไหหล่ำนี้ไหหล่ำก็มี คล้ายๆกับของไทย เรียกเป็นภาษาจีนกลางว่า "ไหหนานเฟิ่น" (海南粉:hai nan fen) "ไหหนาน" คือ ชื่อเกาะไหหล่ำ ส่วนคำว่า "เฟิ่น" คือ เส้น

แต่ดั้งเดิมจะแบ่งเป็นสองประเภท ประเภทแรก เรียกว่าเส้นใหญ่ เรียกว่า "ฉูเฟิ่น" (粗粉:cu fen) คำว่า "ฉู" แปลว่า ใหญ่ หยาบ จริงๆมันก็ไม่ได้ใหญ่อะไรมากมายหรอก คล้ายๆเส้นก๋วยจั๋บญวนบ้านเรา

วิธีทำก็ลวกเส้น ทำน้ำแกงใส่ผักดอง ผักดองแบบ...เปื่อยๆเละๆ แต่มีใบ บ้านอื่นเรียกว่าอะไรก็ไม่รู้ บ้านผมเรียกแค่ว่าผักดอง ต้มกับน้ำซุปเนื้อวัว

ใส่กะปิปรุงรสนิดหน่อย แล้วก็โรยพริก ต้นหอม และถั่วลิสงคั่วทุบ บางที่เขาก็เรียกขนมจีนเส้นใหญ่นี้ว่า "เป๋าโลว่เฟิ่น" (抱罗粉: bao luo fen)

หากอยากทราบวิธีทำแบบละเอียด ลองเขาเว็ปไซด์ดังนี้ http://www.shipuw.com/fwxc/hainanxiaochi/2009/0804/63.html

เป็นภาษาจีน แต่ว่าคงใช้กูเกิลแปลได้

ทั้งนี้เท่าที่เห็นในกรุงเทพฯจะเป็นประเภทนี้ทั้งนั้น ทั่วไปจะเห็นเขาใส่น้ำจิ้มกะปิมาให้ อย่างที่ร้านสุธาทิพแถวๆวัดสระเกษ

แต่ที่อื่นเป็นอย่างไรบ้านผู้เขียนไม่ค่อยไปกิน เพราะทำกินเอง...และเวลาทำก็ใส่กะปิลงไปเลย ไม่แยกมาในถ้วยน้ำจิ้ม เพราะที่บ้านชอบกินกะปิ

(แม้ใครไม่ชอบก็ต้องกิน เพราะเกือบทุกคนในบ้านกิน)

อีกเส้นคือเส้นเล็ก ผู้เขียนไม่เคยกิน เพราะตอนอยู่ไทยที่บ้านทำแต่แบบแรกให้กิน ด้วยว่าทำง่ายดี แบบสองเรียกว่า "ซี่เฟิ่น" (细分:xi fen)

โดย "ซึ่" แปลว่าเล็กประณีต อันนี้เขาว่าปรุงยากเพราะต้องใส่เครื่องปรุงเยอะแยะเลย แล้วต้องใส่น้ำผสมแป้ง (แป้งที่กินได้นะ ไม่ใช่แป้งฝุ่น) ลงไปด้วย หลังจากนั้นหมักไว้สักพักก่อนกิน เลยเรียกอีกชื่อว่า "หย่านเฟิ่น" (腌粉:yan) คำว่า "หย่าน" แปลว่า "ดอง" ดังนั้นจะเรียกขนมจีนประเภทนี้ว่า"เส้นหมัก" ก็คงได้กระมัง

คราวหน้าเอาทำไก่ต้มแบบไหหล่ำด้วยไหม ของแท้ไม่ใช้น้ำจิ้มเต้าเจี้ยวนะเออ เป็นน้ำจิ้มพริกตำใสๆ บางทีใส่สัปปะรดด้วยในน้ำจิ้ม

คล้ายๆน้ำจิ้มข้าวมันไก่สิงคโปร์

ไว้คราวหน้าจะเล่า


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 18 พ.ย. 10, 09:17
งั้นที่ทำขายกันในเมืองไทย น่าจะเป็นเส้นหมักแบบที่สอง
แบบเส้นใหญ่ไม่เคยทานค่ะ ไม่เห็นมีใครขาย คงทำกินกันในครอบครัวมากกว่า
มีบ้านคนรู้จัก ประยุกต์ใช้เส้นสปาเก็ตตีแทนเส้นหมักค่ะ

คิดเอาเอง โดยไม่มีเอกสารอ้างอิงใด ๆ ว่า นี่่คือที่มาของเส้นขนมจีนที่ใส่น้ำยาในบ้านเรา

มีใครรู้ประวัติบ้างไหมคะ??


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 18 พ.ย. 10, 11:46
เรียนสมาชิกชาวเรือนไทย

ส่วนตัวผม ผมคิดว่าที่ขายในเมืองไทยเป็นแบบเส้นใหญ่นะ เพราะคำว่าเส้นใหญ่ ไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ของบ้านเรา มันเป็นเส้นกลมๆหนา แบบที่บ้านเราขาย นึกไม่ออกให้นึกถึงก๋วยจั๋บญวณ นั้นแหละใช่เลย

ส่วนแบบเส้นหมักจะเป็นแบบน้ำแห้ง ใส่เครื่องสารพัดคลุกเข้าไป เมื่อวานลองเข้าไปค้นดู ผลคือเจอรูปพร้อมวิธีทำ ไปๆมาๆคือผมกินมาแล้ว แต่ไม่รู้ว่าอันนั้นเขาเรียกเส้นหมัก เพราะบ้านผมเรียกว่าแบบ "น้ำแห้ง"

อนึ่ง เมื่อวานนี้ด้วยความละเมอ แปลผิด คำว่า "เฟิ่น" แปลว่า แป้ง หรือ ผงละเอียด

วันนี้ขอแถมรูปภาพให้ชมละกัน


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 18 พ.ย. 10, 12:02
รูปแรก ขนมจีนไหหล่ำเส้นใหญ่


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 18 พ.ย. 10, 12:05
รูปสอง แบบเส้นหมัก ซึ่งเป็นการคลุกเส้น แต่ว่าตอนกินก็เอาน้ำข้นๆมาราดก่อนก็ได้


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 18 พ.ย. 10, 12:08
น้ำน้ำซุปข้นราดเล็กน้อยก่อนกิน


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 18 พ.ย. 10, 14:02
เข้าใจแล้วค่ะ  แบบ"น้ำแห้ง" ที่คุณว่า ก็มีทำขาย
เรียกว่า "แห้ง"  เฉย ๆ เติมไปอีกนิดตามชนิดของเนื้อว่า แห้งหมู หรือ แห้งเนิ้อ

ทั้งสองอย่าง ที่เคยเห็น ใช้เส้นแบบเดียวกัน  สีขาว กลม เหมือน เส้นขนมจีนน้ำยา

วิธีทำเส้น  เคยเห็นในรายการทีวี  ก็ทำคล้าย ๆ กัน แต่ไม่ทราบชนิดของแป้ง
 
แต่เส้นขนมจีนไหหลำ  ไม่ได้จับเป็นวงแบบไทย  ใช้เส้นยาว ๆ ไปลวกเลย


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 18 พ.ย. 10, 18:11
ปกติผมอยู่เมืองนานกิง เวลาอยากกิน ก็ไปซื้อเส้นที่เรียกว่า "หมี่เสี่ยน" (米线: Mi xian) ใช้ลวกทำเป็นปรกติ

อนึ่ง เส้นเล็กที่ว่าที่จีนจะมีเส้นเล็กจริงๆ แต่เล็กกว่าเส้นใหญ่
นิดดดดดดดดดดดดเดียววววววววววววเท่านั้น

ไม่ถึงขนาดเส้นหมี่ของไทย

 


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 19 พ.ย. 10, 19:31
ทั้งเส้นขนมจีน ทั้งแบบของจีน และ ไทย
เหมือนกันคือ ยังไม่มีใครทำแบบสำเร็จรูป Instant ได้เหมือนเส้นอย่างอื่น


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 22 พ.ย. 10, 08:46
นักวิจัยไทยเก่งค่ะ ทำ “ขนมจีนแห้งและน้ำยาผงกึ่งสำเร็จรูป” ได้ตั้งแต่ปี 2545 แล้วค่ะ
มีการจดอนุสิทธิบัตรในปี 2545 และ 2547 ค่ะ
เส้นขนมจีนเพียงชงด้วยน้ำเดือดในภาชนะที่ปิดฝานาน 3 นาที
ส่วน้ำยามีทั้ง น้ำยาปลาช่อน น้ำยาป่า น้ำยาใต้ และน้ำพริก
และยังส่งไปขายยังประเทศมาเลเซีย และออสเตรเลีย ด้วยนะคะ
สนใจดูรายละเอียดได้ที่
http://www.pamame.com/magazine/%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B-%E0%B9%81%E0%B8%84.html


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 22 พ.ย. 10, 09:39
ขอบคุณค่ะ  นึกได้ว่าเคยเห็นเหมือนกัน
แต่ไม่กล้าซื้อมาลองดู

ขนมจีนธรรมดา อยู่เกิน 1 วัน ก็กลัวว่าจะเสียแล้วล่ะค่ะ


กระทู้: ช่างจีน ในไทย
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 22 พ.ย. 10, 19:05
อู้...ดีจริง

แต่บังเอิญผมอยู่จีน เลยไม่มีปัญหาเรื่องเส้นใดๆ

ส่วนน้ำยาทำกินเอง

แต่คนไทยนี้เก่งจริง เรื่องคิดของให้เป็นของสำเร็จรูป

เพราะตอนผมมา เพื่อนคนอินโดนีเซีย มากินข้าวที่ห้อง เห็นตะไคร้ใบมะกรูดแห้ง แล้วหัวเชื้อกลิ่นใบเตย

เขาตื่นเต้นใหญ่ เพราะอาหารบ้านเขาก็ใส่เหมือนกัน แต่ว่าหาของทำเป็นแห้งหรือสำเร็จรูปไม่ได้ ไม่รู้ไม่มีหรือไม่เจอ

ภายหลังเลยหอบจากไทยไปฝาก